๕. คราวทรงพระเจริญ

แต่เปนบุญของเรากลับตัวได้เร็ว ตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ฯ ทางที่กลับตัวได้ ก็เปนอย่างภาษิตว่า “หนามยอก เอาหนามบ่ง” นั้นเอง ฯ เราเข้าเฝ้าในวังทุกวัน ได้รู้จักกับหมอปิเตอร์เคาวัน ชาวสกอตช์เปนแพทย์หลวง เวลานั้นอายุแกพ้นยี่สิบห้าแล้ว แต่ยังใม่ถึงสามสิบ แกเปนฝรั่งสันโดษ อย่างที่คนหนุ่มเรียกว่าฤษี ใม่รักสนุกในทางเปนนักเลง เรานิยมแกว่าเปนฝรั่ง เราก็ผูกความคุ้นเคยกับแก ได้เหนอัธยาศัยแลจรรยาของแก แลได้รับคำตักเตือนของแกเข้าด้วย เกิดนิยมตาม เหนความลเลิงที่หมอเคาวันใม่ชอบเปนพล่านไป น้อมใจมาเพื่อเอาอย่างหมอเคาวัน จึงหายลเลิงลงทุกที จนกลายเปนฤษีไปตามหมอเคาวัน ที่สุดแกว่ายังเด็กแลห้ามใม่ให้สูบบุหรี่ แกเองใม่สูบเหมือนกัน เราก็สมัคทำตาม แลใม่ได้สูบบุหรี่จนทุกวันนี้ เราก็เหนอานิสงฆ์ เราเปนผู้มีกายใม่แข็งแรง เปนผลแห่งความเจ็บใหญ่เมื่อยังเล็ก ถ้าสูบบุหรี่ แม้มีอายุยืนมาถึงบัดนี้ ก็คงมีโรคภายในประจำตัว หมอเคาวันเปนทางกลับตัวของเราเช่นนี้ เมื่อภายหลังเราจึงนับถือแกฉันอาจารย์ ในครั้งนั้นแลต่อมา แกก็ได้แนะเราในภาษาอังกฤษบ้าง ในวิชาแพทย์บ้างเหมือนกัน ฯ

ส่วนความสุรุ่ยสุร่ายนั้น เราได้นิมิตต์แลงดได้ตามลำพังตนเอง ฯ วันหนึ่ง เวลาบ่ายจวนเย็น ที่เคยขึ้นม้าหรือขึ้นรถเที่ยวเล่นหรือไปข้างไหน ผเอิญฝนตกไปใม่ได้ ที่คนหนุ่มรู้สึกเหงาสักเพียงไร เรานอนเล่นอยู่บนเก้าอี้นอนในเรือน ตาส่ายแลดูนั่นดูนี่ สิ่งที่ตาเราจับอยู่ที่คราวแรก คือโต๊ะขนาดกลางตั้งอยู่ข้างเก้าอี้ที่เรานอนเปนชนิดที่ตั้งกลางห้องสำหรับวางของต่างๆ โต๊ะตัวนั้นเราเหนที่ห้าง ชั่งงามน่ารักจริงๆ ทั้งรูปพรรณทั้งฝีมือ ในวันนั้น ไม้พื้นโต๊ะที่เคยเหนเปนแผ่นเดียว ก็แลเหนเปนใม่เพลาะ ปากไม้ห่างออกโร่ ลวดที่ราวกับคัดขึ้นจากเนื้อไม้นั้นเอง ก็ปรากฏเปนไม้หรือเส้นหวายผ่าซีกติดเข้า ผิวที่แลเหนขัดเปนเงาโง้ง ก็ปรากฏว่าเปนแต่ทาน้ำมันให้ขึ้นผิว คราวนี้นึกถึงราคาของโต๊ะนั้นแรกซื้อกับราคาในวันนั้น อันจะพึงผิดกันมาก แต่หาได้นึกถึงประโยชน์ที่ได้ใช้โต๊ะนั้นมาโดยกาลด้วยใม่ เหนไกลกันมาก เหนซื้อมาเสียเปล่า คราวนี้จับปรารภถึงของอื่นบันดามีในเรือนก็เหนเปนเช่นนั้น แต่นั้นนึกถึงของที่ซื้อมาแล้ว ใม่ชอบใจ ให้คนอื่นเสีย ยิ่งเหนน่าเสียดายมาก ตั้งแต่นั้นสงบความเหนอไรอยากได้เสียได้ ใม่ค่อยได้เที่ยวห้าง ใม่ค่อยได้ซื้ออไร ใบเสร็จของห้างที่ส่งมาเก็บเงินใบหลังที่สุด เรายังจำได้ มีราคาบาทเดียว ค่ากระดุมทองเหลืองชุบทองสำรับหนึ่ง ที่ใช้ติดเสื้อเครื่องแต่งตัวอย่างแปลก ๆ ที่เรียกว่าแฟนซีเดรส ในการขึ้นปีใหม่ เขาเห็นเราเคยซื้ออไรบ่อยๆ เขาก็รอไว้ ต่อจวนขึ้นปีใหม่ของเขา ๆ จึงส่งใบเสร็จมาเก็บเงิน หลายเดือนล่วงมาจนลืมแล้ว ฯ

