ตอนที่ ๑๑ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ

เมื่อกำหนดเวลาขากลับจากเมืองมัณฑเลมาเมืองร่างกุ้ง เดิมกะว่าจะพักอยู่ดูเมืองแปรแต่วันเดียว จะมาให้ถึงเมืองร่างกุ้งวันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ พักอยู่วันหนึ่งแล้วลงไปเที่ยวเมืองเมาะตมะ Mataban และเมืองเมาะลำเลิง Moulmen ๒ วัน กลับมาเมืองร่างกุ้งวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พักอยู่วันหนึ่ง พอถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ กำหนดวันเรือเมล์ออก ก็จะกลับจากเมืองร่างกุ้งมาเมืองปินัง แต่การที่จะไปเมืองเมาะตมะและเมาะลำเลิงจะต้องไปรถไฟตลอดคืน ขากลับมาเมืองร่างกุ้งก็จะต้องมารถไฟตลอดคืนเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อขึ้นไปถึงเมืองมัณฑเล เจ้าหญิงพากันระอารถไฟเมืองพะม่า มาร้องทุกข์ว่าถ้าไปเมืองเมาะตมะ ต้องนอนในรถไฟ ๒ คืนติดๆ กันเห็นจะเจ็บเพราะทนไม่ไหว ก็ออกสงสาร จึงไปตรวจดูในหนังสือนำทางและสอบถามพวกที่เขาเคยไป ได้ความว่าที่เมืองเมาะตมะและเมืองเมาะลำเลิงนั้น มีสิ่งสำคัญแต่โรงสีไฟกับโรงจักรเลื่อยไม้ ของประหลาดที่ฝรั่งชอบดูก็ที่ใช้ช้างขนซุง ล้วนเป็นของที่มีในเมืองไทยเคยเห็นแล้วทั้งนั้น ถามถึงของโบราณทางนั้น เขาบอกว่ามีอยู่ที่เมืองสะเทิม Thaton ซึ่งรถไฟจะผ่านไปในเวลาดึก และตัวเมืองเดิมก็อยู่ห่างทางรถไฟเข้าไปมาก ถ้าจะไปดูเมืองสะเทิมจะต้องลงจากรถไฟไปพักแรมที่นั่นจึงจะเที่ยวดูได้ คือว่าจะต้องเพิ่มจำนวนวันอีก ๒ วัน ตรวจดูในหนังสือก็ว่าที่เมืองสะเทิมไม่มีของโบราณน่าดูเหมือนอย่างเมืองพุกามและเมืองแปร จึงตกลงงดการที่จะไปเมืองเมาะตมะและเมืองเมาะลำเลิง เอาวันที่ตัดไปเพิ่มเป็นอยู่เมืองแปร ๒ วัน ก็เหมาะดีหนักหนา เลื่อนวันกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งเป็นวันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ และเพิ่มวันพักอยู่เมืองร่างกุ้งตอนนี้เป็น ๔ วัน ก็เหมาะดีอีกดังจะเล่าต่อไป จึงไม่เสียดายที่มิได้ไปเมืองเมาะตมะ เพราะที่จริงเมืองนั้นขึ้นชื่อลือนามในพงศาวดารไทยแต่ด้วยเคยเป็นฐานทัพในสมัยเมื่อไทยรบกับพะม่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา สิ่งอันใดในครั้งนั้นก็ไม่มีเหลือแล้ว

วันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ นอนอยู่จนกลางวัน ตื่นขึ้นกินอาหารกลางวันแล้วกงซุลส่งห่อจดหมายมาให้ เป็นจดหมายที่มาจากกรุงเทพฯ บ้าง มาจากเมืองปินังและเมืองบันดุงบ้าง ซึ่งส่งมาฝากไว้ที่สถานกงซุล เปิดออกดูก็ได้ทราบข่าวร้ายเริ่มต้นว่าเสด็จพระองค์หญิงวานีรัตนกัญญา กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป พระองค์หญิงอรพินธุ์เพ็ญภาค ประชวรสินพระชนม์ติดๆ กันทั้ง ๓ พระองค์ สิ้นเจ้านายในเวลาใกล้ๆ กันถึง ๔ พระองค์ทั้งสมเด็จหญิงน้อย อนาถใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทูลกระหม่อมหญิง เจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินทร เสด็จไปยุโรปปีกลายนี้ พระองค์หญิงอรพินธุ์เธอเสด็จมาส่งถึงปินัง ฉันเชิญเสด็จมาเสวยกลางวันที่ซินนามอนฮอลวัน ๑ ตรัสว่าไม่ทรงทราบว่ามีที่สบายจึงไปประทับอยู่โฮเต็ล ต้องปะปนกับคนจรพลุกพล่านไม่พอพระหฤทัย แต่เที่ยวเมืองปินังสนุกดีจะเสด็จมาอีก จะมาพักซินนามอนฮอลได้หรือไม่ ฉันทูลว่าถ้าเสด็จมาอีกฉันจะรับเสด็จประทับที่ซินนามอนฮอลด้วยความยินดี แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจะเสด็จมาจนสิ้นพระชนม์ไปเสีย

บ่ายวันนี้ว่างจึงชวนกันไปเที่ยวหาซื้อของฝากพวกพ้อง เพราะคราวนี้ฉันไม่ได้คิดจะแต่ง “นิราส” พิมพ์เป็นของฝากเหมือนเมื่อครั้งไปนครวัด แต่กรณีก็มีอย่างเดียวกันเหมือนเช่นกล่าวไว้ในกลอนคำนำนิราศนครวัด ว่า

“จะซื้อหาสิ่งใดมาให้เล่า ทุนของเราก็ไม่พอต้องท้อถอย” จึงต้องหาซื้อของเมืองพะม่าที่ราคาถูกๆ เป็นของฝาก ได้ซื้อเครื่องรักมาแต่เมืองพุกามบ้างแล้ว ให้เจ้าหญิงช่วยเที่ยวหาของฝากผู้หญิง ฉันเที่ยวหาของฝากผู้ชาย ได้ของควรใช้เป็นของฝากได้ ๓ อย่าง คือ เกือกคีบอย่างพะม่า เช่นเขาชอบใช้กันในพื้นเมืองทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อย่าง ๑ ดุมเสื้อทำด้วยแก้วสีต่างๆ ซึ่งผู้หญิงพะม่าชอบใช้อย่าง ๑ กับบุหรี่พะม่าอย่างก้นตัด เรียกกันว่า เชรูต Caeroot อย่าง ๑ บุหรี่ที่ว่านี้เป็นสินค้าใหญ่ของเมืองพะม่า ด้วยคนชอบสูบกันแพร่หลายไปจนถึงเมืองอื่นๆ รวมทั้งเมืองปินัง และตลอดไปจนในอินเดีย แม้ในเมืองพะม่าเองดูเหมือนจะไม่มีใครสูบบุหรี่ฝรั่งเลยก็ว่าได้ เพราะบุหรี่พะม่าราคาถูกกว่าบุหรี่ฝรั่งถึงครึ่งตัว ยาสูบพะม่าก็รสดีเป็นแต่ออกจะฉุนไปสักหน่อย ฉันเที่ยวหาซื้อบุหรี่พะม่าอย่างที่ไม่สู้ฉุน ไปพบที่ร้านแขกอับดุลลา Abdulla อยูใกล้ๆ กับโฮเต็ล เรียกว่า “กุหลาบขาว” White Rose เป็นยาปลูกที่เมืองเมาะลำเลิง ลองสูบรสดีพอใจ ขายราคาเพียง ๑๐๐ ละ ๒ รูปี ซื้อเอามาหลายร้อย ให้ใครๆ ก็ชอบ แต่เมื่อหมดลงอยากจะได้อีก ไปลองว่าให้แขกขายบุหรี่เชรูตที่เมืองปินังสั่งบุหรี่อย่างกุหลาบขาว เขาบอกจะสั่งก็ได้ แต่เมื่อเอามาขายในปินังราคาจะถึงราว ๑๐๐ ละ ๓ เหรียญเศษหรือ ๔ เหรียญ เพราะต้องเสียค่าสั่งค่าส่งและเสียภาษีเพิ่มราคาบุหรี่ขึ้นอิก ได้ฟังก็เลยสิ้นประสงค์

ฉันได้กล่าวในตอนเล่าเรื่องเมืองร่างกุ้งเมื่อขาไป ว่าจะรวมเรื่องที่เขาเชิญไป ณ ที่ต่าง ๆ ไว้เล่าเมื่อขากลับ จะพรรณนาต่อไปในตอนนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม วันฉันจะขึ้นไปเมืองมัณฑเล ในตอนบ่ายพวกคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชิญไปเลี้ยงน้ำชาแล้วพาดูมหาวิทยาลัย เหตุที่เชิญนั้นคงเป็นเพราะเจ้าฉายเมืองกับเจ้าขุนศึก ลูกเจ้าฟ้าเชียงตุง ไปบอกครูบาอาจารย์ว่าฉันเป็นใคร ได้อุปการะแก่เธอมาแต่ก่อนอย่างไร และได้ชอบพอกับบิดาของเธอมาอย่างไร อาจารย์ใหญ่ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยจึงเชิญไป แต่ก็น่าไปดู ด้วยมหาวิทยาลัยนี้เพิ่งสร้างมาได้สัก ๑๐ ปี เดิมโรงเรียนสอนวิชาชั้นสูงมีของรัฐบาลโรง ๑ ของพวกมิชชันนารีโรง ๑ ตั้งอยู่ในเมืองร่างกุ้งเป็นอิสสระแก่กัน ครั้นการเล่าเรียนเจริญมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น เกิดลำบากด้วยที่ไม่พอกับนักเรียนทั้ง ๒ แห่ง เมื่อรัฐบาลขยายเมืองร่างกุ้งให้กว้างขวางออกไป จึงชวนโรงเรียนทั้ง ๒ นั้นให้รวมกันตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ดูเหมือนรัฐบาลให้ที่ดินและให้เงินช่วยเกื้อกูล จึงย้ายที่ออกไปตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นข้างนอกเมือง มีพื้นที่ใหญ่โตรโหฐาน ทำแผนผังแบ่งที่เป็นหลายบริเวณตามกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นต้นว่า ที่สอนวิชาก็อยู่บริเวณ ๑ ที่อยู่ของนักเรียนผู้ชายอยู่บริเวณ ๑ วิทยาลัยและที่อยู่นักเรียนผู้หญิงก็อยู่บริเวณ ๑ เนื่องกันไป มีจนเรือนที่อยู่ของพวกครูบาอาจารย์และสนามเล่นของพวกนักเรียน อยู่ในเขตต์มหาวิทยาลัยนั้นทั้งนั้น สร้างตึกก่อด้วยคอนกรีตหลังใหญ่ๆ สูง ๒ ชั้น ๓ ชั้นอย่างสมัยใหม่ เรียงรายกันเป็นถ่องแถวตามแผนผังที่คิดในครั้งเดียวกัน แลดูเรียบร้อยไม่รำคาญตา เป็นแต่ต้นไม้และสนามหญ้ายังไม่เจริญถึงขนาดเท่านั้น จำนวนนักเรียนในมหาวิทยาลัยว่าเดี๋ยวนี้มีสัก ๑,๐๐๐ แต่ยังเพิ่มขึ้นเสมอ มีคนทุกชาติที่เป็นชาวเมืองพะม่าตลอดจนพวกไทยใหญ่ ดูเหมือนรัฐบาลอุดหนุนมากที่จะให้พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ส่งลูกหลานมาเรียนในมหาวิทยาลัย

เมื่อพวกเราไปถึงเขารับที่ตึกหลังกลางอันเป็นห้องที่ประชุม พอฉันลงจากรถเข้าไปในห้องคอย เห็นรูปภาพศิลาจำหลักแต่โบราณตั้งเรียงอยู่ตามฝาหลายรูป พออาจารย์ใหญ่ชักนำให้รู้จักพวกคณาจารย์ที่มาคอยรับแล้ว ฉันถามเขาว่ารูปศิลาโบราณที่ตั้งรายไว้นั้นมาแต่ไหน เขาบอกว่ารูปเหล่านั้นเดิมอยู่ ณ เมืองสะเทิม รัฐบาลเอามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่รื้อเสียแล้ว เมื่อสร้างมหาวิทยาลัยรัฐบาลเอามาฝากไว้ จนมีพิพิธภัณฑสถานขึ้นใหม่เมื่อใดจึงจะเอาคืนไป ฉันทราบก็ยินดีด้วยอยากจะเห็นของโบราณที่เป็นแบบอย่างสร้าง ณ เมืองสะเทิมอยู่แล้วตั้งแต่แรกไปถึง ไปสืบถามที่เมืองมัณฑเลและเมืองพุกามก็ว่าไม่มีที่นั่น เพิ่งมาพบที่มหาวิทยาลัย จึงขออนุญาตเขาพิจารณาดูจนทั่ว ชิ้นดีมีรูปพระศิวะรูป ๑ รูปพระวิษณุบรรทมสินธุ์รูป ๑ แบบเครื่องแต่งตัวเป็นเค้าเดียวกันกับรูปพระวิษณุที่ได้เห็น ณ เมืองพุกาม ส่อว่าเป็นของสมัยเดียวกัน แต่ชิ้นอื่นเป็นแต่รูปเทวดาและมารอย่างย่อมๆ ไม่วิเศษอย่างไร แต่ขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีพระพุทธรูป เลยไม่รู้ว่าพระพุทธรูปโบราณแบบเมืองสะเทิมจะเป็นอย่างไร เมื่อดูของโบราณแล้วเขาพาเข้าไปในห้องประชุม ตั้งโต๊ะเตรียมเลี้ยงไว้หลายโต๊ะ คนเขาเชิญไปวันนั้นมีทั้งฝรั่งแขกและพะม่าบรรดามีตำแหน่งในมหาวิทยาลัยรวมกว่า ๓๐ คน ตั้งแต่ตัวผู้บัญชาการกับภรรยาและพวกศาสตราจารย์กับภรรยา ตลอดจนพวกลูกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ในเมืองต่างๆ ที่เป็นนักเรียนด้วยอีกหลายคน พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ถึงที่ไม่เคยรู้จักกันดูก็แสดงกิริยาอัธยาศัยเคารพนบนอบอย่างนับถือว่าเป็นไทยด้วยกัน เลี้ยงเสร็จแล้วเขาพาเที่ยวดูในดึกมหาวิทยาลัย เช่นห้องสมุดเป็นต้น เวลานั้นเขากำลังจะพิมพ์ศิลาจารึกโบราณ เอาแผ่นจำลองจารึกอักษรไทยที่เขาพบ ณ เมืองเชียงตุงมาให้ดูแผ่นหนึ่ง เป็นตัวอักษร สุโขทัย ฉันได้ยินมาแต่ก่อนแล้วว่ามีศิลาจารึกโบราณเป็นอักษรสุโขทัย ปรากฏทั้งในอาณาเขตต์ลานช้างและอาณาเขตต์เชียงตุง พิเคราะห์ศักราชที่จารึกส่อว่าพอพระเจ้ารามคำแหงมหาราชตั้งแบบตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ในไม่ช้าต่างประเทศที่เป็นไทยก็เอาไปใช้หลายเมือง แต่เพิ่งได้พิสูจน์ดูตัวอักษรครั้งนี้ เป็นอักษรสุโขทัยแบบสมัยภายหลังรัชชกาลพระเจ้ารามคำแหงมา ซึ่งเขียนสระทั้งข้างหน้าหลังและเหนือใต้ตัวพยัญชนะ เวลาเย็นมากแล้วดูแต่ห้องสมุดกับห้องแปรธาตุแล้วก็ลากลับมา แต่เมื่อกลับมาถึงเมืองปินังแล้วไม่ช้า มารู้สึกช่วยร้อนใจในเรื่องมหาวิทยาลัยเมืองร่างกุ้ง ด้วยได้ข่าวว่าพวกทรชนยุนักเรียนพะม่าพวกหนึ่งให้ร้องขอมีอำนาจต่างๆ ในโรงเรียนไม่ได้ดังใจก็พากันหยุดเรียน Strike สัก ๔๐๐ คน รัฐบาลเข้าอุดหนุนผู้บัญชาการ นักเรียนพวกนั้นจึงยอมแพ้

