บทที่ ๓
น้ำเงินแท้
ถ้าเราสามารถพูดกันได้ ความแสลงใจในการเยี่ยมก็จะกลายเป็นความชุ่มชื่น คำแรกที่ข้าพเจ้าจะถามก็คือ “แม่ครับ เขาจับลูกเรื่องอะไรกัน”
บางทีท่านจะบอกว่า “แม่ไม่รู้เรื่องเลย” บางทีท่านจะย้อนถามว่า “ก็ลูกไปทำอะไรเข้าอีกล่ะ” หรือบางทีท่านจะบอกได้ว่า “เพราะลูกไปเยี่ยมพวกที่ยังอยู่บางขวางบ่อยๆ น่ะซี” หรือ “ลูกไม่ควรเขียนเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์เข้านี่นา” หรือ “หนังสือ พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ นั่นแหละทำเหตุ” หรือท่านอาจบอกซึ่งเป็นข้อเดียวที่ข้าพเจ้ากลัวว่า “เขาจับหนังสือ น้ำเงินแท้ ที่เขียนขึ้นในคุกเอาไปได้หมดแล้ว”
๕ ปีมาแล้ว สมัยเมื่อศาลพิเศษกำลังดำเนินการพิจารณาคดีกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น พวกเราหลายคนที่ถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำบางขวางได้ร่วมความคิดกันออกหนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า “น้ำเงินแท้” หนังสือนี้แต่ละฉบับ เมื่อได้อ่านกันในระหว่างผู้ต้องขังการเมืองทั่วแล้ว ก็ส่งออกมานอกเรือนจำเพื่อให้ญาติพี่น้องได้อ่านด้วย และโดยหวังล่วงหน้าว่าจะหยิบยื่นกันต่อไปในระหว่างมิตรต่อมิตรด้วยความระแวดระวัง มิให้ตกไปถึงมือของศัตรู ซึ่งจะนำต่อไปถึงตำรวจและรัฐบาล มันเป็นหนังสือ “ใต้ดิน” ซึ่งได้รับความสำเร็จในการดำเนินการงานอย่างน่าพอใจ และเป็นความลับซึ่งเราเพิ่งยอมเปิดโปงกันในครั้งนี้เอง
ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มการออกหนังสือ น้ำเงินแท้ แต่น้ำเงินแท้ไม่ใช่หนังสือฉบับแรกที่ออกในคุก เมื่อข้าพเจ้ามาถึงคุกในวันแรก (ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี) จงกล ไกรฤกษ์ ได้นำ “หนังสือเขียน” (คือหนังสือซึ่งทำขึ้นแทนหนังสือพิมพ์) มาให้ข้าพเจ้าอ่าน หนังสือเขียนของจงกลนั้น เขียนลงในแผ่นสมุดเอ็กเซอร์ไซซ์ ๒ แผ่นติดกัน และเขียนด้วยหมึกโดยตัวจงกลเอง ข้อความที่เขียนนั้นเป็นข่าวสารการเมืองนอกคุก เท่าที่จงกลสามารถรวบรวมได้ จงกล ไกรฤกษ์ เป็นผู้ที่แส่จะรับใช้คนหมู่มากเสมอ การออกหนังสือเขียนนี้เป็นความแส่อย่างหนึ่งที่มีประโยชน์แก่เพื่อนฝูงอยู่ไม่น้อย
ข้าพเจ้าก็เป็นคนแส่เท่าๆ กับจงกล จึงเกิดความคิดที่จะต่อเติมความคิดของจงกลให้เป็นผลงอกงามออกไป ข้าพเจ้ามาคำนึงว่าพวกที่ถูกจับฐานกบฏเหล่านี้โดยมากเป็นายทหารผู้น้อย ซึ่งทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย เขาไม่ใช่นักการเมืองและไม่มีความรู้แม้แต่ ก.ข. ของการเมือง อย่างไรก็ตาม ถ้าเขาต้องติดคุกด้วยเรื่องการเมือง เขาก็ควรศึกษาการเมืองไว้บ้าง น้ำเงินแท้ จะเป็นตำราการเมืองเล่มแรกสำหรับเขา และแทนที่จะเขียนลงในแผ่นกระดาษ ข้าพเจ้าจะเขียนลงในสมุดปกแข็ง หุ้มด้วยกระดาษแก้ว ภาพหน้าปกและภาพหัวเรื่องเขียนโดย เพรา พวงนาค, เติม พลวิเศษ และแปลก ยุวนวรรธนะ นักเขียนประจำคณะน้ำเงินแท้ก็คือ สอ เสถบุตร, สุโพด พินธุโยธิน, จงกล ไกรฤกษ์, ผิว บุศย์อยู่พรหม, นิมิตร มงคล แล้วข้าพเจ้าจะติดต่อขอเรื่องจากนักเขียนผู้อื่น เช่น พระยาศราภัยพิพัฒ, นายหลุย คีรีวัต, พระศรีสุทัศน์ และคนอื่นๆ ที่มีคุณวุฒิ หนังสือนี้ออกสัปดาห์ละครั้งๆ ละฉบับเดียว จะแจกกันอ่านโดยส่งหมุนเวียนไปตามห้องขังจนทั่วกัน
