- คำปรารภ
- เรื่องตำนานหนังสือค๊อตข่าวราชการ
- เดือน ๑๐ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๑ - ๗)
- เดือน ๑๑ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๘ - ๖๐)
- เดือน ๑๒ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๖๑ - ๑๒๐)
- เดือนอ้าย จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๑๒๑ - ๑๗๘)
- เดือนยี่ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๑๗๙ - ๒๓๘)
- เดือน ๓ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๒๓๙ - ๒๙๑)
- เดือน ๔ จ.ศ. ๑๒๓๗ (แผ่นที่ ๒๙๒ - ๓๔๕)
เดือน ๓ จ.ศ. ๑๒๓๗
แผ่นที่ ๒๓๙ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ ๑ รวมพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้า ๘ พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน คือ พระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเงินยวง ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสงี่ยม ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแสงจันทร์ ๑ พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ ๑ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ๑ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประภัศศร ๑ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากรรณิกาแก้ว ๑ รวมพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ๙ พระองค์ แลเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ ก็ไปสรงน้ำเปนลำดับกัน แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหาได้เสด็จมาไม่ ด้วยทรงพระประชวรอยู่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แลเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ท่านทั้งสองนี้หาได้อยู่ในกรุงเทพ ฯ ไม่ อนึ่ง เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒนนั้น มาไม่ทันเวลา ครั้นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในสรงแล้ว พระมหาราชครูพิธี กับพระครูอัษฎาจารย แลหลวงสิทธิไชย ก็มาถวายน้ำพระพุทธมนต์ โดยลำดับกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าในท้องพระโรง ทรงจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ถวายศีล ครั้นทรงศีลแล้ว เสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งโทรน ขณะนั้น พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าไปประชุมพร้อมกัน พระศรีสุนทรโวหาร แต่งตัวสวมเสื้อครุยนุ่งถมปักลาย เข้ามายืนตรงหน้าพระที่นั่ง อ่านคำประกาศ แก่พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ครั้นอ่านคำประกาศจบแล้ว พระสงฆ์ก็สวดชยันโต เจ้าพนักงานก็ประโคมแตรสังขพิณพาทย์ขึ้นพร้อมกัน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีก็ถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วก็เสด็จไปทรงคุกพระเพลาที่หน้าพระที่นั่งโทรน พระบาทสมเด็จ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๐ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑
พระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ แลทรงเจิมแล้วพระราชทานพระสุพรรณบัตร มีอักษรจาฤกดังนี้
“สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ศรีสมมติเทวราชรวิวงศ์ วโรภัยพงศ์พิสุทธ มกุฎราชวรังกูร มไหสูริยารหราช นรินทรานุชาธิบดี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ สิงหนาม ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณคุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬารทุกประการ เทอญ”
แลในกระดาษเหลืองอิกอันหนึ่ง มีความดังนี้ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ศรีสมมติเทวราชรวิวงศ์ วโรภัยพงศพิสุทธ มกุฎราชวรังกูร มไหสูริยารหราชนรินทรานุชาธิบดี ซึ่งได้รับตำแหน่งยศเฉลิมพระนามแล้วนั้น เปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกไว้ในพระสุพรรณบัตรนั้นแล้ว ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลสุนทรผล พิบูลยเกียรติศักดิเดชานุภาพทุกประการ ทำราชการในแผ่นดิน สมควรแก่ความเปนในราชตระกูลอันสูงศักดิ ในพระบรมราชวงศ์นี้เทอญ ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เปนหลวงจักรพรรดิพงศ ถือศักดินา ๘๐๐ ปลัดกรม เปนขุนจำนงราชกิจ ถือศักดินา ๖๐๐ สมุห์บาญชี เปนหมื่นสิทธิพลนิกร ถือศักดินา ๓๐๐ ให้ผู้ที่รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ทำราชการในหลวง แลในกรม ตามอย่างตามธรรมเนียม เจ้ากรมปลัดกรม สมุห์บาญชี ในเจ้าฟ้าต่างกรมสืบไป ขอให้มีความสุขสวัสดิเจริญ เทอญ ตั้งแต่วันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เปนวันที่ ๒๖๒๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ แล้วทรงจับพระมาลาเส้าสูงสวมลงแล้ว พระราชทานตรามงกุฎสยาม ชื่อมหาสุราภรณ แลดีโปลมาสำหรับกับดวงตรามีความดังนี้
“สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชวงศ์ซึ่งได้ประดิษฐานแลดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ในประเทศบางกอกนี้ เปนบรมราชธานีมหานครใหญ่ในแผ่นดินสยามทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ แลเปนราชาธิราชของมลาวประเทศมลายูประเทศ แลอื่น ๆ แลเปนเจ้าของตราเครื่องราชอิศริยยศมงกุฎสยาม ขอแสดงความแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง ฤๅผู้หนึ่งผู้เดียว ผู้ใดจะได้พบอ่านคำประกาศนี้ ให้ทราบทั่วกันว่า
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๑ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ เปนอัครบรมราชโสทรานุชาธิบดี พระองค์เจ้าใหญ่ ทรงประกอบด้วยวัยวุฒิปรีชารอบรู้ในสรรพกิจน้อยใหญ่ต่าง ๆ ได้ดำรงในตำแหน่งเปนอธิบดีที่ ๒ ในราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ แลได้โปรดเกล้า ฯ ให้รับราชการฉลองพระเนตรพระกรรณ ในราชกิจน้อยใหญ่ต่าง ๆ ก็ได้ทรงบังคับ แลจัดราชการในกรมพระคลังแลอื่น ๆ เรียบร้อยดี สำเร็จโดยพระราชประสงค์แลต้องตามพระราชอัธยาศรัยทุกประการ มีความชอบในราชการ จึงพระราชทานเครื่องราชอิศริยยศ มงกุฎสยามชั้นที่หนึ่ง ชื่อมหาสุราภรณ ให้เปนพระเกียรติยศ สมควรแก่พระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ ในแผ่นดินสยามแลความชอบทุกประการ จึงทรงพระเจริญทฤฆาชมายุพรรณสุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล เกียรติยศอิศริยศักดิเดชานุภาพทุกประการ พระราชทานณวันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ เปนวันที่ ๒๖๒๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้” แลพระราชทานสายเครื่องรางสายหนึ่งเสร็จแล้ว เสด็จลงจากพระที่นั่งโทรน ขณะนั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒนมาถึง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สั่งให้เจ้าพนักงานเอาน้ำพระพุทธมนต์มาให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน ถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปทรงประเคนเครื่องเสวยแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ ไปทรงประเคนสำรับพระสงฆ์แล้ว เสด็จขึ้นบนพระตำหนักข้างท้องพระโรงด้านตวันตก เสด็จเข้าข้างใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ จึงเสด็จมาทรงแจกของทองรูปพรรณ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๒ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ
ต่าง ๆ แก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควร แต่พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระชนมายุเจริญกว่า มีธูปเทียนมัดด้วย เวลาเช้า ๓ โมงกับ ๑๕ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรลงจากพระตำหนักข้างท้องพระโรงด้านตวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ ถวายของไทยธรรมแก่พระสงฆ์เสร็จแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ถวายยถาสัพพีอติเรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรจากท้องพระโรง เสด็จออกทางประตูวังด้านเหนือ ขึ้นทรงพระราชยานลงยาราชาวดี ไปประทับเกยฉนวนน้ำเสด็จลงเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยเรือกระบวรข้ามฟากมาประทับท่าราชวรดิษฐ เสด็จขึ้นทรงพระราชยานไปประทับเกยหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เสด็จขึ้น ในเวลาเช้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เต็มยศอย่างทหารช่าง ทรงตรานพรัตน์ (สายสพาย) พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายพลเรือนสวมเสื้อเยียระบับ ติดตราเครื่องราชอิศริยยศตามที่ได้รับพระราชทาน แต่ข้าราชการฝ่ายทหารแลตรวจสวมเสื้อเต็มยศอย่างทหารแลตำรวจ ติดตราตามที่ได้รับพระราชทาน เวลาบ่ายโมงเศษเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัตร ที่พระราชวังเดิม ในเวลาวันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศได้เชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสวย แลได้มีก๊าดไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย มีข้อความในก๊าดว่า สมเด็จพระอนุชาธิบดี เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ น.ร. ป.จ. จ.ช. ขอเชิญโดยความยินดีแด่ท่านผู้รัก (ผู้มีชื่ออย่างนี้) ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนตำแหน่งยศข้าพเจ้า แลมาเสวยเวลาค่ำณพระราชวังเดิม ปากคลองบางหลวง ณวันศุกร เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาทุ่ม ๑ พร้อม แลพระบรมวงศานุวงศ์ที่เชิญนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศวัชรินทร ๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ๑ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ๑
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๓ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๓ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีสิทธธงชัย ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์ ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามหาหงส ๑ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ ๑ หม่อมเจ้าฉายเฉิด ๑ หม่อมเจ้าจร ๑ หม่อมเจ้าขาว ๑ หม่อมเจ้าสนธยา ๑ หม่อมเจ้าปรีดา ๑ หม่อมเจ้าฉาย ๑ หม่อมเจ้าวัชรินทร ๑ หม่อมเจ้าจำเริญ ๑ หม่อมเจ้าประวิช ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ๑ หม่อมเจ้าทั่ง ๑ หม่อมเจ้าวงกฎ ๑ หม่อมเจ้าถนอม ๑ หม่อมเจ้าสำเนียง ๑ รวมพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับก๊าดเชิญ ๔๘ พระองค์ ครั้นเวลาค่ำก็เสด็จมาพร้อมกัน แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศวัชรินทร ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๔ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ
กรมพระบำราบปรปักษ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ๑ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามหาหงส์ ๑ หม่อมเจ้าปรีดา ๑ หม่อมเจ้าจร ๑ หาได้เสด็จมาไม่ ด้วยไม่ทรงสบาย เวลา ๒ ทุ่มกับ ๓ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระราชยานไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จลงเรือพระที่นั่งเก๋งทองทั้งแท่ง ข้ามฟากไปประทับหน้าพระราชวังเดิม เสด็จขึ้นทรงพระราชยานไปประทับประตูด้านเหนือ เสด็จเข้าในท้องพระโรงตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ครู่ ๑ แล้วเสด็จขึ้นบนพระตำหนัก ที่เนื่องติดกันกับท้องพระโรงด้านใต้ ประทับพระเก้าอี้ที่โต๊ะเสวย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ที่โต๊ะเสวยโดยลำดับกัน เมื่อเสวยอยู่นั้นมีเพลงพิณพาทย์ แลเพลงแตรด้วย ครั้นเสวยแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ เสด็จขึ้นทรงสปีช มีเนื้อความดังนี้ “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลพระกรุณาโดยความยินดีแห่งข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อม เลื่อนตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ให้ข้าพระพุทธเจ้ามียศใหญ่ยิ่งขึ้นไปนั้น เปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ยกความชอบซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ทราชการฉลองพระเดชพระคุณนั้น ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีเปนอันมาก เพราะจะได้เปนเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสืบไปภายหน้า ข้าราชการผู้ซึ่งจะทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ซึ่งมีสติปัญญาแลทำความดีมากจะได้เปนที่นิยมยินดี แลข้าพระพุทธเจ้าผู้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณแต่พอกำลังสติปัญญาเปนอย่างสถานประมาณ ยังทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อม เลี้ยงให้มียศใหญ่ถึงเพียงนี้ ท่านผู้ซึ่งไม่กระทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมากยิ่งกว่าข้าพระพุทธเจ้าขึ้นไป ก็จะได้เปนที่หวังใจว่าทำราชการคงไม่เสียแรงเปล่า จะได้มีชื่อเสียงปรากฎไปภายหน้า จะได้ตั้งใจกระทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ จนเต็มกำลังสติปัญญาแลความคิด ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีที่ข้อนี้เปนอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญในสิริราชสมบัติ ครอบครองปกแผ่ในพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๕ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ
สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎร อยู่เย็นเปนสุขทั่วพระราชอาณาเขตร ยืนยาวสิ้นกาลนานเทอญ” (แลคำสปีชนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ ประทานสำเนาความมา) ครั้นทรงสปีชแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยยืนขึ้นพร้อมกัน ถวายคำนับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดื่มแชมเปนตามธรรมเนียม แล้วนั่งลงเปนปรกติ ประมาณครู่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงสปีช มีเนื้อความดังนี้
