- คำนำ
- เรื่องสังข์ทองในปัญญาสชาดก
- ตอนที่ ๑ กำเนิดพระสังข์
- ตอนที่ ๒ ถ่วงพระสังข์
- ตอนที่ ๓ นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์
- ตอนที่ ๔ พระสังข์หนีนางพันธุรัต
- ตอนที่ ๕ ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่
- ตอนที่ ๖ พระสังข์ได้นางรจนา
- ตอนที่ ๗ ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
- ตอนที่ ๘ พระสังข์ตีคลี
- ตอนที่ ๙ ท้าวยศวิมลตามพระสังข์
ตอนที่ ๘ พระสังข์ตีคลี
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวสหัสนัยน์ตรัยตรึงศา |
ทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา | กระด้างดังศิลาประหลาดใจ |
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน | อมรินทร์เร่งคิดสงสัย |
จึงสอดส่องทิพเนตรดูเหตุภัย | ก็แจ้งใจในนางรจนา |
แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด | ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า |
จำจะยกพหลพลเทวา | ลงไปล้อมพาราสามนต์ไว้ |
ชวนเจ้าธานีตีคลีพนัน | น้ำหน้ามันจะสู้ใครได้ |
จะขู่ให้งันงกตกใจ | ออกไปหาบุตรสุดท้อง |
พระสังข์ครั้งนี้จะถอดเงาะ | งามเหมาะไม่มีเสมอสอง |
พ่อตาจะได้เห็นเป็นรูปทอง | ทั้งทำนองเพลงคลีตีต่อยุทธ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดพลางทางมีพจนารถ | สั่งมาตุลีเทพบุตร |
จงเตรียมพลเทวาถืออาวุธ | นิมิตเหมือนมนุษย์ชาวพารา |
ทั้งหน้าหลังตั้งตามกระบวนทัพ | ให้เสร็จสรรพปีกซ้ายปีกขวา |
เราจะยกพลไกรไคลคลา | ไปล้อมพาราท้าวสามนต์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มาตุลีกราบงามลงสามหน |
รีบออกมานอกไพชยนต์ | เตรียมพลเทวัญมิทันนาน |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อมรินทร์อินทร์องค์สรงสนาน |
สอดใส่เครื่องทรงอลงการ | เนาวรัตน์ชัชวาลวาวแวว |
แล้วลีลามาทรงเวไชยันต์ | ยกทัพเทวัญเป็นถ้องแถว |
เดินโดยอากาศคลาดแคล้ว | รีบขับรถแก้วลงมาพลัน |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวนอก เชิด
๏ ครั้นถึงพาราสามนต์ | ขับพลเข้าล้อมเขตขัณฑ์ |
ตั้งค่ายรายรอบเรียงรัน | ปักธงสำคัญทุกหมวดกอง |
แล้วยิงปืนมณฑกนกสับ | ปล่อยปืนตับตึงตังดังก้อง |
บ้างทำสิงหนาทฆาตฆ้องกลอง | โห่ร้องสำทับให้เกรงกลัว |
ฯ ๔ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองทั้งสิ้นได้ยินทั่ว |
ตื่นตระหนกตกใจจวนตัว | จะยักย้ายครอบครัวก็ไม่ทัน |
ต่างคนลนลานทุกบ้านช่อง | เสลือกสลนขนของเชี่ยนขัน |
หอบที่นอนหมอนฟูกผูกพัน | ถามกันว่าจะไปข้างไหนดี |
บ้างอุ้มบุตรฉุดมือเมียมา | ไหว้วอนพ่อตาให้พาหนี |
ลูกหลานรุงรังครั้งนี้ | มิรู้ที่จะแอบแฝงอยู่แห่งไร |
บ้างปีนขึ้นแย่งฝาหลังคาเรือน | สำคัญฟั่นเฟือนว่าไฟไหม้ |
ขนเอาข้าวของลงกองไว้ | ร้องไห้เรียกหากันอึงอล |
พวกผู้หญิงสาวแก่แม่ค้า | ตกใจคิดว่าขโมยปล้น |
เบี้ยข้าวเททิ้งแล้ววิ่งวน | แน่นถนนปนไปกับผู้ชาย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ พวกพระยาพระหลวงทั้งปวงนั้น | ต่างตระหนกอกสั่นขวัญหาย |
ไม่รู้เหตุผลต้นปลาย | ชวนกันผันผายเข้าวังใน |
ครั้นถึงศาลาหน้าประตู | พอเพลาเช้าตรู่ประแจไข |
ร้องเรียกเถ้าแก่ออกแซ่ไป | เร่งให้ปลุกบรรทมบังคมทูล |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ราชนเรนทร์สูร |
หลับอยู่ไม่รู้เค้ามูล | แว่วเสียงสนมทูลก็ตกใจ |
ผวาตื่นฟื้นตัวยังมัวเมีย | งัวเงียโงกหงับหลับไปใหม่ |
นางมณฑาตื่นก่อนนอนไว | หลงใหลทะลึ่งลุกปลุกสามี |
ท้าวสามนต์ละเมอเพ้อพำ | คิดว่าผีอำทำอู้อี้ |
ลุกขึ้นแก้ฝันขันสิ้นที | เห็นจะดีหรือร้ายช่วยทายดู |
นางมณฑาว่าไฮ้อะไรนั่น | ยังจะมาแก้ฝันกันอยู่ |
เสียงคนอึงมี่ที่ประตู | เป็นอย่างไรไม่รู้เลยพ่อคุณ |
ท้าวสามนต์หวาดหวั่นพรั่นพระทัย | เหลียวมาคว้าได้ดาบญี่ปุ่น |
งกเงิ่นเดินด่วนซวนซุน | เมียรุนหลังส่งตรงออกมา |
เปิดพระแกลแลเห็นเสนี | อึงมี่คึกคักหนักหนา |
ร้องถามลงไปมิได้ช้า | อ้ายเงาะมันเข้ามาหรือว่าไร |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
ได้ยินสุรเสียงท้าวไท | ต่างคลานเข้าไปตรงบัญชร |
พิดทูลถ้อยคำละล่ำละลัก | หายใจหอบฮักขยักขย่อน |
ไม่รู้ว่าใครมาล้อมนคร | พระภูธรจงทราบพระบาทา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ตระหนกตกประหม่า |
ให้คิดคร้ามครั่นหวั่นวิญญาณ์ | เหลียวซ้ายแลขวาละล้าละลัง |
ความกลัวตัวสั่นงันงก | เพ้อพกพูดจาเหมือนบ้าหลัง |
ค่อยกระซิบถามเมียเงี่ยหูฟัง | เสียงอะไรตึงตังดังเหมือนปืน |
เอ๊ะกูอยู่แล้วนะเสนี | เห็นไพรีจะมากมายหลายหมื่น |
นี่หากว่ากล้าหาญพานยั่งยืน | จึงไม่ตื่นตระหนกตกใจ |
เสียแต่แก่ชราหูตามัว | ทั้งตัวก็เจ็บปวดป่วยไข้ |
ถ้าหนุ่มแน่นแม้นเหมือนแต่ก่อนไซร้ | จะเกรงกลัวอะไรกับไพรี |
เหวยหมู่มาตยาข้าเฝ้า | อย่างไรเล่าเราจะสู้หรือจะหนี |
กูเห็นเหลือกำลังแล้วครั้งนี้ | สุดที่จะต้านต่อให้ท้อแท้ |
ได้ยินคนข้างหลังกระทั่งไอ | ตกใจจริงจริงออกวิ่งแร่ |
ร้องเรียกเมียตัวสั่นว่านั่นแน่ | เสียงแซ่น่ากลัวทั้งรั้ววัง |
ลูกเขยของกูมันอยู่ไหน | จะให้ไปต่อสู้ดูสักตั้ง |
ขัดเขมรเหม่นเหม่ทำเก้กัง | ปากโป้งโผงดังสั่งเสนี |
เร็วเร็วเร่งรัดจัดโยธา | ขึ้นพิทักษ์รักษาหน้าที่ |
นายมุลขุนหมื่นพื้นตัวดี | กินเบี้ยหวัดผ้าปีมีมากมาย |
เกณฑ์ให้ประจำซองป้องกัน | ระวังตัวกลัวมันจะปีนป่าย |
ประตูทั้งสี่ทิศให้ปิดตาย | แล้วคั่วทรายคั่วกรวดเตรียมไว้ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
บังคมลาพากันออกไป | เรียกหาบ่าวไพร่วุ่นวาย |
พวกเหล่าชาวคลังชาวแสง | เอาเสื้อแดงปืนผาออกมาจ่าย |
แล้วขับไพร่ให้ขึ้นเชิงเทินราย | ตัวนายถือดาบตรวจดู |
บ้างลากปืนใหญ่ขึ้นใส่ช่อง | ถือชุดจุดจ้องเทดินหู |
เร่งกันลั่นดาลบานประตู | เป็นหมู่หมู่เยียดยัดอัดไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวมัฆวานเป็นใหญ่ |
สั่งพระวิษณุกรรม์ทันใด | จงแต่งสารถือไปในเมือง |
บอกพระยาสามนต์มาตีคลี | พนันเอาบุรีให้ลือเลื่อง |
แม้นแพ้เราอย่าพักยักเยื้อง | จะริบเอาบ้านเมืองเสียบัดนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระวิษณุกรรม์เรืองศรี |
รับสั่งพระอินทร์ด้วยยินดี | อัญชลีแล้วลามาพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประตูพระนคร | เห็นใส่กลอนมั่นคงลงเขื่อนขันธ์ |
คนรักษาหน้าที่นี่นัน | เทวัญร้องเรียกให้เปิดรับ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนหมื่นเฝ้าประตูผู้กำกับ |
จึงตอบว่าท่านมาแต่กองทัพ | จะเปิดรับไม่ได้อย่าเข้ามา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์แกล้วกล้า |
ผาดแผลงสำแดงฤทธา | เท้าถีบทวาราทลายลง |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เห็นพวกรักษาหน้าที่ | วิ่งหนีเกลื่อนกลาดตวาดส่ง |
แกล้งทำสิงหนาทอาจอง | เดินตรงเข้าพระโรงรจนา |
เห็นท้าวสามนต์อยู่บนอาสน์ | หมู่อำมาตย์เฝ้าแหนแน่นหนา |
แกล้งกรายหัวข้าเฝ้าเข้ามา | ยืนอยู่ตรงหน้าเจ้าธานี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ลนลานจะวิ่งหนี |
นางมณฑาคร่ามือไว้ทันที | ท้าวได้สมประดีก็แลดู |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ คิดได้ไพรีมาคนเดียว | ถึงรบรับขับเคี่ยวพอต่อสู้ |
