มณฑลนครราชสิมา
วันที่ ๑๘ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่งออกเดินทางพร้อมด้วยผู้ที่มาจากกรุงเทพ ฯ แลพระยากำแหงสงคราม ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสิมา ๑ หลวงวิชิตเสนี ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งล่วงน่ามาจัดเสบียงพาหนะ ๑ หลวงภักดีบริรักษ์ ข้าหลวงสรรพากรมณฑลนครราชสิมา ๑ นายพันตรี เอคอลส์ ครูฝึกหัดตำรวจภูธร ๑ หลวงพิไชยสงครามพล นายอำเภอจัตุรัส นายสงวนมหาดเล็ก เลขานุการ ๑ นายโสฬศมหาดเล็กรายงาน ๑ สมทบไปด้วยตลอดทาง๑ แลหม่อมเจ้าบวรเดช ผู้บัญชาการกรมทหารมณฑล และพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ ปลัดมณฑล พระบรมราชบรรหาร ยกรบัตรมณฑล นายโก โซยา ผู้ดูการโรงไหมมาส่งถึงที่พักร้อนด้วย ขี่ม้าออกจากที่พักแสนศุขตำบลหนองบัว เข้าประตูไชยณรงค์ ผ่านในเมืองไปออกประตูพลแสน ผ่านวัดสามัคคีข้ามลำน้ำตะคองผ่านบ้านวัดพลับ เดินตามทางโทรเลขผ่านเนินกะทาเกลือถึงบ้านเกาะขึ้นถนนจอหอ ซึ่งเปนทางที่ถมขึ้นไว้ลงถนนจอหอข้ามลำน้ำบริบูรณ์ ถึงพะเนาเปนที่ทางมณฑลอุดรกับทางเมืองไชยภูมิ์มาร่วม มีตลาดเปนโรงชั้นเดียวกับตึกอย่างโคราชหลายหลัง ถึงบ้านสระธรรมขันธ์แล้วขึ้นเนินโคกป่าไม้เต็งรังถึงหนองม่วงเวลาเช้า ๒ โมง ๒๕ นาที ระยะทาง ๔๔๐ เส้น พักม้าแลกินเข้าเช้าจนเวลาเช้า ๓ โมง ๓๕ นาที ออกเดินทางต่อไป มาตามทางโทรเลขผ่านหนองสวง หนองตะแบง หนองกระยาจก มาถึงด่านระกาเข้าเขตรอำเภอกลางพักม้าครู่หนึ่ง แล้วเดินทางต่อมาผ่านตลาดและที่ว่าการอำเภอกลาง ข้ามลำเชิงไกรมาที่พักแรมที่หมู่บ้านบัว ถึงเวลาเช้า ๕ โมง ๑๐ นาที รวมระยะทางที่เดินวันนี้ ๗๕๐ เส้น
การหาเลี้ยงชีพของราษฎรอำเภอนี้ ประกอบการทำนาอย่าง ๑ ทำไร่อย่าง ๑ หาชันอย่าง ๑ ทำเกลืออย่าง ๑ เลี้ยงสุกรขายอย่าง ๑ ที่มีเกวียนก็รับจ้างขนสินค้าด้วยอิกอย่าง ๑ หนทางที่มาตั้งแต่บ้านหนองม่วงถึงที่ว่าการอำเภอนี้ มีทุ่งสลับโคก ที่ทุ่งทำเปนนาแล้วบ้าง ที่ทุ่งว่างเปล่ายังมีมาก ที่เหล่านี้หากจะทำนาก็ได้ แต่ราษฎรมีน้อยกว่าเนื้อที่ จึงยังมีที่ว่างเปล่าอยู่มาก หนทางตอนระหว่างหนองม่วงถึงอำเภอกลางมีที่ข้ามทุ่งลุ่มมากอยู่แห่ง ๑ เวลาน้ำท่วมทุ่งเกวียนแลผู้คนเดินมาก ควรจะถมทางให้สูงเหมือนถนนจอหอที่พระยาประสิทธิศัลการทำเมื่อยังเปนข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่ เทศาภิบาลว่าจะบอกบุญราษฎรทำ ที่อำเภอกลางนี้แต่เดิมไม่มีตลาด จนมาตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านบัวนี้ จึงมีพ่อค้ามาตั้งตลาดร้านขายของดูครึกครื้น ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำเชิงไกร แต่ก่อนเปนที่เกวียนข้ามยาก แต่เดี๋ยวนี้นายอำเภอได้ทำสพานเกวียนข้ามได้สดวก เปนทางไปมาค้าขายในระหว่างมณฑลนครราชสิมากับมณฑลอุดรและมณฑลอิสาณสายสำคัญสาย ๑
เวลาบ่ายไปดูโรงเรียนของพระโขนที่วัดบ้านบัว มีนักเรียนทั้งหมด ๘๑ คน แต่มีเครื่องแต่งตัวอย่างนักเรียน ๓๗ คน คือสวมกางเกงสั้น เสื้อราชปะแตนขาว หมวกสานอย่างยุนิฟร์อมนักเรียนกรุงเทพ ฯ การสอน ๆ เพียงชั้นปถมศึกษา ใช้ศาลาการเปรียญเปนที่สอน พระโขนผู้นี้เปนชาวเมืองนี้เอง แต่ได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ฯ สอบไล่ได้ชั้นปถมศึกษา มาบวชอยู่วัดนี้จึงจัดตั้งโรงเรียนสอนเปนการดีหนักหนา ดูโรงเรียนแล้วไปดูตลาด ที่ตลาดมีโรงแถว ๒ แถว พ่อค้าเปนจีนขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ของที่ขายเปนของกรุงเทพ ฯ โดยมาก ร้านแถวหนึ่ง ๕ ห้อง อิกแถวหนึ่งประมาณ ๑๐ ห้อง เช่ากันถึงห้องละ ๓ บาทต่อเดือน และมีตึกอย่างโคราชของขุนพานิชนุกูลการ และของผู้อื่นอิก ๒ แห่ง
วันที่ ๑๙ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง ๔๐ นาที ขี่ม้าออกจากที่พักบ้านบัว ออกทุ่งนาเดินตามคันนาบ้างทางเกวียนบ้าง ถึงทุ่งดงพลองมีเนิน ราษฎรเรียกว่าโนนเมืองเก่า ต่อมามีหมู่บ้าน แล้วข้ามห้วยดงพลองเดินมาในทุ่งมะค่าเปนทุ่งใหญ่ หนทางเดินม้าสักชั่วโมง ๑ พื้นดินเปนดินดีสีดำอย่างดินเหนียว มีนกกะเรียนทำรังอยู่ในทุ่งนี้เปนอันมาก ท้องที่ทุ่งในมณฑลนครราชสิมา ที่เปนทุ่งใหญ่และเนื้อดินดีเช่นนี้มีหลายแห่ง แต่ทำไร่นาเพาะปลูกไม่ได้ ด้วยฤดูแล้งแห้งเกราะหาน้ำไม่ได้ทีเดียว ครั้งถึงฤดูน้ำ ๆ ก็ท่วมลึกเกินไป จึงต้องทิ้งเปนทุ่งหญ้าอยู่เปล่า ๆ ถึงในมณฑลอุดรแลอิสาณทุ่งเช่นนี้ก็มีบ้าง ข้ามห้วยมะค่าจวนถึงหมู่บ้านจึงเห็นนาบ้าง ผ่านละแวกบ้านมาที่พักร้อนริมบึงใหญ่ ซึ่งราษฎรขังน้ำไว้ใช้ พักม้าและกินเข้าเช้าที่ๆ พักบ้านมะค่าแล้ว เวลาเช้า ๔ โมง ๒๕ นาที ออกเดินทางต่อไป ขึ้นโคกป่าไม้เต็งรังลงทุ่งถึงบ้านโพนเสลา ผ่านละแวกบ้านแล้วเข้าทุ่งอิก เดินลงทุ่งข้ามห้วยสงครามซึ่งเปนทางน้ำตัน แล้วขึ้นโคกสงคราม (ไม่ใช่พลสงคราม) ผ่านเทวสถานศิลาแลงของโบราณ เปนสถานอย่างย่อม ๆ แล้วถึงที่พักแรม ที่พักตั้งอยู่ใกล้สระเพลงในหมู่บ้านโพนสงคราม ถึงที่พักเวลาเช้า ๕ โมง ๔๕ นาที.
