บทที่ ๖

จดหมายถวายพระองค์เจ้าศิริรัตน์บุษบง

ข้าพเจ้าสำนึกในขณะนั้นว่า คำพูดของข้าพเจ้าแต่ละคำนับแต่วาระนี้ไป จะเป็นสิ่งที่ช่วยตัวเองให้พ้นภัย ถ้าพูดอย่างฉลาด แต่จะเป็นอาวุธเชือดคอตนเอง ถ้าพูดด้วยความโง่เขลา ในกรณีใดๆ ก็ตาม ข้าพเจ้าจะไม่ยอมพูดจนกว่าจะได้ตรึกตรองโดยรอบคอบแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ตน

การนิ่งอยู่สักครึ่งนาทีก่อนให้คำตอบในเรื่องสำคัญกับการสูดลมหายใจแรงๆ ในเวลาเข้าที่คับขัน เพื่อเรียกรวมกำลังกายและกำลังใจ สองข้อนี้เป็นกฏ ซึ่งข้าพเจ้าใช้อยู่เนืองนิตย์ และนำมาเตือนตนเอง ก่อนที่จะก้าวเท้าตรงไปยังโต๊ะทำงานของนายพันตำรวจตรี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้มีอาวุโสที่สุดในห้องนั้น

นายพันตำรวจตรีสั่งให้ตำรวจผู้ควบคุมกลับไป แล้วก็เชิญข้าพเจ้าด้วยกิริยาสุภาพให้นั่งลงในเก้าอี้ตรงข้ามกับเขา

บนโต๊ะทำงานของเขา มีสมุดตั้งซ้อนกันอยู่กองใหญ่ มองปราดเดียวก็จำได้ ข้าพเจ้ายิ้มด้วยรู้สึกใจขึ้นเมื่อทราบว่า “บุญทำกรรมแต่ง” นั่นเองเป็นเรื่องที่นำมาสอบสวน

ใจชื้นเพราะยังยืนยันแก่ใจตนเองอยู่ว่า มิได้เขียนขึ้นโดยเจตนาจะตำหนิติเตียนรัฐบาล ถึงแม้ผู้สอบสวนจะมองเห็นไปว่าติเตียนรัฐบาลก็จะเอาความผิดตามกฎหมายมิได้ โดยเหตุข้อความเหล่านั้นยังมิได้นำออกโฆษณาอย่างใดเลย

แต่ผู้สอบสวนมิได้กล่าวถึงสมุดเหล่านี้ เขาหยิบจดหมายฉบับหนึ่งออกมาจากแฟ้มและยื่นให้ข้าพเจ้า มันเป็นจดหมายที่ข้าพเจ้าเขียนไปถวายพระองค์เจ้าศิริรัตน์บุษบง เสนอให้ทรงซื้อปทานุกรมแบบใหม่ของ สอ เสถบุตร และโดยที่ข้าพเจ้ากระตือรือร้นเกินไปที่จะให้ทรงเลื่อมใสในงานของ สอ เสถบุตร จึงเลยกล่าวอวดอ้างถึงความยากลำบากในการทำปทานุกรมนี้ โดยต้องส่งต้นฉบับเล็ดลอดการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ด้วยอุบายต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่งงงวยกันมาก แต่เมื่อเป็นความโง่ของเขาเองที่ไม่สามารถจับร่องรอยของเราได้ เขาก็จำใจต้องเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เสีย และกล่าวต่อไปในจดหมายนั้นว่าเจ้าหน้าที่เพียงแต่คอยเพ่งเล็งว่ามีข้อความเสียดสีเขาบ้างหรือเปล่า เรารู้ตัวอยู่จึงระวังไว้ แม้จะเสียดสีบ้างก็พอหอมปากหอมคอ ในตอนท้ายข้าพเจ้ากล่าวว่าข้าพเจ้ากระหายที่จะมีโอกาสรับใช้ เมื่อข้าพเจ้าออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้แล้ว โอกาสที่เอาตัวออกรองฉลองบาทก็คงมีมาบ้าง

ข้อความเหล่านี้มีผู้ขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดินสอแดง

ข้าพเจ้าตกใจที่ได้พบปัญหานี้โดยกะทันหัน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องค้นคว้าหาความจริงในใจของตนเองก่อนว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงเขียนข้อความเหล่านั้น มันเป็นข้อความสบประมาทเจ้าพนักงานว่าโง่และบกพร่องต่อหน้าที่ และมันเป็นความเพ้อเจ้อพูดนอกเรื่องในการกล่าวออกไปในทำนองว่าได้มีข้อความเสียดสีอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ในปทานุกรม

ข้าพเจ้าระลึกได้ว่า ได้เคยพบข้อความเสียดสีลัทธิเผด็จการและลัทธิคอมมิวนิสม์ในข่าวสารการเมืองที่พิมพ์ไว้ที่ใบปกปทานุกรม ข่าวนี้ สอ เสถบุตร ฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ โดยอาศัยเครื่องรับวิทยุเถื่อนของเขา ซึ่งได้ประดิษฐ์และดัดแปลงอย่างดีถึงขนาดแล้ว มันเป็นข่าวซึ่งหนังสือพิมพ์รายวันมิได้นำลง จึงเป็นข่าวแปลกและใหม่สำหรับผู้อ่านซึ่ง สอ เสถบุตร ตั้งใจให้เป็น “ของแถมพก” แก่ผู้ซื้อปทานุกรมของเขา

ส่วนการที่ข้าพเจ้ากล่าวตำหนิเจ้าหน้าที่เรือนจำนั้น เป็นโดยอารมณ์ของข้าพเจ้าที่จะโอ้อวดตนและพวกพ้องของตน แต่มันเป็นความจริงตามความรู้สึกในใจ ชั่วแต่จะกล่าวออกมาหรือปิดบังไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นบุคคล หรือส่วนรวมเห็นว่าข้าพเจ้าผิดด้วยศีลธรรมในการกล่าวคำนินทาซึ่งไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย ข้าพเจ้าก็เต็มใจจะขอโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าเต็มใจจะขอโทษขุนศรีศรากรซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าขุนศรีศรากรไม่อยู่ในเกณฑ์ที่คนขนาดข้าพเจ้าจะติเตียนว่าโง่ นอกจากนั้นเราสามารถลอบส่งสิ่งของต้องห้ามส่วนมากออกมาได้ก็ด้วยความผ่อนผันของขุนศรีศรากรในการกักขังควบคุมเรา ถ้าปราศจากความเอื้อเฟื้อของขุนศรีศรากรแล้ว แม้เราจะยังใช้อุบายตบตาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้คุมได้ก็คงด้วยความลำบากมากกว่านี้เป็นอันมาก

บันทึกของขุนศรีศรากร

เมื่ออ่านจดหมายจบแล้วก็เตรียมจะส่งคืน แต่ผู้สอบสวนยังหันไปพูดกับเสมียนซึ่งจะมีหน้าที่จดคำให้การ ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสพลิกดูด้านหลังของจดหมาย เพื่ออาจพบข้อความใดๆ ที่มีผู้เขียนเพื่อเพิ่มเติมไว้ ความคาดคะเนนี้ไม่ผิด ข้าพเจ้าได้พบคำบันทึกของขุนศรีศรากร มันเป็นลายมือของท่านซึ่งข้าพเจ้าจำได้ ดวงตาของข้าพเจ้าน่าจะโพลงขึ้นด้วยความสนใจ บันทึกนั้นเข้าใจว่าเป็นความเห็นที่เสนอต่อผู้บังคับบัญชาของท่าน ความคล้ายดังนี้ “ม.ร.ว.นิมิตรฯ ผู้นี้ ได้เคยทำความผิดฐานกบฏต้องโทษ ๙ ปี เพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเร็วๆ นี้เอง เมื่อปรากฏว่ายังไม่เข็ดหลาบดังนี้ สมควรจะส่งกลับไปเรือนจำตามเดิม แต่สงสัยว่าจะทำได้หรือไม่ จึงเรียนหารือมา--”

