มณฑลอุดร
วันที่ ๒๑ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๑๐ นาที ขี่ม้าออกจากที่พักบ้านบัวใหญ่ ข้ามสพานผ่านหมู่บ้านบัว บ้านจาน เดินทางลงทุ่งไปขึ้นโคกหลวง ที่ต่อแดนมณฑลนครราชสิมากับมณฑลอุดร โคกหลวงนี้เปนแนวแต่ตวันตกไปตวันออกยืดยาว จะไปมณฑลอุดรจึงต้องข้ามโคกนี้เปนโคกใหญ่มีไม้ร่มดีกว่าทางที่มาวันก่อน เวลาเช้า ๒ โมงถึงหนองหว้าเอนระยะทาง ๒๘๐ เส้น พักกินเข้าเช้า พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร๑ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร พระยาพิไสยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองโพนพิสัย และพระเกษตรวัฒนา นายอำเภอมัญจาคิรีมาคอยรับ ที่หนองหว้าเอนนี้เปนทางร่วมที่พ่อค้าแลราษฎรมักไปมา เปนที่เปลี่ยว เพราะเปนทางห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐๐ เส้น เดิมมีผู้ร้ายชุกชุม ครั้นเมื่อศก ๑๒๔ พวกพ่อค้ามณฑลอุดรเรี่ยรายกันสร้างโรงพักตำรวจภูธรถวายหลังหนึ่ง จึงเปนที่ตั้งโรงพักตำรวจภูธรมาจนบัดนี้ และที่หนองน้ำนั้นราษฎรมณฑลนครราชสิมาและมณฑลอุดร ก็เรี่ยรายกันขุดให้กว้างใหญ่ออกไป เพื่อจะได้มีน้ำใช้สำหรับคนเดินทางตลอดปีด้วย
เวลาเช้า ๔ โมง ๑๐ นาที ออกจากที่พักหนองหว้าเอน ข้ามคลองจานเข้าเขตรเมืองชนบทมณฑลอุดร เดินทางขึ้นเนินลงเนินต่อมา หนทางตัดกว้างขึ้นกว่าทางที่มาแล้ว ถึงหนองหญ้าปล้องเวลาเช้า ๕ โมง ๒๐ นาที พักแรมที่นี่ระยะทาง ๓๐๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๘๐ เส้น ที่ตำบลหนองหญ้าปล้องนี้เปนที่ร่วมทางไปมาของพ่อค้าและราษฎรเหมือนกัน ต่อไปจะตั้งโรงพักตำรวจภูธรอิกแห่งหนึ่ง หมู่บ้านในตำบลนี้ประมาณ ๑๘ หมู่ คน ๓๐๐๐ คน แต่อยู่ไกลที่พักนี้ไปหนทางตั้งแต่ ๕๐ เส้นขึ้นไป และมีบ้านคนเปนโรคกุดถังซึ่งส่งมาแต่ต่างเมือง ว่าเปนธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เขากันไว้ให้อยู่ต่างหากหมู่หนึ่ง ทำมาหากินในพวกของเขาเอง ราษฎรทำนาได้เข้าขายบ้างเล็กน้อย และทำไหมปลูกยาสูบพอใช้กันเอง
วันที่ ๒๒ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๕ นาที ออกจากที่พักแรมหนองหญ้าปล้อง เดินทางผ่านมาทุ่งปึงปี๊ดเดินตามทางโทรเลขถึงเนินผักเหม็นหนองปึงปี๊ดที่พักร้อนเวลาเช้าโมงหนึ่ง ๕๐ นาที ระยะทาง ๒๘๐ เส้น เวลาเช้า ๓ โมง ๒๕ นาที ออกจากที่พักร้อนมาตามทุ่งบ้านนาเพียง จวนถึงหนองแวงเห็นที่นาและฝูงโคมีราษฎรนั่งอยู่เปนหมู่ ถึงหนองแวงที่พักแรมเวลาเช้า ๔ โมง ๒๐ นาที ระยะทาง ๒๔๘เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๒๘ เส้น การทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านนี้ มีการทำนาและผสมโคแลทำไร่ผักและทำไหมเปนพื้น
เมืองชนบท
วันที่ ๒๓ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากที่พักแรมหนองแวงข้ามห้วยยางถึงห้วยชันที่พักร้อนเวลาย่ำรุ่ง ๕๐ นาที ระยะทาง ๑๕๐เส้น หยุดพักม้าครู่หนึ่ง แล้วออกเดินต่อไปถึงห้วยขี้หนูห้วยเขวา ห้วยเสือกูดโดยลำดับมาตามทางโทรเลข ผ่านทุ่งนาและไร่อ้อยบ้าง จวนถึงเมืองชนบท เห็นหมู่บ้านใหญ่ที่โคกดินแดง เปนบ้านราษฎรมาตั้งอยู่เมื่อเวลาน่านา ครั้นสิ้นฤดูนาก็กลับเข้าไปอยู่ในเมือง เวลาเช้า ๒ โมง ๓๐ นาที ถึงเมืองชนบท ระยะทาง ๒๖๐ เส้น รวมระยะทาง วันนี้๔๑๐ เส้น เวลากลางวันนายอำเภอพร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านแลผู้เฒ่าพาราษฎรชายหญิงประมาณ ๒๐๐ คนนำบายศรีตีฆ้องแห่มายังที่พัก ผู้เฒ่าขึ้นนะโมว่าคำอำนวยพร แล้วผูกไหมทองที่ข้อมือเปนการทำขวัญตามธรรมเนียมบ้านเมือง และจีนพ่อค้า ๔-๕ คน มีขุนพานิชจีนนิกรเปนหัวน่ามาให้กิมฮวยอั้งติ๋ว เวลาบ่าย ๔ โมงเศษขึ้นระแทะไปดูเมืองตามถนนสายยาว ซึ่งมีหมู่บ้านราษฎรทั้งสองข้าง ทาง ประมาณ ๓๐ เส้น จนถึงหมู่ร้านจีนมีแพรพรรณและของกรุงเทพ ฯ มาขาย ดูร้านแล้วไปที่วัดศรีบุญเรือง มีพระ ๑๓ รูป เณร ๑๗ รูป เจ้าอธิการสอนหนังสือไทย
เมืองชนบทนี้ เดิมขึ้นเมืองนครราชสิมา พึ่งตัดไปขึ้นมณฑลอุดรเมื่อตั้งข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลอุดร ราษฎรเมืองชนบทมีชาวโคราชกับชาวอุดรเกือบจะเท่า ๆ กัน รวมทั้งสิ้น ๓๕,๙๐๖ คน การทำมาหาเลี้ยงชีพทำนาอย่าง ๑ ทำไร่ฝ้ายอย่าง ๑ ไร่อ้อยอย่าง ๑ ทำเกลืออย่าง ๑ ผสมโคอย่าง ๑ ทำไหมอย่าง ๑ ไหมเดิมทำแต่พอใช้ในบ้านเมืองขายกันราคาชั่งละ ๓ บาท ตั้งแต่ ๒ ปีมานี้ ไหมได้ออกเปนสินค้าทางเมืองนครราชสิมาบ้าง ราคาขึ้นเปนชั่งละ ๗ บาท ๓๒ อัฐ
วันที่ ๒๔ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากเมืองชนบท ข้ามสพานห้วยหนองเอียงออกทุ่งนาหนองกุ้ง เห็นเขาภูเวียงข้างซ้ายมือไปข้ามห้วยน่าว่อน้ำไหลตกลำพาชี มีสพานข้ามแล้วออกทุ่งบ้านเมืองเพี้ยถึงหนองยาว เวลาเช้า ๒ โมง ๒๕ นาที ถึงตำบลคูคาดที่พักร้อนระยะทาง ๓๘๐ เส้น หยุดกินเข้าเช้าและพักม้าแล้ว เวลาเช้า ๓ โมง ๒๕ นาที ออกเดินทางต่อไป ถึงที่พักแรมบ้านหนองปลาจ้อยเวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที ระยะทาง ๒๙๘ เส้น รวมระยะทางเดินวันนี้ ๖๗๘ เส้น ทางที่มาวันนี้เดินใกล้ห้วยและหนองไม้ในป่าขึ้นเปนพุ่มเขียวชอุ่ม และมีเนินล้วนด้วยหญ้าเขียวสด ค่อยแปลกตากว่าหนทางที่มาตอนแรกซึ่งเปนที่ไม้แห้งโดยมาก
เมืองขอนแก่น
วันที่ ๒๕ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากที่พักแรมบ้านหนองปลาจ้อย ข้ามห้วยชันต้องเข้าเขตรมณฑลอิสาณเดินผ่านไปสัก ๑๐ เส้น แล้วจึงกลับเข้าเขตรมณฑลอุดรอิก เพราะการปันเขตรตอนนี้เอาลำห้วยแห่งหนึ่งเปนกำหนดแดนไปตกน้ำพาชี แนวห้วยนั้นย้อยเข้ามาในทางหลวงเขตรมณฑลอิสาณจึงล้ำเข้ามา มีหมู่บ้าน ๓ หมู่ เปนเขตรอำเภอโกสุมวิไสยขึ้นเมืองมหาสารคามบริเวณร้อยเอ็จ ตอนนี้แลเห็นทิวไม้ฝั่งลำน้ำพาชี มีหนองน้ำตลอดทางมา ถึงฝั่งแม่น้ำชีที่ตำบลดอนบมเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๑๕ นาที ระยะทางมา ๒๒๐ เส้น นายร้อยเอกขุนผดุงแคว้นประจันต์๒ ข้าหลวงบริเวณพาชี พระยานครศรีบริรักษ์ จางวางเมืองขอนแก่นมารับ กินเข้าเช้าที่ตำบลนี้
ที่นี้มีสพานใหญ่ข้ามลำน้ำพาชี เปนสพานไม้แก่นมีพนักสองข้าง กว้าง ๓ วา ยาว ๓๔ วา สูงจากพื้นลำน้ำ ๘ วา เจาะศิลาริมน้ำปักเสาลึกลงไป ๔ ศอก ข้าราชการจีนพ่อค้าและราษฎรเข้าเงินช่วยแรงกันทำขึ้นตั้งแต่ศก ๑๒๑ แล้วในศก ๑๒๒ เปนสพานแขงแรงถึงช้างข้ามได้ เปนประโยชน์แก่พ่อค้าแลราษฎรไปมามาก เมื่อยังไม่มีสพานนี้เกวียนข้ามลำน้ำพาชีน้ำมากก็ข้ามไม่ได้ ถ้าน้ำน้อยตลิ่งสูง ต้องเสียเวลาถึง ๒ วัน ๓ วันจึงพาเกวียนข้ามไปได้หมู่หนึ่ง ลำน้ำชีปลายน้ำออกจากบึงอีจ้อย ซึ่งเปนแอ่งใหญ่อยู่บนเขาเขียวแขวงเมืองหล่มศักดิ์ ไหลมาทางตวันออก ไปตกลำน้ำมูลตรงบ้านท่างอยแขวงเมืองอุบลราชธานี เวลาเช้า ๓ โมงขึ้นม้าต่อมา ระยะทาง ๑๘๐ เส้น ถึงเมืองขอนแก่นเวลา ๓ โมง ๔๐ นาที รวมระยะทาง ๔๐๐ เส้น มาตามถนนในเมืองมีบ้านติดต่อกันไปทั้ง ๒ ข้างทาง มีรั้วไม้จริงเปนเขตรบ้านตลอดไป ถนนยาว ๓๗ เส้น ถึงตลาดแล้วมีถนนเลี้ยวมาที่ว่าการข้าหลวงบริเวณพาชี ซึ่งจัดเปนที่พัก เปนตึกฝาขัดแตะทาดินทำขึ้นตั้งแต่ศกก่อน
เวลาบ่าย ๔ โมง ไปดูที่ต่าง ๆ จนถึงตลาดแลวัดธาตุ มีโรงเรียนซึ่งข้าหลวงบริเวณจัดตั้งขึ้น มีพระสอน มีจำนวนนักเรียน ๑๐๙ คน แต่สวมเสื้อกางเกงและหมวกเหมือนกัน หัดเข้าแถวคำนับอย่างทหารเรียบร้อย แล้วกลับที่พักแรม มีชาวเมืองทั้งชายหญิงประมาณ ๒๐๐เศษ แห่บายศรีมาทำขวัญเหมือนที่เมืองชนบท
ราษฎรในเมืองขอนแก่นนี้มีจำนวน ๕๙,๔๑๘ คน การทำมาค้าขายมีเช่นเดียวกันกับชาวชนบท
วันที่ ๒๖ ธันวาคม เวลาเช้าโมงเศษ ไปดูทำนบทุ่งสร้างซึ่งขุนผดุงแคว้นประจันต์ ข้าหลวงบริเวณได้ขอแรงราษฎรช่วยกันปักหลักถมดินขึ้นไว้เปนทำนบยาว ๒๓ วา กว้าง ๖ วา กั้นน้ำไว้สำหรับให้ราษฎรใช้ได้ตลอดปี ทำสำเร็จมาตั้งแต่ศก ๑๒๓ ทุ่งสร้างเปนทุ่งกว้างใหญ่ พื้นที่ลุ่ม มีทางน้ำฝนไหลออกไปลงลำน้ำพาชีได้แต่ทางที่ทำทำนบนั้น ครั้นทำทำนบแล้วน้ำก็ขังอยู่ กลายเปนหนองใหญ่โตอุดมด้วยปลาแลนกต่าง ๆ ถึงเปนที่ราษฎรเล่นแข่งเรือกันตามฤดูกาลครึกครื้นทุกปี ออกจากที่พักแรมไปถึงท่าหนองคูระยะทาง ๓๐ เส้นถึงหัวทุ่งสร้างจึงลงเรือคาด คือเรือชะล่า ๒ ลำขนานกันปูพื้นปักเสามุงหลังคาถ่อไปจนถึงทำนบ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านหนองใหญ่บ้านนอนยางทางถ่อเรือไปประมาณ ๕๐ นาที แล้วพักกินเข้าเช้าที่ๆ พักกลางทุ่ง ราษฎรเอาเรือชะล่ามาพายแข่งกันให้ดูหลายลำ จนเวลาเที่ยงเศษจึงกลับ ตอนบ่ายสนทนากับพระสงฆ์เจ้าอาวาศและพวกจีนพ่อค้า
