องก์ที่ ๓
ฉาก: ลานหน้าอาศรมของพระกาละทรรศิน
[คือฉากเดียวกันกับตอนที่ ๓ แห่งองก์ที่ ๒ นั้นเอง, แต่หนังกวางที่ปูบนแท่นศิลาใต้ต้นไม้นั้นเก็บไปเสีย; และสมมตว่าเปนเวลากลางคืน, มีแสงเดือนหงายแจ่มอย่างในวันเพ็ญ.]
(ท้าวชัยเสนออกทางหลืบซ้าย.)
[อินทะวิเชียร, ๑๑.]
ชัยเสน. | โอ้โอ๋กระไรเลย | บมิเคยณก่อนกาล! |
พอเห็นก็ทราบส้าน | ฤดิรักบหักหาย. | |
ยิ่งยลวะนิดา | ละก็ยิ่งจะร้อนคล้าย | |
เพลิงรุมประชุมภาย | ณอุราบลาลด. | |
พิศไหนบมีทราม, | วะธุงามสง่าหมด, | |
จนสุดจะหาพจน์ | สรเสริญเสมอใจ. | |
องค์วิศฺวะกรรมัน | นะสิปั้นวะธูไซร้ | |
พอเสร็จก็เทพไท | พิศะรูปสุรางค์เพลิน; | |
ยืนเพ่งและนั่งพิศ | วรพักตร์บหมางเมิน, | |
งามใดบงามเกิน | มะทะนาณโลกสาม: | |
แลวิศฺวะกรรมัน | ผิจะปั้นวะธูตาม | |
แบบอีกก็ไม่งาม | ดุจะโฉมอนงค์นี้: | |
เหตุนี้สินงคราญ | ณสถานพิภพตรี | |
จึ่งไม่ประสพที่ | สิริรูปะเทียมทัน. | |
งามเกินมนุษจริง | กละหญิงนิมิตร์ฝัน, | |
จนแรกประสพนั้น | ดนุจวนจะปลุกตัว, | |
นึกว่าสนิธนิทร์ | นยนาก็แน่วนัว, | |
แต่นึกก็ออกกลัว | จะผวาและไม่เห็น. | |
ครั้นเมื่อสดับศัพ- | ทะสำเนียงก็เยือกเย็น | |
ราวดื่มอุทกเพ็ญ | รสะรื่นระรวยใจ; | |
เสียงเจ้าสิเพรากว่า | ดุริยางคะดีดใน | |
ฟากฟ้าสุราลัย | สุรศัพทะเริงรมย์. | |
ยามเดิรบเขินขัด, | กละนัจจะน่าชม; | |
กรายกรก็เร้ารม- | ยะประหนึ่งระบำสรวย; | |
ยามนั่งก็นั่งเรียบ | และระเบียบบเขินขวย, | |
แขนอ่อนฤเปรียบด้วย | ธนุก่งกระชับไว้. | |
พิศโฉมและฟังเสียง | ละก็เพียงจะฃาดใจ, | |
โอ้นอนจะหลับไหล | ฤฉนี้นะอกเอ๋ย! | |
ขืนนอนก็ร้อนเร่า | ฤดีเฝ้าคะนึงเชย, | |
หากขืนจะนอนเฉย | อุระอาจจะพังภิน. | |
จำมาณที่นี้ | เพราะว่ะใกล้สุนาริน; | |
โอ้เราบสมจิน- | ตะนะได้ฤฉันใด? | |
ช้าก่อน!ดนูเห็น | ณประตูสิรำไร | |
ดังหนึ่งจะมีใคร | จระจากพระอาศรม. | |
อ้าขอถวายอัญ- | ชลิองค์สุโรดม, | |
ขอให้ดนูชม | วธุเลิดเถอะสักที! |
(ท้าวชัยเสนเลี่ยงเข้าไปแฝงอยู่หลังกอไม้ข้างซ้าย. มัทนาเดิรออกมาจากอาศรมและมายืนพิงเสาระเบียง, มองดูดวงเดือน.)
[อินทวงส์, ๑๒.]
มัทนา. | โอ้ว่าอนาถใจ | ละไฉนนะเปนฉนี้? |
แต่ไรก็ไม่มี | มะนะนึกระเหระหน; | |
ไม่เคยจะเชื่อว่า | รตินั้นจะสัประดน | |
มาสู่ณใจตน | และจะต้องระทมระทวย. | |
เมื่อก่อนสิชายรัก | ก็มิพักจะเออจะอวย, | |
อวดดีและอวดด้วย | บมิเคยจะลุ่มจะหลง; | |
ทั้งเคยเยาะเย้ยหยัน | นระผู้พะว้าพะวง, | |
ว่าเฃานะเขลาคง | จะบพ้นระอิดระอา. | |
เคยว่าบุรุษกล่าว | วจะลวงยุพาและพา | |
ไปร่วมสิเนหา | บมิช้าก็ทอดก็ทิ้ง, | |
ดังนั้นสิแม้ชาย | อภิปรายและอ้อยและอิ่ง | |
เราจึ่งมิสุงสิง | และบรักสมัคสมาน. | |
ครานี้สิพบชาย | วรรูปวิเศษวิศาล, | |
ใจวาบและหวามปาน | ฤดินั้นจะโลดจะลอย! | |
เธอนั้นฤเจียมตัว | กิริยาก็เรียบก็ร้อย, | |
ไม่มีละสักน้อย | จะแสดงณท่วงณที | |
ว่าเธอประสงค์จะ | อภิรมย์ฤดีระตี, | |
เปนแต่ชำเลืองที่ | ดนุบ้างณครั้งณคราว; | |
คราใดประสพเนตร์ | ฤก็เราละร้อนและหนาว, | |
เธอไกลก็ดูราว | นภะไร้ตวันและเดือน. | |
โอ้ว่าณครานี้ | แหละฤดีจะฟั่นจะเฟือน, | |
ด้วยรักกระทำเชือน | ละฉนี้จะทำไฉน? |
[สาลินี, ๑๑.]
ชัยเสน. | (พูดปรารภ.) | |
ฟังคําที่หล่อนบ่น | ก็กะมลบ่มั่นได้ | |
ว่าคำที่พูดไซร้ | วธุม่งณตัวเรา; | |
หากเรานี้หาญตอบ | ผิวะขัดฤดีเจ้า | |
โฉมยงคงรีบเฃ้า | ณพระบรรณะศาลา. | |
คอยฟังเผื่อพูดอีก | เถอะนะเห็นจะดีกว่า, | |
เพียงฟังเจ้าแก้วตา | ก็ระรื่นระเริงใจ! | |
มัทนา. | (ยังไม่เห็นท้าวชัยเสน, พูดคนเดียว.) | |
โอ้นึกขึ้นมาเเล้ว | ละก็แทบจะร้องไห้, | |
พอหมดคืนนี้ไซร้ | ก็จะชวดละโอกาส. | |
เออทำฉันใดดี | นะจะให้พระทรงราชย์, | |
อยู่ต่อไม่ลีลาศ | จระจากณที่นี้? | |
หากว่าไม่ได้เปน | ยุวะพรหมะจารี, | |
คงกล้าแลพาที | พจะทูลพระภูธร, | |
ให้คงแรมอยู่อีก | ณประเทศะนี้ก่อน; | |
แลหากว่าทูลวอน | พระก็อาจะเดารู้ | |
ว่าเรานี่ภักดี | และก็คงจะเอ็นดู; | |
ตัวเราจักได้อยู่ | ปฏิบัติพระบาทา. | |
โอ้อยากให้ท่านรู้ | ณฤดีดนูนา! | |
อยู่ก่อนเถิดราชา! | ||
ชัยเสน. | (พูดตอบคำของมัทนา.) | ดนุเองก็เต็มใจ! |
อยากอยู่เพื่อชมโฉม | ยุวะดีมณีมัย | |
ผู้เปนเจ้าของใจ. | ||
มัทนา. | เอ๊ะ! ก็ใครนะพาที | |
มาจากในที่มืด | มละแฝงณแห่งนี้? | |
ชัยเสน. | ฃ้าเองซึ่งหล่อนมี | มะนะมุ่งจะให้ยั้ง. |
(เดิรออกจากที่แฝงมายืนหน้าอาศรม.)
มัทนา. | อ้าจอมมงกุฎเกล้า! | ก็กระไรพระมาบัง |
พุ่มไม้แลทรงฟัง | วะจะของกระหม่อมฉัน, | |
ผู้บ่นดังคนเพ้อ | และมะเมอประหนึ่งฝัน, | |
ไม่ควรสมเด็จธรร- | มิกะราชจะทรงยิน. | |
ชัยเสน. | ยินเเล้วฃ้าชื่นจิต | ดุจะหล่อนและให้กิน |
น้ำทิพย์ที่ควรจิน- | ตะนะแท้นะนงคราญ. | |
มัทนา. | หากว่าหม่อมฉันทราบ | พระเสด็จณน่าศาล, |
ปากคงไม่อาจหาญ | เพราะก็ย่อมจะมีอาย; | |
อันหญิงย่อมไม่อยาก | จะกระทำประดุจฃาย | |
ความรักให้แก่ชาย | เพราะว่ะเกรงจะดูแคลน. | |
อันชื่อของหม่อมฉัน | ฤก็สุดจะหวงแหน; | |
เกลียดหญิงที่แปร๋แปร้น | กละชวนบุรุษชม. | |
ครานี้พันเอินองค์ | อธิราชนะโรดม | |
ทรงยินคำปรารม- | ภะเเละบ่นณราตรี, | |
คงทรงนึกอยู่ว่า | ดนุทรามและสิ้นดี, | |
ราวนางโสเภณี | บมิเขินมิขวยใจ, | |
แล้วคงทรงดูถูก | ดนุนี้ละยิ่งใหญ่ | |
ว่าเปนผู้หญิงไร้ | คุณะธรรมะอันควร. | |
หม่อมฉันขอทูลลา | นรนาถบดีศวร, | |
ยิ่งอยู่คงยิ่งกวน | วรบาทพระภูธร. |
[อุปัฏิตา, ๑๑.]
ชัยเสน. | อ้าโฉมมะทะนา | บริสุทธิบังอร, |
ฃ้าฤๅจะติหล่อน | เพราะสดับวะจีหวาน? | |
ชื่นจิตตะสดับ | มธุรสฤดีบาน, | |
ทราบว่ายุวะมาลย์ | กรุณาณฃ้านี้. | |
พอเห็นวรพักตร์ | วนิดาวะรางคี, | |
บัดนั้นฤก็มี | ฤดิท่วมสิเนหา; | |
เหมือนโฉมดะรุณี | นะแหละยื่นสุหัดถ์มา | |
ล้วงใจดนุคร่าห์ | และกระลึงหทัยไว้; | |
แต่นั้นก็อนงค์ | นะสิยังบคืนให้, | |
กำดวงฤดิใน | วรหัดถะแน่นครัน! | |
หากนางบมิชอบ | และจะคืนหะทัยนั้น, | |
ฃ้านี้ก็จะศัล- | ยะพิลาปพิไรวอน | |
ขอให้วนิดา | กรุณาดะนูก่อน, | |
อย่าเพ่อสละรอน | ระติราญสุไมตรี. | |
ถึงหล่อนจะมิรัก | ก็จะขอกะโฉมศรี | |
ให้ยอมดนุมี | ฤดิรักพะธูไป, | |
จนกว่าจะประจัก- | ษะณจิตตะหล่อนไซร้ | |
แล้วยกฤดิให้ | ดนุผู้พยายาม. | |
อ้าโฉมมะทะนา | ผิวะหล่อนจะยอมตาม | |
ใจพี่ละก็ความ | สุขะพี่จะพูนพี; | |
แต่หากมะทะนา | บมิรักก็พี่นี้ | |
เหมือนตกอะวิจี | ทุขะท่วมบรู้วาย. |
[ภุชงคัปปะยาตร์, ๑๒.]