ความรู้สึกเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าสองประการ ข้าพเจ้าน้อยใจว่าขุนศรีศรากรด่วนตัดสินเร็วเกินไปว่าข้าพเจ้าไม่เข็ดหลาบ ซึ่งหมายความว่ายังพยายามคิดร้ายต่อรัฐบาลอยู่ และข้าพเจ้าเกรงว่าหมดโอกาสเสียแล้วที่จะทำให้ขุนศรีศรากรเชื่อถือว่าข้าพเจ้ามีความเคารพขุนศรีศรากรเป็นส่วนตัว คำกล่าวของข้าพเจ้าในทางติเตียนดูถูกเจ้าพนักงานนั้น จะตั้งใจมุ่งหมายถึงท่านด้วยหามิได้ แต่อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าดีใจที่ได้พบหลักฐานปรากฏกับตาว่า การนำตัวข้าพเจ้ากลับเข้าคุกโดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีในศาลอีกครั้งหนึ่งนั้นจะกระทำหาได้ไม่ ถ้าสามารถกระทำได้ ก็คงไม่ต้องมาสอบสวนเป็นคดีใหม่ให้เสียเวลา เพียงแต่สั่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำมานำตัวไปเท่านั้นก็จะเป็นง่ายและเงียบดี ขุนศรีศรากรต้องการส่งตัวข้าพเจ้ากลับไปเข้าคุก แต่สงสัยว่าจะขัดกับพระราชกฤษฎีกาซึ่งพระ ราชทานอภัยไว้แล้ว ผู้บังคับบัญชาของขุนศรีศรากรคงยืนยันความขัดข้องดังกล่าวนี้ ฉะนั้นถ้าจะเอาข้าพเจ้าเข้าคุกให้ได้ ก็จะต้องค้นหาให้ปรากฏออกมาว่า หลังจากรับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ข้าพเจ้าได้กระทำความผิดฐานกบฏขึ้นอีก

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการค้นหาความผิดฐานกบฏของข้าพเจ้าจะไม่มีวันได้พบเลย ไม่มีใครในโลกนี้จะพบสิ่งซึ่งความจริงมิได้มีอยู่

สายตาข้าพเจ้ายังอยู่ที่บันทึกของขุนศรีศรากร พอนายพันตำรวจผู้สอบสวนหันหน้ามาพบข้าพเจ้ากำลังอ่านอยู่เช่นนั้น คิ้วก็ขมวดเข้าหากัน รีบเอื้อมมือมารับเอาจดหมายคืนไป

คำให้การ

เสมียนเตรียมกระดาษและปากกาไว้พร้อมแล้ว เพื่อจะจดคำให้การ ข้าพเจ้ายืดอกขึ้นสูดลมหายใจ ข้าพเจ้าพร้อมแล้วเหมือนกันที่จะตอบคำถามทุกข้อ

“จดหมายที่ให้ดูเมื่อตะกี้เป็นของคุณเขียนถึงพระองค์เจ้าหญิงศิริรัตน์บุษบง พระธิดากรมพระนครสวรรค์ฯ ใช่หรือไม่?” ผู้สอบสวนถาม ข้าพเจ้ารับว่าใช่

“รับง่ายๆ อย่างนี้ดี ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ลายมือ” เขาพูดต่อไป “เอ้า, คุณจะบอกได้ไหมว่า ข้อความที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้นหมายความว่ากระไร?”

ข้าพเจ้า - ผมคิดว่าเป็นข้อความที่ชัดเจนอยู่แล้ว ผมหมายความตามที่พูดนั้นโดยไม่มีเลศนัยอย่างใดเลย

ผู้สอบสวน - มิได้ ผมอยากให้คุณชี้แจงความหมายโดยละเอียด

ข้าพเจ้า - ผมพูดละเอียดกว่านี้อีกไม่ได้แล้ว

ผู้สอบสวน (มองดูหน้าข้าพเจ้า) – นี่คุณจะไม่ยอมชี้แจงหรือ?

ข้าพเจ้า – ผมเต็มใจชี้แจงในข้อที่ผมสามารถชี้แจงได้

ผู้สอบสวน - “ดีละ ผมจะถามคุณเป็นข้อๆ” เขามองดูในจดหมาย และเริ่มถามต่อไปว่า “ที่ว่าใช้อุบายร้อยแปด ส่งต้นฉบับหนังสือนี้ออกมาพิมพ์โดยไม่ถูกตรวจเลย อุบายมีอย่างไรบ้าง?”