จึงร้องเรียกเสนีอย่าหนีกู | แล้วนิ่งดูท่วงทีกิริยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์แกล้วกล้า |
เสแสร้งแกล้งกล่าววาจา | เหวยเหวยพระยาเจ้าธานี |
จงก้มเกล้าเคารพอภิวาท | คอยสดับรับราชสารศรี |
นายเราให้มาว่าโดยดี | แล้วคลี่ราชสารออกอ่านไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ ในสารว่าองค์พระทรงเดช | มงกุฎเกศกษัตริย์เป็นใหญ่ |
ยกทัพมาประชิดติดเวียงชัย | มิใช่จะณรงค์สงคราม |
ให้พระยาสามนต์คนดี | มาตีคลีพนันในสนาม |
จะได้มีเกียรติยศปรากฏนาม | ให้ชีพราหมณ์ราชครูดูเป็นกลาง |
แม้นเราแพ้แก่ท่านในการเล่น | จะยอมเป็นเมืองขึ้นไม่ขัดขวาง |
เราชนะจะริบไม่ละวาง | สาวสรรค์กำนัลนางเป็นของเรา |
ในวันนี้มิออกมาเล่นคลี | จะเข้าตีกรุงไกรเอาไฟเผา |
ท้าวสามนต์แม้นรู้อย่าดูเบา | จะวอดวายตายเปล่าทั้งเวียงชัย |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นอ่านสิ้นสาราจึงว่ากล่าว | นี่แน่ท้าวสามนต์เป็นใหญ่ |
นั่งนิ่งก้มหน้าอยู่ว่าไร | จะต่อตีหรือไม่จงบอกมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ตัวสั่นพรั่นนักหนา |
ทำหน้าเซียวเหลียวดูนางมณฑา | หูตาบ้องแบวเหมือนแมวคราว |
เรียกเมียว่าช่วยพี่ด้วยซิ | สิ้นสติตกประหม่าตาขาว |
ความกลัวตัวสั่นอยู่ท้าวท้าว | มันให้หนาวสะท้านรำคาญใจ |
แล้วคิดว่าหกเขยของเรานี้ | จะตีคลีต้านต่อเห็นพอได้ |
ลุกขึ้นยืนยิ้มย่องร้องตอบไป | เราไม่ย่อท้อต่อไพรี |
ท่านอย่าฮึกฮักไปนักเลย | ออเขยทั้งหกมันไม่หนี |
จะแต่งให้ไปต้านตีคลี | ใครดีได้กันไม่พรั่นพรึง |
ท่านจงกลับออกไปบอกนาย | ผัดพอตะวันบ่ายสักหน่อยหนึ่ง |
พระแกล้งอวดโป้งโผงอึง | ตั้งปึ่งขึงไว้เหมือนไม่กลัว |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์ก็ยิ้มหัว |
นี่แน่ท้าวสามนต์คนเมามัว | ใจคอพอตัวยังชั่วครัน |
พูดจาปากกล้าแต่ตาขาว | เนื้อแท้ท้าวก็กลัวจนตัวสั่น |
จะให้หกเขยตีคลีพนัน | ว่าให้แม่นมั่นเหมือนสัญญา |
แม้นไม่ออกไปสนามตามกำหนด | มิริบลูกเมียหมดก็จึงว่า |
แกล้งขู่สำทับกำชับกำชา | แล้วเทวารีบกลับไปฉับไว |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์คิดพรั่นหวั่นไหว |
จึงตรัสแก่เขยขวัญทันใด | จนใจด้วยบิดาชราแล้ว |
ถ้ากำลังยังหนุ่มเหมือนแต่ก่อน | พ่อไม่ให้ร้อนถึงลูกแก้ว |
เมื่อกระนั้นหาอีกมันหลีกแคล้ว | ไม่อาจมาว่องแววโดยยำเกรง |
เดี๋ยวนี้เห็นบิดาชราลง | จึงทะนงอวดกล้ามาข่มเหง |
ขัดใจจะใคร่ออกตีเอง | แต่กริ่งเกรงตาหูไม่สู้ไว |
เจ้าหนุ่มแน่นแทนพ่อออกตีคลี | แก้กู้บูรีไว้ให้ได้ |
เหมือนช่วยยกหน้าพ่อตาไว้ | อย่าให้อัปยศอดอาย |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยคิดพรั่นขวัญหาย |
มิรู้ที่ทำกระไรให้วุ่นวาย | แต่เหลียวซ้ายเหลียวขวาดูตากัน |
จำเป็นจำรับวาจา | ลูกจะขออาสาพระอย่าพรั่น |
ว่าพลางทางถวายบังคมคัล | ลาไปตำหนักพลันทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงสั่งข้าไท | เร่งผูกมโนมัยที่เคยขี่ |
รับสั่งใช้ให้ออกไปตีคลี | ครั้งนี้หนักอกหนักใจ |
แพ้ชนะอย่างไรก็ไม่รู้ | จะลองสู้ดูสักทีหาหนีไม่ |
เร่งรัดจัดแจงแต่งตัวไว้ | บรรดาเหล่าบ่าวไพร่ให้พร้อมพรัก |
ว่าพลางทางขึ้นบนชาลา | เปิดประตูเข้ามาในตำหนัก |
นั่งแอบแนบนางเมียรัก | ทุกข์นักก้มหน้าไม่พาที |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกธิดามารศรี |
ประหลาดใจนักหนาเห็นสามี | ท่วงทีทุกข์ร้อนถอนฤทัย |
นางจึงถามไถ่เป็นไรหม่อม | จึงหน้ามอมหมองคล้ำดำไหม้ |
หรือบิดากริ้วโกรธทำโทษภัย | จงบอกให้ประจักษ์ที่หนักเบา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยหน้าจ๋อยหงอยเหงา |
ความทุกข์เหลือกำลังนั่งเซา | บอกเล่าเมียมิ่งทุกสิ่งอัน |
บัดนี้พระบิดาบัญชาใช้ | ท่านวางใจว่าพี่นี้ขยัน |
ขืนให้ไปตีคลีพนัน | จะผ่อนผันฉันใดก็สุดคิด |
อันวิชชาเช่นนี้เจ้าพี่เอ๋ย | ไม่ได้ร่ำเรียนเลยแต่สักหนิด |
ขุกเอาเดี๋ยวนี้ดั่งนิมิต | ต้องจนจิตซังตายตะกายไป |
โฉมยงจงไปคอยดูพี่ | อยู่ที่พลับพลาทองผ่องใส |
จะได้ภาวนาช่วยอวยชัย | เหมือนทัพหนุนอุ่นใจไม่สู้กลัว |
ถึงพลั้งพลาดมาดแม้นสติเสีย | เห็นหน้าเมียอยู่มั่งค่อยยังชั่ว |
แต่ลำพังยังไม่ไว้ใจตัว | เจ้าไปเป็นเพื่อนผัวไม่กลัวใคร |
ว่าพลางจรลีเข้าที่สรง | แต่งองค์ทางเครื่องล้วนใหม่ใหม่ |
ส่องกระจกดูเงาเศร้าเสียใจ | จมูกใบหูวิ่นสิ้นงาม |
แล้วลีลามาทรงม้าที่นั่ง | บ่าวไพร่ตามหลังจนออกหลาม |
หกนางนึกประหวั่นครั่นคร้าม | ขี่วอคนหามตามผัวมา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงราชฐานทวารวัง | เขาบอกว่ารับสั่งคอยท่า |
จึงลนลานลงจากหลังม้า | ไปเฝ้าพ่อตาไม่ช้าเลย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ครั้นเห็นหกเขย |
แสนสำราญอารมณ์ชมเชย | ลูกเอ๋ยแต่งตัวเต็มประดา |
เจ้าจะไปตีคลีวันนี้ไซร้ | จงตั้งใจตั้งคอนะพ่อหนา |
อย่าให้อายขายพักตร์พ่อตา | แก้กู้พาราเอาหน้าไว้ |
ว่าพลางย่างเยื้องจรจรัล | มาสรงน้ำที่ขันสาครใหญ่ |
ตักวารีรดหมดเหงื่อไคล | ลูบไล้แป้งกระแจะจันทน์ปรุง |
ใส่เสื้อก้านแย่งแต่งเต็มที่ | ผ้ายกอย่างดีเอาออกนุ่ง |
แล้วหยิบเจียระบาดมาคาดพุง | ทรงเครื่องเรืองรุ่งระยับตา |
สวมสอดกำไลใส่แหวนหัว | เพ่งพิศดูตัวงามนักหนา |
นั่งมองส่องกระจกใส่ชฎา | เจ้ามณฑาดูทีดีหรือเอียง |
ครั้นเสร็จเสด็จทรงคชสาร | ทวยหาญโห่ลั่นสนั่นเสียง |
ซ้ายขวาม้าลูกเขยเป็นคู่เคียง | พร้อมเพรียงไพร่พลมนตรี |
เมียรักร่วมจิตกับธิดา | ขี่วอช่อฟ้าหลังคาสี |
เถ้าแก่กำนัลขันที | ตามเสด็จเทวีมาคึกคัก |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนพลับพลา | ทั้งธิดามเหสีมีศักดิ์ |
ท้าวสามนต์นั่งอิงพิงพนัก | อกใจทึกทักครั่นคร้าม |
ไพร่ฟ้ามาดูตีคลี | คับคั่งทั้งที่ท้องสนาม |
ตำรวจในไล่บุกคุกคาม | ห้ามปรามคนยืนหน้าพลับพลา |
หกเขยขับม้าออกยืนที่ | เห็นไพรีนับแสนแน่นหนา |
ต่างคนคิดพรั่นหวั่นวิญญาณ์ | ชักม้าเกะกะปะทะกัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อมรินทร์ปิ่นภพสรวงสวรรค์ |
เห็นหกเขยมาตีคลีพนัน | ก็ลงจากสุวรรณพลับพลาชัย |
ทรงม้าวลาหกผกโผน | กระทืบโกลนแกล้งขับเข้ามาใกล้ |
ร้องสำทับทั้งหกให้ตกใจ | พวกนี้หรือไรจะสู้เรา |
หน้าตาจมูกหูดูชอบกล | ช่างเหมือนกันทุกคนเจียวหนอเจ้า |
เห็นจะดีทายาดดูลาดเลา | เป็นลูกเต้าเผ่าพงศ์ผู้ใด |
เลือกสรรกันมาล้วนตัวดี | ตีคลีมีฝีมือหรือไฉน |
จงเร่งบอกเราให้เข้าใจ | จึงจะได้สู้กันพนันเมือง |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยหน้าจ๋อยหงอยเงื่อง |
อัปยศอดอายระคายเคือง | ต่างชำเลืองเหลียวมาดูตากัน |
เขยใหญ่ยิ้มแห้งแกล้งแก้หน้า | จึงร้องว่าพ่อเอ๋ยอย่าเย้ยหยัน |
ข้ามิใช่ชายชั่วตัวสำคัญ | แต่ล้วนลูกเขยขวัญท้าวสามนต์ |
เรารับอาสาออกมานี้ | จะตีคลีต่อสู้ดูสักหน |
ไม่ย่อท้อถอยหลังทั้งหกคน | ตามจนจะแก้หน้าพ่อตาไว้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โกสีย์ยิ้มแย้มเฉลยไข |
ลูกเขยเจ้าพาราแล้วว่าไย | ช่างกระไรไม่ชั่วล้วนตัวดี |
เร่งมาตีคลีสู้ดูฝีมือ | ให้ร่ำลือเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
ว่าพลางชักม้าเป็นท่วงที | แล้วเดาะคลีตีไปมิได้ช้า |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยตระหนกตกประหม่า |