มัทนา. | กระหม่อมฉันสดับคำ | ดำรัสแห่งพระฦๅสาย, |
ประณตนอบระยอบกาย | และกราบแทบพระบาทา. | |
ก็รสใดจะหวานแม้น | สุรสแห่งพระวาจา, | |
กระแสร์ทราบณทรวงฃ้า | พระบาทปลื้มบลืมรส, | |
และรู้สึกพระการุณ- | ยะภาพแห่งพระทรงยศ, | |
จะฝังใจบได้ลด | ฤลืมจนณวันมรณ์. | |
ก็แต่ว่ากระหม่อมฉัน | ฤเปนชาวพะนาดร, | |
จะเทียบชาวนครค่อน | จะเสียเปรียบบ่ควรหวัง; | |
สนมนางกำนัลใน | สถิตแทบณเวียงวัง, | |
ฉวีนวลสะกาวปลั่ง | ประดับแก้ววราภา, | |
และรู้จักบำเรอครบ | ประจบองค์พระราชา, | |
กระหม่อมฉันสิชาวป่า | จะสู้เฃาบได้แท้. | |
ชัยเสน. | อ๊ะ! จริงๆ นะแก้วตา | ดนูนี้บอยากแล |
ฤเชยนาริอื่นเเม้ | กนิษฐาประนอมรัก; | |
เพราะนารีณวังใน | บมีใครจะงามพักตร์ | |
ฤงามรูปวิไลยลักษณ์ | เสมอเจ้าบพึงมี. | |
คณานางสนมเปรียบ | ประหนึ่งกาและถ่อยที, | |
วธูยอดฤดีพี่ | ประหนึ่งหงส์สุพรรณ์พรรณ: | |
ก็พี่นี้สิเคยชม | วิหคหงสะเลอสรร | |
จะกลับชมอิกานั้น | บได้แล้วนะแก้วตา! | |
มัทนา. | กระหม่อมฉันก็เคยทราบ | สุภาษิตบุราณว่า |
บุรุษยามสิเนหา | ก็พูดได้ละหลายลิ้น, | |
ประจบนางและพลางกอด | พนอพลอดและปลอดปลิ้น, | |
และหลอกเยาวะนาริน. | ||
ชัยเสน. | ผิลิ้นพี่จะมีหลาย, | |
ก็ทุกลิ้นจะรุมกล่าว | แสดงรักณโฉมฉาย, | |
และทุกลิ้นจะเปรยปราย | ประกาศถ้อยปะฏิญญา | |
พะจีว่าจะรักยืด | บจางจืดสิเนหา; | |
สบถให้ละต่อหน้า | พระจันทร์แจ่มณเวหน. | |
มัทนา. | พระกล่าวอ้างพระจันทร์นี้ | ชรอยทีมิชอบกล |
ชัยเสน. | เพราะเหตุใดละหน้ามน? | |
มัทนา. | เพราะเดือนนั้นมิมั่นคง. | |
ณฃ้างขึ้นสิหงายแจ่ม | กระจ่างสดและกลดทรง, | |
ณข้างแรมบเห็นองค์ | พระจันทร์เจ้าณราตรี! | |
ชัยเสน. | ฉนั้นขอสบถต่อ | สุดาราจำรัสศรี |
วะแวววับระยับที่ | นะภากาศพะแพรวพราย. | |
มัทนา. | ก็เห็นว่ามิชอบกล | ละอีกแล้วพระฦๅสาย, |
เพราะเมื่อใดพระจันทร์ฉาย | ก็ขับดาวละลายไป. | |
ชัยเสน. | ฉนั้นเจ้าจะให้พี่ | สบถโดยสุเทพใด? |
มัทนา. | ก็หากทรงประทานให้ | กระหม่อมฉันนะเลือกสรร, |
จะขอให้พระสาบาล | ณองค์เทวะเทวัน | |
พระองค์ใดก็ไม่มั่น | ฤดีเท่าพระจอมเกศ; | |
พระองค์ทูลกระหม่อมแก้ว | ก็สมมตสุเทเวศร์, | |
ฉนั้นแม้พระทรงเดช | ดำรัสคำปฏิญญา, | |
กระหม่อมฉันก็จงรัก | และภักดีและเปนฃ้า | |
ไฉนเล่าจะสงกา? | ||
ชัยเสน. | ฉนั้นพี่ก็ยินดี! |
(ท้าวชัยเสนไปจูงมือมัทนาจากระเบียงและจูงมากลางเวที.)
[โตฎก, ๑๒.]
มะทะนาดนุรัก | วรยอดยุพะดี, | |
และจะรักบมิมี | ฤดิหน่ายฤระอา; | |
ผิวะอายุจะยืน | ศะตะพรรษะฤกว่า | |
ก็จะรักมะทะนา | บมิหย่อนฤดิหรรษ์; | |
นยะนาก็จะชม | วธุต่างมะณิพรรณ, | |
และจะสูดสุวะคันธ์ | ระสะต่างสุผะกา; | |
ผิวะตื่นก็จะดู | ยุวะดีสิริมา, | |
ผิวะหลับฤก็ฃ้า | จะสุบินฤดิเพลิน: | |
ทิวะราตริจะนอน, | ฤจะนั่งฤจะเดิร, | |
บมิมีละจะเหิน | ฤจะห่างมะทะนา; | |
บมิเห็นวรพักตร์ | ก็จะหนักอุระว้า, | |
ขณะเคียงพะนิดา | ก็ระรื่นฤดิศานต์. | |
ผิวะเจ้าก็สมัค | และจะรักดนุนาน, | |
จระสู่อุทะธาร | เถอะนะเราก็จะวัก | |
อุทะกล่าวสุประทาน | เฉพาะเทพสุรศักดิ์, | |
และฉนั้นละก็จัก | ดุจะหมั้นจะวิวาห์. | |
มัทนา. | ผิพระโปรดละก็ข้อย | บมิขัดวะจะนา, |
และจะตามพระลิลา | จระทั่วปะฐะพี. |
(บัดนี้สมมตว่าเริ่มจะรุ่ง, ฉนั้นให้มีแสงแดงขึ้นที่ท้องฟ้า, แล้วคอยเปิดไฟขาวมากขึ้นทีละน้อยๆ ระหว่างเวลาที่สองคนพูดกันต่อไปนี้.)
[อีทิสะ, ๒๐.]
