๓
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๘๔
เริ่มแก้ปัญหา
ปืนสโตร๊คบันที่ทูตฝรั่งเศสกล่าวว่าเหมาะสำหรับใช้ปราบการกบฎจลาจลภายในบ้านเมืองนั้น เมื่อฝรั่งเศสรบกับไทยในการวิพาทเรื่องดินแดนคราวนี้ ฝรั่งเศสก็ได้นำออกใช้ต่อกู้กับไทยด้วย ชรอยฝรั่งเศสจะคิดว่าการรบกับไทยนั้นไม่แตกต่างกับการปราบกบฎภายในกี่มากน้อยกระมัง แต่อย่างไรก็ดี ผลที่สุดฝรั่งเศสก็ได้รับบทเรียนแล้วว่า การรบกับไทยนั้นเป็นการจำเป็นอยู่ที่ฝรั่งเศสจะต้องจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยสักหน่อย.
อย่างไรก็ดี ตามที่ท่านทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นได้แสดงความเห็นว่า ปืนสโตร๊คบันเหมาะสำหรับใช้การปราบกบฎจลาจลภายในบ้านเมืองนั้น เมื่อเขาได้ทราบในภายหลังแล้วว่า นายพันเอกทหารปืนใหญ่ผู้คัดค้านการซื้อปืนสโตร๊คบันนั้นเอง ในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติดังนี้แล้ว เขาคงจะตื่นเต้นและพิศวงเป็นอันมากทีเดียว ในที่สุด เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองแล้ว และกองทัพไทยก็มิได้พิจารณาซื้อปืนสโตร๊คบันของฝรั่งเศสไว้ใช้นั้น ท่านทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นคงจะไม่ประหลาดใจเลย
หลังจากที่ท่านนายพันเอกทหารปืนใหญ่ได้ฟังคำตอบของทูตทหารฝรั่งเศส ในการกินเลี้ยงร่วมกันในคืนวันนั้นแล้ว ก็ได้แต่นึกโทรมนัสอยู่ในใจว่า ไทยเราจะถูกเขาต้มเป็นแน่แล้ว แต่เมื่อที่ประชุมนายทหารชั้นนายพลไม่ยอมรับนับถือความเห็นของท่านพันเอก ท่านก็ไม่มีทางจะแก้ไขอะไรได้
ถ้าท่านนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่เป็นเช่นคนธรรมดาทั้งหลาย เมื่อได้นึกโทรมนัสไปสักพักหนึ่งแล้ว ก็คงจะไม่ใส่ใจกับปัญหาเรื่องนั้นอีกต่อไป แต่ท่านนายพันเอกบังเอิญเป็นคนที่เกิดมาสำหรับกู้ราชการบ้านเมือง เป็นคนที่มีความตั้งใจจะระเบิดเปิดทางก้าวหน้าอยู่เสมอ เมื่อไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ในเวลาหนึ่ง ก็คิดว่าจะมีอีกทางหนึ่ง ที่จะทำอะไรได้ในเวลาอื่น
ตั้งแต่ได้ประสบความขมขื่น ในการแสดงความคิดความเห็นในเรื่องสำคัญ ๆ มา ๒ ครั้งแล้ว นับแต่นั้นมาท่านนายพันเอกก็ครุ่นคิดอยู่แต่ว่าทำอย่างไรหนอ บรรดาความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินจึ่งจะไม่ถูกละเลยทอดทิ้งไปเสีย เพราะเหตุแต่เพียงว่า มันเป็นความเห็นของผู้น้อย และผู้ใหญ่ท่านไม่เห็นด้วย ทำอย่างไรหนอการบริหารแผ่นดิน จึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านายและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นอยู่เรื่อย ๆ ไปแล้ว และฉวยพวกผู้ใหญ่เกิดดำริอะไรโง่ ๆ ขึ้นมามิหยุดหย่อน และพวกผู้น้อยที่มีปัญญา ซึ่งในบางคราวก็อาจจะมีความเห็นดี ๆ ได้นั้นจะขืนขัดทัดทานไว้ก็มิฟังแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสพความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่
ทะแกล้วทหารสามเกลอ
