บทที่ ๔

ความดิ้นรนเอาตัวรอด

ถ้ารัฐมนตรีกลาโหมในสมัยนี้กระทำอย่างหลวงพิบูลฯ รัฐบาลก็คงถูกโจมตีทั้งในสภาฯ และในหนังสือพิมพ์ การที่จะเอาคนเข้าคุกหรือปล่อยพ้นความผิดไปนั้น จะต้องปฏิบัติตามวิถีทางกฎหมาย โดยรัฐบาลจะยื่นมือเข้าสอดหาได้ไม่ เมื่อศาลแสดงความนอบน้อมต่ออำนาจของหลวงพิบูลฯ ถึงเพียงนี้ ก็เป็นธรรมดาที่เราจะสันนิษฐานต่อไปว่า คำกล่าวในเรื่องศาลรับคำสั่งจากวังปารุสฯ ให้ลงโทษจำเลยบางคน ทั้งๆ หลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอนั้น คงไม่ใช่คำกล่าวที่เหลวไหล

แต่การทำผิดวิถีทางกฎหมายของหลวงพิบูลฯ นี้ดูเป็นเรื่องธรรมดาและไม่มีใครพูดถึง พวกเราในบางขวางโดยมากกลับอยากให้หลวงพิบูลฯ ทำเช่นนั้น สำหรับคนที่เหลืออยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการปล่อยตัวแบบหลวงพิบูลฯ คงจะกระทำกันอีก ต่างคนจึงตั้งความปรารถนาที่จะให้เคราะห์ดีมาตกอยู่แก่ตนบ้าง ความพยายามที่จะวิ่งเต้นเข้าหาหลวงพิบูลฯ และบุคคลผู้มีอำนาจในรัฐบาลเพื่อขอให้ช่วยเหลือนั้น เป็นสิ่งที่กระทำกันโดยเปิดเผยและโดยปกติ “ตัวใครก็ตัวมัน” ในที่สุดแม้แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำก็ได้รับการประจบประแจงด้วย ซึ่งปรากฏผลดีโดยเร็ว กล่าวคือได้รับความผ่อนผันให้ได้รับความสุขสบายในเรือนจำมากขึ้น และทางเรือนจำได้เสนอความชอบของนักโทษการเมืองคนที่ได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในกิจการต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยเร่งเร้าให้รัฐบาลดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษ

ความรู้สึกของพวกแดนหกระหว่างเวลาเหล่านี้ แตกแยกออกเป็น ๓ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นความฉลาดและไม่เสียเกียรติในการวิ่งเต้นเอาตัวรอด ความนับถือหรือรังเกียจหลวงพิบูลฯ มีประการใดนั้นควรซ่อนไว้ก่อนจนกว่าจะมีโอกาสได้พูดหรือได้ทำโดยถนัด อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแม้ไม่วิ่งเต้นก็คงจะได้รับอภัยโทษเหมือนกัน แต่การวิ่งเต้นเป็นทางเสียเกียรติ พวกนี้จึงสงบเฉยอยู่ พวกที่สามเห็นว่ามีหนทางที่จะวิ่งเต้นให้ออกจากคุกได้อย่างมีเกียรติ โดยสนับสนุนความเห็นและการกระทำบางอย่างของหลวงพิบูลสงคราม ชาวคณะน้ำเงินแท้หลายคนรวมอยู่ในจำพวกที่สามนี้