ชัยเสน. | อ้าอะรุณแอร่มระเรื่อรุจี | |
ประดุจมโนภิรมย์ระตี ณแรกรัก! | ||
แสงอะรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์ | ||
แฉล้มเฉลาและโศภินัก นะฉันใด, | ||
หญิงและชายณะยามระตีอุทัย | ||
สว่างณกลางกะมลละไม ก็ฉันนั้น; | ||
แสงอุษาสะกาวพะพราวณสรรค์ | ||
ก็เหมือนระตีวิสุทธิอัน สว่างจิต! | ||
อ้าอนงคะเชอญดำเนิรสนิธ | ||
ณฃ้างดะนูประดุจสุมิตร์ มโนมาน, | ||
ไปกระทั่งณฝั่งอุทกอะจีระธาร | ||
และเปล่งพะจีณสัจจะการ ประกาศหมั้น, | ||
ต่อพระพักตร์สุราภิรักษะอัน | ||
เสด็จสถิตณเฃตอะรัณ- ยะนี่ไซร้, | ||
ว่าดะนูและน้องจะเคียงคระไล | ||
และครองตลอดณอายุขัย บ่คลาดคลา! | ||
มัทนา. | สูรฺยะส่องสว่างณกลางนะภา | |
ก็พลอยสว่างณภูมิหล้า แหละฉันใด, | ||
อันพระโปรดก็จิตตะฃ้าก็ได้ | ||
สว่างกระจ่างและสดและใส ณบัดนี้! | ||
ฃ้าพระบาทจะสุขสราญฤดี | ||
ก็ย่อมจะโดยพระบาระมี ธปกเกล้า: | ||
พึ่งพระคุณกะรุณฺยะค่ำและเช้า | ||
จะปราศะโศกบมีเศร้า ฤทุกขํ; | ||
ใจจะอิ่มจะเอมเพราะเปรมปฺริยํ, | ||
และรื่นณรสระตีจิรํ ระรวยใจ. | ||
ทูลกระหม่อมเสด็จณเทศะใด | ||
ก็ฃ้าพระบาทจะตามธไป พระเจ้าฃ้า! |
(ท้าวชัยเสนกับมัทนาจูงมือกันเดิรเข้าโรงทางหลืบซ้าย.)
(บัดนี้สว่างแจ้งแล้ว. เวทีว่างอยู่สักครู่ ๑. เสียงไก่ขันและนกร้องในโรง. แล้วมีพวกบริวารของพระกาละทรรศินออกมากวาดลานหน้าอาศรม, ศุนเปนผู้กำกับพวกทำงาน. อีกสักครู่ ๑. นาคจึ่งออกจากทางหลืบขวา, หน้าตาตื่น.)
นาค. | มันเกิดเรื่องพิกลเสียแล้วละเพื่อน. | |
ศุน. | พิกลอะไร? | |
นาค. | ต้นนั่นน่ะ. | |
ศุน. | ต้นนั่นอะไร? พูดให้เหมือนคนหน่อยไม่ได้เทียวหรือ? | |
นาค. | ต้นไม้วิเศษของท่านอาจารย์อย่างไรล่ะ. | |
ศุน. | กุพชะกะ! ฃ้าเพียรท่องชื่อเสียเปนนานจึ่งจำได้. แล้วก็มันเปนอะไรไปล่ะ? | |
นาค. | หายไปแล้ว! | |
ศุน. | บัดซบ! ก็วันเพ็ญต้นนั่นกลายเปนนางนี่เพื่อน. | |
นาค. | แกสิบัดซบ! เมื่อวานนี้ต่างหากวันเพ็ญ. วันนี้แรมค่ำ ๑. | |
ศุน. | เออ, จริงแฮะ! นางควรจะกลับเปนต้นไม้อีกแล้ว. | |
นาค. | ก็นั่นสิ; แต่เดี๋ยวนี้ต้นไม้ไม่ได้อยู่ตามที่เคยอยู่. | |
ศุน. | ฃ้าว่าแล้วไหมล่ะว่าต้นไม้นี่มันเปนต้นไม้ผี. ถ้าเปิดกลับไปอยู่ป่าเสียอีกละก็จะทำความลำบากกับพวกเราอีกละนะ. | |
นาค. | จริง! ฃ้าก็ต้องถูกขนาบแย่เท่านั้น. | |
ศุน. | แน่ละ! แก่มันเปนน่าที่บำรุงรักษาต้นไม้นั้นอยู่ด้วย. | |
นาค. | จะทำอย่างไรกันดีล่ะเรา? | |
ศุน. | อย่ามาลากเอาฃ้าเข้าไปด้วยเลย. ฃ้าไม่ขอแบ่งโทษของแกดอก, เชื่อเถอะ. | |
นาค. | เอาเถอะ, โทษทัณฑ์ฃ้ารับคนเดียวก็ได้, ขอแต่ให้ช่วยออกความคิดหน่อยเถอะ. | |
ศุน. | เปิด! | |
นาค. | เปิดอะไร? | |
ศุน. | เปิดหนีน่ะสิ! | |
นาค. | หนีไปไหน? | |
ศุน. | อนิจจํอนิจจา! หนีไปไหนก็ต้องถามด้วย. ดงออกกว้างขวางจะหนีไม่พ้นเทียวหรือ? | |
นาค. | ถ้าเสือไม่กินเสียก็คงอดตายเท่านั้น. ไปคนเดียวจะเอาเสบียงอาหารไปได้พอหรือ? | |
ศุน. | คนเอ๋ยคน, เกิดมาทำไมจึ่งโง่เช่นนี้? | |
นาค. | โง่อย่างไร? | |
ศุน. | ค่ายหลวงตั้งอยู่กับแค่จมูกแกไม่เห็นหรือ? | |
นาค. | ก็แล้วก็อย่างไรล่ะ? | |
ศุน. | ก็เราเข้าไปสามิภักดิ์กับเฃาว่าจะขอตามเสด็จกลับไปกรุงด้วย, เท่านั้นก็จะสิ้นเรื่องกัน. | |