ตกมาถึงเวลานี้ ขี่ม้าที่เคยวิ่งหรือห้อ ก็เปนแต่เดิร รีบก็เพียงวิ่งเหยาะ ขี่รถที่เคยแล่นปรื๋อ ก็เปนเพียงวิ่งอย่างปกติ สรวมเสื้อตัดร้านเจ๊ก ก็ใม่เหนเปนเร่อร่า กลับเหนเปนเก๋ รู้จักเปลือง รู้จักสังวรใม่เห่อ ของร้านแขกที่เขาไปซื้อมาให้ ก็ใช้ได้เหมือนของห้าง ศรีใม่ได้อยู่ที่ของ อยู่ที่ราคาถูก ฯ ในเวลานั้นเรายังใม่รู้จักหาเงิน แต่รู้จักประหยัดทรัพย์ลงได้แล้ว ลดรายจ่ายลงได้ ก็เหมือนค่อยหาเงินได้บ้าง ฯ แม้หาเงินได้คล่อง แต่ใม่รู้จักประหยัดทรัพย์ ก็ใม่เปนการ ใม่พ้นขาดแคลน หาได้น้อย แต่รู้จักประหยัด ยังพอจะเอาตัวรอด ฯ

หมอเคาวันกล่อมเกลาเรา ให้เรียบเข้าได้อย่างนี้แล้ว ถ้ามีปัจจัยชักนำ เราก็คงเข้าวัดโดยง่าย ฯ ปัจจัยนั้นได้มีจริงด้วย ฯ ตั้งแต่เราสึกจากเณรแล้ว ใม่ใช่เทศกาลเช่นเข้าพรรษาหรือมีงาร เราหาได้ไปเฝ้าเสดจพระอุปัชฌายะใม่ ยิ่งกำลังลำพองยิ่งหันหลังให้วัดทีเดียว เหตุนั้นเราจึงห่างจากท่าน แม้ในเวลานั้นก็ยังใม่ได้คิดจะเข้าวัด ฯ คืนหนึ่งนอนหลับฝันว่าได้ไปเฝ้าเสดจพระอุปัชฌายะ ได้รับปฏิสันถารของท่านอันจับใจ โดยปกติท่านช่างตรัสอยู่ด้วย อาจจะทรงทำปฏิสันถารเช่นนั้น ตื่นขึ้นปฏิสันถารของท่านจับใจยังใม่หาย ปราถนาจะได้รับอย่างนั้นจริงๆ คิดจะไปเฝ้า แต่ห่างมาเสียนาน เกรงจะเข้ารอยใม่ถูก จะเก้อ เหนทางอยู่อย่างหนึ่ง จึงเอาโคมนาฬิกาใบหนึ่งตามด้วยน้ำมันมพร้าว มีเครื่องจักรอยู่ใต้ถ้วยแก้วน้ำมัน มีเข็มชี้โมงแลลิบดาขึ้นมาจากเครื่องจักรนั้น ถึงโป๊ะครอบ ที่เขียนเลขบอกโมงแลลิบดา เปนของสำหรับตั้งในห้องนอนพึ่งมีเข้ามา ตามความคิดเหนของเรา เปนของแปลก ไปถวายเปนทีว่าได้พบของแปลก นึกถึงท่าน ได้รับปฏิสันถารของท่านอันจับใจเหมือนในฝัน ตั้งแต่นั้น หาช่องไปเฝ้าอิกค่อยง่ายเข้า ค่อยสนิทเข้าโดยลำดับ จนใม่ต้องหาช่อง ในที่สุดท่านทรงคุ้นเคย เปนคนโปรดของท่าน ได้รับประทานพระทนต์ตั้งแต่ครั้งนั้น ฯ ในเวลาไปเฝ้าได้รับพระดำรัสในทางคดีโลกบ้าง ในทางคดีธรรมบ้าง โดยที่สุดแบบแผนในทางพระ ได้รับประทานสมุดเรื่องต่าง ๆ ของท่านไปลอกไว้เปนฉบับเปนอันมาก ฯ

การเข้าถึงเสดจพระอุปัชฌายะ นำให้สนใจในโคลง เรียนโหราศาสตร์ อ่านหนังสือธรรม ตามเสดจท่าน ฯ

