๑๒

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๘๔

ความปลงใจที่จะดำเนินการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน หรือกล่าวอย่างที่สามัญชนเข้าใจกันก็คือการคิดกบฎต่อพระราชานั้น นับว่าเป็นความปลงใจที่ประกอบด้วยความเสียสละอันใหญ่หลวง เพราะว่าถ้าฉวยพลาดพลั้งลงไปอย่างใด เป็นเหตุให้แผนการไม่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว บรรดาผู้คิดการเช่นนั้นก็อาจต้องเสียชีวิต หรือถูกจำคุกตลอดชีวิตก็ได้ ดังที่ได้ปรากฏตัวอย่างการกระทำของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ มาแล้ว โดยที่มีตัวอย่างอยู่เช่นนี้คณะราษฎรในการคิดเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน จึงได้ปลงใจไปในทางสละชีวิตเป็นส่วนมาก

ความปลงใจเช่นนี้ พระยาพหลฯ กล่าวว่า มิใช่เป็นของที่กระทำได้ง่าย ๆ เลย ว่าที่แท้เป็นกิจอันยากยิ่งที่สุดที่มนุษย์จะพึงกระทำให้ชั่วชีวิตของคนหนึ่ง ๆ

“ทั้งที่ได้ตกลงปลงใจไว้แล้ว ในบางครั้งบางคราว ก็ยังมีใจวอกแวกหวลอาลัยในชีวิตอยู่เหมือนกัน” พระยาพหลฯ กล่าวด้วยความจริงใจ “เพราะว่าผมก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ ในบางขณะก็อดระลึกเป็นห่วงถึงครอบครัวที่อยู่ภายหลังไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผมได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะ ผมย่อมจะสำนึกในความรับผิดชอบของผมอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นนับแต่ที่ได้ไปประชุมกับหัวหน้าคณะต่าง ๆ และได้ทำความตกลงกันในที่ประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ผมก็ได้ทำความเพียรข่มจิตต์ของผม ให้แน่วแน่อยู่ในความปลงใจอันนี้ และเมื่อได้เพียรบำเพ็ญกิจอันนี้สืบต่อกันมา โดยสม่ำเสมอในเวลาอันควรแล้ว จิตต์ของผมก็แน่วแน่อยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผมต่อประเทศชาติ โดยไม่วอกแวกผันแปรอีกเลย”

วิธีที่พระยาพหลฯ ได้นำมาใช้ในการข่มจิตต์นั้นได้ถือตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ท่านได้เล่าว่า ภายหลังที่ได้รับอาหารเย็นแล้วทุกวัน เว้นเสียแต่ในวันที่มีกิจธุระเป็นพิเศษ ท่านได้ลงไปในสวนและนั่งลงภายใต้ร่มไม้ แล้วก็กระทำสมาธิเพ่งเล็งอยู่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว ได้ใช้เวลาตรึกตรองลู่ทางที่จะทำการไปบ้าง และในบางขณะเมื่อใจวอกแวกออกนอกทาง ก็ได้ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องข่มบังคับ. เมื่อเกิดความประหวั่นใจว่าจะทำการไปมิสำเร็จ ก็ได้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า จะเกิดเหตุอะไรต่อไปเล่า? จะต้องถูกจับกุมจองจำด้วยโซ่ตรวนคยู่ในคุกตลอดไปจนชั่วชีวิตก็เป็นได้ ภาวะเช่นนั้นเป็นของเหลือวิสัย ที่ผู้รักชาติบ้านเมืองอย่างแรงกล้าจะทนได้หรือไม่? เมื่อได้ตรึกตรองทบทวนดูแล้ว ก็ได้คำตอบว่า จะเป็นไรไปเล่า แต่ความจริงอาจไม่ชั่วแต่ถูกจำคุกไปจนตลอดชีวิต หากอาจถูกลงโทษถึงประหารชีวิตเสียทีเดียวก็เป็นได้ เมื่อระลึกถึงข้อนี้แล้วพระยาพหลฯ ก็ตั้งคำถามต่อไปว่า เพื่อที่จะใช้ชีวิตให้สมค่าที่สุดนั้น คนเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรเล่า? ถ้าเราไม่ตายในวันนี้ เราจะไม่ตายในวันหน้าหรือ ถ้าเราต้องตายในวันนี้ เพื่อแก่ชาติบ้านเมือง จะไม่ดีกว่าการผัดไว้ตายในพรุ่งนี้ โดยปราศจากความความมุ่งหมายอะไรเลยหรือ? แล้วก็ครอบครัวบุตรภรรยาของเราที่จะอยู่ต่อไปในภายหลัง โดยปราศจากความอุปถัมภ์ของเราเล่า? คำตอบก็ปรากฏขึ้นว่าถ้าเราจะต้องตายในวันพรุ่งนี้ บุตรภรรยาของเราก็จะถูกปล่อยไว้แต่ลำพัง เช่นเดียวกับเราที่จะต้องตายในวันนี้เหมือนกัน นอกจากนั้น บุตรภรรยาของคนอีกตั้งหมื่นตั้งแสน ที่ได้ถูกปล่อยให้ต่อสู้กับเคราะห์กรรมไปแต่ลำพังในโลกนี้ คนเหล่านั้นเขาอยู่มาได้อย่างไร และอาจประสพความสุขความเจริญในชีวิตได้อย่างไรเล่า ถ้าคนเหล่านั้น เขาอยู่มาได้อย่างไรและอาจประสพความสุขความเจริญมาได้อย่างไร บุตรภรรยาของเราก็ย่อมจะอยู่ไปได้เช่นคนทั้งหลายเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงจากเราก็ตาม

ในขณะที่เกิดความประหวั่นพรั่นใจ และความคิดวอกแวกนอกลู่นอกทางนั้น เมื่อได้ตั้งคำถามและตอบข้อถามได้ปลอดโปร่งโล่งใจตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ความคิดก็เข้าสู่แนวเดิมแน่วแน่ไม่แปรผันต่อไปอีก พระยาพหลฯ ได้ปฏิบัติกิจวัตรบำเพ็ญสมาธิอยู่หลายเดือน จิตต์ใจก็แน่วแน่อยู่แต่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว และกำลังใจก็ได้แก่กล้าขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในเวลาตีสี่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งพระยาพหลฯ ได้ออกจากบ้านไปทำการซึ่งถ้าไม่สำเร็จก็ตายนั้น เมื่อก้าวลงจากบันไดบ้านขั้นแรกแล้ว พระยาพหลฯ มิได้เหลียวหลังกลับไปสู่เรือนของท่านอีกเลยแม้แต่แวบเดียว น้ำจิตแน่วแน่มั่นคงอยู่แต่ในการกระทำที่รออยู่ข้างหน้าเท่านั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