๑๐

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๘๔

ผู้นำคณะปฏิวัติ

ในวันที่พระประศาสน์ฯ กับคณะนำรถเกราะไปคุมกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่วังบางขุนพรหมในตอนเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน และนำมากักพระองค์ไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เมื่อได้ทรงเผชิญหน้ากับนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ณ พระที่นั่งอนันตฯ พระองค์ได้รับสั่งแก่พระยาพหลฯ ด้วยความประหลาดพระทัย และขมขื่นพระทัยว่า “ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันรึนี่?” (พระยาพหลมีชื่อเดิมว่า พจน์) ท่านหัวหน้าคณะราษฎรก็ถวายคำนับด้วยกิริยาอันสุภาพนอบน้อมเป็นปรกติดุจเช่นนายพันเอกจะพึงกระทำความเคารพต่อท่านจอมพล

การที่มีนามของท่านนายพันเอก จเรทหารปืนใหญ่ ร่วมอยู่ในคณะที่คิดการปฏิวัติ และทั้งได้รับความยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะด้วยนั้น ในวงการนายทหารผู้ใหญ่ และในบรรดาเจ้านายที่รู้จักคุ้นเคยกับพระยาพหลฯ ต่างก็มีความประหลาดใจกันทั่วไป ไม่แต่กรมพระนครสวรรค์ฯ เท่านั้น การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในเวลาปกติแล้ว ท่านนายพันเอกผู้นี้เป็นผู้มีกิริยาวาจาสงบเสงี่ยมสุภาพอ่อนน้อม ต่อผู้บังคับบัญชา และนายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป เป็นผู้ที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า มีความเคารพและภักดีต่อเจ้านาย เป็นคนซื่อตรง และประกอบด้วยเมตตากรุณาธรรม คนโดยมากจึงมิได้คาดคิดเลยว่า บุคคลที่ประกอบด้วยลักษณะนิสสัยเช่นนี้ จะเป็นผู้คิดการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์ของตน

ผู้ที่รู้จักลักษณะนิสสัย ของพระยาพหลฯ ตามนัยที่กล่าวแล้วนี้ ก็มิใช่ว่าได้รู้จักลักษณะนิสสัยของพระยาพหลฯ ผิดไป ความจริงนับว่าได้รู้จักท่านถูกต้องแล้ว เป็นแต่ยังไม่รู้จักลักษณะนิสสัยที่สำคัญ ๆ ของท่านโดยครบถ้วน ส่วนที่คนโดยมากยังไม่รู้จักนี้แหละ เป็นส่วนที่บรรดาลให้พระยาพหลฯ คิดการปฏิวัติและได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำของคณะทีเดียว

พระยาพหลฯ เป็นผู้ที่บูชาความยุตติธรรมเป็นชีวิตจิตต์ใจ เป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกผิดชอบของตนเอง เป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อหน้าที่ และในประการสุดท้าย เป็นคนที่เมื่อได้ตกลงปลงใจว่าจะต่อต้านการกระทำผิดใด ๆ ของบุคคลใดแล้ว ก็ย่อมจะต่อต้านอย่างสุดกำลัง ถึงจะมีภัยอันตรายมาขวางหน้า ก็ไม่ยอมถอยหลังเป็นอันขาด นี่เป็นลักษณะนิสสัยอันแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเอาจริงของพระยาพหลฯ ในเมื่อต้องเผชิญความคับขันฉุกเฉิน และนี่เองเป็นลักษณะนิสสัยสำคัญที่ทำให้พระยาพหลฯ ได้รับความยกย่องให้เป็นผู้นำของคณะ

ท่านหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ที่มีความสงบเสงี่ยมไม่ตีราคาความฉลาดปราชญ์เปรื่องของตนเอง และพอใจสรรเสริญความฉลาดปราชญ์เปรื่องของคนอื่น เช่นได้เคยสรรเสริญความปรีชาสามารถของหลวงพิบูลสงคราม ในการดำเนินการบ้านเมืองและในการรักษาความเป็นปึกแผ่นของหมู่คณะไว้ได้ ได้สรรเสริญความปราชญ์เปรื่องของพระยาทรงสุรเดชฯ ในวิชายุทธวิธี ได้สรรเสริญปรีชาสามารถของหลวงประดิษฐมนูธรรมในการดำเนินงานฝ่ายการเมือง ในส่วนตัวท่านเองนั้น พระยาพหลฯ มักจะตอบแก่คนอื่น ๆ ว่า ท่านเป็นคนมีปัญญาพอประมาณ เมื่อถูกซักว่า เมื่อมีปัญญาแต่พอประมาณไฉนจึงสอบไล่ได้ที่หนึ่ง จนถึงได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนให้ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศเล่า คนที่มีปัญญาพอประมาณหรือปานกลาง จะเอาชนะคนอื่น ๆ ในการเล่าเรียนจนถึงสอบไล่ได้ที่หนึ่งนั้นดูเป็นการฝืนความจริงอยู่ ท่านหัวหน้าคณะราษฎรหัวเราะแล้วตอบข้อซักถามอันนี้ว่า ท่านจำเป็นจะต้องยอมรับว่า ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นผลแห่งความบากบั่นของท่านในระหว่างที่เล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยนั้น โดยที่ไม่ทนงว่าเป็นผู้มีปัญญาชั้นเลิศ ท่านจึงบากบั่นในการศึกษาเล่าเรียน โดยมิคิดถึงความเหนื่อยยาก ในขณะที่เพื่อนนักเรียนกำลังหลับสนิทและหลับอย่างสบายในตอนใกล้รุ่งนั้น ตัวท่านเองจะฝืนใจตื่นขึ้นมาแต่เวลา ๔.๐๐ น. และดูหนังสือไปจนถึงเวลาที่จะต้องทำกิจอย่างอื่นตามกำหนดการของโรงเรียน การลุกขึ้นมาดูหนังสือแต่เวลาตีสี่เช่นนี้เป็นกิจวัตร์ของท่านที่ได้ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ ในระหว่างที่เรียนอยู่ในชั้นสูง ความสำเร็จของท่านจึงกล่าวได้ว่าอยู่ที่ความมานะบากบั่นนี่เอง

