- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ออกจากเมืองปินัง ไปเมืองร่างกุ้ง
- ตอนที่ ๒ เที่ยวเมืองร่างกุ้ง เมื่อขาไป
- ตอนที่ ๓ เที่ยวเมืองหงสาวดี ภาคต้น
- ตอนที่ ๔ เที่ยวเมืองหงสาวดี ภาคปลาย
- ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคต้น
- ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย
- ตอนที่ ๗ วินิจฉัยเคราะห์กรรมเมืองพะม่า
- ตอนที่ ๘ ล่องแม่น้ำเอราวดี
- ตอนที่ ๙ เที่ยวเมืองพุกาม
- ตอนที่ ๑๐ เรื่องเที่ยวเมืองแปร
- ตอนที่ ๑๑ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ
- ตอนที่ ๑๒ กลับเมืองปินัง
ตอนที่ ๘ ล่องแม่น้ำเอราวดี
เมื่อขากลับจากเมืองมัณฑเลฉันมาทางเรือ เรือล่องลงมาวันครึ่งถึงเมืองพุกาม ฉันขึ้นพักเที่ยวดูเมืองโบราณอยู่ ๓ วัน แล้วลงเรือลำอื่นล่องต่อมาอีก ๒ วันครึ่งถึงเมืองแปรจึงกลับขึ้นรถไฟมาทางบก ได้เห็นแม่น้ำเอราวดีตอนกลางในระยะทางที่ล่องมา ๔ วัน จะพรรณนาในตอนนี้ รอเรื่องเที่ยวดูเมืองพุกามไว้เล่าต่อไปเป็นตอนอื่นต่างหาก
แม่น้ำเอราวดี นับเป็นมหานทีสาย ๑ ในทวีปเอเซีย ผ่านกลางประเทศพะม่าลงมาแต่ข้างเหนือจนออกทะเล เช่นเดียวกับแม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศสยาม และเปรียบกันได้อย่างอื่นอีก ถ้าสมมติว่าเมืองมัณฑเลอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปแยกเป็นสองสายที่ปากน้ำโพฉันใด แม่น้ำเอราวดีก็ขึ้นไปแยกเป็นสองสายที่เมืองปะกกกู Pakokku ทำนองเดียวกัน สายทางตะวันตกเรียกว่าแม่น้ำ “ชินด์วิน” Chindwin ยืดยาวต่อขึ้นไปเหมือนอย่างแม่น้ำปิงสาย ๑ แม่น้ำเอราวดีเป็นสายทางตะวันออกเปรียบเหมือนแม่น้ำน่าน คงเรียกว่าแม่น้ำ “เอราวดี” Irrawaddy ขึ้นไปยืดยาวอีกสาย ๑ ผ่านเมืองที่เป็นราชธานีแล้วเลยขึ้นไปจนเข้าในแดนประเทศจีน ยอดแม่น้ำเอราวดีไปหมดที่ไหนยังไม่มืใครรู้ รู้แต่ว่ายอดน้ำเป็นลำธารขึ้นไปจนบนภูเขาสูงที่มีหิมะคลุมในฤดูหนาว อาจอยู่ในแดนประเทศจีนหรือประเทศธิเบตก็เป็นได้ เพราะถึงต้นฤดูแล้งเมื่อหิมะละลาย มีน้ำไหลหลากจากข้างเหนือลงมาถึงแม่น้ำเอราวดีแต่ก่อนฤดูฝนทุกปี ปากน้ำเอราวดีที่ออกทะเลมีทางน้ำถึง ๙ แพรก ผิดกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปเป็นอย่างเดียวกับปากแม่น้ำโขงในเมืองเขมรและปากน้ำคงคาในอินเดีย แม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ตั้งแต่ปากน้ำขึ้นไปจนถึงมณฑลอยุธยาเป็นที่ต่ำ มีคลองขุดตามขวางไปถึงเมืองอื่นๆ ฉันใด แม่น้ำเอราวดีข้างใต้ก็เป็นตอนที่แผ่นดินต่ำ มีคลองขุดตามขวางไปถึงเมืองในลำน้ำอื่นเช่นเมืองร่างกุ้งเป็นต้นทำนองเดียวกัน ขึ้นไปตอนข้างเหนือเมื่อผ่านที่แผ่นดินสูงก็มีแม่น้ำขนาดย่อมๆ แยกเป็นสาขาเป็นระยะไปอีกหลายสายเช่นเดียวกัน แต่ในแม่น้ำเอราวดีใช้เรือกำปั่นไฟได้ตลอดปีตั้งแต่ปากน้ำขึ้นไปจนถึงเมืองบาโม (บ้านหม้อ) ระยะทางกว่า ๔๐,๐๐๐ เส้น ในแม่น้ำชินด์วันฤดูน้ำเรือไฟก็ขึ้นไปได้เกือบ ๑๐,๐๐๐ เส้น ขนาดกว้างของแม่น้ำเอราวดีบางแห่งกว้างถึง ๑๒๐ เส้น (๓ ไมล์) แต่มีหาดมาก เป็นทางน้ำไหลแต่สักครึ่งหนึ่ง เพราะน้ำในแม่น้ำเอราวดีฤดูน้ำกับฤดูแล้งผิดกันมาก เวลาฤดูน้ำ ๆ ขึ้นสูงกว่าฤดูแล้งถึงราว ๕ วา ๑ ศอก ๑ คืบ (๓๕ ฟุต) น้ำท่วมตลิ่งเข้าไปไกล ที่เมืองมัณฑเลจึงต้องทำคันกันน้ำท่วมดังกล่าวมาแล้ว น้ำปีเริ่มหลากแตในเดือนมีนาคม ก่อนฤดูฝน จนสิ้นเดือนกันยายนหมดฤดูฝนน้ำจึงลด เวลาน้ำหลากนั้นสายน้ำแรง มักกัดตลิ่งพังพาเอากรวดทรายไปตกในแม่น้ำให้เกิดหาด หาดแห่งใดใหญ่ขึ้นก็กีดกันสายน้ำให้ไหลแปรไปกัดทางอื่น เป็นเหตุให้แนวตลิ่งกับทั้งหาดและร่องน้ำเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รู้ไม่ได้ว่าปีไหนน้ำจะกัดที่ตรงไหน หรือว่าหาดที่ตรงไหนจะงอกออกไปสักเท่าใด เพราะเหตุนั้นจึงทำท่าประจำสำหรับเทียบเรือกำปั่นไฟกับตลิ่งไม่ได้ ต้องเอาเรือลำเลียงทอดไว้ที่ชายหาดพอให้เรือกำปั่นไฟจอดเทียบเป็นทางขึ้นลง เวลาน้ำขึ้นท่วมหาดถึงไหนก็เลื่อนเรือลำเลียงถอยตามเข้าไปจนถึงเทียบตลิ่งในเวลาน้ำขึ้นถึงสูงสุด เวลาเมื่อฉันไปเป็นฤดูแล้งน้ำงวด ชายหาดห่างตลิ่งออกไปไกล จะลงเรือจึงต้องไต่ลงไปจากตลิ่ง แล้วเดินลุยทรายข้ามหาดไปลงเรือดังกล่าวมาแล้ว
การเดินเรือกำปั่นไฟในแม่น้ำเอราวดีก็มิใช่ง่าย เพราะในฤดูแล้งน้ำตื้นและร่องน้ำก็เปลี่ยนทุกปี บริษัทเจ้าของเรือต้องทำกรุยหมายร่องน้ำให้แลเห็นเป็นระยะตลอดทาง กรุยนั้นเอาไม้ไผ่ทั้งลำตัดพอได้ขนาด แต่ปักไม่อยู่ด้วยสายน้ำแรง ต้องเอากะสอบกรวดทรายผูกทอดถ่วงทางโคนให้ปลายไม้ลอยโผล่อยู่ ทาสีกรุยฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาให้ผิดกัน กรุยหมายตรงที่มีหินอยู่ใต้น้ำก็ทาสีหนึ่งต่างหาก ให้เป็นที่สังเกต การกรุยร่องน้ำต้องมีเรือไฟเล็กกับพนักงานพวกหนึ่งต่างหากสำหรับเที่ยวตรวจแก้ไขอยู่เสมอ นอกจากนั้นย้งต้องมีคนนำร่องประจำอยู่ทุกระยะ เมื่อเรือจะผ่านย่านไหนก็รับนำร่องสำหรับย่านนั้นไปด้วย แม้มีกรุยและคนนำร่องเช่นนั้นแล้ว การล่องเรือกำปั่นไฟเช่นที่พวกเรามาก็ยังลำบาก เพราะเป็นเรือขนาดใหญ่และมีเรือลำเลียงบรรทุกสินค้าผูกเคียงทั้งสองข้าง ในแม่น้ำบางแห่งมีหาดยื่นออกมาทั้งสองฝ่าย ทำให้ร่องน้ำแคบและคดเคี้ยว น้ำไหลเชี่ยวเช่นกับแก่ง ถ้าเรือล่องพลาดสักนิดก็ติดหาด เมื่อถึงที่เช่นนั้นต้องทอดสมอให้เรือกลับเอาท้ายลง ค่อยๆ หย่อนสายสมอและเดินเครื่องจักรช่วยให้เรือลอยตรงลงมาตามร่องน้ำ จนพ้นที่ยากจึงถอนสมอกลับลำเรือล่องลงมาอย่างเดิม มีที่ล่องยากเช่นว่าหลายแห่ง เพื่อความปลอดภัยบริษัทเขาจึงให้เรือล่องแต่กลางวัน เวลาค่ำมืดให้จอดพัก เว้นแต่บางย่านที่จำเป็นจะต้องล่องกลางคืนให้เรือรับส่งสินค้าทันเวลากำหนด
