คำแถลงครั้งที่ ๑

หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ได้เสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เริ่มตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม เป็นต้นมา จนถึงฉะบับประจำวันที่ ๑๑ มิถุนายน รวมเรื่องที่เขียนแล้วทั้งหมด ๑๖ ตอน และยังมีเรื่องที่จะเขียนต่อไปข้างหน้าอีกหลายตอน

ในระหว่างที่ลงพิมพ์เรื่องนี้ ทางสำนักงานได้รับการติดต่อต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีจากผู้อ่านทั้งโดยทางโทรศัพท์และทางจดหมายแทบมิเว้นวัน ถึงกระนั้นก็ดี ได้มีเหตุอันน่าเสียใจบังเกิดขึ้น เกี่ยวกับการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้เมื่อคืนวันพุธที่ ๑๑

ในคืนที่กล่าวแล้ว นายมั่น นายคงได้พูดทางวิทยุกระจายเสียง กล่าวคำตำหนิและแสดงความไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ได้นำเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เสนอต่อประชาชน ทั้งที่เรื่องนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นจากการสัมภาษณ์ ท่านเชษฐบุรุษโดยตรงก็ดี.

ในเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านเชษฐบุรุษ จึ่งได้ส่งคนมาแจ้งต่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นี้ว่า “ขอให้งดลงเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติเสียเถิด เพราะผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อคืนนี้เขาแสดงความไม่พอใจ” โดยที่ท่านเชษฐบุรุษเป็นผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เราจึ่งรับคำขอของท่านไว้ใคร่ครวญด้วยความเคารพ และเราขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อท่านเชษฐบุรุษ ที่ต้องมาพลอยได้รับความกระทบกระเทือนเพราะเหตุที่ได้กรุณาให้สัมภาษณ์อันมีค่ายิ่ง แก่หนังสือพิมพ์ของเราเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนคนอ่าน

ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแสดงความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ไม่ควรจะนำเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” มาเสนอเลย เพราะว่าผู้ก่อการทุกท่านยังมีชีวิตอยู่ จะทำให้ท่านเหล่านั้นมีความกระดากใจ อีกประการหนึ่งท่านเหล่านั้นได้ตั้งใจทำการปฏิวัติโดยเสียสละแล้วทุกอย่าง โดยไม่หวังผลตอบแทนเลยแม้แต่คำยกย่องสรรเสริญ

เราขอตอบคารมข้อนี้ว่า การที่ผู้ก่อการไม่หวังผลตอบแทนตลอดจนคำสรรเสริญนั้น ไม่ได้แปลว่า ผู้ซึ่งเล็งเห็นคุณค่าในการปฏิวัติของคณะราษฎรจะสรรเสริญคณะราษฎรไม่ได้ หรือไม่ควรจะกล่าวคำสรรเสริญเสียทีเดียว ตรงกันข้ามเมื่อคณะราษฎรได้ประกอบกรรมอันดีไว้แล้ว และถ้าหากไม่มีผู้กล่าวสรรเสริญเลย ก็จะดูเป็นเรื่องสลดใจนัก และจะดูเป็นเรื่องเนรคุณไปก็เป็นได้

การเขียนสรรเสริญคณะราษฎรนั้นมิใช่จะเพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้วได้มีผู้เขียนสรรเสริญกรณียกิจของคณะปฏิวัติตลอดมา โดยฉะเพาะในวันที่ ๒๔ มิถุนายนและในวันที่ ๑๐ ธันวาคมได้มีเรื่องสดุดีกันอย่างเซ็งแซ่ทุกปี และก็ไม่เคยมีใครตำหนิติเตียนว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะ “คณะผู้ก่อการยังมีชีวิตอยู่และท่านเหล่านั้นจะมีความกระดากใจ”

แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ของเราเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นบรรทึกงานและวีรภาพของคณะราษฎรตามความเป็นจริง การกระทำของเราก็กลายเป็นโทษไป!

ถ้านายมั่นนายคง ได้พูดอะไรไปแล้วไม่คิดที่จะกลับกลืนคืนคำง่ายๆก็คงไม่ลืมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี่เอง ผู้พูดได้ขอร้องให้หนังสือพิมพ์ลงแต่เรื่องที่เป็นการเชิดชูคุณงามความดีของบุคคล เหตุไฉนเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกับคำชักชวนของผู้พูดเองจึ่งกลายเป็นเรื่องที่กอปร์ด้วยโทษไปได้ ในคำวินิจฉัยของผู้พูดคนเดียวกัน!

