วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ น

ท่าพระ กรุงเทพฯ

วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

ได้ฟังรับสั่งเรื่องโมงลังกา มีความติดใจสงไสย ได้มาค้นแบบมาตรานับเวลาเพื่อจะได้ลองเทียบทาบกันเข้าดู ได้ดังนี้

Childers ทางบาฬี
๑๐ อัจฉรา (ลัดนิ้ว) = ๑ ขณะ
๑๐ ขณะ = ๑ ลยะ
๑๐ ลยะ = ๑ ขณะลยะ
๑๐ ขณะลยะ = ๑ มุหุต์ตะ (๔๘ นาฑี)
๑๐ มุหุต์ตะ = ๑ ขณะมุหุต์ตะ (๘ ชั่วโมง)
Williams ทางพราหมณ์
๑๘ นิมิษะ (พริบตา) = ๑ กาษฐา
๓๐ กาษฐา = กลา (๔ วินาฑี)
๓๐ กลา = กษณะ (๔ นาฑี)
๖ กษณะ = ทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกา (๒๔ นาทีฤๅ ๑/๖๐ วัน)
๒ ทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกา = มุหูรตะ (๔๘ นาฑี ฤๅ ๑/๓๐ วัน)
๓๐ มุหูรตะ = อโหราตระ (วัน ๑)
๑๕ อโหราตระ = ปักษะ

โมงลังกา, น่าจะเปนมุหูรตะ มีในกลางวัน ๑๕ กลางคืน ๑๕ ถ้าในหนังสือกล่าวมีจำนวนมากกว่านั้น จะลงกับทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกาได้กระมัง ทางบาฬีเกะกะเห็นจะใช้ไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แทนโน๊ตที่ ๙ น่า ๔

โมงยามที่กล่าวในจดหมายเหตุระยะทางของทูตลังกา เปนวิธีอย่างลังกา ไม่ตรงกับของไทย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าวิธีของเขาจะเปนอย่างไร ได้ทูลปรารภความข้อนี้ แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ ได้ทรงพระอุสาหะค้นวิธีที่ปรากฎในหนังสือของอาจารย์ ชิล เดอร์ แล อาจารย์เวิลเลียม ส่งมาประทานดังต่อไปนี้

ชิลเดอ ทางบาฬี
๑๐ อัจ์ฉรา (ลัดนิ้ว) = ๑ ขณะ
๑๐ ขณะ = ๑ ลยะ
๑๐ ขณะลยะ = ๑ มุหุต์ต (๔๘ นาฑี)
๑๐ มุหุต์ตะ = ๑ ขณะมุหุต์ตะ (๘ ชั่วโมง)
วิลเลียม ทางพราหมณ์
๑๘ นิมิษะ (พริบตา) = ๑ กาษฐา
๓๐ กาษฐา = กลา (๘ วินาฑี)
๓๐ กลา = กษณะ (๔ นาฑี)
๖ กษณะ = ทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกา (๒๔ นาฑี ฤๅ ๑/๖๐ วัน)
๒ ทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกา = มุหูรตะ (๔๘ นาฑี ฤๅ ๑/๓๐ วัน)
๓๐ มุหูรตะ = อโหราตระ (วัน ๑)
๑๕ อโหราตระ = ปักษะ

โมงลังกา น่าจะเปนมุหูรตะ มีในกลางวัน ๑๕ กลางคืน ๑๕ ถ้าในหนังสือกล่าวมีจำนวนมากกว่านั้น จะลงกับทัณฑะ ฤๅ ฆฏิกา ได้กระมัง.