จะเลยเล่าถึงเรื่องพบบุคคลต่าง ๆ ต่อไป เมื่อเวลาแรกไปถึงยังมิใคร่มีใครรู้ว่าฉันไปเมืองพะม่า แต่เมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง ข่าวที่ฉันไปเมืองพะม่าลงหนังสือพิมพ์แพร่หลายแล้ว คนในเมืองพะม่าที่อยากพบจึงมาหา ไทยที่ออกไปถึงเมืองพะม่าทีหลังฉันก็มี คือ หลวงอุปถัมภ์ เขาไปเมืองพะม่าด้วยกิจธุระส่วนตัวของเขา เลยได้พบปะกันคน ๑ พระประกอบยันตรการออกไปราชการ เผอิญกงซุลจัดให้มาอยู่โฮเต็ลเดียวกับพวกฉันอยู่จึงพบกันอีกคน ๑ ได้ทราบความจากพระประกอบอย่างประหลาดใจว่า เขาไปจากกรุงเทพฯ ในวันนั้นเอง ด้วยเดี๋ยวนี้อาจจะขึ้นเครื่องบินจากดอนเมืองไปถึงเมืองร่างกุ้งได้ใน ๒ ชั่วโมงครึ่ง เร็วกว่าไปหัวหินด้วยรถไฟเป็นไหนๆ ถ้าออกจากดอนเมืองแต่เช้าไปกินข้าวเช้าที่เมืองร่างกุ้งก็ทันเวลา น่าพิศวงหนักหนา มีไทยที่อยู่เมืองร่างกุ้งมาหาอีกคน ๑ ชื่อ นายไพ ไม่เคยรู้จักกับฉันมาแต่ก่อน บอกว่าเป็นลูกของนาย “ยาเลสุข” บิดาได้บอกไว้ว่าคุ้นเคยกับฉัน ๆ ก็นึกได้ นายสุขคนนั้นเป็นชาวเมืองหลังสวน เมื่อยังหนุ่มซัดเซพเนจรไปอยู่เมืองระนอง แล้วเลยข้ามแม่น้ำปากจั่นอันเป็นเขตต์แดนไปรับจ้างอังกฤษเป็นโปลิศ ไปทำความดีมีความชอบได้เป็นนายสิบ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นไปจนเป็นจ่านายสิบหัวหน้าโปลิศที่เมืองมลิวัน พะม่าเรียกว่า “ยาเล” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ฉันไปตรวจการเตรียมรับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เมืองระนอง ได้แวะไปดูเมืองมลิวัน นายอำเภออังกฤษให้โปลิศตั้งแถวรับเป็นกองเกียรติยศ นายสุขเป็นคนคุมแถว ฉันไม่รู้ว่าเป็นไทยจนพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เมื่อยังเป็นพระยาระนองบอกว่านายโปลิศคนนั้นเป็นไทยชาวเมืองหลังสวน ชื่อ สุข เมื่อจะกลับฉันจึงเรียกตัวเข้าไปปราศรัย หมายว่าจะพบกันเพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จข้ามแหลมมะลายูโดยทางบกไปถึงท่าเรือที่ปากจั่น ฉันแลข้ามฟากไปทางแดนอังกฤษเห็นตามบ้านเรือนราษฎรขึงผ้าแดงแต่งใบไม้ตั้งเครื่องบูชาโดยมาก ประหลาดใจ เมื่อตามเสด็จลงมาทางเรือ ก็เห็นบ้านเรือนทางแดนอังกฤษแต่งเครื่องบูชารับเสด็จเหมือนอย่างนั้นเนื่องกันมา ฉันถามพระยาระนองว่านี่เหตุใดราษฎรทางแดนอังกฤษจึงแต่งบ้านรับเสด็จด้วย พระยาระนองบอกว่าคนทางฝั่งโน้นเป็นไทยมีมาก เห็นจะเป็นนายยาเลสุขเที่ยวชวนให้แต่ง เพราะโปลิศเป็นพนักงานตรวจตราตามท้องที่ ครั้นเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองระนอง นายยาเลสุขแต่งตัวอย่างนายโปลิศอังกฤษมาหาฉัน บอกว่ามีของอยากจะทูลเกล้าฯ ถวาย (จะเป็นอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว) ปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี ฉันถามถึงเรื่องที่ราษฎรทางแดนอังกฤษแต่งบ้านเรือนรับเสด็จ นายยาเลสุขตอบว่า แม้ไทยที่ไปอยู่ในแดนฝรั่งก็ยังเป็นไทย เป็นข้าของพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน ฉันนึกชอบใจจึงกราบบังคมทูลแล้วนำนายยาเลสุขถวายของ ก็ทรงปราศรัยให้ยินดีชื่นบาน ตั้งแต่นั้นฉันไม่ได้พบกับนายยาเลสุขอีก จนถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อฉันไปอยู่วังวรดิศแล้ว นายยาเลสุขเข้าไปกรุงเทพฯ แวะไปหาฉัน บอกว่ารับราชการอยู่กับอังกฤษจนอายุถึงอัตราก็ลาออกรับเบี้ยบำนาญ แล้วกลับมาอยู่เมืองหลังสวนอย่างเดิม เรื่องประวัติของนายไพก็อยู่ข้างแปลก เล่าว่าเมื่อบิดาเป็นนายโปลิศอังกฤษอยู่ที่เมืองมลิวันนั้น ตัวยังเป็นเด็ก บิดาส่งไปเรียนที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อสำเร็จการเรียนแล้วนึกว่าตัวเป็นไทย จึงกลับเข้าไปกรุงเทพฯ หมายจะไปรับราชการ ได้เข้าทำราชการอยู่ในกรมหนึ่ง แต่ไปเกิดไม่พอใจ (จะเป็นด้วยเหตุใดฉันไม่ได้ถาม) จึงกลับออกไปเมืองร่างกุ้ง เพราะมีคนคุ้นเคยกันแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนอยู่มาก ไปได้ภรรยามีบ้านช่องไร่นาหาเลี้ยงชีพได้สะดวกก็เลยอยู่ในเมืองพะม่า ฉันตอบว่าถ้าตั้งตัวได้ดีแล้วควรอยู่ในเมืองพะม่าสืบไป ขอให้เป็นสุขสำราญเถิด ต่อนี้มีพระภิกษุมาหา ๒ องค์ ครองแหวกอย่างไทยเหมือนกัน แต่สังเกตได้ว่ามิใช่พระไทยองค์หนึ่ง พระองค์ที่เป็นไทยอายุเห็นจะราว ๓๐ ปี เล่าเรื่องประวัติให้ฟังว่า ตัวเธอชื่อ “บุญชวน” เป็นชาวเมืองสุราษฎร์ธานี บวชแล้วเข้าไปเล่าเรียนอยู่ที่วัดปทุมคงคาในกรุงเทพฯ ต่อมาได้เป็นตำแหน่งสมุห์ในฐานานุกรมของเจ้าอาวาส เธอได้ฟังพระที่เคยไปเที่ยวเล่าถึงต่างประเทศ นึกอยากไปเที่ยวบูชาถึงมหาเจดียสถานในอินเดียบ้าง จึงลาออกจาริกเดินบกไปเมืองพะม่าแล้วเลยไปถึงอินเดีย ได้เที่ยวอยู่ในอินเดียถึง ๓ ปี ได้ไปบูชาถึงที่พระบริโภคเจดีย์ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตครบทั้ง ๔ แห่ง และได้ไปถึงสถานที่สำคัญในตำนานพระพุทธศาสนาแห่งอื่นอีก เช่น ถ้ำสัตบัณคูหา ที่ทำปฐมสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์เป็นต้น ตลอดจนไปจำพรรษาอยู่ ณ เมืองดาชิลิงบนเทือกภูเขาหิมาลัย หรือถ้าว่าตามคำโบราณก็คือได้ไปถึงป่า “หิมพาน” ดูได้เที่ยวมากกว่าพระภิกษุไทยองค์อื่นๆ ที่ฉันได้เคยพบ แต่ฉันไม่เคยรู้จักกับเธอมาแต่ก่อน ก็ไม่หลับตาเชื่อตามที่เธอเล่า จึงลองซักไซ้ไล่เลียง เพราะที่สำคัญต่างๆ ที่เธอเล่า ฉันเคยไปถึง ๓ แห่ง คือที่มหาโพธิสถาน ณ เมืองพุทธคยา แห่ง ๑ ที่มฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่ง ๑ และเมืองดาชิลิงที่เขาหิมาลัยแห่ง ๑ เธอบอกอธิบายได้ถูกต้องจนฉันเชื่อว่าได้ไปจริง แต่อยากจะรู้ถึงที่ไปจำพรรษาอยู่ที่เขาหิมาลัยนั้น ฉันซักไซ้ต่อไปว่าเธอไปอยู่อย่างไร เธอบอกว่าพระธิเบตองค์ที่มาด้วยนี้ชวนเธอไปอยู่ที่วัดธิเบต ซึ่งฉันได้เคยไปดู เป็นวัดใหญ่ฝ่ายคติมหายานอยู่ในเมืองดาชิลิง เพราะชาวเมืองเป็นธิเบตโดยมาก ฉันถามเธอว่าทนหนาวได้อย่างไร เธอบอกแต่ว่าต้องใส่หมวกอย่างพระธิเบต คือไปแต่งอย่างพระธิเบต (คล้ายพระจีน) อยู่ตลอดพรรษา เธอบอกต่อไปว่าเมื่อเธอจะกลับมา พระธิเบตองค์ที่มาด้วยอยากจะมาเที่ยวบอกบุญเรี่ยไรเงินไปสร้างโรงเรียนที่วัด เธอจึงชวนให้มาด้วยกัน เมื่อลงมาถึงเมืองร้อนเธอแนะนำให้ห่มผ้าอย่างพระไทย ถามต่อไปว่ายังมืพระไทยเที่ยวอยู่ในอินเดียอีกบ้างหรือไม่ เธอบอกว่ายังมีสามเณรวัดราชาธิวาสไปเข้าโรงเรียนอยู่ก็ ๒ องค์ ได้ทราบเรื่องพระไทยอีกเรื่องหนึ่งเมื่อฉันกลับมาถึงร่างกุ้ง เลขานุการใหญ่ของรัฐบาลบอกว่าราชทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ มีจดหมายไปว่า พระเถระผู้ใหญ่ High Priest องค์หนึ่งจะไปอินเดียและเมืองพะม่า เมื่อไปถึงขอให้จัดที่พักให้อยู่วัดใดวัดหนึ่ง เขาถามฉันว่าจะเป็นพระมหาเถระชั้นสูงเพียงไหน ฉันตอบว่าถ้าได้รู้ชื่อเห็นจะบอกได้ เขาเขียนชื่อส่งมาให้ พอแลเห็นชื่อสมเด็จวชิรญาณวงศ์ก็ประหลาดใจและดีใจด้วยทั้ง ๒ สถาน ฉันจึงเขียนบอกไปว่า พระมหาเถระองค์นั้นเป็นเชื้อพระราชวงศ์ และมีสมณศักดิ์สูงถัดแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เลยนึกอยากพบต่อไป ถามรัฐบาลก็ไม่ทราบกำหนดว่าจะไปถึงเมืองพะม่าเมื่อใด ต่อฉันกลับมาถึงเมืองปินังแล้วจึงได้พบกัน เพราะเมื่อท่านไปจากกรุงเทพฯ ลงเรือที่ปินังตรงไปอินเดียก่อน ได้ไปถึงเมืองพุทธคยา เมืองพาราณสี และเมืองกุสินารา แต่ไปเวลาล่าถึงเข้าฤดูร้อนเสียแล้ว ทนร้อนในอินเดียไม่ไหวถึงจับไข้ต้องรีบกลับ เมื่อถึงเมืองพะม่าก็ยังอาพาธ อยู่ที่เมืองร่างกุ้งเพียง ๓ วัน พอได้คราวเรือก็กลับมาปินัง มาหายไข้ในกลางทาง ท่านไปด้วยกันกับพระอีก ๓ องค์ คือ พระรัชชมงคล ราชาคณะวัดสัมพันธวงศ์ ๑ พระสาธุศีลสังวร ราชาคณะวัดบวรนิเวศ เป็นผู้นำทางด้วยเป็นพระลังกาเคยไปอินเดียองค์ ๑ กับพระหม่อมราชวงศ์ในสกุลปราโมทย์ศิษย์ของท่านองค์ ๑ หม่อมราชวงศ์โต๊ะ นพวงศ์ น้องชายของท่านเป็นคฤหัสถ์ รับหน้าที่ไวยาวัจจกรไปด้วยอีกคน ๑ เมื่อท่านกลับมาพักอยู่ปินัง เป็นโอกาสให้ฉันได้ทำบุญและได้สนทนารื่นรมย์อยู่ ๒ วัน ฉันเคยสมาคมกับพระสงฆ์ที่ถือคติหินยาน อ้างได้ว่าหมดทุกชาติ เห็นว่าในการอย่างอื่นพระสงฆ์ไทยดีกว่าพระสงฆ์ชาติอื่นหมด เว้นอย่างเดียวแต่การเที่ยวต่างประเทศ ยังสู้พระลังกาไม่ได้ เพราะพระสงฆ์ไทยพอใจแต่จะอยู่ในเมืองของตน ถ้ามีพระเถระที่ทรงคุณธรรมไปเที่ยวอินเดียเหมือนอย่างสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์บ่อยๆ ได้เห็นมัชฌิมประเทศกับทั้งชะนิดมนุษย์ที่พระพุทธองค์ทรงพรรณนาไว้ ความรู้พระทุทธศาสนาในเมืองเราจะดีขึ้นได้อีกมาก

