ตอนที่ ๓ เที่ยวเมืองหงสาวดี ภาคต้น

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม เวลาเช้า ๘ นาฬิกาเศษขึ้นรถยนต์ออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองหงสาวดี รถที่ไปวันนี้ มิสเตอร์คัสโตเนืยจัดรถขนาดย่อมกว่า “รถอาคาข่าน” ให้ ๒ หลังด้วยกัน และให้ผู้ช่วยในห้างอิสต์เอเซียติคไปเป็นเพื่อนคนหนึ่ง เพราะทางที่จะไปไกลกว่า ๒,๘๐๐ เส้น (๔๖ ไมล์) จึงคิดเตรียมป้องกันความลำบากหากจะเกิดขึ้นในระหว่างทาง หนทางที่ไปพอออกจากชานเมืองพ้นหมู่เนินแล้วก็ถึงที่ราบเป็นทุ่งนา มีบ้านเรือนราษฎรตั้งเป็นหย่อมๆ ตลอดไป ดูคล้ายกับที่สองข้างทางรถไฟในระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงศรีอยุธยา แต่ถนนรถปูพื้นด้วยอัสฟัลต์เรียบราบดีตลอดทาง เมื่อรถแล่นไปราว ๒ ชั่วโมง ใกล้จะถึงเมืองหงสาวดีข้ามเนินแห่งหนึ่งเป็นที่สูง เห็นพระมหาธาตุมุเตาแต่ไกล พอแลเห็นก็ใจหาย ฉันทราบอยู่แล้วว่าเมื่อแผ่นดินไหวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ (ซึ่งไหวไปถึงกรุงเทพฯ ด้วย แต่เวลานั้นฉันไปยุโรป กำลังอยู่ในเรือแล่นทางทะเล ไม่รู้สึก) ที่เมืองพะม่าแผ่นดินไหวแรงมากถึงพระมุเตาหักพัง เคยนึกแต่ว่าเพียงยอดหักและเชื่อว่าคงปฏิสังขรณ์คืนดีดังเก่าแล้ว ถึงได้ออกปากถามที่เมืองร่างกุ้งว่าพระมุเตานั้นซ่อมเสร็จแล้วหรือยัง เขาตอบแต่ว่ายังไม่แล้ว ฉันก็สำคัญว่าการปฏิสังขรณ์ยังค้างอยู่บ้างสักเล็กน้อย พอแลเห็นที่ไหนเล่า พระมุเตาพังหมดทั้งองค์เหลือแต่ฐานจึงตกใจ เมื่อถึงเมืองให้ขับรถไปยังศาลากลางก่อน เพราะกรมเลขานุการของรัฐบาลบอกว่าได้สั่งผู้ว่าราชการเมืองหงสาวดี ให้หาผู้ชำนาญไว้สำหรับนำพวกเราเที่ยว ครั้นไปถึงศาลากลางพบผู้ว่าวาชการเมืองเป็นพะม่าชื่อ อู สัน ติน U Than Tin คอยรับอยู่ บอกว่าตัวเขาจะนำเอง และเมื่อเที่ยวแล้วขอเชิญไปกินกลางวัน ณ จวนที่อยู่ของเขาด้วย ฉันก็รับด้วยขอบใจ

ตรงนี้จะเล่าเรื่องตำนานเมืองหงสาวดีเสียก่อน ผู้อ่านแรื่องตำนานเมืองแล้วอ่านความพรรณนาว่าด้วยวัตถุสถานที่ฉันได้ไปดูจึงจะเข้าใจแจ่มแจ้ง เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีควรลำดับอธิบายเป็นตอน ๆ ดังนี้ คือ

ตอนที่ ๑ นับแต่ พ.ศ. ๑๑๑๖ จน พ.ศ. ๑๖๐๐ ในตำนานว่ามีราชบุตรของพระเจ้ากรุงสะเทิม (อันตั้งอยู่เหนือเมืองเมาะตมะ) ๒ องค์ ทรงนามว่า “เจ้าสามล” องค์หนึ่ง “เจ้าวิมล” องค์หนึ่ง มาตั้งเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๖ ขณะเมื่อจะสร้างเห็นหงส์ทำรังอยู่ ณ เกาะใกล้กับเมืองเป็นนิมิต จึงขนานนามเมืองว่า “หงสาวดี” แต่คนทั้งหลายมักเรียกกันและยังเรียกกันอยู่จนบัดนี้ว่า “เมืองพะโค” Pegu เพราะอยู่ริมลำน้ำพะโค เมืองหงสาวดีเมื่อแรกสร้างนั้นอยู่ริมชายทะเล เพราะในสมัยนั้นยังเป็นทะเลเข้าไปไกล ตรงนั้นเป็นอ่าวปากน้ำสะโตง เปรียบดังเช่นอ่าวปากน้ำเจ้าพระยา เมืองสะเทิมอยู่ทางฟากตะวันออกอย่างเมืองจันทบุรี เมืองหงสาวดีอยู่ทางฟากตะวันตกอย่างเมืองเพชรบุรี นานมาตลิ่งงอกออกไปทั้ง ๒ ฟาก จนบัดนี้ทั้ง ๒ เมืองนั้นกลายเป็นเมืองดอนไปแล้ว เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนแรกสร้างไม่ใคร่มีอะไรเป็นแก่นสาร พึงสันนิษฐานแต่ว่าคงเป็นเมืองขึ้นของกรุงสะเทิมเมื่อยังเป็นอิสสระอยู่ข้างฝ่ายใต้ตลอดสมัยนั้น

เรื่องตำนานตอนที่ ๒ นับแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ จน พ.ศ. ๑๘๓๐ เมื่อพระเจ้าอนุรุทธเมืองพุกามมีอานุภาพแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ ได้กรุงสะเทิมไว้ในราชอาณาเขตต์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐ เมืองหงสาวดีก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของกรุงพุกามอยู่สัก ๒๐๐ ปี ในตอนนี้ปรากฏว่าเมืองหงสาวดีเป็นประเทศราช และเคยพยายามจะเป็นอิสสระแต่ทานกำลังกรุงพุกามไม่ไหว ก็ต้องเป็นเมืองขึ้นตลอดมาจนกรุงพุกามเสียแก่จีนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๐

เรื่องตำนานตอนที่ ๓ นับแต่ พ.ศ. ๑๘๓๐ จน พ.ศ. ๒๐๗๔ เมื่อพวกมงโกลได้เป็นใหญ่ในประเทศจีน และได้ประเทศนันเจาอันเป็นเมืองเดิมของไทยไว้ในอาณาเขตต์แล้ว พระเจ้ากรุงจีนกุบไลข่าน Kublai Khan ต้นราชวงศ์หงวนให้ทูตมายังเมืองพะม่า ทูตมาถูกพระเจ้ากรุงพุกามดูหมิ่น พระเจ้ากุบไลข่านจึงให้กองทัพจีนกับไทยสมทบกันยกมาตีได้เมืองพุกาม เมืองพุกามก็สิ้นอำนาจมาแต่นั้น เมื่อกองทัพจีนกลับไปแล้ว พวกไทยใหญ่ก็แผ่อำนาจรุกแดนพะม่าทางข้างเหนือ พวกไทยน้อยที่อยูในประเทศสยามก็รุกแดนเมืองมอญทางข้างใต้ ในสมัยนั้นมะกะโทไทยน้อยตั้งต้วเป็นใหญ่ได้ที่เมืองเมาะตมะ ด้วยอาศัยความอุดหนุนจากกรุงสุโขทัยในรัชชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงตั้งเป็นเจ้าประเทศราช พระราชทานนามว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” (พะม่าเรียกว่า “วเรรุ”) และพระราชทานอนุเคราะห์อย่างอื่นๆ จนสามารถขยายอาณาเขตต์ขึ้นไปได้ถึงเมืองหงสาวดี ที่อ้างในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง ฯ ว่าราชอาณาเขตต์ทางด้านตะวันตกถึงเมืองหงสาวดีนั้นเป็นอันตรงกับในพงศาวดาร เมื่อสิ้นพระเจ้าฟ้ารั่วแล้ว พระยามหากษัตริย์ซึ่งสืบวงศ์ฟ้ารั่วยังตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองเมาะตมะ Mutaban ต่อมาอีกหลายองค์ จนถึงพระยาอู่ (อันเป็นพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช) ซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ จึงย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองหงสาวดี ถึงสมัยนั้นพะม่าก็กลับตั้งตัวเป็นอิสสระได้ สร้างเมืองอังวะเป็นราชธานี มีพระยามหากษัตริย์ปกครองมาหลายชั่ว จึงเกิดเป็นประเทศมอญอยู่ข้างใต้ ประเทศพะม่าอยู่ข้างเหนือ ต่างมีอิสสระเสมอกัน พอล่วงรัชชกาลพระยาอู่แล้ว พระเจ้าราชาธิราชได้ครองกรุงหงสาวดีในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๒๘ จนพ.ศ. ๑๙๖๖ มอญกับพะม่าก็เกิดรบกันเป็น “มหายุทธสงคราม” ดังปรากฏในหนังสือเรื่องราชาธิราช รบกันอยู่ช้านานจนอ่อนกำลังลงด้วยกันจึงเลิกสงคราม เชื้อสายของพระเจ้าราชาธิราชได้ครองเมืองหงสาวดีต่อมาอีก ๔ องค์ หมดสิ้นเจ้าชายที่จะรับรัชชทายาท ชาวเมืองหงสาวดีจึงยกนางพระยาตะละเจ้าท้าว (พะม่าเรียกว่า Shinsawbu) ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชขึ้นครองแผ่นดิน อยู่ในราชสมบัติแต่ พ.ศ. ๑๙๙๖ จน พ.ศ. ๒๐๑๕ นางไม่มีราชบุตรจึงมอบเวนราชสมบัติแก่พระมหาปิฎกธรราชบุตรเขย เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๕ จน พ.ศ. ๒๐๓๕ ทรงพระนามว่า “พระเจ้ารามาธิบดี” แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า “พระเจ้าธรรมเจดีย์” พระเจ้าหงสาวดีองค์นี้ร่วมสมัยและเป็นมิตรไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมืองไทยและพระเจ้าติโลกมหาราชเมืองเชียงใหม่ ได้สร้างโบราณวัตถุสถานและจัดการบ้านเมืองหงสาวดีหลายอย่าง ซึ่งจะพรรณนาเมื่อกล่าวอธิบายถึงวัตถุสถานนั้นๆ ต่อไปข้างหน้า เชื้อสายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ได้ครองเมืองหงสาวดีต่อมาอีก ๒ องค์ ถึง พ.ศ. ๒๐๘๔ พวกพะม่าเมืองตองอูก็ลงมาตีได้เมืองหงสาวดี