เอามือขึ้นช่วยรับแล้วหลับตา | คนฮาโห่สนั่นยิ่งงันงก |
ต่างเข้าตะลุมบอนช้อนคลี | พาชีชุลมุนมุ่นหก |
ทำพยศหันเหียนเวียนวก | พลัดตกลงมาขาแพลง |
บ้างเดาะคลีตีผิดไปเป็นวา | เหลียวดูภรรยาแล้วยิ้มแห้ง |
อาชาพาโผนโดนกำแพง | สิ้นแรงร้องโยคนโห่เกรียว |
ที่ขี่ม้าไม่เป็นเต้นสามขา | ฉุดคร่าสายถือสองมือเหนี่ยว |
คิดกลัวพ่อตาทำหน้าเซียว | มันให้ลนลานเหลียวตละกวาง |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์คอตกตีอกผาง |
ดุเดือดเต็มประดาร้องด่าพลาง | ไอ้คนอะไรช่างไม่มีอาย |
ท่าทางสอนให้ก็ไม่จำ | จะแกล้งทำให้เขาริบฉิบหาย |
ดูเอาเล่าเถิดซินางแม่ยาย | ลูกเขยมันจะขายพ่อตา |
พลางด่าหกธิดาพาโล | ผัวมึงสำแดงโง่ทำงามหน้า |
ยังจะเท้าแขนหยัดดัดกิริยา | จะเป็นข้าเขาไม่ทุกข์สนุกใจ |
ท้าวคิดเคืองขุ่นงุ่นง่าน | ตัวสั่นสะท้านเหงื่อกาฬไหล |
กอดเข่ารำพึงตะลึงตะไล | คราวออดทอดใจใหญ่ไม่พาที |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงองค์อมรินทร์เรืองศรี |
ร้องท้าว่าเหวยเขยคนดี | ทำไมไม่เดาะคลีตีโต้มา |
อย่างไรนั่นกลอกคอทำท้อแท้ | จะยอมแพ้หรือไรให้เร่งว่า |
จะได้ริบเขตขัณฑ์ดังสัญญา | เอาตัวพ่อตาเป็นข้าไท |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยตัวสั่นหวั่นไหว |
เข้าช้อนคลีพัลวันกันไป | พลัดไพล่ไม่ขึ้นมาพ้นดิน |
อาชาตื่นแตกแหกกระแชง | แต่เหนี่ยวเหนี่ยวเรี่ยวแรงก็สุดสิ้น |
เรียกบ่าวงึมงำขอน้ำกิน | ก้มหน้าดูดินไม่เหลียวแล |
โกสีย์ยิ้มเยื้อนแล้วเตือนซ้ำ | ตอบคำอยู่ในคอพูดอ้อแอ้ |
ยกมือขึ้นคำนับรับแพ้ | ตามแต่จะเมตตาปรานี |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองที่ดูอยู่อึงมี่ |
เห็นหกเขยยอมแพ้แก่ไพรี | ไพร่ผู้ดีเสียใจสิ้นทุกคน |
ต่างพูดงุบงิบกระซิบด่า | ลูกเขยพระยาไม่เป็นผล |
มันพอสมน้ำหน้าท้าวสามนต์ | พลอยให้คนฉิบหายทั้งพารา |
บ้างว่าจะร้อนใจไปไยเล่า | ใครเขามีบุญก็เป็นข้า |
เห็นจะต้องริบแน่แต่พระยา | เราเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน |
บ้างตะโกนโพนทะนาท้าวสามนต์ | ช่างเชื่อคนหูแหว่งจมูกวิ่น |
หน่วยก้านเช่นนี้ดีแต่กิน | ต้องเป็นข้าเขาสิ้นสาแก่ใจ |
บ้างพูดจาฮึกฮักพยักพเยิด | ฟ้าผี่เถิดหาว่าเล่นไม่ |
แม้นเราได้ลูกสาวของท้าวไท | จะตีคลีมิให้พ่ายแพ้ |
เหล่าห้ามแหนแสนสาวท้าวนาง | งานกลางหลวงแม่เจ้าเถ้าแก่ |
ผินหน้าปรับทุกข์กันซ้อแซ้ | คงเขาริบเราแน่แล้วครั้งนี้ |
ลางคนบ่นว่าข้านึกเดา | เห็นท่านจะเลี้ยงเราไว้คงที่ |
ราชการข้าหมั่นขยันดี | จะมานั่งปรารี้ปรารมภ์ไย |
หญิงชายแซ่ซ้องทั้งท้องสนาม | บ่นบ้าไปตามอัชฌาสัย |
ต่างติโทษโกรธขึ้งอึงไป | ทั้งผู้ดีเข็ญใจไม่เว้นคน |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอินทร์ขับอาชาม้าต้น |
เข้ามาใกล้แล้วว่าท้าวสามนต์ | เขยทั้งหกคนก็แพ้เรา |
ยังผัวลูกสาวน้อยนั้นอยู่ไหน | จะแก้มือหรือไม่อย่างไรเล่า |
อย่าลงนั่งปรารภซบเซา | ไม่สู้เราแล้วหรือจะได้ริบ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์เสียใจไม่ได้สิบ |
พิไรร่ำโศกาจนตาลิบ | แต่อุบอิบอู้อี้ขยี้ตา |
นั่งก้มหน้านึกตรึกไตร | มันก็ยังแต่ไอ้เงาะป่า |
จะแต่งให้ไปสู้กู้พารา | น้ำหน้าไหนจะตีคลีเป็น |
จะได้ใครดีหนอออกต่อสู้ | สุดรู้ไม่มีที่เหลียวเห็น |
โศกาจนเลือดตากระเด็น | สิ้นสติไม่เป็นสมประดี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณฑามเหสี |
เห็นพระภัสดาสามี | ไม่โต้ตอบไพรีประการใด |
กลัวเขาจะริบเอาพารา | กัลยาอกสั่นหวั่นไหว |
เข้านั่งชิดสะกิดภูวไนย | แล้วกราบทูลไปดังใจปอง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ผ่านเอยผ่านเกล้า | อย่าซบเซาทุกข์ทนหม่นหมอง |
เออช่างสิ้นสติไม่ตริตรอง | จงฟังน้องชั่งจิตคิดดู |
ขอบใจไพรีเขากล่าวถ้อย | ให้แต่งลูกเขยน้อยออกต่อสู้ |
เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ | พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า |
เพื่อนพานถือตัวไม่กลัวใคร | น้ำใจในคอนั้นแกล้วกล้า |
เห็นจะรุ่งเรืองอิทธิ์ฤทธา | จึงหาเนื้อหาปลาได้มากมาย |
แต่ก่อนผ่านเกล้าเฝ้าขึ้งโกรธ | จงไปง้อขอโทษเสียให้หาย |
แม้นเงาะรับผจญเห็นพ้นอาย | ดีร้ายจะได้เวียงชัยคืน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ฟังถ้อยค่อยชื่นมื่น |
จึงระงับดับโศกกล้ำกลืน | ผุดลุกขึ้นยืนแล้วร้องไป |
ดูราข้าศึกจงงดก่อน | ข้าขอผัดผ่อนแก้ตัวใหม่ |
อันผัวลูกสาวน้อยของเราไซร้ | เป็นเงาะป่าบ้าใบ้ทรพล |
แต่ใจคอองอาจทายาดอยู่ | จะลองให้ออกสู้อีกสักหน |
ถ้าเพลี่ยงพล้ำซ้ำแพ้ทั้งเจ็ดคน | มันก็จนแล้วพ่อไม่ขอตัว |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสนัยน์ได้ยินก็ยิ้มหัว |
แกล้งทำร้องว่าให้น่ากลัว | แม้นมิมาแก้ตัวไม่ละลด |
จะริบเอาข้าวของในท้องคลัง | อีกทั้งลูกเมียเสียให้หมด |
วันนี้ขอทุเลาเราจะงด | แล้วอย่าปดกันหนาท้าวสามนต์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ตอบความตามขัดสน |
เราได้ให้ทานบาดคาดบน | เป็นคนมิให้เสียวาจา |
ว่าพลางทางชวนมเหสี | ทั้งกำนัลขันทีถ้วนหน้า |
ลงจากที่ประทับพลับพลา | กลับมานัคเรศนิเวศน์วัง |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงไพชนมนเทียรทอง | เสด็จตรงขึ้นท้องพระโรงหลัง |
ลดองค์ลงนั่งบนบัลลังก์ | นิ่งนั่งครางออดกอดมือ |
จึงดำรัสตรัสเรียกนางมณฑา | แม่เอ๋ยมาใกล้พี่ถึงนี่หรือ |
ความทุกข์จะปรึกษาหารือ | จะทำถือเชิงชั้นฉันนั้นไย |
เจ้าเตือนสติพี่เมื่อกี้นั้น | จริงอยู่หาทันคิดไม่ |
อันเจ้าเงาะลูกเขยของเราไซร้ | เห็นจะกู้เวียงชัยได้ดังคิด |
เจ้าอุตส่าห์แข็งใจออกไปหา | บอกว่าพี่เฒ่านี้รับผิด |
ให้เจ้าเงาะปรานีช่วยชีวิต | มาต่อฤทธิ์ตีคลีแทนบิดา |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณฑาเสนหา |
นิ่งเสียไม่คำนับรับวาจา | นางนั่งนินทาว่าเปรียบเปรย |
จนจริงจะวิ่งไปหาเงาะ | น่าหัวเราะหนักหนาเจ้าข้าเอ๋ย |
สิ้นมานะสะทะแล้วพระเอย | เงาะเงยก็จะให้ไปง้องอน |
ฯ ๔ คำ ฯ
สร้อยสนตัด
๏ ว่าพลางทางยิ้มแย้มหยัน | แล้วลุกจากแท่นสุวรรณบรรจถรณ์ |
พรั่งพร้อมสาวสุรางคนิกร | บทจรไปยังบ้านปลายนา |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงหยุดอยู่แต่ไกล | ร้องเรียกลูกสายใจเสนหา |
เหตุไรไม่ขานพระมารดา | รจนาไปไหนจะใคร่รู้ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รจนาออกไปทำไร่อยู่ |
เจ้าเงาะยืนฟื้นฟันร่องคู | ปลูกถั่วพูฟักแฟงแตงร้าน |
ได้ยินแว่วเสียงชนนี | มาร้องเรียกอยู่ที่ประตูบ้าน |
นางดีใจไปรับมิทันนาน | กราบกับบทมาลย์แล้วโศกา |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ แล้วทูลเชิญเสด็จชนนี | เข้าไปในที่เคหา |
ผลักไหล่ไสหลังเจ้าเงาะมา | ให้กราบกรานมารดาทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะทำเหมือนถวายตัวใหม่ |
เฝ้าแต่แลมาแลไป | ไม่เข้าใจนบนอบหมอบกราน |
นั่งยองยองมองดูแล้วปูผ้า | พนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน |
ราวกับจะรับศีลสมภาร | พังพาบกราบกรานท่านแม่ยาย |
แล้วลุกมาหาครกตำหมาก | ไม่พบสากเจ้ากรรมใครทำหาย |
ล้วงมือค้นได้ในก้นกระทาย | เอาปูนป้ายพลูใส่ลงในครก |
ฉวยมีดผ่าหมากดิบหยิบใส่ | อุตส่าห์ตำตั้งใจมิให้หก |