ลอบส่งบทความไปลงหนังสือพิมพ์

หนังสือ น้ำเงินแท้ ที่เลิกล้มไปนั้น เราเห็นว่าเป็นเพียงการทดลองของเรา ในอันที่จะเผยแพร่แง่คิดของเราต่อสาธารณชน โดยหนังสือพิมพ์ น้ำเงินแท้ นี้ เราทราบว่า มีชนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะรับฟังความคิดเห็นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ฉะนั้นถ้าเราเขียนบทความส่งไปลงหนังสือพิมพ์ก็น่าจะได้ผลดี แต่การเขียนติเตียนรัฐบาลเพื่อหวังให้ประชาชนที่เสื่อมความนิยมและต้องล้มลงนั้น เป็นความหวังที่ไกลมือ และถ้าล่วงรู้ถึงรัฐบาลก็จะเป็นภัยโดยรัฐบาลจะระงับการขอพระราชทานอภัยโทษ และคงจะบีบคั้นมากขึ้นด้วย เราจึงต้องพิจารณาที่จะเขียนในทางอื่น

เราตีความหมายว่ารัฐบาลก็คือหลวงพิบูลสงคราม บุรุษผู้กำอำนาจหลังฉากการเมืองผู้นี้ เราสังเกตว่าปรารถนาจะเป็นใหญ่เหนือผู้อื่น มีความคิดฟุ้งเฟ้อในทางชาตินิยม อันวิสัยนักการเมืองนั้นย่อมไม่ถือสาเหตุอริส่วนตัว เมื่อความเห็นทางการเมืองเปลี่ยนแปลงมาตรงกันก็สิ้นความเป็นปรปักษ์กัน โดยมูลอันนี้ เราเห็นว่าการสนับสนุนหลวงพิบูลฯ ไม่เป็นทางเสียเกียรติ ถึงแม้จะปรากฏในภายหลังว่า การสนับสนุนนั้นไม่ใช่ความจริงใจ ประชาชนก็คงเห็นว่าเป็นวิสัยของนักการเมืองที่จะมีเล่ห์อุบาย

เราทราบมาว่าหลวงพิบูลฯ กำลังพยายามจะนำลัทธิปกครองโดยผู้นำมาใช้ เขาได้เขียนความเห็นลงหนังสือพิมพ์และปาฐกถาในที่ต่างๆ อันเป็นหนทางที่เขาจะเปลี่ยนระบบการปกครองจากร่องรอยประชาธิปไตยเข้าสู่ลัทธิเผด็จการ แต่ความคิดเห็นของเขาที่แสดงออกมาเหล่านี้ไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน และดูเหมือนทำให้ความนิยมในตัวเขาลดหย่อนลงทุกครั้งที่เขาเอ่ยขึ้นในทำนองนี้

เราแน่ใจว่า หลวงพิบูลฯ ต้องการให้มีผู้สนับสนุนความคิดของเขาในเรื่องลัทธิเผด็จการ และรู้ด้วยว่าแม้จะสนับสนุนลัทธินี้สักเท่าใด ประชาชนก็คงไม่ยอมรับลัทธิเผด็จการโดยเต็มใจ แต่วิธีการบางอย่างในลัทธิเผด็จการอาจเป็นผลดีแก่สยามได้ เช่นการปลูกฝังนิสัยให้รักชาติ การบำรุงอนามัย และการเพาะพลเมือง ในแง่ต่างๆ เหล่านี้ นักเขียนลูกมือของหลวงพิบูลฯ มิได้กล่าวถึงเลย

โดยความช่วยเหลือของนักหนังสือพิมพ์บางคน ที่มีความเห็นร่วมกับเขา บทความที่เขียนส่งออกไปจากแดนหก จึงมีโอกาสปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ แทบทุกวัน เราได้รับรายงานว่าบทความของเราหลายบทได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชนเป็นอันมาก แต่เราไม่ทราบว่าข้อความในบทประพันธ์นั้นดีพอที่หลวงพิบูลฯ จะอยากรู้จักชื่อผู้เป็นผู้เขียนหรือไม่