โคลงเคยเล่นมาบ้างแล้ว ใม่ต้องหาครู เปนแต่หมั่นอ่านเรื่องต่าง ๆ สนใจในพากย์ต่าง ๆ หัดแต่งเรื่องต่าง ๆ เท่านั้น ฯ เรายังใม่เคยแต่งเรื่องยาวจนบวชเปนพระแล้ว จึงได้แต่งเรื่องทรงผนวชของล้นเกล้าฯ แต่เสียดายว่าในตอนทรงผนวชที่เราใม่ได้เหนเอง แลบางอย่างใม่ได้รับพระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าฯ แลของเสดจพระอุปัชฌายะ ยังใม่ถูกก็มี คิดจะแก้แต่ใม่มีโอกาศเสียแล้ว เหตุนำให้แต่งหนังสือเรื่องนี้ เมื่อครั้งเราเข้ารับราชการแล้ว ล้นเกล้า ฯ ทรงทราบว่าเราเปนคนโปรดของเสดจพระอุปัชฌายะ จึงตรัสใช้ไปเฝ้าด้วยพระราชธุระเนืองๆ คราวหนึ่งตรัสใช้ให้เชิญพระราชหัตถเลขาคำโคลงทรงอาราธนาเพื่อทรงแต่งเรื่องทรงผนวช ในพระราชหัตถเลขานั้น ทูลว่าถ้าเสดจพระอุปัชฌายะ มีพระประสงค์จะทรงทราบการนั้นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง จงตรัสสั่งเราไปกราบทูลถาม จะทรงเล่ามาถวาย เหตุนั้นเราจึงได้รับพระกระแสของล้นเกล้า ฯ ในเรื่องนี้มาก พระนิพนธ์ของเสดจพระอุปัชฌายะย่อไป ใม่พอพระราชประสงค์ เราปรารภถึงเรื่องนี้ ในคราวฟื้นจากไข้สามเดือน ยังทำอไรอันเปนการเปนงารใม่ได้ จึงได้แต่งเรื่องนั้น ฯ ในครั้งนั้น แม้ใม่ได้แต่งเรื่องเปนชิ้นเปนอัน ก็ยังได้ออกหน้าในทางโคลงอยู่บ้าง ครั้งทรงพระราชนิพนธ์โคลงนิทราชาคริชตอนอาบูหะซัน เมื่อกำลังพิมพ์โปรดให้ส่งใบแก้น่าแท่นไปให้ท่านจินตกวี ๗ หรือ ๑๐ ท่าน ๆ ละใบ ตรวจแก้แล้วส่งถวาย ทรงพระวินิจฉัยลงในใบแก้อิกใบหนึ่งแล้วส่งไปแก้พิมพ์ พวกเราผู้เข้าในจำนวนนั้น ยังมีอิก ที่จำได้ กรมพระเทววงศ์วโรปการ แลกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้มีธุระเสมอกับท่านจินตกวีชั้นสูง เช่นเสดจป้ากรมหลวงวรเสฐสุดา กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ก็น่าจะรู้สึกว่ามีเกียรติยศอยู่ เราได้ชื่อในทางตาไว จับคำผิดลักษณโคลงได้บ่อยๆ ผู้ตรวจเหล่านี้ มีรายชื่อแจ้งในท้ายพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว ฯ​ เมื่อบวชพระแล้ว ทรงขอแรงแต่งโคลงพงศาวดารบ้าง โคลงยอพระเกียรติสมเดจเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์บ้าง เปนบท ๆ ใช้ในงารพระเมรุ ฯ นี้นับว่าได้ออกหน้าในทางโคลง ตั้งแต่เปนผู้ใหญ่แลมีการทางพระศาสนาแล้ว ใม่ได้สนใจอิก ใฝ่ใจไปในทางเรียงเรื่องร้อยแก้ว เพราะได้ใช้มากในธุระ ฯ ครั้งนั้น เราแต่งฉันท์ใม่เปนเลย ข้อขัดข้องคือรู้จักศัพท์ใม่พอ มาแต่งเปนต่อเมื่อรู้ภาษามคธ แลแต่งคาถาเปนแล้ว ใม่เคยเรียงเรื่องยาว ท่อนที่ออกหน้า คือคำฉันท์แปลศราทธพรตคาถา ในพระราชกุศลสตมาหสมัย ที่พระศพสมเดจกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร แลคำร้องถวายชัยมงคลของนักเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย ฯ กลอนแปดใม่เคยทำเลย จะลองบ้าง พ้นเวลามาแล้ว ให้นึกกระดาก ฯ เราใม่พอใจลึกซึ้ง ในการแต่งคำประพันธ์ จึงใม่ตั้งใจหาดีในทางนี้ เปนแต่สำเนียก พอเปนกับเขาบ้างเท่านั้น ฯ

เราเริ่มเรียนโหราศาสตร์กับขุนเทพยากรณ (ทัด) ตั้งต้นหัดทำปฏิทินก่อน เข้าใจยากจริง ๆ เพราะเราเอาโหราศาสตร์กับพยากรณศาสตร์รวมเข้าเปนศาสตร์อันเดียวกัน นำให้เข้าใจว่าเรียนโหราศาสตร์ ก็เพื่อมีวิชารู้จักทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงมุ่งไปเสียในทางนั้น แลเพราะวิธีสอนบกพร่องด้วย ใม่ได้อธิบายให้เข้าใจรสคือกิจของโหราศาสตร์ว่าเปนเช่นไร ปฏิทินคืออไร ชื่อต่าง ๆ คือศักราช มาสเกณฑ์ อวมาน หรคุณ​ แลอื่น ๆ หมายเอาอไร เหตุไฉนจึงตั้งศักราชแล้วกระจายออกเปนองค์เหล่านั้น ราศี องศา ลิบดา กำหนดหมายอไร ความเดิรของพระอาทิตย์ พระจันทร์แลดาวพระเคราะห์ ที่เรียกว่ามัธยมก็ดี สมผุสก็ดี ต่างกันอย่างไร เปนอาทิ ในตำราบอกว่า ถ้าจะทำองค์ชื่อนั้น ให้ตั้งเกณฑ์อย่างนั้น แล้วทำเลขอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่ทำวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาสน์ วันโลกวินาส ที่ใม่ได้เกี่ยวกับโหราศาสตร์เลย แต่เกี่ยวกับพยากรณศาสตร์ กว่าจะคลำเข้าใจได้แต่ละอย่างชั่งยากเสียจริง ๆ ข้าพเจ้าใม่แน่ใจว่าโหรจะอธิบายได้ทุกคน โหรใม่รู้จักดาวฤกษ์หรือแม้ดาวพระเคราะห์ด้วย เปนมีแน่ ขุนเทพยากรณ (ทัด) ถึงแก่กรรมในรวางเรียน ได้ไปขอเรียนกับครูเปีย ครั้งยังบวชแลเปนพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ที่วัดราชประดิษฐ ตั้งใจจะทำปฏิทินให้จบปี ทำร่วมมาได้มากแล้ว ถึงสมผุสพระเคราะห์ เหนจะกว่าครึ่งแล้ว จับเล่นธรรมะจัดเข้า เหนเหลวไหลเลยเลิก เราจึงใม่รู้มาก พยากรณศาสตร์ยิ่งรู้น้อย เปนแต่เสดจพระอุปัชฌายะ ทรงแนะประทานบ้าง ใม่ได้เรียนจริง ๆ จัง ๆ แต่เรายังได้ใช้ความรู้โหราศาสตร์อยู่บ้าง ได้ช่วยชำระปูมเก่าถวายเสดจพระอุปัชฌายะ ฯ