ทำเหมือนอยู่วัดวาดังทารก | ประเคนครกเข้าไปให้แม่ยาย |
แล้วมาเก็บแฟงฟักผักหญ้า | ใส่กระบุงแบกมาให้เมียถวาย |
รจนาว่าไฮ้เบื่อจะตาย | ช่างไม่อายสาวสรรค์กำนัลใน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
โอ้ปี่
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณฑาจึงปราศรัย |
นิจจาเจ้าจากแม่มาอยู่ไกล | ยากเย็นเข็ญใจถึงเพียงนี้ |
ผิดรูปซูบผอมเป็นหนักหนา | พักตราสร้อยเศร้าสลดศรี |
ต้องเก็บผักหักฟืนเลี้ยงชีวี | น่าปรานีลูกน้อยกลอยใจ |
ว่าพลางลูบหลังแล้วเชยพักตร์ | ครวญคร่ำร่ำรักเพียงตักษัย |
ทั้งฝูงสาวสรรค์กำนัลใน | สงสารทรามวัยก็โศกา |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นสร่างกันแสงจึงแจ้งเหตุ | บัดนี้บิตุเรศละห้อยหา |
แต่เฝ้าเร้ารบมารดา | ให้ออกมาแจ้งความแก่ทรามวัย |
เจ้าก็รู้อยู่แล้วสินะลูก | เขาดูถูกมาล้อมกรุงใหญ่ |
ขันพนันตีคลีเอาเวียงชัย | หมายใจจะริบบุรีเรา |
ท้าวให้ไอ้เขยทั้งหกคน | ออกประจญตีคลีก็แพ้เขา |
พระบิดาทุกข์ร้อนลงนอนเซา | เงียบเหงาไปสิ้นทั้งธานี |
จะผินหน้าพึ่งใครไม่ได้แล้ว | เห็นแต่ลูกแก้วทั้งสองศรี |
เจ้าช่วยวอนว่าแก่สามี | เชิญไปตีคลีอย่าน้อยใจ |
ขอพึ่งใบบุญของเจ้าเงาะ | อนุเคราะห์กู้เมืองไว้ให้ได้ |
เจ้าอย่าเคืองขัดตัดอาลัย | ทำคุณแม่ไว้เถิดลูกน้อย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รจนาฟังเล่าก็เศร้าสร้อย |
สงสารมารดาน้ำตาย้อย | นางพลอยโศกศัลย์พันทวี |
กราบบาทภัสดาแล้วว่าวอน | พระมารดรอุตส่าห์มาถึงนี่ |
พ่อไม่เมตตาปรานี | ช่วยกู้บูรีให้พ้นภัย |
จงถอดเงาะเสียเถิดนะทูนหัว | จะซ่อนเนื้อซ่อนตัวไปถึงไหน |
จนตกไร้ได้ยากลำบากใจ | ช่างกระไรไม่คิดแกล้งบิดเบือน |
พระแม่มาก็ไม่ทักแต่สักคำ | ดีแต่ทำละไลไหลเลื่อน |
ไม่เห็นทุกข์ร้อนเลยช่างเฉยเชือน | ดูเหมือนหนึ่งไม่มีเมตตา |
อันความทุกข์ครั้งนี้แม้นมิช่วย | เห็นเมียจะมอดม้วยสังขาร์ |
ว่าพลางทางทรงโศกา | ปิ้มว่าชีวันจะบรรลัย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ทองย่อน
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะฟังเมียเสียไม่ได้ |
สงสารรจนายาใจ | ร้องไห้วอนว่าน่าเอ็นดู |
แต่คิดแค้นแม่ยายกับพ่อตา | จะทรมาเสียก่อนให้อ่อนหู |
ถ้าแม้นไม่งอนง้อต่อกู | จะทำเชิงเฉยอยู่ให้ช้านาน |
แล้วผินผันหันหลังให้แม่ยาย | หยิบกระบายมาตั้งนั่งสาน |
กระดิกเท้าทีทำเป็นสำราญ | ใครว่าขานอย่างไรไม่นำพา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาถอนใจพิไรว่า |
เจ้าเงาะเอ๋ยนิ่งได้ไม่เมตตา | จะให้เมียมรณาเสียจริงจริง |
อันทุกข์ร้อนครั้งนี้มิใช่เล่น | ช่างไม่เห็นด้วยมั่งมานั่งนิ่ง |
หรือพ่อแค้นบิดาว่าชังชิง | แม่ก็วิงวอนง้อขออภัย |
เจ้ามาตัดอาลัยเยื่อใยเสีย | ทำให้เมียหม่นหมองนั่งร้องไห้ |
จงเห็นแก่แม่เถิดอย่าถือใจ | นางพิรี้พิไรรำพัน |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะสำรวลสรวลสันต์ |
จึงตอบวาจามารดาพลัน | จะรับอาสานั้นสุดปัญญา |
เงาะนี้พวกปีศาจอุบาทว์ร้าย | มากลับกลายสรรเสริญเห็นเกินหน้า |
จะล่อลวงให้หลงอย่าสงกา | ลูกกลัวพระบิดาจะฆ่าแกง |
ท่านคิดแยบยลเป็นกลใน | แต่หลังอย่างไรพระย่อมแจ้ง |
ใช่ลูกจะรังเกียจเสียดแทง | พระมารดาอย่าระแวงฤทัยนึก |
อันท่านทั้งหกเขยย่อมเคยคลี | ต่อตียังแพ้แก่ข้าศึก |
นับประสาหน้าเงาะนี้เห็นลึก | จะพึ่งพาอย่านึกให้ป่วยการ |
แต่ธุระของข้าหาใส่ปาก | แสนยากก็ไม่มีใครสงสาร |
พึ่งเห็นว่าชนนีนี้โปรดปราน | อุตส่าห์มาถึงบ้านข้าขอบใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาชมเปาะเงาะพูดได้ |
น้อยหรือถ้อยคำร่ำพิไร | สำคัญว่าบ้าใบ้ไม่รู้เลย |
สารพัดตัดพ้อพ่อตา | แหลมหลักหนักหนาเจ้าข้าเอ๋ย |
ทั้งกระทบกระเทียบเปรียบเปรย | ไม่ปรานีบ้างเลยหรือเจ้าเงาะ |
ถึงโกรธพ่อก็เห็นกับแม่บ้าง | อย่าให้นั่งน้ำตาลงเผาะเผาะ |
ดูหรูช่างตั้งใจแต่หัวเราะ | ไม่ช่วยอนุเคราะห์แล้วหรือไร |
เสียแรงแม่มาง้อขอโทษแล้ว | ลูกแก้วจะโกรธขึ้งไปถึงไหน |
นางรบเร้าเฝ้าวอนจนอ่อนใจ | จึงผินไปว่ากล่าวลูกสาวตัว |
โฉมยงจงเอ็นดูมารดร | ช่วยอ้อนวอนอีกสักครั้งเถิดทูนหัว |
แม่นี้จนจิตคิดกลัว | จะรอดก็เพราะผัวเจ้าเมตตา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนาเสนหา |
ให้คิดสงสารพระมารดา | ก็โศกาวอนผัวรำพันไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ปี่
๏ โอ้อนิจจาพระสามี | ไม่ปรานีน้องจริงนิ่งเสียได้ |
ควรหรือมาสลัดตัดอาลัย | ช่างกระไรไม่คิดสักนิดเลย |
ทุกข์ของมารดาเหมือนทุกข์ตัว | จะผินหน้าพึ่งผัวก็เชือนเฉย |
ดีแต่ทำเปล่าเปล่าให้เขาเย้ย | อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยมี |
นางชะอ้อนวอนแล้ววอนเล่า | แม้นพ่อเจ้าไม่โปรดเกศี |
น้องจะลาอาสัญเสียวันนี้ | เทวีตีทรวงเข้าร่ำไร |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะทุกข์ร้อนถอนใจใหญ่ |
กลัวเมียจะอาสัญบรรลัย | จึงโลมเล้าเอาใจไปมา |
อย่ากันแสงเศร้าหมองเลยน้องรัก | ไว้พนักงานพี่จะอาสา |
ออกตีคลีพนันดังสัญญา | มิให้เสียพาราประจามิตร |
แล้วผินหน้ามาทูลชนนี | ใช่ลูกนี้จะแกล้งเบือนบิด |
แต่หากค่นจนเป็นพ้นคิด | เครื่องทรงแต่สักนิดก็ไม่มี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาค่อยสบายคลายคลี่ |
จึงว่าแก่เขยขวัญทันที | เครื่องประดับดีดีมีถมไป |
แม่จะให้ไปทูลพระบิดา | จัดแจงแต่งมาประทานให้ |
ว่าพลางนางสั่งสาวใช้ | เร่งไปทูลองค์พระทรงธรรม์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สาวใช้รับสั่งขมีขมัน |
ถวายบังคมลาพากัน | จรจรัลเข้ามาในธานี |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงทูลกิจจา | ว่าพระแม่มณฑามเหสี |
ให้ข้ามาทูลพระภูมี | บัดนี้สมจิตที่คิดไว้ |
พระธิดาว่ากล่าวเจ้าเงาะป่า | จะอาสาออกตีคลีได้ |
ให้จัดเครื่องทรงส่งออกไป | ที่ใหม่ใหม่งามงามอร่ามเรือง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์หัวเราะเงาะทรงเครื่อง |
ชอบแต่นุ่งผ้าค่าบาทเฟื้อง | แหวนทองเหลืองลูกปัดจัดให้มัน |
หน้าตาหัวหูยู่ยี่ | ถ้าใส่เครื่องชาตรีทีจะขัน |
ไม่สมกับเครื่องทองของทั้งนั้น | แต่จะต้องให้มันด้วยจำจน |
ว่าพลางทางมีบัญชาการ | สั่งเจ้าพนักงานเครื่องต้น |
จงไปจัดมงกุฎกุณฑล | สร้อยสนสังวาลบานพับ |
ของกูดีดีมีนักหนา | เก่าแก่แต่บรรดาเครื่องประดับ |
จะเลือกให้ไอ้เงาะสักสำรับ | เร็วเร็วรีบกลับมาฉับไว |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกภูษามาลาบังคมไหว้ |
รีบมายังโรงพระแสงใน | เข้าไปเปิดตู้ดูบาญชี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ จัดแจงเครื่องต้นขนออกมา | มอบหมายตรวจตราถ้วนถี่ |
แล้วเชิญเครื่องตามกันมาทันที | วางถวายภูมีดังบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์เลือกสรรกันนักหนา |
คิดเสียดายเครื่องต้นพ้นปัญญา | จะให้ไอ้เงาะป่าด้วยจำใจ |
จึงจัดเครื่องประดับสำหรับกาย | แต่พอดีพอร้ายซังตายให้ |
พลางสั่งกำชับสาวใช้ | เร่งไปบอกมันเข้ามา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้รับสั่งใส่เกศา |
เชิญเครื่องใส่พานแว่นฟ้า | แบกเดินลอยหน้ามาทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงถวายเครื่องทรง | ทูลองค์มณฑามเหสี |
