บทที่ ๘

ศาลพิเศษ ๒๔

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความเป็นปรปักษ์ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายหลวงพิบูลฯ กับฝ่ายพระยาทรงฯ ได้มีอยู่อย่างไม่สามารถประสานกันได้ นานมาแล้วที่ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกตว่าใครจะเป็นฝ่ายมีชัยในผลสุดท้าย ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าฝ่ายพระยาทรงฯ ได้คิดต่อสู้เพื่อชิงอำนาจอย่างไรบ้างหรือเปล่า? ถ้าหากความจริงเป็นดังที่พระสิทธิฯ เล่านี้ ก็ต้องหมายความว่าพระยาทรงฯ มิใช่เป็นผู้คิดร้ายทำลายความสงบสุขของบ้านเมือง ถึงแม้จะมีบุคคลอย่างขุนคลี่ฯ อยู่บ้างสัก ๒-๓ คน แต่คนเหล่านั้นก็ได้เลิกล้มความพยายามไปแล้ว การกบฏไม่มีทางเลยว่าจะเกิดขึ้น ความวุ่นวายซึ่งทำให้ประชาชนตกใจขวัญหนีดีฝ่อเหล่านี้มิใช่ความผิดของพระยาทรงฯ แต่เป็นความผิดของหลวงพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อความไม่สงบ โดยขอยืมมือกฎหมายกดคอปรปักษ์ของตน

อย่างไรก็ตาม ความจริงทุกอย่างคงปรากฏจากการพิจารณาในศาลพิเศษ เรื่องราวของพระสิทธิฯ ข้าพเจ้ารับฟังไว้ก่อนเพียงหูเดียว เก็บอีกหูหนึ่งไว้ฟังในศาล

ใครๆ ก็รู้ว่าพระสิทธิฯ เป็นสหายสนิทของพระยาทรงฯ ฉะนั้นจึงน่าจะถูกโจทก์โจมตีอย่างแรง แต่เมื่อการสืบพยานได้ดำเนินไปหลายวันแล้วยังไม่มีกล่าวถึงพระสิทธิฯ ก็เริ่มทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่าพระสิทธิฯ ไม่ใช่ “ตัวเก็ง”

ผู้ที่เป็นตัวเก็งก็คือเจ้าหนุ่ม ณ เณร พระสุรรณชิต และหลวงชำนาญฯ โจทก์พยายามพิสูจน์ว่า ณ เณร เป็นตัวการในการวางยาพิษ พระสุรรณชิตเป็นตัวการในการยิงโดยนายลี หลวงชำนาญฯ เป็นตัวการในการยิงโดยนายพุ่มที่ท้องสนามหลวง โจทก์ก็นำพยานมาเบิกสำหรับคดีของจำเลยตัวเก็งนี้ประมาณคราวละ ๒๐ คน พยานแต่ละคนให้การน่าสยดสยอง เขาเล่าเรื่องที่เขาเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการคิดฆ่าหลวงพิบูลฯ ซึ่งถ้าเป็นความจริงก็จะต้องเห็นว่าจำเลยตัวเก็งทั้งสามนั้นเป็นมนุษย์ชั่วช้าทรลักษณ์ไร้ศีลธรรม โสมมไม่ควรแก่การเป็นสุภาพบุรุษ, หรือนายทหาร, หรือนักการเมือง ไม่สมควรแม้แต่จะเป็นมนุษย์ และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วดูก็ไม่น่าจะให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ถ้าผู้พิพากษาเชื่อถือถ้อยคำของพยานโจทก์เหล่านี้ว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็น่าจะต้องลงความเห็นว่าจำเลยควรได้รับอาญาอย่างหนัก

ข้อพิรุธของพยานโจทก์

โดยเหตุที่ข้าพเจ้ามิได้ถูกฟ้องว่ารู้เห็นในการลอบทำร้ายเหล่านั้น และข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับจำเลยสามคนในทางส่วนตัวหรือทางการเมือง ข้าพเจ้ายังอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่จะฟังคำให้การของพยานได้ด้วยใจเป็นกลาง

สิ่งที่สะดุดใจข้าพเจ้าที่สุดในประการแรกก็คือ พวกพยานของโจทก์เหล่านี้แต่ละคนเดินเข้ามาในศาลด้วยกิริยาองอาจ เขามองกวาดดูจำเลยทั่วๆ ไปด้วยสายตาที่แสดงความลบหลู่ดูหมิ่นหรือเจตนาร้าย หรือบางคราวก็ยิ้มคล้ายเย้ยหยัน ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักพยานเหล่านี้แม้แต่คนเดียว แต่เมื่อสายตาของเราสบกันคราวไร ข้าพเจ้าก็รู้สึกคล้ายถูกสบประมาททุกคราวไป

โจทก์เริ่มถามซักโดยอาศัยหัวข้อซึ่งตนเตรียมมา พยานบางคนที่กระตือรือร้นเกินไป ได้ตอบคำถามของโจทก์ล่วงหน้า จนโจทก์ต้องเตือนให้ตอบทีละข้อ พยานบางคนก่อนจะตอบคำถามต้องหันไปทำปากขมุบขมิบคล้ายท่องข้อความ ซึ่งตนเตรียมไว้ว่าจะพูดแต่หลงลืมไป พยานโดยมากตอบคำถามของโจทก์ด้วยสำนวนหนังสือ มิใช่สำนวนพูดธรรมดา เช่น เรียกตนเองว่า “ข้า” (เป็นความนิยมในการเขียนเอกสารของศาลโดยใช้คำย่อว่า “ข้าฯ” แทนที่จะเขียนว่า “ข้าพเจ้า”) ความคล่องแคล่วในการที่พยานตอบคำถามของโจทก์นั้นเป็นข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มีการศึกษาต่ำตอบคล่องมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาสูง จนดูราวกับเขาไม่ต้องใช้ความคิดในการที่จะโต้ตอบนั้นเสียเลย แม้กระนั้นก็ตอบได้แม่นยำไม่กลัวผิดพลาดในกรณีที่เกี่ยวกับความจำ เช่นในเรื่องเวลาและสถานที่ เขาก็ตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดนึก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเข้าใจอย่างอื่นได้ นอกจากว่าคำถามคำตอบเหล่านั้นล้วนเป็นคำพูดซึ่งได้กำหนดเสี้ยมสอนและซักซ้อมกันมาอย่างดีจนขึ้นใจ ข้าพเจ้าคาดว่าจะได้มาเห็นเหตุการณ์ที่นำมาแสดงนั้นเป็นเหตุการณ์สมมุติขึ้น และคำพูดก็มิใช่ออกมาจากสมองของผู้พูด แต่เป็นคำพูดที่ผู้อื่นสอนมา และตนท่องจำไว้ได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง

ความตื่นเต้นของข้าพเจ้ามีเฉพาะในตอนที่จำเลยลุกขึ้นถามค้าน เพราะว่าจำเลยไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวว่าจะถามเรื่องอะไร ฝ่ายพยานก็ไม่รู้ว่าตนจะถูกถามข้อไหนบ้าง แต่ความตื่นเต้นของข้าพเจ้ามิช้าก็กลับกลายเป็นความสงสาร จำเลยเหล่านั้นต้องแก้คดีอุกฉกรรจ์คอขาดบาดตาย ถามผิดคิดพลาดนิดเดียว ก็เป็นผลร้ายถึงชีวิต เขาไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าพยานจะมากล่าวปรักปรำอย่างไรบ้าง พอได้ฟังคำให้การพยานก็มึนงง เหงื่อไหล อึดอัดกระสับกระส่าย มือสั่น ปากสั่น เขาหันปรึกษาเพื่อนคนโน้นแล้วยกมือให้เพื่อนคนนี้ ขอให้ช่วยแนะนำ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะถามค้านอย่างไรจึงจะดี เขาไม่มีความรู้ทางกฎหมายและไม่มีความรู้ในเหตุการณ์ตามที่พยานอ้างว่าเป็นการปฏิบัติของเขานั้นด้วย แต่เพื่อนของเขาก็ไม่รู้ดีกว่าเขา เขาต้องช่วยตัวเองไปตามประสายาก และเพื่อนของเขาก็พยายามช่วยเขาอย่างชุลมุน ถ้าหากการมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นจะเป็นความสนุกแก่ผู้ดูแล้ว การต่อสู้ของจำเลยในศาลพิเศษก็นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมชั้นเอกยิ่งกว่าที่จะเห็นได้บนเวทีละครใดๆ