ที่ย่าน ๑ มีกัปตันฝรั่งเป็นนำร่อง เมื่อแกมาลงเรือได้รู้จักกันฟังแกคุยสนุกดี แกเล่าว่าตัวแกเคยเดินเรือของบริษัทขึ้นล่องทางแม่น้ำเอราวดีมาแต่ยังหนุ่ม ครั้นแก่ลงจะทนตรากตรำไม่ไหว แต่บริษัทเขายังอยากเอาแกไว้ จึงให้มาเป็นนำร่องในย่านที่ล่องยากนี้ มีหน้าที่สำหรับนำเรือใหญ่ล่องแล้วรับเรือใหญ่ลำที่ขึ้นมาสวนกัน ณ ท้ายย่านขึ้นไป ต้องลงเดินเรือเพียงสัปดาหะละ ๔๘ ชั่วโมง แต่ดูแกชำนาญจริง อาจนำเรือใหญ่ขึ้นล่องและกลับเรือลอยลงเช่นว่ามาได้แม้เวลากลางคืน อาศัยแต่แสงโคมไฟฟ้าฉายให้เห็นทางเท่านั้น นายเรือกำปั่นที่ฉันมาเล่าให้ฟังว่าขึ้นล่องในฤดูน้ำก็มิใช่ง่าย แต่ยากไปอีกอย่าง ๑ เพราะน้ำท่วมหาดแลเห็นแต่เป็นน้ำเจิ่งไปหมด ไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมหาดตรงไหนลึกสักแค่ไหน ถึงเดินเรือไม่ต้องอ้อมค้อมและไม่ต้องกลับเอาท้ายเรือลงเหมือนอย่างฤดูแล้งก็จริง แต่สังเกตร่องน้ำผิดเรือก็ติดได้ง่ายๆ แกชี้ให้ฉันดูเรือกำปั่นของรัฐบาลลำ ๑ ซึ่งติดเพราะสังเกตร่องผิด ยังค้างอยู่บนหาดสูงกว่าท้องน้ำสัก ๓ วา บอกว่าเรือลำนั้นจะต้องค้างอยู่อย่าง นั้นสัก ๖ เดือน จนน้ำปีใหม่มาจึงจะหลุดไปได้ ถามแกว่าฤดูไหนจะเดินเรือยากกว่ากัน แกว่าในฤดูแล้งเช่นเวลาที่เรามาล่องยากกว่าฤดูน้ำ เพราะที่บางแห่งร่องน้ำลึกเพียงสัก ๔ ศอก เรือกินน้ำกว่า ๓ ศอกจึงต้องระวังมาก เมื่อเข้าย่านน้ำตื้นต้องให้คนยืนเอาไม้หยั่งน้ำมาทั้งสองข้างเรือ แต่สังเกตดูเมื่อเวลาเรือผ่านย่านที่ยากไม่เห็นมีใครสะทกสะท้าน คงเป็นด้วยเคยขึ้นล่องเสียจนชินแล้ว
คราวนี้จะพรรณนาว่าด้วยเรือของ “บริษัทเรือแม่น้ำเอราวดี” Irrawaddy Flotilla Company ต่อไป เหตุที่จะตั้งบริษัทนี้มีเรื่องตำนานว่า เมื่อครั้งอังกฤษตีเมืองพะม่า ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕) รัฐบาลอินเดียให้เอาเรือกำปั่นไฟสำหรับใช้ทางแม่น้ำ ๔ ลำกับเรือลำเลียงอีกหลายสิบลำมาจากอินเดีย สำหรับใช้ในการสงครามครั้งนั้น ครั้นเสร็จการสงคราม อังกฤษได้เมืองพะม่าใต้ไว้เป็นเมืองขึ้น เมื่อจัดการปกครองจึงเอาเรือกำปั่นไฟกับเรือลำเลียงเหล่านั้นไว้ใช้ราชการที่เมืองพะม่าใต้ ต่อมาเมื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองเจริญขึ้น มีชาวสก๊อตแลนด์พวก ๑ คิดจะเดินเรือรับจ้างส่งคนและสินค้าทางแม่น้ำเอราวดี รัฐบาลยอมขายเรือกำปั่นไฟและเรือลำเลียงที่ใช้ราชการให้ พวกนั้นจึงตั้งบริษัท เรียกว่า “บริษัทแม่น้ำเอราวดี” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ในชั้นแรกเดินเรือจากเมืองร่างกุ้งขึ้นไปเพียงเมืองสเหย็ดมะโย ซึ่งเป็นเมืองปลายแดนอังกฤษในสมัยนั้น กับเดินเรือตามคลองขุดไปถึงเมืองต่างๆ ในอาณาเขตต์ของอังกฤษ แต่พอมีเรือกำปั่นไฟเดินรับส่งผู้คนและสินค้าไปมาได้สะดวก การทำไร่นาค้าขายในเมืองพะม่าใต้ก็เจริญขึ้นรวดเร็ว จนชาวเมืองพะม่าเห็นเป็นประโยชน์ พระเจ้ามินดงจึงประทานอนุญาตให้บริษัทนั้นเดินเรือกำปั่นไฟขึ้นไปได้ถึงกรุงมัณฑเลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ต่อมาในรัชชกาลพระเจ้าสีป่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ บริษัทได้รีบอนุญาตให้เดินเรือทางแม่น้ำชินด์วินเพิ่มขึ้นอีกด้วยทาง ๑ ครั้นเมืองพะม่าเหนือตกเป็นของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ บริษัทก็เริ่มเดินเรือทางแม่น้ำเอราวดีต่อขึ้นไปจนถึงเมืองบาโม การเดินเรือของบริษัทนี้มีกำไรงามจึงสามารถขยายการกว้างขวาง จนคล้ายกับผูกขาดการเดินเรือในแม่น้ำเมืองพะม่า เวลานี้มีเรือกว่า ๖๐๐ ลำ เป็นเรือกำปั่นไฟสัก ๑๕๐ ลำ นอกจากนั้นเป็นเรือลำเลียงสำหรับบรรทุกสินค้าพ่วงเรือไฟไปมา หรือเอาไปเที่ยวจอดเป็นสถานีที่รับส่งสินค้าตามตำบลต่างๆ ตลอดลำแม่น้ำ ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองร่างกุ้ง มีทั้งโรงจักรและอู่สำหรับซ่อมแซมเรือทุกอย่าง ที่เมืองมัณฑเลก็มีที่ซ่อมแซมเรืออีกแห่ง ๑ เรือกำปั่นไฟของบริษัทมีทั้งอย่างจักรข้าง จักรท้าย และจักรพุ้ยท้ายหลายขนาด คิดทำให้เหมาะแก่ทางที่เดินเรือและการที่จะใช้รับส่งคนโดยสารหรือเพียงแต่จะบรรทุกสินค้า จะพรรณนาว่าแผ่ด้วยเรือที่ฉันมาเป็นเรือขนาดใหญ่ของบริษัท ทำสำหรับคนโดยสารที่จะไปมาโดยด่วนในระหว่างเมืองร่างกุ้งกับเมืองมัณฑเลสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เดิน ๗ วันถึงทั้งขาขึ้นและขาล่อง เป็นเรือจักรข้างยาวราว ๔๙ วา ๓ ศอก (๓๒๖ ฟุต) กว้าง ๕ วา ๑ ศอก (๓๔ ฟุต) มีดาดฟ้า ๒ ชั้น ในท้องเรือมีระวางสำหรับบรรทุกสินค้าทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ตอนที่ตั้งหม้อไฟและเครื่องจักรอยู่ที่กลางลำ แต่ท้องเรือตื้นบรรทุกไม่ได้เท่าใดนักจึงต้องเอาสินค้าบรรทุกเรือลำเลียงพ่วงไปทั้งสองข้าง ดาดฟ้าชั้นล่างเป็นที่ทำการเดินเรือเป็นต้น แต่เครื่องบอกเดินจักรกว้านสมออยู่ตอนหัวเรือ ต่อมาถึงห้องที่อยู่ของนายเรือและต้นหนต้นกล และที่ไว้สิ่งสัมภาระสำหรับเรือตอนข้างท้ายเรือเป็นที่อยู่ของพวกกะลาสี ในกิจการเดินเรือไม่ใช้ดาดฟ้าชั้นบนเลยทีเดียว เว้นแต่เวลาเรือเดินกลางคืนจึงขึ้นไปถือท้ายเรือและสั่งเดินจักร ที่ดาดฟ้าชั้นบนตอนหัวเรือ โดยปกติดาดฟ้าชั้นบนเป็นแต่ที่สำหรับคนโดยสารตลอดลำ คนโดยสารชั้นที่ ๑ อยู่ตอนหน้า มีดาดฟ้าตอนหัวเรือเป็นที่สำหรับเดินเหินดูอะไรเล่นตามชอบใจ ต่อมามีห้องใหญ่สำหรับเป็นที่นั่งเล่นหรืออ่านหนังสือและสนทนากัน มีโต๊ะที่กินอาหารตั้งตามยาวในกลางห้องนั้น สองข้างทางแคมเรือเป็นห้องนอนข้างละ ๔ ห้อง อยู่ห้องละ ๒ คน อาจรับคนโดยสารชั้นที่ ๑ ได้รวม ๑๖ คน มีห้องอาบน้ำแยกกันเป็นส่วนผู้ชายและผู้หญิง พ้นห้องที่อยู่กินไปเป็นครัวไฟและห้องที่อยู่ของคนรับใช้ แล้วถึงร้านขายของบริโภค เช่นขนมและผลไม้เป็นต้น แล้วแต่ใครจะซื้อกินตามปรารถนา ตอนกลางลำเป็นที่อยู่ของคนโดยสารชั้นที่ ๓ เป็นแต่ดาดฟ้าโถงไม่มีเครื่องสำหรับใช้สอยอย่างใด คนโดยสารถ้าไปด้วยกันเป็นพวกก็เอาหีบปัดภาชนะที่เอาไปด้วยวางเรียงเป็นคอก แล้วกินนอนนั่งอยู่ด้วยกันในคอกนั้น คนโดยสารที่เป็นตัวคนเดียว ก็หาแต่ที่ว่างพอที่นอนและวางของๆ ตน สำหรับคนโดยสารชั้นที่ ๒ มีห้องแถวอยู่สุดท้ายเรือทั้ง ๒ แคม มีทางเดินกลาง ค่าธรรมเนียมที่บริษัทเรียกจากคนโดยสาร เขาเรียกค่าโดยสารส่วนหนึ่ง ถ้ากินอาหารของบริษัทด้วย เขาเรียกค่ากินเป็นรายวันเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ฉันมีกุ๊กไปด้วยจะแยกครัวทำกินเองก็ได้ แต่เห็นว่าจะลดค่าสิ้นเปลืองลงเพียงเล็กน้อย อยากจะลองให้เต็มที่จึงว่าให้บริษัทหาเลี้ยงด้วย
