เรื่องตำนานหนังสือค๊อตข่าวราชการ

ประเพณีแต่ก่อนมา ในสมัยเมื่อยังมิได้โปรด ฯ ให้ส่งพระราชกุมารไปทรงศึกษาวิชาการณประเทศยุโรปนั้น พระราชกุมารพระองค์ใดเจริญพระชันษาเมื่อโสกันต์แลทรงผนวชสามเณรแล้ว ย่อมเสด็จออกจากพระราชวังชั้นในไปประทับอยู่ณตำหนักแห่งใดแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นกลางหรือชั้นนอก จนกว่าจะได้พระราชทานวังสำหรับพระองค์ จึงเสด็จไปประทับที่วังนั้น เรียกกันว่า “ออกวัง” ประเพณีเช่นนี้มีมาจนในรัชกาลที่ ๕ แลเมื่อในระหว่างปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ จนปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธวงศ์วรเดชทรงผนวชสามเณรแล้วแต่ยังมิได้เสด็จออกวัง ประทับอยู่ณตำหนักหอนิเพทพิทยาคม ที่ริมประตูศรีสุนทร (ตรงที่สร้างห้องเครื่องมหาดเล็กใหม่บัดนี้) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับเจ้านายอิกบางพระองค์ มีสมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเปนต้น เจ้านายชั้นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่น แม้ที่เลิกทรงศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว ก็มักเสด็จไปประชุมกันที่พระตำหนักหอนิเพทพิทยาคม เปนทำนองสโมสรสถานแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้นประจวบเวลาพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกทรงว่าราชการแผ่นดินเอง กำลังทรงจัดการงารต่าง ๆ จะยกมากล่าวเปนตัวอย่างแต่เรื่องเดียวโดยเกี่ยวแก่ตำนานนี้ คือเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรด ฯ ให้ออกหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา อนุโลมตามแบบอย่างซึ่งเคยมีเมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริห์ให้พิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาขึ้นเปนทีแรก เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ (กระแสพระราชดำริห์มีแจ้งอยู่ในประกาศฉบับที่ ๑๐๒ ซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์ไว้ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๔ นั้นแล้ว) แต่หนังสือราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ เปนแต่ทำนองหมายประกาศพิมพ์แจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ เปนครั้งเปนคราวไม่มีกำหนด แลพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เองเปนพื้น ครั้นมีราชกิจอื่น ๆ เกิดพัวพันไม่มีเวลาพอจะทรงแต่งราชกิจจานุเบกษา หนังสือนั้นพิมพ์แจกอยู่ไม่ถึงปีก็เลิกมิได้ออกต่อมา หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับออกใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้แก้ไขเปนทำนองหนังสือบอกข่าวราชการ มีทั้งข่าวในพระราชสำนักแลประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ พิมพ์ออกเปนกำหนดทุกวันอาทิตย์ สัปดาหละครั้ง แลให้ขายแก่ผู้ซึ่งจะต้องการ พนักงารสำหรับทำหนังสือราชกิจจานุเบกษา คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (พัก สาลักษณ) ๑ พระสารสาสนพลขันธ์ (สมบุญ) ๑ แลพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อยังเปนหลวงสารประเสริฐ ๑ เปนพนักงารแต่งหนังสือ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณเมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ซึ่งได้ทรงบัญชาการกรมพระอาลักษณ์แลกรมอักษรพิมพการ เปนพนักงารพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์หลวง ซึ่งตั้งมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ (อยู่ราวตรงที่สร้างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้)

เมื่อมีหนังสือราชกิจจานุเบกษาออกทุกสัปดาหเช่นนั้น บรรดาเจ้านายแลข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งราชการ ตลอดจนชั้นที่กำลังศึกษาหาความรู้ต่างก็พากันพอใจรับซื้อหนังสือราชกิจจานุเบกษาไปอ่าน แต่หนังสือราชกิจจานุเบกษาออกสัปดาหละครั้งหนึ่ง ข่าวราชการต่าง ๆ ที่พิมพ์ในนั้นมักรู้ช้ากว่างารหลาย ๆ วัน บางเรื่องที่ขาดไปทีเดียวก็มี

ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ เวลานั้นเลิกการสอนภาษาอังกฤษที่หอนิเพทพิทยาคมแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชจึงทรงชักชวนพระเจ้าน้องยาเธอบางพระองค์ ซึ่งมีพระนามปรากฎอยู่ในหนังสือค๊อตข่าวราชการ ให้ช่วยกันจัดข่าวในพระราชสำนัก ส่วนพระองค์จะทรงรับทั้งจดข่าวแลจัดการพิมพ์ข่าวนั้นแจกกันในเจ้านายให้ได้ทราบข่าวราชการที่มีแล้ว แลที่ควรจะทราบล่วงหน้า ทันต้องการทุก ๆ วัน จึงได้เกิดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๖ กันยายน) ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ เปนต้นมา เดิมเรียกชื่อเปนภาษาอังกฤษว่า “COURT” แปลว่าพระราชสำนัก ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เปลี่ยนชื่อเปนภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ” เมื่อมาพิมพ์เปนเล่มสมุดคราวนี้จึงเรียกชื่อสองชื่อนั้นรวมกันว่า “หนังสือค๊อตข่าวราชการ”

การพิมพ์หนังสือค๊อตข่าวราชการเมื่อครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช ทรงยืมแท่นพิมพ์ขนาดย่อมเครื่องหนึ่ง กับตัวพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง มาตั้งห้องพิมพ์ขึ้นที่พระตำหนักหอนิเพทพิทยาคมชั้นล่าง กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณประทานคนเรียงพิมพ์ แลให้หม่อมเจ้าวัชรินทรพระโอรสมาช่วยตรวจตรา แต่การรวบรวมต้นฉบับแลตรวจการพิมพ์ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชทรงทำเองทั้งสิ้น หนังสือซึ่งพิมพ์นั้น เพราะแท่นพิมพ์เล็ก จึงพิมพ์เปนขนาดหน้าพับแปด ออกวันละ ๔ หน้าบ้าง น้อยกว่านั้นบ้าง ได้จำลองรูปหนังสือพิมพ์ค๊อตฉบับแรกมาพิมพ์ไว้พอให้เห็นเปนตัวอย่างในต้นสมุดเล่ม ๑ นี้ แลจำลองรูปหนังสือฉบับแรกที่เปลี่ยนชื่อเปนข่าวราชการ พิมพ์ไว้ข้างต้นสมุดเล่ม ๒ ด้วยเช่นเดียวกัน

การที่สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชทรงออกหนังสือพมิพ์ค๊อตข่าวราชการครั้งนั้น เดิมได้ทั้งพระหฤทัยแต่สำหรับจะทูลเกล้า ฯ ถวายแลแจกกันในเหล่าเจ้านาย ซึ่งเห็นชอบตามกระแสพระราชดำริห์ในการออกหนังสือพิมพ์นั้น ครั้นเมื่อหนังสือพิมพ์ปรากฏไม่ช้าก็มีผู้อื่นต้องการ พากันมาทูลขอมากขึ้น ต้องพิมพ์มากฉบับกว่าที่ทรงคาดไว้แต่เดิมหลายเท่า จึงจำต้องคิดราคาพอคุ้มทุนที่ลงไป ส่วนการจำหน่ายนั้น ชั้นเดิมผู้ต้องการต้องไปรับหนังสือณหอนิเพทพิทยาคมเองทุกวัน ทีหลังมาการที่ไปรับไม่พรักพร้อมกันต้องเก็บรักษาหนังสือค้างจำหน่ายลำบากนัก สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชจึงโปรดให้มีบุรุษผู้เดิรส่งหนังสือค๊อตข่าวราชการ เนื่องในการที่ส่งหนังสือค๊อตข่าวราชการนี้ ทรงพระดำริห์ให้มีตัวแสตมป์ทำเปนพระรูปเหมือนอย่างที่พิมพ์ไว้ข้างหน้าหนังสือค๊อตสำหรับปิดเปนสำคัญ แล้วเลยทรงอนุญาตให้สมาชิกผู้รับหนังสือค๊อตข่าวราชการซื้อตัวแสตมป์นั้นไปปิดจดหมายของตน ในเมื่อจะต้องการให้บุรุษผู้ส่งหนังสือค๊อตข่าวราชการช่วยเดิรจดหมายให้สมาชิกด้วย ประเพณีการเดิรไปรษณีย์ในสยามประเทศนี้ เริ่มมีด้วยหนังสือค๊อตข่าวราชการดังกล่าวมา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะจัดการโทรเลขแลไปรษณีย์ให้มีขึ้นในพระราชอาณาเขตร เหมือนกับอารยประเทศทั้งปวง ทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช โปรดเอาพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์อยู่ จึงดำรัสสั่งให้ทรงจัดการตั้งกรมไปรษณีย์แลโทรเลขตั้งแต่แรกจะมีขึ้น จนได้เข้าสากลสมาคมกับประเทศทั้งปวง.

