ตอนที่ ๑๐ เรื่องเที่ยวเมืองแปร

เมืองแปรพะม่าเรียกว่า “ปเย” Pye (เพราะพะม่าพูดเสียงตัว ร ไม่ชัด) มอญ ไทย ยักไข่ เรียกว่า “แปร” เหมือนกัน แต่เหตุไฉนอังกฤษจึงเรียกว่า “โปรม” Prome ข้อนี้ฉันสืบไม่ได้ความ ฝรั่งกับพะม่ายังเรียกชื่อเมืองแปรผิดกันอยู่จนทุกวันนี้ เมืองแปรนั้นที่จริงเป็น ๒ เมือง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำเอราวดีด้วยกัน เมือง ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้างเรียกแต่โบราณว่า “เมืองสารเขตร” Tharekhettra อยู่ห่างแม่น้ำเข้าไปสัก ๑๕๐ เส้น อีกเมืองหนึ่งสร้างต่อภายหลังเรียกว่า “เมืองแปร” อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเอราวดี แต่ในปัจจุบันนี้คนทั้งหลายเรียกรวมกันทั้ง ๒ เมืองว่า “เมืองแปร” ชื่อเมืองสารเขตรยังมีแต่ในหนังสือโบราณและเรียกกันในพวกนักเรียนโบราณคดี

เรื่องตำนานเมืองทั้ง ๒ นั้นมีแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผู้แปลกล่าวว่าต้นฉบับภาษาพะม่าดูเป็นหนังสือแต่งในชั้นหลัง และบ่นต่อไปว่าพะม่าผู้แต่ง ๆ ด้วยรักบ้านเมืองยิ่งกว่ารักความจริง แต่จะว่าเรื่องที่แต่งไว้ไม่มีหลักฐานอันใดเลยก็ว่าไม่ได้ เริ่มเรื่องตำนานด้วยอ้างถึงพระพุทธเจ้าแบบเดียวกับตำนานเมืองอื่นๆ ที่เป็นเมืองสำคัญในประเทศพะม่า ว่าในกาลครั้ง ๑ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ ประทับอยู่บนภูเขาข้างตะวันออกเฉียงเหนือเมืองแปร ทอดพระเนตรเห็นมูลโคกองหนึ่งลอยอยู่ในทะเล และในขณะนั้นมีหนูตัวหนึ่งออกจากกอไม้ไผ่เข้าไปแสดงกิริยาเคารพแทบพระบาทยุคล พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ (คือยิ้ม) พระอานนท์ทูลถาม จึงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ ว่าต่อไปภายหน้าจะเกิดอัศจรรย์ ๕ อย่างในถิ่นนี้ คือ ๑. แผ่นดินไหว ๒. ทะเลจะตื้นขึ้นเป็นแผ่นดิน ๓. ภูเขาที่เสด็จประทับนั้นจะจมทะลายกลายเป็นหนองน้ำ ๔. จะเกิดมีลำแม่น้ำผ่านที่ตรงนั้น และ ๕. จะมีเทือกภูเขาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อเกิดอัศจรรย์ทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว หนูตัวนี้จะเกิดเป็นมนุษย์ได้เป็นพระยามหากษัตริย์ทรงนามว่า “ทุตตะบอง” Tuttabaung สร้างเมืองสารเขตรเป็นราชธานีตรงที่มูลโคลอยอยู่นั้นเมื่อพระตถาคตเข้าพระนิพพานแล้วได้ ๑๐๑ ปี และจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแพร่หลายในประเทศอันนี้ ต่อมาอัศจรรย์ก็เกิดมีทั้ง ๕ อย่างสมดังพุทธทำนาย (พิเคราะห์ดูวิธีที่อ้างถึงพระพุทธองค์และพุทธพยากรณ์นำต้นเรื่องตำนาน คล้ายกับสวดบูชาพระเสียก่อนแล้วจึงเล่าเรื่องตำนาน แต่พุทธพยากรณ์ที่อ้างนำเรื่องตำนานเมืองแปรน่าพิศวงอยู่ เพราะมีเค้าเงื่อนในทางคดีก่อนประวัติศาสตร์ Prehistoric evidence ว่าเหตุทั้ง ๕ อย่างนั้นได้เคยเกิดจริง เนื่องด้วยภูเขาไฟ “มหาคิรี” ระเบิด แต่เป็นเหตุก่อนพุทธกาลหลายพันปี) ส่วนเรื่องตำนานเมืองสารเขตรนั้นว่า เมื่อทะเลตรงนั้นดอนขึ้นเป็นแผ่นดินแล้ว มีมนุษย์ ๓ จำพวก เรียกว่า “กะรัน” Karan พวก ๑ เสต Thet พวก ๑ และพยุ Pyu พวก ๑ มาแต่ต่างทิศ เห็นที่ดินอุดมต่างก็ชอบใจใคร่จะเอาที่ถิ่นนั้นตั้งภูมิลำเนาของพวกตน เกิดรบพุ่งแย่งแผ่นดินกัน พวกกะรันและพวกเสตสู้พวกพยุไม่ได้ ก็พากันอพยพหนีไปอยู่ทางเมืองยักไข่ พวกพยุจึงได้เป็นเจ้าของถิ่นแต่นั้นมา ต่อมาในกาลครั้งหนึ่ง เกิดมีหมูผีขึ้นในถิ่นนั้นตัวหนึ่ง ใหญ่โตร้ายกาจเที่ยวขวิดคนล้มตายมาก ในพวกพยุไม่มีใครจะสู้หมูผีได้ (จึงพากันไปทูล) พระเจ้าสะโดะซึ่งครองเมืองตะโก้งรัชชกาลที่ ๑๗ จึงตรัสสั่งให้มหาอุปราชผู้เป็นพี่มเหสีคุมกำลังลงมาปราบหมูผี เมื่อกำจัดหมูผีสำเร็จแล้ว มหาอุปราช (เห็นถิ่นนั้นเป็นที่สบาย) เกิดเบื่อหน่ายราชการจึงเวนคืนยศศักดิ์ แล้วออกบวชเป็นฤๅษีจำศีลอยู่ที่ในป่าถิ่นนั้น ก็และป่านั้นเป็นที่มีฝูงกวางอาศัย นางกวางตัวหนึ่งเที่ยวกินดินโป่งมาถึงที่ซึ่งพระฤๅษีมักไปถ่ายปัสสาวะ กินเชื้อชาติอันติดอยู่กับปัสสาวะของพระฤๅษีเข้าไปก็ตั้งครรภ์ ครั้นถึงกำหนดคลอดลูกมาเป็นมนุษย์ นางกวางเห็นก็ตกใจวิ่งหนีไป พระฤๅษีได้ยินเสียงเด็กร้องออกไปดูเห็นทารกหญิงทิ้งอยู่กลางป่านึกสงสาร จึงอุ้มมายังบรรณศาลาแล้วอธิษฐาน (เหมือนอย่างมีในนิทานชาดก) ให้เกิดน้ำนมออกทางปลายนิ้วมือเลี้ยงทารกนั้นมาจนเติบใหญ่ ให้นามว่า “เภทารี” Bhedarie อยู่รับใช้สอยปฏิบัติพระฤๅษีมาเหมือนอย่างลูก ครั้นนางเป็นสาวขึ้น พระฤๅษีนึกรังเกียจว่าจะอยู่คลุกคลีกับหญิงสาวหาควรไม่ จะขับไล่ไปเสียเล่าก็สงสารด้วยเกรงจะไปมีภัยอันตราย จึงคิดอุบายทำลูกน้ำเต้าสำหรับตักน้ำขึ้นใหม่ใบหนึ่ง แกล้งเจาะช่องทางน้ำเข้าให้เล็ก แล้วให้นางเภทารีไปตักน้ำสำหรับใช้ที่กุฎีด้วยน้ำเต้าใบนั้น เพราะช่องน้ำไหลเข้าลูกน้ำเต้าเล็ก นางก็ต้องคอยอยู่นานจึงได้น้ำเต็มลูกน้ำเต้า เอาน้ำมาเทลงตุ่มแล้วไปตักใหม่ จะต้องไปคอยอยู่นานๆ เช่นนั้นอีก จึงมิใคร่มีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันกับพระฤๅษี คราวนี้ย้อนความไปกล่าวถึงเมืองตะโก้ง ว่าเมื่ออุปราชออกบวชเป็นฤๅษีแล้วไม่ช้า นางมเหสีซึ่งเป็นน้องของอุปราชมีราชบุตร ๒ องค์ ชื่อ มหาสัมพวะ Maha Thambawa องค์ ๑ จุลสัมพวะ Tsoola Thambawa องค์ ๑ แต่เผอิญจักษุบอดทั้ง ๒ ข้างแต่กำเนิดทั้ง ๒ องค์ พระบิดามีความละอายไพร่บ้านพลเมืองจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่นางมเหสีทำกลอุบายส่งกุมารทั้ง ๒ ไปฝากคนอื่นให้ซ่อนเลี้ยงไว้ได้จนเป็นหนุ่ม นางคิดวิตกว่าถ้าให้กุมารทั้ง ๒ อยู่ในเมืองตะโก้งต่อไป พระบิดาทราบก็จะไม่พ้นอันตราย จึงให้ต่อแพบรรทุกสะเบียงอาหาร แล้วให้ลูกชายทั้ง ๒ องค์ลงแพล่องลงมาทางแม่น้ำเอราวดี เมื่อมากลางทางมียักษ์ตน ๑ ลงไปดู เห็นกุมารตาบอดนั่งกินอาหารอยู่ด้วยกัน ก็ลอบสอดมือลงไปลักเอาอาหารมากินบ้าง แต่เผอิญมือไปถูกตัวกุมารเข้า กุมาร ทั้ง ๒ ช่วยกันจับยักษ์ได้จะฆ่าเสีย ยักษ์กลัวตายวิงวอนขอโทษ กุมารมีความกรุณายกโทษให้ ยักษ์นั้นคิดถึงบุญคุณจึงไปเที่ยวหายามารักษาให้นัยน์ตาหายบอดได้ทั้ง ๒ องค์ ก็ล่องแพลงมาได้โดยสะดวก เมื่อมาถึงท่า (ที่เมืองแปร) เห็นนางเภทารีลงไปตักน้ำก็มีจิตต์คิดรักใคร่ สังเกตเห็นนางต้องเวียนลงไปตักน้ำวันละหลายๆ เที่ยวได้ความลำบาก เมื่อได้พูดจารู้จักกันแล้วจึงช่วยคว้านน้ำเต้าให้ช่องกว้างกว่าเก่า ก็ตักน้ำได้เร็วขึ้น พระฤๅษีเห็นผิดสังเกต ถามนางเภทารีก็เล่าความตามที่ไปพบชายหนุ่ม ๒ คนช่วยแก้ไขลูกน้ำเต้าให้ตักน้ำได้เร็วกว่าแต่ก่อน พระฤๅษีจึงให้นางเรียก ๒ กุมารไปหา ไต่ถามได้ความว่าเป็นหลานก็ยินดี จึงยกนางเภทารีให้เป็นภรรยามหาสัมพวะ ในกาลนั้นประจวบเวลาว่างตัวหัวหน้าที่จะครองเมือง พวกพยุรู้ว่ามีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ลงมาอยู่ที่นั่น จึงพร้อมกันเชิญเจ้ามหาสัมพวะขึ้นเป็นเจ้าเมือง พระเจ้ามหาสัมพวะก็ตั้งนางเภทารีเป็นอัครมเหสี และตั้งเจ้าจุลสัมพวะน้องชายให้เป็นอุปราช เมื่อพระเจ้ามหาสัมพวะยังอยู่กับพระฤๅษีมีบุตรด้วยนางเภทารีองค์ ๑ ให้นามว่า “ทุตตะบอง” เมื่อเป็นเจ้าเมืองแล้วได้นางพยุเป็นมเหสีอีกคนหนึ่ง มีธิดากับมเหสีใหม่ ให้นามว่า “จันทาเทวี” Tsanda Dawee แต่พระเจ้ามหาสัมพวะครองเมืองอยู่ได้เพียง ๖ ปีก็สิ้นชีพ เจ้าจุลสัมพวะอุปราชได้ครองเมืองก็ตั้งให้นางเภทารีเป็นอัครมเหสีต่อมา ครั้นเจ้าทุตตะบองราชบุตรและนางจันทาเทวีราชธิดาของพระเจ้ามหาสัมพวะเป็นหนุ่มสาวก็ให้อภิเษกกัน พระเจ้าจุลสัมพวะครองราชสมบัติอยู่ ๓๕ ปี สิ้นชีพ เจ้าทุตตะบองก็ได้รับรัชชทายาท