ฉันเคยได้ยินทั้งไทยและฝรั่งที่ได้ขึ้นล่องทางแม่น้ำเอราวดี ชมกันว่าไปเรือของบริษ้ทนี้สบายดีนัก เมื่อได้ไปเองก็เห็นจริง ถึงเจ้าหญิงออกอุทานว่า “ถ้าได้เรืออย่างนี้และทะเลเรียบราบเหมือนอย่างแม่น้ำเอราวดีจะไปรอบโลกก็ยอมไป” ความสบายในเรือนั้นเพราะเขาคิดแบบเรือเหมาะดี ที่ให้พนักงานเดินเรือรวมกันอยู่เสียที่ดาดฟ้าชั้นล่าง ไม่ปะปนกับคนโดยสารซึ่งอยู่ตามดาดฟ้าชั้นบนต่างหาก ในพวกคนโดยสารต่างชั้นต่างก็มีเขตต์อยู่ไม่ปะปนกัน พวกคนโดยสารชั้นที่ ๑ อยู่ตอนสบายที่สุดข้างหัวเรือ ที่นั่ง ที่นอน ที่เดินเล่นอยู่ดาดฟ้าชั้นเดียวกันหมด ไม่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เหมือนไปเรือเมล์ที่เดินทางไกล ห้องที่อยู่ก็มีฟูกเบาะเมาะหมอนและเครื่องใช้สอยสะอาดสะอ้าน อาหารการกินก็ทำดี เมื่อฉันลงเรือมาวันแรกมีนายพันตรีทหารอังกฤษเป็นเพื่อนโดยสารมาด้วยคนหนึ่ง ไม่ช้าก็คุ้นเคยเป็นเพื่อนพูดกันมาจนถึงที่เขาขึ้นบกในวันที่ ๒ แต่นั้นมีแต่พวกเราโดยสารชั้นที่ ๑ เหมือนกับได้ครองเรือเป็นบ้านเรือนมาจนถึงเมืองแปร มาในเรือไม่แต่สบายเท่านั้นยังมีสนุกด้วย เวลาออกไปเดินดูทางที่อยู่ของคนโดยสารชั้นที่ ๓ ได้เห็นคนหลายชาติหลายชะนิด พวกพะม่าเห็นจะรู้ว่าเราเป็นผู้ดีชาว “โยเดีย” ดูประพฤติต่อเราอย่างเรียบร้อย พวกผู้หญิงพากันชอบเจ้าหญิง เห็นเข้ามักยิ้มแย้มทักทาย บางคนที่กำลังกินอาหารชวนให้กินด้วยก็มี เสียแต่พูดภาษาไม่เข้าใจกัน ถึงเวลาเรือจอดรับสินค้าตามระยะทางก็สนุก ด้วยมีพวกชาวบ้านเอาของลงมาขายเหมือนกับเป็นตลาดนัดขึ้นในเรือ มีทั้งของกินและสิ่งของต่างๆ ที่ทำในตำบลนั้นเอามาขายให้เราเลือกซื้อได้ตามชอบใจ แต่เมื่อเหลือแต่พวกเรา ชะรอยพวกนายเรือเขาจะวิตกเกรงว่าจะพากันเปล่าเปลี่ยว ถึงเวลากินอาหารเย็น มินายเรือก็ต้นหนผลัดกันมานั่งโต๊ะกินอาหารเป็นเพื่อนพูดทุกคืน เขามักเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ในเมืองพะม่าให้ฟัง เป็นเรื่องประหลาดที่ควรเอามาเล่าก็มีบ้าง
เรื่อง ๑ ว่าเมื่ออังกฤษกับพะม่าจะรบกันครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๒๘ เวลาเตรียมกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น พวกอังกฤษกับฝรั่งชาติอื่นที่อยู่ในเมืองมัณฑเล นอกจากที่เข้าเป็นพรรคพวกพะม่า กลัวพะม่าจะฆ่าหรือจับเอาไว้เป็นตัวจำนำ พากันหลบหนีลงไปเมืองพะม่าใต้หมด เมื่อรัฐบาลอังกฤษจะส่งคำขาด Ultimatum แก่พะม่า ต้องหาคนอาสาเสี่ยงภัยถือหนังสือนั้นขึ้นไปเมืองมัณฑเล มีนายเรือของบริษัทคนหนึ่ง (เขาบอกชื่อ แต่ฉันลืมเสียแล้ว) รับอาสา ฝ่ายบริษัทก็ยอมให้ยืมเรือไฟลำหนึ่งรับไป เมื่อขึ้นไปถึงเมืองมัณฑเล พวกเสนาบดีพะม่าก็รับโดยสุภาพบอกว่าจะมอบหนังสือตอบให้กัปตันคนนั้นถือกลับมา เวลานั้นพวกเสนาบดีพะม่ามีความเห็นแตกต่างกันเป็น ๒ พวก พวกกินหวุ่นแมงคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนเห็นว่าถ้ารบก็คงแพ้อังกฤษ ควรยอมตามคำขาดของอังกฤษเสียโดยดี แต่พวกแตงดาหวุ่นคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารเห็นว่าไม่ควรยอม ถึงจะรบก็รบกัน พระเจ้าสีป่อเห็นตามพวกแตงดาหวุ่นคยี แตงดาหวุ่นคยียังประสงค์ต่อไปที่จะจับกัปตันกับคนในเรือไว้เป็นตัวจำนำทั้งหมด จึงคิดกลอุบายให้ทหารไปซุ่มอยู่ตรงช่องน้ำตื้นข้างใต้เมืองอังวะ และกะซิบสั่งนำร่องให้แกล้งทำเรือติดที่ตรงซุ่มทหารไว้นั้น แต่พวกกินหวุ่นแมงคยืให้ไปกะซิบบอกกัปตันให้รู้ตัว เมื่อกัปตันได้รับหนังสือตอบจากเสนาบดีแล้วให้ออกเรือล่องลงมา พอพ้นเขตต์เมืองมัณฑเล ก็ให้จับตัวคนนำร่องเอาไปนั่งในหว่างขาหน้าเก้าอี้ของแก เอาปืนพกจ่อศีรษะไว้ บอกว่าถ้าเรือติดเมื่อไรจะยิงเสียในทันที คนนำร่องกลัวตายก็นำเรือพ้นที่ซุ่มทหารมาได้ แต่เมื่อพ้นมาแล้วกัปตันไม่รู้ว่าจะมีใครคอยทำร้ายที่ไหนอีกบ้างหรือไม่ จึงเปลี่ยนธงของบริษัทเอาธงพะม่าชัก ปลอมให้คนเข้าใจว่าเป็นเรือค้าขายลำหนึ่งของพะม่า มาจนถึงเมืองมินหละ Minhla มีป้อมอยู่ปลายแดนพะม่าเหนือ ที่ตรงนั้นโดยปกติเรือขึ้นล่องต้องหยุดให้ตรวจเก็บภาษี และมีเรือกำปั่นหลวงของพะม่าซึ่งพวกฝรั่งชาวอิตาลีเป็นนายเรืออยู่กำกับด้วย เมื่อก่อนจะถึงป้อมกัปตันให้ตัดโซ่สายสมอเอาเชือกผูกเชื่อมต่อกันไว้แห่งหนึ่ง แกล้งแล่นเรือเข้าไปทอดสมอให้ใกล้ป้อมใต้ปากปืนใหญ่มิให้ยิงลงมาถูกได้ พอเรือกำปั่นหลวงสำหรับตรวจภาษีมาทอดสมอลงแล้ว แกก็ตัดเชือกที่เชื่อมสายสมอให้เรือของแกลอยลงมา แต่พอห่างแล้วก็รีบกลับเรือแล่นหนีเข้าแดนอังกฤษ ฝ่ายเรือพะม่าต้องเอะอะเรียกคนถอนสมอ กว่าจะออกได้เสียเวลาก็ตามไม่ทัน
อีกเรื่อง ๑ เขาเล่าว่าเมื่อเกิดขบถใน พ.ศ. ๒๔๗๓ แม่น้ำเอราวดีตอนระหว่างเมืองพุกามกับเมืองแปรเป็นถิ่นของพวกขบถ ฉันถามว่าในเวลาเกิดขบถนั้นบริษัทมิต้องหยุดเดินเรือหรือ เขาตอบว่าไม่ต้องหยุด เพราะพวกขบถไม่ทำร้ายบุคคลจำพวกอื่น นอกจากคนรับใช้ของรัฐบาล บริษัทเคยถูกพวกขบถเบียดเบียนแต่ครั้งเดียว วันหนึ่งเวลาเรือจอดพักอยู่มีพวกขบถกอง ๑ ลงไปในเรือลำเลียง บอกว่าขาดสะเบียงอาหารแล้วเลือกขนเอาของกินไปตามต้องการ หาได้ทำร้ายผู้หนึ่งผู้ใดไม่ เขาเล่าต่อไปในเรื่องขบถครั้งนั้น ว่าต้นเหตุเกิดด้วยเรื่องเศรษฐกิจฝืดเคือง พวกชาวบ้านดอนพากันอดอยากไม่มีจะกินก็พากันเป็นโจรลงมาเที่ยวปล้นบ้านพวกที่มีอันจะกินอยู่ตามริมแม่น้ำตามวิสัยของพวกพะม่า รัฐบาลให้โปลิศไปจับก็พากันหนีเข้าป่า ครั้นโปลิศกลับแล้วพวกโจรก็ลงมาเที่ยวปล้นสะดมอีก รัฐบาลจะปราบปรามให้แข็งแรงขึ้น ขอแรงพวกชาวบ้านให้ช่วยโปลิศ พวกโจรก็ฆ่าฟันพวกชาวบ้านที่ช่วยรัฐบาล ผู้คนจึงเกิดหวาดหวั่น ที่ไปเข้าเป็นพวกโจรก็มี ที่ช่วยรัฐบาลก็มี ในขณะนั้นมีคน ๑ แสดงตัวเป็นผู้วิเศษในทางวิทยาคมเข้ารับเป็นหัวหน้า พวกโจรก็กำเริบหนักขึ้น ถึงคุมพวกเข้ารบพุ่งกับรัฐบาล และประกาศว่าจะเอาบ้านเมืองกลับคืนเป็นของพะม่า ก็กลายเป็นการขบถใหญ่โต รัฐบาลต้องปราบปรามอยู่นาน แม้จับตัวผู้วิเศษที่เป็นหัวหน้าได้แล้วพวกโจรก็ยังไม่สงบ ลงปลายจะเป็นด้วยพระสงฆ์เข้ารับอาสาเอง หรือจะเป็นความคิดของใครไม่ทราบแน่ ปรากฏว่ารัฐบาลนิมนต์พระมหาเถระที่มีคนในเมืองพะม่าน้บถีอมากหลายองค์ ให้ออกไปสั่งสอนห้ามปรามพวกขบถ การจลาจลจึงสงบราบคาบ
เมื่อล่องลงมาทางแม่น้ำเอราวดี สังเกตดูวิธีที่บริษัทเขาจัดการรับส่งคนโดยสารและสินค้า เขาเอาเรือลำเลียงเที่ยวจอดไว้ตามตำบลที่เขากำหนดเป็นสถานีรายเป็นระยะ เรือลำเลียงนั้นต่อด้วยเหล็ก ข้างบนทำเป็นโรงไม้มุงสังกะสี มีฝารอบเปิดเป็นทางเดินผ่านตามขวางที่กลางเรือเหมือนกันทุกลำ ใครจะฝากสินค้าขาออกก็เอาไปส่งลงบรรทุกไว้ในเรือลำเลียง ถ้าเรือไฟมีสินค้าจะส่งที่ตำบลนั้นก็ขนลงไว้ในเรือลำเลียง เวลาเรือไฟไปถึง ถ้าสินค้าขาออกมีในเรือลำเลียงน้อยก็ขนสินค้าเปลี่ยนกันกับเรือลำเลียงที่ผูกข้างไป ถ้าสินค้าขาออกมีมากก็เปลี่ยนเอาเรือลำเลียงลำที่จอดมาผูกข้าง ปลดเอาลำที่ผูกข้างมาเข้าจอดไว้แทน แต่เรือไฟชะนิดที่พวกเรามาเป็นเรือด่วน Express Steamer (เหมือนอย่างรถไฟด่วน) ไม่แวะทุกสถานี เขามีเรือไฟอีกพวกหนึ่งซึ่งสำหรับแต่รับส่งสินค้าเที่ยวแวะทุกระยะ นอกจากนั้นยังมืเรือไฟขนาดย่อมลงมา เรียกว่าเรือรับส่ง Ferry Steamer เดินเป็นระยะเช่นในระหว่างเมืองมัณฑเลกับเมืองแปรเป็นต้นทุกวัน เรือพวกนี้เที่ยวจอดรับคนโดยสารทุกสถานี เมื่อฉันล่องลงมาผ่านกับเรือไฟของบริษัทวันละหลายๆ ลำ ฉันถามเขาว่าบริษัทใช้คนจำพวกใดในการเดินเรือ เขาบอกว่านายเรือกับต้นหนและต้นกลเป็นฝรั่ง นอกจากนั้นใช้แขกอินเดียพวกถือศาสนาอิสลามทั้งนั้น ด้วยเหมาะแก่การดังกล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วยกะลาสีเรือเดินทะเล จ้างพะม่าใช้แต่ในการแบกขนสินค้า เพราะพะม่านิสสัยมักหลุกหลิก บางทีก็เมามายไว้ใจไม่ได้ ข้อนี้กล่าวเป็นยุติกันทุกทาง ว่าวิสัยพะม่าเอาไว้ในวินัย Discipline ไม่ได้ พระเจ้ามินดงเคยจัด “ทหารอย่างยุโรป” ให้ฝรั่งเป็นครู ก็ฝึกหัดได้แต่อย่างอื่น แต่หัดให้ประพฤติวินัยทหารไม่ได้ ว่าต่อไปถึงเรือที่ใช้ในแม่น้ำเอราวดียังมีเรือพะม่าอีกหลายอย่าง เรื่องเรือพะม่าฉันเคยได้ยินกล่าวกันมาแต่เมื่อยังหนุ่ม ว่าเรือของไทยชะนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เรือไพม่า” นั้น เรียกเพี้ยนมาจาก “เรือพะม่า” เพราะเอาแบบเรือพะม่ามาทำ เมื่อไปเห็นเรือในเมืองพะม่า ประ หลาดใจที่ไม่เห็นมีเหมือนเรือไพม้าหรือเรืออย่างอื่นๆ เช่นใช้กันในเมืองไทยสักอย่างเดียว ชวนให้สันนิษฐานว่าแบบเรือที่ใช้กันในเมืองไทย พวกเรือมาดขึ้นกะดานเช่นเรือไพม้าเป็นแบบไทย พวกเรือต่อเช่นเรือสำปั้นเป็นต้น ไทยได้แบบมาจากจีนเป็นพื้น แต่ที่ว่านี้ยังไม่ได้พิจารณาถ้วนถี่ ฉันอาจเข้าใจผิดก็เป็นได้ เรือพะม่าขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้ารูปร่างเพรียวกว่าเรือบรรทุกข้าวในเมืองไทย มีประทุนแต่กลางลำไปจนข้างท้าย แต่ที่ถือท้ายทำสูงคล้ายกับเรือแหวดสำหรับคนถือหางเสือนั่ง บางลำถึงทำหลังคาและจำหลักลวดลายใต้ที่นั่งถือท้ายหรูหรา ส่อว่าเห็นจะเกิดแต่ตัวนายเรือเป็นผู้ถือหางเสือ และต้องทำที่นั่งสูงเพราะจะให้แลเห็นร่องน้ำถนัด เรือชะนิดนี้ขาล่องตีกรรเชียง ขาขึ้นแล่นใบหรือถ่อ ยังมืเรือในประเภทเดียวกันที่ย่อมลงไปถือท้ายด้วยพายใหญ่อย่างเรือแม่ปะ ที่กลางลำมีทั้งประทุนบรรทุกของและมีปะรำให้คนโดยสารนั่งต่อไปข้างหน้า นอกจากนั้นก็เป็นเรือสำหรับใช้ไปมา และที่สุดถึงเรือจ้างสำหรับข้ามฟาก แต่เรือจ้างนั้นเป็นอย่างแจว ๒ ข้างคนเดียว เห็นได้ว่าเอาอย่างมาแต่เรือสำปั้นจีน เช่นใช้เป็นเรือจ้างที่เมืองสิงคโปร์และปินัง เป็นแต่ต่อให้เรือเพรียวเพราะสายน้ำแรง เรือพะม่าเหล่าที่ว่ามานี้หาผลประโยชน์ตามหมู่บ้านที่เรือกำปั่นไฟไม่แวะ หรือที่มีหาดน้ำตื้นออกไปไกลเรือกำปั่นเข้าไม่ถึง และใช้ในลำน้ำตื้นๆ ที่เรือกำปั่นไม่กล้าเข้า เที่ยวรับจ้างได้พอเลี้ยงตัว เรือพะม่าพวกเหล่านี้จึงยังมีอยู่ แต่จำนวนคงน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก แพซุงและแพบรรทุกสินค้าเช่นหม้อน้ำเคลือบที่ทำ ณ เมืองบาโม (บ้านหม้อ) เป็นต้น ก็พบเนืองๆ เขาว่าสินค้าในตอน “แผ่นดินแห้ง” Dry Zone นี้ มีข้าวเปลือกกับฝ้ายและน้ำตาล Jaggery (ว่าเป็นน้ำตาลดำ) เป็นสำคัญ ข้าวเปลือกเอาไปส่งโรงสืไฟตามเมืองรายทาง ฝ้ายส่งขึ้นไปขายทางเมืองจีน และน้ำตาลดำส่งลงมาขายที่เมืองร่างกุ้ง นอกจากนั้นก็มีไม้ขอนสักและสินค้าเบ็ดเตล็ดเช่นเขาและหนังสัตว์ ส่งลงไปขายที่เมืองร่างกุ้งเหมือนกัน
ลำน้ำเอราวดีตอนที่เรือล่องลงมาวันแรก ออกจากเมืองมัณฑเลผ่านเมืองอมรบุระ เมืองสะแคง และเมืองอังวะมาโดยลำดับ เมื่อใกล้ถึง “สะพานอังวะ” ที่ทำข้ามแม่น้ำเอราวดี แลเห็นพระเจดีย์ในราชธานีทั้ง ๔ เมืองนั้นในขณะเดียวกัน เพราะเมืองตั้งใกล้ๆ กันดังกล่าวมาแล้ว สะพานอังวะเป็นสะพานเหล็กอย่างเปิดไม่ได้ เรือกำปั่นต้องลอด เขาบอกว่าเรือกำปั่นของบริษัทลอดได้เสมอ เว้นแต่ปีไหนน้ำขึ้นสูงผิดปกติจึงลอดไม่ได้ แต่ก็เพียงสักสองสามวัน เมื่อเรือผ่านเมืองสะแคงแลเห็นเทือกภูเขาอยู่ใกล้ลำน้ำ มีพระเจดีย์วิหารก่อรายตามยอดและไหล่เขาแลดูครึกครื้นดี ทั้งในลำน้ำตอนนี้เรือก็ล่องสะดวก ด้วยมิใคร่มีหาดออกมาไกลนัก เขาเล่าว่าข้างใต้เมืองอังวะแห่งหนึ่ง มีเทือกศิลาภูเขาเมืองสะแคงออกมาเป็น “สะพานหิน” ขวางอยู่ใต้น้ำ แต่ก่อนในฤดูแล้งเวลาน้ำงวด เรือกำปั่นขึ้นไปได้เพียงถึงสะพานหินก็ต้องหยุด พระเจ้ามินดงเห็นเป็นที่คับขัน จึงให้สร้างป้อมทั้ง ๒ ฟาก เมื่ออังกฤษยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพะม่าครั้งหลัง พระเจ้าสีป่อก็ให้เอาเรือกำปั่นเก่าๆ ของหลวงมาจมขวางร่องน้ำที่สะพานหิน หวังจะให้กีดขวางทางเรืออังกฤษ แต่นานมาเรือที่จมไว้ตรงนั้นกันสายน้ำให้แปรไปกัดตลิ่งที่พ้นเทือกสะพานหินกลายเป็นลำน้ำ เดี๋ยวนี้ที่ตรงนั้นเรือขึ้นล่องได้สะดวกทุกฤดู บริษัทเลยเอาวิธีจมเรือขวางน้ำไปแก้ที่อื่นก็ได้ผลอย่างเดียวกัน คิดดูก็ชอบกล ถึงบังคับสายน้ำเอราวดีไม่ได้ ก็อาจจะ “ยั่ว” ให้เปลี่ยนไปได้ดังประสงค์ ค่ำวันนั้นเรือจอดพักที่ใกล้ปากน้ำชินด์วิน ที่บริษัทบอมเบเบอม่าได้รับอนุญาตทำป่าไม้สักแล้วเลยเป็นเหตุให้อังกฤษวิวาทกับพะม่าเมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม พอรุ่งสว่างเขาก็ออกเรือแต่เวลาพวกเรายังไม่ตื่นนอน มาแวะรับสินค้าที่สถานีแห่งหนึ่งแล้วล่องต่อมา แม่น้ำเอราวดีตั้งแต่ใต้ปากน้ำชินด์วิน น้ำทั้ง ๒ แม่น้ำมารวมกันทำให้สายน้ำแรงกัดตลิ่งพังลึกเข้าไปกว่าทางข้างเหนือมาก ที่บางแห่งดูไปจากฟากข้างหนึ่งแลเห็นทิวไม้ฟากข้างโน้นแต่ลิบๆ ในหนังสือนำทางว่ากว้างถึง ๑๐๐ เส้น แต่ในตัวแม่น้ำเองเป็นหาดทรายใหญ่น้อยเต็มไปทั้งนั้น ที่บางแห่งทางน้ำไหลแยกเป็นหลายสาย แบ่งเอาน้ำไปเสียทางอื่นทำให้ร่องทางที่เรือเดินตื้นขึ้น และมีหาดยื่นออกมาให้ร่องน้ำคดเคี้ยว เรือจึงขึ้นล่องยากในตอนนี้ดังพรรณนามาแล้ว เรือถึงตำบลหนองอู Hnaung U ท่าขึ้นเมืองพุกาม เวลา ๑๐ นาฬิกา พวกเราขึ้นบกที่นั่น เป็นอันได้มาเรือด่วนลำชื่อ “อัสสัม” Assam เพียงนี้
