๑๕๒ ประกาศเรื่องพระยาพิพิธฤทธิเดช

ผู้สำเร็จราชการเมืองตราษส่งหญิงเข้ามาถวาย ๓ คน

ปีมะเมียสัมฤทธิศก

ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงแลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือให้ทราบทั่วกัน ด้วยณวันจันทร์เดือนยี่แรม ๕ ค่ำ ปีมะเสงนพศก เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคออกไปทรงประพาสทางทเลตั้งแต่เมืองชลบุรีออกไปจนถึงเมืองจันทบุรีเมืองตราษ พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศข้าทูลลอองฯ เปนอันมาก ทรงประทับแรมอยู่หลายราตรี เมื่อเสด็จประทับอยู่เกาะช้างนั้น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชากับเจ้าจอมมารดา กราบถวายบังคมลาขึ้นไปเยี่ยมเยียนพระยาพิพิธฤทธิเดชแลพระผลภูมไพศาลกับญาติอื่นๆ ณเมืองตราษเพลาหนึ่ง แล้วก็กลับลงเรือพระที่นั่ง จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามาณกรุงเทพฯ เจ้าจอมมารดาในพระองค์เจ้าทักษิณชากราบทูลพระกรุณาว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาทผู้สำเร็จราชการเมืองตราษ สั่งความมาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชจัดได้หญิงเปนหลานในวงศสามคนจะพามาถวายตัว ในเวลาเสด็จทรงประทับแรมอยู่นั้นไม่ทัน เสด็จพระราชดำเนินกลับเสียก่อน อนึ่งในเวลานั้นพระยาพิพิธฤทธิเดชก็มีใบบอกเข้ามายังเจ้าพนักงานกรมท่าว่า อ้ายจีนสลัดมาเที่ยวตีเรือลูกค้าที่แขวงเมืองตราษอยู่เนืองๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายขันมหาดเล็กหุ้มแพรคุมเรือพระที่นั่งโผนเผ่นทเลออกไปลาดตระเวนฟังราชการ จับอ้ายจีนสลัด แลให้เจ้าจอมเถ้าแก่สองคนที่จะใคร่ไปเที่ยวทเลไปด้วยนายขัน ครั้นนายขันมหาดเล็กเจ้าจอมเถ้าแก่จะกลับมา พระยาพิพิธฤทธิเดชมอบหญิงเปนหลานสามคน ให้นำเข้ามาถวายตัวทำราชการสนองพระเดชพระคุณ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเงินตราคนละ ๑๐ ตำลึง ผ้านุ่งคนละ ๓ สำรับ ผ้าห่มคนละ ๓ สำรับ ให้ไปหัดเปนลครมโหรี แลอยู่ด้วยเจ้าจอมมารดาแลญาติที่ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังเปนปรกติ ครั้นณเดือน ๙ ปีมะเมียสัมฤทธิศกมารดาของหญิงคนหนึ่งเข้ามาทำเรื่องราวถวายฎีกากล่าวโทษพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการว่าบิดามารดาหญิงไม่มีความผิด พระยาพิพิธฤทธิเดชให้ไปจับมาจำเร่งรัดเอาบุตรหญิงได้แล้ว ส่งตัวเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย บิดามารดาไม่ยอมยินดีจะขอบุตรกลับไป จึงทรงพระราชดำริห์ว่า บุตรเปนที่รักแห่งบิดามารดา ถ้าพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการไปเกาะบิดามารดามาจองจำลงเอาพัสดุเงินทอง ฤๅไปฉุดลากบุตรสาวกรมการราษฎรมาเปนภรรยาตัวเอง ฤๅนำไปถวายให้เจ้าอื่นนายอื่นโดยพลการข่มเหง พระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการจะมีความผิด ในครั้งนี้พระยาพิพิธฤทธิเดชจัดเอาหญิงคนนั้นมาไม่ได้หน่วงเหนี่ยวไว้ให้เนิ่นช้าส่งเข้ามาถวายนั้นก็มิใช่ผู้อื่น ชำระได้ความเปนแน่ว่าปู่ทวดของหญิงนั้นเปนลุงคือพี่ชายของพระยาพิพิธสมบัติสุข