ประวัติวัดป่าโมก

วัดป่าโมก เป็นพระอารามหลวงชั้น วรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดโบราณ จะสร้างแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ ในพงศาวดารเหนือ มีกล่าวถึงวัดป่าโมกอยู่ตอนหนึ่ง ว่าพระมหาเถรไลลาย ได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ องค์ กับพระศรีมหาโพธิ์สองต้นมาแต่เมืองลังกา ได้บรรจุพระธาตุไว้ในพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ๓๖ พระองค์ ตามข้อความนี้ วัดป่าโมกคงเป็นวัดดั้งเดิมมาแต่ครั้งสุโขทัย ชาวกรุงศรีอยุธยาเห็นว่าวัดป่าโมกเป็นวัดโบราณอยู่แล้ว ในศิลาจารึกหลักหนึ่งที่เก็บอยู่ ณ วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงการชักชะลอพระพุทธ ไสยาสน์ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ได้ออกนามวัดนี้ว่า วัดพระพุทธไสยาสน์ ป่าโมข ศิลาหลักนี้เดิมจะอยู่ที่ใดไม่ปรากฏ และน่าเสียดายที่แตกหัก ตัวอักษรลบเลือนมาก ข้อความที่พออ่านได้ มีหลายตอนตรงกับคำโคลงพระราชนิพนธ์พระเจ้าบรมโกศ เรื่องพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ตอนที่ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช และต่อมาเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้วทรงแก้ไขเล็กน้อย เพราะมีข้อความปรากฏในตอนต้นสมุดข่อยว่า “ศักราช ๑๑๑๖ ปีวอก ฉศก ณ วัน ๗ ๑๒ ๒ ค่ำ แรกทรงแทรกทรงแปลงพระราชนิพนธ์โคลงพุทธไสยาสน์ป่าโมก” พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า ในปีศักราช ๑๑๑๖ นั้น พระเจ้าบรมโกศได้เสด็จล้อมช้างเถื่อน ณ ลพบุรี แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดจักรสีห์ และพระพุทธไสยาสน ณ วัดขุนอินทรประมูล สังเกตดูว่าจะทรงเลื่อมใสพระพุทธโสยาสน์อยู่มาก

ข้อความในโคลงพระราชนิพนธ์เรื่องพระพุทธไสยาสน์ ป่าโมก ตรงกับข้อความในศิลาจารึก ทั้งหลักที่อยู่ในพระอุโบสถวัดป่าโมก และที่พบอยู่ในพระนครศรีอยุธยาหลายอย่าง และซึ่งไม่เหมือนกับพระราชพงศาวดาร (ทุกฉบับ) เป็นต้นว่า เมื่อเจ้าอาวาสวัดป่าโมก (ในศิลาจารึกหลักที่อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา เอยนามว่า มหาสุวรรณโชติ อธิการวัดพระพุทธไสยาสน์ ป่าโมก) ได้กราบบังคมทูลพระเจ้าท้ายสระด้วยตัวของท่านเอง ว่าน้ำในแม่น้ำเซาะตลิ่งถึงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์แล้ว โคลงพระราชนิพนธ์ ก็กล่าวตรงกันว่า

“อธิการดานเดือดดิ้น รเหหน
มาสู่ภูธรสกล หม่นไหม้
แถลงถวายสายชลผจญ พุทธรูป
เชิญน้องประคองไภยให้ ผ่อนพ้นปฏิมน”

แต่พระราชพงศาวดาร ว่า พระอธิการวัดป่าโมก ได้ไปหาพระยาราชสงครามให้ช่วยกราบบังคมทูลเรื่องนี้ด้วย โคลงพระราชนิพนธ์และศิลาจารึกกล่าวถึง “พระราชสงคราม” แต่พระราชพงศาวดารเรียกว่า พระยาราชสงคราม พระราชสงครามผู้นี้เห็นจะเป็นวิศวกรมือเอก ได้ทำการก่อสร้างหลายอย่าง เมื่อศักราช ๑๐๘๓ ปีฉลูตรีนิศก พระเจ้าท้ายสระได้รับสั่งให้ไปขุดคลองมหาไชยให้เสร็จ พระราชสงครามขุดเสร็จภายใน ๒ เดือน จึงได้ทรงเลื่อนให้เป็น พระยาราชสงคราม ส่วนการชะลอพระพุทธไสยาสน์จากวัดป่าโมก มาสู่ที่ใหม่นั้น พระราชพงศาวดารว่า ได้กระทำในปี ๑๐๘๘ และว่า เจ้าอธิการวัดป่าโมกแจ้งเรื่องนี้แก่พระยาราชสงคราม ในศักราช ๑๐๘๗ ตามนี้ก็ถูกต้อง เพราะเรื่องชะลอพระพุทธไสยาสน์เกิดขึ้นหลังจากการขุดคลองมหาไชย

