ตอนที่ ๒ เที่ยวเมืองร่างกุ้ง เมื่อขาไป

ไปเที่ยวเมืองพะม่าครั้งนี้ ดูประหลาดที่พอไปถึงก็บังเกิดความเสียดายหลายอย่าง เบื้องต้นแต่เมื่อเรือแล่นขึ้นไปตามลำน้ำก่อนถึงเมืองร่างกุ้ง แลดูพระเกศธาตุ Shwe Dagon ซึ่งอยู่บนเนินสูงเห็นได้แต่ไกล มีร่างร้านมุงจากคลุมหมดทั้งองค์ระฆัง เห็นแต่ยอด เพราะประจวบเวลาเขากำลังปิดทอง เป็นอันไม่ได้ดูพระเจดีย์ทั้งองค์เหมือนเมื่อไปครั้งก่อน ลูกหลานที่ไปด้วยก็จะได้เห็นแต่ยอดกับฐานพระเกศธาตุเท่านั้น พอไปถึงเมืองยังไม่ทันขึ้นบก ก็เกิดความเสียใจด้วยพระเจ้ายอร์ชสวรรคต เหตุนั้นเลยเป็นปัจจัยให้เสียดายต่อไปถึงจะไม่ได้เห็นละครที่พะม่าเล่น เพราะเขาต้องงดงานมหรสพในเวลาไว้ทุกข์ ไม่สมประสงค์ที่อยากดูมาช้านานตั้งแต่ฉันยังเป็นตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพราะได้รับคำถามจากเมืองพะม่าถึงตำนานละครไทยเมื่อเขาจะส่งละครพะม่าไปเล่นในงานแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เวมบลี Wembly Exhibition ณ ประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๔ (พ.ศ. ๒๔๖๗) เขาถามพวกพะม่าถึงตำนานละครเพื่อจะพิมพ์แถลงในคำโฆษณา พะม่าบอกอธิบายได้แต่วาได้แบบอย่างละครไปจากกรุงศรีอยุธยา หารู้เรื่องตำนานไม่ รัฐบาลเมืองพะม่าจึงขอให้สถานทูตอังกฤษช่วยสืบเรื่องตำนานละครในเมืองไทย ฉันได้ยินก็ประหลาดใจ แต่พอคาดมูลเหตุได้ ด้วยมีในเรื่องพงศาวดารว่าครั้งพะม่าตีได้พระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กวาดต้อนเอาผู้คนบรรดาตกอยู่ในเงื้อมมือไปเป็นชะเลยมากกว่ามาก คงได้พวกละครไปเมืองพะม่าแต่ครั้งนั้น ต่อมาฉันได้ยินพระอรัญรักษา (ซอเหลียง) กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นพะม่าชาวเมืองมัณฑเลเล่าให้ฟัง ว่าที่กรุงมัณฑเลมีตำบลบ้านแห่งหนึ่งพะม่าเรียกกันว่าบ้าน “โยเดีย” (อโยธยา) พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพวกที่เป็นเชื้อสายไทย และคนพวกนั้นไม่ต้องทำราชการอย่างอื่นนอกจากฝึกหัดกันเล่นละครถวายทอดพระเนตรเป็นนิตย์ เมื่อพระอรัญรักษายังเป็นเด็กได้เคยเข้าไปดูละครอโยธยาเล่นที่ในพระราชวังหลายครั้ง ถามถึงเรื่องที่เล่นบอกว่าเห็นเล่นเรื่องอิเหนากับเรื่องรามเกียรติ์ แต่จะเล่นเรื่องอะไรอื่นอีกบ้างหาทราบไม่ ได้ฟังพระอรัญรักษาเล่าก็รู้เค้ายิ่งขึ้น ว่าคงมีบ้านพวกละครไทยเช่นว่าแต่ครั้งราชธานียังตั้งอยู่ที่เมืองอังวะเมื่อเวลาได้ชะเลยไป ครั้นย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองอมรบุระและเมืองมัณฑเล ก็ย้ายบ้านพวกละครตามไป และให้ฝึกหัดกันเล่นถวายพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรสืบมาหลายชั่วคน ยิ่งอยากเห็นว่าพวกเชื้อสายไทยจะรักษาแบบละครครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ได้สักเพียงใดตลอดเวลาช้านานถึง ๑๖๐ ปี แต่ก็นึกพรั่นอยู่ด้วยเมืองพะม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาได้ถึง ๕๐ ปี พวกละครเชื้อสายไทยน่าที่จะกระจัดกระจายกันไปเสียหมดแล้ว เพราะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินทำนุบำรุงเหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้นก็ตั้งใจไปว่าจะลองค้นดู ไปประสบเวลางดงานมหรสพเกรงจะไม่สมประสงค์จึงเสียดายนัก (แต่ลงที่สุดได้ดูเมื่อจวนจะกลับดังจะเล่าข้างตอนท้ายหนังสือนี้) ยังมีความเสียดายเป็นข้อใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ที่ไปทราบว่าพิพิธภัณฑสถานในเมืองร่างกุ้งไม่มีเสียแล้ว ไมสมหวังที่ตั้งใจจะไปตรวจโบราณวัตถุประเทศพะม่าในพิพิธภัณฑสถานเปรียบเทียบกับโบราณวัตถุประเทศสยาม หาความรู้เรื่องพงศาวดารที่เกี่ยวข้องกันมาเมื่อสมัยดึกดำบรรพ์ เป็นอันขาดประโยชน์ที่หมายจะได้ไปอีกอย่างหนึ่ง ได้ความแต่ว่าเดิมมีพิพิธภัณฑสถานในเมืองร่างกุ้ง เป็นตึกหลังใหญ่อยู่กลางเมือง เรียกว่า “แฟร มิวเซียม” Phayre Museum ตามนาม เซอร์ อาเธอร์ แฟร เจ้าเมืองคนที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานนั้น ครั้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔) รัฐบาลปรารถนาจะสร้างโรงพยาบาลกลางขึ้นใหม่ให้ใหญ่โต หาที่อื่นเห็นไม่เหมาะแก่ประโยชน์ของโรงพยาบาลเท่าตรงที่พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ จึงลงมติจะย้ายพิพิธภัณฑสถานไปตั้งที่อื่น ให้เก็บของในพิพิธภัณฑสถานแยกไปฝากไว้ที่มหาวิทยาลัยบ้าง เอาลงบรรจุหีบฝากไว้ในคลังของรัฐบาลบ้าง แต่การที่จะสร้างพิพิธภัณฑสถานยังผัดเรื่อยมาถึง ๒๕ ปีเข้าบัดนี้ ไม่มีใครทราบว่าต่อเมื่อไรจึงจะได้สร้าง เดี๋ยวนี้พบของโบราณในมณฑลไหนก็รวมไว้ในมณฑลนั้น ปลูกโรงเล็ก ๆ เรียกว่า “มิวเซียม” คล้ายกับคลังรักษาของ มีแยกย้ายกันอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง การรักษาของโบราณในเมืองพะม่ามีกรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department แต่ก่อนมีนักปราชญ์ชาติฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งสมัครมาอยู่ในเมืองพะม่า ชื่อ ชาส ดือรอยเสลล์ Chas Duroiselle เป็นเจ้ากรม แต่ปลดชราออกจากตำแหน่งสัก ๓ ปีมาแล้ว (ฉันได้พบตัวที่เมืองมัณฑเล) เดี๋ยวนี้ยุบกรมนั้นลงเป็นแต่สาขาขึ้นกรมตรวจโบราณคดีในอินเดีย ยังมีสถานที่ทำการอยู่ ณ เมืองมัณฑเลและตั้งพะม่าเป็นหัวหน้า บางทีเมื่อแยกเมืองพะม่าออกจากอินเดียแล้ว เห็นจะกลับตั้งเป็นกรมต่างหากอย่างแต่ก่อน

