บทที่ ๗

ลหุโทษ

ข้าพเจ้ามาถึงลหุโทษในเวลาค่ำ พอเห็นห้องขังเข้ารู้สึกท้อใจ ห้องขังที่โรงพักพระราชวังว่าเล็กแล้ว ห้องขังที่ลหุโทษยังเล็กกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบางขวาง ห้องขังในแดนหกก็ราวกับห้องในบ้าน แต่ที่นี่เป็นห้องขังในคุกจริงๆ

แต่การที่ได้พบสหายที่รู้จักคุ้นเคยกันมาทำให้ใจชุ่มชื่นขึ้น ในไม่ช้าขุนคลี่พลพฤณท์ร้องทักมาจากในห้องของเขา ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเสียง “ร้องทัก” มาแล้ว ๓ เดือน แม้สถานที่จะเลวกว่าสถานีตำรวจ แต่ที่นี่มีอิสรภาพในการพูด ซึ่งนับว่าประเสริฐหนักหนา ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกตัวว่าข้าพเจ้าก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ นับแต่เวลาที่ได้คุยกับเพื่อนในนาทีแรก

ผู้ต้องหาที่ถูกส่งมาลหุโทษก่อนข้าพเจ้ามีประมาณ ๔๐ นาย รวมทั้งกรมขุนชัยนาทฯ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ พระสิทธิเรืองเดชพล และ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ข้าพเจ้าอยากพบพระสิทธิฯ ด้วยเคยรักใคร่นับถือท่านมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนนายร้อย และท่านเป็นผู้บังคับบัญชาการ ในจำนวนผู้ที่เคยบังคับบัญชาข้าพเจ้ามาแล้ว จะหาใครมีลักษณะเหมาะสมจะเป็นแม่ทัพยิ่งกว่าพระสิทธิฯ ไม่มีเลย รูปร่างสูง งามด้วยส่วนสัด มีสง่าน่าเกรงขาม สายตาแข็ง และมองตรงไปตรงมา เสียงดังสนั่น ความรู้ดี เด็ดขาด ใจแข็ง แต่มีความเมตตากรุณา ข้าพเจ้าเคยรู้สึกทั้งเกลียดและนับถือ ทั้งกลัวและทั้งนิยม แต่เมื่อต้องหาเป็นกบฏด้วยกันเช่นนี้ ความเกลียดและกลัวหายไป คงเหลือแต่ความนิยมนับถือ ข้าพเจ้าถามขุนคลี่ฯ ว่าพระสิทธิฯ ถูกขังอยู่ห้องไหน และอะโห! ท่านร้องขานมาจากห้องที่อยู่ชิดกับข้าพเจ้านั่นเอง

“ผู้บังคับการครับ” ข้าพเจ้าพูด “เขาฟ้องว่าผมสมคบกับผู้บังคับการนะครับ ทราบแล้วหรือยัง”

“รู้แล้ว ก็อั๊วไม่เคยเห็นหน้าลื้อมาตั้ง ๒๐ ปีแล้ว จะไปสมคบกับลื้อยังไง?”

เราคุยกันต่อไปถึงคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งเคลือบคลุมจนเราไม่สามารถจะเตรียมพยานหลักฐานไว้แก้ข้อหาของโจทก์ได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคำฟ้องที่ศาลจึงจะรับไว้นั้น จะต้องปรากฏวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิด มิฉะนั้นจะไม่เป็นความยุติธรรมแก่จำเลย เพราะโจทก์สามารถจะตระเตรียมพยานมายืนยันได้ฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่รู้จะตระเตรียมอย่างไรถูก ตามคำฟ้องในคดีของพระสิทธิฯ นี้ โจทก์อ้างว่าการกระทำความผิดของจำเลยนั้นได้กระทำ “ในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และต่อๆ มา” นี้ หมายความว่าจำเลยจะต้องเตรียมพร้อมจะยืนยันสถานที่และเวลาแห่งการกระทำกิจการทุกอย่างของตนตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ จนถึง ๒๗ ม.ค. ๒๔๘๑ รวม ๕ ปีเศษ ถ้าโจทก์นำพยานมาสืบว่าในวันหนึ่งคืนหนึ่งจำเลยไปนั่งคุยกับพยานอยู่ในร้านกาแฟ จำเลยก็จะต้องนึกได้ทันทีว่าในวันนั้นคืนนั้น จำเลยมิได้อยู่ในร้านกาแฟและนั่งคุยกับพยาน หากนอนหลับอยู่ที่บ้านโดยมีบุตรภรรยารู้เห็นดังนี้เป็นต้น