อย่างไรก็ดีศิลาจารึกหลักที่เก็บอยู่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอ่ยความเดิมในตอนต้นว่า “พระพุทธเจ้าอยู่หัวพระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเนียม....บำเพ็ญพระราชกุศลปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ ....” ตอนนี้เองที่ “...มหาสุวรรณโชติ อธิการวัดพระพุทธไสยาสน์ ป่าโมก กราบบังคมทูล ...” พระราชพงศาวดารว่า ในปีฉลู เอกศก พระเจ้าท้ายสระ เสด็จปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ น่าเสียดายที่ตอนที่บอกปีในศิลาจารึกลบหายไป อาจเป็นได้ที่ว่า ตอนแรกที่พระอธิการวัดป่าโมกกราบบังคมทูลเรื่องพระพุทธไสยาสน์นั้น พระราชสงครามยังไม่ได้เป็นพระยา พระยาราชสงครามผู้นี้ดูจะเป็นนายช่างนักวิชาการแท้ๆ เมื่อท่านมีความเห็นว่า พระพุทธไสยาสน์นั้น ท่านจะใช้วิชาช่างชักชะลอไปได้ พระเจ้าบรมโกศ ซึ่งตอนนั้นดำรงพระยศ พระราชวังบวรสถาน ทรงทักทัวงว่าถ้าขึ้นลากไป องค์พระจะแตกหัก ควรจะรื้อเสีย แล้วสร้างเอาใหม่ดีกว่า ท่านก็ไม่ยอม ยืนยันว่าท่านทำได้ ถ้าไม่ได้ยอมถวายชีวิต พระเจ้าท้ายสระถึงต้องทรงนิมนต์พระราชาคณะมาประชุม ตรัสถามความเห็น ที่ประชุมพระราชาคณะถวายความเห็นว่าไม่ควรรื้อ พระยาราชสงครามจึงได้แสดงฝีมือของท่านให้ประจักษ์ การชักชะลอพระพุทธไสยาสน์ “อันมหึมา” นั้นไม่ใช่ง่าย กว่าจะลากเคลื่อนขึ้นไปถึงที่อันปลอดภัย ท่านต้องถมสระถึงสองแห่ง เอาช้างเหยียบให้แน่น ทุบปราบที่ให้เสมอ เอากระดานหน้าสองนิ้วปู เอาเสาสามกำสามวากลิ้งให้พื้นเรียบ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แม้ว่าคงจะทรงขัดเคืองในคราวนั้น แต่คงจะโปรดและนับถือพระยาราชสงครามอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้ว ได้ทรงเลื่อนยศพระยาราชสงคราม เป็นเจ้าพระยาราชนายก ว่าที่สมุหกลาโหม ทรงขัดเคืองสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเชษฐาว่า ในตอนปลายแผ่นดิน ทรงมอบราชบัลลังก์แก่พระเจ้าลูกเธอแทนพระองค์ จึงทรงพระพิโรธพระบรมศพพระเชษฐาธิราช “...คิดจะใคร่เอาศพทิ้งน้ำเสียไม่เผาแล้ว อายแก่คนทั้งปวง” เมื่อเป็นอย่างนี้ ใครๆ ก็ไม่กล้ากราบบังคมทูลเรื่องนี้ มีแต่เจ้าพระยาราชนายกผู้เดียว เข้าไปกราบทูลวิงวอน ขอให้ถวายพระเพลิงเป็นหลายครั้ง เจ้าพระยาราชนายกน่าจะต้องเสียหัว แต่ก็ปรากฏว่า ทรงยินยอม