ข้อเสียเปรียบของจำเลย

ข้อร้ายที่สุดของจำเลยก็คือเขาไม่ได้รับความเห็นใจจากผู้ใดเลย พวกอัยการซึ่งนั่งประจันหน้ากับเขานั้น เขาทราบแล้วว่ามีหน้าที่จะพิสูจน์ว่าเขาทำความผิด ศาลซึ่งเป็นผู้รักษาความเที่ยงธรรมนั้นมีการพูดซุบซิบกับอัยการ ยิ้มและเอาใจใส่ต่อคำขอร้องหรือเหตุผลของโจทก์ แต่ใช้กิริยาวาจาขู่ดุดันต่อจำเลย และพยายามตัดรอนทอนสิทธิของจำเลย คำให้การของพยานโจทก์ถ้าหากเป็นประโยชน์ทางฝ่ายโจทก์ ศาลก็รีบบันทึกไว้ ถ้าตอนใดเป็นข้อบกพร่องซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จำเลยแก้ตัวได้ศาลก็รีรอและซักถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโอกาสให้พยานแก้ไขคำให้การของตนเสียใหม่ เมื่อถึงเวลาจำเลยถามค้าน ศาลคอยขัดขวางมิให้จำเลยถามได้สะดวก โดยอ้างว่าเป็นคำถามนอกประเด็นบ้าง และศาลได้แสดงความระมัดระวังเป็นพิเศษในเวลาที่บันทึกคำให้การของพยานในตอนตอบคำถามของจำเลย เพราะว่าคำให้การของพยานตอนนี้ปรากฏบ่อยๆ ว่า คลาดเคลื่อนจากคำให้การในตอนแรก

“ผมจำไม่ได้” พยานมักจะกล่าวตัดบทเมื่อถูกจำเลยไล่เลียงในเหตุการณ์ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่จำเลย และศาลคอยห้ามปรามมิให้จำเลยซักถามต่อไป โดยอ้างว่าพยานย่อมจำไม่ได้อยู่เองเพราะเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ในกรณีที่พยานจำไม่ได้เช่นนี้ไม่ปรากฏทางฝ่ายโจทก์เลย แม้แต่เรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๔-๕ ปีมาแล้วพยานก็นำมาเล่าได้ละเอียด และศาลไม่เคยทักท้วงหรือสงสัยว่าเหตุใดจึงจำได้ในเมื่อเวลานานมาแล้ว

จำเลยได้รับความตกใจจากการกล่าวใส่ร้ายของพยาน มองโจทก์ก็พบแต่กิริยาเย้ยหยัน หันไปพึ่งศาล ศาลกลับดุขู่และขัดขวางตน ดูประดุจตั้งใจขยี้ขยำซ้ำเติมอย่างปราศจากความเห็นใจ และโดยไม่คำนึงถึงการที่จะทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ผู้พิพากษาทำสีหน้าบึ้งขึ้งเครียดต่อจำเลย และสงวนสีหน้า ยิ้มแย้มไว้สำหรับอัยการ และเมื่อศาลเลิกแล้วก็เดินเคียงคู่กับอัยการไปสโมสร

จำเลยรู้สึกทีละน้อยว่าศาลไม่เป็นกลางจนเห็นเด่นชัด ในตอนจำเลยอ้างพยานของตนเพื่อหักล้างคำพยานของโจทก์ ศาลย่อมทราบแล้วว่าจำเลยไม่มีโอกาสติดต่อพูดจากับพยานของตนได้ นอกจากลักลอบทำด้วยความลำบาก และทั้งไม่มีใครอยากเป็นพยานแก่จำเลย โดยกลัวว่าจะพลอย “เข้าปิ้ง” ไปด้วย ถ้าหากมีใครเต็มใจมาเป็นพยานให้จำเลยสัก ๑ คนก็นับว่าเป็นบุญของจำเลยหนักหนา แม้กระนั้นศาลก็คอยขัดขวางมิให้จำเลยนำพยานของตนมาสืบโดยอ้างว่าไม่จำเป็น จำเลยบางคนเข้าใจว่าที่ศาลกล่าวว่าไม่จำเป็นนั้น โดยศาลคงเห็นแล้วว่าคำพยานฝ่ายโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อถือได้ แต่ครั้นถึงวันอ่านคำพิพากษาที่จำเลยถูกลงโทษจึงทราบว่าศาลเชื่อพยานของโจทก์ทุกข้อ ฉะนั้นการขัดขวางมิให้จำเลยนำพยานมาสืบหักล้างจึงเป็นความอยุติธรรมและเป็นการหลอกลวงให้หลงเข้าใจผิด

ข้อที่ร้ายที่สุดก็คือหลวงชำนาญฯ และจำเลยอื่นๆ หลายคนได้ขอให้ศาลนำหลวงพิบูลฯ มาสืบพยาน เพื่อตนจะได้ยืนยันต่อหน้าศาล แต่ศาลไม่อนุญาต โดยอ้างว่าจำเลยไม่สมควรอ้างพยานที่เป็น “คนใหญ่คนโต”

เป็นความจริงที่ว่าในการซักค้านพยานนั้น จำเลยถามยืดยาวอ้อมค้อม และผิดวิธีในการถามไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นสิ่งต้องให้อภัยกัน เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนาย แต่ศาลไม่ยอมให้อภัย และคอยแต่จะดุขู่ให้จำเลยประหม่ากลัว เป็นเหตุให้หลงลืมข้อความที่คิดเตรียมไว้ หรืออย่างน้อยก็เลอะเลือนไป จำเลยรู้สึกตัวว่าปราศจากความเห็นใจแล้วก็ไม่มีทางรอดความผิด ดังนั้นเจ้า หนุ่ม ณ เณร จึงยกมือไหว้ศาลแทบทุกครั้งที่ถูกศาลซัก และเมื่ออัยการลุกขึ้นถามซักหรือถามติง เจ้าหนุ่ม ณ เณร ก็ยกมือไหว้อัยการเพื่อขอให้กรุณา โอกาสหนึ่ง ณ เณร กล่าวว่าตนเองเปรียบเหมือนคนไม่เป็นมวย แต่ต้องถูกบังคับให้มาชกกับแย็ก เดมเซย์ และคนทั้งหลายก็ฮากันขึ้น เห็นว่าเป็นตัวตลก เขารู้สึกสนุกจากความทุกข์ของ ณ เณร

พวกจำเลยที่โจทก์โจมตีรุนแรงเหล่านี้ มิใช่จะได้รับความเห็นใจจากพวกจำเลยด้วยกัน จะเห็นได้ว่าในโอกาสที่ ณ เณร ตั้งคำถามพลาดพลั้งซึ่งอาจเป็นภัยแก่ตนเอง พวกจำเลยก็ฮากันขึ้นพร้อมกับโจทก์ ความรู้สึกทั่วๆ ไปในพวกจำเลยมีว่า “ตัวใครก็ตัวมัน” แม้ว่าน้ำใจจริงของเขาๆ สงสาร ณ เณร แต่เขาจะต้องแสดงต่อศาลและต่ออัยการว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ณ เณร กิริยาท่าทางของจำเลยอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกพยานซัดทอดมาถึงตนจึงเป็นกิริยาประหนึ่งจะแขวนป้ายไว้ที่คอของตนให้ศาลและอัยการเห็นด้วยตัวอักษรขนาดโตว่า “โปรดอย่าเข้าใจว่าผมเป็นพวกเดียวกับ ณ เณร”

เหตุที่ทำให้พยานยอมให้การเท็จ

เมื่อได้ฟังคำพยานของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับการลอบทำร้ายในคดี ณ เณร พระสุวรรณชิตฯ และหลวงชำนาญฯ และโดยสังเกตพฤติการณ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวเท่าที่ทราบมาจากแหล่งอื่นๆ ข้าพเจ้าก็ลงความเห็นเป็นเด็ดขาดว่า พยานโจทก์เหล่านี้ให้การเท็จในทุกประเด็น

ปัญหามีว่าเหตุใดพยานโจทก์จึงยอมตนมาให้การเท็จซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมาย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าความจริงแท้เป็นอย่างไร แต่ข้าพเจ้ามีทฤษฎีที่ผู้อื่นทั้งหลายที่มีใจเป็นยุติธรรมคงจะเห็นว่ามิใช่เหลวไหล

ข้าพเจ้าแยกพยานเท็จออกเป็นสองพวก คือพวกที่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย จึงถือโอกาสใส่ร้ายจำเลยเป็นการแก้แค้น อีกพวกหนึ่งเป็นพยานที่หวังความดีความชอบหรือสินจ้างรางวัล เขาเป็นคนที่ขายเกียรติยศหรือชื่อเสียงของตนเพื่อเงิน เขาเป็นโสเภณีในรูปใหม่

ความลึกลับในข้อที่ว่าตำรวจสันติบาลซึ่งเป็นผู้สอบสวนหรือตั้งรูปคดีขึ้นนั้นได้ไปติดต่อรวบรวมพวกโสเภณีเหล่านี้มาได้ด้วยวิธีใด และทำอย่างไรเรื่องราวอันเป็นความเท็จเหล่านั้นจึงมาปะติดปะต่อกันขึ้นได้เป็นเรื่องเดียว จะเป็นได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนคนใดคนหนึ่งได้เป็นผู้คิดประดิษฐ์เรื่องราวขึ้น ทำนองเดียวกับแต่งเรื่องละคร แล้วก็หาผู้แสดงละครมาสวมเข้ากับบทบาทที่ตนแต่งไว้ เจ้าหน้าที่เป็นผู้สร้างบทเจรจาให้โดยตลอด พวกพยานเท็จเหล่านี้ที่แท้ก็คือตัวละครซึ่งจัดขึ้นให้มาแสดงละครในศาลพิเศษ