น่า ๑ ประทัด ๙ หม่อมกิ่ง แก้เปน หม่อมกิ่ม

น่า ๒ ประทัด ๑๒ แล ๑๓ พระองค์เจ้าหญิงกรณิกาแก้ว ประสูตรปีเถาะ สปตศก พ.ศ. ๒๓๙๘ สิ้นพระชนมปีมเมียจัตวาศก พ.ศ. ๒๔๒๕

น่า ๓ สิ่งซึ่งต้องการตรอกลง คือพระองค์เจ้าพรรณราย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ

๑. ปฐมจุลจอมเกล้า

๒. รัตนาภรณรัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๒

๓. รัตนาภรณรัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๓

๔. เข็มพระชนมายุศมมงคล ทอง

๕. เหรียญรัชดาภิเษก

๖. เหรียญทวีธาภิเษก ทอง

๗. เหรียญประพาสมาลา ทอง

๘. เหรียญรัชมงคล ทอง

๙. เหรียญรัชมงคลาภิเษก ทอง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนพระองค์เจ้าเมื่อปีชวดโทศก พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานเครื่องยศ

๑. หีบหมากไม้แดง หุ้มทองคำลงยาตราปราสาท

๒. หีบหมากทองคำ เครื่องยศฝ่ายใน

๓. กาทองคำ

๔. กระโถนทองคำ

น่า ๕ วันสำหรับตรอกในประทัดที่ ๔ ถ้าจะกำหนดเอาวันที่ไปด้วยกันแล้ว ก็เปนวันที่ ๒๘ พฤษภาคมเปนครั้งสุด ต่อแต่วันนั้นมา เกล้ากระหม่อมป่วย ท่านเสด็จองค์เดียว จนวันที่ ๓ มิถุนายนเปนครั้งที่สุด ที่ฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตรเห็น ถึงวันที่ ๑๕ ก็ประชวร สิ้นพระชนมในวันที่ ๒๒ ถ้าจะนับเอาที่ทอดพระเนตรเห็นไปด้วยกันจะเปนต่อมาอีก ๑๘ วันประชวร ถ้านับเอาที่ทอดพระเนตรเห็นเสด็จได้ เปนครั้งที่สุดก็เปนต่อมาอีก ๑๒ วันก็ประชวร จะพอพระไทยลงสถานไหน แล้วแต่จะโปรด

น่า ๕ ประทัดที่ ๘ ว่าโปจุเกต มีในตอนหลังลงไปเขียนโปตุเกต ลักลั่นอยู่ จะใช้ จ ฤๅ ต ควรจะให้เหมือนกัน

น่า ๗ ประทัดที่ ๓ คำว่า พระทันตธาตุ ควรจะเปน พระทาฒธาตุ

น่า ๑๐ ประทัดที่ ๓ คำว่า ปรามาศ เขียนตามแบบเก่า ติดจะพลาดอยู่ น่าจะแก้เสียให้ถูก เปน ปรามาท เพราะออกจากคำว่า ประมาท นั้นเอง ตามที่แก้ไขเช่นนั้นก็ดูไม่แปลกตานัก

----------------------------

ข้อความเอาตามร่างฉบับที่ทรงแก้มาเมื่อวันที่ ๖ ส่วนตัวสกด ๓ คำนี้เอาตามกรมพระนริศทรงมา

ขุนพินิจ รับสั่ง

๗/๑๐/๕๗

น่า ๒ ประทัด ๒ คำว่า มัทราฐ นี้ ติดใจสงไสยหนัก ทราบแล้วว่าทรงหมายเอาเมือง Madras เดี๋ยวนี้ แต่เมื่อได้สอบสวนดู ว่าเขียน มัทราฐ เช่นนี้จะถูกฤๅไม่ เพราะในมหาชาติเขียนว่า มัทราชธิดา เห็นว่าราชมันมาฃ้างธิดา หาไปฃ้างมัทไม่ สอบได้ในภาษามคธเขียน มัท์ทา สันสกฤตเขียน มท๎ระ ก็ตรงกับที่อังกฤษเขียนว่า มทรัส ฤๅจะว่า มทราส ก็ตาม ตัว ส สกดเห็นจะเปนทางฝรั่ง ให้เปนคนมาก ๆ ถ้าเราจะเขียนผสมเปนเมืองมัทร จะต้องเขียน มัทธราษฎร์ ดังนี้ นักเลงหนังสือจึงจะไม่ติได้ แต่ในที่ทุกแห่ง บอกว่ามัทรเปนแว่นแคว้นฮินดูสุตานตอนตวันตกเฉียงเหนือ Dowson บอกพิสดารกว่าคน ว่าเมืองหลวงชื่อ ศกละ มีเขตรตั้งแต่ Biyās ถึง Chināb อีกข้างหนึ่งถึง jhilam แผนที่ที่เกล้ากระหม่อมมีก็หาไม่พบ ชื่อเหล่านี้ น่ากลัว Madras จะไม่ใช่ มัทรราษฎร์เสียแล้ว ดูมันผิดแขวงไกลกันไป จึงทูลมาให้ทรงทราบตามที่สอบได้ เพื่อทรงวินิจฉัยแก้ไข