“ด้วยวันนี้เปนวันตั้งกรมท่านกลาง (เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์) เจ้านายได้มาประชุมพร้อมกัน บัดนี้ฉันจะได้กล่าวการมงคลในที่ประชุมวันนี้ เพื่อให้เปนสวัสดิมงคลแก่ท่านกลาง ด้วยการที่ได้เลื่อนยศให้เปนต่างกรมใหญ่ขึ้นในครั้งนี้ ก็เปนไปตามราชประเพณีที่สมควรซึ่งมีมาแต่เดิม ด้วยแต่ก่อน พระราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินที่รวมพระบรมราชชนนีนั้น ก็ไม่เคยมีตัวอย่างที่เปนเจ้า ต่างกรมอย่างไร เพราะมีน้อยพระองค์ เมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ แล้วก็พระราชทานอุปราชาภิเษก ให้เปนกรมพระราชวัง ฯ แลเปนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบมาทุก ๆ พระองค์ แต่ว่าที่ฉันพูดนี้ อย่าเพ่อเข้าใจก่อนว่า เปนความประสงค์ ฤๅเปนความกำเริบจึงได้พูดดังนี้ ซึ่งกล่าวขึ้นนั้น เปนแต่ต้นเหตุชักความที่กล่าวต่อไป คือ การคราวนี้นั้น ก็เปนไปตามอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระขนิษฐาภคินีสองพระองค์ คือ พระองค์ใหญ่ เปนกรมหลวงศรีสุนทรเทพ (ซึ่งเรียกกันโดยมากว่า ทูลกระหม่อมใหญ่) พระองค์น้อย พระนามเจ้าฟ้าประภาวดี เปนกรมหลวงเทพยวดี (ซึ่งเรียกกันโดยมากว่า ทูลกระหม่อมปราสาท) ท่านทั้งสองพระองค์นี้ ได้อิศริยยศเปนกรมหลวง แต่ท่านก็เปนมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วสิ้นพระชนม์ไป ไม่ได้ทันเลื่อนยศศักดิ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๖ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ
สิ่งไรขึ้น ก็ในการครั้งนี้ จึงเทียบเอาท่านทั้งสององค์นี้เปนที่ตั้ง เห็นว่าพอสมควรอยู่แล้ว ก็การซึ่งเลื่อนกรมให้เปนกรมใหญ่ถึงกรมหลวงในเวลาที่เธออายุน้อยอยู่นี้ เพราะยศเจ้าฟ้านั้นมีศักดินาเสมอกับเจ้าต่างกรมอยู่แล้ว เพราะฉนั้น จึงไมได้ตั้งเจ้าฟ้าเปนกรมหมื่น เรียกพระนามกรมหมื่น เหมือนอย่างต่างกรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจะตั้งเจ้ากรมให้มียศเปนหมื่น ก็ตั้งพระนามเจ้าฟ้า เหมือนหนึ่งเจ้าฟ้ามหามาลา แลตัวฉันเอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสุพรรณบัตรนามเจ้าฟ้ามีสร้อย แลให้เจ้ากรมเปนหมื่นปราบปรปักษ์ แลหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศเปนต้น เพราะฉนั้นเมื่อจะให้มีนามกรมด้วย จึงให้เปนกรมหลวง ฤๅกรมขุน ที่ยศสูงขึ้นกว่ากรมหมื่นจึงจะควร ก็การครั้งนี้ ฉันเห็นว่าท่านกลางเปนน้องที่รักอันสนิท มีสุขแลทุกขเสมอกันมาแต่ยังเยาว์จนถึงบัดนี้ ก็ในเวลาทุกวันนี้เล่า เธอก็ประพฤติตัวมีอัธยาศรัยเรียบร้อย ไม่มีความกำเริบ แลการใด ๆ ที่ได้มอบให้เธอเปนธุระรับราชการในตำแหน่ง ที่มีความอุสาหพากเพียรจริง ๆ มิได้ทิ้งการงาน เปนแต่พอดีพอร้าย ท่านทั้งปวงก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น จึงเห็นว่าสมควรทั้งสองประการ คือ ราชตระกูล แลอิศริยยศ แลความดีในตัว จึงยกย่องขึ้นให้เปนที่กรมหลวง มีอิศริยยศใหญ่ทั้งนี้ ฉันขอให้เจ้านายทั้งปวงพร้อมใจกันมีความยินดีให้พรกับท่านกลาง ให้มีความเจริญในอิศริยยศแลความสุขทุกประการ แล้วฉันขออิกให้ท่านทั้งปวงดื่มในเวลานี้เพื่อแสดงความยินดี แลให้มีความเจริญ แก่ท่านกลาง” (คำสปีชนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา)
ครั้นทรงสปีชแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็ยืนขึ้นพร้อมกันร้องว่า ฮิบ ฮิบ ฮิบ ฮุเร เปนการแสดงความยินดี แล้วแลดื่มแชมเปน แล้วนั่งลงเปนปรกติ เวลา ๔ ทุ่มกับ ๔๕ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากโต๊ะเสวย เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นบนพระตำหนัก ข้างท้องพระโรงด้านตวันตก ประทับอยู่จนเวลา ๒ ยามกับ ๓๐ มินิต จึงเสด็จออกทางประตูด้านเหนือ ทรงพระราชยานไปประทับฉนวนน้ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งมาประทับท่าราชวรดิษฐ ทรงพระราชยานมาประทับเกยหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เสด็จขึ้น
ในเวลาวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อิวนิงเดรศ ทรงตรามหาสุราภรณ (สายสพาย) พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงฉลองพระองค์อิวนิงเดรศ ติดตราตามที่ได้รับพระราชทาน
โดย สวัสดิประวัติ
แผ่นที่ ๒๔๗ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ
ข่าวราชการในพระบรมมหาราชวัง
ณวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ พระสงฆ์วัดอรุณราชวรา ราม ๕๑ รูป มีพระธรรมเจดีย์ แลพระวิสุทธิสารเถร เปนประธาน ได้เข้ารับบิณฑบาต ในพระบรมมหาราชวัง เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระสงฆ์วัดกัลยาณมิตร์ ๑๐ รูป มีพระเทพโมลีเปนประธาน ได้รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เวลาบ่ายโมง ๑ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร กับพระพหลพลพยุหเสนานำญวน ๑๕ คนเข้าไปถวายของตรุษจีนในพระที่นั่งหมู่ใหม่ แล้วเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีเข้าเฝ้าในพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เวลา ๓ โมงก็กลับออกมา เวลาบ่าย ๕ โมง พระเจ้าน้องยาเธอกับเสมียนก็เข้าออฟฟิศ เวลาย่ำค่ำพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับตรัสด้วยราชการ จนเวลาทุ่มเศษ ข้าราชการก็กลับออกจากที่เฝ้า แลยังตรัสอยู่กับพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการอีกบ้างจนเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย ภาณุรังษี
วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาเช้านั้น พระสงฆ์บิณฑบาตแลฉันที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ก็มีตามเคย เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทเข้าไปเฝ้าประทับอยู่จนเวลาย่ำค่ำเศษ เสด็จขึ้น ประมาณครู่หนึ่ง เสด็จออกสนามหญ้า ประทับตรัสอยู่จนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย ก.ม. นเรศวรฤทธิ
เลี้ยงพระตรุษจีน
ณวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๑๔ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๕ โมง พระบาทสมเด็จ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๘ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ
พระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ฟร็อกโก๊ต เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ประทับเกยทรงพระที่นั่งราชยานไปประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมากร (พระไชยในแผ่นดินปัตยุบันนี้) แล้วจึงพระพิมลธรรมก็ถวายศีล ครั้นถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรไปทรงประเคนสำรับแก่พระพิมลธรรม พระสงฆ์ ๒๐ รูปก็ฉัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ไปปล่อยปลา ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระเต้าสิโนทก พระพิมลธรรมกถวายยถา พระสงฆ์สวดสัพพี แล้วพระธรรมเจดีย์ก็ถวายอติเรก พระสงฆ์ก็สวดภวตุสัพ พระธรรมไตรโลกถวายพระพรลา เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ไปจุดธุปเทียนสังเวยเทวดา ที่เก๋งป้อมพรหมอำนวยศิลป ขุนมหาสิทธิโวหาร อ่านคำประกาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะจีนซึ่งตั้งพระพุทธปฏิมากรอยู่นั้น แล้วเสด็จประทับตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่จนเวลาเที่ยงเศษ เสด็จขึ้นทรงพระราชยานแต่เกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยไปประทับหน้าพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ แล้วเสด็จขึ้น
เวลาจวนย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับตรัสอยู่ที่นั้น จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย มนุษยนาคมานพ (ผู้แทน)
ณวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เสด็จขึ้นทรงพระราชยาน เสด็จออกทางประตูศรีสุนทร ไปประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จทรงพระราชดำเนิรไปประทับทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พอทรงจุดเทียนแล้ว สมเด็จพระวันรัตนจึงถวายศีลครั้นถวายศีลแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงประเคน
----------------------------
แผ่นที่ ๒๔๙ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ
แล้วจึงเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งโทรน พระสงฆ์ก็รับพระราชทานฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงจุดเทียนเครื่องสังเวยที่ตั้งไว้บนโต๊ะนั้น แล้วโปรดพระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคลไปจุดเทียนเครื่องสังเวยที่เก๋งเล็กข้างป้อมตำหนักแพ ในเก๋งนั้นมีป้ายแลเทวรูป ครั้นพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เจ้าถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์แล้ว สมเด็จพระวันรัตนถวายอติเรกแลถวายพระพรลาไปยังวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงประทับตรัสด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจนเวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จกลับทางเก่าไปประทับเกยหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติเสด็จขึ้น อนึ่งในการตรุษจีนนั้น มีโคต่าง ๔ โค บรรทุกเครื่องกับปียจังหันสำหรับถวายพระสงฆ์ที่มาฉันนั้น แลทรงพระราชอุทิศให้ปล่อยปลาลำหนึ่ง เปนปลาหนัก ๘ หาบ แลในวันนี้เปนวันพระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ขาว ทรงพระภูษาม่วงสีแดง พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการสวมเสื้อดำบ้างขาวบ้างตามธรรมเนียม
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เสด็จพระราชดำเนิรเข้าในสนามหญ้า เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งออกทางประตูพิมานไชยศรี แล้วเสด็จตรงไปออกประตูวิเศษไชยศรี เสด็จไปตามถนน แล้วเสด็จเข้าไปประพาสในสวนวังสราญรมย์ จนรอบแล้ว จึงเสด็จไปประทับวัดราชบพิธที่ประตูกำแพงแก้วชั้นนอกด้านเหนือ แล้วเสด็จพระราชดำเนิรเข้าไปในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรในพระอุโบสถ ที่โปรดฯ ให้หม่อมเจ้าประวิชแปลงทำขึ้นใหม่ ทอดพระเนตรแล้วเสด็จออกมา ประทับตรัสอยู่กับพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการ บนชลา
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๐ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ
พระอุโบสถ จนเวลาจวนทุ่ม จึงเสด็จกลับเข้าในพระบรมมหาราชวัง แล้วมีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ไปจุดเทียนที่สวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระที่สวดนั้น ๒๐ รูป พระธรรมวโรดมเปนประธานาธิบดีในที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ แลข้าราชการ จนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น
ณวันพุธ เดือน ๓ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องตามธรรมเนียม ทรงฉลองพระองค์ฟร็อกโก๊ต เสด็จออกทรงพระราชยานแต่เกยหน้าพระทวารตรงมุขพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ แห่ไปประทับที่เกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จประทับทรงนมัสการ พระพุทธปฏิมากร (พระไชยในแผ่นดินปัตยุบันนี้) แล้วกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถวายศีล พระสงฆ์ ๒๐ องค์ ๒๑ ทั้งพระบัณฑระ ซึ่งจะได้รับพระราชทานที่พระครูนั้น จึงสวดถวายพรพระจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปทรงประเคนเครื่องแก่กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พระบรมวงศานุวงศ์ทรงปฏิบัติพระสงฆ์ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ไปจุดเทียนบูชาศาลเทพยดา ริมป้อมข้างขวาท่าราชวรดิษฐ ในขณะนั้น ขุนมหาสิทธิโวหารจึงอ่านคำประกาศเทพยดา ตามอย่างตามธรรมเนียมซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน แลหลวงโลกทีป จึงว่าคาถาเชิญเทพยดา เหมือนอย่างวันก่อนมา ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จขึ้นไปแต่ที่นั้น มาประทับที่โต๊ะกลมเล็ก พระวุฒิการบดี จึงนำพระบัณฑระมายืนที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสัญญาบัตรแต่ขุนสุวรรณอักษรมา
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๑ ออกวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ
ทรงประเคนแด่พระบัณฑระ แลทรงรับไตรแลเครื่องปริกขารแต่เจ้าพนักงานศุภรัตแลคลังวิเศษ ทรงประเคนแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปประทับที่ทรงประทับเดิม เมื่อทรงประเคนสัญญาบัตรแด่พระบัณฑระนั้น พระสงฆ์ ๒๐ รูปจึงสวดชยันโต พระบัณฑระซึ่งเปนที่พระครูบัณฑระธรรมสโมธานนั้น จึงไปผลัดผ้าครองไตรซึ่งได้รับพระราชทาน ครั้นพระสงฆ์สวดชยันโตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปประทับถวายของไทยธรรม แด่กรมพระปวเรศ ฯ แลประทับตรัสอยู่ครู่หนึ่ง จึงเสด็จกลับมาประทับที่ซึ่งประทับเดิม แลรับสั่งให้พระองค์เจ้าที่ทรงพระเยาว์ถวายของไทยธรรมพระสงฆ์ พระสงฆ์จึงถวายยถาสัพพีอติเรก แล้วจึงพระราชทานน้ำซึ่งตรวจนั้นแก่พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ไปปล่อยปลาที่ปลายสพานท่าราชวรดิษฐนั้น เปนจำนวนปลาหนักวันละ ๘ หาบ เปนราคาเงิน ๑๐ ตำลึง รวมเปน ๓ วัน ๒๔ หาบ เปนเงินชั่ง ๑๐ ตำลึง ครั้นพระสงฆ์สวดจบแล้ว จึงถวายพระพรลากลับไป
ในที่นี้จะต้องบอกความในสำเนาสัญญาบัตร ซึ่งทรงพระราชศรัทธา แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบัณฑระเปนพระครูนั้นเสียก่อน แล้วจึงจะได้เล่าความต่อไป ความในสัญญาบัตรนั้นดังนี้ ว่าให้พระบัณฑระ เจ้าอธิการวัดนรนาถสุนทริการาม เปนพระครูบัณฑระธรรมสโมธาน มีนิตยภัตรราคาเดือนละตำลึงกิ่ง ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธสาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยดับอธิกรณ แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณร ในอารามโดยสมควร จงมีสวัสดิ์เจริญ ในพระพุทธสาสนา เทอญ
ตั้งแต่ณวันพุธ เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุนสัปตศก พุทธสาสนกาล ๒๔๑๘ พรรษา เปนวันที่ ๒๖๓๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๒ ออกวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ
อิทํ มยา รญฺญา (แลทรงพระราชหัดถเลขา เปนพระนามด้วยอักษรขอมตามพิธีภาษามคธว่า) ปรมินฺทมหาจุฬาลงฺกรณสฺมา (แลมีอักษรขอมเปนภาษามคธต่อไปอิกว่า) สยามวิชิเต รชฺชํ การยตา ทีนี้จะได้ว่าความก่อนนั้นไป ครั้นพระสงฆ์กลับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จแต่ที่ประทับเดิมมาประทับที่พระเก้าอี้เล็ก ในขณะนั้น เจ้าพระยาสุรวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจึงเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในที่นั้น ทรงประทับรับสั่งกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ แลข้าราชการผู้อื่นอิกจนเวลาเที่ยงเศษ จึงเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงพระที่นั่งราชยาน เสด็จกลับมาประทับที่เกยหน้าพระทวารตรงมุขพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติเสด็จขึ้น