การออกหนังสือพิมพ์ค๊อตข่าวราชการไม่ใช่เปนการง่ายดายทีเดียว มักมีความลำบากขัดข้องเนือง ๆ เหตุด้วยเจ้านายซึ่งรับเปนผู้แต่งบางพระองค์ต่อมาก็มีหน้าที่ติดราชการ หรือบางทีก็จำต้องละเว้นการแต่งหนังสือด้วยเหตุอื่นบ้างเนือง ๆ ในเวลามีเหตุเช่นนี้ก็ต้องวานพระองค์อื่นทรงทำแทน แต่บางคราวบรรดาเจ้านายที่มีหน้าที่ทำหนังสือนี้ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเปนต้น ต้องไปตามเสด็จประพาสหัวเมืองทั้งหมด หรือโดยมากด้วยกัน ในเวลาเช่นนั้น สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชต้องทูลวานกรมหลวงบดินทร ฯ ให้ทรงจัดการพิมพ์หนังสือพิมพ์ค๊อตข่าวราชการอย่าให้ต้องหยุด กรมหลวงบดินทร ฯ มักทรงหาเรื่องนิทานสุภาสิตส่งมาให้พิมพ์พอประกันไปชั่วคราว หนังสือค๊อตข่าวราชการ ซึ่งเปนหนังสือบอกขาว จึงกลายเปนหนังสือเล่านิทานไปบางฉบับ ต่อเสด็จกลับจึงกลับพิมพ์เปนหนังสือบอกข่าวอย่างเดิม

หนังสือค๊อตข่าวราชการ ตั้งแต่ออกฉบับแรกเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๖ กันยายน) ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ เปนต้นมา นับจำนวนหนังสือที่พิมพ์รายวันได้ ๕๕๒ แผ่น (เท่าที่รวบรวมพิมพ์ได้ในสมุดเล่มนี้ ที่ขาดหายไปหาฉบับไมได้ก็มีบ้าง ได้บอกไว้ตอนที่ขาดนั้นแล้ว) ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงทราบว่า ผู้อ่านโดยมากต้องการจะทราบข่าวให้ติดต่อกันเปนสำคัญ จึงทรงเปลี่ยนกำหนดออกหนังสือค๊อตข่าวราชการเปนเดือนละ ๒ ครั้ง ตั้งแต่วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้นค่ำ ๑ (ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม) ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เปนต้นมา แต่ออกได้เพียง ๔ แผ่นก็ประจวบเวลาสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จะเสด็จออกวังไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์ ไม่มีที่สโมสรเจ้านายเหมือนอย่างที่หอนิเพทพิทยาคมแต่ก่อน จึงต้องเลิกพิมพ์หนังสือค๊อตข่าวราชการแต่นั้นมา เรื่องตำนานของหนังสือค๊อตข่าวราชการมีดังพรรณามาด้วยประการนี้