ข้าพเจ้ายิ้ม “คุณครับ นั่นต้องขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ต้องค้นหาเอาเองว่า เราใช้อุบายอย่างไรบ้าง?”

ผู้สอบสวน - คุณว่าเจ้าหน้าที่โง่ คุณฉลาดกว่าเขางั้นหรือ?

ข้าพเจ้า - เปล่าครับ ผมก็โง่เหมือนกัน

ผู้สอบสวน – แล้วทำไมคุณไปว่าเจ้าหน้าที่โง่ล่ะ?

ข้าพเจ้า - คนทุกคนมีความโง่อยู่ไม่มากก็น้อย ผู้ที่ไม่มีความโง่เลย คือพระศาสดา

ผู้สอบสวน – ปทานุกรมนั้นมีข้อความเสียดสีด้วยหรือ?

ข้าพเจ้า – ผมนึกว่ามี

ผู้สอบสวน – ข้อความนั้นเสียดสีใคร?

ข้าพเจ้า – เสียดสีใครก็ไม่ทราบ

ผู้สอบสวน - คำว่า “เขา” นั้นหมายถึงใคร?

ข้าพเจ้า – หมายถึงผู้ถูกเสียดสี

ผู้สอบสวน – ก็ใครเล่าที่ถูกเสียดสี?

ข้าพเจ้า – ผมเรียนแล้วว่าไม่ทราบ

ผู้สอบสวน - ถ้าไม่ทราบว่าเสียดสีใครแล้ว ทำไมจึงรู้ว่าเป็นคำเสียดสี?

ข้าพเจ้า - ผมเรียนแล้วว่าไม่ใช่รู้แน่ ผมนึกเอาเองเท่านั้น

ผู้สอบสวน - แล้วกัน คุณพูด “รวน” จริง ก็ข้อที่นึกว่าเป็นคำเสียดสีนั้นมีว่าอย่างไรล่ะ?

ข้าพเจ้า – ผมนึกไม่ออก

ผู้สอบสวน – ลองพยายามนึกซิ

ข้าพเจ้า – ได้พยายามแล้วก็นึกไม่ออก

ผู้สอบสวน – คุณยังไม่ได้ใช้ความพยายามเลย

ข้าพเจ้า - ผมได้พยายามนึกตั้งแต่คุณให้ดูจดหมาย และเดี๋ยวนี้ก็ยังพยายามอยู่ แต่ถ้าจะไม่สำเร็จ

ผู้สอบสวน - ให้เอาปทานุกรมมาให้ดู จะพลิกให้ผมดูได้ไหมว่าตรงไหนที่เป็นคำเสียดสี

ข้าพเจ้า - เห็นว่าเสียเวลาเปล่า ปทานุกรมนั้นเล่มใหญ่มาก

ผู้สอบสวน – ปทานุกรมจะมีคำเสียดสีอย่างไรได้?

ข้าพเจ้า – ก็นั่นน่ะซีครับ

ผู้สอบสวน - เรื่องมีว่าคุณไม่ยอมบอกความจริง

ข้าพเจ้านิ่ง เขายิ้ม มองสบตาข้าพเจ้าแล้วโคลงศีรษะ ขณะนั้นนายร้อยตำรวจเอกที่นั่งฟัง ก็ลุกจากโต๊ะเดินมาอยู่หลังเก้าอี้ของข้าพเจ้า

“คุณควรบอกความจริงว่า” นายร้อยตำรวจเอกพูด “คุณอย่านึกว่าพวกเราโง่ เราอาจรู้ได้เหมือนกันว่าข้อความเสียดสีนั้นอยู่ที่ไหนและว่าอย่างไร? ถ้าคุณไม่บอก--”

นายร้อยโทคนหนึ่งเดินเข้ามาและสอดขึ้น “บอกความจริงดีกว่าครับ หม่อมจำผมได้ไหม? ผมรู้จักหม่อมดี เคยเป็นนักเรียนมาด้วยกัน ถ้าคุณบอกความจริง--”