พวกชาวเมืองพะม่ามาหา ๓ ราย รายหนึ่งหัวหน้าบริษัทเจ้าของโรงพิมพ์ “หงสาวดี” ซึ่งเคยมีกิจเกี่ยวข้องกับโรงพิมพ์มอญที่ปากลัด แขวงจังหวัดพระประแดง เห็นจะเคยได้ยินชื้อฉันมาจากพวกมอญที่ปากลัด อุตส่าห์มาหาและมีแก่ใจเอาหนังสือพระไตรปิฎกที่เขาพิมพ์ด้วยอักษรพะม่าเย็บเป็นสมุดหลังหนังมาให้เล่ม ๑ ฉันแสดงอนุโมทนาด้วยความยินดี อีกรายหนึ่งมอญ ชื่อ อาจารย์โปชอย Saya Po Choe เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้เจ้าฉายเมืองนำมาหา เอาสมุดหนังสือ “มหาราชวงศ์ ฉะบับหอแก้ว” แปล (ตามสำนวนเดิม) พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และพิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดมาให้เล่ม ๑ อาจารย์คนนี้เขามีกิจจะสืบสายเส้นสกุลของเขา ประสงค์จะมาถามหาความรู้ด้วย เขาเขียนสายเส้นสกุลของเขามาให้ดู จะพรรณนาแต่ใจความ คือ ต้นสกุลของเขาเป็นพระเจ้าหงสาวดี มีราชบุตรองค์ ๑ ทรงนามว่า “สุมณะ” Thumana ได้ไปครองเมืองเม้ยวดี (ใกล้กับตำบลด่านแม่สอด) อยู่มากองทัพไทยยกไปตี เจ้าสุมณะหนีไปตั้งเมืองอยู่ใหม่เรียกว่า เมือง “โทปะสวาย” Dopaswai น้องของเจ้าสุมณะองค์ ๑ ทรงนามว่า “มูสม” ได้ครองเมืองเชียงใหม่ วงศ์ของเขาจึงตั้งต้นแยกสาขากันแต่นั้นมา ลูกของมูสมคน ๑ ชื่อ “มูฟาย” Moophai มีลูกที่ในเมืองไทย ๔ คน คนที่ ๑ ชื่อ “เทวเทศ” Davadesa คนที่ ๒ ชื่อ “ตะสุ” Tasu คนที่ ๓ ชื่อ “ขุนฆู” Khun Khou คนที่ ๔ เป็นหญิงได้เป็นภรรยาเสนาบดีไทย ต่อมาในกาลครั้งหนึ่งมีเจ้าไทยพระองค์หนึ่ง ซึ่งภายหลังได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จไปประพาสถึงเมืองพะม่า ลุงหรืออา Uncle ของเขาชื่อ อูมัตตุน U Myat Tun ซึ่งยังมีตัวอยู่ในเวลานี้อายุ ได้ ๘๐ ปี ว่าได้เห็นเจ้าไทยพระองค์นั้นเพิ่งรุ่นหนุ่ม และว่าครั้งนั้นลูกของเจ้ามูฟายคนที่ ๒ กับคนที่ ๓ ได้ตามเสด็จเจ้าไทยออกไปด้วย เขาอยากจะทราบประวัติของญาติทั้ง ๒ คนที่ตั้งวงศ์สกุลอยู่ในเมืองไทยจึงมาถามฉัน ฉันบอกได้แต่ว่าเจ้าไทยที่เขาว่านั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ แล้วเสด็จไปประพาสอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อขาไปได้เสด็จแวะที่เมืองเมาะลำเลิง แต่ญาติของเขา ๒ คนนั้นฉันไม่เคยได้ยินชื่อ ในเมืองไทยเห็นจะเรียกเป็นชื่ออื่น เมื่อกลับมาฉันจะลองสืบดู อีกรายหนึ่งเจ้าฉายเมืองเธอไปพาอาจารย์พะม่าคน ๑ ชื่อ อูโปกยา U Po Kya ว่าเป็นผู้รู้โบราณคดีเมืองพะม่ามาก มาให้ฉันไต่ถาม ความที่อูโปกยาบอกให้ทราบฉันได้เล่ามาในที่อื่นแล้วโดยมาก ยังไม่ได้กล่าวแต่เรื่องคำนำชื่อพะม่า อูโปกยาบอกว่าตามแบบเดิมมีคำเป็นคู่สำหรับเรียกชายและหญิงทุกชั้น คนที่เป็นชั้นปู่ย่าตายาย ชายเรียกว่า “อู” หญิงเรียกว่า “ดอ” ที่เป็นชั้นลุงป้าอาน้า ชายเรียกว่า “โก” หญิงเรียกว่า “มะ” ที่เป็นชั้นพี่ ชายเรียกว่า “มอง” หญิงเรียกว่า “ไม” ที่เป็นชั้นน้อง ชายเรียกว่า “งะ” หญิงเรียกว่า “มิ” แต่ภายหลังมาเรียกคลาดกับแบบเดิมไป

วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ กรรมการสนามม้าติณมัยสโมสร Stewarts of the Turf Club เชิญไปกินกลางวันที่สโมสรในบริเวณสนามม้า ด้วยเป็นวันสำคัญของการแข่งม้าที่เมืองร่างกุ้ง อย่างวันแข่งม้าชิงถ้วยทองของพระราชทานในเมืองเรา ผู้ที่เป็นกรรมการล้วนแต่เป็นคนสำคัญทั้งในราชการและในการอื่นเหมือนอย่างว่าเลือกสรรแต่ชั้นพวกที่เป็นหัวหนาทั้งนั้น มีทั้งฝรั่งแขกและพะม่า เลี้ยงกันแต่ผู้ชายประมาณสัก ๒๐ คน ฉันนั่งระหว่างอธิบดีผู้พิพากษาศาลสูง Chief Justice of the Supreme Court ข้าง ๑ มิสเตอร์ กรอ เลขานุการใหญ่ของรัฐบาลเมืองพะม่า Chief Secretary of the Government of Burma ข้าง ๑ ในเวลาที่นั่งโต๊ะฉันมีโอกาสได้สนทนาไต่ถามกิจการต่างๆ ในเมืองพะม่าด้งเล่ามาในตอนต้นๆ หลายอย่าง สนามม้าที่เมืองร่างกุ้งทำเรียบร้อยโอ่โถง มีสถานที่ต่างๆ บริบูรณ์ และรักษาดีกว่าสนามม้าแห่งอื่นๆ ที่ฉันเคยเห็นทางตะวันออกนี้ ฉันออกปากชม เขาบอกว่านอกจากสนามม้าที่เมืองกาลกัตตาไม่มีแห่งอื่นที่จะเปรียบกับสนามม้าเมืองร่างกุ้งได้ แต่ตัวฉันไม่เข้าใจในการเล่นแข่งม้า พอเสร็จการเลี้ยงก็ลากลับมา ถึงตอนเย็นเขาเชิญให้เจ้าหญิงไปดู กลับมาเล่าว่ามีคนมากมาย เจ้าเมืองไปให้ถ้วยรางวัล ส่วนตัวฉันกับหญิงเหลือซึ่งอยู่เป็นเพื่อนพากันย่องขึ้นไปนมัสการลาพระเกศธาตุและเที่ยวถ่ายรูปอีกครั้งหนึ่ง เวลานี้ที่เนินนอกบริเวณพระเกศธาตุเขากำลังเตรียมการจะปลงศพพระมหาเถระ Sayadaw องค์หนึ่งในเดือนมีนาคม เห็นกำลังปักรั้วไม้ไผ่รอบบริเวณ ในนั้นสานโครงรูปราชสีห์อย่างใหญ่โตอยู่ตัวหนึ่งกับสานโครงรูปหงส์หรือรูปอะไรอย่างใหญ่โตอีกตัวหนึ่ง การเผาศพพระพะม่าฉันได้เคยเห็นเมื่อไปเมืองร่างกุ้งครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ด้วยประจวบกับงานปลงศพพระสังฆราช เขาพาฉันไปดูในวันปลงศพ ดูเป็นงานมหรสพใหญ่โต มีออกร้านขายของ เล่นละครและระบำ (ซึ่งฉันเห็นการฟ้อนรำของพะม่าเป็นครั้งแรก) และมีรูปสัตว์สานโครงปิดกระดาษตัวใหญ่ๆ อย่างเห็นทำอยู่ในคราวนี้หลายตัว แต่จะเป็นรูปสัตว์อะไรลืมเสียแล้ว เขาได้พาไปดูที่เผาศพด้วย วิธีเผาศพอย่างพะม่าดูชอบกล เขาไม่เอาหีบศพขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน ใช้ขุดหลุมลงไปในแผ่นดิน เอาฟืนเรียงขึ้นมาแต่ก้นหลุมกลบหีบหรือห่อศพไว้ในกลางกองฟืนไม่แลเห็น ที่ริมหลุมเห็นจะเป็นข้างด้านปลายเท้าศพ มีสูบแฝดอย่างเช่นใช้หลอมทองหล่อพระตั้งไว้ พอจุดไฟติดฟืนแล้วก็สูบลมช่วยเร่งไฟให้แรงขึ้นจนไหม้ศพและฟืนหมดทั้งหลุม ต่อไปในวันรุ่งขึ้นก็เก็บอัฏฐิธาตุไปบรรจุในสถูปเป็นที่สุด วิธีเผาศพด้วยจุดดอกไม้ไฟที่เรียกว่า “ลูกหนู” เห็นจะเป็นวิธีของมอญ ไม่เห็นมีร่องรอยในการเผาศพพระพะม่าซึ่งฉันไปดูในวันนั้น พิเคราะห์พิธีการเผาศพไทยกับพะม่า ดูมีทั้งที่เหมือนกันและผิดกันชอบกล การสร้างบริเวณงานเผาศพทำรูปสัตว์ต่างๆ แห่แหนมีมหรสพเหมือนกัน แต่ส่วนวิธีเผาศพนั้นผิดกันเป็นข้อสำคัญ ไทยทำตามอย่างศาสนาพราหมณ์ พะม่าทำตามอย่างพระพุทธศาสนา ตามคติพราหมณ์นั้น แต่คนเกิดก็ต้องจุดดวงไฟสำหรับตัวคนนั้นดวงหนึ่ง และต้องบูชารักษาไฟดวงนั้นไว้ตลอดชีวิต เมื่อตายเอาไฟดวงนั้นเผาศพแล้วจึงดับได้ ไทยเราจะได้รับตำราบูชาไฟเช่นว่ามาใช้เพียงไรแต่โบราณไม่ทราบชัด แต่ยังมีการที่ทำกันในเหล่าบุคคลชั้นสูงศักดิ์เป็นเค้าอยู่จนทุกวันนี้ เป็นต้นว่าพอลูกคลอดออกมาก็ให้จุดเทียนเรียกว่า “เทียนกลเม็ด” ตั้งไว้ในห้องที่ทารกอยู่ รักษาดวงไฟมิให้ดับเดือน ๑ แต่ภายหลังลดลงมาเพียง ๓ วัน ๗ วัน เมื่อใครตายลงก็จุดเทียนกัลเม็ดอย่างเดียวกันนั้นไว้ที่ข้างศพ จนย้ายศพไปตั้งหรือไปฝังแล้วจึงดับเทียนกัลเม็ด เมื่อจะเผาศพ ถ้าเป็นพระศพเจ้าหรือศพขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานดวงไฟไปเผาศพ จึงเรียกกันว่า “พระราชทานเพลิง” ไฟที่พระราชทานไปเผาศพนั้นมิใช่ไฟสามัญ พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงฉายแสงอาทิตย์ด้วยแว่นให้เกิดดวงไฟ เรียกกันแต่ก่อนว่า “ไฟฟ้า” ทรงจุดเทียนด้วยไฟนั้นพระราชทานไปให้แห่นำหน้าศพไปยังเมรุแล้วเผาศพด้วยไฟดวงนั้น ถ้าเป็นเวลาไม่มีแสงแดดพอจะทรงฉายแว่นได้ ก็ทรงสับศิลาหน้าเพลิงให้เกิดไฟฟ้าอย่างเดียวกัน เพิ่งมาแก้ไขในรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้จุดไฟฟ้า (คือไฟที่ทรงฉายมาจากแสงอาทิตย์) มีประจำไว้ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นนิจ สำหรับพระราชทานเพลิงศพ ไม่ต้องให้ทรงฉายแสงอาทิตย์หรือสับศิลาหน้าเพลิงทุกคราวไป ถ้าพระราชทานเพลิงศพตามหัวเมือง อันไม่สามารถจะส่งดวงไฟไปได้ ก็พระราชทานศิลาหน้าเพลิงไปให้ผู้แทนพระองค์ในที่นั้นตีให้เกิดดวงไฟที่พระราชทานเพลิงศพ พิเคราะห์ความตามที่กล่าวมาส่อให้เห็นได้ว่าไทยเราเคยถือคติเรื่องดวงไฟอย่างพราหมณ์มาแต่ก่อน ประเพณีการพระราชทานเพลิงศพทุกวันนี้ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นได้ว่ามีของ ๓ อย่าง คือ ผ้าบังสุกุล ทำบุญอุทิศพระราชทานแก่ผู้ตาย อย่าง ๑ ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ทรงขมาศพเพื่อระงับเวรกับผู้ตาย อย่าง ๑ ดวงไฟสำหรับเผาศพ อย่าง ๑ คนที่ไม่รู้มักสำคัญว่าธูปเทียนที่พระราชทานไปก็ดี ที่ตนเองเอาไปก็ดี สำหรับเผาศพ ตามที่จริงมิใช่เช่นนั้น ธูปเทียนกับทั้งข้าวตอกดอกไม้เป็นของสำหรับขมาศพเท่านั้น ในบัตรหมายก็เรียกว่า “เครื่องขมา” การที่เผาศพเผาแต่ด้วยดวงไฟที่พระราชทานไป ในเมืองเขมรเขายังใช้ประเพณีอันนั้นแลเห็นชัด เช่นเมื่อถวายพระเพลิงพระศพเจ้าศรีสวัสดิ์ พระเจ้ามณีวงศ์ผู้เป็นรัชชทายาทขึ้นไปถวายบังคมวางข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนขมาพระศพก่อน แล้วออกมานอกพระเมรุ (เอาไฟฟ้า) จุดฝักแคถวายพระเพลิง ประเพณีในเมืองไทยถ้าเป็นศพที่สูงศักดิ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้าไปทรงขมาถึงที่ตั้งศพ แล้วทรงจุดไฟฟ้าด้วยเทียนขมานั้นเองพระราชทานเพลิงศพ ถ้าเป็นศพศักดิ์ต่ำลงมาก็โปรดให้มีผู้แทนพระองค์เข้าไปวางเครื่องขมาที่ศพ แล้วจึงทรงจุดฝักแคด้วยไฟฟ้าพระราชทานเพลิง ถึงกระนั้นก็เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวที่พระราชทานเพลิง ถ้ามิได้เสด็จไปเองก็ให้ผู้แทนพระองค์พระราชทานเพลิง ผู้อื่นมีกิจเพียงเอาธูปเทียนของตนไปวางขมาที่ศพเท่านั้น หามีกิจที่จะเผาศพไม่ การเผาศพคนสามัญชั้นคฤหบดีแต่เดิมก็น่าจะเป็นตัวหัวหน้าในพวกเจ้าภาพที่เป็นผู้เผา แต่ภายหลังเกิดสำคัญไปว่าช่วยเผาศพเอาบุญ ก็พากันเอาเทียนขมาจุดไฟช่วยเผาศพด้วยทุกคน บางคนถึงเกรงว่าวางเทียนที่ใต้โลงจะไม่เป็นอันเผา จุดเทียนทิ้งลงไปทางปากโลงก็มี มันเลือนมาดังนี้ แต่ก็อยู่ในเลือนมาในประเพณีพราหมณ์อยู่นั่นเอง เมื่อฉันไปดูเผาศพพระพะม่ากลับมาเสียก่อนเขาจุดไฟ ด้วยเกรงว่าจะกีดขวางเขา แต่ไม่เห็นมีผู้มียศศักดิ์ไปนั่งงาน มีแต่พวกกรรมการที่ศิษย์พามาพาไปเที่ยวดูงาน นึกไม่ได้ว่าได้เห็นผู้คนถือธูปเทียนขมาหรือเขาจะขมากันเสียเมื่อเวลายังตั้งศพก็เป็นได้

วันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ เวลาบ่าย มิสเตอร คัสโตเนึย ผู้จัดการห้างอิสต์เอเซียติค และเป็นกงซุลเดนมาร์คในเมืองพะม่า เชิญไปเลี้ยงน้ำชาเป็นการรับรองพวกเราที่บ้านของเขาอยู่บนเนินเขาข้างนอกเมืองร่างกุ้ง เขาเชิญพวกพะม่าและอังกฤษที่เป็นคนสำคัญให้มาพบพวกเราหลายคน ตั้งโต๊ะหลายตัวรายไปในสนาม ให้พวกเราแยกกันนั่งคนละโต๊ะ โต๊ะที่ฉันนั่งเขาจัดให้ขุนนางพะม่า ๒ คน คือ เซอรมองบา หัวหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (แต่เขาใช้ชื่อเรียกว่าเลขานุการ Secretary of the Interior) มานั่งด้วยคน ๑ อีกคน ๑ เป็นผู้พิพากษาศาลสูง Supreme Court อย่างศาลฎีกา (ฉันลืมชื่อไปเสียแล้ว) อีกคน ๑ อังกฤษที่เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลสูง เป็น เซอร - ชื่ออะไรฉันก็ลืมไปเสียแล้ว กับทั้งภรรยาผู้ที่กล่าวมา ฉันไปเมืองพะม่าไม่ได้คิดจะไปหาความรู้เรื่องการเมือง ตั้งใจแต่จะไปเที่ยวดูของโบราณ วันนี้เมื่อเขาเชิญพวกคนสำคัญในการเมืองมาให้พบ เรื่องที่สนทนากันก็เลยเข้าไปในการเมืองด้วย แต่ดูประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ที่พวกนักการเมืองในเมืองพะม่าทั้งฝรั่งและพะม่าไม่มีใครไต่ถามกันถึงการเมืองในเมืองไทยเลยสักคนเดียว ฝ่ายฉันจึงมีโอกาสที่จะถามเขาได้มาก สนทนากันด้วยยินดีมีไมตรีจิตต์ต่อกันทั้ง ๒ ฝ่าย

เรื่องที่สนทนากับท่าน เซอร อธิบดีผู้พิพากษาศาลสูงออกจะขบขันอยู่บ้าง แกถามว่าฉันได้ไปเรียนในประเทศอังกฤษหรือ ฉันตอบว่าไม่ได้ไป ด้วยสมัยเมื่อฉันเล่าเรียนนั้น ไทยยังมิใคร่นิยมในการส่งเด็กไปเรียนในยุโรป จึงเรียนกันในบ้านเมืองของตนเองเป็นพื้น แกประหลาดใจบอกว่า เมื่อตัวแกยังเป็นนักเรียนอยู่ที่ไครสเชิชในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดนั้น มีนักเรียนไทยอยู่ร่วมวิทยาลัยได้คุ้นเคยกับแกคน ๑ แกนึกว่าจะเป็นตัวฉัน ฉันถามว่าแกรู้จักชื่อเขาหรือไม่ แกนิ่งอยู่สักประเดี๋ยว บอกว่านึกชื่อได้แล้ว ชื่อ รพี Rabi เป็นน้องของฉันหรือ ฉันบอกว่าเป็นหลาน ด้วยเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพระเชษฐาของฉัน แกหัวเราะและว่าถ้าเช่นนั้นอายุฉันก็เห็นจะถึง ๘๐ แล้ว เพราะตัวแกเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับรพี ยังถึงเวลาที่จะออกรับเบี้ยบำนาญในปีนี้ ฉันตอบว่าที่ฉันบอกนั้นเป็นความจริงและพิสูจน์ได้ ด้วยฉันเองเป็นผู้พารพีไปส่งที่วิทยาลัยไครสเชิชเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๑ (พ.ศ. ๒๔๓๔) เวลานั้น ดีน Dean ผู้บัญชาการวิทยาลัย ชื่อ เปเช็ต Paget ต่อมาได้เป็นบิฉอบเมืองออกสฟอร์ดเป็นผู้รับ แกก็สิ้นสงสัย

สนทนากับผู้พิพากษาศาลสูงคนที่เป็นพะม่า ฉันถามว่าในเมืองพะม่ามีคนต่างชาติต่างภาษาและต่างศาสนาหลายอย่าง ใช้กฎหมายพิพากษาคดีผิดกันอย่างไรบ้างหรือไม่ แกตอบว่าในคดีที่เป็นความแพ่งและความอาญาสามัญ ใช้ประมวลกฎหมายที่รัฐบาลอังกฤษตั้งสำหรับประเทศพะม่าเหมือนกันหมด แต่ถ้าคดีที่เป็นลักษณะผัวเมียหรือมรดกใช้กฎหมายตามลัทธิศาสนาและประเพณีของคู่ความ ฉันถามว่าคดีเช่นนั้นสำหรับพวกพะม่าใช้กฎหมายอะไร แกตอบว่าใช้กฎหมายธรรมศาสตร์ (พะม่าเรียกกฎหมายของตนรวมกันว่าธรรมศาสตร์ อย่างไทยเราใช้คำว่ากฎหมายเรียกรวมกัน) แล้วบอกอธิบายต่อไป ว่าเมื่อครั้งพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศพะม่านั้น กฎหมายที่ใช้อยู่ข้างฟั่นเฝือ ด้วยธรรมศาสตร์เป็นคัมภีร์ใหญ่ บทกฎหมายมีที่ใช้มากก็มี ต่อนานๆ จึงใช้ก็มี ใช้เข้ากับสมัยไม่ได้ก็มี เมื่ออังกฤษได้เมืองพะม่าจึงให้ชำระธรรมศาสตร์ คงไว้แต่มีที่ใช้ นอกจากนั้นให้ยกเสีย การชำระนั้นได้อาศัย “อู ควง” U Gaung ซึ่งเคยเป็นอัครมหาเสนาบดีพะม่าที่เกงหวุ่นแมงคยีมาแต่ก่อนเป็นผู้ชำระ แล้วให้แปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ไว้ด้วยกันกับภาษาพะม่า และยังมีกฎหมายซึ่งเนื่องกับพระพุทธศาสนาอีกแผนกหนึ่ง กฎหมายแผนกนี้เอาเรื่องคดีที่เคยตัดสินแล้วพิมพ์ไว้เป็นตัวอย่าง สำหรับพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นใหม่ การที่สนทนากันด้วยเรื่องกฎหมายนี้มีผลในวันหลัง ผู้พิพากษาคนนั้นมีแก่ใจรวบรวมสมุดกฎหมายพะม่าต่างๆ ที่ได้บอกในวันก่อน ส่งมาให้เป็นที่ระลึกชุดหนึ่ง ๕ เล่มสมุด ฉันเขียนจดหมายตอบขอบใจเขามาก พิเคราะห์อธิบายที่กล่าวถึงกฎหมายพะม่าเมื่อครั้งยังมีพระเจ้าแผ่นดิน ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกันกับกฎหมายเก่าของไทยเรา ที่พิมพ์ในสมุด ๒ เล่มนั่นเอง เพราะพะม่ากับไทยแต่โบราณถือคติซึ่งได้มาจากอินเดียอย่างเดียวกัน ว่าพระธรรมศาสตร์เป็นของสุขุมคัมภีรภาพควรรู้แต่ผู้ซึ่งทรงคุณธรรม ถ้าตกไปถึงมือคนอันธพาลจะเอาไปใช้ให้เกิดโทษแก่มหาชน แม้กฎหมายไทยก็เพิ่งรู้กันได้ทั่วไป ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ พระราชทานอนุญาตให้พิมพ์เมื่อรัชชกาลที่ ๔ ครั้งฉันไปเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้สนทนากับฝรั่งเศสซึ่งเป็นหัวหน้าหรือที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญ เขาบอกว่าในกระบวนพิจารณาความในศาลเมืองเขมรเวลานั้น ยังไม่ยอมให้คู่ความมีทนายเข้าช่วยแก้ความในศาล เพราะกฎหมายเขมรห้ามมาแต่โบราณ ด้วยเกรงพวกเจ้าถ้อยหมอความจะเข้าไปทำให้ยุ่งยากในการพิจารณาคดี เดิมก็เห็นจะถือคติอย่างเดียวกันทุกประเทศทางตะวันออกนี้

เรื่องการเมืองที่ได้สนทนากับ เซอรมองบา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จะรอไว้เล่ารวมกับเรื่องไปดูเนติสภาเมืองพะม่าในวันอื่นต่อไป

วันจันทร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า มองบาดุน Maung Ba Dun เห็นจะเป็นเนติบัณฑิตคนสำคัญ จึงได้เป็นตำแหน่งเลขานุการของเนติสภา (ปาเลียเมนต์) เมืองพะม่า ซึ่งได้รู้จักกันกับฉันที่บ้านมิสเตอร คัสโตเนีย เมื่อวานนี้ มาหาและเชิญให้ไปดูประชุมเนติสภา ณ วันพุธที่ ๑๒ ด้วยวันนั้นเขาจะมีการประชุมพิเศษแสดงความอาลัยใน พระเจ้ายอช ที่ ๕ และถวายพรพระเจ้าเอดวาดที่ ๘ นอกจากนั้นอยากจะชวนพวกเราไปเลี้ยงที่บ้านเวลาค่ำ จะเลี้ยงอย่างพะม่าและมีมะโหรีพะม่าให้ฟังด้วย ฉันรับจะไปแต่ที่เนติสภา แต่บอกชราขอตัวในการเลี้ยง จะให้แต่เจ้าหญิงไป อนึ่งเมื่อวันกินน้ำชาที่บ้านมิสเตอร คัสโตเนีย มองบาดุนนั่งโต๊ะเดียวกับพระองค์หญิงศิริรัตน์ได้พูดกันถึงเรื่องฉายรูป เขามาวันนี้เลยเอาสมุดรูปต่างๆ ของเขามาให้เธอดูด้วย มีรูปแปลกๆ เช่นรูปการพิธีเมื่อตัวเขาอุปสมบทเป็นต้น รูปใดฉันอยากได้เขาก็มีแก่ใจไปฉายลำลองส่งมาให้ตามปรารถนา รู้สึกขอบใจมาก

เวลาบ่ายว่างจึงชวนกันไปกินขนมที่ร้านชื่อ สาวอย Savoy Restaurant เรื่องที่จะไปร้านขายขนมนี้มีมูลเหตุควรจะเล่าไว้ด้วย ในบรรดาเมืองขึ้นของฮอลันดาทั้งที่ชะวาและสุมาตรา ถ้าเป็นเมืองใหญ่คงมีร้านขายขนมสำหรับผู้ดีไปกิน เวลาเย็นพวกผู้ดีมักพาลูกเมียไปซื้อของว่างเช่นขนมไอศกรีมกิน แล้วเลยนั่งเล่นที่ร้านขายขนมนั้น ร้านขายขนมจึงจัดเป็นที่โอ่โถงมีทั้งของคาวและของหวานต่างๆ อันทำอย่างประณีตไว้ขาย ตั้งโต๊ะตัวเล็กๆ มีเก้าอี้ล้อมโต๊ะ ๔ ตัวรายกันไปเป็นหย่อมๆ มีบัญชีของกินพิมพ์วางไว้ให้รู้ และในห้องนั้นมีชั้นตั้งโถแก้วใส่ขนมแห้งต่างๆ เรียงตามข้างฝา ที่กลางห้องมีตู้ใส่ขนมสดสำหรับให้เลือกด้วย แล้วแต่ใครจะเลือกซื้อสิ่งใดกิน บอกให้เขารู้ก็จัดมาให้และมีบ๋อยมาเลี้ยง นั่งกินกันในร้านหรือชาลาหน้าร้านนั้น แต่ในเมืองขึ้นของอังกฤษเช่นเมืองสิงคโปร์และปินังไม่มีร้านเช่นนั้น เห็นจะเป็นเพราะวิสัยอังกฤษชอบเล่นกีฬา ในตอนเย็นมักพากันไปอยู่ในสนามการเล่นโดยมาก ร้านขายขนมมีแต่พวกจีนและพวกแขกเลียนมาทำขายบ้าง แต่ของที่ทำขายและร้านที่จัดไม่น่าไปนั่งกิน เมื่อแรกฉันไปถึงเมืองพะม่าเข้าใจว่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก็คงเหมือนที่เมืองสิงคโปร์และปินัง ไปเกิดประหลาดใจเมื่อไปกินเลี้ยงน้ำชาที่บ้านมิสเตอร คัสโตเนีย เห็นขนมทำอย่างประณีตน่ากินแปลกๆ เหมือนที่เมืองชะวามีหลายอย่าง ถามเขาว่าเป็นของทำที่ไหน เขาบอกตำแหน่งร้านให้จึงได้ไปซื้อ แต่กระบวนจัดร้านและกระบวนเลี้ยงที่สุดจนขนมก็ยังสู้ร้านที่เมืองชะวาไม่ได้

วันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ เซอร ฮิวสเตเฟนสัน Sir Hugh Stephenson เจ้าเมืองกับท่านผู้หญิงเชิญไปเลี้ยงกลางวันที่จวน เพราะเมื่อฉันไปถึงเมืองพะม่าเจ้าเมืองกำลังไปตรวจการอยู่ที่เมืองยักไข่ จึงได้พบกันต่อฉันกลับลงมาจากเมืองพะม่าเหนือ เวลานั้นยังอยู่ในเวลาไว้ทุกข์ การเลี้ยงเป็นอย่างไปรเวต มีแต่เจ้าเมืองกับท่านผู้หญิงและเลขานุการกับนายทหารคนสนิทกับพวกเราอีก ๕ คน ต้อนรับวางอัธยาศัยอย่างสนิทสนม เวลาพากันเดินเข้าไปถึงห้องเลี้ยงเห็นแปลกตาอย่าง ๑ ด้วยใช้บ่าวพะม่าเป็นคนเลี้ยงยืนเรียงกันอยู่เป็นแถวทั้ง ๒ ข้าง พอเจ้าเมืองเดินเข้าไปพวกบ่าวเหล่านั้นก็ประณมมือยกขึ้นราวปาก ก้มศีรษะหน่อยหนึ่งเป็นกิริยาเคารพ เจ้าเมืองกับท่านผู้หญิงนั่งตรงหัวโต๊ะ ๒ ฝ่าย พระองค์หญิงกับหญิงพูนนั่งข้างเจ้าเมือง ตัวฉันกับหญิงพิลัยนั่งสองข้างท่านผู้หญิง

เซอร ฮิวสเตเฟนสัน เจ้าเมืองพะม่าอายุดูราวสัก ๕๐ เศษ ทำราชการในอินเดียมาแต่หนุ่ม บอกว่ารับราชการมาครบกำหนดแล้วจะออกรับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษในปีนี้ การสนทนาในเวลากินเลี้ยงฉันนั่งห่างเจ้าเมือง สนทนาแต่กับท่านผู้หญิง จนเลี้ยงเสร็จแล้วกลับออกมานั่งที่ห้องรับแขกจึงได้สนทนากับเจ้าเมือง แต่ก็มิใคร่สะดวกด้วยท่านเจ้าเมืองก็หูตึงคล้ายกับฉัน เลขานุการต้องเข้าช่วยขัดจังหวะ สนทนากันด้วยเรื่องเมืองพะม่าเป็นพื้น จวนที่อยู่ของเจ้าเมืองเมื่อฉันไปคราวก่อนยังเป็นเรือนไม้ แต่เดี๋ยวนี้สร้างเป็นตึกใหญ่หลังเดียวโดดขนาดสัก ๒ เท่าวังบูรพาภิรมย์ เห็นจะสร้างพร้อมกันกับตึกศาลารัฐบาล ด้วยแบบกระบวรช่างและลวดลายเป็นอย่างร่วมสมัยกัน แต่ตึกศาลารัฐบาลนั้นพวกข้าราชการเขาว่าข้างในทึบมาก ไม่เหมาะกับเป็นที่ทำงานรัฐบาลเลย เขาว่าเมื่อแผ่นดินไหวคราวพระมุเตาพังนั้น ศาลารัฐบาลก็ครากหลายแห่งแต่พอเยียวยาได้ ถ้าพังเสียให้หมดจะดีกว่าจะได้สร้างใหม่ให้สมควรเป็นที่ทำการ แต่จวนเจ้าเมืองฉันได้เห็นแต่ห้องรับแขกกับห้องเลี้ยงอาหาร ที่อื่นจะเป็นอย่างไรหาได้เห็นไม่ พิเคราะห์ดูตึกหลังเดียวใหญ่โตเช่นนั้น เจ้าเมืองก็คงอยู่เป็นอิสสระแก่ครัวเรือนของตัวแต่ส่วนหนึ่ง ส่วนอื่นโดยมากคงเป็นที่อยู่ของผู้ช่วย เช่นเลขานุการและนายทหารคนสนิทเป็นต้น และเป็นที่ทำการต่างๆ ซึ่งเนื่องกับตำแหน่งเจ้าเมือง รวบรวมอยู่ในตึกหลังเดียวกันดูจะอยู่ไม่สบายนัก เมื่อกลับจากจวนเจ้าเมืองแล้ว ตอนบ่ายว่างก็แยกกันเที่ยวเตร็ดเตร่ตามอำเภอใจ ตัวฉันไปเดินเล่น เจ้าหญิงให้เจ้าฉายเมืองพาไปกินเกาเหลาที่โรงเตี๊ยมจีน กลับมาบอกว่าสู้ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ฉันอยากจะแถมว่าถึงปินังและสิงคโปร์เกาเหลาก็สู้กรุงเทพฯ ไม่ได้เหมือนกัน และยังมีคนอื่นเขาบอกว่าที่เมืองฮ่องกงก็สู้เกาเหลากรุงเทพฯ ไม่ได้ ดูประหลาดอยู่

วันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ วันนี้จะไปดูเนติสภา Legislative Council (ปาเลียเมนต์) เมืองพะม่า จะเล่าถึงลักษณะที่อังกฤษปกครองเมืองพะม่าให้รู้เค้าเสียก่อน เมื่ออ่านถึงพรรณนาว่าด้วยเนติสภาจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ประเทศพะม่าอยู่ต่อแดนอินเดีย อังกฤษมาตีเมืองพะม่าครั้งใดใช้กำลังในอินเดียมาตีทุกครั้ง ครั้งใดได้อาณาเขตต์ของพะม่าไปเท่าใดก็เอาไปเพิ่มเข้าในอาณาเขตต์อินเดีย จนที่สุดเมื่อได้ประเทศพะม่าทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ อังกฤษก็กำหนดประเทศพะม่าทั้งหมดเป็นภาค Province ของอินเดียภาค ๑ เอาวิธีการปกครองอินเดียมาอนุโลมใช้ปกครองประเทศพะม่า มีเคาเวอเนอ Governor เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งภาค กับทั้งเจ้ากระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ ณ เมืองร่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และกำหนดอาณาเขตต์ที่ปกครองแยกเป็น ๒ ส่วน คือ อาณาเขตต์พะม่าส่วน ๑ อาณาเขตต์ไทยใหญ่ Shan States ส่วน ๑ รวมหัวเมืองที่พะม่าเคยปกครองโดยตรงหรือได้โอนให้อังกฤษมาแต่ก่อน คือ เมืองพะม่า มอญ ทวาย ตะนาวศรี และยักไข่ เหล่านี้เป็นส่วนที่อังกฤษปกครองเอง จัดเป็น ๘ มณฑล เรียกว่า Division คือ :

๑. มณฑลยักไข่ Arakan มีจังหวัดเรียกว่า District ๔ จังหวัด

๒. มณฑลตะนาวศรี Tenassarim มี ๖ จังหวัด

๓. มณฑลพะโค Pegu มี ๕ จังหวัด

๔. มณฑลเอราวดี Irawadi มี ๕ จังหวัด

๕. มณฑลมัณฑเล Mandalay มี ๕ จังหวัด

๖. มณฑลสะแคง Sagaing มี ๔ จังหวัด

๗. มณฑลมักติลา Meiktila มี ๔ จังหวัด

๘. มณฑลมินบู Minbu มี ๔ จังหวัด

แต่ละจังหวัดยังแบ่งท้องที่เป็นอำเภอ เป็นตำบล ต่อลงไปจนเป็นหมู่บ้านเป็นขั้นต่ำในวิธีปกครองท้องที่ คล้ายกับในเมืองไทยเราเมื่อยังมีมณฑล

ส่วนพนักงานในการปกครองนั้น ที่เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชา Executive แม้จนนายอำเภอใช้คนอังกฤษทั้งนั้น พะม่าเป็นได้แต่ตำแหน่งที่อยู่ในบังคับบัญชา Subordinate เพราะว่าในสมัยนั้นพะม่าที่เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมอังกฤษยังมีน้อย และอังกฤษไม่ไว้ใจพะม่านัก

ส่วนเมืองไทยใหญ่ Shan States นั้น จำนวนเมืองมีมาก ที่เป็นเมืองประเทศราชเจ้าเมืองมีศักดิ์เป็น “เจ้าฟ้า” Saw Bwa ก็มี ที่เป็นเมืองชั้นนอกเจ้าเมืองมีศักดิ์แต่เป็น “เจ้าเมือง” Saw Miung ก็มี เดิมพวกไทยใหญ่ปกครองกันเอง เป็นแต่ต้องถวายราชบรรณาการและส่งเงินส่วยแก่พะม่า ทำนองเดียวกับเมืองประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอกของไทยเราเมื่อก่อนรัชชกาลที่ ๕ เมื่ออังกฤษได้เมืองพะม่าก็ให้พวกไทยใหญ่ปกครองบ้านเมืองของตัวเองอยู่เช่นนั้นต่อมา เป็นแต่ตั้งข้าหลวงอังกฤษไปอยู่กำกับและให้กองทหารไปตั้งอยู่ตามที่สำคัญเป็นแห่งๆ แต่ให้เจ้าบ้านพานเมืองปกครองตามอนุมัติของอังกฤษ อังกฤษกำหนดเมืองไทยใหญ่เป็น ๒ ฝ่าย เรียกว่า “เมืองไทยใหญ่เหนือ” Northern Shan States ฝ่าย ๑ เรียกว่า “เมืองไทยใหญ่ใต้” Southern Shan States ฝ่าย ๑ เมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือล้วนเป็นเมืองใหญ่ๆ มีแต่ ๕ เมืองด้วยกัน ฝ่ายใต้มีเมืองย่อยมากรวมจำนวนถึง ๓๘ เมือง การที่อังกฤษกำกับเมืองไทยใหญ่ฝ่ายใต้จึงแบ่งเป็น “ดิวิชัน” Division เทียบกับมณฑลน้อยๆ อีกชั้นหนึ่ง ๔ มณฑล

๑. มณฑลมเยลัต และ ยองยเว Myelat and Yaungway มี ๑๖ เมือง

๒. มณฑลกลาง Central Division มี ๘ เมือง

๓. มณฑลฝ่ายตะวันออก Eastern Division มี ๑๑ เมือง

๔. มณฑลเชียงตุง Kengtung Division มีเมืองเดียว

ที่นับเมืองเชียงตุงเป็นอย่างมณฑลหนึ่งเพราะเป็นเมืองใหญ่และอาณาเขตต์ติดต่อทั้งแดนจีนแดนฝรั่งเศสและแดนไทย ต้องระวังเหตุการณ์ยิ่งกว่าเมืองอื่น

จะเล่าเรื่องเนื่องกับเมืองเชียงตุงแทรกลงตรงนี้สักหน่อย เมืองเชียงตุงนั้นอาณาเขตต์ตกลำน้ำสลวินทางตะวันตกด้าน ๑ ตกลำน้ำโขงทางตะวันออกด้าน ๑ แต่พื้นเมืองเป็นเทือกภูเขาเรียงกันไปทั้งนั้น มิใคร่มีที่ราบสำหรับทำนา ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่า Burma เซอรยอชสก๊อต แต่ง ว่าเมืองเชียงตุงมีสินค้าที่เกิดในพื้นเมืองสำหรับขายนอกประเทศเป็นสิ่งสำคัญแต่ ๓ สิ่ง คือ ฝ้าย ขายไปทางเมืองจีน สิ่ง ๑ ไม้ขอนสัก (คัดลงลำน้ำโขง) ขายไปทางเมืองขึ้นของฝรั่งเศส สิ่ง ๑ กับฝิ่นขายมาทางประเทศสยาม สิ่ง ๑ จำนวนเงินแผ่นดินรายได้ของเมืองเชียงตุงราวปีละ ๑๑๔,๖๘๗ รูปี ต้องเสียเงินส่วยแก่อังกฤษปีละ ๓๐,๐๐๐ รูปี เมื่อถึงสมัยสันนิบาตชาติประสงค์จะกำจัดฝิ่น อังกฤษไปว่ากับเจ้าฟ้าเชียงตุงจะให้เลิกปลูกฝิ่นในเขตต์ของเมืองเชียงตุง เจ้าเชียงตุงร้องทุกข์ว่าถ้าห้ามมิให้ปลูกฝิ่นราษฎรก็จะพากันเดือดร้อนด้วยไม่มีทางทำมาหากินเหมือนแต่ก่อน เงินรายได้สำหรับใช้การบ้านเมืองก็จะตกต่ำถึงขาดแคลน จะเอาเงินที่ไหนไปเสียส่วย อังกฤษเห็นอกจึงผ่อนผันยอมให้ชาวเมืองเชียงตุงปลูกฝิ่น แต่เอาสัญญาว่าให้ขายกันแต่ในพื้นเมือง มิให้ส่งฝิ่นไปขายในแดนพะม่าหรือประเทศอื่น แต่การที่ห้ามนั้นไม่เป็นได้จริง เพราะพวกค้าฝิ่นเถื่อนทั้งในเมืองไทยและเมืองพะม่าพากันลอบไปซื้อ ใครไปซื้อชาวเมืองเชียงตุงก็ขายให้ ด้วยถือว่าขายแต่ในอาณาเขตต์เมืองเชียงตุง ตามที่ได้รับสัญญากับอังกฤษ การที่ผู้ซื้อจะเอาฝิ่นไปที่ไหนถือว่ามิใช่ธุระของเมืองเชียงตุง มูลมีมาเช่นนี้ พวกพ่อค้าฝิ่นเถื่อนจึงไปซื้อฝิ่นเมืองเชียงตุงลอบเอาเข้ามาขายในเมืองไทยเนืองๆ

สาขาคดีควรเล่าอีกเรื่องหนึ่งนั้น เมื่อฉันกลับมาแล้วเจ้าฉายเมืองลูกเจ้าฟ้าเชียงตุง เธอขึ้นไปเที่ยวถึงเมืองสีป่ออันเป็นเมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือ แล้วมีจดหมายบอกมาว่าภาษาไทยที่พวกไทยใหญ่ฝ่ายเหนือพูดกันนั้นเธอฟังเกือบไม่เข้าใจ ด้วยรับเอาคำภาษาพะม่าไปปนเป็นภาษาไทยเสียมาก พวกไทยใหญ่ฝ่ายใต้ยังพูดภาษาไทยสนิทกว่า ข้อนี้เป็นความรู้ที่ได้ใหม่

เมื่อฉันไปถึงเมืองพะม่าในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ กำลังจะเปลี่ยนวิธีปกครองเมืองพะม่าเป็นอย่างใหม่ คนในเมืองพะม่าทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศและเป็นชาวเมืองกำลังชอบพูดกันถึงเรื่องที่จะเปลี่ยนวิธีปกครองนั้น บ้างก็คาดว่าจะเกิดผลเป็นคุณ บ้างก็เห็นว่าจะเกิดโทษ ฉันได้ฟังความเห็นของบุคคลต่างพวกพูดต่างกันเป็นหลายอย่าง จะลองเขียนเล่าในหนังสือนี้

มูลเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองเมืองพะม่า มีมูลเป็นปัจจัยเนื่องมาแต่เหตุที่เกิดขึ้นในอินเดียนานมากว่า ๖๐ ปีแล้ว เรื่องนี้ลอร์ด ดัฟเฟอริน ซึ่งเป็นอุปราชครองอินเดียเวลาตีเมืองพะม่าครั้งหลัง พบกับฉันในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เคยเล่าให้ฟัง ว่าเมื่อชั้นแรกอังกฤษได้ปกครองบ้านเมืองในอินเดีย ใช้ฝรั่งเป็นพนักงานการปกครองเป็นพื้น ครั้นขยายอาณาเขตต์กว้างขวางออกไปจะต้องเพิ่มพนักงานมากขึ้น เห็นว่าถ้าจะใช้ฝรั่งทั้งนั้นจะสิ้นเปลืองมากนัก อีกประการ ๑ ประสงค์จะเอาใจชาวอินเดียให้ได้มีตำแหน่งหน้าที่ในการปกครองบ้านเมืองบ้าง จึงตั้งโรงเรียนสอนภาษาและวิชาการต่างๆ ของอังกฤษแก่ชาวอินเดีย จนถึงมีมหาวิทยาลัยให้ปริญญาได้ในอินเดียเหมือนกับในยุโรป การศึกษาที่จัดก็มีผลดีดังรัฐบาลประสงค์ ทั้งที่หาชาวอินเดียเป็นพนักงานในการปกครองได้มาก และชาวอินเดียก็เกิดความนิยมเข้ารับทำการกับอังกฤษมากขึ้น ครั้นนานมาจำนวนชาวอินเดียที่เรียนได้ปริญญามีมากขึ้นทุกปี จนรัฐบาลไม่มีตำแหน่งจะให้รับราชการได้ทั้งหมด ก็เกิดมีพวกชาวอินเดียที่เรียนวิชาสำเร็จแต่หางานทำเป็นอาชีพไม่ได้สมหวังมากขึ้นทุกปี ชาวอินเดียพวกนี้ได้เรียนทั้งภาษาฝรั่งและขนบธรรมเนียมในยุโรปรู้มาก ก็คิดปรารถนาจะปกครองชาติภูมิของตนเองเหมือนอย่างฝรั่งในยุโรป มีหัวหน้าที่เป็นคนฉลาดคิดเอาแบบอังกฤษมาตั้งคณะการเมืองในอินเดีย เรียกว่า National Congress ตรงกับ “คณะชาติ” ด้วยรู้ว่าการตั้งคณะโฆษณาความเห็นเช่นนั้น ตามกฎหมายอังกฤษถือว่าเป็นสิทธิของพลเมืองไม่เอาโทษ พวกคณะชาติเที่ยวโฆษณาติเตียนวิธีที่อังกฤษปกครองชาวอินเดียให้เสียเปรียบฝรั่งด้วยประการต่างๆ ชวนชาวอินเดียให้ช่วยกันคิดอ่านให้ได้ปกครองบ้านเมืองของตนเองบ้าง มีพวกชาวเมืองเห็นชอบด้วยและเข้าเป็นพวกคณะชาติมากขึ้นเป็นลำดับมา รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดียก็ลำบากขึ้น เพราะพวกคณะชาติคอยโต้แย้งกีดขวางด้วยประการต่างๆ ทางเมืองพะม่าเมื่อมีคนเรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมฝรั่งมากขึ้น ก็เกิดพวกนักการเมืองมีความเห็นเช่นเดียวกับพวกชาวอินเดีย และพยายามทำความลำบากแก่รัฐบาลด้วยประการต่างๆ อย่างชาวอินเดียบ้าง ยกตัวอย่างดังเช่นยุยงพระสงฆ์พะม่าให้ห้ามฝรั่งมิให้ใส่เกือกเข้าวัดเป็นต้น แต่ในเมืองพะม่ารัฐบาลปราบปรามได้ไม่ยากเหมือนที่ในอินเดีย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจะระงับการเกะกะของพวกนักการเมืองให้สงบได้

