ตอนที่ ๔ เที่ยวเมืองหงสาวดี ภาคปลาย

เมื่อออกจากศาลากลาง ตัวฉันขึ้นรถไปกับเจ้าเมืองหงสาวดี มี ถนายตำรวจนำหลังหนึ่ง เจ้าหญิงตามไปในรถสองหลังที่เราไปจากเมืองร่างกุ้ง มีรถพวกกรมการตามไปอีกหลังหนึ่ง ราวกับกระบวนแห่ แลดูเมืองหงสาวดีตามทางที่ผ่านไปไม่เห็นมีความรุ่งเรืองอย่างไร ถนนก็ยังไม่ได้ลาดอัสฟัลด์ บ้านช่องสองฟากถนนแม้จนโรงฉายหนังก็เป็นแต่เครื่องไม้มุงสังกะสีโดยมาก ต่อเจ้าเมืองเล่าให้ฟังจึงรู้เหตุ ว่าบ้านเรือนที่ในเมืองหงสาวดีหักพังเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหวใน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมาก ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เป็นของสร้างกันขึ้นใหม่ในเวลากำลังอัตคัดทั้งนั้น รถแล่นไปจากศาลากลางไปสักประเดี๋ยวก็พ้นเขตต์ที่ประชุมชนเข้าบ้านป่า เขาพาข้ามลำน้ำพะโคไปดูพระนอนใหญ่อยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตก มีพวกกรรมการผู้รักษามาคอยรับอยู่ทั้งคณะ กรรมการคนหนึ่งบอกว่าตัวเป็นมอญ ได้เคยเข้าไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ไปพักอยู่ที่ปากลัด และได้เคยไปหาคุณจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดาของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ บางทีจะนับเป็นญาติกัน คุณแม่กลิ่นท่านเคยบอกฉันว่าญาติของท่านยังมีทั้งที่เมืองหงสาวดีและที่ในมณฑลพายัพ เพราะสกุลของเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง ต้นสกุลคชเสนี) ปู่ทวดของท่านเป็นสกุลใหญ่ เมื่อยังอยู่กับพะม่า ตัวเจ้าพระยามหาโยธาเป็นเจ้าเมืองอัตรัน (ซึ่งอังกฤษตั้งซื่อใหม่ว่าเมืองแอมเฮิสต์ ตามนามของไวสรอยอินเดียผู้บัญชาการรบพะม่าจนได้เมืองนั้น) ญาติวงศ์ในเมืองมอญมีมาก เมื่อพะม่ามาตีเมืองเชียงใหม่ให้พญาเจ่งคุมกองทัพมอญมากองหนึ่ง แล้วให้ตั้งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่นาน พญาเจ่งมาได้หญิงชาวมณฑลนั้นเป็นภรรยาเกิดบุตรธิดาด้วยกัน จึงมีเชื้อสายอยู่ในมณฑลพายัพอีกพวกหนึ่ง แต่เมื่อมอญเป็นขบถต่อพะม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๖ พญาเจ่งเป็นตัวหัวหน้าคนหนึ่ง นำพวกมอญขึ้นไปตีเมืองร่างกุ้ง ทานกำลังกองทัพอะแซหวุ่นกี้ไม่ไหว ก็พาพวกมอญอพยพเข้ามาพึ่งไทยในรัชชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องเดิมได้ยินมาดังนี้ จะซักถามเอาเรื่องราวต่อไปก็ไม่สะดวกด้วยพูดกันต้องมีล่าม จึงได้แต่รับรู้เท่าที่เขาบอก

ตรงนี้จะกล่าวถึงลักษณะการรักษาพุทธเจดีย์ในเมืองพะม่าเสียด้วยทีเดียว วิธีรักษานั้นรัฐบาลกำหนดพระพุทธเจดีย์เป็น ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ พุทธเจดีย์ที่มีผลประโยชน์โดยลำพังพอรักษาตัวเอง เช่นพระเกศธาตุและพระบุเตาเป็นตัน ประเภทนี้ให้มีคณะสัปบุรุษเป็นกรรมการ มอบอำนาจในการรักษาให้อยู่ในกรรมการทุกอย่าง รัฐบาลเป็นแต่ตรวจตรา พระนอนองค์ใหญ่ที่ไปดูนับอยู่ในประเภทนี้ ประเภทที่ ๒ พุทธเจดีย์ที่ไม่มีผลประโยชน์ แต่เป็นของสำคัญในทางโบราณคดีอันจะปล่อยให้สูญเสียไม่ไต้ เช่นโบราณวัตถุสถานที่เมืองพุกามเป็นต้น แม้จนพระราชวังที่เมืองมัณฑเลก็นับอยู่ในประเภทนี้ ให้กรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department เป็นพนักงานรักษา และจ่ายเงินแผ่นดินให้ใช้เท่าที่จำเป็น ประเภทที่ ๓ พุทธเจดีย์ที่เป็นของสร้างใหม่ หรือของเก่าแต่เห็นไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องลงทุนรักษา เช่นวัดที่พระสงฆ์อยู่ไม่เลือกว่าเก่าหรือใหม่นับอยู่ในประเภทนี้ รัฐบาลปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

พระนอนองค์ใหญ่นี้พะม่าเรียกว่า “ชเวสะยอง” Shwe Thyaung กล่าวกันว่าเป็นเสียงเพี้ยนมาจากคำ “ฉินบินสะยอง” Shinbinthayaung จะอย่างไรฉันไม่มีความรู้พอจะตัดสิน นึกแต่ว่าคำ “สะยอง” นั้นดูใกล้กับคำ “ไสยา” ถ้าว่าโดยขนาด พระนอนองค์นี้ดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าพระนอนองค์อื่นๆ ทั่วทั้งโลก เพราะยาวกว่า ๒๗ วา ๒ ศอก ๑ คืบ (๑๘๑ ฟุต) สูง (ตรงพระพาหา) ๗ วา ๒ ศอก ๑ คืบ (๕๐ ฟุต) ฉันอยากจะชมว่างามกว่าพระนอนใหญ่องค์อื่นๆ ที่เคยเห็นมา ด้วยสิ่งซึ่งสร้างประกอบกับองค์พระนอน แต่โบราณไม่เห็นเค้าเงื่อนว่าเคยมีวิหาร มีแต่ฐานชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลงสูงสัก ๖ ศอก แล้วมีฐานชุกชีรององค์พระสูงสัก ๒ ศอก กับมีกำแพงก่อรอบบริเวณชั้นนอกด้วยอีกอย่างหนึ่ง

เรื่องตำนานของพระนอนองค์นี้น่าพิศวงที่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นของท่านผู้ใดสร้างไว้แต่เมื่อใด องค์พระนอนเองแม้ใหญ่โตถึงเพียงนั้นก็เพิ่งปรากฏแก่ตาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ นับได้ ๕๗ ปีมาจนบัดนี้ ด้วยเมื่อพระเจ้าอลองพระตีได้เมืองหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ กำลังแค้นมอญ สั่งให้รื้อทำลายเมืองหงสาวดีเสียให้เป็นป่า เมื่อกลับตั้งเป็นเมืองในรัชชกาลภายหลังก็ไปตั้งเสียที่อื่น ที่ตรงพระนอนอยู่จึงเป็นป่ารกมากว่าร้อยปี เหตุที่จะพบพระนอนนั้นเกิดแต่ผู้รับเหมาทำทางรถไฟให้คนเที่ยวเสาะหาศิลาแลงจะเอามาทำอับเฉาถมทางรถไฟไปพบพระนอนเข้า บอกข่าวแก่ชาวเมืองหงสาวดีก็มีคนศรัทธาพากันไปถางป่าตอนนั้น จึงปรากฏองค์พระนอนแต่นั้นมา ผู้ที่อยากรู้เรื่องตำนานพยายามค้นหนังสือเก่าก็ไม่มีเรื่องใดกล่าวถึงพระนอนองค์นี้ จึงรู้ไม่ได้ว่าใครสร้างไว้แต่เมื่อใด พิเคราะห์ตามเค้าเงื่อนที่ในหนังสือราชาธิราชตอนรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์ (เรียกว่า “พระเจ้ามหาปิฎกธร”) กล่าวถึงพระนอนในเมืองหงสาวดี คงหมายว่าพระนอนองค์นี้เอง และมีทางที่จะสันนิษฐานต่อไป ว่าพระนอนขนาดใหญ่โตถึงปานนั้น เห็นจะไม่มีผู้อื่นนอกจากพระยามหากษัตริย์สร้าง อีกประการหนึ่งที่สร้างไว้ในตำบลเดียวกันกับโบสถ์ “สีมากัลยาณี” ของพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ ก็ชวนให้เห็นว่าน่าจะเป็นพระเจ้าธรรมเจดีย์นั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็พระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นที่รับรัชชทายาทต่อมา สร้างพระนอนใหญ่องค์นี้ แต่เมื่อพบองค์พระนอนเป็นแต่ก่ออิฐยังไม่ได้ปั้นปูน ส่อให้เห็นว่าเป็นของทำค้าง น่าสันนิษฐานว่าจะสร้างเมื่อภายหลังพระเจ้าธรรมเจดีย์ทำศิลาจารึกเรื่องสีมากัลยาณีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙ จึงมิได้กล่าวถึงพระนอนในจารึกนั้น ที่ว่ามานี้เป็นแต่ฉันช่วยสันนิษฐาน ส่วนเรื่องตำนานพระนอนตอนตั้งแต่พบในชั้นหลังนี้ เมื่อชาวเมืองหงสาวดีถากถางทำเป็นเจดียสถานแล้ว องค์พระนอนยังต้องตากแดดกรำฝนอยู่กลางแจ้งช้านาน จนเมื่อเร็วๆ นี้พวกสัปบุรุษจึงเรี่ยไรกันได้ทุนทรัพย์พอสร้างวิหารใหญ่ปกคลุมไว้ในร่ม ทำเป็นวิหารโถงด้วยเครื่องเหล็กอย่างฝรั่ง พื้นวิหารปูด้วยศิลาอ่อนชักเงา และมีรั้วเหล็กหล่อตั้งรอบองค์พระ กันมิให้ใครเข้าไปจับต้องให้หมองมัว องค์พระนอนก็ปั้นและปิดทองประสานสีแต่งให้เป็นพุทธลักษณะงามสง่าน่าชม เห็นจะต้องใช้เงินนับด้วยแสน เดี๋ยวนี้ทำสำเร็จแล้วเพียงองค์พระกับวิหาร ต่อไปเขาคงคิดทำอุปจารลานวัดให้งามยิ่งขึ้น แม้เพียงเท่าที่ทำแล้วได้เห็นก็ต้องอนุโมทนา