นายสิบโท, นายสิบเอก, นายร้อยตรี และใครต่อใครรวมสี่ห้าคนกำลังนึกสนุกที่จะพูด และรุมเข้าพูดกับข้าพเจ้าพร้อมๆ กันจนฟังไม่ได้ศัพท์

“เฮ้ย! ไอ้พวกนี้ยุ่งใหญ่” ผู้ไต่สวนกล่าวขึ้น “ไม่ใช่ธุระของพวกแก ถอยไปให้หมด”

ทุกๆ คนถอยไป เว้นแต่นายร้อยตำรวจเอก “หม่อมไม่ควรทำพิรุธ การที่ปิดบังนั้นแสดงพิรุธ คดีของหม่อมเองนั้นไม่มีอะไรเลย นับว่าเบามาก แต่ระวัง อย่าคิดช่วยคนอื่น เป็นภัยแก่ตัวเราเปล่าๆ”

ข้าพเจ้านิ่ง

“ตาบ้า” ผู้ไต่สวนกล่าวกับนายร้อยตำรวจเอก “แกอย่าพล่ามไปเลย หม่อมนิมิตรนี่ไม่ใช่เล่น อย่างแกน่ะไม่พอกับเขาหรอก”

นายร้อยตำรวจเอกกลับไปนั่งตามเดิม

ผู้สอบสวน (อ่านจดหมาย) เมื่อเกล้าฯ ออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระดังนี้แล้ว โอกาสที่จะเอาตัวออกรองฉลองบาทก็คงมีบ้าง ตรงนี้คุณหมายถึงโอกาสอย่างไร?

ข้าพเจ้า – ผมยังไม่ทราบว่าโอกาสอะไรจะเกิดขึ้นที่จะทำให้ผมได้รับใช้ท่าน

ผู้สอบสวน - คุณหมายถึงโอกาสในการคิดแก้แค้นรัฐบาลใช่ไหมล่ะ? พูดกันอย่างลูกผู้ชายทีเถิดน่ะ

ข้าพเจ้า - ขอประทานโทษ คำว่าโอกาสนี้คือโอกาสที่จะรับใช้การงาน ไม่ใช่โอกาสในการกบฏ

ผู้สอบสวน – ก็รับใช้การงานในทางกบฏอย่างไรล่ะ

ข้าพเจ้า - ผมไม่เคยทราบว่าพระองค์หญิงอยากให้เกิดกบฏอีก ผมก็ไม่อยาก คงไม่มีใครอยากเห็นบ้านเมืองจลาจล

ผู้สอบสวน – คุณเคยกบฏมาแล้ว

ข้าพเจ้า - ผมถูกตัดสินว่าเป็นเช่นนั้น แต่น้ำใจจริงผมเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ผู้สอบสวน – คุณคงคิดโกรธแค้นบ้างเป็นแน่

ข้าพเจ้า – เมื่อยังอยู่ในคุกนั้นเป็นบ้าง

ผู้สอบสวน - พอแล้วสำหรับจดหมายฉบับนี้ แต่เรายังมีเรื่องอื่นจะพูดกันอีก

แล้วเขาหันไปหากองสมุดซึ่งตั้งซ้อนทางซ้ายมือของเขา และหยิบสมุดจากกองนั้นมาหนึ่งเล่ม

บุญทำกรรมแต่งและวันนี้

เขาอ่านที่หน้าปก “บุญทำกรรมแต่ง” เป็นเรื่องราวแห่งชีวิตของนักโทษการเมืองคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว กับความพยายามยืดอำนาจการปกครองของพวกคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ “ก็เดี๋ยวนี้เพิ่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เท่านั้น “นี่หมายความว่าคุณรู้มาว่าพวกคอมมิวนิสต์จะยึดอำนาจการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๘๒ งั้นหรือ?”

ข้าพเจ้า - เรื่องที่เขียนนี้เป็นเพียงนิยาย เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น

ผู้สอบสวน - แล้วที่คุณว่าเป็นเรื่องราวแห่งชีวิตของนักโทษการเมืองคนหนึ่งนั้น ก็เป็นเรื่องสมมุติเหมือนกันหรือ?

