๔
วันที่ ๙ พฤษภาคม ๘๔
ได้พระยาทรงเป็นคู่คิด
ในส่วนพระยาทรงสุรเดชนั้น เมื่อพระยาพหลฯ ได้แจ้งความคิดที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองบ้านเมืองให้ทราบแล้ว ก็ได้ตกลงปลงใจ ยอมร่วมความคิดด้วยโดยมิได้อิดเอื้อนเลย เพราะว่าพระยาทรงฯ เองก็มีความไม่พอใจ ในการกระทำของพวกเจ้านายและเสนาผู้ใหญ่มาช้านานแล้ว ครั้นได้ทราบว่าเพื่อนสนิท มามีความคิดเห็นตรงกันเข้าเช่นนี้ ก็รับตกลงด้วยความยินดี
เป็นอันว่า ในขั้นเริ่มแรกนั้นพระยาพหลฯ จึงได้แต่พระยาทรงผู้เดียวเป็นผู้ร่วมคิดเปลี่ยนการปกครอง ส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ถึงแม้จะไม่พอใจในการปฏิบัติราชการแผ่นดินของรัฐบาลเจ้า และถึงแม้จะไม่ปฏิเสธความคิดของพระยาพหลฯ เสียทีเดียวก็ดี แต่เมื่อไม่แสดงความคิดความอ่านออกมาให้เห็นแน่ชัดลงไปว่า จะเอาหรือไม่เอาดังนี้แล้ว พระยาพหลฯก็จำต้องปล่อยพระยาศรีสิทธิสงครามไว้พลางก่อน
อย่างไรก็ดี ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าตามตรงว่าความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งได้อุบัติขึ้นในชั้นแรก ๆ นั้น ท่านเองรู้สึกอยู่ว่า เป็นความคิดที่อยู่ข้างเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ หรือเป็นความคิดคลุ้มคลั่งมากกว่า เพราะเหตุว่าเป็นความคิดที่ยังไม่ประกอบด้วยความหวังอะไร ภาวะของประชาชนในเวลานั้น ดูไม่แสดงว่ามีความกระตือรือร้น ต่อการบ้านเมืองอย่างใด คนทั่วไปดูอยู่กันอย่างสงบและใจเย็น ใครๆก็คงจะรักตัวกลัวตาย ฉะนั้นท่านจึงไม่อาจคาดหมายว่า จะได้สมัครพรรคพวกเพียงพอที่จะมาร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน และแปลความคิดของท่านให้เป็นการกระทำมาได้
ทั้งที่มีความหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ เช่นนั้นก็ตาม พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ได้คบคิดปรึกษาหารือกันด้วยเรื่องจะคิดการปฏิวัติระบอบการปกครองตลอดมา และได้สอดส่องฟังความคิดเห็นของเพื่อนนายทหารทั่ว ๆ ไปว่า จะมีความไม่พอใจในราชการแผ่นดินประการใดบ้าง เพื่อจะได้ชักชวนให้มาร่วมคิดการใหญ่ด้วยกันสืบต่อไป แต่ได้สอดส่องเสาะหาสมัครพรรคพวกมานานก็ยังไม่พบบุคคลที่วางใจได้ว่าเมื่อได้แย้มพรายความคิดให้ฟังแล้ว จะไม่คิดหักหลังในภายหลัง
ได้น้องชายเบิกทาง
จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง นายพันตรีจมื่นสุรฤทธิพฤทธิไกร แห่งกรมทหารมหาดเล็ก ผู้เป็นน้องร่วมสายโลหิต ได้มาหาพระยาพหลฯ ณ บ้าน และได้บ่นแก่พี่ชายถึงความเหลวแหลกของการบริหารราชการแผ่นดิน พระยาพหลฯ ก็ฟังด้วยความสนใจ ครั้นแล้วท่านจมื่นสุรฤทธิผู้น้อง ก็ได้ปรารภแก่พี่ชายสืบต่อไปว่า เมื่อภาวะของราชการบ้านเมืองกำลังจะผันแปรไปสู่ความหายนะดังนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งเกิดมาเป็นลูกผู้ชายที่มีสติปัญญาจะต้องคิดกู้บ้านเมืองไว้ อนึ่งบิดาของท่านทั้งสองก็เป็นชาติทหารและตัวท่านเจ้าคุณพหลฯ เองเล่า ก็เป็นนายทหารผู้ใหญ่ที่ได้ชื่อว่ามีสติปัญญาผู้หนึ่งในกองทัพบก สมควรจะมีความเจ็บร้อนแทนคนทั้งปวง และคิดการกู้ราชการบ้านเมืองเสียแต่ในเวลาที่ยังไม่สายเกินไป