“เรื่องมันจะจับเราเข้าคุกอย่างมัดมือชกเท่านั้นเอง” ขุนคลี่ฯ กล่าวสรุปความ “ผมเองน่ะยอมละ ผมสารภาพในวันไต่สวนว่าผมคิดกบฏจริง แต่ไม่มีใครเห็นชอบด้วย เลยเลิกความคิด เขาถามผมว่าเกลียดหลวงพิบูลฯ ไหม ผมว่าผมไม่เกลียด แต่ไม่นับถือ และดูถูกด้วยว่าไม่มีความสามารถควรแก่ตำแหน่ง ผมนับถืออาจารย์ของผม (พระยาทรงสุรเดช) คนเดียว และอยากให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วผมถามผู้ที่สอบสวนว่า ตามคำให้การของผมเช่นนี้จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตไหม? เขาตอบว่าไม่ถึง อย่างน้อยก็คงได้ลดโทษฐานรับสารภาพความจริงกึ่งหนึ่ง คงเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิตหรือ ๒๐ ปี เท่านี้ผมก็พอใจแล้ว หลวงพิบูลฯ คงไม่อยู่ค้ำฟ้าไปได้ดอก ถ้าเขาตายเมื่อไรผมก็คงได้ออก จากคุก”

ผู้ที่ฟังอยู่นั้นเงียบสงบ เป็นความเข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าความเป็นอริมีอยู่ในระหว่างหลวงพิบูลฯ กับพระยาทรงสุรเดช ในสมัยที่มีเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน สภาพการณ์ก็ตึงเครียดขึ้นทุกที เสือหนุ่มซึ่งทวีกำลังแข็งแรงขึ้นได้เข้าสถิตแทนเสือแก่ และเสือแก่ยอมถอยหนีไปจากถ้ำ แต่เมื่อหนุ่มตามไปรุกรานและทำลายบริวารของเสือแก่ย่อยยับลง

ข้าพเจ้ากำลังคิดว่าถ้าหลวงพิบูลฯ พ้นจากอำนาจไป ใครล่ะจะขึ้นครองอำนาจแทน ผู้ปกครองประเทศควรจะต้องเป็นผู้นิยมธรรมยิ่งกว่าอำนาจ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นประชาธิปไตย จึงจะมีความอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกันหมด ข้าพเจ้านึกเชื่ออยู่บ้างว่าถ้าหลวงพิบูลฯ พ้นจากอำนาจพร้อมด้วยความเสื่อมเดชานุภาพ ก็เป็นโอกาสที่จะมีผู้จัดระบอบปกครองให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ และแล้วขุนคลี่ฯ ก็คงได้ออกจากคุกตั้งความหวัง แต่ข้าพเจ้ามิได้เฉลียวคิดว่าชีวิตของขุนคลี่ฯ นั่นแหละจะต้องสิ้นลงก่อนหลวงพิบูลฯ ด้วยการถูกยิงเป้าพร้อมกับพระสิทธิเรืองเดชพลและคนอื่นๆ รวม ๑๔ นาย

สาเหตุที่เกิดการจับกุมและถูกจับกุม

ขุนคลี่ฯ เป็นคนช่างพูด เมื่อรู้เรื่องของใครมาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะโพนทนาและมีวิธีเล่าปนตลกขบขัน ซึ่งทำให้มีผู้พอใจฟังจากขุนคลี่ฯ ข้าพเจ้าจึงได้ทราบคำของเจ้าคุณเทพฯ ที่ว่า “ลูกของผมมันไปทำอะไรเข้าบ้างก็ไม่รู้ ทำให้ผมพลอยเดือดร้อน” ส่วนนายผุดพันธ์และเผ่าพงษ์เมื่อถูกจับไปขังที่โรงพักก็ปรารภกันขึ้นว่า “เจ้าคุณพ่อไปทำอะไรเข้าอีกก็ไม่รู้ ทำให้เราต้องเข้าตะรางเปล่าๆ”