เราเรียนธรรมด้วยอ่านหนังสือเปนพื้น ได้ฟังเสดจพระอุปัชฌายะตรัสด้วย คราวนั้นสบเวลาที่สมเดจพระวันรัต (พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เริ่มเรียงหนังสือธรรมลงพิมพ์แจก หนังสือนั้นใช้สำนวนดาดเปนคำสอนคนสามัญเข้าใจง่าย ช่วยเกื้อกูลความเรียนธรรมของเราให้กว้างขวางออกไป เมื่อสนใจอยู่ ความเบื่อย่อมใม่มี ธรรมที่เปนเพียงปฏิบัติกายวาจาใจเรียบร้อย อันตรงกันข้ามกับความลำพองที่เคยมาแล้ว ยังเหนเปนลเอียดพอแล้ว ครั้นได้เรียนธรรมที่เปนปรมัตถ์ แจกเบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ อริยสัจสี่ แลปฏิจจสมุปบาท ยิ่งตื่นใหญ่ แต่นิสสัยของเราเปนผู้เชื่อใม่ลงทุกอย่างไป แลธรรมกถานั้น ๆ มักมีข้อความอันใม่น่าเชื่อปกคลุมหุ้มห่ออยู่ มากบ้างน้อยบ้าง นี้แลเปนเครื่องสดุดของเราให้ชงัก แต่เมื่อนิยมในธรรมมีแล้ว ทั้งได้ยินท่านผู้ใหญ่ค้านบางเรื่องไว้ก็มี ก็พอจะปลงใจเลือกเอาข้อที่เรารับรองได้ แลสลัดข้อที่เรารับรองใม่ได้ออกเสีย เช่นคำเปรียบว่า ร่อนทองจากทราย เรื่องที่ถูกอารมณ์ของเราคือกาลามสูตร ที่สอนใม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ให้ใช้ความดำริห์ของตนเปนที่ตั้ง ความรู้ความเข้าใจของเราในครั้งนั้น เปนอย่างนักธรรมใหม่ คือใม่เชื่อหัวดายไป เลือกเชื่อบางอย่าง อย่างที่ใม่เชื่อ เข้าใจว่าผู้หนึ่งซึ่งหาความลอายมิได้ แทรกเข้าไว้ พอใจจะพิศูจน์ให้ปรากฏว่าเปนเท็จ เต็มดีก็เพียงทอดไว้ ใม่คำนึงถึงที่เรียกว่า ชั่งเถิด แต่ยังใม่เคยได้ความรู้ในเชิงอักษรวิทยาว่าเปนปฤษณาธรรมก็มี เช่นเรื่องมารวิชัย เหมาเสียว่าใม่จริง ใม่เคยนึกว่าเปนเรื่องแต่งเปรียบน้ำพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า คิดหวนกลับหลังด้วยอำนาจความอาลัย อันพระองค์หักเสียได้ด้วยเอาความมุ่งดีมาข่ม แต่เราใม่ใช่ชนิดคนอวดรู้ในทางนี้ ที่เขาตั้งชื่อว่า “ทำโมห์” ฯ

เราลงสันนิษฐานว่า จะรู้ธรรมเปนหลักและกว้างขวาง ต้องรู้ภาษามคธ จะได้อ่านพระไตรปิฎกได้เอง ใม่เช่นนั้น จะอ่านได้แต่เรื่องแปลเรื่องแต่ง ที่มักเปนไปตามใจของผู้แปลผู้แต่ง ในเวลานั้นพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) อาจารย์เดิมของเรา ย้ายบ้านจากหน้าวัดชนะสงครามไปอยู่บางบำหรุคลองบางกอกน้อย เหลือจะเรียนกับแกได้ พระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) อยู่บ้านน่าวัดรังษีสุทธาวาส ใม่ไกล ทั้งได้เคยเปนครูสอนมาบ้างแล้ว จึงขอให้แกมาสอน ฯ ได้ยินเขาพูดกันว่า จะรู้ภาษามคธกว้างขวาง ต้องเรียนมูลคือกัจจายนปกรณ บทมาลาแคบไป ใม่พอจะให้รู้กว้างขวาง เรียนทั้งที่ปราถนาจะรู้ดีที่สุดตามจะเปนได้ ทั้งบทมาลาก็ได้เคยเรียนมาแล้ว รู้ทางอยู่ จึงตกลงเปนเรียนมูล ฯ ชั้นแรกมีสูตรคือ หัวข้อสำหรับท่องจำให้ได้ก่อน ผูกโตอยู่ เราเล่าพลาง เรียนแปลคำอธิบายใจความของสูตรนั้นที่เขาเรียกว่าพฤติในปกรณไปพลาง ครูของเราดูเหมือนใม่ชำนาญในมูล แต่พอสอนให้แปลไปได้ แต่ใม่ถนัดแนะให้เข้าใจความที่กล่าว ตกเปนน่าที่ของเราจะเข้าใจเอาเอง ลงปลายแกหาหนังสือที่แปลสำเร็จตลอดถึงคำอธิบายในภาษาไทย ซึ่งเรียกว่านิสสัยมูลมาให้อ่านเอาเอง ฯ การเรียนของเรา อาจารย์มูลเขาคงกล่าวว่าเรียนอย่างลวก ใม่ลเอียดลออ เรากล่าวเอง เรียนแต่พอจับเค้าได้ แม้อย่างนั้น กว่าจะจบถึง ๑๐ เดือน นี้เปนอย่างเรียนเรว เขาเรียนกันตั้งปีสองปี ฯ เราอาจสังเกตเหนว่า รเบียบที่จัดในมูลยังใม่ดีมีก้าวก่ายกล่าวความยืดยาวฟั่นเฝือ เหลือความสามารถของผู้แรกเรียนจะทรงไว้อยู่ ฯ ครั้นขึ้นคัมภีร์คือจับเรียนเรื่องนิทานในอรรถกถาธรรมบท เปนเรื่องดาดของเราในเวลานี้แล้ว แต่เราเลือกเอาหนังสือที่ครูถนัดว่าเปนดี จึงตกลงใจเรียนอรรถกถาธรรมบท ฯ ทั้งเรียนมูลมาแล้ว แลแปลพฤติของมูลได้เองแล้ว เริ่มเรียนอรรถกถาธรรมบทยังงง กว่าจะเอาความรู้ในมูลมาใช้เปนเครื่องกำหนดได้ ก็เปลืองเวลาอยู่ ฯ เรียนคราวนี้ รู้จักใช้ความสังเกต เอาความเข้าใจได้ อาจแปลเองได้บ้างตามลำพัง ฯ เมื่อเรียนในทางนี้ เราเลือกสร้างพระไตรปิฎกขึ้น วานกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ อธิบดีกรมราชบัณฑิตเปนธุระ หนังสือบาฬีพระวินัยใม่ยากนัก อ่านเข้าใจความได้ติดต่อกันเปนเรื่อง ชั่งสนุกจริง ๆ ฯ