ซึ่งเปนบิดาของพระยาพิพิธฤทธิเดชเอง เหมือนขนทรายเข้าวัด จะว่าพระยาพิพิธฤทธิเดชผิดนั้นยังไม่ควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถามตัวหญิงนั้นว่า จะสมัคทำราชการอยู่ณกรุงเทพฯ ฤๅจะตามบิดามารดาไป หญิงนั้นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะขอกราบถวายบังคมลาไปอยู่ด้วยบิดามารดา จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวหญิงให้มารดารับไป แลเงินตรา ๑๐ ตำลึงผ้านุ่ง ๓ สำรับ ผ้าห่ม ๓ สำรับ ที่พระราชทานให้หญิงเมื่อแรกมาถึงนั้น ก็ยกพระราชทานให้เปนรางวัลทำขวัญให้บิดามารดาของหญิงที่เกาะครองเร่งรัดนั้น แทนเบี้ยปรับพระยาพิพิธฤทธิเดชไปครั้งหนึ่งแล้ว ๆ ได้ทรงพระกรุณาดำรัสถามหญิงอิก ๒ คนว่าจะออกไปอยู่ด้วยบิดามารดาดังนั้นฤๅ จะส่งตัวให้ไปตามสมัค หญิงสองคนกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าจะขอทำราชการอยู่ณกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเงินเบี้ยหวัดในปีมะเมียสัมฤทธิศกนี้คนละ ๑๐ ตำลึง ครั้นณวันพุธเดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำปีมะเมียสัมฤทธิศก มารดาของหญิงอิกคนหนึ่ง เข้าทำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายกล่าวโทษพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการ ว่าด้วยบุตรเหมือนอย่างครั้งก่อน ก็ได้ทรงตัดสินให้หญิงไปอยู่พร้อมด้วยบิดามารดาเปนมาแต่หลัง เงิน ๑๐ ตำลึงกับผ้า ๓ สำรับนั้นก็ยกพระราชทานให้เปนเบี้ยทำขวัญเหมือนกัน ครั้นทรงพิเคราะห์ดูในเรื่องราวนายทองจินผัว อำแดงเหียงเมีย บิดามารดาตะเภา นายกรดผัว อำแดงชุ่มเมีย บิดามารดาผาด ทั้งสองรายกล่าวโทษพระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาทกับนายขัน ว่าเกาะครองกดขี่ข่มเหงให้ถวายบุตรเข้ามานั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าไม่สู้ผิดมากดอก ด้วยสืบตามความจริงก็เปนการในเครือญาติกันมิใช่ผู้อื่น นายทองจีนก็เปนหลานของลุงพระยาพิพิธฤทธิเดช คือเปนบุตรของบุตรพี่ชายพระยาพิพิธสมบัติ สุข ซึ่งเปนบิดาพระยาพิพิธฤทธิเดชแลเปนตาของนายขัน ฝ่ายนายกรดเล่าก็เปนบุตรของพี่สาวบิดามารดาเดียวกันกับท่านอิ่มซึ่งเปนมารดานายขัน แลเปนพี่สาวร่วมบิดากับพระยาพิพิธฤทธิเดช เพราะฉนั้นตะเภา ผาด สองคนนั้นก็เปนหลานเปนญาติบุตรพี่หลานน้องกันกับพระยาพิพิธฤทธิเดช แลนายขันนั้นเองมิใช่ผู้อื่น พระยาพิพิธฤทธิเดชเปนพี่ชายร่วมบิดาของเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา ๑ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร ๑ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ ๑ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๑ พระยาพิพิธฤทธิเดช เปนลุงของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทั้ง ๔ พระองค์นั้น เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้า ๔ พระองค์นั้น ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเปนเจ้าจอมพระสนมเอก มีพานทองคำเครื่องใช้สอยทองคำหีบลงยาราชาวดีเปนเครื่องยศ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๐ ชั่ง