วันพุธที่ ๒๒ มกราคม เดิมฉันกะโปรแกรมสำหรับวันนี้ไว้ว่าตอนเช้าจะไปดูพิพิธภัณฑ์สถาน ตอนบ่ายจะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุ เมื่อได้ความว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์สถานจะดู ก็เปลี่ยนเป็นไปเที่ยวหาซื้อของที่ต้องการใช้ เช่นหนังสือนำทางเที่ยวเมืองพะม่าและฟิล์มสำหรับถ่ายรูปฉายาลักษณ์เป็นต้น แล้วให้ขับรถเที่ยวดูบ้านเมืองจนเวลาใกล้เที่ยงจึงกลับโฮเต็ล ก่อนพรรณนาว่าด้วยตัวเมือง จะเล่าเรื่องตำนานเมืองร่างกุ้งที่มีในหนังสือพงศาวดารพะม่าให้ทราบพอเป็นเค้าก่อน เมืองร่างกุ้งนี้เดิมเรียกว่าบ้าน “ตะเกิง” Dagon อยู่ในเขตต์เมืองทะละของมอญ มีคำอ้างว่าพระเจ้าบุณณริก ซึ่งครองเมืองหงสาวดีแต่ดึกดำบรรพ์ ได้เคยตั้งเป็นเมืองชื่อ “อาระมะณะ” เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๔๗ แต่ที่อ้างนี้ไม่มีหลักฐานประกอบอย่างไร มีเรื่องแน่นอนแต่ว่าเป็นเมืองเรียกว่าเมือง “ตะเกิง” เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีพระยาอู่ (ผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช) เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ และปรากฏว่าพระเจ้าราชาธิราชเมื่อยังเป็นราชบุตรเคยหนีมาอาศัยอยู่ (และมาได้นางเม้ยมะนึก) ที่เมืองตะเกิงนี้ ต่อนั้นมาเมื่อนางพระยาตะละเจ้าท้าว (พะม่าเรียกว่า Chinsawbu) ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชได้เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๙๖ จน พ.ศ. ๒๐๑๕ มอบเวนราชสมบัติแก่พระมหาปิฎกธร ราชบุตรเขย ซึ่งพะม่าเรียกว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว มาสร้างวังอยู่ที่เมืองตะเกิงและทรงบุรณะปฏิสังขรณ์พระเกศธาตุ เมืองตะเกิงเห็นจะรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยเมื่อยังเป็นเมืองมอญเพียงนั้น ต่อมาปรากฏว่าเป็นแต่เมืองขึ้นของเมืองทะละจนถึงสมัยราชวงศ์อลองพระ เมื่อพระเจ้ามังลองต้นวงศ์ปราบเมืองมอญทั้งปวงไว้ได้ในอำนาจแล้ว จึงตั้งเมืองตะเกิงเป็นที่สำนักของอุปราชพะม่า ปกครองหัวเมืองมอญแทนเมืองหงสาวดี และให้เปลี่ยนนามเมืองตะเกิงเรียกว่า “เมืองร่างกุ้ง” แต่ พ.ศ. ๒๒๙๘ เป็นต้นมาถึง พ.ศ. ๒๓๖๗ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์) พะม่าเกิดรบกับอังกฤษครั้งแรก พะม่ายกกองทัพบกไปหมายจะตีเมืองชายแดนอินเดีย อังกฤษให้กองทัพเรือมาตีเมืองร่างกุ้ง พะม่าถอยกองทัพบกกลับมารบแต่แพ้อังกฤษ ต้องยอมสละเมืองอัสลัม เมืองยักไข่ และหัวเมืองมอญตอนใต้ปากน้ำสลวิน ตั้งแต่เมืองเมาะลำเลิง Moulmien ลงมาจนเมืองตะนาวศรีให้แก่อังกฤษ อังกฤษยึดเมืองร่างกุ้งไว้ในเวลากำลังรบกันครั้งนั้น ๓ ปี แล้วกลับคืนให้พะม่าดังเก่า ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๙๕ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) พะม่าเกิดรบอับอังกฤษเป็นครั้งที่ ๒ เมื่ออังกฤษชนะพะม่าครั้งนี้เอาเมืองมอญทั้งปวงไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหมด ตั้งเมืองร่างกุ้งเป็นเมืองหลวง จึงเกิดมีอาณาเขตต์เรียกว่า “พะม่าใต้” เป็นของอังกฤษ และอาณาเขตต์ “พะม่าเหนือ” คงเป็นของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าปกครองแต่นั้นมา จน พ.ศ. ๒๔๒๘ พะม่าเกิดรบกับอังกฤษเป็นครั้งที่ ๓ อังกฤษชนะครั้งนี้เลยยุบประเทศพะม่าลงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทั้งหมด และเอาเมืองร่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของประเทศพะม่าสืบมาจนบัดนี้ ฉันได้เห็นเมืองร่างกุ้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เวลานั้นประเทศพะม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษได้ ๗ ปี ตั้งแต่ไปครั้งนั้นเวลาล่วงมาถึง ๔๔ ปีจึงได้ไปเห็นอีกในครั้งนี้ มีสิ่งซึ่งเคยเห็นแต่ครั้งก่อนยังจำได้ถนัดแต่ ๔ สิ่ง คือพระเกศธาตุสิ่งหนึ่ง พระสุเลเจดีย์แปดเหลี่ยมที่อยู่กลางเมืองสิ่งหนึ่ง ทะเลสาบข้างหลังเมืองสิ่งหนึ่ง กับน้ำในแม่น้ำขุ่นไม่มีที่ไหนเสมออีกสิ่งหนึ่ง (นายทหารเรืออังกฤษคนหนึ่งเป็นเพื่อนโดยสารไปในเรือลำเดียวกันเขาบอกว่าน้ำขุ่นอย่างนี้มีแม่น้ำแยงเจ๋เมืองจีนอีกแห่งหนึ่ง แต่ฉันไม่เคยเห็น) นอกจากที่ว่ามาจำอะไรไม่ได้ เห็นเมืองร่างกุ้งเปลี่ยนแปลกไปหมด เมื่อไปครั้งก่อนยังเป็นเมืองเล็กมีบ้านเรือนหนาแน่นแต่ตอนใกล้ลำน้ำ และปลูกเป็นเรือนไม้เป็นพื้น แม้จวนที่เจ้าเมืองอยู่ก็เป็นเรือนไม้ ออกนอกเมืองไปพอพ้นเนินพระเกศธาตุก็เป็นป่า ไปดูทะเลสาบต้องขับรถไปตามทางเกวียน แต่เดี๋ยวนี้เมืองร่างกุ้งเป็นเมืองใหญ่โต เต็มไปด้วยตึกกว้านสูงใหญ่หลาย ๆ ชั้นดูราวกับเมืองในยุโรป เขาบอกว่าเพิ่งขยายเมืองใหญ่โตเมื่อการค้าขายเจริญรวดเร็วในระหว่าง ๒๐ ปีมานี้ เดี๋ยวนี้นับว่าเมืองร่างกุ้งเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญที่ ๓ ในอาณาเขตต์อินเดีย เป็นรองแต่เมืองกาลกัตตาและเมืองบอมเบย์เท่านั้น ฉันพักอยู่เมืองร่างกุ้งน้อยวัน จะพรรณนาว่าด้วยเมืองร่างกุ้ง โดยพิสดารให้อ่านเหมือนตาเห็นเป็นพ้นวิสัย จะกล่าวแต่โดยย่อ เมืองร่างกุ้งตั้งอยู่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเช่นเดียวกันกับกรุงเทพฯ ตอนริมน้ำเป็นท่าเรือกำปั่นที่ไปมาค้าขาย และตั้งโรงจักรเลื่อยไม้สีข้าวรายตามตลิ่งตลอดไป มีทางรถไฟสายสาขาทำเลียบริมน้ำมา สำหรับรับส่งสินค้าอยู่ข้างหน้าเมืองสายหนึ่ง พ้นทางรถไฟสายริมน้ำเข้าไปถึงตัวเมืองสร้างตึกรามตามแผนผังอย่างที่เรียกว่า”แบบบล๊อก” Block System มีถนนใหญ่ทั้งตามยาวและตามขวางหลายสาย และมีถนนเล็กเป็นถนนซอยนับไม่ถ้วน ล้วนตัดตรงเป็นเส้นบรรทัด ตึกกว้านบ้านเรือนที่สร้างริมถนนจึงดูเป็นหมู่ ๆ เรียกว่า “บล๊อก” ที่อยู่ตอนใกล้ลำน้ำเป็นโรงภาษีกับสถานที่อำนวยการบริษัทค้าขาย ต่อเข้าไปทางถนนขวางถึงธนาคารและห้างขายของต่าง ๆ ตอนกลางเมืองสร้างศาลารัฐบาล สถานเทศบาล โรงพยาบาลกลาง ต่อออกไปใกล้ด้านหลังถึงเรือนจำ กับทั้งสถานที่ศึกษาและโรงสอนศาสนาซึ่งตั้งมาแล้วแต่แรก ล้วนอยู่ในเมืองทั้งนั้น ข้างหลังเมืองมีทางรถไฟสายใหญ่ผ่านตลอดด้าน เหมือนอย่างเป็นคูเมือง ต้องทำสะพานข้ามทางรถไฟหลายแห่ง พ้นทางรถไฟออกไปถึงเชิงเนินที่สร้างพระเกศธาตุเป็นเนินหมู่ใหญ่หลายยอด ใกล้กับทะเลสาบ เรียกว่า “รอยัลเล็ค”Royal Lake น่าแปลว่า “ทะเลมหาราช” และมีทะเลสาบอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า “กวีนสเล็ค” Queen’s Lake แปลว่า “ทะเลราชินี” อยู่ไม่ห่างกันนัก ที่นอกเมืองตอนนี้ทำเป็นที่สำราญ มีสนามแข่งม้า สนามเล่นกีฬา และสนามกอล์ฟ มีทั้งสวนต้นไม้ สวนเลี้ยงสัตว์ และสโมสรเล่นเรือในทะเลสาบ ตามยอดและไหล่เขาเป็นที่ทำบ้านเรือนของพวกผู้ดีมีทรัพย์ จวนเจ้าเมืองที่ทำใหม่เป็นตึกใหญ่โตขนาดสักสามเท่าวังบูรพาภิรมย์ก็อยู่ในที่ตอนนี้ ต่อที่ตอนนี้ออกไปเป็นที่เปิดใหม่ สถานที่ซึ่งสร้างใหม่ เช่น มหาวิทยาลัย สนามบิน และโรงทหาร (ซึ่งย้ายจากที่เดิมอันตั้งอยู่ ณ หมู่เนินพระเกศธาตุ) สร้างในตอนที่เปิดใหม่นี้โดยมาก มีถนนไปมาถึงกันทั้งที่นอกเมืองและในเมือง ล้วนลาดแอสฟัลด์รักษาสะอาดสะอ้าน และทำถนนลาดแอสฟัลด์ไปตามหัวเมืองทางไกลก็หลายสาย เดี๋ยวนี้อาจจะไปรถยนต์ได้ถึงเมืองมัณฑเลและเมืองแปร กับที่อื่นที่อยู่ไกลๆ ได้หลาย แห่ง

ในการที่ทำแผนผังแก้ไขถนนหนทางในเมืองร่างกุ้ง ดูเหมือนรัฐบาลจะระวังไม่รื้อแย่งหรือบุกรุกวัดวาให้พวกพะม่าโกรธแค้น สังเกตตามข้างถนนหนทางที่ผ่านไป ตรงไหนรกรุงรังตรงนั้นมักเป็นวัด แต่มีพระเจดีย์ทองของโบราณองค์หนึ่งอยู่กลางเมืองร่างกุ้ง พะม่าเรียกว่า “ชเวสุเล” Shwe Sule (คำ “ชเว” แปลว่า “ทอง” พระเจดีย์ที่ปิดทองเรียกขึ้นต้นว่า “ชเว” ทั้งนั้น คำว่า “สุเล” เพี้ยนมาแต่ “จุละ” คือเรียกตามภาษามคธว่า “จุลเจดีย์” หมายเอาพระเกศธาตุเป็น “มหาเจดีย์” มาแต่ก่อน) พระสุเลเจดีย์ขนาดสักเท่าพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ฐานทักษิณเตี้ยจึงดูไม่สูงนัก รูปเป็นพระสถูปแปดเหลี่ยม ซวดทรงงามยิ่งกว่าพระเจดีย์พะม่าองค์อื่นๆ ใครเห็นก็พากันชมทั้งนั้น เดิมมีแต่องค์พระเจดีย์กับฐานทักษิณอยู่กลางแปลงแลดูเป็นสง่า เมื่อทำแผนผังสร้างเมืองเขากะเอาพระสุเลเจดีย์เป็นศูนย์ ขยายถนนล้อมรอบแล้วตัดถนนใหญ่แยกตรงจากพระสุเลเจดีย์ไปทั้ง ๔ ทิศ แลดูจากทางไหนก็เห็นพระสุเลเจดีย์ตระหง่านทุกทาง เมื่อพวกสัปบุรุษพะม่าเห็นพระสุเลเจดีย์เป็นที่รุ่งเรืองขึ้นก็เกิดศรัทธาพากันบุรณะตามชอบใจ ให้ปลูกปราสาท (คือศาลาโถงแต่หลังคาเป็นปราสาท พะม่าชอบทำ) และโรงหลังเล็ก ๆ สำหรับพระสงฆ์และอุบาสกอาศัยที่บนฐานทักษิณล้อมรอบ หลังคาบังพระสุเลเจดีย์เสียสักครึ่งองค์ แลดูไม่สง่างามเหมือนแต่ก่อน ใช่แต่เท่านั้น ที่เชิงฐานทักษิณต่อขอบถนนซ้ำปลูกโรงแถวให้คนเช่าตั้งร้านขายของคล้ายกับร้านวัดสามปลื้มรอบพระเจดีย์ ก็เลยดูรุงรังเสียสง่าลงไปอีก แต่เขาศรัทธาแปลกอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่มีเหมือนที่ประเทศอื่น คือเอาโคมไฟฟ้าประดับพระเจดีย์ตั้งแต่ฐานขึ้นไปจนยอด และมีเครื่องทำไฟฟ้าของเขาเองอยู่ที่ฐานทักษิณ กลางคืนจุดไฟฟ้าประดับพระเจดีย์ สว่างเหมือนอย่างเราแต่งประทีปเฉลิมพระชันษาทุกคืน การแต่งไฟฟ้าประดับพระเจดีย์เช่นว่าดูชอบทำกันทั่วไปในเมืองพะม่า แม้จนตามหัวเมือง ถ้าแห่งใดมีพระเจดีย์ที่คนนับถือมาก พอหาทุนได้ก็ทำเป็นไฟฟ้าประดับทุกแห่ง ที่ในเมืองร่างกุ้งดูประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่มิใคร่เห็นพะม่าตามถนนหนทาง ชาวเมืองดูเป็นแขกอินเดียไปเสียทั้งนั้น เขาบอกว่าจำนวนพลเมืองร่างกุ้งมีแขกอินเดียมากกว่าคนชาติอื่น ๆ ถึง ๒ ใน ๓ ส่วน พวกกรรมกรทำการต่าง ๆ แม้จนคนแจวเรือและขับรถจ้าง คนรับใช้ ตลอดจนคนขายของ ดูเป็นพวกชาวอินเดียไปเสียทั้งนั้น เห็นพะม่าแต่พระสงฆ์กับพวกที่นั่งร้านขายชองในตลาดและพวกช่างที่รับจ้างทำหัตถกรรม เขาว่าเป็นเพราะพวกพะม่าไม่ชอบทำการหนัก และไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาของนายจ้างเหมือนอย่างชาวอินเดีย ชาวอินเดียจึงเอางานไปทำเสียโดยมาก