ตั้งแต่เข้าเขตรมณฑลอุดรมา ได้ไปเที่ยวตามหมู่บ้านราษฎรตามทางที่ผ่านมาหลายแห่ง บางแห่งเปนบ้านใหญ่ตั้งมาช้านานหลายชั่วคน ลองไต่ถามถึงประเพณีการสมาคมของชาวบ้านเหล่านี้ ตามที่พวกชาวบ้านชี้แจง ได้ความปลาดน่าพิศวงอย่าง ๑ คือชาวบ้านเหล่านี้ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่ง ๑ มีเย่าเรือนพอกันอยู่ แลมียุ้งเข้าเก็บไว้พอกินปี ๑ ในลานบ้านปลูกพริกมะเขือข่าตะไคร้สำหรับต้มแกง นอกบ้านมีสวนผลไม้เช่นกล้วย, อ้อย, หมาก, มะพร้าว และมีที่ปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ต่อเขตรสวนออกไปถึงทุ่งนา ต่างมีเนื้อนาและโคกระบือพอทำได้เข้ากินทุกครัวเรือน ถึงฤดูทำนาก็ช่วยกันทำนาทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ สิ้นฤดูนาผู้ชายไปเที่ยวหาของขาย ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหมแลทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เศษอาหารที่เหลือบริโภคใช้เลี้ยงไก่แลสุกรไว้ขาย การกินอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เองเกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด สิ่งที่ต้องซื้อก็คือเครื่องเหล็ก เช่นจอบเสียม, มีดพร้าเปนต้น แลเครื่องถ้วยชาม บางทีก็ซื้อด้ายทอผ้าหรือผ้าผืน แลของอื่น ๆ ที่ชอบใจซึ่งพ่อค้าหาไปขาย เงินทองที่จะใช้ซื้อหาก็มีพอเพียง เพราะมีโคกระบือที่ออกลูกเหลือใช้แลมีหมูแลไก่ที่เลี้ยงไว้ด้วยเศษอาหารเหลือบริโภค ขายได้เงินซื้อของที่ต้องการได้พอปราถนา ต่างครัวต่างอยู่เปนอิศระแก่กัน ไม่มีใครเปนบ่าว ไม่มีใครเปนนายใคร ลูกบ้านอยู่ในปกครองของผู้ที่เปนหัวน่าครัวของตนแล้วก็มีผู้ใหญ่บ้านแลกำนันต่อขึ้นไป ดูปกครองกันง่ายดาย แต่ว่าทั้งตำบลนั้นจะหาเศรษฐีที่มั่งมีเงินแต่ ๒๐๐ บาทขึ้นไปไม่มีเลย คนยากจนถึงต้องเปนบ่าวคนอื่นก็ไม่มีเลยสักคนเดียว คงอยู่กันมาเช่นนี้นับด้วยร้อยปีแล้ว เพราะเหตุว่าพวกชาวบ้านทำไร่นาหาเลี้ยงตัวได้ โดยไม่จำเปนต้องใช้เงิน ความรู้สึกต้องการตัวเงินไม่รุนแรง เงินก็ไม่มีอำนาจเหมือนในเมืองที่ว่าเปนศิริวิไลย จึงไม่ใคร่มีใครสะสม แต่จะว่ายากจนก็ไม่ได้ เพราะเลี้ยงตัวได้โดยผาศุกไม่อัตคัด เมื่อได้ความดังกล่าวมา ได้อธิบายให้หมอแบรดด๊อกเข้าใจ แล้วถามว่า ประชุมชนเช่นนี้ฝรั่งจะเห็นว่ามีความศุขหรือมีความทุกข์ประการใด หมอแบรดด๊อกเปนชาวอเมริกันตอบว่า พวกโซเชียลลิศต์ในเมืองฝรั่งที่วุ่นวายกันต่าง ๆ ก็ต้องการจะเปนอย่างพวกชาวบ้านนี้นั่นเอง ที่แท้สมาคมอย่างที่พวกโซเชียลลิศต์ต้องการมีอยู่ในเมืองนี้มานับด้วยร้อยปีพันปีแล้ว สมกับสุภาสิตที่กล่าวว่า “ไม่มีอะไรแปลกใหม่ในโลกนี้”
วันที่ ๒๗ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๕ นาที ออกจากเมืองขอนแก่นทางถนนท้ายเมือง ข้ามสพานหนองแวงจะกา ห้วยบ้านลานหญ้าถึงบ้านสำราญที่พักร้อนเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐ นาที ระยะทาง ๓๐๐เส้น มีราษฎรในหมู่บ้านมาคอยอยู่เปนอันมาก เวลาเช้า ๓ โมง ๑๕ นาที เดินทางต่อไป ข้ามห้วยใหญ่ ห้วยบ้านตอกแป้น ห้วยอ้ายงอ แลซับบอน (คือแอ่งที่น้ำไหลซับขึ้นมาจากพื้นแผ่นดิน) แล้วถึงห้วยหินลาดที่พักแรมเวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที ระยะทาง ๒๕๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๕๐ เส้น
ตามหนทางที่มาวันนี้มีขึ้นเนินลงเนินป่าไม้หลายแห่ง สำนวนชาวเมืองนี้เรียกว่าสามสิบสองเนิน มีไม้เต็งรังต้นสูง ๆ แลไม้อื่น ๆ ขึ้นเขียวทึบ บางแห่งเมื่อถึงชายเนินมีนาบ้าง บางแห่งมีไร่ยาสูบบ้าง หนทางแคบกว่าต้นทางมณฑลอุดรที่ผ่านมาแล้ว แต่เปนทางสายโทรเลขเหมือนกัน
วันที่ ๒๘ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๕ นาที ออกจากที่พักแรมตำบลหินลาด ข้ามห้วยคำแก่นคูน ถึงฝั่งลำน้ำพองเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐นาที ระยะทาง ๒๒๐ เส้น ลำน้ำพวกนี้ไหลจากเขากระดิงแขวงเมืองหล่มศักดิ์ มาร่วมน้ำชีใต้บ้านเผือแขวงเมืองขอนแก่น ขุนผดุงแคว้นประจันต์ ข้าหลวงบริเวณพาชีพร้อมด้วยข้าราชการพ่อค้าแลราษฎรช่วยกันออกเงินออกแรงสร้างสพานช้างข้ามลำน้ำพอง กว้าง ๓ วา ยาว ๕๗ วา เสาแลพื้นรอดลูกกรงคานเครื่องไม้ใช้ไม้แดงไม้ตะเคียนไม้เต็งไม้รัง เปนสพานมั่นคงแขงแรงกว่าสพานข้ามลำน้ำพาชีที่ข้ามมาแล้ว เปนประโยชน์แก่พ่อค้าและราษฎรที่จะไปมาเปนอันมาก ได้ลงมือทำตั้งแต่ธันวาคม ศก ๑๒๔ แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคมศกนี้ทันรับข้าพเจ้า จึงได้มีการสวดมนต์เลี้ยงพระฉลอง แลเชิญให้ข้าพเจ้าตัดผ้าเปิดสพานในวันนี้ด้วย ในขณะเปิดสพานนั้นพระสวดไชยมงคลมีพลุแลพิณพาทย์ประโคม ข้ามสพานถึงที่พักร้อนเวลาเช้า ๓ โมง ๔๐ นาที หยุดกินเข้าเช้าแล้วเดินต่อไปถึงห้วยวังเดือนห้า ห้วยหัวช้าง ห้วยอ้ายเต้น ถึงกุดหว้าที่พักแรมเวลาเช้า ๕ โมง ระยะทาง ๔๐๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๖๒๐ เส้น ที่ตำบลกุดหว้ามีราษฎรมาตั้งอยู่ได้สัก ๘ ปีมา สังเกตดูราษฎรเปนไข้ป่าจนเปนป้างโดยมาก เพราะแถวนี้เปนที่ป่าริมดง ให้หมอแจกยารักษาให้ตามสมควร
เมืองกุมภวาปี
วันที่ ๒๙ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ออกจากกุดหว้า ผ่านซับบอนซับบงมาถึงบ้านนางิ้ว ซึ่งเปนบ้านร้างเพราะราษฎรทำนาไม่ได้ผลจึงย้ายไปตั้งบ้านใหม่ที่ห้วยนาคำ ซึ่งเปนหนทางจะผ่านต่อไป พักกินเข้าเช้าที่นางิ้วเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๕ นาที ระยะทาง ๑๘๐ เส้น ครั้นเวลาเช้า ๓ โมงออกจากบ้านนางิ้ว เดินตามทางตัดใหม่ซึ่งแยกจากทางโทรเลข ข้ามห้วยอ้ายเต้นถึงเขตรเมืองกุมภวาปี เมืองนี้ยกบ้านบึงหม้อตั้งขึ้นเปนเมืองเมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระวรฤทธิไชย ผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปีมารับ ต่อมาถึงห้วยบ้านนาคำซึ่งเปนบ้านตั้งใหม่ แล้วถึงตำบลวังหินที่พักแรมเวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาที ระยะทาง ๒๖๙ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๔๔๙ เส้น ที่เรียกว่าวังหินเพราะมีแอ่งศิลาแลงน้ำขังอยู่ในป่าแต่ไม่มีหมู่บ้าน หนทางที่มา ๒ วันนี้เปนทางขึ้นเนินลงเนินอย่างวันก่อน และทางที่ตัดใหม่จากบ้านนางิ้วมีไม้ใหญ่ร่มรื่นดี แล้วจะไปร่วมทางโทรเลขที่บ้านเสอเพลอต่อไปข้างน่า
วันที่ ๓๐ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๑๕ นาที ออกจากที่พักแรมวังหินเลียบชายเนินมาถึงที่พักร้อนตำบลห้วยก่องสีเวลาเช้า ๒ โมง ๑๐นาที ระยะทาง ๒๘๑ เส้น เวลาเช้า ๓ โมงเศษออกจากที่พักข้ามห้วยก่องสี เข้าดงเกวียนหักเปนดงไม้เล็ก ๆ แล้วข้ามห้วยทรายข้ามดงปะโค เมื่อลงถึงชายดงเห็นหนองใหญ่ เรียกว่าหนองปะโค มีหญ้าขึ้นเต็มแลดูโดยรอบเห็นทิวไม้ทุกด้าน ข้างทางมีไผ่แลดูไปเปนซุ้มเปนซอกงามดี ต่อไปถึงบ้านปะโค ผ่านหมู่บ้านแล้วออกทุ่งสียาวอน ถึงเมืองกุมภวาปีเวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที ระยะทาง ๒๐๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๔๘๑ เส้น พระรามฤทธี ข้าหลวงบริเวณน้ำเหืองมาคอยรับอยู่ที่นี่พร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการ
เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ไปเที่ยวตามทางหมู่บ้าน ข้างหลังหมู่บ้านออกไปเปนทุ่งใหญ่แลเห็นหนองหาร ทุ่งนี้แลดูกว้างใหญ่มากโดยยาวกว่า ๑๐๐ เส้น ตกขอบหนองหารกลางทุ่งมีเนินเล็กๆ ไม้ขึ้นเปนพุ่มอยู่สักแห่งหนึ่งสองแห่ง ราษฎรปล่อยโคกระบือแลม้าออกกินหญ้าเปนฝูง ๆ หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดาร เปนหนองใหญ่กว้างมาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองประมาณ ๒ วัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะทางห่างจากเมืองกุมภวาปี ๒๐๐ เส้น มีเกาะในหนองเรียกว่าเกาะดอนแก้ว มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะนั้นด้วย น้ำหนองหารนี้ไหลลงน้ำปาวไปตกลำพาชี เวลาบ่าย ๕ โมงเศษกลับมาแวะวัดโพธิ์ไชย มีพระ ๕ รูป เณร ๘ รูป มีการสอนหนังสือไทยบ้างเล็กน้อย
เมืองกุมภวาปีเปนเมืองขึ้นเมืองหนองหาร มีราษฎรประมาณ ๖๐๐๐ คน มีชาวเมืองนครราชสิมาตั้งทำมาค้าขายด้วยหลายครัว การทำมาหาเลี้ยงชีพ คือทำนาอย่าง ๑ หาปลาอย่าง ๑ ผสมโค กระบือ ม้า อย่าง ๑ ขายหนังเขาโคกระบืออย่าง ๑ เก็บผลเร่วอย่าง ๑ สับยางกะตังกะติ้วขายอย่าง ๑
วันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ออกจากเมืองกุมภวาปีผ่านทุ่งนาแล้วเข้าป่าเล็ก ๆ ถึงหนองสี่แจ เปนทุ่งกว้างเห็นทิวไม้โดยรอบ เข้าดงสี่แจเปนดงไม้เล็ก ๆ ข้ามห้วยน้ำฆ้อง แล้วผ่านหมู่บ้านสองเปลือยซึ่งเปนที่ราษฎรชาวเมืองนครนายก มาตั้งทำนาเข้าเจ้าหลายปีมาแล้ว คนพวกนี้เปนเชื้อลาวชาวเวียงจันท์แต่ก่อนเมื่อศก ๑๑๓-๑๑๔ ฝรั่งเศสให้พวกกรมการเมืองเวียงจันท์ลงมาเกลี้ยกล่อมให้กลับไปเมืองเดิมของปู่ย่าตายาย ผู้ที่มาเกลี้ยกล่อมมาบอกว่าจะได้บ้านเรือนไร่นาสารพัดไม่ต้องลงทุนรอนอย่างไร ไปอยู่กินตามชอบใจ พวกนี้หลงเชื่อก็ขายบ้านเรือนไร่นาอพยพไปเมืองเวียงจันท์ ครั้นไปถึงไม่ได้จริงดังคาดเห็นสู้อยู่เมืองนครนายกไม่ได้ ก็พากันอพยพกลับมา ที่ยังมีทุนรอนพอกลับมาถึงบ้านเดิมได้ก็มี ที่หมดทุนมาไม่ได้ ก็ตั้งทำไร่นาอยู่ในมณฑลอุดรที่ตำบลนี้บ้าง ตำบลอื่นบ้าง ยังมีอิกหลายสิบครัว ที่ตำบลนี้เปนที่นาดี มีชาวเมืองอุบลราชธานีและชาวเมืองนครราชสิมา กับคนพื้นเดิมอยู่ด้วยรวมกันเปน ๓ หมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาและนาเกลือมาถึงตำบลเสอเพลอเวลาเช้า ๒ โมงครึ่ง ระยะทาง ๒๐๐ เส้น
เวลาเช้า ๓ โมง ๔๐ นาที ออกจากที่พักตำบลเสอเพลอเข้าทางสายโทรเลข ข้ามห้วยสมพาดเปนเขตรเมืองกุมภวาปีกับอำเภอบ้านหมากแข้งต่อกัน พระศรีสุนทรกิจ ปลัดอำเภอชาวบ้านเดื่อหมากแข้งพร้อมด้วยกรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านมารับ ผ่านบ้านทอนและห้วยหลักนางขึ้นโคกป่าไม้ ถึงที่พักแรมตำบลหนองหมื่นเท้าเวลาเช้า ๕ โมง ระยะทาง ๓๐๕ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๐๕ เส้น
เมืองอุดรธานี