เรื่องตำนานตอนที่ ๔ นับแต่ พ.ศ. ๒๐๘๔ มาจน พ.ศ. ๒๑๔๒ ในตอนนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเมืองไทยมาก จำเดิมแต่เมืองพุกามเสียแก่จีนแล้ว พวกพะม่าถูกพวกไทยใหญ่ยํ่ายีต่อมา ก็พากันหนีภัยไปอยู่ที่เมืองตองอูโดยมาก เมืองตองอูก็กลายเป็นเมืองพะม่า มีกำลังมากขึ้นโดยลำด้บ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีที่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าธรรมเจดีย์อ่อนกำลังลง ทางเมืองตองอูเกิดมีวีรบุรุษขึ้นในวงศ์เจ้าเมืองตองอู ๒ องค์ องค์หนึ่งชื่อ “มังตรา” เป็นราชบุตรของพระเจ้าตองอู ได้รับรัชชทายาททรงนามว่า “พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้” (แปลว่า “สุวรรณเอกฉัตร”) อีกองค์หนึ่งก็เป็นเชื้อพระราชวงศ์ และเป็นพี่พระมเหสีของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงตั้งให้มียศเรียกว่า “บุเรงนอง” (แปลว่า “พระเชษฐาธิราช”) เป็นแม่ทัพช่วยกันทำสงครามแผ่อาณาเขตต์ ตีเมืองหงสาวดีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๔ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ย้ายราชธานีมาอยู่เมืองหงสาวดี ในหนังสือพงศาวดารไทยเรียกพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แต่ว่า “พระเจ้าหงสาวดี” หรือว่า “พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ” ทำให้เข้าใจกันว่าเป็นมอญ แต่ที่จริงพระเจ้าหงสาวดีตอนนี้เป็นพะม่าทั้งนั้น หาใช่มอญไม่ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้เมืองหงสาวดีเป็นที่มั่นแล้ว เที่ยวรบพุ่งปราบปรามบ้านเมืองที่ใกล้เคียงจนได้เมืองพะม่า มอญ ยักไข่ และไทยใหญ่โดยมากไว้ในราชอาณาเขตต์ แล้วยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ (คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง) แต่ตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ ต้องล่าทัพกลับถอยไป เมื่อกลับไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ไปเกิดวิกลจริตด้วยติดสุราเมามายร้ายกาจ จนพวกมอญพากันเอาใจออกหากเป็นขบถขึ้นที่เมืองเมาะตมะ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้บุเรงนองลงไปปราบปราม พอบุเรงนองออกจากเมืองหงสาวดี ไปยังไม่ทันถึงเมืองเมาะตมะ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็ถูกจับปลงพระชนม์ แล้วพวกมอญยกสมิงทอรามราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดี พระยาราญหลานพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าเมืองตองอูและเจ้าเมืองแปรก็พากันตั้งตัวเป็นอิสสระ บ้านเมืองเป็นจลาจล บุเรงนองไม่สามารถจะปราบได้ก็ต้องหลบหนีไปคราวหนึ่ง แต่ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมส้องสุมผู้คนในไม่ช้าก็หากำลังได้เพียงพอ เพราะคนเคยกลัวฝีมือมาแต่ก่อน ทั้งพวกมอญและพะม่าพากันมาเข้าด้วยเป็นอันมาก บุเรงนองจึงตีได้ทั้งเมืองแปรเมืองตองอูและเมืองหงสาวดี แล้วราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าบุเรงนองมีอานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ สามารถปราบปรามประเทศอื่นที่ใกล้เคียง ทั้งพะม่า มอญ ไทยใหญ่ ยักไข่ และได้ประเทศลานนา เชียงใหม่ ประเทศลานช้าง ตลอดจนตีได้กรุงศรีอยุธยาและเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น แม้ประเทศอื่นที่มิต้องขึ้นต่อกรุงหงสาวดี เช่น ประเทศลังกา อินเดีย (ครั้งมหาวงศ์มงโกล) และ โปรตุเกศ (ซึ่งมามีอำนาจและเมืองขึ้นทางตะวันออกตอนนี้) ก็ต้องทำทางไมตรี ไม่มีใครกล้าเบียดเบียฬ ในพงศาวดารจึงยกย่องพระเจ้าบุเรงนองเป็นพระเจ้ามหาราช เรียกว่า “พระเจ้าชะนะสิบทิศ” พระเจ้าบุเรงนองสร้างเมืองหงสาวดีให้มีป้อมปราการเป็นมหานครกว้างขวาง แผนผังปรากฏอยู่ในหนังสือฝรั่งแต่งในสมัยนั้น สัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยมจตุรัส พระราชวังตั้งอยู่กลางเมืองเหมือนกับเมืองมัณฑเล ซึ่งถ่ายแบบมาจากเมืองอมรบุระอันเป็นราชธานีอยู่ก่อน น่าสันนิษฐานต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าปะดุงสร้างเมืองอมรบุระ ก็คงจะถ่ายแบบเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองไปสร้าง ด้วยบำเพ็ญพระเกียรติยศเจริญรอยพระเจ้าบุเรงนอง ในหนังสือพงศาวดารกล่าวต่อไปว่า เมืองหงสาวดีที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างนั้น มีประตูซุ้มยอดด้านละ ๓ ประตู (เหมือนกับเมืองมัณฑเล) ให้เรียกตามชื่อเมืองประเทศราชที่ถูกเกณฑ์คนไปทำการ เช่นเรียกว่า ประตูอังวะ ประตูอโยธยา และประตูเชียงใหม่ เป็นต้น (เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เกณฑ์คนเมืองประเทศราช มาช่วยสร้างทำนองเดียวกัน) มีของประหลาดสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะนำมากล่าวอธิบายไว้ในที่นี้ด้วย คือที่ริมประตูข้างในพระราชวังเมืองมัณฑเลมีหอสูงหลังหนึ่งเรียกว่า “หอพระเขี้ยวแก้ว” ยังปรากฏอยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่เล่ากันว่าหาเคยมีพระเขี้ยวแก้วอยู่ในหอนั้นไม่ ที่เรียกว่าหอพระเขี้ยวแก้ว เพราะสร้างตามแบบอย่างพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนองเมืองหงสาวดี และในเรื่องพงศาวดารรัชชกาลของพระเจ้าบุเรงนองนั้น กล่าวถึงการเกี่ยวข้องกับพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกามียืดยาว ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงเลื่อมใสในพระเขี้ยวแก้วมาก ถึงเอาเส้นพระเกศาของพระองค์เองและของพระอัครมเหสีทำแส้ล่งไปถวายพระเขี้ยวแก้วเป็นพุทธบูชา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๐๓ พวกโปรตุเกศตีได้เมืองลังกา ชิงเอาพระเขี้ยวแก้วไปยังเมืองเคาว์ Gao อันเป็นเมืองหลวงของโปรตุเกศในอินเดีย พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็แต่งทูตให้ไปว่ากล่าวแก่โปรตุเกศ จะขอไถ่พระเขี้ยวแก้วด้วยเงินสินไถ่ ๖ แสน และจะให้ข้าวสารเป็นสะเบียงแก่พวกโปรตุเกศที่มาตั้งอยู่เมืองมละกาด้วย ไวสรอย Viceroy ข้าหลวงต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกศจะยอมให้ไถ่พระเขี้ยวแก้ว ด้วยยินดี แต่สังฆราชโรมันคาธอลิคขัดขวาง อ้างว่าทำเช่นนั้นเป็นทางเกื้อกูลศาสนาซึ่งเป็นปรปักษ์ด้วยเห็นแก่สินบน ประกาศติเตียนอย่างรุนแรง จนไวสรอยต้องเอาพระเขี้ยวแก้วไปมอบให้สังฆราช