เวลาบ่ายวันพุธที่ ๒๒ มกราคม จะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุ ได้ทราบว่าที่บรรจุพระศพนางราชินีสุปยาลัตอยู่บนเนินในสวนหลวงใกล้ ๆ กันกับเนินพระเกศธาตุ จึงไปดูที่บรรจุพระศพก่อน ที่บรรจุนั้นก่อเป็นมณฑปมีลายปั้นโบกปูนขาว รูปและขนาดเช่นเดียวกันกับที่บรรจุพระศพนางราชินีที่เมืองมัณฑเล มีรั้วเหล็กล้อมรอบอยู่เป็นเอกเทศ รักษาเรียบร้อย เผอิญคนกำกับรถ “อาคาข่าน” ที่ไปกับเราเคยเป็นคนรับใช้ของนางราชินีสุปยาลัตมาแต่ก่อน เล่าให้ฟังว่าเมื่อนางกลับมาจากอินเดียดูแก่ชราทรุดโทรม แต่งเครื่องขาวไว้ทุกข์ถวายพระราชสามีมาจนตลอดชนมายุ แต่ยังไว้ยศอย่างนางพระยาไม่ลดถอย ใครเข้าเฝ้าแหนต้องให้หมอบคลาน แม้ฝรั่งถ้าใส่เกือกไปเฝ้าก็ไม่ออกรับ ถ้าเห็นขุนนางพะม่าเมื่อไรก็เป็นเกิดความเคียดแค้นว่าเป็นพวกคนอกตัญญู ไม่ยอมสมาคม ส่วนตัวผู้เล่าเองรับใช้อยู่ได้ไม่นานนักต้องทูลลาออก เพราะถูกหมอบคลานเจ็บหัวเข่าทนไม่ไหว การที่นางราชินีสุปยาลัตถือยศอย่างนั้นฝรั่งก็เล่ากัน เคยได้ยินเรื่องหนึ่งว่าเมื่อพระเจ้าเอดวาร์ดที่ ๘ ยังเป็นปรินซ์ออฟเวลส์เสด็จไปเมืองพะม่า เจ้าเมืองให้ไปถามนางราชินีสุปยาลัตว่าจะไปเฝ้าปรินซ์ออฟเวลส์หรือไม่ ตอบว่าถ้าเอาสีวิการับก็จะไป เลยไม่ได้เฝ้า ฉันมีโอกาสถามข้าราชการอังกฤษกับทั้งเจ้านายพะม่า ที่ได้พบปะสนทนากันถึงเรื่องพระเจ้าสีป่อเมื่อไปอยู่อินเดีย จะเอาเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังมากล่าวลงเสียตรงนี้ด้วย เมื่อรัฐบาลอังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อไปไว้ที่เมืองรัตนคิรีอันอยู่ริมทะเลแหลมอินเดียด้านตะวันตกนั้น ไม่ได้กักขัง จะไปเที่ยวเตร่ที่ไหนก็ไปได้ จำกัดแต่ให้ไปเพียงในเขตต์เมือง ถ้าจะไปนอกเขตต์เมืองต้องขออนุญาตก่อนจึงไปได้ รัฐบาลให้เงินเบี้ยเลี้ยงปีละ “หลัก” คือ ๑๐๐,๐๐๐ รูปี แต่แรกมีพะม่าตามไปอยู่ด้วยมาก ครั้นนานมาพากันทูลลากลับบ้านเมืองเสีย เหลืออยู่สักหกเจ็ดคน พระเจ้าสีป่อจงชอบใช้แต่พวกชาวอินเดีย (เห็นจะเป็นข้อนี้ที่เป็นเหตุให้นางราชินีสุปยาลัตเกลียดขุนนางพะม่า) พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ไปอยู่ในอินเดียถึง ๓๑ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ พระชันษาได้ ๕๘ ปี รัฐบาลอังกฤษให้ฝัง (หรือบรรจุ) พระศพไว้ที่เมืองรัตนคิรี แต่อนุญาตให้นางราชินีสุปยาลัตพาลูกกลับมาอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง จัดที่ให้อยู่และให้เบี้ยเลี้ยงมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ชนมายุได้ ๖๘ ปี

เมื่อจะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุ พอถึงเชิงบันไดทางขึ้นก็เกิดเสียดายอีกอย่างหนึ่ง ด้วยแต่ก่อนเคยมีศาลาสำหรับสัปบุรุษอาศัยเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างถวายพระเกศธาตุหลังหนึ่ง อยู่ริมถนนตรงข้ามกับเชิงบันได ศาลานั้นมีลายจำหลักรูปพระมหามงกุฎที่หน้าบันเป็นสำคัญ ฉันยังมีรูปฉายาลักษณ์ที่ฉายเองไว้เมื่อไปครั้งก่อน แต่เดี๋ยวนี้ศาลาหลังที่ว่าศูนย์ไปเสียแล้ว กลายเป็นศาลาอื่นซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ให้ถามพวกพะม่าที่อยู่แถวนั้นถึงศาลาตรามงกุฎก็ไม่มีใครรู้ คงเป็นเพราะล่วงเวลาช้านานศาลาเดิมผุพังและหมดตัวคนรู้เรื่องเดิม เขาจึงรื้อทิ้งเสียเอาที่ทำศาลาใหม่ จะโทษเขาก็ไม่ควร พระเกศธาตุอยู่บนยอดเนินสูง ทำทางขึ้นเป็นขั้นบันไดทั้ง ๔ ทิศ มหาชนมักขึ้นทางทิศใต้เป็นปกติ ที่ปากทางมีศาลาหลังคาเป็นปราสาทสามยอดแทนประตู และมีรูปสิงห์แบบพะม่าตัวใหญ่โตก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่ริมศาลาข้างละตัว พระเจดีย์ที่สำคัญในเมืองพะม่ามักมีรูปสิงห์ตัวใหญ่อยู่สองข้างปากทางเข้าบริเวณทุกแห่ง การที่ทำรูปสิงห์ตั้งประจำปากทางดูประหลาดที่ชอบทำกันทั้งจีนเขมรและชะวา ไม่แต่พะม่าเท่านั้น สิงห์ก็คือราชสีห์นั่นเอง ในเมืองไทยเราแต่โบราณก็ชอบทำรูปสิงห์ตั้งปากทาง แต่มักทำรูปสิงห์แบบเขมรหรือมิฉะนั้นก็เอาสิงโตหินของจีนมาตั้ง เห็นทำรูปหล่อเป็นสิงห์ไทยแห่งเดียวแต่ที่วัดพระเชตุพน เป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น น่าจะเป็นเพราะทรงพระราชปรารภว่ารูปสิงห์แบบไทยยังไม่มีใครทำมาแต่ก่อน จึงทรงสร้างขึ้นก็เป็นได้ มูลเหตุที่ทำรูปราชสีห์ตั้งปากทางน่าจะได้คติมาแต่ครูเดียวกันทั้งนั้น แต่เดิมเห็นจะทำให้เป็นรูปศักดิ์สิทธิ์สำหรับรักษาสถาน มิให้คนอันธพาลเข้าไปประพฤติร้ายในบริเวณที่นั้นเป็นเค้ามูล ทางขึ้นพระเกศธาตุเมื่อผ่านศาลาสามยอดเข้าไปแล้ว ยังมีศาลายอดปราสาทปลูกครอบบันไดทางขึ้นเป็นหลัง ๆ ติดต่อกันขึ้นไป คนขึ้นเดินในร่มหลังคาตลอดจนถึงลานพระเกศธาตุ สองข้างทางมีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนกับฉัตรธงและทานตะวันทำด้วยกระดาษสำหรับเป็นเครื่องสักการบูชา มีทั้งร้านขายของเล่นและสิ่งของอื่น ๆ แม้จนของกิน ตั้งรายเรียงกันขึ้นไปตลอดทาง หญิงสาวเป็นคนขายแทบทั้งนั้น เสียงร้องเรียกให้ซื้อเพรียกไปจนออกรำคาญ นอกจากนั้นที่สองข้างทางยังมีพวกคนขอทานนั่งรายเป็นระยะ มีทั้งเด็กๆ เที่ยวแทรกแซงขอทานบ้าง เที่ยวยื่นของขายคนที่เดินขึ้นไปบ้าง สุนัขก็พลุกพล่านประกอบกับทางเดินโสโครก จนออกจะสะอิดสะเอียนเพราะต้องเดินตีนเปล่า พบฝรั่งพวกท่องเที่ยวที่เคยเป็นเพื่อนโดยสารเรือลำเดียวกัน ขึ้นไปทั้งผัวเมียคู่หนึ่ง ผัวเดินตีนเปล่า เมื่อเห็นเราทำหน้านิ่ว แต่เมียนั้นเอาขี้ผึ้งปลาสเตอร์ที่สำหรับปิดแผลตัดปิดฝ่าตีนและนิ้วตีนทั้งสองข้าง ดูน่าทุเรศ แต่เมื่อสังเกตดูพวกพะม่าก็กลับเห็นขัน ด้วยถือเกือกคีบนิ้วขึ้นไปแทบทุกคนทั้งพระและคฤหัสถ์ เพราะเมื่อเดินตามถนนใส่เกือก ไปถึงเชิงบันไดต้องถอด ไม่มีที่จะฝากไว้ที่ไหนก็ต้องถือขึ้นไปด้วย กลายเป็นเหมือนมีข้อบังคับให้สัปบุรุษต้องถือเกือกขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุ จึงดูขันอยู่ ส่วนพวกเรานั้น ตัวฉันแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงแดง ใส่เสื้อขาวปิดคอเหมือนอย่างเข้าเฝ้ารับน้ำสังข์ปีใหม่ ไม่ใส่เกือกถุงตีน เจ้าหญิงก็แต่งตัวทำนองเดียวกัน เวลาเมื่อเดินขึ้นไปมีผู้หญิงชาวร้านคนหนึ่งเข้ามากะซิบถามเจ้าหญิงว่าเป็น “โยเดีย” (คือชาวอโยธยา) หรือ คงเป็นเพราะเห็นตัวฉันกับนายชิตนุ่งผ้าโจงกระเบนผิดกับพวกอื่น เมื่อได้ฟังถามก็เลยได้เค้าว่าพะม่าเรียกไทยเราว่า โยเดีย มิได้เรียกว่า “เสียม” เหมือนอย่างจีนหรือเขมรและแขก ความรู้ข้อนี้สำคัญสำหรับไทยที่ไปเมืองพะม่า เพราะอะไร ๆ ที่เป็นของไทยเราพะม่าเรียกว่าของโยเดียทั้งนั้น จะยกตัวอย่างดังเมื่อฉันสืบถามถึงละครที่เล่นอย่างไทย แต่แรกถามเขา (ในภาษาอ้งกฤษ) ว่าพะม่าที่ชำนาญการขับร้องเพลงและฟ้อนรำอย่าง “สยามิส” ยังมีหรือไม่ เขาตอบเฉไฉไม่ได้ความ พอฉันรู้เค้าลองถามใหม่ว่าคนรู้เพลงดนตรีและฟ้อนรำอย่าง “โยเดีย” ยังมีหรือไม่ เขาตอบทันทีว่าเพลงดนตรีและกระบวรฟ้อนรำอย่างโยเดียนั้นพะม่านับถือมาก และได้ความต่อไปว่าของอย่างอื่นเช่นลายจำหลักเป็นต้น พะม่าเรียกว่า “แบบโยเดีย” มีอีกหลายอย่าง ยอดเนินที่สร้างพระเกศธาตุสูงกว่าพื้นถนนถึง ๒๕ วา ๑ ศอก (๑๖๖ ฟุต) ต้องเดินขึ้นบันไดหลายร้อยขั้นจนรู้สึกเหนื่อย หรือจะเป็นเพราะฉันแก่ชราอ่อนแอลงก็เป็นได้ ต้องหยุดยืนพักที่กลางทางครั้งหนึ่งจึงขึ้นไปถึงลานพระเกศธาตุ