นาค. | จะสิ้นเรื่องอย่างไร? เวลานี้ก็ยังไม่มีกำหนดที่จะเสด็จกลับ, ฉนั้นถึงฃ้าจะไปสามิภักดิ์ ก็คงยังไม่ได้ไปพ้นที่นี้. | |
ศุน. | แล้วกัน! ก็แกเฃ้าไปปนๆ อยู่เสียในพวกทหารก็แล้วกัน, แล้วก็เมื่อไรได้ยินเฃาเที่ยวตามหาตัวก็แอบเสียก็ได้, ใครจะกล้าไปค้นคว้าหาแกในค่ายหลวง. | |
นาค. | ช้าก่อน! | |
ศุน. | จะช้าอยู่อีกทำไม? แกนี่วอนจะถูกทำโทษหรือ? | |
นาค. | ไม่ใช่! ฃ้านึกอะไรขึ้นมาออกอย่างหนึ่ง. ผู้คนตามเสด็จเจ้านายมามาก, บางทีจะได้มีผู้มาลักเอาต้นไม้วิเศษไปเสียละกระมัง. | |
ศุน. | เออ! ก็แล้วแกจะคิดอย่างไรล่ะ? | |
นาค. | เราต้องสืบดูเค้าเงื่อนสิ. | |
ศุน. | “เรา” อีกแล้ว! ขอเสียทีเถอะ อย่าพูดแทนคนอื่นหน่อยเลย แกเปนผู้มีน่าที่รักษาต้นไม้วิเศษ, เมื่อทำต้นไม้ของท่านหายก็เปนน่าที่ของแกที่จะสืบแสวงหาเอากลับคืนมา, หรืออย่างน้อยก็สืบให้ได้ร่องรอยว่าใครเปนผู้ร้าย. | |
นาค. | ก็จะไปสืบด้วยกันไม่ได้หรือ? | |
ศุน. | ต้องขอตัวเสียทีละเพื่อน! ฃ้ากลัวหัวแตก. | |
นาค. | ทำไมจะต้องหัวแตก? | |
ศน. | เพราะถ้าพวกทหารได้ลักเอาไปจริง, ก็คงเปนเพราะเฃาอยากได้, และถ้าเฃาอยากได้เฃาก็คงไม่อยากให้เราไปพบและเอากลับคืน. เพราะฉนั้นขืนเฃ้าไปสืบไปถามเฃาก็คงแพ่นเอากระบาลแยะ; แต่ถ้าเฃาไม่ได้ลักเอาไป และเราเฃ้าไปสืบไปถามเฃาก็คงโกรธว่าหาความร้ายใส่เฃา, แล้วก็คงแพ่นเอากระบาลแยะเหมือนกัน. | |
นาค. | ที่แกพูดนี่ก็ชอบกลอยู่. | |
ศุน. | ชอบกลสิฃ้าจึ่งได้พูด; แล้วก็เพราะเห็นว่ามีแต่ท่าทางที่จะต้องหัวแตกทั้งนั้นฃ้าจึ่งขอตัวไม่ไปกับแก. แต่อย่าวิตก, เสียแรงเราเปนเพื่อนกันมานาน, ถ้าแกถูกตีหัวแตกแล้วละก็กลับมาเถอะ, ฃ้าจะคัดเลือดให้. | |
นาค. | เมื่อไม่ไปด้วยกันก็ตามใจ, ฃ้าจะต้องรีบไปเดี๋ยวนี้. | |
ศุน. | ช้าก่อน! ไม่ต้องรีบร้อนไปฃ้างไหนละ. (ชี้ทางซ้าย.) นายทหารคนสนิธของเจ้านายกำลังเดิรมานี่แล้ว. คอยพบพูดกับท่านที่นี่ก็ได้. | |
นาค. | จริง แล้วก็บางทีถ้าท่านใจดีก็อาจจะช่วยให้ความสดวกแก่เราด้วย. | |
ศุน. | ก็เช่นนั้นน่ะสิ! แกนี่ถ้าไม่มีฃ้าคอยเปนที่ปรึกษาคงเอาตัวไม่รอด. | |
นาค. | เอาเถอะ, ฃ้าไม่อยากเถียงกับแก่เวลานี้ | |
(ศุภางค์ออกทางหลืบซ้าย ศิษย์ทั้ง ๒ ตรงเฃ้าไปไหว้.) | ||
ศุน. | ใต้เท้าขอรับ กระผมขอความกรุณาสักหน่อย. | |
ศุภางค์. | มีธุระอะไรหรือเพื่อน? | |
ศุน. | ธุระน่ะมีอยู่ขอรับ, แต่มันไม่ใช่ธุระของกระผม; มันเปนธุระของเพื่อนกระผม, ดังที่เพื่อนกระผมจะได้กราบเรียนเอง. (ดันหลังเพื่อนให้ออกไป.) | |
นาค. | กระผมมีความทุกข์ร้อนอยู่มาก, จึ่งอยากจะขอความกรุณาต่อใต้เท้า. คือว่าบัดนี้ได้เกิดเหตุ- | |
ศุน. | (แย่งพูด.) ขอรับ, เปนเหตุใหญ่, ทำให้เปนที่วิตกแก่พวกกระผมมาก, ดังเพื่อนกระผมจะได้กราบเรียนต่อไป. (กระตุ้นหลังเพื่อน.) | |
นาค. | นั่นแหละขอรับ, ตามที่ใต้เท้าได้ทราบแล้ว-เอ้อ-เอ้อ- | |
ศุภางค์. | ฉันจะทราบอย่างไรได้, เมื่อแกยังไม่ได้เล่าอะไรให้ฉันเลยจนอย่างเดียว! | |
ศุน. | กระผมต้องขอรับประทานอภัยแทนเพื่อนของกระผม. เฃาเปนคนที่ขี้ประหม่า, และพูดจาไม่ใคร่จะเปน, เพราะไม่ใคร่จะเคยพบเห็นคนสำคัญเช่นใต้เท้า. | |
ศุภางค์. | ฉันเห็นแล้วว่าแกเปนคนที่เก่งกว่าเพื่อนแกมาก; ฉนั้นแกเล่าเรื่องให้ฉันฟังก็แล้วกัน. | |
ศุน. | เรื่องก็มีอยู่สั้นนิดเดียว, ซึ่งเมื่อรวบรัดตัดความและสรูปหัวข้อแล้วก็-ก็-มีข้อสรูปดังที่เพื่อนกระผมจะได้กราบเรียนต่อไป. | |