ปรากฏตามความในศิลาจารึก ที่พระอุโบสถวัดป่าโมกว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดให้ชักชะลอพระพุทธไสยาสน์ จากอารามตำบลป่าโมก ไปยังวัดโบราณวัดหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไปสิบเส้น เรียกว่าวัดตลาด แล้วทรงพระราชดำริว่า พระวิหารในวัดตลาดเก่าแก่ทรุดโทรม เมื่อสร้างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามสร้างพระอุโบสถใหม่ และสร้างพระเจดีย์ หอไตร ศาลาการเปรียญ พอจะเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย จึงได้เสด็จขึ้นไปฉลองวัดป่าโมก ในศักราช ๑๐๙๖ เข้าใจว่าพระเจ้าท้ายสระทรงรวมสองวัด คือ วัดป่าโมกเดิมที่อยู่ริมน้ำ กับวัดตลาดเข้าด้วยกัน แล้วทรงเรียกว่าวัดป่าโมก โคลงพระราชนิพนธ์พระพุทธไสยาสน์ บทที่ ๓๗ กล่าวว่า “วัดเก่าเอาสถิตย์เข้า เคียงสอง เป็นโบถโทษแถลงปอง ล่วงสร้าง”

มีข้อน่าสังเกตเล็กน้อย เกี่ยวกับศิลาจารึกที่เก็บอยู่ ณ วังจันทรเกษม เพราะขนาดใกล้เคียงกับกรอบที่ปฤษฎางค์พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ และได้ทอดพระเนตรเห็นรอยกรอบ เข้าพระทัยว่าคงเป็นแผ่นศิลาจารึกประวัติองค์พระพุทธไสยาสน์ไว้ แต่แผ่นศิลาจารึกได้หายไป ต่อมาพระยาโบราณราชธานินท์ ได้พบสมุดข่อยโคลงพระราชนิพนธ์เรื่องพระพุทธไสยาสน์ และนำมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ได้ทรงให้ช่างสลักคำโคลงพระราชนิพนธ์ พระพุทธไสยาสน์ ลงบนแผ่นศิลาขาวที่ชาวอิตาเลียนนำมาถวาย ได้ขนาดกับรอยกรอบ ทรงให้นำมาติดไว้ ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า ศิลาจารึกที่วังจันทรเกษม คือ แผ่นศิลาซึ่งหายไป และในขณะนั้นไม่มีผู้ใดได้พบหรือได้สังเกต เพราะแตกร้าว และตัวอักษรก็ลบเลือนหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติเพิ่งได้อ่านเมื่อสองสามปีมานี้ ข้อความเท่าที่เหลืออยู่ อ่านได้ว่าเป็นการพรรณนาเกี่ยวกับการชะลอพระพุทธไสยาสน์โดยละเอียด ข้อความคล้ายคลึงกับโคลงพระราชนิพนธ์ ผู้เขียนก็เขียนด้วยความตื่นเต้นในเรื่องการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเห็นการใหญ่และสำคัญยิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงชักชะลอด้วยพระองค์เอง แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะทรงขัดเคืองพระยาราชสงครามที่มีความเห็นขัดแย้งกับพระองค์ ก็อดทรงตื่นเต้นเรื่องนี้ไม่ได้ แต่จะได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงพุทธไสยาสน์เสร็จในตอนนั้น ทันจารึกลงศิลา เพื่อบรรจุไว้ ณ พุทธปฤษฎางค์ของพระพุทธรูปหรือไม่ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะปรากฏว่า มีสมุดโคลงพระราชนิพนธ์อีกเล่มหนึ่ง ต่างจากที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) ได้พบ และนำมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่มนี้มีบานแผนกบอกไว้ว่าคัดลอกในรัชกาลที่ ๓ (จ.ศ. ๑๑๘๙) และอธิบายว่า “ศักราช ๑๑๑๖ ปีวอก ฉศก ณวัน ๗ ๑๒ ๒ ค่ำ แรกทรงแทรกทรงแปลงพระราชนิพนธ์โคลงพระพุทธไสยาสน์ป่าโมก” หนังสือโคลงเล่มนี้ มีโคลงครบบริบูรณ์รวม ๗๐ บท (ในสมุดของพระยาโบราณราชธานินท์ มี ๖๙ บท ความขาดหายไป ๔ บรรทัด) ในตอนแรก อาจมีแต่จารึกข้อความเป็นร้อยแก้ว ครั้นต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอาจจะทรงแกะศิลาจารึกแผ่นนี้ออก เพื่อจะใช้จารึกโคลงพระราชนิพนธ์แทน แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ จารึกนั้นไม่ได้นำไปติดไว้ จึงคงเหลือแต่รอยกรอบอยู่