ข้าพเจ้าจะต้องถามปัญหาแก่ตนเองต่อไปว่า เหตุใดเล่าเจ้าหน้าที่จึงยอมเสียความยุติธรรม และยอมประกอบกรรมทำผิดกฎหมายในการปั้นพยานเท็จ ตามปกติเราจะไม่เชื่อเลยว่าเจ้าหน้าที่มีใจสกปรกเช่นนั้น แต่ขอให้นึกดูว่า พวกจำเลยเหล่านี้เป็นปรปักษ์ของหลวงพิบูลฯ ผู้ซึ่งมีอำนาจวาสนาสูงเด่น เป็นที่พึ่งของพวกถ่อยปัญญาทั้งหลาย

มิใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะยอมกระทำความชั่วช้าได้ทุกคน แต่ในฝูงแกะย่อมมีแกะดำปนอยู่บ้าง แกะดำนี้แหละได้ถูกผู้มีอำนาจวาสนาบางคนเลือกมาเป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรปักษ์ทางการเมืองของเขา

แกะดำตัวนั้นจะต้องโง่พอที่จะยอมเชื่อว่าพวกจำเลยเหล่านั้นเป็นคนชั่วร้ายเลวทราม ถึงกับคิดลอบทำร้ายวางยาพิษ แต่โดยเหตุที่จำเลยต้องล้วนเป็นคนฉลาดมีไหวพริบดี จึงปกปิดเรื่องราวและทำลายหลักฐานต่างๆ เสียหมด การที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยหนทางยุติธรรมจึงไม่เป็นทางสำเร็จ จำเป็นต้องปั้นพยานขึ้นเองจึงจะได้ การปั้นพยานเท็จนี้ย่อมเป็นความชอบธรรมแล้ว เพราะเมื่อจำเลยเป็นคนชั่วร้ายจริง จำเลยก็ควรได้รับโทษ ฉะนั้นเจ้าแกะดำจึงมีเหตุทำให้ภูมิใจว่างานของตนในการปั้นพยานเท็จเป็นงานเพื่อผดุงศีลธรรมของโลก

อีกประการหนึ่ง เจ้าแกะดำจะต้องมีความรู้สึกว่า การปั่นพยานเท็จ เพื่อเอาจำเลยเข้าคุกนั้นจะเป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมือง เพราะจำเลยเหล่านั้นเป็นปรปักษ์ของหลวงพิบูลฯ ผู้ซึ่งเป็นบุรุษแสนวิเศษ สามารถนำชาติไทยให้ก้าวหน้า เป็นมหาประเทศได้ภายในสองสามปีราวกับปาฏิหาริย์ การทำลายล้างจำเลยเหล่านี้คือการกำจัดขวากหนามอันเป็นอุปสรรคแก่ความเจริญก้าวหน้าของชาติ

เมื่อเจ้าแกะดำมีความเลื่อมใสในคุณความดีแห่งงานปั้นพยานเท็จดังนี้แล้ว เขาก็จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่างานอันสำคัญนี้ได้ตกมาถึงมือของเขา และด้วยความไว้วางใจของบุคคลสำคัญที่เขาหวังพึ่งอยู่นั้นอีกด้วย เขาอาจจะมองไปข้างหน้าถึงบำเหน็จรางวัล หรืออย่างน้อยก็ความขอบใจซึ่งจะได้รับในเมื่องานปั้นพยานเท็จเป็นผลสำเร็จเรียบร้อย

การที่จะหาพยานมาให้การเท็จนั้นไม่ยากเลย ถ้าหากพยานแน่ใจว่าตนจะไม่มีความผิด และตนจะได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างน่าพอใจ ในคดีกบฏคราวนั้น พวกพยานโจทก์มีเหตุผลทุกอย่างที่จะเชื่อถือได้ว่าพวกจำเลยจะต้องล่มจมลงด้วยคำให้การอันเป็นเท็จของตน และการที่จะทำความล่มจมให้แก่ปรปักษ์ของรัฐบาลก็คือ ความดีความชอบอันควรจะได้รับบำเหน็จรางวัลอย่างงดงาม

การปั้นเรื่องใส่ร้ายจำเลยแล้วยัดใส่ปากของพยานนั้นก็ไม่ยากเลย แต่ขอเพียงให้เจ้าแกะดำเป็นคน “มีหัว” ในทางประพันธ์สักเล็กน้อยเท่านั้น ข้าพเจ้าเองสามารถเขียนเรื่องนิยาย ซึ่งเมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วก็นึกว่าเป็นเรื่องจริง การเขียนเรื่องนิยาย ก็คือเรื่องประดิษฐ์ความเท็จให้เห็นสมจริง ข้าพเจ้าเชื่อว่านักประพันธ์ไม่ว่าผู้ใด ย่อมมีความสามารถไม่มากก็น้อยที่จะประดิษฐ์คิดแต่งเรื่องราวขึ้นสำหรับไปกล่าวในศาลว่า การที่นายลียิงหลวงพิบูลฯ นั้นไม่ใช่สาเหตุส่วนตัว แต่เป็นเรื่องตามแผนการอันมีพระยาทรงฯ อยู่หลังฉาก และพวกจำเลยเหล่านี้เป็นตัววิ่งเต้นในบทบาทสำคัญต่างๆ นักประพันธ์บางคนอาจผูกนิยายได้ดีกว่าเจ้าแกะดำคนนี้ แต่คงจะมีนักประพันธ์น้อยคนที่จะโง่เซ่อพอที่จะเชื่อว่า การผูกนิยายโดยเจตนาจะให้จำเลยต้องถูกลงโทษเป็นคุณงามความดี

ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่ได้แสดงทฤษฎีเหล่านี้ สหายของข้าพเจ้าบางคนได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเก็บความคิดเชื่อเหล่านี้ไว้ จนกว่าความจริงจะปรากฏออกมาเอง แต่ข้าพเจ้าคัดค้านว่าความจริงจะปรากฏออกมาเองไม่ได้ ถ้าหากไม่มีใครสนใจที่จะรื้อฟื้นมันขึ้นมาพิจารณา ความปรารถนาของข้าพเจ้าในขณะที่เขียนนี้ ก็คือเพื่อวิงวอนต่อท่านที่เป็นผู้รักษาความยุติธรรมให้พลิกฟื้นเรื่องราวเหล่านี้ขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อโดยสุจริตว่าหลังฉากของศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นสำนักอันโสโครกแห่งความเท็จ และการคิดฆ่าคนที่ไม่มีความผิดอย่างเลือดเย็น

การพิสูจน์ลายมือของพระสิทธิฯ

เมื่อได้ฟังคำให้การพยานของโจทก์มาประมาณ ๖๐ คนแล้ว ข้าพเจ้าก็เบื่อหน่ายที่จะฟังต่อไป ด้วยเห็นเสียแล้วว่าเป็นการเล่นละครของพวกพยานเหล่านั้น และเขาเป็นตัวละครที่เลวโดยแสดงบทบาทไม่สมจริง เขาทำให้เราจับได้ว่าเขาไม่ได้พูดตามปัญญาความคิดของเขา แต่เขาพูดตามที่ผู้สอนไว้ และเขาท่องจำจนขึ้นใจ

พยานโจทก์ทั้ง ๖๐ คนนั้นมิได้ให้การเกี่ยวข้องมาถึงตัวข้าพเจ้าและพระสิทธิฯ ฉะนั้นข้าพเจ้าไม่ต้องเอาใจใส่ จึงได้เริ่มต้นสนทนากับ ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ ซึ่งนั่งอยู่ทางขวาของข้าพเจ้า เราถกเถียงกันในปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและหลักวิชาทั่วๆ ไป บางคราวข้าพเจ้าก็หันไปขอดูภาพการ์ตูนซึ่งนายผุดพันธ์แอบเขียนล้อผู้พิพากษา

โจทก์เริ่มโจมตีพระสิทธิฯ โดยนำนายพันตำรวจตรีเอ็จ ณ ป้อมเพชร ผู้ชำนาญการพิสูจน์ลายมือมาพิสูจน์เอกสารฉบับหนึ่งว่า เป็นลายมือของพระสิทธิฯ เอกสารฉบับนั้นค้นได้ที่บ้านพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ดังนี้

“เจ้าคุณทรงสุรเดชกลับมาแต่วันศุกร์ เห็นจะเข้าร่วมมือในคราวนี้ ด้วยเวลานี้อยู่บางซื่อ ฯลฯ หมู่นี้มีการพบปะในพวกต่อพวก จึงเป็นอันว่าต่างคนก็ต่างไม่กล้าพูดอะไรกัน ดังนี้น่าจะสันนิษฐานว่าคงจะได้พวกร่วมมือกันมากขึ้น เป็นข้อเสียหายที่พวกรถรบเร่งเร้าให้เจ้าคุณพหลฯ จัดการกับพวกของเขาโดยเร่งร้อนเกินไป มีข่าวว่าท่านจะลาออก และหลวงพิบูลฯ ก็จะขอไปเป็นทูตต่างประเทศ”

วิธีการพิสูจน์ของนายพันตำรวจตรีเอ็จ ก็คือได้เอาจดหมายนี้ไปถ่ายรูปขยายส่วนขึ้นหลายเท่า แล้วเปรียบเทียบกับลายมือในจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งพระสิทธิฯ รับรองว่าเป็นลายมือของพระสิทธิฯ ความละม้ายคล้ายคลึงของลายมือในจดหมายสองฉบับนั้นมีมากพอที่บุคคลธรรมดาจะเชื่อได้ว่าเป็นลายมือของคนๆ เดียวกัน ดังที่หลวงเชวงศักดิ์สงครามได้ให้การไว้ แต่ก็มีอักษรบางตัวที่เขียนไม่เหมือนกัน พระสิทธิฯ เองก็ตะลึงงันที่ปรากฏว่ามีผู้เขียนจดหมายคล้ายลายมือของตนได้มากถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าถือโอกาสกล่าวในที่นี้ด้วยว่า นายพันตำรวจเอ็จอาจมีความสุจริต ในการที่ลงความเห็นว่าเป็นลายมือของพระสิทธิฯ แต่สำหรับตัวข้าพเจ้า ในฐานะที่เป็นผู้ที่สังเกตการณ์นั้น ข้าพเจ้าสามารถจะเลือกเชื่อถือได้ในระหว่างผู้ชำนาญการพิสูจน์ลายมือกับเจ้าตัวผู้ถูกหาว่าเป็นเจ้าของลายมือเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าตัวของพระสิทธิฯ เองก็ควรจะรู้ได้ดีกว่านายพันตำรวจตรีเอ็จ ว่าจดหมายนั้นเป็นลายมือของตนหรือไม่ใช่ อีกประการหนึ่ง เมื่อในประเทศนี้มีผู้ชำนาญในการพิสูจน์ลายมือก็น่าจะมีผู้ชำนาญในการปลอมลายมือบ้างเหมือนกัน

ในฐานะเป็น “ทนายจำเป็น” ของพระสิทธิฯ ข้าพเจ้าได้แนะนำให้พระสิทธิฯ ถามค้านนายพันตำรวจตรีเอ็จจนได้ความว่า นายพันตำรวจตรีเอ็จยืนยันไม่ได้ว่าเป็นลายมือของพระสิทธิฯ จริง ความเห็นของนายพันตำรวจตรีเอ็จอาศัยเพียงหลักวิชาซึ่งอาจผิดพลาดได้

พระสิทธิฯ บอกข้าพเจ้าว่าลายมือในจดหมายนั้นคล้ายคลึงลายมือของพระสิทธิฯ แต่สำนวนคำพูดมิใช่สำนวนของพระสิทธิฯ เลย พระสิทธิฯ ไม่เคยเขียนจดหมายถึงพระยาอุดมฯ และพระสิทธิฯ ไม่เข้าใจข้อความในจดหมายซึ่งดูเคลือบคลุมยุ่งเหยิงและไม่ได้ความอันดี ราวกับสำนวนของเด็กนักเรียนนอก จากนั้น พระสิทธิฯ ไม่เคยเรียกพระยาทรงสุรเดชว่า “เจ้าคุณ” ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

โจทก์ไม่ได้นำประจักษ์พยานมาสืบประกอบเลย นั่นทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่า หลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่ศาลจะเชื่อได้ว่าเป็นลายมือของจำเลยจริง แม้โจทก์จะนำสืบเพิ่มเติมจนเชื่อว่าเป็นลายมือของจำเลยจริงก็ยังไม่เป็นความผิด โดยข้อความในจดหมายมิได้แสดงแน่ชัดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกบฏ

ข้อที่พระสิทธิฯ และข้าพเจ้ากลัวนักหนาว่าจะเป็นประเด็นที่แก้ตัวไม่หลุด ก็คือการไปประชุมที่บ้านพระยาฤทธิอัคเนย์ แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็มิได้นำพยานมาสืบในเรื่องนี้เลย ข้าพเจ้ามีความเข้าใจในวิธีพิจารณาความอาญาอยู่บ้างว่า แม้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจะเป็นการปรักปรำตนเองในเชิงสารภาพหรือภาคเสธก็ตาม จะเอามาลงโทษจำเลยมิได้ นอกจากโจทก์จะได้นำพยานบุคคลมาสืบประกอบให้ได้ความสมกัน

ดังนั้น เมื่อโจทก์แถลงว่าโจทก์ได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าและ จำเลยอื่นๆ ก็ขอจับมือแสดงความยินดีกับพระสิทธิฯ โดยเห็นว่าพระสิทธิฯ มีหวังอย่างมากที่จะไม่ต้องรับโทษ พระสุรรณชิตพูดว่า “ฉันนึกว่าแกจะถูกอย่างงอมเหมือนกัน แต่กลับเบานิดเดียว”

ตำรวจเป็นพยานเท็จ

แต่ในจำนวนจำเลยทั้ง ๕๒ คนนั้น ผู้ที่ถูกใส่ร้ายน้อยที่สุดและหลักฐานของโจทก์อ่อนที่สุดก็คือ คดีของข้าพเจ้า ข้อนี้เป็นความเห็นของจำเลยอื่นๆ ทุกคน และแม้แต่โจทก์ในคดีของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าก็ได้ทราบในภายหลังว่า ได้มีความเห็นว่าไม่ควรฟ้องข้าพเจ้า และได้แยกสำนวนของข้าพเจ้าไปเพื่อถอนฟ้อง แต่ด้วยเหตุอันยังไม่ปรากฏ ในที่สุดโจทก์ก็ต้องฝืนใจฟ้องข้าพเจ้า

สำหรับเอกสารทั้งหมดในคดีข้าพเจ้านั้น ไม่มีช่องทางอย่างใดเลยที่ศาลจะลงโทษข้าพเจ้าได้ ถ้าหากโจทก์จะพิสูจน์ว่าข้าพเจ้าเป็นกบฏ โจทก์ก็จำเป็นต้องนำพยานมาสืบว่าข้าพเจ้าสมคบคิดร้ายต่อรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง

พยานของโจทก์ที่ให้การพาดพิงถึงข้าพเจ้าก็คือนายชะเอม ชัยสุต ซึ่งให้การว่าได้เคยเห็นข้าพเจ้าไปบ้านพระยาฤทธิอัคเนย์เพื่อของานทำ และพระยาฤทธิฯ เป็นผู้จัดแจงให้ข้าพเจ้าเข้าทำงานที่ชลประทาน ครั้นข้าพเจ้ายืนขึ้นถาม นายชะเอมว่าได้เคยพบข้าพเจ้าที่ไหนและเมื่อไหร่ นายชะเอมก็กลับลังเล แล้วเลยให้การว่า แท้ที่จริงนั้นไม่เคยเห็นหน้าข้าพเจ้าเลย เพียงแต่เคยได้ยินชื่อเท่านั้น คำตอบตอนนี้ข้าพเจ้าขอให้ศาลจดไว้ แต่ศาลไม่ยอมจด จึงเป็นอันปรากฏอยู่ในสำนวนว่านายชะเอมเห็นข้าพเจ้าไปบ้านพระยาฤทธิฯ นี้หมายความว่าศาลได้ช่วยเหลือให้นายชะเอมให้การเท็จทั้งๆ ที่ตัวพยานเองพยายามจะแก้ไขคำให้การให้ตรงตามความจริง

ครั้นแล้วก็ถึงฉากสำคัญในคดีของข้าพเจ้า กล่าวคือมีพลตำรวจหนึ่งนายมาให้การว่าได้เห็นข้าพเจ้าไปบ้านพระยาอุดมฯ

พลตำรวจผู้นั้นเดินเข้ามาในศาลอย่างองอาจ ข้าพเจ้าไม่รู้ตัวเลยว่าเขาจะมากล่าวเท็จปรักปรำข้าพเจ้า จึงมิได้เอาใจใส่ แต่เมื่อเขากวาดตามองดูตัวจำเลยทุกคนแล้ว เขาก็จับสายตาอยู่ที่ข้าพเจ้าสักสองสามนาที ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจอยู่บ้าง

เขาให้การว่าเย็นวันหนึ่ง เขาถูกใช้ให้เป็นยามเฝ้าอยู่หน้าบ้านพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ เพื่อคอยดูว่าใครจะเข้าไปในบ้านนั้นบ้าง เขาได้เห็นจำเลยหลายคนเข้าไปในบ้านนั้น รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย หายเข้าไปในบ้านประมาณ ๕ นาที แล้วก็กลับออกมา เขาไม่ทราบว่าข้าพเจ้าเข้าไปทำไม และไม่ได้ทักทายข้าพเจ้า เขารู้จักข้าพเจ้าได้ดี เพราะเขาเคยมีบ้านใกล้เคียงกับข้าพเจ้าที่ตำบลวัดอินทรวิหาร ศาลขอให้เขาชี้ตัวข้าพเจ้า เขาก็ชี้ถูกต้อง