น่า ๒ ประทัด ๓ กาลิงคราฐ ควรจะเขียน กลิงคราษฎร์ เพราะ กาลิงค เปนชนชาวกลิงคไป ไม่เปนเมือง แล ราฐ นี้ก็อยู่หว่างกลางไม่ถูกฃ้างไหน ภาษามคธใช้สกดด้วยตัว ฐ แต่เสียงสั้นเปน รัฐ ถ้าเสียงยาวก็เปนอย่างสันสกฤต ต้องเขียน ราษฎร์ ดังนี้จึงควร ตำแหน่งแขวงนี้อยู่เหนือ Madras ถูกต้อง

น่า ๒ ประทัด ๑๒ สงไสยชื่อนางสุปะ แต่งในภาษามคธควรจะรักษาลึงค์ จะเปน สุปา ดอกกระมัง

น่า ๔ ประทัด ๒ เขียนชื่อ อุปดิศ ก็ถูกตามวิธีเก่า แต่ไม่ใคร่สบายใจ เพราะสอบแผนสันสกฤต คำ ดิศ สกด ศ ไม่มีเลย มีแต่ ติษษ หน้าตาก็แปลกหนัก อยากจะใช้ให้ตรงตามมคธเขียน ดิส เห็นใครจะว่าไรไม่ได้ ทั้งนี้แล้วแต่จะโปรด ตลอดเรื่องมีชื่ออะไรต่ออะไรลงท้ายดิศหลายแห่ง

น่า ๕ ประทัด ๗ แล ๘ นามปัณฑุวาศ ถ้าเขียน ศ ด้วยไม่มีหลักอาไศรยแล้ว อยากให้เปลี่ยนเปน ส เสียเหมือนกัน

น่า ๖ ประทัด ๑๘ มคธราฐ ควรจะเขียน มคธราษฎร์

น่า ๗ ประทัด ๑ มีช่องต้องตรอกปีอังกฤษได้เกาะลังกา หวังว่าคงจะรับสั่งให้ใครค้นตรอกไม่หลงลืมว่างไป

----------------------------

แก้ไขให้ถูกต้องตามที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศร์ทรงทักมานี้แล้วเอาเป็นใช้ได้

ขุนพินิจ รับสั่ง

๗/๑๐/๕๗

น่า ๓ ประทัด ๒ คำ “ไอโอนะ” ไอ กลัวจะเปนเสียงอังกฤษ ทางโรมันได้ทราบว่าตัว ไอ อ่านว่า อิ ทางกรีกจะอ่านอย่างไรไม่ทราบ สงไสยว่าจะอ่าน อิเหมือนกัน ถ้าเปน อิโอนะ จะกลายเปนเสียงโยนะ ได้ใกล้ที่สุด สอบถามหมอแฟรงดูสักทีเห็นจะดี

ตั้งแต่น่า ๓ เปนต้นไป มีคำ มคธราฐ อยู่หลายแห่ง แก้เปน มคธราษฎร์ เสียตามตอนก่อนทุกแห่ง

น่า ๕ ประทัด ๕ ภิกษุนี เปนเขียนคาบลูกคาบดอกอยู่ สันสกฤตเขียน ภิกษุณี มคธเขียน ภิกขุนี จะเอาอย่างไรก็ให้ตรงเสียอย่างหนึ่งดีกว่า

