บทที่ ๑

ถูกจับ

“หม่อมนิมิตรอยู่ไหน?”

เสียงกร้าวและห้วนแสดงการไว้อำนาจดังขึ้นในระยะห่างประมาณยี่สิบเมตร ต่อจากนั้นก็มีเสียงตอบอ้อมแอ้มของผู้หญิงซึ่งข้าพเจ้าฟังไม่ได้ศัพท์ และมีเสียงฝีเท้าเหยียบย่ำตามพื้นดินแข็งของคนหลายคน

ข้าพเจ้ากำลังนอนอยู่ในเรือท้องแบน (เรือเป็ด) ของกรมชลประทาน ซึ่งนำขึ้นเกยแห้งไว้ที่ริมคลองไผ่พระ จังหวัดอยุธยา ข้าพเจ้าได้รับมอบหน้าที่พร้อมด้วยสหายนักโทษการเมืองที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว และมาสมัครงานที่กรมชลประทานด้วยกันอีก ๔ คน ให้มาสำรวจคลองไผ่พระ เพื่อพิจารณาสร้างทำนบ เวลา ๐๘.๐๐ น. ในวันนั้น ข้าพเจ้าควรจะได้ไปบุกโคลนในนาอยู่กับสหายในการวัดระดับพื้นดินสองฝั่งลำน้ำ แต่ข้าพเจ้าบังเอิญปวดศีรษะ ประหนึ่งเป็นอำนาจของโชคชะตา ที่จะส่งตัวข้าพเจ้าสู่มือเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยสะดวก

เสียงที่ถามหาตัวข้าพเจ้านั้นเป็นเสียงแปลกหู ไม่เคยมีคนงานใต้บังคับของข้าพเจ้าผู้ใดจะขาดความยำเกรงพอที่จะออกชื่อข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงเช่นนั้น และนี่ก็ยังไม่ถึงเวลาที่พวกคนงานจะกลับมาจากการวัดระดับลำน้ำ

ข้าพเจ้าผุดลุกขึ้นจากที่นอน พอโผล่ออกไปดูทางท้ายเรือ หัวใจก็เต้นแรง นายร้อยตำรวจเอก ๑ นาย จ่านายสิบ ๑ นาย และพลตำรวจอีก ๘ นาย ล้วนถือปืน กำลังซักถามหญิงคนครัวซึ่งอยู่ในเรือเป็ดอีกลำหนึ่ง หญิงคนครัวหน้าซีดขาวด้วยความตกใจ และกำลังชี้มือมาทางข้าพเจ้า

ใจเต้นด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ข้าพเจ้าไม่ได้นึกเกรงขามตำรวจเหล่านี้ หรือเอาใจใส่ปืนที่เขาถือจ้องอยู่ เมื่อข้าพเจ้าเดินตรงเข้าไปหาเขา ความองอาจของข้าพเจ้าทำให้เขายืนตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงขยับเข้ามาจับกลุ่มกัน และปลดห้ามนก เตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธ

“คุณถามหาผมหรือ?” ข้าพเจ้าถามนายตำรวจ

“คุณชื่อ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ใช่ไหม?”

“ถูกแล้วครับ”

“อธิบดีตำรวจให้มาเชิญตัวคุณไปกรุงเทพฯ”

“เรื่องอะไรครับ?”

“ผมไม่ทราบ”

“จะให้ผมไปเมื่อไร?”

“ไปพร้อมกับผมเดี๋ยวนี้ ไปแต่งตัวเถอะครับ”

เป็นการพูดอย่างปรกติ ดูคล้ายกับเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน และไม่มีอะไรสำคัญยิ่งกว่าท่านอธิบดีตำรวจให้เกียรติมาเชิญตัว ม.ร.ว.นิมิตรมงคลไปพบเพื่อธุระอันยังไม่ปรากฏ ข้าพเจ้าได้เคยพบและเคยพูดกับท่านอธิบดีมาแล้วในฐานมิตร อาจเป็นได้ว่าครั้งนี้จะต้องพบกันในฐานะที่ท่านเห็นว่าเป็นปรปักษ์ ด้วยความเข้าใจผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะชี้แจงปรับความเข้าใจกันได้ ความองอาจไม่หวั่นหวาดของข้าพเจ้าในขณะนั้นเกิดจากความโง่อย่างไม่เดียงสาแท้ๆ

ข้าพเจ้านำตำรวจ ๑๐ นายมาที่เรือของข้าพเจ้า นายตำรวจต้องการค้นสิ่งของ ข้าพเจ้าก็ช่วยเหลือเขาในการค้น หีบและกระเป๋าทุกใบถูกเปิดออก เสื้อผ้าทุกชิ้นถูกคลื่ออกสลัด กระดาษที่มีตัวหนังสือทุกชิ้นถูกอ่าน แต่นายตำรวจไม่พบสิ่งใดที่เขาต้องการ เขาคลำที่ร่างกายของข้าพเจ้าและเปิดซองธนบัตรออกตรวจ และดึงเอากระดาษออกมาชิ้นหนึ่ง

“นี่อะไร?”