เวลาเย็น ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับสนามหญ้า ทอดพระเนตรเสือโคร่ง ซึ่งเจ้าหมื่นเสมอใจราช ผู้เปนที่ข้าหลวงสำหรับตรวจราชการภาษีอากรเมืองภูเก็ตแลเมืองถลางนั้น ส่งเข้ามาถวายนั้น พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการเฝ้าอยู่ที่นั้นพร้อมกัน แลเสือนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงพัสดีกลางไปเลี้ยงรักษาไว้ อย่าให้เปนอันตรายได้ ประทับอยู่ที่นั่นจนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย เทวัญอุไทยวงศ์
ข่าวราชการในพระบรมมหาราชวัง
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาจวนย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้จีนนิ่ม มีความในสัญญาบัตรว่า ให้จีนนิ่ม เปนหลวงโสภณเพชรรัตน อยู่ในกรมท่าซ้าย ให้ถือศักดินา ๖๐๐ ทำราชการตามตำแหน่ง ตั้งแต่บัดนี้ไป จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ สมควรแก่ตำแหน่งทุกประการ ตามอย่างตามธรรมเนียมข้าราชการทั้งปวง จงมีสวัสดิเจริญ เทอญ
ตั้งแต่ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เปนวันที่ ๒๖๓๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ (ลงพระนาม) แล้วประทับตรัสอยู่ที่นั้น จนเวลา ๒ ทุ่ม เสด็จขึ้น
แจ้งความ
ด้วยหนังสือ คอต ซึ่งออกในวันจันทร เดือนยี่ แรม ๑๔ ค่ำ
แผ่นที่ ๒๕๓ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ
แผ่นที่ ๒๓๖ ข้างหลังบันทัดที่ ๘ ลงมา ว่าด้วยเจ้าพนักงานเชิญ “เครื่องสำหรับวางของ” สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศนั้น ใส่ผิดไป คือ เชิญเครื่องพระสำอาง หาได้เชิญเครื่องสำหรับวางไม่ ขอให้ท่านทั้งหลายทั้งปวงจงทราบเทอญ
ณวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาย่ำรุ่งเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ขึ้นทรงรถพระที่นั่ง ๒ ดุม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ ตามเสด็จบนรถพระที่นั่ง เสด็จไปประทับสวนสราญรมย์ เสด็จทรงรถรอบสวนรอบหนึ่ง แล้วจึงเสด็จทรงพระราชดำเนิร ทอดพระเนตรพรรณไม้ดอกผลต่าง ๆ อยู่จนเวลาเช้าโมงเศษ เสด็จขึ้น ทรงรถพระที่นั่งกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ข่าวนี้ ข้าพเจ้ายังหาได้ใส่ไม่ ด้วยข้าพเจ้าลืมเสีย ต่อนึกขึ้นได้จึงได้ใส่ ขอท่านทั้งหลายได้ทราบเทอญ
โดย มนุษยนาคมานพ
ณวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลา ๕ โมงกับ ๔๕ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ตรัสอยู่จนเวลาย่ำค่ำ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒนก็กราบถวายบังคมลา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าทดลอองธุลีพระบาทเข้าเฝ้าตรัสอยู่จนเวลาทุ่มเศษ ข้าราชการกราบถวายบังคมลา ยังเฝ้าอยู่แต่พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการหัวหมื่น แลมหาดเล็ก รับสั่งอยู่จนเวลายามเศษเสด็จขึ้น เวลานี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลิงไปที่ศพขุนคงปืนไฟ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๔ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ
ณวัดสระเกศ แลได้พระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิง กับผ้าขาว ๒ พับไปที่ศพ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิทศทิศวิไชย ปลัดเมืองนครราชสิมา ณเมืองนครราชสิมา
โดย สวัสดิประวัติ
ณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ มีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๓ โมง พระสงฆ์วัดอรุณราชวราราม ๕๔ รูป มีพระธรรมเจดีย์เปนประธาน ได้เข้ารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระสงฆ์วัดบุรณสิริ ๑๐ รูป มีพระวินัยรักขิตเปนประธาน ได้รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เวลาบ่ายโมงเศษ พระยาจ่าแสนยบดี พระยาศรีสิงหเทพ พระยาอินทราธิบดีสหราชรองเมือง เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เวลาบ่าย ๓ โมงก็กลับออกมา ขุนหลวงพระไกรศรี เข้าไปเฝ้าเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ก็กลับออกมา พระเจ้าน้องยาเธอ กับพวกเสมียนเข้าออฟฟิศ
เวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกสนามหญ้า พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ ไปทรงจุดเทียนสวดพระพุทธมนต์ผ้าจำนำพรรษา ที่วัดอรุณราชวราราม พระสงฆ์ที่สวดมนต์ในพระอุโบสถนั้น คือ พระราชาคณะ ๑ หม่อมราชวงศ์หนู ๑ ถานานุกรม ๕ เปรียญ ๑ พระพิธีธรรม ๔ อันดับ ๘๒ รูป ส่วนในพระวิหารนั้น ฝ่ายพระราชวังบวร ฯ พระราชาคณะ ๑ พระพิธีธรรม ๔ อันดับ ๕ รวมพระสงฆ์ ๑๐ รูป ครั้นทรงจุดเทียนแล้ว พระสงฆ์ก็สวดพระพุทธมนต์ ทรงพระราชอุทิศถวายในพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งได้ประดิษฐานไว้ในฐานพระพุทธปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม เปนการปีทุกปี ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับตรัสด้วยราชการต่าง ๆ อยู่จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย ภาณุรังษีสว่างวงศ์
แผ่นที่ ๒๕๕ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ
ถวายผ้าจำนำพรรษา
ณวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับเกยพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ขึ้นทรงพระราชยานไปประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ พร้อมด้วยกระบวรเรือนำตามเสด็จ ไปประทับฉนวนวัดอรุณราชวราราม เสด็จขึ้นทรงพระราชยานแต่ฉนวนน้ำไปประทับเกยหน้าทวารใหญ่แล้ว เสด็จลงทรงพระราชดำเนิรเข้าในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แลพระธรรมเจดีย์ก็ถวายศีล แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปจุดเครื่องทองน้อยบูชาพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งบรรจุอยู่ในฐานพระพุทธรูปนั้น ครั้นพระสงฆ์ถวายพรพระจบแล้ว เสด็จพระราชดำเนิรไปทรงประเคนสำรับแก่พระธรรมเจดีย์ แล้วพระเจ้าน้องยาเธอซึ่งเข้าปฏิบัติพระสงฆ์ก็ประเคนต่อๆ ไป ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว ก็ทรงประเคนผ้าสบงแลของไทยทานส่วนของพระธรรมเจดีย์ แลผ้าขาวพับ ๒๐ พับ ซึ่งเปนผ้าจำนำพรรษา เปนส่วนของพระสงฆ์ ซึ่งรับระราชทานฉันสำรับของหลวงในพระอุโบสถ ๒๐ รูปนั้น ทรงประเคนรวมไว้แก่พระธรรมเจดีย์ทั้งสิ้น พระเจ้าน้องยาเธอ ที่ทรงพระเยาว์จึงได้ถวายผ้าสบง แลของไทยทานต่าง ๆ ซึ่งเปนของหลวง แก่พระสงฆอิก ๑๙ รูปต่อไป อนึ่งมีกระถางลายมังกรฝาชีแดงใส่เครื่องของกินต่าง ๆ เกณฑ์มหาดเล็กหุ้มแพรคนละกระถาง สำหรับถวายพระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถ ๒๐ ที่เปนส่วนของหลวงนั้น ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ ขณะเมื่อพระสงฆ์ในพระอุโบสถสวดถวายพรพระแลฉันนั้น พระสงฆ์ ๘๓ รูป ที่พระระเบียงก็ได้สวดแลฉันสำรับที่แผ่พระราชกุศล แก่พระบรมวงศานุวงศ์เหมือนกัน แลมีของไทยทานสำหรับด้วย ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเต้าสิโนทก พระสงฆ์ก็ยถาสัพพี อนุโมทนาทาน แลถวายอติเรก
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๖ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ
แล้ว เสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ ประทับตรัสกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ข้างพระอุโบสถประมาณครู่หนึ่ง ก็เสด็จพระราชดำเนิรไปประทับที่พระระเบียงตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วเสด็จขึ้นทรงพระราชยานไปประทับเกยที่ฉนวนน้ำ ลงเรือพระที่นั่งไปประทับที่พระราชวังเดิม เวลาเที่ยงเศษ ประทับอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ จึงได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามมาประทับท่าราชวรดิษฐ์ ทรงพระราชยานเข้าในพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ แลพระยาจ่าแสนยบดี พระยาศรีสิงหเทพ พระยาโชฎึก ราชเศรษฐี เข้าไปเฝ้าอยู่จนเวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จขึ้น อนึ่งเสด็จพระราชดำเนิรวัดอรุณราชวรารามนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ฟรอกโกต พระบรมวงศานุวงศ์ แถข้าราชการ พลเรือน สวมเสื้อฟรอกโกต ทหารกสวมเสื้อครึ่งยศ ตามธรรมเนียม
โดย ก. ม. นเรศร์วรฤทธิ
ณวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ฟร็อกโก๊ต เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ประทับเกยทรงพระที่นั่งราชยานไปประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนิรลงเรือพระที่นั่งไปเข้าคลองบางหลวง เลี้ยวด่านเข้าคลองต่อไป ครั้นถึงวัดราชโอรส เรือพระที่นั่งก็เข้าประทับที่ฉนวนน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรเข้าในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมากร แล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อยบูชาพระอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วจึงทรงประเคนสำรับแก่พระสังวรวิมล แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ปฏิบัติพระสงฆ์ ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประเคนของไทยธรรม แลผ้าขาว ๕ พับซึ่งสำหรับสปกรณพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่พระสังวรวิมล แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ ที่ทรงพระเยาว์ไปประเคนของไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระเต้าสิโนทก
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๗ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ
พระสงฆ์ก็ยถาสัพพี อติเรก ภวตุสัพ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ ไปประทับตรัสกับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งมาคอยเฝ้าอยู่ริมพระอุโบสถด้านซ้ายประมาณครู่หนึ่ง จึงเสด็จพระราชดำเนิร ไปประทับวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระราชทานธูปเทียนแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ให้จุดบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย แลเทียนคู่ ๑ บูชาพระพุทธไสยาสน์ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิรแต่พระวิหารไสยาสน์ มาประทับที่ใต้ต้นพิกุล ทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพารักษ์ที่ศาลนั้น แล้วทรงประทับตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ อยู่ประมาณครู่ใหญ่ จึงเสด็จพระราชดำเนิรลงเรือพระที่นั่ง กลับมาทางเก่าครั้นถึงท่าราชวรดิษฐ เรือพระที่นั่งประทับฉนวนแล้ว เวลาบ่ายโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทรงพระราชยานมาประทับเกยหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ แล้วเสด็จขึ้น กระบวรซึ่งเสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารคนี้ เรือประตู หลวงไกรกรีธา ในกรมพระกลาโหม ๑ หลวงจินดารักษ์ ในกรมมหาดไทย ๑ เรือกลอง พระยารามกำแหง เรือนำ จมื่นราชามาตย์ เรือคู่ชัก ๑ คู่ เรือพระที่นั่งกราบลำทรงกลีบสมุท เรือพระที่นั่งรองเอกาทัศพยาม แลสำรับซึ่งเลี้ยงพระสงฆ์นั้น ในพระอุโบสถของหลวง นอกพระอุโบสถของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพไปจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการในอุโบสถวัดราชประดิษฐ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ แล้วเวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวาร หน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๘ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ
ประทับสนามหญ้า ตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น
โดย มนุษยนาคมานพ (ผู้แทน)
เสด็จถวายผ้าจำนำวัสสาวัดราชประดิษฐ
ณวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เสด็จออกทรงพระราชดำเนิรเข้าในสนามหญ้า แล้วเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง เสด็จออกทางประตูพิมานไชยศรี แลทางประตูวิเศษไชยศรี เสด็จไปประทับวัดราชประดิษฐ แล้วเสด็จทรงพระราชดำเนิรเข้าไปในพระอุโบสถ เสด็จไปประทับทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูป แลพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระธรรมวโรดมจึงถวายศีล ครั้นทรงศีลแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งโทรน พระสงฆ์จึงสวดถวายพรพระ ครั้นจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงประเคนแล้ว จึงเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งโทรนดังเก่า พระสงฆ์ก็รับพระราชทานฉัน ครั้นรับพระราชทานฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จไปประทับตรัสด้วยพระธรรมวโรดมประมาณครู่หนึ่ง แล้วทรงถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ทั้ง ๕ รูป คือ พระธรรมวโรดม ๑ พระปลัด ๑ พระครู ๒ พระสมุห์ ๑ รวม ๕ ที่ได้รับพระราชทานฉันสำรับของหลวงนั้น โปรดพระราชทานเงินเบี้ยหวัดแด่พระธรรมวโดม เปนเงินตรา ๓ ชั่ง ตามเคย มอบให้นายจ่ายงรับไป แลผ้าขาว ๕ พับกับของไทยทาน แต่พระนอกนั้นหาได้ฉันสำรับหลวงไม่ คือ ฉันสำรับที่เกณฑ์พระเจ้าพี่นางเธอ แลพระเจ้าน้องนางเธอ รวม ๑๐ สำรับ รวมสำรับของหลวง แลสำรับที่เกณฑ์ ๑๖ สำรับด้วยกัน รวมพระสงฆ์ ๑๖ รูปทั้งพระธรรมวโรดม ครั้นทรงถวายไทยธรรมนั้นแล้ว พระธรรมวโรดมจึงถวายยถา แลพระสงฆ์รับสัพพีแลสวดกาเล พระธรรมวโรดมถวายอติเรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จกลับออกมานอกพระอุโบสถ ประทับตรัสด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ประมาณครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จทรงพระราชดำเนิรไปบนชลาข้างพระอุโบสถด้านตวันตก ทอดพระเนตรพระเจดีย์ แล้วเสด็จกลับมาทางหน้าพระอุโบสถ แลเสด็จกลับเข้าไปทอดพระเนตรในพระอุโบสถ ประมาณครู่หนึ่ง เสด็จกลับออกจากพระอุโบสถ ลงไปประทับตรัสด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ข้างที่ศาลาชั้นล่าง
----------------------------
