แนะนำเรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอน
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นกวีเอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ประวัติของท่านไว้ในคำนำหนังสือลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ว่า
“เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า นามเดิมหน เดิมเป็นหลวงสรวิชิต เคยรับราชการอย่างข้าหลวงเดิม ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้เป็นพระยาพิพัฒโกษา แล้วภายหลังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีข้อความในคำปรึกษาความชอบว่า หลวงสรวิชิตจงรักภักดีสัตย์ซื่อ หมายเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาช้านาน แล้วก็ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามมาแต่ก่อน และครั้งนี้ได้ทำราชการด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงอนุรักษเทเวศร์จนสำเร็จราชการแล้วได้แต่งคนเอากิจราชการหนักเบาในเมืองธนบุรีออกไปแจ้งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฉบับหนึ่งถึงด่านพระจารึกนั้นมีความชอบ ขอพระราชทานเอาหลวงสรวิชิตให้เป็นพระยาพิพัฒโกษา
ในหนังสือลำดับเสนาบดี ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่าทรงเห็นว่าหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัย ชื่อ หม่อมหน เข้ามารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี เป็นคนมีความสวามิภักดิ์ ได้แต่งคนเอากิจราชการสอดหนังสือลับไปถวายถึงด่านพระจารึก แล้วก็ได้ไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบ มีความชอบหลายอย่าง ทั้งฝีปากเรียบเรียงหนังสือก็ดี จึงโปรดตั้งให้เป็นที่พระยาพิพัฒโกษา ครั้นโปรดให้ตั้งพระยาพระคลัง (สน) เป็นพระยาศรีอรรคราช แล้วจึงโปรดให้ตั้งพระยาพิพัฒโกษา ขึ้นเป็น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บุตรมีมากไม่ได้รับราชการ ที่ทราบชื่อ คือ นายเกต นายทัด เป็นจินตกวี และเป็นครูพิณพาทย์ บุตรหญิงที่ปรากฏ คือ เจ้าจอมมารดานิ่ม เป็นเจ้าจอมมารดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเดชาดิศรในรัชกาลที่ ๒ พระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘”
งานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เท่าที่รวบรวมได้ในสมัยหลังมีดังนี้
๑. ลิลิตเพชรมงกุฎ
๒. ลิลิตศรีวิชัยชาดก
๓. อิเหนาคำฉันท์
๔. กากีคำกลอน
๕. สามก๊ก
๖. ราชาธิราช
๗. ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
๘. มหาชาติ ร่ายยาว กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี
๙. สมบัติอมรินทร์คำกลอน
ในบรรดางานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องกากีคำกลอน สามก๊ก ราชาธิราช และมหาชาติร่ายยาวกัณฑ์กุมารและมัทรีเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด เรื่องกากีคำกลอนนั้นเราพอใจจะอ่านทั้งที่เป็นเรื่อง และทั้งเมื่อผู้ขับร้องในชั้นหลังเลือกบางตอนประมาณ ๑ ใน ๓ มาขับร้องเข้ากับมโหรี ซึ่งเรียกกันว่า บทมโหรีเรื่องกากี โดยเฉพาะมหาชาติร่ายยาว กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี สำนวนของท่านเป็นเยี่ยมที่สุด แม้จะมีผู้แต่งประชันกันหลายความก็ตาม ก็ยังสู้สำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ได้ ส่วนอิเหนาคำฉันท์และลิลิตเพชรมงกุฎนั้น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิตรับราชการอยู่ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าธนบุรี และคงเป็นสมัยที่ยังไม่มีความชำนาญในการประพันธ์มากนัก จึงปรากฏว่า คุณภาพในทางวรรณคดีมีสู้เรื่องอื่นๆ ซึ่งแต่งในชั้นหลังต่อมาไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่ง คือ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวงนั้นแต่งตามพระบรมราชโองการ และใจความเกี่ยวกับพระราชพิธี จึงยากที่จะไพเราะเท่าวรรณคดีที่มีชื่อเล่มอื่นๆ ของท่าน ลิลิตศรีวิชัยชาดกก็เช่นกัน ไม่จัดว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมนัก จึงไม่แพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสือซึ่งเป็นงานของท่านอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเช่นกัน แต่ถ้าพิจารณาไปแล้ว ก็มีความดีในลักษณะของวรรณคดีซ่อนอยู่เป็นอันมาก งานชิ้นนั้นก็คือหนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอน ซึ่งจะขอแนะนำให้รู้จักกับวรรณคดีเล่มนี้ต่อไป
หนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ เดิมอยู่ในสมุดข่อย เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งทำหน้าที่ชำระวรรณคดีต่างๆ อยู่ในขณะนั้น พบสมุดเล่มนี้เข้า จึงได้นำมาตีพิมพ์ แต่มิได้พิมพ์เป็นรูปเล่มเช่นเดียวกับหนังสือวรรณคดีอื่นๆ เพราะมีปริมาณไม่มากนัก มีเพียง ๓๗๐ คำกลอนเท่านั้น ทั้งอีก ๘๐ คำกลอน ในตอนหลังๆก็มีผู้สนใจในวรรณคดีเก่าบางท่าน ให้คำวิจารณ์ไว้ว่า อาจจะไม่ใช่สำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เอง แต่มีผู้อื่นแต่งเติมขึ้นภายหลัง เพราะความเก่าจบตั้งแต่พระอินทร์ไปตามนางสุชาดาคืนมาได้ ความใหม่นี้ด้อยในด้านความไพเราะและแต่งค้างไว้ ในการพิมพ์ครั้งนั้นได้นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณ ซึ่งเป็นนิตยสารของหอพระสมุดวชิรญาณ จึงทำให้วรรณคดีที่ดีเด่นเล่มนี้ไม่แพร่หลายไปเท่าที่ควร ระยะเวลาที่แต่งวรรณคดีเรื่องนี้ยังไม่ทราบแน่นอน แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าจะแต่งก่อนกากีคำกลอน เพราะความปราณีตไพเราะของถ้อยคำผิดกัน ถ้าเรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอน แต่งก่อนกากีคำกลอน สมบัติอมรินทร์ก็จะเป็นนิทานคำกลอนเล่มแรกในประวัติวรรณคดีไทย และเป็นการเบิกทางสำหรับการประพันธ์นิทานคำกลอนเล่มอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมกันต่อมาในสมัยหลังมาก เริ่มต้นด้วยนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ มาจนเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งแต่งกันอย่างแพร่หลายในชั้นหลัง
นิทานคำกลอนเป็นการแต่งคำกลอนลักษณะหนึ่ง คำกลอนส่วนมากที่แต่งกันมาแต่สมัยอยุธยา มักเป็นบทละคร บทสักวา เสภา ดอกสร้อย และเพลงยาวเป็นพื้น มีนิทานคำกลอนอยู่เพียงเล่มเดียว คือ เรื่องศิริวิบุลกิตของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็แต่งเป็นกลอนกลบท ดังนั้นหนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ จึงน่าจะได้รับเกียรติในฐานะเป็นหนังสือที่แสดงแบบอย่างการประพันธ์กลอน แบบนิทานคำกลอนเล่มแรกในวงวรรณคดี และยิ่งหนังสือเล่มนี้มีลักษณะวรรณคดีอยู่อย่างพร้อมมูล ประกอบกับฉบับพิมพ์ไม่ค่อยแพร่หลาย จึงยิ่งเป็นการสมควรที่จะแนะนำให้รู้จักกันต่อไป
หนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอน ขึ้นต้นกลอนตามแบบเพลงยาวคือ ขึ้นที่วรรคหลัง และแต่งด้วยกลอน ๘ ซึ่งนิยมแต่งกันมาก่อนที่จะได้วิวัฒนาการมาเป็นกลอนแบบสุนทรภู่ กล่าวคือวรรคหนึ่งมี ๘ คำ แต่ไม่มีสัมผัสในถือเคร่งครัดเช่นกลอนแบบสุนทรภู่ เนื้อความดำเนินไปอย่างรวดเร็ว กล่าวถึง “องค์อมเรศอดิศร” คือ พระอินทร์ และบรรยายถึงความรุ่งเรืองงดงามของปราสาทราชฐานของพระอินทร์อย่างละเอียดลออ ถ้านอกจากไตรภูมิพระร่วงซึ่งแต่งเป็นความเรียงและมีเล่าเรื่องสวรรค์ของพระอินทร์อยู่มากแล้ว ก็ยากที่จะพบในวรรณคดีเล่มใด ซึ่งบรรยายเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์มากเท่าเรื่องนี้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้ประพันธ์เจาะจงให้พระอินทร์ เป็นตัวเอกของเรื่องนี้จริงๆ และต้องการจะสร้างมโนภาพให้ผู้อ่านเห็นความงามของทิพยสมบัติของพระอินทร์ ซึ่งถ้าพระอินทร์ไปอยู่ในวรรณคดีเล่มอื่น ก็จะเป็นเพียงตัวประกอบ เช่นเป็นผู้ที่เล็งทิพเนตรมาดูแลทุกข์สุขในโลกมนุษย์ดังในเรื่องสังข์ทอง และการบรรยายทิพสมบัติของพระอินทร์ซึ่งมีฐานะเป็นตัวประกอบในเรื่อง ก็จะเป็นไปไม่ได้มากสมใจผู้ประพันธ์ นับว่าผู้ประพันธ์ทำได้เป็นเยี่ยม เพราะไม่มีวรรณคดีเล่มใดที่จะสร้างมโนภาพให้ผู้อ่านได้เห็นความงดงามของ “เมืองพระอินทร์” ได้ดีเท่าวรรณคดีเล่มนี้ ในไตรภูมิพระร่วงก็เป็นความเรียงจึงไม่มีรสวรรณคดีเท่า พระอินทร์นั้นในคติเดิมทางพราหมณ์และทางพุทธ ก็กล่าวไว้ว่ามีนิวาสสถานบนสรวงสรรค์ที่งดงามมาก แต่เราไม่มีโอกาสทราบว่างดงามเพียงใดเลย ถ้าไม่ได้อ่านเรื่อง สมบัติอมมรินทร์คำกลอน และสร้างมโนภาพตามไป
พระอินทร์เคยเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาพรหมณ์มาก่อน ในอภิธานท้ายหนังสือศกุนตลาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เล่าว่าชนชาติอริยกะนั้นนับถือพระอินทร์ว่าเป็นเทพเจ้า ก่อนเทพเจ้าองค์อื่นๆ เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม เป็นต้น เพราะพวกอริยกะยกเข้าสู่ดินแดนมัธยมประเทศเป็นครั้งแรกนั้น พระอินทร์ก็ได้นำทัพเข้ารบกับพวกทัสยุ ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิมจนได้ชัยชนะ เพราะฉะนั้นในไตรเพทจึงสรรเสริญพระอินทร์อยู่มาก แต่ในชั้นหลังพระอินทร์กลับมีฤทธิ์น้อยลง เพราะทำสงครามแพ้พวกอสูรบ่อยๆ ทั้งความประพฤติก็ต่ำลง เช่นไปผิดเมียของฤๅษีตนหนึ่งจนต้องถูกฤๅษีสาปให้พระอินทร์มีนิมิตลับ หรือเครื่องหมายของผู้หญิงติดพราวไปหมดทั้งองค์ ภายหลังฤๅษีหายโกรธแล้วก็สาปให้เครื่องหมายนั้นเป็นตา เพราะเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ท้าวสหัสนัยน์ แปลว่า ท้าวพันตา
ในหนังสือเรื่องเมืองสวรรค์ ของเสฐียรโกเศศ เล่าเรื่องพระอินทร์ตามคติพราหมณ์ไว้ว่า “พระอินทร์มีที่อยู่บนสวรรค์ เรียกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง คือชั้นจาตุมหาราชิกา, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามา, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ชื่อ “ดาวดึงส์” นี้เพิ่งมาตั้งในชั้นหลัง เมื่อสวรรค์แบ่งออกเป็น ๖ ชั้นเช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะแต่เดิมสวรรค์มีชั้นเดียว และหมายเอาชั้นฟ้าของพระอินทร์ ต่อมาเกิดมีเมืองฟ้าขึ้นหลายชั้น คำว่าสวรรค์ก็เป็นใช้ได้ทั่วไป ครอบเมืองฟ้าได้ทุกชั้น เพราะเป็นเมืองสว่างรุ่งเรืองทั้งนั้น ตลอดจนเมืองฟ้าในลัทธิอื่นก็เรียกเมืองสวรรค์ได้ เมื่อคำสวรรค์ใช้แทนคำว่าเมืองฟ้าเมืองเทวดาได้ทั่วไป