จะเล่าเรื่องตำนานพระเกศธาตุลงตรงนี้ ให้ทราบพอเป็นเค้าเสียก่อน พระมหาเจดีย์องค์นี้พะม่าเรียกว่า “ชเวดากอง” Shwe Dagon แปลว่า “พระเจดีย์ทองเมืองตะเกิง” พิเคราะห์ดูเป็นคำชาวต่างประเทศเรียก เห็นจะเรียกมาแต่สมัยเมื่อเมืองพะม่ากับเมืองมอญยังแยกกันเป็น ๒ ประเทศ มอญเป็นเจ้าของถิ่นเดิมเรียกว่า “ธาตุศก” ก็ตรงกับที่ไทยเรียก “พระเกศธาตุ” บางทีจะเป็นชื่อเดิม เพราะตรงกับเรื่องตำนานที่อ้างเนื่องไปถึงพระพุทธประวัติ (อันปรากฏอยู่ในหนังสือปฐมสมโพธิ ตอนอภิสัมโพธิสัพพัญญูปริวัตร) เป็นเค้ามูล ว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ขณะเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นเกด มีพ่อค้าพี่น้องสองคนชื่อ ตปุสสะคน ๑ ภัลลิกะคน ๑ มีความเลื่อมใสถวายข้าวสัตตูให้เสวย แล้วถวายตัวเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนา ครั้นเมื่อจะจากไปกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ประทานสิ่งอันใดไปเป็นอนุสสรณ์สำหรับบูชาพระพุทธคุณสักสิ่งหนึ่ง พระมหากรุณาเจ้าจึงเสยพระเศียรได้พระเกศา ๘ เส้นประทานอุบาสกทั้งสองตามปรารถนา เรื่องในหนังสือปฐมสมโพธิมีเพียงเท่านี้ มอญเอามาตั้งเป็นต้นตำนานพระเกศธาตุว่าพ่อค้าอุบาสกสองคนนั้นเชิญพระเกศาพระพุทธเจ้ามายังเมืองมอญ แล้วสร้างพระเจดีย์ที่บนยอดเนินตะเกิงบรรจุพระเกศาไว้ตั้งแต่ในพระพุทธกาล พระเจดีย์จึงได้นามว่า “พระเกศธาตุ” ด้วยประการฉะนี้ เดี๋ยวนี้พะม่ายึดถือเรื่องตำนานนี้มั่นคงไม่ฟังใครว่าเป็นอย่างอื่น แต่ใครไม่เชื่อก็ไม่มีคำจะคัดค้านพะม่า เพราะไม่รู้ว่าผู้ใดเริ่มสร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้นแต่เมื่อไร ถ้ายกข้อต้นเสีย มีเค้าเงื่อนที่รู้เรื่องตำนานเป็นหลักฐานในทางโบราณคดีอยู่บ้าง ด้วยเมื่อเมืองร่างกุ้งตกเป็นของอังกฤษแล้วมีฝรั่งผู้ชำนาญได้ตรวจดูในช่องที่คราก เห็นองค์พระเกศธาตุมีรอยก่อเพิ่มเติมถึง ๗ ครั้ง และมีในพงศาวดารพะม่าว่า เดิมพระเกศธาตุเป็นพระเจดีย์ขนาดย่อมสูงเพียง ๔ วา ๑ คืบ (๒๗ ฟุต) พระเจ้าหงสาวดีองค์ทรงพระนามว่า “พระยาอู่” อันเป็นพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๐๕ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ ให้ก่อเสริมขึ้นอีก ๕ วา ๓ ศอก ๑ คืบ เป็นสูง ๑๐ วา (๖๖ ฟุต) ต่อมาถึงพระเจ้าหงสาวดีอีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระยาเกียรติ” เป็นราชภาคิไนยของพระเจ้าราชาธิราช เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๙๓ จน พ.ศ. ๑๙๙๖ ให้ก่อเสริมพระเกศธาตุขึ้นอีก ๓๖ วา เป็นสูง ๔๖ วา (๓๐๒ ฟุต) ต่อมานางพระยาตะละเจ้าท้าว ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราช ได้ครองเมืองหงสาวดีเพราะสิ้นเจ้าชายในราชวงศ์ฟ้ารั่ว เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๙๖ จน พ.ศ. ๒๐๑๕ ให้ฉายเนินรอบองค์พระเกศธาตุทำเป็นลานยาว ๑๓๗ วา ๑ คืบ (๙๐๐ ฟุต) กว้าง ๑๐๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ก่อเขื่อนทำพะนักปักเสาโคมรายรอบ ต่อนั้นมาอีก ๓๐๐ ปี ถึงสมัยราชวงศ์อลองพระเป็นใหญ่ พระเจ้ามังระ (พะม่าเรียกว่าพระเจ้าช้างเผือก) เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๐๖ จน พ.ศ. ๒๓๑๙ ให้ก่อเสริมพระเกศธาตุขึ้นอีก ๑๐ วาเศษ เป็นสูง ๕๖ วา ๑ ศอก ๑ คืบ (๓๗๐ ฟุต) ขยายฐานเป็นด้านละ ๒๐๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ (๑๓๕๕ ฟุต) การก่อเสริมพระเกศธาตุทั้ง ๓ ครั้งที่กล่าวมาในพงศาวดารพะม่า พิจารณาดูโดยขนาด เห็นว่าน่าจะก่อพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เดิม เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ หรือมิฉะนั้นแม้เสริมครั้งใดก็คงมีการก่อแก้ไข รูปทรงพระเกศธาตุก็คงแปลงแปลกพระเจดีย์องค์ก่อนมาโดยลำดับ รูปทรงพระเกศธาตุอย่างเช่นเห็นอยู่ในบัดนี้เป็นแบบอย่างสร้างเมื่อครั้งพระเจ้ามังระปฏิสังขรณ์ได้สัก ๑๖๐ ปีมานี้ แต่ฉัตรใหญ่บนยอดพระเกศธาตุนั้น ปรากฏว่าเคยถูกแผ่นดินไหวหักตกลงมาต้องทำใหม่หลายครั้ง แม้ในสมัยเมื่อเมืองร่างกุ้งตกเป็นของอังกฤษแล้ว ก็หักลงมาเมื่อพระเจ้ามินดงยังครองเมืองพะม่าภาคเหนือในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ ครั้งหนึ่ง พวกพะม่าเรี่ยไรกันปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ พระเจ้ามินดงรับทำยอดฉัตร ทรงบริจจาคพระราชทรัพย์ถึง ๖๐,๐๐๐ รูปีให้ทำฉัตรใหม่ยกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ แผ่นดินไหว (คราวพระมุเตาพัง) ฉัตรยอดพระเกศธาตุก็หักตกลงมาอีกครั้งหนึ่ง พวกพะม่าเรี่ยไรกันทำฉัตรใหม่เพิ่งยกขึ้นสักสองปีมานี้ เอาฉัตรเดิมที่ตกลงมาแต่พอกปูนตั้งไว้ให้คนดูที่ในลานพระเกศธาตุ ฉัตรนั้นสูง ๗ วา ๑ คืบ (๔๗ ฟุต)

เมื่อฉันขึ้นไปถึงลานพระเกศธาตุ ไปแลเห็นในขณะเดียวกันทั้งของบางสิ่งซึ่งคงอยู่อย่างเดิม บางสิ่งที่มีขึ้นใหม่ไม่เคยเห็น บางสิ่งซึ่งเคยเห็นเป็นอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น และที่สุดขาดของบางสิ่งซึ่งเคยเห็นหายไปเสียแล้ว ออกจะตื่นตาพาให้พิศวงองค์พระเกศธาตุ (ตรงที่ไม่ได้คลุม) ดูคงอยู่เหมือนอย่างเดิมลงมาจนฐานทักษิณ ซึ่งมีพระเจดีย์เล็ก ๆ รายรอบ ต่อองค์พระเจดีย์ออกมามีวิหารสำหรับมหาชนบูชาพระเกศธาตุ ตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานอยู่ตรงทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ วิหารทิศนั้นเป็นวิหารโถงสร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาปราสาท ปีดทองล่องชาดประดับกะจกทั้งหลัง ฝีมือช่างพะม่าจำหลักไม้เป็นลวดลายและรูปภาพเครื่องวิหารงามมาก แต่เมื่อปีกลายนี้ไฟไหม้วิหารทิศเสียสองหลัง ที่สร้างขึ้นแทนฝีมือไม่งามเหมือนของเดิม ที่ในวิหารตอนแรกเข้าไปถึงมีหีบใหญ่ล่ามโซ่ไว้กับเสาใบหนึ่ง เจาะช่องไว้สำหรับทายกทิ้งเงินตามศรัทธาถวายช่วยรักษาพระเกศธาตุ และมีพนักงานนั่งประจำอยู่คนหนึ่ง เมื่อมีใครหยอดเงินลงในหีบก็ตีกังสดาลแล้วสวดอนุโมทนาให้พร ต่อวิหารออกไปทางข้างๆเดิมมีฐานปูนก่อเรียงกันเป็นระยะสำหรับสัปบุรุษวางเครื่องสักการบูชา มีฉัตรแบบไทยใหญ่ปักกั้นข้างบน รายตามฐานพระเจดีย์ทั้ง ๔ ด้าน ที่ตรงมุมทำรูปสิงห์กับรูปนรสิงห์ซึ่งพะม่าเรียกว่า “มนุษย์สิงห์” คือหัวเป็นมนุษย์ใส่ชฎาตัวเป็นสิงห์ ดูประหลาด ลองสืบหาต้นเค้าก็ได้แต่นิทาน ว่าเค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งปากทางขึ้นบันไดนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์อันมีลูกยังเป็นทารกติดไปด้วย ๒ คน เอาไปเลี้ยงไว้ (เป็นเค้าเดียวกับเรื่องสีหพาหุในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา) ครั้นลูกชายเติบใหญ่พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ในเมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวติดตาม พบผู้คนกีดขวางกัดตายเสียเป็นอันมาก จนร้อนถึงพระยามหากษัตริย์สั่งให้ประกาศหาคนปราบราชสีห์ กุมารนั้นเข้ารับอาสาออกไปรบราชสีห์ ยิงศรไปทีไรก็เผอิญผิดพลาดไม่สามารถฆ่าราชสีห์ ฝ่ายราชสีห์ก็ยังสงสารกุมารไม่แผดเสียงให้หูดับ ต่อสู้กันอยู่จนราชสีห์เกิดโทษะอ้าปากจะแผดเสียง กุมารก็เอาศรยิงกรอกทางช่องปากฆ่าราชสีห์ตาย ได้บำเหน็จมียศศักดิ์จนได้ครองเมืองเมื่อภายหลัง แต่เมื่อครองเมืองเกิดอาการให้ปวดหัวเป็นกำลัง แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จึงปรึกษาปโรหิต ๆ ทูลว่าเป็นเพราะบาปกรรมที่ได้ฆ่าราชสีห์ผู้มีคุณมาแต่หนหลัง ต้องทำรูปราชสีห์บูชาล้างบาปจึงจะหายโรค พระยามหากษัตริย์นั้นจะทำรูปสัตว์เดรัจฉานขึ้นบูชาก็นึกละอาย จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้นฝากไว้กับเจดียสถานที่บูชา เลยเป็นประเพณีสืบมา