ครั้นถึงสมัยเมื่อคณะลิเบอราล (ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเข้ากับราษฎร) ได้เป็นรัฐบาลในประเทศอังกฤษ ลอร์ดมอเลเป็นเสนาบดีกระทรวงอินเดีย จึงคิดแก้ไขความลำบากด้วยผ่อนผันเอาใจชาวอินเดีย (รวมทั้งพะม่าด้วย) ในชั้นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ แก้วิธีปกครองด้วยตั้งชาวเมืองเป็นกรมการพิเศษ นั่งประชุมกับเจ้าเมืองกรมการอังกฤษในเวลาปรึกษาตั้งกฎหมาย ให้ออกความเห็นและลงคะแนนญัตติได้เหมือนกับกรมการฝรั่ง แต่การที่ผ่อนผันนั้นต่อมาก็ยังไม่พอใจพวกนักการเมือง อ้างว่าที่ในประชุมเช่นนั้นจำนวนสมาชิกอังกฤษมากกว่าสมาชิกชาวเมือง ถ้าอังกฤษจะให้ตกลงอย่างไรก็สามารถลงคะแนนให้เป็นได้อย่างนั้น ทั้งกรมการชาวเมืองก็เป็นแต่ที่ปรึกษา ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาการอย่างใด การปกครองโดยทางที่ผ่อนผันก็ยังไม่สะดวกมาจนถึงสมัยมหาสงคราม อังกฤษกำลังเข้าที่คับขันในการศึก ประสงค์จะป้องกันมิให้เกิดขบถในอินเดีย จึงยกความชอบของชาวอินเดียที่ได้ไปช่วยอังกฤษรบพุ่ง และได้ช่วยรัฐบาลอินเดียด้วยประการอย่างอื่น แก้ไขวิธีปกครองให้เป็นบำเหน็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ยอมให้ชาวเมืองมีอำนาจปกครองบ้านเมืองด้วยกันกับอังกฤษ เรียกว่าวิธี “ดีอาชี” Dyarchi หมายความว่าปกครองด้วยกัน คือในการบังคับบัญชากำหนดกระทรวงการเป็น ๒ แผนก แผนกหนึ่งเรียกว่า Reserved แปลว่า “กระทรวงการสงวน” เช่น กระทรวงการทหารและโปลิศ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ เหล่านี้ยังเอาไว้ในมืออังกฤษ คนอังกฤษยังคงเป็นหัวหน้า อีกแผนกหนึ่งเรียกว่า Transfered แปลว่า “กระทรวงการที่โอนไปแล้ว” เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการศึกษา กระทรวงการป่าไม้ เป็นต้น ตั้งชาวเมืองเป็นเจ้ากระทรวง มียศเสมอกับเจ้ากระทรวงที่เป็นอังกฤษ ส่วนการตั้งกฎหมายสำหรับบ้านเมืองก็ยอมให้มีเนติสภา (ปาเลียเมนต์) ให้ชาวเมืองเลือกสมาชิกโดยมาก บรรดากฎหมายที่จะตั้งต้องให้เนติสภาเห็นชอบด้วยจึงตั้งได้ เว้นแต่ที่อุปราชอินเดียหรือเจ้าเมืองเห็นว่าญัตติอันใดของเนติสภาจะให้โทษแก่บ้านเมืองอาจสั่งให้งดได้

เมื่อตั้งวิธีดีอาชีนั้นรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่า เมื่อใช้ไปสัก ๑๐ ปี ถ้าเห็นว่าชาวเมืองมีความสามารถ ก็จะแก้ไขขยายวิธีให้ชาวเมืองมีอำนาจในการปกครองเมืองยิ่งขึ้นอีก แต่เมื่อใช้วิธีดีอาชีมา พวกนักการเมืองในอินเดียก็ยังไม่พอใจ ด้วยเห็นว่าการที่ผ่อนผันนั้นเป็นแต่ผิวภายนอก อำนาจสิทธิ์ขาดยังอยู่แก่อังกฤษ เพราะเนติสภายังไม่มีอำนาจจะควบคุมเจ้าเมืองกรมการได้เหมือนอย่างปาเลียเมนต์ฝรั่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ครบกำหนด ๑๐ ปีตามที่ประกาศไว้ รัฐบาลอังกฤษจึงให้มีการประชุมปรึกษาหาวิธีปกครองอินเดียที่จะขยายอำนาจให้แก่ชาวเมืองกว้างขวางต่อออกไปอีก เมื่อปรึกษาเห็นความลำบากยังมีมาก เพราะชาวเมืองอินเดียมีหลายชาติ ถือศาสนาต่างๆ กัน แม้แต่พวกที่เป็นฮินดูด้วยกันก็ถือตัวเป็นต่างชั้นรังเกียจกันและกัน และยังลำบากด้วยจะเอาประเทศราชมาเข้าในวิธีปกครองอย่างไร ต้องปรึกษาหารือกันอยู่หลายปี แต่ลักษณะที่แก้ไขวิธีปกครองส่วนอินเดียอย่างไรมิใช่เรื่องของหนังสือนี้ จะกล่าวแต่ที่เกี่ยวกับเมืองพะม่า ที่ประชุมเห็นว่าเมืองพะม่าชาวเมืองเป็นคนต่างชาติและต่างศาสนากับชาวอินเดีย อาณาเขตต์เดิมก็เป็นเอกเทศต่างหาก จึงตกลงให้แยกประเทศพะม่าขาดจากอินเดีย จัดเป็นอาณาเขตต์ ๑ ต่างหาก ขึ้นตรงต่อรัฐบาลเมืองอังกฤษ และให้มีรัฐธรรมนูญสำหรับปกครองเมืองพะม่าเป็นอย่าง ๑ ต่างหาก กำหนดจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นไป เรื่องตำนานในหนหลังมีมาดังนี้

เวลา ๑๑ นาฬิกา (วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์) ไปดูเนติสภา ตึกที่ประชุมอยู่ในบริเวณเดียวกันกับศาลารัฐบาล ศาลารัฐบาลเมืองร่างกุ้งนั้นรูปร่างมีที่เปรียบในกรุงเทพฯ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ เป็นตึกใหญ่อย่างเดียวกับสำนักงานกระทรวงกลาโหม ขนาดก็จะเท่าๆ กัน มีประตูใหญ่ทางรถเข้าข้างด้านหน้าเช่นเดียวกัน สถานเนติสภาอยู่ทางด้านหลัง (ดูเหมือนรื้อตึกศาลารัฐบาลด้านหลังตรงกลางลงเป็นช่องแล้วสร้างตึกเนติสภาขึ้น) หัน “ด้านขื่อ” ออกสนามกลางศาลารัฐบาล “ด้านแป” ยื่นยาวออกไปพ้นแนวหลังตึกศาลารัฐบาล ผู้ไปยังเนติสภา ถ้าเป็นชั้นมีศักดิ์สูง ขับรถเข้าไปทางประตูใหญ่ของศาลารัฐบาล แล้วเลี้ยวไปตามถนนขอบสนามจนถึงบันไดทางขึ้นเนติสภา แต่คนชั้นสามัญต้องลงจากรถที่นอกประตูศาลารัฐบาลเดินเข้าไป ตัวตึกเนติสภาทำเป็นตึกชั้นเดียว พื้นสูงกว่าแผ่นดินสัก ๒ ศอก ดูเป็นสร้างสำหรับใช้ชั่วคราว ไม่มีลวดลายประดับประดาเหมือนศาลารัฐบาล พอเข้าประตูตึกถึงห้องพัก สองข้างห้องพักนั้นมีห้องที่ทำการของพนักงานเนติสภา เช่นห้องสภานายก และห้องสภาเลขานุการ เป็นต้น ด้านหลังห้องพักมีประตู ๒ ช่องเข้าไปถึงห้องประชุม ห้องประชุมเป็นห้องใหญ่ขนาดสักเท่าห้องฝ่ายหนึ่งของศาลาสหทัยสมาคมในกรุงเทพฯ ข้างนอกมีเฉลียงและทางสำหรับสมาชิกเข้าห้องประชุมทั้ง ๓ ด้าน ในตัวห้องประชุมนั้นมีเต๊งรอบ สำหรับพวกจดรายงานกับพวกหนังสือพิมพ์และบุคคลภายนอกซึ่งได้รับอนุญาตไปนั่งดูการประชุม ที่พื้นล่างอันเป็นตัวห้องประชุมสภานั้น ด้านสะกัดต่อห้องพักเข้าไปริมผนังที่ตรงกลางมีเก้าอี้ใหญ่เป็นอาสนะสำหรับสภานายกนั่ง สองข้างอาสนะนั้นเป็นทางเดิน ต่อทางเดินออกไปมีคอกตั้งเก้าอี้สำหรับแขกที่มีบรรดาศักดิ์นั่งข้างละคอก ตรงหน้าเก้าอี้สภานายกลดพื้นต่ำลงไป มีโต๊ะใหญ่สำหรับวางสมุดที่ต้องใช้ในสภา เช่นกฎหมายเป็นต้น และสภาเลขานุการนั่งประจำที่โต๊ะนั้น ให้ห้องประชุมตรงกลางเป็นทางเดิน สองข้างตั้งเก้าอี้ยาวมีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสืออยู่ข้างหน้าสำหรับสมาชิกนั่ง ตั้งซ้อนกันฝ่ายละ ๓ แถว มีช่องสำหรับสมาชิกเดินเข้าออกหว่างเก้าอี้หลายช่อง

เมื่อฉันไปถึง อูบาดุน สภาเลขานุการ แต่งตัวอย่างเนติบัณฑิตอังกฤษ ใส่ผมวิกและสวมเสื้อครุยดำ คอยรับอยู่ที่ประตู เชิญให้ไปนั่งในคอกสำหรับแขกมีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายขวาของสภานายก แต่เจ้าหญิงนั้นเขาจัดที่ไว้ให้นั่งที่บนเต๊งข้างด้านขวา (ในวันนั้นจะเป็นด้วยเขาคิดจัดขึ้นเพื่อประโยชน์ฉันหรืออย่างไรไม่ทราบ) ในคอกที่ฉันไปนั่ง มีเนติบัณฑิตพะม่าคนหนึ่ง ชื่อ มองเอ Maung Aye อายุสัก ๓๐ ปี เคยเป็นสมาชิกคนสำคัญ แต่ออกจากสภาแล้ว ด้วยได้รับเลือกให้ไปเป็นผู้แทนเมืองพะม่าในสภาของอุปราชอินเดีย มานั่งดูอยู่ด้วย เป็นผู้มีอัชฌาสัยเรียบร้อย คอยชี้แจงกระบวนการของเนติสภาให้ฉันเข้าใจ

เนติสภาเมืองพะม่าเวลานี้ยังเป็นอย่าง “ดีอาชี” ซึ่งกล่าวมาแล้ว จำนวนสมาชิกเต็มอัตรา ๑๐๓ คน จัดเป็น ๒ ประเภท คือ สมาชิกที่ราษฎรเลือก ๘๐ คน สมาชิกเจ้าเมืองตั้ง คือ เจ้ากระทรวงธุรการต่างๆ ๑๔ คน ผู้เชี่ยวชาญการต่างๆ อีก ๙ คน รวมเป็นสมาชิกที่เจ้าเมืองตั้ง ๒๓ คน สมาชิกที่ราษฎรเลือกนั้นยังต่างกันเป็น ๒ ชะนิด ชะนิด ๑ เป็น “ผู้แทนราษฎรตามท้องที่” ให้ชาวเมืองเลือก อีกชะนิด ๑ เป็น “ผู้แทนชนต่างชาติ” เช่นฝรั่งและแขกอินเดียที่ไปอยู่ในเมืองพะม่าเป็นต้น ถึงจะแยกกันไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน แห่งละมากน้อยเท่าใดก็ตาม ให้รวมกันเลือกสมาชิกแทนชาติของตน มากและน้อยตามส่วนจำนวนคนชาตินั้นๆ สังเกตตูสมาชิกที่มาประชุมในวันนั้น พวกพะม่า มอญ ที่เป็นสมาชิกราษฎรเลือกเห็นจะมาไม่เต็มจำนวน เพราะมีที่นั่งว่างอยู่มาก แต่สมาชิกพวกชาวต่างประเทศมามาก ระเบียบที่นั่งนั้นพวกสมาชิกเจ้ากระทรวงนั่งต้นแถวข้างฝ่ายขวา พวกสมาชิกที่เจ้าเมืองตั้งและเป็นชาวต่างประเทศนั่งต่อไปจนตลอดแถบข้างขวา พวกสมาชิกที่แทนราษฎรตามท้องที่ (ล้วนเป็นพะม่า มอญ) นั่งทางฝ่ายซ้ายของสภานายกตลอดทั้งแถบ ก็คีอเอาอย่างมาแต่ที่ประชุมปาเลียเมนต์เมืองอังกฤษนั่นเอง ซึ่งพวกของรัฐบาลนั่งฝ่ายขวา พวกขัดรัฐบาลนั่งฝ่ายซ้าย แต่ในเนติสภาเมืองพะม่ามีสมาชิกกะเหรี่ยงอีกพวกหนึ่ง ซึ่งถือศาสนาคริสตังเป็นพื้น พวกมิชชันนารีคงแนะนำให้ตั้งคณะต่างหาก พวกกะเหรี่ยงจึงนั่งทางด้านสะกัดข้างหน้า แสดงว่าไม่เป็นพวกไหนทั้ง ๒ ฝ่าย

ฉันถาม มองเอ เขาบอกว่าพวกสมาชิกที่เป็นชาวเมืองพะม่านั้นมีถึง ๕ คณะ Party เรียกว่า “คณะอิสสระ” Independent Party คณะ ๑ เรียกว่า “คณะราษฎร์” People’s Party คณะ ๑ เรียกว่า คณะ ๑ เรียกว่า “คณะกะเหรี่ยง” Karen Party คณะ ๑ อีก ๒ คณะเรียกชื่อตามนามบุคคลผู้ตั้งคณะนั้นๆ ว่ากระไรฉันจำไม่ได้ เห็นมีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นสมาชิกแทนเมืองเมาะลำเลิงคน ๑ ดูนั่งอยู่คนเดียวต่างหาก เห็นจะไม่ได้เข้าคณะไหน ฉันเข้าใจว่าพวกชาวต่างประเทศคงเรียกชื่อคณะตามชาติของตน และในชาติ ๑ เห็นจะไม่แบ่งเป็นหลายคณะ เพราะต่างเกรงว่าพวกพะม่ามือำนาจขึ้นจะเบียดเบียฬชาวต่างประเทศอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