รับสั่งให้หาผัวพระบุตรี | เข้าไปประเดี๋ยวนี้อย่าช้า |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีดีใจเป็นนักหนา |
จึงว่าเจ้าเงาะของแม่อา | เครื่องประดับประดาเอามาแล้ว |
ธำมรงค์มงกุฎสังวาล | พระบิดาประทานลูกแก้ว |
เชิญเจ้าทรงเถิดให้เพริศแพร้ว | งามแล้วนุ่งห่มพอสมตัว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะครั้นเห็นก็สั่นหัว |
ติว่าเครื่องทรงมัวซัว | เต็มชั่วนักหนาข้าไม่เอา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมารดาว่าไม่ชอบใจเจ้า |
ยังมีตรึกมีถองของเรา | จะเลือกเอาให้งามตามฤทัย |
ว่าพลางทางสั่งสาวศรี | กลับไปธานีเดี๋ยวนี้ใหม่ |
ทูลว่าเจ้าเงาะไม่ชอบใจ | เร่งให้จัดเครื่องอื่นมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้บังคมก้มเกศา |
รับพระเสาวนีย์มิได้ช้า | เดินด่วนเข้ามายังวังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงทูลพระภูมี | เครื่องทรงเมื่อตะกี้เอาไปให้ |
เจ้าเงาะเลือกเสียไม่ชอบใจ | มิได้เครื่องใหม่ไม่เข้ามา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ฟังชังน้ำหน้า |
อ้ายเงาะถ่อยร้อยอย่างช่างมารยา | กูว่าไม่ผิดปากจะยากเย็น |
นี่แม่ยายแล้วสิริให้ | เมื่อมันไม่เคยพบเคยเห็น |
น้ำหน้าจะสอดใส่ที่ไหนเป็น | ทำเล่นเครื่องต้นเลือกคนรู้ |
แล้วจัดเครื่องทรงอย่างเอก | แต่ครั้งอภิเษกพระเจ้าปู่ |
คิดเสียดายนักของรักกู | จนอยู่จำใจต้องให้มัน |
ว่าพลางทางร้องเรียกไป | เหวยเสนาในใครอยู่นั่น |
จงเตรียมพลผูกช้างฉับพลัน | กูจะจรจรัลไปปลายนา |
พระมิได้สรงน้ำสว่ำเสวย | มาขึ้นเกยหยุดยืนคอยท่า |
พร้อมเสร็จเสด็จทรงคชา | เสนาแห่แหนแน่นไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงหยุดช้างทรง | อยู่ตรงกระท่อมที่ริมไร่ |
แล้วร้องเรียกรจนายาใจ | เป็นไรไม่มารับบิดา |
พ่อออกมางอนง้อขอโทษ | สิ้นขึ้งสิ้นโกรธเจ้าเงาะป่า |
เครื่องทรงสารพัดจัดแจงมา | ทีนี้งามนักหนามารับเอา |
นางแม่ยายแม่ย่อยก็พลอยเฉย | ไม่ตักเตือนลูกเขยเร็วเร็วเข้า |
รจนาก็ไม่เร่งรบเร้า | จะให้เขาริบข้าหรือว่าไร |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนานารีศรีใส |
แว่วเสียงบิตุรงค์ร้องเรียกไป | จำได้ไคลคลาออกมารับ |
ครั้นถึงจึงบังคมก้มเกล้า | รับเอาข้าวของเครื่องประดับ |
ทั้งมงกุฎสังวาลบานพับ | แล้วกลับเข้าไปให้เจ้าเงาะ |
สวมตัวผัวแก้วแล้วว่าขาน | พระบิดาประทานทีนี้เหมาะ |
งามนักงามหนาอย่าหัวเราะ | เชิญถอดรูปเงาะเถิดพ่อคุณ |
ท่านเสด็จมาเองด้วยเกรงใจ | ช้าไปก็เครื่องจะเคืองขุ่น |
ช่วยกู้เวียงชัยไว้เอาบุญ | พ่อเนื้อนพคุณจงเมตตา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะนั่งนิ่งพิงฝา |
พิศดูเครื่องใหม่ที่ให้มา | แล้วมีวาจาว่าไป |
เหมือนกันนั้นและกับเครื่องเก่า | จะแต่งตัวผัวเจ้าหาควรไม่ |
ขายหน้าข้าศึกจะไยไพ | คืนไปเสียเจ้าอย่าเอามา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จึงองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
แจ้งใจในทิพวิญญาณ์ | จะนิ่งดูอยู่ท่าเห็นช้าที |
จึงตรัสสั่งพระวิษณุกรรม์ | จงจัดสรรเครื่องทรงเรืองศรี |
เอาไปให้พระสังข์ครั้งนี้ | จะได้ใส่ตีคลีอวดพ่อตา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์แกล้วกล้า |
คำนับรับเทวบัญชา | แล้วพาเครื่องประดับไปฉับไว |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงกระท่อมน้อยเจ้าหอยสังข์ | กำบังกายาเข้ามาใกล้ |
เอาเครื่องทรงขององค์สหัสนัยน์ | วางลงส่งให้กับเจ้าเงาะ |
แล้วว่าเครื่องประดับสำรับนี้ | สำหรับใส่ทรงตีคลีเดาะ |
มัฆวานประทานจำเพาะ | ว่าพลางทางเหาะกลับมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ลมพัดชายเขา
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะเกษมสันต์หรรษา |
ได้เครื่องพระอินทร์ดังจินดา | จึงเดินเข้ามายังห้องใน |
รจนายกพานเครื่องทรง | ตามมาคอยส่งให้สอดใส่ |
พระถอดรูปเงาะพลันทันใด | มอบให้รจนานงเยาว์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ลงสรงมอญ
๏ แล้วขัดสีฉวีวรรณผุดผ่อง | ดังทองชมพูนุทเนื้อเก้า |
สุคนธาประทิ่นกลิ่นเกลา | สนับเพลาเชิงงอนซ้อนซับ |
ภูษาผ้าทิพย์กระสันทรง | จีบโจงหางหงส์ประจงจับ |
ปั้นเหน่งเพชรพรรณรายสายบานพับ | เฟื่องห้อยพลอยประดับทับทรวง |
ทองกรแก้วพุกามงามเงา | ทับทิมเท่าเม็ดข้าวโพดโชติช่วง |
สร้อยสนสังวาลวรรณกุดั่นดวง | รุ้งร่วงธำมรงค์เรือนครุฑ |
กรรเจียกจอนจำหลักลายซ้ายขวา | บรรจงทรงมหามงกุฎ |
ห้อยอุบะนฤมิตผิดมนุษย์ | งามดังเทพบุตรในชั้นฟ้า |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เสร็จทรงเครื่องประดับฉับพลัน | พระสังข์เกษมสันต์หรรษา |
จึงชวนนวลนางรจนา | มากราบกรานมารดาด้วยใจภักดิ์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาแลดูไม่รู้จัก |
คิดว่าเทวาสุรารักษ์ | อกใจทึกทักให้ครั่นคร้าม |
นางนบนอบหมอบกรานกราบไหว้ | ลูกสาวยุดฉุดไว้แล้วร้องห้าม |
พระมารดานิ่งอยู่ไม่รู้ความ | ลูกเขยถอดเงาะงามแล้วเป็นไร |
นางมณฑาว่าอ่อกระนั้นหรือ | แม่คนซื่อสำคัญว่ามิใช่ |
ลูกเขยข้าถอดเงาะเหมาะเหลือใจ | นางลูบไหล่ลูบหลังนั่งมอง |
น้อยหรือน่ารักเป็นนักหนา | หน้าตาจิ้มลิ้มยิ้มย่อง |
สอดใส่เครื่องประดับก็รับรอง | ผิวพรรณผุดผ่องดังทองทา |
คิดคิดขึ้นมาน่าหัวเราะ | เอารูปเงาะสวมใส่ทำใบ้บ้า |
อัปยศอดอายขายหน้าตา | เจ้าแกล้งแปลงมาแม่ไม่รู้ |
รจนายาจิตช่างคิดถูก | หมายมั่นพันผูกก็ควรอยู่ |
ทีนี้และลอยแก้วแล้วลูกกู | โฉมตรูแย้มยิ้มกระหยิ่มใจ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ แล้วร้องเรียกภัสดาสามี | เร็วเร็วมานี่จะบอกให้ |
รวยแล้วทูนหัวอย่ากลัวใคร | เห็นจะกู้เมืองได้ดังใจปอง |
อย่าดูถูกลูกเขยคนนี้ | ทั้งในธานีไม่มีสอง |
ผิวเนื้อเรื่อเหลืองเรืองรอง | เปล่งปลั่งดังทองนพคุณ |
งามเลิศเหลือมนุษย์สุดแล้วพ่อ | ปากคอคิ้วตาเหมือนหน้าหุ่น |
ถ้าใครได้เห็นก็เป็นบุญ | ไม่เชื่อเชิญพ่อคุณเข้ามาดู |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์หัวเราะเยาะยิ้มอยู่ |
เออราวกับใครเขาไม่รู้ | รำคาญหูจู้จี้ไปทีเดียว |
ขืนจะให้ไปดูลูกเขยเงาะ | มันสิเหมาะหนักหนาเหมือนม่าเหมี่ยว |
อย่าอวดโอ้โป้ปดลดเลี้ยว | พระอินทร์มาเขียวเขียวไม่เชื่อเลย |
แล้วตรัสกับเสนานินทาเมีย | ตะแก่เสียจริตผิดแล้วเหวย |
รูปทองที่ไหนเล่าเฝ้าชมเชย | เงาะเงยน่าเกลียดขี้เกียจไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาว่าดู๋ดื้อไปได้ |
เขาจะริบฉิบหายทั้งเวียงชัย | น่าชังช่างกะไรไม่เชื่อเลย |
กลับมาหัวเราะเยาะเย้ยข้า | จะว่าใครเป็นบ้านิจจาเอ๋ย |
ไม่ลวงหลอกดอกนะพระเอย | ลูกเขยเราไซร้มิใช่เงาะ |
ฟ้าผี่เถิดหนาไม่ว่าเล่น | ท้าวเห็นกลัวแต่จะชมเปาะ |
จริงจริงนะขาอย่าหัวเราะ | แม้นไม่เหมาะตีเมียเสียให้ตาย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์สรวลสันต์ไม่ผันผาย |
เห็นนางมณฑาว่าวุ่นวาย | จึงซังตายดำเนินเดินมา |
เข้าไปในทับเห็นลูกเขย | พ่อเจ้าลูกเอ๋ยงามนักหนา |
น้อยหรือรูปร่างเหมือนเทวดา | หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา |
ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองประหลาด | ดังทองคำธรรมชาติหล่อเหลา |