ไปจากวัดพระนอนระยะทางสัก ๔-๕ เส้นถึงบริเวณ “โบสถ์สีมากัลยาณี” ซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์สร้างเนื่องในการฟื้นพระพุทธศาสนา อันเป็นการสำคัญในรามัญสมณวงศ์ และเป็นปัจจัยมาถึงเรื่องตำนานพระสงฆ์ธรรมยุติกาเมื่อภายหลังด้วย แต่จะรอเรื่องไว้เล่าต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยตัวโบสถ์สีมากัลยาณีก่อน โบสถ์นั้นก่ออิฐถือปูนทำเป็นตึกสองชั้นขนาด ๕ ห้อง ชั้นบนมีแต่ตัวประธาน เฉลียงรอบทำเป็นหลังคาตัด จะเข้าไปดูข้างในโบสถ์ไม่ได้ด้วยชำรุดมาก ผู้พาเขาห้ามว่าไม่ควรจะเสี่ยงภัย แต่เมื่อพิจารณาดูข้างภายนอกก็เสื่อมประสงค์ เพราะมีรอยปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง ลวดลายของเดิมศูนย์เสียหมดแล้ว คงเหลือของเก่าแต่โครงผนัง ดูไม่คุ้มค่าเสี่ยงภัย แต่โบสถ์นี้เป็นของสำคัญในเรื่องพงศาวดาร มิรัฐบาลก็สัปบุรุษคงปฏิสังขรณ์ไม่ทิ้งให้สูญเสีย โบสถ์สีมากัลยาณีแปลกที่ทำเป็นตึกสองชั้นไม่เหมือนโบสถ์แห่งอื่น เหตุใดจึงทำเช่นนั้นน่าสงสัยนัก วัดในเมืองพะม่าต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือวัดประเภทที่เป็นเจดียสถานประเภท ๑ วัดที่เป็นสังฆาวาส คือเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสามเณรประเภท ๑ วัดทั้ง ๒ ประเภทนั้นไม่ได้อยู่รวมกัน วัดสังฆาวาสเป็นแต่ที่พระสงฆ์อยู่มักไม่มีพระเจดีย์หรือโบสถ์วิหาร วัดเจดียสถาน เป็นต้นว่าพระเกศธาตุพระมุเตา ก็ไม่มีพระสงฆ์อยู่ เพราะฉะนั้นโบสถ์สีมากัลยาณีนี้คงนับเป็นวัดเจดียสถานแห่งหนึ่งต่างหากมาแต่เดิม ถ้าหาที่เทียบก็เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั่นเอง อนึ่งประเพณีการบวชนาคในเมืองพะม่าแม้จนปัจจุบันนี้ บวชกันเพียงเป็นสามเณรเป็นพื้น ที่บวชเป็นพระภิกพุมีน้อย การบวชสามเณรทำพิธีบรรพชาในบ้านก็มี บวชที่พระสงฆ์อยู่ก็มี ไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องไปถึงโบสถ์ ต่อสามเณรองค์ใดจะอุปสุมบทเป็นพระภิกษุจึงต้องไปทำพิธีอุปสมบทกรรมที่ในโบสถ์ เพราะฉะนั้นเมื่อคิดดูก็เห็นได้ว่า ในวันที่พระสงฆ์ประชุมกันทำพิธีอุปสมบทนั้น อาจจะมีผู้พาสามเณรต่างวัดไปขออุปสมบทที่โบสถ์เดียวกันหลายๆ ราย เหตุเช่นนี้อาจจะมีมาแต่ใกล้พุทธกาล จึงมีระเบียบในบุรพกิจแห่งการอุปสมบทที่พระกรรมวาจาจารย์ต้องถามชื่อตัวและชื่อพระอุปัชฌาย์ของสามเณร เพราะมีผู้ไปคอยขออุปสมบทอยู่หลายคนด้วยกัน ที่พระเจ้าธรรมเจดีย์สร้างโบสถ์สีมากัลยาณีเป็นสองชั้น ชั้นล่างคงใช้เป็นที่ทำ “บุรพกิจ” ชั้นบนเป็นที่พระสงฆ์สวดญัตติทำ “สังฆกรรม” ในการอุปสมบทมิให้ใครอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง วิธีบวชนาคในเมืองไทยแต่โบราณก็น่าจะเป็นทำนองเดียวกัน ผิดกันแต่เพียงใช้วิหารเป็นที่ทำพิธีเกี่ยวข้องกับคนภายนอก โบสถ์สำหรับแต่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ความข้อนี้พีงสังเกตเห็นเช่นวัดโบราณที่เมืองสวรรคโลก สุโขทัย มีแต่พระสถูปกับวิหารโดยมาก ต่อบางวัดจึงมีโบสถ์ การที่สร้างโบสถ์ทุกวัดเป็นประเพณีมีแต่ในประเทศสยามนี้ เห็นจะเกิดขึ้นในชั้นหลังตั้งแต่ถือธรรมเนียมให้ชายหนุ่มบวชเป็นพระภิกษุทุกคน แต่โบสถ์ที่ทำเป็นตึกสองชั้นไม่เห็นมีที่อื่นนอกจากโบสถ์สีมากัลยาณี และโบสถ์ใหม่ๆ ในเมืองพะม่าเอาแบบไปทำมีบ้าง โบสถ์พะม่าแต่โบราณเช่นที่เมืองพุกามก็เป็นชั้นเดียวเหมือนกับโบสถ์ไทย จึงนึกสงสัยว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์จะเอาแบบโบสถ์ลังกาที่เมืองคอลัมโบเมื่อเป็นราชธานีมีชื่อว่า “ชัยวัฒนานคร” มาสร้างโบสถ์สีมากัลยาณีก็เป็นได้ เพราะการฟื้นพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งนั้นเอาแบบอย่างลังกามาใช้มาก

ข้างหลังโบสถ์สีมากัลยาณีไม่ห่างนักในบริเวณเดียวกันนั้นเอง เป็นที่เก็บรักษาหลักศิลา “จารึกกัลยาณี” Kalyani Inscriptions อันนับว่าเป็นของสำคัญในโบราณวัตถุที่เมืองพะม่าสิ่งหนึ่ง มีเรื่องตำนานว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙ พระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ทรงฟื้นพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศ อันการผูกสีมากัลยาณีเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่ง เมื่อสำเร็จสมพระราชประสงค์แล้วดำรัสสั่งให้แต่งประกาศเรื่องฟื้นพระศาสนาครั้งนั้นจารึกไว้ในหลักศิลา ๑๐ หลัก จารึกเป็นภาษามคธ ๓ หลัก คำแปลเป็นภาษามอญ ๗ หลัก เดิมประดิษฐานไว้ในวัดแห่งหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อเมืองหงสาวดีถึงยุคเข็ญ หลักศิลาจารึกกัลยาณีถูกคนอันธพาลต่อยแตกหักกองทิ้งอยู่ช้านาน จนเมื่อเมืองตกเป็นของอังกฤษเริ่มตรวจโบราณคดี จึงเก็บเอาศิลาจารึกกัลยาณีไปรักษาไว้ในบริเวณวัดสีมากัลยาณีด้วยมีเรื่องเนื่องกัน ทำที่รักษาปลูกเป็นโรงเสาไม้มุงสังกะสีมีฝาลูกกรงเหล็กรอบ ในนั้นเอาศิลาจารึกกัลยาณีตั้งไว้ให้เห็นเหมือนอย่างเดิม ๒ หลัก เป็นหินทรายสูงขนาดหลักละ ๔ ศอกเศษ (๗ ฟุต) กว้าง ๒ ศอกเศษ (๔ ฟุต ๒ นิ้ว) จารึกทั้ง ๒ ด้าน หลักอื่นนอกจาก ๒ หลักนั้นเป็นแต่เอาชิ้นศิลากองรวมกันไว้เป็นหลักๆ ให้คนดูแต่ทางช่องลูกกรง แต่ก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าไปให้ถึงหลักศิลา เพราะประกาศที่จารึกหลักศิลากัลยาณีทั้ง ๑๐ หลักนั้น พระสงฆ์มอญได้คัดไปจารลงใบลานไว้แต่โบราณ นักปราชญ์คนหนึ่งเป็นจีนชื่อตอเซียนโก ผู้เป็นตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีในเมืองพะม่า ได้ฉะบับใบลานมาอ่านและพิมพ์โฆษณาแล้ว ทั้งภาษามคธและคำแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ฉันได้ฉะบับมาจากเมืองพะม่าแต่เมื่อยังเป็นนายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร และได้ให้พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์) เปรียญ แปลจากภาษามคธเป็นภาษาไทยอีกภาษาหนึ่ง กรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้โปรดรับพิมพ์ทั้ง ๓ ภาษารวมกันเป็นหนังสือแจกในงานศพ หม่อมสุภาพ กฤดากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ปรากฏอยู่แล้ว ในหนังสือนี้จะเล่าแต่ลักษณะการที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ฟื้นพระศาสนาในเมืองมอญครั้งนั้น จำต้องเล่าเรื่องประวัติของพระเจ้าธรรมเจดีย์เสียก่อน

พระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์นั้นมิได้เป็นเชื้อชาติราชสกุล แรกปรากฏก็ว่าบวชเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดสีปรางค์ในเมืองหงสาวดี แต่ฉลาดรอบรู้พระไตรปิฎกและเทศน์ดีมีคนนิยมมาก จนถึงตะละเจ้าท้าวราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชรับเป็นโยมอุปัฏฐาก ด้วยทรงพระเมตตามาแต่ยังเป็นสามเณร ครั้นอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้นามฉายา ว่า “ปิฎกธร” เรียกในหนังสือราชาธิราชตามแบบไทยว่า “พระมหาปิฎกธร” เมื่อล่วงสมัยมหายุทธสงครามแล้ว มอญกับพะม่ากลับเป็นไมตรีกัน พระเจ้าธรรมราชาราชโอรสซึ่งรับรัชชทายาทพระเจ้าราชาธิราช ยกนางตะละเจ้าท้าวให้เป็นมเหสีพระเจ้าอังวะ แต่พระเจ้าอังวะองค์นั้นอยู่มาได้ไม่ช้าถูกคนร้ายปลงพระชนม์ชิงเอาราชสมบัติ นางต้องตกยากอยู่ในเมืองพะม่าด้วยกันกับธิดา พระมหาปิฎกธรพยายามตามขึ้นไปคิดกลอุบายลักตะละเจ้าท้าวกับธิดาพาหนีพะม่ากลับมายังเมืองหงสาวดีได้ ต่อมาถึง พ.ศ. ๑๙๙๖ เมืองหงสาวดีว่างพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยไม่มีเจ้านายที่สืบสายจากพระเจ้าราชาธิราช พวกชาวเมืองหงสาวดีพร้อมใจกันเชิญตะละเจ้าท้าวขึ้นครองราชสมบัติ นางจึงชวนให้พระปิฎกธรลาสิกขามาช่วยราชการ แล้วให้อภิเษกกับราชธิดา จึงได้มียศเป็นเจ้าและเป็นคนสำคัญในบ้านเมืองแต่นั้นมา นางตะละเจ้าท้าวครองราชสมบัติได้ ๗ ปี ทรงปรารภว่าพระองค์ทรงพระชราแล้ว จึงตั้งให้ (พระมหาปิฎกธร) ราชบุตรเขย เป็นมหาอุปราชสำเร็จราชการแผ่นดินมาจนนางพระยาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๕ (พระมหาปิฎกธร) ก็ได้รับรัชชทายาท ราชาภิเษกทรงนามว่า “พระเจ้ารามาธิบดี” แต่ในพงศาวดารพะม่าเรียกว่า “พระเจ้าธรรมเจดีย์” (พระนามนี้ในหนังสือราชาธิราชว่าพระเจ้ากรุงลังกาถวายเฉลิมพระเกียรติ) ครองราชสมบัติต่อมาอีก ๒๐ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕

เรื่องตำนานการฟื้นพระพุทธศาสนาในเมืองมอญครั้งนั้น ว่าในเวลาเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นเสวยราชย์ พระสงฆ์ในรามัญประเทศแตกกันอยู่เป็น ๖ นิกาย ต่างรังเกียจไม่ร่วมสังฆกรรมกัน และถือคติประพฤติแผกผิดกันไปต่างๆ พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงพระวิตกว่าจะเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญเสีย ทรงพระราชดำริใคร่ครวญเห็นทางที่จะฟื้นพระศาสนาให้คืนดีมีอยู่ จึงให้นิมนต์พวกพระเถรานุเถระที่เป็นคณาจารย์ในนิกายต่างๆ มาปรึกษา ตรัสอ้างถึงครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงชำระสมณวงศ์ให้บริสุทธิ์ แล้วให้พระเถระไปเที่ยวสอนพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ พระมหินทรมหาเถรเชิญพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาทวีป และพระโสณะกับพระอุตตรมหาเถร ๒ องค์ด้วยกัน เชิญพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศสุวรรณภูมิ (หมายความว่าเมืองมอญ) พระสงฆ์ในลังกาทวีปกับในรามัญประเทศจึงร่วมสมณวงศ์อันเดียวกันมาแต่เดิม เพราะรับอุปสมบทสืบมาแต่พระมหาเถระที่มาจากกรุงปาตลีบุตรทั้ง ๓ องค์นั้น ครั้นจำเนียรกาลนานมามีพระเจ้าแผ่นดินลังกาองค์หนึ่ง ตั้งพระเถระองค์หนึ่งซึ่งมีคุณูปการแก่พระองค์เมื่อเวลาตกยากให้เป็นราชครู และสร้างอภัยคิรีวิหารถวายเป็นที่สำนัก มีพระสงฆ์ในเมืองลังการังเกียจความประพฤติของพระเถระที่เป็นราชครู ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย พระสงฆ์ลังกาก็เริ่มแตกกันเป็น ๒ พวก พวกที่รับอุปสมบทสืบวงศ์มาแต่พระมหินทรมหาเถรได้นามว่า “พวกมหาวิหาร” เพราะอยู่ วัดมหาวิหาร พระสงฆ์พวกที่บวชสืบวงศ์มาจากพระราชครูได้นามว่า “พวกอภัยคิรีวิหาร” เพราะอยู่วัดอภัยคิรีวิหาร แต่นั้นก็เกิดนิกายต่างๆ ขึ้นในลังกาทวีป เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทรามมา จนถึง พ.ศ.๑๗๐๗ พระเจ้าสิริสังฆโพธิปรักกรมพาหุ (ไทยเราเรียกแต่ว่า “พระเจ้าปรักกรมพาหุ”) ได้ครองลังกาทวีปเป็นมหาราชพุทธศาสนูปถัมภก ให้ฟื้นพระศาสนาด้วยให้กำจัดพระสงฆ์นิกายอื่นๆ เสียทั้งหมด คงไว้แต่พระสงฆ์มหาวิหารอันสืบวงศ์มาแต่พระมหินทรมหาเถรนิกายเดียว และให้ทำสังคายนาเหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช สมณวงศ์และระเบียบวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในลังกาทวีปก็หมดมลทินกลับบริสุทธิ์อย่างเดิมแต่นั้นมา แต่ส่วนรามัญประเทศ สมณวงศ์ซึ่งมหาเถรโสณะกับอุตตรได้ประดิษฐานไว้เสื่อมทรามมาช้านาน เพราะเกิดวิบัติต่างๆ ในบ้านเมือง เช่นถูกศัตรูมายํ่ายีเป็นต้น เป็นมูลเหตุให้พระสงฆ์แตกกันเป็นหลายนิกาย ถือคติต่างกันและรังเกียจกันและกัน การที่จะฟื้นพระศาสนาให้บริสุทธิ์จำต้องรวมสังฆมณฑลให้เป็นนิกายเดียวและถือคติวัตรปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่จะยกนิกายใดที่มีอยู่ว่าบริสุทธิ์และยุบนิกายอื่นเข้าหา ก็เห็นว่าจะไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะคงจะรังเกียจกันอยู่นั่นเอง จึงทรงพระราชดำริว่าพระเถระผู้เป็นคณาจารย์ทุกนิกายควรจะพร้อมกันไปรัมอุปสมบทต่อนิกายมหาวิหารในลังกาทวีป ซึ่งพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ทรงชำระบริสุทธิ์แล้วนั้น ให้มีคณะสงฆ์รามัญอันบริสุทธิ์เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วมาให้อุปสมบทแก่ผู้อื่นต่อไป จนมีพระสงฆ์แต่วงศ์มหาวิหารวงศ์เดียวในรามัญประเทศ พระศาสนาจึงฟื้นคืนบริสุทธิ์ได้เหมือนอย่างในลังกาทวีป พระเถระต่างนิกายเห็นชอบตามพระราชบริหาร จึงสมมตให้พระเถระ ๒๒ รูปไปรับอุปสมบทในเมืองลังกา และมีพระภิกษุอนุจรตามไปด้วยอีก ๒๒ รูป รวม ๔๔ รูปด้วยกัน ฝ่ายพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็โปรดแต่งราชทูตให้เชิญพระราชสาสนพาพระสงฆ์ลงเรือ ๒ ลำไปยังเมืองลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘ ก็ในสมัยนั้นพระเจ้าภูวเนกพาหุได้เป็นใหญในเมืองลังกาข้างฝ่ายใต้ ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองชัยวัฒนานคร (ในเขตต์เมืองคอลัมโบบัดนี้) เป็นพุทธศาสนูปถัมภกอยู่ในลังกาทวีป เมื่อได้ทรงทราบพระราชประสงค์ของพระเจ้าหงสาวดี ก็ยินดีรับจัดการให้สมพระราชประสงค์ ให้เอาเรือขนานทอดทำเป็นโบสถ์ที่กลางลำน้ำกัลยาณีอันอยู่ในเขตต์พระนคร แล้วให้คณะพระสงฆ์ลังกาบวชแปลงพระมอญที่ไป พระวันรัตนมหาเถรสังฆนายก (ฝ่ายอรัญญวาสี) เป็นอุปัชฌาย์ให้อุปสมบทแก่พระมอญพวกหนึ่ง (ซึ่งประสงค์จะมาบำรุงทางวิปัสสนาธุระ) และพระธรรมกิตติสังฆนายก (ฝ่ายคามวาสี) เป็นอุปัชฌาย์บวชพระมอญอีกพวกหนึ่ง (ซึ่งประสงค์จะมาบำรุงทางคันถธุระ) ปรากฏในศิลาจารึกกัลยาณีว่า เมื่อวันบวชนั้น พระสงฆ์ลังกาให้ชาวประเทศอื่นซึ่งไปคอยอยู่ก่อนบวชเสียก่อน แล้วจึงให้พระมอญบวช และเมื่อก่อนจะบวชนั้นบังคับให้สึกออกจากสมณเพศเป็นคฤหัสถ์เสียก่อน แล้วจึงให้บรรพชาและอุปสมบทใหม่ เพื่อให้เป็นลังกาวงศ์โดยบริสุทธิ์

ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยนอกเรื่องลงสักหน่อย ว่าด้วยนามพระวันรัตนที่เป็นอุปัชฌาย์นั้น นานมาแล้วในสมัยเมื่อฉันยังบังคับการกรมทหารมหาดเล็กในรัชชกาลที่ ๕ ครั้งหนึ่งฉันมีจดหมายถวายสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ์ (ท่านเคยเป็นพระกรรมวาจาจารย์เมื่อฉันบวช) ในจดหมายนั้นความแห่งหนึ่งออกนามสมเด็จ “พระวันรัตน” ต่อมา อีกหลายวันฉันไปเฝ้าท่านที่วัดราชประดิษฐ์ ท่านตรัสว่าเสมียนของฉันเขียนผิด ที่ถูกควรจะเขียนว่า “วันรัต” เพราะนามนั้นมาแต่ “วนรโต” แปลว่า “ผู้ยินดีอยู่ในป่า” ฉันก็ทูลรับว่าจะบอกเสมียนให้รู้ ครั้นล่วงมาอีกช้านานจนสมเด็จพระสังฆราชฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ฉันมาเห็นในจารึกกัลยาณีเขียนว่า “วันรัตน” แล้วเห็นในหนังสือสยามูปสัมปทวัตรซึ่งแต่งในเมืองลังกาก็เขียนว่า “วันรัตน” ออกประหลาดใจ ใช่แต่เท่านั้นฉันไปพบสำเนาหนังสือพระราชกฤษฎีกาถวายข้าพระโยมสงฆ์เขียนแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในนั้นเรียกชื่อวัดว่า “วัดเขียนคณะป่าแกว” “วัดสทิงพระคณะป่าแก้ว” และวัดอื่นๆ มีคำว่า “คณะป่าแก้ว” อยู่ข้างท้ายอีกหลายวัด ล้วนใช้คำ “ป่าแก้ว” เป็นชื่อคณะ ก็นึกขึ้นว่าคำ “ป่าแก้ว” กับ “วันรัตน” ตรงกันตามศัพท์ วันแปลว่าป่า รัตนแปลว่าแก้ว ที่เอามาเรียกเป็นชื่อคณะ คงหมายความว่าเป็นคณะสงฆ์ซึ่งต้นวงศ์ได้รับอุปสมบทต่อพระวันรัตนมหาเถรในลังกาทวีปเป็นแน่แท้ ความยังบ่งต่อไปถึงโคลงในเรื่องตะเลงพ่ายของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ว่า

“สมเด็จวันรัตนวัต                           ป่าแก้ว”

ส่อว่า สมเด็จพระวันรัตน เป็นตำแหน่งสังฆราชฝ่ายอรัญญวาสี คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นตำแหน่งสังฆราชฝ่ายคามวาสี หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งเป็นประมุขพระสงฆ์ซึ่งบำเพ็ญวิปัสสนาธุระองค์หนึ่ง เป็นประมุขพระสงฆ์ซึ่งบำเพ็ญคันถธุระองค์หนึ่ง คำ “วัดป่าแก้ว” นั้นก็มิใช่ชื่อตัววัด เรียกหมายความว่าเป็น “หัววัดคณะป่าแก้ว” แต่ประหลาดอยู่ที่ชาวเชียงใหม่เอาคำ “วันรัตน” ไปตัดอักษร “น” แปลว่า “ป่าแดง” ถือกันว่าเป็นหัววัดคณะวิปัสสนาธุระเหมือนกัน แต่ไม่เข้ากับหลักทางเมืองลังกาเหมือนกับแปลว่าปาแก้ว ด้วยยุติต้องกันกับเรื่องจารึกกัลยาณีและหนังสือแต่งในลังกาทวีป นามว่า “วันรัตน” น่าจะหมายความในลังกาว่า “ดวงแก้วที่ในป่า”

เมื่อพระสงฆ์มอญบวชแปลงเสร็จแล้ว พระเจ้าภูวเนกพาหุพระราชทานราชทินนามเฉลิมพระเกียรติพระเถระมอญเป็นชั้น “สามิ” (เช่นเดียวกับเป็น “พระราชาคณะ”) ๒๒ รูป แล้วจึงส่งพระมอญทั้งปวงกลับมายังเมืองหงสาวดี ตรงนี้ความส่อให้เห็นว่าประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานราชทินนามแก่พระภิกษุน่าจะเป็นประเพณีเกิดขึ้นในเมืองลังกาก่อน แล้วจึงไปมีขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่รับคติลังกาวงศ์ไปเป็นประเพณีในประเทศนั้น สมณศักดิ์ชั้นเดิมดูเหมือนจะมีเป็นสองชั้น ชั้นสูงเรียกว่า “สามิ” ชั้นต่ำเรียกว่า “คุรุ” ไทยเราเอามาแปลงเป็น “สังฆราชา” และ “พระครู”

จะเล่าเรื่องในจารึกกัลยาณีต่อไป เมื่อมีคณะสงฆ์มอญซึ่งได้บวชแปลงเป็นลังกาวงศ์อย่างบริสุทธิ์แล้ว พระเจ้าธรรมเจดีย์จึงทรงเลือกหาที่ทำโบสถ์ (มีพรรณนาลักษณะสีมาในจารึกกัลยาณีพิสดารมาก) ได้ที่ควรเป็นวิสุงคามถูกต้องตามพระวินัยที่ชายป่านอกเมืองหงสาวดี ทางด้านตะวันตกแห่งพระมุเตา (ในศิลาจารึกภาษามคธเรียกว่าพระ “มุธว”) แล้วให้คณะสงฆ์ที่แปลงเป็นลังกาวงศ์มาใหม่ทำพิธีผูกพัทธสีมา แล้วทรงสร้างโบสถ์ขึ้นที่นั้นสำหรับพระสงฆ์พวกนั้นทำสังฆกรรม ให้เรียกว่า “กัลยาณี” ทั้งสีมาและศิลาจารึก เพราะเหตุที่สมณวงศ์ซึ่งตั้งขึ้นใหม่นั้นได้รับอุปสมบทในนทีสีมาที่ลำน้ำกัลยาณี เมื่อผูกสีมาแล้วพระเจ้าธรรมเจดีย์จะโปรดให้ชาวเมืองหงสาวดีอุปสมบทเป็นลังกาวงศ์ในสีมากัลยาณี ปรากฏความขัดข้องด้วยพระเถระที่ไปบวชแปลงต้องไปสึกเป็นคฤหัสถ์เสียก่อน บวชใหม่วัสสายังน้อยจะเป็นอุปัชฌาย์ไม่ได้ จึงตรัสสั่งให้เที่ยวหาพระภิกษุซึ่งได้บวชแปลงจากลังกามาก่อน ได้พระเถระองค์หนึ่งชื่อพระสุวรรณโสภณ ได้ไปบวชแปลงเป็นคณะมหาวิหาร ณ ลังกาทวีปที่สีมาลำน้ำกัลยาณีแห่งเดียวกัน และพระวันรัตนองค์ก่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชมาได้ ๒๖ พรรษา จึงโปรดให้นิมนต์พระสุวรรณโสภณมาเป็นอุปัชฌาย์องค์แรก ให้อุปสมบทแก่ชาวเมืองหงสาวดีที่ในสีมากัลยาณี ก็มีพระสงฆ์ลังกาวงศ์มากขึ้นโดยลำดับมา

ทีนี้ถึงข้อสำคัญในลักษณการที่พระเจ้าธรรมเจดีย์รวมพระสงฆ์ทั่วทั้งรามัญประเทศให้เป็นนิกายเดียวกัน กล่าวในศิลาจารึกกัลยาณีว่า เมื่อคณะสงฆ์ซึ่งได้บวชแปลงมาแต่ลังกาทวีปมีอุปัชฌาย์และสีมาที่จะให้อุปสมบทอย่างบริสุทธิ์แก่ชาวเมืองหงสาวดีได้แล้ว พระเจ้าหงสาวดีก็ยอมให้พระสงฆ์พวกคณาจารย์ต่างๆ บวชแปลงได้ตามใจสมัคร แต่ให้สึกเสียก่อนอย่างเช่นพระลังกาเคยบังคับนั้นทุกองค์ มีจำนวนพระสงฆ์บวชแปลงครั้งแรก ๒๔๕ องค์ พระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ทรงอุดหนุนด้วยประการต่างๆ เช่นเสด็จไปในเวลาบวชและพระราชทานเครื่องบริกขารเป็นต้น เมื่อพระสงฆ์คณาจารย์บวชแล้ว พวกพระสงฆ์สานุศิษย์ก็พากันบวชแปลงตามอาจารย์อีกเป็นอันมาก เมื่อมีพระสงฆ์ที่บวชแปลงเป็นลังกาวงศ์ด้วยใจสมัครมากแล้ว พระเจ้าธรรมเจดีย์จึงตั้งพระราชกฤษฎีกาเผดียงแก่คณะสงฆ์ลังกาวงศ์นั้น เป็นเนื้อความ ๖ ข้อ คือ

๑. ห้ามมิให้อุปสมบทแก่บุคคลบางจำพวก เช่นคนที่เคยเป็นโจรผู้ร้ายหรือเป็นคนพาลอันมหาชนรังเกียจ และคนที่ร่างกายวิการเป็นต้น (พรรณนาไว้ในจารึกรวม ๑๒ จำพวก)