แผ่นที่ ๒๕๙ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ
แล้วจึงเสด็จขึ้นเกยทรงรถพระที่นั่ง เสด็จประทับณวัดราชบพิธ เสด็จทรงพระราชดำเนิรเข้าในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรในนั้น แลประทับตรัสด้วยหม่อมเจ้าพระอรุณ ประมาณสัก ๔ นาทีเศษ จึงเสด็จกลับออกจากพระอุโบสถ เสด็จไปทอดพระเนตรข้างพระอุโบสถด้านตวันตก เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จกลับมาประทับณวังสราญรมย์ เสด็จไปบนนั้น ประทับอยู่จนเวลาบ่าย ๒ โมงเศษจึงเสด็จกลับยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้น ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เข้าไปเฝ้าจนเวลาบ่าย ๕ โมงเศษกลับออกมา ครั้นเวลาย่ำค่ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับสนามหญ้า ตรัสด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการ จนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย ทองแถมถวัลยวงศ์
ณวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับณพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าเฝ้าทุกดอองธุลีพระบาทณที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปิดทองพระพุทธรูป แลทรงปิดทองพระคัมภีร์อรรถกถาจุลนิเทส ๑๒ ผูก ทรงร้อยหูพระคัมภีร์มธุรสวาหินี ๑๖ ผูก ตามอย่างธรรมเนียม แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ไปจุดเทียนที่พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระสงฆ์สวดมนต์ตามธรรมเนียมวันพระ ประทับอยู่จนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น ประทับณพระที่นั่งดำรงสวัสดิอนัญวงศ์ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จออกประทับที่มุขพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ จนเวลายามเศษ จึงเสด็จขึ้น
โดย เทวัญอุไทยวงศ์
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่าย ๒ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แผ่นที่ ๒๖๐ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ
เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ พระยาศรีสิงหเทพ ๑ เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เฝ้าอยู่จนเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ พระยาโชฎึกราชเศรษฐีกับพระยาศรีสิงหเทพออกจากเฝ้า แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีนั้นยังเฝ้าอยู่ เวลา บ่าย ๓ โมง พระศรีธรรมสาสน นำมิศเตอรคูลนิซเข้าเฝ้า ถวายแผนที่ซึ่งจะทำพระที่นั่งใหม่๑ เวลาบ่าย ๔ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์แลพระศรีธรรมสาสน มิศเตอร คูลนิซกกลับออกมา เวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เข้าเฝ้า เฝ้าอยู่ประมาณ ๓๐ นาทีจึงออก แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับตรัสอยู่ที่นั้น จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย มนุษยนาคมานพ
ณวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ เวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ มหาโกษาธิบดีเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ตรัสอยู่ครู่หนึ่ง เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ก็กราบถวายบังคมลาออกมาจากพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศวัชรินทร เฝ้าอยู่ณที่นั้น ตรัสอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จเข้าในสนามหญ้า เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฯ จึงนำจีนประมาณ ๓๐ คน เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ตรัสอยู่ครู่หนึ่ง เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฯ แลจีนเหล่านั้นก็กราบถวายบังคมลา จึงเสด็จมาประทับที่พระเก้าอี้ในสนามหญ้า พระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าอยู่ที่นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าราชการเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร แก่ขุนหลวงพระไกรศรี มีความในสัญญาบัตรดังนี้ ให้เลื่อนขุนหลวงพระไกรศรี เปนขุนหลวงพระยาไกรศรี ราชสุภาวดีศรีมุรธาดุลยราช เจ้ากรมแพ่งกลาง ให้ถือศักดินา ๕๐๐๐ ทำราชการตามตำแหน่ง ตั้งแต่นี้ไป จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรพระพฤติ สมควรแก่ตำแหน่งทุกประการ ตามอย่างธรรมเนียมข้าราชการทั้งปวง ขอให้มีสุขสวัสดิเจริญ เทอญ
ตั้งแต่ณวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ศักราช ยังมีอิกต่อไป คือ ๑๒๓๗ เปนวันที่ ๒๖๔๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
แผ่นที่ ๒๖๑ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ
(เซนพระนาม) ครั้นพระราชทานสัญญาบัตรแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโต๊ะทองโต๊ะ ๑ กาทองกา ๑ ประทับตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการ จนเวลา ๒ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น
โดย สวัสดิประวัติ
ณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ พระสงฆ์วัดอรุณราชวราราม ๖๔ รูป มีพระธรรมเจดีย์เปนประธาน ได้เข้ารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระสงฆ์ ๑๐ รูปได้รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เวลาบ่ายโมงเศษ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กับพวกเสมียนเข้าออฟฟิศ เวลาย่ำค่ำพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทที่พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ประทับตรัสด้วยราชการ จนเวลายามเศษเสด็จขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์กลับออกมาจากที่เฝ้า
โดย ภาณุรังษี
แผ่นที่ ๒๖๒ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ
ณวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ไม่มีราชการสิ่งใด เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับสนามหญ้า พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าทดลอองธุลีพระบาทผู้ ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าอยู่ที่นั้น ประทับอยู่จนเวลาเกือบ ๒ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
แจ้งความ
เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำนั้น ข่าวราชการ เวลาเย็น ข้าพเจ้าลืมเสีย หาได้แจ้งความไปไม่ คือในเวลาเย็นวันนั้น มีการสวดมนต์ที่วัดราชโอรส รุ่งขึ้นเช้าถวายผ้าจำนำพรรษา ขอท่านทั้งหลายได้ทราบเทอญ
โดย ก. ม.นเรศวรฤทธิ์
แผ่นที่ ๒๖๓ ออกวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ
ข่าวราชการในพระบรมมหาราชวัง
ณวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาจวนย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ประทับสนามหญ้า พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับตรัสอยู่ที่นั้นจนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
โดย มนุษยนาคมานพ (ผู้แทน)
แผ่นที่ ๒๖๔ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ
ข่าวราชการในพระบรมมหาราชวัง
ณวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่จนเวลาทุ่มเศษ กลับออกมา ยังเหลืออยู่บ้าง คือ พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการที่เคยอยู่ ประทับตรัสอยู่ แล้วจมื่นสราภัยนำหมอจันดเลเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ประมาณครู่หนึ่งก็กลับออกมา พอเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้นข้างใน ข้าราชการก็กลับออกมาพร้อมกัน
ขอแจ้งความให้ทราบทั่วกัน
ในหนังสือเมื่อลงแผ่นที่ ๒๕๘ ว่าด้วยเสด็จพระราชดำเนิรวัดราชบพิธ ในหนังสือนั้น ว่าประทับตรัสด้วยเจ้าพระกรุณนั้นผิดไป ด้วยคนเขียนฤๅคนเรียงพิมพ์จะเรียงตกเสีย คือ หม่อมเจ้าพระอรุณ แลอิกข้อหนึ่งนั้น ก็เหมือนกัน ว่าด้วยประทับตรัสด้วยหม่อมเจ้าพระอรุณ ประมาณ ๔ นาทีนั้น ผิดไป คือ ๔๐ นาที ขอท่านทั้งหลายจงทราบชัดเทอญ
โดย ทองแถมถวัลยวงศ์
แจ้งความให้ทราบด้วย ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ณวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิรลงเรือพระที่นั่งอัคราชวรเดช แล่นขึ้นไปกลับเรือแต่ล่องกลับลงมาตามลำน้ำ ออกปากอ่าวแล่นไปทางฝั่งทเลตวันตก แล่นไปประทับแรมที่อ่าวเมืองเพชรบุรีคืนหนึ่ง แลเสด็จลงเรือเล็กพระที่นั่งโบต ๑๒ กันเชียงเข้าไป แลขึ้นบกไป ไปประทับบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ แลหมู่นั้น แลจะประพาสอยู่ในเมืองเพชรบุรีประมาณ ๗ วันฤๅต่อไปอิก ยังกำหนดไม่แน่ แลการนี้ข้าพเจ้าทราบนานแล้ว แต่ยังหาได้เอาลงในหนังสือไม่ แลขอให้ท่านผู้ที่จะได้ตามเสด็จพระราชดำเนิร
----------------------------
แผ่นที่ ๒๖๕ ออกวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ
เตรียมพระองค์ เตรียมตัวให้เรียบร้อย ให้ทันตามเสด็จพระราชดำเนิรเถิด แลผู้ที่ไม่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนิรนั้น ควรจะเตรียมตัวมาคอยส่งเสด็จ จะเปนการดีแก่ตัวท่านมาก
อนึ่งหนังสือคอตนี้ เมื่อเวลาไม่เสด็จอยู่ จะต้องหยุดข่าวราชการในพระองค์ จะต้องลงพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แลพระเจ้าแผ่นดินในกรุงเทพมหานคร แลพระนามเจ้าต่างกรม ทั้งองค์หญิงองค์ชาย ในกรุงเทพมหานคร แลจะลงพระนามกรมพระราชวังบวร แลเจ้าต่างกรม แลยังไม่ได้ตั้งกรมในพระราชวังบวร จะลงนิทานในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเปนคติแลคุณวิเศษ ประโยชน์ต่าง ๆ จนเสด็จพระราชดำเนิรกลับ ถ้ามีเรือเข้ามา ก็จะได้ส่งข่าวราชการที่เมืองเพ็ชร์บุรีเข้ามาลงในหนังสือคอต แลจะได้ส่งหนังสือออกไปที่เมืองเพ็ชร์บุรีให้ผู้ที่ตามเสด็จ ให้ผู้ที่รับหนังสือคอตนี้ แลข่าวต่าง ๆ ที่จะเอาลงนั้น ในหนังสือนี้ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ เปนพระธุระทั้งสิ้น แลขอลาผู้ที่มิได้ตามเสด็จพระราชดำเนิร ให้อยู่เย็นเปนสุขทุกประการ เทอญ
โดย ผู้จัดการพิมพ์
แผ่นที่ ๒๖๖ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ
ข่าวราชการในพระบรมมหาราชวัง
ณวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่าย ๔ โมงกับ ๑๐ มินิต พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ ที่เอดเดอกง ๑ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร กรมวัง ๑ พระศรีธรรมสาสน ๑ พระดิฐการภักดี กรมท่า ๑ นำดอกเตอ อารมันสแตนิอุศ กงสุลเยอรมัน ๑ มิศเตอรฮันดริกเสมียนกงสุลเยอรมันแลล่าม ๑ มิศเตอรเดอชา ล่ามในกรมท่า ๑ เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร จนเวลา ๔ โมงแล้วกับ ๕๐ มินิต จึงกลับออกจากเฝ้า
เวลาบ่าย ๕ โมงกับ ๕๐ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับสนามหญ้า พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ไปทรงจุดเทียนนมัสการ พระสงฆ์ ๒๐ รูป มีพระภาวนาโกศลเปนประธาน เจริญพระพุทธมนต์ตามอย่างธรรมเนียมวันพระแต่ก่อน ประทับอยู่ที่นั้นจนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น
แผ่นที่ ๒๖๗ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ
พระราชพิธีมาฆะบูชา
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๓ โมง เจ้าพนักงานกรมสังฆการีย์นิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ ๑ วัดราชประดิษฐ ๑ วัดราชบพิธ ๑ รวม ๓ วัด เปนพระสงฆ์ ๓๐ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เปนประธานาธิบดี เข้าไปฉันในการมาฆะบูชา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาเช้า ๕ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญไปจุดเทียนเครื่องนมัสการแลทรงประเคนสำรับพระสงฆ์
เวลาจวนย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับตรัสอยู่ที่นั้น จนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น เวลา ๒ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อิวนิงเดรศ แต่ไม่ได้ทรงเครื่องราชอิศริยยศ เสด็จออกทางพระทวารพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเกยหน้าพระทวารเทวราชดำรงสรรค์ ทรงพระที่นั่งราชยานมาประทับเกยหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดดอกไม้เพลิงแล้ว จึงเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จไปประทับตรัสกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ครู่หนึ่ง แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสัมพุทธพรรณี แลพระพุทธปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระปฏิมากรพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้ พระสงฆ์ ๓๐ รูปที่ฉันเมื่อเวลาเช้านี้ก็สวดทำวัตร จบแล้วสวดพระธรรมจักกับปวัตนสูตร แลโอวาทปาฏิโมกขเปนต้น ครั้นพระสงฆ์สวดจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปเอาดอกไม้โปรยที่ธรรมาสน์ แล้วเสด็จลงจากพระอุโบสถ ทรง
----------------------------
แผ่นที่ ๒๖๘ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ
จุดเทียนบูชา ที่เก๋งศิลาหน้าพระอุโบสถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงจุดเทียนบูชาซึ่งรายรอบพระอุโบสถ แล้วเสด็จพระราชดำเนิรเข้าไปในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนบูชาที่เขาไม้ทั้ง ๒ เขา แลที่ราวเทียน เสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม แลเทียนประจำกัณฑ์ พระธรรมวโรดมจึงขึ้นถวายเทศนา แสดงเรื่องจาตุรงคสันนิบาต ๆ นั้น แปลว่าประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ พระจันทร์เสวยฤกษมาฆะ ๑ พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปประชุมพร้อมด้วยไม่ได้นัดกัน ๑ พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปนั้นล้วนเปนเอหิภิกขุ ๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข ๑ เวลาเทศนาอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวย เสวยแล้วเสด็จออกทรงธรรม ครั้นเทศนาจบแล้ว พระสงฆ์สวดสัพพี ยังยัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปทรงประเคนผ้าขาวพับ แลพระราชทานกับปิยภัณฑ์ราคา ๓ ตำลึง แก่พระธรรมวโรดม แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์ไปประเคนเทียนแก่พระสงฆ์ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์จึงถวายอติเรก พระสงฆ์ก็สวดภวตุสัพ แล้วหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา จึงว่าพระพรลา แล้วพระสงฆ์กลับไปยังอาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จมาประทับตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ ประทับเกยหลังวัด ทรงพระที่นั่งราชยาน ไปประทับเกยหน้าพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น ในเวลาวันนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการสวมเสื้ออิวนิงเดรศบ้าง เสื้อฟร็อกโก๊ตบ้าง แต่ควรจะต้องสวมเสื้ออิวนิงเดรศ