ตั้งแต่เข้าวัดมา แลจับเรียนธรรมมา เราปลูกความพอใจในความเปนสมณะขึ้นโดยลำดับ นึกว่าบวชก็ได้ แต่ยังใม่ได้น้อมใจไปส่วนเดียว เคยเข็ดเมื่อครั้งยังรุ่น เรามักจืดจางเรว ที่สุดห้องเรือนที่แต่งไว้อย่างหนึ่ง ครั้นชินตาจืดไปต้องยักย้ายแต่งใหม่ มาถึงเวลานี้จึงยังใม่ไว้ใจตัวเอง เกรงจะใม่ตลอดไปได้ บวชอยู่นานแล้วสึก ใม่ได้การเสียเวลาในทางฆราวาส ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๗ ปี กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงผนวชพระ ในเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงจรัสโฉม พระบุตรีใหญ่ของท่านยังอยู่ในครรภ์ ท่านทรงฝากเราให้เปนธุระ เธอคลอดในเวลาท่านยังทรงผนวช เราได้เอาเปนธุระขวนขวายตลอดการ เปนผู้รับเธอเปนลูก ในเวลาที่เขาทำพิธีมอบให้มีผู้รับ เราพึ่งได้เหนเปนครั้งแรก ทั้งเปนครั้งแรกที่ทำการเกี่ยวกับผู้อื่นในน่าที่ของผู้ใหญ่ เราเอาธุระมาโดยเรียบร้อยจนถึงท่านลาผนวช ฯ

อนึ่งกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ทรงรับราชการว่าช่างสนะ คือช่างเย็บผู้ชายในเวลานั้น กำลังท่านยังทรงผนวชเตรียมการเฉลิมพระที่นั่งวโรภาศพิมานที่พระราชวังบางปอิน ล้นเกล้า ฯ รับสั่งให้เราดูการแทนกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ มีน่าที่ในการเย็บเสี้ยวอันเปนของผู้ชาย มีทำธงต่าง ๆ มีธงช้างเปนต้น สำหรับใช้ตกแต่งในงาร ครั้งนั้นธงยังใม่มีที่ซื้อ ต้องทำเอาเองทั้งนั้น เรายังใม่เคยงาร ออกวิตกว่าจะใม่แล้วทันราชการ แต่ก็ทำจนทัน รับสั่งว่าจ่ายสิ้นเท่าไรให้ตั้งเบิก เราใม่รู้ว่าผ้าต่างๆ ที่จัดซื้อมาใช้นั้นราคาอย่างไร ฉวยว่าซื้อแพงไป จะเปนที่รแวงผิดว่าหาเศษ ใม่กล้าเบิก แต่ราชการสำเร็จเปนที่พอใจแล้ว ฯ