ไม่จำกัดแต่เป็นเมืองฟ้าของพระอินทร์ เมืองฟ้าของพระอินทร์จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษอีกชื่อหนึ่ง คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นคำบาลี แปลว่า ๓๓ ในที่นี้หมายเอาเทวดาชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันบนสวรรค์ชั้นนี้ ๓๓ องค์ ลางทีก็เรียกว่าไตรตรึงส์ซึ่งเป็นคำสันสกฤต แปลว่า ๓๓ เหมือนกัน เหตุฉะนี้ในหนังสือไทยจึงใช้คำทั้ง ๒ คำ ที่ว่ามีเทวดาผู้ใหญ่ ๓๓ องค์นั้น ในจำนวนนี้รวมทั้งพระอินทร์ด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เดิมพระอินทร์เป็นมนุษย์ ชื่อมฆมาณพ มีเพื่อนสนิทอยู่ ๓๒ คน ได้ทำบุญกุศลไว้มาก เมื่อตายจึงไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางกลางเมืองของพระอินทร์โดยเฉพาะชื่อเมืองสุทัสส์ แปลว่าดูงาม เป็นชื่อมีมาแล้วแต่ครั้งพวกอสูรอยู่ เมื่อพระอินทร์กับพวกแย่งเมืองนี้ได้จึงคงชื่อเดิมไว้ เมืองสุทัสส์นี้มีชื่ออีกอย่างชื่อว่า อมรวดี แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา ส่วนสหายทั้ง ๓๒ คนที่ไปเกิดเป็นเทวดาด้วย ต่างก็มีเมืองของตนอยู่รอบเมืองสุทัศน์ของพระอินทร์ แบ่งกันอยู่ ๔ ทิศ ทิศละ๘ เมือง จึงมีเมืองทั้งหมด ๓๓ เมือง เทวดาผู้ใหญ่สหายของพระอินทร์ ๓๒ องค์นี้ ที่รู้จักชื่อกันดีก็มีอยู่หลายองค์ เช่น มาตุลี ซึ่งมีหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้พระอินทร์ เวสสุกรรมซึ่งเป็นนายช่างของเทวดา พระจันทร์เทพบุตร พระสุริยเทพบุตร พระพิรุณซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝนเป็นต้น เรื่องจำนวน ๓๓ นี้ เข้าใจว่าบางทีจะไม่ใช่มาจากเรื่องที่เล่าข้างต้น เพราะ ๓๓ เป็นจำนวนเทวดาดั้งเดิมสืบมาแต่สมัยพระเวท ซึ่งเขาแบ่งเทวดาออกเป็น ๓ พวก พวกละ ๑๑ องค์ คือเทวดาที่อยู่บนสวรรค์พวก ๑ มีพระวรุณและพระสูรย์ เป็นต้น อยู่กลางฟ้า กลางอากาศ พวกหนึ่งมีพระอินทร์เป็นต้น และมีพวกอยู่บนแผ่นดินอีกพวกหนึ่งมีพระอัคนีเป็นต้น”
หน้าที่ของพระอินทร์นั้น คือคอยขับไล่และประหารพวกอสูรหรือฤๅษีซึ่งทำความมืดมัวให้แก่โลก โดยบำเพ็ญตะบะทำให้เกิดความเดือดร้อน พระอินทร์ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธเรียกวชิราวุธหรือใช้นางเทพอัปสรไปยั่วยวนทำลายตะบะนี้ เมื่อพระอินทร์ล้างผลาญอสูร หรือฤๅษีตนใดแล้ว ก็ให้ฝนตกลงมา โดยเหตุที่พระอินทร์มีหน้าที่คอยให้ความสว่าง หรือความชุ่มชื่นเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นงานสำคัญของคนสมัยโบราณดังนี้ ต่อมาพระอินทร์จึงได้เป็นใหญ่เหนือเทวดาอื่นทั้งหมด และคำว่า “อินทร์” นอกจากจะหมายถึงพระอินทร์แล้ว ก็ยังแปลว่าเป็นใหญ่ได้ด้วย
อันที่จริงเรื่องของพระอินทร์ โดยทั่วๆไปแล้ว เป็นที่คุ้นหูของคนไทยมาแต่สมัยโบราณ เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระอินทร์นั้นเป็นเทพเจ้าที่ประพฤติธรรมจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก และมีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทอันเป็นคัมภีร์สำคัญในทางพุทธศาสนา ชาดกต่างๆ อันเป็นนิทานแต่ครั้งพุทธกาล และวรรณคดีที่แต่งโดยอาศัยเค้าเรื่องจากชาดก จึงมักหลีกเรื่องพระอินทร์ไม่พ้น นิทานเก่าๆ ที่เล่ากันในพื้นเมืองของไทย ที่เรียกกันว่าปัญญาสชาดก และได้รับอิทธิพลจากชาดกทางพุทธศาสนา ก็มีเรื่องพระอินทร์เล่าอยู่มากเช่นเดียวกัน