โดย มนุษยนาคมานพ
แผ่นที่ ๒๖๙ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ
จะกล่าวนิทานซึ่งมีมาแต่อดีตสมัยโน้น๒
(เรื่องพระเจ้าสุทัศน์ทรงมอบพระราชโอรส ให้วิษณุศรมะบัณฑิตฝึกสอน)
ในกาลก่อน ยังมีบรมกระษัตริย์พระองค์ ๑ ทรงพระนามพระเจ้าสุทัศน์ ได้ดำรงสิริรัชสมบัติในกุสาวดีมหานคร พระองค์ประกอบด้วยพฤฒิปรีชาญาณ เฉลียวฉลาดรอบรู้ในวิชาการแลราชกิจใหญ่น้อย สำหรับกระษัตริย์พร้อมสมบูรณ์ทุกประการ วันหนึ่งเสด็จออกท่ามกลางมนตรีกวีชาติราชปโรหิตโหราจารย์ เฝ้าอยู่พร้อมกันในที่นั้น พระองค์เบือนพระพักตร์มาทอดพระเนตร์พระราชกุมารทั้งหลาย ซึ่งเปนพระราชโอรสแห่งพระองค์นั้น แต่ล้วนมีพระชนมายุเจริญแรกรุ่นขึ้นพร้อมกัน แต่ละองค์ทรงสิริวิลาสพร้อมด้วยลักษณเปนอันงามทุก ๆ พระกุมาร แลพระองค์จึงทรงพระอนุสรคำนึงนึกในพระทัยว่า พระราชโอรสแห่งเราทั้งหลายนี้กำลังที่จะเล่าเรียนในวิชาต่าง ๆ เปนต้นว่า คัมภีร์ธรรมศาสตร์ แลราชศาสตร์ โหราศาสตร์เหล่านี้ ให้รอบรู้ไว้ เพื่อจะได้ประกอบปัญญาให้รุ่งเรืองในคดีโลก แลคดีธรรมทุกประการ เมื่อเราจะสั่งสอนให้กุมารทั้งหลายนี้ ศึกษาในคัมภีร์ต่าง ๆ ด้วยตนแห่งเราเองไซ้ ก็จะเสียเวลาจะตรึกตรองระงับกิจทุกข์สุขของราษฎร แลราชกิจต่าง ๆ ทั้งปวงไป พระองค์จึงมีพระราชโองการดำรัสถามบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ว่าผู้ใดใครจะรับอาสาสั่งสอนคัมภีร์ต่าง ๆ ให้แก่พระราชโอรสแห่งเราได้บ้าง จะได้ประกอบปัญญาแลความคิดให้รุ่งเรืองไปในภายหน้า ขณะนั้นวิสมานะบัณฑิต๓ ซึ่งชำนาญในนิติศาสตร์ แลราชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โหราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ จึงกราบทูลขึ้นว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริห์นี้เปนการดีการเจริญยิ่งนัก โดยพระราชกุมารทั้งหลายนี้ก็เปนตระกูลกระษัตริย์อันประเสริฐ ควรที่จะให้ศึกษาในวิชาการต่าง ๆ แลบัดนี้ก็ทรงพระเจริญแรกรุ่นกำลังที่จะเล่าจะเรียน ถ้าได้ส้องเสพย์สมาคมด้วยนักปราชญ์อยู่เปนเนืองนิตย์แล้ว คงจะประพฤติสันดานแลถ้อยคำเปนสัปปุรุษ ถ้าได้สองเสพย์สมาคมด้วยคนซึ่งเปนพาลอยู่เนืองนิตย์แล้ว ก็คงประพฤติสันดานแลถ้อยคำเปนอสัปปุรุษ ดังนิทานสกุณ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๐ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ
โปดกลูกนกสาลิกาทั้งคู่ มีเหยี่ยวคาบไปตกที่ฤๅษีตัวหนึ่ง แลไปตกที่โจรตัวหนึ่ง ฤๅษีแลโจรก็เลี้ยงนกทั้งสองไว้ แลนกนั้นค่อยเจริญขึ้นหัดพูดในภาษามนุษย์ได้ ฝ่ายนกที่ฤๅษีเลี้ยงไว้นั้นก็ชำนาญพูดแต่ทางธรรมวิเศษ เปนต้นว่าสวดมนต์ภาวนา ฝ่ายนกที่โจรเลี้ยงไว้นั้นก็หัดพูดแต่ถ้อยคำอันหยาบช้า มีประเภทโจรกรรม แลมุสาวาทเปนต้น ก็อุปมาดังพระราชกุมารทั้งหลายนี้ ถ้าได้ยินได้ฟังซึ่งถ้อยคำที่เปนสุภาสิตอยู่ไม่ขาด ก็จะเปนนักปราชญ์ดังสกุณโปตกที่ฤๅษีเลี้ยงไว้ ถ้าได้ยินได้ฟังซึ่งถ้อยคำ ที่เปนทุภาสิตอยู่ไม่ขาด ก็จะเปนพาลดังสกุณโปดกที่โจรเลี้ยงไว้ ข้าพระองค์จะฉลองพระเดชพระคุณ รับสั่งสอนพระราชกุมารทั้งหลายให้มีวุฒิปรีชารอบรู้ในคัมภีร์ต่าง ๆ พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระเจ้าสุทัศน์ก็ทรงพระโสมนัสยิ่งนัก จึงมอบพระราชโอรสทั้งหลาย ให้แก่อาจารย์วิสมานะบัณฑิตไปศึกษาคัมภีร์ ซึ่งเปนคติแห่งนักปราชญ์นั้น ฝ่ายอาจารย์วิสมานะบัณฑิต ก็เชิญพระราชกุมารทั้งหลายไปยังบ้าน เมื่อถึงเคหฐานแล้ว จึงเชิญพระราชกุมารทั้งหลายให้นั่งยังที่อันสมควรแล้ว อาจารย์วิสมานะบัณฑิต ซึ่งกล่าวว่าโอวาทสั่งสอนพระราชกุมารว่า ข้าแต่พระราชกุมารทั้งหลาย อันบุคคลผู้ใดมีความสมบูรณ์ พร้อมด้วย ๔ ประการ คือ รูปทรงราษีสมบูรณ์ประการ ๑ คือยศศักดิสมบูรณ์ ๑ คือทรัพย์แลบริวารสมบูรณ์ประการ ๑ คือสติปัญญาสมบูรณ์ประการ ๑ ผู้นั้นเปนมนุษย์อันประเสริฐ หาบุคคลที่จะเปรียบเปนอันยาก ความเข็ญใจก็จะไม่มีจนตราบเท่าสิ้นชีวิต ถ้าบกพร่องอย่างหนึ่งก็ดี สองอย่างก็ดี บุรุษผู้นั้นเปนประมาณแต่ประโยชน์ทั้งหลายมักไม่ยั่งยืนอยู่ได้จนชั่วอายุ ถ้าขาดจากสมบูรณ์ทั้ง ๔ แล้ว ผู้นั้นจะจัดว่าเปนมนุษย์ไม่ได้เลย อนึ่งมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าพร้อมด้วยองค์ ๓ คือมีสติ ๑ มีปัญญา ๑ มีความเพียร ๑ ก็จัดว่ามนุษย์ผู้นั้นหาที่เปรียบไม่ได้ ด้วยสตินี้เปนที่หน่วงเหนี่ยวแห่งปัญญา ถ้ามีแต่ปัญญา ไม่มีสติแล้วไซ้ จะคิดประกอบการสิ่งใดมักฟุ้งซ่าน เกินกว่าเหตุไป ความเพียรนั้นเล่าก็อาศรัยแก่ปัญญา ๆ นั้นก็อาศรัยแก่ความเพียร ถ้ามีแต่ความเพียร ไม่มีปัญญาแล้วไซ้ ก็ไม่เกิดผล ฤๅมีแต่ปัญญา หาความเพียรมิได้ ก็ไม่เกิดผล ถ้าบุคคลผู้ใดขาดจากองค์ ๓ นี้แล้ว ผู้นั้นจะจัดว่าเปนมนุษย์มิได้เลย นี้แลพระราชกุมารทั้งหลาย จำจะต้องมีความอุสาหะ ขวนขวายให้เจริญไว้ในพระสันดานทั้ง ๓ อย่างจึงจะชอบ ซึ่งจะถือว่าสุดแต่บุญแต่งกรรมแต่งนั้นไม่ได้
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๑ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ
โดยกุศลหนหลังจะอุดหนุนค้ำชูอยู่ ก็แต่การทั้ง ๓ นี้ ไม่มีในนิสัยสันดานแห่งตนแล้ว ก็ไม่ให้ผลสักเท่าใด ถ้ากุศลหนหลังค่ำชูอุดหนุนอยู่แล้ว แลสติ ปัญญา ความเพียรที่มีนิสัยในสันดานแห่งตนประกอบเข้าด้วย ก็อาจให้ผลมากนัก อันพระราชกุมารทั้งหลายนี้เล่าก็เปนราชตระกูล ควรจะต้องฝึกหัดให้มีสติปัญญาแลความเพียร ให้เกิดขึ้นในสันดานให้จงได้ พระราชกุมารจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในคุณวิเศษทั้งปวงข้าพเจ้าทั้งหลายจะศึกษาประการใด สติปัญญาแลความเพียรจึงจะเกิดขึ้นใน สันดาน อาจารย์วิสมานะบัณฑิตจึงตอบว่า การซึ่งหมั่นกำหนดจดจำ แลหมั่นเล่าหมั่นบ่นคัมภีร์ที่เปนประโยชน์ แลหมั่นสดับตรับฟังนิทานแลเรื่องต่าง ๆ ที่ควรจะจำไว้เปนคติได้นั้น ก็จัดได้ชื่อว่ามีความเพียรอยู่ในสันดาน เมื่อกำหนดจดจำนิทานแลเรื่องที่เปนประโยชน์แลเปนคติสะสมไว้ในใจได้มากแล้ว ก็อาจประกอบสติปัญญามากขึ้น ๆ ทุกวันทุกเวลา ซึ่งเรียกกันว่านักปราชญ์นั้นเหตุใดเล่า ก็เหตุที่ได้พบได้เห็นแลได้ยินได้ฟังมามาก แต่ของที่ไม่เปนคุณไม่เปนประโยชน์ ไม่เก็บเอาไว้เปนอารมณ์ ข้อใดที่เปนคุณประโยชน์ก็หมั่นบ่นหมั่นเล่ากำหนดจดจำไว้เปนอารมณ์ ครั้นอายุมากขึ้น ๆ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็มากขึ้นตามอายุ แล้วนิสัยแก่กล้าขึ้นทุกปีทุกเดือน เปรียบดังทารกเมื่อแรกคลอดจากครรภแห่งมารดา เดิมก็ได้ดูดดื่มแต่สายกษิระแห่งมารดา ก็มีกำลังแต่น้อย ครั้นค่อยเจริญวัยใหญ่ขึ้น ได้บริโภคอาหารทวีขึ้นวันละน้อย ๆ ก็มีกำลังมากขึ้น ๆ ทุกวันทุกเวลา เหตุฉนั้นผู้ซึ่งเปนปราชญ์นั้น ได้ศึกษาดูแบบแผนแต่กำหนดจดจำ แต่ข้อที่เปนคุณเปนประโยชน์อยู่เปนนิตย์มิได้ขาด จึงได้มีภูมิรู้เปนอันมาก แลเมื่อเข้าในที่ประชุมแห่งชนทั้งหลาย ก็องอาจดูสง่าดังพระยาไกรสรราชสีห์อันสถิตย์อยู่ในท่ามกลางหมู่มฤค ที่ผู้ที่ไม่ได้เล่าเรียนรู้คัมภีร์ ซึ่งจะชักจูงให้อุปนิสัยในทางปัญญาแล้ว เมื่อเข้าในที่ประ
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๒ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ
ชุมแห่งชนทั้งหลาย ก็อาจให้สทกสเทินเขินขวย กระดากกระเดื่องไม่องอาจ ดุจดังนกยางแลกาอันหลงเข้าไปปลอมปะปนระคนอยู่ในหมู่แห่งหงส์ฉนั้น ข้าแต่พระราชกุมารทั้งหลาย อันว่าทรัพย์คือปัญญานั้น ย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวงซึ่งมีในโลกนี้ เหตุใดจึงว่าทรัพย์คือปัญญานั้นประเสริฐกว่า ทรัพย์ทั้งปวงเล่า เหตุว่าทรัพย์คือปัญญานี้ มาทแม้นจะจำแนกแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นสักเท่าใด ๆ ก็ไม่รู้สิ้นรู้หมดเลย ประการหนึ่งถ้าจะมีผู้มาปล้นสดมช่วงชิงฉกลักก็ไม่ได้ แม้ถึงอันตรายต่าง ๆ จะมาเบียดเบียฬก็ไม่พินาศเลย เพราะฉนั้นผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญว่าทรัพย์คือปัญญานี้มีคุณล้ำเลิศ ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวง ดุจดังดวงแก้วอันหาค่ามิได้ อันความเพียรซึ่งหมั่นกำหนดจดจำ ดูอย่างแบบแผนที่เปนประโยชน์ เก็บส่ำสมไว้ในอารมณ์ได้มากแล้ว ก็ดุจดังแพทย์อันสะสมซึ่งเครื่องยาทั้งหลายไว้ในเคหฐานพร้อมเพรียงบริบูรณ เมื่อมีเหตุเกิดโรคาพยาธิป่วยไข้ขึ้นมาเวลาใด ก็จะได้ประกอบยาซึ่งมีสรรพคุณที่บำบัดโรคนั้น ให้อันตรธานสูญไปได้โดยเร็ว อนึ่งการที่ได้ยินได้ฟังมามากนั้น มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ได้รู้ในอุบายวิธีที่จะตรึกตรองดูให้รู้จักผิดแลชอบคุณแลโทษ ประโยชน์แลไม่ใช่ประโยชน์ ตามที่มีในเรื่องเก่า ๆ ว่าเรื่องนั้นคนนั้นใช้วิธีแลปัญญาอย่างนั้นเปนคุณให้ผลดังนั้น แลเรื่องนี้คนนี้ใช้วิธีแลปัญญาอย่างนี้ไม่เปนประโยชน์ให้โทษดังนี้ การที่มีโทษไม่เปนประโยชน์ก็จะได้ละเสีย สิ่งใดที่มีคุณมีประโยชน์ก็จะได้คิดประกอบการให้เกิดผล ความเจริญกจะมีเปนอันมาก
อนึ่งผู้ที่รักเรียนวิชาก็มีสองสถาน บางจำพวกเรียนรู้ในหัตถกิจโกศล บางจำพวกเรียนรู้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ผู้ซึ่งเรียนในหัดถกิจการช่างนั้น เมื่อมีกำลังแลจักษุยังสามารถอาจจะทำการนั้นอยู่ได้ ก็ยัง เปนที่นับถือแห่งชนทั้งปวง ครั้นความชราเข้าครอบงำย่ำยีแล้ว กำลังก็หย่อนลงแลจักษุก็มืด ไม่อาจทำการในหัตถกิจได้ ชนทั้งปวงก็สิ้นนับถือ ทางที่จะหากินให้เกิดประโยชน์นั้นก็เสื่อมทรามลง แต่ผู้ซึ่งได้ศึกษาในคัมภีร์ แลแบบแผนซึ่งเปนเรื่องราวโบราณ อุสาหจำไว้ในอารมณให้แม่นยำแล้ว มาทแม้นความชราจะเข้าครอบงำ กำลังจะหย่อนแลจักษุมืดก็ดี ก็ยังเปนที่นับถือแห่งนรชนทั้งปวง ด้วยความรู้นั้นไม่เสื่อมทราม ยังคิดตรึกตรองการที่เปนคุณเปนประโยชน์ให้เกิดผลได้ ก็แลบุคคลที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ในกิจต่าง ๆ ถึงมีอายุน้อยก็ไม่ควรหมิ่นประมาทว่าเปนเด็ก เพราะว่ามีปัญญาคุณสามารถ อาจประกอบกิจใหญ่น้อยทั้งปวงได้ บุคคลที่ไม่มีปัญญานั้น
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๓ ออกวันจันทร เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ
อายุมาก ก็ไม่อาจสามารถคิดอ่านประกอบกิจใหญ่น้อยทั้งปวงได้ เหตุดังนั้นนักปราชญจึงติเตียนคนที่ไม่มีปัญญา เปรียบดุจดังน้ำเค็มในมหาสมุท อันน้ำเค็มนั้นย่อมเกิดมาแต่ต้นกัปชั่วฟ้าชั่วดิน แต่ไม่มีผู้ใดปราถนาใช้สรอยในการต่าง ๆ คืออาบแลกินเปนต้น ถึงมาทจะมาใช้ทำเกลือ ก็ต้องประดักประเดิดมากมาย คนซึ่งมีปัญญานั้นเปรียบดังน้ำจืดอันอยู่ห้วงนที ย่อมเปนที่ประชุมชนใช้สรอยอาบกินอยู่เปนนิตย์มิได้ขาด ฉนี้แล แลพระราชกุมารทั้งหลายจงมีมนสิการะ กำหนดจดจำแห่งถ้อยคำข้าพเจ้าซึ่งสำแดงถวายนี้จงทุก ๆ ประการ
อนึ่งการสามัคคีนี้เล่า ก็เปนการดีการเจริญมาก ถ้าไม่มีสามัคคีต่อกันแล้ว ก็อาจให้โทษต่าง ๆ ดังนิทานจิตรคีวาซึ่งเปนพระยานกพิราบนั้น พระราชกุมารทั้งหลายจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้ประกอบด้วยคุณวุฒิทั้งปวง อันเรื่องนิทานแห่งพระยานกพิราบนั้น มีข้อความเปนประการใด เชิญท่านจงวิสัชนาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟัง พอจำไว้เปนคติภายหน้า อาจารย์วิสมานะบัณฑิตจึงเล่าถวายพระกุมารโดยปกรณ์ซึ่งมีมาแต่โบราณนั้นว่าดังนี้
นิทานเรื่องพระยานกพิราบกับพระยาหนู
กาลปางก่อน ยังมีแม่น้ำหนึ่งชื่อโคธาวรี แลที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นงิ้วใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยกิ่งแลใบเปนพุ่มงามยิ่งนัก ครั้นถึงเวลาค่ำฝูงนกทั้งหลายก็พากันมาอาศรัยอยู่ต้นงิ้วเปนอันมาก ยัง มีกาตัวหนึ่งชื่อลักขุปตนะ แลพระยานกพิราบตัวหนึ่งชื่อจิตรคีวา มีบริวาร ๕๐๐ ก็มาอาศรัยอยู่ที่ต้นงิ้วนั้นด้วย ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีพรานนกผู้หนึ่ง เอาข่ายมาตั้งดักไว้ที่ใกล้ต้นงิ้วนั้น จึงโปรยปลายเข้าลงไว้ แล้วก็ไปแอบตัวซ่อนเร้นอยู่ในที่รก ฝ่ายกาซึ่งชื่อว่าลักขุปตนะ แลพระยานกพิราบซึ่งชื่อว่าจิตรคีวานั้น ครั้นได้เห็นนายพรานนกกระทำดังนั้น จึงมาคิดแต่ในใจว่า สัตว์ทั้งหลายนับด้วยร้อยแลพัน ซึ่งมาอาศรัยอยู่ในต้นงิ้วนี้ จะพากันถึงซึ่งความตายเสียโดยมากเปนแท้ ขณะนั้นนกพิราบทั้งหลาย ซึ่งเปนบริวารแห่งจิตรคีวา ครั้นได้เห็นปลายเข้าอันนายพรานโปรย
แผ่นที่ ๒๗๔ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ
ไว้ที่ใต้ต้นงิ้วนั้น ต่างตัวก็ชวนกันจะบินลงไปบริโภคเปนภักษาหาร ส่วนจิตรคีวาครั้นได้ทราบดังนั้น จึงกล่าวคำห้ามปรามบริวารว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ในประเทศที่นี้ก็มีบ้านเมือง ฝูงคนตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่โดยรอบ ปลายเข้านี้เห็นจะมีคนมาโปรยลงไว้เปนเครื่องล่อลวงของมนุษย์ จะคิดทำอันตรายแก่เราทั้งหลายเปนแท้ ถ้าผู้ใดมีความโลภต่ออาหารแล้ว ผู้นั้นคงจะต้องถึงซึ่งความพินาศ ท่านทั้งหลายจงอย่าบินลงไปกินปลายเข้าเลยเปนอันขาด ฝูงนกพิราบซึ่งเปนบริวารจึงตอบถ้อยคำพระยานกว่า เปนลาภแห่งพวกข้าพเจ้าแล้วจึงได้พบอาหารในครั้งนี้ แลท่านมาห้ามไม่ให้มันลงไปกินนั้นไม่ควร แล้วจึงกล่าวถ้อยคำวิงวอนเพื่อจะบินลงไปกินนั้นให้จงได้ พระยานกพิราบจึงว่าแก่ฝูงนกทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่เชื่อฟังคำเรา จะบินลงไปกินปลายเข้าให้จงได้แล้ว คงจะเปนอันตรายถึงแก่ชีวิตเปนแม่นมั่น ฝูงนกพิราบซึ่งเปนบริวารจึงกล่าวคำวิงวอนว่า สักกี่ปีกี่เดือนจะได้พบอาหารที่มาตกเรี่ยรายอยู่ใกล้ตัวเช่นนี้ ต้องเที่ยวบินเสาะหาอยู่ทุกวันๆ ก็ไม่ใคร่ได้บริโภคเต็มกระเพาะสักเวลาหนึ่งเลย แลวันนี้ได้พบอาหารมากมายเหลือเฟือที่จะบริโภคนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายมิอาจที่จะอดกลั้นซึ่งความอยากได้แล้ว เมื่อจะเปนจะตายอย่างไรก็ตามบุญตามกรรมเถิด ครั้นฝูงนกทั้งหลายกล่าวถ้อยคำดังนั้นแล้ว ก็ชวนกันบินลงไปในที่อันนายพรานโปรยปลายเข้าไว้นั้น แต่นกซึ่งเชื่อถ้อยค่าแห่งจิตรคีวาสั่งสอนก็ไม่อาจจะบินลงไป ยังอยู่กับจิตรคีวาประมาณสักสองร้อยเศษ แต่ที่บินลงไปแล้วนั้นประมาณสักสองร้อยเศษ ครั้นพระยานกพิราบเห็นดังนั้นก็มีความสลดใจ จึงมาคิดแต่ในใจว่าแต่ก่อน ๆ มาบริวารแห่งเราไม่อาจที่จะขืนขัดถ้อยคำแห่งเราเลย ก็บัดนี้ชรอยวิบัติจะมาถึงซึ่งนกหมู่นั้น ให้อันตรายแก่ชีวิตเสียโดยแท้ ถ้าเราไม่คิดแก้ไขด้วยอุบายช่วยไว้ ไหนเลยจะพากันรอดชีวิตได้ อย่าเลยว่าเราจะชวนฝูงนกซึ่งยังอยู่ด้วยเรานั้น บินลงไปตามทั้งสิ้นเถิด อย่างไรจะได้ช่วยกันในเวลาอับจน คิดดังนั้นแล้วพระยาจิตรคีวาจึงกล่าวถ้อยคำเล้าโลมนกซึ่งยังอยู่ด้วยนั้น ว่าท่านทั้งหลายซึ่งเชื่อฟังว่าเราสั่งสอนไม่บินลงไปบริโภคอาหารอันเปนของล่อลวงนั้น เรามีความขอบใจท่านเปนอันมาก บรรดานกซึ่งไม่อยู่ในถ้อยคำเราลงไปบริโภคอาหารที่เปนของล่อลวงนั้น คงจะถึงความพินาศเสียด้วยกันทั้งสิ้น แต่นิสัยธรรมดาผู้เปนใหญ่ในท่านทั้งหลายเช่นตัวเรา ก็ย่อมมีเมตตาจิตรแก่บริวารทั่วกัน แม้กาลวิบัติจะมาถึงผู้น้อยแล้ว ก็ต้องช่วยคิดอ่านให้ผู้น้อยพ้นอันตราย ซึ่งจะผูกใจเจ็บถือผิดแก่ผู้น้อยนั้นไม่ควร ถึงตัวท่านทั้งหลายเล่าก็นับว่าเปนมิตรสหาย เคยกินอยู่มาด้วยกันกับนกพวกโน้น เมื่อเขาจะต้องภัยอันตรายจะทอดทิ้งเสียก็หาควรไม่ อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งหลายจงบินตามเราลงไปสู่ที่แห่งนกเหล่านั้นให้สิ้นเถิด