สังฆราชเอาพระเขี้ยวแก้วใส่ครกโขลกจนละเอียดแล้วเอาเผาไฟเทเท่าถ่านทิ้งลงน้ำให้ศูนย์ไป ทูตของพระเจ้าบุเรงนองต้องกลับมามือเปล่า แต่เมื่อมาถึงเมืองคอลัมโบที่เกาะลังกา พวกขุนนางคนสนิทของเจ้าเมืองคอลัมโบกระซิบบอกให้ทราบว่า ที่พวกโปรตุเกศว่าได้ทำลายพระเขี้ยวแก้วเสียแล้วนั้นไม่จริง ด้วยพระเขี้ยวแก้วกระทำปาฏิหาริย์กลับมาเมืองลังกา เจ้าเมืองคอลัมโบได้ไว้ แต่ต้องปิดบังซ่อนไว้ด้วยเกรงโปรตุเกศจะมาติดตาม พวกขุนนางเหล่านั้นพาทูตเข้าไปดูถึงหอพระที่ทำไว้เป็นห้องลับที่ในวัง ก็เห็นพระเขี้ยวแก้วอยู่ที่นั่นจริง ทูตลองพูดทาบทามกับเจ้าเมืองคอลัมโบ เจ้าเมืองคอลัมโบบอกว่าเวลานั้นมีความเดือดร้อนอยู่ด้วยข้าศึกจะมาตีบ้านเมือง ถ้าพระเจ้าหงสาวดีทรงเป็นที่พึ่งป้องกันให้พ้นภัยได้ ก็จะยอมถวายพระเขี้ยวแก้วด้วยความยินดี ทูตนำความมาทูล พระเจ้าบุเรงนองจึงตรัสสั่งให้กองทัพไปช่วยต่อสู้ข้าศึก ครั้นมีชัยชะนะ เจ้าเมืองคอลัมโบก็ส่งพระเขี้ยวแก้วมาถวายตามสัญญา พระเจ้าบุเรงนองจึงให้สร้างหอขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไว้ที่ในพระราชวัง และมีมหกรรมฉลองพระเขี้ยวแก้วเมื่อมาถึงเมืองหงสาวดีเป็นการใหญ่โต ให้ปรากฏพระเกียรติยศที่สามารถเชิญพระเขี้ยวแก้วย้ายมาจากเมืองลังกาได้ แต่ทางเมืองลังกาในสมัยนั้นก็แยกกันเป็นหลายอาณาเขตต์ พอกิตติศัพท์ระบือไปว่าเจ้าเมืองคอลัมโบถวายพระเขี้ยวแก้วแก่พระเจ้าบุเรงนอง เจ้าเมืองสิงห์ขัณฑ์นคร Kandy ก็ประกาศว่าพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ตกมายังเมืองหงสาวดีนั้นเป็นของปลอม องค์ที่แท้นั้นปาฏิหาริย์มาอยู่ ณ เมืองสิงห์ขัณฑ์นคร (ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้) หาได้ไปสู่เมืองคอลัมโบไม่ เรื่องมีมาดังนี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองครองกรุงหงสาวดีอยู่ถึง ๓๐ ปี ตั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ให้เป็นประเทศราชครองเมืองอังวะองค์ ๑ เมืองแปรองค์ ๑ เมืองตองดูองค์ ๑ เมืองเชียงใหม่องค์ ๑ และมีประเทศราชชาติอื่น คือ ประเทศไทยสยาม ๑ ประเทศยักไข่ ๑ ประเทศลานช้าง ๑ กับทั้งเมืองไทยใหญ่ที่เป็นอย่างประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดีก็หลายเมือง แต่ล้วนมีความกลัวเกรงพระเจ้าบุเรงนองไม่กล้าคิดร้าย บ้านเมืองก็เรียบร้อยมาจนตลอดรัชชกาล ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ มังชัยสิงห์ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาได้รับรัชชทายาท เป็นพระเจ้าหงสาวดีทรงพระนามว่า “พระเจ้านันทบุเรง” พอเปลี่ยนรัชชกาลก็เกิดความลำบาก เหตุด้วยเจ้าประเทศราชทั้งปวงไม่กลัวเกรงนับถือพระเจ้านันทบุเรงเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง เริ่มเกิดเหตุด้วยพระเจ้าอังวะตั้งแข็งเมืองก่อน แล้วสมเด็จพระนเรศวรก็ประกาศประเทศไทยสยามเป็นอิสสรภาพ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสามารถเอาชัยชนะเมืองอังวะได้ แต่เมื่อมาปราบประเทศไทยสยามกลับพ่ายแพ้สมเด็จพระนเรศวรติดๆ กันถึง ๔ ครั้ง ครั้งหลังพระมหาอุปราชาเป็นจอมพลมาคราวชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรก็สิ้นพระชนม์ แต่นั้นพระเจ้าหงสาวดีก็เข็ดขยาดไม่กล้ามาตีเมืองไทยอีก พวกประเทศราชและหัวเมืองทั้งปวงเห็นพระเจ้าหงสาวดีสิ้นฤทธิ์ ก็ยิ่งยำเกรงน้อยลง พอสมเด็จพระนเรศวรตีได้เมืองตะนาวศรีกับเมืองทะวาย หัวเมืองมอญทางฝ่ายใต้ลำน้ำสลวินก็มาสามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงเสด็จขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี (ครั้งแรก) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๘ ไปตั้งล้อมเมืองอยู่ ๓ เดือน ได้ทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร และพระเจ้าตองอู ยกกองทัพลงมาช่วยเมืองหงสาวดี เห็นข้าศึกมีกำลังมากนักก็เสด็จยกทัพกลับมาเสียครั้งหนึ่ง ก็เจ้าเมืองทั้ง ๓ องค์นั้น พระเจ้าแปรกับพระเจ้าอังวะเป็นราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง แต่พระเจ้าตองอูเป็นลูกพระปิตุลา ได้ครองเมืองนั้นมาแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กองทัพพระเจ้าอังวะกับพระเจ้าตองอูมาถึงเมืองหงสาวดีก่อน แต่พระเจ้าแปรโอ้เอ้ยังไม่ยกกองทัพลงมา พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองจึงตั้งพระเจ้าอังวะเป็นพระมหาอุปราชา (แทนองค์ที่ขาดคอช้าง) พระเจ้าแปร (เห็นจะเป็นพี่) ก็เกิดโทมนัสใส่โทษพระเจ้าตองอูว่าเป็นผู้คิดอ่านยุยงส่งเสริม เลยยกกองทัพที่ได้เตรียมไว้ไปตีเมืองตองอู แต่ตีไม่ได้ กลับไปเมืองแปรก็เลยตั้งตัวเป็นอิสสระ ฝ่ายพระเจ้าตองอูเห็นว่าเมืองหงสาวดีกับเมืองแปรแตกกันเช่นนั้นแล้ว ถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปอีกคงได้เมืองหงสาวดี ถ้ามาเข้ากับสมเด็จพระนเรศวรเสียก่อนอาจจะได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีในภายหน้า จึงลอบแต่งทูตให้นำบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนเรศวร และให้ทูลว่าถ้าเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อไรจะรับช่วย พระเจ้าตองอูจะได้ชักชวนพระเจ้ายักไข่ในตอนนี้หรืออย่างไรไม่ปรากฏ แต่พระเจ้ายักไข่ก็ให้ทูตมาทูลสมเด็จพระนเรศวรอย่างเดียวกัน เพราะอยากได้หัวเมืองมอญตอนปากน้ำเอราวดีเป็นอาณาเขตต์ สมเด็จพระนเรศวรได้ทีก็ตรัสสั่งให้เตรียมกองทัพจะเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๑๔๒ ให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพล่วงหน้าไปสะสมสะเบียงอาหารไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงก่อน ในเวลานั้นที่เมืองตองอูมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อ “เสียมเพรียม” เห็นจะเป็นอาจารย์ของพระเจ้าตองอู ทูลทักท้วงว่าอุบายอย่างที่คิดนั้นเห็นจะไม่เป็นประโยชน์ดังปรารถนา เพราะถ้าสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีได้ ที่ไหนจะปล่อยให้มีกำลังอยู่เป็นคู่แข่งกรุงศรีอยุธยาเหมือนแต่ก่อน คงกวาดต้อนเอาผู้คนไปเป็นชะเลย และตัดกำลังด้วยประการอย่างอื่น แม้ได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีก็จะได้ครองแต่เมืองเปล่า แล้วบอกอุบายให้ทำอย่างอื่น พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย จึงไปว่ากล่าวบนบานพระเจ้ายักไข่ก็ยอมกลับใจไปร่วมคิดด้วย พระเจ้าตองอูแต่งคนสนิทให้แยกย้ายกันมาเที่ยวลวงพวกมอญเมืองเมาะตมะ ที่ถูกเกณฑ์ทำนาหาสะเบียงส่งกองทัพไทย ว่าพอเสร็จการทำนาแล้วไทยจะกวาดต้อนเอาไปเป็นชะเลย พวกมอญก็เกิดหวาดหวั่นพากันหลบหนี เมื่อถูกจับกุมก็ยิ่งตื่นหนักขึ้น ครั้นเจ้าพระยาจักรีว่ากล่าวเอาโทษมอญชั้นมูลนายที่ควบคุม พวกนั้นก็เลยไปเข้ากับพวกชาวนา จึงเป็นขบถขึ้นในเมืองเมาะตมะ ไทยต้องปราบขบถเสียเวลา หลายเดือน ทางโน้นได้ช่องพระเจ้ายักไข่ก็ยกกองทัพขึ้นไปตั้งติดเมืองหงสาวดี ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็ยกกองทัพลงมาโดยอ้างว่าจะมาช่วยรักษาเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมิรู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยพระเจ้าแปรก็ตั้งแข็งเมือง พระเจ้ายักไข่ก็จะตีเมือง และสมเด็จพระนเรศวรก็จะยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีในเร็วๆ นั้น ซ้ำพวกชาวเมืองแม้จนพระมหาอุปราชาก็ไปเข้าด้วยพระเจ้าตองอูโดยมาก ก็ต้องยอมมอบอำนาจให้พระเจ้าตองอูเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พอพระเจ้าตองอูได้ว่าราชการ ก็ทำสัญญาหย่าสงครามกับพระเจ้ายักไข่ โดยยอมยกหัวเมืองปากน้ำเอราวดี มีเมืองสิเรียมเป็นต้นให้เป็นอาณาเขตต์เมืองยักไข่ ทั้งยกราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีองค์ ๑ กับช้างเผือกตัว ๑ ให้พระเจ้ายักไข่ด้วย พระเจ้ายักไข่ก็ถอยทัพกลับไป แต่ยังวางพวกกองโจรให้ซุ่มอยู่ในแขวงเมืองหงสาวดี พอกองทัพพระเจ้ายักไข่ถอยไปแล้ว พระเจ้าตองอูทูลพระเจ้าหงสาวดีว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรที่ยกขึ้นไปมีกำลังใหญ่หลวงยิ่งกว่ากองทัพพระเจ้ายักไข่มาก จะตั้งต่อสู้ที่เมืองหงสาวดีเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ขอเชิญเสด็จย้ายไปยังเมืองตองอูจึงจะพ้นภัย พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องบัญชาตาม พระเจ้าตองอูจึงให้กวาดต้อนผู้คนเมืองหงสาวดีพาไปเมืองตองอู พอพระเจ้าตองอูกวาดคนไปแล้ว พวกกองโจรเมืองยักไข่ได้ทีก็เข้าค้นคว้าหาทรัพย์สินที่ตกค้าง เลยเผารั้ววังทั้งปราสาทราชมณเฑียรและบ้านเรือนไฟไหม้หมดทั้งเมือง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพขึ้นไปถึงได้เมืองหงสาวดีแต่ซากซึ่งไฟไหม้ยังไม่ดับหมด ก็แค้นพระราชหฤทัย ให้ยกกองทัพเลยไปตีเมืองตองอู ตั้งล้อมเมืองอยู่จนขาดสะเบียงอาหาร เพราะพวกกองโจรเมืองยักไข่คอยลอบสกัดตัดลำเลียงอยู่ข้างใต้ ต้องเสด็จเลิกทัพกลับอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่พระเจ้านันทบุเรงต้องทิ้งเมืองหงสาวดีหนีสมเด็จพระนเรศวรครั้งนั้น เป็นเหตุให้กรุงหงสาวดีอันเป็นที่ยำเกรงกันมาแต่ก่อนหมดอำนาจในทันที หัวเมืองมอญข้างใต้เมืองหงสาวดีก็มายอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมืองไทยใหญ่ทางฝ่ายเหนือก็มาสามิภักดิ์ แม้จนพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าหงสาวดีเองก็มาอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นของไทย ราชอาณาเขตต์ของสมเด็จพระนเรศวรจึงกว้างใหญ่ไพศาลจนจดประเทศจีน

เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนที่ ๕ นับแต่ พ.ศ. ๒๑๔๒ จน พ.ศ. ๒๑๗๒ ว่าเมื่อพระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงไปนั้น ลอบวางยาพิษฆ่าพระมหาอุปราชาราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีเสีย แต่นั้นไม่มีใครกีดขวางพระเจ้าตองอูก็ได้สำเร็จราชการ จึงทำหนังสือรับสั่งพระเจ้าหงสาวดีประกาศแก่หัวเมืองขึ้นทั้งปวง ว่าโหรถวายพยากรณ์ว่าที่เกิดเหตุเภทภัยเป็นเพราะชาตาเมืองหงสาวดีถึงคราวเคราะห์ร้ายยิ่งนัก ต่อพ้น ๗ ปีจึงจะคืนดีดังแต่ก่อน เพราะฉะนั้นพระเจ้าหงสาวดีจะประทับเสวยราชย์อยู่ที่เมืองตองอูต่อไปจนสิ้นเคราะห์พระนคร จึงจะกลับไปอยู่เมืองหงสาวดี พวกเจ้าเมืองขึ้นโดยมากพากันสงสัยว่าเป็นอุบายของพระเจ้าตองอูจะเอาพระเจ้าหงสาวดีไว้ในเงื้อมมือเพราะปรารถนาราชสมบัติ บางเมืองถึงยกกองทัพไปยังเมืองตองอูด้วยหวังจะแก้ไขพระเจ้าหงสาวดีให้พ้นภัย แต่พระเจ้าตองอูทูลยุยงพระเจ้าหงสาวดีว่าพวกหัวเมืองเหล่านั้นเข้ากับไทย ยกไปเป็นกลอุบายเพื่อจะได้พระองค์ไปส่งแก่สมเด็จพระนเรศวร พระเจ้าหงสาวดีก็ให้มีหนังสือรับสั่งตั้งกระทู้ถาม ว่าตามประเพณีต้องมีท้องตราสั่งหัวเมืองจึงจะยกกองทัพเข้าไปยังราชธานีได้ ที่พากันยกกองทัพไปแต่โดยพลการเช่นนั้นจะเป็นขบถหรือ พวกเจ้าเมืองก็จนใจต้องเลิกทัพกลับไปแล้วตั้งแข็งเมืองไม่ยอมฟังบังคับบัญชาของพระเจ้าตองอู ในขณะนั้นนัดจินหน่องบุตรของพระเจ้าตองอูคิดเห็นว่าแต่เดิมเมืองตองอูก็อยู่เย็นเป็นสุขมาช้านาน มาเกิดเดือดร้อนเพราะพระเจ้าตองอูรับเอาพระเจ้าหงสาวดีไปไว้ สมเด็จพระนเรศวรจึงไปตีบ้านเมือง และยังซ้ำถูกพวกหัวเมืองยกกองทัพไปล้อมเมืองอีก ถ้าพระเจ้าหงสาวดียังอยู่ที่เมืองตองอูตราบใด ก็คงไม่พ้นสมเด็จพระนเรศวรหรือประเทศราชในเมืองพะม่าเองไปตีเมืองตองอูอีก จะอาศัยเจ้าเมืองขึ้นเป็นกำลังก็ไม่ได้ เมืองตองอูคงจะต้องฉิบหายเพราะพระเจ้าหงสาวดี คิดดั่งนั้นแล้วจึงลอบวางยาพิษพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าตองอูก็สิ้นทางที่จะดำเนินตามอุบายของพระมหาเถรเสียมเพรียมต่อไป ได้แต่ออกประกาศว่าเมื่อก่อนพระเจ้าหงสาวดีจะสิ้นพระชนม์ได้มอบเวนราชสมบัติให้ ก็ไม่มีใครเชื่อถือ ในการนั้นมีน้องยาเธอของพระเจ้าหงสาวดีองค์หนึ่งทรงนามว่า “นะยองยาน” หนีไปอยู่ที่เมืองพุกาม ไม่ตามเสด็จพระเจ้าหงสาวดีไปเมืองตองอู เมื่อทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ ก็คุมพรรคพวกขึ้นไปยังเมืองอังวะอันว่างเจ้าครองเมืองอยู่ตั้งแต่พระเจ้าอังวะได้เลื่อนเป็นพระมหาอุปราชา ผู้คนพลเมืองเห็นว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็พากันนิยมยินดีเชิญขึ้นครองเมืองอังวะ ราชาภิเษกทรงนามว่า “พระเจ้าสีหสุธรรมราชา” แต่นั้นเมืองแปรเมืองตองอูและเมืองอังวะก็เป็นอิสสระแยกกันอยู่เป็น ๓ ก๊ก พระเจ้าอังวะอยู่ข้างเหนือจึงพยายามขยายอาณาเขตต์ออกไปทางเมืองไทยใหญ่ จนถึงไปตีเมืองนายและเมืองแสนหวี ซึ่งได้สามิภักดิ์ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่หมายจะไปตีเมืองอังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๗ แต่เผอิญไปประชวรสวรรคตที่เมืองหาง กองทัพไทยก็ต้องถอยกลับมา ทางโน้นพระเจ้าอังวะจึงได้เมืองไทยใหญ่ข้างฝ่ายเหนือกลับไปเป็นของพะม่าทั้งหมด แต่เมื่อเลิกทัพกลับไปพระเจ้าอังวะก็ประชวรสิ้นพระชนม์ในกลางทาง ราชบุตรทรงนามตามที่พะม่าเรียกว่า “อนอกเปตลุน” ได้รับราชสมบัติทรงพระนามว่า “พระเจ้ามหาธรรมราชา” พระเจ้าอังวะองค์นี้มีอานุภาพมาก พยายามขยายอาณาเขตต์ต่อลงมาข้างใต้ ได้ทั้งเมืองแปร เมืองตองอู และเมืองมอญตอนปากน้ำเอราวดีที่พระเจ้าตองอูยกให้เมืองยักไข่ไว้ในอำนาจ หัวเมืองมอญฝ่ายเหนือที่เคยขึ้นต่อไทยเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรก็พากันกลับใจไปเข้ากับพะม่าโดยมาก พระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาจึงทำพิธีราชาภิเษกเป็นราชาธิราช กลับตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้มาเกลี้ยกล่อมพระยาทละ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งเป็นอุปราชว่า กล่าวหัวเมืองมอญทางฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาะตมะ พระยาทละเห็นว่าไทยเพิกเฉยมิได้ไปป้องกันหัวเมืองมอญทางฝ่ายเหนือเหลือกำลังที่จะต่อสู้พระเจ้าหงสาวดี ก็อ่อนน้อมยอมกลับไปขึ้นแก่พะม่าโดยดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีมหาธรรมราชาได้หัวเมืองมอญทั้งหมดแล้ว ก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรี มาพบกองทัพไทยที่ออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้รบกัน สู้ไทยไม่ได้ต้องหนีไป ไปตีเมืองเชียงใหม่ก็ถูกไทยไล่กลับไปอีก ลงปลายพระเจ้าหงสาวดีมหาธรรมราชาจึงมาชวนไทยเป็นไมตรีเมื่อใกล้จะสิ้นรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ ในเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาก็มีความลำบากด้วยพวกฝรั่งและญี่ปุ่นมักมาก้าวร้าวทางทะเล ต้องระวังรักษาพระนคร จึงรับเป็นไมตรีกับพะม่า โดยตกลงกันว่าพะม่าจะไม่มาบุกรุกแดนไทย ไทยก็จะไม่ไปบุกรุกแดนพะม่า เป็นไมตรีกันมาจนตลอดรัชชกาลพระเจ้าทรงธรรม แต่พระเจ้าหงสาวดีมหาธรรมราชาครองเมืองหงสาวดีอยู่ไม่ช้า พอถึง พ.ศ. ๒๑๗๑ ก็เกิดเหตุด้วยมังเรทิปราชบุตรเป็นชู้กับนักสนม พระเจ้าหงสาวดีจะลงโทษ มังเรทิปจึงลอบปลงพระชนม์เสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติ มองสะลุนเจ้าเมืองแปรน้องยาเธอของพระเจ้าหงสาวดีมหาธรรมราชาจึงยกกองทัพลงมาจับมังเรทิปได้ให้สำเร็จโทษเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติทรงนามว่า “พระเจ้าสุทโธธรรมราชา” พวกมอญกำเริบเป็นขบถขึ้นที่เมืองหงสาวดี แต่สู้พะม่าไม่ไหวก็พากันหนีลงมายังเมืองเมาะลำเลิง พระเจ้าสุทโธธรรมราชาให้เที่ยวตามจับพวกมอญฆ่าเสียเป็นอันมาก เป็นเหตุให้พวกมอญอพยพหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นสัก ๖,๐๐๐ คน เมื่อเสร็จการปราบขบถแล้ว พระเจ้าสุทโธธรรมราชาเห็นว่าจะตั้งอยู่เมืองหงสาวดีไว้ใจพวกมอญไม่ได้ ปรารภต่อไปว่าเมืองหงสาวดีก็ยับเยิน ปราสาทราชมณเฑียรของเดิมก็ถูกไฟไหม้หมดไม่มีเหลือ พระเจ้าหงสาวดีองค์ก่อนเป็นแต่มาปลูกตำหนักรักษาเหมือนกับมาอาศัยอยู่ จึงย้ายราชธานีขึ้นไปตั้งที่เมืองอังวะ แต่นั้นเมืองหงสาวดีก็เป็นแต่ที่อุปราชตั้งปกครองหัวเมืองมอญฝ่ายเหนือ เป็นคู่กับเมืองเมาะตมะที่มีอุปราชอีกคนหนึ่งปกครองหัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ต่อมา แต่ในรัชชกาลพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยาทอดทิ้งเมืองทะวายกับเมืองเชียงใหม่ให้ไปขึ้นกับพะม่า ถึงกระนั้นพะม่ากับไทยก็ยังเป็นไมตรีกันมาจนตลอดรัชชกาลพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระเจ้าอังวะทราบว่าพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต แต่งทูตเข้ามาเยี่ยมพระศพ ทูตพะม่ามาถึงเวลาพระเจ้าปราสาททองชิงได้ราชสมบัติ ทูตไม่เคารพ พระเจ้าปราสาททองทรงขัดเคืองให้ขับไล่ไปเสียจากพระนคร แต่นั้นพะม่ากับไทยก็ขาดทางไมตรีกัน แต่ไม่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกันมาจนถึงรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช

เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนที่ ๖ นับแต่ พ.ศ. ๒๑๗๒ จน พ.ศ. ๒๒๘๓ ความว่าพระเจ้าสุทโธธรรมราชาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๑ มองปีทะเลราชบุตรได้รับราชสมบัติทรงนามว่า “พระเจ้าสิรินันทสุธรรมราชา” ครองเมืองต่อมา ในรัชชกาลนี้ประจวบเวลาพวกเม่งจูได้เมืองจีน มีพวกจีนอพยพหลบหนีมาทางเมืองเสฉวนมาอาศัยอยู่ในมณฑลฮุนหนำ (ซึ่งเคยเป็นประเทศนันเจาของไทยแต่โบราณ) และเมืองไทยใหญ่ฝ่ายเหนือเป็นอันมากด้วยกัน จีนพวกนั้น (ในหนังสือพงศาวดารไทยเรียกว่า “ฮ่อ”) อดอยากจึงประพฤติเป็นโจร รวมกันเป็นกองใหญ่บ้างเล็กบ้างลงมาเที่ยวปล้นบ้านเมืองในแดนพะม่า พระเจ้าอังวะไม่มีกำลังพอจะปราบปรามพวกจีน ก็ได้แต่ระวังรักษาราชธานี ในเวลานั้นสมเด็จพระนารายน์ทรงครองกรุงศรีอยุธยา เห็นได้ทีก็เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ได้เมืองเชียงใหม่กลับคืนมาเป็นของไทย ในหมู่นั้นเองพะม่าเกณฑ์มอญทางหัวเมืองฝ่ายใต้ให้ไปช่วยรบจีน พวกมอญพากันเป็นขบถขึ้นที่เมืองเมาะตมะ แต่ต้านทานกองทัพพะม่าที่ยกลงไปจากเมืองหงสาวดีไม่ได้ พวกมอญเมืองเมาะตมะก็พากันอพยพมาอาศัยเมืองไทยประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และจับเอามังนันทมิตรอาพระเจ้าอังวะซึ่งเป็นอุปราชครองเมืองเมาะตมะมาถวายสมเด็จพระนารายน์ด้วย พระเจ้าอังวะขัดเคืองจึงให้กองทัพพะม่าตามเข้ามาจับพวกมอญในแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๖ สมเด็จพระนารายน์โปรดฯ ให้เจ้าพระยาโกศาขุนเหล็ก คุมกองทัพไปขับไล่พะม่า ได้รบกันที่เมืองไทรโยค กองทัพไทยตีกองทัพพะม่าแตกยับเยินกลับไป ต่อมาอีกปีหนึ่งสมเด็จพระนารายน์ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นที่ไทย ทำนองเดียวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยพะม่ามาพ่ายแพ้ยับเยินไป และพวกมอญทางหัวเมืองฝ่ายใต้ก็มาเข้ากับไทย จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาโกศาขุนเหล็กเป็นแม่ทัพไปตีเมืองพะม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าไปตั้งติดถึงเมืองอังวะราชธานี ในหนังสือพงศาวดารพะม่าบางฉบับว่าไปตีเมืองเมาะตมะ ฉันไปเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้พิจารณาดูภูมิประเทศ เห็นว่าเมืองอังวะอยู่ห่างไกลขึ้นไปข้างเหนือมากนัก พบในหนังสือพงศาวดารพะม่าอีกฉบับหนึ่งว่าครั้งนั้นไทยไปตีเมืองหงสาวดี จึงเห็นว่าจะเป็นความจริง เพราะเป็นเมืองอุปราชอยู่ต่อกับแดนเมืองเมาะตมะซึ่งมาเข้ากับไทยในเวลานั้น แต่ตีไม่ได้เพราะขาดสะเบียงอาหารต้องเลิกทัพกลับมา แต่นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อย่างใดในระหว่างไทยกับพะม่าว่างมาถึง ๔๐ ปี ในระยะนี้ทางเมืองพะม่าก็ไม่มีเรื่องอะไรเป็นแก่นสารซึ่งควรจะนำมากล่าว นอกจากว่าพระเจ้าอังวะในราชวงศ์ตองอูคือเชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้ครองราชสมบัติสืบกันมา. ๕ พระองค์ เสื่อมอานุภาพลงโดยลำดับ เมืองเชียงใหม่กลับตั้งเป็นอิสสระก็ไม่สามารถจะปราบได้ ถึงรัชชกาลพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดีซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖ พวกกระแซเมืองมณีบุระตั้งแข็งเมืองขึ้น พระเจ้าอังวะให้กองทัพไปปราบปรามก็พ่ายแพ้พวกกระแซมาหลายครั้ง พวกกระแซเลยกำเริบยกเข้ามาตีหัวเมืองพะม่าทางข้างเหนือได้หลายเมือง ในเวลานั้นขุนนางพะม่าคนหนึ่งชื่อ มองสาอ่อง เป็นอุปราชปกครองหัวเมืองมอญฝ่ายเหนืออยู่ ณ เมืองหงสาวดี คาดว่าราชวงศ์ที่เมืองอังวะจะศูนย์ คิดจะตั้งเมืองหงสาวดีเป็นอิสสระ จึงเกลี้ยกล่อมพวกมอญที่ยอมเข้าเป็นพรรคพวกของมองสาอ่องเพราะไม่อยากเป็นเมืองขึ้นของพะม่าก็มี ที่รังเกียจตัวมองสาอ่องว่าเป็นพะม่าก็มาก แต่พะม่าเจ้าเมืองสิเรียมที่เป็นเมืองใหญ่ในมณฑลหงสาวดีไม่ยอมเข้าด้วย มองสาอ่องจึงให้เตรียมกองทัพจะไปตีเมืองสิเรียม เกณฑ์พวกมอญไม่สมัครพรักพร้อมกัน มองสาอ่องให้จับพวกที่หลีกเลี่ยงมาลงโทษ เป็นเหตุให้มอญทั้งปวงโกรธแค้นช่วยกันจับมองสาอ่องฆ่าเสีย เมื่อกองทัพเมืองอังวะยกลงมาถึง แม่ทัพก็ยกย่องพวกมอญเมืองหงสาวดีว่าซื่อตรง แล้วตั้งพะม่าเจ้าเมืองสิเรียม ซึ่งไม่เข้าด้วยมองสาอ่องให้เป็นอุปราชเมืองหงสาวดีต่อมา แต่เมื่อเจ้าเมืองสิเรียมมาอยู่เมืองหงสาวดี มาทราบว่ามีพวกมอญที่ได้ร่วมคิดการขบถกับมองสาอ่องอยู่มาก จึงให้สืบจับเอาตัวมาลงโทษถึงประหารชีวิตก็มี เลยเป็นเหตุให้พวกมอญโกรธแค้น ช่วยกันจับตัวเจ้าเมืองสิเรียมที่มาเป็นอุปราชกับทั้งพวกพะม่าบรรดาที่มาบังคับบัญชาการอยู่ในเมืองหงสาวดีฆ่าเสีย ครั้งนี้เป็นการขบถโดยตรง พวกมอญรู้ว่าพะม่าคงปราบปรามอย่างร้ายแรงไม่เลือกหน้า จึงพร้อมใจกันตั้งเป็นอิสสระและจับพะม่าฆ่าฟันทั่วทุกหัวเมืองมอญข้างฝ่ายเหนือ แต่พวกหัวเมืองมอญทางฝ่ายใต้มาสบเสียทางกรุงศรีอยุธยา เพราะมีญาติพี่น้องที่ได้อพยพหนีมาแต่ก่อน มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองไทยมาก หาไปเข้ากับพวกมอญทางฝ่ายข้างเหนือไม่ ถึงกระนั้นพวกพะม่าที่ลงมาเป็นอุปราชและเจ้าเมืองกรมการตามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ เห็นจะอยู่ในเมืองมอญต่อไปไม่ได้ จะกลับเมืองพะม่าจะต้องผ่านหัวเมืองมอญฝ่ายเหนือก็ไปไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวรวมด้วยกันประมาณ ๓๐๐ คนเข้ามาขอพึ่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกศก็โปรดฯ ให้รับไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงโดยทรงพระกรุณา ฝ่ายพวกมอญทางข้างเหนือเมื่อได้บ้านเมืองเป็นของตนแล้ว เที่ยวสืบหาเชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีแต่ปางก่อน จะเอามาเป็นหัวหน้าก็ปรากฏว่าหมดตัวเสียแล้ว ขณะนั้นมีพระภิกษุกะเหรี่ยงองค์หนึ่งซื่อ “สะล่า” มีคนเชื่อกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์เมืองแปรตกยาก พวกกะเหรี่ยงเอาไปเลี้ยงไว้จนได้บวชเรียนรู้วิชาอาคมมาก พวกมอญจึงเชิญมาเป็นผู้บัญชาการต่อสู้พะม่าซึ่งยกกองทัพใหญ่ลงมา พวกมอญรบพุ่งมีชัยชนะจึงพร้อมใจกันเชิญพระสะล่าให้ลาสิกขา แล้วยกขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๓ เรียกกันว่า “สมิงทอพุทธเกติ” เมืองหงสาวดีก็กลับเป็นราชธานีมอญอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนที่ ๗ นับแต่ พ.ศ. ๒๒๘๓ จนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ว่าเมื่อสมิงทอพุทธเกติ (หรือเรียกกันแต่โดยย่อว่า “สมิงทอ”) ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดีแล้วแผ่อาณาเขตต์ขึ้นไปทางเมืองพะม่า จนได้เมืองแปรและเมืองตองอูไว้ในอำนาจ แต่ทางข้างใต้ไม่กล้ามาตีเมืองเมาะตมะ และหัวเมืองมอญที่อยู่ต่อแดนเมืองไทยด้วยเกรงไทย จึงแต่งทูตให้เชิญพระราชสาสนกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระเจ้าบรมโกศ ณ กรุงศรีอยุธยา ทูลว่ากรุงหงสาวดีมีพระมหากษัตริย์ครอบครองเป็นอิสสระเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว หมายจะเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ขอพระราชทานพระราชธิดาไปอภิเษกเป็นอัครมเหสี ให้สองประเทศเป็นสัมพันธมิตรเหมือนอย่างทองแผ่นเดียวกันต่อไป พระเจ้าบรมโกศเห็นจะได้ทรงทราบจากพวกมอญที่มาอยู่ในเมืองไทยว่าสมิงทอมิใช่ผู้ดีมีตระกูล เป็นแต่คนจรจัดได้โอกาสตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ จึงทรงขัดเคืองว่าบังอาจยกตัวตีเสมอ ไม่ตอบราชสาสน ทูตมอญต้องกลับไปเปล่า เมื่อกิตติศัพท์รู้ไปถึงเมืองพะม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีแต่งทูตมาทำทางไมตรีกับไทย พระเจ้าอังวะเกรงว่าไทยจะไปเข้ากับมอญ จึงอาศัยเหตุที่พระเจ้าบรมโกศได้ทรงรับพวกขุนนางพะม่าที่หนีมอญไว้ แต่งทูตให้เชิญพระราชสาสนกับเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอบพระเดชพระคุณขอเป็นไมตรีต่อไป ในราชสาสนคงกล่าวความอ่อนโยนไม่ทะนงศักดิ์เหมือนอย่างพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าบรมโกศจึงทรงรับเป็นไมตรีกับพะม่า ฝ่ายสมิงทอเมื่อขอราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศไม่ได้ดังประสงค์ จึงหันไปขอเป็นทางไมตรีกับเมืองเชียงใหม่และขอราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่เป็นมเหสี ก็ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ “องค์คำ” เพิ่งตั้งตัวเป็นอิสสระมาได้ไม่ช้านัก ยังกลัวพะม่าจะไปปราบปราม จึงยินดีรับเป็นไมตรีกับมอญและยกราชธิดาชื่อ “นางสะอิ้งทิพย์” ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าหงสาวดี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๒๘๙ พระเจ้าหงสาวดียกทัพขึ้นไปตีเมืองพะม่า แต่เมื่อขึ้นไปใกล้จะถึงเมืองอังวะได้ข่าวว่ามีทูตกรุงศรีอยุธยาไปเมืองอังวะ ก็หวาดหวั่นเกรงว่าไทยจะไปตีเมืองหงสาวดีช่วยพะม่า จึงถอยทัพกลับลงมาเมืองหงสาวดี แต่อยู่มาไม่ช้านักก็เกิดเหตุร้าย มูลเหตุที่เกิดนั้นเดิมเมื่อก่อนสมิงทอจะได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี มืขุนนางมอญคนหนึ่งเป็นที่ “พระยาทละ” ได้อุปการะช่วยเหลือมากถึงยกลูกสาวให้เป็นภรรยา เมื่อสมิงทอได้เสวยราชย์จึงตั้งให้พระยาทละเป็นอัครมหาเสนาบดี และยกธิดาของพระยาทละเป็นที่มเหสี ครั้นได้ธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ไป พระเจ้าหงสาวดียกย่องให้เป็นอัครมเหสีด้วยเห็นว่าเป็นนางกษัตริย์ ก็เกิดหึงหวงกับธิดาของพระยาทละจนถึงวิวาทกัน พระเจ้าหงสาวดีเข้ากับนางสะอิ้งทิพย์ ธิดาของพระยาทละได้ความอัปยศ พระยาทละก็โกรธแค้นเอาใจออกหากจากพระเจ้าหงสาวดี คิดกลอุบายให้เกิดกิตติศัพท์เลื่องลือว่ามีช้างเผือกที่ในป่าเมืองสะโตง ก็ประเพณีในสมัยนั้นถือกันทุกประเทศทางตะวันออก ว่าต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีบุญญาภินิหารมากจึงมีช้างเผือกเป็นราชพาหนะ พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบข่าวก็ชื่นชมโสมนัส ตรัสสั่งให้ไปสร้างพลับพลาแรมที่เมืองสะโตง แล้วกะเกณฑ์ผู้คนเข้ากระบวนเสด็จพานางสะอิ้งทิพย์ไปอยู่ที่พลับพลา เที่ยวค้นหาช้างเผือกอยู่ช้านานจนราชการบ้านเมืองคั่งค้าง ขุนนางผู้ใหญ่ไปทูลพระเจ้าหงสาวดีก็ไม่กลับ ด้วยเห็นว่าถ้าไมได้ช้างเผือกจะเสียพระเกียรติยศ พระเจ้าหงสาวดีตั้งค้นช้างเผือกอยู่จนข้าราชการและไพร่พลที่ถูกเกณฑ์ไปพากันเดือดร้อน