ฟ้าผี่เถิดเอ๋ยลูกเขยเรา | งามจริงแล้วเจ้านางมณฑา |
ถึงตัวพี่เมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น | รูปร่างก็อ้อนแอ้นโอ้อ่า |
ไม่แกล้งอวดทรวดทรงหน้าตา | ใส่ชฎาเครื่องประดับก็รับรอง |
แต่ไม่เหมาะเหมือนลูกเขยคนนี้ | เป็นต่อพี่อยู่ราวสักสามสอง |
แพ้เขาที่เนื้อไม่เป็นทอง | กระนั้นน้องยังรักว่ารูปงาม |
ตรัสพลางแย้มยิ้มพริ้มพราย | แล้วภิปรายปราศรัยไต่ถาม |
ลูกรักจงแถลงแจ้งความ | เจ้านี้มีนามกรใด |
วงศ์วานว่านเครือเนื้อหน่อ | พงศ์เผ่าเหล่ากอเป็นไฉน |
อยู่ประเทศธานีบุรีไร | ทำไมจึงแกล้งแปลงปลอมมา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมก้มหน้า |
ยิ้มพลางทางทูลพ่อตา | ตัวข้านี้ชื่อพระสังข์ทอง |
เป็นโอรสท้าวยศวิมล | แจ้งตามความต้นที่หม่นหมอง |
ซึ่งแปลงมาจะหาคู่ครอง | จงทราบฝ่าละอองบทมาลย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ตบพระหัตถ์ฉัดฉาน |
ลูกเขยกูผู้ดีสันดาน | เป็นเผ่าพงศ์วงศ์วานกษัตรา |
สมยศสมศักดิ์น่ารักใคร่ | ทีนี้ไม่อับอายขายหน้า |
พระลูบหลังลูบไหล่ไปมา | จูบซ้ายจูบขวาลูกข้างาม |
อ้ายหกเขยยุพ่อให้ขับเจ้า | แค้นใจยายเฒ่าก็ไม่ห้าม |
บิดาโฉดเฉาเบาความ | ไม่รู้เลยว่างามถึงเพียงนี้ |
อย่าถือโทษโกรธพ่อเลยหนอลูก | ว่าลบหลู่ดูถูกขับหนี |
แม้นเจ้ามีชัยชนะคลี | พ่อจะมอบบุรีให้ครอบครอง |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมทูลสนอง |
ข้าจะขออาสาฝ่าละออง | อย่าร้อนเร่าเศร้าหมองฤทัย |
ซึ่งข้าศึกมาขันพนันคลี | ลูกจะตีต้านต่อก็พอได้ |
แต่จะขอมิ่งม้าอาชาไนย | ที่สูงใหญ่เคล่าคล่องทำนองคลี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
จึงว่าอย่าร้อนใจไปไยมี | ม้าเราดีดีมีถมไป |
ว่าพลางทางสั่งกรมม้า | จงไปผูกอาชามาให้ |
บรรดาม้าต้นที่โรงใน | มีอยู่เท่าไรเร่งเอามา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนีตัวนายซ้ายขวา |
คำนับรับพระราชบัญชา | บังคมลาแล่นไปดังใจปอง |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงผูกพาชี | ล้วนตัวดีฝีเท้าเคล่าคล่อง |
เบาะอานพานหน้าเครื่องทอง | เจ้าของคนเลี้ยงเคียงมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงจูงม้าที่นั่ง | เข้าไปยังหน้าฉานขนานหน้า |
เหล่าพวกขุนนางข้างกรมม้า | หมอบคอยบัญชาพระภูมี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์เลือกม้าไม่น่าขี่ |
จึงทูลท้าวพ่อตาไปทันที | ม้าที่นั่งทั้งนี้ไม่ชอบใจ |
ข้าเห็นพาชีสีกะเลียว | มาเที่ยวกินถั่วริมรั้วไร่ |
ท่วงทีขี่ขับจะว่องไว | ขอพระองค์จงให้ไปจับมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ได้ฟังพระสังข์ว่า |
จึงดำรัสตรัสสั่งเสนา | จงไปจับม้ามาให้ลูกกู |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีสี่เหล่าที่เฝ้าอยู่ |
รับสั่งแล้วชิงกันวิ่งพรู | มาดูเห็นม้าก็ยินดี |
จึงแยกย้ายรายกันเข้าล้อม | วิ่งอ้อมเอาเชือกขึงอึงมี่ |
ไล่สกัดทางโน้นทางนี้ | พาชีหนีหลบว่องไว |
ลางคนเข้ามาเอาหญ้าล่อ | ฉวยผมหน้าคว้าคอไว้ได้ |
ม้าชกหกล้มคะมำไป | เลี้ยวไล่ดีดกัดกระจัดกระจาย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เทวัญบันดาลให้เสนา | จับม้ามาได้ดังใจหมาย |
จึงผูกเครื่องสุวรรณพรรณราย | แล้วจูงมาถวายทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
สมคิดได้ม้าพาชี | ยินดีเดินออกนอกประตู |
พระจึงชวนนวลนางรจนา | ออกจากเคหาที่อยู่ |
ท้าวสามนต์ร้องว่าหลีกลูกกู | ฉวยไม้ไล่ขู่ขับผู้คน |
ลูกเขยขึ้นขี่อาชา | พ่อตาก็วางขึ้นช้างต้น |
ทั้งสองโฉมศรีนฤมล | ทรงวอจรดลตามมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
เห็นพระรูปทองล่องลอยฟ้า | ต่างว่าภูวไนยมิใช่เงาะ |
เกิดมาพึ่งเห็นเป็นบุญตัว | หม่อมผัวพระบุตรีคนนี้เหมาะ |
เทวดาพานำมาจำเพาะ | บังคมชมเปาะไปทั้งนั้น |
ต่างอำนวยอวยพรพระสังข์ทอง | หนุ่มแก่แซ่ซ้องทั้งเขตขัณฑ์ |
มาตามดูภูมีนี่นัน | เบียดกันกลางถนนแน่นไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสามนต์เป็นใหญ่ |
ครั้นช้างที่นั่งถึงวังใน | ตรงไปประทับกับเกยพลัน |
เสด็จลงจากคอคชสาร | ภูบาลตรัสชวนเขยขวัญ |
ทั้งพระมเหสีบุตรีนั้น | จรจรัลขึ้นสู่ปราสาทชัย |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายเจ้าหกเขยใหญ่ |
ปรับทุกข์กับเมียเสียน้ำใจ | จะทำให้ไอ้เงาะขึ้นหน้าตา |
ถ้อยทีเดือดดาลทะยานจิต | ต่างคนแค้นคิดริษยา |
ผัวเมียพากันรันขึ้นมา | เฝ้าพระบิดาทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงช้า
๏ ครั้นถึงจึงบังคมเคารพ | นอบนบสองกษัตริย์เป็นใหญ่ |
เห็นพระสังข์ทองยองใย | จำได้แน่จิตสะกิดกัน |
อ้ายรูปทองคนนี้เจียวสิหว่า | ที่ทำเป็นเจ้าป่าพนาสัณฑ์ |
หาปลาหาเนื้อเมื่อคราวนั้น | ต้องไปง้อขอมันไม่ทันรู้ |
มันเป็นผัวรจนาอิจฉาเรา | จึงเล่นเอาจมูกกับใบหู |
ต่างก้มคลำแผลไม่แลดู | อัปยศอดสูเสียน้ำใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกบุตรีพี่ผู้ใหญ่ |
เห็นพระสังข์นั่งดูตะลึงตะไล | พิศวงหลงใหลใจปอง |
งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า | น้อยหรือน่าร่วมรมย์สมสอง |
สอดใส่เครื่องประดับก็รับรอง | ผิวเนื้อนวลละอองดังทองทา |
ดูพลางทางทำสะเทินอาย | ชักชายผ้าห่มก้มหน้า |
เมียงชม้อยคอยรับนัยนา | เสนหาต้องจิตติดใจ |
แล้วเหลียวดูผัวของตัวมั่ง | เห็นนั่งทุกข์ร้อนก็ค้อนให้ |
รู้กระนี้ทีทิ้งพวงมาลัย | จะเลือกเจ้าเงาะไว้เป็นของตัว |
ต่างคิดริษยาน้องสาว | มานั่งเท้าแขนเคียงอยู่กับผัว |
เริงร่าหน้าบานเป็นใบบัว | ลืมกลัวบิดาร้องว่าไป |
เมียเจ้ารูปทองสิบสองหนัก | ยศศักดิ์ปึ่งชาหาน้อยไม่ |
พี่น้องพร้อมพรั่งชั่งกะไร | แต่จะยกมือไหว้ก็ไม่มี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาได้ฟังทั้งหกพี่ |
หัวเราะเยาะหยันขึ้นทันที | เออนี่อะไรช่างไม่อาย |
ออกมานั่งตั้งกระทู้ขู่ข่ม | เจ้าคารี้สีคารมใจหาย |
เมื่อแรกได้ผัวเงาะเยาะวุ่นวาย | ทั้งตัดเป็นตัดตายจะตบตี |
ประเดี๋ยวนี้จะกลับมานับถือ | นี่ลืมไปแล้วหรือนะหม่อมพี่ |
เป็นผู้ใหญ่อะไรอย่างนี้ | ข้ามิอยากไหว้ให้เสียมือ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกนางต่างว่าน้อยไปหรือ |
ปากคอพ้อตัดได้หัดปรือ | ยกรื้อความหลังขึ้นพูดจา |
อุแม่เอ๋ยหม่อมเมียเจ้ารูปทอง | จองหองไม่น้อยออกลอยหน้า |
จะรวยรุ่งพลุ่งโพลงโด่งฟ้า | ยิ่งกว่ากรวดลาวแล้วคราวนี้ |
เหตุว่าพระบิดาออกไปรับ | จึงได้กลับมาเถียงเสียงมี่ |
ฝากไว้ก่อนเถิดเป็นไรมี | ใครดีนานไปได้เห็นกัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาเถียงทะเลาะเยาะหยัน |
ช่างแคะไค้ค่อนว่าสารพัน | ฝากไว้กี่วันจะเอาไป |
อย่าอื้ออึงมึงมันกระนั้นนะ | ไม่ลดละกันดอกจะบอกให้ |
ผัวพี่รอดตัวเพราะผัวใคร | เห็นเขาไม่ว่าไรแล้วได้ที |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกนางร้อนใจดังไฟจี้ |
จึงว่าเห็นผัวกูชั่วดี | อย่างไรนี่ว่าไปให้จริงจัง |
อย่าสบประมาทกันกระนั้นเจ้า | นี่เปล่าเปล่าเตือนค้อนใส่สันหลัง |
เร่งว่าออกไปจะได้ฟัง | ใครอำปลังยั้งไว้มิใช่คน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยคิดพรั่นอั้นอ้น |
กลัวจะเกิดความใหญ่เห็นไม่พ้น | ต่างคนห้ามเมียเสียทันใด |
