คำชี้แจง

เมื่อบ้านเมืองพ้นกลียุค และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว คำว่ากบฏก็เริ่มจะกลายเป็นคำแห่งประวัติศาสตร์ แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งนี้ กบฏจำพวกใหม่ได้เกิดขึ้นคือองค์การเสรีไทย ซึ่งถือกันในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ว่าเป็นกบฏภายนอกพระราชอาณาจักร ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่างก็เป็นวีรบุรุษในสายตาของประชาชนยุคปัจจุบัน โดยการกู้เกียรติของชาติในฐานะเป็นหัวหน้าเสรีไทย แต่เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง ท่านทั้งสองนี้ก็คือหัวหน้ากบฏซึ่งได้เสี่ยงภัยในการติดคุก หรือเนรเทศ หรือถูกประณามจากปรปักษ์ในระดับเดียวกับที่พระองค์เจ้าบวรเดชได้เคยเสี่ยงมาแล้ว อดีตนายกฯ ควง อภัยวงศ์ พระยาพหลพลพยุหเสนา และบุคคลสำคัญอันเป็นที่นับถือของประชาชนอีกมากมาย ต่างก็ได้เคยกระทำสิ่งซึ่งกฎหมายในขณะนั้น ถือว่าเป็นความผิดฐานกบฏ ประเทศเราปัจจุบันนี้ จะหาบุคคลสำคัญที่ไม่เคยเป็นกบฏได้ยากเต็มที

การกบฏจะเป็นเกียรติคุณหรือไม่ สุดแต่แง่มองของประชาชน ซึ่งอาจผันแปรไปตามกาลสมัย ในเวลาที่แล้วมา มติมหาชนในพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นกบฏโดยทั่วไปได้คลี่คลายจากร้ายเป็นดีแล้ว แต่ยังมีประชาชนอีกไม่น้อยที่เข้าใจว่าคดีกบฏ ๒๔๘๑ เป็นกรณีเดียวกับการกบฏครั้งพระองค์เจ้าบวรเดช ประชาชนต้องการเห็นความประนีประนอม อยากให้ทั้งสองฝ่ายยอมอภัยกัน แต่ถ้าปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาว่า คดีกบฏ ๒๔๘๑ เป็นเรื่องเสกสรรค์ใส่ร้าย และการประหารชีวิต ๑๘ คนนั้นเป็นการฆาตกรรมโดยแฝงนามกฎหมาย ดังนี้ บางทีประชาชนจะต้องการทราบว่าผู้ร้ายอุกฉกรรจ์รายใหญ่นี้คือใคร และอาจปรารถนาให้เกิดธรรมแก่สังคมด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวเท้าความไปถึงการกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วย แต่ได้ทิ้งคำวิจารณ์ไว้ให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ผู้จะต้องตัดสินว่าการกบฏครั้งใด เพื่ออะไร และมีเหตุผลอย่างไร นักประวัติศาสตร์จะไม่ด่วนทำคำวิพากษ์ในระหว่างที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้นๆ ยังมีชีวิตอยู่ และทั้งจะต้องรอเวลาให้ความรู้สึกของประชาชนในเหตุการณ์นั้นๆ ดับสูญลง เป็นหน้าที่ของเขาที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงจากหลักฐาน, เอกสาร, จดหมายและบันทึกต่างๆ โดยไม่งมงายฟังความข้างเดียว ถ้านักประวัติศาสตร์ผู้ใดจะฟังเอาว่าคำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปราบกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นความจริงทั้งหมดโดยไม่ค้นคว้าหลักฐานทางอื่นบ้าง เขาก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอเรื่องเท็จต่อมนุษยชาติ

เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์อีกเหมือนกันที่จะขุดค้นหาแก่นความจริงแห่งเหตุการณ์ ถ้าอนุชนในศตวรรษหน้ายังคงเชื่ออยู่อีกว่ากรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นกบฏจริงตามคำพิพากษาของศาลพิเศษ ก็จะเป็นความบกพร่องของนักประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถรวบรวมข้อเท็จจริงได้เพียงพอแก่ความต้องการของมนุษยชาติ

ถ้า “ยุคทมิฬ” และหนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจนักประวัติศาสตร์ให้ค้นคว้าหาความจริงในคดีกบฏ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยไม่คำนึงถึงคำพิพากษาของศาลพิเศษ ก็จะสมประสงค์ส่วนหนึ่งของผู้เขียน เมื่อผู้เขียนอาจหาชีวิตไม่แล้ว แต่ถ้าหนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้นักการเมืองยุคปัจจุบันจัดการผดุงความยุติธรรมแห่งสังคม เป็นการแก้ไขมิให้ปรากฏข้อตำหนิแก่ชนรุ่นนี้ในประวัติศาสตร์ ก็จะเป็นการสมประสงค์ของผู้เขียนอย่างบริบูรณ์

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

พ.ศ. ๒๔๘๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