ในตำนานว่าพระเจ้าทุตตะบองเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๐ จนถึง พ.ศ. ๑๗๐ (ก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดียกว่า ๑๕๐ ปี) และนับว่าพระเจ้าทุตตะบองเป็นมหาราชด้วยมีอานุภาพมาก สามารถขยายอาณาเขตต์ของพวกพยุได้กว้างใหญ่ไพศาลตลอดตอนกลางของประเทศพะม่า คือ ตั้งแต่เมืองมอญข้างฝ่ายใต้ขึ้นไปจนต่อเมืองม่านข้างฝ่ายเหนือ แล้วให้แผ้วถางป่าที่พระฤๅษีองค์อัยกาเคยอยู่นั้นสร้างเมืองสารเขตรเป็นมหานครราชธานี แต่ไม่มีเรื่องปรากฏเป็นรายการ นอกจากว่าเมืองสารเขตรเคยเป็นประเทศที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนากับทั้งศิลปาคม และพวกชาวเมืองไปมาค้าขายเป็นไมตรีกับนานาประเทศ ข้อที่ว่านี้มีหลักฐานทั้งโบราณวัตถุและในจดหมายเหตุประเทศอื่น เช่นเมืองจีนเป็นต้น เคยเรียกประเทศพะม่าว่าเมืองพยุอยู่ช้านาน ราชวงศ์พระเจ้าทุตตะบองครองบ้านเมืองสืบกันมา ๑๐ ชั่ว ถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง (ชะรอยจะไม่มีราชบุตร) ตั้งกุมารสกุลอื่นอันเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมชื่อว่า เตปา Te Pa อันเป็นผู้ทรงคุณธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอุปราช แล้วได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๔๓๖ ราชวงศ์พระเจ้าเตปาครองบ้านเมืองต่อมาอีก ๒๐ ชั่วก็ถึงคราวเสื่อมทราม ด้วยเกิดแตกสามัคคีรบพุ่งกันเองจนบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงเสียเมืองสารเขตรแก่พวกมอญเมืองสะเทิมเมื่อ พ.ศ. ๖๕๑ ดังกล่าวมาแล้วในตำนานเมืองพุกาม รวมเวลาที่เมืองสารเขตรได้เป็นประเทศใหญ่อยู่ ๕๕๑ ปี แต่นั้นก็มิได้เป็นเมืองมีอิสสรภาพอีกจนทุกวันนี้ เรื่องสร้างเมืองแปรขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำหามีในตำนานไม่ กล่าวแต่ว่าเมื่อเสียเมืองสารเขตรแก่มอญแล้ว บ้านเมืองร้างอยู่คราวหนึ่ง แต่พิเคราะห์ความไปเข้ากับเรื่องเมืองพุกาม ว่าเมื่อพวกพยุเสียเมืองสารเขตรแก่มอญแล้วไปรวบรวมกับพวกพะม่าตั้งเมืองพุกามขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อตั้งเมืองพุกามได้มั่นคงแล้ว คงแบ่งผู้คนให้กลับลงมาตั้งเมืองเดิมอีก แต่ถึงสมัยนั้นคงเป็นเพราะตลิ่งงอกออกมากว่าเก่ามาก เมืองสารเขตรเดิมกลายเป็นเมืองดอนอยู่ห่างน้ำเสียแล้ว จึงตั้งเมืองแปรขึ้นใหม่ใกล้กับเนินเขาพระมหาธาตุสิงคุดรที่ริมน้ำ เรื่องตำนานเมืองแปรใหม่น่าจะเป็นเช่นว่ามานี้