การรับตัวนักโทษการเมืองไปรับการอบรมที่กระทรวงกลาโหมเพื่อรอการพระราชทานอภัยโทษ ได้เริ่มต้นขึ้นตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะนั้นการส่งมอบบทความไปลงหนังสือพิมพ์ และการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือเป็นส่วนตัวกำลังดำเนินอยู่อย่างเต็มที่ เราไม่ทราบว่าการวิ่งเต้นหาอิทธิพลเป็นส่วนตัวมีผลเกี่ยวกับการอภัยโทษหรือไม่เพียงใด โดยทำนองเดียวกันเราก็ไม่ทราบว่าบทความของเราในหนังสือพิมพ์เป็นต้นเหตุของการขอพระราชทานอภัยโทษหรือมิใช่ นอกจากได้ทราบจากนายทองคำ คล้ายโอกาส ซึ่งมาเยี่ยม สอ เสถบุตร ที่บางขวางว่า การที่เราส่งบทประพันธ์ไปลงหนังสือพิมพ์นั้น เป็นเรื่องรู้กันแพร่หลาย และรู้ด้วยว่าบุคคลที่เขียนอยู่เสมอก็คือ สอ เสถบุตร กับ นิมิตรมงคล

ลอบทำความผิดในเรือนจำ

ผู้ที่ได้รับการอบรมชุดแรกเป็นพวกนายสิบ รุ่นต่อมาๆ เป็นพวกนายทหารผู้น้อย และบางทีก็มีนายทหารชั้นนายพันด้วย หลักเกณฑ์ในการรับตัวไปอบรม ดูเหมือนจะเอาแน่ไม่ได้ บางคนว่าถือเกณฑ์ไว้วางใจว่าจะไม่ไปคิดร้ายต่อรัฐบาลอีกเป็นสำคัญ ซึ่งพิจารณาจากความประพฤติในเรือนจำอีกอย่างหนึ่ง

ความประพฤติในเรือนจำนั้น คงหมายถึงท่วงทีกิริยาที่อ่อนน้อมหรือกระด้างกระเดื่องต่อบุคคลผู้มีอำนาจในรัฐบาล ยิ่งกว่าที่จะหมายถึงปฏิบัติโดยถูกต้องตามข้อบังคับซึ่งวางไว้หยุมหยิมจนปฏิบัติตามไม่ไหว พวกเราทุกคนคงจะได้ละเมิดข้อบังคับของเรือนจำบ้างไม่มากก็น้อย เช่นการลอบต่อไฟฟ้าเข้ามาใช้ในห้องขัง และนำเตาไฟเข้ามาปรุงอาหารในห้องขัง หรือมีของต้องห้ามเช่นมีดและเครื่องเขียน แต่คงมี สอ เสถบุตร กับข้าพเจ้าสองคนเท่านั้นที่กล้าทำความผิดในเรือนจำชนิดที่มีผลเกี่ยวกับการเมือง

ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้คงทราบแล้วว่า สอ เสถบุตร ได้ทำปทานุกรมแบบใหม่อังกฤษเป็นไทยของเขาในคุก และอาจทราบด้วยว่าข้าพเจ้ามีส่วนช่วยเหลือร่วมมือกับคนอื่นอีกหลายคนในการคัดลอกตรวจทานต้นฉบับและตรวจปรู้พ การทำปทานุกรมขนาดใหญ่เป็นงานหนัก และเมื่อทำในคุกก็เพิ่มความหนักใจเข้าอีกด้วย ประการแรก เราต้องลอบเอาเครื่องเขียนและตำราต่างๆ เข้ามาในเรือนจำให้เพียงพอแก่การใช้สอย ประการที่สอง เราต้องต่อไฟฟ้าใช้ และคอยเก็บไฟฟ้าซุกซ่อนอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียงเจ้าพนักงานมาตรวจประจำวัน ประการที่สาม เราต้องหาที่ซ่อนถาวรสำหรับไฟฟ้าและตำราของเราในโอกาสมีการตรวจค้น ซึ่งทั้งนี้จำเป็นที่ข้าพเจ้าต้องปีนฝาห้องขึ้นไปเจาะเพดานเป็นช่อง สำหรับเก็บสิ่งของต้องห้าม ประการที่สี่ เราต้องลักลอบเอาต้นฉบับที่เขียนแล้ว ส่งออกมาโรงพิมพ์ รวมทั้งการติดต่อเกี่ยวกับการพิมพ์