๒. จะให้อุปสมบทแก่ผู้ใดให้ทูลพระราชาและบอกพระมหาเถระเจ้าคณะใหญ่ให้ทราบก่อน มิฉะนั้นจะให้เอาญาติโยมของผู้รับอุปสมบทมาลงโทษ

๓. ผู้ใดได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยชอบแล้ว ภายหลังไปประพฤติเป็นปาปภิกษุไม่สมควรแก่สมณเพศ เช่นเป็นหมอยา หมอดู หรือเป็นช่างหัตถกรรม หรือแสดงธรรมหาสินจ้าง หรืออยู่ระคนด้วยคฤหัสถ์เป็นต้น ถ้าห้ามไม่ฟัง (ให้สึกเสีย) อย่าเอาไว้

๔. ถ้าคฤหัสถ์จะบวชเป็นสามเณร ต้องให้เรียนรู้อักขรสมัยเสียก่อนจึงให้บวช

๕. เมื่อสามเณรจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้สอบความรู้จตุปาริสุทธิสีลเสียก่อน ถ้าสามเณรองค์ใดมีความรู้ให้นำความทูลเสนอและบอกแก่พระมหาเถรคณาจารย์ พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เป็นนาคหลวง

๖.ให้พระสงฆ์ห่มผ้าและรักษากิจวัตรอย่างมหาวิหารนิกายลังกาวงศ์เป็นนิจ ห้ามมิให้แก้ไขให้เป็นต่างพวกกันเป็นอันขาด

เมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ประกาศกฤษฎีกาแก่พระสงฆ์ดังกล่าวมาแล้ว คราวนี้มีรับสั่งให้ราชบุรุษไปบอกเหล่าพระภิกษุซึ่งเคยสะสมทรัพย์สมบัติ คือเงินทองช้างม้าและทาสกรรมกรเป็นต้น มาแต่ก่อน ขอให้เลือกเอาอย่างหนึ่ง คือสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงเสียแล้วบวชแปลงประพฤติตามพระพุทธบัญญัติต่อไป หรือมิฉะนั้นถ้ายังอาลัยในทรัพย์สมบัติไม่ทิ้งได้ ก็ให้สึกออกเป็นคฤหัสถ์ครอบครองทรัพย์สมบัตินั้นต่อไป ถึงพระภิกษุที่ประพฤติผิดพระราชกฤษฎีกาข้ออื่นมาแต่ก่อนก็ให้เลือกเช่นเดียวกัน พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงฟื้นพระพุทธศาสนาโดยลักษณะดังกล่าวมา เริ่มจัดการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๙ จัดอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๒ ในเวลาเมื่อจัดการสำเร็จนั้น ราชอาณาเขตต์กรุงหงสาวดีมีพระสงฆ์ซึ่งได้อุปสมบทเป็นมหาวิหารนิกายลังกาวงศ์ชั้นคณาจารย์ ๘๐๐ รูป พระอนุจร ๑๔,๒๖๕ รูป สามเณรรู้ธรรมที่อุปสมบทเป็นนาคหลวง ๖๐๑ รูป รวมเป็นพระภิกษุสงฆ์ ๑๕,๖๖๖ รูป จารึกกัลยาณีมีเนื้อความดังกล่าวมานี้

เรื่องพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ฟื้นพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศ มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องถึงเมืองไทยน่าคิดวินิจฉัยอยู่หลายข้อ พิเคราะห์ตามพงศาวดารสมัยนั้น มอญกับพะม่ารบพุ่งกันเมื่อครั้งพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เป็นมหายุทธสงครามอยู่ช้านาน จนหมดกำลังลงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเลิกสงครามกลับเป็นไมตรีกัน ทางกรุงศรีอยุธยาก็เกิดรบพุ่งกับเมืองเชียงใหม่ ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกมหาราช (ในพงศาวดารไทยเรียกแต่ว่า “มหาราช”) เป็นมหายุทธสงครามอยู่ช้านาน จนหมดกำลังลงทั้ง ๒ ฝ่ายจึงเลิกสงครามกลับเป็นไมตรีเช่นเดียวกัน ประหลาดที่เป็นเช่นนั้นร่วมในสมัยเดียวกันทั้งมอญกับพะม่า และกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ และยังประหลาดต่อไปอีกที่พระเจ้าธรรมเจดีย์กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระเจ้าติโลกมหาราช ต่างพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธศาสนูปถัมภกิจเป็นอย่างวิเศษในสมัยเดียวกันทั้ง ๓ พระองค์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ทูตไปนิมนต์คณะสงฆ์เข้ามาจากลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ แล้วทรงพระราชศรัทธาละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ถึง ๘ เดือน พระเจ้าธรรมเจดีย์ให้รวมพระสงฆ์เป็นลังกาวงศ์ทั่วทั้งในรามัญประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙ ฝ่ายพระเจ้าติโลกมหาราชก็ให้พระสงฆ์ลังกาวงศ์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่เมืองเชียงใหม่เป็นการใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ดูราวกับบำเพ็ญพระปรมัตถบารมีแข่งกัน มูลเหตุคงเกิดแต่นิยมกันมาแต่เดิมว่าพระเจ้าแผ่นดินย่อมรุ่งเรืองพระเกียรติด้วยแผ่พระราชอาณาเขตต์ได้กว้างขวางเป็นพระเจ้าราชาธิราช ต่อมาได้คติมาจากลังกาทวีปอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงสามารถทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในพระราชอาณาเขตต์ ก็ย่อมได้พระเกียรติยศเป็นพระเจ้าธรรมราชาเสมอกับเป็นพระเจ้าราชาธิราช จึงเกิดการบำเพ็ญพระเกียรติยศเป็น ๒ อย่าง คือ บำเพ็ญเป็น “พระเจ้าราชาธิราช” หรือบำเพ็ญเป็น “พระเจ้าธรรมราชา” อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าหากจะเป็นทั้ง ๒ อย่างไม่ได้เหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ในสมัยนั้นทั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกมหาราช ไม่มีกำลังพอจะบำเพ็ญเป็นพระเจ้าราชาธิราช จึงหันไปทรงบำเพ็ญพุทธศาสนูปถัมภกิจอย่างวิสามัญ เมื่อพิจารณาต่อไปถึงอุบายที่ทรงบำเพ็ญเป็นพระเจ้าธรรมราชาผิดกันทั้ง ๓ พระองค์ ก็มีเค้าเงื่อนส่อให้เห็นเหตุ จะกล่าวฉะเพาะเหตุที่เนื่องด้วยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ความปรากฏในหนังสืออื่นว่า มีพระสงฆ์มอญบางพวกกล่าวหาว่า เมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ยังทรงผนวชเป็นพระมหาปิฎกธร ไปลักพานางตะละเจ้าท้าวมาจากเมืองอังวะ ความประพฤติเข้าฉายาอาบัติอทินนาทานปาราชิก ข้อนี้แม้ในหนังสือราชาธิราชซึ่งแต่งเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าธรรมเจดีย์ข้างปลายเรื่อง เมื่อเล่าถึงพระราชประวัติตอนที่ไปลักนางตะละเจ้าท้าว ก็แก้ไขอย่างอ้อมแอ้ม ว่าเมื่อพระมหาปิฎกธรพูดจาตกลงกับนางตะละเจ้าท้าวในการที่จะพาหนีนั้นแล้ว มาคิดปรารภว่าการลักพานั้นเป็น “ครุกรรมอันใหญ่หลวง จะขาดจากสิกขาบท” ครั้นจะลาสิกขาออกเป็นคฤหัสถ์ ก็จะเข้าไปเฝ้านางตะละเจ้าท้าวไม่ได้เหมือนเป็นพระ พระมหาปิฎกธรจึงใช้อุบายสึกเป็นคฤหัสถ์เสียก่อน แล้วกลับบวชเป็นสามเณร แต่ครองผ้าอย่างเป็นพระภิกษุเพื่อป้องกันภัย ดังนี้ ล่อให้สงสัยว่าที่พระเจ้าธรรมเจดีย์จัดการพระพุทธศาสนาครั้งนั้น มีเหตุในส่วนพระองค์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ยังมีข้อประหลาดยิ่งกว่านั้นต่อไปอีกที่หนังสือราชาธิราช (Razadarit Ayedawpen) นั้น พะม่าว่าขุนนางมอญคนหนึ่งเป็นที่พระยาทละ แต่งเมื่อรัชชกาลพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๔ จน พ.ศ. ๒๑๕๔ คือภายหลังรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์มาเพียงราวร้อยปี ในหนังสือนั้นยกย่องพระเจ้าธรรมเจดีย์ว่าเป็นอุดมบัณฑิต พรรณนาพระเกียรติคุณเป็นอเนกปริยาย แม้จนทรงแก้ปริศนาต่างๆ และพระราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่างๆ ก็เอามาเล่าถ้วนถี่ แต่ในหนังสือราชาธิราช ไม่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงจัดการฟื้นพระพุทธศาสนาและรวมนิกายพระสงฆ์เสียเลยทีเดียว จะว่าผู้แต่งไม่รู้ หลักศิลาจารึกกัลยาณีก็มี “ตำตา” อยู่ที่เมืองหงสาวดีในสมัยนั้น จึงน่าสงสัยว่าจะจงใจไม่กล่าวถึงทีเดียว จะเป็นเพราะเหตุใดได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ ด้วยพระเจ้าธรรมเจดีย์เป็นใหญ่แต่ในรามัญประเทศ ประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียง คือ พะม่า ยักไข่ ลานนา เชียงใหม่ และเมืองไทย แม้ถือศาสนาเดียวกันก็เป็นอิสสระอย่างต่างหากทั้งนั้น พระเจ้าธรรมเจดีย์ฟื้นพระพุทธศาสนาแต่ในรามัญประเทศ และเกี่ยวข้องแต่ฉะเพาะพวกมอญ การที่พระเจ้าธรรมเจดีย์รวมนิกายสงฆ์ แม้จะเป็นคุณแก่พระพุทธศาสนาดังพรรณนาในจารึกกัลยาณี แต่กระบวรการที่ทำอยู่ข้างเรี่ยวแรงมาก ถึงให้พระสงฆ์สึกหมดทั้งพระราชอาณาเขตต์ สึกแล้วยอมให้บวชใหม่บ้างไม่ยอมให้บวชบ้าง เมื่อคิดคาดน้ำใจของพระสงฆ์มอญที่ต้องกระทำตามพระราชบัญญัติในครั้งนั้น เห็นว่าคงต่างกันเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งยอมกระทำตามด้วยความเต็มใจ บางทีพวกนี้จะมีมาก พวกหนึ่งยอมกระทำตามด้วยเกรงภัยแต่น้ำใจไม่สมัคร อีกพวกหนึ่งไม่ยอมทิ้งลัทธิเดิม คงหลบหนีหรือทำมารยาอย่างหนึ่งอย่างใดพอให้พ้นภัย การที่รวมนิกายสงฆ์มอญในครั้งนั้นเห็นจะไม่สำเร็จได้จริง เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงจึงไม่ทำเช่นนั้นบ้าง เมื่อล่วงรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว การที่ทรงจัดไว้ก็น่าจะเสื่อมทรามลงเป็นอันดับมา จนถึงสามชั่วคนจึงแต่งหนังสือราชาธิราช ผู้แต่งหรืออาจจะเป็นพระเจ้าบุเรงนอง เห็นว่าเรื่องฟื้นพระพุทธศาสนาที่จารึกในศิลากัลยาณีไม่สำเร็จประโยชน์ยั่งยืนจึงไม่กล่าวถึง แต่คิดดูในเวลานี้จะว่าไม่เป็นประโยชน์ทีเดียวก็ว่าไม่ได้ ด้วยวิธีผูกสีมาทั่วทั้งเมืองพะม่ายังใช้อนุโลมตามแบบอย่างที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ตั้งไว้ และใช้จารึกกัลยาณีเป็นหลักเมื่อเกิดสงสัยในการทำสีมามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ พระสุเมธมุนี (พุทฺธวํโส ชื่อภาษามอญว่า ซาย แปลว่า ผึ้ง) ที่เป็นครูพระสงฆ์ธรรมยุตติกาชั้นเดิม ก็เห็นจะได้คัมภีร์จารึกกัลยาณีนั้นเองมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิธีผูกพัทธสีมาในเมืองพะม่าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แก้ไขเสื่อมทรามลงกว่าที่พรรณนาไว้ในจารึกกัลยาณีมาก นายตอเซียนโกได้เก็บเนื้อความแสดงไว้ในคำนำหนังสือจารึกกัลยาณีที่เขาแปล สังเกตดูคล้ายกับวิธีพระสงฆ์ไทยผูกพัทธสีมาก็มี ผิดกันก็มี คือ

