วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๘๔

พระยาทรงฯ ชักชวนพระยาฤทธิฯ

ในการแสวงหาสมัครพรรคพวกนั้น ก็มีความจำเป็นอยู่ที่จะต้องเพ่งเล็งไปในทางแสวงหากำลังอาวุธไปพร้อมกันด้วย พระยาพหลฯ ระลึกได้ว่า นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเณย์ ซึ่งเป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์อยู่เวลานั้น เป็นผู้ที่ชอบพอรักใคร่กันอยู่ พระยาพหลฯ หวังจะได้รถยนต์บรรทุกปืนใหญ่ไว้ใช้บรรทุกทหารในวันทำการปฏิวัติ จึ่งได้ปรึกษากับพระยาทรงฯ ว่า ถ้าจะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาฤทธิฯ ให้ร่วมมือด้วย พระยาทรงฯ เห็นว่าจะได้การหรือไม่ พระยาทรงฯ ว่า เห็นท่าจะได้การอยู่บ้าง และได้รับอาสาว่าจะไปฟังลาดเลาความคิดของพระยาฤทธิฯ เอง เมื่อพระยาทรงฯ ได้ไปพบปะสนทนากับพระยาฤทธิฯ มาแล้ว ก็ได้รายงานต่อพระยาพหลฯ ว่า พระยาฤทธิฯ ได้รับว่าจะร่วมมือด้วย แต่สังเกตกิริยาอาการแสดงว่าน้ำใจยังมิสู้มั่นคงนัก อาจจะกลับใจไม่ยอมล่มหัวจมท้ายในภายหลังก็เป็นได้

โดยเหตุที่ยังมีความคลางแคลงใจพระยาฤทธิ์ฯ อยู่เช่นนี้ เมื่อได้ชักนำให้พระยาฤทธิฯ ไปเข้าประชุมร่วมกับบรรดาบุคคลชั้นหัวหน้าอื่น ๆ ในครั้งแรกแล้ว ในคราวประชุมครั้งต่อ ๆ มา พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ก็มิได้ชักนำให้พระยาฤทธิฯ ไปเข้าร่วมการประชุมอีกเลย ท่านนายพันเอกทั้งสองได้ตกลงกันว่า จะไปบอกกล่าวเอาตัวพระยาฤทธิฯ มาร่วมมือด้วย ต่อในวันลงมือทำการทีเดียว เพราะว่าในเวลาจวนแจเป็นยามเป็นยามตายเช่นนั้น ถึงจะมีใจมั่นคงหรือไม่ก็ตาม พระยาฤทธิฯ ก็คงจะไม่แปรปากหลากคำไปเป็นแน่

เกี่ยวกับพระยาฤทธิอัคเณย์ เห็นสมควรจะกล่าวเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ด้วยว่า เมื่อพระยาพหลฯ ได้ลาออกจากรัฐบาลพระยามโนฯ และเตรียมการจะยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนฯ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น พระยาพหลฯ ก็ได้แจ้งความคิดข้อนี้ และได้ขอให้พระยาฤทธิฯ เข้าร่วมด้วยเหมือนกัน แต่พระยาฤทธิฯ ปฏิเสธ และกลับชักชวนพระยาพหลฯ ว่า อย่าเล่นเลยการเมือง เป็นเครื่องเดือดร้อนรำคาญใจ เป็นการหาภัยใส่ตัวโดยใช่เหตุ ไปทำมาหากินอย่างอื่น และอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า ส่วนตัวพระยาฤทธิฯ เองนั้น ขอล้างมือแล้ว

พระประศาสน์ฯและคณะ

เมื่อได้พระยาฤทธิฯมาเข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วยแล้ว พระยาทรงฯ ก็ได้ชักชวนนายพันโทพระประศาสน์พิทยยุทธ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นผู้ที่นับถือพระยาทรงฯ มาแต่ก่อน พระประศาสน์ฯ ก็เต็มใจเข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วย แล้วพระยาทรงฯ ก็ได้พูดจาชักชวนนายทหารซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกหลายคน มีนายพันตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป (เวลานี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงเกษตร และอธิบดีกรมป่าไม้) นายร้อยเอกหลวงสวัสดิรณรงค์ (เวลานี้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม) และนายร้อยเอกหลวงรณสิทธิพิชัย เป็นอาทิ ให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วย บรรดานายทหารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่นับถือพระยาทรงฯ ในฐานะเป็นอาจารย์อยู่แล้ว ก็ได้รับคำชักชวนด้วยความมั่นคงเต็มใจ

