วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๘๔

จมื่นสุรฤทธิพฤทธิไกร

เมื่อกล่าวถึงบทบาทของท่านจมื่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะได้บรรยายลักษณะนิสสัย และความเป็นไปของท่านผู้นี้ตามสมควร เพราะว่า ทั้งที่ท่านผู้นี้ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนด้วยก็ตาม แต่ก็มีน้อยคนที่ได้ทราบว่า ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว ท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็กผู้นี้ได้ทำอะไร ข่าวคราวเกี่ยวกับท่านผู้นี้ดูเงียบเชียบ ประหนึ่งว่าไม่มีนามของท่านผู้นี้อยู่ในบัญชีคณะผู้ก่อการ

การที่ไม่ปรากฏข่าวคราวของท่านผู้นี้เลย ก็เนื่องมาแต่ลักษณะนิสสัยอันเป็นสิ่งพิเศษฉะเพาะตัวของท่านจมื่นนั่นเอง ท่านจมื่นเป็นผู้มีอัธยาศัยฝักใฝ่ในทางธรรมมากกว่าในทางโลก เป็นผู้ที่มีความพอใจในการครองชีวิตอย่างง่าย ๆ มีความรู้สึกซาบซึ้งเบิกบานในธรรมสันโดษฐ์ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้ว ก็ไม่ยอมรับตำแหน่งราชการใด ๆ พอใจในชีวิตอันสงบเงียบ และประกอบอาชีพในทางค้าขายบ้างตามสมควร เมื่อรัฐบาลดำริตั้งกรมพัสดุแห่งชาติขึ้นนั้น จมื่นสุรฤทธิ์ได้รับมอบให้เป็นผู้จัดวางโครงงาน แต่เมื่อทางการจะแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการรับเงินเดือนประจำก็ปฏิเสธ ทางราชการจึงจำต้องจ่ายให้แต่เพียงเป็นค่ารถเท่านั้น เวลานี้ท่านนายพันตรีนอกราชการ ก็ไปช่วยราชการโรงเลื่อยของกรมพลาธิการทหารบก แต่ก็ไม่ยอมรับตำแหน่งประจำและเงินเดือนอยู่นั่นเอง

เมื่อยังรับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กนั้น เจ้าคุณพหลฯได้เคยแนะนำให้น้องชายของท่านบวช แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าบวชก็เห็นจะติดคุกเป็นแน่ พี่ชายถามว่าเพราะเหตุอะไรเล่า ท่านจมื่นได้ตอบว่า เมื่อออกบวชและรับบิณฑบาตร์จากประชาชน รู้สึกบุญคุณของเขาเหล่านั้น ก็คงจะต้องบอกกล่าวชี้แจงความเหลวแหลกของราชการบ้านเมืองแก่เขาเหล่านั้นเป็นการตอบแทนบุญคุณตามสมควร และเมื่อรู้ตัวว่า ถ้าบวชก็คงจะอดเทศนาแก่ประชาชนตามนัยเช่นนั้นไม่ได้แล้วก็เห็นว่าการบวชจะกลายเป็นโทษแก่ตัวเป็นแน่

อยู่ต่อมา ได้ทราบว่าจะต้องถูกย้ายจากกรมทหารมหาดเล็กไปประจำกรมทหารราบกองพัน ๓ และดูเหมือนเนื่องแต่การย้ายนี้มีเลศนัยแฝงอยู่ข้างหลังมิใช่เป็นการกระทำที่สอาด จมื่นสุรฤทธิ์ก็ไม่พอใจจึงลาออกจากราชการ มาประกอบอาชีพทางการค้าขายอยู่พักหนึ่ง ก่อนหน้าเปลี่ยนการปกครอง ท่านจมื่นได้ใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ โดยมิได้ประกอบกิจการอะไรเลย ทั้งนี้อาจมุ่งประสงค์เพื่อจะอุทิศเวลาเพื่อแก่การนี้อย่างเต็มที่ก็เป็นได้

เจ้าคุณพหลฯกล่าวว่า น้องชายของท่านผู้นี้ เป็นผู้ที่มีลักษณะเป็นคนจริงคนหนึ่ง มีความคิดลึกซึ้งรอบคอบ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้บวชก็ตาม แต่ก็เป็นผู้เลื่อมใสและเคร่งครัดในธรรมอย่างยิ่ง เมื่อถูกชวนให้ร่วมรับราชการก็ปฏิเสธโดยอ้างว่า การดำเนินการเมืองเป็นเรื่องครึกโครมไม่ต้องอัธยาศัยของท่านจมื่น การที่เข้าร่วมในการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินนั้น ก็เพราะเห็นว่าถ้าปล่อยไว้เช่นเดิมแล้วราษฎรก็จะประสพความทุกข์ยาก ท่านจมื่นประสงค์แต่จะร่วมมือเพียงเท่าที่การเปลี่ยนการปกครองจะสำเร็จไปได้เท่านั้น เมื่อกิจคั่นนี้สำเร็จไปแล้ว ก็ใคร่จะให้ตัวท่านได้ถูกปล่อยไว้แต่ลำพัง

ท่านผู้นี้เป็นผู้ต้องการชีวิตอันสงบเงียบ เรื่องเงินทองไม่เป็นปัญหาสำหรับท่าน เพราะท่านพอใจในการครองชีวิตอย่างง่าย ๆ ชอบความงามตามธรรมชาติและศิลป มีความเบิกบานในการใช้เวลาว่างรวบรวมของเก่าๆ ที่หาได้ยาก เป็นผู้มีใจเผื่อแผ่อารี เจ้าคุณพหลฯกล่าวในตอนหนึ่งว่า “เกือบจะเรียกได้ว่าน้องชายผมเขาพอใจใช้ชีวิตอยู่อีกโลกหนึ่งต่างหากจากคนทั่วๆไป” ท่านเจ้าคุณคงหมายถึงโลกที่บริสุทธิ์งดงามอย่างเหลือเกิน

ประยูร ภมรมนตรี พบพระยาพหลฯ

เมื่อจมื่นสุรฤทธิ์ได้มาพบปรึกษาสนทนากับพี่ชายได้การแล้ว ก็แจ้งข้อที่ได้สนทนากับพระยาพหลฯ ให้นายประยูรภมรมนตรีทราบทุกประการ ต่อมานายประยูรก็ได้ไปพบกับพระยาพหลฯณบ้านของท่าน และรายงานความเป็นไปต่าง ๆ แก่ท่านนายพันเอก โดยละเอียด

พระยาพหลฯได้ทราบจากคำบอกเล่าของนายประยูรว่า ในเวลานั้นได้มีข้าราชการหนุ่มๆทั้งทางฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งได้รวบรวมกันเป็นคณะใหญ่คณะหนึ่ง ได้ติดต่อร่วมคิดกันจะทำการปฏิวัติการปกครองแผ่นดิน ทางฝ่ายทหารบกมี นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เป็นนายทหารเสนาธิการและนายทหารปืนใหญ่ไว้ได้กลุ่มหนึ่ง และนายร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก ประกอบด้วยพรรคพวกนายทหารม้าแห่งกองร้อยรถรบกลุ่มหนึ่ง ทางฝ่ายทหารเรือ นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย ได้รวบรวมสมัครพวกนายทหารเรือไว้กลุ่มหนึ่ง ทางฝ่ายพลเรือนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รวบรวมสมัครพรรคพวกไว้ได้กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง และยังมีนายตั้ว ลพานุกรม และหลวงนฤเบศรมานิต ก็ยังรวบรวมสมัครพรรคพวกทางฝ่ายพลเรือนไว้ได้อีก ๒ กลุ่ม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