เมื่อตกลงกันในหลักการดังนี้แล้ว เราก็เริ่มจัดหาสมุดเครื่องเขียนและสีเขียนภาพ เมื่อเราไปศาล ญาติของเราแอบส่งสมุดให้เรา (การควบคุมเมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๗๖ มิได้เคร่งครัดอย่างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑) เราจัดการผูกมัดสมุดแนบไว้กับตัวหรือขาท่อนบน ถึงแม้มีการตรวจค้น เมื่อเข้าหรือออกจากประตูเรือนจำ แต่ผู้ที่ตรวจนั้นคร้านที่จะคลำตามร่างกายของเรา ฉะนั้นเราจึงสามารถนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำได้เป็นอันมาก ถ้าสิ่งใดเราจะนำเข้ามาเองไม่ได้ เราก็จ้างหรือวานผู้คุมนั่นเองให้ลักลอบนำมาให้ พระแสงสิทธิการกล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า ไก่อดกินข้าวเปลือกไม่ได้ฉันใด ผู้คุมก็อดรับสินจ้างในทางทุจริตจากเราไม่ได้ฉันนั้น
น้ำเงินแท้ มิใช่เพียงทำให้เกิดความตื่นเต้นและชมเชยในระหว่างพวกเราผู้ต้องขังเท่านั้น ญาติของเราที่ได้อ่านนอกคุกก็ตื่นเต้นชมเชยด้วย และผู้อ่านบางคนเลื่อมใสชาวคณะน้ำเงินแท้ ถึงกับส่งเงินมาบำรุงหรือส่งอาหารมาเลี้ยงดู ทำให้ชาวคณะน้ำเงินแท้อิ่มอ้วนไปพักหนึ่ง ความเห็นทางการเมืองที่นำลงใน น้ำเงินแท้ นั้นในฉบับแรกก็เป็นไปสายกลาง แต่ในฉบับต่อๆ มาได้มีการติเตียนการกระทำของรัฐบาลรุนแรงขึ้นทุกที และอาจเป็นได้ว่าข้าพเจ้าได้เขียนข้อความรุนแรงก้าวร้าวยิ่งกว่าผู้อื่น ด้วยความพยายามจะพิสูจน์ทุกวิถีทางว่าการปกครองในเวลานั้นแบบคณาธิปไตย และรัฐบาลยึดอำนาจไว้โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นโล่บังหน้า หลอกลวงราษฎรว่าเป็นประชาธิปไตย ประกอบด้วยวิธีการอันเป็นเล่ห์เพทุบายเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงในตำแหน่งของตนและพวกพ้องของตน และมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง
เหตุที่น้ำเงินแท้ต้องเลิกล้ม
อาจเป็นได้ว่าข้อความรุนแรงที่เขียนไปนั้นประกอบด้วยโทสะจริต เวลานั้นข้าพเจ้าถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว จึงเป็นวิสัยธรรมดาที่จะมีความเห็นน้อมไปในทางอกุศล ตรวนซึ่งบัดนี้เข้ามาสวมข้อเท้าของข้าพเจ้าแล้วนั้น ข้าพเจ้ามิได้หวังว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ถอดให้ ประตูคุกจำต้องเปิดออกโดยคณะบุคคลที่เป็นนักประชาธิปไตยแท้ที่รักชาติ ที่กล้าเสียสละ และที่มีความสามารถและอิทธิพลมากพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลลงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าหากรัฐบาลเป็นพวกเสวยอำนาจและการปกครองบ้านเมืองเป็นแบบประชาธิปไตยจอมปลอมจริง ดังความเข้าใจของข้าพเจ้าแล้ว สักวันหนึ่งรัฐบาลนี้จะต้องถูกปลดหน้ากากและถูกเตะพ้นจากอำนาจไป เมื่อนั้นแหละ พวกกบฏในบางขวางเหล่านี้จะกลับได้รับสรรเสริญว่าเป็นผู้ทำถูกคิดถูก ข้าพเจ้าต้องการออกจากคุกเมื่อสามารถหัวเราะได้ดังกว่า เพราะหัวเราะทีหลัง
แต่เพื่อนของข้าพเจ้าบางคนเห็นเป็นอย่างอื่น เขาเชื่อว่าการปกครองเป็นแบบคณาธิปไตยจริง แต่รัฐบาลอาจมีอายุยืนยาวไปอีกนานโดยวิธีกดราษฎรให้อ่อนน้อมเกรงกลัวจนไม่มีใครกล้าคิดร้าย ขู่ให้คนที่อาจคิดร้ายขยาด และถ้าคิดร้ายขึ้นจริงก็ปราบปรามอย่างรุนแรง อ่ำ บุญไทย กล่าวว่าวงศ์จักรีดำรงมาได้ถึง ๑๕๐ ปีก็ด้วยวิธีขู่ว่าจะตัดหัวพวกกบฏเจ็ดชั่วโคตร อ่ำ บุญไทย และคนอื่นๆ ส่วนมากหวังว่าถ้าเราวางตนสงบเสงี่ยมอยู่ รัฐบาลคงจะอภัยโทษให้ดังที่สัญญาไว้แล้ว และเขาสมัครที่จะออกจากคุกด้วยความกรุณาจากรัฐบาล มากกว่าที่จะคอยเวลาด้วยความหวังอันแห้งแล้งว่า จะมีคณะรักชาติก่อการปฏิวัติได้สำเร็จ