การประชุมวันนี้ระเบียบวาระมีแต่แสดงความอาลัยในพระเจ้ายอชที่ ๕ ซึ่งสวรรคต กับแสดงความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเอดวาดที่ ๘ ซึ่งเสวยราชย์ใหม่ พอถึงเวลากำหนดก็มีนักการแต่งตัวอย่างพะม่าแบก “เมส” (ไม่มีของไทยที่ตรงกัน) คือ “ไม้อำนาจ” ของสภานายก ยาวสักศอกเศษ ยอดทำเป็นรูปมกุฎฝรั่งด้วยเงิน และมีกรวยเงินจำหลักรองรัดรูปเรียวลงมาจนสวมด้ามไม้ที่คนถือ นักการแบกไม้อำนาจนั้นนำหน้า อูจิตเหลียง U Chit Liaung ตัวสภานายก แต่งตัวนุ่งผ้าลอยชาย ใส่เสื้อกุยตั๋งสีดำ โพกผ้าอย่างพะม่า แต่สวมเสื้อครุยสีดำอย่างเนติบัณฑิตอังกฤษ เดินตามมาแต่ประตูด้านสะกัดทางคณะกะเหรี่ยงนั่ง คนในห้องลุกขึ้นยืนเคารพหมด สภานายกตรงมาขึ้นนั่งที่เก้าอี้ใหญ่สำหรับตำแหน่ง นักการถือไม้อำนาจมานั่งอยู่ในคอกข้างขวา และเอาไม้อำนาจไว้กับตัวตลอดเวลาประชุม อูจิตเหลียงที่เป็นสภานายกคนนี้ ฝรั่งเขากะซิบบอกฉันว่าเมื่อยังเป็นเนติบัณฑิตสามัญอยู่นั้น เป็นตัวสำคัญเที่ยวยุยงพวกพะม่าในการเมือง รัฐบาลเคยจับตัวใส่คุกมาแล้วครั้งหนึ่งหรือกว่านั้น ครั้นตั้งวิธีดีอาชีมีเนติสภาขึ้น พวกพะม่านักการเมืองพากันคิดถึงบุญคุณ จึงได้เลือกอูจิตเหลียงขึ้นเป็นสภานายก เดี๋ยวนี้อายุราวสัก ๕๐ ปี ฉันได้พบเมื่อเลิกประชุมแล้ว ดูกิริยาอัชฌาสัยก็เรียบร้อยดี เริ่มการประชุมด้วยรับสมาชิกซึ่งเพิ่งเข้าเป็นใหม่ให้กระทำสัตย์และลงนามเข้าทะเบียนก่อน มีจำนวนสัก ๕ คน ฝรั่งก็มี พะม่าก็มี สภาเลขานุการขานชื่อเรียกเข้าไปที่โต๊ะทีละคน สภาเลขานุการเป็นผู้นำให้กระทำสัตย์ตามศาสนาของตนและให้ลงชื่อ แล้วสมาซิกใหม่นั้นเดินขึ้นไปจับมือคำนับกับสภานายก เสร็จแล้วออกทางข้างหลังกลับไปนั่งที่ของตน เล่าต่อไปตอนนี้จะต้องออกตัวสักหน่อยว่าหูฉันตึงมิใคร่ได้ยินถ้อยคำที่พูดกันในที่ประชุมถนัด แต่สังเกตว่าใช้ภาษาอังกฤษ เริ่มต้นด้วยสภานายกลุกขึ้นพูดก่อน ฉันเข้าใจว่าบอกระเบียบวาระของการประชุมเนติสภาในวันนั้น ต่อนั้น เซอร มองบา Sir Maung Ba เจ้ากระทรวงมหาดไทยเป็นผู้พูดแทนคณะรัฐมนตรี แสดงความอาลัยในพระเจ้ายอชที่ ๕ กับทั้งถวายพรและความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเอดวาดที่ ๘ ชวนให้เนติสภาลงมติตามที่ว่านั้น สมาชิกที่เป็นหัวหน้าคณะต่างๆ ก็ลุกขึ้นพูดรับรองแทนคณะของตน กล่าวความเฉลิมพระเกียรติเพิ่มเติมด้วยโวหารต่างๆ ทีละคนจนครบทุกคณะ สภานายกก็ชี้ขาดลงมติว่าเนติสภาเห็นชอบพร้อมกันหมด เป็นเสร็จการพิธีเท่านั้นแล้วเลิกประชุม

เวลานี้การปกครองเมืองพะม่าเป็นหัวต่อ กำลังเตรียมจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ปกครองเมืองพะม่าตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นไป ฉันยังไม่ได้อ่านตัวรัฐธรรมนูญใหม่ จะกล่าวแต่ตามที่ได้ยินคำบอกเล่า เขาว่าการปกครองอย่างใหม่ผิดกับวิธีปกครองอย่าง “ดีอาชี” Dyarchi เป็นข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ จะแยกเมืองพะม่าออกเป็นเอกเทศต่างหากจากอินเดียอย่าง ๑ กับจะยอมให้ชาวเมืองพะม่าปกครองบ้านเมืองของตนตามแบบ “ประชาบาล” Democracy อย่าง ๑ การที่จะแยกเมืองพะม่าออกจากอาณาเขตต์อินเดีย มืความลำบากที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยหลายอย่าง จะยกอุทาหรณ์ดังเช่น เรื่องหนี้สิน แต่ก่อนมาในเวลาเมืองพะม่าเกิดขาดแคลน เช่นในสมัยเศรษฐกิจเกิดฝืดเคืองมาในสี่ห้าปีที่ล่วงแล้ว ได้อาศัยกู้เงินจากอินเดียมาใช้ให้พ้นความลำบากหลายคราว เมื่อเมืองพะม่าจะแยกขาดจากอินเดียก็จำต้องชำระหนี้สินที่ติดค้างนั้น แต่จำนวนเงินที่ค้างมากเหลือกำลังเมืองพะม่าจะใช้ให้หมดได้โดยเร็ว ข้อนี้เซอรมองบาที่เป็นเจ้ากระทรวงมหาดไทยได้บอกแก่ฉันเอง ว่าแม้เมืองพะม่าจะเอาเงินที่เหลือจ่ายในงบประมาณทั้งหมด ไปผ่อนใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยทุกๆ ปี กว่าจะชำระหนี้หมดจะเป็นเวลาถึง ๔๐ ปี ในระหว่างนั้นจะเอาเงินที่ไหนใช้เป็นทุนสำหรับทำนุบำรุงบ้านเมือง นอกจากเรื่องหนี้ยังมีความลำบากอย่างอื่นอีก เช่นวิธีเก็บภาษีอากร ในสมัยเมืองพะม่าเป็นอาณาเขตต์ของอินเดีย การซื้อขายกับอินเดียไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าขาออก แต่เมื่อแยกขาดจากกันแล้วจะเกิดการเก็บภาษีสินค้าข้ามแดนกันและกัน ทั้งการเก็บภาษีสินค้าต่างประเทศก็ต้องคิดพิกัดอัตราใหม่ ด้วยแต่ก่อนมาเมืองพะม่าต้องเก็บตามพิกัดของอินเดียซึ่งตั้งขึ้นสำหรับป้องกันราคาของที่ทำในอินเดียมิให้ตกต่ำ ไม่เป็นประโยชน์แก่เมืองพะม่า ยกตัวอย่างดังเก็บภาษีผ้าไหมที่ไปจากเมืองไทย ทำให้พะม่าต้องซื้อผ้าไหมแพงขึ้น เพื่อป้องกันมิให้ราคาผ้าซึ่งทำในอินเดียตกต่ำ ยังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข้อสำคัญมากเหมือนกัน เมื่อเมืองพะม่ายังเป็นอาณาเขตต์ของอินเดีย ชาวอินเดียและชาวเมืองพะม่าไปมาได้ตามใจ มีแขกชาวอินเดียมาหากินในเมืองพะม่ามากขึ้นโดยลำดับ จนถึงมีชาวอินเดียมาอยู่ในเมืองพะม่ากว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน การต่างๆ ไปตกอยู่ในมือชาวอินเดียมาก เพราะวิสัยพะม่าชอบแต่ทำไร่นาป่าไม้ หรือทำหัตถกรรมที่เป็นการเบาแรง ไม่ชอบรับจ้างเป็นกรรมกร พวกนายจ้างโดยฉะเพาะที่เป็นฝรั่งจึงชอบจ้างชาวอินเดีย ด้วยเรียกค่าจ้างถูกกว่า และบังคับบัญชาว่ากล่าวง่ายกว่าพะม่า ข้อนี้ได้พรรณนามาแต่ก่อนบ้างแล้ว แต่พวกพะม่าโดยฉะเพาะพวกนักการเมืองเห็นว่าพวกชาวอินเดียมาแย่งงานซึ่งควรจะเป็นอาชีพของพะม่าไปทำเสียเป็นอันมาก ประสงค์จะกำจัดชาวอินเดียเสียจากเมืองพะม่า มิให้มีมากเหมือนแต่ก่อน เรื่องนี้พวกชาวอินเดียก็รู้ตัว แต่พอทราบว่าอังกฤษตกลงจะเปลี่ยนวิธีปกครองเป็นแน่ ชาวอินเดียที่เป็นชั้นเศรษฐีก็เริ่มถอนทุนไปจากเมืองพะม่า เป็นเหตุให้พวกพะม่าที่เป็นลูกหนี้ถูกเร่งเรียกเงินพากันเดือดร้อนอยู่แพร่หลาย พวกฝรั่งที่เป็นนายจ้างก็พากันวิตกอยู่อีกทาง ๑ ว่าการงานต่างๆ ที่เคยใช้ชาวอินเดียเป็นกรรมกรนั้น ถ้าเปลี่ยนใช้พะม่าน่าจะเกิดลำบาก ด้วยพะม่าไม่ชอบทำการหนัก ทั้งวิสัยพะม่าก็ว่ายากวางใจไม่ได้ เหมือนเช่นชาวอินเดีย ทั้งค่าจ้างก็จะแพงขึ้นกว่าเคยจ้างชาวอินเดียมาแต่ก่อน เขาเห็นว่าการค้าขายในเมืองพะม่าคงจะทรุดโทรม เรื่องต่างๆ ที่เนื่องด้วยแยกเมืองพะม่าจากอินเดียดังกล่าวมานี้ ได้ยินว่ารัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลเมืองพะม่าตกลงกันจะผ่อนผันให้การคงเป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ต่อไปอีก ๓ ปี จะคิดแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยในระหว่างนั้น

อธิบายส่วนการเมืองที่จะจัดตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ในชั้นนี้จะจัดเพียงแต่คณะรัฐมนตรี กับเปลี่ยนระเบียบเนติสภาอันเป็นต้นเค้าของการปกครองบ้านเมืองก่อน วิธีปกครองเมืองพะม่า ถ้าว่าแต่หัวข้อพอให้เข้าใจง่ายๆ ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกได้เมืองพะม่าปกครองอย่าง “ฝรั่งเป็นนาย พะม่าเป็นบ่าว” ต่อมาเมื่อปกครองอย่างดีอาชี เปลี่ยนเป็น “ฝรั่งกับพะม่าช่วยกันปกครอง” วิธีที่จะจัดใหม่นี้ “ให้พะม่าปกครอง ฝรั่งเป็นแต่ควบคุม”

ตามวิธีใหม่รัฐบาลกลางคงมีเจ้าเมือง Governor เป็นหัวหน้าอย่างเดิม แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเป็นพะม่าแต่ ๓ คน ต่อไปจะเป็นพะม่าโดยมาก จะมีนายกรัฐมนตรี Prime Minister เป็นพะม่าด้วย เจ้ากระทรวงคงเป็นอังกฤษแต่กระทรวงกลาโหม (รวมทั้งตำรวจ Police) คน ๑ กับเจ้ากระทรวงการต่างประเทศ คน ๑ เนติสภาแต่ก่อนมีสมาชิกที่รับเลือกและที่เจ้าเมืองตั้ง แต่เนติสภา Legislative Council ต่อไป นอกจากเจ้ากระทรวงฝรั่ง ๒ คน จะมีแต่สมาชิกที่ราษฎรเลือก และจะมีเป็น ๒ สภา คือ สภาผู้แทน (พลเมือง) Representatives สภา ๑ กับสภามนตรี Senate (ให้เนติสภาเลือกสมาชิกส่วน ๑ เจ้าเมืองเลือกตั้งส่วน ๑ ผะสมกัน) สภา ๑ บรรดากฎหมาย (และงบประมาณการเงิน) ต้องผ่านทั้ง ๒ สภา และเจ้าเมืองต้องเห็นชอบด้วยแล้วจึงประกาศใช้ได้ แต่อังกฤษสงวนอำนาจพิเศษของเจ้าเมืองไว้ ว่าถ้าความตกลงของเนติสภาอย่างใด เจ้าเมืองเห็นว่าจะเป็นผลร้ายแก่บ้านเมือง มีอำนาจที่จะขัดได้

การเกี่ยวข้องกันระหว่างรัฐมนตรีกับเนติสภานั้น ตามวิธีดีอาชีที่ใช้มาแต่ก่อน เจ้าเมืองเป็นผู้เลือกและตั้งรัฐมนตรี ถึงเนติสภาจะไม่ชอบใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือแต่คนใดคนหนึ่งก็ถอดถอนไม่ได้ ต่อไปนี้เนติสภาจะมีอำนาจเอารัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ เพราะฉะนั้น การตั้งรัฐมนตรี เจ้าเมืองจำต้องเลือกหาผู้ที่เนติสภาเชื่อถือ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ต้องเลือกผู้ที่มีพรรคพวกเป็นสมาชิกอยู่ในเนติสภามากกว่าเพื่อนเป็นตัวนายก และให้นายกเลือกหาพรรคพวกที่เนติสภาไว้ใจเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ จนครบคณะ เพราะลักษณาการเป็นดังว่ามานี้ คณะรัฐมนตรีที่บังคับบัญชาการบ้านเมืองก็เหมือนอยู่ในอำนาจเนติสภา ถ้าทำการอย่างใดไม่ชอบใจสมาชิกเนติสภาโดยมากเมื่อใด ก็จะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อนั้น แต่สมาชิกในเนติสภาเป็นหลายคณะ ความเห็นแตกต่างกันเป็นหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว ยากที่จะให้เห็นเป็นอย่างเดียวกันโดยมากได้ง่ายๆ ข้อนี้เป็นเครื่องป้องกันคณะรัฐมนตรีอยู่อย่างหนึ่ง ถึงกระนั้นรัฐมนตรีจะบังคับบัญชาการอันใดก็ต้องระวังอยู่เสมอที่จะให้เนติสภาชอบ หรือมิให้สมาชิกเนติสภาโดยมากขัดขวาง

ถ้าว่าถึงวัตถุประสงค์ของสมาชิกในเนติสภา ถึงแม้ตัวคนแยกกันเป็นหลายคณะดังกล่าวมาแล้วก็ดี ความประสงค์ที่เป็นข้อสำคัญคงมีแต่ ๒ อย่าง คือ บรรดาสมาชิกที่เป็นพะม่าย่อมอยากให้อำนาจตกอยูในมือพะม่า แต่สมาชิกที่เป็นชนชาติอื่นหรือเป็นชาวต่างประเทศ ไม่อยากให้พะม่ามีอำนาจมาก ด้วยเกรงจะถูกเบียดเบียฬ แต่ในพวกพะม่าเองก็มีความเห็นแตกต่างกันในข้อที่จะเอาอำนาจมาไว้ในมือพะม่าด้วยอุบายอย่างใด ที่แตกกันเป็นหลายคณะก็ด้วยเห็นต่างกันในข้อนี้เป็นสำคัญ เปรียบเช่นฝรั่งชอบเรียกในยุโรปว่าเป็น “พวกฝ่ายขวา” พวก ๑ และ “พวกฝ่ายซ้าย” พวก ๑

พวกฝ่ายขวาเห็นว่าควรจะทำการร่วมมือกับอังกฤษ เอาใจให้อังกฤษเชื่อถือโอนอำนาจให้พะม่ามากขึ้นโดยลำดับ ส่วนพวกฝ่ายซ้ายไม่เชื่อใจอังกฤษ คิดจะใช้อำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญด้วยประการต่างๆ ให้อังกฤษต้องจำใจให้อำนาจแก่พะม่า พวกพะม่าที่เคยรับราชการดูมักมีความเห็นเป็นอย่างข้างฝ่ายขวาโดยมาก แต่พวกที่ไม่เคยมีตำแหน่งในราชการ เช่นพวกเนติบัณฑิต และพวกนักการเมือง มักมีความเห็นอย่างข้างฝ่ายซ้าย

ฉันได้เคยสนทนากับพะม่าสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าเมืองคน ๑ ซึ่งความเห็นเป็นอย่างข้างฝ่ายขวา เขาว่าเมืองพะม่าแต่ก่อนมาก็เป็นเอกเทศ ชาวเมืองก็เป็นชาติหนึ่งถือศาสนาหนึ่งต่างหากจากอินเดีย ที่ต้องรวมอยู่ในอาณาเขตต์อินเดียเพราะเคราะห์กรรมและเหตุการณ์ในพงศาวดารทำให้เป็นเช่นนั้น ที่ได้แยกออกจากอินเดียนั้นพะม่าควรจะพอใจ ด้วยบ้านเมืองของตนได้กลับเป็นเอกเทศอย่างเมื่อครั้งปู่ย่าตายาย ส่วนการปกครองเมืองพะม่าต่อไปนั้น ซึ่งพวกพะม่าอยากจะปกครองบ้านเมืองของตนเองอย่างเป็นอิสสระก็เป็นธรรมดา แต่เมืองพะม่าตกอยู่ในเงื้อมมืออังกฤษ ๆ ได้ปกครองมาช้านานแล้ว ที่ไหนเขาจะยอมปล่อยเมืองพะม่าให้หลุดมือเขาง่ายๆ พะม่าก็ไม่มีกำลังที่จะช่วงชิงเอาบ้านเมืองจากอังกฤษได้ ทางที่จะให้ผลดีจึงมีทางเดียวแต่ต้องรักษาไมตรีดีกับอังกฤษ แต่พยายามศึกษาวิชาและทำการต่างๆ ให้อังกฤษเห็นว่าพะม่ามีความสามารถ อาจจะทำการงานปกครองบ้านเมืองไว้ใจได้เหมือนคนอังกฤษอันต้องหามาเปลี่ยนตัวกันอยู่เสมอ เช่นนั้นแลพะม่าจึงจะได้ปกครองบ้านเมืองของตนเองมากขึ้น อำนาจและหน้าที่ที่ตกอยู่ในมือพวกฝรั่งก็จะลดลงโดยลำดับ ยังไม่ถึงเวลาที่คิดเป็นอิสสระ

ความเห็นของพวกทางฝ่ายซ้ายเป็นอย่างไร ฉันไม่มีโอกาสสนทนากับพะม่าพวกนั้นยืดยาว เป็นแต่สนทนากันบ้างเล็กน้อย ฉันถามคนหนึ่งว่าในการที่เมืองพะม่าได้เป็นเอกเทศนั้นเขาชอบใจหรือไม่ เขาตอบทันทีว่าไม่ชอบเลย ฉันประหลาดใจถามเขาต่อไปว่า พะม่าก็ต่างชาติต่างศาสนากับชาวอินเดีย แต่ก่อนก็เคยเป็นประเทศหนึ่งต่างหาก เหตุไฉนเขาจึงพอใจจะให้เมืองพะม่ารวมอยู่ในอาณาเขตต์ของอินเดีย เขาตอบว่าที่รัฐบาลอังกฤษยอมให้รัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้เพราะเกรงชาวอินเดียจะกำเริบ แต่อย่างไรๆ ต่อไปพวกชาวอินเดียคงต้องได้ อำนาจการปกครองบ้านเมืองของตนเอง (Home Rule) เต็มที่ ถ้าเมืองพะม่าอยู่ในอาณาเขตต์อินเดียอย่างแต่ก่อน อินเดียได้อำนาจเพียงใดเมืองพะม่าก็คงได้ด้วยเพียงนั้น ที่อังกฤษแยกเมืองพะม่าออกเสียจากอินเดียเพราะประสงค์จะกดเมืองพะม่าลงเป็นเมืองขึ้น (ให้พะม่าอยู่ในบังคับฝรั่ง) เหมือนอย่างเมืองสิงคโปร์และฮ่องกง พะม่าจะต้องเป็นข้าของอังกฤษต่อไปไม่มีที่สุด เขาจึงไม่พอใจ อีกคนหนึ่งว่าการที่อังกฤษให้พะม่าเป็นร้ฐมนตรีบัญชาการบ้านเมืองนั้น ที่จริงให้แต่ตำแหน่งมิได้ให้อำนาจ ยกตัวอย่างดังไม่ให้อำนาจบังคับกรมตำรวจ Police ซึ่งคงอยู่ในบังคับบัญชาของฝรั่งดังนี้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร มีอีกคนหนึ่งรังเกียจการที่ให้พวกชาวต่างประเทศเลือกคนแทนชาติของตนเป็นสมาชิกในเนติสภา เห็นว่าการเลือกสมาชิกควรเอาแต่ท้องที่เป็นเกณฑ์อย่างเดียว ความเห็นข้อนี้พอเราเข้าใจได้ ว่าถ้าการเลือกเอาแต่ท้องที่เป็นเกณฑ์ สมาชิกเนติสภาคงเป็นพะม่าแทบทั้งหมด ชาวต่างประเทศจะได้รับเลือกก็แต่ในท้องที่ที่มีชาวต่างประเทศมากกว่าพะม่า เช่นที่เมืองร่างกุ้งเป็นต้น รัฐบาลอังกฤษเห็นพวกชาวต่างประเทศจะเสียเปรียบพะม่ามากนัก จึงคิดให้มีวิธีเลือกกันตามชาติ

ส่วนความเห็นของพวกอังกฤษนั้นฉันได้สนทนากับข้าราชการหลายคน ดูไม่มีใครเห็นชอบในการที่จะจัดใหม่นั้นเสียเลย เขาว่าพะม่ายังไม่ถึงเวลาสามารถจะใช้วิธีปกครองอย่างประชาบาล Democracy เพราะพะม่าที่ได้ศึกษาและทรงคุณวฒิถึงจะบัญชาการได้ยังมีน้อยตัวนัก ในเวลาเมื่อใช้วิธีดีอาชีดูภายนอกเหมือนพะม่ากับอังกฤษปกครองด้วยกัน แต่ที่จริงพะม่าได้เป็นตำแหน่งแต่ที่ไม่สำคัญ ถึงกระนั้นอังกฤษก็ต้องแนะนำหมดทุกอย่าง แต่ตามวิธีใหม่นี้ถึงรูปการดูเหมือนอำนาจจะตกอยู่แก่ราษฎรด้วยการเลือกสมาชิกเนติสภา แต่ที่จริงราษฎรในเมืองพะม่าโดยมากไม่เอาใจใส่ในการปกครองบ้านเมือง อำนาจจะไปตกอยู่แต่ในพวกนักการเมือง ทั้งผู้ปกครองก็ยังซ้ำต้องอยู่ในอำนาจของเนติสภา ซึ่งมีแต่พวกเนติบัณฑิตและนักการเมือง ชำนาญแต่การพูดกับออกความเห็นไปต่างๆ มีน้อยตัวที่ได้เคยรับผิดชอบทำการปกครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน เมื่อใช้วิธีใหม่คงจะเกิดลำบากไปนาน ฉันสอดถามว่าจะแก้ความลำบากด้วยเลือกเอาอังกฤษที่ชำนาญการงานเข้าเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรีบ้างไม่ได้หรือ เขาตอบว่าถ้านายกรัฐมนตรีคนไหนทำเช่นนั้น ก็เห็นจะถูกเนติสภาลงมติว่าไม่เชื่อถือ ต้องออกจากตำแหน่งทันที เพราะพวกนักการเมืองพะม่าประสงค์จะเอาฝรั่งที่เป็นตำแหน่งต่างๆ ในเมืองพะม่าออก และจะเอาพะม่าเข้าเป็นแทน ทั้งมีพรรคพวกที่ปรารถนาจะได้เป็นตำแหน่งต่างๆ อยู่มากด้วยกัน

เมื่อฉันกลับจากเมืองพะม่าแล้ว เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าได้มีการเลือกเนติสภาใหม่ สำหรับรัฐธรรมนูญที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นไป ได้ยินว่าการที่พวกพะม่านักการเมืองคิดจะรวมให้มีคณะต่างๆ น้อยลงไม่สำเร็จ เพราะหัวหน้าต่างคณะไม่ยอมเป็นตัวรองเมื่อรวมเป็นคณะเดียวกัน และไม่ยอมเลิกนามคณะเดิมของตน ถึงกับมีผู้เปรียบเทียบให้เอานามฉายาของพระมหาเถระองค์หนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ (ตัวหัวหน้า) ทั้ง ๒ พวกมาใช้เป็นนามคณะ (เห็นจะเป็นด้วยพระมหาเถระองค์นั้นไม่ยอม) ก็ไม่ตกลงกัน ในที่สุดเมื่อเลือกแล้วสมาชิกกลับแยกคณะกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เดี๋ยวนื้มีถึง ๗ คณะด้วยกัน ได้ยินว่าเจ้าเมืองเลือกอูบาเป U Ba Pe ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยมีสมาชิกในเนติสภาเป็นพรรคพวก ๔๐ คน แต่สมาชิกคณะอื่นๆ รวมกันมีจำนวนมากกว่าลงมติว่าไม่เชื่อถือ อูบาเป ก็ไม่ได้เป็น แต่ลงที่สุดไกล่เกลี่ยอย่างใดอย่างหนึ่ง เนติสภายอมรับ ดอกเตอร์ บา มอ Doctor Ba Maw ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไรกันต่อไปยังหาทราบไม่ การเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองดังกล่าวมาจัดฉะเพาะแต่ในแดนพะม่า หาเกี่ยวข้องไปถึงแดนไทยใหญ่ Shan States ไม่ หรือว่าอีกนัยหนึ่งรัฐบาลที่พวกพะม่าได้มีอำนาจขึ้นนั้นจะบังคับบัญชาไปถึงเมืองไทยใหญ่ไม่ได้ เมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยังขึ้นตรงต่ออังกฤษ อังกฤษยังให้คงเป็นเมืองประเทศราชและแบ่งเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้อยู่ตามเดิม ได้ยินว่าอังกฤษคิดจะจัดให้เป็นสหปาลีรัฐ Federation ฝ่ายเหนืออาณาเขตต์ ๑ ฝ่ายใต้อาณาเขตต์ ๑ แต่ค่อยจัดไปไม่เร่งร้อน

เวลา ๑๙ นาฬิกา (วันที่ ๑๒ กมภาพันธ์) นั้น เจ้าหญิงไปบ้าน อูบาดุน เลขานุการของเนติสภา ตามที่เขาได้เชิญไว้ให้ไปกินเลี้ยงอย่างพะม่า ไปได้สักครู่หนึ่งให้เจ้าฉายเมืองกับเนติบัณฑิตพวกของอูบาดุนคนหนึ่ง มาบอกฉันว่าเขาหาคนฟ้อนรำอย่าง “โยเดีย” ไว้รำให้ดู ฉันก็รีบแต่งตัวตามไป บ้านอูบาดุนนั้นเป็นเรือน ๒ ชั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนบ้านพวกข้าราชการในกรุงเทพฯ ไม่แปลกประหลาดอันใด แต่วันนั้นเขาเชิญพวกพ้องมา (ดูพวกเรา) มาก ดูล้วนแต่เป็นชายหนุ่มกับหญิงสาว ให้นั่งในห้องรับแขกกับเราและนำให้รู้จักก็มี ที่นั่งอยู่ตามช่องประตูและตามเฉลียงก็มีอีกมาก พอแลเห็นก็คาดได้ว่าเป็นพวกเนติบัณฑิตกับนักเรียนกฎหมายทั้งนั้น มีผู้หญิงสาว ๒ คนที่เขานำให้รู้จักว่าเป็นเนติบัณฑิตและว่าความในโรงศาลจนมีชื่อเสียงอยู่ในเวลานั้น

จะเล่าแทรกเรื่องเนติบัณฑิตพะม่าตามที่พวกพ่อค้าฝรั่งเขาบอก เขาว่าเนติบัณฑิตพะม่าแต่เดิมก็เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองดี แต่เมื่อมีจำนวนเนติบัณฑิตมากขึ้นทุกปี ตำแหน่งราชการและกิจธุระสำหรับเนติบัณฑิต เช่นรับว่าความในโรงศาลเป็นต้น มีไม่พอแก่จำนวนคน ก็เกิดมีเนติบัณฑิตที่ไม่มีงานทำมากขึ้น พวกนี้ชอบเที่ยวยุยงให้คนเป็นความกันเพื่อหาประโยชน์เลี้ยงตัว เลยลำบากไปถึงการค้าขาย ด้วยแต่ก่อนมาพวกพ่อค้ากับลูกค้ามักไว้ใจกันและกัน เดี๋ยวนี้ถ้ามีข้อเกี่ยงแย่งอะไรกันสักเล็กน้อย พวกเนติบัณฑิตก็เข้ายุยงพวกลูกค้าให้ฟ้องร้องในโรงศาล จนพวกพ่อค้าไม่ไว้ใจลูกค้าเหมือนแต่ก่อน เขาว่ารัฐบาลกำลังคิดจะแก้ไขตัดจำนวนเนติบัณฑิตให้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าแต่ก่อน แต่จะทำด้วยประการอย่างใดกันฉันไม่ทราบ

การฟ้อนรำนั้นเล่นในห้องรับแขกนั่นเอง มีพวกชาวดนตรีเป็นผู้ชายตีระนาดคน ๑ สีซอคน ๑ ดีดพิณคน ๑ พิณพะม่าฉันเพิ่งเคยเห็นวันนี้ เป็นพิณแบบโบราณเหมือนเช่นพวกอียิปต์จำหลักไว้ในศิลา ฟังเสียงก็ไพเราะดี พวกคนรำนั้นเป็นผู้หญิง ๓ คน ยังเป็นสาวแต่ว่ารำได้อย่างพะม่า ๒ คน เป็นผู้ใหญ่อายุสัก ๔๐ ปี ชื่อว่า มะ Ma (มีชื่อคำกลางจำไม่ได้ ลงท้ายชื่อว่า) เยือน Yuen เราจึงเรียกกันตามสะดวกปากว่า “แม่เยื้อน” คน ๑ เป็นคนที่รำอย่างโยเดียได้ แกบอกว่าครูของแกเป็นละครผู้หญิงของพระเจ้ามินดง ตัวแกเองเดี๋ยวนี้ก็เลิกหาเลี้ยงชีพในการฟ้อนรำแล้ว เป็นแต่รับจ้างเป็นครูคนอื่น หญิงเหลือถามชื่อเพลงโยเดียที่แกรู้จัก และวานพะม่าจดตามคำบอกมาให้ดังนี้

๑. Khamein เดาว่า เขมร

๒. Ngu ngit เดาว่า ยุหงิด

๓. Mahothi เดาว่า มะโหรี

๔. Htanauk เดาว่า ตะนาว

๕. Farantin เดาว่า ฝรั่งเต้น

๖. Khetmun เดาว่า แขกมอญ

๗. Parin เดาว่า บลิ่ม

กระบวนที่แกจะรำให้ดูนั้น

๘. Paringya เดาว่า เพลงช้า

๙. Paringyin เดาว่า เพลงเร็ว

เมื่อรำก็ได้เค้า ด้วยตั้งต้นนั่งคุกเข่าประณมมือ ตั้งท่าเทพนม ปฐม พรหมสี่หน้า ถูกแบบเพลงช้าของไทย แต่รำคล้ายไทยอยู่สักสองสามท่า แล้วก็กลายไปคล้ายอย่างพะม่าทั้งเพลงช้าเพลงเร็ว ได้แต่จังหวะเหมือนไทย เมื่อดูแม่เยื้อนรำ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่าที่มองโปซินรำให้ดูที่เมืองจองเดนั้นคงเป็นท่าโขน ที่แม่เยื้อนรำเป็นท่าละครใน แต่ก็น่าประหลาดใจนักหนา ที่พะม่าได้ไทยไปเป็นครูละครถึง ๑๗๙ ปีมาแล้ว ยังรักษาท่าทางไว้ได้เพียงนั้น ดูรำแล้วฉันก็ลากลับมาโฮเต็ล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