เพราะเปนเจ้าจอมข้าหลวงเดิมมา แลพระยาพิพิธฤทธิเดชพี่ชายของเจ้าจอมมารดานั้นก็ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยง ให้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองตราษแทนที่พระยาพิพิธสมบัติผู้บิดา ถ้าว่าแผ่นดินประจุบันนี้เปนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (คือพระองค์ที่เรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎบ้าง ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่บ้างแต่ก่อนนั้น) แล้ว เจ้าจอมมารดากับพระยาพิพิธฤทธิเดช ก็ควรคนทั้งปวงจะรู้ว่า เปนประธานเปนผู้ใหญ่ในพวกพ้องวงศ์ญาติของพระยาพิพิธสมบัติสืบๆ มา ทั้งหญิงทั้งชายทั้งสิ้น ควรจะเปนที่พึ่งที่นับถือของพวกญาติทุกคน แลซึ่งพระยาพิพิธฤทธิเดช จัดแจงเก็บหญิงเด็กๆ เปนบุตรหลานนับเนื่องในเครือญาติ ส่งเข้าถวายตัวให้ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งนี้ ก็จะทำด้วยคิดว่าตัวเปนผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติ จะจัดแจงให้บุตรหลานเข้ามาทำราชการอยู่ให้อุ่นหนาฝาข้าง กับเจ้าจอมมารดาผู้น้อง แลพระองค์เจ้าผู้หลานให้สมควรเปนเกียรติยศ แลจะให้บิดาของหญิงเด็กๆ พวกนั้นได้มีหน้าแลบรรดาศักดิ์ว่า มีบุตรทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ความคิดของบิดามารดาหญิงเด็กเหล่านั้น เปนคนนอกกรุงไม่รู้ว่าอะไรจะงามไม่งามจะเปนคุณเปนโทษ ความคิดเหมือนคนเสียจริต จะเอาเปนประมาณไม่ได้ พระยาพิพิธฤทธิเดชจะคิดดังนี้ จึงกดขี่ข่มเหงเอาตามใจตัว ด้วยคิดว่าตัวเปนผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติรู้จักดีชั่วงามไม่งาม มิใช่ว่าไปข่มเหงฉุดลากผู้อื่น ซึ่งไม่ได้เปนญาติเปนข้าเจ้าบ่าวนายอื่นมา จะเหนว่าเปนผิดไม่ได้

อนึ่งการที่พระยาพิพิธฤทธิเดช เกาะครองกดขี่เร่งรัดเอาตัวหญิงเด็กๆ ในเครือญาติถวายเข้ามาในหลวงดังนี้ ถ้าท่านทั้งหลายทั้งปวงรู้ว่าพระยาพิพิธฤทธิเดช ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่ในพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (คือเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นแล้ว) การก็ควรจะเหนว่าเปนอันเหมือนขนทรายเข้าวัด มิใช่เกาะครองเร่งรัดลงเอาเบี้ยหอยเงินทองอะไร ฤๅจะเอาไปถวายเจ้าอื่นนายอื่นประจบประแจงผู้ใดก็หาไม่ ไม่ควรจะเอาโทษ ไม่ควรจะให้มีเบี้ยปรับให้แก่ผู้กล่าวโทษนั้นเลย อนึ่งการในพระบรมมหาราชวังแต่ก่อน หญิงคนใดบิดามารดาฤๅญาติพี่น้องนำมาถวายตัวให้ทำราชการ ได้เปนเจ้าจอมฤๅพนักงานใดๆ ฤๅเปนลครเปนมโหรี โดยอย่างต่ำเปนจ่าแลทนายเรือนพวกโขลน รับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้วก็เปนออกไม่ได้ ถ้าจะคิดออกนอกราชการต้องทำมารยาเปนอุบาย ว่าป่วยเปนโรคเรื้อน มะเร็ง แลเปนโรคต่างๆ ฤๅเสียจริตเปนผู้ร้ายเปนการเท็จๆ ไม่จริงดังนี้ก็มีบ้าง ลางทีคิดเดินเสียนายหน้า ให้เจ้าจอมคุณข้างในกราบบังคมทูลพระกรุณาขอบ้าง จึงออกนอกราชการได้ แลในแผ่นดินประจุบันนี้ทรงรักษายุติธรรม แล้วก็ได้หมายประกาศไว้ว่า ผู้ใดนำบุตรหญิงมาถวายตัว ให้ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหญิงนั้นจะออกนอกราชการ ถ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาตามเหตุที่เปนจริงๆ ตรงๆ ไม่มีมารยาแล้ว ก็ไม่ได้ทรงรังเกียจ โปรดให้ออกตามใจง่ายๆ ไม่ให้ต้องเสียเงินเสียทองสิ่งใด ถึงเงินทองซึ่งพระราชทานให้มากน้อยเท่าใดก็ไม่ชำระเอาคืน แต่ได้พระราชทานให้หญิงออกนอกราชการไปอยู่ตามใจมีมากหลายรายมาแล้ว แลมารดาหญิงจะขอเอาบุตร์ไป ก็ชอบแต่จะบอกกล่าวให้เจ้าจอมฤๅท้าวนางข้างในช่วยกราบบังคมทูลพระกรุณาขอ ฤๅมารดาหญิงแลตัวหญิงควรจะร้องถวายฎีกาแต่ในพระบรมมหาราชวัง มารดาหญิงก็ไม่ทำดังนั้น ไปเดินเหินหานายหน้าให้ต้องเสียพัสดุทองเงิน แลเก็บเอาความข้างในใส่ในเรื่องราวไปร้องถวายฎีกาหน้าพระที่นั่งสุทไธศวริย์ ให้เปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศไปดังนี้ มารดาหญิงแลผู้แนะนำทำเรื่องราวมีความผิดอยู่ อนึ่งหัวเมือง ปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ทุกวันนี้พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการขึ้นลงไปมาอยู่ไม่ขาด ครั้นจะไม่ประกาศชี้แจงการให้ทราบไว้ กลัวเกลือกข้าราชการแลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการจะไปทำข่มเหงฉุดเอาบุตรหลานสาวราษฎรมาเปนภรรยา ฤๅเกาะบิดามารดามาจำเร่งเอาบุตรหลานนำไปถวายเจ้านาย ผู้มีวาสนาที่แขงแรงแห่งอื่นนอกจากในหลวง ทำให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนต่างๆ ดังนั้น ก็จะให้มีโทษตามโทษานุโทษ ถ้านำเข้ามาถวายในหลวงโดยแท้แห่งเดียวเปนอันหาโทษมิได้ อนึ่งผู้หญิงบ้านนอกขอกนาเปนลูกเลขไพร่หลวงไพร่สมทาสขุนนางในหลวงไม่เอาเปนเมียดอก เกลือกจะมีลูกออกมาจะเสียเกียรติยศ แต่เมื่อผู้นำเอาหญิงงามๆ มาให้ก็ดีใจอยู่ด้วยจะให้มีกิตติศัพท์เล่าฦๅว่า ยังไม่ชราภาพนักจึงมีผู้หาเมียให้เท่านั้นดอกจึงรับไว้ แล้วให้หัดเปนลครบ้างมะโหรีบ้างเล่นการต่างๆ ไปโดยสมควร จะได้ทำหม่นหมองในคนต่ำๆ เลวๆ นั้นหามิได้ ถ้าบิดามารดามาร้องจะขอตัวคืนไป ฤๅตัวร้องจะออกเองก็ไปง่ายๆ ดีๆ ผู้หญิงนั้นก็บริสุทธิอยู่ไม่เศร้าหมอง ถ้าบิดามารดาว่ามีผู้เร่งรัดเกาะครองจึงต้องยอมให้บุตรมา ถ้ามีความร้องทุกข์ดังนี้ ในหลวงก็จะทำขวัญให้ได้ แต่ถ้าแม้นผู้หญิงไปตกอยู่ที่อื่นบิดามารดามาร้องแก่ในหลวง ลางรายก็จะเร่งให้คืนให้ได้ ลางรายก็จะเร่งเอาตัวให้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้จะปรับให้ผู้ชักนำเสียค่าตัวคนตามกระเษียณอายุห้าต่อบ้างหกบ้างเปนเงิน ๓ ชั่งบ้าง ๓ ชั่ง ๑๒ ตำลึงบ้าง ถ้าบิดามารดาร้องว่าต้องเกาะครองจองจำ ก็จะชำระปรับผู้เกาะครองจองจำโดยสถานลเมิดข่มเหงคนอันหาผิดมิได้นั้นตามฐานานุศักดิ์ ว่าทั้งนี้ว่าด้วยทำการให้ข้าวให้เกลือให้เรือให้พาย สอพลอแก่ผู้อื่นนอกจากในหลวง ถ้าทำเพื่อในหลวงแท้ไม่ใช่ที่อื่น เหมือนพระยาพิพิธฤทธิเดชแล้ว เปนอันทำด้วยจะให้คนอื่นขนทรายเข้าวัด ถึงทำเขาผิดในหลวงจะรับทำขวัญให้ ไม่ให้เสียอะไร เว้นไว้แต่เกินนักคือเฆี่ยนถึง ๑๐๐ ถึง ๕๐ ฤๅทำให้เขาล้มตายก็ดี จึงจะต้องมีโทษบ้างเพื่อไม่เปนเยี่ยงอย่างต่อไป ประกาศมาณวัน ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