ผู้อ่านคงทราบอีกว่า สอ เสถบุตร ผู้เดียวกันอีกที่ได้คิดทำเครื่องรับวิทยุขึ้นใช้ในแดนหก ขั้นแรกทำเครื่องแร่ โดยใช้กระป๋องนมข้นเอาลวดดอกไม้ใหวพันเป็นคอนเดนเซอร์ เริ่มใช้ครั้งแรกได้ยินแว่วๆ ราวกับเสียงแมลงหวี แต่เราก็ดีใจในความสำเร็จขั้นแรกนี้เป็นอันมาก ต่อมาได้ปรับปรุงจนได้ยินชัดเจน แล้วก็ดัดแปลงเป็นเครื่องหลอดรับได้ทั่วโลก แต่ในที่สุด สอ เสถบุตร เสียทีถูกจับได้ว่ามีเครื่องวิทยุเถื่อน และถูกศาลปรับเป็นเงิน ๒๐ บาท

ใช่แต่เท่านั้น นักการเมืองร่างเล็กศีรษะโตผู้นี้ ยังได้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น เตาไฟฟ้า เป็นต้น และเมื่อถูกส่งตัวมาเกาะเต่า ก็ยังได้คิดทำสบู่จากด่างขี้เถ้าขึ้นเป็นการใหญ่ ถึงกับผลิตเป็นสินค้ามาขายจังหวัดสุราษฎร์

เมื่ออยู่แดนหก พวกเราที่มีฝีมือทางประพันธ์ ต่างก็ได้เขียนหนังสือกันไว้ไม่มากก็น้อย แต่มีน้อยรายที่ส่งออกมาเก็บรักษาไว้นอกเรือนจำได้ และเกือบไม่มีเลยที่ยังคงรักษาไว้ได้จนเดี๋ยวนี้ พระยาศราภัยพิพัฒเขียนเรื่อง “ฝันจริงของข้าพเจ้า” ซึ่งยังไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน สอ เสถบุตร เขียนเรื่อง “พ.ศ. ๒๔๘๑” ซึ่งภายหลังต้องถูกเผาไฟพร้อมๆ กับ น้ำเงินแท้ ระลึก ลางคุณเสนเขียน “การถวายบังคมพระบรมรูป” ซึ่งเจ้าของกำลังเที่ยวติดตามหาร่องรอยว่าไปตกอยู่สารทิศใด

บุญทำกรรมแต่งและวันนี้

เรื่อง “พ.ศ. ๒๔๘๑” ของ สอ เสถบุตร เป็นนวนิยายเริงรมย์เคล้าการเมือง ซึ่งวาดภาพของสยามภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ สอ เสถบุตร ตามที่ทราบเป็นผู้มีความเห็นทางลิเบอรัล จึงรังเกียจลัทธิคอมมิวนิสต์เท่าๆ กับที่รังเกียจลัทธิเผด็จการ เรื่อง “พ.ศ. ๒๔๘๑” นั้นเขียนสมจริง ประกอบด้วยหลักวิชาและความคิดความเห็นอันน่าเลื่อมใส แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องกับ สอ เสถบุตร ในความคิดเห็นทางการเมืองบางข้อ จึงเขียนนวนิยายแบบเดียวกันนั้นขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า “บุญทำกรรมแต่ง” ซึ่งแสดงความคิดเห็นในลัทธิการเมืองต่างๆ โดยพยายามวางตัวเป็นกลาง เช่นทฤษฎีและวิธีการของลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิเผด็จการและประชาธิปไตย ทั้งนี้ได้เขียนเคล้ากันไปกับท้องเรื่องตามวิธีประพันธ์นิยายเริงรมย์เป็นเรื่องขนาดยาว เขียนลงในสมุดเอ็กเซอร์ไซส์ชนิด ๔๐ แผ่น จำนวน ๓๐ เล่ม