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๕ ออกวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ
ครั้นว่าดังนั้นแล้ว พระยาจิตรคีวาก็พาบริวารที่อยู่ด้วยนั้น บินตามนกฝูงนั้นลงไปประชุมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ครั้นฝูงนกพิราบทั้งหลายลงไปมั่วสุมประชุมพร้อมกันแล้วทั้งห้าร้อย ข่ายที่นายพรานดักไว้นั้นก็รวบรัดหุ้มห่อฝูงนกไว้ทั้งห้าร้อยนี้แลพระราชกุมารทั้งหลาย ความซึ่งกล่าวมานี้ ก็เปนเหตุที่การสามัคคีเกี่ยงแย่งไม่พร้อมเพรียงกัน แต่ผู้น้อยไม่อยู่ในโอวาทผู้ใหญ่ ก็ถ้าการสามัคคีพรักพร้อมกันแล้ว แลผู้น้อยอยู่ในโอวาทผู้ใหญ่ไซ้ ไหนเลยภัยจะมีแก่ฝูงนกเหล่านั้น นักปราชญ์จึงกล่าวสรรเสริญการสามัคคีนี้ ว่าเปนการเจริญยิ่งนัก ฝ่ายพระยานกพิราบเมื่อติดข่ายกับบริวารแล้ว จึงว่าแก่บริวารทั้งหลายว่า การซึ่งเกิดภัยดังนี้ จริงเหมือนถ้อยคำที่เราสั่งสอนฤๅหาไม่ ถ้าท่านทั้งหลายเชื่อฟังถ้อยคำเราแล้ว ไหนเลยจะต้องภัยดังนี้ ฝูงนกพิราบซึ่งเปนบริวารก็สารภาพพร้อมกันว่า เหตุด้วยข้าพเจ้าไม่ฟังคำที่ท่านสั่งสอน เพราะหลงโลภด้วยอาหารจึงได้ความเวทนาถึงสาหัส แล้วจึงกล่าวคำวิงวอนแก่พระยาจิตรคีวาว่า อันนิสัยสัตว์ทั้งหลายซึ่งเปนผู้น้อย เมื่อมีทุกข์ร้อนฤๅกิจกังวลสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้ที่เปนใหญ่กว่าจะต้องเปลื้องปลดทุกข์แลกิจกังวลนั้น ๆ ให้พ้นภัยสำเร็จได้ จึงจะจัดได้ว่าควรเปนนาย ถ้าผู้ที่เปนใหญ่ไม่ปลดเปลื้องทุกข์ภัยให้ผู้น้อยได้แล้ว ความครหาก็จะมี แลเปนที่เสียใจแก่ผู้น้อย พระยาจิตรคีวาครั้นได้ฟังฝูงนกทั้งหลายวิงวอนว่ากล่าวดังนั้น จึงตอบถ้อยคำแลกล่าวเตือนสตินกบริวารทั้งปวงว่า อันนิสัยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อทุกข์แลภัยมาถึงตัวแล้ว จะต้องตั้งสติให้มั่นคง แลให้ประกอบไปด้วยลักษณะ ๕ ประการ คือ ให้อุสาหะขวนขวายในกิจนั้น ๆ พร้อมเพรียงกัน ๑ คือให้ฉลาดที่จะเจรจาในที่ประชุม ๑ คือให้องอาจแกล้วกล้าในสมรภูมิรบ ๑ คือฉลาดที่จะทำให้กิตติศัพท์ของตนเลื่องฦๅไปเปนสง่า ๑ คือสามารถแก้ไขซึ่งข้อปฤศนาต่าง ๆ แลความที่มีมาในคัมภีร์ทั้งปวง ๑
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๖ ออกวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ
เพราะฉนั้น ท่านทั้งหลายจำจะต้องตั้งความอุสาหให้พร้อมไปด้วยสติแลวิริยะอันแกล้วกล้า จงดูเยี่ยงอย่างมดทั้งหลายเถิด อันนิสัยมดนั้นแม้เปนสัตว์ตัวเล็กก็จริง แต่มีความอุสาหแกล้วกล้า แลมีอารมณ์ประพฤติพร้อมเพรียงกัน อาจสามารถจะช่วยกันยกของใหญ่ไปได้โดยประสงค์ มิฉนั้นอุปมาดังปอแลเถาวัลทั้งหลาย อันบุคคลมาควบกำให้เปนเกลียวเดียว พร้อมกันฟั่นให้เปนเชือกแล้ว เก็บไว้ใช้การทั้งปวง แม้ว่าช้างสารใหญ่ที่มีกำลังมาก ก็อาจผูกคล้องไว้ได้ นี่แลท่านทั้งหลาย ท่านจงมีความอุสาหบินขึ้นให้เต็มกำลังพร้อมกันเถิด ขณะเมื่อฝูงนกสั่งสนทนากันอยู่ฉนี้ พอนายพรานเดิรออกมาจากบ้าน มาสู่ยังข่ายที่ตนปักไว้นั้น ได้แลเห็นฝูงนกพิราบติดอยู่ในข่ายเปนมาก จึงรีบเดิรมาโดยเร็วเพื่อจะประหารชีวิตไปเปนอาหาร ฝ่ายนกพิราบทั้งหลายเมื่อได้ยินโอวาทแห่งพระยาจิตรคีวาเตือนดังนั้น แลได้เห็นนายพรานเดิรเข้ามาใกล้ก็มีอุสาหะอันกล้า ต่างตัวต่างบินขึ้นพร้อมกันด้วยเต็มกำลังพาเอาข่ายขึ้นไปในอากาศได้ ขณะนั้นนายพรานเห็นนกพิราบทั้งหลายบินพาเอาข่ายไปในอากาศ ก็เดิรสกดตามไป ด้วยคิดว่าจะตกลงณที่ใด ก็จะได้จับฆ่าเสียทั้งสิ้น ครั้นตามไปไม่ทันแล้วก็กลับมายังบ้านแห่งตน ฝ่ายนกพิราบทั้งหลายซึ่งเปนบริวาร จึงสรรเสริญพระยาจิตรคีวา ว่าข้าพเจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันพยายามตามถ้อยคำแห่งท่าน จึงได้พ้นจากเงื้อมมือแห่งนายพรานฉนี้
ดูกรพระราชกุมารทั้งหลาย อันการสามัคคีที่พร้อมเพรียงกันนั้น เปนคุณประโยชน์พ้นภัยได้เห็นปานดังนี้ ควรที่พระราชกุมารทั้งหลายจะคิดประกอบการสามัคคีพร้อมเพรียงกัน อย่าให้แตกร้าวจากสามัคคีได้ ก็จะมีคุณประโยชนยิ่งนัก ด้วยพระองค์เล่าก็เปนตระกูลเดียวกันทั้งสิ้น ควรที่จะประกอบการอารีซึ่งกันแลกัน
ประการหนึ่งคงประพฤติวาจา แลกิริยา แลน้ำจิตร ให้เปนที่ชอบใจแห่งชนทั้งหลาย ก็จะมีความชื่นบานผาสุกอยู่เปนนิตย ถ้าประพฤติวาจาแลกิริยาแลน้ำจิตร ให้เปนที่ขุ่นเคืองแห่งชนทั้งหลาย ก็จะมีแต่ความเดือดร้อนรำคาญอยู่เปนนิตย์ คำนักปราชญ์จึงกล่าวไว้ว่า ผู้ใดมีมิตรสหายมาก แลให้ร่วมสุขร่วมทุกข์ได้ก็อาจเกิดผล ดังพระยาจิตรคีวาอันเปนสหายแห่งพระยาหนูซึ่งชื่อว่าหิรัญกะนั้น เมื่อพระยาจิตรคีวาแลบริวารพาซึ่งข่ายบินขึ้นไปในอากาศแล้ว จึงคิดแต่ในใจว่า บัดนี้ทำไฉนจึงจะหลุดออกจากข่ายได้เล่า พระยานกพิราบจึงกล่าววาจาขึ้นในท่ามกลางหมู่บริวารทั้งหลายว่า
----------------------------
แผ่นที่ ๒๗๗ ออกวันพุธ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ
เหตุซึ่งเกิดความทุกข์ใจนั้นมี ๓ ประการ คือ เมื่อเวลาความพินาศมาถึงอย่าง ๑ เมื่อเวลาความสดุ้งตกใจกลัวมาถึงอย่าง ๑ เมื่อเวลาอับจนกับแค้นด้วยเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่าง ๑ เหตุทั้ง ๓ ประการนี้ อาจบำบัดได้แต่ที่เปนมิตรสหายอันสนิท ก็อย่างใดเล่าที่เรียกว่ามิตรสหายอันสนิทนั้น คือ บิดามารดาแลบุตรภรรยา ๑ คือ ญาติอันสนิท ๑ คือ มิตรสหายที่ได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ๑ จึงจะช่วยได้ อันมิตรสหายนั้นเล่าก็เปน ๓ จำพวก คือสหายที่ต่ำกว่าตัว ๑ ที่เสมอกับตัว ๑ ที่วิเศษกว่าตัว ๑ มิตรผู้ใดมีกำลังแลปัญญาไม่สมควรซึ่งจะระงับทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นนั้น ได้แต่ช่วยขวนขวายตามกำลังแลปัญญาแห่งตน มิตรเหล่านั้นก็จัดได้ชื่อว่าขวนขวายช่วยทุกข์โดยเต็มกำลัง มิตรผู้ใดมีกำลังแลปัญญาเสมอกับตน เมื่อกิจกังวลเกิดขึ้นแล้ว ก็ช่วยระงับทุกข์โดยเต็มกำลัง แลปัญญาแห่งตน มิตรเหล่านั้นก็จัดได้ชื่อว่าช่วยทุกข์ได้โดยเต็มกำลัง มิตรผู้ใดมีกำลังแลปัญญายิ่งกว่าคน เมื่อเกิดทุกข์ภัยประการใดขึ้นแล้ว ก็อาจบำบัดได้ด้วยกำลังแลปัญญาโดยง่าย มิตรเหล่านั้นก็จัดได้ชื่อว่าเปนมิตรอันวิเศษ อาจบำบัดทุกข์ทั้งปวงได้ ก็แลมิตร คือ บิดา มารดา บุตร ภรรยา ญาติอันสนิทนั้น ย่อมร่วมสุขร่วมทุกข์อยู่เสมอมิได้ขาด จึงมีจิตรเจตนาจะประกอบให้เปนประโยชน์แก่กันอยู่เปนนิตย์ เรียกว่าเปนมิตรอันสูงที่สุด อันมิตรทั้ง ๓ จำพวกซึ่งกล่าวไว้แล้วนั้น เมื่อมีเหตุทุกข์ร้อนเกิดขึ้น ควรจะพึ่งท่านผู้ใด พึงใคร่ครวญดู ว่าสหายจำพวกนั้นจะช่วยบำบัดทุกข์ร้อนนั้น ๆ ตามประสงค์แห่งตนได้ ก็ต้องไปพึ่งสหายจำพวกนั้น ช่วยระงับกิจทุกข์ร้อนทั้งปวง ให้เปลื้องปลดจากทุกข์ภัยได้ดังประสงค์ อย่ากระนั้นเลยจำเราจะไปหาพระยาหนู อันชื่อว่าหิรัญกะ อันมีฝูงหนูเปนบริวารเปนอันมาก ซึ่งได้ผูกไมตรีเปนสหายกับเรามาแต่ก่อน แลพระยาหนูนั้นอาศรัยอยู่ในถ้ำจิตรคุต ริมฝั่งแม่น้ำคันธ์นที พระยาหนูนั้นแลเห็นจะสามารถ
แผ่นที่ ๒๗๘ ออกวันพุธ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ
กัดข่ายนี้ให้ขาด ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยของเราทั้งปวงนี้ให้หลุดพ้นไปได้ ครั้นคิดดังนั้นแล้ว พระยานกพิราบก็ตักเตือนบริวารทั้งหลายให้มีอุสาหะพร้อมกัน บินพาข่ายนั้นไปยังถ้ำจิตรคุต ครั้นถึงแล้วก็บินลงมาจับอยู่ที่ปากถ้ำนั้นพร้อมกัน พระยาหนูครั้นได้ยินเสียงนกพิราบทั้งหลายมาร้องอยิ่งอยู่นนั้น ก็คิดสงสัยว่า ชรอยจะมีอันตรายสิ่งใดมาถึงเรา จึงแอบมองดูอยู่ริมประตูถ้ำ พระยานกพิราบจึงร้องถามไปว่า ดูกรหิรัญกะผู้เปนสหายแห่งเรา เมื่อเรามาถึงที่อยู่แห่งท่านแล้ว เหตุใดท่านจึงไม่ทักทาย ปราไสยบ้าง พระยาหนูจึงตอบว่าสหายเอย ท่านอย่ามีความโทมนัสน้อยใจเลย ด้วยเราเห็นท่านมาคราวนี้แปลกปลาดนัก ไม่เหมือนเมื่อมาครั้งก่อน ๆ เราคิดกลัวจะมีภัยอันตรายมาถึงตัวเรา จึงมิได้ทักทายปราไสยทานก่อน แล้วจึงถามว่า เหตุไฉนข่ายนี้จึงได้ติดท่านแลบริวารได้ความลำบากถึงเพียงนี้ พระยานกพิราบจึงตอบว่า ดูกรสหาย อันภัยซึ่งมีแก่ตัวเรา กับบริวารทั้งหลายในครั้งนี้ ก็อยู่ในเหตุ ๕ ประการ อันกล่าวมาว่า คือ ความป่วยไข้ ๑ ความคับแค้นใจ ๑ ความอันตรายต่าง ๑ ความที่ต้องผูกมัดจำจอง ๑ ความพินาศ ๑ ก็แลเหตุ ๕ ประการนี้ มาย่ำยีแก่บุคคลแลสัตว์ตัวใดหมู่ใด ก็เปนที่อกุศลกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนติดตามมาให้ผล แล้วพระยานกพิราบจึงเล่าความแต่ต้นจนอวสานให้พระยาหนูฟัง ครั้นพระยาหนูได้ยินถ้อยคำแห่งพระยานกพิราบซึ่งเล่าให้ฟังดังนั้น ก็มีความสังเวชยิ่งนัก จึงเดิรเข้าไปใกล้ เพื่อจะกัดเชือกข่ายที่คอพระยานกพิราบ ๆ จึงกล่าวว่า ถ้าทานจะอนุเคราะห์แก่เราแล้ว จึงมีเมตตาให้ทั่วกัน จงช่วยกัดเชือกข่ายที่คอนกพิราบทั้งหลาย อันเปนบริวารแห่งเรานั้นด้วยเถิด พระยาหนูจึงตอบว่า สหายเอ๋ย อันตัวเรากับท่านนี้ได้เปนมิตรสหายแก่กันมาแต่กาลก่อน เราจึงจะสงเคราะห์แต่ตัวท่าน อันนกพิราบทั้งหลายมีได้ เปนมิตรสหายแห่งเรา ซึ่งเราจะอนุเคราะห์ให้ทั่วกันไปนั้นก็ไม่ควร อนึ่งกำลังแห่งเราซึ่งจะกัดเชือกข่ายให้แก่บริวารของท่านทั้งสิ้น ก็ไม่อาจสามารถที่จะกัดให้ขาดทั่วกันไปได้ ถ้าฉนั้นเราจะให้บริวารแห่งเรา ช่วยสงเคราะห์กัดเชื่อข่ายที่คอแห่งบริวารแห่งท่านให้พ้นภัยทั้งสิ้น แต่นิสัยธรรมตาภัยมาถึงตนแล้ว ก็ต้องคิดตรึกตรองให้พ้นจากภัยก่อน เมื่อตนได้ความสุขแล้วจึงค่อยคิดสังเคราะห์แก่ผู้อื่นต่อไป แต่บัดนี้ตัวท่านก็ยังต้องภัยอยู่ ได้ความเวทนาถึงสาหัส ซึ่งจะมาคิดอารีรักผู้อื่นมากกว่าตนอยู่นั้น ไม่เปนที่สรรเสริญแห่งผู้มีปัญญา พระยานกพิราบ จึงตอบว่า
แผ่นที่ ๒๗๙ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ
คำซึ่งท่านกล่าวนี้เปนความจริงชอบอยู่แล้ว แต่นิสัยเกิดภัยขึ้นพร้อมกัน จำจะต้องคิดให้พ้นภัยพร้อมกัน อนึ่งตัวเราก็เปนใหญ่ในนกทั้งหลายนี้ จะมาคิดเอาตัวรอดก่อนนั้นไม่ควร คำโบราณย่อมกล่าวไว้ว่า รักตนเท่าใดก็ต้องรักผู้ซึ่งอยู่ในบังคับแห่งตนเท่านั้น ผู้ที่ปราถนาจะให้ปรากฏซึ่งกิตติศัพท์กิตติคุณเลื่องฦๅไป ก็ต้องอาศรัยเพราะมีเมตตาจิตรช่วยทุกข์ ช่วยภัยแก่ผู้น้อย ความดีความเจริญจึงจะมีแก่ตน ก็เพราะการรักษาเกียรติคุณไว้มั่นคงยิ่งกว่ารักรูปกาย เพราะว่ากายนี้เมื่อถึงความตายแล้วย่อมพินาศสูญหายไม่ตั้งอยู่นาน เกียรติคุณที่ดีที่ได้ทำไว้นั้น เขาย่อมเล่าว่าต่อๆไปจนสิ้นกัลป เพราะฉนั้น ถ้าท่านได้แก้ไขกัดเชือก ปล่อยนกพิราบทั้งหลายเสียได้แล้ว เกียรติคุณแห่งเราผู้เริ่มการก่อนก็ดี เกียรติคุณของท่านผู้ได้กัดปล่อยไปก็ดี ภายหน้าจะเปนนิทานเล่ากันต่อ ๆ ไปจนสิ้นกัลปนี้ พระยาหนูก็รับคำว่าดีแล้ว ก็ตรงเข้ากัดเชือกข่ายที่คอพระยาจิตรคีวา แล้วจึงร้องประกาศแก่หนูซึ่งเปนบริวารทั้งหลาย ให้ช่วยกันกัดข่ายที่คอนกเหล่านั้นทั้งสิ้น ฝ่ายหนูซึ่งเปนบริวารได้ฟังคำประกาศแห่งพระยาหิรัญกะ ก็ชวนกันเข้ากัดข่ายที่คอนกทั้งหลายขาดออกทั้งสิ้น ครั้นฝูงนกพิราบพ้นภัยได้ความสุขทั่วกันแล้ว พระยาหนูจึงกล่าวว่าโอวาทสั่งสอนนกพิราบทั้งหลายว่า ดูกร ฝูงนกพิราบทั้งหลาย อันมนุษย์นี้มีอุบายแลปัญญามากนัก แต่ช้างสารอยู่ในป่าใหญ่ยังเอาเชือกคล้องมาไว้ใช้สอยได้ ปลาอยู่ในน้ำแลนกอยู่ในอากาศกดี มนุษย์ทั้งหลายยังคิดเอามาเปนอาหารได้ ท่านทั้งหลายจะอยู่ในประเทศสถานที่ใด ๆ ฤๅจะเที่ยวหาอาหารในที่ต่าง ๆ ก็ดี พึ่งระมัดระวังตัวให้จงหนัก ที่ควรจะบริโภคจึงบริโภค ที่ไม่ควรจะบริโภคเห็นว่าจะเปนเหตุภัยก็อย่าบริโภค พระยาจิตรคีวากับฝูงบริวารทั้งหลาย ก็ชวนกันคำนับนบนอบพระยาหนูตามนิสัยสัตว์เดียรฉาน แล้วก็อำลาพากันบินไปยังที่อยู่แห่งตน นี่แลพระราชกุมารทั้งหลาย
แผ่นที่ ๒๘๐ ออกวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ
ซึ่งผูกไมตรีไว้มากในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าชาติในตระกูลใด เมื่อยามทุกข์ภัยกาลวิบมาถึงแล้ว ก็อาจบำบัดได้โดยประสงค์ นักปราชญ์จึงสรรเสริญว่า น้ำใจซึ่งโอบอ้อมอารีให้เปนที่รักไว้แล้ว ก็จะมีมิตรสหายมาก เมื่อมิตรสหายมีมากแล้ว ก็อาจให้ผลแลช่วยภัยได้ต่างๆ
ถ้ามีผู้ถามว่าวิหคอยู่ในเวหา มัจฉาอยู่ในสมุท แม้นจะเปนมิตรสหายซึ่งกันแลกัน จะมีผลแลช่วยภัยได้ด้วยเหตุใด ตอบว่าอันธรรมดาคุณวิเศษต่างๆ ย่อมจะมีทั่วไป ทุกชาติทุกหมู่โดยน้อยแลมาก ดังจรเข้อยู่ในน้ำ ที่มีอำนาจแต่ในน้ำเท่านั้น เมื่อมีกังวลในที่ต่างๆ ซึ่งอยู่บนบก ก็ไม่อาจสามารถจะคิดให้สำเร็จไปได้ เสือนั้นเล่าอยู่บนบก ก็มีอำนาจแต่บนบกเท่านั้น เมื่อมีกังวลในที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในน้ำ ก็ไม่อาจสามารถจะคิดการให้สำเร็จไปได้ แต่เครื่องใช้สอยที่ประกอบกิจให้สำเร็จประโยชน์ในมนุษย์นี้ก็มีเปนอันมาก เปนต้นว่าเข็มแลเหล็กหมาด เมื่อมีกิจในการเย็บแลร้อยกรอง จะเอาเหล็กหมาดมาใช้ก็ไม่ได้ เมื่อมีกิจในการเจาะต่างๆ เปนต้นว่าเจาะกระดานแลไม้แก่น จะเอาเข็มมาใช้ก็ไม่สำเร็จกิจไปได้ ฤๅจะเอาผึ่งใช้ต่างขวาน แลจะเอาพร้ามาใช้ต่างดาบก็ไม่แยบคาย อันเครื่องมือเหล่านั้นๆ มีคุณต่างกันอยู่ฉันใด ก็เปรียบดังมนุษย์แลสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีคุณวิเศษต่างๆ กันฉนี้ อันธรรมดาซึ่งจะคบมิตรนั้นเล่า ก็ต้องพิเคราะห์ดูโดยเลอียด ว่าเปนสัปปุรุษฤๅอสัปปุรุษ ถ้าคบมิตรซึ่งเปนสัปปุรุษแล้วก็อาจให้คุณ ถ้าคบมิตรซึ่งเปนอสัปปุรุษแล้วก็อาจให้โทษ ประการหนึ่ง จึงพิจารณาดูกิริยาแลวาจา ถ้ามีกิริยากระด้างกระเดื่อง ไม่สุภาพเรียบร้อย แลวาจาห้าวหาญไม่ตั้งอยู่ในความสัมมาคารวะ ก็มักพาความร้อนใจให้แก่มิตร ดังนิทานแร้งแก่ ซึ่งมีมาแต่โบราณฉนั้น พระราชกุมารทั้งหลาย จึงถามอาจารย์วิสมานะบัณฑิตว่า นิทานแห่งแร้งแก่นั้นเนื้อความเปนประการใด เชิญท่านจึงเล่าให้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟังพอเปนคติจำไว้บ้าง ฝ่ายอาจารย์วิสมานะบัณฑิตจึ่งเล่าถวายพระราชกุมารว่า (ดังนี้)