พระยาพหลฯ มีเพื่อนเกลอที่สนิทชิดชอบกันอย่างที่สุดอยู่ ๒ ท่าน คนหนึ่งได้แก่นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช และอีกคนหนึ่งได้แก่นายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเจ้ากรมยุทธการทหารบก ความสนิทชิดชอบระหว่างท่านนายพันเอกหัวเยอรมันทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ปรากฏชัดแจ้งแก่นายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป จนถึงท่านเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หม่อมเจ้าอลงกฎ ได้ประทานฉายาแก่ท่านทั้ง ๓ ว่า “ทะแกล้วทหาร ๓ เกลอ” แห่งกองทัพไทย ทรงเรียกพระยาทรงฯ ว่า ดาตายัง เรียกพระยาศรีฯ อาโธส และเรียกพระยาพหลฯ ว่า ปอโธส ทั้งนี้ ถือตามรูปลักษณะของท่านทั้ง ๓ และก็เป็นที่ปรากฏแก่กองทัพบกไทยในเวลานั้นว่า ท่านนายพันเอกซึ่งสำเร็จวิชาการทหารจากประเทศเยอรมันทั้ง ๓ ท่านนี้เป็นผู้มีชื่อเสียงเฟื่องในวิชาการทหาร สมกับที่ท่านเสนาบดีกลาโหมได้ประทานฉายาว่า “ทะแกล้วทหาร ๓ เกลอ” แห่งกองทัพบกไทยจริง ๆ
เมื่อพระยาพหลฯ เกิดความรู้สึกไม่พอใจบรรดาเจ้านาย และนายทหารผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมฟังความเห็นของผู้น้อย จนถึงเป็นห่วงว่าการปฏิบัติราชการเช่นนี้ อาจนำประเทศชาติไปสู่ความหายนะได้ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว พระยาพหลฯ จึ่งได้ปรารภความรู้สึกของท่านแก่เพื่อนเกลอทั้ง ๒ เกลอทั้ง ๒ ก็รับว่าต่างมีความรู้สึกตรงกันกับพระยาพหลฯ และเห็นพ้องต้องกันว่า ภาวะแห่งราชการแผ่นดินเช่นนี้ สมควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข มิฉะนั้นประเทศชาติก็ไม่มีทางจะเจริญก้าวหน้าได้
เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันกับเพื่อนเกลอเช่นนั้นแล้ว และเมื่อได้ใช้เวลาครุ่นคิดต่อไป พระยาพหลฯ จึงได้ข้อยุตติในที่สุดว่า การที่จะแก้ภาวะราชการแผ่นดินในเวลานั้นจะแก้ในทางอื่น ก็ขัดสนจนปัญญา เห็นมีอยู่แต่ทางเดียว คือ คิดเปลี่ยนระบอบการปกครอง ซึ่งเป็นการแก้จากรากฐานทีเดียว ครั้นพระยาพหลฯ แย้มพรายความคิดข้อนี้แก่พระยาศรีสิทธิสงคราม หวังจะชวนให้ร่วมความคิดด้วย พระยาศรีสิทธิสงครามก็เป็นแต่เพียงพยักเอา แต่ก็ไม่แสดงออกมาให้แน่ชัดว่า จะล่มหัวจมท้ายด้วยหรือไม่ พระยาพหลฯ ได้เพียรพูดจูงใจพระยาศรีฯ อยู่หลายคราว พระยาศรีฯ ก็ประหยัดถ้อยคำไม่แสดงความคิดให้ปรากฏออกมาอยู่นั่นเอง
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ในวันก่อการปฏิวัติ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนนั้น พอพระยาศรีสิทธิสงครามได้ข่าวว่า มีคณะนายทหารก่อการปฏิวัติขึ้น พระยาศรีฯ ก็รีบตรงมาที่บ้านพระยาพหลฯ ด้วยไม่ทราบว่าท่านเกลอของท่านเป็นผู้นำในการปฏิวัติ ครั้นทราบความจริงแล้ว พระยาศรีฯ ก็หลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านพระยาพหลฯ นั่นเอง
เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านนายพันเอกผู้เป็นปิยมิตรคู่นี้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ได้มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างยิ่งเกิดขึ้น ดังได้ทราบกันทั่วไปแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ท่านอาโธสคุมกองทัพมาโรมรันกับปอโธส ผู้เคยเป็นปิยมิตรของท่านด้วยความเห็นแตกต่างกันในทางคติการเมือง และท่านอาโธสศรีสิทธิสงคราม ก็ได้ถึงแก่ความตายในการรบที่ปากช่อง ซึ่งเป็นการเปิดฉากอวสานแห่งกองทัพของฝ่ายกบฎด้วย
เมื่อเสร็จศึกแล้ว ท่านหัวหน้าคณะราษฎรก็ได้นำพวงมาลาไปคำนับศพปิยมิตรของท่านเป็นการไว้อาลัย