ข้าพเจ้า – สมมุติทั้งสิ้น

ผู้สอบสวน – ในการเขียนนิยายก็ต้องอาศัยความจริงประกอบด้วยไม่ใช่หรือ?

ข้าพเจ้า - ถูกแล้วครับ แต่ความจริงเหล่านั้นย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าไม่มีหลักฐานยืนยัน และผู้อ่านนิยายที่เขียนดีจะแยกไม่ออกว่าเพียงไหนเป็นความจริงและเพียงไหนเป็นการสมมุติ

ผู้สอบสวน - แปลว่า ในเรื่องนี้คุณก็รับว่ามีความจริงอยู่บ้างใช่ไหม?

ข้าพเจ้า – ใช่ครับ

ผู้สอบสวน - ผมเองก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือของคุณ แต่ผู้ใหญ่ท่านเอาไปอ่านแล้ว ท่านว่าคุณเขียนระวังตัวดีมาก พูดๆ ไปพอจวนจะเป็นผิดละก็หยุด แล้วก็พูดไปอีก พอจวนจะเป็นผิดทีไรก็หยุดทุกทีและสนุกดีเสียด้วย

ข้าพเจ้า - ความเห็นเช่นนี้บางทีจะเนื่องจากแง่ที่มอง ถ้าคุณอ่านเองหรือผู้อื่นอ่าน อาจจะเป็นว่าเป็นเรื่องสนับสนุนรัฐบาลก็ได้

ผู้สอบสวน – คุณได้ให้ใครอ่านบ้างหรือเปล่า

ข้าพเจ้า – เปล่า

ผู้สอบสวน - จริงๆ หรือ?

ข้าพเจ้า - ใครจะอ่านบ้างผมไม่ทราบ

ผู้ไต่สวนหยิบสมุดขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง “นี่คือเรื่อง ‘วันนี้’ เป็นเรื่องของคุณอีกเหมือนกัน ช่างขยันเขียนเสียจริงๆ ผมก็ยังไม่ได้อ่าน เรื่องนิยายเหมือนกันหรือ?”

ข้าพเจ้า – เป็นบันทึกประจำวัน

ผู้สอบสวน – บันทึกอะไรบ้าง?

ข้าพเจ้า – บันทึกเรื่องในคุก

ผู้สอบสวน - ตาขีดแกไปเก็บเอามาหมด ไม่ว่าเรื่องขี้หมูขี้หมาอะไร แกนึกว่าเรายังมีงานน้อยไปหรือยังไงก็ไม่รู้

เขาหยิบสมุดขึ้นมาพลิกๆ อย่างเสียไม่ได้ พอพลิกไปถึงแผ่นที่สาม ดวงตาของเขาก็พลุ่งโพล่งขึ้น แสดงว่าเขาได้พบข้อความสำคัญอันน่าสนใจแล้ว เขาอ่านข้อความนั้นดังๆ “คนพวกนี้ไม่มีความผิดร้ายอะไร นอกจากเป็นพวกที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล และความเห็นของฝ่ายใดจะถูกต้องกว่ากันนั้นเป็นเรื่องที่พระปกเกล้าฯ ซึ่งเป็นประมุขของชาติเป็นผู้ชี้ขาดว่า รัฐบาลนั้นแหละเป็นฝ่ายผิด รัฐบาลนั่นแหละโกง เห็นแก่ตัวเองมากกว่าเห็นแก่ชาติ ประชาธิปไตยทุกวันนี้เป็นของเก๊หลอกลวง คำว่ากบฏในสมัยนี้ไม่ใช่หมายถึงคนอธรรม แต่หมายถึงคนรักสัตย์รักธรรมต่างหาก”

เขาวางสมุด “นี่อะไรกัน บันทึกนี้มีข้อความอย่างนี้ตลอดไปหรือ?”

ข้าพเจ้า - มีเฉพาะตรงนี้เท่านั้น ตอนอื่นเป็นเรื่องกิจการที่ผมกระทำในคุกโดยไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

ผู้สอบสวน – ทำไมคุณจึงติเตียนรัฐบาลเช่นนี้เล่า?

