คำนำ

คุณหญิงพิชัยญาติและบุตรธิดาของเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) แจ้งความจำนงมายังกรมศิลปากรว่า มีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาพิชัยญาติสักเรื่องหนึ่ง ขอให้กรมศิลปากรช่วยเลือกเรื่องหนังสือที่จะพิมพ์ กรมศิลปากรจึงแนะนำให้พิมพ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่า พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะเป็นหนังสือที่ดีโดยประการทั้งปวง และเป็นหนังสือเรื่องใหญ่เหมาะแก่ที่จะพิมพ์แจกในงานนี้ บรรดาเจ้าภาพปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันแล้ว จึ่งตกลงรับพิมพ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตามคำแนะนำของกรมศิลปากร

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่านี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าตามที่ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นมาด้วยพระองค์เอง ประกอบกับความรอบรู้ที่ทรงศึกษาค้นคว้ามาด้วยความชำนิชำนาญเป็นพหุสูต จึ่งเป็นหนังสือที่น่าอ่านอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง ในกระบวนพรรณนาว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ ของประเทศพะม่าเพื่อนบ้านของเรา ตลอดจนเรื่องราวที่พะม่าเคยเกี่ยวข้องกับไทยเรามาแต่ก่อนอย่างไรๆ นั้นด้วย ผู้อ่านจะได้รับความรู้ทั้งในทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สาสนคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และอื่นๆ อีกหลายประการ ความรู้ต่างๆ ดังกล่าวมานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพะม่าโดยตรงก็จริง แต่พะม่ากับไทยมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันมามากในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพรรณนาไว้ในหนังสือนี้ จึงมีเกี่ยวโยงถึงไทยด้วยโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนปลาย ผู้อ่านจะได้ทราบเรื่องราวเก่าๆ ของไทย ควบคู่กันไปกับเรื่องราวของพะม่าที่ทรงนำมาเล่าเป็นตอนๆ ด้วยความเพลิดเพลินและน่าสนใจไม่เบื่อหน่าย บางตอนผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างขอพะม่ากับของไทยเหมือนกันอย่างน่าพิศวง ข้อสำคัญคือขนบธรรมเนียมในราชสำนักพะม่าที่ดูคล้ายกันกับขนบธรรมเนียมไทยแต่โบราณมาก ซึ่งผู้อ่านจะได้พบในตอนที่พรรณนาว่าด้วยปราสาทราชมณเฑียรและเครื่องยศของพะม่าในหนังสือนี้

ข้อที่เหมือนกันและคล้ายกันเช่นนี้ อาจเป็นด้วยพะม่ากับไทยได้แบบวัฒนธรรมมาจากอินเดียด้วยกันแต่ดึกดำบรรพ์ แต่ข้อนั้นจะเหมือนกันได้ก็เพียงโครงการ ส่วยรายละเอียดที่มาเพิ่มขึ้นหรือมาแก้ไขในเมืองไทยกับเมืองพะม่า จะเผอิญเหมือนกันด้วยต่างคิดไปโดนกันเข้า ยากที่จะเป็นได้ มิใครก็ใครคงเอาอย่างกันจึงเหมือนกัน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภพาจะทรงชี้ให้เห็นชัดในข้อนี้ ในส่วนวัฒนธรรมทางศิลปนั้น ปรากฏชัดทีเดียวว่าพะม่าเอาแบบอย่างของไทยไปใช้มาก เช่น เครื่องดนตรี การฟ้อนรำ การเล่นตลอดจนลวดลายกระบวนช่าง เป็นต้น สิ่งที่น่าพูมใจสำหรับไทยเราก็คือว่า อะไรที่เรียกว่าเป็นแบบไทย (พะม่าเรียก “แบบโยเดีย”) แล้ว ก็เป็นที่นับถือกันในพะม่าว่าดีทั้งนั้น ข้อความที่กล่าวมานี้ ผู้อ่านจะได้ทราบโดยละเอียดในหนังสือนี้

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่านี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานลิขสิทธิ์แก่หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดา กรมศิลปากรจึงทูลขออนุญาตต่อหม่อมเจ้าพัฒนายุ ก็ทรงยินดีประทานอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามประสงค์ ทั้งนี้ก็ดวยทรงดำเนินเจริญรอยสมเด็จพระบิดา ที่เมื่อได้ความรู้อะไรมาก็ประทานความรู้นั้นแจกจ่ายแก่ผู้อื่นต่อไปให้เป็นประโยชน์กว้างขวาง หากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสามารถหยั่งทราบได้ด้วยญาณวิถีทางใด ว่าหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าซึ่งทรงอุตสาหะนิพนธ์ขึ้นไว้นั้น ได้พิมพ์โฆษณาแจกจ่ายเป็นกุศลสาธารณประโยชน์ ก็คงจะทรงปีติปราโมทย์หาน้อยไม่

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานกิจ ซึ่งคุณหญิงพิชัยญาติและบุตรธิดาได้บำเพ็ญเป็นการสนองคุณแก่ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ผู้ถึงอสัญญกรรมด้วยความกตัญญูกตเวที และมีศรัทธาให้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกเป็นวิทยาทาน ขอบุญกุศลที่บำเพ็ญนั้นจงเป็นประโยชน์สมบัติอำนวยอิฐวิบากมนุญผลแก่ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติตามสมควรแก่คติในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.

กรมศิลปากร

๓๐ ตุลาคม ๒๔๘๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