วันที่ ๑ มกราคม เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ออกจากหนองหมื่นเท้า เดินตามทางสายโทรเลข ผ่านบ้านทอนและบ้านคำกลิ้ง ที่บ้านคำกลิ้งมีทุ่งกว้างมีนา นายพันตรี หลวงพิทักษ์นรินทร์๓ ผู้บังคับการทหารราบที่ ๗ ประจำบ้านเดื่อหมากแข้ง กับนายทหารและนายร้อยตำรวจภูธรมารับกลางทาง เวลาเช้าโมงครึ่งถึงหนองขอนขว้าง ระยะทาง ๒๐๐ เส้น มีที่พักร้อน พักครู่หนึ่งแล้วเดินต่อไปตามทาง ซึ่งมีนาเข้าและนาเกลือจนถึงตำบลห้วยโซ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ข้าหลวงเทศาภิบาลซึ่งล่วงน่ามาคอยต้อนรับเปนตอนๆ กับพระรังสรรค์สารกิจ ข้าหลวงบริเวณหมากแข้งและข้าราชการประจำมณฑล พร้อมด้วยพระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย และพระยาประจันตประเทศธานี ผู้ว่าราชการเมืองสกลนครมารับที่นี่
ที่ห้วยโซนี้ถ้าฤดูฝนเปนห้วยที่น้ำไหลท่วมหนองอยู่นาน ๆ พ่อค้าที่จะข้ามล้อเกวียน และผู้คนไปมาได้ความลำบาก ข้าราชการในมณฑลนี้ พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรจึงช่วยกันสร้างสพานขึ้นด้วยไม้จริง กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๘ วา ๒ ศอก ข้ามห้วยโซนี้ กับได้ทำถนนจากสพานนี้ไปจดถนนน่าโรงพักตำรวจภูธรรวมกับถนนในเมือง (อุดรธานี) เปนทางกว้าง ๓ วา ๗ ศอก ยาว ๒๕ เส้น ๑๖ วา เพื่อเปนการสดวกแก่มหาชนที่ไปมา สพานแลถนนพึ่งแล้วในคราวนี้ พระรังสรรค์สารกิจ๔ จึงเชิญให้ตัดแพรแดงขึงสพานเปนการเปิดสพานข้ามห้วยโซนี้ด้วย แล้วไปตามถนนที่ถมใหม่ไปจนถึงที่พักที่มณฑลอุดร เวลาเช้า ๒ โมง ๕๐ นาที ระยะทาง ๑๐๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๓๐๐ เส้น
เวลาบ่าย ๒ โมงประชุมข้าราชการพ่อค้าราษฎรมาหาที่ปะรำน่าที่ว่าการมณฑล เวลาบ่าย ๓ โมงเสร็จการประชุม
ที่บ้านหมากแข้งนี้ เดิมเรียกว่า “บ้านเดื่อหมากแข้ง”๕ ตั้งอยู่ริมห้วยหมากแข้งเดิมเปนที่บ้านร้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองหนองคายมาตั้งเปนที่ว่าการมณฑลอุดรขึ้น ตั้งแต่รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ได้ปลูกสร้างที่ทำการต่างๆ และทำถนนหนทางขึ้นใหม่โดยลำดับมา เวลานี้ที่ว่าการมณฑล ที่ว่าการอำเภอ ศาล เรือนจำ โรงทหาร โรงพักตำรวจภูธร ออฟฟิศไปรสนีย์โทรเลข และบ้านเรือนข้าราชการอยู่ติดต่อเปนระยะ ๆ ลำดับกันไป มีตลาดขายของสด และมีตึกอย่างโคราชของพ่อค้านายห้างบ้าง มีวัดเรียกวัดมัชฌิมาวาศตั้งอยู่บนเนิน แลมีบ่อน้ำใหญ่สำหรับราษฎรได้ใช้น้ำทุกฤดูกาลด้วย มีบ้านราษฎรมาตั้งอยู่หลังบ้านข้าราชการบ้าง มีถนนตัดตรง ๆ ไปตามที่ตั้งที่ทำการ และร้านตลาดเหล่านี้หลายสาย และเมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าจะมาคราวนี้ มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอิกสายหนึ่ง และเมื่อรื้อที่ว่าการบัดนี้ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ ถนนสายนี้จะบรรจบกับถนนเก่าเปนถนนยาวและงามมาก
เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ไปดูร้านพ่อค้าแล้วไปตามถนนที่ตัดใหม่จนถึงหนองนาเกลือ เปนหนองใหญ่เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น ได้ขนานนามว่า “หนองประจักษ์” แลวันนี้เปนวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนารถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เวลาบ่ายมีการพิธีพระสงฆ์สวดมนต์ เวลาทุ่มเศษได้มีการประชุมข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนพร้อมกัน เลี้ยงอาหารเวลาค่ำในปรำตรงน่าที่ว่าการ มีพิณพาทย์เมืองกมุทาไสยมาทำวงหนึ่ง
วันที่ ๒ มกราคม เวลาเช้าโมงเศษ ไปวัดมัชฌิมาวาศ พระครูธรรมวินยานุยุตก์ เจ้าคณะเมืองหนองคายเปนเจ้าอาวาศมีพระ ๘ รูปเณร ๔ รูป และพระครูพุทธพจนประกาศ เจ้าคณะรองเมืองหนองคายมาคอยรับ ก็พักอยู่วัดนี้ด้วย ออกจากวัดไปดูหนองประจักษ์ กะที่สร้างสถานที่ทำราชการแลบ้านพักข้าราชการบนเนินรอบขอบหนองนั้น
เวลาบ่าย ๕ โมง ไปดูโรงทหารและโรงตำรวจภูธร แล้วมาที่ปรำน่าที่ว่าการ ซึ่งแต่งเปนโรงพิธี พระสงฆ์ ๑๐ รูปมีพระครูธรรมวินยานุยุตก์เปนประธาน สวดมนต์ในการเฉลิมพระชนม์พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร สวดทวาทศปริตอย่างทำนองพระธรรมยุติกา สวดเรียบร้อยดีมาก ได้ความว่ากรมหลวงประจักษ์ ฯ ได้ทรงซักซ้อมไว้ เดี๋ยวนี้มีผู้ชอบฟังทำนองนี้มาก พระสงฆ์ในเมืองหนองคายจึงได้ซักซ้อมสืบมา สวดได้หลายวัด
วันที่ ๓ มกราคม เวลาเช้าเลี้ยงพระสงฆ์ ๑๐ รูปที่สวดมนต์เสร็จการพิธีแล้วเตรียมการที่จะเดินทางต่อไป
วันที่ ๔ มกราคม เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ออกจากบ้านหมากแข้งขี่ม้ามาตามถนนที่ตัดใหม่จนถึงลำธารซึ่งน้ำไหลมาจากทุ่งนาเกลือ มีสพานซึ่งสร้างใหม่คราวนี้ พระรังสรรค์สารกิจ เชิญให้เปิดสพานแลถนนที่สร้างใหม่ทำตั้งแต่หมู่บ้านมีราษฎรขายหม้อ กว้าง ๓ วา ยาว ๑๕ เส้น ๔ วา แลสพานข้ามลำธารทำด้วยเสาไม้จริง กว้าง ๒ วา ๑ คืบ ๕ นิ้ว ยาว ๑๐ วา แล้วข้ามสพานไปทุ่งนา ขึ้นเนินพระนิเวศ ออกทุ่งนาผ่านหนองบึงจาน บ้านไก่เถื่อน บ้านท่าตูม ถึงห้วยหลวงซึ่งเปนที่เขตรอำเภอหมากแข้งกับเมืองหนองคายต่อกัน พระยาประทุมเทวาธิบาลล่วงน่ามาคอยรับ แล้วผ่านบ้านดงลิง ทุ่งบ้านพันเหมือน เดินตามทางโทรเลขมาตั้งแต่บ้านหมากแข้งถึงบ้านขาว เวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง ระยะทาง ๓๘๐ เส้น พักกินเข้าเช้าแล้ว เวลาเช้า ๔ โมงครึ่งเดินทางต่อไป ผ่านหนองนกเขียน บ้านจูนบาน มีที่พักอิกแห่งหนึ่ง เวลาบ่ายโมงถึงริมลำน้ำซวย ระยะทาง ๓๕๘ เส้น มีที่พักแรม รวมระยะทางวันนี้๗๓๘ เส้น เวลาค่ำวันนี้ปรอทลงถึง ๓๘ ดีกรี ฟาเรนไฮต์ หนาวกว่าวันอื่นที่ได้พบในคราวนี้
เมืองหนองคาย
วันที่ ๕ มกราคม เวลาย่ำรุ่งครึ่ง พระยาประทุมเทวาธิบาล ขอให้เปิดสพานข้ามน้ำซวยซึ่งสร้างใหม่ กว้าง ๒ วา ยาว ๒๒ วา ๒ ศอก เสาไม้จริง พื้นปูกระดาน และได้ทำศาลาที่พักไว้ใกล้เชิงสพานด้วย เปิดสพานแล้วข้ามสพานผ่านทุ่งบ้านนาไหม ห้วยดานบ้านโพนตาล มาพักกินเข้าเช้าที่บ้านผักหวาน ระยะทาง ๒๕๘ เส้น ถึงเวลาเช้าโมงครึ่ง ที่ตำบลนี้ยังมีรอยดินเปนสนามเพลาะค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้งรบกับราชวงศ์เวียงจันท์เหลืออยู่พอสังเกตได้ เวลาเช้า ๓ โมงเดินทางไปข้ามห้วยตาด ห้วยยาง ห้วยกงสี ขึ้นโคกสร้างหิน ลงทุ่งคำแค้ ทุ่งห้วยแก ถึงทุ่งระนามแล้วถึงเมืองหนองคายเวลา ๕ โมงเช้า ที่พักแรมตั้งอยู่คนละฟากถนนกับวัดหายโศกซึ่งอยู่ริมลำน้ำโขง พระยาบริหารราชอาณาเขตร ปลัดเมืองหนองคาย และพระบริบาลภูมิเขตรนายอำเภอเมือง พร้อมด้วยกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยและราษฎรชาวเมืองมาคอยรับ ราษฎรที่มาวันนี้มากต่อมากทั้งที่อยู่ใกล้แลที่มาแต่ไกลทางตั้งวันหนึ่งสองวัน มีเครื่องสักการะมาให้ ขอเฝ้าขอเห็นตัวเรื่อยกันไปเกือบวันยังค่ำ เพราะตั้งแต่กรมหลวงประจักษ์เสด็จกลับไปได้ถึง ๑๓ ปี พึ่งมีเจ้านายเสด็จขึ้นไปในคราวนี้
ในวันนี้นายพันตรี โนลัง ข้าราชการฝรั่งที่เมืองเวียงจันท์มาหา บอกว่าเคาเวอเนอเยเนราล ให้นำเรือกลไฟชื่อลาแครนเดียลำ ๑ เรือไฟเล็กอิกลำ ๑ รวม ๒ ลำมาให้ใช้ในการเดินทางต่อไป แลได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานข้างฝั่งซ้ายต้อนรับให้ทุกแห่ง ได้สั่งให้ขอบใจเคาเวอเนอเยเนราล แลขอบใจตัวเขาตามสมควร เวลาบ่าย ๓ โมงเศษลงเรือชล่ายาวเขียนลายทองมีเก๋งของพระประทุมเทวาธิบาลล่องตามลำน้ำโขงมาข้างใต้ ขึ้นที่ท้ายบ้านพวกจีนดูร้านพ่อค้าจีนขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากกรุงเทพ ฯ และตลาดขายของสด แล้วเดินดูเมืองกลับมาที่พัก
เวลาค่ำ ได้เชิญนายพันตรี โนลัง ฝรั่งเศสซึ่งนำเรือมารับมากินอาหารด้วย
วันที่ ๖ มกราคม เวลา ๒ โมงเศษ ไปวัดมีไชย ซึ่งพระครูพุทธพจนประกาศ เจ้าคณะรองเมืองหนองคาย เปนเจ้าอาวาส
เวลาเช้า ๔ โมง พวกชาวเมืองแห่บายศรีขวัญ ตีฆ้องแลโห่ร้องเปนกระบวนมาประชุมพร้อมกันที่ปรำใหญ่ข้างที่พัก พวกจีนพ่อค้ามีกิมฮวยอั้งติ๋วเข้ากระบวนแห่มาด้วย ท้าวเกษน้องพระยาประทุมเทวาธิบาลอ่านคำอำนวยพรทำขวัญ แล้วผู้เฒ่าผูกมือตามประเพณี
เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ไปเปิดสพานข้ามลำห้วยหายโศก ริมวัดหายโศกใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง สพานนี้ข้าราชการแลราษฎรได้เรี่ยรายเงินสร้างขึ้นยาว ๑๔ วา ๓ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๑ วา ๑ คืบ ๕ นิ้ว ปูกระดานเสาไม้จริง กับสร้างศาลาหลังหนึ่ง ๒ ห้องมีเฉลียงด้านหนึ่ง หลังคามุงกระเบื้อง แล้วไปดูแข่งเรือยาว ๒ คู่ เสร็จแล้วไปวัดศรีสระเกษ วัดหกอ่อง แลวัดโพธิ์ไชยซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูป เรียกว่าพระไสย อันเปนพระชุดเดียวกันกับพระเสรีมพระสุก ซึ่งเดิมอยู่เมืองเวียงจันท์พระเสรีมนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญลงมากรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้อยู่ในพระวิหารวัดประทุมวนาราม แต่พระสุกนั้นกล่าวกันว่าเจ้าอนุพาล่องน้ำโขงลงไป เรือล่มจมอยู่ในแม่น้ำของใต้เมืองหนองคาย ตรงที่ซึ่งเรียกว่าเวินพระสุกบัดนี้ ที่วัดโพธิ์ไชยนี้มีพระเจดีย์ลาวองค์ ๑ ฝีมือทำงามนัก
เวลาค่ำให้เชิญเจ้าเมืองกรมการ มีพระยาประทุมเทวาธิบาลและพระบริบาลภูมิเขตรเปนต้นมากินอาหารด้วย
เมืองหนองคายนี้ พึ่งตั้งเมื่อในเมื่อรัชกาลที่ ๓ เมื่อตีได้เมืองเวียงจันท์คราวเปนขบถ กวาดชาวเวียงจันท์เปนเชลยลงไปแล้วโปรดให้แบ่งคนเมืองยโสธรมาตั้งบ้านหนองคายขึ้นเปนเมือง แต่เปนทำเลดีกล่าวกันว่าเดี๋ยวนี้ใหญ่โตกว่าเมืองอื่นๆ บรรดาที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงทุกเมือง มีหมู่บ้าน ๔๒๑ หมู่ มีเรือน ๖๐,๐๔๔ หลังคาเรือน ราษฎรชาย ๓๐,๓๑๑ หญิง ๒๙,๗๓๓ รวม ๖๐,๐๔๔ คน