วันที่ ๓๐ วันที่ ๓๑ มกราคม และวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พักอยู่ที่เมืองพุกาม
วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ลงเรือไฟด่วนของบริษัทอีกลึe ๑ ชื่อ “เซลอน” Ceylon เป็นเรืออย่างเดียวกันกับลำที่มาจากเมืองมัณฑเล ออกจากบ้านหนองอูเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา ล่องลงมาตอนนี้ผ่าน “ภูเขามหาคิรี” ซึ่งพะม่ามักเรียกกันเป็นสามัญว่าภูเขา “โปปา” Popa (ดูราวกับจะเพี้ยนมาแต่คำ “ภูผา” ภาษาไทย) ภูเขานั้นอยู่ทางฝั่งตะวันออก ห่างเมืองพุกามไปสัก ๙๐๐ เส้น แม้อยู่ไกลถึงเพียงนั้นก็แลเห็นตระหง่าน ด้วยเป็นเขาทะโมนอยู่กลางทุ่ง สูงกว่า ๗๖๒ วา (๕,๐๐๐ ฟุต) ใครที่ได้เคยเห็นภูเขาไฟมาแล้ว เห็นภูเขามหาคิรีก็รู้ทันทีว่าเคยเป็นภูเขาไฟอยู่ก่อน เช่นเดียวกันกับภูเขาหลวงที่เมืองสุโขทัย เพราะภูเขาไฟยอดเป็นปากปล่องรูปผิดกับยอดภูเขาอย่างอื่น แต่ไฟทั้งที่ขึ้นทางภูเขาหลวงและภูเขามหาคิรีเห็นจะดับมาเสียหลายพันปีแล้ว จึงไม่มีวี่แววปรากฏอยู่ในพื้นเมืองแม้ในจดหมายเหตุเก่าที่สุด ว่าภูเขานั้นเคยเป็นภูเขาไฟ ปล่องที่ยังมีอยู่ไม่มีใครรู้ว่าปล่องอะไร ก็สันนิษฐานกันไปต่างๆ เช่นที่ภูเขาหลวงเมืองสุโขทัยสมมติกันว่าเป็นทางสำหรับพวกนาคขึ้นมาจากบาดาล ดังกล่าวในพงศาวดารเหนือตอนว่าด้วยกำเนิดพระร่วง ที่ภูเขามหาคิรีพวกพะม่าก็สมมตว่าเป็นเมืองของพวกอมนุษย์ที่เรียกว่า “แน๊ต” Nat (พิเคราะห์ดูตรงกับที่ไทยเรียกว่า “ผี” คือคนตายแล้วแต่ยังท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก เพราะวิญญาณยังไม่ไปปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นอย่างอื่น อธิบายข้อนี้มีเรื่องที่เมืองมัณฑเลเป็นอุทาหรณ์ ว่าครั้ง ๑ ในรัชชกาลพระเจ้ามินดง ผีแน๊ตที่ศาลแห่งหนึ่งดุร้ายทำให้เกิดภัยอันตรายแก่ผู้คนจนร้อนถึงพระเจ้ามินดง จึงโปรดให้ทำพิธีส่งวิญญาณด้วยประการอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วตรัสว่าผีแน๊ตนั้นไปปฏิสนธิแล้วให้รื้อศาลเสียเถิดคนจะได้หายครั่นคร้าม ผู้แต่งหนังสือเล่าต่อไปว่าอยู่มาพระเจ้ามินดงประชวร มีอาการให้จุกแดกเป็นกำลัง หมอหลวงถวาย พระโอสถเสวยก็ไม่หาย พวกข้าเฝ้าปรึกษากันเห็นว่าคงเป็นด้วยถูกผีแน๊ตที่ดำรัสสั่งให้รื้อศาลกระทำร้าย ด้วยยังมิได้ไปเกิดใหม่ดังพระราชบริหาร จึงให้กลับทำศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้ามินดงก็หายประชวร ในเมืองพะม่าเชื่อถือกันทั่วไปว่ามีผีแน๊ต แต่โดยมากเป็นผีที่นับถือกันฉะเพาะถิ่น มีผีที่ขึ้นชื่อลือนามทั้งบ้านทั้งเมืองนับถือกันเป็น “ผีหลวง” เรียกว่า “แน๊ตมิน” Nat Min แต่ ๓๙ ตน และมีตำราเรียกว่า “มหาคีตะเมคะนี” Maha Gita Megani ว่าด้วยผีหลวงเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกะพยุหะ Lawka Bayuha อyนเป็นต้นตำราประเพณีเมืองพะม่า เซอรยอชสก๊อต ผู้เรียบเรียงหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือ Upper Burma Gazetteer กล่าวว่าหนังสือมหาคีตะเมคะนีนั้นมีรายชื่อและเรื่องประวัติของผีหลวงทั้ง ๓๙ ตน และบอกระเบียบพิธีลงผี เป็นต้นว่าคนทรง (ซึ่งเป็นผู้หญิงโดยมาก แต่ผู้ชายก็มีบ้าง) จะทรงเจ้าผีตนไหนต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องใช้คำขับอย่างไร ฟ้อนรำอย่างไร และพวกปี่พาทย์ต้องทำหน้าพาทย์เพลงอะไรสำหรับผีหลวงตนนั้น และว่างานพิธีลงผีในเมืองพะม่าทั้งที่ทำเป็นงานหลวงและเป็นงานชะเลยศักดิ์ทำตามตำรามหาคีตะเมคะนีทั้งนั้น
ในบัญชีผีแน๊ต ๓๙ ตนนั้น สมมตพระอินทร์ เรียกว่า “สักร” เป็นเจ้าของผีนับเป็นองค์ต้น อ้างว่าเพราะเป็นใหญ่แก่หมู่ผีแน๊ตทั้งสิ้น และย่อมเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาประทานพรแก่มนุษย์เมื่อสงกรานต์ปีละครั้ง ๑ เป็นนิจ (แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะเพิ่มพระอินทร์เข้าในบัญชีผีหลวงต่อชั้นหลัง) ถัดแต่พระอินทร์มาก็ถึงผีหลวงที่เขามหาคีรีว่าเป็นใหญ่กว่าเพื่อน มีเรื่องประวัติแปลกมาก ว่าในอดีตกาลนานมาราวเมื่อ พ.ศ. ๘๐๐ ที่เมืองตะโก้งมีช่างตีเหล็กคนหนึ่งชื่อ งะตินดอ Nga Tin Daw มีลูก ๒ คน ๆ ใหญ่เป็นผู้หญิงชื่อ ชเว มรัต หละ Shwe Myat Hla คนน้องเป็นผู้ชายชื่อ งะตินเด Nga Tin De และงะตินเดนั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้นเรียนรู้วิชาอาคมอยู่คงและเป็นคนเก่งกาจ (ชะรอยจะมีพรรคพวกมากด้วย) จนเจ้าผู้ครองเมืองตะโก้งเกรงว่าจะเป็นขบถ สั่งให้จับก็ตามหาตัวไม่ได้ เจ้าตะโก้งจึงคิดอุบายขอนางชเวมรัตหละพี่สาวไปเป็นนางในแล้วยกขึ้นเป็นมเหสี และบอกนางว่าจะตั้งน้องชายให้กินเมือง ให้นางมเหสีเรียกตัวมาเฝ้า ฝ่ายงะตินเดเห็นว่าเจ้าตะโก้งรักใคร่พี่สาวก็เข้าไปเฝ้าโดยดี พอเข้าไปถึงในวังเจ้าตะโก้งก็สั่งให้จับประหารชีวิต แต่งะตินเดอยู่คงฟันแทงไม่เข้า จึงเอาตัวมัดกับต้นสะคะ Saga ที่ในวังแล้วเอาไฟคลอก นางมเหสีรู้วิ่งออกไป เห็นเขาเอาไฟคลอกงะตินเดก็ตรงเข้าไปกอดน้องชายตายด้วยกันในกองไฟ เจ้าตะโก้งสั่งให้ดับไฟก็ไม่ทัน ไฟไหม้ตัวศูนย์หมดเหลืออยู่แต่หัวทั้ง ๒ คน ก็กลายเป็นผีแน๊ตสิงอยู่ที่ต้นสะคะนั้น เป็นผีดุร้ายใครเข้าไปใกล้กรายก็เอาชีวิตเสีย เกิดเป็นเภทภัยร้ายกาจขึ้นในวัง เจ้าตะโก้งจึงให้ถอนต้นสะคะนั้นไปทิ้งเสียในแม่น้ำเอราวดี น้ำพาไหลลอยลงมาติดอยู่ที่หาดเมืองพุกาม แต่แรกใครเข้าไปใกล้กรายก็ทำร้ายเหมือนหนหลัง จนร้อนถึงพระเจ้าสินติคยอง Thinti Kyaung ซึ่งครองเมืองพุกามอยู่ในเวลานั้น ให้บนบวงโดยไมตรีจิต ผีแน๊ตทั้ง ๒ จึงไปเข้าพระสุบินทูลให้ทราบเรื่องที่มีมาแต่หนหลัง พระเจ้าสินติคยองก็ให้เอาต้นสะคะนั้นไปปลูกไว้ที่ภูเขามหาคิรี และทำศาลประทานผีแน๊ตทั้ง ๒ ให้อยู่เป็นสุข ณ ที่นั้น ผีจึงกลับมีไมตรีจิตทำคุณให้ชาวเมืองพุกาม ๆ ก็พากันนับถือเซ่นวักแต่นั้นมา ครั้นถึงสมัยพระเจ้าคันชิต Kyanzittha (เป็นคำภาษามคธเรียกตามเสียงพะม่า ฉันนึกว่าอาจจะเป็นคำ คันชิต) ราชบุตรของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช ได้เสวยราชย์ ณ เมืองพุกาม (แต่ พ.