นิทานเรื่องสิงห์ที่สร้างล้อมพระเจดีย์นั้นก็ทำนองเดียวกัน เปลี่ยนเป็นนางราชสีห์ได้นางราชธิดาไปเลี้ยงไว้แต่เล็ก รักใคร่เหมือนเป็นลูก เมื่อนางราชธิดาเติบใหญ่ขึ้นหนีมา นางราชสีห์ตามมาทันที่ริมแม่น้ำ เมื่อนางราชธิดาข้ามพ้นไปได้แล้ว นางราชสีห์ก็โทมนัสขาดใจตายอยู่ที่ริมแม่น้ำ นางราชธิดานั้นได้เป็นใหญ่เมื่อภายหลัง คิดถึงคุณของนางราชสีห์ที่ได้เลี้ยงดูและที่สุดตายด้วยความรักใคร่ จึงให้สร้างรูปขึ้นไว้กับเจดียสถานที่บูชา

เรื่องนิทานของมนุษย์สิงห์นั้น ว่าเมื่อพระโสณะกับพระอุตตรมหาเถรซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชให้มาสอนพระพุทธศาสนา มาถึงเมืองสะเทิมในรามัญประเทศ สบเวลามีนางยักขินีเที่ยวกินเด็กที่เกิดใหม่ พระราชามหากษัตริย์และราษฎรได้ความเดือดร้อนอยู่ พระมหาเถรทั้งสององค์จำแลงเป็น “มนุษย์สิงห์” อย่างนี้ให้นางยักขินีกลัวเลยหลบหนีสาบศูนย์ไป บ้านเมืองก็ได้ความสุขพ้นภัยอันตราย พระราชามหากษัตริย์จึงให้ทำรูปมนุษย์สิงห์ขึ้นไว้สำหรับป้องกันภยันตรายแก่มหาชน แต่เดี๋ยวนี้รูปนางสิงห์กับมนุษย์สิงห์อยู่ลับเข้าไปเสียแล้ว เพราะเขาอนุญาตให้ทายกสร้างมณฑปปูนหลังเล็ก ๆ มีพระพุทธรูปตั้งในนั้น เรียงรอบฐานพระเกศธาตุบังรูปสิงห์สัตว์ที่ว่ามาอีกชั้นหนึ่ง ฐานฉัตรสำหรับวางเครื่องสักการบูชาก็รื้อย้ายไปที่อื่น เป็นของแก้ใหม่เมื่อภายหลังฉันไปครั้งแรก มณฑปปูนที่ทำใหม่บางหลังก็ทำงามน่าชม ล้วนปิดทองล่องชาดประดับกะจกทั้งนั้น ลานรอบพระเกศธาตุเดี๋ยวนี้ปูหินอ่อนฝรั่งดูเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน และมีพรมทางทอด้วยกาบมะพร้าวปูให้คนเดินประทักษิณ เพราะในเวลาแดดเผาพื้นศิลาร้อน ขอบลานข้างนอกมีระฆังแขวนราวตั้งเป็นระยะกับเสาหงส์และฉัตรไทยใหญ่ ทั้งมีศาลาและวิหารของพวกทายกปลูกติดต่อซับช้อนกันอย่างยัดเยียดรอบพระเกศธาตุ มักทำเป็นยอดปราสาทเป็นพื้น ที่เป็นหลังคาสามัญมีน้อย พิจารณาดูสถานแถวนี้พบสิ่งซึ่งทำให้เกิดเสียดายมีขึ้นอีก ด้วยแต่ก่อนมีพระนอนปางเสด็จเข้านิพพานทำด้วยศิลาขาวยาวสัก ๓ วา องค์หนึ่งอยู่ในวิหาร มีรูปพระสาวกนั่งปฏิบัติหลายองค์ ทั้งฝีมือที่ทำหุ่นพระและที่ขัดชักเงาศิลาดูงามยิ่งนัก ใครไปเห็นก็ต้องออกปากชม นับว่าเป็นของดีที่น่าดูสิ่งหนึ่งในบริเวณพระเกศธาตุ ไปดูคราวนี้เห็นแปลกตาด้วยเอาสีทาทั้งองค์พระนอนและรูปพระสาวก เอาทองคำเปลวปิดผ้าห่มหมดทุกองค์ก็นึกประหลาดใจ ต่อเข้าไปพิจารณาดูใกล้ ๆ เห็นรอยหัก จึงเข้าใจว่าวิหารนั้นถูกไฟไหม้ด้วยเป็นแน่ องค์พระนอนกับพระสาวกคงแตกหัก เมื่อเอากลับเข้าไปติดต่อจึงต้องพอกปูนและทาสีปิดทองซ่อนรอยชำรุด เป็นอันเสียของดีไปอย่างหนึ่ง เสียดายอีกอย่างหนึ่งคือที่มีทายกพะม่าสมัยใหม่สร้างศาลาปราสาทแปลงแบบให้เจือฝรั่ง เกิดมี “ปราสาทอย่างเทศ” ขึ้นใหม่สักสองสามหลัง ถ้ารื้อไฟเผาเสียก็จะดี

พระเกศธาตุผิดกับเจดียสถานอื่น ๆ ที่ได้เห็นมาอย่างหนึ่ง ด้วยพระมหาเจดีย์แห่งอื่นมักมีคนขึ้นมากแต่เวลาเทศกาล แต่พระเกศธาตุแม้ในเวลาปกติก็มีคนขึ้นมากๆทุกวัน วันหนึ่งฉันขึ้นไปเวลาเย็น อีกวันหนึ่งขึ้นไปเวลาเช้า ก็เห็นคนขึ้นไม่ขาดสายทั้งสองครั้ง ล้วนพะม่าเป็นพื้น ถ้าจะดูพะม่าในเมืองร่างกุ้งไปดูที่พระเกศธาตุเป็นเห็นมากกว่าที่อื่น มีพะม่าทุกประเภททุกชั้นชายหญิง ชาวประเทศอื่นก็มีหลายชาติ ฉันได้พบพระไทย ๓ องค์ องค์หนึ่งบอกว่าไปแต่วัดอุทัยบางกะปิในกรุงเทพฯ องค์หนึ่งไปจากวัดมเหยงคณ์เมืองสรรค์ อีกองค์หนึ่งว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ริมวัดสระเกศ ตามพระโลกนาถชาวอิตาลีออกไปบวชเป็นพระพะม่า เมื่อพบรู้ว่าไทยก็ปราศรัยกันโดยความยินดีทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เห็นจะไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร เว้นแต่องค์ที่เป็นชาวเมืองสรรค์นั้นคลับคล้ายคลับคลา พอฉันเดินพ้นไปแล้วมาถามเจ้าหญิงว่า “สมเด็จกรมพระยาดำรง มิใช่หรือ” ได้ความตามคำพระเหล่านั้นเล่า ว่าเดินบกไปทางด่านแม่สอดแขวงเมืองตากทุกองค์ ไม่มีองค์ใดรู้ภาษาต่างประเทศ และไม่มีที่หมายมั่นว่าจะไปพึ่งพาอาศัยใครที่ไหน ใช้บิณฑบาตเลี้ยงตัวตลอดทางไป พบวัดเจ้าของไม่รังเกียจก็ได้อาศัย ถ้าไม่มีวัดก็ได้อาศัยแต่ตามศาลากลางย่าน แม้ที่สุดจนร่มไม้ในทางที่ไป คิดดูก็น่าชมว่าใจคอเด็ดเดี่ยวดูชื่นบานสบายดีทุกองค์ คนขึ้นพระเกศธาตุดูเหมือนจะต่างกันเป็น ๔ จำพวก โดยมากเป็นพวกที่ขึ้นไปบูชา ยังมีพวกชาวต่างประเทศถือศาสนาอื่นเป็นแต่ขึ้นไปดู พวกนี้เดี๋ยวนี้มีน้อยลงด้วยรังเกียจที่ต้องถอดเกือก ยังพวกพนักงานที่ทำการรักษาพระเกศธาตุ และที่สุดมีคนขึ้นไปหากินในลานพระเกศธาตุอีกพวกหนึ่ง ในพวกหลังนี้ บางคนเป็นหมอดูขึ้นไปเที่ยวนั่งอยู่ตามศาลาคอยรับจ้างทายร้ายดี บางคนรู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อยคอยรับจ้างนำชาวต่างประเทศเที่ยวดู บางคนก็ขายของเช่นหมากพลูบุหรี่เป็นต้น มีบางคนคอยรับจ้างสวดมนต์ (ดังจะกล่าวอธิบายต่อไปข้างหน้า) วิธีบูชาพระเกศธาตุดูเหมือนจะมี ๒ อย่าง อย่างสามัญถือเครื่องสักการขึ้นไปถึงวิหารทิศ ก็จุดธูปเทียนถวายเครื่องสักการกราบไหว้สวดคำบูชาพระรัตนตรัยแล้วเดินประทักษิณพระเกศธาตุ เป็นเสร็จพิธีเพียงนี้ ยังมีพิธีวิสามัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเนื่องด้วยเทวดานพเคราะห์ ฉันเพิ่งทราบเมื่อไปคราวนี้ว่าพะม่านับถือตำรานพเคราะห์อย่างเดียวกันกับไทยเรา เหมือนเช่นให้ชื่อคนก็ขึ้นด้วยตัวอักษรตามวรรคประจำวันเป็นต้น ดูเหมือนพะม่าจะนับถือเทวดานพเคราะห์เสียยิ่งกว่าไทยเราอีก ที่ในลานพระเกศธาตุ (และพระมหาธาตุองค์อื่นก็เหมือนกัน) ทำหลักป้ายเขียนรูปเทวดากับสัตว์พาหนะ และมีอักษรบอกนามปักประจำไว้ตามทิศทั้ง ๘ พระอาทิตย์อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระจันทร์อยู่ทิศตะวันออก พระอังคารอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระพุธอยู่ทิศใต้ พระราหูอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระพฤหัสบดีอยู่ทิศตะวันตก พระศุกรอยู่ทิศเหนือ พระเสาร์อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่พระเกตุนั้นทำเป็นธงไว้เหนือฉัตรยอดพระมหาธาตุ ลักษณะการบูชาพระเกศธาตุเนื่องกับนพเคราะห์นั้น เป็นต้นว่าขึ้นไปวันอะไรหรือตัวผู้บูชาเกิดวันอะไร ก็ไปนั่งบูชาพระเกศธาตุที่ในลานตรงทิศนั้น หรือบูชาเนื่องกับอายุเช่นเทวดาองค์ไหนเข้าเสวยอายุ ก็ไปบูชาพระเกศธาตุตรงทิศของเทวดาองค์นั้น พรรณนามาพอเป็นเค้า บางทีจะมีเหตุอื่นเป็นที่อ้างต่อไปอีก การที่บูชานั้นนอกจากถวายเครื่องสักการและสวดคำบูชาสามัญ มีการสวดพระปริตรตามกำลังวัน เวลาฉันเขียนหนังสือนี้ไม่มีตำรา จำก็ไม่ได้ถนัด นึกว่าวันอาทิตย์ดูเหมือนสวดโมรปริตอันขึ้นด้วย อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯ ซ้ำ ๖ ครั้งให้ครบกำลังวัน ตรงนี้เป็นช่องที่ผู้ชำนาญการสวดเข้ารับจ้าง เพราะผู้ที่บูชาจำไม่ได้ เมื่อสวดจบแล้วยังมีพิธีเอาน้ำสาดที่ฐานพระเกศธาตุ การที่เอาน้ำสาดนี้อธิบายของพะม่าว่าเพราะมนุษย์ที่ไปปรโลก บุญบาปย่อมนำไปสู่ที่ ๓ สถานต่างกัน พวกที่ทำบุญมากไปสู่สวรรค์มีความสุข ไม่ต้องการความสงเคราะห์ของมนุษย์ ผู้ที่ทำบาปมากก็ไปตกนรก พ้นวิสัยที่มนุษย์จะสงเคราะห์ แต่พวกที่ทำบุญบาประคนกันตายแล้วยังต้องเป็นเปรตท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลกนี้ จึงให้ทานน้ำสงเคราะห์แก่เปรตเมื่อทำบุญ (ของไทยเราก็มีทำนองเดียวกัน แต่มีข้าวสุกด้วย เรียกว่า “ข้าวผอกกระบอกน้ำ” มักเอาผูกกิ่งไม้ปักไว้) อธิบายของพะม่าที่ว่ามานี้จะมีมูลมาอย่างไรก็ตาม แต่ประหลาดอยู่ที่ไปพ้องกับคำพระ “ยถา” เมื่อทายกกรวดน้ำ อันมีบทว่า เปตานํ อุปกปฺปติ ฯ แปลว่า (ทานที่บำเพ็ญนั้น) ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรต ฉะนี้ ตรงนี้น่าเล่านอกเรื่องแทรกสักหน่อย นานมาแล้ววันหนึ่งฉันไปหาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดโสมนัสวิหาร เห็นท่านรวบรวมเครื่องบริกขารของท่าน จัดเป็นสังเค็ดตั้งไว้ในกุฏิหลายชุด เมื่อฉันถามท่านบอกว่าจะทำบุญวันเกิด จะถวายสังเค็ดสำหรับงานศพเสียให้ทันตาเห็น แล้วท่านบอกต่อไปว่าทำบุญครั้งนี้จะห้ามไมให้พระยถา เพราะท่านไม่ได้ทำบุญอุทิศแก่เปรต ฉันได้ยินก็นึกสงสัยว่าพระผู้รับทานจะอนุโมทนาอย่างไร มาได้ความภายหลังว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นผู้นำสงฆ์ ทรงพระดำริเอาคาถาในอาฏานาฏิยปริตมาใช้แทน ยถา ทรงนำขึ้นว่า เตหิ ตฺวํ รกฺขิโต ฯ ไปจนถึง นิพฺพุโต จ ตุวํ ภว ฯ พระสงฆ์อื่นก็รับ สพฺพีติโย ฯ ตามมีในอาฏานาฏิยปริตต่อไป ได้ยินว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ชอบมาก เมื่อสาดน้ำให้เปรตแล้วตามแบบพะม่าต้องไปตีระฆังที่แขวนราวไว้ในลานพระเกศธาตุ อธิบายว่าส่งเสียงบอกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้อนุโมทนาและรับส่วนบุญด้วย แล้วจึงเป็นการเสร็จพิธี เมื่อทราบอธิบายการตีระฆังประกาศแผ่ส่วนบุญ ก็เลยนึกขึ้นถึงระฆังรายที่มีตามมหาเจดียสถานในเมืองเรา เช่นที่พระปฐมเจดีย์และพระพุทธบาท ดูเหมือนเราจะเข้าใจกันโดยมากว่าตีเอาบุญ แต่ที่จริงน่าจะถูกตามอธิบายของพะม่าว่าตีให้บุญ คือเมื่อใครได้ทำบุญแล้วจึงตีระฆังให้เทวดามนุษย์ได้ยินเสียงเป็นสัญญาให้อนุโมทนาและรับส่วนบุญ ดูเป็นทำนองเดียวกับที่พูดว่า “กวาดวัดแกรกหนึ่งได้ยินถึงพรหมโลก” ในเรื่องนี้น่าจะคิดต่อไปถึงมูลเหตุที่ทำระฆังเล็ก ๆ ชะนิด