นิทานเรื่องแร้งกับแมว
ในกาลก่อนยังมีแม่น้ำตำบลหนึ่ง ชื่อภาคิยนที ก็ที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นเสลาใหญ่ต้นหนึ่ง แร้งแก่ซึ่งชื่อว่าจลัดถะมาอาศรัยอยู่ที่ค่าคบไม้นั้น แร้งแก่ที่มีอายุมาก จนเล็บแลจะงอยปากขนคอก็หลุดร่วงสิ้น ตาก็ไม่ใคร่จะเห็น อนึ่งบนต้นไม้เสลานั้นมีฝูงนกมาทำรังเปนอันมาก นกเหล่านั้นครั้นได้เห็นแร้งแก่ก็มีความเมตตาปราณี ถึงเวลาไปหาอาหารบริโภคก็คาบมาเผื่อแร้งแก่ให้กินทุก ๆ วัน วันหนึ่งมีแมวตัวหนึ่งชื่อทีฆะกรรณ หูยาวเกินแมวธรรมดา เดิรมายังใต้ต้นเสลา
แผ่นที่ ๒๘๑ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ
แหงนขึ้นไปดูบนไม้ เห็นลูกนกเหล่านั้น คิดจะใคร่บริโภคเปนอาหาร จึงมาคิดแต่ในใจว่า จำเราจะประจบประแจงแร้งแก่ด้วยกลอุบายขึ้นไปอาศรัยอยู่บนต้นไม้นี้ เวลาค่ำแม่นกทั้งหลายหลับแล้ว เราจะย่องขึ้นไปคาบเอาลูกนกมาบริโภคเปนอาหาร ก็จะมีความผาสุก ไม่ต้องขวนขวายเที่ยวหากินในที่อื่น ครั้นคิดดังนั้นแล้ว จึงทำอาการขมีขมันตะกายขึ้นไปบนต้นไม้ ลูกนกทั้งหลายครั้นได้เห็นแมวก็พากันร้องเกรียวกราวขึ้น แร้งแก่ได้ยินดังนั้น ก็คาดการดูว่าคงจะมีศัตรูมาเปนมั่นคง จึงร้องถามว่าใครมาที่ถิ่นของเรา แมวจึงตอบว่า ดูกรท่านพระยาแร้ง ข้าพเจ้าผู้เปนแมวชื่อว่าทีฆะกรรณ จะขึ้นมาขออาศรัยพึ่งท่านอยู่ด้วย เพราะว่าบัดนี้ มีศัตรูติดตามไล่ข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าไม่รู้ที่จะหนีไปไหนได้ ข้าพเจ้าจึงวิ่งตะกายขึ้นมาพึ่งท่าน เพื่อจะให้พ้นจากมรณภัย ขอท่านจงเอนดูช่วยชีวิตข้าพเจ้าด้วยเถิด แร้งแก่จึงว่า เองเปนแมวย่อมบริโภคสัตว์อันมีชีวิต ลูกนกบนต้นไม้นี้ก็มีอยู่เปนอันมาก เองจะมากัดกิน เปนอาหารเสียหมดดอก จะให้เองอยู่ด้วยไม่ได้ รีบลงไปเสียจากต้นไม้โดยเร็ว ถ้าไม่ลงไปกูจะฆ่าเสียบัดเดี๋ยวนี้ แมวจึงอ้อนวอนว่า ดูกรพระยาแร้ง ไฉนท่านจึงกล่าวถ้อยคำหักโหมเช่นนี้เล่า ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้าก่อน อันธรรมดาในโลกนี้ เมื่อผู้ใดมีทุกข์ร้อนแลหนี ภัยมาพึ่งผู้มีอำนาจแล้วก็ควรจะให้เปนที่พึ่ง ฤๅถ้าจะเกรงว่าจะพาทุกข์ภัยมาให้ได้ความร้อนใจด้วย ก็ควรจะต้องไต่ถามดูก่อน ว่าผู้ที่จะมาพึ่งตนนั้นผิดฤๅชอบ ดีฤๅชั่วเปนประการใด ถ้าผู้นั้นผิดก็ควรจะทำโทษตามโทษานุโทษ แลผู้นั้นชั่วก็ควรจะขับไล่เสีย ไม่ให้อยู่พึ่งพาอาศรัย ถ้าผู้ที่วิ่งมาพึ่งตนนั้นไม่มีความผิดก็ควรจะต้องรับไว้เลี้ยงดู ช่วยป้องกันอันตรายให้ ซึ่งจะจัดว่าเปนผู้มีปัญญาเปนเชื้อปราชญ์ แร้งแก่จึงตอบว่า อันความดีของเองเปนประการใด เองจงว่าไปก่อน แมวจึงกล่าวกลอุบายว่า
แผ่นที่ ๒๘๒ ออกวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ
เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเปนลูกแมวอยู่นั้น มีฤๅษีตนหนึ่งบริบูรณด้วยศีลแลพรตเปนอันดี ไปจงกรมอยู่ณป่าใหญ่ ข้าพเจ้าได้ไปอยู่ในสำนักฤๅษีนั้น แลท่านได้เปนอาจารย์แห่งข้าพเจ้า สั่งสอนคัมภีร์ธรรมศาสตรแลนิติศาสตรให้แก่ข้าพเจ้า ๆ ก็ได้ศึกษาเล่าเรียน อยู่ปฏิบัติฤๅษีนั้นจนข้าพเจ้าเจริญขึ้นแล้ว ท่านให้ข้าพเจ้าสมาทานศีล ๕ ข้าพเจ้าก็สมาทานรักษาไว้มั่นคง ไม่ให้ด่างพร้อยเศร้าหมองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ฤๅษีผู้เปนอาจารย์ท่านเห็นว่าข้าพเจ้านี้ดีจริง ตั้งอยู่ในสัตยในธรรม แม้จะอยู่ด้วยภาพังตนก็ได้อยู่แล้ว ท่านจึงได้ปล่อยข้าพเจ้าเสียในป่าที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้าพเจ้าได้ลงไปอาบน้ำชำระเกล้าในแม่น้ำคงคาเสร็จแล้ว แลได้สมาทานพรอันชื่อว่า จันทพะยะนะ กินซึ่งอาหารชื่อว่านิรามิส คือกินซึ่งลมเปนของไม่มีอามิส แต่ข้าพเจ้าได้ประพฤติตามโอวาทพระฤๅษีเช่นนี้นานแล้ว เพราะ นั้น ท่านพระยาแร้งผู้ประกอบด้วยปัญญา แลมีจิตรเลื่อมใสในกุศลเปนอันมาก จะมาฆ่าข้าพเจ้าผู้ตั้งอยู่ในศีลในพรตไม่สมควรเลย ควรจะต้องรับข้าพเจ้าไว้อาศรัยในสำนักแห่งท่านในครั้งนี้ อนึ่งอันธรรมเนียมแห่งมนุษย์แลสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีปัญญาแลบันดาศักดิ์ฤๅกำลังอานุภาพบริบูรณ์ เมื่อมีแขกมาถึงสถานแห่งตนก็ควรจะต้องต้อนรับตามสมควรแก่คุณานุรูปผู้นั้น ถึงแขกจะเปนมิตรสหายฤๅเปนอมิตรก็ดี ต้องปฏิสันถารต้อนรับโดยสมควร อย่าให้เปนที่สทกสเทินดังนี้ ซึ่งจะจัดว่าเปนปัญญาแห่งภูมิปราชญ์ อันการดีแลการชั่ว ก็ย่อมเปนสันดานอยู่ทั่วกันในเหล่ามนุษย์แลสัตว์ เมื่อผู้ใดมีสันดานประพฤติที่ดี นานไปก็ได้เห็นความดีแห่งผู้นั้น เมื่อผู้ใดมีสันดานประพฤติชั่ว นานไปก็ได้เห็นความชั่วแห่งผู้นั้น อนึ่งผลไม้ซึ่งมีในโลกนี้ก็มีหลายสถาน แต่ผลไม้สองอย่าง คือ ผลมะเดื่อแลผลขนุนนี้ ลำต้นกิ่งใบก็ละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่ผลนั้นแปลกปลาดต่างกัน อันผลมะเดื่อนั้นข้างนอกดูเกลี้ยงเกลาแดงสุกใส แต่ข้างในเปนหนอนฟอนอยู่ไม่มีโอชารส ผลขนุนนั้นใช้ภายนอกเปนหนามระกุระกะไม่น่าดู แต่ข้างในสีเหลืองสดใสดุจสีทอง แลมีโอชารส ก็เหตุใดเล่าจึงรู้ว่าดีแลชั่ว ก็เหตุที่นานไปค่อยสุกขึ้นทุกวันทุกเวลา เมื่อถึงกำหนดแตกออกเองก็ดี ฤๅมีผู้ผ่าออกก็ดี แต่อาจเห็นที่ดีแลชั่วเช่นนั้น อนึ่งในป่าทั้งหลาย มีประเทศซึ่งเปนที่เกิดแห่งเครื่องหอม คือ กฤษณาแลกระลำภักเปนต้น ไม้เช่นนี้ก็มีน้อยนักน้อยหนา ประเทศซึ่งเปนที่เกิดแห่งหญ้าแลต้นไม้ที่ไม่มีกลิ่นนั้นมีโดยมาก
แผ่นที่ ๒๘๓ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ
อุปมาฉันใด อุปมัยดังผู้ซึ่งมีปัญญาแลมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแผ่เผื่อไป ก็เปนที่ประชุมแห่งผู้อื่นให้ไปมาสมาคมคบหา แลเปนที่พึ่งพาอาศรัย แม้จะอยู่ในสถานที่ใด ๆ ถึงจะไปมาหายากก็ไม่อาจที่จะขาดจากการประชุมได้ ฝ่ายผู้ปราศจากปัญญาแลประพฤติสันดานมัจฉริยโหดร้ายไม่โอบอ้อมอารีแผ่เผื่อไป ก็ไม่เปนที่ประชุมแห่งผู้อื่นให้ไปมาสมาคมคบหา แลไม่เปนที่พึ่งพาอาศรัย แม้อยู่ในสถานที่ใด ๆ ถึงจะไปมาหาง่ายก็ไม่มีผู้ซึ่งจะไปมาหาสู่ดูเงียบเหงา ดุจดังเรือนร้างว่างเว้นจากประชุมชน อนึ่งคนที่มีปัญญาอันโฉดเขลานั้น เปรียบปานประดุจดอกแลผลลำโพง ไม่มีใครจะเจตนาเอามาทัดมาดม แลบริโภคเปนอาหาร ก็คนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ในกิจใหญ่น้อยต่างๆ ทั้งปวง เปรียบปานประดุจดอกแลฝักอุบลบัวหลวง ฤๅดอกไม้ที่มีกลิ่นอันหอม คนทั้งหลายต่างเจตนาเอามาทัดแลดม ฤๅนำมาประกอบโอสถ แลบริโภคเปนอาหาร อันท่านพระยาแร้งนี้เล่าก็มีปรีชาแลพร้อมไปด้วยคุณต่าง ๆ เหลือล้นพ้นวิสัยที่จะนับจะประมาณได้ แม้นจะพรรณาไปก็ไม่รู้สิ้นสุดเลย เพราะเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ขึ้นมาขอพึ่งพักอาศรัยในสำนักแห่งท่าน ขอท่านผู้มีปรีชาแต่มีกำลังอานุภาพมาก จงปราณีแก่ข้าพเจ้าผู้เปนสัตว์อนาถาด้วยเถิด ฝ่ายแร้งแก่ไม่รู้ประมาณตัว ครั้นได้ยินแมวกล่าวคำยกย่องคุณวุฒิซึ่งไม่มีในตนนั้น ก็ให้อิ่มเอิบในอารมณ์ เหตุด้วยสำคัญจิตรวิปลาศ เห็นผิดเปนชอบไป เกิดขึ้นชมยินดีเปนกำลัง จึงตอบถ้อยคำด้วยวาจาอันไพเราะ ว่าท่านทีฆะกรรณ์พูดฉลาด แลมีสัมมาคารวะเปนอย่างดี ซึ่งท่านกล่าวนี้ก็จริงอยู่ชอบแล้วทุกประการ แต่ซึ่งเราจะสงเคราะห์ให้ท่านอาศรัยอยู่บนต้นไม้นี้ เกรงว่านกทั้งหลายจะติเตียนเราได้ ด้วยท่านเปนสัตว์อันมีวิสัยหยาบช้า มักฆ่าชีวิตผู้อื่นบริโภคเปนอาหาร เราจึงต้องว่าท่านเช่นนั้น ใช่จะตระหนี่หวงแหนถิ่นฐานที่อยู่นั้นหามิได้ แมวครั้นได้ฟังพระยาแร้ง กล่าวถ้อย
แผ่นที่ ๒๘๔ ออกวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ
คำผันผ่อนอ่อนลง ก็มีความรื่นเริงบรรเทิงใจยิ่งนัก จึงแกล้งทำอาการกิริยาให้เรียบร้อย ค่อยคลานเข้าไปใกล้ แล้วเคารพนบนอบหมอบลงที่ฉะเพาะหน้าแร้งแก่ แล้วจึงตอบว่า ข้าแต่ท่านพระยาแร้ง ข้อซึ่งท่านว่านั้นก็จริงอยู่ เพราะว่านกทั้งหลายเหล่านั้นจะสำคัญจิตรว่า ข้าพเจ้าเปนชาติแมวพาล ไม่ได้อยู่ในสำนักแห่งท่านผู้ทรงศีลสิกขาบท แต่ข้าพเจ้าอยู่ในศีลสัจ ไม่ฆ่าชีวิตผู้อื่นบริโภคเปนอาหาร ด้วยตั้งจิตรว่าเบื้องหน้าครั้นจุติไปแล้ว จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ตามโอวาทที่อาจารย์สั่งสอนมาแต่หลัง ใช่จะ กล่าวแกล้งเปนเล่ห์กลหลอกลวงท่านนั้นหามิได้ จะลัดถะแร้งแก่ผู้โฉดเขลา ไม่ตริตรองให้เห็นโดยแยบคายก็หลงเชื่อว่าแมวซึ่งล่อลวงเปนอุบาย จึงกล่าวว่าท่านทีฆะกรรณ์เอ๋ย ท่านจะมีความประสงค์อยู่ในต้นไม้นี้ ก็จงไปอยู่ในที่สมควรเถิด แมวก็คำนับลาแร้งแก่แล้วเข้าไปซ่อนอยู่ที่ในโพรงไม้เสลานั้น ครั้นถึงเวลาค่ำก็ลอบขึ้นไปลักลูกนกกินทุก ๆ วัน ครั้นกินแล้วก็เอาขนแลกระดูกมากองไว้ที่ริมแร้งแก่ ฝ่ายนกทั้งหลายเมื่อเห็นลูกนกน้อยลง ๆ ก็มีความสงสัยในจะลัดถะแร้งแก่ว่ากินลูกนกเสีย จึงพากันมาดู ก็เห็นขนแลกระดูกนั้นเรี่ยรายอยู่ใกล้ที่อยู่แห่งแร้งแก่ นกทั้งหลายก็ลงเนื้อเห็นพร้อมกันว่าแร้งแก่กินลูกนกเสีย ต่างก็กล่าวว่าแร้งแก่นี้ไม่ตั้งอยู่ในสัจในธรรม เราทั้งหลายสู้อุสาหะหาอาหารมาให้บริโภคอิ่มหนำสำราญทุก ๆ วัน ยังไม่เต็มความปราถนา มากินลูกของเราเสียเล่า ฝูงนกทั้งหลายต่างมีความโกรธยิ่งนัก จึงรุมกันเข้าจิกสับแร้งแก่จนถึงกาลกิริยา ฝ่ายแมวได้รู้ความดังนั้นก็รีบหนีไปจากต้นไม้ เที่ยวซ่อนเร้นอยู่ในป่าดังกาลก่อน
เมื่ออาจารย์วิสมานะบัณฑิตกล่าวนิทานแห่งจะลัดถะแร้งแก่จบลงแล้ว จึงว่าแก่พระราชกุมาร ว่าดูกรพระราชกุมารทั้งหลาย อันลักษณะผู้มีปัญญามิได้ตริตรองรอบคอบ ให้เห็นทุกข์เห็นภัยในอดีตอนาคต ว่าจะได้ความร้อนใจแลขุ่นเคืองใจแก่ผู้อื่นไปในภายหน้า ก็เห็นสภาวปานฉนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายจึงได้ติเตียนผู้มีปัญญา แต่ปราศจากสติที่จะตริตรองหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ไว้ ให้คิดประกอบการแต่ที่ชอบ แม้การไม่ควรจะเปนเหตุ ก็อย่าคิดให้เกิดผล อนึ่งผู้มีจิตรเอื้อเฟื้อต่อถ้อยคำอันไพเราะ ไม่พิจารณาให้เห็นการตลอดไปวันหน้า ไม่รู้ประมาณตนแลคุณวิเศษแห่งตนแล้ว ก็ไม่อาจสามารถจะคิดให้เปนประโยชนยืดยาวแก่คนผู้อื่นได้ แลมักมีศัตรูฤๅทุกข์ภัยมาย่ำยี ให้ได้ความเดือดร้อนใจยิ่งนัก นักปราชญ์ทั้งหลาย
แผ่นที่ ๒๘๕ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ
จึงได้สรรเสริญผู้ที่คิดการถูกต้องด้วยเยี่ยงอย่าง แลให้สำเร็จประโยชน์ตนแลประโยชนผู้อื่นได้ ไม่เปนที่ร้อนใจ หรือขุ่นเคืองใจแก่คนทั้งหลายไปภายหน้า ย่อมเปนที่นิยมยินดีทั่วไป เปรียบประดุจดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ ในเวลาเที่ยงคืนมีแสงจำรัสรัศมีไพโรจน์รุ่งเรืองส่องทั่วไปในสรรพทิศน้อยใหญ่ แม้ผู้ใดจะเล็งแลขึ้นไป ต่างคนต่างก็เห็นปรากฏซึ่งดวงพระจันทร์นั้น ตั้งอยู่ตรงหัวแห่งตนทั้งสิ้นด้วยกัน อันผู้มีปัญญาแลผู้ที่ปราศจากความฉลาดนั้น ผิดกันโดยประเภทดังพรรณามาฉนี้
โดย อักษรสาสนโสภณ
ข่าวราชการ เสด็จพระราชดำเนิรเมืองเพชรบุรี
ณวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ เวลาบ่าย ๓ โมงกับ ๔๕ มินิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระทวารหน้าพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ทรงพระราชยานไปประทับที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ขณะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย มาคอยส่งเสด็จเปนอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฯ ประมาณ ๑๐ มินิต จึงเสด็จพระราชดำเนิรลงเรือพระที่นั่งอัคราชวรเดช เสด็จขึ้นประทับบนดาดฟ้า ครั้นคนลงพร้อมกันแล้วก็ออกเรือพระที่นั่งจากท่าราชวรดิษฐ ขึ้นไปถึงหน้าวัดเทวราชกุญชรกกลับเรือพระที่นั่งลงตามลำน้ำ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงเสวยพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอที่ตามเสด็จพระราชดำเนิรนั้น ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นบนดาดฟ้า ประทับตรัสอยู่ในเวลาทุ่ม ๑ กับ ๑๕ มินิต ถึงหน้าเมืองสมุทปราการ หยุดเรือพระที่นั่ง แลทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้กรมการเอาธูปเทียนแลดอกไม้ไปบูชาที่พระเจดีย์กลางน้ำ แลพระยาสมุทบุรานุรักษ์ก็เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลี
แผ่นที่ ๒๘๖ ออกวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ
พระบาท ในเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับพระยาสมทบุรานุรักษ์ ประมาณ ๑๐ มินิต พระยาสมุทบุรานุรักษ์ ก็กราบถวายบังคมลา จึงโปรดให้ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสมุทปราการ ออกปากอ่าวเวลา ๒ ทุ่มกับ ๓๕ มินิต ถึงรั้วช้างทอดสมอจอดอยู่ที่นั้น ครั้นเวลายามเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสวยพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอที่ตามเสด็จพระราชดำเนิรนั้น เสวยแล้วตรัสอยู่จนเวลา ๘ ทุ่มกับ ๔๐ มินิต เสด็จขึ้น เวลา ๓ ยามเศษ เรือพระที่นั่งอัคราชวรเดชใช้จักรจากรั้วช้างไปทางฝั่งทเลตวันตก
โดย สวัสดิประวัติ
ณวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้าย่ำรุ่ง เรือพระที่นั่งอัคราชวรเดช แล่นตรงมาปากอ่าวท่าจีน เวลาเช้า ๒ โมง ๓๐ นาที ถึงปากอ่าวบ้านแหลม เรือพระที่นั่งหยุดประทับที่นั้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่าแต่เดิมเรือพระที่นั่งอัคราชวรเดชลำก่อน เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเข้าไปจอดประทับในคลองที่ตำบลบ้านท่าพลับพลา จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเรือพระที่นั่งแล่นเข้าไปในคลองตามอย่างแต่ก่อน เวลา ๓ โมงกับ ๓๓ นาที ก็ถึงที่ท่าพลับพลา เรือพระที่นั่งก็ทอดสมอดับไฟ เวลาเช้า ๕ โมง ๑๕ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ๑๒ กันเชียงพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอยังเยาว์ ๓ พระองค์ แต่พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ จางวางมหาดเล็ก ๑ หัวหมื่น ๓ รอแยลเอดเดอรแกมป ๔ แลพลกันเชียงพร้อม เรือพระที่นั่ง ๑๒ กันเชียงออกจากเรือพระที่นั่งอัคราชวรเดช เรือประทีปทัศนาการสูง แลมีเรือทหารนำ แลเรือพระที่นั่งแหวด ๓๒ แจว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แลพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จไปในนั้นเปนอันมาก แลมีเรือโบตเรือแหวดพระประเทียบแลข้าราชการเปนอันมาก แลมีเรือพระที่นั่งแหวดกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรลำ ๑ แลเรือแหวดพระประเทียบซึ่งมาจากเรือไรซิงแซนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปตามลำดับลำคลอง จนเวลาบ่ายโมง ๔๐ นาที ถึงที่พลับพลา บางครกบ้านใหม่ แลเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นบนพลับพลาตรัสอยู่ด้วยเจ้าเมือง กรมการ แลข้าราชการ
