คำนำ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือสำหรับเปนของแจก ประทานช่วยในงานทำบุญแซยิดของเจ้าจอมจีน ในรัชกาลที่ ๕ ธิดาพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ แย้ม บุนนาค ผู้เปนพระญาติ มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณเลือกหาหนังสือถวาย ข้าพเจ้าเปนผู้เลือก คิดเห็นว่าบทสักรวาซึ่งเล่นถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๕ มีมากอยู่ ถ้ารวบรวมพิมพ์เปนประชุมสักรวา เห็นจะเปนหนังสือสมควรแจกในงานมงคลได้ดังพระประสงค์ ด้วยเปนหนังสือในรัชกาลที่ ๕ แลที่เปนพระราชนิพนธ์ก็มีมาก ทั้งเปนหนังสือแต่งดีในทางวรรณคดี ควรจะรวบรวมพิมพ์ให้แพร่หลาย แลรักษาไว้เฉลิมพระเกียรติยศอย่าให้สูญไปเสีย ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ก็ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย กรรมการจึงได้รวบรวมบทสักรวาซึ่งได้เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ บรรดามีต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุด พิมพ์ในสมุดเล่มนี้
อธิบายเรื่องสักรวา
ดอกสร้อย สักรวา เปนการเล่นอย่างหนึ่งของผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เวลาฤดูน้ำมาก เปนเทศกาลทอดกฐินทอดผ้าป่า แลเที่ยวทุ่ง ผู้มีบันดาศักดิตั้งแต่เจ้านายเปนต้น มักพาบริวารซึ่งเปนนักร้องทั้งต้นบทแลลูกคู่ มีโทนทับกรับฉิ่งพร้อมสำรับ ลงเรือไปเที่ยว บางลำก็เปนนักร้องผู้ชาย บางลำนักร้องก็เปนผู้หญิง เมื่อไปพบปะประชุมกันเปนการสโมสรในท้องทุ่ง เจ้าของก็คิดบทให้นักร้องวงของตนร้องลำนำ ผูกกลอนเปนทางสังวาศบ้าง เปนทางเรื่องบ้าง ลำอื่นก็ร้องลำนำโต้ตอบกันไปมา เปนอย่างมโหรสพสำหรับการราตรีสโมสรของไทย มีมาแต่โบราณดังนี้
ลักษณเล่นดอกสร้อยกับสักรวาผิดกัน ที่ดอกสร้อยเล่นกันแต่ ๒ วง ชายวง ๑ หญิงวง ๑ แลร้องลำต่าง ๆ ร้องยากกว่าสักรวา เพราะต้องหัดคนร้องให้ร้องลำต่าง ๆ ได้มาก ส่วนสักรวานั้นเล่นกี่วงกี่วงก็ได้ วิธีเล่นเอาเรื่องอะไร ๆ มาสมมตขึ้น เช่น เรื่องซ่อนหา เรื่องทอดผ้าป่า ตลอดจนเรื่องนิทานแลเรื่องลคร เช่น อิเหนา รามเกียรดิ เลือกแต่เรื่องที่มีข้อความสำหรับที่จะพูดจาโต้ตอบกัน แล้วสมมตให้เปนตัวบททุก ๆ วง ดังเช่นเรื่องรามเกียรดิตอนท้าวมาลีวราชว่าความ สมมตวงหนึ่งให้เปนพระราม วงหนึ่งให้เปนทศกรรฐ์ วงหนึ่งให้เปนนางสีดา วงหนึ่งให้เปนท้าวมาลีวราชดังนี้เปนต้น