หนทางตั้งแต่บ้านบัวถึงบ้านมะค่า ๓๐๐ เส้น ตั้งแต่บ้านมะค่ามาบ้านโพนสงคราม ๒๕๐ เส้น รวมระยะทางวันนี้ ๕๕๐ เส้น ราษฎรในหมู่บ้านโพนสงครามนี้มีประมาณ ๑๐๐ ครัว เลี้ยงชีพด้วยการทำนา และรับจ้างเกวียนบรรทุกสินค้าไปที่ต่าง ๆ
วันที่ ๒๐ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่งขี่ม้าออกจากที่พักแรมบ้านโพนสงคราม มาตามทางป่าไม้เต็งรังระยะทาง ๑๑๒ เส้นเข้าเขตรอำเภอนอก ถึงบ้านดอนใหญ่แล้วเดินทางต่อไปถึงตำบลโกรกรังเวลาเช้าโมง ๑ กับ ๔๐ นาที ระยะทาง ๑๗๓ เส้น ถึงบ้านตะคร้อพักม้าแลกินเข้าเช้าแล้ว เวลาเช้า ๒ โมง ๔๐ นาทีออกเดินต่อไป ขึ้นโคกไม้เต็งรังเดินตามทางโทรเลขบ้าง ระหว่างป่าไผ่บ้าง ถึงตำบลบ้านทองหลางน้อย และบ้านบัวน้อย แล้วข้ามลำคลองไผ่ขึ้นโคกอิก แล้วลงทุ่งนาบ้านบัวใหญ่ ถึงที่พักแรมเวลาเช้า ๕ โมง ๒๐ นาที ระยะทาง ๔๒๗ เส้น รวมระยะทางเดินวันนี้ ๗๑๒ เส้น
ที่บ้านบัวใหญ่นี้พึ่งย้ายที่ว่าการอำเภอนอกจากตำบลทองหลางใหญ่ มาตั้งใหม่เมื่อเดือนเมษายนศก ๑๒๕ นี้เอง เพราะที่นี้เปนย่านกลางในทางไปมาระหว่างที่ต่าง ๆ และใกล้ทางหลวงซึ่งเดินไปมณฑลอุดร ที่ว่าอำเภอที่ตั้งใหม่อยู่บนเนินสูงเปนทำเลเหมาะดี เวลานี้มีหมู่บ้านอยู่สัก ๓ หมู่ ราษฎรประมาณ ๕๐๐ คน มีร้านขายของคืออ้อยเปนต้น อยู่ ๔-๕ แห่งแล้ว ต่อไปราษฎรจะยกมาอยู่อิกมาก
การหาเลี้ยงชีพของราษฎรในอำเภอนี้ส่วนที่ทำกินและซื้อขายกันเองในหมู่บ้านคือ ทำนา ทำไร่ ทำไร่ฝ้าย ทำไหม การที่ทำสำหรับขายไปที่อื่น คือ หีบอ้อยเปนน้ำอ้อยหม้อ ผสมโคและเลี้ยงสุกรเปนมากกว่าอย่างอื่น จำนวนราษฎรทั้งอำเภอนี้ ๒๐,๐๐๐ เศษ
-
๑. พระยากำแหงสงคราม จัน อินทรกำแหง
พระยาสุริยเดช จาบ สุวรรณทัต เดี๋ยวนี้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็จ
พระบรมราชบรรหาร สวัสดิ์ วิเศษศิริ เดี๋ยวนี้เปนพระยาพิทักษ์ภูบาล
หลวงวิชิตเสนี แม้น วสันตสิงห์ เดี๋ยวนี้เปนพระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์
นายสงวน ศตะรัต เดี๋ยวนี้เปนพระอนันตนรานุกูล ↩