๑. ใครจะสร้างโบสถ์ (วัดในเมืองพะม่ามีโบสถ์น้อยวัด) ต้องขอที่วิสุงคามสีมาต่อรัฐบาล ขนาดที่วิสุงคามสีมายาวราว ๒๑ วา กว้างราว ๑๘ วา ต่อรัฐบาลอนุญาตและยอมสละสิทธิถวายสงฆ์แล้วจึงผูกสีมาได้

๒. เมื่อได้ที่วิสุงคามแล้ว พระสังฆนายกผู้จะอำนวยการพิธีจึงกะแนวพัทธสีมาซึ่งจะผูกในที่วิสุงคามนั้น เป็นแนวโบสถ์แนว ๑ ต่อออกมาอีกราว ๖ ศอกเป็นแนวสีมาอีกแนว ๑ ให้แผ้วถางปราบที่ตรงนั้นให้เรียบราบ แล้วเอาดินอ่อนโบกเป็นพื้น และเอาปูนขาวหรือดินแดงโรยเป็นเส้นหมายปันพื้นเป็นช่องตาราง แต่ละช่องกว้างราว ๔ ศอก ยาวราว ๒ ศอก พวกคฤหัสถ์ปลูกปะรำตกแต่งด้วยเครื่องประดับครอบตลอดเขตต์

๓. เริ่มการพิธีด้วยพระสงฆ์สวดกรรมวาจาถอนสีมา (อันหากจะมีอยู่แต่เดิม) ไปทุกช่องตารางที่หมายพื้น พิธีถอนสีมาทำหลายวันแล้วพักสัก ๒ วัน (จึง)

๔. ตั้งต้นทำพิธีผูกพัทธสีมา (ตอนนี้ดูเหมือนผิดกับไทยเป็นข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ที่พะม่าไม่ใช้ศิลาลูกนิมิต) แต่โบราณให้ขุดคูตรงเส้นสีมารอบทั้ง ๔ ด้าน แต่เดี๋ยวนี้ให้ขุดแต่เป็นบ่อ ๘ บ่อ หมายเขตต์ตรงมุมทั้ง ๔ กับย่านกลางทั้ง ๔ ด้าน ก่อนจะเริ่มทำการพิธีให้คนตักน้ำมาเทลงใน (คูหรือ) บ่อให้มีน้ำขังอยู่เสมอ ถ้าน้ำพร่องก็ต้องเติม แต่เมื่อเริ่มการพิธีแล้วจะเติมน้ำอีกไม่ได้ และต้องให้มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลาทำการพิธี ภายในแนวบ่อน้ำเข้าไปสักศอกหนึ่งทำรั้วตารางไม้ไผ่ตั้งไว้รอบ และให้มีพระหนุ่ม (หรือสามเณร) ยืนประจำที่บ่อ พระสงฆ์สวดกรรมวาจาผูกสีมาเดินเวียนมาโดยลำดับถึงที่ (บ่อน้ำ) สีมาไหนก็ทักถาม เช่นถึงทิศตะวันออกถามว่า “ปุรตฺถิมาอ ทิสาย กึ นิมิตฺตํ” ภิกษุหนุ่มซึ่งประจำสีมานั้นตอบว่า “อุทกํ ภนฺเต” นัยว่าถามและตอบกันทั้งเป็นภาษามคธและภาษาพะม่า

๕. เมื่อผูกสีมารอบแล้ว พระสังฆนายกอ่านประกาศบอกวันคืนเดือนปี กับทั้งชื่อพระเถระผู้ผูกพัทธสีมาและชื่อสีมา (คือชื่อวัด) ด้วย

๖. ต่อเมื่อทำพิธีผูกสีมาเสร็จแล้วจึงให้ถมบ่อน้ำ และเอาหลักศิลาปักตรงบ่อนั้นเป็นเครื่องหมายเขตต์สีมาต่อไป

เมื่อดูวัดสีมากัลยาณีแล้ว เจ้าเมืองพาไปวัดพระมหาธาตุมุเตา Shwe Mudan ซึ่งอยู่ทางมุมเมืองเก่าข้างด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างฟากลำน้ำพะโคกับวัดสีมากัลยาณี ถ้าเปรียบกับวัดในกรุงเทพฯ ว่าวัดระฆังเป็นวัดสีมากัลยาณี วัดพระมหาธาตุมุเตาก็อยู่อย่างวัดบวรนิเวศฯ ฉะนั้น พระมหาธาตุมุเตามีเรื่องตำนานว่า เมื่อครั้งพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ เขามัตหุละ Mat Hula ใกล้ลำน้ำยุนชะไลน์ Yunzlein (เห็นจะเป็นในเมืองมอญ) มีชายพี่น้องสองคนชื่อ มหาศาล Hahathala คนหนึ่ง จุลศาล Sulathala คนหนึ่ง เป็นชาวเมืองชองดู Saungdu อยู่ใกล้กับตำบลที่ตั้งเมืองหงสาวดีเมื่อภายหลัง พากันไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดเลื่อมใสถวายตัวเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าจึงโปรดประทานพระเกศาแก่คนทั้งสองนั้นคนละเส้น ดำรัสให้เอาไปประดิษฐานไว้ ณ เขาสุทัศนะมยินศิลา Thudathana Myinthila เทพดาช่วยบันดาลให้คนทั้งสองค้นพบเขานั้น จึงก่อพระสถูปขึ้นองค์หนึ่งสูง ๕๐ ศอก Cubit ฐานวัดโดยรอบ ๒๕๐ ศอก แล้วบรรจุพระเกศาสองเส้นไว้ในพระสถูปนั้น ต่อมาเมื่อล่วงพุทธกาลแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระสถูปนั้นด้วย ครั้นเมื่อเจ้าสามลกับเจ้าวิมลตั้งเมืองหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๖ (ดังกล่าวมาแล้วในเรื่องตำนานเมืองหงสาวดี) จึงสถาปนาพระมุเตาให้เป็นมหาเจดียสถานสำหรับเมืองหงสาวดีต่อมา แต่ในตำนานไม่มีพรรณนาว่าพระเจ้าแผ่นดินภายหลังองค์ไหนได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมุเตาอย่างไรอีกบ้าง มีแต่ในหนังสือราชาธิราชว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์ให้ก่อเสริมพระมุเตาขึ้นไปจนสูงได้ ๒๕ วา และมีในพงศาวดารเมืองพะม่าอีกแห่งหนึ่ง ว่าพระเจ้าปะดุงในราชวงศ์อลองพระซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๕ จน พ.ศ. ๒๓๖๒ ได้ทรงปฏิสังขรณ์เสริมพระมุเตาให้สูงขึ้นเป็น ๔๙ วา ๑ ศอก ๑ คืบ (๓๒๔ ฟุต) ขยายฐานเป็นด้านละ ๒๔ วา ๑ ศอก ๑ คืบ (๑๖๐ ฟุต) จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธาตุมุเตานี้คงเป็นพระเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งมีมาแต่ก่อนเก่า ไม่มีใครรู้ว่าใครสร้างไว้แต่เมื่อไร เห็นจะสถาปนาเป็นพระมหาธาตุสำหรับเมืองหงสาวดีในสมัยเมื่อพระยาอู่ (พระชนกของพระเจ้าราชาธิราช) ตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีของรามัญประเทศแต่ราว พ.ศ. ๑๙๑๒ เป็นต้นมา มีเรื่องราวกล่าวถึงความนับถือพระมุเตาปรากฏในหนังสือราชาธิราชก็หลายแห่ง คงนับถือกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์มาตลอดเวลาเมืองหงสาวดีเป็นราชธานี พระเจ้าหงสาวดีองค์หลังๆ ต่อมา เช่นพระเจ้าบุเรงนองเป็นต้น ก็คงได้บุรณะปฏิสังขรณ์ แต่หากไม่ปรากฏในหนังสือตำนานที่แต่งไว้ แม้ทุกวันนี้พวกมอญก็ยังนับถือพระมุเตายิ่งกว่าพระเกศธาตุที่เมืองร่างกุ้ง ไทยเราก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะได้ฟังเรื่องพงศาวดารทางนั้นตามคำของพวกมอญเป็นพื้น ทั้งที่เกี่ยวดองเป็นเชื้อมอญก็มีมาก ถ้าว่าด้วยรูปสัณฐานของพระมหาธาตุมุเตาเมื่อยังปกติ พิจารณารูปฉายก็เป็นอย่างที่ไทยเรียกว่า “พระเจดีย์มอญ” เช่นเดียวกันกับพระเกศธาตุนั่นเอง เป็นแต่ทรวดทรงส่วนสัดและลวดลายผิดกันบ้าง แต่พระมุเตาย่อมกว่าพระเกศธาตุ และยอดเนินที่สร้างก็ต่ำกว่าเนินพระเกศธาตุ ฉายที่เนินทำเป็นลานสองชั้น ชั้นล่างสูงกว่าพื้นดินราว ๖ วา ชั้นบนสูงขึ้นไปอีก ๓ วา ทำทางขึ้นเป็นขั้นบันไดทั้ง ๔ ด้านเช่นเดียวกันกับที่พระเกศธาตุ