สินค้าเข้าเมืองมาทางกรุงเทพ ฯ เปนพื้น มีเครื่องผ้าเครื่องแพรและเครื่องทองเหลืองเครื่องเคลือบต่าง ๆ สินค้าที่มาทางเขตรฝรั่งเศสทางเมืองญวน มีสุราแลน้ำปลา ปืนกับน้ำมันปิรโตเลียม แต่น้ำมันปิรโตเลียมทราบว่ามาจากกรุงเทพ ฯ ทางปากลาย มาขายเปนคราว ๆ
สินค้าออก ส่งลงไปขายทางเมืองนครราชสิมาและกรุงเทพ ฯ มีเร่ว ครั่ง กำยาน ยางกะตังกะติ้ว ยาสูบ และเขาหนัง ครั่งและกำยาน และยางกะตังกะติ้วรับมาจากหลวงพระบางโดยมาก สินค้าจากหนองคายมีเกลือ ส่งไปขายเมืองเชียงขวางและหลวงพระบางปีละมาก ๆ
สินค้าที่มาจากกรุงเทพ ฯ พ่อค้าได้ส่งไปขายฝั่งซ้าย ฝรั่งเศสยังไม่เก็บภาษีอะไร เว้นแต่ไม้ขีดไฟต้องเสียภาษีแรง
เมืองโพนพิสัย
วันที่ ๗ มกราคม เปนกำหนดจะล่องเรือจากเมืองหนองคาย แต่ฤดูนี้เวลาเช้าหมอกลงจัด คนอยู่ห่างกันเพียง ๖ ศอกก็แลไม่เห็นกันต้องรอจนเวลาเช้าโมง ๔๐ นาที พอหมอกในลำแม่น้ำโขงค่อยจาง จึงได้ลงเรือลาแครนเดีย เปนเรือสำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งแต่เคาเวอเนอเยเนราลเปนต้น ไปมาทางลำแม่น้ำโขง เก๋งมีห้องนั่งห้องนอนแลห้องกินเข้า มีดาดฟ้านั่งชั้นบนแลครัวหุงต้มบริบูรณ์ทุกอย่าง๖ ส่วนเรือไฟลำเล็กสำหรับรับของที่เหลือบรรทุกเรือลำใหญ่ล่องตามมา การที่ล่องคิดจะหยุดพักแต่ในพระราชอาณาเขตร เพราะเขาจัดรับมีที่พักแรมทุกระยะตลอดทาง เปนแต่ใช้พาหนะของฝรั่งเศส เขาให้นายพันตรี โนลังลงมาด้วยจนตลอดทาง ขณะเมื่อลงเรือมีข้าราชการแลราษฎรมาส่งเปนอันมาก พระก็มาสวดชยันโตประน้ำมนต์บนร้านริมซุ้มประตูบนตลิ่งทางลงเรือ พวกส่งโห่ฮิ้ว เรือลาแครนเดียยิงปืนสลุต เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๕๐ นาที เรือใช้จักรออกจากท่า ราษฎรตามหมู่บ้านริมน้ำเมืองหนองคายมานั่งอยู่ริมตลิ่งเปนหมู่ ๆ ตลอดไป เรือล่องลงมาถึงแก่งโคนเปนทีแรกมีเทือกศิลาดาลเล็กน้อยไม่เปนแก่งสำคัญอันใด ตามหาดแลริมฝั่งน้ำราษฎรปลูกผักปลูกยาเปนระยะ ๆ ไป บางแห่งก็เปนป่าไม่มีผู้คน ในลำน้ำโขงมีจรเข้ และริมตลิ่งเห็นนกยูงบางแห่ง บางแห่งก็เห็นลิง และบางแห่งที่ใกล้หมู่บ้านเห็นกระบือลงกินน้ำเปนฝูง ๆ แลเห็นเครื่องดักปลาบ้าง นาน ๆ จึงเห็นเรือลำหนึ่งสองลำ รู้สึกว่าเปลี่ยวมาก เวลาเช้า ๔ โมง ๓๐ นาที ถึงเมืองโพนพิไสย (เขตรเมืองหนองคายต่อกับเมืองโพนพิสัยที่ห้วยหลวง)พระยาพิไสยสรเดชได้ล่วงน่าลงมารับ แวะขึ้นดูเมืองโพนพิไสย แล้วไปบ้านพระยาพิไสยสรเดช พอหมดเวลาครึ่งชั่วโมงที่กำหนดไว้ก็กลับลงเรือใช้จักรต่อไป เห็นภูเขาควายข้างฝั่งซ้ายอยู่ข้างน่า ผ่านดอน (คือ เกาะ) คว่างคลี เวลาเช้า ๕ โมง ๕๐ นาที ถึงแก่งขี้เหี้ยเปนแก่งเล็กเหมือนกัน แล้วถึงปากน้ำงึม เห็นภูเขาควายอยู่ข้างหลัง เวลาเที่ยงถึงเวินสุก (เรียกตามนามพระสุก ที่ว่าเจ้าอนุพามาจมที่นี่) เห็นเทือกเขาภูหอภูโฮงทางไปเมืองเชียงขวางอยู่ทางฝั่งซ้าย แล้วถึงแก่งมะขามหวานเวลาเที่ยง ๔๐ นาที ผ่านน่าเมืองรัตนวาปีเลยปากน้ำคาดไปหน่อยหนึ่ง เวลาบ่ายโมงกับ ๕๐ นาที เรือกระทบศิลาใต้น้ำพอได้ยินเสียงดัง และเรือโคลงหน่อยหนึ่งแล้วแล่นต่อไป บ่าย ๒ โมง ๒๐ นาที ถึงดอนจาวเปนหาดทรายใหญ่ยื่นออกมา ผ่านปากน้ำกะมัง บ่าย ๒ โมงครึ่งถึงแก่งอาฮอง เปนแก่งใหญ่ดูงาม มีเทือกศิลาขวางน้ำออกมาทั้ง ๒ ข้าง เปิดช่องไว้แต่ตรงกลาง เหมือนกับคนแกล้งทำไว้ เขาว่าน่าน้ำ ๆ วนร้ายนักแต่น่าแล้งเรือเดินได้สดวก ต่อลงมาถึงดอนโคราช บ่าย ๒ โมง ๔๐ นาที แวะรับฟืนที่บ้านท่านาคำฝั่งซ้าย มีพวกผู้ไทยตัดฟืนส่งเรือฝรั่งเศส คิดค่าแรงให้คิวบิกเมเตอร์ต่อ ๕๐ อัฐ (ในฝั่งโขงนี้ใช้เงินบาทหนึ่งต่อ ๕๐ อัฐ) เวลาบ่าย ๓ โมง ๒๐ นาที ออกเรือพอเห็นเชิงเขาภูหอภูโฮงถึงปากน้ำทวย เวลาบ่าย ๔ โมง ๓๕ นาที ถึงแก่งอาฮองเปนแก่งใหญ่กว่าแก่งอาฮอง และว่าน่าน้ำ ๆ วนลงยากกว่าแก่งอาฮอง ต่อมาถึงดอนไคเปนหาดทรายใหญ่ บ่าย ๕ โมง ๒๐ นาที ถึงแก่งปะคางเปนแก่งเล็ก ผ่านดอนกะต่ายถึงปากน้ำเงียบซึ่งเปนทางลัดมาจากปากทวย เวลาย่ำค่ำถึงบ้านบึงกาฬแขวงเมืองโพนพิไสย ขึ้นพักแรมณะที่พักริมหาดมีสพานเรือทอดออกไป เรือเทียบได้สดวก เรือกลไฟข้ามไปพักรับฟืนฝั่งซ้าย
วันที่ ๘ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที ไปดูหมู่บ้านบึงกาฬและวัด หลังบ้านออกไปถึงบึงกาฬ ราษฎรได้อาไศรยใช้น้ำทุกฤดู ราษฎรพากันมาส่งที่ริมตลิ่งเปนอันมาก เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๕ นาที ออกเรือล่องต่อไป ถึงปากน้ำซันเห็นเขางู ผ่านดอนกำแพงเวลาเช้า ๓ โมง ๑๐ นาที เรือติดตื้นที่ใกล้บ้านหนองทองทั้ง ๒ ลำ คนเรือยาวเมืองหนองคายที่ตามมาข้างหลังมาทัน ได้ช่วยเข็นเรือให้ออกจากที่ ออกได้ทีหนึ่งแล้วติดอิก ได้พากเพียรถอยเรือกันวันยังค่ำจนหางเสือเรือคด เรือลาแครนเดียออกจากที่ตื้นได้เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ แต่เรือกลไฟเล็กซึ่งตามมาอิกลำหนึ่งกินน้ำลึกกว่า ได้เพียรเข็นกันอยู่จนค่ำมืดออกไม่ได้ กัปตันเรือต้องให้ถ่ายคนและชลอมาลงเรือลาแครนเดีย เรือไฟลำเล็กจึงหลุดได้ ต้องพักแรมในเรืออยู่ที่ใกล้บ้านหนองทองคืนหนึ่ง
เวลาบ่าย ๔ โมงระหว่างเวลาที่กัปตันพยายามจะถอยเรือจากที่ติดได้ขึ้นตลิ่งไปดูบนฝั่งแม่น้ำโขงตรงที่เปลี่ยวว่าจะเปนอย่างไร เดินตรงเข้าไปในป่าสัก ๑๐ เส้นแล้วจึงกลับมา ที่ป่าริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่เปนป่าใหญ่ มีต้นไม้สูงอย่างย่อม ๆ ขึ้นทึบอยู่เพียงคันตลิ่ง ห่างเข้าไปไม่กี่เส้นพอพ้นคันตลิ่งก็ถึงที่ลุ่ม แลดูเปนบึงยาวตลอดไปตามลำน้ำ เขาว่ามักเปนเช่นนี้จึงตั้งบ้านเรือนริมลำน้ำไม่ใคร่ได้
เมืองไชยบุรีแลท่าอุเทน
วันที่ ๙ มกราคม เวลาเช้าให้เรือยาวออกไปหยั่งร่องน้ำก่อน ครั้นเวลาเช้า ๒ โมงออกเรือเรียบชายหาดข้ามไปทางร่องน้ำฝั่งซ้าย เวลาเช้า ๒ โมง ๕๐ นาทีถึงแก่งสะดอกเปนแก่งใหญ่ มีศิลาในเวิ้งใหญ่เรียกว่าวังธาตุ เพราะเหตุว่ามีเจดีย์อยู่บนศิลาก้อนใหญ่แห่งหนึ่ง แต่เจดีย์นั้นพังเสียนานแล้ว เหลือแต่ฐานพอสังเกตได้ เขาว่าพวกชาวเมืองขึ้นล่องในฤดูน้ำ ถึงแก่งนี้ต้องขึ้นดูแนวน้ำที่ถานพระเจดีย์เปนที่สังเกต ถ้าแนวน้ำเพียงนั้น ๆ ขึ้นล่องได้ ถ้ากว่านั้นขืนขึ้นล่องเรือล่มด้วยทนแรงน้ำวนไม่ไหว เวลาเช้า ๔ โมง ๓๐ นาทีผ่านกองศิลาที่เขางูกับเขากระดึงต่อกัน แลถึงปากเจ้าเขากระดึง และถึงห้วยบั้งบาดเขตรเมืองโพนพิสัยกับเมืองไชยบุรีต่อกัน ต่อลงมาถึงห้วยดอกไม้ เห็นเขาภูหลักพันลึกเข้าไป แลเห็นเขาภูวังอยู่ข้างขวาตรงบ้านห้วยสอด ระยะนี้มีบ้านรายห่าง ๆ เห็นเรือพายเล็ก ๆ สองลำ เมื่อจวนใกล้เมืองไชยบุรีไม่แลเห็นภูเขา เวลาบ่ายโมงหนึ่งกับ ๒๕ นาที ผ่านดอนแพงเปนระยะที่น้ำตื้น ร่องคดเดินเรือยาก บนเกาะมีไร่ยาสูบกล้อง บ่าย ๒ โมง ๒๐ นาทีถึงหาดบ้านพอก มีทุ่นทาสีแดงสีดำหมายร่องน้ำเปนระยะไป กรมทางฝรั่งเศสทำหมายไว้สำหรับเรือไฟเดินขาล่องเอาทุ่นแดงไว้ซ้ายทุ่นดำไว้ขวา เวลาบ่าย ๒ โมง ๓๕ นาทีถึงแก่งพง เปนแก่งสำคัญ เดินเรือยากในฤดูน้ำน้อย เพราะศิลาอยู่ใต้น้ำเปนหย่อม ๆ เห็นได้บ้างแลไม่เห็นบ้างมีเต็มแม่น้ำ ระยะยาวสัก ๒๐ เส้น เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสกำลังทำเครื่องหมายก่อหลักด้วยคอนคริตบนศิลา หมายแดงดำบอกร่องให้เรือเดิน เวลานี้ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องจอดเรือแวะที่บ้านปงฝั่งขวา รับฟืนและรับคนนำร่องเปนฝรั่งเศสขึ้นมาช่วยอิกคนหนึ่ง เวลาบ่าย ๔ โมง ๒๕ นาทีถึงบ้านพนมเหนือแล้วถึงบ้านพนมใต้จึงส่งคนนำร่องกลับไป เวลาบ่าย ๕ โมงถึงเมืองไชยบุรี เรือเทียบที่สพานเรือก พระไชยราชวงศา ผู้ว่าราชการเมืองไชยบุรีและกรมการลงมารับ เมื่อขึ้นบกมีพระสวดไชยมงคล นักเรียนร้องคำโคลงทำนองชาวเมือง กำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรมารับมาก แต่มีเวลาน้อยขึ้นบกเพียง ๑๐ นาที ต้องกลับลงเรือ เพราะจะรีบล่องให้ถึงที่แรมก่อนมืด เรือเดินผ่านปากน้ำสงครามแล้ว ถึงเมืองท่าอุเทนเวลาย่ำค่ำครึ่ง พอหมอกลงมืดกับตันไม่กล้าเอาเรือไฟไปจอดที่ท่าเมืองท่าอุเทน ต้องเดินเรือไปตามร่องฝั่งซ้ายที่เคยเดิน ขออนุญาตจอดอยู่น่าเมืองฟองวินปากน้ำหินบูน ที่ตรงนี้ว่ามีโรงทหารและมีข้าหลวงรักษาราชการอยู่ แลว่ามีโรงถลุงตะกั่วลึกเข้าไป แต่เมื่อเรือถึงมืดเสียแล้วหาได้เห็นไม่ พอเรือจอดเรียบร้อยแล้ว พระศรีวรราชผู้ว่าราชการเมืองท่าอุเทนนำเรือยาวมารับ พายเลียบชายหาดข้ามไปฝั่งเมืองท่าอุเทน ที่บนฝั่งจุดไต้ไฟรับ ตลิ่งสูงกว่า ๕ วา แลดูเปนแถวยาวสลับเปนชั้นกันขึ้นไป มีนักเรียนร้องคำไชยมงคล แลกรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรมารับเปนอันมาก ที่พักแรมอยู่ใกล้ที่ว่าการเมืองตรงถนนน่าท่าขึ้นไป มีถนนตัดเปนสาย ๆ ระหว่างที่พัก และรายโคมไฟตามทาง เปนที่พักอย่างสบายแห่งหนึ่ง
ที่เมืองท่าอุเทนนี้มีราษฎร ๒๐,๐๐๐ เศษ มีญวนมาจากเมืองติงเง้ (เมืองเว้) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ประมาณ ๒๐-๓๐ หลัง จำนวนคนราวสัก ๑๐๐ คน พวกญวนเหล่านี้เดินบกมาทางเมืองคำเกิดคำมวน หนทาง ๑๕ วันถึงเมืองท่าอุเทน หาเลี้ยงชีพด้วยการซื้อของจากเมืองหนองคายมาขาย ไม่ได้ตั้งทำไร่นาอันใด และมีจีนพ่อค้าประมาณ ๑๐ คนรับสินค้าจากเมืองหนองคายมาขาย และบรรทุกสินค้าไปขายเมืองหนองคาย สินค้ามีเร่วแลยางกะตังกะติ้วกับเขาหนังเปนต้น สินค้ามาจากฝรั่งเศสไม่ใคร่มีอะไร นอกจากน้ำมันปิรโตเลียม ซึ่งนาน ๆ มีมาครั้งหนึ่ง ได้ความว่าลงมาทางปากลาย ส่วนราษฎรชาวเมืองก็ทำนาแลผสมโคขาย ชาวเมืองท่าอุเทนนี้ว่าเปนคนชาติย้อโดยมาก แต่แต่งตัวอย่างชาวเมือง ภาษาพูดก็เหมือน ๆ กัน แต่เปนสำเนียงเพี้ยนกันบ้าง พระศรีวรราชเล่าว่าพวกย้อนี้เดิมอยู่เมืองไชยบุรีเมื่อครั้งขึ้นเมืองเวียงจันท์ ครั้นเสียเมืองพวกย้อก็หนีไปตั้งอยู่เมืองหลวงโปงเลงทางเมืองคำเกิดคำมวน เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร ได้แต่งคนลงไปเกลี้ยกล่อมพวกย้อลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองท่าอุเทน ได้ความดังนี้