ทิ้งพระเจ้าหงสาวดีหลบหนีไปเสียเป็นอันมาก พระยาทละได้ทีก็เป็นขบถ พระเจ้าหงสาวดีมีกำลังเหลืออยู่น้อยนักจึงพานางสะอิ้งทิพย์มายังเมืองเชียงใหม่ ขอกำลังไปช่วยปราบขบถ พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้กำลังตามประสงค์ พระเจ้าหงสาวดีให้นางสะอิ้งทิพย์อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี แต่พวกมอญเมืองหงสาวดีเข้ากับพระยาทละโดยมาก ช่วยกันต่อสู้ตีกองทัพเมืองเชียงใหม่แตกพ่ายกลับไป พระเจ้าหงสาวดีสมิงทอยังปรารถนาจะตีเมืองหงสาวดีต่อไป จึงเข้ามายังเมืองไทย ชะรอยจะมาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกมอญหรือมาทำทะนงศักดิ์สามหาวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ตรงมานบนอบเหมือนอย่างขอพึ่งพระบารมี พระเจ้าบรมโกศทรงชังอยู่แต่ครั้งขอราชธิดาแล้ว จึงดำรัสสั่งให้จับสมิงทอจำไว้ พระยาทละก็ได้ครองเมืองหงสาวดีแต่ไม่ราชาภิเษกยกตนขึ้นเป็นเจ้า ใช้นามแต่ว่า “พระยาหงสาวดี” มีศุภอักษรเข้ามาขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าบรมโกศ ที่ไม่ทรงอุดหนุนสมิงทอให้ไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าบรมโกศเห็นจะทรงพระราชดำริว่าจะกักขังสมิงทอไว้ก็ไม่ควร เพราะมิได้คิดร้ายต่อไทย ครั้นจะปล่อยให้อยู่ในเมืองไทยก็เกรงจะไปก่อการร้ายต่อเมืองมอญ จึงดำรัสสั่งให้เอาตัวสมิงทอส่งลงเรือสำเภาเนรเทศไปเสียจากพระนคร ฝ่ายพระยาหงสาวดีทราบว่าไทยเนรเทศสมิงทอไปจากกรุงศรีอยุธยาสิ้นห่วงแล้ว จึงให้น้องชายคนหนึ่งซึ่งตั้งให้เป็นที่อุปราชคุมกองทัพเรือ น้องชายอีกคนหนึ่งซึ่งตั้งให้เป็นที่ตละปั้นคุมกองทัพบก ยกขึ้นไปติเมืองอังวะ ประจวบเวลาเกิดทุพภิกขภัยในอาณาเขตต์เมืองอังวะ ผู้คนกำลังระส่ำระสาย มอญก็ตีได้เมืองอังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ จับพระเจ้าอังวะกับทั้งเจ้านายในราชวงศ์ได้โดยมาก เมื่อได้เมืองอังวะแล้วอุปราชคุมเอาพระเจ้าอังวะกับเจ้านายพะม่าเลิกทัพกลับลงมาเมืองหงสาวดี ให้กองทัพตละปันอยู่รักษาเมืองอังวะ ในกาลนั้นมีพรานคนหนึ่งชื่อ “อองไจยะ” เป็นนายบ้านมุดโชโบซึ่งอยู่ห่างเมืองอังวะไปข้างเหนือ ไม่ยอมอยู่ในบังคับมอญ ฆ่าพวกมอญที่ไปเก็บส่วยตายเสียหลายคน นายกองมอญรวมกำลังยกไปจับกุม อองไจยะก็คุมสมัครพรรคพวกต่อสู้ฆ่าฟันพวกมอญล้มตายแตกหนีไปอีก ตละปั้นผู้ครองเมืองอังวะเห็นเป็นการใหญ่จึงแบ่งกองทัพให้ยกไปปราบปราม ทางโน้นเมื่อพวกพะม่าพลเมืองรู้ว่าอองไจยะชะนะมอญ ก็พากันมาเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สามารถตีกองทัพมอญแตกไปอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นพวกพะม่าก็เชื่อว่าอองไจยะเป็นผู้มีบุญมากู้บ้านเมือง กิตติศัพท์รู้ไปถึงไหนพวกพะม่าในที่นั้นก็ยินดีพากันไปเข้าด้วย จนอองไจยะมีกำลังรี้พลหลายหมื่น จึงตั้งบ้านมุดโชโบขึ้นเป็นเมืองขนานนามว่า “เมืองรัตนสิงห์” (แต่คนทั้งหลายยังเรียกตามชื่อเดิมว่า “เมืองมุดชซโบ” หรือ “ชเวโบ” Shwebo มาจนบัดนี้) แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าใช้นามว่า “พระเจ้าอลองมินตยาคยี” แต่พวกที่นับถือเรียกว่า “พระเจ้าอลองพระ” แปลว่า “พระโพธิสัตว์” จึงเรียกนามนั้นในพงศาวดาร เมื่อพระเจ้าอลองพระรวบรวมกำลังได้มากก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองอังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ ตละปั้นสู้พะม่าไม่ไหวต้องพาพวกมอญหนีกลับไปเมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพระได้ทีก็ติดตามลงมาตีได้เมืองแปรอีกเมืองหนึ่ง พระยาหงสาวดีให้อุปราชขึ้นไปตีเมืองแปรคืนก็พ่ายแพ้แตกหนีพะม่ากลับไปอีก พระยาหงสาวดีสำคัญว่าพวกพะม่ายกกองทัพมาครั้งนั้นด้วยประสงค์จะเอาพระเจ้าอังวะกลับไปครองราชสมบัติดังเก่า คิดจะตัดต้นเหตุ จึงให้ปลงพระชนม์พระเจ้าอังวะกับทั้งราชวงต์ที่สูงศักดิ์เสีย แต่การนั้นกลับทำให้พวกพะม่าเชื่อบุญบารมีของพระเจ้าอลองพระยิ่งขึ้น ถึง พ.ศ. ๒๒๙๘ พระเจ้าอลองพระยกกองทัพลงมาตีได้หัวเมืองมอญทางปากน้ำเอราวดีจนถึงเมืองตะเกิง (คือเมืองร่างกุ้งเดี๋ยวนี้) ตัดกำลังที่จะช่วยแก้ไขเมืองหงสาวดีหมดแล้วจึงไปตั้งล้อมเมืองหงสาวดี เผอิญในปีนั้นที่เมืองหงสาวดีทำนาไม่ได้ผลตามเคย ถูกข้าศึกล้อมเมืองอยู่ไม่ช้านานเท่าใด ที่ในเมืองก็เกิดอดอยากด้วยอัตคัดขัดสนสะเบียงอาหาร พระยาหงสาวดีกับหัวหน้าปรึกษากันเห็นว่าจะไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ แต่จะควรทำอย่างไรความเห็นแตกต่างกันเป็นสองพวก พวกพระยาหงสาวดีเห็นว่าควรจะขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าอลองพระเสียโดยดี แต่พวกอุปราชเห็นว่าควรออกรบตีหักจากที่ล้อมไปหาที่มั่นแห่งอื่น แต่ยอมตามความคิดพระยาหงสาวดีซึ่งเป็นใหญ่ พระยาหงสาวดีจึงนิมนต์สงฆ์มีพระสังฆราชาเป็นประมุขให้ออกไปเฝ้าพระเจ้าอลองพระ ขอเป็นไมตรีกันเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ถ้าและเป็นไมตรีกัน พระยาหงสาวดีจะยกธิดาถวายพระเจ้าอลองพระด้วย พระเจ้าอลองพระว่ากรณีไม่เหมือนกัน เมื่อครั้งพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องกับพระเจ้าราชาธิราชทำทางไมตรีกันนั้น ทำในเวลามีกำลังเสมอกันทั้งสองฝ่าย แต่ครั้งนี้เมืองหงสาวดีอยู่ในเงื้อมมือแล้ว ถ้าจะให้พันภัยได้แต่อ่อนน้อมยอมสามิภักดิ์ต่อพะม่า พระยาหงสาวดีหวังจะให้พระเจ้าอลองพระหย่อนข้อไขลง จึงส่งธิดาออกไปถวาย พระเจ้าอลองพระก็รับไว้ แต่หาผ่อนผันให้อย่างไรไม่ พวกอุปราชก็พากันไปว่ากล่าวกับพระยาหงสาวดีจนยินยอมกลับใจ ในค่ำวันนั้นพวกมอญยกจู่ออกไปปล้นค่ายพะม่า ฝ่ายพะม่าตั้งแต่พระยาหงสาวดีให้ไปว่ากล่าวจะเป็นไมตรีก็พากันประมาทด้วยคาดว่าคงจะเลิกรบกัน ถูกมอญฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก แต่พะม่ามากกว่ามากนัก มอญไม่สามารถจะตีกองทัพพะม่าให้แตกได้ทั้งหมด พอรุ่งเช้าต้องถอยทัพกลับเข้าเมือง แต่ตละปั้นน้องพระยาหงสาวดีนั้นหนีไปได้ พระเจ้าอลองพระจึงให้เข้าล้อมเมืองอย่างกวดขันแล้วให้รีบเร่งตีเมือง พวกมอญสิ้นสะเบียงอาหารหมดกำลังก็เสียเมืองหงสาวดีแก่พระเจ้าอลองพระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ นับเวลาตั้งแต่เมืองหงสาวดีเป็นอิสสระมาได้ ๗ ปี พระเจ้าอลองพระแค้นว่ามอญไม่มีความสัตย์ ให้ฆ่าพวกมอญเสียเป็นอันมาก ไม่เลือกว่าเป็นพระหรือคฤหัสถ์ ที่เป็นพลเมืองก็เอาเป็นชะเลย กวาดต้อนไปเมืองพะม่ามิให้มีผู้คนเหลืออยู่ แล้วให้เผาวัดวาบ้านเรือนและรื้อป้อมปราการทิ้งเมืองหงสาวดีให้ร้าง มาตั้งเมืองตะเกิงเป็นเมืองหลวงของพะม่าทางฝ่ายใต้ ขนานนามว่า “เมืองร่าง กุ้ง” แต่นั้นเมืองหงสาวดีก็ป่นปี้ถึงเป็นป่ารกร้างมาช้านาน ข้อนี้จะพึงเห็นอุทาหรณ์เมื่อกล่าวถึงพระนอนองค์ใหญ่ต่อไปข้างหน้า แต่เมืองหงสาวดีมีสิริเป็นข้อสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือภูมิลำเนาเป็นที่ทำนาได้ผลมากอย่างหนึ่ง กับมีพระมุเตาอันเป็นมหาเจดียสถานที่พวกมอญเลื่อมใสกันมากอยู่ที่เมืองนั้นอย่างหนึ่ง เมื่อพ้นสมัยภัยพิบัติแล้วก็มีราษฎรกลับไปตั้งทำไร่นามากขึ้นโดยลำดับ และมีคนต่างเมืองพากันไปบูชาพระมุเตาอยู่เสมอ ไม่ช้านานเท่าใดก็กลับมีคนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ คงร้างแต่ในบริเวณเมือง ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าปะดุงซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ จน พ.