แต่เรื่องเมืองแปรแปลกกับเมืองอื่นอยู่อย่างหนึ่งถึงน่าพิศวง ด้วยประเทศพะม่ามีคนหลายชาติหลายภาษาซึ่งเคยอยู่มาแต่ก่อนเก่า เช่นพวกมอญ พวกยักไข่ พวกเกรี่ยง พวกละว้า และพวกไทยใหญ่ เป็นต้น ยังมีเชื้อสายปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่พวกพยุนั้นแม้มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่าบรรลุวัฒนธรรมสูงกว่าพวกอื่นๆ แต่เดี๋ยวนี้ศูนย์ไปหมดทีเดียว ยังมีแต่ศิลาจารึกด้วยภาษาพยุและจารึกเป็นตัวอักษรของพวกพยุ เป็นพยานอยู่ที่เมืองสารเขตรและเมืองพุกาม หนังสือพยุก็ไม่มีใครอ่านออกมาช้านาน จนเมื่อเมืองพะม่าตกเป็นของอังกฤษพบศิลาจารึกหลัก ๑ ที่วัดมงคลเจดีย์ ณ เมืองพุกาม จารึกเป็นตัวอักษรและภาษาต่างกันทั้ง ๔ ด้าน เป็นภาษามคธด้าน ๑ ภาษาพะม่าด้าน ๑ ภาษามอญด้าน ๑ และภาษาพยุด้าน ๑ นักปราชญ์อังกฤษคนหนึ่งชื่อ แบลกเดน Blagden จึงพากเพียรอ่านภาษาพยุได้ด้วยเทียบเคียงกับภาษาอื่นซึ่งจารึกความอย่างเดียวกันในหลักศิลานั้น เหมือนอย่างฝรั่งสามารถอ่านหนังสืออียิปต์ที่เป็นรูปภาพได้ด้วยพบแผ่นศิลาจารึกแผ่น ๑ ที่ตำบลโรเสตตา มีจารึกทั้งภาษากรีกและภาษาอียิปต์ด้วยกันฉะนั้น ได้ความว่าพวกพยุเอาแบบอักษร กะดัมพะ Kadamba ซึ่งใช้กันในอินเดียฝ่ายใต้ในราว พ.ศ. ๙๐๐ มาเป็นต้นแบบอักษรพยุ เมื่อมีอักษรพยุแล้วพวกมอญกับพวกพะม่าจึงเอาแบบตัวอักษรพยุไปแก้ไขเป็นอักษรมอญ และอักษรพะม่าเช่นที่ใช้กันสืบมา เหตุที่พวกพยุกับภาษาพยุศูนย์ไป นั้นน่าจะเป็นเพราะแยกย้ายกันไปอยู่ระคนปนกับพะม่าช้านานเข้าก็เลยกลายเป็นพะม่าไป เขาชี้เช่นให้เห็นประจักษ์ดังเป็นอยู่แก่พวกมอญทุกวันนี้ ว่าต่อไปอิกสัก ๒๐๐ ปี ทั้งมอญและภาษามอญในเมืองพะม่าก็คงศูนย์ไปอย่างเดียวกันกับพวกพยุ

วันพุธที่ ๕ กมภาพันธ์ เวลาเช้า ๘ นาฬิกาไปดูเมืองสารเขตร แต่พวกพะม่าที่เมืองแปรเรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองฤๅษี Yethe myo การเที่ยวที่เมืองแปรพวกกรมการพะม่าเขาจัดรถยนต์และเกวียนที่ต้องใช้ให้ทุกอย่าง ทั้งตัวพวกเขาเองและลูกเมียก็มา “ตามเสด็จ” ด้วย พวกเรามีผู้หญิงไปด้วย ไปไหนไปเป็นกระบวรราวกับแห่แหน และเขาจัดชายหนุ่มผู้ชำนาญโบราณคดีในท้องที่ให้เป็นผู้นำทางด้วยคน ๑ นอกจากนั้นยังมีพวกพะม่าช่างฉายรูปส่งหนังสือพิมพ์ตามไปด้วยอีกทั้งพวก แต่เขาใจดีรับว่ารูปที่ฉายนั้นจะให้เราด้วยเสมอไป เมื่อแรกออกจากที่พักสังเกตดูเมืองแปรตั้งยาวตามริมแม่น้ำ มีทางรถไฟลงมาจนใกล้ฝั่ง กลางเมืองมีเนินเขาศิลาแลงเป็นเทือก บนยอดที่สูงกว่าเพื่อนสร้างพระมหาธาตุสิงคุดร พะม่าเรียกว่า “ชเวสันดอ” Shwe Sandaw ยอดอื่นสร้างบ้านข้าราชการอยู่เป็นหย่อมๆ ไป ดูน่าสบาย แต่ผู้อยู่เขาว่าลำบากด้วยท่อน้ำประปาขึ้นไปไม่ถึง พอออกพ้นชานเมืองก็เป็นบ้านป่าและเป็นท้องนา แต่มีถนนไปจนถึงเมืองสารเขตร