ต่อมาถึงงารฉัตรมงคล เราได้รับพระราชทานพานทอง คือพานหมากใหญ่มีเครื่องในพร้อม ๑ เต้าน้ำ ๑ กระโถนเล็ก ๑ เปนเครื่องยศ กับดวงตราเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมกับกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ ที่ยังทำตามจันทรคติกาลที่พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม แลได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี มีตราพระมหามงกุฎหมายรัชกาลอยู่บนหลัง เมื่อคราวงารพระราชพิธีตรุษ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงวันที่ ๘ มีนาคม ปีเดียวกัน ฯ การได้รับพระราชทานพานทองนี้ ใม่ดีใจเท่าไรนัก ถ้าทูนกระหม่อมยังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงได้รับพระราชทานมาแต่ครั้งยังเปนเด็ก ตามอย่างพระเจ้าลูกยาเธออื่น แลได้ยินเขาพูดว่า เราอยู่ในจำนวนแห่งพระเจ้าลูกยาเธอ ผู้จะได้รับพระราชทานในคราวอันจะมาถึง ครั้นตกมาเปนพระเจ้าน้องยาเธอ พานทองจึงเลื่อนออกไปตามภาวะตามอายุ ทั้งในเวลานั้น เราเข้าวัดอยู่แล้วด้วย ความรู้สึกมีหน้ามีตาก็พอทุเลา เปนแต่เหนว่าได้ดีกว่าใม่ได้ ใม่ได้ออกจะเสีย ดูเปนคนเหลวไหล หรือใม่ได้ราชการ ส่วนตราทุติยจุลจอมเกล้าเล่า เปนตราสกุลเหนจืด ครั้งนั้นเขานิยมตราความชอบมากกว่า เพราะในประกาศนียบัตรรบุความชอบลงไว้ด้วย คล้ายประกาศตั้งกรมอย่างเตี้ยๆ ส่วนตราสกุลในประกาศนียบัตรแสดงแต่เพียงว่าทรงเหนสมควรจะได้รับ เรายังใม่มีราชการเปนหลักฐาน สิ้นหวังตราความชอบ ในพวกเราที่ได้เปนอย่างสูง ก็กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เพียงมัณฑนาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เท่านั้น แม้ตราสกุล ถ้าได้รับพระราชทานในเวลาชอบแต่งตัวก็คงใม่จืดทีเดียว ได้รับพระราชทานแล้ว ใม่ได้เคยแต่งถ่ายรูปสักคราวหนึ่ง ต่อเมื่อเปนผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้ว จึงรู้ว่า เวลาที่ใม่อยากได้นั้นแลเปนเวลาสมควรแท้ที่จะได้รับพระราชทาน เราเองจักยกย่องใครๆ ก็เลือกผู้ที่เขาใม่อยาก แลจักใม่ตื่นเต้น ฯ