ในคืนแรกที่พบกัน เราคุยในเรื่องตลกขบขันอยู่จนดึก จนที่สุดพระสิทธิฯ ถือโอกาสในระหว่างที่ผู้คุมเดินลับตาไปกระซิบถามขุนคลี่ฯ ว่า “เรื่องอ้ายลี บุญตา ยิ่งหลวงพิบูลฯ นี่มันยังไงกันนะ อั๊วมืดแปดด้านทีเดียว”

“ผมก็มืดเหมือนกัน” ขุนคลี่ฯ ตอบ “ใครละจะไปรู้ได้นอกจากตัวของอ้ายลีเอง แล้วมันก็ไม่ยอมบอกใคร ถ้าใครไปถามมันก็สั่นหัวแล้วก็เดินหนี”

ขุนคลี่ฯ ไม่เชื่อว่ามีใครใช้หรือจ้างหรือวานให้ลี บุญตายิง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ขุนคลี่ฯ ก็คงได้รู้ระแคะระคายมาบ้าง อย่างไรก็ตามขุนคลี่ฯ ได้แสดงทฤษฎีของตนว่านายลียิงหลวงพิบูลฯ ด้วยสาเหตุส่วนตัว

ความสนใจของข้าพเจ้าไปจับอยู่ที่เรื่องการยิงหลวงพิบูลฯ ที่ท้องสนามหลวง ไม่มีปัญหาเลยว่าในครั้งนั้น ได้มีผู้ว่าจ้างให้นายพุ่มยิงด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ผู้จ้างคือใครหนอ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าพระยาธรณีนฤเบศร์เป็นตัวการ หรือแม้แต่เกี่ยวข้องในการจ้างยิงคราวนั้น โดยพิจารณาจากนิสัยของพระยาธรณีฯ ว่าไม่ใช่คนขลาดชนิดที่นิยมวิธีลอบทำร้าย ข้าพเจ้ารอให้มีผู้เอ่ยขึ้น แต่ไม่มีใครเอ่ย

การกักขังและควบคุมที่ลหุโทษ มิได้กวดขันเหมือนที่สถานีตำรวจ ในตอนนี้เรามีโอกาสออกไปเดินเล่นรอบๆ บริเวณหน้าตึกขัง วันละ ๑๕ นาที เราอาจเดินไปยืนอยู่ใต้หน้าต่างหลังบ้านของผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งมักจะมีคนหน้าตาแปลกๆ มาแอบมองดูเราอยู่ที่นั่น บางคราวมีสตรีสาว และผู้ที่เข้าใจว่าเป็นญาติของผู้บัญชาการเรือนจำ จึงทำให้เจ้าหนุ่มบุญมาก ผุดพันธ์ เผ่าพงษ์ และ ณ เณรกรายไปแถวนั้นบ่อยๆ ในจำนวนสตรีสาวที่มาแอบมองเรานี้มีคนหนึ่งที่ภายหลังไปปรากฏตัวเป็นพยานโจทก์ในคดี ณ เณร ชื่อนางเสงี่ยม ปลุกใจเสือ ซึ่งให้การว่าได้รับยาพิษของ ณ เณร ชู้รักของนางซึ่งมาขอร้องให้นางโปรยลงในอาหารของหลวงพิบูลฯ

ข้าพเจ้ายินดีในการเดินเวลาเช้า ก็เพื่อสนทนาและหารือกับบุคคลต่างๆ เกี่ยวกับการต่อสู้คดี ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าสมคบกับพระยาอุดมฯ พระยาสุเทพฯ พระวุฒิภาคฯ จ่าแม้น และ ดร.โชติ ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบปะบุคคลเหล่านี้มาก่อนเลย ฉะนั้นก็จำเป็นต้องทราบว่าหน้าตาของท่านเหล่านี้เป็นอย่างไร และจะต้องสืบสาวให้ได้ความว่ามีเหตุผลอย่างใดบ้างหรือไม่ที่ทำให้มีผู้เข้าใจว่าเราสมคบกันพยายามก่อการกบฏ

กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เกิดแก่คดีของข้าพเจ้าเท่านั้น จำเลยโดยทั่วไป (เว้นแต่คดีของผู้ที่เกี่ยว) โดยมากไม่เคยเห็นหน้าและเคยได้ยินชื่อกันเลย ทุกๆ คนต่างเล่าพฤติการณ์ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นกรณีที่ทำให้ถูกจับออกแลกเปลี่ยนสู่กัน เลยเกิดความเข้าใจกันขึ้นว่าการจับกุมการฟ้องร้องในคดีกบฏคราวนี้เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ

นับแต่ได้ฟังเรื่องราวจากกันและกัน และจากการสังเกตการณ์ในศาลพิเศษ ข้าพเจ้าก็ปลงใจเชื่อมาจนบัดนี้ว่า การที่นายลียิงหลวงพิบูลฯ นั้น พระสุรรณชิต มิได้จ้างหรือวานให้ทำ การวางยาหลวงพิบูลฯ ถ้าหากเป็นความจริง ณ เณรก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น และข้อความทั้งปวงที่กล่าวหากรมขุนชัยนาทฯ เป็นเรื่องปั้นขึ้นโดยไม่มีมูลความจริงเลย

ในโอกาสที่ภายหลังที่เข้าไปตีสนิทกับนายลี บุญตาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าถามนายลีว่า “ทำไมลื้อจึงยิงหลวงพิบูลฯ ล่ะ?” นายลีสั่นศีรษะแล้วก็เดินหนีไป เป็นกิริยาอย่างเดียวกับขุนคลี่ฯ เล่าไว้

เรื่องมันเห็นได้ตามภูมิปัญญาของข้าพเจ้าว่า การถูกยิงที่ท้องสนามหลวงและลอบวางยาพิษ (ถ้าเกิดขึ้นจริง) ได้ทำให้หลวงพิบูลฯ หวั่นหวาด “ภัยมืด” มากขึ้นจนสุดที่จะทนทานได้ จึงจำเป็นต้องจัดการลงไปที่จะเป็นทางประกันความปลอดภัยอย่างเพียงพอ เป็นหน้าที่ของเหล่าผู้จงรักภักดีต่อหลวงพิบูลฯ ที่จะช่วยกำจัดผู้คิดร้าย เป็นหน้าที่ของตำรวจสันติบาลที่จะสืบให้ทราบแหล่งของ “ภัยมืด” ให้จงได้ และทำลายเสีย ความสงสัยได้รวบรวมอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของพระยาทรงสุรเดช การคิดตั้งโรงเรียนรบขึ้นที่เชียงใหม่นั้นถูกสงสัยว่าเป็นแผนการของพระยาทรงฯ ที่จะยึดอำนาจการปกครอง พวกสหายและสานุศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช อาทิ พระสิทธิเรืองเดชพล หลวงชำนาญยุทธศิลป์ หลวงรณสิทธิพิชัย ขุนคลี่ฯ ฯลฯ เหล่านี้ถูกสงสัยว่าพยายามวิ่งเต้นรวบรวมพวกพ้อง และตลอดจนลอบฆ่าหลวงพิบูลฯ แต่พระยาทรงสุรเดชและพวกพ้องจะต้องได้เงินมาใช้สอยจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ความสงสัยจึงฉวัดเฉวียนไปทางพระราชวงศ์ชั้นสูง อาทิ พระปกเกล้าฯ และกรมพระนครสวรรค์ฯ แต่โดยที่ใครๆ ก็ทราบว่าระหว่างเวลาแห่งความตึงเครียดนั้น พระยาทรงฯ ไม่เคยมีโอกาสได้เฝ้าเจ้านายชั้นสูงเช่นที่ออกนามมาแล้ว แต่มีเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่โปรดเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในสยามและต่างประเทศ นั่นคือ กรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งมีโอกาสที่ใครๆ จะพบได้ง่าย ทั้งปรากฏด้วยว่า พระองค์เคยเสด็จประพาสเชียงใหม่ จึงน่าจะเป็นโอกาสให้พระยาทรงฯ ได้เข้าเฝ้า กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกสงสัยว่าได้ประทานอุปการะแก่การคิดกบฏของพระยาทรงฯ

เป็นเคราะห์กรรมของพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ถูกเข้าใจว่าร่ำรวยอย่างเหลือหลาย และถูกเข้าใจว่าพระองค์ต้องการจะได้อำนาจคืน