พอถึงเมืองสารเขตรยังไม่ทันจะเข้าในเมืองก็เกิดประหลาดใจ ด้วยมีพระสถูปเจดีย์ใหญ่อยู่ริมทางองค์ ๑ สูงราวสัก ๑๐ วา เป็นของโบราณมาก รูปกลมแต่ทรงสัณฐานผิดกับพระเจดีย์องค์อื่นๆ ที่ได้เห็นมาในเมืองพะม่าทั้งหมด ด้วยมีแต่องค์ระฆังใหญ่ตั้งบนฐานทำเช่นบันได ๕ ขั้นอยู่กับพื้นดิน รูปทรงองค์พระเจดีย์ถ้าบอกให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับโคมหวดคว่ำ มียอดแต่ฉัตรโลหะปักบนก้นโคม แต่รูปฉัตรที่ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้เห็นจะเป็นของทำต่อสมัยชั้นหลัง ฉันได้เคยเห็นรูปฉายพระเจดีย์รูปคล้ายกันสร้างไว้บนยอดภูเขาที่เมืองสะแคง พอมาเห็นองค์เดิมก็รู้ว่าคงถ่ายแบบไปจากองค์ที่เมืองสารเขตรนี้เอง ด้วยเป็นพระเจดีย์ที่คนนับถือมากมาแต่โบราณ ต้องสั่งให้หยุดรถลงดูทันที ในหนังสือนำทางว่าพระเจดีย์ใหญ่แบบเก่าเช่นนี้เดิมมีที่เมืองสารเขตร ๕ องค์ ถูกซ่อมแปลงผิดรูปเดิมไปเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว ๒ องค์ ยังคงรูปเดิมอยู่ ๓ องค์ ว่าองค์ที่เราเห็นนี้ยังบริบูรณ์ดีกว่าเพื่อน รัฐบาลจึงรับรักษา เมื่อเข้าไปข้างในเมืองแลเห็นพระเจดีย์ใหญ่อยู่ห่างทางอีกองค์ ๑ แต่รูปทรงตรงตอนข้างบนขึ้นไปคล้ายกับ “กระบอก” ไม่รัดยอดเหมือนองค์แรกเห็น รูปพระเจดีย์ทั้ง ๒ อย่างนี้มีแบบฉันเคยเห็นรูปฉาย แบบพระเจดีย์ทรงโคมหวดคว่ำนั้น เหมือนอย่างพระเจดีย์ที่เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีป คงสร้างเมื่อตอนแรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจดีย์อย่างทรงกระบอกก็มีอยู่ที่เมืองคันธารราฐ (อยู่ในแดนประเทศอัฟฆานิสถานบัดนี้) เป็นของสร้างสมัยพระเจ้ามิลินท์ ภายหลังพระเจ้าอโศกมาสักร้อยปีเศษ ผู้ขุดตรวจเขาเขียน “แผนผ่า” Section ไว้ให้เห็น ว่าทำพระสถูปขนาดน้อยรูปทรงหวดคว่ำบรรจุพระธาตุไว้ข้างใน แล้วก่อพระสถูปทรงกระบอกครอบไว้ข้างนอก พิเคราะห์พระเจดีย์ทรงหวดคว่ำ เป็นหลักให้เห็นว่าพระทุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในเมืองพะม่าแต่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจริง หากผู้แต่งหนังสือพงศาวดารพะม่าว่าถึงรายการเล่าเรื่องเหลวไหลจนไม่น่าเชื่อ ผู้นำทางเขาบอกว่าแนวกำแพงเมืองสารเขตรไม่เป็น ๔ เหลี่ยมเหมือนเช่นเมืองมัณฑเล ทำยาวรีมุมมนเป็นสัณฐานเหมือนอย่างลูกมะตูม มีพระเจดีย์ใหญ่เช่นเราเห็นทิศละองค์ อยู่กลางเมืององค์ ๑ ถนนรถยนต์เข้าไปได้จนถึงกลางเมือง แต่พระเจดีย์องค์เดิมที่กลางเมืองหักพังซ่อมแปลงเปลี่ยนรูปเป็นพระเจดีย์อย่างใหม่ไปเสียแล้ว เขาบอกว่าพระราชวังเดิมก็อยู่ในแถวนั้น เดี๋ยวนี้มีแต่วัดสังฆาวาสกับโรงพิพิธภัณฑสถาน (น่าเรียกว่าคลัง) ของกรมตรวจโบราณคดีสร้างไว้หลัง ๑ เป็นที่เก็บของโบราณที่รวบรวมได้ในเมืองแปร แต่ของโบราณที่พบ ณ เมืองสารเขตรแปลกกับที่อื่นในเมืองพะม่า ด้วยเป็นเครื่องศิลาจำหลักเป็นพื้น ที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ก็มี พิจารณาดูลวดลายที่จำหลักยิ่งประหลาดใจ ด้วยเป็นแบบอินเดียสมัยคุปตะ (ในระหว่าง พ.ศ. ๘๙๓ จน พ.ศ. ๑๐๔๓) เหมือนลายจำหลักที่พระปฐมเจดีย์ ส่อให้เห็นว่าจะรุ่งเรืองในสมัยเดียวกัน ดูพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้แล้วต้องขึ้นเกวียนเทียมโคไปดูพิพิธภัณฑสถานของกรมตรวจโบราณคดีอีกแห่ง ๑ ซึ่งสร้างไว้ในวัดร้างอยู่ห่างไปสักสี่ห้าเส้น มีทั้งเครื่องศิลาจำหลักและกรุพระพิมพ์ซึ่งศาสตราจารย์ดือรอยเซลล์ฝังซ่อนไว้ ณ ที่นั้น ในพวกเครื่องศิลาชั้นเก่ามีของแปลกซึ่งยังไม่เคยเห็นที่อื่นในเมืองพะม่าคือผะอบศิลาที่บรรจุอัฏฐิธาตุของพระมหาเถระ รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานทั้งผะอบและอัฏฐิ ผะอบทำสัณฐานกลมขนาดใหญ่เกือบเท่าพ้อม จำหลักลายขอบและขัดชักเงาที่หน้ากะดานตรงกลาง จารึกแสดงประวัติและคุณธรรมของพระมหาเถระองค์นั้นเป็นอักษรและภาษาพยุ (ผู้ที่ไปด้วยไม่มีใครอ่านออกจึงไม่ทราบความที่จารึกไว้) ของซึ่งควรเรียกว่า “ของชั้นหลัง” สร้างเพียงครั้งสมัยเมืองพุกามก็มีหลายสิ่ง คงเป็นของที่มีผู้ศรัทธานำมาแต่เมืองพุกามเมื่อภายหลัง การขุดพระพิมพ์ที่เมืองสารเขตรอยู่ข้างจะสนุก ด้วยมองสิเออร์ดือรอยเซลล์ ได้สั่งกำชับห้ามภารโรงมิให้บอกให้ใครรู้ ตาภารโรงได้รับคำสั่งของมองสิเออร์ดือรอยเซลล์ให้พาพวกเราไปขุดก็ออกสนุกด้วยแกหาจอบเสียมเตรียมไว้พร้อม ตัวแกเป็นผู้ขุดหาพระพิมพ์ เรานั่งดูอยู่ที่ปากกรุ พวกกรมการเขาก็อนุญาตให้พวกเราเลือกเอามาได้ตามชอบใจ ดูเหมือนพวกเขาเองก็จะพลอยขอเอาไปด้วย ล้วนเป็นพระพิมพ์ดินเผาแบบพุกามทั้งนั้น พวกเราต่างคนต่างเลือกเอามาเป็นที่ระลึกในการไปเมืองพะม่าและขอเอาฝากพวกพ้องด้วย เที่ยวที่เมืองสารเขตรแห่งเดียวจนเวลากลางวันจึงได้กลับมาที่พัก

เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกา (วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์นั้น) ไปบูชาพระมหาธาตุสิงคุดร พวกกรมการพะม่าทั้งลูกเมียและคนนำทางที่ไปเมืองสารเขตรด้วยกันเมื่อตอนเช้าก็มาตามไปด้วยอีก และจัดเครื่องสักการะไปให้พวกเราบูชาด้วย เมื่อไปถึงแลดูบริเวณวัดพระมหาธาตุสิงคุดรก็เป็นเค้าเดียวกันกับวัดพระเกศธาตุและพระมุเตา คือที่หน้าบันไดทางขึ้นเนิน (จะมีกี่ทางฉันไม่ได้สังเกต) ก่อรูปสิงห์นั่งขนาดใหญ่โตไว้คู่หนึ่ง ประตูทางขึ้นทำเป็นศาลายอดปราสาท ทางขึ้นบันไดต่อไปเป็นฉนวนมีหลังคาต่อกันขึ้นไป มีศาลายอดปราสาทคั่นเป็นระยะ สองข้างทางตั้งร้านขายของ มีทางประทักษิณชั้นล่างชั้นหนึ่งก่อนจึงถึงลานพระเจดีย์ แต่เนินเขาอยู่ข้างเตี้ย และองค์พระมหาธาตุสิงคุดรก็ย่อมกว่าพระเกศธาตุและพระมุเตา เรื่องตำนานพระมหาธาตุสิงคุดรเริ่มต้นก็อ้างเนื่องถึงเรื่องพระพุทธประวัติเหมือนกัน ว่าในกาลครั้ง ๑ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ ประทับอยู่ที่เกาะ “เชงคยัน” Zeng Gyan ในแถวนั้น มีพญานาคมาเฝ้าด้วยความเลื่อมใส แล้วทูลขอสิ่งอนุสรณ์ไว้สักการบูชา พระพุทธองค์ตรัสว่าได้ประทานพระเกสาแก่บุรุษพี่น้อง ๒ คน ชื่อตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ชาวเมืองสะเทิมไว้ให้สร้างพระเกศธาตุแล้ว พญานาคกราบทูลขอให้มีที่บูชาเช่นนั้นอีกสักแห่งหนึ่ง ถ้าไม่ประทานสิ่งอนุสรณ์แก่ตน ก็ขอเพียงให้ได้รับรักษาไว้ให้แก่บุรุษตปุสสะและภัลลิกะ พระพุทธองค์จึงทรงเสยพระเกสาประทาน ๓ เส้น ฝ่ายพญานาคก็เอาหีบแก้วมรกตรับเส้นพระเกสาไปประดิษฐานไว้บนยอดไม้ต้นหนึ่ง ครั้นบุรุษตปุสสะกับภัลลิกะไปถึงที่นั่น เห็นรัศมีส่องสว่างอยู่บนยอดไม้ ปีนขึ้นไปดู เห็นเส้นพระเกศาเหมือนอย่างพระพุทธองค์เคยประทานแก่ตนแต่หนหลัง ก็ช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นบรรจุเส้นพระเกศาไว้ที่บนยอดเนินเขานั้น แต่เมื่อบุรุษทั้ง ๒ กลับไปได้ ๗ วัน (แผ่นดินไหว) พระเจดีย์องค์นั้นทรุดจมลงในแผ่นดินหายไปเสียช้านาน จนถึงสมัยพระเจ้าทุตตะบองครองประเทศนั้น ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ได้ทราบเรื่องแต่หนหลัง จึงตั้งอธิษฐานอัญเชิญพระเกศธาตุ พระเจดีย์ก็โผล่กลับขึ้นมาประดิษฐานอยู่อย่างเดิม พระเจ้าทุตตะบองจึงทรงสร้างเป็นพระมหาธาตุสำหรับบ้านเมือง และพระเจ้าแผ่นดินภายหลังก็ทรงปฏิบัติบูชาสืบมา มีรายการปรากฏในพงศาวดารพะม่าชั้นหลัง ว่าพระเจ้าอลองพระได้ปิดทองทั้งองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ และต่อมาพระเจ้าสารวดี (พระชนกของพระเจ้ามินดง) ได้ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ ให้ทำฉัตรใหญ่ปักบนยอดและปิดทองใหม่ทั้งองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ อีกครั้งหนึ่ง พิเคราะห์ตามรายการที่ว่ามา ประกอบกับรูปทรงพระมหาธาตุสิงคุดรดูชอบกล ด้วยทรงพระมหาธาตุสิงคุดรผิดกับพระเกศธาตุและพระมุเตาทั้ง ๒ องค์ ตอนล่างตั้งแต่ชั้นทักษิณขึ้นไปจนถึงหลังองค์ระฆัง ดูรูปทรงคล้ายกับพระมหาธาตุชีคนที่เมืองพุกาม หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ดูเป็นรูปพระเจดีย์พะม่า ต่อพ้นองค์ระฆังขึ้นไปจึงขยายยอดให้สูงและใหญ่เกินส่วนเพื่อจะปักฉัตรใหญ่ซึ่งทำขึ้นใหม่ สมกับกล่าวในตำนานว่าลักษณะพระมหาธาตุเช่นเป็นอยู่ทุกวันนี้พระเจ้าสารวดีทรงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ขนาดพระมหาธาตุสิงคุดร สูงแต่พื้นลานขึ้นไปจนถึงยอดฉัตร ๓๕ วา ในลานรอบองค์พระมหาธาตุมีวิหารที่บูชาและมีต้นไม้เงินทองรายรอบฐานพระเจดีย์ มณฑปสำหรับไว้พระพุทธรูปก็มีมาก แต่สร้างข้างด้านนอกทางด้านชาลาลานทักษิณทั้งนั้น สร้างรายเรียงเป็นหลายแถว มีทางเดินระหว่างมณฑปออกไปถึงศาลารายซึ่งอยู่ภายนอกที่สุด ประหลาดตาอยู่อย่างหนึ่งที่พระพุทธรูปตั้งตามมณฑป ฝีมือทำงามน่าชมมีมากกว่าที่ไหนๆ หมด แต่เป็นแบบพระสมัยชั้นหลัง มีทั้งพระหล่อทองสัมฤทธิ์และพระศิลาขาว ชะรอยจะมีช่างฝีมือดีกว่าเมืองอื่นๆ อยู่ที่เมืองแปรในสมัยอันหนึ่ง น่าชมอีกอย่างหนึ่งที่วัดพระมหาธาตุสิงคุดรยังบริบูรณ์ไม่ถูกไฟไหม้หรือแผ่นดินไหว ได้เห็นของเก่ายังดีอยู่โดยมาก มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่อเป็นอย่าง “พระโต” อยู่ที่เชิงเนินองค์หนึ่ง ขนาดสักเท่าพระพุทธรูปที่วัดไชโย สร้างไว้กลางแจ้ง ดูลักษณะไม่ใช่ของเก่าแก่นัก เดี๋ยวนี้พวกสัปบุรุษกำลังทำวิหารเสาเหล็กโปร่งอย่างที่วัดพระนอน ณ เมืองหงสาวดี ยกเสาขึ้นไว้บ้างแล้ว

ตรงนี้จะกล่าววินิจฉัยเรื่อง “พระโต” แทรกลงสักหน่อย อันพระพุทธรูปสร้างขนาดใหญ่อย่างเรียกกันว่า “พระโต” นั้น จะสร้างเป็นพระนั่งขัดสมาธิอย่าง “พระเจ้าพนัญเชิง” ที่พระนครศรีอยุธยาก็ดี เป็นพระนั่งห้อยพระบาทอย่าง “พระป่าเลไลย” ที่เมืองสุพรรณบุรีก็ดี หรือเป็นพระนอนอย่าง “พระนอนจักรศรี” ที่เมืองสิงห์บุรีก็ดี ไม่ว่าสร้างในประเทศไหน แม้จนประเทศญี่ปุ่น แต่โบราณเขาย่อมสร้างไว้กลางแจ้งอย่างเดียวกันกับพระเจดีย์ หาทำวิหารปิดบังองค์พระไม่ การสร้างวิหารปกคลุมพระโตเป็นความคิดเกิดขึ้นแต่ชั้นหลัง ข้อนี้จะพึงคิดเห็นได้ เช่นพระเจ้าพนัญเชิงก็ดี หรือพระนอนใหญ่ที่ไหล่เขามไหศวรรย์เมืองเพ็ชร์บุรีก็ดี เมื่อยังไม่มีวิหารคงแลเห็นองค์พระพุทธรูปงามเด่นแต่ไกล ที่ทำวิหารบังองค์พาให้เสียงามไป แม้พระโตซึ่งคิดประกอบกับแบบวิหารที่สร้างพร้อมกัน เช่นพระโตวัดกัลยาณมิตรและพระนอนวัดพระเชตุพนในกรุงเทพฯ เมื่อเข้าไปในวิหารก็ไม่เห็นองค์พระเหมาะตา เพราะเอาวัตถุที่ช่างโบราณเขาคิดสำหรับทำอย่างหนึ่งมาทำเป็นอย่างอื่นจึงพาให้เสียงาม พระโตที่สร้างไว้กลางแจ้งเดี๋ยวนี้ก็มีทั้งในเมืองไทยและเมืองพะม่า แต่ที่เมืองพะม่าดูเหมือนจะเพิ่งคิดสร้างวิหาร เช่นพระนอนที่เมืองหงสาวดีและพระนั่งที่เมืองแปรนี้ บางทีจะสร้างที่อื่นอีกแต่ฉันไมได้เห็น สังเกตดูที่พะม่าเอาเสาเหล็กโปร่งอย่างฝรั่งมาทำเสาวิหาร แม้บังองค์พระน้อยกว่าเสาก่ออิฐถือปูนดูก็ยังขัดตาอยู่นั่นเอง แต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับรักษาองค์พระ จะติว่าการทำวิหารครอบพระโตไม่ดีเลยทีเดียวก็ว่าไม่ได้ เมื่อดูวัดพระมหาธาตุสิงคุดรแล้วกลับลงมาขึ้นรถเที่ยวดูเมืองจนจวนพลบจึงกลับที่พัก กรมการเขาจัดตำรวจพะม่าหมวด ๑ มาอยู่ประจำให้เป็นเกียรติยศตั้งแต่แรกมาถึง ดูเหมือนจะเลือกคัดคนที่นับเป็นชั้นดีของเขามาอวดด้วย ดูล้วนกำลังหนุ่มฉกรรจ์ท่าทางขึงขังคล่องแคล่ว มีเหรียญติดเสื้อแทบทุกคน เห็นจะได้ทำความชอบเมื่อครั้งปราบพวกขบถที่ฉันเล่าเรื่องมาแล้ว พอถึงตัวนายที่คุมหมวดก็เข้ามารายงานในภาษาอังกฤษบอกให้ทราบว่าจะมาอยู่ประจำรักษาพระองค์ ฉันก็ตอบขอบใจและเดินผ่านแถวตามธรรมเนียม