การบรรทุกสินค้าไปมาระหว่างเมืองท่าอุเทนกับเมืองอื่นที่อยู่ริมลำน้ำของ เดิมไม่มีหนทางเกวียนใช้แต่ทางน้ำ ขาขึ้นลำบาก แต่เดี๋ยวนี้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการหัวเมืองรายทางได้ทำทางเกวียนเดินตลอดลุ่มแม่น้ำโขง แล้วข้าหลวงเทศาภิบาลจะตัดหนทางเกวียน จากเมืองท่าอุเทนให้ไปต่อกับเมืองหนองคาย ทางเมืองสกลนครฤๅหนองหารต่อไป เพื่อเปนการสดวกแก่การค้าขาย
เวลาพักอยู่ที่เมืองท่าอุเทน ได้เห็นผ้าซึ่งเขานำมาปูโต๊ะรับผืนหนึ่ง เปนผ้าปักไหมเบญจรงค์ลายทรงเข้าบิณฑ์ ขนาดผ้าห่มนอน ฝีมือปักวิจิตรบรรจงมาก สังเกตได้ว่าเปนของเก่า ไม่ต่ำกว่าครั้งรัชกาลที่ ๑ แลเปนฝีมือช่างหลวงกรุงเทพ ฯ เห็นจะเปนผ้าที่เจ้าเวียงจันท์ได้พระราชทาน ครั้งพวกเจ้าอนุหนีจากเวียงจันท์ล่องน้ำโขงลงมา ผ้าผืนนี้จะตกถึงมือผู้ใดผู้หนึ่งจึงคงอยู่ที่นี่ เปนของผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งว่าได้มาแต่ครั้งปู่ ซื้อไว้เปนราคา ๒๐ บาท เจ้าของจะให้แต่ได้คิดราคาเงินให้ ๔๐ บาท จะเอามาทูลเกล้า ฯ ถวาย
เมืองนครพนม
วันที่ ๑๐ มกราคม เวลาเช้าโมงหนึ่ง ราษฎรชายหญิงพากันมาหาเปนอันมาก พวกญวนแลจีนพ่อค้าก็มาด้วย แล้วไปดูทำเลบ้านเมืองและตลาดของสดซึ่งอยู่น่าท่าขึ้น จนเวลาเช้า ๓ โมงลงเรือกลไฟซึ่งข้ามมาคอยรับที่น่าเมือง เรือเดินตามทางซึ่งกรมการเมืองท่าอุเทนได้หมายกรุยไว้ตั้งแต่วันก่อน ทางฝั่งซ้ายเห็นภูหินเหล็กไฟซึ่งมียอดเรียงกันไป แลไม่ใคร่มีต้นไม้ แม่น้ำตอนนี้กว้างขึ้น เวลาเช้า ๔ โมงถึงเวินพระบาท เพราะมีก้อนศิลาอยู่ในน้ำมีรอยพอสมมุติว่าเปนรอยพระบาทเปนที่นับถือนมัสการกัน แล้วถึงดอนโดนมีวัดบาดหลวง มีเตาเผาปูนทางฝั่งซ้าย ทางฝั่งขวาเห็นบ้านสำราญ และเมืองอาจสามารถซึ่งเปนเมืองเล็กเสมอตำบลอันหนึ่ง แล้วถึงบ้านหนองแสงมีวัดสังฆราชฝรั่งเศส เรือจวนถึงน่าเมืองนครพนม ที่เมืองยิงปืนสลุต เรือเทียบท่าเมืองนครพนมเวลา ๕ โมงเช้า พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ข้าหลวงบริเวณธาตุพนม๗ และพระยาพนมนครานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครพนม พระยาศะศิวงศ์ประวัติ จางวางเมืองมุกดาหาร และพระอนุชาติวุฒาธิคุณ ข้าหลวงเมืองมุกดาหาร พร้อมด้วยกรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านนักเรียนแลราษฎรเปนอันมากมารับ เวลาขึ้นเรือลาแครนเดียยิงปืนสลุตด้วยเปนเขตรที่ให้เขาส่งเพียงนี้ บนบกพระสงฆ์สวดไชยมงคล นักเรียนร้องคำโคลงทำนองซึ่งนิยมกันในพื้นเมือง และพวกญวนถือธงตีฆ้องกลองเปนกระบวนแห่มารับและตามมาด้วย เดินมาตามทางถนนริมลำน้ำมีชาวเมืองรายทางตลอดไป เมื่อผ่านวัดมีพระสงฆ์สวดไชยมงคล ถึงที่พักซึ่งข้าหลวงบริเวณจัดรับอยู่ริมทุ่ง แต่ในที่ ๆ ปลูกที่พักเปนลานใหญ่มีร่มไม้และเวลานี้ยังเปนฤดูดอก และลมพัดอยู่เสมอพอสบายดี เวลาเที่ยงเศษ ข้าราชการพ่อค้าแลราษฎรประชุมพร้อมกันในปรำข้างที่พัก เปนการต้อนรับ
เวลาบ่าย ๓ โมง หลวงเอกอาสา นายอำเภอเมืองอาจสามารถนำพวกหญิงชาติแสกมามีการเล่น ซึ่งเรียกว่าเต้นสากให้ดู มีหญิง ๑๐ คู่ถือปลายไม้ยาว ๆ พาดบนไม้ท่อนใหญ่ ๒ ท่อนนั่งตรงกันเปนคู่ ๆ จับไม้ที่ถือกระทบเปนจังหวะพร้อม ๆ กันแล้วมีหญิงอิก ๒ คู่ผลัดกันเต้นข้ามไปในระหว่างไม้ที่กระทบกันนั้น คนที่ถือไม้ร้องโห่ฮิ้วขัดจังหวะไปด้วย พวกแสกนี้ว่าเดิมมาจากเมืองแสกอยู่ทางเขาบรรทัดต่อแดนญวน ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองอาจสามารถมาช้านาน สืบต่อกันมาหลายชั่วแล้ว แต่งตัวเปนคนชาวเมืองพูดภาษาชาวเมือง แลภาษาแสกนั้นก็เปนภาษาไทยอย่างหนึ่งไม่ผิดกันนัก
เวลาบ่ายพวกฝรั่งเศสที่ได้มาส่งมาลากลับไป ได้ตอบแทนคุณแลขอให้เขาขอบใจ เคาเวอเนอเยเนอราลอิกครั้ง ๑ ถึงบ่าย ๔ โมง สังฆราชปิโอ ซึ่งเปนหัวน่าบาตหลวงทั้งหลายในลุ่มน้ำโขง และบาตหลวงอิก ๖ รูปมาหา ได้ความว่ามีคนเข้ารีตถือสาสนาคฤศตังทางฝั่งซ้าย ๑,๕๐๐ คน ทางฝั่งขวา ๗,๐๐๐ คน สังฆราชคนนี้ได้คุ้นเคยกันมาแต่เมื่อยังเปนเจ้าวัดอยู่เมืองจันทบุรี
เวลาบ่าย ๕ โมงไปดูสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองนครพนมจนถึงวัดโพธิ์
เวลาค่ำมีหมอลำมาเป่าแคนร้องลำว่ากันระหว่างชายกับหญิงแล้วราษฎรได้แห่ผ้าป่าซึ่งเรี่ยรายกัน ผ่านที่พักมาให้อนุโมทนาแล้วไปทอดณะวัดต่าง ๆ ของผ้าป่าแต่งในกระจาดปิดกระดาษสีต่าง ๆ แห่ห้อมล้อมกันด้วยไต้ไฟ และโห่ร้องกันมาตามทาง คนในกระบวนประมาณ ๔๐๐ คน
วันที่ ๑๑ มกราคม เวลาเช้า ๒ โมง ไปดูวัดธาตุ แล้วขี่ม้าไปตามถนนริมแม่น้ำโขงจนถึงทางสามแยกซึ่งเรียกว่าต้นเมือง มีถนนไปตามริมน้ำสายหนึ่ง ถนนไปทางหลังบ้านราษฎรออกทุ่งถึงที่พักสายหนึ่ง แล้วมีถนนตัดใหม่ต่อถนนสายริมน้ำไปตำบลหนองแสง พระยาสุนทรนุรักษ์เชิญให้เปิดถนนตัดใหม่ กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๔๓ เส้นถึงบ้านหนองแสง ทางใหม่นี้มีบ้านราษฎรต่อไปตลอดถึงเมืองไชยบุรี ถนนสายนี้ทำเรียบร้อย และเปนถนนเล็กเพื่อจะได้รักษาง่าย ให้เปนประโยชน์แก่มหาชนไปมา ทำพิธีเปิดถนนแล้วขี่ม้าต่อไปตามถนนที่ตัดใหม่จนถึงวัดเซนต์แอน สังฆราชปิโอแลบาตหลวงซึ่งอยู่ที่ต่าง ๆ มาพร้อมกันคอยรับ สังฆราชได้ต้อนรับพาเข้าไปในบ้าน และนำนางชีฝรั่งเศส ๕ คนซึ่งมาช่วยสอนสาสนาให้รู้จักด้วย แล้วพาไปยังโบสถ์มีญวนเข้ารีตนำดอกไม้ธูปเทียนมาให้ด้วย จึงให้หลวงทรงสราวุธสารวัดไปรสนีย์โทรเลข๘ ซึ่งเปนผู้ถือสาสนาคฤศตังจุดเทียนนั้นบูชาพระให้เปนส่วนกุศลแก่เขา เวลาเช้า ๔ โมงกลับถึงที่พัก
เวลาบ่ายมีการประชุมบายศรีที่ปรำใกล้ที่พัก มีผู้เฒ่า ๒ คนซึ่งเปนอาจารย์ คือผู้ที่บวชเคยเปนสมภารมาแล้ว ๒ คน ว่าคำทำขวัญแลคนร้องดีผู้หนึ่ง เปนหมอลำด้วย นุ่งขาวสวมเสื้อขาว ว่าคำไชยมงคลเปนทำนองอย่างไพเราะ มีคนเป่าสังข์ประโคมพิณพาทย์ และโห่ฮิ้วพร้อมกัน บายศรีที่นี้ได้ตกแต่งอย่างประณีตบรรจง มีดอกไม้แห้งทำเปนดอกกุหลาบประดับด้วย
เวลาบ่าย ๕ โมง ไปที่บ้านพระยาสุนทรนุรักษ์ข้าหลวงบริเวณ และวันนี้เรือคาดซึ่งบรรทุกของล่วงน่ามาแต่เมืองหนองคายแต่รุ่งเช้าวันที่ ๖ มกราคม ได้มาถึงเวลาเช้า ๔ โมงบ้างบ่ายบ้างค่ำบ้าง เพราะมาอย่างรีบเร่ง
การเดินเรือในลำแม่น้ำโขงนี้มีเรือกลไฟบริษัทฝรั่งเศสเดินอยู่ในระหว่างเมืองเวียงจันท์กับเมืองสุวรรณาเขตร ขึ้นลำหนึ่งล่องลำหนึ่งทุกอาทิตย์ ได้ทราบว่ารัฐบาลออกเงินช่วยบริษัทปีละ ๔๐๐,๐๐๐แฟรงค์ คนโดยสานมีจีนพ่อค้าโดยมาก ราษฎรที่จะไปมามีน้อย
เมืองในพระราชอาณาเขตรทางฝั่งขวาลำน้ำโขงนี้ มักมีถนนสายใหญ่ริมน้ำ หรือห่างจากน้ำขึ้นมาบ้างเพียงเส้นเศษ แล้วมีถนนซอยขึ้นไปถึงทุ่งหลังบ้านราษฎร ที่เปนเมืองใหญ่เช่นเมืองหนองคาย เมืองนครพนมมีถนนซอยมากสาย ที่เปนเมืองเล็กก็มีน้อยสายตามควรที่จะมี บ้านราษฎรอยู่ตามถนนมีบ้านแลวัด มีรั้วหมายเขตรบ้านเปนที่เรียบร้อย เรือนราษฎรมักเปนเรือนใต้ถุนสูงโดยมาก หลังคามุงแฝก บางแห่งมุงด้วยไม้ไผ่หรือกระเบื้องไม้ ใต้ถุนเรือนมักมีที่ทอผ้า แลบางแห่งมีครกกระเดื่องตำเข้า และมักมียุ้งเข้าเล็กๆ หลังหนึ่งต่างหาก และที่เปนบ้านนอกมีคอกกระบืออยู่ใต้ถุนเรือนด้วย แต่ร้านขายของมักเปนเรือนชั้นเดียวอยู่ริมถนนใหญ่ ซึ่งเปนทำเลผู้คนไปมามาก
เมืองนครพนมมีจำนวนคน ๒๑,๔๑๘ คน สินค้าเมืองนครพนมส่วนสินค้าหาได้ในท้องที่ฝั่งขวามี เขา หนัง เร่ว ยางกะตังกะติ้ว ขี้ผึ้ง กับเกลือทำที่ริมลำน้ำสงครามแขวงเมืองท่าอุเทน เมืองอากาศอำนวย
สินค้าที่รับมาจากฝั่งซ้าย คือ หนัง เขา เร่ว ยางกะตังกะติ้ว นอ งา เขาอ่อน
สินค้าที่รับมาจากโคราช ด้ายเข็ด ผ้าแพร เครื่องทองเหลือง น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ
สินค้าจำหน่ายไปที่อื่น คือ สินค้าที่รับมาจากโคราช และเกลือนั้นจำหน่ายในพื้นเมืองตลอดไปจนฝั่งซ้าย สินค้านอกนั้นจำหน่ายไปส่งโคราช สินค้าฝั่งซ้ายขายข้ามมาทางนี้ ฝรั่งเศสเก็บภาษีสิบชักหนึ่ง แต่ของฝั่งนี้เข้าไปยังไม่เก็บภาษี ของอื่นๆ นอกจากไม้ขีดไฟ ๆ ไปขายที่เมืองสวรรณาเขตรเก็บภาษีกลักละโสฬศ น้ำมันก๊าดขายที่สวรรณาเขตรเก็บภาษีปีบละเหรียญ ยาสูบไปขายสวรรณาเขตรหนัก ๑๐ ชั่งเก็บภาษีเหรียญหนึ่ง สิ่งของเหล่านี้ขายตามฝั่งซ้าย ที่อื่นเหนือเมืองสวรรณาเขตรขึ้นมา เช่นเมืองท่าแขก เมืองฟองวินไม่เก็บภาษี
สินค้ายาสูบซึ่งปลูกริมน้ำตามฝั่งโขง แต่ก่อนเคยเปนสินค้าเมืองนครพนมส่งไปขายถึงโคราช เดี๋ยวนี้ขายกันแต่เพียงในพื้นเมืองและขายไปมณฑลอิสาณ แต่ไม่ส่งไปถึงโคราชเหมือนแต่ก่อน เพราะราคาตกด้วยยาหนองคายลงไปขายมาก และยากรุงเทพ ฯ ขึ้นมาทางรถไฟด้วย
สินค้าที่ฝรั่งเศสพาขึ้นมาขายทางเรือมีเหล้า น้ำมันก๊าด เหล้าราคาแพง ขายพวกฝรั่งเศสเองเปนพื้น แต่น้ำมันก๊าด นั้นขายถูกกว่าทางฝั่งนี้ แต่กระนั้นก็ขายกันอยู่เพียงในเขตรเมืองสวรรณาเขตร ข้างเหนือขึ้นมาใช้น้ำมันก๊าดที่มาจากโคราช