นอกจาก บุญทำกรรมแต่ง ข้าพเจ้ายังได้เขียนนิยายสั้นๆ ขึ้นอีกหลายเรื่อง หวังว่าเมื่อพ้นโทษแล้วจะจัดการพิมพ์ขึ้น เรื่องที่มิได้คิดจะพิมพ์มีเรื่องเดียว ให้ชื่อ “วันนี้” ซึ่งเป็นการจดบันทึกประจำวัน ข้าพเจ้าอนุญาตตนเองให้ระบายความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลไว้ในสมุดเล่มนั้น มันเป็นวิธีที่ข้าพเจ้าค้นพบว่าได้ทำให้ข้าพเจ้าคลายกลุ้มใจในการถูกลงโทษ

เนื่องด้วยข้าพเจ้ามีสิ่งของต้องห้ามหลายอย่างที่จะส่งเข้าและออกจากเรือนจำโดยการตรวจค้น จึงประดิษฐ์ตะกร้าใส่อาหารที่มีลิ้นชักกลสำหรับบรรจุสิ่งของต้องห้าม บรรดาบทประพันธ์ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นในเรือนจำทั้งหมด ได้ส่งออกไปนอกเรือนจำได้ด้วยตะกร้าใบนี้ แต่ในที่สุดความลับของข้าพเจ้าก็รั่วไหล ขุนศรีศรากรให้ผู้คุมมายึดตะกร้าของข้าพเจ้าไป และอีกวันหนึ่งตัวท่านขุนศรีศรากรเอง ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ ได้มาค้นห้องของข้าพเจ้า ในขณะข้าพเจ้าไม่อยู่ บังเอิญข้าพเจ้าส่งหนังสือที่เขียนไว้ออกไปได้หมดแล้ว ขุนศรี ศรากร พบสมุดของสุโพด พินธุโยธิน ๑ เล่ม กับสมุดของเกื้อ จันทรวิรุจ ๑ เล่ม ในห้องของข้าพเจ้า น่าจะเข้าใจว่าเป็นสมุดของข้าพเจ้าจึงริบเอาไป และสั่งไว้กับเพื่อนของข้าพเจ้าผู้หนึ่ง ให้บอกข้าพเจ้าว่าท่าน “ขอยืมไปอ่าน” เมื่อข้าพเจ้าทราบว่าเป็นสมุดของสุโพดกับเกื้อ และสอบถามได้ความว่าไม่ได้เขียนข้อความที่ผิดร้ายอย่างใดไว้ ข้าพเจ้าก็ตกลงยอมให้ท่านผู้บัญชาการเข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นเจ้าของสมุดสองเล่มนั้น

ข้าพเจ้ากลับใจ

ขุนศรีศรากรจะสืบทราบประวัติแห่งความดื้อถือทิฐิของข้าพเจ้ามาได้อย่างไรและเพียงใดก็ตาม ปรากฏแต่เพียงว่าท่านลังเลอยู่นักหนาที่จะเสนอชื่อข้าพเจ้าไปรับการอบรม

อย่างไรก็ตาม ในปลายปี ๒๔๗๙ ข้าพเจ้าก็ได้ไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม ภายใต้การอบรมและบังคับบัญชาของนายพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ผู้ซึ่งต้องถูกหาเป็นกบฏเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ และผู้ซึ่งได้สารภาพกับข้าพเจ้าในภายหลังว่า ในบรรดาผู้รับการอบรมทั้งหมด รวม ๖ รุ่น ซึ่งเป็นจำนวนราว ๓๐๐ คน มีข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่หลวงชำนาญฯ รู้สึกไม่ไว้วางใจ

แท้ที่จริงระหว่างเวลารับการอบรมนั้น โดยมีโอกาสพบปะสนทนากับญาติและมิตร และได้ลาไปพักบ้านในวันหยุดราชการ ข้าพเจ้าจึงได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนว่าได้บังเกิดความเลื่อมใสหลวงพิบูลฯ มากขึ้น จนเห็นได้ชัดว่าถ้าใครคิดทำลายหลวงพิบูลฯ ก็จะกลายเป็นคนที่ถูกประชาชนเกลียดชัง ประชาชนลืมว่าหลวงพิบูลฯ นิยมการปกครองแบบเผด็จการ และอาจเป็นได้ว่า ประชาชนต้องการอำนาจเด็ดขาดของหลวงพิบูลฯ เสียด้วยซ้ำ เมื่อประชามติเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามกับความเข้าใจเดิมดังนี้ ข้าพเจ้าจึงเลิกความคิดที่จะเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองต่อไป

ในการอบรมครั้งนั้น หลวงพิบูลฯ ได้ชักชวนผู้รับการอบรมให้ลืมความขมขื่นแต่หนหลังเสียทั้งหมด เพื่อมาตั้งต้นกันใหม่ในฐานเป็นมิตร และหลวงชำนาญฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการอบรมก็ได้กล่าวไว้ด้วยว่าท่านทราบดีว่าเมื่ออยู่ในบางขวาง ต่างก็มีความเคียดแค้นและปองร้ายรัฐบาล แต่ท่านหวังว่าเมื่อเราได้พ้นโทษมาดังนี้แล้ว ความเคียดแค้นคงหายไป หรืออย่างน้อยคงไม่แสดงความเคียดแค้นและปองร้ายซึ่งจะนำภัยมาสู่ตนโดยเปล่าประโยชน์

ข้าพเจ้าตกลงใจจะปฏิบัติตามโอวาทและคำชักชวนของรัฐบุรุษทั้ง ๒ นั้น เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มหางานอาชีพ ดำเนินชีวิตอย่างพลเมืองธรรมดาทั้งหลาย หนังสือเรื่อง บุญทำกรรมแต่ง ก็เลิกความคิดที่จะพิมพ์ โดยเกรงว่าอาจจะมีข้อความบางตอนที่จะทำให้หลวงพิบูลฯ รู้สึกเป็นการเสียดสี ถึงแม้มิใช่โดยเจตนาของข้าพเจ้าเลยก็ตาม

แต่ตำรวจสันติบาลไม่ยอมเชื่อว่าข้าพเจ้าเลิกความสนใจในการเมือง ทุกๆ เดือนตำรวจสันติบาลในเครื่องแบบ หรือนอกเครื่องแบบจะมาแวะเยี่ยมและไต่ถามความเป็นไปต่างๆ ของข้าพเจ้า ในโอกาสหนึ่งเขากล่าวแนะนำว่า การที่ข้าพเจ้าดำเนินอาชีพทางค้าขายนั้นไม่เป็นที่ไว้วางใจ เพราะดูคล้ายกับยังถือทิฐิมานะแสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล ข้าพเจ้าควรสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งเปิดรับสมัครนักโทษการเมืองอยู่แล้วตามคำขอร้องของรัฐมนตรีกลาโหม นอกจากนั้นข้าพเจ้าควรเลิกเขียนหนังสือพิมพ์โดยเด็ดขาด ข้าพเจ้าขอบใจในความแนะนำ แต่มิได้ตกลงใจที่จะปฏิบัติตาม ข้าพเจ้าพอใจที่ดำเนินอาชีพค้าขายยิ่งกว่ารับราชการ และดูไร้ผลในการที่จะระแวงว่าผู้ไม่รับราชการคือผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลอยู่ ส่วนการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าข้าพเจ้าเขียนในทางสารคดีทั่วไปและไม่แตะต้องปัญหาการเมืองแล้วก็ไม่น่าจะเห็นเป็นภัยอย่างใด

พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ

ระหว่างอยู่ในคุก ข้าพเจ้าได้ยอมตนทำผิดกฎหมายในบางกรณี แต่เมื่อพ้นจากคุกมาแล้วและโดยสิ้นความประสงค์จะล้มล้างรัฐบาล ข้าพเจ้าก็เจตนาจะเคารพกฎหมายโดยซื่อตรง แต่ข้าพเจ้าควรมีเสรีภาพที่จะปฏิบัติตามอำเภอใจ ในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่าเป็นความผิด

ถ้าหากสยามมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย ซึ่งราษฎรมีสิทธิจะติเตียนรัฐบาล หรือออกความเห็นในกิจการบ้านเมืองได้โดยเปิดเผยแล้ว ข้าพเจ้าก็คงใคร่จะใช้สิทธิของข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าตกลงใจไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง มิใช่เพราะขาดความสนใจ แต่เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมให้ราษฎรใช้สิทธิเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ในปลายปี ๒๔๗๙ ความสนใจของข้าพเจ้าในกิจการบ้านเมืองเริ่มบังเกิดขึ้น โดยหลวงพิบูลฯ ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็จะยอมให้มีพรรคการเมือง นี้หมายความว่าการปกครองจะหันจากคณาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยกันเสียที ข้าพเจ้าสำคัญว่าหลวงพิบูลฯ ฉลาดพอที่จะรู้ว่าประชาชนกำลังกระหายจะได้ชิมรสประชาธิปไตยอยู่เต็มที่ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้หลวงพิบูลฯ ได้รับความนิยมยิ่งกว่าการมอบอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน

หลังจากหนังสือพิมพ์ได้ลงคำสัมภาษณ์ของหลวงพิบูลฯ ดังนั้นแล้ว เจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ก็มาขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนความรู้ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง หนังสือ “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” จึงได้ถูกเขียนขึ้น ในระหว่างนั้นหลวงพิบูลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ข่าวการที่จะให้มีพรรคการเมืองดูเงียบไป ครั้นเริ่มการโฆษณาขายหนังสือเรื่อง พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ ตำรวจก็จับตัวผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไปกักขัง และสอบสวนว่าได้มีการสมคบกันในการตั้งพรรคการเมืองขึ้นหรือเปล่า ได้มีการออกนามข้าพเจ้าในการสอบสวนนั้น และได้มีการค้นบ้านของสำนักพิมพ์ แต่ข้าพเจ้ายังปลอดภัยอยู่ ในที่สุดตำรวจไม่ได้ความจากการสอบสวนว่ามีพรรคการเมืองจึงปล่อยตัวผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไป ส่วนหนังสือซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างพิมพ์นั้นถูกตำรวจริบไปทั้งหมด

การที่ได้มีการจับกุมและหนังสือของข้าพเจ้าถูกริบเช่นนี้ แสดงว่าหลวง พิบูลฯ มิได้ตั้งใจแม้แต่น้อยที่จะยอมให้มีพรรคการเมือง อำนาจในการปกครองซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานมาจากพระปกเกล้าฯ เพื่อมอบให้แก่ราษฎรนั้น หลวงพิบูลฯ ตั้งใจยึดไว้แทนกษัตริย์ และดูเหมือนราษฎรก็ยินยอม ในฐานะเช่นนี้หนทางดีสำหรับข้าพเจ้าก็คือ ออกห่างจากวงการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข้าพเจ้าเลิกค้าขายและวางปากกา ในเดือนธันวาคมไปสมัครงานที่กรมชลประทาน ได้รับมอบงานให้ไปสำรวจคลองไผ่พระ ในเวลาที่นึกว่าตนอยู่ไกลแสนไกลจากวงการเมืองอย่างที่สุดแล้ว ตำรวจก็นำเอา “การเมือง” ตามมาโยนใส่ให้ข้าพเจ้า

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