เมื่อความปรารถนาทางฝ่ายจะให้รักษาความสงบเสงี่ยมมีมากขึ้น พวกชาวน้ำเงินแท้ก็ถูกมองว่าเป็นพวกหัวแข็งที่อาจทำลายความหวังในการอภัยโทษของเขาเสียได้ แม้ว่าในเรือนจำยังมีผู้ต้องการอ่าน น้ำเงินแท้ ในระยะเวลานี้ก็ได้เป็นงานที่ไม่ได้รับความขอบใจ ส่วนภายนอกเรือนจำนั้น ญาติของเราไม่มีใครอยากเป็นผู้รักษาหนังสือ น้ำเงินแท้ ไว้ และในที่สุดได้ตกลงกันในระหว่างผู้รับผิดชอบในการรักษาหนังสือ น้ำเงินแท้ ให้ทำลายหนังสือเหล่านี้เสีย จึงจัดการรวบรวมแล้วเอาเผาไฟเสียทั้งหมด ข่าวนี้ข้าพเจ้ารับทราบด้วยความสลดใจ คล้ายเพื่อนฝูงได้ตายจาก และหนังสือ น้ำเงินแท้ ซึ่งออกมาได้ ๑๗ ฉบับก็ถึงกาลปริโยสาน.
ความสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล
ในหนังสือเรื่อง “แดนหก” ชุลี สารนุสิต ได้บรรยายไว้อย่างถี่ถ้วนถึงความหวังที่จะได้รับอภัยโทษ อนุสนธิของความหวังนี้ย้อนหลังไปถึงคำประกาศของรัฐบาลตั้งแต่การรบที่บางเขนเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ว่าจะไม่เอาโทษแก่นายทหารชั้นผู้น้อย สภาพจิตใจของพวกนายทหารผู้น้อยที่มาชุมนุมกัน ณ ดอนเมือง เมื่อ ๑๖ ต.ค. ๒๔๗๖ เท่าที่ข้าพเจ้าได้สังเกตมานั้น เมื่อทราบจากวิทยุกระจายเสียงว่ารัฐบาลถือว่าการกระทำของตนเป็นการกบฏ อันเป็นความผิดอุกฤษ ต่างคนก็พรั่นตัวกลัวอาชญา รัฐบาลปราบกบฏได้โดยง่ายเช่นนั้นก็ด้วยวิทยุกระจายเสียง หาใช่ด้วยกระสุนปืนไม่ ความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏได้เริ่มต้นขึ้นก่อนจะได้เริ่มรบกันเสียด้วยซ้ำ แต่พวกกบฏไม่ยอมจำนนในทันที ก็เพราะต่างคนก็ต่างนึกว่าไหนๆ ก็ถูกหาเป็นกบฏแล้ว ก็ยอมตกบันไดพลอยโจน จึงจับอาวุธเข้าต่อสู้รัฐบาลโดยพร้อมเพรียง ครั้นรัฐบาลประกาศว่าจะไม่เอาโทษแก่นายทหารผู้น้อยที่มาสวามิภักดิ์โดยดี ก็เกิดความปั่นป่วนรวนเรขึ้นตลอดแนวรบของฝ่ายกบฏ นายทหารชั้นผู้น้อยซึ่งมิใช่เป็นตัวการในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเห็นว่าตนถูกผู้บังคับบัญชาชักจูงมาสู่ผลร้าย ต่างก็คิดหลบหนีเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล เหตุนี้ทำให้พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิน ท่าราบ) เห็นความจำเป็นที่จะต้องถอยไปยึดแนวต้านทานอยู่ที่ตำบลปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจะใช้กำลังจากพวกร่วมใจของตนจริงๆ ซึ่งไว้ใจได้จะยืนหยัดต่อสู้จนวาระสุดท้าย ส่วนพวกที่น้ำใจย่อท้อ คิดหลบหนีไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลนั้นก็จะทิ้งไว้ที่ดอนเมืองให้เขามีโอกาสได้สวามิภักดิ์โดยสะดวก
บรรดานายทหารที่พระยาศรีสิทธิสงครามทิ้งไว้ที่ดอนเมือง อยุธยาและสระบุรีนั้น ก็ได้พากันเข้าสวามิภักดิ์ด้วยความเชื่อมั่นตามคำประกาศของรัฐบาล ว่าจะไม่เอาโทษ แต่ความหวังของพระยาศรีสิทธิฯ ที่ว่าเมื่อถอยไปปากช่องแล้ว ฝ่ายตนก็จะมีแต่เพียงคนคิดสู้ตายนั้นหาสมหวังไม่ พวกนายทหารที่นครราชสีมาเกิดกลับใจจะเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลขึ้นอีก และพระยาศรีสิทธิฯ มิทันได้ฝากฝีมือในการรบที่ปากช่องโดยเต็มสามารถ ปากช่องต้องแตกก็ด้วยกบฏซ้อนกบฏ และพระยาศรีสิทธิฯ เสียชีวิตในที่รบ
