วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ น

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๙ ฉบับหนึ่ง วันที่ ๑๐ ฉบับหนึ่ง ได้รับทราบความทุกประการแล้ว

ข้อความในลายพระหัดถ์ฉบับแรก ซึ่งทรงแสดงน้ำพระไทยในความรู้สึกถึงลูกคนเดียวเป็นที่จับใจอย่างยิ่ง ด้วยความจิงเป็นอยู่อย่างนั้น นอกจากฝ่าพระบาทแล้ว ที่จะรู้สึกความจิงได้เช่นนั้นเป็นอันยาก แต่ความเศร้าโศกอาไลยนั้น แม้ถึงจะมีมากแสนสาหัสก็จริง แต่ก็ตัดใจได้ว่าแม่ได้มีอายุยืนยาวเป็นอย่างพอใจทีเดียว อีกประการหนึ่งก็เป็นการสมใจด้วยเกล้ากระหม่อมมีโรคไภยเบียดเบียน กลัวจะตายเสียก่อนแม่ ถ้าเป็นดังนั้นแล้วแม่จะได้ความทุกข์สักเท่าไร เหลือที่จะประมาณถึง เกล้ากระหม่อมยอมรับความทุกข์นั้นแทนแม่ด้วยความเต็มใจ

หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าที่ประทานไปนั้น สนุกเจ็บปวดดีจิง ๆ ได้อ่านจาว ๆ ไปจบแล้ว ทำให้เพลิดเพลินคลายใจมากดังพระประสงค์ ขอบพระเดชพระคุณเป็นอันมาก มีแห่งที่ข้องใจอยู่หลายแห่ง นี่จะลงมืออ่านย้อนต้นใหม่ ทีนี้จะได้ตริตรอง เห็นจะมีความเห็นแตกต่างไปจากที่ทรงเดาไว้หลายแห่ง ทีแรกพออ่านคำนำแล้วก็โจมไปดูที่กล่าวถึงปราสาท พออ่านแล้วก็ฉุน ด้วยหวังใจว่าจะได้ความรู้อะไรขึ้นดีกว่านั้น เพราะเห็นในฉบับที่หมอสมิทตีพิมพ์กล่าวกึกก้องมาก แต่ไม่ได้ความเข้าใจ สังเกตได้ว่าถูกแทรกจึงหวังว่าจะได้รู้ที่จิงที่แทรกคราวนี้ ที่แท้กลายเป็นตากุหลาบขี้หกเอาใหม่ทั้งสิ้น ขี้ริ้วจริง ๆ

เรื่องที่จะลงพิมพ์ซึ่งทรงกะประทานมานั้น พระราชนิพนธ์ก็ดีอยู่ดอก แต่เห็นว่าเป็นอย่างเทศนาปกิรณกะ ถ้าจะให้เป็นหลักฐานก็ต้องเรื่องพระอุบาฬีไปลังกา ค่อยเป็นเรื่องเป็นราว แลจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนิสัยใจคอเกล้ากระหม่อมชอบโบราณคดีด้วย จึงตกลงใจขอประทานเรื่องพระอุบาฬี มีตีพิมพ์อยู่บ้างในหนังสือวชิรญาณรายเดือนฤๅอะไรจำไม่ได้ถนัด หวังว่าจะทรงเก็บมารวบรวมลงไว้ในที่เดียวกันนี้ทั้งเก่าใหม่ คงจะเป็นความลำบากแก่ฝ่าพระบาทมาก แต่ก็ทรงตั้งพระไทยแล้วที่จะช่วย จึงเป็นความยินดี ขอบพระเดชพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ในเรื่องแต่งประวัติ ตามข้อต้องพระประสงค์ในลายพระหัดถ์ฉบับหลังนั้น ได้ค้นคว้ามาทูลให้ทรงทราบต่อไปนี้

๑. สมเด็จพระบรมไปยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนมวัน ๗ ๗ ค่ำ ปีกุญ เอกศก จ.ศ. ๑๒๐๑ ตรงกับสุริยคติ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ (ร.ศ. ๕๘) แม่เกิดได้ปีเดียวยังไม่ถ้วนดี

๒. ตามที่ทรงทราบในเรื่องพระราชทานพระธิดาสมเด็จพระบรมไปยกาไปให้เจ้านายเลี้ยงนั้นถูกต้องแล้ว แม่นั้นอยู่ที่ตำหนักสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนตลอดมา เห็นจะจนมีครรภ์จึงได้แยกเรือนออกต่างหาก

๓. เรื่องพระราชทานชื่อนั้น เฃ้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าพระราชทานพระองค์เดียวแต่สมเด็จพระเทพศิรินธร์ เอาเรื่องถวายอยู่งานพัดเป็นหลัก นอกจากสมเด็จพระเทพศิรินธร์ เข้าใจว่าทูลกระหม่อมพระราชทาน พระนามสมเด็จพระเทพศิรินธร์ จึงไม่เข้ากลอนกับคนอื่น แต่ยังไม่แน่ใจ จะสืบสวนให้แน่กราบทูลมาภายหลัง

๔. เจ้าฟ้ากรมขุนขัดติยกัลยาสิ้นพระชนม์ วัน ๔ ๑๔ ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๔๔ ตรงกับสุริยคติวันที่ ๓๑ พฤษภาคม (31st-May) พ.ศ. ๒๔๒๕ (ร.ศ. ๑๐๑) พระชนม์พรรษานับอย่างอยาบย่างเข้า ๒๘ เป็นการปลาดถึง ๒ ประการดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงถือหนัก

ถ้าต้องพระประสงค์สิ่งใดอีกก็จะสืบมาถวาย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