“ใบโพธิสุวรรณห้อย                         ระย้าย้อยบรุงรัง

ลมพัดกระดึงดัง                              เสนาะศัพทอลเวง ฯ”

แขวนไว้ตามเจดียสถาน เช่นที่ชายคาพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น ประเพณีเดิมน่าจะเกิดแต่ผู้สร้างหรือบุรณะปฏิสังขรณ์เจดียสถานนั้นประสงค์จะแผ่ส่วนกุศลให้บุญเป็นนิจกาลดอกกระมัง จึงทำระฆังอย่างนั้นขึ้นไว้ บูชาแล้วกลับเวลาพอพลบค่ำไม่เห็นจุดไฟฟ้าประดับพระเกศธาตุเหมือนอย่างพระสุเลเจดีย์ แต่มีเสาโคมฉายตั้งไว้ทุกทิศสำหรับฉายแสงอย่าง Floodlight ให้สว่างเห็นองค์พระเกศธาตุได้ตลอดเวลากลางคืน

วันพฤหัสบดึที่ ๒๓ มกราคม ไปเที่ยวเมืองหงสาวดีทั้งวัน รายการเรื่องเที่ยวเมืองหงสาวดี จะรอไว้เล่าเป็นตอนหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า

วันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ไปดูตลาด เพราะเขาบอกไว้ในหนังสือนำทางว่าเป็นที่น่าดูในเมืองร่างกุ้งอย่างหนึ่ง ไปดูก็เห็นน่าดูจริง ด้วยใหญ่โตและจัดดีกว่าตลาดที่เมืองอื่นๆ ในแถวตะวันออกนี้ที่เคยเห็นมา และถึงมี ๓ ตลาดใกล้ ๆ กันอยู่กลางเมือง กระบวรจัดเป็นทำนองเดียวกันทุกแห่ง คือที่ขายสินค้าอย่างใดก็ตั้งร้านขายแต่สินค้าอย่างนั้นเป็นถ่องแถวติดต่อกันไปไม่สับปลับ ดังเช่นตลาดแห่งหนึ่งเป็นที่ขายของสด ร้านแถวหน้าริมถนนล้วนแต่ขายดอกไม้กับผลไม้ แถวข้างหลังต่อเข้าไปเป็นร้านขายของเครื่องทำกับข้าว เครื่องสำหรับกิน กับหมากพลูและของสดประเภทอื่นๆ ต่อกันไป เอาร้านขายของจำพวกที่มีกลิ่นเช่นปลาและเนื้อสัตว์ตลอดจนกะปิน้ำปลาไว้ข้างหลังที่สุด ส่วนตลาดที่ขายของแห้งนั้นก็มีร้านขายของทองเงินเครื่องประดับและของเครื่องใช้ต่างๆ เช่นเกือกและร่มเป็นต้น ตลอดจนร้านขายของแห้งที่เป็นของกิน ตั้งร้านอยู่แถวหน้าริมถนน มีชานกว้างสำหรับคนเดินในร่มตลอดหน้าร้าน ต่อเข้าไปข้างในถึงแถวร้านขายผ้าแล้วถึงร้านขายของจำพวกอื่นๆ เป็นลำดับไป ตึกนั้นยังมีชั้นบนเป็นตลาดอีกชั้นหนึ่ง มีทั้งทางบันไดและทางลอย Lift สำหรับคนขึ้น ร้านที่อยู่ชั้นบนเป็นจำพวกหัตถกรรม เช่นช่างเย็บเสื้อเป็นต้น ตลอดจนร้านขายเครื่องเรือนตั้งแต่เครื่องปูลาดตลอดจนมุ้งม่านที่หลับที่นอนก็มีขาย คนขายของในตลาดเป็นแขกชาวอินเดียโดยมาก พะม่าเห็นมีแต่ผู้หญิงนั่งขาย ร้านจีนก็มีบ้างไม่มากนัก พรรณนาแต่พอเป็นเค้า ฉันดูไมสู้ถ้วนถี่นัก ในเรื่องตลาดเจ้าหญิงรู้มากกว่าฉัน เพราะธรรมดาผู้หญิงสันทัดการเที่ยวตลาดกว่าผู้ชาย แต่การที่ไปเที่ยวตลาดเมืองร่างกุ้งก็มีข้อขบขันอยู่บ้าง วันแรกพวกเรายังไม่รู้เค้า เอารถยนต์ “อาคาข่าน” ไปจอดที่หน้าตลาดแล้วลงเดินดูร้าน พอคนเห็นพวกเราก็รู้ว่าเป็นชาวต่างประเทศที่มีบรรดาศักดิ์ จะเดินไปทางไหนคนก็ตามดู ทั้งพวกที่เร่ของขายก็พากันดักหน้าตามหลังกวนจะให้ซื้อ เมื่อเข้าถึงร้านถามราคาของสิ่งใดก็ผ่านขึ้นไปตั้งสองสามเท่า ไม่ได้เรื่องต้องรีบกลับ ไปวันหลังต้องใช้อุบายเอารถจอดเสียห่างๆ แล้วลงเดินแยกกันไปเป็นหลายพวกจึงเที่ยวได้สะดวก เจ้าหญิงตั้งใจจะหาซื้อแพรพะม่าจึงไปที่ร้านแขกขายแพรก่อน ลักษณะร้านในตลาดนั้นยกพื้นปูกะดานสูงสัก ๒ ศอก ตั้งตู้วางม้วนผ้าม้วนแพรไว้ข้างด้านในและด้านข้าง คนขายนั่งกับพื้นตรงหน้าตู้ เวลามีใครมาซื้อเขายกเก้าอี้มาตั้งเชิญให้นั่งที่หน้าร้าน ดูก็เป็นการจำเป็น เพราะกว่าจะซื้อได้ต้องเสียเวลาเลือกสรรและต่อตามกัน ยืนอยู่ตลอดเวลาก็แทบขาแข็ง พอเจ้าหญิงถามถึงแพรพะม่า เจ้าของร้านก็รับในทันทีว่ามีหลายอย่าง แล้วไปหยิบเอาลงมาให้เลือกเป็นหลายม้วน เผอิญเจ้าหญิงคลี่ออกดูม้วนหนึ่งเห็นตรงชายผ้ามีอักษรโรม้นบอกว่า Made in Japan (แปลว่าทำที่เมืองญี่ปุ่น) ซึ่งต้องแสดงไว้ตามกฎหมายบังคับ หันไปต่อว่าเจ้าของร้านก็หน้าด้านยิ้มกริ่มไม่อดสู ไปวันหลังต้องวานเจ้าฉายเมืองลูกเจ้าฟ้าเชียงตุงให้นำทาง ด้วยเธอรู้เบาะแสเมืองร่างกุ้ง พาไปที่ร้านพะม่าร้านหนึ่งในตลาดใหญ่นั้น มีผ้าไหมขายมาก เจ้าหญิงเรียกเอาซิ่นไหมมาเลือก สังเกตเห็นเหมือนกันกับซิ่นไทยที่ทำทางเมืองเชียงไหม่และเมืองอุบลเมืองนครราชสีมา ถามว่าซิ่นเหล่านี้ทอในเมืองพะม่าหรือ ผู้หญิงพะม่าคนขายบอกโดยซื่อว่าไม่ใช่ของพะม่า เป็นของไปจากเมือง “โยเดีย” ทั้งนั้น แต่พะม่าชอบใช้ด้ายทอเนื้อดีกว่าผ้าไหมในเมืองพะม่า ฟังดูออกประหลาดใจ วันอื่นต่อมาฉันได้พบพะม่าชั้นผู้ดีก็เห็นมักนุ่งผ้าไหมไทยทั้งผู้ชายผู้หญิง ชอบนุ่งผ้าหางกระรอกโดยฉะเพาะ เขาก็บอกเช่นเดียวกับชาวร้านว่าผ้าไหมไทยเนื้อดีกว่าผ้าไหมทอในเมืองพะม่า เรื่องนี้เมื่อก่อนจะกลับฉันได้สนทนากับข้าราชการอังกฤษที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ในเมืองพะม่าคนหนึ่ง พูดกันถึงการค้าขายในระหว่างเมืองไทยกับเมืองพะม่า เขาบอกว่าสินค้าไทยที่ส่งเข้าไปขายในเมืองพะม่า ผ้าไหมเป็นสินค้าใหญ่อย่างหนึ่ง ฉันตอบว่าแต่ก่อนฉันก็เคยเข้าใจอย่างนั้น แต่มาได้ยินว่ารัฐบาลอังกฤษเพิ่มพิกัดภาษีผ้าไหมแรงจนสินค้านั้นตกไปเสียแล้ว เขาว่าเพิ่มพิกัดภาษีจริง แต่เขาเข้าใจว่าสินค้าผ้าไหมไทยหาตกไม่ เพราะเดี๋ยวนี้พวกพ่อค้าหาวิธีหลีกเลี่ยงด่านภาษี ด้วยลอบเอาผ้าไหมเข้าทางเมืองไทยใหญ่ได้หลายทาง บางทีผ้าซิ่นไทยที่ฉันเล่าว่าไปเห็นในท้องตลาดจะอยู่ในพวกนั้นก็เป็นได้ เพราะโดยธรรมดาถ้ามีคนชอบซื้ออยู่ตราบใดก็คงมีคนหาไปขายอยู่ตราบนั้น ฉันเคยได้เค้าเมื่อไปเมืองนครราชสิมาครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เห็นชอบทอผ้าไหมหางกะรอกกันแทบทุกบ้าน ถามเขาว่าทอกันมากมายเช่นนั้นจะขายอย่างไรได้ เขาบอกว่าถึงฤดูแล้งมีพวกพะม่ามาเที่ยวกว้านซื้อผ้าไหมหางกะรอกเอาไปขายในเมืองพะม่าทุกปี