อันการเขียนชีวประวัติบุคคลสำคัญ ในขณะที่ท่านเจ้าของประวัติยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ใช่เป็นของเหลวไหลอะไรเลย เป็นของที่ทำกันมามากต่อมากแล้ว ในต่างประเทศหนังสือจำพวกนี้มีอ่านกันไม่หวาดไหว ถึงในประเทศของเราก็มีหนังสือแสดงชีวประวัติของบุคคลสำคัญอยู่หลายเล่ม ซึ่งแต่งขึ้นในขณะที่เจ้าของประวัติยังมีชีวิตอยู่ เช่นหนังสือชีวประวัติของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี เป็นอาทิ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นโดยท่านเจ้าของประวัติเองด้วยซ้ำ และได้พิมพ์ออกแจกจ่ายแต่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีหนังสือที่จะอ้างได้อีกหลายเล่ม

อนึ่ง ผู้ที่เคยไปฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ย่อมจะจำได้ว่า ในวันปิดสมัยประชุมสภานั้น รัฐบาลย่อมจะกล่าวสรรเสริญเยินยอสภาและสภาก็จะกล่าวสรรเสริญเยินยอรัฐบาล เป็นการกล่าวสรรเสริญกันต่อหน้าต่อตาทีเดียว แต่ทั้งสองฝ่ายมิได้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากระดากอดสูใจอะไร ทั้งนี้เป็นประเพณีนิยมในการแสดงอัธยาศัยไมตรีต่อกัน ถึงแม้ว่าท่านเหล่านั้นตั้งใจทำงานโดยเสียสละก็ตาม ก็ไม่ทำให้การสรรเสริญเยินยอที่แสดงออกไปเป็นเรื่องเหลวไหลเลย

ตามที่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงกล่าวว่า เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ จะก่อความกระทบกระเทือนแก่ความรู้สึกของคนบางหมู่บางคณะนั้น เราไม่ทราบว่าผู้พูดหมายถึงความกระทบกระเทือนร้ายแรงขนาดไหน และจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บ้านเมืองอย่างไร ถ้าหมายถึงความกระทบกระเทือนไม่ว่าเล็กว่าน้อยแล้ว เหตุการณ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน ก็อาจกล่าวได้ว่ามีความกระทบกระเทือนโน่นนิดนี่หน่อยทุกวัน ความดำริของรัฐบาลโดยมาก ถึงแม้เป็นความดำริที่ดีก็ตาม อาจกระทบกระเทือนคนหมู่นั่นหมู่นี้ได้เสมอ ถ้าจะทำอะไรโดยมิให้กระทบกระเทือนคนทั้งหลายเลยแล้ว ผลอาจเป็นว่าเราแทบไม่ต้องทำอะไรกันเลย เราจงมองดูกิจการทั้งหลายสักหน่อยเถิดว่ามีกิจการใดบ้าง ที่เมื่อได้กระทำไปแล้ว จะหวังให้เป็นที่พอใจคนทั้งหมดได้

ว่าตามจริงเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นั้น เป็นการแสดงประวัติการก่อตั้งคณะราษฎรด้วยความร่วมจิตต์ร่วมใจเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่ปรากฏข้อแสลงแทงใจหมู่คณะใด ในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อบ้านเมืองเลย เป็นการวาดภาพในด้านที่งดงามตามความเป็นจริงทั้งนั้น ซึ่งผู้อ่านทุกคนจะเป็นพยานได้ดี แต่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงก็ยังแสดงสำเนียงไปในทางข้างร้ายจนได้

ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “ความเคารพนับถือน่ะไม่ต้องการคำโฆษณาใด ๆ” ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่นายมั่นนายคงได้ทำอะไรอยู่ทุกคืนเล่า ถ้ามิได้ทำการโฆษณา?

ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “การเขียนเรื่องนี้ขึ้นนับว่ามีความมุ่งหมายที่ดี” แต่ในตอนท้ายการสนทนา ผู้พูดกลับตั้งข้อถามขึ้นว่า “การที่หนังสือพิมพ์นำเอาเรื่องนี้มาเขียน เขามีความมุ่งหมายอย่างไร?” และคู่สนทนาได้ตอบว่า “เป็นเรื่องน่าคิดอยู่” การพูดขัดกันเองเช่นนี้ มักจะมีอยู่เสมอในบทสนทนาของนายมั่นนายคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะเข้าใจความประสงค์ของเขาได้