“ใบสำคัญรัชชูปการ”

“คุณมีปืนไหม?”

“ไม่มี”

“มีดล่ะ?”

“ไม่มี”

เขาค้นใต้ท้องเรือ หยิบมีดโต้ขึ้นมา แล้วก็โยนทิ้งเสีย นั่งลงทำตาลอยด้วยความไม่สมหวัง ครั้นแล้วเขาก็ฉีกใบสำคัญรัชชูปการเป็นชิ้นๆ ข้าพเจ้ากำลังจะทักท้วง (เพราะเกรงว่าจะต้องไปเสียเงินซ้ำอีก) แต่ความฉลาดเริ่มแล่นมาเข้าสมองเป็นครั้งแรก นายตำรวจผู้นี้ฉีกใบรัชชูปการก็เพราะเขาคิดว่ามันจะไม่มีประโยชน์แก่ข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว เขาได้รับคำสั่งให้มาจับข้าพเจ้า และเขาแน่ใจว่าข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะได้คืนความอิสรภาพ

คำว่า “เชิญ” นั้นเป็นคำพูดที่ไพเราะซึ่งขอยืมมาใช้แทนคำว่า “จับ” ข้าพเจ้าเพิ่งนึกได้ว่าเมื่อปี ๒๔๗๖ นั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับ “เชิญ” และโดยอาการสุภาพละมุนละม่อมยิ่งกว่านี้เสียด้วยซ้ำ

แต่ข้าพเจ้าก็แน่ใจเหมือนกันว่าโชคชะตาของข้าพเจ้าอย่างเมื่อปี ๒๔๗๖ จะไม่มาบังเกิดขึ้นซ้ำรอย ครั้งนั้นที่ดอนเมือง ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ทราบว่าเป็นคำสั่งที่ผิดด้วยกฎหมาย ถูกตัดสินว่าเป็นกบฏ (โดยไม่เคยคิดกบฏต่อใครเลย) แล้วจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ครั้งนี้ไม่มีใครมาสั่งให้ข้าพเจ้าทำอะไร หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ทำร้ายหรือคิดร้ายต่อผู้ใดทั้งสิ้น เหตุใดเล่าข้าพเจ้าจะต้องติดคุกอีก นี่แปลว่าบ้านเมืองหมดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะคุ้มครองผู้สุจริตเสียแล้วหรือ

คำสนทนาในเรือจ้าง

ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้รวบรวมของมาลงเรือแจวลำเล็กๆ ซึ่งตำรวจจ้างมา น้ำกำลังเปี่ยมฝั่งคลองซึ่งคดเคี้ยวไปตามหมู่บ้าน พวกตำรวจเพลิดเพลินในความงามของธรรมชาติ เขาคงดีใจว่างานในหน้าที่ได้ดำเนินไปโดยไม่ยุ่งยาก เขามาจับกบฏซึ่งต้องเป็นคนสำคัญเป็นแน่ มิฉะนั้นไหนเลยจะได้รับคำสั่งให้มากันหลายคน พร้อมด้วยอาวุธ เขาคงคาดว่ากบฏผู้นี้คงต่อสู้หรือพยายามหลบหนี หรือขัดขวางไม่ยอมให้จับโดยละม่อม แต่เมื่อปรากฏว่ากบฏผู้นี้เชื่อง เขาก็โล่งใจ เริ่มคุยกัน หยอกล้อกัน บางคนผิวปาก บางคนก็ร้องเพลง

แต่ข้าพเจ้านึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในตอนเย็นวาน หลังจากกินอาหารเย็นแล้ว เพื่อนข้าพเจ้าผู้หนึ่งชวนไปบ้านญาติของเขา เราพายเรือมาตามคลองนี้ ถึงปากคลองที่บ้านของญาตินั้นเอง เราได้ทราบเป็นครั้งแรกว่า เมื่อ ๓ วัน มาแล้วที่กรุงเทพฯ ได้เกิดการจับกุมบุคคลสำคัญหลายนายฐานต้องหาเป็นกบฏ ญาติผู้นั้นเอื้อเฟื้อนำหนังสือมาให้อ่าน หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวลงข่าวพระยาทรงสุรเดชถูกจับ และลงนามคนอื่นๆ อีกหลายคน ข้าพเจ้าอ่านข่าวเหล่านี้ด้วยความสลดใจ แต่โล่งใจอยู่บ้างที่ไม่ปรากฏว่าในรายชื่อผู้ถูกจับนั้นมีญาติ หรือมิตรสหายของข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย เจ้าคุณเทพหัสดินทร์ฯ เจ้าคุณอุดมฯ พระสิทธิเรืองเดชพล และบุคคลอื่นๆ ที่ถูกจับนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าในทางการเมืองอย่างใดเลย ถ้าหากท่านเหล่านี้ได้คิดล้มล้างรัฐบาลจริง บางขวางก็จะคึกคักขึ้นที่มีบุคคลสำคัญไปเพิ่มเติมอีกมากมาย แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะพิสูจน์ตนในศาล ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคดีเหล่านี้คงชำระกันในศาลยุติธรรม

