๖. สมัยทรงผนวชพระ
ธรรมเนียมเก่า ชายผู้เกิดต้นปีไปหากลางปี มีอายุนับโดยปีได้ ๒๑ อุปสมบทได้ ผู้เกิดพ้นกลางปีไปแล้ว ให้อุปสมบทต่อเมื่ออายุได้ ๒๒ โดยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ธรรมเนียมในราชการพออายุ ๒๑ ก็อุปสมบทได้ ต่อมาพระมหาเถระในธรรมยุตติกนิกายเหนว่า คนเกิดต้นปีอาจอุปสมบทได้ในปีที่ ๒๐ ที่ทอนเข้ารอบแล้ว ได้ ๑๙ ปี มีเศษเดือน พอจะประจบเข้ากับเดือนที่อยู่ในครรภ์เปน ๑ ปี แลได้อุปสมบทแก่คนมีอายุเพียงเท่านี้มาเปนบางครั้ง เฉพาะบุรุษพิเศษ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ก็ได้ทรงอุปสมบท เมื่อพระชนม์มายุเท่านี้ ฯ เมื่อมีตัวอย่างมาแล้ว เราจึงกราบทูลเสดจพระอุปัชฌายะ ขอประทานพระมติในการบวช ท่านทรงอำนวยให้อุปสมบทในปีที่ ๒๐ จึงนำความนี้กราบทูลล้นเกล้าฯ ทรงพระอนุมัติ เปนอันตกลงว่าจักอุปสมบทในปีที่ ๒๐ นี้ ฯ เดิมกรมพระเทววงศ์วโรปการ จักทรงผนวชในปีนี้ แต่มีราชการต้องงดไป คงบวชแต่เราผู้เดียว ฯ สมโภชที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย วันหนึ่ง รุ่งขึ้นอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันศุกร เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๒ เสร็จอุปสมบทกรรรมเวลาบ่าย ๑ โมง ๔๑ ลิบดา สมเดจกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เปนพระอุปัชฌายะ พระจันทรโคจรคุณ (จันทรังสี) วัดมกุฎกษัตริย์ เปนพระกรรมวาจาจารย์ สวดองค์เดียว ตามแบบพระวินัย ธรรมเนียมที่ใช้กันมา สวดคู่ท่านผู้อยู่ข้างขวา เรียกกรรมวาจาจารย์ ท่านผู้อยู่ข้างทร้าย เรียกอนุสาวนาจารย์ เรียกอย่างเขิน ๆ เพราะอนุสาวนาเปนเอกเทศของกรรมวาจา จะหมายกรรมวาจาเปนญัตติ ก็แยกกันสวดใม่ได้ อย่างไรจึงสวดคู่ เราเหนว่า คงเกิดขึ้นในหมู่ที่ใม่เข้าใจบาฬี สวดเข้าคู่กัน เปนอันทานกันเอง รูปหนึ่งสวดผิด การสวดย่อมล่ม รู้ได้ง่าย เปนวิธีชอบกลอยู่ แต่ท่านผู้รู้มักรังเกียจว่าสวดใม่สดวก ว่าอักษรใม่ตระหนัก แต่บวชออกแขก ยังคงใช้กันมา เว้นแต่ในคราวทำทัฬหิกรรมคือบวชซ้ำ สวดแต่รูปเดียว ครั้งล้นเกล้า ฯ ทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าน้องยาเธอทรงอุปสมบทมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียวตามอย่าง แต่หม่อมเจ้าคงสวดคู่ คราวนี้กลายเปนจัด ชั้นเอก สวดรูปเดียว ชั้นโทสวดคู่ แต่ตามวัดก็ใช้สวดรูปเดียวตามขึ้นบ้าง นึกดูก็ขัน อย่างไรจึงกลายเปนยศ คนสามัญที่สุดคนของหม่อมเจ้าเอง พอใจจะมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ก็มีได้ ส่วนหม่อมเจ้าเองมีใม่ได้ ฯ เหตุไฉน เจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ผู้เปนเพียงพระราชาคณะยก จึงเปนพระกรรมวาจาของเรา ฯ มีเปนธรรมเนียมในราชการ พระอุปัชฌายะ หลวงเลือก พระกรรมวาจาจารย์ เจ้าตัวผู้บวชเลือก เราเลื่อมใสอยู่มากในเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ เหนอาการของท่านเคร่งครัดแลเปนสมถะดี มีฉายาอันเย็น เช่นพระราหุลครั้งยังเปนพระทารก กล่าวชมสมเดจพระบรมศาสดาฉนั้น ทำทางรู้จักกับท่านไว้ก่อนแล้ว ครั้นถึงเวลาบวช จึงเลือกท่านเปนพระกรรมวาจาจารย์ ใม่ต้องการท่านผู้มียศสูงกว่า เราพอใจว่าได้ท่านเปนพระกรรมวาจาจารย์ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนทุกวันนี้ ฯ ในคราวที่เราบวชนั้น เหนได้ว่าล้นเกล้า ฯ ทรงกังวลอยู่ พอเที่ยงแล้วก็เสดจออก ใม่ต้องคอยนาน ฯ บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ ล้นเกล้า ฯ หาได้เสดจส่งใม่ โปรดเกล้าฯ ให้สมเดจเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสดจมาส่งโดยรถหลวง เสดจพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่คณะกุฏิ์ ที่เปนคณะร้าง ใม่มีพระอยู่ในเวลานั้น นี้เปนเหตุให้เราเสียใจ เพราะได้เคยอยู่ที่โรงพิมพ์ที่เคยประทับของทูนกระหม่อมมาแล้ว ทั้งอยู่ห่างจากท่านออกไปด้วย เมื่อเปนเช่นนี้ จึงตั้งตนเปนคนห่างบ้าง แต่พระประสงค์ของท่านว่า เราอยู่ที่นั่นคณะกุฏิ์จะได้ใม่เปลี่ยว แต่เราก็อยู่สองคนกับตาจุ้ยอายุ ๗๐ แล้ว ที่ยายจัดให้มาอยู่เพื่อนเท่านั้น แต่อยู่ก็สบาย เงียบเชียบ มีคนหลายคนก็แต่เวลาในเพลที่เขาเชิญเครื่องมาส่ง ฯ
ถึงน่าเข้าพรรษา ล้นเกล้า ฯ เสดจถวายพุ่มที่วัดนี้ เคยเสดจทรงประเคนพุ่มพระเจ้าน้องยาเธอ ผู้ทรงผนวชใหม่ถึงตำหนักเปนการทรงเยือนด้วย เสดจกุฏีเราทรงประเคนพุ่ม เราเหนท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเปนพระ แปลกจากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคองอัญชลี เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเปนพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เปนเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เปนพระเชษฐะของเรา โดยฐานเปนผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เปนครูของเรา เหนท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงเคารพแก่ธงชัยพระอรหัตต่างหาก ก็ยังวางใจใม่ลง ใม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ใม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเหนเราผู้ที่ท่านทรงกราบแล้วถือเพศเปนคฤหัสถ์อิก ตรงคำที่เขาพูดกันว่ากลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะใม่สึกในเวลานั้น แต่หาได้ทูลใม่ ฯ