แม้เราเปนคนเข้าวัดแล้ว ก็ยังต้องออกหน้าเปนคราวๆ เพราะเปนคนเคยคบฝรั่ง รู้จักวัตรของฝรั่ง เช่นมีเจ้าฝรั่งเข้ามาเปนครั้งแรก ก็ได้ออกแขกได้รับเชิญในการเลี้ยงเวลาค่ำแลในการสโมสร ล้นเกล้าฯ ยังใม่ทรงทราบว่าเราเข้าวัด ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๘ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการประจำในกรมราชเลขา มีน่าที่เปนเจ้าพนักงารสารบบฎีกา หรือกล่าวอิกโวหารหนึ่ง เปนราชเลขานุการในทางอรรถคดี ฯ ในครั้งนั้นศาลที่พิจารณาอรรถคดียังแยกกันอยู่ตามกรมนั้น ๆ (ยังใม่ได้จัดกระทรวง) ต่างทูลเกล้า ฯ ถวายสารบบประจำเดือน มารวมอยู่ในพระองค์สมเดจพระเจ้าแผ่นดิน แลความฎีกาในครั้งนั้น ศาลฎีกาเรียงพระราชวินิจฉัยในท้ายฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธยแล้ว จึงจะบังคับได้ตามนั้น ถ้าใม่โปรดตามที่เรียงมา ก็ทรงแก้ใหม่ ฯ มีพระราชประสงค์จะรวมราชการทางนี้เปนแพนกหนึ่ง มีเจ้าพนักงารรักษาการ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เรารับราชการในน่าที่นี้ เราได้เข้ารับราชการตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๘ อุตราษาฒ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๒๐ ฯ ราชการที่เราทำนั้น เมื่อกรมนั้น ๆ อันมีน่าที่พิจารณาอรรถคดี ทูลเกล้า ฯ ถวายสารบบประจำเดือนแล้ว พระราชทานแก่เรา ๆ รวมยอดถวายอิกใบหนึ่ง เพื่อทรงทราบว่าในเดือนหนึ่ง ๆ คดีทุกกรม เกิดใหม่เท่านั้น ๆ ตัดสินเสร็จไปแล้วเท่านั้น ๆ ยังคงค้างพิจารณาเท่านั้น ๆ ฯ ดูเพียงสารบบ ก็พอรู้ได้ว่า การพิจารณาคดียังหละหลวมมาก กรมหนึ่งพิจารณาเดือนหนึ่งใม่ได้กี่เรื่อง กรมนครบาลมีน่าที่พิจารณาความอาชญาเดือนหนึ่งแล้วเพียง ๒ เรื่องก็มี ที่สุดจนรวมยอดคดีก็ใม่ถูกกับรายคดี จะฟังเอาว่ารายคดีเปนถูก จำนวนเดือนต่อมา อาจยกรายเก่ามาผิดอิก บางทีตุลาการเอง จะรู้ใม่ได้ทีเดียวว่า คดีมีเท่าไรแน่ เปนความยากแก่เราผู้จะรวมยอด ถึงต้องต่อว่าต่อขานกันใม่รู้จบ ผลที่ได้ก็เพียงให้จำนวนในสารบบหลังกับน่าตรงกันเท่านั้น ฯ อิกอย่างหนึ่งเราเปนผู้รับฎีกาที่เรียงพระราชวินิจฉัยแล้ว จากกรมหลวงพิชิตปรีชากรอธิบดีศาลฎีกาไว้แล้ว อ่านถวายในเวลาทรงพระราชธุระในทางนี้ โปรดตามนั้น ทรงลงพระนามาภิไธยข้างท้าย ใม่โปรดทรงแก้ใหม่ ตรัสบอกให้เราเขียนแล้ว ทรงลงพระนาม คัดสำเนาไว้แล้ว ส่งต้นถวายกรมหลวงพิชิตไป ฯ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์อธิบดีกรมราชเลขาในครั้งนั้น ทรงจ่ายเสมียนประทานเราสองคน คือพระยาศรีสุนทรโวหาร ครั้งยังเปนนายกมล ๑ นายเจิมน้องเขา ๑ ยังเปนเสมียนฝึกหัดทั้งสองคน เขียนหนังสือช้าทั้งตกมากด้วย ตกได้ตั้งบันทัด เราได้ความหนักใจมาก ต้องคิดหาอุบายว่าอย่างไรจะรักษาสำนวนไว้ได้ ควรใช้ต้นสารบบเองก็ต้องใช้ ฯ น่าประหลาดว่า ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหารมีความรู้ทางหนังสือเจริญขึ้นโดยลำดับเขียนได้เรวใม่ตก ฟังความที่พูดในที่ประชุมแล้วจำไว้ได้แม่น จนได้เปนเลขานุการในเสนาบดีสภา ยังมีข้อน่าประหลาดอิก เขามีลูกชายคนหนึ่งชื่อนายผัน เดี๋ยวนี้ (พ.ศ.๒๔๕๘) เปนหลวงสารประเสริฐ เมื่อยังเด็กเขียนหนังสือตกตั้งบันทัดเหมือนพ่อ เขาเอามาฝากเราบวชเปนสามเณร เมื่อเราเปนผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้วหัดใช้เขียนหนังสือไป หายเขียนตก จนถึงได้เปนเลขานุการของเรา ในเวลานี้ได้ชื่อว่าเปนจินตกวี ฯ อันคนมีนิสสัยดี ได้รับแนะนำเข้าบ้าง อาจขยายออกได้ตามลำพังของตน พระยาศรีสุนทรโวหาร เปนคนปูนเดียวกับเรา ดูเหมือนเขาได้ความรู้ความเข้าใจจากเราใม่เท่าไรนัก แต่เขานับถือเราเปนฉันอาจารย์ จนเอาลูกมาฝากอิกต่อหนึ่ง ส่วนหลวงสารประเสริฐเราจักถือว่าเปนเจ้าบุญนายคุณของเขา แม้ตัวเขาเองก็ต้องยอมรับ ฯ เราได้เรียนทางอรรถคดี เมื่อครั้งเข้ารับราชการในทางนี้ รู้เพียงฟังคำพยานแล้วสันนิษฐานเอาความจริง แลตามยุติธรรมควรจะเปนอย่างไร ใม่เข้าใจถึงวางบท เพราะในครั้งนั้นกรมต่างๆ พิจารณาแล้ว ส่งสำนวนให้ลูกขุนณะศาลหลวงชี้ขาด คือชี้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจึงเปนน่าที่ของขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาบดี เปนผู้ปรับสัตย์คือวางบทลงโทษผู้ผิดหรือยกฟ้อง ครั้นมาถึงฎีกา ทรงตัดสินเองใม่ได้อ้างบท ยืนตามคำชี้ขาดแลปรับสัตย์ ก็เปนแล้วไป ทรงแก้ก็ไปตามยุติธรรมเปนเค้าเงื่อน แลการรู้กฎหมายก็ยังใม่เปนที่น่าปราถนา เพราะหนังสือกฎหมายเก่า ก็อ่านเข้าใจยาก แลมีพระราชบัญญัติแลประกาศออกซับซ้อนกันมามากตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ กระจัดกระจายกันอยู่ ยากที่จะรวบรวมไว้ได้ ทั้งอาการของผู้ทรงกฎหมายในครั้งนั้น ใม่นำให้เกิดความเลื่อมใส ชั้นใหม่มีแต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรพระองค์เดียว ใม่พอจะแก้ผู้อื่นเปนอันมากให้เปนผู้น่าเลื่อมใสไปทั้งนั้น ถ้าเราสนใจก็คงรู้ดีขึ้นกว่านี้อิก ฯ ตำแหน่งที่เราทำนี้แล ครั้นเมื่อตั้งศาลสถิตยุติธรรมยกคดีในกรมทั้งหลาย มารวมพิจารณาในใต้บัญชาของเจ้ากระทรวงเดียวกันแล้ว ก็ยังคงมีสืบมา เจ้าพนักงารในตำแหน่งนี้ ได้ไปเปนกรรมการศาลฎีกาก็มี กรรมการศาลฎีกาได้เข้ามารับตำแหน่งนี้ก็มี ในบัดนี้เปนอธิบดีกรมพระสมุหนิติศาสตร์ ในกระทรวงวังด้วย ฯ

ครั้งนั้น เริ่มพระราชทานเงินเดือนแก่ผู้ทำราชการประจำวันแล้ว ข้าราชการในกรมราชเลขาได้พระราชทานทั่วกัน กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เปนอธิบดี กรมพระเทววงศ์วโรปการ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เข้ามาก่อนเรา เมื่อเราเข้าไป เปนที่ ๔ ใม่มีเจ้านายอื่นเข้าอิกจนเราออกมาบวช นอกจากนี้ ข้าราชการในกรมพระอาลักษณ์ชั้นหลวง ชั้นขุนแลเสมียน เรารับราชการอยู่ ๒ ขวบปีเต็ม หาได้รับพระราชทานเงินเดือนใม่ จะเปนเพราะใม่ได้ทรงนึกถึงหรืออย่างไรหาทราบใม่ เสดจอธิบดีของเราท่านก็หาได้ทรงขวนขวายใม่ เปนแต่ได้รับพระราชทานเงินปีขึ้นกว่าเดิมอิก ๕ ชั่ง เปนปีละ ๓๕ ชั่ง ตามอย่างเจ้านายรับราชการ ท่านผู้ได้รับพระราชทานเงินเดือน ก็ได้รับพระราชทานเงินปีเพิ่มเหมือนกัน เราหาได้กระสับกระส่ายเพราะเหตุนี้ใม่ เหตุว่าเคยทำราชการมาด้วยความภักดี ยังใม่เคยได้รับพระราชทานเงินเดือน ทำไปด้วยน้ำใจเช่นนั้น มีราชการใม่อยู่เปล่า แลทรงสนิทสนมด้วย เปนพอแล้ว ทั้งในเวลานั้นเราใม่ได้จับจ่ายเลี้ยงตัวเอง ยายยังเปนธุระอยู่ ใม่รู้จักสิ้นยัง แลเหตุต้องการเงินใช้ กล่าวคือสุรุ่ยสุร่ายเราก็งดได้แล้ว เสียแต่มามีราชการในเวลาที่เราเข้าอยู่วัดแล้ว ฯ