ข้าพเจ้านั่งตะลึงตัวชา

คำให้การของเขาไม่รุนแรง ถ้าหากข้าพเจ้าเข้าไปในบ้านพระยาอุดมฯ จริง ก็ไม่เห็นจะเป็นความผิดร้ายอย่างใด ข้าพเจ้ามิได้ตกใจในคำให้การของเขา ข้าพเจ้าตะลึงตัวชาก็เพราะรู้สึกอัศจรรย์เหลือเชื่อในการที่พยานเท็จของอัยการนั้นเป็นตำรวจ ข้าพเจ้าสลดใจในความประพฤติของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

พยานของฝ่ายโจทก์ที่จะพิสูจน์ว่าข้าพเจ้าเป็นกบฏสมคบร่วมคิดกับพระยาทรงฯ และพระยาอุดมฯ มีเพียงสองคนเท่านั้นเอง คนหนึ่งให้การว่าข้าพเจ้าหายเข้าไปบ้านพระยาฤทธิอัคเนย์เพื่อของานทำ อีกคนหนึ่งว่าข้าพเจ้าหายเข้าไปในบ้านพระยาอุดมฯ ๕ นาที แต่จะไปทำอะไรไม่ทราบ ความจริงมีว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักพยานทั้งสองคนนี้ และข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักทั้งพระยาฤทธิฯ และพระยาอุดมฯ ข้าพเจ้าไม่เคยพูดกับท่านทั้งสองนี้แม้แต่คำเดียว และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านของท่านทั้งสองนี้อยู่ที่ไหน

ข้าพเจ้าเห็นว่า คำให้การพยานโจทก์ ๒ คนซึ่งเป็นความเท็จนั้น ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องนำพยานมาสืบหักล้าง เพราะยังไม่ปรากฏจากคำพยานเลยว่า ข้าพเจ้าทำความผิดอย่างใด

เมื่อโจทก์แถลงว่าไม่ติดใจจะสืบพยานต่อไปอีก ข้าพเจ้าจึงดีใจว่า ข้าพเจ้าไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยผู้หนึ่งผู้ใดเลย ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระยาฤทธิฯ และพระยาอุดมฯ ไม่เคยของานทำ ไม่เคยพบ ไม่เคยพูดด้วย ไม่เคยไปบ้านของท่าน โจทก์ก็ถามข้าพเจ้าว่าหนังสือเรื่อง บุญทำกรรมแต่ง นั้นข้าพเจ้าเขียนขึ้นโดยตั้งใจจะพิมพ์ใช่หรือไม่ ข้าพเจ้าปฏิเสธ “ถ้าจะไม่พิมพ์เหตุใดจึงเขียนขึ้นเล่า?” อัยการถาม ข้าพเจ้าตอบว่าเขียนระหว่างอยู่ในคุกเพื่อแก้เหงา

สหายของข้าพเจ้ามากลุ้มรุมแสดงความยินดีกับข้าพเจ้า โดยเขาเชื่อว่าศาลยกฟ้องคดีของข้าพเจ้าอย่างแน่นอน ข้าพเจ้าก็เชื่ออย่างนั้น มันเป็นสิ่งเกินคาดฝันในการที่ศาลจะวินิจฉัยว่า การที่ข้าพเจ้าไปบ้านพระยาอุดมฯ และพระยาฤทธิฯ นั้นเป็นกบฏ

พระเอกในคดีกบฏ

ข้าพเจ้าเป็นจำเลยที่ได้รับความสงสารจากจำเลยอื่นๆ ว่าเรื่องเพียงเท่านี้ไม่น่าถูกฟ้องศาล ส่วนพระสิทธิฯ นั้น ในภายหลังมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งทำให้พระสิทธิฯ ได้รับความยกย่องว่าเป็นพระเอกในคดีกบฏ

เมื่อโจทก์นำพยานมาสืบหมดแล้ว พวกจำเลยก็เตรียมตัวจะนำพยานของตนเข้ามาสืบบ้าง แต่ในวันรุ่งขึ้นโจทก์แถลงต่อศาลว่าตำรวจผู้สอบสวนได้ส่งพยานเพิ่มเติมมาอีก จึงขออนุญาตสืบพยานโจทก์ต่อไป และศาลอนุญาตโดยอาการพร้อมอยู่แล้วที่จะอนุญาตดังเคย

พยานโจทก์ที่นำมาสืบพยานเพิ่มเติมนี้เป็นนายทหารชั้นนายร้อยโท ข้าพเจ้าต้องขอโอกาสกล่าวในที่นี้ด้วยว่า ข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่งที่เขาเอาเกียรติยศของนายทหารมาทำลายเสียในศาลพิเศษ ด้วยการกล่าวเท็จอย่างไม่อับอาย

คำให้การของเขามีว่าพระสิทธิฯ ใช้ให้เขานำเงินไปให้นางเฮียง สองสาย ซึ่งพักอยู่ที่บ้านของพลตำรวจคำสองครั้งๆ แรก ๔๐ บาท ครั้งที่สอง ๖๐ บาท ก่อนจะมอบเงินให้นางเฮียงๆ ได้ถามว่า “คุณส.สบายดีหรือ?” ซึ่งเป็นคำสัญญาณดังที่พระสิทธิฯ ได้บอกไว้แล้ว และพระสิทธิฯ กำชับว่าเวลามอบเงินนั้น อย่าให้ใครเห็นและให้ถือเป็นความลับ เพราะนางเฮียงเป็นญาตินายพุ่มที่ยิงหลวงพิบูลฯ ที่ท้องสนามหลวง

เมื่อนายร้อยโทผู้นี้ให้การแล้ว ข้าพเจ้าก็ส่งคำถามค้าน ซึ่งข้าพเจ้าจดลงในแผ่นกระดาษแผ่นเล็กๆ ให้แก่พระสิทธิฯ และพระสิทธิฯ ก็ซักพยานไปตามที่ข้าพเจ้าแนะให้โดยปราศจากความตื่นเต้น “ผมเห็นว่าไม่สำคัญ” พระสิทธิฯ บอกข้าพเจ้าระหว่างเวลาพักรับประทานอาหาร “เพราะพยานผู้นี้เพียงแต่กล่าวว่าผมเอาเงินไปให้นางเฮียง และเป็นเงินค่าอะไรก็ไม่รู้”

“แต่นางเฮียงเป็นญาติกับนายพุ่มที่ยิงหลวงพิบูลฯ” ข้าพเจ้าค้านขึ้นทันที “ต่อจากนี้ เขาคงนำนางเฮียงมาสืบผู้บังคับการว่าเกี่ยวข้องในการยิงหลวงพิบูลฯ”

“แต่ในคำฟ้องของโจทก์สำหรับคดีของผมไม่มีบ่งถึงการยิงหลวงพิบูลฯ ผิดกับคดีของพระสุรรณชิตและหลวงชำนาญฯ”

“จริงครับ แต่คำฟ้องในคดีของผู้บังคับการกินความกว้างพอ และไม่จำเป็นต้องยื่นคำฟ้องเพิ่มเติม การที่โจทก์นำพยานสืบเพิ่มเติม ก็เพราะหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะลงโทษได้ คราวนี้แหละเป็นการเอาตายกันทีเดียว”

แม้ว่าพระสิทธิฯ จะเคยเชื่อฟังความเห็นของข้าพเจ้าตลอดมา แต่ในคราวนี้พระสิทธิฯ มิได้แสดงความเชื่อถือ เมื่อพูดกับข้าพเจ้าเพียงนี้แล้วก็หันไปสนทนาหยอกล้อกับพระสุรรณชิตอย่างรื่นเริง

แต่ความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกต้อง พอศาลเปิดพิจารณาในตอนบ่าย โจทก์ก็นำนางเฮียงเข้าสืบ นางเฮียงให้การว่าตนเป็นหลานของนายพุ่ม เงินพระสิทธิฯ มอบให้นายร้อยตรีอำไพนำไปให้พยานนั้นเป็นเงินสำหรับซื้อของส่งไปให้นายพุ่มในคุก โดยนายพุ่มกับพระสิทธิฯ ได้ตกลงกันล่วงหน้าไว้แล้ว

ต่อจากนางเฮียง โจทก์ได้นำนางถมยา ทับสายทอง เข้าเบิกความต่อไป มีข้อความซึ่งแสดงว่านางถมยารู้ว่านางเฮียงได้รับเงินจากพระสิทธิฯ และนางเฮียงเอาเงินนั้นซื้อสิ่งของไปให้นายพุ่มในคุก