ค่ำวันนี้มองโปกินหัวหน้ากรมการที่ต้อนรับเขาขอเชิญพวกเราไปกินอาหารที่บ้านเขา ว่าจะเลี้ยงอย่างพะม่า พวกเราก็รับเชิญด้วยยินดี เพราะนึกอยากจะเห็นการกินของพะม่าอยู่แล้ว พอเวลา ๒๐ นาฬิกาก็ไปพร้อมกัน เขาเชิญมองกยออูผู้พิพากษาที่เมืองแปร (คนนี้เป็นชาวยักไข่ ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ) กับภรรยา และมองโปสันนายตำรวจรอง ตัวเขากับทั้งภรรยามาเป็นแขกด้วย นอกจากนั้นก็มีแต่พวกเรากับพวกเจ้าของบ้านทั้งตัวและภรรยากับลูกสาวอีก ๒ คน การเลี้ยงเห็นจะจัดบรรจงมาก เวลาแขกไปพร้อมกันแล้ว บ่าวยังมาเชิญเมียเจ้าของบ้านไปครัวถึง ๒ ครั้ง แต่อาหารพะม่าที่เขาเลี้ยงนั้นดีผิดคาดหมาย ทั้งประหลาดใจที่อาหารพะม่าเหมือนอย่างที่ไทยกินกันในกรุงเทพฯ ด้วย ลักษณะการเลี้ยงนั้นตั้งกับข้าวเรียงไว้เต็มบนโด้ะ มีทั้งแกงเผ็ดแกงจืดผักจิ้มน้ำพริกกินกับปลาย่าง แต่น้ำพริกพะม่าเรียกว่า “งาปิ” (คำเดียวกับ “กะปิ” ของเรานั่นเอง) และมีของผัดพริกขิงและยำทอดผัดอย่างอื่นอีก พอเรานั่งโต๊ะคนรับใช้ก็ยกชามข้าวเจ้ามาให้เราตักแบ่งลงจานที่ตั้งตรงหน้าเรา ใครจะกินกับข้าวสิ่งไหนก็เลือกกินตามชอบใจ ปรุงรสกับข้าวก็อร่อยดีด้วย ผิดกันกับไทยแต่ที่พะม่าไม่กินของหวาน (เซ่นเดียวกันกับพวกมณฑลพายัพ) แต่วันนี้เขาหาของหวานอย่างฝรั่งมาเลี้ยง

เมื่อเลี้ยงแล้วออกมานั่งพูดจากันต่อไป ฉันปรารภขึ้นว่าฉันไปเมืองพะม่าได้พบผู้คนและเห็นของต่างๆ พอใจมาก ขาดอยู่อย่างเดียวแต่ที่ไม่ได้เห็นการฟ้อนรำของพะม่า ฉันได้ยินว่ามีกระบวรฟ้อนรำอย่างหนึ่งซึ่งพะม่าได้ไปจากเมืองไทย อยากดูฟ้อนรำอย่างนั้น พวกที่มากินเลี้ยงเขาบอกว่ามีละครโรงใหญ่ของมองโปซิน ตัวละครสำคัญในเมืองพะม่า มาเล่นอยู่ที่เมืองแปรหลายวันแล้ว วันเมื่อฉันไปถึงเขาเล่นเป็นคืนสุดท้าย พวกกรมการเขาได้ปรึกษากันแล้วว่าจะควรเชิญฉันไปดูหรือไม่ แต่เห็นกันว่าฉันเดินทางมาถึงจนค่ำมืดเห็นจะเหน็ดเหนื่อยให้พักเอาแรงจะดีกว่า จึงมิได้บอกให้ทราบ ฉันตอบว่าเสียดายที่เขาไม่ได้บอก ถ้ารู้ก็คงไปดู เพราะฉันมาทางเรือไม่เหน็ดเหนึ่อยอย่างไร ขณะนั้นมองกยออูผู้พิพากษาพูดขึ้นว่าดูเหมือนตัวมองโปซินยังอยู่ในเมืองแปร จะไปลองพูดจาหาโอกาสให้ฉันได้ดูละครแล้วขึ้นรถไป พวกที่ยังนั่งอยู่เขาเล่าเรื่องประวัติของมองโปซินให้ฟัง ว่าเป็นนายโรงมีชื่อเสียงมาแต่ยังหนุ่มจนคนนิยมกันว่าเล่นละครไม่มีตัวสู้ทั้งเมืองพะม่า มองโปซินเล่นละครหาเงินได้มากจนสามารถเลิกเล่นละครไปตั้งตัวทำมาหากินอยู่คราวหนึ่ง แต่ทีหลังไปเข้าหุ้นตั้งบริษัทค้าขายด้วยกันกับผู้อื่น บริษัทนั้นล้มละลาย มองโปซินสิ้นทรัพย์หมดตัวจึงต้องกลับมาหาเลี้ยงชีพด้วยเล่นละครอีก รวบรวมพวกละครทั้งชายหญิงได้สัก ๕๐ คนเที่ยวเล่นไปตามเมืองและตำบลต่างๆ คนยังติดมองโปซิน เล่นที่ไหนก็มีคนไปดูมาก แต่ส่วนตัวมองโปซินเองนั้นอายุได้ ๕๘ ปีแล้ว บ่นอยู่ว่าเล่นมิค่อยไหว ถ้าได้เงินพอเลี้ยงตัวเมื่อใดก็จะเลิก มองกยอยูผู้พิพากษาหายไปสักครึ่งชั่วโมงกลับมาบอกว่า ได้พบตัวมองโปซิน ๆ อยากรำให้ฉันดูนัก ว่าพะม่าที่รำอย่าง “โยเดีย” ได้เดี๋ยวนี้มีน้อยต้ว กระบวนรำอย่างโยเดียในเมืองพะม่าจวนจะศูนย์อยู่แล้ว แต่จนใจด้วยไม่รู้ว่าฉันจะมา ได้ส่งเครื่องโรงและพวกละครไปยังเมืองจองเดเสียแล้วแต่เช้า ทั้งได้ประกาศที่เมืองจองเดว่าจะเล่นพรุ่งนี้เป็นคืนแรกด้วย พวกกรมการปรึกษากันเห็นอุบายอย่าง ๑ ซึ่งจะให้ฉันดูละครมองโปซินได้สมประสงค์ เพราะเวลารถไฟที่ฉันจะกลับเมืองร่างกุ้งกำหนดจะออกจากสถานีเมืองแปรเวลา ๒๑ นาฬิกาครึ่ง และจะไปถึงเมืองจองเดเวลา ๒๓ นาฬิกา ถ้าฉันไปจากเมืองแปรด้วยรถยนต์แต่เวลา ๑๙ นาฬิกา จะถึงเมืองจองเดราว ๒๑ นาฬิกา มีเวลาพอจะดูละครได้สัก ๒ ชั่วโมง แล้วจึงขึ้นรถไฟที่เมืองจองเดกลับเมืองร่างกุ้ง ฉันเห็นชอบด้วยก็เป็นอันตกลงกันอย่างนั้น

วันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าพวกกรมการเขากะให้ไปดูตลาด ฉันให้แต่พวกเจ้าหญิงไป ส่วนตัวฉันอยู่กับเรือนที่พักด้วยมีกิจจะเขียนจดหมายตอบขอบใจเจ้าเมืองแปร และมีข้าราชการพะม่าที่เป็นปลัดเมืองแปรมาหาด้วย เขาบอกว่ากลับมาจากเที่ยวตรวจราชการก็เลยมาหา ดูยังหนุ่มพูดภาษาอังกฤษคล่อง เห็นจะเป็นเนติบัณฑิตที่ได้ไปเรียนมาจากยุโรป กิริยาอัชฌาสัยก็เรียบร้อยดี สนทนากันในทางสุนทรกถาเป็นพื้น แต่มีคำถามของเขาแปลกคำหนึ่งซึ่งฉันออกประหลาดใจ ถามว่าฉันคิดว่าญี่ปุ่นจะเอาเมืองพะม่าด้วยหรือไม่ ความที่พะม่าหวาดเสียวในเรื่องนี้ฉันเคยได้ยินแต่เมื่อแรกถึงเมืองร่างกุ้ง ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่ามีญี่ปุ่นที่ไปตั้งค้าขายอยู่ในเมืองพะม่าบางคนกำลังหาซื้อที่บ้าน พูดอวดว่าในไม่ช้าเมืองพะม่าก็จะเป็นของญี่ปุ่น ฉันเห็นว่ามันเป็นแต่คำเล่าลือหลอกกันก็ไม่ได้นำพา เมื่อปลัดเมืองแปรถามถึงเรื่องญี่ปุ่นขึ้นอีก ฉันจึงตอบว่าญี่ปุ่นเขาจะคิดอย่างไรนั้นฉันไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เห็นว่าเมืองพะม่าอังกฤษถือว่าเป็นที่สำคัญในอาณาเขตต์แห่งหนึ่งเพราะเป็นแหล่งน้ำมันดินเป็นต้น ถ้าญี่ปุ่นจะเอาเมืองพะม่าก็ต้องรบกับอังกฤษก่อน การที่รบกันนั้นญี่ปุ่นจะต้องยกกองทัพเรือมาไกลมากนัก เห็นยากที่จะมาแย่งเมืองพะม่าจากอังกฤษได้ ต่อเมื่อเขาไปแล้วฉันจึงนึกเฉลียวใจว่าบางทีข่าวที่หนังสือพิมพ์เคยลือว่าไทยจะยอมให้ญี่ปุ่นขุดคลองกระ จะเป็นเหตุให้พวกพะม่าระแวงว่าไทยจะช่วยญี่ปุ่นตีเมืองพะม่าข้างทางบกดอกกระมัง จึงอุบายถามหยั่งดูเลสนัย

บ่ายวันนั้นพวกเราสาละวนเก็บของลงหีบจะเดินทาง ไม่ได้คิดจะไปไหน แต่เมียผู้พิพากษาเอารถมารับเจ้าหญิงชวนให้ไปเที่ยว จะให้บอกปัดก็เกรงใจ จึงสมมตให้หญิงพูนกับหญิงพิลัยไปกับเขา แต่ที่จริงไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน พาตรงไปยังบ้านผู้พิพากษาที่อยู่บนเขา ด้วยเขาเตรียมจะเลี้ยงน้ำชา แต่เมียมาบอกเป็นชวนไปเที่ยว กลับมาพร้อมกันจนจวนค่ำ รีบกินอาหารเย็นแต่ ๑๘ นาฬิกา กินแล้วแต่งตัว พอเสร็จพวกกรมการและผู้พิพากษากับทั้งลูกเมียก็พร้อมกันเอารถมารับ ออกจากที่พักเมืองแปรเวลา ๑๙ นาฬิกา มีรถตำรวจนำหลังหนึ่ง รถพวกเราตาม ๔ หลัง หนทางที่มาดูเหมือนเลียบฝั่งแม่น้ำเอราวดีลงมาสักครึ่งชั่วโมงแล้วถนนจึงโอนเข้าข้างใน แต่ภูมิที่จะเป็นอย่างไรแลไม่เห็นชัดด้วยเป็นเวลากลางคืน ผ่านหมู่บ้านใหญ่ๆ ในระหว่างทางสักสองสามหมู่ จุดไฟฟ้าตามถนน (เพราะมีเทศบาล) บ้าง ไม่มีไฟฟ้าบ้าง ถึงเมืองจองเดสังเกตดูมีบ้านช่องแน่นหนา ถนนหนทางก็มีหลายสายล้วนจุดไฟฟ้า เห็นจะเป็นที่มีผู้คนและการค้าขายมาก รัฐบาลจึงเอาสถานที่ว่าการจังหวัดแปรมาตั้งที่นั่น พวกเราไปถึงโรงละครก่อนเวลา ๒๑ นาฬิกาสัก ๑๐ นาฑี พอเหมาะดี มีพวกกรมการเทศบาลเมืองจองเดมาคอยรับถึงที่จอดรถทั้งคณะ ทางที่เดินต่อไปถึงโรงละครก็มีโคมราย และให้พวกพลสำหรับดับเพลิงยืนแถวเป็นกองเกียรติยศรับทั้ง ๒ ข้างทาง นายกเทศบาลพาพวกเราเข้าไปยังที่นั่งที่จัดไว้ในโรงละคร มีน้ำร้อนน้ำเย็นหมากบุหรี่ตั้งเตรียมไว้รับเสร็จ

โรงละครนั้นอยู่ในที่ว่างห่างบ้านเรือน จะเป็นทุ่งหรือสนามไม่เห็นถนัด ปลูกเป็นโรงสำหรับเล่นชั่วคราว สัณฐานยาวรีคล้ายกับเต็นท์ละครม้า ขนาดก็จะเท่าๆ กัน แต่ทำด้วยเครื่องไม้มุงจาก ฝาแผงรอบ มีประตูคนดูเข้าทางด้านสะกัดด้านหนึ่ง เวทีที่เล่นละครและห้องแต่งตัวละครอยู่ทางด้านสะกัดอีกด้านหนึ่ง ที่นั่งของคนดูอยู่พื้นดิน แต่จัดแปลกอยู่ ด้วยตั้งเก้าอี้ที่นั่งของคนดูชั้นที่หนึ่งที่สองตั้งที่เฉลียงโรง ที่ในประธานตรงหน้าเวทีเป็นที่สำหรับพวกซื้อตั๋วชั้นที่สามที่สี่นั่งดูกับพื้น ลักษณะที่แบ่งชั้นที่สามกับที่สี่ก็แปลก คนดูชั้นที่สามเสียค่าเข้าเท่ากับพวกชั้นที่สี่ แต่ต้องเสียค่าเช่าเสื่อเพิ่มอีกโสดหนึ่ง สำหรับมีสิทธิที่จะเอาเสื่อไปปูข้างหน้า และนั่งบนเสื่อพวกละผืนไม่ต้องเบียดเสียดกับพวกอื่น พวกชั้นที่สี่นั้นนั่งกับพื้นดินปะปนกันอยู่ข้างหลัง ตัวเวทีเหมือนอย่างละคร “ปราโมทัย” ของเราหมด ไม่ต้องพรรณนา พวกปี่พาทย์อยู่ข้างหน้าเวที แต่เวลาเล่นละครพะม่าผิดกับไทย ลงโรงเวลา ๒๑ นาฬิกา เล่นไปจนรุ่งสว่างจึงเลิก เขาบอกว่าถ้ามิฉะนั้นคนอยู่ตามบ้านนอกไม่มาดู ว่าได้ดูน้อยเสียเปรียบพวกคนในเมือง และประสงค์จะดูมองโปซินด้วยกันทั้งนั้น มองโปซินต้องแบ่งเวลาเล่นตอนหัวค่ำครั้งหนึ่งแล้วไปนอนเสีย ให้คนอื่นเล่นไปจนดึกจึงตื่นขึ้นแต่งตัวกลับมาเล่นอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจจะเป็นธรรมเนียมเดิมในการเล่นละครพะม่าก็ได้ ฉันเคยได้ยินพระอรัญรักษา (ซอเหลียง) กรมป่าไม้เล่าว่า เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่า ละครเล่นในวังก็เล่นคืนยังรุ่ง บางทีเล่นสองรุ่งสามรุ่งติดๆ กันก็มี

พอพวกเราไปนั่งเก้าอี้แล้วสัก ๕ นาฑีก็ถึงเวลาละครลงโรง ปี่พาทย์ทำโหมโรงสักประเดี๋ยวเปิดม่าน ตอนแรกพวกละครนั่งเต็มโรงร้องเพลงไหว้ครู หมดเพลงแล้วมองโปซินกับนางเอก ๒ คนรำไหว้ครูจนหมดกระบวนแล้วปิดม่าน