พระยาพหลฯ ได้ฟังน้องชายมาปรารภเป็นการจริงจังดังนั้นก็ได้สดับตรับฟังด้วยความตื่นเต้นสนใจ เมื่อจบคำปรารภของท่านจมื่นผู้น้อง พระยาพหลฯ ใคร่จะฟังความคิดความอ่านของท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็กต่อไป จึ่งได้ตอบไปว่า อันความเหลวแหลกของราชการบ้านเมืองนั้น ตัวท่านก็เห็นประจักษ์แก่ตาอยู่ แต่การที่จะให้คิดกู้บ้านเมืองนั้น ใคร่ทราบว่า จมื่นมีความเห็นประการใดเล่า
ท่านนายพันตรี แห่งกรมทหารมหาดเล็ก ได้ไขความว่า การกู้บ้านเมืองนั้นเห็นมีอยู่แต่ทางเดียว คือพี่ท่านจะต้องคิดอ่านเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน บริหารราชการบ้านเมืองให้ชอบด้วยธรรม และชอบด้วยประโยชน์ของประชาราษฎร ล้มเลิกบรรดาเอกสิทธิของเจ้านาย และกำจัดขุนนางกังฉินสอพลอฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดสิ้นไป ประชาราษฎรก็จะได้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองก็จะพ้นจากหายนะ และมีทางเจริญก้าวหน้าต่อไป
พระยาพหลฯ ได้แสวงหาบุคคลที่จะมาพูดกับท่านถึงเรื่องเหล่านี้มาช้านานแล้ว เมื่อได้ฟังน้องชายมาพูดถูกใจดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แต่สู้สกดความปรีดาปราโมทย์ไว้ และแสร้งพูดว่า เรื่องที่จะคิดเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินนั้น เป็นเรื่องใหญ่หลวงนักเกินกำลังของเราทั้งสองจะคิดได้ตลอด ถ้าจะคิดการเรื่องนี้แล้ว ก็จะต้องมีสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก และการเช่นนี้ฉวยคิดพลาดพลั้งลงไปประการใดแล้ว หัวก็จะขาดด้วยกันหมด คงจะไม่มีใครเอาคอของเขามาให้เราทดลองเป็นแน่ พระยาพหลฯ จึงว่า เห็นไม่มีทางสำเร็จดอก ขอน้องชายจงเลิกคิดการเรื่องนี้เสียเถิด
กล่าวตอบท่านจมื่นไปดังนั้นแล้วพระยาพหลฯ สังเกตสีหน้าของน้องชาย เห็นว่ายังเต็มไปด้วยความมั่นใจอยู่เช่นเดิม ก็มีความพอใจ แล้วท่านจมื่นสุรฤทธิพฤทธิไกรได้กล่าวตอบว่า ข้อที่ท่านเป็นห่วงว่า จะไม่มีคนร่วมความคิดด้วยนั้น ขอจงสบายใจเถิด ผู้ที่จะเอาคอของเขามาเสี่ยง เพื่อแลกกับการล้มอำนาจสิทธิขาดของกษัตริย์ และจัดให้มีสภาการปกครองแผ่นดินขึ้นนั้น ได้มีอยู่พร้อมแล้ว ถ้าพี่ท่านออมร่วมความคิดกับเขาแล้ว ก็จะได้สมัครพรรคพวกเป็นอันมาก
พระยาพหลฯ ได้กล่าวตอบว่า มันจะไม่จริงดังน้องเราว่านะซี อนึ่งการที่จะคิดการใหญ่เช่นนี้ คนที่จะมาร่วมความคิดกัน ก็จะต้องรู้จักหัวนอนปลายตีนกันก่อน จะด่วนทำผลีผลามไปไม่ได้ ฉวยเกิดหนอนบ่อนใส้ขึ้นมา ก็จะพากันเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า โดยไม่เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินเลย ขอน้องเองจงดูคณะก่อการปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นเยี่ยงอย่าง ที่คิดการไปไม่ตลอดรอดฝั่งนั้น ก็เพราะโดยพระยากำแพงภักดี พวกเดียวกันเองเป็นผู้ทำลายพิธีเสีย พระยาพหลฯ จึงว่า ถ้าจะให้ตัวท่านตกลงปลงใจร่วมความคิดด้วยแล้ว ก็ขอให้จมื่นแจ้งนามบุคคลเหล่านั้นแก่ท่าน จะได้พิเคราะห์ดูว่า สมควรจะเชื่อถือไว้วางใจได้เพียงใด