นอกจากพระยาทรงสุรเดชฯ ก็ยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางท่านที่ยังมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ และมีความกระด้างกระเดื่องต่อหลวงพิบูลฯ ท่านเหล่านี้ถูกสงสัยว่าอาจตั้งค่ายเป็นปรปักษ์ต่อหลวงพิบูลฯ ขึ้นก็เป็นได้

แต่สมมติว่า ถ้าปรากฏขึ้นอย่างขาวกระจ่างจากการพิจารณาของศาลพิเศษว่า เรื่องราวแห่งความสงสัยเหล่านี้ล้วนเหลวไหลไม่มีมูลทั้งสิ้น ดังนี้จะทำอย่างไร? ศาลจะกล่าวตัดสินลงโทษคนไม่มีความผิดเจียวหรือ? หลวงพิบูลฯ จะไม่ละอายใจบ้างหรือที่จะยืนยันให้ลงโทษผู้ซึ่งเพียง “อาจเป็นปรปักษ์” ของตน ในเมื่อรู้กันทั่วเมืองว่าเขาไม่ได้ทำความผิด

“การลอบยิงอย่างที่ท้องสนามหลวงเป็นการเล่นการเมืองอย่างสกปรก” เจ้าคุณเทพหัสดินกล่าวกับข้าพเจ้า “คนอย่างฉันทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด”

“ถ้าฉันเป็นคนเหิมเห่อต้องการอำนาจ ธุระอะไรเล่าฉันจึงจะไปเชิญพระปกเกล้าฯ มาเป็นกษัตริย์อีก” กรมขุนชัยนาทฯ ตรัสกับบุคคลหลายคนที่มาเฝ้า “คิดกบฏต่อหลานของฉันซึ่งฉันได้เลี้ยงดูมา เพื่อเอาราชสมบัติไปคืนให้พระปกเกล้าฯ ซึ่งทรงเบื่อหน่ายเพราะรักษาไว้ไม่ได้ จนต้องสละเช่นนี้น่ะเห็นเหมาะเห็นงามได้อย่างไร?” และโอกาสหนึ่ง ทรงตรัสด้วยความท้อถอยพระทัยว่า “ทำไมหนอรัฐบาลหลายรัฐบาลมาแล้ว จึงไม่ยอมที่จะเข้าใจเลยว่า ฉันไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องอำนาจวาสนา ฉันต้องการอยู่ตามลำพังอย่างคนสามัญทั้งหลาย”

“ผมเป็นหมอ” นายถนอม โภชน์พันธุ์ กล่าว “เมื่อเลิกงานแล้วก็กินเหล้ากับผู้หญิง แล้วก็นอน ไม่เคยเอาใจใส่เรื่องการบ้านการเมืองกับเขาเลย จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้ว่าทำไมจึงถูกจับ”

แทบทุกคนมีเรื่องของตนที่จะร้องอุทธรณ์ว่าไม่ควรถูกจับ นอกจากข้าพเจ้า ซึ่งบัดนี้ไม่ติดใจสงสัยในเหตุผลที่ตนถูกจับอีกแล้ว และมีอีกบางคนที่ข้าพเจ้าเห็นว่าอยู่ในฐานะเป็นนักการเมือง เช่นหลวงชำนาญฯ ผู้ซึ่งชอบฟังเรื่องของคนอื่น แต่ไม่ขยายเรื่องตน ขุนคลี่ฯ ซึ่งขยายเรื่องของตนมากเกินไป ดร. โชติ ซึ่งกล่าวว่า “นับตั้งแต่ผมสมัครเข้ามาเล่นการเมืองก็นึกอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งอาจต้องติดตะราง” และพระสิทธิฯ ผู้ซึ่งกล่าวแต่เพียงว่า “เขาเอาอั๊วมาไว้เป็นตัวแทนของพระยาทรงฯ”