หนังสือค๊อตข่าวราชการซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธวงศ์วรเดช โปรด ฯ ให้หอพระสมุด ฯ รวบรวมพิมพ์เปนเล่มสมุดครั้งนี้ มีพระประสงค์จะให้พิมพ์เปนหนังสืออ่าน จึงได้แก้ไขการเรียบเรียงเรื่องให้ติดต่อกัน ตัดตราต้นฉบับหนังสือที่มีในฉบับเดิมออกหมด คงไว้แต่บอกวันแต่ที่เลขต้นฉบับพอให้เห็นเปนที่สังเกต กับได้แก้ไขถ้อยคำซึ่งพิมพ์ผิดไว้ในต้นฉบับเดิม แลแก้อักขรวิธีให้ตรงตามแบบอย่างที่ใช้ในปัจจุบันนี้ นอกจากที่กล่าวมา หาได้แก้ไขตัดรอนอย่างไรไม่ ส่วนการเพิ่มเติมนั้นได้แต่งคำอธิบายหมายเลขลงไว้ตามที่ซึ่งเห็นว่าควรจะมีคำอธิบายในบางแห่ง กับได้ทำสารบารพ์ สำหรับให้ค้นเรื่องได้ง่ายด้วย อิกประการ ๑ ได้เสาะหาพระรูปเจ้านายผู้แต่งหนังสือค๊อตข่าวราชการ เลือกแต่ที่ถ่ายในสมัยเมื่อทรงแต่งหนังสือนั้น ได้มาจากวังบูรพาภิรมย์เปนพื้น ครบทั้ง ๑๑ พระองค์ จึงได้ให้จำลองพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้ด้วย ในเรื่องพระรูปนี้ต้องขอบอกไว้ให้ทราบว่า พระรูปเจ้านายซึ่งพิมพ์ในสมุดนี้ ที่ไม่สู้กระจ่างดีมิใช่เปนเพราะความผิดของโรงเรียนเพาะช่างซึ่งเปนพนักงารจำลอง ที่แท้เพราะพระรูปเดิมถ่ายมาช้านานกว่า ๔๐ ปี ต้นฉบับตกเผือดแทบทั้งนั้น ซ้ำเปนรูปขนาดเล็กมาขยายขึ้นให้โตกว่าเดิมด้วย จึงไม่เหมือนกับจำลองรูปที่ถ่ายใหม่ ลักษณที่เรียงลำดับพระรูปเจ้านายในหนังสือนี้ ได้เรียงพระรูปเจ้านาย ๗ พระองค์ซึ่งทรงแต่งหนังสือนี้มาแต่แรกไว้ในเล่ม ๑ กับพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประทานสำหรับกับหนังสือเรื่องนี้ด้วยอิกพระรูป ๑ พระรูปเจ้านายอีก ๔ พระองค์ซึ่งได้เข้ารับหน้าที่แต่งหนังสือค๊อตข่าวราชการในตอนหลัง ได้รวมไว้ในเล่ม ๒ อนึ่งหนังสือค๊อตข่าวราชการที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ได้จัดเปน ๒ เล่มสมุด เพราะต้นหนังสือพิมพ์เดิมมีจำนวนกว่าห้าร้อยฉบับ ถ้าพิมพ์รวมเปนเล่มเดียวก็จะใหญ่เกินไปไม่สดวกแก่ผู้อ่าน ลักษณที่แบ่งเปน ๒ เล่ม เอาชื่อของหนังสือเปนเกณฑ์ ตอนที่เรียกชื่อว่าหนังสือค๊อต จัดเปนเล่มที่ ๑ ตอนที่เรียกชื่อว่า หนังสือข่าวราชการจัดไว้เปนเล่มที่ ๒