(กระตุ้นหลังเพื่อนอีก.) | ||
ศุภางค์. | ใครจะเล่าก็เล่าเสียคนเถอะเพื่อน. มัวเกี่ยงกันอยู่เช่นนี้เสียเวลานัก. | |
นาค. | คือว่าพระอาจารย์ท่านมีต้นไม้วิเศษอยู่ต้นหนึ่ง- | |
ศุน. | ซึ่งชื่อกุพชะกะ, ตามที่ใต้เท้าได้ทราบอย่แล้ว. | |
ศุภางค์. | เปล่า, ฉันยังไม่ได้ทราบเลยว่าชื่ออย่างนั้น. แต่ก็ช่างเถอะ, เล่าต่อไป. | |
นาค. | ท่านรักต้นไม้นี้มาก, และปลูกไว้กลางสวนฃ้างอาศรม- | |
ศุน. | แต่บัดนี้ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว เพราะว่า- เอ้อ- ดังเพื่อนกระผมจะได้กราบเรียนต่อไป. | |
ศุภางค์. | ถ้าแกจะมัวแต่แย่งกันพูดอยู่เช่นนี้เห็นจะไม่มีวันได้เรื่อง, เพราะฉนั้นฉันจะขอลองสันนิษฐานเรื่องดูเอง. ต้นไม้ที่แกกล่าวถึงนี้คือต้นที่กลายเปนนางทุก ๆ วันเพ็ญใช่ไหม? | |
ศุน. | ใต้เท้ามีความปรีชาสาไถย-เอ๊ย-สามารถมาก จึ่งได้- | |
ศุภางค์. | พอที! ฉันถามตรง ๆ ขอให้ตอบตรง ๆ | |
ศุน. | ตอบตรง ๆ ก็คือว่าใต้เท้าทายถูกแล้ว. | |
ศุภางค์. | ก็แล้วอย่างไรล่ะ? | |
นาค. | แล้วก็วันนี้แรม ๑ ค่ำแล้วขอรับ, แต่- | |
ศุน. | แต่ต้นไม้นั้นไม่อยู่ที่กลางสวนตามเคย. | |
ศุภางค. | เออ, แล้วก็จะให้ฉันทำอย่างไรล่ะ? | |
นาค. | ก็สุดแท้เเต่ใต้เท้าจะโปรดกรุณาเถอะขอรับ, เพราะว่า-เอ้อ-เอ้อ- | |
ศุน. | เพราะว่าเพื่อนกระผมสงสัยว่าพวกของใต้เท้าอาจจะได้มาเอาต้นไม้นั้นไป, เท่านั้นแหละขอรับ. | |
ศุภางค. | (หัวเราะ.) ชอบกล! ฉันจะบอกอะไรให้. ฉันเองก็ออกจะสงสัยอยู่ว่า พวกของฉันผู้หนึ่งเปนต้นเหตุทำให้ต้นไม้วิเศษของแกหายไป. | |
ศุน. | ถ้าเช่นนั้นใต้เท้าคงจะกรุณาโปรดช่วยให้ได้ต้นไม้นั้นคืนมาละสิขอรับ? | |
ศุภางค์. | อ๋อ, ฉันรับรองเช่นนั้นไม่ได้ดอกเพื่อน เพราะถ้าผู้ที่ลักต้นไม้ไปนั้นเปนคนที่ฉันสงสัยละก็ ฉันไปเอาคืนมาให้แกไม่ได้ดอก!-เออ, ฉันเห็นโสมะทัตมาทางนี้แล้ว; ฉันขอพูดกับเฃาสักหน่อย. |
(โสมะทัตออกทางหลืบขวา.)
[ฉบงง,๑๖.]
โสมะทัต. | ฃ้าเคารพท่านเสนา! อันตัวท่านมา แห่งนี้ทำไมแต่ตรู่? | |
ศุภางค์. | เรามีธุระร้อนอยู่ มาหาท่านผู้ เปนศิษย์ผู้ใหญ่ที่นี้. | |
โสมะทัต. | พวกเจ้าจงหลีกไปที! เรากับเสนี มีกิจจะพูดจากัน. | |
(พวกศิษย์และบริวารเฃ้าโรงทางหลืบขวาทั้งหมด.) | ||
บัดนี้มีข้อสำคัญ ใดจงบอกพลัน, เสนีมิต้องเกรงใจ. | ||
ศุภางค์. | ท่านเคยได้เล่าเรื่องให้ ว่านางทรามวัย ผู้เห็นอยู่เมื่อวันวาน | |
นั้นโดยปรกะติกาล เปนพฤกษะมาน มาลีสุคนธ์หอมเย็น, | ||
และต่อเมื่อถึงวันเพ็ญ นางจึ่งจะเปน นงคราญวิสุทธิ์ศรีใส, | ||
ดังนั้นถูกฤๅฉันใด? | ||
โสมะทัต. | ถูกเช่นนั้นไซร้. | |
ศุภางค์. | แล้วก็เมื่อครบหนึ่งวัน | |
กับอีกหนึ่งคืนนางนั้น ก็กลับกลายพลัน เปนพฤกษะอีกทันที, | ||
ถูกไหมเฃ้าใจเช่นนี้? | ||
โสมะทัต. | ถูกแล้วเสนี. | |
ศุภางค์. | เมื่อกี้พวกศิษย์บอกฃ้า | |
ว่ากุพฺชะกะพฤกษา หายไปแล้วนา; ท่านทราบเหตุแล้วฤๅไฉน? | ||
โสมะทัต. | พอตื่นแล้วบูชาไฟ, แล้วฃ้าก็ไป ยังสวนที่ฃ้างอาศรม, | |
ตั้งจิตตรงไปใฝ่ชม กุพชะโกดม, แต่เดิรไปถึงย่านกลาง | ||
สวนนั้นก็เห็นหลุมว่าง, พฤกษาสำอาง มิอยู่ณที่เคยอยู่. | ||
ฃ้าเที่ยวค้นคว้าหาดู เผื่อจะไปอยู่ แห่งอื่นเพื่ออาศัยร่ม. | ||
ไม่พบตระหนกอกกรม, จึ่งมาอาศรม เผื่อจะได้พบภายใน. | ||