เรื่องราวของพระสิทธิเรืองเดชพล

แม้จะเชื่อกันว่าศาลน่าจะสั่งยกฟ้องคดีทั้งหมดนอกจากคดีของขุนคลี่ฯ แต่ทุกคนก็ต้องเตรียมตัวไว้สู้คดีเท่าที่จะสามารถทำได้ บังเอิญในจำนวนพวกเราไม่มีใครเป็นเนติบัณฑิต หรือทนายความเลยสักคนเดียว เมื่อไม่มีดาบก็ต้องใช้พร้า บุคคลสี่คนจึงถูกสมมุติเป็นทนายความคือ ดร.โชติ พระราชญาติรักษา พระวุฒิภาคฯ และข้าพเจ้า ดร.โชติเคยเรียนกฎหมายจากเยอรมัน พระวุฒิภาคฯ และพระราชญาติรักษาเคยเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ส่วนข้าพเจ้าเป็นผู้คุ้นเคยกับวิธีการของศาลพิเศษ โดยฐานะ “ทนายความจำเป็น” เช่นนี้ ทำให้ความเป็นมิตรอันสนิทเกิดขึ้นระหว่างพระสิทธิฯ กับข้าพเจ้า พระสิทธิฯ สัญญาว่าพฤติการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีกบฏจะบอกข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่อำพราง

“คุณไม่รู้เรื่องที่หลวงพิบูลฯ จะยิงผมที่สนามรบทุ่งบางเขนดอกหรือ?” พระสิทธิฯ ถาม “งั้นผมจะเล่าให้ฟัง ระหว่างเกิดกบฏนั้นผมได้รับมอบหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนคร ต่อมาพระยาพหลฯ สั่งให้ผมไปช่วยหลวงพิบูลฯ ในแนวหน้า เพราะหลวงพิบูลฯ ต้องการผู้ใหญ่ไปเป็นที่ปรึกษา เมื่อผมไปรายงานตนเองต่อหลวงพิบูลฯ แล้ว ผมก็ได้รับมอบอำนาจจากหลวงพิบูลฯ ให้สั่งการงานได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรอรับอนุมัติก่อน ผมจึงตรวจดูแผนการวางกำลัง เห็นว่ายังไม่มีหน่วยสำหรับระวังรักษาปีก และเป็นความจำเป็นจะต้องจัดขึ้นโดยเร็ว จึงสั่งให้ถอนทหารจากแนวหลังส่วนหนึ่งขึ้นมาระวังรักษาปีก ก่อนที่ทหารจะมาถึงตามคำสั่งของผมนั้น ฝ่ายกบฏได้ปล่อยรถไฟมาชนรถบรรทุก ป.ต.อ. กำลังเกิดความปั่นป่วนกันทั่วแนวรบ และหลวงพิบูลฯ กำลังวุ่นวายในการส่งทหารกองหนุนขึ้นไปสมทบแนวรบ พอทหารส่วนที่จะไประวังรักษาปีกมาถึง หลวงพิบูลฯ ก็เร่งจะให้ขึ้นไปสมทบแนวรบ ได้คำตอบว่าผมเป็นผู้สั่งให้ขึ้นไปรักษาปีก หลวงพิบูลฯ โกรธผม หาว่าผมขัดคำสั่ง วิ่งมาหาผมแล้วยกปืนจะยิง แต่ทหารผู้หนึ่งจับมือไว้ และหลายคนขัดขวางห้ามปราม หลวงพิบูลฯ จึงกลับไป พอตอนค่ำหลวงพิบูลฯ มาหาผม กล่าวคำขอโทษและชี้แจงว่า “ที่บันดาลโทสะถึงกับแสดงกริยาเช่นนั้น ก็ด้วยความเข้าใจผิด

เรื่องที่พระสิทธิฯ เล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เกี่ยวกับคดี แต่พระสิทธิฯ กล่าวแย้งว่า ท่านเพิ่งนึกได้ในตอนหลังว่า การที่หลวงพิบูลฯ โกรธถึงจะยิงนั้น อาจเป็นด้วยเข้าใจผิดว่าพระสิทธิฯ ขัดคำสั่ง โดยเจตนาจะให้เกิดผลร้ายแก่ฝ่ายรัฐบาล โดยระแวงอยู่แล้วว่า พระสิทธิฯ มีน้ำใจฝักใฝ่กบฏ