แล้วแต่จะแต่งบทโต้ตอบกันตามเรื่อง ไม่ต้องถือเอาถ้อยคำในบทลครเปนสำคัญ ลำที่ร้องสักรวานั้น เมื่อเล่นเรื่อง ร้องลำพระทองลำเดียวทุกวง ต่อจวนเลิกจึงร้องลำอื่นส่งวงละลำสองลำแล้วก็เลิก เพราะฉนั้นสักรวาร้องง่ายกว่าดอกสร้อย ความสนุกอยู่ที่คิดบท เพราะต้องคิดเปนกลอนสดให้ทันกับร้อง แลต้องโต้ตอบให้ถึงกับถ้อยคำที่วงอื่นเขาว่ามา ถ้าเจ้าของวงสักรวาเปนกวีคิดบทได้เองก็บอกเอง ถ้าไม่เปนกวีก็ต้องหากวีมาไว้ในวงสักรวาเปนผู้คิดบท เรียกว่าคนบอกสักรวา บางทีก็สองคนสามคนช่วยกันคิด อย่างนั้นยิ่งสนุกมาก ช่วยกันต่อคนละคำสองคำ ไม่ใช่เปนการง่าย เวลาวงอื่นเขาร้อง ร้องว่ากะไร ต้องจดลงกระดานชนวนไว้ แล้วคิดตามไปว่าจะโต้ตอบเขาอย่างไร พอเขาจบบทก็บอกกลอนให้ตั้งต้นร้องตอบ ต้องคิดให้ได้ทั้งความทั้งกลอนให้ทันคนร้อง ข้อนี้ที่เปนความลำบาก ถ้าคิดไม่ทันต้องขอไปที กลอนก็ออกจะเขิน บทสักรวาที่พิมพ์ในเล่มนี้ ถ้าท่านผู้อ่านเห็นแห่งใดกลอนเขินอยู่บ้าง ควรเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุที่คิดไม่ทันนั้นเอง.
ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ สักรวาเล่นกันมากตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ ที่โปรดให้ขุดคลองมหานาคทำเปนเกาะเกียนอะไรต่าง ๆ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็สำหรับจะให้เปนที่ประชุมเล่นดอกสร้อยสักรวากันตามฤดูกาล มาซาไปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะเล่นปี่พาทย์กันมากแลเข้าใจว่า เพราะพระราชทานอนุญาตให้ใคร ๆ เล่นลครผู้หญิงได้ไม่ห้ามดังแต่ก่อน ผู้มีบันดาศักดิเล่นปี่พาทย์แลลครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักรวา แต่เมื่อมาจับเล่นสักรวาเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ยังมีผู้ชำนาญบอกสักรวามาแต่ในรัชกาลที่ ๓ อยู่บ้าง ที่ข้าพเจ้าได้ทันพบ คือ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ บอกวงทูลกระหม่อม แลวงอาลักษณ์ในบทที่พิมพ์เล่มนี้พระองค์ ๑ คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ที่ปรากฎชื่ออยู่ในเล่มนี้ว่า คุณพุ่ม นั้นอิกคน ๑ บอกคล่องแคล่ว ดีทั้งกลอนทั้งความ พวกรุ่นข้าพเจ้าสองสามคนเคยเข้าไปช่วยกันบอกสักรวาโต้กรมหลวงหลวงบดินทร ฯ ครั้ง ๑ คิดไม่ได้เร็วเหมือนท่าน แพ้ท่านมา จึงรู้ว่าผู้ที่เล่นสักรวากันแต่ก่อนชำนาญกลอนมาก.
บทสักรวาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ รวบรวมบทสักรวาเล่นถวายได้ ๗ คราว คือ
คราวที่ ๑ เล่นที่พระที่นั่งสนามจันทร์ ในงานเฉลิมพระชันษา เมื่อเดือน ๑๐ ปีวอกจัตวาศก พ.ศ. ๒๔๑๕ เล่น ๔ คืน
คราวที่ ๒ เล่นที่พระที่นั่งสนามจันทร์ กลางเดือน ๑๑ ปีวอกจัตวาศกนั้น ๓ คืน
คราวที่ ๓ เล่นที่ท้องพรหมาศ เมืองลพบุรี เดือน ๑๒ ปีวอกจัตวาศกนั้น ๒ คืน
คราวที่ ๔ เล่นในสระพระราชวังบางปอิน ในงานเฉลิมพระที่นั่งวโรภาศพิมาน เมื่อเดือน ๑๒ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ บทคราวนี้เสียดายอยู่ที่หาได้ไม่ครบบริบูรณ์ทีเดียว
คราวที่ ๕ เล่นในสระพระราชวังบางปอิน เดือน ๑๒ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๔๒๐ เล่น ๒ คืน
คราวที่ ๖ เล่นในงานฉลองวัดบรมวงษ์อิศรวรารามที่กรุงเก่ากลางเดือนอ้าย ปีฉลูนพศกนั้น ๓ คืน
ตั้งแต่คราวฉลองวัดบรมวงษ์ฯ เข้าใจว่ามีสักรวาเล่นถวายอิก แต่สืบหาบทไม่ได้ มาได้บทถึงเล่นคราวที่สุด เมื่องานสมโภชราชสมบัติครบหมื่นวัน เล่นสักรวาในสวนศิวาไลยคืน ๑ เมื่อเดือน มีนาคม ปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ จึงนับคราวนี้เปนที่ ๗
นอกจากบทสักรวาที่เล่นถวายเปนสามัญ ๗ คราวที่กล่าวมาแล้ว ได้ฉบับบทสักรวาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสำหรับให้ร้องลำต่าง ๆ ชุด ๑ จึงพิมพ์ไว้ข้างท้ายด้วย
การเล่นสักรวาเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ที่จริงเล่นเปน ๒ ยุค แรกจับเล่นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ มีสักรวาที่เล่นถวาย ผู้ชาย ๖ วง วงทูลกระหม่อม คือ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ วง ๑ วงอาลักษณ ของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วง ๑ เรียกว่าช่างเขียน เดิมเข้าใจว่าของกรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิเห็นจะผิดไป สืบไม่ได้ความแน่ว่าของใคร วง ๑ วงพระองค์เจ้าฤาวงท่าพระ คือของพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ วง ๑ ของหม่อมเจ้าเจริญในกรมขุนราชสีหวิกรม วง ๑ วงพระตำรวจ คือเจ้ากรมปลัดกรมนายตำรวจร้องด้วยกันวง ๑ ผู้หญิงมี ๓ วง คือของหลวง วง ๑ ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร วง ๑ วงมหาสงคราม คือของพระยาอาหารบริรักษ์ ทิน แต่ยังเปนพระมหาสงคราม ต่อมาเรียกว่า วงกรมนาวง ๑ รวม ๙ วงด้วยกัน ครั้นต่อมาในปีหลัง ๆ วงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เลิกไป แลมีวงนายทหารน่าเพิ่มเติมขึ้น หลวงสิทธิศรสงคราม แย้ม ข้าหลวงเดิมเปนนายวง วง ๑ วงผู้หญิงของหลวงพิไชยเสนา ฤาเรียกแต่ว่าสัสดี คือของพระยานรานุกิจมนตรี เปลี่ยน ทัศนะพยัคฆ์ แต่ยังเปนหลวงพิไชยเสนา วง ๑ สักรวาที่เล่นกันยุคแรก เล่นอยู่สักหกเจ็ดปีแล้วก็เงียบมาช้านานเกือบ ๒๐ ปี
ที่มาเล่นสักรวาขึ้นยุคหลังอิกคราวหนึ่งนั้น ด้วยเมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองราชสมบัติครบหมื่นวัน มีงานสมโภชพระราชลัญจกร แลพระราชทานเลี้ยงอย่างสมโภชเลี้ยงลูกขุนตามแบบโบราณ มีพระราชประสงค์จะมีมโหรสพสำหรับการสโมสร ให้เปนอย่างเก่าเข้าเรื่องกัน จึงทรงพระราชดำริห์จะให้มีสักรวา ก็มีผู้ซ้องสาธุการกันโดยมาก ด้วยเมื่อเล่นสักรวากันยุคแรก เจ้านายชั้นพระเจ้าน้องยาเธอ ยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมาก เปนแต่จำได้ว่าเคยเห็นเล่นสักรวา ยิ่งลงมาถึงชั้นพระเจ้าลูกเธอแล้ว เกือบจะไม่มีพระองค์ใดได้เคยทอดพระเนตรเห็นเล่นสักรวามาแต่ก่อน ถึงข้าราชการก็มีโดยมากที่เปนเช่นนั้น มีผู้อยากเห็นเล่นสักรวาอยู่ทั่วไป จึงโปรดให้มีสักรวาในสวนศิวาไลยเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙
สักรวาที่เล่นถวายในสวนศิวาไลย รวบรวมซักซ้อมมาเล่นได้แต่ ๕ วง ผู้ชาย ๓ วง คือ ตำรวจวง ๑ ทหารมหาดเล็กวง ๑ มหาดเล็กวง ๑ ผู้หญิง ๒ วง คือ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ วง ๑ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ในเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ วง ๑ ใน ๕ วงนี้มีวงเก่าที่เคยเล่นถวายมาแต่ก่อนแต่ตำรวจวง ๑ ทหารมหาดเล็กว่าเคยเล่นในยุคแรก แต่ไม่ได้เล่นในคราวหนึ่งคราวใด ซึ่งได้บทมาพิมพ์ในเล่มนี้ ข้าพเจ้าสืบถามได้ความว่าเข้าไปเล่นถวายคราวแรก ในงานเฉลิมพระชันษาสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ทรงพระราชนิพนธ์บทพระราชทาน พระพินิจสารา ทิม บุญยรัตพันธุ์ จำมาว่าให้ฟังได้บท ๑ ว่า —
๏ สักรวาวงราชวัลลภ | พระจอมภพธิบดินทร์ปิ่นไอสูรย์ |
ขอโอนเกษอภิวาทบาทมูล | ต้องกราบทูลประทานโทษได้โปรดปราน |
แรกฝึกสอนกลอนคิดติดอุทัจ | เคยฝึกหัดแต่ปรีเซนต์เช่นทหาร |
พึ่งหัดร้องขึ้นใหม่ใหม่ไม่ชำนาญ | ขอประทานโทษาข้าบาท เอย. ๚ |
อนึ่งในบทสักรวาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีพระนามเจ้านายแลชื่อผู้อื่นตามที่เรียกในบทสักรวา ผู้อ่านจะไม่ใคร่ทราบว่าใคร จึงอธิบายไว้ต่อไปนี้ คือ
๑. ทูลกระหม่อม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์
๒. ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ท่านเล็ก คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช
๓. ท่านดา กรมพระนเรศร์วรฤทธิ
๔. ท่านศุข กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
๕. ม้าโหว่, ท่านวี, กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ
๖. พระองค์เจ้า คือ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ
๗. เจ้าแบน ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี อยู่ตลาดพลู
๘. หม่อมเจ้าจำเริญ ในกรมขุนราชสีหวิกรม
๙. พระยารักษ์ คือ พระยามหานิเวศน์ (เผือก)
๑๐. ตาฟัก พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก)
๑๑. ตำรวจ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่ยังเปน พระมหามนตรี
๑๒. ท่านใหญ่ขวา พระยาพิไชยสงคราม (อ่ำ) แต่ยังเปน พระอินทรเทพ
๑๓. พระมหาสงคราม พระยาอาหารบริรักษ์ (ทิน)
๑๔. นายรุ่ง, นายจัน, นายขำแตร, ตลกลครมีชื่อเสียงในเวลานั้น
๑. เสด็จยาย คือ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
๒. คุณท้าว คือ ท้าวสุภัติการภักดี (นาก)
๓. คุณพุ่ม, คุณยาย, คุณป้า คือ คุณพุ่ม ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่)
๔. คุณมอญ ธิดาเจ้าพระยาอภัยภูธร แล้วได้เปนท้าว
๕. คุณนุช ราชินิกูลบางช้าง
๖. ยายม่วง ภรรยาพระยาอาหารบริรักษ์ (ทิน)
๗. แม่จันทร์ ภรรยาพระยานรานุกิจมนตรี
ข้าพเจ้าหวังใจว่า บรรดาท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปอ่าน คงจะถวายอนุโมทนาการพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอได้ทรงบำเพ็ญญาติสังคหะธรรม แลที่ได้โปรดให้พิมพ์ประชุมบทสักรวานี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก ขอให้ประโยชน์แลความศุขจงมีแก่ท่านผู้เปนพระญาติที่ทรงสงเคราะห์ ดังพระหฤไทยจำนงจงทุกประการ เทอญ.
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