บรรดาผู้คิดสู้ตาย แต่มิได้ตายนั้น หลังจากพระองค์บวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีไปแล้ว ก็สู้พลางถอยพลาง ตีหักด่านการต้านทานที่อุบลและอื่นๆ ข้ามเขตแดนเข้าสู่อินโดจีน ส่วนพวกที่เข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทั้งหมดนั้น อัยการศาลพิเศษได้เริ่มดำเนินการไต่สวน และฟ้องร้องโดยมิได้คำนึงถึงคำประกาศของรัฐบาลที่ว่าไม่เอาโทษนั้นเลย
เดี๋ยวนี้พวกที่สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลก็ได้มารวบรวมกันอยู่ที่บางขวางโดยพร้อมหน้ากัน และยังสมทบด้วยบุคคลผู้อื่นที่รัฐบาลถือว่าเป็นศัตรู โดยมีข้อหาว่าได้ช่วยเหลือการกบฏในสถานที่และโอกาสต่างๆ จำเลยที่เป็นบุคคลพลเรือนเหล่านี้บ่นว่าพยานโจทก์โดยมากให้การเท็จ เมื่อต้องการรับการพิจารณาในศาลพิเศษ โอกาสที่จะสู้ความเท็จให้ชนะได้ก็มีน้อยเต็มที แม้แต่ผู้ที่ฉลาดเชิงอรรถคดี (เช่นหลวงประกอบนิติสาร) ก็ยังรอดพ้นอาญาไปได้อย่างแสนยาก จำเลยของศาลพิเศษโดยมากจะได้กระทำความผิดจริงหรือมิจริงก็ตาม ในที่สุดก็ถูกประทับตรายี่ห้อกบฏด้วยเสื้อผ้าชุดสีน้ำเงินและตรวน แต่วิญญาณแห่งความสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลยังคงมีอยู่ ทำนองเดียวกับความสวามิภักดิ์ของชาวป่าต่อผีไพรด้วยยำเกรงเดชานุภาพ มิใช่ด้วยความรักใคร่ วิญญาณเช่นนี้แหละที่ได้กีดขวางต่อความเคลื่อนไหวในทางขัดแข็งต่อรัฐบาล เช่นการออกหนังสือ น้ำเงินแท้ จนทำให้หนังสือเหล่านั้นต้องถูกเผา และเลิกล้มไปก่อนถึงเวลาอันควร
หลักฐานทางคดี
นายทหารผู้น้อยที่เข้ามาสวามิภักดิ์ มีข้อแก้ตัวอย่างเดียวกันทั้งหมดว่า ตนไม่รู้เจตนาของผู้บังคับบัญชาที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล การที่ตนสมทบมาในกองทหาร ซึ่งยกมาประชิดพระนคร ก็โดยผู้บังคับบัญชาแจ้งว่าในกรุงเทพฯ เกิดคอมมิวนิสต์ และยกลงมาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ ข้อแก้ตัวเช่นนี้ เห็นกันว่าเป็นทางที่จะแก้คดีให้พ้นความผิดได้ เป็นการยากที่อัยการจะหาพยานหลักฐานมานำสืบได้ว่า จำเลยแต่ละคนเหล่านั้นได้รู้อะไร เห็นอะไร และปฏิบัติช่วยเหลือร่วมมืออย่างไรบ้าง คณะอัยการศาลพิเศษได้พยายามรวบรวมหลักฐานอันจำเป็นเหล่านี้โดยวิธีอาศัยอำนาจราชการ แต่นายทหารเหล่านี้โดยเฉพาะที่นครราชสีมา ส่วนมากเป็นผู้ที่ทหารรักใคร่นับถือ จึงไม่ยอมเปิดเผยเรื่องราวของผู้บังคับบัญชาของตน และไม่มีความดีความชอบหรือลาภยศเงินทองอย่างใดจะทำให้ผู้มีอำนาจพอที่จะผันแปรน้ำใจอันซื่อสัตย์ของเขาได้ ในฐานะเช่นนี้ เมื่อมองในแง่การต่อสู้คดีตามวิธีในศาลยุติธรรม ก็มีหนทางที่จะพ้นความผิดได้ จำเลยทั้งหลายที่เป็นทหารผู้น้อย จึงมั่นหมายว่าจะได้รับอิสรภาพเป็นอีกประการหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากความหวังที่ว่ารัฐบาลจะไม่เอาโทษ แต่มันเป็นความหวังจากความเขลาที่ไม่เข้าใจว่า ศาลพิเศษไม่จำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาตามวิธีการของศาลยุติธรรม ศาลพิเศษในคดีกบฏ ๒๔๗๖ โดยเฉพาะคดีของพวกนายทหารโคราชนั้น สำหรับบางคนอัยการสืบได้ความแต่เพียงว่าจำเลยได้สมทบมากับกองทหารที่ยกลงมาดอนเมืองเท่านั้น ศาลก็วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นกบฏ แล้วต้องไปเข้าคุกตีตรวนเสียทั้งชุด
ประพฤติการณ์ในการกบฏ ๒๔๗๖
