๑๓
วันที่ ๕ มิถุนายน ๘๔
พระยาทรงเสนอแผนการณ์
การประชุมครั้งแรกนั้น ว่าตามจริง ยังไม่ถือว่าเป็นการประชุมที่จริงจังนัก เพราะว่ามีผู้ไปประชุมไม่ครบถ้วนตามนัดหมาย การประชุมครั้งต่อมา ได้ประชุมในตอนกลางคืนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ บ้านนายประยูร ภมรมนตรี การประชุมครั้งนี้ได้มีผู้เข้าประชุมรวม ๘ ท่าน ครบถ้วนตามกำหนด คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ พระประศาส์นฯ หลวงพิบูลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ และนายประยูร พระยาฤทธิฯ นั้น เมื่อได้เข้าประชุมครั้งนี้แล้ว พระยาพหลฯ ก็มิได้ชักนำให้ร่วมประชุมอีกเลย จนกระทั่งเมื่อได้กำหนดวันเวลา ที่จะเริ่มการแล้ว พระยาพหลฯ จึงแจ้งให้พระยาฤทธิฯ ทราบ
การประชุมครั้งนี้เรื่องใหญ่ที่นำออกปรึกษากันในที่ประชุมก็คือ แผนการณ์ในการดำเนินการยึดอำนาจตามที่ได้มอบหมายให้พระยาทรงฯ เป็นผู้กำหนด และนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา พระยาทรงฯ ได้เสนอแผนการณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ว่า จะใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก จู่โจมเข้ายึดพระราชวังที่ประทับพระเจ้าอยู่หัวในเพลาดึก ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จโดยฉับพลัน แล้วจะบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวลงนามในรัฐธรรมนูญ แผนการณ์นี้เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายกันแล้ว ส่วนมากมีความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดความตื่นเต้นหวาดเสียวแก่ประชาราษฎรมากเกินไป ที่ประชุมจึงได้ตกลงกันให้พระยาทรงฯ ร่างแผนการณ์เสนอใหม่ ให้มีความละมุนละม่อมกว่าแผนการณ์อันแรก
การประชุมครั้งที่สาม
การประชุมครั้งที่สามเปิดขึ้นในเวลาเช้า เจ้าคุณพหลฯ ไม่ได้จดไว้ว่าเป็นวันใด เดือนใด แต่คะเนว่าไม่ห่างไกลกับเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนลงมือทำการนัก ในการประชุมครั้งนี้ขาดพระยาพหลฯ ไปคนหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมประชุม ๗ ท่านด้วยกัน คือ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จมื่นสุรฤทธิ์ฯ และนายตั้ว ลพานุกรม การประชุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน ได้ใช้เวลาส่วนมากปรึกษาพิจารณาแผนการณ์ยึดอำนาจอันใหม่ที่พระยาทรงฯ ได้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา แผนการณ์อันใหม่มีข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญอยู่ว่า เวลาลงมือทำการนั้น กำหนดให้เป็นเวลาเช้าวันอาทิตย์ แทนที่จะเป็นเวลากลางคืน คณะปฏิวัติจะจัดการชุมนุมกำลังทหารไว้ที่ลานพระบรมรูป บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติจะได้พร้อมกันเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ณ พระที่นั่งอัมพร และบังคับให้พระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
เมื่อได้ปรึกษาพิจารณากันโดยรอบคอบแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนการณ์อันใหม่นี้ ถึงแม้ว่าจะบรรเทาความตื่นเต้นหวาดเสียวลงมาบ้าง เพราะได้เปลี่ยนจากยามดึกมาเป็นยามเช้าก็จริง แต่ที่ประชุมยังมีความเห็นว่า คงจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้กันอย่างเลือดนองแผ่นดินไปไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อที่คณะปฏิวัติไม่ปรารถนาเลย และใคร่จะหาทางหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกันอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนั้นในการดำเนินการ เพื่อที่จะเปลี่ยนการปกครองของแผ่นดินนี้ คณะปฏิวัติใคร่จะกระทำลงไปด้วยความพยายาม ที่จะให้เกิดความกระทบกระเทือนทางพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่น้อยที่สุด ดังนั้น เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายแผนการณ์ยึดอำนาจของพระยาทรงฯ อันที่สองแล้ว ที่ประชุมก็ได้ตกลงให้ระงับแผนการณ์อันนี้ไว้ และได้มอบให้พระยาทรงฯ ไปร่างแผนการณ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับความประสงค์ของที่ประชุมดังกล่าวแล้ว
แผนการณ์อันที่สาม
บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เปิดประชุมเป็นครั้งที่ ๔ ณ บ้านนายประยูร ภมรมนตรี การประชุมเริ่มเวลา ๗.๐๐ น. ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน เราจะเห็นได้ว่าหลังจากการประชุมครั้งนี้แล้ว อีก ๑๒ วัน ก็ถึงวันที่คณะราษฎร์ได้ลงมือทำการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินทีเดียว การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าประชุมรวม ๘ ท่าน คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงประดิษฐ์ฯ นายตั้ว ลพานุกรม และนายประยูร ภมรมนตรี พระยาทรงฯ ได้เสนอแผนยึดอำนาจอันที่สามให้ที่ประชุมพิจารณา
เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ และเพื่อที่จะไม่ให้เป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินสมควรไป แผนการณ์ใหม่นี้ได้กำหนดไว้ว่า ให้ลงมือทำการในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประทับที่หัวหิน อนึ่งเพื่อจะให้ที่ประชุมได้รับรองแผนการณ์ยึดอำนาจให้เสร็จสิ้นไปในการประชุมครั้งนี้ พระยาทรงฯ จึงได้เสนอวิธีดำเนินการมา ๓ วิธี เพื่อให้ที่ประชุมเลือกเอาวิธีใดวิธีหนึ่ง วิธีดำเนินการอันแรกมีอยู่ว่า ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่า จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยหรือแสดงอาการว่าจะขัดขวางก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างจัดการประชุมนายทหารครั้งนี้ให้จัดคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือน แยกย้ายกันไปคุมตามวังเจ้านาย และข้าราชการผู้ใหญ่ และภายหลังที่จะทำการประชุมนายทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว ให้นำบุคคลสำคัญ ๆ มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตฯ หรือบนเรือรบ.