ศ. ๒๓๖๒ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) จึงกลับตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นอีก แต่ให้เป็นอย่างหัวเมืองสามัญไม่ได้เป็นเมืองสลักสำคัญเหมือนแต่ก่อน เรื่องพงศาวดารพะม่าในราชวงศ์อลองพระก็เกี่ยวข้องกับเมืองไทยมาก นับเป็นสมัยมหายุทธสงครามอีกครั้งหนึ่ง เรื่องเสียพระนครศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับกู้อิสสระ และเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ชัยชนะถึงไปตีพะม่า อยู่ในสมัยนี้ทั้งนั้น แต่เรื่องไม่เกี่ยวกับตำนานเมืองหงสาวดีโดยฉะเพาะจึงไม่กล่าวถึง ถ้าใครใคร่จะทราบจงไปอ่านดูในหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพะม่าก็จะทราบความโดยพิสดาร เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีมาปรากฏอีกเมื่อพระเจ้าจักกายแมง (พะม่าเรียกว่า “พระเจ้าพะคยีดอ”) ซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๖๒ จน พ.ศ. ๒๓๘๐ ด้วยพะม่าเกิดรบกับอังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ (เวลาต่อรัชชกาลที่ ๒ กับรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์) รบกันที่เมืองมณีบุระก่อน อังกฤษเห็นว่าพะม่าชำนาญรบพุ่งในป่าจะเอาชัยชนะยาก จึงมาชวนไทย (ในรัชชกาลที่ ๓) เป็นสัมพันธมิตร แล้วยกกองทัพเรือจู่ไปตีเมืองร่างกุ้ง ไทยกให้กองทัพบกยกไปตีเมืองเมาะตมะอีกทางหนึ่ง พะม่าต้องเรียกกองทัพกลับจากเมืองมณีบุระมาป้องกันบ้านเมืองทางข้างใต้ แต่อังกฤษตีได้เมืองร่างกุ้งเสียก่อน กองทัพลงมาตีเอาบ้านเมืองคืนกลับพ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับไป อังกฤษจึงยกกองทัพติดตามหมายจะตีขึ้นไปทางเมืองหงสาวดีและเมืองตองอูให้ถึงเมืองอังวะ แต่เมื่อไปถึงเมืองหงสาวดีมีแต่เมืองเปล่า เพราะพะม่ากวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเสียหมดและทำลายสะเบียงอาหารเสียด้วย อังกฤษก็ต้องเปลี่ยนกระบวนเป็นทัพเรือยกขึ้นไปทางลำน้ำเอราวดี ตีทัวเมืองรายทางได้เป็นอันดับขึ้นไปจนใกล้จะถึงเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจักกายแมงก็ต้องรับทำสัญญายอมแพ้อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ยอมเสียเงินสินไหม ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปี นอกจากนั้นต้องโอนเมืองอัสสัม เมืองยักไข่ และหัวเมืองข้างใต้ปากน้ำสาลวิน ตั้งแต่เมืองเมาะลำเลิงลงมาจนถึงเมืองทะวายเมืองตะนาวศรีซึ่งพะม่าตีได้ไปจากไทย ให้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เดิมอังกฤษคิดจะให้หัวเมืองตอนใต้ลำน้ำสาละวินที่กล่าวมานี้แก่ไทยโดยได้ช่วยรบพะม่าในครั้งนั้น แต่จะขอให้ไทยคืนเมืองไทรให้มะลายูอย่างเดิม ฝ่ายไทยไม่ปรารถนาจะเสียเมืองไทร เห็นว่าถ้าเมืองมอญฝ่ายใต้ตกเป็นของอังกฤษก็ปิดหนทางที่พะม่าจะมาบุกรุกเมืองไทย เป็นประโยชน์เหมือนกัน เมื่อทำสัญญาเลิกสงครามแล้ว อังกฤษก็คืนเมืองร่างกุ้งและหัวเมืองพะม่ากับทั้งหัวเมืองมอญฝ่ายเหนือให้แก่พะม่า แต่พระเจ้าจักกายแมงทรงโทมนัสในการที่แพ้สงครามครั้งนั้นจนถึงสัญญาวิปลาส แสรกแมงราชอนุชาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาจนพระเจ้าจักกายแมงสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ แสรกแมงก็ได้เสวยราชย์ พะม่าเรียกว่า “พระเจ้าสารวดี” แต่ไทยเราเรียกว่า “พระเจ้าแสรกแมง” ยังต้องขวนขวายหาเงินใช้สินไหมแก่อังกฤษ เก็บเฉลี่ยเงินจากหัวเมืองขึ้นและราษฎรพลเมืองด้วยประการต่างๆ ต่อมา ก็เกิดความเดือดร้อนทั่วไปในเมืองพะม่า แต่พระเจ้าแสรกแมงครองราชสมบัติอยู่ได้ ๙ ปีก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ มังถ่องราชโอรสซึ่งมียศเป็น “เจ้าพุกาม” ได้รับรัชชทายาท พะม่าเรียกพระนามว่า “ปะกันมิน” (คือ “พระเจ้าพุกาม”) มีนิสสัยอ่อนแอ พวกเจ้าเมืองที่เป็นพนักงานเร่งเรียกเงินส่งสินไหมได้ที ก็พากันแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพ่วงเข้าด้วย ครั้งนั้นมีขุนนางพะม่าคนหนึ่งชื่อ “มองโอ๊ก” ได้เป็นอุปราชอยู่ที่เมืองร่างกุ้งอันมีเรือชาวต่างประเทศไปมาค้าขายมาก มีคดีเกิดขึ้นด้วยนายเรืออังกฤษ ๒ คนต้องหาว่าทำคนในเรือให้ถึงตาย มองโอ๊กเอาตัวไปกักขังไว้พิจารณาไม่ได้ความจริงดังข้อหา แต่มองโอ๊กพาลปรับไหมเอาเงินแล้วจึงปล่อยตัวไป นายเรือไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษๆ จึงมีศุภอักษรให้นายเรือรบถือมา จะเรียกเอาค่าทำขวัญ ๑๐,๐๐๐ รูปี พระเจ้าอังวะเป็นแต่ยอมเอามองโอ๊กออกจากตำแหน่ง ให้ผู้อื่นลงมาเป็นอุปราช แต่เมื่ออุปราชคนใหม่ลงมามีกองทัพลงมาตั้งเตรียมการต่อสู้อังกฤษทั้งที่เมืองร่างกุ้งและเมืองเมาะตมะ อังกฤษกับพะม่าจึงเกิดรบกันเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ตรงกับปีแรกรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) รบกันครั้งนี้พวกมอญเข้ากับอังกฤษ ๆ ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ทั้งหมดตั้งแต่เมืองหงสาวดีลงมา แล้วประกาศเอาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองหงสาวดีจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแต่นั้นมาจนกาลบัดนี้ ในสมัยนั้นเมืองพะม่ายังแบ่งเป็น ๒ อาณาเขตต์ พะม่าใต้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ พะม่าเหนือยังเป็นราชอาณาเขตต์ของพระแผ่นดินพะม่าต่อมากว่า ๓๐ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๘ (ตรงในรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์) อังกฤษกับพะม่าเกิดรบกันเป็นครั้งที่ ๓ อังกฤษชะนะจึงเอาเมืองพะม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทั้งหมด ถ้าว่าฉะเพาะเมืองหงสาวดีเมื่อแรกตกเป็นของอังกฤษยังเป็นเมืองสำคัญเพราะอยู่ต่อแดนพะม่า แต่เมื่ออังกฤษได้ประเทศพะม่าทั้งหมดแล้วก็เป็นหัวเมืองสามัญเมืองหนึ่งในมณฑลพะโค แต่ก็มิได้เป็นที่ตั้งของผู้บัญชาการมณฑล มีสำคัญแต่เป็นที่ชุมทางรถไฟที่จะแยกไปเมืองมัณฑเลทางฝ่ายเหนือทางหนึ่ง แยกไปเมืองเมาะตมะทางฝ่ายใต้ทางหนึ่ง และแยกมาเมืองร่างกุ้งอีกทางหนึ่ง สิ้นเรื่องตำนานเมืองหงสาวดีเพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