พระสิทธิฯ เล่าว่า เมื่อรู้ข่าวว่าจะเกิดกบฏขึ้น พระสิทธิฯ อยากวางตัวเป็นกลาง และพยายามสมานความแตกร้าว เพราะถือว่าทหารของชาติไม่ควรเกี่ยวข้องในการวิวาทแตกร้าวของพวกนักการเมือง แต่เมื่อได้ปรึกษากับบรรดาผู้บังคับกองพันต่างๆ โดยนัดประชุมกันที่บ้านพระยาฤทธิอัคเนย์ พวกผู้บังคับกองพันเหล่านั้นเต็มใจจะช่วยรัฐบาล และอ้างว่าถ้าเป็นกลางก็จะกลายเป็นการเข้าข้างฝ่ายกบฏ พระสิทธิฯ ก็เห็นพ้องด้วยจึงเปลี่ยนความตกลงใจมาช่วยทางฝ่ายรัฐบาล

“ถ้าเขานำเรื่องนี้มาสืบไปในทำนองว่าผู้บังคับการชักชวนให้เข้าข้างฝ่ายกบฏ” ข้าพเจ้ากล่าว “ผมเห็นว่าเรื่องนี้จะแก้ตัวให้ขาวสะอาดได้ยาก”

“ความผิดอย่างนี้เขาเคยติดกันสักกี่ปี?”

“ถ้าเปรียบเทียบกับคดีเมืองเพชร คดีของผู้บังคับการก็เบากว่ามาก ผมคิดว่าอย่างมากคงมีโทษไม่เกิน ๒๐ ปี”

พระสิทธิฯ ไม่มีเรื่องอื่นที่จะต้องกลัว นอกจากเรื่องการประชุมที่บ้านพระยาฤทธิฯ ในชั้นไต่สวนพระสิทธิฯ ได้ให้การภาคเสธว่าได้ไปประชุมที่บ้านพระยาฤทธิฯ จริง แต่ไม่ได้พูดชักชวนให้เป็นกลาง เป็นแต่เพียงหารือในที่ประชุม ว่าควรคิดอ่านให้พระยาทรงฯ ได้กลับเข้ารับราชการ ข้าพเจ้าเห็นว่าคำภาคเสธเช่นนี้ไม่สู้จะมีประโยชน์นัก เมื่อข้าพเจ้าถามถึงการยิงหลวงพิบูลฯ ที่สนามหลวง พระสิทธิฯ ตอบว่าไม่รู้เรื่องเลย เป็นแต่เพียงสงสัยว่าศิษย์ของพระยาทรงฯ ผู้หนึ่ง ซึ่งหนีไปอยู่อินโดจีนเป็นตัวการ และได้กระทำไปโดยพระยาทรงฯ ไม่รู้ไม่เห็น

“บอกผมได้ไหมครับ?” ข้าพเจ้าพูด “ว่าเจ้าคุณทรงฯ ท่านคิดจะยึดอำนาจการปกครองจริง อย่างที่เขาสงสัยกันนั้นหรือเปล่า?”

“ผมเชื่อว่าไม่จริง ขุนคลื่ฯ ก็บอกผมว่าไม่จริง พระยาทรงฯ มีความตั้งใจโดยสุจริตที่จะถ่ายวิชาการรบให้แก่พวกทหาร และเขารู้ตัวว่าเขาไม่มีความรู้ทางการเมือง ถนัดแต่ทางทหารทางเดียวเท่านั้น”

“ผู้บังคับการเองเคยคิดจะยึดอำนาจการปกครองบ้างหรือเปล่า?”

พระสิทธิฯ นิ่งตรึกตรองอยู่นานก่อนที่จะสารภาพว่า เมื่อพระยาทรงฯ ลาออกใหม่ๆ เคยมีผู้นำเรื่องนี้ไปหารือพระสิทธิฯ โดยแสดงข้อวิตกว่าความมุ่งหมายของคณะราษฎรที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยนั้นยังไม่มีหวังว่าจะสำเร็จได้ เพราะทหารมีเสียงในการเมืองมากขึ้นทุกที แทนที่ทหารจะเป็นกลาง ทหารกลับเป็นอิทธิพลหนุนหลังบุคคลสำคัญซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่พวกทหารเอง แต่ทหารโดยมากยังเคารพนับถือพระยาทรงฯ อยู่ แต่บรรดาผู้ที่ปรารถนาสิทธิประชาธิปไตย จึงอยากให้พระยาทรงฯ กลับเข้ามากุมอำนาจทหารไว้ และไม่ยอมให้บุคคลในคณะรัฐบาลใช้ทหารเป็นอิทธิพลหนุนหลังตนอีกต่อไป ซึ่งทั้งนี้จะทำได้ก็โดยต้องยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่ง เวลานั้นพระสิทธิฯ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารราบ สามารถจะยึดอำนาจการปกครองได้โดยง่ายและเรียบร้อย แต่พระสิทธิฯ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากพระยาทรงฯ ครั้นพระยาทรงฯ ทราบเรื่องนี้ก็ห้ามปรามพระสิทธิฯ อย่างเด็ดขาด เรื่องจึงสงบไปเพียงขั้นการหารือกันเท่านั้น