ศุภางค์. | น่ากลัวป่วยการเข้าไป! | |
โสมะทัต. | เอ๊ะ! เพราะเหตุใด? โปรดบอกให้รู้กิจจา. |
[ยานี , ๑๑ ]
ศุภางค์. | เมื่อดึกฃ้าตรวจยาม | เมื่อย่ำสามแล้วไม่ช้า, |
เดิรผ่านหน้าพลับพลา | เห็นคนลงจากมาลก; | |
ท่าทางนั้นเห็นได้ | ว่าตั้งใจจะปิดปก, | |
แฝงกายกำบังรก | และรีบเดิรดุ่มๆ พลัน. | |
ฃ้าเห็นก็สงสัย | จึ่งเตรียมออกสกัดกั้น | |
แต่พอแสงเดือนพลัน | ส่องกระจ่างสว่างไซร้, | |
ฃ้ามองไปดูหน้า | แล้วตูฃ้าก็จำได้, | |
จึ่งยอมให้ครรไล | จากค่ายหลวงบห้ามปราม | |
แต่พอพ้นตรงหน้า | อันตูฃ้าก็เดิรตาม | |
เพื่อป้องกันซึ่งความ | ประทุษฐ์อันอาจเกิดมี. | |
โสมะทัต. | ฃ้าฟังก็พอเดา | ว่าท่านเล่าถึงใครนี่; |
หากเปนผู้อื่นที | ท่านคงจับเปนแน่นอน. | |
ศุภางค์. | ท่านเดาคงไม่ผิด; | จงตั้งจิตฟังฃ้าก่อน. |
อันผู้ที่ฃ้าจร | สกดรอยและตามมา, | |
เมื่อถึงก็ยืนกลาง | ระหว่างลานและเจรจา | |
พร่ำบ่นประหนึ่งว่า | คนมะเมอและเพ้อฝัน! | |
ต่อนั้นจึ่งเห็นนาง | ออกมาจากฃ้างในบรร- | |
ณะศาลและยืนผัน | พักตร์ชะแง้แลดูเดือน, | |
แล้วบ่นอยู่คนเดียว | ดังหนึ่งจิตจะฟั่นเฟือน; | |
ฝ่ายชายได้ฟังเพื่อน | ก็พูดตอบพะจีพลัน, | |
แล้วต่างก็แลกรัก | สมัคจิตสนิธกัน, | |
ฃ้าเห็นว่าอยู่นั่น | มิควรแล้วจึ่งถอยห่าง. | |
ครั้นเมื่ออรุณฉาย | อุษาพรายพื้นนะภางค์, | |
เห็นคู่สิเน่ห์พลาง | จับหัดถ์จูงกันจากลาน, | |
มุ่งตรงลงไปยัง | ณที่ฝั่งอุทกธาร, | |
แต่นั้นกระทั่งกาล | บัดนี้ยังมิกลับมา. | |
ขอบอกให้ท่านรู้ | เพื่อตรองดูจงดีว่า | |
อันโฉมนงพงา | จะกลับร่างฤๅอย่างไร; | |
ฤๅว่าพอมีคู่ | เปนเชิงชู้ที่ชอบใจ | |
นางนั้นจะมิได้ | กลับรูปเปนเหมือนเช่นเคย? | |
โสมะทัต. | ข้อนี้ไม่เคยรู้, | ทั้งมิได้คำนึงเลย, |
เพราะเห็นนางทรามเชย | ไม่เคยชอบในเชิงชู้; | |
แต่เมื่อท่านถามมา | ฃ้าก็เห็นชอบกลอยู่, | |
จำเปนต้องเรียนครู | ให้ท่านทราบซึ่งกิจจา. | |
ขอท่านจงคอยก่อน | ฃ้าจะรีบเฃ้าไปหา, | |
และเรียนพระสิทธา | เล่าแถลงแจ้งคดี. |
(โสมะทัตขึ้นสู่อาศรมแล้วหายเฃ้าโรงไปทางประตูอาศรม. ฝ่ายศุภางค์ไปนั่งแท่นศิลาใต้ต้นไม้, ท่าทางรำพึงอยู่. สักครู่ ๑ นาคกับศุนจึงพากันย่องออกทางหลืบขวา, และตรงไปไหว้ศุภางค์.)
นาค.ใต้เท้าขอรับ. ศุภางค์.อ้าว, ทำไมกันอีกล่ะเพื่อน? นาค.ก็คือว่า- ศุน.เพื่อนกระผมตั้งใจจะกราบเรียนว่า เรื่องที่ได้กราบเรียนแล้วเมื่อกี้นี้นั้น, มันมีข้อความต่ออีก, ดังเพื่อนกระผมจะได้กราบเรียนต่อไป.
(สะกิดเพื่อน.)
ศุภางค์. | เพื่อไม่ให้ต้องเปลืองเวลาเปล่า, ฉันขอบอกให้เพื่อนทราบว่าเรื่องที่เพื่อนจะเล่านั้นฉันได้รู้เพียงพอที่ฉันอยากจะรู้แล้ว, และฉันขอแนะนำว่า ในส่วนตัวเพื่อนทั้งสองก็ไม่ควรอยากรู้อยากเห็นอะไรยิ่งไปกว่าที่ได้รู้ได้เห็นอยู่แล้ว, เฃ้าใจไหม? | |
นาค. | ไม่เข้าใจขอรับ! | |
ศุภางค์. | (พูดกับศุน.) แต่ส่วนเพื่อนเปนคนฉลาดคงเข้าใจแล้วละสินะ? | |
ศุน. | เฃ้าใจแล้วขอรับ. | |
ศุภางค์. | เฃ้าใจว่ากระไร? | |
ศุน. | เฃ้าใจว่าใต้เท้าไม่อยากพูดกับกระผมและเพื่อนกระผมอีก. | |
ศุภางค์. | (หัวเราะ.) ฉันว่าแล้วว่าแกเปนคนฉลาด! |
(พระกาละทรรศินออกทางประตูอาศรมมายืนอยู่ที่ระเบียง; โสมะทัตตามออกมาด้วย. ศุภางค์ลุกขึ้นกระทำความเคารพ. ฝ่ายนาคและศุนเลี่ยงเฃ้าโรงทางหลืบขวา.)
[ยานี, ๑๑.]