วานอย่าว่าวุ่นวายอายเขา | อะไรเจ้าไม่อดสูเป็นผู้ใหญ่ |
ขายหูเสียมั่งชั่งเป็นไร | จะทำให้เคืองจิตพระบิดา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกนางต่างคนบ่นว่า |
เถียงทะเลาะผัวไปมิได้ช้า | มันว่าฟังเพราะเหมาะหรือไร |
เจ้าช่างอดโมโหไม่โต้ตอบ | หรือทำผิดคิดมิชอบเป็นไฉน |
จะมานิ่งเกรงกลัวหัวมันไย | แล้วผินหน้าว่าไปแก่รจนา |
ผัวกูผิดอะไรไม่ว่าออก | พูดหลอกกันเล่นหรือสิหวา |
สดสดร้อนร้อนไม่เจรจา | แม้นว่าออกมิได้ขัดใจกัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาหัวเราะเยาะเย้ยหยัน |
จึงว่าพี่นี่แน่อย่าดุดัน | ผัวเมียถามกันก่อนเป็นไร |
เมื่อคราวไปหาเนื้อหาปลา | ผัวหาได้เองหรือใครให้ |
จะใคร่แจ้งประจักษ์จงซักไซ้ | จมูกหูอยู่ไหนไม่ถามกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกนางต่างคนหุนหัน |
ผินหน้าว่าผัวของตัวพลัน | ได้ยินมันหรือไม่เจ้าใจเย็น |
ไหนว่าจมูกเจ้าปากเป้ากัด | ผีตัดใบหูมีผู้เห็น |
ช่างเงียบเสียงเถียงเขาก็ไม่เป็น | ให้มันมาว่าเล่นเป็นอย่างไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยเงยหน้ามิใคร่ได้ |
อุบอิบกระซิบตอบเมียไป | เขาว่าไรก็ชั่งมั่งเถิดนา |
ทำไมกับหูแหว่งจมูกวิ่น | ถึงจะด้วนเสียสิ้นก็ของข้า |
เถียงกันเปล่าเปล่าไม่เข้ายา | บุราณว่าอดใจได้เป็นพระ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ผุดลุกขึ้นเกะกะ |
กูได้ยินแว่วแว่วอยู่แล้ววะ | มันต่อจะชอบกลเจ้ามณฑา |
จึงซักถามรจนายาใจ | รู้เห็นเป็นอย่างไรให้เร่งว่า |
เมื่อพ่อใช้ไปหาเนื้อปลา | มันไปขอใครมาจงว่าไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ |
สรวลพลางทางทูลเป็นนัย | จะว่าไปก็ดูไม่สู้ดี |
เขาจะลืออื้ออึงเอิกเกริก | เหมือนหนึ่งแกล้งลำเลิกผัวพี่ |
แต่มันน่าอดสูพระภูมี | เดิมทีเที่ยวหาเนื้อปลา |
ทั้งหกเขยใหญ่ไปกราบกราน | งอนง้อขอทานผัวข้า |
เสียของต้องใจจึงได้มา | จงทราบบาทาท้าวไท |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์สรวลสันต์ไม่กลั้นได้ |
ตบมืออื้งอึงคะนึงไป | นางมณฑาชอบใจหัวร่องอ |
จึงถามพระสังข์สอบเห็นชอบกล | เหตุผลเป็นกระไรไฉนหนอ |
จงแจ้งตามจริงจังอย่ารั้งรอ | เล่าไปเถิดพ่อจะขอฟัง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทูลตามความหลัง |
หกเขยไปหาข้าสองครั้ง | สิ้นทั้งบ่าวไพร่ก็ได้รู้ |
เมื่อขอปลาข้าตัดจมูกไว้ | เมื่อขอเนื้อก็ให้ใบหู |
พระองค์จงถามทั้งหกดู | เท็จจริงย่อมรู้อยู่เต็มใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ร้องเหวยหกเขยใหญ่ |
มานั่งก้มหน้าอยู่ว่าไร | มึงตั้งใจเลี้ยวลดปดกู |
จมูกแหว่งแกล้งว่าปากเป้ากัด | ผีโขมดโกรธตัดเอาใบหู |
กูหลงเชื่อเมื่อแรกก็ไม่รู้ | ต่อลูกกูบอกเล่าจึงเข้าใจ |
ไปหาเนื้อหาปลามาแต่หลัง | มึงไปขอพระสังข์จริงหรือไม่ |
อย่าสับปลับรับเสียก็แล้วไป | กูจะไว้ชีวาไม่ฆ่าตี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกเขยสุดรู้ทำอู้อี้ |
กระอักกระไอมิใคร่จะพาที | มือขยี้หูตาประหม่าใจ |
พ่อตากริ้วกราดตวาดซ้ำ | ยิ่งละล่ำละลักหลงใหล |
เพ็ดทูลเลอะเลื่อนเปื้อนไป | ไม่ได้ความจริงสักสิ่งอัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์เคืองขุ่นหุนหัน |
ผินหน้ามาว่ากับเมียพลัน | มันจริงสิ้นทั้งนั้นเจ้ามณฑา |
อ้ายเหล่านี้ดีแต่จะปดโป้ | ไม่เป็นโล้เป็นพายขายหน้า |
จะฆ่าเสียก็สมเพชเวทนา | เอาไว้ให้เป็นข้าพระสังข์ทอง |
ลูกเขยเราคนนี้ดีเลิศแล้ว | ดังดวงแก้วบริสุทธิ์ผุดผ่อง |
จะยกบ้านเมืองมอบให้ครอบครอง | ปกป้องไพร่ฟ้าเสนาใน |
อันข้าศึกซึ่งขันพนันคลี | จะต่อตีสู้กันหาพรั่นไม่ |
วันนี้จวนค่ำย่ำฆ้องชัย | หลับนอนเสียให้เต็มตา |
ว่าพลางขับเขยทั้งหกคน | ไสหัวไปให้พ้นชังน้ำหน้า |
ชวนพระสังข์กับนางรจนา | เข้าที่ไสยาผาสุกใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นรุ่งสุริยาการ้อง | ท้าวสามนต์ตรึกตรองไม่หลับใหล |
จึงชวนพระสังข์ทองยองใย | กับเมียรักร่วมใจและธิดา |
สี่กษัตริย์สระสรงทรงเครื่อง | รุ่งเรืองระยับจับเวหา |
แล้วเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ตรงมาเกยสุวรรณทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ขึ้นทรงคอคชสารศรี | พ่วงพีหกศอกสูงใหญ่ |
พระสังข์ทรงมิ่งม้าอาชาไนย | สององค์อรทัยขึ้นวอทอง |
เกณฑ์แห่เกณฑ์แหนแน่นหนา | ธงทวนนำหน้าเป็นแถวถ้อง |
แซ่เสียงแตรสังข์ฆ้องกลอง | ออกไปยังท้องสนามคลี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงชวนพระสังข์ | ขึ้นยังพลับพลาหลังคาสี |
พร้อมทั้งหกเขยและบุตรี | เสนีเฝ้าแหนแน่นนัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อมรินทร์ปิ่นภพสรวงสวรรค์ |
ทอดพระเนตรเห็นท้าวสามนต์นั้น | พาลูกเขยขวัญออกมา |
จึงตรัสบอกเทวัญจันทรี | ทีนี้สมดังปรารถนา |
จำจะทำให้ไอ้เฒ่าพ่อตา | เห็นฤทธาพระสังข์ครั้งนี้ |
ว่าแล้วแต่งองค์ทรงเครื่อง | รุ่งเรืองจำรัสรัศมี |
ทรงเทพอาชาพาชี | กรกุมคันคลีแกว่งไกว |
เทพบุตรครุฑาคนธรรพ | แห่แหนแน่นนับอสงไขย |
คลายคลี่รี้พลสกลไกร | ตรงไปยังท้องสนามคลี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงหยุดโยธา | อยู่ตรงพลับพลาหลังคาสี |
แล้วร้องเตือนไปพลันทันที | ว่าเหวยภูมีท้าวสามนต์ |
จะให้ใครไหนเล่ามาต่อสู้ | หรือสุดรู้สิ้นคิดขัดสน |
จะได้ริบเวียงชัยเอาไพร่พล | เมียมีกี่คนจงบอกมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ได้ฟังยังประหม่า |
ให้นึกพรั่นหวั่นหวาดวิญญาณ์ | ด้วยว่าหกเขยนั้นเคยแพ้ |
จึงถามพระสังข์นั่งซักไซ้ | เห็นว่าจะสู้ได้เป็นแน่ |
ค่อยคลายหายอุธัจท้อแท้ | ลุกขึ้นยืนยิ้มแต้แลไป |
เห็นไพรีขี่ม้าป้องหน้าดู | แล้วร้องว่ามาสู้กันใหม่ |
ลูกเขยน้อยเรานี้ดีสุดใจ | ไม่เหมือนไอ้เขยเคอะเซอะซะ |
การคลีมีฝีมือลือเลิศ | ฟ้าผี่เถิดท่านแพ้แน่แล้วหนะ |
วันนี้ไม่มีลายหมายชนะ | อย่าเยาะเย้ยเลยคะไม่ย่อท้อ |
ว่าพลางทางปลอบลูกเขย | ลูกเอ๋ยอย่าให้อายขายหน้าพ่อ |
คอยระวังตั้งใจตั้งคอ | แข็งข้อต่อสู้ดูสักที |
แล้วบนบานศาลกล่าวเจ้านาย | จะถวายหัวหมูกับบายศรี |
มาดแม้นมีชัยชนะคลี | จะให้มีอิเหนาสักเก้าวัน |
เล่นการมหรสพครบสิ่ง | จะเวียนเทียนทำมิ่งสิ่งขวัญ |
นวลนางมณฑามารดานั้น | ชวนกันอวยชัยให้ลูกรัก |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์สุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
รับพรพ่อตาสามิภักดิ์ | เหลียวดูเมียรักแล้วยิ้มพราย |
จึงบังคมลาบิตุรงค์ | มาทรงอาชาเฉิดฉาย |
กรกุมคันคลีกรีดกราย | ชักม้าเรียงร่ายรำมา |
ชายหญิงแซ่ซ้องร้องชม | งามสมยศศักดิ์นักหนา |
งามทั้งท่วงทีขี่อาชา | ดังพระยาสีหราชอาจอง |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โกสีย์มีศักดิ์สูงส่ง |
ชื่นชมสมคิดดังจิตจง | พลางทรงสินธพกระทืบโกลน |
สะบัดย่างวางใหญ่ไวว่อง | ม้าต้นรนร้องลำพองโผน |
ชักบังเหียนหันหกผกเผ่นโจน | พลางโยนลูกคลีตีไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์คอยขยับรับไว้ได้ |
เดาะคลีตีตอบไปทันใด | สหัสนัยน์กลอกกลับรับรอง |
ต่างแกว่งคันคลีเป็นทีท่า | ขับม้ามีฝีเท้าเคล่าคล่อง |
เวียนวนวกวิ่งชิงคลอง | เปลี่ยนทำนองเข้าออกหลอกล้อ |
ฯ ๔ คำ ฯ พระยาเดิน