น่า ๖ ประทัด ๑ กาลิงคราฐ แก้เปน กลิงคราษฎร์ แลยังมีต่อไปอีกหลายแห่ง แก้ตามกันไป

น่า ๖ ประทัด ๘ สังเวช เปนคำเขียนหลงเหลวมานานแล้ว ภาษามคธแลสันสกฤตตรงกัน เปน สํเวคะ กรมพระสมมตเคยทรงวินิจฉัยว่าเขียน สังเวศ เปนดี เปนอันหลงแต่หางไปขีดเดียว เวช มันเชือนไปทางหมอ ๆ อะไรไปโน่น ติดจะห่างศัพทเดิม ในที่นี้จะตัดคำนี้ทิ้งเสียก็ได้ไม่เสียความ แต่ไม่เพราะไปหน่อย

น่า ๖ ประทัด ๑๓ คำ สันนิษฐาน มีมามากกว่ามากแล้วพึ่งจะเฉลียวใจขึ้นในที่นี่ ตรวจดูคำสันสกฤตไม่มี จึงขอเอา ษ ออก เขียน สันนิฐาน เท่านี้เปนรูปมคธงามพอแล้ว แก้เสียทุกแห่ง

น่า ๑๑ ประทัด ๗ เนปาลราฐ แก้เปน เนปาลราษฎร์

น่า ๑๔ ตรงที่กล่าวว่า สุวรรณภูมิประเทศ คือประเทศสยามนี้เอง นั้น อยู่ฃ้างจะไม่ใคร่เต็มใจสักหน่อย ถ้าต่างว่าเปนทางเมืองเขมร ซึ่งเฃาก็เคยเปนประเทศสยามมาก่อน มีคำ เสียมราษฎร์ อยู่เปนพยาน คนที่ไม่เฃ้าใจทางโบราณคดีได้อ่านแต่หนังสือนี้ จะเฃ้าใจได้ฤๅไม่ ว่าประเทศสยามกินถึงเขมรด้วย เพราะเหตุฉนี้จึงอยากให้ใช้คำกว้างออกไปกว่านั้นอีกสักหน่อย ทำนองว่า สุวรรณภูมิประเทศ คือในทำเลลุ่มน้ำซึ่งประเทศสยามตั้งอยู่นี้เอง เช่นนี้จะควรฤๅไม่

น่า ๑๕ ที่ว่า สยาม แปลว่าทองนั้นก็สงไสยหนัก ได้สอบดูศัพท สามะ Childers แปลว่า ดำ ว่าคล้ำ ดูศัพท สยาม ก็ตรงมาเปน สยามรัฐ เสียทีเดียว Monier Williams แปล สาม แล สามัน ว่า อ่อนน้อม พูดอ่อนหวาน ใจดีมีเมตตา อะไร ๆ ไปเสียอย่างอื่น ศัพทที่เขียน สยาม อย่างนี้ไม่มี มีแต่ ศยามะ แปลว่า ดำ ว่าสีแก่ น้ำเงินแก่ ม่วงแก่ ม่วง เขียวแก่ เขียว คล้ำ มืด เห็นได้ว่าเปนศัพทเดียวกับ สามะ ในภาษามคธ ในหนังสือไท ๆ เราก็มี “ธำมรงค์มณีสีสยาม” อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบจำไม่ได้ สยามประเทศ น่าจะหมายความว่า ประเทศคนผิวคล้ำ ดูอภิธานชื่อทอง ๒ ตำหรับ ไม่พบ สามะ ฤๅ สยาม เลย แต่ความรู้เกล้ากระหม่อมก็สั้น ได้แต่เพียงดูอภิธานสองสามอย่างเท่านั้น โปรดให้ผู้รู้เฃาตรวจค้นดูเสียให้ได้ความแน่จะดี

น่า ๑๕ ประทัด ๑๒ สันจิเจดีย์ ต้องเขียน สัญจิเจดีย์ จึงจะถูก

----------------------------

น่า ๑ ประทัด ๔ บริเวณ แก้เปน เขตร ตามที่ใช้ในน่า ๘ เหมือนกันดีกว่า

น่า ๗ ประทัด ๓ นามพระเชษฐดิศ ถ้าต้นฉบับเดิมไม่มี ษ ขอถอนออก เปน เชฐดิศ อย่างไทๆ ถ้าต้นฉบับมีก็คงไว้

น่า ๑๒ นามพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเขียนว่า เมฆเสน ๓ แห่ง ศิลาเมฆเสน แห่งหนึ่ง ศิลาฆ่าเสียเหลือแต่เมฆเสนแห่งหนึ่ง มีศิลาฤๅไม่มีแน่