สังเกตดูเครื่องแต่งตัวละครพะม่า เครื่องแต่งตัวยืนเครื่องที่มองโปซินแต่ง ดูคล้ายกับรูปฉายที่พระเจ้ามินดงแต่งเต็มยศ คือเกล้าผมจุกโพกผ้าขาวอย่างใส่มงคล ใส่เสื้อกะบอกผ้าขาว นุ่งผ้าไหมลอยชายอย่างพะม่า แต่คาดชายไหวชายแครงกำมะหยี่ปักทองห้อยข้างหน้า เครื่องประดับที่ตัวจะมีอะไรอื่นอีกไม่ทันสังเกต เพราะนัยน์ตาลายเสียด้วยดูเหรียญห้อยแพรแถบสีต่างๆ ที่ติดอกมองโปซินเรียงเป็นแถวๆ ตั้งแต่ตรงหัวไหล่ลงมาจนถึงพุง ถ้านับจำนวนก็เห็นจะไม่น้อยกว่า ๕๐ ใช่แต่เท่านั้น ข้างหลังยังมีติดเหรียญเช่นนั้นอีกเต็มหลัง ถ้าเป็นเหรียญบำเหน็จฝีมือได้จากรัฐบาลต่างๆ ก็เห็นจะเกินจำนวนรัฐบาลที่มีในโลก แต่รูปร่างซวดทรงมองโปซินยังดี ผัดหน้าแต่งตัวแล้วดูเป็นหนุ่มราวอายุเพียงสัก ๓๐ ปี ยังพอผู้หญิงติดได้ ท่าทางที่รำว่าตามตาไทยก็เห็นสมกับคำเลื่องลือว่ามองโปซินรำดี พวกนางละครนั้นแต่งตัวเกล้าผมบนกบาล นุ่งผ้าไหมใส่เสื้อเอวเป็นปีก มีเครื่องประดับแวววาวเหมือนเพ็ชร์พลอยประกอบด้วยดอกไม้ เหมือนอย่างละครพะม่าที่เคยมาเล่นในเมืองไทยไม่ต้องพรรณนา แต่ดูก็งามดี ตัวนางเอกเป็นชั้นผู้ใหญ่สักหน่อย พวกนางระบำกำนัลเป็นหญิงกำลังรุ่นสาวทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมีผู้ชายเป็นพวกเสนาแต่งตัวใส่เสื้อสีต่างๆ นุ่งผ้าบ้างกางเกงบ้าง และมีจำอวดสองสามคน (เขาว่าบางคนเล่นขบขันแต่อยู่ข้างจะหยาบ)

กระบวรเล่นที่เขาจัดสำหรับให้ฉันดูเป็นพิเศษนั้น เปิดม่านที่ ๒ ตัวมองโปซินนั่งเตียงอย่างเป็นท้าวพระยา นางเอกนั่งสองข้าง นางกำนัลนั่งเป็นแถวกับพื้น เหมือนอย่างว่าเสด็จออกพระโรงใน มองโปซินลุกจากเตียงมายืนอยู่กลางเวทีพูดประกาศแก่คนดูอยู่นาน ฉันฟังไม่เข้าใจ พวกกรมการเขาแปลให้ฟังว่าตอนต้นพูดแสดงความยินดีที่ฉันไปดูและอำนวยพรแก่พวกฉัน แล้วเล่าถึงวิธีรำอย่างโยเดีย ซึ่งเขาจะเล่นให้ฉันดูในวันนั้น แล้วกลับเข้าไปนั่งเตียง พวกนางกำนัลก็ลุกขึ้นรำเข้ากับร้องเพลง “โยเดีย” การที่รำฟ้อนเข้ากับร้องเพลงโยเดีย เห็นจะซักซ้อมกันในตอนกลางวันวันนั้นหลายเที่ยว ตัวนางระบำสัก ๑๐ คน ต้องมีนางผู้ใหญ่ที่เป็นครูออกมายืนกำกับและร้องนำอยู่ในวงด้วย เพลงที่ร้องก็สังเกตได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยจริง เพราะเพลงพะม่ามักมีทำนองกระโชกไม่ร้องเรื่อยเหมือนเพลงไทย เพลงที่เอามาร้องก็ไพเราะดี แต่จะเป็นเพลงไหนหาทราบไม่ ถามหญิงเหลือที่รู้จักเพลงมากกว่าเพื่อนที่ไปก็ว่าไม่รู้ พอหมดเพลงปิดม่านครั้งที่ ๒ เปิดม่านครั้งที่ ๓ มองโปซินรำท่าพระรามถือศรมีกระบวนเสนาตาม มองโปซินรำคนเดียวเป็นท่าเดินนาดกรายเข้ากับจังหวะปี่พาทย์ ดูก็พอสังเกตได้ว่าเป็นท่าละครไทย เพราะช้ากว่าและไม่กะดุ้งกะดิ้งเหมือนละครพะม่า แล้วปิดม่านหมดกระบวรที่เล่นสำหรับให้เราดู เปิดม่านที่ ๔ เล่นเป็นละครพะม่าเรื่องนาง ๒ คนหึงหวงชิงพระเอกกัน ดูก็เล่นดีตามประสาพะม่า มีติดตลกถึงคนฮาแต่พวกเราไม่เข้าใจ พอจวนเวลาพวกเราจะต้องไปขึ้นรถไฟ เขาเรียกตัวมองโปซินออกมา “เฝ้า “ และผู้พิพากษาทำพวงมาลัยไปเผื่อฉันด้วย ฉันคล้องพวงมาลัยให้แล้ววานให้เขาแปลคำชมเชยของฉันแก่มองโปซิน ๆ เลยขอหนังสือของฉันไว้สำหรับตัว ฉันก็ทำหนังสือชมส่งไปให้จากเมืองร่างกุ้ง พวกเราขอบใจจับมือลาพวกกรมการเทศบาลแล้วขึ้นรถไปยังสถานีรถไฟ คอยอยู่สัก ๒๐ นาฑีรถไฟมาถึง ขอบใจจับมือลาพวกเมืองแปรอีกครั้ง แล้วก็ขึ้นรถไฟกลับเมืองร่างกุ้ง ต้องนอนทนเขย่าขย้อนมาเหมือนเมื่อขึ้นไปเมืองมัณฑเล และยิ่งซ้ำร้ายด้วยกำหนดรถไฟถึงสถานีเมืองร่างกุ้งเวลาใกล้รุ่งวันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ต้องตื่นขึ้นแต่งตัวและเก็บของแต่ ๔ นาฬิกาเศษ ถึงเมืองร่างกุ้งพอสางๆ สถานียังจุดไฟ ถึงกระนั้นมิสเตอร์คัสโตเนียนายห้างอีสต์เอเซียติคยังอุตส่าห์ไปรับถึงสถานี ขึ้นรถมาโฮเต็ลนึกสงสัยมากลางทางว่าจะไปเรียกให้เขาเปิดประตูโฮเต็ลอย่างไร แต่โฮเต็ลเขาเปิดคอยอยู่แล้ว เพราะมีพวกท่องเที่ยวกลับมาเวลานั้นเช่นเดียวกับพวกเราเนืองๆ เขาต้องเตรียมคนไว้คอยรับแต่เช้ามืดทุกวัน พอเวลา ๘ นาฬิกา มิสเตอร์แนช กรมเลขาธิการของรัฐบาลกับกงซุลสยามมารับ และขอโทษที่ไม่ได้ไปรับถึงสถานี บอกตามตรงว่าเพราะเวลารถไฟมันวิปริตนัก พอพบมิสเตอร์แนชกับกงซุลและกินอาหารเช้าแล้ว พวกเราก็ต่างเข้านอน ด้วยรู้สึกสะบักสะบอมด้วยกันทุกคน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