เรื่องตำนานพระมุเตา เปรียบดูราวกับเขียนมาหมดเล่มสมุดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ด้วยในคืนวันนั้นเวลา ๒๐ นาฬิกาเศษเกิดแผ่นดินไหวอย่างแรง สะเทือนทั่วทั้งประเทศพะม่าตลอดไปจนถึงเมืองไทย แต่ตรงเมืองหงสาวดีแผ่นดินไหวแรงกว่าแห่งอื่น บ้านเรือนหักพังเกือบหมดทั้งเมือง คนหนีออกกลางแจ้งไม่ทันเรือนล้มทับตายกว่าร้อย ในครั้งนั้นเองทั้งองค์พระมหาธาตุมุเตาและสิ่งอื่นซึ่งสร้างไว้ในบริเวณหักโค่นทั้งวัด แม้เวลาล่วงมาได้ ๖ ปี ความเสียหายยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ พอเข้าบริเวณแลเห็นวัดก็อนาถใจตั้งแต่ขึ้นบันได ด้วยศาลาหลังคาปราสาทซึ่งเคยมีติดต่อกันตลอดทางขึ้นก็พังหมด ยังเห็นแต่โคนเสารายอยู่ทั้งสองข้าง กรรมการเขามีแก่ใจทำฉนวนเสาไม้มุงสังกะสีขึ้นไว้แทน พอให้พวกสัปบุรุษได้อาศัยร่มเงาเมื่อขึ้นบันได ร้านขายเครื่องสักการก็ได้แต่ทำแคร่วางของขายอยู่ข้างทางไม่กี่ร้าน ขึ้นไปถึงลานพระมหาธาตุยิ่งอนาถใจหนักขึ้น พอแลเห็นองค์พระมุเตาก็แทบจะพลั้งปากออกอุทานว่า “แม่เจ้าโวย” เพราะเมื่อเห็นมาแต่ไกลสำคัญว่าพังเพียงปากระฆังเหนือชั้นทักษิณ ที่จริงเป็นเช่นนั้นแต่ทางด้านตะวันตก ทางด้านอื่นพังลงมาจนชั้นทักษิณ แลเห็นเป็นแต่กองดินสูงใหญ่พังท่วมถมออกไปจนพ้นลานพระมหาธาตุ ที่ในลานรอบพระมุเตานั้น วิหาร ๔ ทิศที่บูชากับทั้งเหล่าวิหารน้อยและศาลารายรอบขอบลานพระมหาธาตุของเดิมพังเกือบหมด ในเวลานี้มีของที่สร้างขึ้นใหม่บ้าง แต่เป็นของสร้างชั่วคราวเป็นพื้น เช่นวิหารทิศก็ทำชั่วคราวพอให้มีร่มสำหรับสัปบุรุษกราบไหว้และถวายเครืองสักการบูชา ศาลาสำนักงานของกรรมการและศาลารายที่สัปบุรุษพักก็ล้วนสร้างเป็นอย่างชั่วคราวทั้งนั้น ที่กรรมการสร้างเป็นของถาวรมีคลังหลังหนึ่ง ก่อเป็นตึกแน่นหนาถาวร เพราะเมื่อพระมุเตาพัง ปรากฏเครื่องเพ็ชรพลอยเงินทองของมหัคฆภัณฑ์อันเคยประดับหรือบรรจุไว้ในองค์พระมุเตามากมายหลายอย่าง จำต้องเก็บรวบรวมรักษาไว้ให้มั่นคง พวกกรรมการเขาเปิดคลังนั้นให้ฉันดูของมหัคฆภัณฑ์ที่จัดไว้เป็นพวกๆ ของจำพวกที่บรรจุไว้ในองค์พระมุเตามีพระพุทธรูปขนาดย่อมๆ เป็นพื้น พระเจดีย์ลังกาและผอบบรรจุพระบรมธาตุ (หรือบางทีจะเป็นอัฏฐิธาตุผู้อื่น ๆ) ก็มีบ้าง สังเกตดูพระพุทธรูปมีทั้งของลังกาพะม่ามอญไทย แต่พิเคราะห์ลักษณะไม่มีแบบเก่าถึงสมัยพุกามหรือสมัยสุโขทัย เป็นแบบสมัยภายหลังมาทั้งนั้น ส่อให้เห็นว่าคงมีการบุรณะพระมุเตาและบรรจุเพิ่มเติมหลายครั้ง ฉัตรยอดพระมุเตาใหญ่โตตามแบบฉัตรพะม่ามอญ มีระฆังใบโพหล่อด้วยเงินอยู่มาก กรรมการเขาบอกว่ายังมีเพ็ชรพลอยที่ประดับยอดฉัตรเขาเก็บไว้ในกำปั่นเหล็กอีกห้องหนึ่งต่างหาก แต่ฉันเห็นไม่จำเป็นจะต้องดู จึงมิได้ขอให้เขาไขกำปั่น (ที่จริงเป็นเพราะถึงเวลากว่าเที่ยงแล้วอยากกลับอยู่ด้วย) ฉันเคยสงสัยอยู่ตั้งแต่เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวเล่าเรื่องยกฉัตรพระเกศธาตุไม่ช้ามานัก ว่ามีผู้ศรัทธาถวายเพ็ชรนิลจินดาให้ประดับฉัตรนั้น คิดไม่เห็นว่าจะประดับเพชรนิลจินดาที่ตรงไหนเพราะฉัตรใหญ่โตมาก ไปเมืองพะม่าครั้งนี้พบในหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งแต่งเป็นภาษาอังกฤษ บอกอธิบายว่าพระเจดีย์นั้นพะม่ากำหนดเป็น ๑๒ ส่วน พรรณนาแต่เบื้องต่ำต่อพื้นดินขึ้นไป คือ

ส่วนที่ ๑ เรียกว่า Base ตรงกับฐาน

ส่วนที่ ๒ เรียกว่า Three Terraces ตรงกับชั้นทักษิณ ๓ ชั้น

ส่วนที่ ๓ เรียกว่า Bell ตรงกับองค์ระฆัง

ส่วนที่ ๔ (แบบพระเจดีย์พะม่าไม่มีชั้นบัลลังก์) เรียกว่า Begging Bowls แปลว่าบาตร (คว่ำซ้อนกัน) ตรงกับที่ไทยเรียก “ปล้องไฉน”

ส่วนที่ ๕ เรียกว่า Twisted Turban แปลว่าผ้าพัน เห็นจะตรงกับที่ไทยเรียกว่า “ลูกแก้ว” แตในแบบพระเจดีย์ไทยไม่มี

ส่วนที่ ๖ เรียกว่า Lotus Flower แปลว่าดอกบัวหลวง ตรงกับที่ไทยเรียกว่า “บัวคว่ำบัวหงาย” ยอดพระเจดีย์แบบไทยมีอยู่บ้าง

ส่วนที่ ๗ เรียกว่า Plantain Bud แปลว่าหัวปลี ตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า “ปลี”

ส่วนที่ ๘ เรียกว่า Hti Plate แปลว่าฐาน (โลหะ) สำหรับปักฉัตร แบบไทยไม่มี

ส่วนที่ ๙ เรียกว่า Hti แปลว่าฉัตร ยอดพระเจดีย์ไทยเป็น “ลูกแก้ว” ไม่มีฉัตร

ส่วนที่ ๑๐ เรียกว่า Flowers แปลว่าดอกไม้ เห็นจะหมายความ ว่ายอดพุ่ม

ส่วนที่ ๑๑ เรียกว่า Vane ฝรั่งแปลว่าเครื่องดูลม ที่จริงคือรูปธงชัย หมายตามตำรานพเคราะห์ว่าพระเกตุ