ข้าพเจ้าถามถึงการที่คณะรัฐบาลพยายามเชิญพระยาทรงฯ เข้าร่วมงานด้วยหลายครั้งหลายหน แต่พระยาทรงฯ ปฏิเสธทุกครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าสงสัยว่า อาจมีเลศนัยทางการเมืองอยู่บ้าง พระสิทธิฯ ชี้แจงว่าพระยาทรงฯ ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยความสุจริตใจ พระสิทธิฯ เป็นเพื่อนสนิทของพระยาทรงฯ จึงรู้น้ำใจกันดี แต่เป็นเคราะห์ร้ายของพระยาทรงฯ ที่ทางฝ่ายหลวงพิบูลฯ ไม่เชื่อว่าพระยาทรงฯ ตั้งใจจะปลีกตัวจากการเมืองจริงๆ และทางสานุศิษย์ของพระยาทรงฯ เองก็มีความพยายามอยู่เสมอที่จะจัดการให้พระยาทรงฯ มีอำนาจในทางบริหารให้จงได้ ฉะนั้น พระยาทรงฯ จึงถูกระแวงสงสัยมาตลอดเวลา และกลายเป็นบุรุษลึกลับในสายตาของประชาชน ซึ่งทำให้พระยาทรงฯ รู้สึกไม่สบายใจอยากจะไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่มีเงิน

พระสิทธิฯ สารภาพต่อไปว่า ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่อยากจะให้พระยาทรงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อในความสุจริตใจของพระยาทรงฯ ว่าจะจัดการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยตามความมุ่งหมายเดิม ฉะนั้นเมื่อพระยาพหลฯ ลาออก พระสิทธิฯ ซึ่งเวลานั้นเป็นสมาชิกสภาประเภท ๒ จึงได้พยายามชักชวนสมาชิกอื่นๆ ให้เสนอชื่อพระยาทรงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าพระยาทรงฯ ได้คะแนนมากกว่าหลวงพิบูลฯ มากมาย ครั้นทราบผลของการลงคะแนนดังนี้แล้ว หลวงพิบูลฯ จึงมาชี้แจงว่าการลงคะแนนครั้งนั้น เป็นการทดลองฟังเสียงของสมาชิกสภาเท่านั้น และได้เชิญให้พระยาพหลฯ กลับมาเป็นนายกฯ ต่อไป ทั้งๆ ที่สภามิได้ลงคะแนนให้ ความพยายามของพระสิทธิฯ ในสภาฯ เช่นนี้ เมื่อพระยาทรงฯ ทราบก็ไม่พอใจ ส่วนพวกสมาชิกสภาฯ ที่เคยสนับสนุนพระยาทรงฯ เมื่อเห็นว่าพระยาทรงฯ ทอดทิ้งก็พากันหันไปสนับสนุนหลวงพิบูลฯ ตั้งแต่นั้นมา พระสิทธิฯ ก็หมดหวังในการขัดขวางอำนาจของหลวงพิบูลฯ และคิดปลีกตัวออกจากวงการเมือง จึงลาออกจากราชการ ครั้นพระสิทธิฯ ลาออกจากราชการ หลวงพิบูลฯ ก็ชักชวนให้พระสิทธิฯ กลับเข้ารับราชการอีก แต่พระสิทธิฯ ปฏิเสธคำชักชวนนั้น ซึ่งเข้าใจว่าจะทำให้หลวงพิบูลฯ เพิ่มความกินแหนงแคลงใจยิ่งขึ้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