วันที่ ๑๒ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ๑๕ นาที ขี่ม้าจากที่พักเมืองนครพนม เดินทางไปเมืองสกลนคร ไปตามทางสายโทรเลขเปนป่าไม้เต็งรังเปนพื้น บางแห่งออกทุ่งนาบ้าง ข้ามห้วยเล็ก ๆ บ้าง เปนหนทางขึ้นเนินโดยมาก ผ่านบ้านใหม่ บ้านโพนงาม บ้านนาทราย ถึงบ้านดอนคูเวลาเช้า ๒ โมง ระยะทาง ๒๗๒ เส้น มีที่พักร้อนแลมีราษฎรชายหญิงมาคอยรับมาก ตามทางที่มาทางบ้านนาทรายมีทรายขาวซึ่งอาจผสมทำแก้วได้ เวลาเช้า ๓ โมงครึ่งเดินทางต่อไปตามทางสายโทรเลข เปนทางขึ้นเนินลงเนินป่าไม้เต็งรัง และมีทางเล็ก ๆ เข้าในหมู่บ้านซึ่งอยู่ลึกเข้าไป คือ บ้านเผิง บ้านโพ บ้านนามน และข้ามห้วยหลายแห่ง คือ ห้วยแล้ง ห้วยเผิง ห้วยคำ ห้วยสำโฮง แล้วถึงห้วยบังกอบ้านกุดรุคุ ถึงที่พักแรมเวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง ระยะทาง ๓๘๓ เส้น รวมระยะทางเดินวันนี้ ๖๕๕ เส้น กำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรมาคอยรับ ชาวบ้านนี้ว่าเปนพวกเกลิง แต่อยู่มาช้านานหลายชั่วคนแล้ว จนไม่รู้ว่าพวกเกลิงมาจากไหน ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า แลสักแก้มเปนรูปนก หญิงบางคนไว้ผมสูง แต่โดยมากแต่งตัวตามธรรมดาคนพื้นเมือง
เมืองกุสุมาลย์มณฑล
วันที่ ๑๓ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากกุดรุคุทางขึ้นเนินป่าไม้เต็งไปตามทางสายโทรศัพท์ ถึงห้วยหินสะแนนเวลา ๒ โมงเช้า ๑๕ นาที ระยะทาง ๔๑๐ เส้น มีราษฎรมาคอยรับ ผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งดักได้นกอินทรีคู่หนึ่งมาให้ ในหมู่ราษฎรมีคนไทยโย้ยคนหนึ่งแต่งตัวอย่างคนพื้นเมือง ว่ามาจากเมืองอากาศอำนวย กับมีพวกกะโซ้ซึ่งจะได้พบต่อไปมาด้วย เวลาเช้า ๓ โมง ๔๐ นาทีออกจากห้วยหินสะแนนขึ้นโคกไม้เต็งรังต่อไป เข้าเขตรเมืองโพธิไพศาลซึ่งเปนเมืองเล็ก ๆ อย่างตำบลกำนันแห่งหนึ่ง แต่ทางที่มานี้ไม่ได้ผ่านบ้านผู้คน แล้วข้ามห้วยทวยเขตรเมืองโพธิไพศาลกับเมืองกุสุมาลย์มณฑลต่อกัน เวลาเช้า ๔ โมง ๔๐ นาทีถึงที่พักแรมณะเมืองกุสุมาลย์มณฑล ระยะทาง ๒๖๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๖๗๐ เส้น พระอรัญอาสาผู้ว่าราชการเมืองกุสุมาลย์ กับกรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านแลราษฎรชายหญิงพากันมารับเปนอันมาก ชาวเมืองนี้เปนข่าที่เรียกว่ากะโซ้ เดิมมาจากเมืองมหาไชยกองแก้ว ผู้หญิงไว้ผมสูงแต่งตัวนุ่งสิ้นสวมเสื้อกระบอกย้อมคราม ห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งตัวอย่างคนชาวเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าขัดเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าชายหนึ่งข้างหลังชายหนึ่ง มีภาษาที่พูดคล้ายสำเนียงมอญ แล้วพวกผู้ชายก็มีการเล่น เรียกว่าสะลา คือมีหม้ออุตั้งกลาง แล้วคนต้นบทคนหนึ่ง คนสพายน่าไม้และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องซึ่งเรียกว่าพะเนาะคนหนึ่ง คนถือไม้ไผ่ท่อนสามปล้องสำหรับกระทุ้งดินเปนจังหวะสองคน คนถือชามสองมือสำหรับติดเทียนรำคนหนึ่ง คนถือก้นตะแกรงขาดสองมือสำหรับรำคนหนึ่ง แล้วคนถือมีดถือสิ่วหักสำหรับเคาะจังหวะคนหนึ่ง รวม ๘ คนเดินร้องรำเปนวงเวียนไปมาพอได้พักหนึ่งก็ดื่มอุแลร้องรำต่อไป ดูสนุกกันเองไม่ใคร่อยากเลิก เวลาเลิกแล้วก็ยังฟ้อนกันเรื่อยตลอดทางไป พวกข่ากะโซ้นี้กินอาหารไม่ใคร่เลือก มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อกรมหลวงประจักษ์ฯ เปนข้าหลวง พระอรัญอาสาผู้ว่าราชการเมืองกุสุมาลย์คนนี้เฝ้าฯ รับสั่งไต่ถามถึงขนบธรรมเนียมของพวกข่ากะโซ้ ไล่เลียงกันไปจนถึงอาหารที่ชอบบริโภค พระอรัญอาสาทูลว่า “ชอบเจียะจอ” (คือชอบบริโภคเนื้อสุนักข์) ไม่ทรงเชื่อพระอรัญอาสารับจะบริโภคถวายทอดพระเนตร จึงให้ไปหาเนื้อ “จอ”มาเลี้ยง ในว่า เมื่อพระอรัญอาสาบริโภคเนื้อจอนั้น พวกข้างในตำหนักดูอยู่ไม่ได้ถึงต้องวิ่งหนี เล่ากันดังนี้
เวลาบ่าย ๔ โมงไปที่วัดกลาง มีพระ ๔ รูป เณร ๓ รูป วัดในมณฑลนี้มักมีที่พระอยู่กรรม เรียกว่า “พลวง” เปนประทุนเล็ก ๆ พื้นฟากเฉภาะนอนคนเดียวเหมือนอย่างประทุนเกวียน มีวัดละหลาย ๆ หลัง มักทำรายไปรอบโบสถ์ เวลาเข้าพรรษาพระภิกษุไปอยู่กรรม เขาว่ามักมีคนศรัทธาไปปฏิบัติ ถือกันว่าได้บุญมาก แล้วไปดูหมู่บ้านราษฎรจนถึงทุ่งนาริมห้วยเสอเพลอ เมืองกุสุมาลย์มณฑลนี้เดิมเรียกว่าบ้านกุดมาร ยกขึ้นเปนเมืองขึ้นเมืองสกลนคร เห็นจะเปนเมื่อรัชกาลที่ ๔ ราษฎรชาวเมืองมีจำนวน ๒๑๗๑ คน เลี้ยงโคกระบือและสุกรเป็ดไก่ถึงได้ขายแก่คนเดินทางบ้าง กับทำนาและเข้าไร่พอเลี้ยงกันเอง
เมืองสกลนคร
วันที่ ๑๔ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ออกจากที่พักเมืองกุสุมาลย์มณฑล ถึงห้วยหลัวซึ่งเปนเขตรเมืองกุสุมาลย์กับเมืองสกลนครต่อกัน หลวงพิไสยสิทธิกรรม ข้าหลวงบริเวณสกลนครมาคอยรับ มีราษฎรชายหญิงมารับด้วย เดินทางต่อไปถึงทางแยกที่ตัดใหม่ไปท่าแร่ แยกจากทางสายโทรศัพท์มาถึงตำบลบ้านท่าแร่ มีราษฎรมาคอยรับอิกเปนอันมาก แลที่นี้มีวัดโรมันคาทอลิก เรียกชื่อว่า “เซนต์ไมเคิล” โบสถ์ก่อผนังด้วยศิลาแลง เพราะตำบลท่าแร่นี้มีศิลาแลงมาก บาตหลวงโยเซฟคอบบุรีเออ ซึ่งมาสอนสาสนาอยู่ ๒๒ ปีเศษแล้ว กับบาตหลวงผู้ช่วยอิก ๒ คนได้มาคอยรับ แล้วเชิญขึ้นไปบนที่อยู่เห็นบาตหลวงรูปหนึ่งป่วยเปนไข้จนผิวเหลือง จึงให้หมอแบรดด๊อกไปตรวจและให้ยาด้วย ที่วัดบาตหลวงท่าแร่มีญวนเข้ารีต ๑๖๖ คน คนพื้นเมือง ๑๕๐๔ คน ระยะทางตั้งแต่เมืองกุสุมาลย์มาบ้านท่าแร่ ๕๐๖ เส้น ถึงเวลาเช้า ๓ โมงเศษพักกินเข้าเช้าแล้ว เวลาเช้า ๔ โมงลงเรือข้ามหนองหารไปขึ้นฝั่งเมืองสกลนคร หนองหารเมืองสกลนครนี้กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีเขาภูพานอยู่ข้างตวันตกเปนเขาเทือกยาว ในหนองมีเกาะเรียกว่า ดอนตาคราม และดอนสวรรค์ เห็นฝูงม้าฝูงใหญ่ ๆ และฝูงโคกระบืออยู่ริมฝั่งเปนแห่ง ๆ ไป เวลาเช้า ๕ โมง ๔๐ นาทีถึงฝั่งเมืองสกลนคร ระยะทางข้ามหนองประมาณ ๒๐๐ เส้น พระยาประจันตประเทศธานีผู้ว่าราชการเมือง กรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรมาคอยรับที่ท่าขึ้น มีพระสวดชยันโตและยิงสลุต และมีราษฎรชายข้างหนึ่ง หญิงข้างหนึ่งมาคอยรับเปนแถว ยาวตลอดไปประมาณคน ๓๐๐๐ เศษ ถึงที่พักซึ่งอยู่ในหมู่ที่ว่าการบริเวณ เวลาเที่ยงครึ่งมีการประชุมข้าราชการแลพ่อค้าราษฎรต้อนรับในปรำใหญ่ เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว ไปดูสระกะพังทองซึ่งมีบัวแล้วไปที่วัดพระธาตุเชียงชุม มีพระเจดีย์ยอดปิดทองแต่เปนของก่อสวมเทวสถานของเก่าของพวกขอม ยังแลเห็นของเดิมได้ถนัด เวลาบ่าย ๕ โมงเดินไปดูบริเวณเมือง และแวะบ้านพระยาประจันตประเทศธานี เวลาค่ำราษฎรแห่ผ้าป่าเรี่ยรายผ่านมาน่าที่พักให้อนุโมทนาเหมือนที่เมืองนครพนม
เมืองสกลนครนี้เปนเมืองโบราณแต่ครั้งขอม แต่ร้างไปเสียพึ่งกลับตั้งเปนเมืองขึ้นอิกชั้นหลัง เมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีท้องตราเก่า พระยาประจันตประเทศธานีรักษาไว้ฉบับ ๑ ได้ความเรื่องตั้งเมืองสกลนครและเมืองอื่น ๆ ในมณฑลนี้เปนเรื่องน่าพิศวง คือเมื่อครั้งเมืองเวียงจันท์เปนขบถ กองทัพกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปปราบปรามตีได้เมืองเวียงจันท์กวาดคนลงมาเปนเชลยแล้ว โปรดให้แบ่งราษฎรทางหัวเมืองที่ไม่ได้เปนขบถไปตั้งเมืองในเขตรเวียงจันท์ที่ตีได้ คือเมืองหนองคายเปนต้น ผู้คนทางข้างใต้ลงมาเบาบางไป และครั้งนั้นปรากฎว่าพวกราษฎรทางมณฑลนี้หนีไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางหัวเมืองต่อแดนญวน ตั้งแต่ครั้งกองทัพไทยไปตีเมืองเวียงจันท์ครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งหลังนี้มีอยู่เปนอันมาก จึงโปรดให้ไปเกลี่ยกล่อมพวกท้าวพระยาหัวน่าคนที่หนีไปนั้น มีใครสมัคกลับมาก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เปนตำแหน่งเจ้าเมืองกรมการ ยกที่ร้างตำบลต่าง ๆ ขึ้นเปนเมือง พวกท้าวพระยาเหล่านั้นเมื่อไปตั้งอยู่ที่เมืองใหม่ จึงไปเกลี้ยกล่อมพวกพ้องของตัวทางฝั่งซ้ายกลับมา ครั้นกิตติศัพท์ปรากฎก็มีพวกหัวน่าที่อยากจะเปนเจ้าเมืองมากขึ้น พากันกลับมาสามิภักดิ ก็โปรดให้เปนเจ้าเมือง แลตั้งเมืองอื่น ๆ ขึ้นอิกต่อไป ด้วยเหตุนี้ที่ร้างจึงกลับเปนเมืองขึ้น บางทีถึงแย่งที่กันตั้งเมือง ดังปรากฎเช่นกล่าวมาที่เมืองไชยบุรี พวกชาวเมืองท่าอุเทนเดิมอพยพกลับมาจะมาอยู่เมืองท่าอุเทน มีพวกอื่นมาตั้งอยู่เสียก่อนแล้ว พวกชาวท่าอุเทนเดิมจึงต้องตั้งอยู่เมืองไชยบุรีจนทุกวันนี้ วิธีตั้งเมืองดังกล่าวมานี้เปนประโยชน์ตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นภายหลังเมื่อคนที่แตกฉานซ่านเซนกลับมาอยู่ฝั่งนี้โดยมากแล้ว พวกท้าวพระยาในเมืองที่ตั้งใหม่อยากจะได้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมือง ขอคุมสมัคพรรคพวกของตัวไปตั้งเมืองอื่นอิก จึงได้ตั้งเมืองใหม่ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ จนความปรากฎว่าวิธีการตั้งเมืองใหม่ในชั้นหลัง เปนแต่แย่งคนแย่งท้องที่กันในพระราชอาณาเขตรนี้เอง จึงโปรดให้เลิกตั้งวิธีตั้งเมืองใหม่ทางมณฑลนี้เสียเมื่อในรัชกาลที่ ๕
เมืองสกลนครตั้งอยู่บนเนินลาด มีถนนกว้างใหญ่หลายสายและมีถนนซอยขึ้นไป ระหว่างหมู่บ้านเปนทางสี่แยกหลายแห่ง บ้านเรือนราษฎรมีรั้วไม้จริง แลเปนเรือนฝากระดานหลังคากระเบื้องไม้โดยมาก นับว่าเปนเมืองที่มั่งคั่งยิ่งกว่าหัวเมืองที่ผ่านมาโดยมาก แต่เขาว่าอากาศสู้ที่เมืองหนองคายไม่ได้ เพราะถึงฤดูฝนลมพัดมาจากเขาภูพานมักมีความไข้ ราษฎรพลเมือง ๔๕,๒๓๙ คน เปนไทยต่างๆ หลายชนิด คือ พวกผู้ไทย ไทยเกลิงซึ่งมาจากเมืองกะตาก และไทยย้อ ไทยโย้ยเปนต้น เรื่องคนชาติต่าง ๆ ทางมณฑลเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ลองสอบทางภาษาทุกพวกที่ได้มาพบ คือให้นับตามภาษาของเขาตั้งแต่ ๑ ไปจน ๑๐ แล้วจดไว้พิเคราะห์ดู เห็นมีแต่นับอย่างภาษาไทยกับภาษาเขมร ๒ อย่างเท่านั้น จึงสันนิฐานว่าคงจะเปนเชื้อสายไทยพวก ๑ เชื้อสายขอมพวก ๑ ที่มาเรียกชื่อเปนพวกนั่นนี่ต่างกันไปเปนหลายพวก เห็นจะเกิดแต่อยู่แยกย้ายต่างถิ่นฐานกันนานเข้า ก็รู้สึกว่าต่างกันไป แต่ความจริงคงอยู่ในเปนไทยชาติ ๑ เปนขอมชาติ ๑ เท่านั้น
การทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวเมืองสกลนคร มีการผสมม้า ผสมโค กระบือ ทำเกลือ หาเร่ว และพริกขี้หนูป่า ยางกะตังกะติ้ว และปลาต่าง ๆ ซึ่งเปนสินค้าใหญ่ เกลือส่งไปขายตามลำน้ำโขง ปลาขายเข้าไปในที่ดอน ๆ ของอื่น ๆ ขายส่งลงไปเมืองนครราชสิมา และรับสินค้ากรุงเทพ ฯ มาทางเมืองนครราชสิมา ไม่มีสินค้ามาจากลำน้ำโขง
วันที่ ๑๕ มกราคม ขี่ม้าไปบ้านนาเวง ระยะทาง ๑๔๐ เส้นไปตามถนนขอมสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ มีสพานหินเปนสพานศิลาแลงฝีมือขอมทำดีน่าดูอยู่แห่ง ๑ เปนของสมัยเดียวกับเทวสถาน ที่ตำบลนาเวงมีเทวสถานเรียกว่า “อรดีมายานารายน์เจงเวง” ตั้งอยู่บนเนินซึ่งมีซุ้มไม้ร่มรื่นดี ข้าหลวงบริเวณได้นัดราษฎรมาออกร้านขายผ้าพรรณต่าง ๆ ซึ่งเปนฝีมือชาวสกลนครณะที่นี้ด้วย ดูอยู่จนเวลาเช้า ๔ โมง จึงกลับ
เวลาบ่าย ๓ โมง มีการประชุมบายศรีที่ปรำ มีผู้เฒ่ากล่าวคำไชยมงคล ๓ คน ว่าความต่าง ๆ กัน พร้อมกันทั้ง ๓ คน แล้วพระยาประจันตประเทศธานี ซึ่งเปนผู้ใหญ่คาดด้ายผูกข้อมือ ต่อไปมีการแห่บ้องไฟมาจุดที่ริมหนองหารที่ลานใหญ่ตรงที่พัก ราษฎรชายหญิงได้มาเข้ากระบวนแห่และโห่ร้องเอิกเกริกมาก กว่าจะจุดบ้องไฟหมดก็พอค่ำ
วันที่ ๑๖ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ๑๕ นาที ออกจากเมืองสกลนครผ่านวัดพระธาตุ ตามทางที่มามีทุ่งนาเกลือ มาทางบ้านงิ้วดอนบ้านพังเม็ก บ้านทับศอ บ้านคูสนาม บ้านขามเฒ่า บ้านป่ากล้วย แล้วเข้าดงหนองเดิ่น ซึ่งเปนป่าไม้เล็กหลายอย่างต่างกัน มีต้นยางใหญ่ ๆ บ้างเปนทางร่มรื่นและงามดี พ้นดงมาตามโคกแล้วถึงทามะไฮซึ่งเปนที่ลุ่ม แล้วขึ้นโคกมาข้ามห้วยพุงที่ตำบลวังฆ้อมีที่พักร้อน ถึงเวลาเช้า ๒ โมง ๔๐ นาที ระยะทาง ๔๐๘ เส้น มีราษฎรชายหญิงเปนพวกไทยกะตาก ไทยเกลิง หญิงบางคนไว้ผมสูง บางคนตัดผมสั้น เวลาเช้า ๔ โมงเดินทางต่อไปตามทางป่าไม้เล็ก มาหน่อยหนึ่งแล้วออกทุ่งมาตามบ้านโพนทอง บ้านพง แล้วมาถึงหนองเหียนที่พักแรมเวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง ระยะทาง ๓๐๔ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๗๑๒ เส้น มีราษฎรชายหญิงประมาณ ๔๐๐ คนมารับ ชาวบ้านนี้เปนผู้ไทยโดยมาก และหญิงเกล้าผมสูงเปนพื้น
วันที่ ๑๗ มกราคม เวลาย่ำรุ่งหย่อน ๑๐ นาทีออกจากที่พักแรมตำบลหนองเหียนไปตามทางทุ่งนา ระยะทาง ๓๕ เส้นถึงห้วยยางเขตรเมืองสกลนครกับเมืองมุกดาหารต่อกัน ข้ามห้วยยางมาตามทุ่งบ้านหนองบ่อ บ้านบอน บ้านเผือ บ้านตูม บ้านก้านเหลืองจนถึงทุ่งบ้านนาแก ระหว่างทางต่อจากห้วยยาง ข้ามห้วยก้านเหลืองห้วยสีกุน ตามทุ่งนาที่มามีต้นไม้เปนแห่ง ๆ มีโคกบ้าง แลเห็นทิวไม้รอบด้าน แลเห็นเขาภูพานข้างขวามือตลอดมาจนถึงบ้านนาแกที่พักร้อน ถึงเวลาเช้า ๒ โมง ๑๐ นาที ระยะทาง ๓๗๙ เส้น นาที่ผ่านมาเปนท้องที่นาดี แลที่บ้านนาแกมีหมากมีมะพร้าวบริบูรณ์ ตามระยะทางที่มาเมื่อใกล้หมู่บ้าน มีราษฎรมาตั้งร้านพักมีโอ่งน้ำและมะพร้าวอ่อนสำหรับรับรองคนเดินทางมาเปนระยะ ๆ หลายแห่ง บางแห่งมีหมู่บ้านราษฎรก็ออกมารับกันมาก ๆ พักร้อนที่บ้านนาแก ครั้นเวลาเช้า ๓ โมงครึ่งออกจากที่พักร้อนบ้านนาแกมาตามทุ่งบ้านต้นแหน ทุ่งบ้านพิมานท่า ทุ่งนาบ้านปากบัง ทุ่งหนองแก่งทรายข้ามลำน้ำก่ำด้วยสพานเรือกที่บ้านนาลาด ซึ่งเปนเขตรเมืองมุกดาหารกับเมืองเรณูนครต่อกัน ถึงบ้านนาลาดเวลาเช้า ๕ โมง ๑๐ นาที ระยะทาง ๓๐๗ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๖๘๖ เส้น มีที่พักแรมอยู่ใกล้ลำน้ำก่ำเหนือหมู่บ้านราษฎร ชาวบ้านเปนผู้ไทยโดยมาก มีพวกกะโซ้พวกเกลิงปนบ้าง ราษฎรบ้านใกล้เคียงพากันมาหามากต่อมาก และมาเนืองๆ ไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ได้ให้หมอตรวจคนที่เจ็บไข้และแจกยาเหมือนทุก ๆ แห่งมา ในหมู่ราษฎรที่มาหามีพม่า ๓ คนซึ่งมารับซื้อกระบือลงไปขายข้างใต้ ไต่ถามถึงหนทางที่ไป ว่าลงทางช่องตะโกเพราะเปนทางที่มีน้ำบริบูรณ์กว่าทางอื่น กระบือที่พาลงไปปีละครั้ง อยู่ในระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ คราวหนึ่งถึง ๘๐๐-๙๐๐ ตัว ลงไปขายทางเมืองพนมสารคามเมื่อพนัศนิคมบ้าง ไปเมืองมินบุรีบ้าง และกรุงเก่าบ้าง ไต่ถามถึงการพิทักษ์รักษากระบือเวลาเดินทางเปลี่ยว ว่าใช้กระบวนนอนเฝ้ารายกันเปนวงรอบฝูงกระบือ ถ้าจะมีคอกสำหรับกระบือพัก ควรมีที่ปากดงแห่งหนึ่ง กลางเขาแห่งหนึ่ง และเชิงเขาอิกแห่งหนึ่ง และที่ๆ ต้องการน้ำเวลานี้ คือในเขตรมณฑลปราจิณบุรีที่เชิงเขาลงช่องตะโกแล้วแห่งหนึ่ง ที่ละหานทรายแห่งหนึ่ง ได้ความดังนี้
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ไปที่ท่าน้ำก่ำตลิ่งสูงเปนทรายลาดลงไป เวลานี้ทางน้ำที่ทำสพานเรือกว้างประมาณ ๑๕ วา ถ้าเวลาฤดูน้ำ ๆ ท่วมตลิ่งขึ้นมากว่าถึง ๒ เส้น ไปที่วัดบ้านลาด พบพระอาคันตุกะ ๕ รูป มาจากวัดบ้านซอง หนทางเดินประมาณเช้าชั่วสายเพื่อจะได้มาดูเจ้านาย
พระธาตุพนม
วันที่ ๑๘ มกราคม เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักบ้านนาลาด เดินตามทางในทุ่งและในป่าโดยลำดับมา ระยะทาง ๒๘๕ เส้นถึงเมืองเรณูนคร เวลาเช้า ๒ โมง ๒๐ นาที มีราษฎรชายหญิงมารับเปนอันมาก เมืองเรณูนครนี้เดิมชื่อบ้านดงหวาย ตั้งเปนเมืองขึ้นเมืองนครพนมในรัชกาลที่ ๓ สังเกตดูผู้คนแต่งตัวสอาดเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่งที่ได้ผ่านมาแล้ว พลเมืองเปนผู้ไทยโดยมากมีจำนวน ๑๑,๙๘๖ คน เปนที่ดอน ใช้น้ำบ่อแต่ที่นาดี ชาวบ้านมีฝีมือทอผ้าดี กับมีการผสมโคกระบือนำไปขายถึงเมืองมรแมน เดินทางช่องสระผมผ่านไปทางมณฑลเพชรบูรณ์ขากลับซื้อสินค้าจากเมืองมรแมนมาขายที่นี่จึงมีผ้าด้ายไหมเครื่องแต่งตัวแปลก ๆ พักกินเข้าเช้าแล้วไปที่วัดกลาง มีโบสถ์สร้างใหม่เปนรูปโบสถ์อย่างพม่า เพราะขุนสฤษดิ์เรณูพ่อค้าซึ่งนำโคกระบือไปขายเมืองมรแมนเลียนแบบมาจากพม่า แล้วไปดูบ้านราษฎรครู่หนึ่งจึงขี่ม้าเดินทางต่อไป เดินตามทุ่งและตามทางในป่าถึงทุ่งบ้านพระ กลางทุ่งมีราษฎรคอยอยู่มาก ต้องพักรับดอกไม้ธูปเทียนตามประสงค์ของราษฎรครู่หนึ่ง แล้วไปแวะที่วัดเก่ามีโบสถ์ร้างมีพระพุทธรูปใหญ่น่าตักประมาณ ๔ ศอกองค์หนึ่งอยู่ใกล้ทาง เดินทางต่อมาทางบ้านเลาลิง บ้านหนองหอย ท่าแล บ้านหนองหอยทุ่ง แล้วถึงบ้านหัวบึง แล้วถึงบ้านธาตุเห็นฝั่งแม่น้ำโขง เดินตามทางริมน้ำมาจนถึงท่าตรงพระเจดีย์ธาตุพนมเวลาเช้า ๕ โมง ระยะทาง ๓๐๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๘๕ เส้น พระยาพนมนครานุรักษ์แลกรมการมาคอยรับ มีพระสวดไชยมงคล แล้วเดินตามถนนที่ตรงขึ้นไปถึงพระธาตุ ทางยาวประมาณ ๑๔ เส้น นมัสการพระธาตุแล้ว มายังที่พักซึ่งอยู่นอกบริเวณวัดข้างด้านใต้ มีราษฎรตำบลใกล้เคียงพากันมาหามากต่อมากเหมือนอย่างมีนักขัตฤกษ์สำหรับปี แลตระเตรียมกันจะแห่ปราสาทผึ้งและจุดดอกไม้เพลิงให้อนุโมทนาด้วย
เวลาบ่าย ๔ โมง ราษฎรแห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟเปนกระบวนใหญ่เข้าประตูชาลาพระเจดีย์ด้านตวันตก แห่ประทักษิณองค์พระธาตุสามรอบ กระบวนแห่นั้น คือ ผู้ชายแลเด็กเดินข้างน่าหมู่หนึ่งแล้วมีพิณพาทย์ ต่อไปถึงบุษบกมีเทียนขี้ผึ้งใหญ่ ๔ เล่มในบุษบก แล้วมีรถบ้องไฟ ต่อมามีปราสาทผึ้ง คือแต่งหยวกกล้วยเปนรูปปราสาท แล้วมีดอกไม้ทำด้วยขี้ผึ้งเปนเครื่องประดับ มีพิณพาทย์ ฆ้อง กลองแวดล้อมแห่มา และมีชายหญิงเดินตามเปน กันหลายหมู่ และมีกระจาดประดับประดาอย่างกระจาดผ้าป่าห้อยด้ายไส้เทียนและไหมเข็ด เมื่อกระบวนแห่เวียนครบสามรอบแล้วได้นำประสาทผึ้งไปตั้งถวายพระมหาธาตุ ราษฎรก็นั่งประชุมกันเปนหมู่ๆ ในลานพระมหาธาตุคอยข้าพเจ้าจุดเทียนนมัสการแล้วรับศีลด้วยกัน พระสงฆ์มีพระครูวิโรจน์รัตโนบลเปนประธาน เจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำมีการเดินเทียนแลจุดบ้องไฟดอกไม้พุ่ม แลมีเทศน์กัณฑ์หนึ่ง
พระธาตุพนมนั้นขนาดพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ยอดก็หุ้มทองคำอย่างเดียวกัน แต่รูปเปนพระเจดีย์สี่เหลี่ยม รูปทรงแปลกไม่เหมือนเจดีย์แห่งใด ๆ แต่ทรวดทรงงามดี ของเดิมก่อด้วยอิฐขัดไม่ถือปูน แกะลายแลรูปภาพในตัวอิฐทีเดียว กล่าวกันว่าเดิมก่อด้วยอิฐดิบ แกะลวดลายเสร็จจึงเผาสุมให้เปนอิฐสุกทั้งองค์พระเจดีย์ ฝีมือทำงามประณีตหนักหนา มีแผ่นศิลาจารึกแผ่นหนึ่ง เปนอักษรลาว มีใจความว่า พระยาหลวงนครพิชิตราชธานีศรีโคตบองเจ้า เปนผู้ปฏิสังขรณ์ เมื่อ (พุทธ) ศักราช ๑๙๗๖ และอุทิศที่กัลปนาซึ่งพระยาสุมินทราชได้ถวายไว้แต่ก่อน ให้คงเปนของพระธาตุพนมต่อไปดังนี้ แลมีลับแลญวนแลของอื่นว่าเปนของเจ้าอนุเวียงจันท์ถวายไว้หลายอย่าง
วันที่ ๑๙ มกราคม เวลาเช้ามีการเลี้ยงพระที่สวดมนต์ และยังมีราษฎรมาหาอิกไม่จบ จนถึงเวลาออกจากบ้านธาตุพนม เวลาเช้า ๓ โมงลงเรือยาวพายล่องลำน้ำโขง ผ่านปากน้ำก่ำซึ่งเปนลำน้ำไหลมาแต่หนองหารสกลนครใช้เรือไปมาได้ เวลาเช้า ๔ โมงถึงแก่งคับพวงร่องน้ำแคบ นับว่าเปนแก่งสำคัญอันหนึ่ง ต่อมาอิกประมาณชั่วโมงหนึ่งถึงแก่งคันกระเบาเปนที่น้ำวนและร่องน้ำคดเคี้ยว เดินเรือยากมาก เวลาเที่ยง ๑๐ นาทีถึงตำบลบ้านหว้า ระยะทางบกจากบ้านธาตุ ๖๘๕ เส้นพักแรม.
