คำนำ

๑. เรื่องกากีกลอนสุภาพ เป็นวรรณคดีสำคัญ ที่มีผู้รู้จักแพร่หลายแต่หาฉบับอ่านได้ยาก แต่ก่อนชอบใช้ร้องมโหรีกันแพร่หลาย เดิมกรมศิลปากรได้ให้จัดพิมพ์เฉพาะบางตอนรวมอยู่ในหนังสือประชุมบทมโหรี ชื่อว่า บทมโหรีเรื่องกากี และฉบับได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมแก่การที่จะขับร้องเข้าทำนองต่างๆ ต่อมากรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่าเรื่องกากีเป็นวรรณคดีสำคัญที่มีอรรถรสไพเราะ ควรชำระและจัดพิมพ์ให้มีฉบับอ่านกันแพร่หลาย จึงได้มอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์เปรียญ ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย ตรวจสอบชำระวรรณคดีเรื่องนี้กับฉบับสมุดไทยที่เก็บรักษไว้ ณ กองหอสมุดแห่งชาติ แล้วให้คัดพิมพ์ไว้ตั้งแต่ต้นจนถึงลอยแพกากีในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ต่อมาได้อนุญาตให้ผู้ที่สนใจจัดพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่หกนับตั้งแต่ได้ชำระในปี พ.ศ. ๒๕๐๓

๒. เรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอน จัดเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียบเรียงขึ้นด้วยความประณีต เนื้อเรื่องพรรณนาความงดงามของปราสาทราชวังและทิพยสมบัติของพระอินทร์ อย่างละเอียดลออ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ ได้ตรวจสอบชำระ และนางสาวพวงทอง สิริสาลี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเรียบเรียง กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้เขียนคำอธิบายชี้แจงไว้ในตอนต้นเรื่องแล้ว

๓. เรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี เมื่อยังดำรงตำแหน่งหลวงสรวิชิต โดยนำนิทานในเรื่องเวตาลปกรณัมมาเป็นเค้าเรื่อง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าชายสภางค์นิพัทธพงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ครั้งที่สองในหนังสือวชิรญาณในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ต่อมาได้มีผู้สนใจขออนุญาตจัดพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่เจ็ด

๔. ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จพยุหยาตราในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งกระบวนเรือ กระบวนช้าง กระบวนม้า ตอนท้ายเรื่องมีจารึกให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) นิพนธ์ขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) นับเป็นวรรณคดีที่ให้ความรู้ในทางโบราณคดีเกี่ยวกับโบราณราชประเพณีที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวงนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก โดยกระแสรับสั่งพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และมีผู้กล่าวว่าโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรได้พิมพ์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ แต่ไม่ปรากฏในบัญชีหอสมุดแห่งชาติ ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ห้า

๕. เรื่องลิลิตศรีวิชัยชาดก เป็นวรรณคดีเก่าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) นิพนธ์ขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทราบว่าได้เคยตีพิมพ์มาแล้วสองครั้ง แต่ไม่ปรากฏโอกาสที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่สามในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมาสำนักพิมพ์คลังวิทยาได้ขออนุญาตจัดรวมพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ห้า

๖. เรื่องอิเหนาคำฉันท์ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เริ่มแต่งเมื่อวันเดือนใดไม่ปรากฏ แต่มีคำฉันท์บอกไว้ตอนท้ายเรื่องให้ทราบว่า แต่งเสร็จเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๒๓๒๒ ซึ่งเป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี เนื้อเรื่องแต่งตามความในบทละครเรื่องอิเหนา พระนิพนธ์เจ้าฟ้ามงกุฎ จับตอนตั้งแต่อิเหนาเผาเมืองดาหาแล้วปลอมเป็นจรกาลักพาบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ จนถึงอิเหนากลับไปแก้ความสงสัยที่กรุงดาหา เรื่องอิเหนาคำฉันท์นี้ได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ปีที่ ๒๐ ตอนที่ ๗๘ เล่ม ๕ หน้า ๓๓๘ – ๓๗๖ ครั้งที่สอง สำนักพิมพ์คลังวิทยา ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือวรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้มอบให้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ ตรวจสอบชำระอิเหนาคำฉันท์ กับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ กองหอสมุดแห่งชาติ พร้อมทั้งทำเชิงออรถอธิบายในที่บางแห่ง และได้แนะนำให้เจ้าภาพในงานฌาปนกิจศพ นางเง็กเน้ย พิพิธสมบัติ จัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ การพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่

๗. เรื่องกลอนจารึกเรื่องสร้างภูเขาวัดราชคฤห์ มีจารึกไว้ท้ายเรื่องว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔ หอพระสมุดฯ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่สี่

ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งนางพัฒนี สุทธิวรรณ วิทยากรโท กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้น มาพิมพ์ไว้ในตอนต้นเรื่อง

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือวรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งสำนักพิมพ์คลังวิทยาได้จัดพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ครั้งนี้ คงเป็นที่พอใจของบรรดา นิสิต นักศึกษา ประชาชน และท่านผู้สนใจในวรรณคดีทั่วกัน.

กรมศิลปากร

๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