ศ. ๑๖๒๗ จน พ.ศ. ๑๖๕๕) ผีแน๊ตงะตินเดทำความชอบช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระเจ้าคันชิตด้วยประการต่างๆ จนได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช (นับเป็นพระเจ้ามหาราชองค์ ๑ ในพงศาวดารพะม่า) พระเจ้าคันชิตจะสนองคุณงะตินเด จึงได้สร้างศาลพระราชทานใหม่ใหญ่โต และให้มีงานบวงสรวงประจำปีในเดือน ๗ เสมอมา นอกจากนั้นประกาศสั่งพวกชาวเมืองให้สักการบูชาผีแน๊ตงะตินเดด้วย จึงเกิดประเพณีสร้างศาล (อย่างศาลพระภูมิ) เอาลูกมะพร้าวตั้งไว้แทนศีรษะงะตินเดเป็นที่บูชาทุกบ้านเรือน ถ้าใครเจ็บไข้ไม่สบายก็ไปบนบวง หรือถ้าเห็นลูกมะพร้าววิปริตไปอย่างไรก็ต้องหาที่ดีมาเปลี่ยนใหม่ ด้วยกลัวผีจะทำร้าย แม้ทุกวันนี้บ้านที่ถือกันเช่นว่าก็ยังมีอยู่มาก ตั้งแต่พระเจ้าคันชิตทรงอุปการะยกย่องผีแน๊ตงะตินเดก็ได้นามว่า “มหาคิรีแน๊ตมิน” น่าแปลว่า “ปู่เจ้าเขามหาคิรี” อย่าง “ปู่เจ้า” ในเรื่องพระลอ จึงเป็นเทพารักษ์หลักพระนครสืบมา ถึงทำศาลทรงสักการบูชาที่ในราชมณเฑียรดังกล่าวมาแล้วในตอนพรรณนาราชวังเมืองมัณฑเล และยังมีเรื่องต่อมาอีกถึงชั้นหลัง ว่าพระเจ้าปะดุง (ซึ่งเสวยราชย์ตรงกับรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ทำนองจะได้บนบวงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ผลสมพระประสงค์) ตรัสสั่งให้ทำ (หล่อ) รูปศีรษะงะตินเดกับศีรษะนางชเวมรัตหละส่งไปไว้ยังเมืองพุกาม เมื่อถึงงานลงผีที่เขามหาคิรีให้เจ้าเมืองเชิญแห่ไปตั้งให้คนบูชามาทุกปี ครั้นเสียเมืองพะม่าแก่อังกฤษ เวลาเมื่อบ้านเมืองยังเป็นจลาจล รัฐบาลอังกฤษให้เอาศีรษะทั้ง ๒ นั้นเก็บไว้ในคลังที่เมืองพุกามจนบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว จะมอบให้เอาไปไว้ที่เขามหาคิรีสำหรับราษฎรทำพิธีลงผีเหมือนอย่างแต่ก่อน พวกพะม่าไม่กล้ารับผิดชอบที่จะรักษาให้ปลอดภัย เพราะถึงชั้นนี้เมืองพุกามลดลงเป็นแต่อย่างอำเภอ รัฐบาลจึงให้ส่งศีรษะทั้ง ๒ มารักษาไว้ที่หอสมุดเบอนาดในเมืองร่างกุ้งจนบัดนี้
เจ้าผีแน๊ตของพะม่าต่อมาใน ๓๕ ตนนั้น พิจารณาตามหนังสือซึ่งอาจารย์ตอเซียนโกแปลไว้ดูประหลาดที่มีผีบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนเป็นราษฎรสามัญ มีทั้งผีผู้ชายผู้หญิงและเด็กผู้ใหญ่ น่าพิศวงว่าจะอาศัยเกณฑ์อันใดเป็นหลักในการเลือกพิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเห็นพ้องกันมากแต่ที่มักถูกผู้อื่นผลาญชีวิต (อย่างไทยเราเรียกว่าเป็น “ผีตายโหง”) แต่มิได้ตายเพราะประพฤติทุจริต จะเล่าพอให้เห็นเป็นอุทาหรณ์อีก ๒ เรื่อง เรื่อง ๑ เป็นผีลูกฝาแฝด มีเรื่องประวัติว่าเมื่อราวพ.ศ. ๑๕๐๐ มีเรือมาค้าขายจากอินเดียลำ ๑ ถึงอับปางที่อ่าวเมืองสะเทิม ชาวอินเดียที่มาในเรือนั้นมีเด็กชาย ๒ คนพี่น้องเป็นลูกฝาแฝด ชื่อ บรัตวี Byat Wi คนหนึ่ง ชื่อ บรัตโต Byat To คนหนึ่ง คลื่นซัดขึ้นฝั่งรอดได้ไป อาศัยพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งพระผู้เป็นอาจารย์พาไปในป่า ไปพบซากศพฤๅษีนอนตายอยู่ พระอาจารย์พิจารณาแล้วบอกเด็กพี่น้องนั้นว่า ลายยันต์ที่สักตัวฤๅษีเป็นแบบวิทยาคมอย่างสำคัญนัก ให้ช่วยกันยกเอาศพฤๅษีไปยังวัด ในค่ำวันนั้นพี่น้อง ๒ คนอยากจะได้วิทยาคม จึงชวนกันไปลอบเฉือนเนื้อศพฤๅษีที่ตรงยันต์มาต้มกินก็บันดาลให้เกิดกำลังวังชา อาจจะไปไหนๆ ได้รวดเร็วและทนทานยิ่งคนอื่นๆ แต่บรัตวีคนพี่ชายยังไม่ทันสำแดงอิทธิฤทธิ์ ลอบไปเป็นชู้กับหญิงสาวซึ่งเจ้าเมืองสะเทิมได้ขอสู่ไว้ ถูกจับประหารชีวิตเสียที่เมืองสะเทิม บรัตโตน้องชายจึงหนีไปอยู่เมืองพุกามในสมัยเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์เสวยราชย์ (ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๘๗ จน ๑๖๒๘) พระเจ้าอนุรุทธ์เห็นว่ามีกำลังไปไหนได้รวดเร็วอดทนแปลกกว่าคนอื่น จึงให้เป็นพนักงานไปเก็บดอกไม้ที่ภูเขามหาคิรีมาถวายทุกวัน บรัตโตไปได้หญิงชาวบ้านที่เชิงเขามหาคิรีนัยหนึ่งว่าเป็นนางยักษ์เป็นเมีย วันหนึ่งนอนกับเมียตื่นสายไปเอาดอกไม้เข้ามาถวายไม่ทันเวลา พระเจ้าอนุรุทธ์กริ้วสั่งให้ประหารชีวิตเสีย แต่เวลานั้นเมียมีครรภ์อยู่ เมื่อคลอดเป็นลูกแฝดผู้ชายทั้ง ๒ คน เด็กนั้นได้กำลังวังชาของพ่อสืบสายโลหิตมา เมื่อเติบใหญ่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก พระเจ้าอนุรุทธ์ทรงพระเมตตาใช้สอยฝึกหัดให้รบพุ่งจนได้เป็นนายทหารเอก ทำความชอบได้พระราชทานพานทองเป็นบำเหน็จทั้ง ๒ คน คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “ชเวยินคยี” She Byin Cyi แปลว่าพานทองใหญ่คน ๑ เรียกว่า “ชเวยินเง” Shwe Byin Nge แปลว่าพานทองน้อยคน ๑ ในบัญชีเจ้าผีก็เรียกชื่อเช่นนั้น ครั้นเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ยกกองทัพไปตีเมืองจีน (มีอัตถาธิบายว่าคือ “เมืองนันเจา” เดี๋ยวนี้จีนเรียกว่าเมือง “ตาลิฟู” แต่ในสมัยนั้นยังเป็นเมืองไทย จีนได้เป็นอาณาเขตต์ต่อภายหลัง) มีชัยชะนะแล้ว ยกกองทัพกลับมาถึงท่าที่จะลงเรือ ณ เมือง “ตองบะยน” Taung Byon (อยู่ข้างเหนือเมืองมัณฑเลไปไม่ไกลน้ก) ดำรัสสั่งให้สร้างพระเจดีย์ “สุดองบยี” Su Daung Byi แปลว่าพระเจดีย์สมประสงค์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองจีน ในการสร้างพระเจดีย์นั้นตรัสสั่งกำชับว่าให้บรรดาผู้ที่ไปทัพครั้งนั้นทั้งนายและไพร่หาอิฐมาก่อคนละแผ่นรายตัวทั่วทุกคน ถ้าใครไม่ทำตามรับสั่งจะประหารชีวิตเสีย พี่น้องพานทองใหญ่กับพานทองน้อยเผอิญเล่นถั่ว Playing Beans กันเพลินไป ไม่ได้เอาอิฐไปก่อพระเจดีย์ตามรับสั่ง เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์เสด็จไปฉลองพระเจดีย์ ทอดพระเนตรเห็นมีช่องขาดอิฐอยู่ ๒ แผ่น ให้ไต่สวนได้ความจริงจึงตรัสสั่งให้ประหารชีวิตพี่น้อง ๒ คนนั้นเสีย วิญญาณก็กลายเป็นผีแน๊ต เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ลงเรือพระที่นั่งจะมาจากเมืองตองบะยน ผีแน๊ตทั้ง ๒ บันดาลให้เรือติดล่องลงมาไม่ได้ แล้วไปเข้าพระสุบินทูลว่าตัวตายไปเป็นผีแน๊ตยังไม่มีที่จะอยู่ พระเจ้าอนุรุทธ์จึงให้สร้างศาลประทานที่ริมบริเวณพระเจดีย์นั้น นัยว่ารอยอิฐขาด ๒ แผ่นที่พระเจดีย์ซึ่งพระเจ้าอนุรุทธ์สร้างยังปรากฏอยู่ และชาวเมืองยังมีงานลงผีพานทอง ๒ คนในเดือน ๘ เสมอทุกปีจนบัดนี้
