๑๑
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๘๔
ถึงแม้ว่า ท่านผู้นำคณะราษฎรจะเป็นผู้ที่มีกิริยาสงบเสงี่ยมสุภาพเพียงใด จะเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายเพียงใดก็ดี แต่โดยที่เป็นผู้ที่บูชาความยุตติธรรมอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ซื่อตรงต่อหน้าที่ และต่อความรู้สึกผิดชอบของตนนั้นเอง อาจจะทำให้ใคร ๆ ได้พบท่านผู้นี้ ในลักษณะที่เป็นมนุษย์ใจเหล็กไปได้เป็นครั้งคราว ในเมื่อท่านต้องเผชิญกับการกระทำผิดอย่างไร้เหตุผลของบุคคล ไม่เลือกว่าจะเป็นเจ้านายใหญ่โตหรือเป็นใครก็ตาม
ทั้งที่ได้มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายดังกล่าวแล้ว แต่โดยที่เป็นคนมีลักษณะนิสสัยซื่อตรงต่อความรู้สึกผิดชอบของตนเอง ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ พระยาพหลฯ จึงมักมีเรื่องเป็นที่ขัดเคืองพระทัยของเจ้านายใหญ่โตแทบทุกองค์ นับแต่กรมหลวงพิษณุโลกฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ และสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อครั้งยังรับราชการทหาร และยังมิได้เสวยราชย์ และได้มีเรื่องทุ่มเถียงกับเจ้านายอื่น ๆ อีกหลายพระองค์ เกี่ยวกับกรมพระนครสวรรค์ฯ นั้น พระยาพหลฯ ได้เคยมีหนังสือโต้เถียงกับพระองค์ท่านด้วยอาการรุนแรงครั้งหนึ่ง เนื่องด้วยพระองค์ท่านกล่าวตำหนิการปฏิบัติราชการของพระยาพหลฯ ในโอกาศที่ได้ถูกส่งไปราชการในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ทรงรู้เท่าถึงการณ์ ต่อภายหลังได้ทรงสอบสวนทราบตระหนักในข้อเท็จจริงแล้ว ได้ทรงถอนคืนคำตำหนินั้น แต่ก็ช้าไป เพราะหนังสือตอบโต้อย่างตรงไปตรงมาตามลักษณะนิสสัยซื่อตรงของพระยาพหลฯ ได้สวนทางมาเสียแล้ว ถึงจะทรงทราบดีว่ามิใช่ความผิดของพระยาพหลฯ ก็จริง แต่เมื่อได้รับหนังสือตอบโต้อย่างที่ทรงรู้สึกว่า ผู้เขียนขาดความยำเกรงพระทัยเช่นนั้น ก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก และนับแต่นั้นมา ก็ไม่ทรงติดต่อรับสั่งสนทนากับพระยาพหลฯ อีกเลย เป็นเวลาถึง ๓ ปี
ความซื่อตรงต่อหน้าที่ และความรู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตนนั้น พระยาพหลฯ เป็นผู้ถือเคร่งครัดนัก เมื่ออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านก็วางตนอย่างหนึ่ง ท่านเจ้าคุณได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านไปพักผ่อนหย่อนใจที่บางเขน ขณะกำลังนั่งตกปลาอยู่นั้น แลเห็นรถยนต์คันหนึ่งแล่นมาแต่ไกล มีรถจักรยานยนต์ตำรวจแล่นนำหน้ามา ท่านจำได้ว่าเป็นรถนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านก็วางคันเบ็ดลงและลุกขึ้นยึน เมื่อรถของนายพลตรีหลวงพิบูลฯ ผ่านมาถึง ท่านก็กระทำคำนับในฐานที่ท่านนายพลตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของท่าน
“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำของประเทศนั้นเป็นตำแหน่งสูงสุด” เจ้าคุณพหลฯ กล่าวต่อไป “เมื่อผู้ใดได้ดำรงตำแหน่งอันสูงสุด อันประกอบด้วยความรับผิดชอบใหญ่หลวงเช่นนี้แล้ว ผมก็มีหน้าที่จะต้องแสดงความเคารพต่อท่านผู้นั้น จริงดอกผมได้เคยครองตำแหน่งอันสูงสุดนี้มาแล้ว และได้รับนับถือว่าเป็นผู้มีอาวุโสในคณะผู้ก่อการ แต่เพื่อรักษาระเบียบวินัยอันดีงามของสังคมแล้ว คนทุกคนจำต้องรู้จักตำแหน่งหน้าที่ของตน และจำต้องเคารพต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งอันพึงเคารพในปัจจุบันเสมอ จริงอยู่ในส่วนตัวคุณหลวงพิบูลสงครามนั้น คุณหลวงพิบูลฯ เป็นผู้มีอัธยาศัยดีอย่างยิ่ง เวลามีข้อราชการอะไรที่ผมจะต้องไปติดต่อปรึกษาหารือกับท่าน พอท่านทราบ ท่านก็มักจะขอร้องมิให้ผมไปพบกับท่าน และบางทีท่านก็รีบมาพบกับผมเสียเอง นี่เป็นการแสดงอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ของท่านนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ดี ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ซึ่งนับว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผมโดยตรง เมื่อมีกิจราชการที่จะไปติดต่อกับท่าน ผมก็จะต้องพยายามไปพบกับผู้บังคับบัญชา มิใช่ปล่อยให้ผู้บังคับบัญชามาหาผม” เจ้าคุณพหลฯ เป็นผู้ที่เคร่งต่อระเบียบวินัยในการปฏิบัติกับคนทั่วไป ฉะเพาะในเรื่องความรู้จักตำแหน่งหน้าที่ และความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าคุณพหลฯ ได้กล่าวย้ำว่า เป็นข้อสำคัญนัก
การที่ได้กล่าวลักษณะนิสสัยของผู้นำคณะมา ๒ ตอนนั้น ก็เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า การที่ที่ประชุมหัวหน้าผู้ก่อการได้รับรองยกย่องให้พระยาพหลฯ เป็นผู้นำในการปฏิวัตินั้น ท่านได้รับการยกย่องเพราะอาศัยลักษณะนิสสัยในข้อใดบ้าง