ข้าพเจ้า - ผมก็ได้รับสารภาพแล้วว่าเมื่ออยู่ในคุกนั้นผมก็มีความโกรธแค้นรัฐบาลอยู่บ้าง ข้อนี้นายกรัฐมนตรีและหลวงชำนาญฯ ท่านย่อมทราบดี

ผู้สอบสวน – บันทึกนี้เขียนไว้ทำไม?

ข้าพเจ้า - สำหรับเตือนความทรงจำของตน

ผู้สอบสวน – มีคนเอาไปอ่านบ้างหรือเปล่า?

ข้าพเจ้า - เห็นจะไม่มี ตามธรรมดาคนเขียนบันทึกก็ต้องเขียนเพื่อตัวอ่านเองคนเดียว

ผู้สอบสวน - ดูก็ไม่สู้มีประโยชน์อะไรที่จะเขียนด่ารัฐบาล สำหรับอ่านของตัวเองคนเดียว หรือเพื่อกระหยิ่มใจ? มันชื่นใจดีงั้นหรือ?

ข้าพเจ้า - ก็อาจจะจริง ในเวลาที่เราโกรธแค้นนั้น เราต้องทำอะไรลงไปสักอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ บางทีเอามือทุบโต๊ะแล้วก็เจ็บมือตนเอง แต่โล่งใจ

เขาหัวเราะชอบใจในคำพูดของข้าพเจ้า เมื่อได้สอบถามข้อความอื่นอีกเล็กน้อยแล้ว เขาก็เรียกบันทึกคำให้การของข้าพเจ้าที่เสมียนคอยจดไว้นั้น มาตรวจดูแล้วให้ข้าพเจ้าอ่านทวน แล้วข้าพเจ้าก็ลงนามรับรองว่าถูกต้อง

ฟ้องศาล

ข้าพเจ้ากลับมาถึงห้องขังด้วยใจคอมิได้เบิกบานนัก ความหวังที่เคยมีอยู่ว่าเมื่อเสร็จสอบสวนแล้วก็จะได้ปล่อยตัวนั้น บัดนี้ดูมืดมัวเต็มที ข้าพเจ้าแน่ใจว่าตำรวจสันติบาลผู้มีหน้าที่สอบสวนและนำคดีขึ้นสู่ศาลแต่ละคนปราศจากความหวังดีต่อข้าพเจ้า เป็นการง่ายที่เขาจะออกความเห็นว่าคดีของข้าพเจ้ามีมูล เขาอาจพยายามทุกทางที่จะส่งตัวกลับเข้าแดนหก ส่วนการที่ศาลจะเห็นว่าผิดจริงหรือไม่นั้น ก็สุดแต่ศาลจะวินิจฉัย

ข้าพเจ้ายังมีหวังอยู่บ้าง ก็แต่ที่จะอาศัยดุลพินิจและความยุติธรรมของศาลเท่านั้น

ถ้าหากคดีของข้าพเจ้าขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ข้าพเจ้าจะมีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่ ข้าพเจ้าจะมีทนายสำหรับว่าความแทนตัว และทนายนั้นจะเตรียมข้อต่อสู้ให้แก่ข้าพเจ้า พร้อมด้วยพยานหลักฐานทุกประการ และประชาชนก็จะเข้าฟังการพิจารณาคดีในศาลได้ หนังสือพิมพ์ก็สามารถนำเรื่องราวการพิจารณาไปลงพิมพ์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พิพากษาระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจของตน และเท่าที่เป็นมาแล้ว ไม่เคยปรากฏว่าผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมต้องนำคำพิพากษาเสนอวังปารุสฯ เพื่อรับคำชี้ขาด

ข่าวที่เล่าลือว่า ศาลพิเศษรับคำชี้ขาดจากวังปารุสฯ นั้นเป็นข้อน่าตกใจ สำหรับจำเลยที่ปรากฏความเป็นอริกับรัฐบาล หรือผู้มีอิทธิพลในคณะรัฐบาลมาแล้ว ในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยถูกลงโทษฐานกบฏนั้น น่าจะไม่ได้รับความเห็นใจจากรัฐบาล แต่ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้น้อย รัฐบาลคงไม่อยากเสียความยุติธรรม เพียงเพื่อทำลายบุคคลขนาดข้าพเจ้า