ตั้งแต่เข้ารับราชการแล้ว เราปลงใจว่าจักหาได้บวชเลยไปใม่ ถ้าทำอย่างนั้น ดูเปนทิ้งราชการ เหนแก่ประโยชน์ตัวมากเกินไป ในเวลานั้น เสียงพวกสยามหนุ่มข้อนว่าพระสงฆ์ว่า บวชอยู่ใม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ขี้เกียจกินแล้วก็นอน รับบำรุงของแผ่นดินเสียเปล่า ฝ่ายเราใม่เหนถึงอย่างนั้น เหนว่าพระสงฆ์ยังตั้งใจจะทำดีแต่เปนเฉพาะตัว เพราะใม่มีการอย่างอื่นเช่นตัวเรา เท่านั้นก็จัดว่าเปนดี จึงใม่อาจปฏิเสธคำที่ว่าใม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ยังใม่มีญาณพอจะเหนกว้างขวางไปว่า พระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินมากเหมือนกัน มีสั่งสอนคนให้ประพฤติดี เอาธุระในการเล่าเรียนของเด็กบุตรหลานราษฎรเปนอาทิ ข้อสำคัญคือเปนทางเชื่อมให้สนิทในรวางรัฐบาลกับราษฎร ในครั้งก่อน พระสงฆ์ยิ่งเปนกำลังของแผ่นดินมากกว่าเดี๋ยวนี้ ญาณเช่นนี้ยังใม่ผุด จึงกระดากเพื่อจะละราชการไปบวชเสีย ฯ แต่ยังคงไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะ แลเรียนภาษามคธอยู่ตามเดิม ฯ แต่ชาตาของเราเปนคนบวชกระมัง วันหนึ่งผเอิญกรมพระเทววงศ์วโรปการทรงล้อเราว่า เปนผู้เข้าวัดต่อหน้าพระที่นั่ง แต่ล้นเกล้า ฯ หาได้ทรงพระสำรวลตามใม่ ทรงถือเอาเปนการ ทรงเกลี้ยกล่อมจะให้เราสมัคบวช เรากราบทูลตามความเหนเกรงจะเปนทิ้งราชการ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสอธิบายว่า ถ้าเราบวชจักได้ราชการเพียงไร ใม่เปนอันทิ้ง จนเราหายกระดากใจเพื่อจะบวช ตรัสปลอบอย่าให้เราห่วงถึงยาย เราะท่านชราแล้วก็คงตายมื้อหนึ่ง ตรัสขอปฏิญญาของเราว่าจะบวช เราเกรงจะไปใม่ตลอด เพราะยังใม่ไว้ใจของตัวอันเปลี่ยนเร็ว เมื่อครั้งรุ่นหนุ่ม จึงใม่กล้าถวายปฏิญญา เปนแต่กราบทูลว่า ถ้าจะสึก จะสึกเมื่อพ้นพรรษาแรก พ้นจากนั้น เปนอันจะใม่สึก พระราชทานปฏิญญาไว้ว่า บวชได้ ๓ พรรษาแล้ว จักทรงตั้งเปนต่างกรม ทรงอ้างสมเดจกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเปนตัวอย่าง ครั้งนั้นเจ้านายพวกเราได้เปนต่างกรมแล้ว เพียง ๔ พระองค์ เปนเจ้าพี่ชั้นใหญ่ทั้งนั้น แลเราจะมาเปนที่ ๕ เหลือที่จะเอื้อมคิดไปถึง จึงใม่ได้เอามาเปนอารมณ์เสียเลย จนวันมีพระราชดำรัสสั่งให้เตรียมรับกรม ดังจะกล่าวข้างน่า ฯ

ตั้งแต่ทรงทราบว่าเราเปนผู้เข้าวัด ดูทรงพระกรุณามากขึ้น แลมีราชการในทางวัดเพิ่มขึ้น เมื่อมีพระราชธุระถึงเสดจพระอุปัชฌายะ รับสั่งใช้เราเชิญพระกระแสรับสั่งมากราบทูลบ้าง เชิญพระราชหัตถเลขามาถวายบ้าง เมื่อคราวจะฉลองวัดนิเวศนธรรมประวัติเกาะบางปอินที่ทรงสร้างใหม่ โปรดเกล้า ฯ ให้เรามีน่าที่เปนผู้ดูการจารึกอักษรต่างๆ ในแผ่นศิลาแลติดศิลาจารึกนั้นตามที่ เรียกช่างเขียนหนังสือขอมจากกรมราชบัณฑิต ช่างเขียนหนังสือไทยจากกรมพระอาลักษณ์ ช่างแกะจากกรมกษาปณสิทธิการแลกรมช่างสิบหมู่ มาตั้งกองทำแล้วนำขึ้นไปติด เร่งรัดทำแล้วเสร็จทันงารฉลอง ฯ ทรงใช้สรอยเราในราชกิจนั้น ๆ สนิทสนม จนถึงเวลากราบถวายบังคมลาออกมาบวช ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