นัดประชุมหัวหน้าครั้งแรก

เมื่อพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ เกลี้ยกล่อมได้คณะนายทหารเป็นสมัครพรรคพวกร่วมใจพอควรแก่การแล้ว ท่านทั้งสองก็ได้ติดต่อไปยังนายประยูรภมรมนตรี ให้นัดหมายบรรดาบุคคลชั้นหัวหน้ามาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จำนวนบุคคลที่จะเข้าร่วมการประชุมนั้น พระยาพหลฯ ได้แนะไปว่าอย่าให้เกินจำนวน ๘ คน การกำหนดตัวเลขไม่เกิน ๘ นี้ พระยาพหลฯ คำนวณจากคติของโหร ซึ่งเกี่ยวกับปีเดือนวันเกิดของท่าน อันได้ความว่าเป็นทางให้เกิดความมงคล นอกจากเหตุข้อนี้แล้ว ก็มีความมุ่งหมายในข้อที่จะมิให้การประชุมเป็นการเอิกเกริกเกินไป เพราะการประชุมต้องกระทำกันอย่างลักลอบ จึงได้จำกัดจำนวนผู้เข้าประชุมไว้ไม่เกิน ๘ คน ข้อกำหนดอันนี้ ที่ประชุมได้ถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมา เพราะว่าในการประชุมของคณะผู้ก่อการรวมทั้งสิ้น ๗ ครั้ง ไม่ปรากฏว่ามีผู้เข้าประชุมเกินกว่าจำนวน ๘ คนเลย

เจ้าคุณพหลฯ แจ้งว่า ไม่ได้จดไว้ และจำไม่ได้ว่า การประชุมครั้งแรกได้มีขึ้นในเดือนใดวันใด จำได้แต่ว่าเป็นเพลากลางคืน ปี ๒๔๗๕ ณ ที่บ้านของนายประยูรภมรมนตรี ตำบลหลังสถานีสามเสน การประชุมครั้งแรกนั้น มีการขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะผู้ที่ได้รับนัดหมายไม่ได้ไปประชุมครบถ้วน ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งแรก มีจำนวนเพียง ๕ ท่าน คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ หลวงพิบูลฯ และนายประยูร ในการประชุมครั้งแรกนั้นได้มีการประชุมปรึกษาพิจารณาปัญหาใหญ่ ๆ ๔ ข้อ

ข้อแรกนายประยูรได้เสนอบัญชีรายนามคณะผู้ร่วมก่อการให้ที่ประชุมทราบ บัญชีรายนามคณะผู้ก่อการนั้น ได้ทำเป็นรูปบัญชีสินค้า เพื่อว่าถ้าเกิดพลาดพลั้งถูกจับกุมขึ้นเมื่อใด ก็จะพอมีทางแก้ไขให้พ้นภัยได้

ข้อเสนอปรึกษา ข้อที่ ๒ ก็คือ ที่ประชุมได้ทำความตกลงกันว่า คณะผู้ก่อการจะไม่ลงมือกระทำการในระหว่างที่มีงานมหกรรมฉลองพระมหานคร และเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า

ข้อที่ ๓ พระยาทรงฯได้เสนอให้พระยาพหลฯเป็นผู้นำคณะ และที่ประชุมรับรองเห็นชอบด้วย

ข้อที่ ๔ ที่ประชุมได้ปรึกษากันถึงแผนการที่จะยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่สุดได้มอบหมายให้พระยาทรงฯ เป็นผู้ร่างแผนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในคราวหน้า.

ในเวลาประชุมนั้น ที่ประชุมได้นำเครื่องมือเล่นการพนันไปแสดงไว้ในการประชุมทุกคราว เพื่อว่าถ้ามีการจับกุมกันขึ้น ก็จะยอมรับข้อหาว่าได้มีการมั่วสุมกันลักลอบเล่นการพนัน ในการประชุมทุกนัดที่ได้มีที่บ้านนายประยูร ภมรมนตรีนั้น นายประยูรมักจะได้รับมอบหมายให้ไปคอยระแวดระวังต้นทาง และได้เข้าร่วมประชุมบ้างเป็นครั้งคราว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