มาได้ฟังเรื่องหนีภาษีจึงเข้าใจว่าพวกที่ลอบเอาผ้าไหมไทยเข้าไปขายในเมืองพะม่า คงเป็นพวกพะม่าหรือไทยใหญ่หาใช่ชาวสยามไม่ จะเลยเล่าต่อไปถึงการแต่งตัวของพวกพะม่าในสมัยนี้ ประเพณีที่ผู้ชายไว้ผมยาวเกล้าจุกเช่นแต่ก่อนมาเป็นอันเลิกหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ตัดผมสั้นเหมือนอย่างไทยเรา แต่ยังชอบโพกหัวแต่งตัวอย่างพะม่าอยู่ตามเดิม ชั้นผู้ดีทำหมวกสานตาชะลอมเป็นโครงครอบหัวก่อน แล้วจึงโพกผ้าให้เห็นเหมือนมีผมจุกอยู่อย่างแต่ก่อน พวกไทยใหญ่เดี๋ยวนี้ ในชั้นผู้ดีก็ตัดผมกันโดยมาก แต่โพกผ้าไม่มีหมวกเป็นโครงดูแปลกไป ไม่ภาคภูมิเหมือนพะม่า ผ้าโพกดูชอบใช้แต่แพรสีชมพูเหมือนกันทั้งพะม่าและไทยใหญ่ เสื้อนั้นใช้เสื้อชายสั้นกระดุมถักตามแบบจีน พะม่าใส่เสื้ออย่างเราเรียกว่า “กุยตั๋ง” คือที่ตอนล่างใส่กระดุมไพล่มาข้างๆ แต่พวกไทยใหญ่ใส่เสื้ออย่างที่เราเรียกว่า “กุยเฮง” คือใส่กระดุมตรงลงมาจนชายเสื้อ เครื่องนุ่งนั้นพะม่านุ่งผ้าไหมอย่างปล่อยชายปุกปุยอยู่ข้างหน้า แต่ไทยใหญ่ชอบนุ่งกางเกงจีน นุ่งผ้าอย่างพะม่าดูรุ่มร่าม เวลาเดินก็ต้องคอยระวังชายผ้าอยู่เสมอ แต่ฉันมาทราบภายหลังว่าเขานุ่งปล่อยชายเช่นนั้นแต่ในเวลาออกแขก ถ้าอยู่กับบ้านเรือนหรือแม้ไปไหนไม่ออกหน้าเขาก็นุ่งตามสบาย บางทีก็ถึงนุ่งกางเกงจีน ฉันเคยถามพวกพะม่าที่เป็นข้าราชการ ว่ามีข้อบังคับอย่างไรในเรื่องเครื่องแต่งตัวบ้างหรือไม่ และเขาใช้เครื่องแต่งอย่างฝรั่งในโอกาสอย่างไร เขาตอบว่าในเรื่องเครื่องแต่งตัวไม่มีข้อบังคับ เวลามีงานในรัฐบาลจะแต่งตัวอย่างพะม่าหรืออย่างฝรั่งก็ได้ตามใจ เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในกรมอันมีเครื่องแบบเช่นเป็นนายโปลิศเป็นต้น จึงต้องแต่งตัวตามแบบนั้น ๆ ข้าราชการที่เป็นพะม่ามักแต่งอย่างพะม่าไปทำงานเป็นปกติ เพราะไม่สิ้นเปลืองเหมือนเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง มักแต่งอย่างฝรั่งแต่ในเวลาไปเล่นกีฬาเช่นเล่นเทนนิสเป็นต้น พะม่าที่ชอบแต่งตัวอย่างฝรั่งก็มี แต่น้อยกว่าที่ชอบแต่งตัวอย่างพะม่า ส่วนผู้หญิงนั้นไม่ยอมแต่งตัวอย่างฝรั่งเลยทีเดียว แต่เมื่อสังเกตดูเห็นได้ว่าแม้ยังแต่งตามแบบพะม่า ก็แก้ไขเครื่องแต่งตัวเอาแบบฝรั่งมาใช้หลายอย่าง เป็นต้นว่า แต่ก่อนมาผู้หญิงพะม่ามักใส่เสื้อเปิดอกข้างใน เอาแพรแถบคาดตัวตัดสีกับเสื้อนอก แต่เดี๋ยวนี้ชั้นในใส่เสื้อแขวนบ่าเหมือนอย่างเช่นผู้หญิงไทยเราใช้กันทั่วไป เสื้อชั้นนอกก็มักปิดคอและขลิบผ้าโปร่งไปข้างแบบฝรั่ง แต่นุ่งซิ่นกันเป็นพื้น มิใคร่เห็นใครนุ่งอย่างเช่นเราเรียกกันว่า “ผ้าแวบ” ที่ปล่อยชายไปข้างหลังอย่างแต่ก่อน การสมาคมกับพวกพะม่าชั้นผู้ดีในสมัยนี้อยู่ข้างสะดวก ด้วยผู้ดีมักได้เข้าโรงเรียน พูดภาษาอังกฤษได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ไม่ต้องมีล่าม

การที่ฉันเที่ยวในเมืองร่างกุ้งมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือไปเที่ยวตามอำเภอใจอย่างหนึ่ง ไปเที่ยวด้วยได้รับเชิญอย่างหนึ่ง ทั้งเมื่อขาไปและขากลับ เพื่อจะให้สะดวกแก่ผู้อ่าน จึงเอาเรื่องที่เที่ยวตามอำเภอใจมารวมเล่าเสียในตอนนี้ รอเรื่องเที่ยวด้วยได้รับเชิญไว้เล่าเมื่อขากลับ จะเล่าถึงไปดูที่เลี้ยงสัตว์ ๒ แห่งก่อน แห่งหนึ่งเป็นสระโบราณสำหรับเลี้ยงปลา ซึ่งในหนังสือนำทางเรียกในภาษาอังกฤษว่า Sacred Fish แปลว่า “ปลาศักดิ์สิทธิ์” ที่จริงเป็นสระอภัยทาน ด้วยห้ามมิให้ใครทำร้ายปลาซึ่งอาศัยอยูในสระนั้น ไม่เลือกว่าปลาอย่างใด ๆ สระนั้นไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก เป็นที่น้ำขังคดค้อมไปตามเชิงเนิน มีศาลาอย่างเรือนแพปลูกลงไปในสระสองสามหลัง และคนที่รักษาสระตั้งร้านขายขนมปังกับข้าวตอกสำหรับพวกท่องเที่ยวหรือคนอยากทำบุญซื้อโปรยให้ทานปลา ปลาในสระนั้นดูเป็นปลาดุกทั้งนั้นไม่เห็นมีปลาอื่น ขันอยู่ที่มีเป็ดฝูงใหญ่ไปกำกับปลาอยู่ในสระนั้นด้วย ชำนาญการรับทานและชอบกินขนมปังกับข้าวตอกทั้งปลาและเป็ด แต่เป็ดดูเหมือนจะได้เปรียบปลา เพราะขนมปังและข้าวตอกที่โปรยลงไปลอยน้ำ เป็ดชิงกินได้ก่อน คงมีคนเห็นว่าปลาเสียเปรียบเป็ดจึงเอาไม้รวกปักทำเป็นคอกไว้ตรงหน้าศาลา กันมิให้เป็ดเข้าในคอกนั้น ถ้าใครจะให้ทานแต่ปลาก็เอาอาหารโปรยลงในคอก ถ้าจะให้ทานเป็นสาธารณก็โปรยออกไปข้างนอกคอก ที่เลี้ยงสัตว์อีกแห่งหนึ่งนั้นอยู่ในสวนซึ่งสร้างเป็นอนุสสรณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย เรียกว่า Victoria Memorial Park อยู่ที่หมู่เนินนอกเมืองข้างด้านหลัง มีสัตว์ต่างๆ หามาเลี้ยงไว้ให้คนดูมากมายหลายอย่าง เก็บค่าเข้าคนละ ๒ อันนา (ราว ๑๐ สตางค์) ถึงวันอาทิตย์มีแตรวงให้ฟังด้วย สวนเลี้ยงสัตว์ที่เมืองร่างกุ้งดูเหมือนจะดีกว่าแห่งอื่นในแถวตะวันออก ทั้งที่มีสัตว์ต่าง ๆ มากและทำที่เลี้ยงเรียบร้อยดี แต่สัตว์จำพวกต่าง ๆ ที่มีในสวนนั้นฉันได้เคยเห็นในยุโรปแล้วโดยมาก แปลกตาแต่ ๒ อย่าง คือ จระเข้พันธุ์ปากแหลมคล้ายปลากะทุงเหวอย่างหนึ่ง กับลิงบาบูนตัวหนึ่งโตสักเท่าเด็กสามสี่ขวบ สีดำ ขนยาว ปากยื่นเหมือนหัวสุนัข ที่โครงจมูกมีริ้วสีน้ำเงินสีแดงสลับกันเหมือนกับใครแกล้งเขียนไว้ดูน่าพิศวง บางทีสัตว์อย่างอื่นในจำพวกนกและลิงที่ฉันไม่เคยเห็น หรือเห็นในยุโรปแล้วแต่จำไม่ได้ก็จะมีอีก ที่สวนนี้มีคนจำพวกหนึ่งหากินด้วยถือกระจาดอาหารมีกล้วยเป็นต้น คอยเดินตามหลังคนดูด้วยรู้ว่าคงอดซื้อให้ทานสัตว์ไม่ได้ ฝ่ายพวกสัตว์ก็เคยกินจนรู้ธรรมเนียม พอเห็นใครไปยืนที่ริมกรงก็ออกมาคอยรับอาหาร เว้นแต่สัตว์จำพวกกินเนื้อเช่นเสือและราชสีห์เป็นต้นไม่นำพา เพราะของที่คนดูซื้อเลี้ยงสัตว์มีแต่กล้วยอ้อย มิใช่อาหารของสัตว์จำพวกนั้น