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดป่าโมกคงจะทรุดโทรมลงไปมาก มีบางอย่างที่เปลี่ยนไป เป็นต้นว่าศาลาการเปรียญ ซึ่งพระเจ้าบรมโกศทรงกล่าวในพระราชนิพนธ์โคลงพระพุทธไสยาสน์ว่า “ก่ออิฐพิศดารการแต่งตั้ง” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า ตอนที่เสด็จไปนั้นเป็นเพียงศาลาไม้เท่านั้นเอง แต่ที่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ยังมีลวดลายซึ่งทำไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการผูกลายแบบไทยซึ่งเห็นได้จากที่พระวิหารนั้นว่า ลายที่เสาพระวิหารนั้นแปลกกว่าที่ทำกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รับสั่งว่า “ลายนั้นเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ ก้านแย่งตามแบบ ในพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เป็นรูปเทพนมครึ่งตัว แต่รูปเทพนมนั้นแปลก ผูกด้วยเครือไม้ให้เห็นไปเองว่าเป็นเทพนม ไม่ใช่ตัดเอาจากเทวดาครึ่งตัวมายัดเข้า ทำให้ได้สติว่า ท่านแต่ก่อนผูกลาย ท่านตั้งใจจะผูกเครือไม้ให้เห็นเป็นรูปอะไรต่ออะไรไปทั้งนั้น เช่นหัวราชสีห์ คชสีห์ ที่มีอยู่ในลาย ท่านก็ตั้งใจจะผูกเครือไม้ให้เห็นเป็นหัวราชสีห์ คชสีห์ ไม่ใช่ตัดเอาหัวสัตว์มาเสียบเครือไม้เข้า ดังจะสังเกตเห็นอยู่ได้ในที่ซึ่งเป็นขน มีหงอนเป็นต้น ท่านทำเป็นใบไม้ ไม่ได้ทำเป็นขน แต่พวกช่างซึ่งนำเอาไปเขียน แม้เขียนตัวสัตว์มีชีวิต ก็ทำหงอนเป็นใบไม้ นั่นคือหลง แม้ทำเทพนมครึ่งตัว หรือกินนรรำครึ่งตัว ก็ตัดเอาตัวจริงแต่ครึ่งหนึ่งมาใส่เข้าในลาย จะเป็นเรื่องอะไร เป็น “โน คอมมัน เซนส์” ที่สุด หลงไปทั้งนั้น”

ในแผ่นดินสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจดหมายเหตุว่า ได้พระราชทานเงินให้พระปลัดอินวัดป่าโมก ไปปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และโปรดฯ ตั้งพระครูปลัดอินเป็นที่พระครูป่าโมกมุนี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายพระกฐิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยเรือพระที่นั่งกลไฟ ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำแผนที่ระยะทางจากที่ประทับเรือพระที่นั่งหน้าพระตำหนักน้ำถึงวัดป่าโมกโดยละเอียด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ได้เสด็จถวายพระกฐินที่วัดนี้ เสด็จนมัสการพระพุทธไสยาสน์ และทรงโปรดเงินเฟื้องพระราชทานอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งมาคอยเฝ้าอยู่ที่ลานพระอุโบสถ การบูรณะปฏิสังขรณ์ได้กระทำกันเรื่อยๆ มา มีการเปลี่ยนกระเบื้องพระวิหารบ้าง สร้างศาลาการเปรียญเพิ่มขึ้นบ้าง เขียนภาพต่างๆ ที่ฝาผนังวิหารบ้าง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