ว่าด้วยประโยชน์ในการอ่านหนังสือค๊อตข่าวราชการ

ผู้เปนนักเรียนพงศาวดารก็ดี เรียนขนบธรรมเนียมราชการที่ดี หรือเพียงแต่เอาใจใส่ในการแต่งหนังสือก็ดี ถ้าได้อ่านหนังสือค๊อตข่าวราชการ ๒ เล่มนี้ ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าจะได้ประโยชน์ดังจะกล่าวต่อไป ๓ ข้อนี้เปนสำคัญ คือ

ข้อ ๑ ผู้เอาใจใส่ในการแต่งหนังสือ ควรสังเกตว่าหนังสือเรื่องนี้เจ้านายหลายพระองค์ทรงแต่งเมื่อพระชันษายังอยู่ในประถมวัย หรือถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่ง คือเปนหนังสือสำนวนนักเรียนแต่ง ก็เจ้านายที่ทรงแต่งหนังสือนี้ต่อมาภายหลังได้เปนพระบรมวงศผู้ใหญ่ ปรากฎพระเกียรติคุณพระประดิภานแก่คนทั้งหลายในชั้นหลังแทบทุกพระองค์ ผู้เปนนักเรียนอ่านหนังสือเรื่องนี้ จะได้เห็นโวหารของเจ้านายเหล่านั้นเมื่อชั้นแรกเริ่มพยายามทรงแต่งหนังสือในเวลายังหย่อนความสามารถ เมื่อสังเกตเห็นเช่นนั้นแล้ว จะได้เทียบกับโวหารของตน ถ้าดีกว่าก็ควรยินดี ถ้าเห็นยังหย่อนกว่าก็จะได้พยายามตามเยี่ยงอย่าง ให้เจริญประติภานของตน ๆ ขึ้นโดยลำดับ โดยความเห็นชัดว่า เจ้านายท่านก็ต้องพยายามฝึกหัดมาเหมือนกัน สำคัญแต่ความเพียรและความอุสาหะที่จะนำไปให้ถึงคุณวิเศษเปนสำคัญ

ข้อ ๒ ผู้เอาใจใส่หาความรู้พงศาวดาร ใครอ่านหนังสือเรื่องนี้จะได้ความรู้ลักษณราชการแลขนบธรรมเนียมในพระราชสำนัก ตลอดจนพระราชานุกิจซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติในสมัยเมื่อพิมพ์หนังสือนี้ ดีกว่าที่จะหาความรู้ได้ในหนังสือเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าเรื่องใดทั้งสิ้น

ข้อ ๓ ผู้ที่เอาใจใส่ในทางความรู้ราชประเพณี เช่นดังการพิธีต่าง ๆ ที่มีประจำปีก็ดี ที่เปนการจรเปนลักษณการยกทัพเปนต้นก็ดี ในหนังสือนี้แต่งพรรณาอย่างถ้วนถี่ ไม่มีหนังสือเรื่องอื่นเหมือน บางแห่งออกจะถ้วนถี่เกินไป จะยกตัวอย่างดังเช่นบาญชีเจ้าพนักงารล้อมวงเสด็จพระราชทานพระกฐินเปนต้น ซึ่งอาจจะข้ามเสียได้ก็มีบ้าง

เพราะหนังสือค๊อตข่าวราชการสามารถจะเปนประโยชน์แก่นักเรียนดังกล่าวมา เห็นควรนับว่าเปนหนังสือตำราชั้นเอกได้เรื่อง ๑ ข้าพเจ้าเชื่อว่าบรรดาผู้ที่ได้รับไปอ่านคงจะถวายอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช โปรดให้พิมพ์ในอภิลักขิตมงคลสมัยฉลองพระชัณษา ให้เปนสาธารณประโยชน์อยู่ยั่งยืนในสยามประเทศ แลคงจะพร้อมกันยินดีถวายพระพร ให้ทรงเจริญพระชนมายุยืนนาน แลให้ทรงพระเกษมสุขสำราญทุกทิวาราตรี ดำรงพระเกียรติยศแลพระบารมีจิรฐิติกาล ทุกประการ.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๗ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๕๖๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