ต่อสวนเลี้ยงสัตว์ไปไม่ไกลนักถึงสวนอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า “ดัลฮูสี” Dalhousy Park ตามนามของผู้สำเร็จราชการอินเดียคนหนึ่ง เป็นที่สำหรับคนไปเที่ยวตากอากาศที่ริมทะเลมหาราช มีป่าไม้และลานหญ้ารอบคอบทะเลเดินไปได้ไกล บ่ายๆ มีคนไปเที่ยวกันมากดูสบายดี

คราวนี้จะเล่าถึงไปดูที่ทำของต่าง ๆ อันเป็นหัตถกรรมของพะม่า ไปดูที่ช่างทำพระพุทธรูปก่อน ที่นั้นอยู่ตำบลเกเมนไดน์ Kemendine ห่างเมืองร่างกุ้งสัก ๒๐๐ เส้น เขาว่าแต่เดิมเป็นบ้านนอก ครั้นขยายเมืองร่างกุ้งออกไป ตำบลนั้นกลายเป็นชานเมือง มีทั้งถนนรถยนต์และรถราง ออกไปครู่หนึ่งก็ถึง พอแลเห็นก็เข้าใจได้ว่าเดิมคงเป็นอย่างเดียวกันกับพวกช่างหัตถกรรมของไทยเรา เช่น “บ้านหล่อ” และ “บ้านพานถม” เป็นต้น พวกช่างอย่างหนึ่งก็คงตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลหนึ่ง เพราะเป็นญาติร่วมสกุลที่วิชาอาชีพอย่างเดียวกัน ต่างครัวต่างทำการที่ในบ้านของตน ครั้นขยายชานเมืองมีถนนหนทางไปถึงตำบลนั้น พวกช่างพระก็คิดแก้ไขกระบวรการอาชีพเพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น เปลี่ยนเป็นสร้าง (หรือเช่า) โรงแถวเป็นที่ทำงานและขายของด้วยกันที่ริมถนน ครัวหนึ่งมีร้านหนึ่งเรียงติดต่อกันไปยืดยาวในถนนนั้น ทำของขาย ๓ อย่างเหมือนกันทุกร้าน คือ ฉัตรทองสัมฤทธิ์ยอดพระเจดีย์อย่างหนึ่ง พระพุทธรูปหล่ออย่างหนึ่ง กับพระพุทธรูปศิลาขาวอีกอย่างหนึ่ง แต่ละอย่างทำเป็นหลายขนาด ที่เป็นขนาดใหญ่ตั้งไว้ขายข้างหน้าร้าน ขนาดย่อมลงมาตั้งไว้ในร้านหรือในตู้กะจก ใครปรารถนาจะซื้อก็เลือกได้ตามชอบใจ ที่เพิงหน้าร้านนั้นใช้เป็นโรงงานจำหลักพระพุทธรูปศิลาด้วย ศิลาขาวที่ทำพระพุทธรูปนั้น มีพวกต่อยศิลาทำเป็นหุ่นโกลนอยู่เมืองอื่นต่างหาก ช่างพวกนี้ไปซื้อมาจำหลักชักเงาสำเร็จเป็นองค์พระพุทธรูป ทำปางมารวิชัยเป็นพื้นทั้งพระศิลาและพระหล่อ ประหลาดอยู่ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันเหมือนกับพระพุทธรูปไทย ข้อนี้ฉันเคยตรวจ เห็นพระพุทธรูปอินเดียก็ดี พระพุทธรูปที่ทำในประเทศสยามแบบเก่าก่อนสมัยสุโขทัยก็ดี ย่อมทำนิ้วพระหัตถ์อย่างนิ้วธรรมดาของคนทั้งหลาย เห็นแต่พระพุทธชินราชกับพระพุทธชินศรีที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันเก่าก่อนเพื่อน พระพุทธรูปที่ในเมืองพะม่าที่เป็นของชั้นเก่าก็ทำนิ้วพระหัตถ์อย่างนิ้วธรรมดา มีแต่พระพุทธรูปชั้นหลังที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากัน จึงสันนิษฐานว่าเห็นจะได้แบบของไทยไปทำในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง บางทีพะม่าจะได้พวกช่างพระเป็นชะเลยไปจากพระนครศรีอยุธยา ไปทำแบบนี้ขึ้นก็เป็นได้ ที่ร้านพวกช่างพระไม่เห็นขายของหล่อสิ่งอื่น เช่น ฆ้อง ระฆัง กังสดาล เป็นต้น ของเหล่านั้นเห็นมีขายตามร้านย่อย เจ้าฉายเมืองบอกว่าฆ้องนั้นทำที่เมืองตะโก้งเป็นพี้น เพราะชาวเมืองนั้นชำนาญการทำฆ้องสืบต่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เดิมเป็นเมืองของพวกไทยใหญ่เรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “เมืองท่าฆ้อง” พะม่าเรียกไม่ชัดจึงกลายเป็น “ตะโก้ง” Tagaung แต่พบในหนังสือฝรั่งแต่งว่า ชื่อเมืองนั้นมาแต่คำ “ท่ากอง” (คือ “ท่ากลอง” ฝรั่งใช้คำว่า Drum) เจ้าฉายเมืองยังบอกอธิบายต่อไปอีกเมืองหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เมืองภาโม” Bhamo ชื่อเดิมก็เป็นภาษาไทยเรียกว่า “บ้านหม้อ” เพราะชาวเมืองชำนาญการทำหม้อเคลือบ ยังทำส่งลงมาขายในเมืองพะม่าปีละมาก ๆ จนทุกวันนี้ (ฉันก็ได้เห็นแพบรรทุกหม้อเคลือบเมื่อล่องลำน้ำเอราวดี) แต่ระฆังกับกังสดาลนั้นไม่รู้ว่าทำที่ไหน บางทีจะมีช่างอีกพวกหนึ่ง ด้วยถือเป็นวิชาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก เพราะต้องรู้วิธีประสมทองให้เหมาะส่วนเสียงจึงไพเราะ ไม่เหมือนกับประสมทองหล่อพระ ต่อนั้นฉันได้ไปดูการช่างอีกสองอย่าง คือช่างแกะงากับช่างจำหลักเงิน ช่างสองพวกนี้อยู่ตึกแถวที่ในเมือง มีร้านเรียงต่อกันเป็นพวกทำนองเดียวกับช่างพระ พิจารณาดูฝีมือช่างพะม่ายังทำดีทั้งช่างแกะงาและช่างจำหลักเงิน ถึงช่างพระที่จริงฝืมือก็ไม่เลว มีที่ติเป็นข้อสำคัญอยู่ที่เพียรทำตามแบบอย่างเช่นเคยทำกันมา หรือว่าอีกอย่างหนึ่งทำเป็นแต่หัตถกรรม ไม่พยายามขวนขวายให้เป็นทางศิลป การที่ทำจึงเป็นแต่ทรงอยู่หรือชักจะเลวลง มีอังกฤษคนหนึ่งซึ่งไปอยู่เมืองพะม่าช้านาน จะกลับไปยุโรปเร็วๆ นี้บอกฉัน ว่าอยากจะได้พระพุทธรูปฝีมือพะม่าไปเป็นที่ระลึกสักองค์หนึ่ง เที่ยวเสาะหาตามร้านช่างพระ จะหาให้งามเหมือนพระโบราณไม่มีสักองค์เดียว ฉันเองเดิมก็นึกว่าจะหาพระพุทธรูปฝีมือพะม่ามาสักองค์หนึ่ง เที่ยวเลือกดูไม่พบที่งามจับใจจึงเลยไม่ได้ซื้อ

มีเรื่องหาซื้อของน่าจะเล่าอีกเรื่องหนึ่ง วันฉันกินกลางวันที่บ้านเจ้าเมืองหงสาวดี เจ้าเมืองคนนั้นเป็นพะม่าจึงพูดถึงข้อที่ฉันอยากเห็นฟ้อนรำและฟังดนตรีอย่างโยเดีย เขาบอกว่าเคยได้ยินในคราโมโฟนโยเดีย ฉันก็อยากหาซื้อ เขาจึงบอกชื่อร้านขายแผ่นคราโมโฟนมาให้ ฉันได้ไปถึงร้านนั้น เป็นร้านใหญ่ขายแต่เครื่องดีดสีตีเป่าชั้นล่าง ชั้นบนขายเครื่องคราโมโฟนกับแผ่นเสียง และมีห้องสำหรับให้นั่งฟังเวลาเลือกด้วย ถามถึงเพลงโยเดียเขาบอกเถลไถลดูไม่เข้าใจความที่หมาย จึงให้เอาแผ่นเพลงลำนำของพะม่ามาเปิดให้ฟัง ก็มีแต่เสียงผู้หญิงขับลำนำพะม่าประสานกับหีบเพลงเปียโน หรือมิฉะนั้นก็ประสานกับซอไวโอลินฝรั่งเป็นอย่างสมัยใหม่ทั้งนั้น ถามเขาว่าเสียงขับเข้ากับดุริยางค์ดนตรีอย่างพะม่ามีหรือไม่ เขาตอบว่าอย่างนั้นเป็นแบบเก่าเขาเลิกไม่ทำแผ่นคราโมโฟนมาเสียหลายปีแล้ว ฟังเขาบอกก็ได้แต่ถอนใจใหญ่

วันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ตอนเช้าไปเที่ยวแล้วกลับมาเก็บของเตรียมตัว พอค่ำรีบกินอาหารที่โฮเต็ลแล้วไปยังสถานีรถไฟ มิสเตอร์แนช ในรัฐบาล มิสเตอร์คัสโตเนีย นายห้างอิสต์เอเซียติค และผู้แทนกงซุลสยาม (ตัวกงซุลไม่อยู่) กับทั้งหลวงอุปถัมภ์นรารมณ์ซึ่งไปอยู่เมืองร่างกุ้งด้วยกิจธุระของเขาเองมีแก่ใจไปส่ง เวลา ๒๐ นาฬิกาขึ้นรถไฟออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองมัณฑเล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