ส่วนที่ ๑๒ เป็นที่สุดยอดเรียกว่า Bud of Diamond แปลว่า ดอกไม้ (ตูม) เพ็ชร เพ็ชรพลอยที่ถวายกันเห็นจะประดับทำดอกไม้เพ็ชรนั้นเอง

กรรมการเขาทำหุ่นไม้เป็นรูปพระเตาที่คิดจะสร้างใหม่ ตั้งไว้ที่เฉลียงหน้าห้องสำนักงาน เพื่อบอกบุญเรี่ยไรให้คนทั้งหลายบริจาคทรัพย์ช่วยสร้าง ได้ยินว่าเรี่ยไรได้เงินลัก ๒๐๐,๐๐๐ รูปีแล้ว แต่ยังไม่พอการ พิจารณาดูรูปทรงที่ทำหุ่นไว้คล้ายกับพระเกศธาตุ คลาดจากรูปพระมุเตาองค์เดิมไปบ้าง แต่ดูเหมือนจะทำให้สูงใหญ่กว่าเดิม การที่จะสร้างมีลำบากอยู่บ้าง ถ้ารื้อซากพระเจดีย์ที่เหลือพังลงมาจนถึงชั้นทักษิณแล้วก่อใหม่หมดทั้งองค์พระเจดีย์ จะสะดวกและสิ้นเปลืองน้อยกว่าอย่างอื่น แต่ชาวเมืองคงจะเห็นเป็นบาปกรรม ถ้าเป็นแต่ก่อเสริมซากที่เหลือพังขึ้นไปให้กลับเป็นองค์พระเจดีย์อย่างเดิมก็น่าจะไม่อยู่ได้แน่นหนา แต่ข้อนี้ในวันเมื่อเขาเชิญฉันไปยังมหาวิทยาลัยเมืองร่างกุ้ง ได้สนทนากับศาสตราจารย์อังกฤษคนหนึ่งถึงเรื่องพระมุเตา เขาบอกว่าภราดาของเขาเป็นนายช่างสถาปนิก Architect ซึ่งรับหน้าที่คิดแบบสร้างพระมุเตา คิดจะทำรากใหม่ด้วยเสาเหล็กปักรอบรากเดิม แล้วก่อพระเจดีย์บนรากใหม่ด้วยคอนกรีตครอบรากพระเจดีย์เก่า ไม่แตะต้องรื้อแย่งของเดิมที่ยังติดเป็นรูปอยู่อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เงินมากสักหน่อย

เมื่อไปเห็นการที่เขาคิดเรี่ยไรบุรณะพระมุเตา ฉันคิดถึงคุณแม่กลิ่น ด้วยเคยได้ยินท่านปรารภหลายครั้งว่าอยากไปบูชาพระมุเตาที่เมืองหงสาวดี ฉันจึงบริจจาคทรัพย์เข้าเรี่ยไรตามกำลังอุทิศในนามของคุณแม่กลิ่นกับทั้งในพระนามของกรมพระนเรศวรฯ ด้วย พอฉันสอดธนบัตรลงในช่องหลังหีบสำหรับรับเงิน ตาปะขาวที่นั่งเฝ้าก็ตีกังสดาลยํ่าเสียงสนั่น แล้วสวดอนุโมทนายืดยาว รู้เพียงว่าสวดคำภาษามคธ แต่ฟังไม่ได้ศัพท์ เพราะแกสวดเสียงอักขระและทำนองอย่างพะม่า ผิดกับพระมอญในกรุงเทพฯ สวดซึ่งเราพอฟังตามได้ ถ้ามีคำถามว่าพระมุเตาสิเป็นพระเจดีย์สำคัญของพวกมอญ เพราะเหตุใดจึงไม่สวดอย่างทำนองมอญ คำตอบข้อนี้เข้าเรื่องสำคัญอันหนึ่งในโบราณคดี มีอธิบายว่า ตั้งแต่พะม่าได้เมืองมอญไว้ในอำนาจเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพระ พะม่าปรารถนาจะมิให้มีรามัญประเทศขึ้นได้อีก จึงพยายามกระจายพวกมอญเมืองหงสาวดีและเมืองอื่นข้างเหนือให้แยกกันไปอยู่ตามหัวเมืองพะม่า และให้พวกพะม่าลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหัวเมืองมอญเหล่านั้นด้วย มอญต้องอยู่ระคนปนกับพะม่าก็ต้องใช้ภาษาและขนบธรรมเนียมพะม่ายิ่งขึ้น ครั้นล่วงหลายชั่วคนมาก็ใช้ภาษาและขนบธรรมเนียมมอญน้อยลงโดยลำดับ จนเดี๋ยวนี้มอญในเมืองพะม่าแม้ยังถือตัวว่าเป็นมอญก็พูดภาษามอญไม่ได้เสียแล้วโดยมาก ฉันได้คุ้นกับข้าราชการในกรมตรวจโบราณคดีคนหนึ่ง เขาบอกว่าตัวเขาเป็นมอญแต่ไม่เคยหัดพูดภาษามอญ ภรรยาของเขาก็เป็นมอญ พูดภาษามอญได้ แต่ก็อ่านหนังสือมอญไม่ออก นัยว่าพวกมอญที่ใช้พูดภาษามอญเป็นปกติยังมีแต่ตามหัวเมืองฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตมะมาจนต่อแดนไทย พวกนักปราชญ์เขาจึงเห็นว่านานไปภาษามอญคงจะศูนย์

กลับจากวัดพระมหาธาตุมุเตา เจ้าเมืองพาขึ้นรถไปเลี้ยงกลางวันที่จวน จวนเจ้าเมืองเป็นตึกสองชั้นสร้างใหม่เมื่อภายหลังแผ่นดินไหว เลือกที่เนินหมู่หนึ่งข้างนอกเมืองสร้างเรือนข้าราชการตามยอดเนินรายกันไปหลายหลัง ล้วนมีสวนดอกไม้และสนามหญ้าในบริเวณ และมีถนนใช้รถเข้าออก ดูจะอยู่สบายดี เมื่อสนทนากับเจ้าเมืองได้ความว่าบ้านหลวงเหล่านั้นรัฐบาลเรียกค่าเช่าจากผู้อยู่กำหนด ๑๐ ชัก ๑ ในอัตราเงินเดือน เอาไว้ซ่อมแซม นอกจากค่าเช่าผู้อยู่ยังต้องเสียค่าน้ำค่าไฟและค่ารักษาพื้นที่อีกต่างหาก เรื่องนี้เมื่อฉันกลับมาถึงเมืองปินังเล่าให้มิสเตอร์กู๊ดแมน Mr. A.M. Goodman เจ้าเมืองฟัง เขาบอกว่าเป็นประเพณีที่รัฐบาลอังกฤษใช้ทั่วไปไม่แต่ในเมืองพะม่าเท่านั้น ในเมืองปินังก็เป็นเช่นเดียวกัน แม้ตึก Residency อันใหญ่โตใช้ทั้งเป็นที่เจ้าเมืองอยู่และเป็นที่รับแขกเมือง ตัวเขาก็ต้องเสียค่าเช่า แต่เมื่อมาคิดดูก็เห็นเป็นประเพณีดี ฉันเคยได้ความรำคาญแก่ตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้คิดสร้างเรือนหลวงให้ข้าราชการอยู่ตามหัวเมือง แต่แรกก็เรียบร้อยดี ครั้นล่วงมาหลายปีเรือนเหล่านั้นจับชำรุดทรุดโทรม ข้าราชการบางคนก็มีแก่ใจบริจจาคทรัพย์ของตนเองซ่อมแซม แต่บางคนก็ทิ้งให้ชำรุดไม่นำพา ฉันได้เคยเห็นแห่งหนึ่งไม้กะดานปูชั้นบันไดหักหายไปแผ่นหนึ่ง ข้าราชการผู้อยู่ไม่หากะดานใหม่ใส่แทน สู้ทนก้าวข้ามขั้นบันไดที่หักไม่รู้ว่าวันละกี่ครั้ง เพราะถือว่าเป็นเรือนของหลวงตัวอาศัยอยู่ชั่วคราว ฉันเคยคิดหาอุบายแก้ยังไม่ทันสำเร็จก็ออกเสียจากตำแหน่ง ถ้ารู้วิธีของรัฐบาลอังกฤษแต่เวลานั้นก็เห็นจะเอาอย่างไปใช้ แต่คงต้องกำหนดอัตราค่าเช่าพอประมาณมิให้ผู้อยู่เดือดร้อน

เจ้าเมืองหงสาวดีคนนี้เป็นพะม่าชื่อ อู สัน ติน U Than Tin อายุดูราวสัก ๔๐ ปี สามารถสอบวิชาข้าราชการพลเรือนได้เหมือนฝรั่ง และทำราชการดีมาหลายตำแหน่ง จึงได้เป็นเจ้าเมือง Deputy Commissioner พูดจาและกิริยาอัธยาศัยเรียบร้อยน่าชม เมื่อพูดกันไปจึงได้ความว่าเกิดในตระกูลผู้ดี บิดาเป็นขุนนางครั้งพระเจ้ามินดง เขาให้น้องสาวคนหนึ่งกับลูกสาวคนหนึ่งเป็นผู้ต้อนรับเจ้าหญิง ลูกสาวพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ว่ากำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเมืองร่างกุ้ง การที่ได้พบปะพูดจากับพวกเจ้าเมืองหงสาวดีดูเหมือนจะพอใจด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาขึ้นรถเดิมของเรากลับจากเมืองหงสาวดี มาถึงเมืองร่างกุ้งเวลา ๑๗ นาฬิกา วันนี้เที่ยวตลอดวันอยู่ข้างเหนื่อยสักหน่อย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