ขอให้ข้าพเจ้าเปิดโปงความจริงเสียทีในที่นี้เถิดว่าการกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น ได้ตระเตรียมกันล่วงหน้าหลายเดือน โดยจะปฏิบัติตามแผนการซึ่งเรียกว่า “แผนล้อมกวาง” ทั้งนี้คือให้กองทหารหัวเมืองทุกหัวเมืองยกลงมาประชิดพระนครพร้อมกัน เพื่อขู่ให้รัฐบาลลาออก เขาหวังกันว่าจะทำให้รัฐบาลตกใจและไม่คิดสู้รบ แต่ถ้ารัฐบาลถือทิฐิมานะคิดสู้ ก็จะมีกองทหารส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ก่อการปฏิวัติขึ้น
แผนล้อมกวางนี้ น่าจะเป็นผลดีถ้านำเอาไปใช้กับพวกกวาง ข้าพเจ้าอดคิดมิได้ว่า ถ้าเขานึกว่าจะมาสู้กับเสือ เขาก็คงเพิ่มการตระเตรียมและลดความประมาทลงเสียบ้าง อย่างน้อยก็คงไม่เอาแผนล้อมกวางมาใช้สำหรับเสือ
ใครจะเป็นเจ้าของแผนล้อมกวาง จนเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ความชัด มีหลายคนโอ้อวดกับข้าพเจ้าว่า ตัวเองเป็นผู้ริเริ่มคิดแผนนี้ขึ้น รูปการณ์ดูประหนึ่งว่า แผนนี้ได้เกิดขึ้นจากการสนทนากันในสโมสรทหารตามหัวเมืองแห่งใดแห่งหนึ่งต่อหน้าขวดวิสกี้ และคนนั้นเติมนิดคนนี้ต่อหน่อยจนเข้าที่ ก็เลยหารือกันกว้างขวางออกไป จนในที่สุดได้นำแผนการนี้เสนอบุคคลสำคัญเช่นพระยาศรีสิทธิสงคราม กรุงเทพฯ เวลานั้นเต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งการคิดปฏิวัติ เป็นเรื่องกระซิบกระซาบกันอย่างแพร่หลายว่าพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นหัวหน้าคนหนึ่งในการคิดล้มล้างรัฐบาล ปรปักษ์ของรัฐบาลที่เคยฝักใฝ่ทางพระยาทรงสุรเดช กำลังสนใจในท่าทีของพระยาศรีสิทธิฯ และดูประดุจว่าทั้งสองพวกนี้อาจร่วมมือกันได้ แต่พระยาศรีสิทธิฯ ดูเหมือนจะหวังความช่วยเหลือจากกองทหารหัวเมืองมากกว่าในกรุงเทพฯ และโดยที่นายทหารหัวเมืองเวลานั้นได้รับเอาแผนล้อมกวางไว้เสียแล้ว พระยาศรีสิทธิฯ จึงรับแผนนี้ไว้พิจารณา
เป็นการยากที่จะล่วงรู้เจตนาอันแท้จริงของหัวหน้าผู้ก่อการกบฏแต่ละคนว่าคิดกระทำการเพื่ออะไรแน่ แต่เท่าที่ได้มีการปรึกษาหารือและตกลงกันนั้น ทุกคนแสดงความปรารถนาจะจัดระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อีกแง่หนึ่งก็คือบุคคลเหล่านี้ทั้งเกลียดและกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์และระแวงสงสัยว่า ส่วนมากในคณะผู้ก่อการจะใช้อิทธิพลนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้โดยฝืนใจประชาชน และระบอบการปกครองก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรีปับลิค
ข้าพเจ้าเชื่อว่าในบรรดาผู้คิดปฏิวัตินั้น ไม่มีใครเลยที่ปรารถนาจะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใช้ใหม่ ทุกๆ คนเข้าใจว่าระบอบนั้นล้าสมัย เป็นเครื่องลายครามที่ควรจะส่งเข้าพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
พวกเราเวลานี้ ถ้าทราบว่าใครคิดก่อการปฏิวัติด้วยอาวุธก็คงจะนึกเกลียดชังและสาปแช่ง เพราะเห็นเป็นการอุตริให้เกิดเดือดร้อนขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ แต่อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้ เราอยู่ในลัทธิประชาธิปไตยได้ ก็ด้วยความพยายามของพวกนักประชาธิปไตย ผู้เผด็จการทั้งหลายท่านเปรียบเหมือนคนขี่เสือ ย่อมไม่กล้าลงจากหลังเสือ ถ้าเราอยากให้ผู้นำออกจากอำนาจ เราก็ต้องบังคับ และในระหว่างเวลาแห่งยุคทมิฬนั้น ไม่มีอิทธิพลอย่างใดจะเอามาบังคับได้นอกจากจะใช้อาวุธ
แม้กระนั้นพระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามก็ยังรีรอที่จะบังคับด้วยอาวุธ แผนล้อมกวางนั้นเป็นแผนขู่ ไม่ใช่แผนรบ และการปฏิบัติตามแผนนี้จะต้องอาศัยการร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงของกองทหารหัวเมืองแทบทุกหัวเมือง จึงมิใช่เป็นของเหลวไหลเสียทีเดียวที่จะอ้างว่าการปฏิวัติครั้งนั้น เป็นไปตามมติของมหาชนชาติไทย