เมื่อพิจารณาจากคดีของตนเองปี ๒๔๗๖ นั้นก็ต้องเห็นได้ว่าอย่างน้อยก็มีผู้พิพากษาหนึ่งนายที่เห็นว่าควรยกฟ้องของโจทก์เสีย แต่การที่ข้าพเจ้าถูกลงโทษ ก็อาจจะเป็นด้วยผู้พิพากษาคนอื่นเห็นว่าควรมีความผิด ซึ่งอาจเป็นโดยลำเอียงหรือปองร้าย หรืออยากได้ความชอบ และโดยไม่ได้นึกถึงแง่กฎหมายเลย เพราะว่าผู้พิพากษาศาลพิเศษประมาณถึงจำนวนเป็นนายทหารประจำการ ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยเรียนกฎหมายจากสำนักใด นอกจากเท่าที่สอนในโรงเรียนนายร้อย นายทหารเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่ในวงการบริหาร หรือเป็นคนโปรดปรานของหลวงพิบูลฯ ซึ่งน่าจะถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะกำจัดศัตรูของรัฐบาล โดยไม่ยอมให้อำนาจอื่นมาขัดขวาง นี้เป็นวิธีการอย่างเดียวกับในสภาผู้แทนซึ่งมีสมาชิกประเภทสองถึงจำนวนสำหรับเป็น “พรรครัฐบาล” คำสั่งจากวังปารุสฯ นั้น ถ้าหากมีจริงก็ไม่จำเป็นต้องสั่งด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร เพียงแต่พยักหน้าหรือมองตากันเท่านั้นก็ได้ความ

ถ้าจะขึ้นศาลอีกในครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามทำตนให้เรียบร้อยที่สุด ข้าพเจ้าจะพยายามให้ศาลเห็นใจเอ็นดู และให้อัยการเกิดความกรุณา หนทางที่จะรอดตัวได้ก็มีอยู่ทางนี้ทางเดียว

หลังจากวันที่ข้าพเจ้าไปรับการสอบสวนมาแล้วราว ๒๐ วัน ตำรวจสันติบาลก็มาเชิญเสด็จกรมขุนชัยนาทฯ ไปลหุโทษ ทรงแสดงอาการละห้อย ละเหี่ยพระทัยที่ผิดหวัง ข้าพเจ้าแน่ใจแล้ว ณ บัดนี้ว่า เมื่อตำรวจยื่นฟ้องกรมขุนชัยนาทฯ ดังนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีหวังเลยว่าจะไม่ต้องขึ้นศาลพิเศษอีกรอบหนึ่ง

ต่อมาอีก ๓ วัน ข้าพเจ้าก็ได้รับคำฟ้องของโจทก์ ความว่าข้าพเจ้าได้สมคบกับพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ พระยาสุเทพภักดี พระวุฒิภาคภักดี พระสิทธิเรืองเดชพล จ่านายสิบตำรวจแม้น เลิศนาวี ร.อ.หลวงประจันสิทธิการ และนายโชติ คุ้มพันธุ์ ในการกล่าวชักชวนผู้คนตระเตรียมสะสมกำลังคิดประทุษร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล และข้าพเจ้าได้เขียนบทประพันธ์กับสนับสนุนส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสต์และเขียนบทประพันธ์ กับกล่าววาจาติเตียนรัฐบาล ได้กระทำการเหล่านี้ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (คือระหว่างเวลาตั้งแต่รับพระราชทานอภัยโทษมาจนถึงวันถูกจับ) โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๐๑, ๑๐๒, ๑๐๔, (ที่แก้ไปแล้ว) ๒๔๙, ๒๕๐, ๖๐, ๖๓, ๖๔, ๖๕ และเฉพาะตัวข้าพเจ้านั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๔ อีกด้วย กับขอให้เพิ่มโทษข้าพเจ้าตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๗๓ ฐานเป็นผู้ไม่เข็ดหลาบ

ในวันที่ได้รับคำฟ้องของโจทก์นั้น ตำรวจสันติบาลก็นำข้าพเจ้าตามเสด็จกรมขุนชัยนาทฯ ไปสู่กองเรือนจำลหุโทษ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