นับตั้งแต่โจทก์นำพยานปากเอกสามคนนี้มาสืบแล้วพระสิทธิฯ ก็หมดความสุข มันเป็นการง่ายของทางฝ่ายพยานโจทก์ที่จะเล่าเรื่องราวว่าได้รู้เห็นมาต่างๆ อย่างไรบ้าง แต่มันเป็นการยากแท้ที่จำเลยจะพิสูจน์ว่าตนไม่ได้กระทำสิ่งเหล่านี้

ข้าพเจ้าเริ่มทำงานในคดีของพระสิทธิฯ อย่างเคร่งครัด ได้สอบถามไล่เลียงพระสิทธิฯ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่คดี และเมื่อสงสัยในปัญหากฎหมาย ข้าพเจ้าก็ปรึกษากับพระราชญาติฯ และพระวุฒิภาคภักดี ในที่สุดข้าพเจ้าก็พบหนทางที่จะพิสูจน์ได้ว่า คำให้การของนายร้อยโท นางเฮียง และนางถมยาล้วนเป็นความเท็จทั้งนั้น

ข้อต่อสู้ของพระสิทธิฯ ก็คืออ้างสถานที่อยู่ โดยอาศัยหนังสือเดินทาง ซึ่งแสดงหลักฐานอย่างไม่มีทางสงสัยว่าในวันเวลาที่นายร้อยพยานกล่าวว่าพระสิทธิฯ ใช้ให้ตนนำเงินไปให้นางเฮียงนั้น พระสิทธิฯ อยู่ในประเทศพม่า ยิ่งกว่านั้นพระสิทธิฯ ได้อ้างนางประจนปัจจนึก (พระประจนปัจจนึกก็เป็นผู้พิพากษาในคดีของพระสิทธิฯ ด้วย) ซึ่งให้การว่าในวันเวลาที่นางเฮียงว่านายพุ่มพาตนไปหาพระสิทธิฯ ที่บ้านของพระสิทธิฯ ตำบลถนนราชวัตรนั้น บ้านของพระสิทธิฯ ยังหาสร้างขึ้นไม่ อีกประการหนึ่งนางเฮียงว่าตนกับนายพุ่มได้นั่งรถสามล้อไปหาพระสิทธิฯ ก็ปรากฏอีกว่าในเวลานั้นในกรุงเทพฯ ยังไม่มีรถสามล้อรับจ้างเลย

พระสิทธิฯ มิใช่ผู้ฉลาดปราดเปรื่องในทางอรรถคดี และเกือบจะไม่มีความรู้เลยทางกฎหมาย หรือทางพิจารณาความอาญา แต่พระสิทธิฯ เป็น “นักปฏิบัติ” ชั้นเลิศ เมื่อมีหัวข้อคำถามซึ่งเขียนเตรียมไว้ให้พร้อมแล้ว พระสิทธิฯ ก็นำหัวข้อคำถามนั้นไปซักถามพยานได้ด้วยความสามารถดีอย่างน่าสรรเสริญ ตลอดเวลาที่พระสิทธิฯ นำพยานของตนเข้าสืบนั้น ทุกคนตั้งใจฟังและเงียบสงบ จำเลยอื่นๆ ซึ่งเคยพูดจาสนทนากันในเมื่อไม่ถึงคราวของตัวนั้น บัดนี้พากันนิ่งฟังอย่างตื่นเต้นและเอาใจช่วย แม้แต่พวกพิพากษาก็แสดงกิริยาพิศวงและประหลาดใจที่ปรากฏความจริงออกมาอย่างแจ้มแจ้งว่าพยานโจทก์กล่าวเท็จ พวกอัยการพากันตะลึง บางคนถึงกับอ้าปากค้าง

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าบุคคลที่มีใจเป็นกลาง เมื่อได้ฟังคำให้การของพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยแล้ว ก็จะเห็นว่าพระสิทธิฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องในการยิงหลวงพิบูลฯ ดังที่พยานของโจทก์กล่าวปรักปรำนั้นเลย

แต่ศาลพิเศษได้ตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตพระสิทธิเรืองเดชพล คำตัดสินตอนหนึ่งมีดังนี้

“ถึงแม้โจทก์จะเบิกความแตกต่างกับพยานหลักฐานของพระสิทธิเรืองเดชพลก็ดี ก็เป็นเวลาช้านานมาแล้ว ใครจะไปจดจำไว้ได้อย่างแม่นยำ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม แม้จะฟังพยานหลักฐานของพระสิทธิเรืองเดชพลหักล้างหลักฐานของโจทก์บางตอนได้ ก็หากระทำให้หลักฐานพยานของโจทก์ในตอนอื่นๆ เสียไปไม่ เพราะหลักฐานพยานโจทก์ที่เบิกความมานั้นได้สืบถึงว่าพระสิทธิ์เรืองเดชพลได้กระทำความผิดมาหลายหนหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน (โปรดระลึกว่าคดีของพระสิทธิฯ นี้โจทก์มีประจักษ์พยานเพียง ๓ คนเท่านั้น) แต่พยานหลักฐานพระสิทธิเรืองเดชพลหาสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้หมดทุกตอนไม่ พระสิทธิเรืองเดชพล จำเลยจึงมีความผิด”

สภาพการณ์ในศาลพิเศษ

ข้าพเจ้าเชื่อว่าจำเลยทั้ง ๕๑ คน (ไม่นับขุนคลี่พลพฤณท์) ต่างก็นึกว่าตนคงจะได้เป็นอิสรภาพโดยศาลยกฟ้อง ฉะนั้นในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ทุกคนจึงมีสีหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน และจัดแจงเก็บสิ่งของเตรียมพร้อมที่จะกลับบ้าน

การควบคุมในวันอ่านคำพิพากษานั้นได้กระทำอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เราถูกเรียกชื่อตามบัญชี พอเรียกชื่อใครตำรวจ ๒ คนก็เดินเข้ามาหาผู้นั้น เอากุญแจมือสวม แล้วก็เข้ากระหนาบข้างพาเดินไปขึ้นรถยนต์ ระหว่างทางที่รถแล่นไปสู่ศาลพิเศษนั้น นายตำรวจผู้หนึ่งขี่จักรยานยนต์ซึ่งติดปืนกลวิ่งแซงรักษาความปลอดภัยให้เราไปด้วย ในที่สุดตำรวจซึ่งเป็นองครักษ์กระหนาบข้างของเราก็พาเราเข้าไปนั่งในศาล และยังคงนั่งกระหนาบข้างเราอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีทหารยามสวมดาบปลายปืนยืนรักษาประตูอยู่ทุกประตูอีกด้วย

เราไปถึงศาลเมื่อเวลาราว ๐๘.๐๐ น. และต้องคอยอยู่ประมาณ ๒ ช.ม. ผู้พิพากษาจึงออกมานั่งบัลลังก์ ข้าพเจ้าชำเลืองดูผู้พิพากษา จะหาใครยิ้มแย้มหรือมีสีหน้าแสดงความกรุณาต่อจำเลยไม่มีเลย ทุกคนดูเหมือนสำนึกตนอยู่ว่ากำลังทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาต

คำพิพากษานั้นยืดยาวมาก ศาลตั้งใจจะอ่านให้จำเลยฟังอย่างชัดเจน จึงอ่านเน้นถ้อยคำเว้นจังหวะ หาได้สำนึกไม่ว่าจำเลยต้องนั่งอยู่ในที่คับแคบ ถูกตำรวจนั่งเบียด แสนร้อนแสนอึดอัดมาเป็นเวลา ๔-๕ ชั่วโมงแล้ว

ตามที่เคยกระทำมานั้น ก่อนถึงเวลาศาลออกนั่งพิจารณา จำเลยได้รับอนุญาตให้อยู่ภายในห้องพักจำเลย ซึ่งมีโถปัสสาวะจัดไว้ให้ และแม้แต่เวลาศาลพิจารณาอยู่ จำเลยก็ได้รับอนุญาตให้ลุกจากศาลไปปลดทุกข์เบาและทุกข์หนักของตนได้ แต่ในวันอ่านคำพิพากษานี้ตำรวจไม่อนุญาตให้จำเลยลุกขึ้นจากที่นั่ง

ก่อนมาศาล เราได้มีการเลี้ยงน้ำชาเป็นการไว้อาลัยกัน โดยเข้าใจว่าเป็นวันที่เราจะต้องแยกย้ายจากกันไป ข้าพเจ้าออกจะละโมบน้ำชาสักหน่อย ได้ดื่ม ๒ ถ้วยซ้อน บัดนี้น้ำชาได้ทำพิษแก่ข้าพเจ้าขึ้นทุกทีแล้ว คนอื่นดื่มน้ำชาถ้วยเดียวก็คงมีทุกข์เพียง ๑ เท่า ข้าพเจ้าดื่ม ๒ ถ้วยจึงมีทุกข์ ๒ เท่า

ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีของจ่าแม้น เลิศวารี ยังไม่จบ ข้าพเจ้าไม่สนใจในคดีของจ่าแม้นยิ่งกว่าความทุกข์เบาของข้าพเจ้าซึ่งอัดอั้นมากขึ้นจนเหลือทน ถ้าจะคอยให้ศาลอ่านคำพิพากษาให้ตลอตเสียก่อน ก็คงอัดอั้นไว้ไม่ไหว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นยืน ซึ่งทำให้ตำรวจขยับปืนโดยคิดว่าข้าพเจ้ากำลัง จะแผลงฤทธิ์ และผู้พิพากษามองดูข้าพเจ้าด้วยความประหลาดใจ

“ขอประทานโทษขอรับ” ข้าพเจ้าพูด “กระผมขออนุญาตไปห้องปัสสาวะ”

หลวงพรหมโยธีซึ่งนั่งเป็นประธานในการอ่านคำพิพากษามองจ้องหน้าข้าพเจ้านิ่งอยู่ คล้ายกับจะทำตนเป็นฤาษีตาไฟเผาตัวข้าพเจ้าให้ละลายไป “ศาลกำลังอ่านคำพิพากษาอยู่” ท่านพูดเสียงดังลั่น “นั่งลง”

ข้าพเจ้าก็นั่งลง แต่ทันทีนั้นพระสิทธิเรืองเดชพลก็ลุกขึ้นยืน “กระผมขออนุญาตปัสสาวะ” พระสิทธิฯ กล่าว

“ขอให้จำเลยคอยอีกหน่อย” หลวงพรหมฯ ตอบ “ศาลยังอ่านคำพิพากษาไม่จบ”

หลวงพรหมฯ คงไม่เข้าใจว่าการอดกลั้นทุกข์หนักหรือเบานั้นจะกระทำได้เพียงขอบเขตจำกัด ร่างกายของมนุษย์จำเป็นต้องขับไล่เอาสิ่งที่ไม่ต้องการใช้แล้วให้พ้นไป และอวัยวะร่างกายส่วนนี้มิได้อยู่ภายใต้อำนาจของศาลพิเศษ การตัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวนั้นพอทำได้ แม้จะไม่ให้พูดก็พอทำได้ แต่จะตัดเสรีภาพไม่ให้ถ่ายของเสียนั้นทำไม่ได้

ข้าพเจ้าได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะไม่ให้เสื้อกางเกงของข้าพเจ้าที่สวมอยู่นั้นต้องเปรอะเปื้อน แต่ไม่สำเร็จ และข้าพเจ้ากำลังจะทำให้เกิดความเปรอะเปื้อนตามพื้นศาลด้วย ไม่มีสิ่งใดจะช่วยแก้ไขไว้ได้นอกจากรองเท้า ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงรีบถอนรองเท้าออกมารองรับสิ่งโสโครกซึ่งร่างกายของข้าพเจ้ากำลังขับ ออกมาด้วยอาการกระมิดกระเมี้ยนภายใต้หมวกกะโล่ใบหนึ่ง เพื่อรักษาความ สุภาพและความเคารพต่อที่ประชุมเท่าที่จะทำได้ รองเท้าทั้งสองข้างเต็มเปี่ยม แต่ข้าพเจ้ารู้สึกสบายสิ้นทุกข์

หลวงพรหมฯ มองดูการกระทำของข้าพเจ้าอย่างตะลึง ตำรวจที่นั่งกระหนาบข้างอยู่ก็ตะลึง เขาอาจคิดว่าข้าพเจ้าแกล้งประจานศาล เขาจะนึกหรือว่า ถึงแม้ข้าพเจ้าจะกล้าประจานศาลในบางโอกาส แต่ไม่มีโอกาสใดเลยที่ข้าพเจ้าจะกล้าประจานตัวเอง

“ผมขออนุญาตปัสสาวะ” จำเลยอีกคนหนึ่งลุกขึ้นขออนุญาตต่อหลวงพรหมฯ “ผมไม่ไหวแล้ว” จำเลยอีกคนหนึ่งกล่าว “ผมก็เหมือนกัน” คนที่ ๓ กล่าว ในที่สุดจำเลยทั้งหมดลุกขึ้นยืนขออนุญาตปลดทุกข์ นอกจากข้าพเจ้าคนเดียว ซึ่งมิได้ยืนเพราะข้าพเจ้าเป็นสุขแล้ว

หลวงพรหมฯ สั่งให้หยุดอ่านคำพิพากษา จำเลยหลายคนวิ่งแข่งกันไปสู่ห้องเล็กที่จัดไว้ ข้าพเจ้าเดินหิ้วรองเท้าตามหลังเขาไป

ข้าพเจ้าเป็นกบฏ

เมื่อเสร็จการปลดทุกข์แล้ว ศาลก็อ่านคำพิพากษาต่อไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาตามลำดับทุกๆ คดีซึ่งคำพิพากษาลงท้ายคำว่า “เพราะฉะนั้นจำเลยจึงมีความผิด” ข้าพเจ้าไม่คิดว่าศาลจะพิพากษาโดยวิธีเชื่อคำพยานโจทก์ฝ่ายเดียว แต่ยังมีหวังอยู่บ้างว่าในคดีของพระสิทธิฯ ซึ่งจำเลยได้พิสูจน์หักล้างถ้อยคำของพยานโจทก์อย่างขาวสะอาดนั้น ศาลองละอายใจพอที่จะไม่ตัดสินลงโทษจำคุก แต่เมื่อได้อ่านจบคำพิพากษาในคดีของพระสิทธิฯ ด้วยคำลงท้ายว่า “เพราะฉะนั้นพระสิทธิฯ จำเลยจึงมีความผิด” ข้าพเจ้าก็ทรุดตัวลงไปนั่งเก้าอี้ รู้สึกใจคอเหี่ยวแห้งเต็มที่ ข้าพเจ้าไม่กล้าหันไปมองพระสิทธิฯ

“แต่สำหรับคดีของเรา ศาลคงยกฟ้อง” ข้าพเจ้าคิด

มิช้าศาลคงจะอ่านคำพิพากษามาถึงคดีของข้าพเจ้า ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และของหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลจำเลยตลอดแล้ว เป็นอันได้ความว่าหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลได้เคยทำความผิดฐานกบฏมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ในครั้งนั้นหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลกับพวกกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์ ศาลพิเศษได้พิพากษาให้จำคุก ต่อมาได้รับการอบรมจากรัฐบาลและได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ออกมาเป็นอิสระได้ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลหาได้ยับยั้งความคิดที่จะล้มล้างรัฐบาลแต่เพียงนั้นไม่ ยังคงยืนยันกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับครั้งก่อน จึงได้ติดต่อคบคิดกับพระยาฤทธิอัคเนย์และพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าได้ร่วมคิดกันที่จะล้มล้างรัฐบาล เพื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง คราวนี้หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลยังได้ติดต่อกับพระธิดาของกรมพระนครสวรรค์ฯ และลอบติดต่อกับนายสอ เสถบุตร นักโทษฐานกบฏ ซึ่งยังต้องโทษคุมขังอยู่ในเรือนจำมหันตโทษ ดังปรากฏในหมาย จ.๔๗ (จดหมายเขียนถวายพระองค์เจ้าศิริรัตน์ฯ) นั้นแล้ว ข้อความในหนังสือนี้จะแปลไปในทางว่าเป็นสาเหตุส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะมีการเสียดสีกับรัฐบาลแยกเขาแยกเรา อันหมายถึงรัฐบาลเป็นฝ่ายหนึ่ง หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลกับพวกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ข้อความในจดหมายนี้แสดงถึงการเมืองได้ชัดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายอีก นอกจากนั้นหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลได้แต่งบทประพันธ์กล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์ ตัวหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลกับพวกไม่มีความผิดร้ายอะไร แต่เป็นพวกที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล และความเห็นของฝ่ายใดจะถูกต้องกว่ากัน เป็นเรื่องที่พระปกเกล้าฯ ได้ชี้ขาดว่ารัฐบาลนั่นแหละเป็นฝ่ายผิด รัฐบาลนั่นแหละโกงเห็นแก่ตัวเองมากกว่าเห็นแก่ชาติ ประชาธิปไตยทุกวันนี้ เป็นของเก๊หลอกลวง บทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลอีกฉบับหนึ่ง กล่าวถึงนักโทษการเมืองคราวเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ผู้หนึ่งซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว มีการเกลียดชังรัฐบาลนี้ และกล่าวถึงการยึดอำนาจการปกครอง อันจะได้เกิดขึ้น พ.ศ. ๒๔๘๒ หนังสือนี้หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลเขียนขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๑ หรือก่อนกว่านั้น เจ้าหน้าที่ค้นจับมาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อระลึกถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความตามสำนวนนี้ว่าแผนการกบฏส่วนใหญ่ของพวกกบฏจะลงมือกระทำการใช้กำลังบังคับเพื่อล้มล้างรัฐบาลเสียใน พ.ศ. ๒๔๘๑ นี้แล้ว ก็ตรง พ.ศ. กันกับบทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลที่เขียนล่วงหน้าไว้ ยังความพิรุธให้ตกอยู่แก่หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลว่าได้ล่วงรู้แผนการกบฏรายนี้ไว้แล้วเป็นเวลานาน เมื่อประมวลเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว รูปคดีมีเหตุผลพอที่จะชี้ขาดว่าหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลเป็นผู้หนึ่ง ที่ได้ร่วมคิดกันกับจำเลยหลายคนซึ่งกล่าวไว้ข้างต้นจะล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้กำลังบังคับ