เมืองมุกดาหาร
วันที่ ๒๐ มกราคม เวลาเช้าโมงหนึ่งลงเรือพายอ้อมหาดขึ้นไปแล้ววกล่องลงมาตามร่องน้ำถึงบ้านบางไทรน้อยเวลาเช้า ๒ โมงเศษขึ้นบก ให้ราษฎรพบที่วัดครู่หนึ่ง แล้วลงเรือล่องต่อมา แลเห็นเมืองสวรรณาเขตรของฝรั่งเศสข้างฝั่งซ้าย แล้วถึงเมืองมุกดาหารเวลาเช้า ๔ โมง พระยาศะศิวงศ์ประวัติจางวางลงมาคอยรับที่ท่าน้ำ มีพระสวดไชยมงคล ขึ้นที่ท่าน่าเมืองแล้วเดินไปตามถนนจนถึงที่พัก ซึ่งพระอนุชาติวุฒาธิคุณข้าหลวงจัดรับ เปนตึกขัดแตะถือปูนทำอย่างมั่นคง ถนนที่เมืองมุกดาหารนี้ทำถนนกว้างใหญ่แลดูสะอาดตา แต่บ้านเรือนราษฎรอยู่ข้างร่วงโรย สินค้ามีหนัง เขา เร่ว ยางกะตังกะติ้ว สีเสียด ยาสูบบรรทุกเกวียนไปขายณะเมืองนครราชสิมา แลรับสินค้าจากเมืองนครราชสิมา คือผ้าแพร และเครื่องทองเหลืองทองขาวและน้ำมันปิร์โตเลียมบ้างกลับมาขาย ราคาน้ำมันปิร์โตเลียมที่ฝั่งซ้ายขายปีบละ ๓ บาท ๔๘ อัฐ น้ำมันที่บรรทุกมาจากนครราชสิมาขายปีบละ ๖ บาท แต่ไม่ใคร่มีใครไปซื้อน้ำมันที่เมืองสวรรณาเขตรมาใช้ เพราะพลเมืองไม่ได้ใช้น้ำมัน มีแต่จีนพ่อค้าใช้เล็กน้อย แต่ข้างฝั่งซ้ายใช้มากเพราะมีฝรั่งและน้ำมันนั้นว่าไม่ใคร่จะสู้ดี ใช้สู้น้ำมันที่ซื้อจากเมืองนครราชสิมาไม่ได้ สินค้าที่รับมาจากนครราชสิมานั้นได้ส่งไปขายที่ร้านฝั่งซ้ายบ้าง เพราะเปนของราคาถูกเปนพื้น พอแก่กำลังคนพื้นเมืองจะซื้อหา สินค้าที่ฝรั่งเศสนำมาเปนของดีแต่ราคาแพง ทราบว่ามีห้างใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองสวรรณาเขตรมีของต่าง ๆ ขาย แลขายบุหรี่ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสทำส่งมาจากเมืองฝรั่งเศสด้วย เพราะบุหรี่แลไม้ขีดไฟเปนของผูกขาดของรัฐบาลจึงเปนที่เข้าใจได้ว่าการที่ยาสูบแลไม้ขีดไฟส่งไปที่เมืองสวรรณาเขตรจากฝั่งขวาต้องเสียภาษีแรงนั้น เพราะรัฐบาลจะอุดหนุนให้ห้างฝรั่งเศสได้ขายบุหรี่และไม้ขีดไฟที่รัฐบาลทำเอง แต่ยาสูบแลไม้ขีดไฟส่งไปขายฝั่งซ้ายที่อื่น ๆ ซึ่งเปนบ้านเล็ก ๆ ไม่มีร้านรวงใหญ่โตอันใดก็ไม่ต้องเสียภาษี
มาเที่ยวนี้ได้เห็นแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองหนองคายลงมาจนเมืองมุกดาหาร ถ้าล่องด้วยเรือพายระยะทางประมาณ ๗ วัน ระยะนี้ในแผนที่ฝรั่งเศสว่าเดินเรือได้ตลอดปี คือว่าขึ้นล่องสดวกกว่าระยะอื่น แต่กระนั้นความคิดที่คาดไปเมื่อยังไม่ได้แลเห็นว่าแม่น้ำโขงจะเปนอย่างไรผิดหมด เพราะเคยเห็นแต่แม่น้ำเจ้าพระยาแลลำน้ำอื่นในประเทศนี้ นึกว่าจะทำนองเดียวกันเปนแต่ใหญ่โตขึ้นไปตามส่วน ที่จริงหาเปนเช่นนั้นไม่ แม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นๆ ที่ได้เคยเห็นมาทั้งหมด ว่าโดยขนาดลำน้ำตอนเมืองหนองคายยังไม่สู้กว้างนัก ดูข้างฝั่งนี้พอเถียงกันว่า โน่นวัวหรือควายที่ยืนกินหญ้าอยู่ทางฝั่งโน้น แต่ตอนใต้ลงมาจนถึงเมืองมุกดาหาร ไม่แลเห็นตัววัวควายข้างฝั่งโน้นทีเดียว เมืองสวรรณาเขตรของฝรั่งเศสอยู่ตรงกันข้ามก็พอแลเห็นตึกหลังคาแดงๆเท่านั้น ฤดูแล้งน้ำงวด ตลิ่งสูงประมาณ ๕ วา ๖ วา คันตลิ่งเปนที่ดอน แต่ตอนริมน้ำลึกเข้าไปก็เปนที่ลุ่มน้ำท่วมทุกปี แห่งใดพอทำไร่นาได้ในที่ลุ่มนั้นจึงตั้งบ้านเมือง เช่นเมืองหนองคายเปนต้น แต่โดยมากเปนที่ลุ่มเกินไปจึงเปนแต่ป่าเปล่า ป่าริมแม่น้ำโขงเหล่านี้ก็ไม่มีไม้ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปนสินค้าได้ เห็นจะเปนด้วยตัดมาใช้กันเสียหมด ราษฎรอาไศรยได้แต่ทำไร่ปลูกพรรณไม้ล้มลุกที่เปนสินค้าคือยาสูบเปนต้น ทำตามเกาะที่เขาเรียกกันว่าดอนบ้าง ระยะใดไม่มีเกาะก็ปลูกกันตามชายตลิ่งริมฝั่ง ส่วนลำน้ำนั้นน้ำขุ่นแลไหลเชี่ยวตลอดปี มีสัตว์ร้ายต่างๆเปนต้นว่า จรเข้แลปลาเงือกสำหรับทำอันตรายผู้คน แลมีเครื่องกีดกั้นสำหรับให้เปนอันตรายแก่เรือที่ขึ้นล่องบริบูรณ์ทุกอย่าง เปนต้นว่าศิลาใต้น้ำ (ซึ่งเรือข้าพเจ้าได้โดนดังกล่าวมาแล้ว) แลหาดทรายซึ่งอาจจะมูนขึ้นที่ไหน ๆ ได้เมื่อไร ๆ (เรือข้าพเจ้าก็ได้เคยติด) นอกจากนี้ยังมีแก่งใหญ่น้อยอิกเปนอันมาก ล่องเรือน่าแล้งก็ยังน่ากลัว แต่เมื่อมาในเรือไฟไม่ใคร่เห็น ได้เห็นเมื่อลงมาเรือพายแต่พระธาตุพนมลงมาเมืองมุกดาหาร เมื่อผ่านแก่งคับพวงเห็นน้ำวนใหญ่โตกว่าที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนดูน่ากลัว แม้พวกที่พายเรือเคยขึ้นล่องทางนี้อยู่เสมอ ยังต้องกำชับกันให้ประจงระวังให้ดี ด้วยเหตุทั้งปวงที่กล่าวมา การเที่ยวในลำแม่น้ำโขงจะว่ามีความสนุกสบายอย่างไรนั้นว่าไม่ได้ แลยังไม่เคยได้ยินใครชมว่าสนุกหรือสบายเลย แต่ต้องยอมว่าปลาดน่าพิศวง ไม่เสียใจที่ได้มาเห็น แต่เมื่อได้เห็นครั้งหนึ่งแล้วกว่าจะอยากไปเที่ยวแม่น้ำโขงอิกเห็นจะยังนาน
ลำน้ำโขงตอนที่ตั้งเมืองมุกดาหารนี้ ตรงน่าเมืองมีหาดใหญ่เปนหาดกรวด กล่าวกันว่าที่หาดนี้มีแก้ว จึงเอามาเปนชื่อเมืองมุกดาหาร
เวลาบ่าย ๓ โมงมีการประชุมบายศรี ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงไปที่วัดศรีมงคล วัดกลาง วัดศรีบุญเรือง แลเที่ยวดูหมู่บ้านราษฎร แล้วไปเยี่ยมบ้านพระยาศะศิวงศ์ประวัติ กับบ้านพระยาอนุชาติวุฒาธิคุณ
วันที่ ๒๑ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ขี่ม้าออกจากเมืองมุกดาหาร ตามหนทางที่มามีโคกบ้างมีนาบ้าง ผ่านบ้านเหมืองบ่าแลเห็นเขาภูมะโนแลเขาภูหินซัน ซึ่งดูตามแผนที่เข้าใจว่าเนื่องกันกับเขาภูพาน เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๒๕ นาทีถึงบ้านคำเขืองที่พักร้อน ระยะทาง ๒๔๐เส้น เวลาเช้า ๓ โมงเดินทางต่อมาเข้าดงบางอี่เปนทางขึ้นเขาอย่างเดียวกับดงพระยาไฟ แต่เปนดงใหญ่ทึบกว่าดงพระยาไฟ ต้นไม้แน่นหนาร่มชัฏ แลเห็นดวงพระอาทิตย์แต่เมื่ออยู่เหนือยอดไม้ มีต้นตะเคียนต้นยางอย่างใหญ่ ๆ ก็มาก ข้ามทางลำน้ำเล็ก ๆ ที่ผ่านในดงนั้น ๒-๓ แห่ง แลข้ามห้วยบังอี่ซึ่งเปนห้วยใหญ่แห่งหนึ่ง ถึงบ้านนาเกาะซึ่งเปนบ้านอยู่ในดง เวลาเที่ยง ๒๕ นาที ระยะทาง ๔๙๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๗๓๐ เส้น มีราษฎรผู้ไทยอยู่ใต้ที่พักแรมลงไปมีเรือนประมาณ ๘๐ หลัง ทำนาพอกินกันเอง
หม่อมเจ้านิสากรในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศเลขานุการ แลขุนภักดีรณชิตข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอิสาณ๙ กับพระอุบลการประชานิตย์ แทนข้าหลวงบริเวณอุบล ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาณให้มารับ ได้มาพบที่บ้านนาเกาะแล้วจะตามต่อไปด้วย
-
๑. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ โพธิ์. ↩
-
๒. ต่อมาได้เปนพระเลิศแหล่งหล่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดหล่มศักดิ์ ↩
-
๓. หลวงพิทักษ์นรินทร์ กร ↩
-
๔. พระรังสรรค์สารกิจ เลื่อน ศรีเพ็ญ ↩
-
๕. เดี๋ยวนี้เรียกเมืองอุดรธานี. ↩
-
๖. เรือลาแครนเดียลำนี้ ต่อมารับนายพลฝรั่งเศสไปตรวจการที่เมืองหลวงพระบาง ขากลับล่องแก่งจมหายไปในวน นายพลฝรั่งเศสก็ตายด้วย ↩
-
๗. พระยาสุนทรนุรักษ์ เลื่อง ภูมิรัตน เดี๋ยวนี้เปนพระยาเพชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลมหาราษฐ์ ↩
-
๘. หลวงทรงสราวุธเจิม วิเศษรัตน เดี๋ยวนี้เปนพระบริหารราชอาณาเขตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสงคราม ↩
-
๙. ขุนภักดีรณชิต ผล ศรุตานนท์ เดี๋ยวนี้เปนพระสระบุรีศรีนัทยนิคม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ↩