พระอินทร์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยมักจะทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก และเป็นผู้บำบัดทุกข์ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงเล่าว่า พระอินทร์รู้ทุกข์ในโลกได้โดยอาศัยการสังเกตแท่นบัณฑุกัมพล ถ้าแท่นแข็งก็แสดงว่าเกิดเหตุร้าย ในอรรถกถาธรรมบทเล่าถึงพระอินทร์ว่าเป็นเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลายจึงได้นามว่าเทวราชหรืออมรินทราธิราช พระอินทร์ในพระพุทธศาสนาไม่เป็นตำแหน่งประจำอยู่ตลอดไปเหมือนพระอินทร์ตามลัทธิพราหมณ์ ใครทำบุญบารมีไว้ก็ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ และถ้าตายก็ต้องจุติ และมีคนใหม่ไปเป็นพระอินทร์แทน ทิพสมบัติทั้งหลายของพระอินทร์องค์เก่า รวมทั้งชายาก็ต้องดับสลายไป พระอินทร์องค์ใหม่ก็ต้องเนรมิตทิพสมบัติขึ้นใหม่ เมืองของพระอินทร์ชื่อว่าสุทัสสนครซึ่งมีความงดงามมาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้มีเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติหลายเรื่อง เช่น เรื่องพระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเมาลีของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมน์ และพระพุทธองค์นิพพานแล้ว ก็ได้เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วองค์ขวาด้วย หรือเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ นอกจากจะได้ทราบเรื่องพระอินทร์แล้วยังจะได้ทราบเรื่องสวรรค์อีกด้วย เรื่องสวรรค์เป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาฝังใจมาก คือ สวรรค์ชั้นอื่นๆ ดูเหมือนจะไม่เป็นที่สนใจเท่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ ย่อมได้กำไรในการดึงดูดความสนใจอยู่ชั้นหนึ่งก่อนแล้ว ด้วยการเลือกหัวเรื่องซึ่งใครก็พอใจจะทราบอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเรื่องสวรรค์ของพระอินทร์นี้จะมีเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทบ้าง ก็ไม่มีลักษณะเป็นวรรณคดี ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงแม้จะมีเล่าไว้ละเอียดก็เป็นความเรียง
ความงามของสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เริ่มพรรณนาโดยชี้ให้เห็นลักษณะการตั้งอยู่ของสรวงสวรรค์ว่าลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้า ด้วยการ “เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา” อันหมายถึงสรวงสวรรค์นั้นวางอยู่บนยอดหมู่เขาพระสุเมรุที่เรียงรายอยู่ถึงแสนลูกด้วยกัน ส่วนปราสาทเวชยันต์ที่สถิตของพระอินทร์นั้นเป็นปราสาท ๗ ชั้น พรรณนาไว้สวยงามมาก และนอกจากนี้ยังมีหมู่ไม้กัลปพฤกษ์ หมู่ตาลทอง โดยพรรณนาข้อความตอนนี้ว่า “หนึ่งแถวไม้กำมพฤกษ์ที่นึกทิพ จะนับแสนแทนสิบก็เกินถวิล มีทรายทองรองรับเป็นพื้นดิน ประพรมสินธุเสาวรสจรุงใจ กำแพงแก้วล้วนแก้วทั้งเจ็ดชั้น ตาลสุวรรณรุ่นรื่นเรียงไสว เมื่อลมพัดก็สะบัดสำเนียงใบ เฉลิมโสตหฤทัยดังดนตรี” แล้วพรรณาถึงโรงเทวสภา ที่ประชุมเทวดาซึ่งสูง “ห้าร้อยโยชน์สุดบราลี ท่วงทีเทิ่งท้องทิฆัมพร”
พรรณนาถึงท้องพระลานทอง ตอนหนึ่งว่า
“ชานชาลาหน้าหลังพระลานมาศ | ศิลาลาดแลคว้างเล่ห์ทางสินธุ์ |
อ่อนละไมใยทิพย์โกมิน | มลทินมิได้สุมอยู่รุมราย |
มีลมหนึ่งหอบหวนประมวลพัด | ระบัดดวงปทุมามากรองถวาย |
เป็นสิงหราชผาดเผ่นผยองกาย | คชาส่ายงารำสำเริงเริง” |
พรรณนาถึงพระเจดีย์จุฬามณี ตอนหนึ่งว่า
“ประดับด้วยราชวัติฉัตรแก้ว | พรายแพร้วลายทรงบรรจงสรรค์ |