กองทหารหัวเมืองแทบทุกหัวเมืองได้ตกลงกับพระยาศรีสิทธิฯ ว่าจะยกลงมาตามแผนล้อมกวาง แต่การที่กองทหารบางแห่งกลับใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ก็โดยความบกพร่องของฝ่ายปฏิวัติที่ทำการพลาดพลั้งให้รัฐบาลรู้ตัว และเตรียมต่อสู้ การปฏิวัติในรูปนี้ไม่ใช่การยึดอำนาจ (Coup detat) และจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกประการหนึ่ง การที่ปรากฏขึ้นโดยกะทันหันว่า พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า ได้ทำให้เกิดระแวงว่าถ้าปฏิวัติสำเร็จแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจฟื้นคืนตัวขึ้นใหม่
กล่าวกันว่า การปฏิวัติในขั้นแรก พระองค์บวรเดช มิได้เกี่ยวข้องด้วย แต่การที่ได้รับจดหมายเตือนจากหลวงพิบูลฯ ให้เลิกความคิดที่จะล้มล้างรัฐบาลนั้นเอง ทำให้พระองค์บวรเดชเปลี่ยนพระทัยหันเข้าร่วมมือกับพวกคิดปฏิวัติ คำกล่าวเล่าลือนี้ ไม่ทำให้พระองค์บวรเดชดูน่านับถือในฐานะผู้รักชาติ แต่ก็น่าเห็นใจ ผู้อ่านโปรดนึกเถิดว่า วิญญูชนธรรมดาเมื่อได้รับจดหมายเช่นนี้จะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไร คนชนิดหนึ่งจะเข้าไปคุกเข่าต่อหลวงพิบูลฯ ชี้แจง แก้ตัวและขอโทษ อีกพวกหนึ่งเปิดหนีออกจากเมืองไทยเร็วที่สุด แต่อีกพวกหนึ่ง คงจะยอมตกบันไดพลอยโจน พระองค์เจ้าบวรเดชอยู่ในจำพวกหลังนี้
นักประวัติศาสตร์คงจะค้นคว้าต่อไปให้ทราบรายละเอียดแห่งความจริงโดยถ่องแท้ยิ่งขึ้น หน้าที่ของข้าพเจ้าหยุดลงเพียงที่จะเสนอข้อเท็จจริงว่า แม้ว่ากองทหารที่นครราชสีมาและสระบุรีจะยินดีต้อนรับพระองค์บวรเดช ในตำแหน่งหัวหน้าปฏิวัติ แต่พวกที่รังเกียจพระองค์บวรเดช ในที่อื่นๆ เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าผู้ที่นิยม และพระองค์บวรเดช มิได้พิสูจน์พระองค์ในการปฏิวัติครั้งนั้นว่า เป็นนักรบที่สามารถ หรือเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาดอย่างใดเลย พระยาศรีสิทธิฯ ซึ่งมีผู้เลื่องลือว่าความรู้เลิศในทางทหารนั้น เมื่อนำทหารทะลุทะลวงเข้าพระนครไม่สำเร็จก็เป็นอันว่ามีความรู้แต่นำเอามาใช้ไม่ได้ การหยุดรวมพลอยู่เพียงดอนเมือง จะอ้างว่าเพื่อรอเจรจาโดยไม่อยากเสียเลือดเนื้อหรืออย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่าเป็นวิถีทางแห่งความปราชัย น้ำใจของไพร่พลที่แต่แรกฮึกเหิมก็เริ่มย่อท้อ เพราะเข้าใจว่าแม่ทัพของตนไม่กล้าเข้าต่อสู้กับกองทหารของรัฐบาลซึ่งตั้งประจันหน้าอยู่ โดยกำลังและอาวุธของฝ่ายรัฐบาลมีพร้อมเพรียงกัน แต่กำลังและอาวุธของฝ่ายตนยังไม่พร้อม
คงไม่มีใครกล้ากบฏถ้าไม่มีหวังชนะ และฉะนั้นในวินาทีแรกที่เกิดความย่อท้อก็เริ่มคิดปลีกตนออกจากการเสี่ยงภัย เครื่องจักรแห่งการปฏิวัติจะต้องไม่ถอยหลัง เมื่อเกิดถอยหลังดังนี้ก็ทลายลง และค่ายรบที่ดอนเมืองก็แตกภายใน ๔ วัน
คำสัญญาของหลวงพิบูลสงคราม
ข้าพเจ้าไม่ใช่กบฏที่เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล และก็มิได้ถูกใส่ร้ายในเรื่องไม่จริง การกระทำของข้าพเจ้าที่ดอนเมืองนั้น ศาลพิเศษถือว่าเป็นกบฏ แต่ข้าพเจ้ายืนยันอยู่จนทุกวันนี้ว่า ก่อนถูกศาลตัดสินจำคุกนั้น ข้าพเจ้ายังมิใช่เป็นกบฏ ข้าพเจ้าเพิ่งมีจิตใจเป็นกบฏเมื่อมาอยู่ในคุกแล้ว