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ร้องรับให้ดีพ่อ |
ตบมืออือเออชะเง้อคอ | เห็นลูกเขยเป็นต่อหัวร่อคัก |
ลุกขึ้นโลดเต้นเขม้นมุ่ง | พลัดผลุงลงมาขาแทบหัก |
มึนเมื่อยเหนื่อยบอบหอบฮัก | พิงพนักนั่งโยกตะโพกเพลีย |
ฉวยคนโทถมยามาดื่มน้ำ | หกคว่ำสำลักแล้วบ้วนเสีย |
หยิบบุหรี่จุดไฟไหม้ลามเลีย | วัดถูกจมูกเมียไม่รู้ตัว |
สาละวนตึงตังกำลังวุ่น | แม่คุณขอโทษอย่าโกรธผัว |
พี่ก็พานแก่ชราหูตามัว | ไม่เห็นตัวว่าใครข้างไหนเลย |
ว่าพลางทางเรียกเอาแว่นตา | ใส่จมูกแหงนหน้าดูลูกเขย |
ลุกขึ้นมองร้องเออชะเง้อเงย | ยายเอ๋ยอย่าปรารมภ์เป็นรองเรา |
แล้วผินมาด่าหกเขยใหญ่ | เอออะไรกินข้าวสุกเสียเปล่าเปล่า |
สำคัญคิดว่าดีอ้ายขี้เค้า | ออกตีคลีแพ้เขาประเดี๋ยวใจ |
ดูเถิดซี้นี่แน่ลูกเขยกู | มาช่วยกู้แก้หน้าพ่อตาได้ |
ไม่เหมือนมึงโง่งมก้มอยู่ไย | ขัดใจจะใคร่ถองสักสองตึง |
นางเมียเล่าปากคอก็พอสม | เจ้าคารมสิ้นทีไม่มีถึง |
พระกริ้วโกรธาด่าอึง | ผัวมึงอัปรีย์อ้ายขี้แพ้ |
แล้วเรียกรจนาเข้ามานี่ | พ่อนี้ไม่เห็นหนเป็นคนแก่ |
ตาเจ้าสาวอยู่ช่วยดูแล | ข้างไหนแน่สามีจงชี้ตัว |
เสียงคนมี่ก้องร้องเออ | นางมณฑาชะเง้อง้ำผัว |
แพ้ลูกเขยข้าแล้วอย่ากลัว | ครั้งนี้รอดตัวไม่เสียเมือง |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อมรินทร์ปิ่นฟ้าฟุ้งเฟื่อง |
ควบม้ามุ่งหมายชายชำเลือง | ยักเยื้องย่างท่าสง่างาม |
ทรงเลี้ยงลูกคลีตีเดาะ | พระอินทร์เหาะขึ้นจากท้องสนาม |
พระสังข์ไม่พรั่นครั่นคร้าม | เหาะตามติดพันกระชั้นชิด |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ บัดนั้น | ประชาชนคนดูอักนิษฐ์ |
เห็นเหาะทั้งสองข้างต่างมีฤทธิ์ | ให้คิดพิศวงงงงวย |
บ้างแหงนหน้าอ้าปากตะลึงตะไล | แลดูภูวไนยเอาใจช่วย |
เบียดเสียดเยียดยัดดังดูมวย | แซ่ซ้องร้องอำนวยอวยชัย |
พวกชาววังนั่งเลิกมูลี่ดู | อึงคะนึงหนวกหูห้ามไม่ไหว |
บ้างโกรธเพื่อนพ้อตัดด้วยขัดใจ | ที่ทางอะไรของตัว |
ท้าวสามนต์มองร้องตวาด | อีอุบาทว์เหล่านี้มิใช่ชั่ว |
ได้จะดูอะไรแล้วไม่กลัว | เคยตัวตีเสียให้แทบตาย |
ท้าวนางตกใจเข้าไปห้าม | อะไรรูปงามงามไม่กลัวหวาย |
แม่เจ้าเถิดแม่คุณอย่าวุ่นวาย | หลังจะลายเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
พวกผู้หญิงชั้นล่างข้างพลับพลา | เบียดกันรันเข้ามาถึงหน้าฉาน |
จ่าโขลนไล่ตีหนีลนลาน | สับสนอลหม่านมี่ไป |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอินทร์แกล้งอ่อนหย่อนมือให้ |
ชักม้าที่นั่งรั้งรอไว้ | แล้วแกล้งว่าไปด้วยวาจา |
ลูกเขยท้าวสามนต์คนนี้ | ฝีมือตีคลีดีนักหนา |
ต่อสู้เคี่ยวขับไม่อัปรา | หาไม่พ่อตาจะต้องริบ |
ควรที่จะครองเมืองเลื่องลือยศ | ปรากฏทั่วทิศทั้งสิบ |
ว่าแล้วเหาะคล้อยลอยลิบ | กลับไปยังทิพพิมานชัย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นท้าวโกสีย์หนีไป | ก็ขับมโนมัยลงมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ลนลานลงไปหา |
จูงกรต้อนรับขึ้นพลับพลา | แม่ยายพ่อตาเข้าเชยชม |
ปราศรัยส้วมสอดกอดจูบ | โลมลูบหลังไหล่ลูกเขย |
ช่างเคล่าคล่องว่องไวกระไรเลย | ทรงสง่าง่าเงยก็งามครัน |
พ่อนี้แต่ครั้งยังไม่ชรา | อันตีคลีขี่ม้านี้ขยัน |
เมื่อครั้งบ้านเมืองดีตีพนัน | ก็ออกชื่อลือกันว่าตัวดี |
ทีหนีทีไล่ก็ไวว่อง | จะเป็นรองเจ้าราวห้าเอาสี่ |
แต่ลืมเลอะทีเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ | ไพรีล่วงรู้จึงดูเบา |
ถ้าลูกแก้วแววตามิมาโปรด | หมดสิ้นทั้งโคตรเป็นข้าเขา |
เทวดาให้คุณบุญของเรา | จริงหรือไม่เล่าเจ้ามณฑา |
จะต้องริบฉิบหายอยู่รอมร่อ | รอดตัวก็เพราะพ่อของข้า |
พลางกอดจูบลูบไล้ไปมา | ผัวเมียปูผ้าลงคำนับ |
เจ้าเหน็ดเหนื่อยหนักหนาหน้าตาแห้ง | ปรารมภ์ลมแล้งมันจะจับ |
ท้าวพ่อตาตรัสสั่งบังคับ | ยกสำรับมาสู่ลูกกูกิน |
แม่ยายละลายแป้งมาทาให้ | น้ำดอกไม้หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
หยิบถาดน้ำชาออกมาริน | เจ้ากินให้สบายหายหิวมา |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ พนักงานจัดสำรับคับคั่ง | ยกโต๊ะเข้าไปตั้งลงตรงหน้า |
พระสังข์นั่งกินกับพ่อตา | นางเมียมาหมอบพัดปัดแมงวัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นพ่อตาลูกเขยเสวยแล้ว | ท้าวสามนต์ผ่องแผ้วเกษมสันต์ |
ลงจากที่ประทับพลับพลาพลัน | พากันเข้ายังวังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ขึ้นบนพระโรงคัลไม่ทันนั่ง | ตรัสสั่งเสนาผู้ใหญ่ |
ลูกเขยกูตีคลีมีชัย | จะเษกให้ครองกรุงในพรุ่งนี้ |
จงช่วยกันเร่งรัดจัดแจง | ตกแต่งตั้งการภิเษกศรี |
แห่แหนให้สนุกกว่าทุกที | แล้วจะมีอิเหนาสักเก้าวัน |
ไปปรึกษาครูละครมันก่อนเหวย | ใครเคยรำดีทีขยัน |
อิเหนาเรื่องมิสาอุณากรรณ | จะประชันดาหลังเมื่อครั้งครวญ |
ทั้งหุ่นโขนโรงใหญ่งิ้วผู้หญิง | ทุกสิ่งจงให้มีถี่ถ้วน |
กำชับกันทำงานการจวน | สั่งเสร็จเสด็จด่วนเข้าข้างใน |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีผู้ใหญ่ |
มาสั่งเวรเกณฑ์กันทันใด | นายไพร่เร่งระดมสมทบ |
บ้างแต่งที่ปราสาทราชฐาน | บ้างปลูกโรงงานมหรสพ |
กระบวนแห่งแตรสังข์ครันครบ | ตามขนบธรรมเนียมเตรียมไว้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ไม่อยู่สุขลุกวิ่งไขว่ |
เที่ยวตรวจงานการข้างหน้าข้างใน | มิได้หยุดยั้งนั่งลงเลย |
บัดเดี๋ยวไปให้เมียแต่งธิดา | บัดเดี๋ยวมาจัดแจงแต่งลูกเขย |
ครั้นเสร็จนำหน้าพาไปเกย | ร้องห้ามเฮ้ยอย่าขวางทางลูกกู |
ให้สองทรงสีวิกายานุมาศ | อำมาตย์เดินเคียงเป็นคู่คู่ |
เคลื่อนกระบวนหน้าหลังพรั่งพรู | เลี้ยวออกนอกประตูแห่ไป |
อภิรุมชุมสายพรายพรรณ | เสียงประโคมสนั่นหวั่นไหว |
ท้าวสามนต์กับเมียมาข้างใน | ตรงไปมนเทียรที่พิธี |
ฯ ๘ คำ ฯ กลองโยน
๏ ถึงพร้อมแล้วพากันมานั่ง | บนบัลลังก์นั่งเคียงเตียงบายศรี |
พร้อมพระวงศาเสนี | ครั้นได้ฤกษ์ดีให้ลั่นฆ้อง |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปุโรหิตผู้เฒ่าทั้งสอง |
จึงจุดเทียนติดกับแว่นทอง | ค่อยประคองเคารพอภิวันท์ |
เวียนวงส่งไปข้างในรับ | ประโคมขับขานเสียงเสนาะสนั่น |
มหรสพครบสิ่งสิ้นทั้งนั้น | ก็เล่นขึ้นพร้อมกันทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ มหาชัย
๏ ครั้นครบเจ็ดรอบตามตำรับ | จึงดับเทียนโบกควันให้ |
เอาจุณเจิมเฉลิมพักตร์ภูวไนย | ทั้งองค์อรไทพระธิดา |
แล้วอำนวยอวยพรศรีสวัสดิ์ | สองกษัตริย์จงเป็นสุขา |
ทุกข์โศกโรคภัยอย่าพาธา | ให้ชันษายาวยืนหมื่นปี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามนต์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
จึงตรัสแก่เขยขวัญทันที | สมบัติในบุรีและรี้พล |
สารพัดพ่อให้แก่เจ้าหมด | ทั้งบ้านเมืองเครื่องยศเครื่องต้น |
ตัวพ่อก็ชราตามืดมน | ขอพึ่งลูกสองคนไปจนตาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ชื่นชมสมหมาย |
รับสั่งแล้วหมอบยอบกาย | กราบถวายบังคมก้มพักตร์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสามนต์ผู้มีศักดิ์ |
ครั้นเสร็จสมโภชลูกรัก | มอบเวนอาณาจักรกรุงไกร |
สี่กษัตริย์เสด็จเยื้องย่าง | จากปรางค์ปราสาททองผ่องใส |
แห่แหนเป็นขนัดอัดแอไป | คืนเข้าวังในมิได้ช้า |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด