- คำนำ
- เรื่องสังข์ทองในปัญญาสชาดก
- ตอนที่ ๑ กำเนิดพระสังข์
- ตอนที่ ๒ ถ่วงพระสังข์
- ตอนที่ ๓ นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์
- ตอนที่ ๔ พระสังข์หนีนางพันธุรัต
- ตอนที่ ๕ ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่
- ตอนที่ ๖ พระสังข์ได้นางรจนา
- ตอนที่ ๗ ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
- ตอนที่ ๘ พระสังข์ตีคลี
- ตอนที่ ๙ ท้าวยศวิมลตามพระสังข์
ตอนที่ ๓ นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวภุชงค์องค์สหาย |
กับตักกระตักโหรคนทาย | ล้ำเลิศเพริศพรายในบาดาล |
ปรากฏพระยศศักดิ์ศรี | บรรดานาคีไม่ต่อต้าน |
ศาลารักษาศีลทาน | อยู่ใต้บาดาลพิมานชัย |
เทพเจ้าเข้าในใจดล | ท่านท้าวกำพลหม่นไหม้ |
ด้วยพระสังข์ทองยองใย | ลำบากยากใจในคงคา |
จะใคร่ไปตามวิสัยนาค | ออกจากเปลวปล่องช่องผา |
ระวังตัวด้วยกลัวครุฑา | ทอดตาเหลียวดูมาแต่ไกล |
ฯ ๘ คำ ฯ กลม
๏ เที่ยวเล่นมาเห็นกุมาร | นอนจมดินดานธารไหล |
เห็นศิลาผูกมาก็แจ้งใจ | ลูกใครทิ้งถ่วงลงคงคา |
โฉมศรีบริสุทธิ์มนุษย์น้อย | กะจ้อยร่อยน่ารักหนักหนา |
ภุชงค์สงสารกุมารา | เข้าต้องดูรู้ว่าไม่บรรลัย |
จับกรช้อนองค์เห็นกงจักร | น้อยหรือบุญหนักศักดิ์ใหญ่ |
จะเกิดเหตุเภทพาลประการใด | ใครช่างทำได้ไม่ปรานี |
จะเอาเจ้าไปไว้เป็นลูกยา | เห็นว่าบุญหนักศักดิ์ศรี |
แล้วแก้ศิลาพลันทันที | นาคีอุ้มพาไปบาดาล |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงวางบนแท่นแก้ว | ผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
บอกเมียรักพลันมิทันนาน | บริวารแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง |
พี่ไปได้มาแต่วารี | จมในชลธีไม่มีเสียง |
ช่วยแก้ไขให้คืนจะได้เลี้ยง | กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้เอาบุญ |
ว่าพลางตั้งสัตย์อธิษฐาน | ถ้าบุญเรากับกุมารเคยอุดหนุน |
แต่ชาติหลังทั้งสองเคยค้ำจุน | เดชะบุญกุมารไม่วอดวาย |
เสี่ยงพลางพลางเอาสุคนธ์ทิพย์ | ลูบหลังดังหยิบให้เหือดหาย |
ค่อยฟื้นคืนสมประดีคลาย | โฉมฉายเป่ามนตร์ด้วยฤทธี |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระสุวรรณสังข์เรืองศรี |
ฟื้นองค์หลงว่ายวารี | แลเห็นนาคีก็ดีใจ |
รูปร่างโสภาเป็นมนุษย์ | ทรงภุชบังคมประนมไหว้ |
ผินผันอั้นอ้นฉงนใจ | กล่าวความถามไปกับนาคา |
ข้าเจ้าเขาเอามาถ่วงน้ำ | บาปกรรมทำไว้เป็นหนักหนา |
ผู้ใดไปเอาข้าเจ้ามา | โปรดช่วยชีวาให้คืนคง |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวนาคีมีจิตพิศวง |
ตรัสถามเนื้อความไปโดยจง | เจ้าเชื้อแถวแนววงศ์พระองค์ใด |
ใครเล่าถ่วงเจ้าลงวารี | โฉมศรีโทษทัณฑ์นั้นไฉน |
เราช่วยจึงไม่ม้วยบรรลัย | จึงพามาไว้ในบ้านเมือง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์เล่าความตามเรื่อง |
บิดาข้าไซร้ได้ผ่านเมือง | ราวเรื่องแม่ว่าให้ข้าฟัง |
เมียน้อยมันชื่อนางจันทา | มารดาคลอดข้าเป็นหอยสังข์ |
เขาขับไล่ให้ไปอยู่ไพรรัง | มันชิงชังทูลว่าข้าจัญไร |
อยู่หลังข้าออกมานอกหอย | เขาคอยจับข้าหาช้าไม่ |
ทุบตีฆ่าฟันไม่บรรลัย | จึงให้ถ่วงข้าลงสาคร |
บอกพลางทางทรงโศกี | คิดถึงชนนีสะอื้นอ้อน |
พระองค์ช่วยส่งให้มารดร | วิงวอนร่ำไห้อยู่ไปมา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวภุชงค์สงสารเป็นนักหนา |
ได้ฟังทั้งนางนาคา | เสน่หาฟักฟูมอุ้มองค์ |
บุญญาธิการก็มากมี | จึงเข่นฆ่าร้าตีไม่ผุยผง |
แกล้งเดียดฉันท์กันเป็นมั่นคง | ยุยงชิงชังว่าจังไร |
อยู่ด้วยแม่เถิดจะเลี้ยงเจ้า | ร่วมวันขวัญข้าวอย่าโหยไห้ |
ชนนีเจ้านั้นมิบรรลัย | นานไปจะพบประสบกัน |
จึงให้ชำระสระล้าง | ล้อมข้างดังนางในสวรรค์ |
เอมโอชโภชนาสารพัน | นึกสิ่งไรนั้นก็มีมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ฝ่ายท้าวภุชงค์ทรงศักดิ์ | คิดถึงแม่รักยักษา |
อย่าเลยจะให้กุมารา | ไปเป็นบุตรายาใจ |
ผัวตายเป็นหม้ายมาช้านาน | ลูกหลานยักษีหามีไม่ |
จึงบอกพระสังข์ทองยองใย | พ่อไซร้มิใช่เป็นมนุษย์ |
ถึงรักเจ้าเอาไว้ไม่ได้ด้วย | จะชูช่วยบำรุงให้สูงสุด |
ไปกว่าบิดาจะม้วยมุด | สิ้นสุดทุกข์ภัยที่ได้มา |
เจ้าคิดถึงบิดาจะมาถึง | ครู่หนึ่งบัดใจจะไปหา |
ว่าพลางทางสั่งนาคา | ตกแต่งกายาให้อ่าองค์ |
ทองกรอ่อนห้อยสร้อยสะอิ้ง | เพริศพริ้งเฟื่องฟูดูระหง |
นาคาเข้าพร้อมล้อมวง | อุ้มองค์พามาจากบาดาล |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ขึ้นจากฟากฝั่งพระสมุทร | พ้นแดนมนุษย์สุดสถาน |
ริมสะดือทะเลคะเนการ | หมายมุ่งกรุงมารไม่ใกล้ไกล |
จึงนฤมิตด้วยฤทธา | เป็นมหาสำเภาทองผ่องใส |
โภชนาสารพันทันใด | พร้อมไปในลำสำเภาทอง |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ จึงอุ้มลูกน้อยกลอยสวาท | นาคราชทูนเกล้าเศร้าหมอง |
วางไว้ในลำสำเภาทอง | ทั้งสองโศกาด้วยปรานี |
แล้วเอาแผ่นสุวรรณบันทึก | จารึกเป็นราชสารศรี |
สั่งลูกชายพลันทันที | จงส่งให้ยักษีที่ลงมา |
แล้วเธอตั้งสัตย์อธิษฐาน | ขุนมารอันคิดริษยา |
จะจับลูกอย่าให้ถูกลำเภตรา | ให้ตรงซึ่งพาราอย่าซัดไป |
เสี่ยงพลางทางเสือกสำเภาทอง | ลอยล่องในท้องทะเลใหญ่ |
สงสารลูกแก้วแววไว | แล้วกลับหลังวังในสู่ไพชน |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุวรรณสังข์ระเหระหน |
คว้างคว้างมาในกลางทะเลวน | ทุกข์ทนแลเหลียวเปลี่ยวใจ |
มีอยู่แต่น้ำกับฟ้า | จะแลเห็นฝั่งฝาก็หาไม่ |
ดูเป็นหมอกมัวออกทั่วไป | หวั่นไหวไม่เคยไปมา |
เห็นฉนากฉลามตามกัน | ดาษดื่นหมื่นพันล้วนมัจฉา |
เงือกงูราหูเหรา | ทั้งกระโห้โลมาปลาวาฬ |
มังกรลอยล่องท้องน้ำ | คลื่นซัดซัดน้ำมาฉ่าฉาน |
คิดถึงพระแม่อยู่แดดาล | เหมือนม้วยวายปราณไปจากกัน |
ลูกรักพลัดไปแห่งใด | แม่อยู่หนไหนไม่ผายผัน |
มิตายใหญ่กล้าจะมาพลัน | เสาะหาแม่นั้นให้พบพาน |
ร่ำไรอยู่ในเภตรา | เทวาพิศวงน่าสงสาร |
ช่วยส่งให้ตรงเมืองมาร | เข้ายังสถานด่านแดน |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์ยักษาอยู่กว่าแสน |
ลาดตระเวนเกณฑ์กันปันแดน | แว่นแคว้นนางมารชาญชัย |
ยืนเยี่ยมหอคอยลอยลิ่ว | เห็นกระโดงธงทิวปลิวไสว |
แลลิบลิบพริบตามาไวไว | เข้าใกล้แลเห็นเป็นสำเภา |
คิดว่าข้าศึกมาฮึกฮัก | ขุนยักษ์วุ่นวายทั้งนายบ่าว |
ออกรับจะจับเอาสำเภา | เร่งป่าวร้องเสร็จระเห็จมา |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ตรูกันลงหาดทรายชายฝั่ง | เห็นสำเภายังไม่กังขา |
ทองคำทั้งลำทำมา | คนในเภตราก็ไม่มี |
เห็นอยู่แต่กุมารน้อย | แช่มช้อยจรัสรัศมี |
แจ้งใจมิใช่ไพรี | ยักษีตรูกันมาทันใด |
เผ่นโผนโจนฉวยด้วยความอยาก | อ้าปากแลบลิ้นน้ำลายไหล |
เร่งรีบฉวยพลันทันใด | ประหลาดใจไม่ถูกเภตรา |
ทะลึ่งโลดโดดคว้าผวาเปล่า | เหมือนหนึ่งจับดาวในเวหา |
ลอยเด่นเห็นอยู่แก่ตา | ยักษากริ้วโกรธพิโรธใจ |
ตีด้วยกระบองก้องเวหา | จะถูกลำเภตราก็หาไม่ |
ล้อมรุมกลุ้มกันเข้าทันใด | เปล่าไปไม่ปะปะทะกัน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุวรรณสังข์นรังสรรค์ |
เห็นหมู่อสูรกุมภัณฑ์ | คร้ามครั่นพรั่นอกตกใจ |
แต่ละตัวหัวพริกหยิกหยอง | ดำกาตาพองท้องใหญ่ |
เขี้ยวขาวยาวรีไม่มีใจ | คิดได้ถึงท้าวนาคี |
แล้วจึงตั้งสัตย์อธิษฐาน | อย่าให้ขุนมารยักษี |
มาทำอันตรายราวี | แก่ตัวข้านี้เลยนา |
คิดแล้วเท่านั้นมิทันนาน | จึงโยนแผ่นทองสารให้ยักษา |
แผ่นทองลอยละลิ่วปลิวมา | คอยท่ายักษีดังมีใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ยักษาโลดโผนโจนจับ | กลอกกลับรับราชสารได้ |
คืนเข้าฝั่งพลันทันใด | หอบรวนหายใจอยู่ไปมา |
จึงรู้สาราที่จารึก | มิใช่ข้าศึกจึงปรึกษา |
สารทองของท้าวเจ้านาคา | เภตราเขียนรายระบายทอง |
จำเพาะให้โฉมยงลงมารับ | เราจึงจู่จับมิได้ต้อง |
ปรึกษาแล้วนำเอาแผ่นทอง | นายรองระเห็จเตร็ดมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งราชธานี | จึงนำสารศรีเข้าไปหา |
บอกแจ้งแถลงกิจจา | แก่ท่านมหาเสนาใน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสนารับสารใส่พานแก้ว | คลาดแคล้วพามาหาช้าไม่ |
เข้าเฝ้านางมารชาญชัย | ที่ในพระโรงอันรูจี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าบังคมเหนือเกศี |
แล้วทูลไปพลันทันที | ท้าวนาคีมีราชสารมา |
ให้ราชทูตมนุษย์น้อย | ล่องลอยสำเภาไม่เข้าหา |
ทองคำทั้งลำทำมา | คนในเภตราก็ไม่มี |
จับต้องจะถูกก็หาไม่ | โยนให้แต่ราชสารศรี |
ผิดอย่างปางก่อนบอห่อนมี | เทวีจงทราบพระบาทา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางพันธุรัตยักษา |
เร่งคิดถวิลจินตนา | ทูตถือสาราประหลาดใจ |
จึงสั่งสาวศรีที่หมอบเฝ้า | รับเอาสาราเข้ามาให้ |
แล้วอ่านดูพลันทันใด | ที่ในพระราชสารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เอกบท
๏ สารท้าวภุชงค์ทรงศักดิ์ | คิดถึงแม่รักยักษา |
แต่สหายวายปราณนานมา | ชั่วช้ามิได้มาเยี่ยมเยือน |
องค์ท้าวกุมภัณฑ์ที่บรรลัย | ความสมัครรักใคร่ใครจะเหมือน |
เจ้าน้อยใจที่ไม่เยี่ยมเยือน | รักเจ้าเท่าเทียมเหมือนกัน |
เป็นหญิงครองเมืองมณฑล | เสนีรี้พลจะเดียดฉันท์ |
เราไซร้ได้บุตรบุญธรรม์ | มนุษย์จ้อยน้อยนั้นถือสารไป |
เจ้าจงเลี้ยงไว้เป็นลูกรัก | เราเห็นบุญหนักศักดิ์ใหญ่ |
จะได้ครอบครองพระเวียงชัย | เลี้ยงไว้ค้ำชูแทนหูตา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ อ่านจบแจ้งในสารศรี | คิดถวิลยินดีเป็นหนักหนา |
เอาสารทูนเกล้าไว้มิได้ช้า | ขอบใจหนักหนาท้าวนาคี |
องค์ท้าวกุมภัณฑ์ที่บรรลัย | ยังคิดรักใคร่ไม่หน่ายหนี |
ซื่อตรงต่อองค์พระสามี | คุณของนาคีดังบิดา |
แล้วตรัสแก่มหาเสนาใน | ใครเห็นอย่างไรให้ปรึกษา |
มนุษย์น้อยจ้อยในเภตรา | นาคาให้มาให้รับรอง |
ให้เลี้ยงต่างลูกดวงใจ | บุญหนักศักดิ์ใหญ่ไม่มีสอง |
เรานี้มีจิตคิดปอง | จะใคร่รับรองกุมารา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์โหรใหญ่ฝ่ายขวา |
พินิจคิดคูณแล้วทูลมา | โหราขอโทษได้โปรดปราน |
อย่าเพ่อชื่นชมภิรมย์ใจ | มิได้สงสัยที่ในสาร |
ตำราทายว่าพระกุมาร | มิใช่ลูกหลานท้าวนาคา |
มนุษย์กับยักษ์จะรักกัน | ห้ามปรามกวดขันเป็นหนักหนา |
เหมือนหนึ่งดุเหว่าเหล่ากา | เลี้ยงรักษาได้เมื่อไรมี |
ทำนองเมรีกับพระรถ | ลักหยูกยาหมดแล้วลอบหนี |
โฉมยงเหมือนองค์เมรี | รับมาน่าที่จะวายปราณ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ ได้เอยได้ฟัง | มืดคลุ้มกลุ้มคลั่งดังเพลิงผลาญ |
เหม่อ้ายโหรใหญ่ใจพาล | ช่างเปรียบเทียบทัดทานด้วยมารยา |
มึงนี้ผูกจิตคิดคด | จะขบถจริงจังกระมังหนา |
กูไซร้จะได้ลูกยา | กีดหน้าขวางตาหรือว่าไร |
กูไซร้ใช่นางเมรี | หลงด้วยโลกีย์หาดีไม่ |
อันท้าวภุชงค์ทรงชัย | ชั่วแล้วที่ไหนจะให้มา |
ว่าพลางทางสั่งสาวสรรค์ | จงช่วยกันขับไล่ไสเกศา |
แต่นี้สืบไปอย่าให้มา | มันว่ากูเล่นให้เป็นลาง |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วสั่งกุมภัณฑ์ให้จัดแจง | ตกแต่งเร่งรัดอย่าขัดขวาง |
อีกทั้งข้าเฝ้าท้าวนาง | ต่างต่างแผลงฤทธิ์นิมิตกาย |
ให้เป็นมนุษย์สุดสิ้น | ตรัสพลางเทพินผันผาย |
เข้าที่นฤมิตบิดเบือนกาย | เฉิดฉายโสภาอ่าองค์ |
ออกจากวังแก้วแพรวพรรณ | กำนัลพรั่งพรูดูระหง |
แห่แหนแน่นอัดจัตุรงค์ | เสนาพาลงไปคงคา |
ฯ ๖ คำ ฯ กลองโยน เชิด
๏ มาถึงหาดทรายชายทะเล | เห็นเภตราลอยคอยท่า |
ลดองค์ลงริมชลธา | หัตถาจบน้ำได้สามที |
แล้วนางตั้งจิตพิษฐาน | กุมารบุญหนักศักดิ์ศรี |
จะมาเป็นลูกข้าในครานี้ | เทวัญจันทรีจงเล็งแล |
ขอให้ลอยเข้ามาถึงฝั่ง | เหมือนหนึ่งยังข้าเห็นให้เป็นแน่ |
เสี่ยงพลางแล้วนางผันแปร | ลุกยืนชะแง้แลไป |
สำเภาลอยเลื่อนเคลื่อนคลา | ไม่ทันพริบตาเข้ามาใกล้ |
เกยยังฝั่งพลันทันใด | บัดใจเห็นทั่วทุกตัวมาร |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ
๏ แล้วนางย่างลงในเภตรา | มิช้าเห็นองค์น่าสงสาร |
พินิจพิศดูพระกุมาร | งามปานรูปทรงดังองค์อินทร์ |
ฝ่ายว่าพระสังข์ก็บังคม | ชื่นชมในจิตคิดถวิล |
แม่นยำเหมือนคำท้าวนาคิน | เสร็จสิ้นทุกสิ่งไม่กริ่งใจ |
นางมารฟักฟูมอุ้มองค์ | โฉมยงยินดีจะมีไหน |
ลงจากเภตราคลาไคล | สำเภาหายไปมิได้นาน |
สาวศรีรับรองประคองเคียง | พร้อมเพรียงพิศวงสงสาร |
เบียดเสียดกันดูพระกุมาร | คืนเข้ายังสถานสำราญใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงวังพลันทันที | วางยังแท่นมณีศรีใส |
จึงดำรัสตรัสถามความใน | พ่อเป็นลูกหลานใครไฉนนา |
จึงพระยาภุชงค์ทรงศักดิ์ | ส่งองค์ลูกรักให้แก่ข้า |
เหตุผลต้นปลายอย่างไรมา | ลูกยาทรงนามกรใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทูลแจ้งแถลงไข |
คิดถึงมารดายิ่งอาลัย | ร่ำไรทูลความแต่หลังมา |
อันพระบิตุรงค์ทรงภพ | ประเสริฐเลิศลบจบทิศา |
เมียน้อยนั้นชื่อจันทา | เขายุยงบิดาให้ฆ่าตี |
จับลูกถ่วงท้องชลาลัย | ตัวแม่ขับไล่อยู่ไพรสี |
บุญช่วยจึงไม่ม้วยชีวี | ท้าวนาคีจึงใส่สำเภามา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ ฟังเอยฟังการ | นางมารสงสารเป็นหนักหนา |
รับขวัญไม่กลั้นน้ำตา | ลูบหลังลูบหน้าให้ปรานี |
แม่จะถนอมกล่อมเกลี้ยง | จะเลี้ยงเจ้าเป็นบุตรนะโฉมศรี |
พ่ออย่าได้กังขาราคี | พระบุรีจะให้แก่ลูกยา |
จูบพลางนางอุ้มขึ้นใส่ตัก | ความรักแสนสุดเสน่หา |
ดังดวงฤทัยนัยนา | แล้วสั่งมหาเสนาใน |
ท่านจงเร่งรัดจัดแจง | ตกแต่งพาราอย่าช้าได้ |
จะสมโภชลูกแก้วแววไว | บาดหมายกันไปอย่าได้นาน |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนารับราชบรรหาร |
แล้วถวายบังคมก้มกราน | มาสั่งการตามมีพระบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้แต่งโรงราชพิธี | เทียนชัยบายศรีตั้งซ้ายขวา |
หุ่นละครโขนหนังช่องระทา | เครื่องเล่นนานาบรรดามี |
ทั้งระเบงระบำปล้ำมวย | พร้อมด้วยสังคีตดีดสี |
งิ้วง้าวเสภาชาตรี | มโหรีครึ่งท่อนมอญรำ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วกลับมาทูลความตามเรื่อง | บ้านเมืองแต่งอร่ามงามขำ |
ราชวัติฉัตรธงโรงรำ | พร้อมสำเร็จแล้วพระเทวี |
ฯ ๒ คำ ฯ ช้าร่าย
๏ ฟังเอยฟังสาร | นางมารปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ครั้นว่าสนธยาราตรี | ก็เข้าที่บรรทมภิรมย์ใน |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแต่งองค์ลูกยา | ภูษาอย่างดีศรีใส |
ทองกรสังวาลตระการใจ | แล้วมุ่นจุไรใส่ชฎา |
สรรพเสร็จเสด็จจรลี | สาวศรีไสวทั้งซ้ายขวา |
เชิญเครื่องตามกันเป็นหลั่นมา | ยาตราสถิตยังพิธี |
ฯ ๔ คำ ฯ ร้องเพลงมหาชัย
ร่าย
๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | นางมารให้เบิกบายศรี |
ลั่นฆ้องกลองชัยเภรี | ดีดสีตีทับฉับพลัน |
จุดแว่นเวียนซ้ายย้ายขวา | โห่ขึ้นสามลาขมีขมัน |
เซ็งแซ่แตรสังข์ประดังกัน | ฆาตฆ้องกลองลั่นสนั่นไป |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ เวียนเทียนสำเร็จเสร็จสรรพ | โบกจับจุณเจิมเฉลิมให้ |
แล้วนางอำนวยอวยชัย | ทุกข์โศกโรคภัยอย่าให้มี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายเจ้าพนักงานการเล่น | ทั้งมวยปล้ำรำเต้นถ้วนถี่ |
โขนละครไก่ป่าชาตรี | เป่าปี่ตีกลองกึกก้องไป |
หกคะเมนไต่ลวดกวดขัน | เจ็ดคืนเจ็ดวันหวั่นไหว |
ครั้นราตรีมีดอกไม้ไฟ | หนังจีนหนังไทยดอกไม้กล |
อีกทั้งครึ่งท่อนมอญรำ | จับระบำรำท่าโกลาหล |
งิ้วง้าวฉาวแฉ่งแต่งตน | เกลื่อนกล่นอื้ออึงคะนึงไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ นางมารสมโภชพระลูกแล้ว | ผ่องแผ้วยินดีจะมีไหน |
จึงชวนลูกยาคลาไคล | เข้าในวังพลันทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนแท่นแก้ว | ผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
แล้วจัดแจงนักเทศขันที | นางนมทั้งสี่พี่เลี้ยง |
กำนัลนางมโหรีขับไม้ | สำหรับให้ขับกล่อมพระเนื้อเกลี้ยง |
แม่มอบให้พระสังข์ทั้งวังเวียง | ใครทุ่มเถียงจงเฆี่ยนฆ่าตี |
นางถนอมกล่อมเกลี้ยงรักษา | มิให้พระลูกยาเจ้าหมองศรี |
จนพระชันษาสิบห้าปี | ยังทวีความรักอยู่ทุกวัน |
นางค่อยเคลื่อนคลายสบายใจ | จะใคร่ไปเที่ยวป่าพนาสัณฑ์ |
เผอิญใจทึกทึกนึกผูกพัน | คิดพรั่นกลัวลูกจะหนีไป |
อย่าเลยจะแสร้งแกล้งล่อลวง | อย่าให้ล่วงหมายคำสำคัญได้ |
ว่าไปช้าแล้วกลับมาเร็วไว | ถึงจะหนีไปไม่พ้นกร |
แม่จะไปป่าเจ็ดราตรี | พันปีจงฟังแม่สั่งสอน |
บ่อน้ำซ้ายขวาเจ้าอย่าจร | หอข้างหัวนอนเจ้าอย่าไป |
สั่งลูกแล้วพลันมิทันช้า | พรั่งพร้อมทหารหน้าน้อยใหญ่ |
ออกจากพาราคลาไคล | แปลงไปเป็นยักษ์ฉับพลัน |
ฯ ๑๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นมาถึงป่าพนาลัย | จับได้ช้างเสือเนื้อสมัน |
ฟาดฟัดล้มตายวายชีวัน | ได้ห้าหกตัวนั้นไม่พอพุง |
ครั้นเหลือบเห็นช้างฝูงใหญ่ | ดีใจฟาดด้วยกระบองผลุง |
หักคอตายกลาดฟาดดังปุง | ทหารหอบพะรุงพะรังมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ วางกองไว้หน้าศาลาลัย | แล้วนางไปสรงน้ำที่เพิงผา |
แล้วขึ้นนั่งบนบัลลังก์ศิลา | เสวยสัตว์นานาทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์พระสังข์เรืองศรี |
อยู่ในไพชนอสุรี | มีจิตคิดถึงมารดา |
เหตุไฉนไปไพรกรุ่นกรุ่น | พระคุณไปไยที่ในป่า |
ว่าไปวันเดียวจะกลับมา | ไม่เหมือนวาจาที่ว่าไว้ |
เหตุใดถ้อยคำฟั่นเฟือน | คลาดเคลื่อนคืนวันหามั่นไม่ |
ตรัสว่าจะไปคืนเดียวไซร้ | เจ็ดวันจึ่งได้กลับมา |
ครั้นว่าจะไปเจ็ดวัน | กลับพลันวันเดียวไม่เหมือนว่า |
ผิดแล้วถ้อยคำพระมารดา | ดีร้ายจะมาต่อเจ็ดวัน |
ห้ามไว้มิให้ไปที่ครัวไฟ | อะไรจะมีอยู่ที่นั่น |
ลับตาสาวใช้ลอบไปพลัน | ได้เห็นสำคัญในทันที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ เห็นโครงเสือช้างกวางทราย | ทั้งกายมนุษย์กับซากผี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | ผิดแล้วชนนีเห็นสำคัญ |
พระมารดาว่าบ่อที่ปิดไว้ | จะมีอะไรเป็นแม่นมั่น |
ลอบหนีพี่เลี้ยงลงไปพลัน | เปิดบ่อซ้ายนั้นขึ้นทันใด |
ค่อยเอานิ้วพระหัตถ์ชี้ | จุ่มจี้บ่อเงินที่ผ่องใส |
เปิดบ่อขวาพลันทันใด | แจ่มใสสว่างอยู่เรืองรอง |
เอานิ้วชี้ที่เป็นเงินนั้น | จิ้มลงดูพลันเป็นทองผ่อง |
คิดตกใจเจ้าเฝ้ามอง | เช็ดทองด้วยกลัวพระมารดา |
จะเช็ดสีเท่าใดก็ไม่ออก | พระแม่มาจะบอกกระมังหนา |
รีบมาคิดได้ด้วยมารยา | ฉีกผ้าพันนิ้วพระหัตถ์ไว้ |
แล้วพระจึงซ่อนฝูงนาง | มาดูที่ปรางค์ปราสาทใหญ่ |
แลเห็นรูปเงาะเหมาะสุดใจ | พระจึงสวมใส่เข้าลองดู |
สอดใส่เกือกแก้วทั้งซ้ายขวา | ประดับเพชรพรายตาทั้งคู่ |
จับไม้เท้าทองลองฤทธิ์ดู | เหาะวู่ตามช่องบัญชรชัย |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ เหาะลองดูเล่นพอเห็นดี | กลัวพระชนนีไม่ช้าได้ |
ถอดออกแล้ววางดังเก่าไว้ | ดีใจสอดมองดูมารดา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ทีเอยทีนี้ | ชอบที่จะหนีแม่ยักษา |
จะเหาะไปหาพระมารดา | ถึงไร่ยายตาที่เลี้ยงเรา |
ฯ ๒ คำ ฯ โอ้ร่าย
๏ โอ้อนิจจาพระชนนี | ป่านฉะนี้จะร่ำโศกเศร้า |
จะข้อนทรวงสลบซบเซา | พระเกิดเกล้าลูกเอ๋ยจะโศกา |
ตัวกูมาอยู่ในเมืองนี้ | พระชนนีเลี้ยงเป็นยักษา |
ไว้ใจยากนักถ้าฉวยช้า | ไหนจะหนีมารดาไปได้เลย |
เห็นจะวายชีวิตเสียเปล่าเปล่า | โอ้พระเกิดเกล้าของลูกเอ๋ย |
จะแทนคุณชนนีมิอยู่เลย | เงยเห็นพี่เลี้ยงซ่อนทันที |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงวิ่งหาพระโฉมศรี |
ตกใจไม่เห็นอยู่ในที่ | วิ่งตีอกหาประหม่าใจ |
เมื่อกี้วิ่งเล่นก็เห็นตัว | ทูนหัวเอ๋ยซ่อนอยู่แห่งไหน |
มองมาพบพระองค์ก็ดีใจ | พี่เลี้ยงสาวใช้ก็เปรมปรีดิ์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางพันธุรัตยักษี |
เล็ดลอดสอดหามฤคี | ได้เจ็ดราตรีอยู่ไพรวัน |
สายัณห์ตะวันรอนรอน | ใกล้จะลับสิงขรพนาสัณฑ์ |
รำลึกถึงลูกใจผูกพัน | เร่งรีบเร็วพลันระเห็จมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงรับขวัญอุ้มพระลูกรัก | จูบพักตร์เศียรเกล้าเกศา |
กอดชมดังดวงนัยนา | นางแสนเสน่หาดังดวงใจ |
แลเห็นนิ้วหัตถาผ้าพัน | เอ็ววันของแม่เป็นไฉน |
ผ้าผูกนิ้วถูกอะไร | เป็นไรหรือพ่อจงบอกมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ได้ฟังคำว่า |
ครั้นแม่จับนิ้วทำมารยา | กลัวพระมารดาจะเคืองใจ |
ทำผิดลูกกลัวพระแม่ตี | ลูกนี้ไม่มีอัชฌาสัย |
จับมีดเข้ามาผ่าไม้ | บาดเลือดซับไหลฝนไพลทา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ได้เอยได้ฟัง | ชะนางพี่เลี้ยงช่างให้ไม้ผ่า |
จับมือพิศดูพันผ้า | ทูนเหนือเกศารำคาญใจ |
จะมากหรือน้อยแม่ขอดู | นิ่งอยู่หาทำให้เจ็บไม่ |
กำมิดปิดซ่อนแม่ทำไม | บาดแผลน้อยใหญ่ไฉนนา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สังข์เอยสังข์ทอง | ทำร้องกุมนิ้วพันผ้า |
อุยอุยพระแม่อย่าแก้นา | เจ็บปวดหนักหนาเป็นพ้นไป |
โลหิตติดกรังผ้าอยู่ | เจ็บปวดพ้นรู้ไม่แก้ได้ |
ลูกลวนลามเล่นจึงเป็นไป | พระแม่จงได้ปรานี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ได้เอยได้ฟัง | นางมารโกรธพี่เลี้ยงสาวศรี |
น้ำตาคลอตาด้วยปรานี | ให้มัดตีพี่เลี้ยงนางใน |
นางนมพี่เลี้ยงเรียงหน้า | มึงไม่นำพาเอาใจใส่ |
ให้เล่นมีดเล่นพร้าผ่าไม้ | ตีให้บรรลัยประเดี๋ยวนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ได้เอยได้ฟัง | พระสังข์บังคมขอโทษพี่ |
อ้อนวอนกราบไหว้ทั้งโศกี | มิให้ต้องตีชิงไม้ไว้ |
ลูกแข็งเขาห้ามแล้วไม่ฟัง | เขารักข้าหาชังลูกน้อยไม่ |
ถ้าเขาต้องโทษโพยภัย | ไหนเขาจะรักลูกน้อยนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา กล่อม