ตามคำพิพากษาของศาลพิเศษก็รับรองข้อเท็จจริงที่ว่าข้าพเจ้านำเครื่องบินมาถึงดอนเมืองก่อนวันเกิดกบฏ ๒ วัน เพื่อมาแข่งขันเทนนิสที่ดอนเมือง ในนามของสโมสรนักบินโคกกระเทียม ถ้าหากการประกาศแข่งขันเทนนิสเป็นเพียงอุบายที่รวบรวมนักบินและเครื่องบิน ข้าพเจ้าก็มิได้ล่วงรู้อุบายนั้น ครั้นวันเกิดกบฏ ผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้านำฝูงเครื่องบินรบ ซึ่งตามปกติอยู่ในบังคับบัญชาของข้าพเจ้ามาถึงดอนเมือง แล้วก็มอบเครื่องบินเหล่านั้นให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบต่อไป ทั้งนี้ก็คล้ายกับมีผู้พาลูกของเราไปเที่ยว แล้วก็นำกลับมาส่งคืน เราก็รับลูกของเราคืนมา การที่ข้าพเจ้าสั่งอำนวยการเก็บรักษาและซ่อมแซมเครื่องบินเหล่านั้น ข้าพเจ้านึกว่าเป็นงานในหน้าที่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกบฏ
อัยการพิเศษผู้หนึ่งถามข้าพเจ้าในเชิงสนทนาก่อนเวลานำตัวข้าพเจ้าเข้าห้องขังว่า ระหว่างอยู่ดอนเมืองนั้น น้ำใจข้าพเจ้าเข้าข้างฝ่ายไหน ข้าพเจ้าตอบว่าใจข้าพเจ้าเป็นกลาง เขาก็อธิบายว่าถ้าเป็นกลางก็มีความผิด เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร เมื่อเกิดกบฏขึ้นก็ต้องปราบกบฏ
ข้าพเจ้านิ่งเสีย มิได้ชี้แจงว่าข้าพเจ้าไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าใครเป็นกบฏแน่ เวลานั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นกบฏ รัฐบาลชุดนั้นได้ขึ้นครองอำนาจด้วยวิธีจับอาวุธ พระองค์เจ้าบวรเดชก็พยายามในวิธีเดียวกัน ใครแพ้คนนั้นเป็นกบฏ และผู้ชนะก็เป็นนักปฏิวัติ ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ และถวายน้ำพิพัฒน์สัตยาจากพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าไม่ใช่ทหารของรัฐบาลหรือของกลุ่มนักการเมืองใดๆ
ข้าพเจ้ามิได้ให้ความช่วยเหลือแก่กิจการของพระองค์บวรเดช ด้วยความจงใจแม้แต่เล็กน้อย แต่เมื่อกองทัพฝ่ายรัฐบาลเข้าครองดอนเมืองหลังจากฝ่ายกบฏถอยไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าถูกตามตัวไปพบหลวงพิบูลสงครามผู้ซึ่งกล่าวข้อหาว่าข้าพเจ้ากับนายทหารนักบินอีกบางนาย เช่นหลวงอัมพรไพศาล, หลวงอินทรอำนวยเดช และม.ร.ว.อนุธำรง นวรัตน ได้ทำการร่วมมือกับฝ่ายกบฏ เราสี่คนปฏิเสธ บางคนแก้ตัวยืดยาว ในที่สุดหลวงพิบูลฯ กล่าวประกาศต่อหน้าที่ประชุมนายทหารทั้งปวงในสโมสรนักบินที่ดอนเมืองว่า ยอมเชื่อว่านายทหารอากาศทั้งหมด ที่มิได้หลบหนีตามพระองค์เจ้าบวรเดชไปนั้น ล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์จากมลทินกบฏ สัญญาว่าจะไม่ดำเนินการไต่สวนความผิดต่อไปอีก แล้วขอร้องให้นายทหารนักบินร่วมมือกับรัฐบาลในการปราบกบฏต่อไปจนกว่ากบฏจะพ่ายแพ้ เพราะค่ายที่มั่นของพวกกบฏที่ปากช่องนั้นมั่นคง หากมิได้รับความร่วมมือจากพวกนักบินอย่างเต็มที่ การปราบพวกกบฏก็จะเป็นงานหนักและเนิ่นนานมาก
วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้เข้าทำงานในกองเสนาธิการของทหารอากาศ พอค่ายของฝ่ายกบฏที่ปากช่องแตกแล้วมิช้า ข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งจากหลวงพิบูลฯ ให้มารายงานตนเองที่ศาลพิเศษ
ความหวังในการอภัยโทษ
ถ้าหากว่าข้าพเจ้ารู้ตัวว่า ถูกนับรวมเข้าอยู่ในจำนวนผู้เป็นกบฏ ก็คงเอาเครื่องบินหนีไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าเป็นกบฏหน้าโง่ที่ถูกหลอกว่าเขาเชื่อว่าข้าพเจ้าไม่ใช่กบฏ เพียงเพื่อเอาข้าพเจ้าไปใช้งาน พอเสร็จงานแล้วก็รวบตัวมาเข้าคุก
เมื่อศาลพิเศษได้ดำเนินการสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยในคดีของข้าพเจ้าเสร็จแล้ว ผู้พิพากษาศาลพิเศษจากกระทรวงยุติธรรมผู้หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน และซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนบ้านอันสนิทชิดชอบกับญาติของข้าพเจ้า ได้แสดงความเห็นว่าหลักฐานของโจทก์ในคดีของข้าพเจ้าอ่อนมาก เชื่อว่าศาลจะยกฟ้อง ข้าพเจ้าจึงกระหยิ่มใจอยู่ ครั้นต่อมาเมื่อใกล้เวลาตัดสิน ผู้พิพากษานั้นบอกข่าวมาว่าคดีของข้าพเจ้านั้น “วังปารุสฯ” ไม่ยอมให้ปล่อย จึงเป็นอันว่าติดคุกแน่
ข้าพเจ้าถือเอาเหตุนี้ระลึกด้วยความเสียใจตลอดมาว่า ศาลพิเศษมิใช่เพียงพิจารณาโดยไม่อาศัยหลักฐานพยานเท่านั้น แต่ยังไม่อาศัยความจริงอีกด้วย เพราะต้องฟังคำสั่งจากวังปารุสฯ
แต่ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่งเหมือนกันที่เชื่อว่าจะมีการอภัยโทษ เพราะถ้าคณะบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองอยู่ในวังปารุสกวัน มีน้ำใจอย่างมนุษย์ปุถุชนแล้ว ก็คงจะย้อนนึกเสียใจในการกระทำของตนสักวันหนึ่ง ว่าตนจับคนหลายคนเข้าคุกโดยมิได้เป็นไปตามหลักความยุติธรรม
ความหวังในการอภัยโทษ ดูเป็นเรื่องมีหลักฐานขึ้นในเมื่อรัฐบาลได้ตอบพระราชหัตถเลขาของพระปกเกล้าฯ ก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติ ว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะอภัยโทษนักโทษการเมืองภายหลังที่ศาลพิเศษได้ตัดสินแล้ว โดยดำเนินตามวิธีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงปฏิบัติต่อพวกกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ และอาจเป็นโดยหลักฐานข้อนี้ หรือโดยได้รับคำสั่งจากวังปารุสฯ ยืนยันมาอีกก็ตาม ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาในคดีของข้าพเจ้านั้น ศาลชี้แจงว่า คำพิพากษานี้เป็นเพียงวิธีปฏิบัติตามวิถีทางกฎหมายเท่านั้น ขอจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษอย่ารู้สึกเสียใจ เพราะเมื่อศาลตัดสินตลอดทุกสำนวนแล้ว รัฐบาลก็จะรีบจัดการขอพระราชทานอภัยโทษให้
ยิ่งกว่านั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนามาให้การเป็นพยานโจทก์ที่ศาล พวกจำเลยราว ๒๐ คนได้เข้าไปห้อมล้อมวิงวอน ขอให้ช่วยเหลือให้พ้นจากความผิด พระยาพหลฯ กล่าวรับรองว่า “คุณอย่าตกใจไปเลย เรื่องคดีนั้นเราว่ากันไปตามเรื่องของศาล ส่วนในหน้าที่ของรัฐบาลนั้นผมจะจัดการขอพระราชทานอภัยโทษให้ในไม่ช้า”
เมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวเช่นนี้ก็น่าเชื่อถือพออยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เรานึกแน่ใจอย่างไม่มีปัญหาก็คือ ในวันที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกคดีนายทหารอยุธยานั้น ก่อนเวลาศาลนั่งบัลลังก์ราว ๑๕ นาที หลวงพิบูลฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ได้ไปปรากฏตัวที่ศาล เรียกตัวจำเลยซึ่งเป็นนายทหารช่าง ๒ นาย คือ เอกรินทร์ ภักดีกุล กับ ม.ล.ชวนชื่น กำภู ไปหา แล้วก็บอกว่ากระทรวงกลาโหมจะรับตัวเขาทั้ง ๒ นี้ไปในวันนั้นเพื่อจัดการปล่อยตัวกลับบ้าน เอกรินทร์ และชวนชื่น กลับมาถึงเรือนจำหน้าแดงราวกับผลตำลึง รีบรวบรวมสิ่งของด้วยมืออันสั่นเทา เขาอำลาพวกเราไปสู่อิสรภาพในวันนั้นเอง