----------------------------

น่า ๑ ประทัด ๑๙ พ.ศ. ๑๕๑๔ นี้ผิด จับได้จากข้างบน ที่ว่าไม่ปรากฎเรื่องราวทางพระศาสนา มาแต่ พ.ศ. ๑๔๓๔ จน ๑๖๑๔ แลได้จากที่ว่าพวกทมิฬมาตีเมืองได้เมื่อ พ.ศ. ๑๕๖๖ ครองเมืองอยู่ ๔๘ ปี จึงรู้ได้ว่าศักราชตอนพระเจ้าวิชัยพาหุเขียนผิดอ่อนไป ต้องเปน พ.ศ. ๑๖๑๔ จำนวนเลขนั้นเขียนผิดง่ายนัก สงไสยว่าตอนที่ตรวจมาแล้วก็จะมีผิดได้ แต่เมื่อไม่มีหลักยันในตัวเช่นตรงนี้ ก็จับไม่ได้ ก่อนจะพิมพ์โปรดให้ใครตรวจเสียอีกทีจะดี

น่า ๒ ประทัด ๗ แล ๑๑ อารมะนะประเทศ ควรจะเปน ณ ใหญ่ อารมณะประเทศ วิสัญชนีที่ตัว ม ขอยกออก

น่า ๓ สงไสยปี ที่ว่าล่วงรัชกาลพระเจ้าวิชัยพาหุมาได้ ๒๗ ปี ถึงพระเจ้าปรักกรมพาหุได้ผ่านพิภพเมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๖ (๒๗ + ๑๖๑๔ = ๑๖๔๑ – ๑๖๙๖) เปนพระเจ้าวิชัยพาหุเสวยราชย์อยู่ ๕๕ ปี ดูข้อนฃ้างมาก จะมีผิดอะไรอยู่ในจำนวนเลขเหล่านี้บ้างฤๅไม่

น่า ๓ ประทัดสุด พระเจ้าปรักกรมพาหุ นับลำดับรัชกาลเปนที่ ๑๑๕ พระเจ้าวิชัยพาหุในน่า ๒ ก็นับว่าเปนรัชกาลที่ ๑๑๕ โดนกัน มิองค์ไหนก็องค์ไหนลงเลขผิดองค์หนึ่ง พระเจ้าปรักกรมพาหุ ควรจะเปนรัชกาลที่ ๑๑๙ แล้วจะไปเข้าลำดับกับพระเจ้ากาลิงควิชัยพาหุ รัชกาลที่ ๑๓๒ ตรงดี

น่า ๕ ประทัด ๑๖ ดูคำเขินอยู่หน่อยตรงที่-ถ้าจะว่า-เห็นจะตกคำว่า ไป เสียสักคำหนึ่ง

น่า ๗ คำว่า วันวาสี อยากให้ถอนไม้ผัดออก เพราะเปนคำอยู่น่า ต้องออกเสียงทั้งสองตัว ศัพท วนะ แล อรัญะ นี้ ได้ทรงสงไสย แลได้รับมาตรวจแต่ยังหาได้ทูลไม่ ศัพท อรัญะ ใช้แต่ฉเพาะป่าเปลี่ยว วนะ ใช้ได้ทั้งป่าเปลี่ยวแลไม่เปลี่ยว เช่นที่ไหน ๆ ไม่ว่าในบ้านในช่อง ถ้ามีหมู่ไม้มากก็เรียก วนะ เช่น บัวขึ้นในสระแน่น ก็เรียก ปทุมวัน เปนต้น เรียก วนวาสี จะถูกความจิงได้มากกว่าอรัญวาสี