คราวนี้ เสดจพระอุปัชฌายะ หาค่อยได้ทรงสั่งสอนเหมือนเมื่อครั้งเปนสามเณรใม่ เปนเพราะท่านเลิกเปนพระอุปัชฌายะเสีย ทรงรับเปนเฉพาะบางคน พระใหม่ของท่านจึงมีใม่กี่รูป ท่านทรงสอนพระอื่น กลับสอบถามเราด้วยซ้ำ ฯ ในพรรษาต้น อยู่ข้างได้ความสุข เพราะความเปนไปลงรเบียบแลเงียบเชียบ เช้าบางวันไปบิณฑบาต เช้า ๒ โมงครึ่ง ลงนมัสการพระที่พระอุโบสถ กลับขึ้นมาแล้วจึงฉันเช้า แต่นั้นว่าง สุดแล้วแต่จะน้อมเวลาไป กลางวันพัก บ่ายดูหนังสือเรียน พอแดดล่มไปกวาดลานพระเจดีย์ กลับจวนค่ำ หัวค่ำเรียนมคธภาษากับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) เหมือนอย่างเคยเรียนที่วัง ยังเรียนอรรถกถาธรรมบทอยู่นั่นเอง แต่กำลังเคร่ง เงินทองใม่เกี่ยวข้อง อาจารย์พลอยขาดผลที่เคยได้เปนรายเดือนด้วย ๒ ทุ่มครึ่ง ลงนมัสการพระสวดมนต์ฟังสิกขาที่พระอุโบสถ เสดจพระอุปัชฌายะมักประทับตรัสอยู่จนเวลาราว ๔ ทุ่ม จึงเสดจขึ้น พระใม่อยู่รอ ต่างรูปต่างไป เว้นแต่ผู้ที่ท่านตรัสอยู่ด้วย ฝ่ายเราเคยมาในราชการ ทั้งท่านตรัสกับเราเองโดยมากด้วย รออยู่กว่าจะเสดจขึ้นจึงได้กลับ แต่นั้นเปนเวลาสาธยายแลเจริญสมณธรรม กว่าจะถึงเวลานอนราว ๒ ยาม สวดมนต์ที่เปนพระสูตรต่างๆ บันดามีในสมุดพิมพ์แบบธรรมยุต ครั้งรัชกาลที่ ๔ เราเล่าจำได้มาแต่ก่อนอุปสมบทแทบทั้งนั้น ใม่พักลำบากด้วยการนี้ ต้องเล่าเติมบางอย่างที่ใม่มีในนั้น เราเล่าที่วัดนี้ ปาติโมกข์ทั้งสอง แลองค์นิสสยมุตตกะ เปนต้น ที่สำหรับเปนความรู้ใม่ได้ใช้เปนสวดมนต์
ศึกษาธรรมแลวินัยหนักเข้า ออกจะเหนเสดจพระอุปัชฌายะทรงในทางโลกเกินไปเสียแล้ว นี้เปนอาการของผุ้แลเหนแคบดิ่งไปในทางเดียว ต่อเปนผู้ใหญ่ขึ้นเอง จึงเหนว่ารู้ทางโลกก็เปนสำคัญอุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง พระศาสดาของเราก็ได้ความรู้ทางโลกเปนกำลังช่วย จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี ในเวลานี้ คนเช่นนั้นเขาคงเหนเราทรงในทางโลกเกินไปเหมือนกัน ครั้งนั้น ใคร่จะไปอยู่ในสำนักเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ซึ่งครั้งนั้นเรียกวัดพระนามบัญญัติ เพื่อสำเหนียกความปฏิบัติของท่าน พอออกพรรษาแล้ว พูดแก่ท่าน ทูลขอพระอนุญาตของล้นเกล้า ฯ ทูลลาเสดจพระอุปัชฌายะ โปรดให้ไปสมปราถนา เปนคราวแรกที่เจ้านายพวกเราไปอยู่วัดอื่น นอกจากวัดบวรนิเวศวิหารนี้แลวัดราชประดิษฐ ได้ไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง ฯ แต่แรกท่านให้อยู่คณะด้านตวันออก ที่กุฎีตรงสระด้านเหนือที่เราสร้างเอง แต่บัดนี้ชำรุดแลรื้อเสียแล้ว ภายหลังขออนุญาตอยู่ในคณะของท่านทางคณะตวันตก ท่านให้อยู่ที่หอไตรหลังกุฎีใหญ่ของท่าน ฯ ท่านฝากเราให้เรียนมคธภาษาต่อเจ้าคุณพระพรหมมุนี (กิตติสาระ) ครั้งยังเปนเปรียญ เรียนมังคลัตถทีปนี พอค่ำอาจารย์มาสอนที่กุฎี ฯ
เราไปอยู่วัดนั้น เปนครั้งแรกที่เราได้พบว่า ความปฏิบัติวินัยของพวกพระธรรมยุตแผกกันโดยวิธี เช่นถือวิกัปอติเรกจีวร ภายในสิบวันเหมือนกัน แต่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วิกัปหนเดียวแล้ว ฝ่ายที่วัดมกุฎกษัตริย์ เมื่อถอนแล้ว ต้องวิกัปใหม่ ทุกสิบวัน เปนอย่างนี้ ได้ความว่า ในครั้งนั้น คณะธรรมยุต มีหัววัดเปนเจ้าสำนักอยู่สอง วัดบวรนิเวศวิหารที่เปนเจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัสวิหาร ๑ สองสำนักนี้ ปฏิบัติวินัยก็ดี ธรรมเนียมก็ดี แผกกันไปบ้างโดยวิธี แม้อัธยาศัยก็แผกกัน วัดอื่นที่ออกจากสองวัดนั้นหรือเนื่องด้วยสองวัดนั้น ย่อมทำตามหัววัดของตน เหตุแผกกันของสองวัดนั้น เราควรจะถามเจ้าคุณพระกรรมวาจาจารย์ของเราได้ทีเดียว แต่พลาดมาเสียแล้ว หาได้ถามใม่ เข้าใจตามความสังเกตแลพบเหนว่า เมื่อครั้งทูนกระหม่อมยังทรงผนวช ครั้นเมื่อเสดจมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว สมเดจพระวันรัต (พุทธสิริ) ครองคณะวัดราชาธิวาสอยู่ข้างโน้น ทูนกระหม่อมทรงเปลี่ยนแปลง หรือตั้งแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นข้างนี้ สมเดจพระวันรัตอยู่ข้างโน้นบางทีจะใม่รู้ คงทำตามแบบที่ใช้ ครั้งเสดจอยู่วัดราชาธิวาส ข้างเสดจพระอุปัชฌายะ เสดจย้ายจากวัดมหาธาตุมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารกับทูนกระหม่อม ใม่ได้เคยเสดจอยู่วัดราชาธิวาส คงทรงตามแบบที่ใช้ในวัดนี้สืบมา การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ใม่เคยมีประกาศให้รู้ทั่วกันหรือบังคับนัดหมายให้เปนตามกัน จนถึงเราเปนคู่ครองคณะ พึ่งจะมีขึ้นบ้างเมื่อมีหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ขึ้นแล้ว ครั้นทูนกระหม่อมทรงลาผนวชไปเสวยราชย์แล้ว เสดจพระอุปัชฌายะเปนเจ้าคณะ แต่ท่านใม่ได้เปนบาเรียน แลท่านทรงถ่อมพระองค์อยู่ด้วย ฝ่ายสมเดจพระวันรัตเปนผู้ใหญ่แก่พรรษากว่าท่าน ต่อมาเปนสังฆเถระในคณะด้วย เปนบาเรียนเอก มีความรู้พระคัมภีร์เชี่ยวชาญ ทั้งเอาใจใส่ในการปฏิบัติจริง ๆ ด้วย แต่ใม่สันทัดในทางคดีโลกเลย ข้างเสดจพระอุปัชฌายะโปรดถือตามแบบเดิม ข้างสมเดจพระวันรัตชอบเปลี่ยนแปลง มีอัธยาศัยเปนธรรมยุตแท้ สององค์นั้นใม่ได้หารือ แลตกลงกันก่อน เมื่อฝ่ายหนึ่งจะแก้ไขธรรมเนียมเดิม ใครจะแก้ไปอย่างไรก็ได้ มุ่งในที่แคบคือเฉพาะวัดที่ปกครอง ใม่คิดว่าจะทำความเพี้ยนกันขึ้นในทางนิกายอันเดียวกัน เหตุอันหนุนให้แก้ไขนั้น คือมุ่งจะทำการที่เหนว่าถูก ใม่ถือความปรองดองเปนสำคัญ ในเวลานั้นวัดบวรนิเวศวิหารกำลังโทรม มีพระหลักแหลมในวัดน้อยลง ถูกจ่ายออกไปครองวัดต่าง ก็หาเปนกำลังของวัดเดิมใม่ กลับเปนเครื่องทอนกำลังวัดเดิม พระอริยมุนี (เอม) ได้ออกไปวัดเทพศิรินทร์ เมื่อก่อนน่าเราอุปสมบทปีหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนตลอดเวลาของเสดจพระอุปัชฌายะ ใม่มีพระออกวัดอิกเลย ในวัดเพียงเทศนาอ่านหนังสือได้เปนจังหวะถูกต้อง สวดปาติโมกข์ได้ก็เปนดี ฝ่ายวัดโสมนัสกำลังเจริญ มีพระบาเรียนเปนนักเทศน์แลบอกปริยัติธรรมได้หลายรูป ทั้งเปนผู้มั่นคงในพระศาสนา จ่ายออกวัดต่างไป ย่อมเปนกำลังของวัดเดิม ช่วยแผ่ลัทธิให้กว้างขวาง สมเดจพระวันรัตใม่มีอำนาจในทางคณะเลย แต่มีกำลังอาจแผ่ลัทธิกว้างขวางออกไป เพราะมีผู้นับถือนิยมตาม ความปฏิบัติเพี้ยนกันมีขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ฯ เจ้าคุณอาจารย์ของเรา ได้เคยเปนพระปลัดของสมเดจพระวันรัต อยู่วัดราชาธิวาสแล้วย้ายมาอยู่วัดโสมนัสวิหารพร้อมกับท่าน ต่อมาทูนกระหม่อมทรงตั้งเปนพระราชาคณะ โปรดให้มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังโปรดให้ไปอยู่ครองวัดมกุฎกษัตริย์ ท่านเคยพบความเพี้ยนกันมาแล้ว ท่านจึงเลือกใช้ตามความชอบใจ ความปฏิบัติธรรมแลวินัย ตลอดจนอัธยาศัย เปนไปตามคติวัดโสมนัสวิหาร แบบธรรมเนียมเปนไปตามคติวัดบวรนิเวศวิหาร ปนกันอยู่ ฯ ความแผกผันนี้เปนเหตุพระต่างวัดไปมาใม่ถึงกัน พระต่างเมืองไปมาพักอยู่ต่างวัด กระดากเพื่อเข้านมัสการพระด้วยกัน คราวหนึ่งเมื่อรับสมณศักดิ์แล้ว เราไปพักอยู่วัดสัตตนาถปริวัตรเมืองราชบุรี เข้านมัสการพระกับพวกพระวัดนั้น ปราถนาจะดูธรรมเนียม จึงให้พระสมุทรมุนี (หน่าย) เจ้าอาวาสนำนมัสการพระแลชักสวดมนต์ ธรรมเนียมแปลกมากเล่าใม่ถูก วัดนั้นออกจากวัดโสมนัสวิหาร บางทีธรรมเนียมวัดโสมนัสวิหาร จักเปนเช่นนั้นกระมัง ฯ
นอกจากนี้ ยังได้พบความเปนไปของวัดที่ขึ้นวัดอื่นว่าเปนเช่นไร พระผู้ใหญ่วัดตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา ต้องไปมาหาสู่วัดเจ้าคณะแลวัดใหญ่ ได้ความคุ้นเคยกับต่างวัด ได้คติของต่างวัด แต่เปนวัดใม่มีเจ้านายเสดจอยู่ พระในพื้นวัดย่อมเซอะอยู่เองแต่ว่าง่าย หัวใม่สูง ฯ
ตั้งแต่ครั้งทูนกระหม่อมยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เปนที่สิ้นสงสัย ใม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันใม่ได้มาในบาฬี เปนแต่พระอรรถกถาจารย์ แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมคามสีมา ครั้งยังใม่มีวัดอยู่ตามลำพัง จึงใช้สีมาน้ำเปนที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เปนหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำอิกในสีมาน้ำ เรียกว่าทำทัฬหิกรรม ฯ สำนักวัดบวรนิเวศวิหารอยุดมานานแล้ว พระเถระในสำนักนี้ ใม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก สมเดจพระสังฆราช (ปุสสเทวะ) อุปสมบทครั้งหลัง กว่า ๒๐ พรรษา พึ่งได้ทำทัฬหิกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้า ฯ ทรงผนวชพระ เสดจพระอุปัชฌายะตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเปนผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเปนผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะใม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้า พระธรรมุณหิสธาดาผู้ใม่ได้ทำอิกองค์หนึ่ง ฯ ฝ่ายสำนักวัดโสมนัสวิหารยังทำกันเรื่อยมา ใม่เฉพาะรูปจะยั่งยืนเปนหลักในพระศาสนา พระนวกะสามัญก็ทำเหมือนกัน ฯ คราวนี้เกิดปันกันขึ้นเองในหมู่พระ เปนพระน้ำก็มี เปนพระบกก็มี คราวนี้พวกอุบาสิกาสำนักนั้น ก็พูดกระพือเชิดชูพระน้ำ หมิ่นพระบก จนเกิดความขึ้นคราวหนึ่ง ก่อนน่าเราบวช ล้นเกล้า ฯ ทรงออกรับในฝ่ายพระบก ตั้งแต่นั้นมา เสียงว่าพระน้ำพระบกก็สงบมา ถึงยังทำกัน ก็ปิดเงียบ ใม่ทำจนเฝือเหมือนอย่างก่อน ฯ ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังใม่วาย เราเหนว่า เราเปนผู้จักยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเปนหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเปนผู้เข้าได้ทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องใม่เปนที่รังเกียจในการอุปสมบทเปนมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเรวไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอิกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ ขอท่านเปนธุระจัดการให้ ท่านเหนด้วย แลรับจะเอาเปนธุระ สั่งให้เรามากราบทูลเชิญเสดจ ๆ พระอุปัชฌายะ ท่านตรัสว่าจะเสดจก็เกรงจะเปนการอื้ออึง ตรัสสั่งให้เอาพระนามไปสวด ทรงเทียบว่าใม่มีอุปัชฌายะ ยังอุปสมบทขึ้น แต่เจ้าคุณอาจารย์ เจ้าคุณพรหมมุนีกับเรา ปรึกษากันเหนร่วมกันว่า มีความข้อหนึ่ง ในกัมมากัมมวินิจฉัยว่า “กรรมอันจะพึงทำในที่ต่อหน้า ทำเสียในที่ลับหลัง เปนวัตถุวิบัติ หาเปนกรรมที่ได้ทำโดยธรรมใม่” ถ้าอุปสัมปทากรรม จะต้องทำในที่ต่อหน้าอุปัชฌายะ เมื่ออุปัชฌายะใม่อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ เปนแต่เอาชื่อมาสวด ก็จักเปนกรรมวิบัติ ข้อที่ว่าใม่มีอุปัชฌายะก็อุปสมบทขึ้นนั้น อยู่ข้างหมิ่นเหม่ จะฟังเอาเปนประมาณมิได้ จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เปนอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพรหมุนีฟันหัก สวดจะเปนเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพศิรินทร์ ครั้งยังเปนบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหาร เปนผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธแลกรรมวาจารามัญ จบกรรมวาจาแรก เวลา ๕ ทุ่ม….ลิปดา เสร็จทำทัฬหิกรรมแล้ว เจ้าคุณท่านสั่งให้ถือนิสสัยอาจารย์ไปตามเดิม เราจึงเรียกเจ้าคุณอาจารย์ตลอดมา ฯ
ในเวลาจำพรรษาที่ ๒ เราขออนุญาตเจ้าคุณอาจารย์เข้าไปอยู่อุปฐากท่านในกุฎีเดียวกัน ด้วยปราถนาจะได้คุ้นเคยสนิทแลจะได้เหนความปฏิบัติของท่านในเวลาอยู่ตามลำพังด้วย ฯ ท่านใม่ได้เปนเจ้า แลเปนเพียงพระราชาคณะสามัญ เราเปนเจ้าชั้นลูกหลวง ห่างกันมาก แม้เปนศิษย์ ก็ยากที่จะเข้าสนิท จึงปราถนาจะหาช่องผูกความคุ้นเคย เข้ายากแต่ในชั้นแรก พอเข้าสนิทได้แล้วเปนกันเองดี เรากับเข้าได้สนิทกว่าเสดจพระอุปัชฌายะผู้เปนเจ้าด้วยกัน แลเปนชั้นเดียวกับอาวด้วย ปกติของเสดจพระอุปัชฌายะ แม้เข้าสนิทได้แล้ว แต่ใม่ได้เฝ้านานวันเข้า กลับห่างออกไปอิก ต้องคอยเข้าอยู่เสมอ ยากที่จะรักษาความสนิทให้ยืนที่ แม้สัทธิวิหาริกผู้มิใช่เจ้า ที่ท่านเคยทรงใช้สรอยมาสนิท มีฐานันดรเปนพระราชาคณะขึ้น อาจห่างออกไปได้ ด้วยท่านทรงเลิกใช้เสีย พระนั้นเลยเข้ารอยใม่ถูก ฝ่ายเจ้าคุณอาจารย์ เข้าสนิทได้คราวหนึ่งแล้ว แม้อยู่ห่างจากกัน คงสนิทอยู่ตามเดิม เมื่อเรากลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแลเปนต่างกรมมีสมณศักดิ์ในพระแล้ว ท่านก็ยังคุ้นเคยสนิทสนมด้วยตามเดิม ฯ ตั้งแต่เรามาอยู่กับท่าน ยังเหนจรรยาของท่านน่าเลื่อมใสอยู่เสมอ เมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ชิดเหนว่าเปนปกติของท่านอย่างนั้นจริง ยิ่งเลื่อมใสขึ้น ปกติของท่าน รักษาไตรทวารให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษ นี้เปนลักษณะสมถะแท้ คุณสมบัติของท่านที่ควรรบุ เราไปอยู่ในสำนักของท่าน ๒ ปี ๒ เดือน อยู่อุปฐากเกือบปีเต็ม ในรวางนี้ใม่ปรากฏว่าได้แสดงความโกรธแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เปนผู้มีใจเย็น ใม่เคยได้ยินคำพูดของท่านอันเปนสัมผัปปลาป การณ์ที่ใม่รู้ใม่เข้าใจ ใม่พูดถึงเสียเลย จึงใม่แสดงความเข้าใจเขวให้ปรากฎเลย ความถือเราถือเขาของท่านใม่ปรากฎเลย เปนผู้มีสติมาก สมตามคำสอนของท่านว่า จะทำอไรหรือพูดอไร จงยั้งนึกก่อน ข้อที่แปลกผู้ใหญ่อื่นโดยมากใม่ดูหมิ่นคนเกิดทีหลังว่าเด็กแลตื้น แม้ผู้เปนเด็กพูดฟังโดยฐานะเปนผู้มีเมตตาอารี หาใช่ผู้มีใจคับแคบตามวิสัยของพระผู้ตั้งตัวเปนผู้เคร่งใม่ เช่นเราเข้าไปขออยู่ด้วยในสำนัก ท่านมีอัธยาศัยเผื่อแผ่พอที่จะรับไว้แลอนุเคราะห์ให้ได้รับประโยชน์จริงๆ ฯ อุบายดำเนิรการของท่าน ปกครองบริษัทด้วยผูกใจให้รักแลนับถือ แม้เราเปนเจ้านายก็ปกครองไว้อยู่ ตลอดถึงในน้ำใจ สอนคนด้วยทำตัวอย่างให้เหนมากกว่าจะพูด เมื่อพูดสั่งสอนอย่างใด เหนว่าท่านปฏิบัติมาอย่างนั้นด้วย เมื่ออธิกรณเกิดขึ้น ควรจะนิคคหะ ก็รีบทำแต่ชี้โทษให้ผู้ผิดเหนเอง ทำอย่างที่เรียกว่าบัวใม่ช้ำ น้ำใม่ขุ่น รักษาความสม่ำเสมอในบริษัท จะแจกของ แจกทั่วกัน เช่นน่าเข้าพรรษา ท่านแจกเครื่องสักการเพื่อพระสามัญผู้ใม่ได้รับของใครเลย จะได้ใช้ทำวัตร เรามีผู้ถวายแล้ว ท่านก็แจกมาถึงด้วยเหมือนกัน ชอบผู้ใดผู้หนึ่ง ใม่แสดงให้ปรากฏ มีศิษย์เปนเจ้านายเฉพาะบางพระองค์ ที่มาอยู่ด้วยมีแต่เรา ใม่มีเฝือดุจเสดจพระอุปัชฌายะ น่าจะตื่น อิกอย่างหนึ่ง ท่านเปนอันเตวาสิกของทูนกระหม่อม ได้พระเจ้าลูกเธอของท่านเรียกตามโวหารสามัญว่าลูกครู มาไว้เปนศิษย์น่าจะยินดีเท่าไร แต่ท่านรวังจริงๆ เพื่อจะใม่ให้ความพอใจรั่วไหลออกภายนอก แต่ก็ใม่ฟังอยู่ดี ท่านประพฤติแก่เราโดยฐานมีเมตตาอารีเอื้อเฟื้อ รวังใม่ตีสนิทกับเราเกินพอดี ที่จะพึงเหนว่าประจบหรือเอาใจเรามากเกินไป ฯ ข้อบกพร่องของท่านตามที่เรานึกเหน เปนผู้พูดน้อยเกินไป ที่เรียกกันว่าพูดใม่เปน ทูนกระหม่อมทรงพระตำหนิว่าพระใม่พูด แต่อันที่จริงคุ้นกันแล้ว ท่านพูด พูดใม่ถนัด เฉพาะท่านผู้ที่จะพึงเคารพหรือยำเกรง แลคนแปลกหน้า อิกอย่างหนึ่ง เรานึกติท่านในครั้งนั้นว่า เก็บพัสดุปริกขารไว้มากเปนตระหนี่ เพราะเวลานั้นเรายังใม่มีศิษย์บริวารจะพึงสงเคราะห์ นอกจากตาดีอุปฐากแทนตาจุ้ยผู้ตายไปเสีย แลยังมียายเปนผู้บำรุงอยู่ จึงเหนว่าพระใม่ควรมีอไรมากนัก ต่อเปนผู้ใหญ่ขึ้นด้วยตนเอง จึงรู้ว่าพระผู้ใหญ่ผู้ครองวัดแลหาผู้บำรุงมั่งคั่งเปนหลักฐานมิได้ เช่นเจ้าคุณอาจารย์ จำต้องมีพัสดุปริกขารไว้ใช้การวัดแลเจือจานแก่บริษัทผู้ขัดสน ยิ่งวัดมกุฎกษัตริย์ที่ตั้งใหม่ ใม่มีของใช้บริบูรณ์เหมือนวัดบวรนิเวศวิหาร เสดจพระอุปัชฌายะเคยตรัสต่อว่าทางเราว่า แต่ก่อนจะรับกฐินเคยขอยืมเครื่องบูชาที่วัดบวรนิเวศวิหารไปตั้ง อย่างไรเดี๋ยวนั้นหายไป เจ้าคุณอาจารย์ท่านแก้ว่า พอมีขึ้นบ้างแล้ว จึงใม่ได้ไปทูลรบกวน แลการสงเคราะห์บริษัทเล่า ทางดีที่ควรทำ รูปใดต้องการสิ่งใดจึงให้ แต่เปนผู้ใหญ่ย่อมห่างจากผู้น้อย ภิกษุสามเณรมักกระดาก เพื่อจะเข้ามาขอของที่ต้องการ ได้แก่ตัวเราเองเมื่อภายหลัง ข้อนี้เราขอขะมาท่านในที่นี้ ฯ
เวลาอยู่อุปฐากเจ้าคุณอาจารย์ในพรรษานั้น เราอยุดเรียนหนังสือแต่ได้ศึกษาวินัยกับท่านตลอดถึงสังฆกรรม แลหัดสวดกรรมวาจาอุปสมบททั้งทำนองมคธ ทั้งทำนองรามัญ แม้ท่านใม่ได้เปนบาเรียน แต่ได้เคยเรียนบาฬี อ่านเข้าใจ ได้ยินว่าพระราชาคณะยกในฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย ในครั้งนั้น รู้บาฬีแทบทั้งนั้น เว้นเฉพาะบางรูป ฐานันดรว่าพระราชาคณะยกนั้น น่าจะเพ่งเอาท่านผู้รู้บาฬี แต่ใม่ได้สอบได้ประโยคเปนบาเรียน ทรงยกย่องเปนบาเรียนยก ฯ เราเหนท่านแม่นยำในทางวินัยมาก สังฆกรรมที่ใม่ชินอย่างอุปสมบท เมื่อถามขึ้นโดยใม่รู้ตัว ท่านอธิบายได้ แต่การปฏิบัติวินัยยังเปนไปตามอักษร แลมักเกรงจะเปนผิด ถูกตามแบบที่นิยมไว้ว่า “เปนผู้มีปกติ ลอายใจ มักรำคาญ ใคร่ศึกษา” แต่ใม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนี้ เหมือนอย่างพระผู้ตั้งตนว่าเคร่ง ฯ ในการสวดกรรมวาจาอุปสมบท ท่านได้ชื่ออยู่ในเวลานั้น ทั้งเปนที่นับถือในทางปฏิบัติด้วย ครั้งสมเดจพระสังฆราช (ปุสสเทวะ) ทำทัฬหิกรรม ท่านก็สวด หัดผู้อื่น ใม่สันทัดในอันแนะ แต่ยันหลักมั่น ยังใม่ถูก ใม่ผ่อนตาม ฯ ธรรมสนใจในบางประการเฉพาะที่ถูกอารมณ์ แลรู้จักอรรถรส ใม่พูดพร่ำเพรื่อ ถึงคราวจะเทศนา ใช้อ่านหนังสือ ท่านพอใจอย่างนั้น มากกว่าพุ้ยเทศน์ปากเปล่าเหลิงเจิ้ง ที่ในปกรณ์เรียกผู้เทศน์อย่างนั้นว่า ธรรมกถึกย่านไทร สอนผู้บวช ใช้ปากเปล่า แต่มีแบบพอสมแก่สมัยฟังได้ ฯ ท่านใม่ได้เปนบาเรียนก็จริง ถึงอย่างนั้นท่านที่เปนบาเรียนมีชื่อเสียงตลอดมาทุกยุคถึงเราเองในบัดนี้ นับถือท่านแทบทั้งนั้น เราใม่เคยเสียใจว่ามีอาจารย์วาสนาต่ำเลย ยังเปนที่พอใจของเราอยู่จนทุกวันนี้ ฯ
เดิมนึกว่าจะอยู่อุปฐากเพียงพรรษาหนึ่ง ออกพรรษาแล้วจักลาออกเรียนหนังสือต่อไป แต่ยังเลื่อมใสอยู่ จึงทำต่อมาอิกบัญจบเปน ๑๑ เดือน แต่เรียนหนังสือไปด้วย จนถึงเวลาเรียนปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย อันเปนหลักสูตรแห่งประโยค ๗ ที่ต้องดูหนังสืออื่นแก้อิกสองสามคัมภีร์ ต้องใช้เวลามาก แลประจวบคราวเสดจพระอุปัชฌายะประชวรไข้พิษมีพระอาการมาก เราลาท่านกลับมาอยู่พยาบาลที่วัดบวรนิเวศวิหาร กว่าจะหายประชวร เมื่อกลับไปจึงเลยออกจากน่าที่อุปฐากด้วยทีเดียว ตั้งหน้าเรียนหนังสือต่อไป ฯ
เดิมเราตั้งใจเรียนพออ่านบาฬี อรรถกถาฎีกาเข้าใจความอย่างเสดจพระอุปัชฌายะแลเจ้าคุณอาจารย์เท่านั้น ใม่ปราถนาเปนบาเรียน ครั้นทราบจากเจ้าคุณพรหมมุนีว่า ล้นเกล้า ฯ ตรัสถามถึงว่าจะแปลได้หรือมิได้ แลเจ้าคุณพรหมมุนีถวายพระพรทูลรับเข้าไว้ด้วย เกรงว่าจะถูกจับแปล การแปลมีวิธีอย่างหนึ่ง นอกจากเอาความเข้าใจ เราใม่ได้เตรียมตัวไว้ ถูกจับแปลเข้าจักอายเขา เปนเจ้า พอไปได้ ก็เชื่อว่าใม่ตก ยกเสียแต่ใม่มีพื้นมาเลย เช่นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ เมื่อครั้งบวชเปนสามเณร แต่เขาคงว่าได้อย่างเจ้า พวกเจ้าผู้แปลหนังสือเปนบาเรียนได้รับความชม ได้ยินเพียงทูนกระหม่อมของเรา กับหม่อมเจ้าเนตรในพระองค์เจ้าเสือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๒ ผู้อยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ นอกจากนี้ ถูกติก็มี เงียบอยู่ก็มี คราวนี้ต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าแปลหนังสือด้วย ฯ เมื่อตกลงใจอย่างนี้แล้วพลอยเหนอำนาจประโยชน์ไปด้วยว่า อาจารย์ผู้บอกหนังสือ ใม่ได้รับตอบแทนอันคุ้มกัน เมื่อเราแปลได้ประโยคเปนบาเรียน จักได้ชื่อได้หน้า จักได้เหนผลแห่งการงารของท่าน ฯ เรากล่าวถึงพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ แปลหนังสือตกไว้ในที่นี้ หากท่านยังอยู่ท่านคงใม่โกรธ บางกลับจักเหนเปนชื่อเสียอิก มีผู้รู้กันขึ้นว่า ท่านก็เปนนักเรียนบาฬีเหมือนกัน ดีกว่าใม่ได้เปนทีเดียว ฯ
เมื่อเราได้สองพรรษาล่วงไปแล้ว จักเข้าสามพรรษา เจ้าคุณอาจารย์ให้สวดกรรมวาจาอุปสมบท ครั้งนั้นที่วัดใม่มีผู้สวด เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหลุดใม่สวด พระจันโทปมคุณ (หัตถิปาละ) ครั้งยังเปนพระปลัด ใม่รู้มคธภาษาแลใม่สันทัดว่าอักขระ สวดใม่ได้ ต้องนิมนต์ผู้สวดมาจากวัดอื่น แลผู้สวดกรรมวาจานั้น ในพระบาฬีใม่ได้ยกย่องเปนครูบาของผู้อุปสมบท ยกย่องเพียงอุปัชฌายะแลอาจารย์ผู้ให้นิสสัย พึ่งยกย่องในยุคอรรถกถา พระธรรมยุตจึงใม่ถือเปนสำคัญนัก ทูนกระหม่อมแลเสดจพระอุปัชฌายะ ท่านก็ได้สวดมาแต่พรรษายังน้อย เจ้าคุณท่านให้เราสวดอนุวัตรตามอย่างนั้น ฯ เราเองพอใจในทางหนึ่งว่า ได้เปิดคราวแรกต่อหน้าอาจารย์ของเราเอง แลได้ยกชื่ออาจารย์ของเราเองขึ้นสวดเปนแรก ถือว่าเปนมงคลแก่กรณียะนี้อันจะพึงทำต่อไปข้างหน้า แต่เสียดายว่าภิกษุรูปแรกที่เราสวดกรรมวาจาอุปสมบทให้นั้น แม้เลือกเอาคนบวชต่อแก่แล้ว ก็หายั่งยืนอยู่หรือตายในพรหมจรรย์ใม่ ฯ
เราอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ได้รับเมตตาแลอุปการะของเจ้าคุณอาจารย์อันจับใจ ท่านได้ทำกรณียะของอาจารย์แก่เรา ฝากเราให้เรียนหนังสือในสำนักเจ้าคุณพรหมมุนี จัดการทำทัฬหิกรรมอุปสมบทให้แก่เรา ยังเราให้ได้รับฝึกหัดในกิจพระศาสนาเปนอันดี ยกย่องให้ปรากฎในหมู่ศิษย์ ตลอดถึงเปนทางเข้ากับสำนักวัดโสมนัสได้ ให้กำลังเราในภายน่ามาก เพราะข้อนี้ แสดงความวิสสาสะฉันอาจารย์กับศิษย์ เปิดช่องให้เราเข้าสนิท ใม่กระเจิ่น นับว่าได้เจริญในสำนักอาจารย์ เอาใจใส่เอื้อเฟื้อในเราเปนอย่างยิ่ง สุขทุกข์ของเราเปนดุจสุขทุกข์ของท่าน แลอยู่ข้างเกรงใจเรามาก แผนยาย เมื่อเรายังใม่ได้อุปสมบท ฯ เรามีน่าที่เปนผู้รับอาบัติของท่าน แลได้รับในหนที่สุดเมื่อจวนจะถึงมรณภาพ เราถือว่าเปนเกียรติ์ของเรา ฯ
ฝ่ายเจ้าคุณพรหมมุนีเล่า ได้ตั้งใจบอกปริยัติธรรมแก่เราโดยเอื้อเฟื้อ ประโยคที่เราจะเรียนในวัน ๆ ท่านอ่านแลตริตรองมาก่อน เปนผู้มีความรู้ในทางแปลหนังสือแตกฉาน เราได้รับความแนะนำในการแปลหนังสือเปนอย่างลเอียดลออ ได้ความรู้ดีขึ้นกว่าก่อนเปนอันมาก ในครั้งนั้น ท่านยังเปนบาเรียน ยังหาได้เข้าประชุมในการสอบความรู้ใม่ จึงใม่แน่ใจในวิธีแปลที่ใช้ในสนามหลวงนัก จึงต้องสนใจหาความเข้าใจไว้หลายทาง ถ้ามีทางจะแปล, กลับได้ความคิดแตกฉานขึ้นอิก ฯ
ในพรรษาที่ ๓ นั้น พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน เราเข้าไปฉันที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยในการเฉลิมพระชนม์พรรษา พอสรงมุรธาภิเษกแล้ว ล้นเกล้า ฯ เสดจมาตรัสแก่เสดจพระอุปัชฌายะว่า เมื่อก่อนน่าเราบวช ได้ทรงปฏิญญาไว้แก่เราว่า บวชได้สามพรรษาแล้ว จักทรงตั้งเปนต่างกรม บัดนี้เราบวชเข้าพรรษาที่สามแล้ว ทั้งจะต้องออกงารในการฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ขวบปี ทรงกะไว้จะให้ถวายเทศนากระจาดใหญ่ กัณฑ์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายทูนกระหม่อม ทรงขอตั้งเราเปนพระราชาคณะแลเปนต่างกรมในปีนั้น เสดจพระอุปัชฌายะทรงพระอนุมัติ ฯ จริงอยู่ ล้นเกล้า ฯ ได้ตรัสไว้แก่เราอย่างนั้น แต่เราหาได้ถือเปนพระราชปฏิญญาใม่ แลยังใม่นึกถึงการเปนต่างกรมเลย เพราะยังเหนว่าเปนยศที่ยังอยู่สูงกว่าตัวลิบลับ ด้วยในครั้งนั้น พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงกรมไปก่อนแล้ว มีแต่ชั้นใหญ่ ๔ พระองค์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พึ่งทรงกรมเมื่อต้นศกนั้น ชั้นกลางมีแต่กรมพระเทววงศ์วโรปการพระองค์เดียว พึ่งเปนเมื่อต้นศกเหมือนกัน เราเปนชั้นรองลงมา ในชั้นเรายังใม่มีใครได้เปน ยกสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าเสีย ในทางสมณศักดิ์ เข้าใจว่าจะต้องรับยศเปนเปรียญไปก่อนเหมือนทูนกระหม่อม แล้วจึงขึ้นเปนพระราชาคณะในลำดับ เราได้ยินตรัสอย่างนั้น ตกตลึงหรืองงดุจฝัน เพราะได้ตกลงใจแลเตรียมตัวมาแล้วว่าจักเข้าแปลหนังสือ เรายังมุ่งอยู่ในทางนั้น จึงทูลถามขึ้น ตรัสว่า แปลได้ด้วยยิ่งดี ทรงจัดว่า เดือนยี่แปลหนังสือ เดือน ๔ รับกรม โปรดให้รับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ฯ เราบวชใม่ได้มุ่งยศศักดิ์ก็จริง เมื่อจะโปรดให้เปน หาได้คิดเบี่ยงบ่ายใม่ เราได้เคยปรารภว่าผู้ตั้งใจบวชจริง ๆ ดูใม่น่าจะรับยศศักดิ์ แต่น่าประหลาดใจว่า พระผู้ใม่ได้อยู่ในยศศักดิ์ หรือยิ่งพูดว่าใม่ใยดีในยศศักดิ์ เรายังใม่แลเหนเปนหลักในพระศาสนาจนรูปเดียว จะหาเพียงปฏิบัตินำให้เกิดเลื่อมใสเช่นเจ้าคุณอาจารย์ของเรา ให้ได้ก่อนเถิด พระผู้ที่เราเลื่อมใสแลนับถือว่าเปนหลักในพระศาสนาเปนเครื่องอุ่นใจได้ เปนผู้รับยศศักดิ์ทั้งนั้น สมเดจพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร ที่แลเหนว่าใม่มุ่งในทางโลกีย์แล้ว ยังยอมอยู่ในยศศักดิ์ เหตุให้เปนอย่างนี้ น่าจะมี ภายหลังเปนผู้ใหญ่ขึ้นเองแล้วจึงรู้ว่า พระที่เราเลื่อมใส แลนับถือว่าเปนหลักในพระศาสนานั้น ย่อมเอาภารธุระพระพุทธศาสนา เว้นจากความเหนแก่ตัวเกินส่วน อันจะทำนุบำรุงพระศาสนาที่สุดเพียงครองวัดหนึ่ง ใม่ได้กำลังแผ่นดินอุดหนุนทำไปใม่สดวก ฝ่ายแผ่นดินเล่า ย่อมคอยสอดส่องอยู่เสมอ มีพระดีเปนที่เลื่อมใส แลนับถือของมหาชนปรากฏขึ้นณะที่ไหน ย่อมเอามาตั้งไว้ในยศศักดิ์ ให้กำลังทำการพระศาสนา ลักษณะพระที่ดีจริง ย่อมใม่อยากร่านเปนนั่นเปนนี่ เมื่อถึงคราวจะต้องเปนเข้าจริง ใม่แสดงพยศแลเบี่ยงบ่าย พระผิดจากลักษณะนี้ เราก็ใม่เลื่อมใสแลใม่เหนเปนหลักในพระศาสนา จึงหาพระประกอบด้วยลักษณะนั้น นอกยศศักดิ์ใม่ได้ ฯ ถ้าจักเปนพระราชาคณะแลเปนกรมในคราวหนึ่งแล้ว เปนในเวลานี้ก็ดี ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ได้ทำนุบำรุงมา ทั้งฝ่ายพระทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ยังอยู่พร้อมหน้า ต่างจักได้ชื่นบาน ได้เหนอุปการของท่านจับเผล็ดผล นี้ก็เปนจริงอย่างนั้น ตั้งแต่ปีน่าท่านก็จับล่วงลับไปตามกัน ฯ
ในปีนั้น เราได้รับเกียรติยศ โปรดให้ถวายเทศนาทานมัยในการพระราชกุศลออกพรรษาประจำปี ที่ประจวบกับพระราชกุศลในวันประสุตของทูนกระหม่อม เปนเทศนาบันดาศักดิ์ พระราชาคณะผู้ใหญ่เปนผู้ถวาย ฯ
ในเวลาที่เรากำลังเรียนปริยัติธรรมอยู่นั้น คุณยายแม่บอกให้พระไตรปิฎกสำรับใหญ่จบหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนเท่าหนังสือหลวง ในหอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันท่านสร้างไว้เมื่อครั้งรัชกาลที่สาม ครั้งเปนเจ้าจอมมารดาตัวโปรด ได้อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้กรมราชบัณฑิตจัดสร้าง ท่านเปนผู้ออกทรัพย์ ฯ หนังสือนี้สร้างเสร็จแล้ว ฝากไว้ที่หอมนเทียรธรรมจนตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ย้ายเอาไปฝากไว้ณะวัดกัลยาณมิตร สำหรับพระยืมไปเล่าเรียน ถวายขาดก็มีบ้าง ฯ ได้ยินว่า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เทียบที่สมเดจพระพุฒาจารย์ (ปาน) ผู้ที่ท่านอุปการให้ได้อุปสมบท ครั้งยังเปนพระพินิตพินัยอยู่วัดมหรรณพาราม แนะนำท่านเพื่อยกให้เราเสีย จะได้เปนเครื่องมือแห่งการเล่าเรียน แลหนังสือจะได้ใม่กระจัดกระจาย ท่านเหนชอบตามคำพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จึงบอกยกให้เรา แลให้ไปรับเอามาจากวัดกัลยาณมิตร ฯ นี้เปนโชคของเราในอันจะรู้ปริยัติธรรมกว้างขวาง พระผู้เรียนแม้แปลได้อ่านเข้าใจแล้ว ผู้มีหนังสือน้อย ย่อมติดขัดในการสอบคำที่ชักเอามากล่าวจากคัมภีร์อื่น ถ้าใม่มีเลย เรียนแต่หนังสืออันเปนหลักสูตรเท่านั้นแล้ว ถึงคำที่อ้างมาจากคัมภีร์อื่น รู้ได้เท่าที่กล่าวตามคำบอกหรืออธิบายของอาจารย์ คำนั้นเดิมใครกล่าวใม่รู้ด้วยตนเอง ต้องจำคำอาจารย์บอก เปรียบเหมือนแลเหนรูปถ่ายสถานที่เราใม่เคยไป เท่าที่เงาติด จะนึกกว้างขวางออกไปอย่างไรใม่ถูกเลย ได้เคยพบที่มาเดิมแล้ว หรือค้นพบทีหลัง อาจเข้าใจได้ชัดเจน เหมือนแลเหนรูปถ่ายแห่งสถานที่เราเคยไปมาแล้ว แลเหนปรุโปร่งแลนึกติดต่อได้ตลอดไป ด้วยเหตุนี้แล พระบาเรียนโดยมาก จึงมีความรู้ใม่กว้างขวาง ยิ่งเรียนกรอกม่อพอได้ประโยคเปนบาเรียนเท่านั้นแล้ว ยิ่งรู้แคบเต็มประดา เจ้าคุณพรหมมุนี แม้ได้ชื่อว่าแปลหนังสือดี ก็ยังขัดด้วยหนังสือเปนเครื่องมือสำหรับสอบโดยมาก ได้พระไตรปิฎกจบใหญ่มา ท่านพลอยยินดีด้วยเรา ฯ เราขอบคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เทียบที่สมเดจพระพุฒาจารย์ (ปาน) ไว้ในที่นี้ด้วย ฯ ท่านผู้นี้เปนพระมีอัธยาศัยเย็น ใม่ถือเรา ถือเขา ใม่มีฤศยา แต่ได้รับอบรมมาในอย่างเก่า จึงมีความรู้ความเข้าใจแคบ อย่างไรก็ยังเปนที่น่านับถืออยู่ เราได้เคยพบพระดีเช่นนี้มีอยู่ในมหานิกาย เราจึงใม่ดูหมิ่นมหานิกายเสียทั้งนั้น เหมือนพระธรรมยุตโดยมาก ฯ พระไตรปิฎกสำรับนี้ ตรวจตามบาญชีของหอพระมนเทียรธรรมขาดบ้าง คงเปนเพราะกระจัดกระจายดุจพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ปรารภ ฯ