ความประสงค์หรือความมุ่งหมายในการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้ ได้แถลงไว้แล้ว ในหนังสือพิมพ์ฉะบับประจำวันที่ ๔ พฤษภาคม ซึ่งถ้าผู้พูดได้ไปพลิกดู ก็จะพบข้อความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นอนุสสรณ์แห่งวีรภาพของบุคคลคณะนั้น ซึ่งอนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเยี่ยงอย่างอันดีไว้ อีกทั้งจะได้สืบรักษาอุดมคติของคณะราษฎรไว้ชั่วกาลนาน” แต่ถ้าผู้พูดยังไม่พอใจ และจะพยายามแปลไปในทางร้ายให้จงได้แล้ว นั่นเป็นการล่วงพ้นอำนาจของเราที่จะตามชี้แจง นั่นเป็นเรื่องในขอบเขตต์อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

อนึ่ง นอกจากความประสงค์ดังกล่าวแล้ว เราขอชี้แจงเพิ่มเติมให้ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ทราบตระหนักไว้ด้วยว่า กรณียกิจสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือกันในวงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลกก็คือ หนังสือพิมพ์จำจะต้องใฝ่แสวงหาข้อความจริงต่าง ๆ มาเสนอต่อประชาชน การที่หนังสือพิมพ์ของเราไปติดต่อขอทราบความจริงในเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” จากท่านเชษฐบุรุษนั้น ก็เป็นการแสดงความขวนขวายในการบำเพ็ญหน้าที่ของเราประการหนึ่ง นอกจากจะติดต่อขอความจริงจากท่านเชษฐบุรุษแล้ว หนังสือพิมพ์ของเรายังได้ตั้งใจไว้ว่าจะไปติดต่อกับท่านหัวหน้าคณะราษฎรคนอื่นๆอีก ดังที่เราได้ประกาศความตั้งใจข้อนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ ฉะบับประจำวันที่ ๔ พฤษภาคมแล้วว่า “เรื่องที่จะเขียนในชุดแรกนี้จะบรรยายหนักไปในพฤตติการณ์ของท่านหัวหน้าคณะราษฎร และเมื่อผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดแห่งพฤตติการณ์ของท่านหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ แล้ว ก็จะได้บรรยายรายละเอียดแห่งพฤตติการณ์ของท่านเหล่านั้นเป็นลำดับไป” ความข้อนี้จักเป็นพยานในความตั้งใจขวนขวายบำเพ็ญหน้าที่ของหนังสือพิมพ์นี้ได้อย่างดี แต่เมื่อทางการวิทยุกระจายเสียงได้พูดจาระรานออกมาเช่นนี้เสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาท่านผู้ใหญ่ที่อาจจะให้ข้อความจริงในเรื่องอันน่ารู้นี้ได้คงจะขอสงวนถ้อยคำของท่านเป็นแน่.

อย่างไรก็ดีทุกครั้งที่นายมั่นนายคงได้พูดถึงเรื่องหนังสือพิมพ์ เราสังเกตว่า ผู้พูดไม่มีความเข้าใจในหน้าที่ของหนังสือพิมพ์เลย โดยฉะเพาะ ในข้อที่เราได้กล่าวข้างต้น และด้วยความไม่เข้าใจนั่นเองผู้พูดจึงมักจะเกณฑ์ให้หนังสือพิมพ์ต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ ซึ่งโดยมากเป็นการขัดขืนฝืนวิสัยหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ถึงกระนั้นก็ดี ผู้พูดเขาก็ยังพอใจให้โอวาทแก่หนังสือพิมพ์อยู่เนือง ๆ เราก็ได้แต่จะปล่อยให้เขารื่นรมย์ไปตามหนทางของเขาเท่านั้น.

การวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเรานั้น ถ้าผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้กระทำด้วยอารยวิธีแล้ว เราก็ต้อนรับด้วยความยินดีเต็มใจ แต่ถ้าปฏิบัติไปในทางตรงกันข้ามเราก็มีความสลดใจเป็นธรรมดา

การที่ทางการวิทยุกระจายเสียงปล่อยให้ผู้พูด วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเรานั้น เราไม่ขัดข้องเลย แต่เราเสียดายอยู่ข้อหนึ่งว่า เราไม่มีโอกาศจะใช้เครื่องมืออันเดียวกัน แก้คารมของผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ ซึ่งดูไม่เป็นการชอบธรรมอยู่สักหน่อย ถ้าเมื่อใดผู้พูดได้วิพากษ์หนังสือพิมพ์แล้ว และท่านอธิบดีกรมโฆษณาการได้ให้โอกาศแก่ผู้ถูกวิพากษ์ ได้แถลงแก้คารมโดยทางวิทยุกระจายเสียง อันมิใช่เป็นการปล่อยให้พูดได้ข้างเดียวแล้ว เราก็จะต้อนรับการวิพากษ์กิจการของเราจากทางการวิทยุกระจายเสียงด้วยความชื่นชมยินดี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