ระบายห้อยพลอยนิลสุวรรณพรรณ | เจ็ดชั้นเรียงรัดสันทัดงาม |
ดั่งฉัตรเศวตพรหมเมศร์ครรไลหงส์ | เมื่อกั้นทรงพุทธาภิเษกสนาม |
ยิ่งดวงจันทร์พันแสงสมัยยาม | อร่ามทองแกมแก้วอลงกรณ์” |
พรรณนาถึงไม้ปาริกชาติ ตอนหนึ่งว่า
“มีพระยาไม้ปาริกชาติ | ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์ |
สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้หิมวันต์ | ทรงสุคันธ์ทิพรสขจายจร” |
ส่วนแท่นทิพอาสน์นั้น ก็มีพรรณนาไว้ว่า
“บัณฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพ | กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา |
กว้างสองหมื่นโยชน์เจษฎา | เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ |
ยาวหกหมื่นโยชน์แดงก่ำ | ดั่งน้ำปัทมราชอันสุกใส |
เจริญสวัสดิ์โสมนัสแก่หัสนัยน์ | ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี” |
นอกจากนี้ยังมีพรรณนาถึงสระโบกขรณี ซึ่ง “กว้างยาวร้อยโยชน์จตุรัส ให้โสมนัสในท่าสินธุสนาน แม้นจิตว่าจะลงไปสรงธาร ก็บันดาลพุ่งฟุ้งมายังองค์” และมีบรรยายความงามออกไปอีกมาก ส่วนอุทยานนันทวันนั้น ก็มีไม้ดอกไม้ผลเหลือจะคณานับ รวมความว่าแต่ละตอนที่พรรณนา ทำให้เกิดภาพพจน์ที่งดงามสุดจะบรรยาย ทำให้เห็นว่าท่านผู้ประพันธ์นั้นนอกจากจะบรรยายไปตามรายละเอียดที่มีอยู่ในอรรถกถาธรรมบทของเดิมแล้ว ก็อาจจะได้ความประทับใจ จากความงดงามของสวนที่นิยมตกแต่งกันอยู่ในขณะนั้น เช่นในเขตพระราชฐานหรือตามบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นต้น ความงามของสรวงสวรรค์ของพระอินทร์ที่ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) นิพนธ์นี้ ใจความคล้ายคลึงกับในไตรภูมิพระร่วง เพราะเอาเค้าความมาจากอรรถกถาธรรมบทเหมือนกัน ต่างแต่ในไตรภูมิพระร่วงเป็นความเรียง จึงรู้สึกว่าจะด้อยในรสของถ้อยคำไปสักหน่อย
ต่อจากเรื่องพรรณนาความงามของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เริ่มเรื่องของพระอินทร์ ตอนตามนางสุชาดา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ในอรรถกถาธรรมบทเล่าเรื่องนางสุชาดาไว้ว่า นางนั้นเคยเป็นชายาเอกของพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ได้มาครองดาวดึงส์ นางไม่ได้กลับชาติมาเกิดเป็นชายาของพระอินทร์อีกเช่นเดียวกับชายาอื่นๆ คือนางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุธรรมา เพราะนางประกอบกรรม จึงต้องไปเกิดเป็นพระราชธิดาของอสูร ชื่อท้าวเวปจิตตา ต่อมาพระบิดาได้ประกอบพิธีสยุมพรนาง และเชิญอสูรหนุ่มๆ มาให้นางเลือกคู่ พระอินทร์จึงแปลงมาในงานนี้ นางก็เกิดความรักและตามพระอินทร์มา จึงได้กลับมาเป็นชายาเอกของพระอินทร์อย่างเดิม เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้นำเรื่องนี้มาเรียบเรียงเป็นนิทานคำกลอนโดยสมบูรณ์ มีตอนที่ไพเราะอยู่หลายตอน เช่น ตอนพระอินทร์คืนนคร และอุ้มนางสุชาดาและชี้ให้ชมแม่น้ำสีทันดร ตอนชมเขาอัสกรรณและตอนชมเขาอิสินธร เป็นต้น แต่ละตอนที่กล่าวนี้ล้วนเรียบเรียงอย่างประณีต ใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ ดังนั้น เมื่อรวมกับความงามตอนที่ท่านผู้ประพันธ์ได้บรรยายถึงสรวงสวรรค์ของพระอินทร์ข้างต้นแล้ว ความงามทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องส่งเสริมให้บทประพันธ์อันมีปริมาณน้อย และไม่ใคร่จะแพร่หลายเรื่องนี้ เป็นประหนึ่งเพชรที่จมอยู่ในตมอย่างแท้จริง