ในการที่เราเข้าแปลหนังสือ สอบความรู้ปริยัติธรรมนั้น จัดไว้แต่ต้นว่า จะให้แปล ๕ ประโยคเท่าทูนกระหม่อม ท่านทรงแปลอรรถกถาธรรมบทประโยคเดียว นับเปน ๓ ประโยค เราเปนแต่เพียงพระองค์เจ้าให้แปล ๒ ประโยค บั้นต้นประโยค ๑ บั้นปลายประโยค ๑ แล้วจึงแปลมังคลัตถทีปนีบั้นต้นเปนประโยคที่ ๔ สารัตถสังคหะเปนประโยคที่ ๕ แลโปรดให้แปลเปนพิเศษน่าพระที่นั่ง เหมือนครั้งทูนกระหม่อมทรงแปลในรัชกาลที่ ๓ ฯ เราได้ยินว่า ทูนกระหม่อมทรงแปลอรรถกถาธรรมบทวันหนึ่งแล้ว ทรงแปลมังคลัตถทีปนีอิกวันหนึ่ง สมเดจพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ครั้งยังเปนพระราชาคณะชื่อนั้น นีดนาทาเน้นจะให้ตกเสียจงได้ จนพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดพระราชหฤทัย มีพระราชดำรัสสั่งให้อยุดไว้เพียงเท่านั้น พึ่งได้ยินในคราวนี้เองว่าทูนกระหม่อมทรงแปลประโยคที่ ๕ ด้วย ฯ เหตุไฉนสมเดจพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จึงกล้าทำอย่างนั้นต่อหน้าพระที่นั่ง แลใม่ปราณีแก่ทูนกระหม่อมฟ้าบ้างเลย แม้จะใม่ช่วย ก็พอให้ได้รับยุกติธรรม ตรงไปตรงมาก็แล้วกัน ฯ ปัญหานี้ ใม่ใช่ที่จะแก้ ขอยกไว้ให้นักตำนานแก้ ในที่นี้ขอกล่าวยืนยันไว้เพียงว่า เปนจริงอย่างนั้น เท่านั้น ฯ เริ่มแปลหนังสือเมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมเสงตรีสก จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ เวลาเช้าไปจับประโยคที่วัดราชประดิษฐ สมเดจพระสังฆราชเปนผู้เปิด ฯ ธรรมเนียมเปิดประโยคเดิม พระราชาคณะบาเรียนผลัดเวรกันเปิดวันละรูป เปิดเกินจำนวนผู้แปลไว้ ๑ ประโยค โดยปกติ แปลวันละ ๔ รูป ประโยคเปิดวันละ ๕ กะแล้วว่าจะให้แปลอไร ปิดหนังสือวางคว่ำไว้ใม่ให้เหนว่าผูกอไร ให้ผู้แปลเข้าไปจับเอาทีละรูป จับได้ประโยคใด แปลประโยคนั้น ฯ ตามน่าที่ ท่านผู้เปิดอาจเปิดได้ตามใจ แต่จะเปิดให้ง่ายเกินไป ก็ใม่ได้อยู่เอง คงถูกติเตียน หรือแม้ถูกอธิบดีค้าน เมื่อเปิดประโยคที่งามหรือยาก อาจารย์ของผู้แปลย่อมดักถูก ถึงตั้งเกณฑ์ลงเปนประโยคซ้อมได้ เมื่อใม่มีทางจะเปิดให้ลอดไป ตกลงเปนประโยคใดเคยออกมาแล้ว ท่านผู้เปิดก็เปิดประโยคนั้นออกอิก แต่ประโยคชั้นต่ำก็มีมากพอว่า ซ้อมเพียงเท่าจำนวนที่ออก ก็พอจะเปนผู้รู้หนังสือเพียงชั้นนั้นได้ นอกจากนี้ ได้ยินว่า ยังมีทางที่ท่านผู้เปิดจะช่วยหรือจะแกล้งก็ได้ ถ้าจะช่วยก็เปิดประโยคที่เพลา แลทำสัญญาให้เหนในเวลาวาง ถ้าจะแกล้งก็เปิดประโยคที่ยุ่งหรือที่ยาก ฯ ครั้นมาถึงยุคเสดจพระอุปัชฌายะทรงเปนอธิบดี ทรงจัดประโยคที่จะออกให้แปลเขียนเปนฉลากเข้าซองผนึกไว้ครบจำนวนที่จะออกได้ จัดลงในหีบตามชั้นให้ผู้จะแปลจับเอา มอบให้เปนน่าที่ของสมเดจพระสังฆราช เปนผู้อำนวยให้จับ พระราชาคณะบาเรียนผู้เคยออกประโยค กลายมาเปนผู้เปิดหนังสือมอบให้ผู้แปลไป ธรรมเนียมนี้ ยังใช้มาจนถึงยุคเราเปนอธิบดี ฯ ธรรมเนียมเดิมให้แปล ๓ ลาน ยุคเสดจพระอุปัชฌายะลดลงเพียง ๒ ลาน ฯ ครั้งเราแปล สมเดจพระสังฆราชเปิดประโยคไว้ ๕ โดยธรรมเนียมเก่า วันแรกเราจับได้ธัมมปทัฏฐกถา บั้นต้น ผูก ๒๐ “อตฺตาหเวติ ฯ เป ฯ ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตนฺติ” ที่ว่าด้วยชำนะตนดีกว่าชำนะคนอื่น ฯ ประโยคนี้ ค่อนข้างยาก แปลได้เปนชื่อเสียง แต่มียุ่งบางแห่ง เพราะท่านผู้รจนาเขียนพลั้งไว้แต่เดิม เราใม่อยากถูก เกรงท่านผู้สอบจะใม่ได้สนใจไว้ อยากถูกประโยคที่ยากแต่ใม่ยุ่ง เมื่อถูกแล้วจำต้องแปล ฯ รับหนังสือแล้ว เข้าไปพักดูอยู่ที่ทิมดาบกรมวัง เวลาบ่ายเสดจออกแล้วจึงเข้าไปแปล ที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ห้องเขียว ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๐ รูป มีเสดจพระอุปัชฌายะเปนประธาน ท่านผู้เกี่ยวข้องกับเรา เจ้านายในรัชกาลเดียวกัน ทั้งฝ่ายน่าทั้งฝ่ายใน แลข้าทูนลอองธุลีพระบาท ผู้เปนข้าหลวงเดิมของทูนกระหม่อม สมเดจพระสังฆราชเปนผู้สอบที่เรียกว่าผู้ทัก คือทักพากย์หรือศัพท์ที่แปลผิด สมเดจพระวันรัต (พุทธสิริ) ช่วยทักบ้าง ไปวุ่นอยู่ตรงคำเกินนั้นเอง เพราะท่านใม่ได้สนใจไว้ตามคาด แต่วิสัยคนเข้าใจความ ก็อาจคาดได้ว่าท่านจะต้องการให้แปลอย่างไร ผลอย่างสูงที่ได้เพราะการเรียนโดยวิธีอย่างนี้ คือหัดรู้จักคาดน้ำใจอาจารย์แลผู้สอบ ฯ ธรรมเนียมเดิมกำหนดเวลาให้แปลอย่างหลวม แปลวันละ ๔ รูป เริ่มบ่าย ๒ โมงหรือเมื่อไรใม่แน่ พอค่ำมืดใม่แลเหนหนังสือ จุดเทียนที่มีกำหนดน้ำหนักขี้ผึ้งว่าเล่มละ ๑ บาทหรือเท่าไร ผู้แปลผลัดกันแปล ติดออกแก้ เทียนดับ ยังแปลใม่จบประโยคเปนตก รูปที่แปลจบไปก่อน เปนได้ ยุคเสดจพระอุปัชฌายะเปนอธิบดี ใช้เวลานาฬิกาคราวก่อนน่าเราแปล ประโยคธัมมปทัฏฐกถาให้เวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ประโยคตั้งแต่ ๔ ขึ้นไป ให้เวลา ๒ ชั่วโมง ใช้ต่อมาจนถึงยุคเราเปนอธิบดี เปนแต่ย่นเวลาประโยคสูง ลงเสมอกันกับประโยคธัมมปทัฏฐกถา แลพึ่งเลิกใช้เวลาเมื่อใม่สู้ช้า เพราะแก้วิธีแปล ใม่ให้ออกแก้ ให้แปลไปจนตลอดประโยค ถูกผิดชั่ง ใช้ตัดสินกันเอา จะให้เปนได้หรือตก ฯ ในคราวเราแปลใม่ได้กำหนดเวลาให้แปล วันแรกแปลจบประโยคเวลาเท่าไร หารู้ใม่ รู้อย่างนั้น จึงขอเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ครั้งยังเปนพระวุฒิการบดี เจ้ากรมสังฆการีแลธรรมการ หรือผู้อื่นจำใม่ได้แน่ ให้ช่วยสังเกตเวลาไว้ให้ด้วย ฯ ครั้งก่อนน่าเราแปล ธัมมปทัฏฐกถา ต้องแปลให้ได้ ๓ ประโยคจึงเปนอันได้ ตกประโยคเหนือ แม้ประโยคล่างได้แล้ว ก็พลอยตกไปตามกัน พึ่งยอมให้พักประโยคได้เมื่อจัดให้มีการสอบทุกปี แทน ๓ ปีต่อหน ครั้งเราเปนแม่กองแล้ว ฝ่ายเราก็เหนจะต้องแปลได้ทั้ง ๒ ประโยค จึงเปนอันได้ ฯ วันที่ ๒ จับได้ประโยค ธัมมปทัฏฐกถาบั้นปลาย ผูก ๑๐ “กายปฺปโกปนฺติ ฯ เป ฯ หราหิ นนฺติ” ที่แก้ด้วยให้รวังความกำเริบแห่งไตรทวาร แปลจบประโยคเวลาล่วง ๒๙ นาฑี ฯ ต่อนี้พัก ๓ วัน เพราะวันพระเหลื่อมแลน่าวันพระหรือเพราะเหตุอย่างอื่น หาได้จดไว้ใม่ แปลต่อเปนวันที่ ๓ เมื่อวันศุกร เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จับได้ประโยคมังคลัตถทีปนีบั้นต้น ผูก ๕ “อิติ พหุสฺสุตสฺส พาหุสจฺจํ ฯ เป ฯ ทฏฺฐพฺพตํ” ที่แก้ด้วยบุทคลผู้เปนพหุสุตรู้จักรักษาตนให้บริสุทธ์ เวลาล่วง ๔๐ นาฑี ฯ วันที่ ๔ จับได้ประโยคสารัตถสังคหะ ผูก ๙ “ทายกา ปน ฯ เป ฯ วินยฏีกายํ วุตฺตํ” ที่แก้ด้วยทายกสามจำพวก เปนเจ้าแห่งทานก็มี เปนสหายแห่งทานก็มี เปนทาสแห่งทานก็มี เวลาล่วง ๓๕ นาฑี ฯประโยคที่จับได้ ๓ วันหลังง่ายเกินไป แปลได้ก็เหนใม่เปนเกียรติ ใม่ต้องการเหมือนกัน ตกลงว่าจับได้ประโยคใม่เปนที่พอใจเลยสักวัน ฯ ถ้าเราเปนผู้เปิดประโยคให้ผู้อื่นเช่นเราแปล วันแรกเราจักเปิดประโยคง่าย ฟังความรู้ผู้แปลดูที ถ้ามีความรู้อ่อน จักเปิดเสมอนั้นต่อไป ถ้ามีความรู้แขง จักเปิดประโยคแขงขึ้นไป พอสมแก่ความรู้ เพื่อจะได้เปนชื่อเสียงของผู้แปล แต่เราจับได้ประโยคตรงกันข้าม ท่านยังใม่ทราบความรู้ของเรา จับได้ประโยคยาก ครั้นท่านทราบความรู้ของเราแล้ว กลับจับได้ประโยคง่ายดาย ฯ แม้อย่างนั้นก็ยังได้รับสรรเสิญของพระราชาคณะ ผู้สอบผู้ฟังว่าแปลหนังสือแขง แลนับถือความรู้เราต่อมา เหตุอย่างไรท่านจึงชม คงเพราะท่านเหนรู้จักวิธีแปลแลขบวรแก้ ใม่ถลากไถลดุจเราได้พบในภายหลังโดยมาก กระมัง แต่พื้นประโยคใม่น่าได้ชมเลย ฯ ในวันที่สุด ได้รับพระราชทานรางวัลส่วนตัว พระราชหัตถเลขาทรงปวารณาด้วย กัปปิยภัญฑ์ราคา ๘๐๐ บาท ไตรแพรอย่างดี ๑ สำรับ ย่ามเยียรบับ ๑ ใบ กับตรัสสั่งเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงให้รื้อโรงพิมพ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างกุฎีขึ้นใหม่ เปนที่อยู่ของเรา ส่วนเจ้าคุณพรหมมุนี ไตรแพรสามัญ ๑ สำรับ ย่ามโหมดเทศ ๑ ใบ ทรงมอบเรามาพระราชทาน ในกาลติดต่อมาทรงตั้งเปนพระราชาคณะโดยนามว่าพระกิตติสารมุนี แต่จะว่าเพราะเราแปลหนังสือได้เปนบาเรียนก็ใม่เชิง เพราะทรงตั้งพร้อมกับรูปอื่น ผู้มีประโยคต่ำกว่าท่าน พระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) ควรจะได้รับพระราชทานบำเหน็จด้วย แต่ใม่ทรงทราบว่าแกก็สอนด้วยกระมัง หรือจะเข้าพระราชหฤทัยว่าขาดตอนไปแล้ว เหมือนพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ก็เปนได้ ฯ เราแปลหนังสือได้เปนบาเรียนครั้งนั้น อาจารย์ผู้สอนยังมีตัวอยู่ ได้อนุโมทนาทุกท่าน ฯ ครั้งนั้น ในประเทศเรา มีการสอบความรู้เฉพาะปริยัติธรรมอย่างเดียว แลมีมาหลายชั่วอายุ ครั้งกรุงเก่ายังตั้งเปนพระนครหลวง บาเรียนได้มีมาแล้ว ฯ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มา เจ้านายแปลปริยัติธรรม ได้เปนบาเรียนก่อนน่าเรา ตามที่นับได้ ทูนกระหม่อมเปนที่ ๑ หม่อมเจ้าอิก ๘ องค์ ใม่ได้จำลำดับไว้ เรียงตามคเน หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ ๘ ประโยค หม่อมเจ้าโศภน ในสมเดจพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ๓ ประโยค หม่อมเจ้าสมเดจพระพุฒาจารย์ (ทัด) ในพระวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ ๗ ประโยค ๓ องค์นี้แปลในรัชกาลที่ ๓ หม่อมเจ้าเนตร ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๒ พระองค์เจ้าเสือ ๕ ประโยค หรือ ๗ ประโยค จำใม่ถนัด หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา (ศรีขเรศ) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ ๔ ประโยค กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ ในสมเดจพระเจ้าไปยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ๘ ประโยค พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ๕ ประโยค ๔ องค์นี้แปลในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าประภากร ในสมเดจพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ๕ ประโยค องค์นี้ในรัชกาลที่ ๕ เราเปนที่ ๑๐ ในจำนวนนี้มีชั้นลูกหลวงเพียงทูนกระหม่อมกับเราเท่านั้น ท่านพระองค์อื่นหาได้ทรงแปลใม่ ฯ
เสร็จการแปลหนังสือแล้ว กราบลาเจ้าคุณอาจารย์กลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเตรียมการรับกรม กลับมาในมกราคมนั้นเอง เวลาลากลับ เราปราถนาจะแสดงความคิดถึงอุปการะของเจ้าคุณอาจารย์ที่ท่านได้มีแก่เราอย่างไร แต่เห็นท่านจ๋อยมากสักหน่อยจะเพิ่มความกำสรดเข้าอิก แลเราบางทีก็จะทนใม่ได้เหมือนกัน จึงมิได้รำพันถึง ฯ ในรวางเราแปลหนังสือ เจ้าคุณอาจารย์จับอาพาธเปนบุราณโรค เรานึกหนักใจอยู่ แต่ยังไปไหนได้ แลยังมาส่งเราที่วัดบวรนิเวศวิหารได้ จึงใม่เปนโอกาศที่จะอยู่ต่อไปแลผัดการรับกรมไปข้างน่า ทั้งจะต้องรับก่อนการฉลองพระนคร อันจะมีในพฤษภาคมด้วย ฯ คราวนี้เสดจพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่ที่พระปั้นหย่า พระตำหนักที่บันธมของทูนกระหม่อม เจ้านายที่ได้อยู่พระปั้นหย่านั้น ชั้นสมเดจเจ้าฟ้า พระองค์เจ้ามีมาก่อน แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรครั้งทรงผนวชเปนสามเณรพระองค์เดียว ได้ยินว่า ทูนกระหม่อมทรงขอให้ได้เสดจอยู่ เมื่อทรงผนวชพระก็หาได้เสดจอยู่ใม่ ฯ กุฎีที่ตรัสสั่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงสร้างท่านแฉะเสียเราก็ใม่เตือน อยู่พระปั้นหย่าก็ดีแล้ว ทั้งต่อมาเรายังเทียวไปวัดมกุฎกษัตริย์อยู่อิก ภายหลังมีธุระมากขึ้น จึงเข้าจองโรงพิมพ์เปนสำนักงารอิกหลังหนึ่ง เหมือนครั้งทูนกระหม่อม ฯ
สรูปประโยชน์ที่ได้รับเพราะไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ดังนี้
๑. ได้รู้ความเปนไปของคณะธรรมยุตกว้างขวางออกไปฯ
๒. ได้รับอุปถัมภ์ของเจ้าคุณอาจารย์เปนทางตั้งตัวเปนหลักต่อไปข้างน่า ฯ
๓. ได้ความรู้มคธภาษาดีขึ้น ฯ
๔. ได้ช่องเพื่อจะเข้าสนิทกับสำนักวัดโสมนัสวิหาร ฯ
๕. บันเทาความตื่นเต้นในธรรมลงได้ หรือพูดอิกโวหารหนึ่งว่า ทำตนให้เข้าทางที่ควรจะเปนได้ ฯ
อนึ่งที่วัดมกุฎกษัตริย์ มีสำนักพูดธรรมะ พระจันโทปมคุณเปนเจ้าสำนัก ได้รู้นิสสัยของพวกนี้ ว่าเปนอย่างไร ฯ
ถ้าเราจักใม่ได้ไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์แล้วไซ้ เราจักบกพร่องมากทีเดียว หากจะได้ขึ้นเปนหัวหน้าของคณะ ก็คงเปนหัวหน้าผู้ใม่แขงแรง เปนวาสนาของเราอยู่ที่น้อมความเลื่อมใสไปในเจ้าคุณอาจารย์แล้วแลไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ฯ