แผ่นที่ ๒๘๗ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ
ซึ่งไปคอยรับอยู่ที่นั้น จนเวลาบ่ายโมง ๕๕ นาที เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งสองล้อ กับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ แลเสด็จทางสถลมารค พร้อมด้วยกระบวรแห่หน้าหลัง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตามเสด็จพระราชดำเนิรขี่ม้าบ้าง ไปรถบ้าง ครั้นเวลา ๒ โมง ๕ นาที เสด็จถึงเชิงเขาตลอดทาง ๒๖๙ เส้น แล้วก็เสด็จขึ้นทรงม้าพระที่นั่งยังไม่มีระวาง ชื่อขาวตั๋ง เสด็จขึ้นบนเขามหาสวรรค์ ครั้นถึงบนบันไดพระที่นั่งก็เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นทอดพระเนตรพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน แลพระที่นั่งปราโมทย์มไหศวริยแลราชธรรมสภา แลเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งข้างใน พระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้มาพักที่ราชธรรมสภา ข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนิรอยู่หอพระจตุเวทปริตพรต ในเวลาเช้าวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ทหารราชวัลลภขาวกับสายพระแสงพร้อม พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนิร สวมเสื้อตามธรรมเนียม มีปีกแยกเก็ดแลออฟฟิศโก๊ตเปนต้น ฝ่ายขุนนางนายทหารแต่งเครื่องยศทั้งสิ้น เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกราชธรรมสภา เสด็จประทับโต๊ะเสวย พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แลประทับอยู่จนเวลา ๕ โมง ๔๕ นาที เสด็จพระราชดำเนิรลงจากเขาพระที่นั่ง ตามทางข้างหลังเขาข้ามไปพระเจดีย์ แลเขาวัดที่มีพระเจดีย์ศิลา แลประทับทอดพระเนตรแล้ว เวลาย่ำค่ำ ๓ นาที เสด็จพระราชดำเนิรกลับมาตามทางเดิม มาเลี้ยวถนนข้างเขามหาสวรรค์ทิศตวันออก เสด็จพระราชดำเนิรไปที่สัณฐาคารสถาน ซึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ประทับพักอยู่ที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับตรัสอยู่กับกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร จนเวลาทุ่ม ๕ นาที เสด็จขึ้นบนพระที่นั่ง
แผ่นที่ ๒๘๘ ออกวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ
เพชรภูมิไพโรจน์ ประทับตรัสอยู่จนเวลา ๒ ทุ่ม ๓๕ นาที เดือน เสด็จขึ้นข้างใน ในเวลาค่ำวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เสด็จประทับโต๊ะเสวยที่ราชธรรมสภา ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า ทรงพระราชดำเนิรมากย่อนพระราชหฤทัยไป จึงหาได้เสด็จออกไม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ปิดพระศอตามธรรมเนียม พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการใส่อย่างนั้นบ้าง อย่างเปิดคอบ้าง แลตามเสด็จพระราชดำเนิรด้วยเปนอันมาก
โดย วาณุรังษีสว่างวงศ์
วันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาย่ำรุ่งเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารหลังราชธรรมสภา พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายใน มีตำรวจกรมวังแลทหารนำตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงพระราชดำเนิรไปประพาสถ้ำเพิงแลถ้ำพัง ประทับอยู่จนเวลาเช้า ๓ โมง เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน ประทับตรัสอยู่ประมาณครู่หนึ่งเสด็จขึ้น เวลาเช้า ๔ โมงเสด็จออก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกพานเทียนไปบูชาเทวรูปที่พระพิมานเพชรเทเวศร แล้วประทับอยู่ประมาณ ๓๐ นาทีเสด็จขึ้น ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปประทับเกยทรงพระที่นั่งราชยานลงไปเชิงเขา ประทับตรัสกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งได้มาแต่เมืองราชบุรี มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทถึงเมืองเพชรบุรีในเวลาเช้านั้นประมาณครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งสองดุม เสด็จพร้อมด้วยทหารแลตำรวจ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการตามเสด็จ ขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนิรลงมาแต่บนเขานั้น ที่เชิงเขามีราษฎรชาวเมืองเพชรบุรี มาคอยชมพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนอันมาก แลกระบวรเสด็จพระราชดำเนิรไปนั้น ครั้นถึงเขาพนมหวดก็เลี้ยวเข้าหลังเขา เสด็จลงแต่รถ พระที่นั่งไปประทับที่ศาลา ซึ่งเปนทำเนียบพักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น ตรัสด้วยข้อราชการต่างๆ เสร็จแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงได้กราบถวายบังคมลากลับไปเมืองราชบุรี ว่าจะไปในเวลาค่ำวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำนี้ ประทับอยู่จนเวลา ๕ โมงเศษ
แผ่นที่ ๒๘๙ ออกวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ
เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นทรงรถพระที่นั่ง ออกจากเขาพนมหวด ไปประทับรถพระที่นั่งที่เชิงเขาหลวง แล้วเสด็จขึ้นทรงม้าพระที่นั่งขึ้นบนเขา ครั้นถึงปากถ้ำหลวง ก็เสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง ทรงพระราชดำเนืรลงไปในถ้ำ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายใน ทรงนมัสการพระพุทธรูปในถ้ำแล้ว ประทับอยู่จนเวลาทุ่มหนึ่งที่เสด็จขึ้นจากถ้ำ แล้วทรงพระราชยานลงไปเชิงเขา ขึ้นทรงรถพระที่นั่งกลับยังเขามหาสวรรค์ ครั้นกระบวรแห่มาถึงเชิงเขาแล้ว ก็เสด็จลงแต่รถพระที่นั่ง ขึ้นทรงรถเล็ก กรมวังแลกรมราชยานประคองไสรถพระที่นั่ง ขึ้นไปจนถึงยอดเขา แล้วเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน ประมาณครู่หนึ่งก็เสด็จขึ้น ระยะทางตั้งแต่เขามหาสวรรค์ ถึงเขาหลวงเปนทาง ๕๘ เส้น
ครั้นเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จออกทางพระทวารข้างซ้ายราชธรรมสภา ประทับเสวยพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ จนเวลายามเศษ เสวยแล้วเสด็จออกไปประทับชดาข้างราชธรรมสภาด้านข้างขวาแลด้านข้างหน้า ทอดพระเนตรภูมิประเทศที่ต่าง ๆ จนเวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
โดย ก.ม. นเรศรวรฤทธิ
ณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงทรงบาตรที่ข้างใน พระวุฒิการบดีนิมนต์พระสงฆ์ ๓๐ รูป มีวัดมหาสมณารามแลวัดคงคารามเปนต้น เข้าไปรับบิณฑบาต เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน หลวงพิพิธภักดีจึงนำพระยาประสิทธิสงครามรามภักดี ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ทูลเกล้า ฯ ถวายสิ่งของ
แผ่นที่ ๒๙๐ ออกวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ
ต่าง ๆ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเสื้อสักหลาดสีต่าง ๆ แก่พระยาประสิทธิสงครามรามภักดี ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ๑ พระยาสุรินทรฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี ๑ หลวงบริบาลคิรีมาศ ๑ แล้วประทับตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ประมาณครู่หนึ่งเสด็จขึ้น
เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน เสด็จอัฒจันทรพระที่นั่งนั้น ปลัดวังขวาจึงนำจีนทูลเกล้า ฯ ถวายของต่างๆ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิรลงบันไดเขา ขึ้นทรงรถพระที่นั่งเล็ก มีพวกราชยานรุนไปถึงหน้าวัดมหาสมณาราม เสด็จพระราชดำเนิรลงเชิงเขา ประทับตรัสกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งสองดุม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ ตามเสด็จบนรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยกระบวรนำแลกระบวรตามเสด็จ ไปประทับเขาบันไดอิฐ ประทับอยู่จนเวลาย่ำค่ำเศษเสด็จกลับ รถพระที่นั่งถึงเชิงเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งเล็ก มีพวกราชยานประคองไสขึ้นไปประทับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน ตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์ ประมาณครู่หนึ่งเสด็จขึ้น
โดย มนุษยนาคมานพ (ผู้แทน)
ณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่ายโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับณพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน มีข้าราชการหัวเมืองกรมการ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาททูลเกล้า ฯ ถวายสิ่งของต่างๆ แลพระราชทานเนื้อสักหลาดอย่างดีแก่ข้าราชการที่มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท คือ พระพลสงคราม ๑ หลวงรามฤทธิรงค์ ๑ หลวงยงโยธี ๑ หลวงภักดีสงคราม ๑ นายแย้มเด็กชา ๑ หลวงพิพัฒนเพชรภูมิยกกระบัตร ๑ หลวงวิชิตภักดีผู้ช่วย ๑ หลวงมหาดไทย ๑ ชุนสัสดี ๑ ขุนแพ่ง ๑ ขุนแขวง ๑ ขุนศุภมาตรา ๑ ขุนเทพ ๑ ขุนรองปลัด ๑ ขุนเทพบุรี ๑ รวม ๑๕ นาย แล้วโปรดพระราชทานเงิน แต่พวกเด็กชาที่มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท คนละตำลึงบ้าง คนละกึ่งตำลึงบ้าง คือที่ได้คนละตำลึงนั้น เพราะเปนคนเก่า ได้ทรงเห็นหน้าตั้งแต่แผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มากกว่าคนเหล่านั้น ที่นอกนั้นหาทรงรู้จักไม่ ซึ่งได้พระราชทานแก่คนละกึ่งตำลึง
แผ่นที่ ๒๙๑ ออกวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ
พอเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน เสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่งไสสามดุม มีพวกที่เคยหามพระราชยานไสลงมาจากยอดเขาถึงเชิงเขา ครั้นถึงเชิงเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงจากรถพระที่นั่งประทับตรัสด้วย หมอแมกฟาแลนด์ซึ่งคอยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่เชิงเขาประเดี๋ยวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งสองดุม เทียมม้าเดี่ยว เสด็จไปประทับเชิงเขาหลวง แล้วเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง แล้วจึงเสด็จทรงม้าพระที่นั่ง เสด็จขึ้นบนเนินเขา ไปประทับณพลับพลาบนเนินเขานั้นประมาณครู่หนึ่ง จึงทรงพระราชดำเนิรลงไปในถ้ำหลวง ทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากร ๔ องค์ ที่อยู่ในถ้ำนั้น แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทั้ง ๔ องค์ พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๔ นี้ มีพระนามพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๔ องค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ๑ พระบาทบสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ รวมทั้ง ๔ พระองค์ ครั้นนมัสการแล้ว จึงเสด็จทรงพระราชดำเนิรลงไปชั้นต่ำไปทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แลทรงจุดเทียนเครื่องทองน้อย บูชาสำหรับพระพุทธรูป ที่มีพระนามสำหรับพระองค์ แล้วเสด็จทรงพระราชดำเนิรเที่ยวประพาสทอดพระเนตรในนั้น แลเที่ยวทรงบูชาพระพุทธรูปต่างๆ ในนั้นอีกหลายแห่ง ทั้งพระเจดีย์อิฐ แล้วเสด็จขึ้นทางบันไดสุด แล้วทรงพระราชดำเนิรลงมาจากยอดเขานั้น แล้วจึงเสด็จทรงพระราชยาน ลงมาถึงเชิงเขา ครั้นถึงเชิงเขา จึงเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งเก่า เสด็จกลับลงเชิงเขามหาสวรรค์ แล้วเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง ๓ ดุม
แผ่นที่ ๒๙๒ ออกวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ
เหมือนเช่นที่ว่าข้างต้นนั้น เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จขึ้น เวลาทุ่มเศษ เสด็จออกประทับพระที่นั่งเพ็ชร์ภูมิไพโรจน์ ประมาณครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น ขอท่านทั้งหลายจงทราบ เทอญ
โดย ทองแถมถวัลยวงศ์
ณวันพุธ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเที่ยงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงถ่ายพระบรมรูปที่พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระรูป ๑ แต่มืดนักไม่ชัด จึง เสด็จทรงพระราชดำเนิร ทรงถ่ายที่พระที่นั่งราชธรรมสภา ๒ พระรูป เปนพระรูปพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการรูป ๑ แลทรงถ่ายพระรูปอย่างใหญ่อีกพระรูป ๑ แล้วเวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จขึ้น
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงรถพระที่นั่ง คนที่หามราชยานใส่ลงไปยังเชิงเขา แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นทรงรถพระที่นั่ง ๒ ดุม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ ตามเสด็จในรถพระที่นั่ง แล้วจึงเดิรกระบวรรถไปตามทาง ซึ่งไปเขาบันไดอิฐ แต่เลี้ยวข้างหน้าวัดคงคา เปนทาง ๖๐ เส้น ๑๔ วา ถึงสวนมะตูม จึงประทับทรงเก็บผลมะตูมในสวนนั้น แล้วเสด็จพระราชดำเนิรกลับทรงรถพระที่นั่งไปประพาสในเมือง ทางถนนตลาด ไปอ้อมลงถนนใหม่แถวกลาง แล้วกลับมาข้ามสพานช้าง กลับไปประทับที่เชิงเขา แล้วจึงเสด็จทรงพระราชดำเนิรทรงรถพระที่นั่งไสขึ้นไปประทับณพระที่นั่งเพ็ชร์ภูมิไพโรจน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเงินตรา ๑๐ ตำลึง แก่เจ้าของสวนมะตูม ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนิรนั้น แล้วเสด็จพระราชดำเนิรขึ้น
โดย เทวัญอุไทยวงศ์
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ เวลาเช้า ๑ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรไปวัดมหาสมณาราม พระราชทานเงินตราเปนมูลกัปปิยภัณฑ์ แก่พระครูมหาสมณวงศ์ แลพระสงฆ์ในวัดนั้น เปนเงินตราชั่ง ๕ ตำลึง แล้วทรงแจกเงินแก่สัปปุรุษ ๒๐ คน ๆ ละสลึงบ้าง ๒ สลึงบ้าง เวลาเช้า ๔ โมงเศษเสด็จกลับ
เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งเพ็ชร์ภูมิไพโรจน์ หลวงพิพิธภักดี จึงนำพวกลาวทูลเกล้า ฯ ถวายของต่าง ๆ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนธนศักดิ์แจกเงินแก่พวกลาว ตามสมควร
----------------------------