เมื่อท่านออกไปศึกษาวิชาทหารต่อที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมันนั้น ก็มีเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะนิสสัย อันแข็งแกร่งของท่านอยู่ข้อหนึ่งในที่จะต่อสู้เอาชนะความดูหมิ่นของผู้อื่น ครั้งหนึ่งเมื่อกำลังศึกษาวิชาประวัติศาสตร์อยู่ในห้องเรียนนั้น ท่านผู้บังคับการได้ไปตรวจดูการเรียนของนักเรียนในห้องต่าง ๆ เมื่อเข้าไปในห้องเรียนของท่านนั้น เป็นเวลาที่ท่านอาจารย์ได้ตั้งคำถามในวิชาประวัติศาสตร์ให้ท่านตอบ ๒–๓ ข้อ และท่านตอบไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ท่านผู้บังคับการประสพเหตุการณ์เช่นนั้นก็พิโรธ จึงได้เรียกท่านออกมาติเตียนต่อหน้านักเรียนทั้งหลายด้วยคำแรง และโดยที่ท่านเป็นนักเรียนต่างประเทศ คำติเตียนซึ่งมีความพาดพิงไปถึงประเทศบ้านเกิดเมืองมารดรของท่านด้วย จึงทำให้ท่านมีความละอายและขมขื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นท่านนักเรียนต่างประเทศผู้เป็นคนไทยนั้น ก็ได้ไปหาซื้อสมุดหัวข้อวิชาประวัติศาสตร์มาท่องด้วยความบากบั่นอย่างทรหด และเมื่อมีการเล็คเชอรวิชาประวัติศาสตร์ได้ฟังด้วยความเอาใจใส่อย่างที่สุด ได้พากเพียรใส่ใจศึกษาวิชาประวัติศาสตร์โดยวิธีเช่นนั้นมาจวนถึงวันสอบไล่ชั้นสุดท้าย ซึ่งจะออกเป็นนายทหาร บังเอิญในวันที่นักเรียนนายร้อยไทย จะไปสอบวิชาประวัติศาสตร์นั้น ได้มีโอกาศพบกับท่านผู้บังคับการเข้า ท่านผู้บังคับการจึงปราศรัยว่า “วันนี้เจ้าจะไปสอบวิชาอะไร?” นักเรียนนายร้อยไทยตอบว่า “กระผมจะไปสอบวิชาประวัติศาสตร์” ท่านผู้บังคับการซึ่งยังจำเหตุการณ์ในห้องเรียนวันนั้นได้ดี ก็โคลงศีรษะช้า ๆ แสดงความสมเพทเวทนา นักเรียนนายร้อยไทยเห็นอาการของผู้บังคับการเช่นนั้น ก็เดาใจท่านได้ จึงได้เรียนผู้บังคับการว่า “กระผมได้ใส่ใจฝึกฝนวิชานี้มา พอเป็นที่วางใจได้ ขอท่านผู้บังคับการอย่าได้วิตกในตัวกระผมเลย” ท่านผู้บังคับการมองจ้องหน้านักเรียนนายร้อยไทยคนนั้น ด้วยความพิศวงและด้วยประกายนัยน์ตาแสดงความกรุณา และได้พูดในที่สุดว่า “ดีแล้ว ฉันจะไปดูการสอบของเจ้า”

ในการสอบนั้น ผู้สอบจะต้องเข้าไปสอบครั้งละสี่คน นักเรียนไทยคนนั้นจึงเข้าสอบร่วมกับนักเรียนเยอรมัน ๓ คน การตอบข้อสอบนั้น เมื่อผู้ถูกถามคนแรกตอบไม่ได้ นักเรียนคนต่อมาก็จะต้องตอบแทนและถ้าติดอีก คนต่อมาก็ต้องตอบแทนเป็นลำดับไป ในการสอบไล่ครั้งนั้น นักเรียนไทยไม่แต่จะตอบข้อถามวิชาประวัติศาสตร์ ในส่วนที่ตนถูกถามได้ทุกข้อเท่านั้น ยังสามารถตอบข้อถามแทนนักเรียนนายร้อยเยอรมันทั้ง ๓ นั้นได้ทุกข้อด้วย

เสร็จการสอบและในขณะเดินผ่านท่านผู้บังคับการได้เรียกนักเรียนนายร้อยไทยเข้าไปหาพลางเอามือตบหลังแล้วพูดว่า “ลูกเอ๋ยคำติเตียนของฉัน ก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่เจ้ามิใช่หรือ? วันนี้เจ้าได้ทำให้ฉันมีความภาคภูมิใจในตัวเจ้าเป็นอันมาก”

นักเรียนนายร้อยไทยผู้นั้นกล่าวคำขอบคุณ ท่านผู้บังคับการด้วยน้ำตาคลอตา

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