คำนำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ กระทรวงศึกษาธิการได้เคยนำผ้ากฐินพระราชทานมาทอด ณ วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นี้ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า วัดนี้มีความสำคัญทางพุทธศาสนา และมีความสำคัญแก่คนไทยอเนกประการ ควรที่เราจะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำนุบำรุงวัดนี้ให้มาก ขณะนี้วัดป่าโมก มีสิ่งปลูกสร้างซึ่งควรบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง ข้าพเจ้าจึงได้ชักชวนบรรดามิตรสหาย และผู้มีศรัทธา ร่วมกันบำเพ็ญกุศล จัดกฐินสามัคคีขึ้นในครั้งนี้อีก จะได้รวบรวมเงินสำหรับบูรณะวัดให้เพียงพอแก่ความต้องการ ปรากฏว่าได้มีผู้ยินดีร่วมบำเพ็ญกุศลหลายท่าน เป็นที่น่าปลาบปลื้ม และอนุโมทนายิ่งนัก

วัดป่าโมก จะตั้งขึ้นครั้งใดไม่ปรากฏ เท่าที่พบหลักฐาน ในพงศาวดารเหนือ ได้กล่าวถึงวัดป่าโมกอยู่ตอนหนึ่ง ว่าพระมหาเถรไลลาย ได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ พระองค์ กับพระศรีมหาโพธิ์สองต้นมาแต่เมืองลังกา ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ๓๖ พระองค์ ตามข้อความนี้ พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เป็นสิ่งศักดิ์สทธิ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เป็นพระพุทธรูป ซึ่งชาวกรุงศรีอยุธยาเคารพนับถือมาก ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยามักจะเสด็จไปกระทำการสักการะบูชาคู่กับพระนอนจักรสีห์ มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ก็เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์และชนชาวไทย ดุจในสมัยก่อน

ในด้านประวัติศาสตร์ ตำบลที่ตั้งวัดป่าโมก เป็นชัยภูมิสำคัญแห่งหนึ่งในการทำสงครามกับพม่าข้าศึกครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะหยุดประทับพักแรมเอาฤกษ์ที่ป่าโมกหลายครั้ง ก่อนเสด็จยาตราทัพไปตีพม่า โดยเฉพาะในสงครามครั้งยิ่งใหญ่ จนถึงได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชของพม่า พระองค์เสด็จโดยทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยา แล้วเสด็จขึ้นบก ทรงตั้งทัพชัยประทับที่พลับพลาป่าโมก ค่ำวันนั้นได้ทรงพระสุบินไปว่าน้ำไหลนองท่วมป่า พระองค์ทรงลุยกระแสธารไปพบจระเข้ใหญ่ และได้ทรงฆ่าจระเข้นั้นเสียในตอนเช้าขณะที่ทรงคอยฤกษ์เบิกทัพ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหารย์ ช่วงเท่าผลส้มเกลี้ยงมาแต่ทิศใต้ เวียนทักขิณาวัฏแล้วเสด็จผ่านไปทางเหนือ ได้ทรงอธิษฐานขอความสวัสดีมีชัยแก่ข้าศึก และในครั้งนั้น พระองค์ก็ทรงมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชา ทำให้พม่าต้องยับยั้งการยกทัพมาตีไทยไปพักหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จยกทัพไปตีหงสาวดี พระองค์ก็ได้เสด็จประทับที่ป่าโมกก่อน แล้วจึงเสด็จจากป่าโมกขึ้นไปทางเหนือ

วัดป่าโมกยังมีความสำคัญ และเป็นที่น่าภูมิใจของคนไทยอีกด้านหนึ่ง คือ ในการวิศวกรรม พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก เป็นพระนอนขนาดใหญ่องค์ยาวถึง ๒๒.๕๘ เมตร แต่เดิมวัดป่าโมก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเซาะเข้ามาใกล้พระวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระวิหารทำท่าจะพังลงในแม่น้ำ พระมหาสุวรรณโชติ อธิการวัดป่าโมก กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระให้ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชสงคราม (ต่อมาเป็นพระยาราชสงคราม) ไปพิจารณาดูว่า ควรจะทำประการใด พระราชสงครามกราบบังคมทูลว่า ควรชักชะลอพระพุทธไสยาสน์จากที่เดิม ไปให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำประมาณ ๑๐ เส้น จึงจะพ้นอันตราย การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปขนาดใหญ่เช่นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน และทำได้ยากนัก สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งดำรงพระยศพระราชวังบวรสถานมงคลในขณะนั้น จึงกราบบังคมทูลคัดค้าน แต่พระราชสงครามก็ยังยืนยีนว่า ตนสามารถจะทำได้ การชักชะลอพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการพิสูจน์ความกลเาหาญของผู้ซึ่งเชื่อมั่นในวิชาความรู้ของตน และพิสูจน์ความสามารถในทางการช่างของคนไทยเราในสมัยนั้น พระราชสงครามได้ถวายศรีษะของท่านในการทำงานครั้งนี้ และเครื่องมือ เครื่องใช้ ก็มีเพียงเครื่องมือโบราณอย่างง่าย ๆ เช่น รอก ตะเฆ่ และเชือก เท่านั้น หนทางที่จะเคลื่อนพระพุทธไสยาสน์ไปก็มิใช่ถนนลาดยางอย่างทุกวันนี้ ปรากฏว่ามีสระขวางหน้าอยู่ถึงสองแห่ง พระราชพงศาวดารได้บรรยายถึงการชักชะลอพระพุทธไสยาสน์ครั้งนี้โดยพิศดาร นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึก และโคลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ บรรยายถึงเรื่องการชักชะลอพระพุทธไสยาสน์นี้ไว้ด้วย นับว่าพระยาราชสงครามผู้นี้ เป็นผู้ซึ่งคนไทยควรจะภูมิใจมากผู้หนึ่ง ทั้งในด้านวิชาช่าง และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของท่าน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ที่วัดป่าโมก ก็คือ ลาดลายแบบไทย ซึ่งทำไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการผูกลายไทย ซึ่งทอดพระเนตรเห็นจากพระวิหารนั้นว่า เป็นลวดลายที่แปลกกว่าที่ทำกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยโบราณมีความคิดเห็นในการผูกลวดลายอย่างไรบ้าง เป็นแบบอย่างซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบันนี้

หนังสือสำหรับแจกเป็นของชำร่วยในงานกฐินคราวนี้ ได้เลือกเอาจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๒๒ เพราะเป็นหนังสือซึ่งหาได้ยากในขณะนี้ จึงใคร่จะตีพิมพ์ให้แพร่หลายได้อ่านกันทั่วถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในความสำคัญของวัดป่าโมกอยู่มาก เคยเสด็จพระราชทานพระกฐินโดยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสืบสวนค้นหาศิลาจารึก ซึ่งเข้าพระทัยว่า เคยมีติดอยู่ที่ในรอยกรอบทางด้านปฤษฎางค์ของพระพุทธไสยาสน์

ข้าพเจ้าขอนุโมทนาในการที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมีใจศรัทธา ร่วมบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ ขอขอบคุณกรมศิลปากรที่อนุญาตให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๒ และ ขอบคุณ นายสมรัชฏ์ พุกกะเวส ซึ่งช่วยออกแบบหน้าปกหนังสือ ขอให้กุศลผลบุญแห่งทักษิณานุปทานั้นสนองให้ทุกท่าน เจริญด้วยความสุขสมบูรณ์ ทุกประการเทอญ.

(นายสุกิจ นิมมานเหมินท์)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

๒ ตุลาคม ๒๕๑๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