อีกเรื่องหนึ่งเป็นผีเจ้า ว่าเมื่อพระเจ้าอลองคะสิทธุ (ในหนังสือราชาธิราชเรียกว่าพระเจ้าอลังคจอสู) ครองราชสมบัติ ณ เมืองพุกาม (ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๕๕ จน พ.ศ. ๑๗๑๐) มีราชบุตรกับมเหสีฝ่ายเหนือ ๒ องค์ ทรงนามว่า สิทธุ Sithu องค์หนึ่ง กะยอชวา Kyauswa องค์หนึ่ง มีราชบุตรกับมเหสีฝ่ายใต้องค์หนึ่งทรงนามว่า Shwe Laung พระเจ้าอลองคะสิทธุจะให้เจ้าชเวลองเป็นรัชชทายาท แต่เกรงว่าเจ้าอีก ๒ องค์จะคิดร้าย จึงให้เจ้า ๒ องค์ที่เป็นลูกมเหสีฝ่ายเหนือไปครองหัวเมืองไกลต่อแดนกะเหรี่ยง เจ้ากะยอชวาไปได้หญิงคนขายสุราเป็นหม่อมห้ามแล้วรักใคร่ลุ่มหลง หญิงนั้นเลยพาให้เป็นนักเลงสุราเมามายไม่เอาการงาน ชอบแต่เที่ยวเล่นชนไก่มักวิวาทบาดทะเลาะกับพวกไพร่บ้านพลเมือง จนเจ้าสิทธุพี่ชายทนไม่ไหวให้ฆ่าเสีย เจ้ากะยอชวากลายเป็นผีแน๊ตมีความโกรธแค้น กระทำเอาเจ้าสิทธุจนตาย เจ้าทั้ง ๒ องค์นั้นจึงเลยได้เป็นเจ้าผี มีศาลอยู่ที่เมืองมะยองตุยวา Myaungtuywa จนบัดนี้ ผีแน๊ตแต่ละตนดูเป็น “ผีดุ” ทั้งนั้น น่าจะเป็นด้วยเหตุนั้นเองที่ทำให้คนทั้งหลายนบนอบยำเกรง
พิธีลงผีที่พรรณนาไว้ในตำรามหาคีตะเมคะนีนั้นดูเป็นการใหญ่มาก ถึงเทศกาลลงผีที่ศาลอยู่ตำบลไหน พวกชาวบ้านชาวเมืองก็พากันไปประชุมที่ตำบลนั้น ทำนองเดียวกันกับไทยเราขึ้นพระบาท ปลูกโรงพิธีที่หน้าศาลกับทั้งโรงพักผู้คนและปะรำออกร้านขายของ (เช่นงานภูเขาทองในกรุงเทพฯ) มีการเล่นมหรสพต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องปลูกเรือนให้พวกคนทรงพัก เพราะยกย่องว่าเป็นคนโปรดของเจ้าผี ถ้าเป็นผู้หญิงก็สมมติว่าเป็นหม่อมห้ามของเจ้าผีตนที่ลงนั้น เห็นจะได้ลาภผลมากพอเลี้ยงตัว จึงมีผู้สมัครเป็นคนทรงอยู่เสมอมิได้ขาด ถึงวันทำพิธีคนทั้งหลายกับทั้งพวกปี่พาทย์ไปประชุมกันที่โรงหน้าศาล การลงผีนั้นเริ่มด้วยคนทรงออกมาบูชาและเส้นสุรามังสาหารต่างๆ ที่หน้าเจว็ด ปี่พาทย์ประโคมเวลาบูชาเป็นครั้งแรก ในชั้นนี้คนทรงยังแต่งตัวอย่างปกติ เมื่อบูชาแล้วจะเข้าเจ้าผีตนไหน คนทรงก็ไปแต่งตัวอย่างเจ้าผีตนนั้น ตามที่พรรณนาไวในตำรามหาคีตะเมคะนี กลับออกมานั่งสำรวมใจเชิญผี พอผีเข้าสิงแล้วก็ลุกขึ้นทำท่าทางวางกิริยาอย่างผีตนนั้น เช่นทรงเจ้าผีกะยอชวาที่กล่าวมาแล้ว ก็ทำท่าทางเป็นอย่างคนเมาสุราและกิริยาเล่นชนไก่ ถ้าทรงเจ้าผีที่เป็นผู้หญิงกิริยาก็แช่มช้อยชะม้อยชะม้าย ถ้าทรงผีเด็กกิริยาก็เป็นอย่างทารกชอบเล่นตุ๊กตาเป็นต้น แล้วกล่าวคำ ode ประกาศแก่คนทั้งหลาย เซอรยอชสก๊อตแปลแบบคำประกาศของปู่เจ้าเขามหาคิรีพิมพ์ไว้เป็นกาษาอังกฤษ มีเนื้อความขึ้นต้นบอกชื่อกับเครื่องแต่งตนและเล่าเรื่องประวัติของตนให้คนรู้จัก (สันนิษฐานว่าถ้าใครมีกิจธุระจะไต่ถามเจ้าผี ก็เห็นจะถามและตอบกันในตอนนื้) แล้วเจ้าผีให้โอวาทสั่งสอนคนทั้งหลายให้ประพฤติตัวสุจริต อย่าเบียดเบียฬกันและกัน ให้รักษาความสัตย์ซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน (ความตอนนี้ส่อให้เห็นเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุดหนุนพิธีลงผี) แล้วอำนวยพรแก่คนทั้งหลายที่ได้ช่วยกันทำการพิธีทั่วทุกคน พอหมดคำประกาศพวกปี่พาทย์ก็ทำเพลงดนตรีให้เจ้าผีฟ้อนรำต่อไป เมื่อฟ้อนแล้วผีก็ออกจากคนทรง ถ้าทรงผีหลายตนก็เปลี่ยนคนทรงมาเชิญผีตนอื่นเข้าสิงต่อๆ ไปทีละตนโดยทำนองเดียวกัน ปรากฏว่าที่บางแห่งเชิญเจว็ดเจ้าผี ณ ที่ต่างๆ หลายตนไปทำพิธีพร้อมกันก็มี
พิเคราะห์การถือผีของไทยเราก็ดูคล้ายกับพะม่า เชื่อกันว่ามีผีอยู่ทั่วทุกแห่ง ที่เป็นผีไม่มีศาลเรียกกันว่า “ผีท้องเลว” ก็มี ที่เป็นผีมีคนนับถือสร้างศาลให้อยู่ยกย่องเป็นชั้นสูง เรียกกันว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ เช่น “เจ้าพ่อหอกลอง” และ “เจ้าแม่ทับทิม” เป็นต้นก็มี หากไทยเราไม่มีตำราอย่างมหาคีตะเมคะนีของพะม่า หรือมีแต่ศูนย์เสียนานแล้ว ความรู้เรื่องประวัติของเจ้าผีเหล่านี้จึงศูนย์ไปเสีย แม้เจ้าผีเองที่ลืมกันศูนย์ไปเสียแล้วก็คงมีไม่น้อย การถือผีในเมืองไทยแต่โบราณก็อาจจะมีพิธีรีตองเป็นการใหญ่ ข้อนื้มีเค้าเงื่อนอยู่ในกฎมณเฑียรเก่าตอนว่าด้วย “พิธีเบาะผก” วัตถุที่ฉลองในการทำพิธีนั้นเรียกว่า “แม่ยั่วพระพี่” ดูทำนองเป็นเจว็ดผีเชิญขึ้นพระราเชนทรยานแห่แหนเป็นการใหญ่ การเชิญผีเข้าคนทรงก็มีในเมืองไทยมาแต่โบราณ แต่เห็นจะมาเสื่อมลงตั้งแต่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตดูหนังสือที่แต่งในสมัยนั้น เช่นในบทละครเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เมื่อกล่าวถึงคนทรงลงผี สำนวนดูหมิ่นไม่นับถือ ถึงกระนั้นก็ยังมีการเชิญผีเข้าคนทรงอยู่ไม่ขาด เมื่อฉันยังเป็นเด็กได้เคยเห็นเองครั้ง ๑ คนทรงเป็นผู้หญิงอายุสัก ๔๐ ปี ก่อนจะเชิญผีเข้าคนทรงต้องอาบน้ำชำระกายให้สะอาด แล้วแต่งตัวนุ่งผ้าลายสีแดงลอยชาย ห่มแพรแถบสีแดงพาด ๒ บ่าเหมือนอย่างผู้ชาย นั่งประนมมือถือธูปจุดไฟหลายดอกกำไว้ในมือ หลับตาสำรวมใจเชิญผีอยู่หลายนาฑี เมื่อแรกผีจะเข้านั้นมือคนทรงที่ถือธูปเริ่มสั่นน้อยๆ แล้วสั่นหนักขึ้นทุกทีจนธูปหล่นร่วงจากมือแล้ว คนทรงเปลี่ยนท่าเป็นนั่งขัดสมาธิวางมือพาดหัวเข่าทั้ง ๒ ข้างโยกตัวไปมาไม่หยุด ก็รู้ว่าผีเข้าแล้ว คนที่นั่งดูอยู่ถามว่า “ท่านเป็นเจ้าองค์ไหน” ผีตอบว่า “ข้าเป็นเจ้าพ่อพระประแดง” แต่นี้ใครจะถามกิจการอันใดก็ถาม ผีก็ตอบอย่างสั้นๆ ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่คนผู้พูดกับผีใช้สรรพนามเรียกตนเองว่า “ลูกช้าง” จะมีมูลมาอย่างไรฉันยังคิดไม่ออกจนเดี๋ยวนี้ พูดกันพอสิ้นข้อถามสักประเดี๋ยวเจ้าผีว่า “ข้าไปละนะ” พอว่าเท่านั้น คนทรงก็สั่นเทิ้มไปทั้งตัวจนล้มฟุบลงกับที่ เมื่อฟื้นขึ้นเหงื่อแตกโทรมตัวดูอ่อนเพลียต้องพักอยู่สักครู่หนึ่งจึงลุกไปได้ ฉันได้เคยเห็นทรงผีอย่างไทยครั้งเดียวเท่านั้น แต่ได้ยินว่าในปัจจุบันนี้การทรงผีก็ยังมี แต่ลอบทำกันอย่างปกปิด น่าจะเป็นเพราะเคยมีประกาศห้ามและถูกจับกุมมาแต่ก่อน จึงไม่กล้าทรงผีโดยเปิดเผยเหมือนอย่างพวกจีน เขาว่าภิกษุสงฆ์ในเมืองพะม่ารังเกียจการถือเจ้าผีนัก ไม่ยอมเกี่ยวข้องพ้องพานด้วยทีเดียว เรื่องทรงผียังมีประหลาดอีกอย่าง ๑ ที่ฝรั่งกลับพากันเชื่อถือขึ้นแพร่หลายในสมัยนี้ เรียกว่า สปิริชวลลิสัม Spiritualism เดิมก็เป็นแต่เชิญผีเข้าสิงสิ่งของเช่นโต๊ะและถ้วยแก้วเป็นต้น แล้วไต่ถามให้ผีตอบเพียงรับหรือปฏิเสธคำที่ถามนั้น ต่อมาในบัดนี้ถึงเชิญเข้าคนทรงแล้ว เมื่อคิดดูก็คือเอาอย่างชาวตะวันออกไปทำ เมื่อเขาทำกันมาหลายร้อยปีจนจืดแล้ว
เรือล่องพ้นเขตต์เมืองพุกามเข้าเขตต์เมืองเยนันคยอง Yenan Gyaung แปลว่าถิ่นน้ำมันดิน แต่โบราณเป็นปลายแดนพะม่าต่อกับมอญ เคยเป็นเหตุให้พระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องรบพุ่งกัน เพราะพลเมืองทั้ง ๒ ฝ่ายชิงกันขุดบ่อหาน้ำมันดินที่ตรงนี้ เมื่อเมืองพะม่าตกเป็นของอังกฤษ รัฐบาลให้ชันสูตรตลอดเขตต์ที่มีน้ำมันดิน แล้วกำหนดเป็นแปลงละไมล์ (๔๐ เส้น) จตุรัส ได้ ๒๖ แปลง บางแปลงอนุญาตให้ราษฎรหาน้ำมันดินอย่างเดิม บางแปลงอนุญาตให้บริษัทหาน้ำมันดินโดยวิธีอย่างฝรั่ง วิธีราษฎรหาน้ำมันดินนั้นขุดบ่อให้ลึกลงไปจนถึงสายน้ำ แล้วเอาครุผูกเชือกหย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาแยกเอาน้ำมันดินขาย ส่วนวิธีฝรั่งนั้นตั้งร่างร้านและเครื่องจักร ฝังท่อเจาะแผ่นดินลงไปดูดน้ำขึ้นมา แยกเอาน้ำมันดินส่งลงมาประสะที่โรงงานทำน้ำมันประเภทต่างๆ ณ ปากน้ำเมืองร่างกุ้งดังกล่าวมาแล้ว ด้วยฝังท่อจากบ่อให้น้ำมันไหลมาลงเรือสำหรับบรรทุกน้ำมันก็มี ว่าลงทุนฝังท่อให้น้ำมันไหลไปจนถึงโรงงานที่เมืองร่างกุ้งก็มี ที่ซึ่งบริษัทฝรั่งตั้งทำการหาน้ำมันดินมีอยู่ ๓ ตำบล แต่ละตำบลเมื่อผ่านมาแลดูเห็นร่างร้านที่ตั้งตรงปากบ่อสะพรั่งไปราวกับป่าไม้ และมีเรือนโรงที่อยู่ของคนทำการ ทั้งตลาดยี่สานคล้ายกับเมืองอันหนึ่งทุกแห่ง ที่เจาะบ่อน้ำมันดินในตำบล “ละนิวา” Lanywa ข้างฝ่ายเหนือเพิ่งตั้งใหม่ แต่ประหลาดกว่าเพื่อนด้วยตรวจพบทางน้ำมันดินมีลงมาจนถึงใต้แม่น้ำเอราวดี บริษัทพยายามถมหาดให้สูงขึ้นเสมอพื้นแผ่นดิน สำหรับจะได้ตั้งร่างร้านเจาะบ่อเอาน้ำมันที่ตรงนั้น รุกแม่น้ำออกมามาก น่ากลัวดินที่ถมจะทานสายน้ำอยู่ไม่ไหว แต่เขาคงคิดอุบาย “ยั่ว” สายน้ำให้ไปเดินทางอื่นได้แล้ว จึงกล้าลงทุนถมแม่น้ำออกมาเช่นนั้น
เรือหยุดรับสินค้าที่ตำบลละนิวาแล้วล่องต่อมา ตอนนี้ที่กัปตันฝรั่งลงนำร่องเดินเรือกลางคืน จน ๑ นาฬิกาจึงถึงสถานีที่จอดพัก
วันจันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ เรือออกจากสถานีเวลาเช้า ๖.๓๐ นาฬิกา ผ่านย่านบ่อน้ำมันอีก ๒ ตำบล จอดพักที่เมืองเยนันคยองครู่หนึ่งแล้วล่องต่อมา ถึงเมืองมักเว Magwe แวะljงกัปตันบาน A. Barn ที่ได้นำร่องและรับสินค้า แล้วทอดสมอนอนกลางแม่น้ำที่เมืองมักเวนั้น
วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ เรือออกเวลาเช้า ๖.๓๐ นาฬิกาเหมือนวันก่อน ตอนเช้าผ่านตำบลมินหละ Minhla มีป้อมพะม่าสร้างรักษาชายแดน และอังกฤษต้องรบกับพะม่าที่ป้อมนี้มากกว่าที่อื่นเมื่อตีเมืองพะม่าครั้งหลัง ต่อลงมาก็ผ่านเขตต์พะม่าเหนือเข้าเขตต์พะม่าใต้ ถึงเมืองขเยตมโย อังกฤษตั้งเป็นเมืองปลายแดนเมื่อพะม่าเหนือยังมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง เรือจอดรับสินค้าอยู่ชั่วโมงหนึ่งแล้วแล่นต่อมา วันนี้จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบเรือถึงเมืองแปรต่อ ๑๙ นาฬิกา ช้ากว่าปกติถึง ๓ ชั่วโมง พวกเราไม่ประมาทเรียกอาหารเย็นมากินแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา เมื่อเรือถึงเวลามืดค่ำไม่เห็นมีใครมารับ ก่าลังปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี ก็มีพะม่าลงมาหา ๒ คน เวลาที่มาแต่งตัวนุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อกุยเฮง ผู้เป็นหัวหน้าบอกว่าตัวเขาชื่อ อูโปกิน U Po Kin เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการกรมตำรวจ Chief Inspector of Police และเป็นหัวหน้าข้าราชการที่เมืองแปร (ในการปกครองที่ตัวเมืองแปรเป็นแต่อย่างอำเภอ สถานที่ว่าการจังหวัดไปตั้งอยู่ที่อำเภอปองเด Paungde ข้างใต้เมืองแปร ระยะทางรถยนต์ไปสักชั่วโมง ๑) รัฐบาลได้สั่งให้เขาเป็นผู้รับพวกเรา เขาได้คอยรับอยู่จนค่ำมืดพ้นเวลาเรือเคยถึง คาดว่าเรือเห็นจะมาถึงต่อพรุ่งนี้จึงกลับไปบ้าน ตอนค่ำมาเดินเที่ยวอยู่ที่ตลาด คนไปบอกเขาว่าเรือถึงแล้ว จะกลับไปแต่งเครื่องแบบที่บ้านก่อนก็กลัวฉันจะต้องคอยอยู่นานนัก จึงลงมารับทั้งอย่างนั้น ขออย่าให้ฉันถือโทษเลย เขาให้ไปตามรถและคนขนของอยู่แล้ว คงขึ้นได้ในไม่ช้า รออยู่สักประเดี๋ยวเขาก็เชิญให้ขึ้นบก ออกระอาเรื่องที่ต้องปีนตลิ่งอีก ที่เมืองมัณฑเลเป็นขาลงค่อยยังชั่ว ที่เมืองแปรต้องปีนขาขึ้น ทั้งเป็นในเวลาค่ำต้องเดินระวังด้วย ที่บางแห่งเขาเฉาะเป็นขั้นบันไดไว้ให้ขึ้นง่าย ถึงกระนั้นก็ต้องเหนี่อยหอบถึงต้องขอหยุดพักครั้ง ๑ แต่เขาจัดรถยนต์มารับและมีคนขนของพอแก่การ ขึ้นรถไปสักประเดี๋ยวก็ถึงเรือนรับแขกของรัฐบาล
เมืองแปรที่จริงเป็น ๒ เมือง มีเมืองโบราณเรียกว่าเมือง “สารเขตร” อยู่ข้างเหนือ เมืองแปรเป็นเมืองสร้างภายหลังอยู่ข้างใต้ เรื่องตำนานเมืองสารเขตรเกี่ยวเนี่องกับเมืองพุกาม เพราะฉะนั้นจะเอาตำนานเมืองสารเขตรไปเล่าด้วยกันกับเรื่องเมืองพุกามในตอนหน้า รอเรื่องเมืองแปรไว้เล่าอีกตอน ๑ ต่างหากต่อไป.