ข้าพเจ้านึกในใจขณะอ่านหนังสือพิมพ์นั้นว่า “สิ้นเคราะห์ไป ที่พวกบางขวางเราไม่มีใครไปยุ่งในการกบฏคราวนี้ด้วย”

ขณะนั่งมาในเรือจ้าง ภายใต้การควบคุมของตำรวจ ความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเป็นครั้งแรกว่า ถ้าหากข้าพเจ้าถูกจับโดยไม่มีความผิดเช่นนี้ แล้วเจ้าคุณเทพฯ และเจ้าคุณอุดมฯ ก็อาจอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าได้ประจักษ์แล้วเมื่อคราว พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่าได้มีบุคคลสอพลอเกิดขึ้นเป็นอันมาก ที่คิดหาความชอบจากความชั่ว โดยปั้นเรื่องราวใส่ร้ายคนบางคน จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกใส่ร้ายต้องถูกจับและบางคนถูกติดคุก ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบความจริงเหล่านี้ และค่อนจะเชื่อว่าศาลพิเศษให้ความยุติธรรมได้เพียงพอ หรือถึงแม้เกิดทราบกันขึ้นว่า บางคนต้องถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด ประชาชนก็มักจะนึกว่า “แกติดคุกก็เป็นเคราะห์กรรมของแกเอง ส่วนข้าไม่ต้องติดคุกกับแกก็แล้วกัน” ญัง ญาร์ค รูสโซ ชี้เหตุว่าโดยที่ประชาชนคิดกันดังนี้ทั่วๆ ไป จึงเป็นช่องทางให้ผู้เสวยอำนาจทำทารุณกรรมต่างๆ นานาในแผ่นดินโดยไม่ถูกขัดขวาง ข้าพเจ้านึกเสียวแสยงในใจ เมื่อนึกว่าข้าพเจ้าอาจถูกใส่ร้าย อาจต้องกลับไปติดคุก และประชาชนก็จะพากันเชื่อว่าข้าพเจ้าทำความผิดจริง หรือพากันว่า “สมน้ำหน้า” หรืออย่างน้อยก็ไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้คนเคราะห์ร้ายผจญเคราะห์ไปตามยถากรรม คนเคราะห์ร้ายซึ่งถูกรัฐบาลเผด็จการเกลียดชังนั้น จะอาศัยพระบรมเดชานุภาพก็ไม่มีหนทาง จะพึ่งศาลก็ไม่เป็นหลัก จึงเป็นคนเคราะห์ร้ายที่น่าทุเรศที่สุดในโลก

ถ้าหากต้องติดคุกเพราะรัฐบาลเผด็จการเกลียดชัง แต่ได้รับความรักใคร่เห็นใจจากประชาชน ดังนี้ก็จะนับว่าเคราะห์ไม่ร้ายนัก แม้ในความทุกข์ยากก็จะยังอบอุ่นใจ เมื่อทราบว่าประชาชนส่วนมากสงสารเวทนา

“โปรดบอกผมสักคำเถอะ” ข้าพเจ้าถามนายสิบตำรวจ “ผมถูกจับเกี่ยวกับการเมืองใช่ไหม?”

เขาพยักหน้า

“คุณคิดหรือว่าผมทำความผิดจริง?”

“ผมไม่ทราบนี่ คุณทำอะไรมา คุณก็คงรู้”

“ผมไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย”

เขาพยักหน้าอีก

“คุณคิดไหม?” ข้าพเจ้ากล่าวต่อไป “ว่าถึงแม้ไม่ได้ทำความผิดเลย แต่ถ้าต้องไปขึ้นศาลพิเศษแล้ว หนทางที่จะเอาตัวรอดได้ก็มีน้อยเต็มที”

“ศาลเขาก็คงรู้ได้ดีๆ ว่าใครทำผิดจริงหรือเปล่า”

“ศาลอาจรู้ แต่ก็ต้องตัดสินไปตามความประสงค์ของรัฐบาล”

“เห็นจะเป็นไปไม่ได้”

คำสนทนาระหว่างเราสิ้นลง ข้าพเจ้าพูดกับเขาเพื่อต้องการความเห็นใจ แต่เขาน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่จะเห็นใจข้าพเจ้า และการพูดต่อไปมีแต่จะนำผลร้าย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