น่า ๑๐ ตอนท้าย ซึ่งกล่าวตักเตือนผู้ตรวจตราพระไตรปิฎก ให้รวังชาวสิงหฬซึ่งแต่งหนังสือปะปนอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น จะพลาดไปได้กระมัง เพราะการแต่งหนังสือใหม่ ตั้งแต่พระพุทธโฆษาลงมา ก็กล่าวแต่ว่าแต่งอรรถกถาฎีกา ส่วนพระบาฬีนั้น เขียนจากความทรงจำมาแต่พุทธวจนะ ที่ทำสังคายนากัน อันชื่อว่าพระไตรปิฎกนั้น ดูเหมือนเขานับแต่ที่เปนบาฬีไม่ได้นับอรรถกถาฎีกาเฃ้าด้วย ถ้าเปนเช่นนั้นออกชื่อพระไตรปิฎกก็เปนผิด

----------------------------

ในที่สุดนี้ จะต้องทูลความสงไสย ในข้อพระพุทธโฆษาไปแปลหนังสือในลังกาทวีป อันมีข้อสงไสยอยู่ตั้งร้อยแปดประการ ทำนองที่ว่าดูเหมือนพระบาฬีที่เป็นภาษามคธ ได้คิดเขียนลงเปนหนังสือมีแต่ที่ลังกาทวีป แลอรรถกถาฎีกานั้นก็แต่งแต่ในลังกาทวีปแห่งเดียว เปนภาษาสิงหฬด้วยซ้ำไป พระพุทธโฆษาไปทำการชั่วแต่แปลภาษาสิงหฬเปนมคธเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นพระพุทธโฆษาก็ไม่ได้ทรงคุณวิเศษอะไร นอกจากมีเพียรกล้า ทำน่าที่เปนล่ามให้การมากมายสำเร็จไปเท่านั้น ไม่ได้เปนผู้รู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วยตนเอง ออกจะเลวกว่าชาวลังกาไปเสียอีกกระมัง การที่เขียนพุทธวจนะลงเปนหนังสือ น่าจะไม่ใช่ทำแต่ในลังกาแห่งเดียว การทำอะไรซึ่งนิยมว่าเปนการดี ในที่ใกล้เคียงย่อมเอาอย่างกัน เอาเถิด จะว่าลังกาคิดเขียนพระธรรมวินัยขึ้นก่อนก็ตาม คงนิยมกันว่าเปนการดี ในชมพูทวีปจะไม่เอาอย่างทำบ้างฤๅ ตามเรื่องที่กล่าวก็ว่ามีคำภีร์ฝ่ายมหายานทำขึ้นในชมพูทวีปฝ่ายเหนือ จนหนังสือนั้นตกมาถึงเมืองลังกา จนทำให้พระสงฆ์เชื่อถือ ถึงแตกนิกายกัน ก็ชมพูทวีปฝ่ายใต้จะไม่มีหนังสือบ้างฤๅ ท่านผู้ที่เรียนรู้ในเมืองเราท่านก็เคยกล่าวชี้ขาด ว่าอ้ายนี่สำนวนสิ้นลังกา นี่สำนวนเก่า หมายความว่าชาวชมพูทวีปแต่ง พยานมีดังนี้จะเปนที่เชื่อเอาได้ฤๅไม่ ว่าในชมพูทวีปฝ่ายใต้ก็มีคำภีร์พระพุทธศาสนาอยู่บ้างเหมือนกัน แลแต่งเปนภาษามคธด้วย ถ้าเชื่อได้ จะคเนเอาว่าพระพุทธโฆษาหอบคำภีร์มาแต่ชมพูทวีปด้วย แล้วแลตรวจสอบดูกับหนังสือลังกา อะไรของลังกาเหลวเอาเผาไฟเสีย เอาฉบับที่ท่านนำมาคัดขึ้นประดิษฐานไว้แทน อะไรที่ชาวลังกาแต่งขึ้นใหม่ ท่านเห็นว่าดี ไม่ผิดทางพุทธวจนะ ก็จัดการแปลออกเปนภาษามคธให้เฃ้าสำรับกันได้ รวบรวมไว้ด้วยกัน ถ้าเช่นนี้พระพุทธโฆษาจะค่อยมีคอมมันเซนส์ขึ้นสักหน่อย จะเปนได้ฤๅไม่ ขอถวายทรงพระดำริห์วินิจฉัย ถ้าเปนดังนี้งานของพระพุทธโฆษาก็น้อยลง คงที่มนุษจะทำได้ ความสามารถไม่ต้องดีกว่าเทวดา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