ถ้อยคำกล่าวแก้ของหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลมีแต่อ้างตนเป็นพยาน ไม่สามารถหักล้างหลักฐานพยานโจทก์ได้ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลจำเลยต้องมีความผิด”

และในตอนท้ายของคำพิพากษามีว่า

“...คดีเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ นอกจากได้สมคบกันกระทำการประทุษร้ายเพื่อจะทำลายรัฐบาล มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๐๑ อันกำหนดโทษไว้มี ๒ สถาน คือประหารชีวิตสถานหนึ่ง และจำคุกตลอดชีวิตสถานหนึ่ง ซึ่งเป็นโทษสูงอยู่แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความผิดในกระทงอื่นๆ ข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ฐานไม่เข็ดหลาบนั้น โทษที่กำหนดไว้ ๒ สถานเป็นโทษที่สูงอยู่แล้ว จะเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้

อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงพร้อมกันพิพากษาให้ประหารชีวิต ฯลฯ แต่ นายพลโทพระยาเทพหัสดิน กรมขุนชัยนาทนเรนทร และนายพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์ จำเลยเคยทำความดีมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงเหตุผลทั่วๆ ไปแล้วควรได้รับความปรานี จึงลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๓๗ (๑) คงให้จำคุกจำเลยทั้ง ๓ นี้ไว้ตลอดชีวิต กับให้จำคุกหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลไว้ตลอดชีวิต”

สภาพน่าหัวเราะ

พอศาลอ่านคำพิพากษาจบ ข้าพเจ้าก็หัวเราะขึ้น ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่หัวเราะบ่อยๆ นานๆ ข้าพเจ้าจึงจะรู้สึกรื่นเริงหรือขบขันพอที่จะหัวเราะ คำพิพากษาของศาลพิเศษนี้เป็นเรื่องน่าขบขัน มันเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาแกล้งเขียนใส่ร้ายจำเลย แม้แต่ในกระทงความผิดที่หลักฐานของโจทก์อ่อนไป ศาลช่วยสอดข้อความเพิ่มเติมให้ โดยข้อความนั้นไม่ปรากฏอยู่ในสำนวน และศาลช่วยแปลเจตนาของจำเลยให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ นอกเหนือไปจากข้อความที่โจทก์นำพยานมาสืบ กล่าวโดยสรุปว่าแทนที่ศาลจะเป็นผู้รักษาความยุติธรรม ศาลกับโจทก์ได้ร่วมมือกันเขียนคำพิพากษา เลือกเอาแต่ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าจำเลยเป็นกบฏจริง

ข้าพเจ้ามิได้แกล้งหัวเราะ ความรู้สึกขบขันเกิดขึ้นในใจจริงๆ ข้าพเจ้าเห็นว่าศาลพิเศษเป็นที่สถิตแอบแฝงความหลอกลวงชั่วช้าสารเลวอย่างเหลือเชื่อว่าจะเป็นจริงไปได้ และเพราะเหตุนั้นจึงเห็นขัน

ถ้าหากเจ้าตัวจำอวดคนหนึ่งเอาหัวเดินต่างเท้า เราก็หัวเราะ หรือเมื่อเราดูภาพยนตร์การ์ตูนได้เห็นนายมิคกี้เม้าส์กระโดดที่เดียวขึ้นไปอยู่บนหลังคาตึก เราก็หัวเราะ นี้หมายความว่าสภาพต่างๆ ที่ผิดปกติวิสัยอย่างเหลือเชื่อว่า จะเป็นไปได้นั้นย่อมทำให้เราเกิดความขบขัน เราจึงหัวเราะ

แต่ข้าพเจ้าหัวเราะอยู่ไม่ได้นาน วินาทีเดียวความรู้สึกขบขันก็หายไป ข้าพเจ้าได้สติขึ้นมาว่าที่แท้จริงนั้นข้าพเจ้ามิใช่คนดูละครหรือจำอวด และศาลพิเศษไม่ใช่เวทีละคร ข้าพเจ้าได้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และข้าพเจ้าจะต้องกลับไปเข้าคุกอีกจริงๆ ข้าพเจ้าไม่มีหนทางที่จะหวังพึ่งอำนาจอะไรมาช่วย แก้ไขให้ได้รับความยุติธรรมอีกแล้ว ต่อไปนี้ชีวิตของข้าพเจ้าจะต้องไปทนทุเรศเวทนาอยู่ในคุกโดยไม่มีกำหนด อาจช้านานตั้ง ๒๐ ปีหรืออาจต้องตายในคุก ข้าพเจ้าจะต้องอำลาชีวิตอย่างปกติชน ข้าพเจ้าจะต้องอำลาความรื่นเริงและเสียงสรวลเสเฮฮาทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะต้องประจันต่อความลำบากตรากตรำ รับเอาแต่ความทุกข์ จะไม่มีวันแห่งความสุขอีกแล้วในชาตินี้

ข้าพเจ้าหูอื้อ รู้สึกมึนงง เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ว่าศาลได้ตัดสินข้าพเจ้ามีความผิด เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจำเลยอื่นๆ เหล่านี้ล้วนถูกตัดสินว่ามีความผิด และบางคนถึงกับถูกวางโทษประหารชีวิต

พระสิทธิฯ อยู่ไหนหนอ? พระสิทธิฯ จะรู้สึกอย่างไรบ้างหนอ? ในการถูกตัดสินประหารชีวิต ข้าพเจ้าหันหน้าไปหาพระสิทธิฯ และมองดูท่านด้วยสายตาอันฝ้าฟางคล้ายเพิ่งตื่นนอน

“เขาตัดสินผมอย่างไร?” พระสิทธิฯ ถาม

ข้าพเจ้าหันหน้ากลับมาทันที ข้าพเจ้าไม่ตอบ ใครล่ะจะใจร้ายพอที่จะบอกว่า “ท่านจะต้องถูกประหารชีวิต”

สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าแน่ใจก็คือพระสิทธิฯก็คงหูอื้อตาฟางอย่างเดียวกับข้าพเจ้า และมีจำเลยอีก ๒-๓ คนร้องอุทธรณ์ว่าศาลตัดสินอย่างไรก็ไม่ทันฟัง

ข้าพเจ้าต้องแยกตัวจากพระสิทธิฯ ข้าพเจ้ากลับมาสู่ห้องขังที่ลหุโทษ แต่พระสิทธิฯ ถูกส่งตัวไปบางขวาง คืนหนึ่งอากาศกำลังหนาว ผู้คุมนำข่าวมาบอกว่าพระสิทธิฯ ถูกยิงเป้าเสียแล้ว ข้าพเจ้าเริ่มหนาวยิ่งขึ้นจนคางสั่น คืนนั้นข้าพเจ้าฝันถึงพระสิทธิฯ แลต่อมาก็ยังฝันถึงท่านอีกบ่อยๆ วิญญาณของพระสิทธิฯ น่าจะมาวนเวียนอยู่ที่ข้าพเจ้า เพื่อขอร้องให้ข้าพเจ้าพยายามต่อไปในการนำคดีของท่านขึ้นสู่การพิจารณาเพื่อความยุติธรรม

ข้าพเจ้ายังจะต้องหัวเราะอีกแม้แต่ในเวลานี้เมื่อนึกถึงความเลวอย่างเหลือเชื่อที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ข้าพเจ้าได้หัวเราะในทำนองนั้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อถูกส่งตัวไปเกาะเต่าพร้อมกับ ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ โดยข้าพเจ้าถูกจับได้ว่าได้เขียนเรื่อง “ความฝันของนักอุดมคติ” ซึ่งถูกเห็นว่าเป็นภัยร้ายแรงแก่ความสงบสุขของประเทศชาติ ในสมัยนั้นไม่ว่าข้าพเจ้าจะคิดทำอะไรดูช่างถูกระแวงไปเสียหมด จนกระทั่งเหลือเชื่อว่าสภาพเหล่านี้เป็นความจริง จึงทำให้ขบขันน่าหัวเราะ แต่เมื่อนึกถึงพระสิทธิเรืองเดชพลกับคนอื่นๆ รวม ๑๘ นายที่ได้ตายโดยบางคนไม่มีมลทินเลยแม้แต่น้อย ข้าพเจ้าไม่สามารถรู้สึกอย่างอื่นได้ นอกจากสลดใจแทบจะต้องน้ำตาไหล

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