กาละทรรศิน. | อ้อ, โสมะทัตเล่า | ให้เราแล้วละเสนี, |
และเรามิได้มี | ความเดือดร้อนเท่าใดนัก; | |
เพราะเราเฃ้าใจว่า | มะทะนาบุตรีรัก | |
ครานี้บางทีจัก | ได้ปลื้มปลาบสิ้นสาปสรรพ์. | |
หากนางจะมีโชค | โดยสมเด็จพระทรงธรรม์ | |
โปรดปรานนงคราญนั้น | ก็ควรที่จะดีใจ; | |
และมาจนบัดนี้ | ยังคงรูปเปนนางไซร้, | |
ไม่กลายเปนต้นไม้ | ไปดังเช่นที่เคยมา. | |
ตามที่ได้เล็งญาณ | เราทราบแล้วเปนแน่ว่า | |
นางนี้ไม่ใช่นา | ริเลวทรามสถานใด; | |
เปนเทวะธิดา | จุติจากสุราลัย, | |
และในปางก่อนไซร้ | ก็เปนราชะบุตรี | |
ของจอมสุราษฎร์ผู้ | ธำรงยศและศักดิ์ศรี, | |
จึ่งควรพระภูมี | จะทรงรับเปนคู่ครอง. | |
เมื่อทราบอยู่เช่นนี้ | ควรยินดีที่สมปอง, | |
แต่เราสิมาตรอง | ก็เกิดความวิตกใจ; | |
ครั้นจะอธิบาย | ก็ยากอยู่หาน้อยไม่, | |
ท่านฤๅจะเฃ้าใจ? | ||
ศุภางค์. | พระคุณเจ้าได้เล็งญาณ | |
แล้วคงจะทราบสิ้น | ณเหตุซึ่งจะรำคาญ, | |
และฃ้าผู้รู้การ | ก็ออกนึกวิตกอยู่! | |
ฃ้าใคร่จะบอกกล่าว | ให้นางสาวนั้นได้รู้, | |
แต่นึกอีกทีดู | จะเปนการอวดดีไป, | |
อนึ่งถึงแม้บอก | ก็อาจเปล่าประโยชน์ได้. | |
กาละทรรศิน. | จริงนา, เห็นว่าไร้ | ประโยชน์เปล่ามิชอบกล. |
ความรักเหมือนโรคา | บันดาลตาให้มืดมล, | |
ไม่ยินและไม่ยล | อุปะสัคคะใดๆ. | |
ความรักเหมือนโคถึก | กำลังคึกผิขังไว้, | |
ก็โลดจากคอกไป | บยอมอยู่ณที่ขัง; | |
ถึงหากจะผูกไว้ | ก็ดึงไปด้วยกำลัง, | |
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง | บหวลคิดถึงเจ็บกาย. | |
ดังนี้พยายาม | จะห้ามปรามนางโฉมฉาย | |
คงมีแต่ผลร้าย | และปราศจากซึ่งผลดี. |
(ท้าวชัยเสนกับมัทนาจูงมือกันออกทางหลืบซ้าย, ไปเคารพพระกาละทรรศิน.)
[วสันตดิลก. ๑๔.]
ชัยเสน. | ฃ้าขอประชุมนะขะประณต | วรบทมุนีศรี, |
ด้วยฃ้าและโฉมสุระนะรี | สิละเมิดพระสิทธา; | |
เหตุด้วยละเลิงกะมละร่าน | ระติรึงณวิญญาณ์, | |
ฃ้าเจ้าและเยาวะมะทะนา | สิประพฤติ์บบังควร. | |
แต่กามะเทวะนะสิแผลง | ศะระแกมผะกามวล | |
มาต้องกะมลอุภะยะชวน | ฤดิรักสมัคกัน. | |
พอฃ้าประสพวิมละพักตร์ | มะทะนานะรีขวัญ, | |
อั้นอึ้งประหนึ่งสุมิคะอัน | ศะระเสียบณกลางใจ; | |
พิษกามะศรประดุจะพิษ | ระอุอัคคิเผาใน | |
อกผลาญและราญกะมละไหม้ | บมิอาจจะดับลง. | |
ยามกลับณมาละกะก็จิต | บมิวายพะวงหลง, | |
เหลือที่จะหักระติก็ตรง | ติระสู่พระอาศรม, | |
หวังเพียงจะดูวรกุฎี | ก็จะรื่นระรวยรมย์; | |
พันเอินกะนิษฐะก็ผะทม | บมิหลับและออกมา | |
ยืนยังระเบียงและอระเปล่ง | วรพจน์แสดงว่า | |
นางเองก็น้อมกะมละมา | อภิรมยะเช่นกัน. | |
ฃ้าฟังก็เปรมกะมละชอบ | และก็ตอบพะจีพลัน, | |
แล้วต่างแสดงสุปิยะนัน- | ทะนะพจน์พิเศษหวาน. | |
แล้วจึ่งประนอมมะนะสะจร | ดละยังอุทกมาน | |
มานัสและกล่าววรประทาน | วิธิถูกประเพณี. | |
บัดนี้ประนอมกะมละมา | อภิวาทะจอมชี, | |
ขอให้กระทำวรพิธี | อภิเษกะสมรส. | |
เพื่อเปนสุวัตถิสิริมง- | คะละการะปรากฎ | |
สมศักดิ์และสมสุวรยศ | มะทะนาและฃ้านี้. |
[ฉบงง, ๑๖.]
กาละทรรศิน. | ราชะ! อันพระวาที กลมกล่อมถ่อมดี, และรูปถวายพระพร; | |
อันองค์พระปิ่นนิกร กับองค์บังอร ที่แท้ก็คู่ควรกัน, | ||
เพราะนางมิใช่สามัญ, เปนธิดาสฺวรรค์ จุติมาจากฟากฟ้า, | ||
อีกในชาติ์ก่อนนั้นนา ก็เปนธิดา แห่งจอมกษัตร์ทรงดิน, | ||
ดังนี้ควรพระภูมินทร์ จะยกนาริน ขึ้นเปนพระอัคคะชายา; | ||
ฃ้าจะทำการอาวาห์ ดังทรงปราถนา สวัสดิ์พิพัฒน์ผ่องใส. | ||
แน่ะโสมะทัตจงไป นำเพลิงที่ใน เตาคาร์หะปัตย์ออกมา, | ||
จะได้ก่อเพลิงบูชา ทวยเทพเทวา ตามแบบคัมภีร์โบราณ. |
(โสมะทัตไหว้แล้วเฃ้าโรงไปทางประตูอาศรม.)
ชัยเสน. | ศุภางค์เรียกนายทหาร มาเปนพยาน ในการพิธีอาวาห์. | |
รีบไปอย่าได้รอช้า | ||
ศุภางค์. | ฃ้ารับบัญชา และรีบไปในบัดนี้. |
(ศุภางค์เฃ้าโรงทางหลืบซ้าย.)
ชัยเสน. | อ้าพระผู้ยอดโยคี พระคุณปราณี แก่ฃ้าเปนล้นพ้นไป. | |
กาละทรรศิน. | อันอาตะมะนี้ไซร้ ทุกเมื่อจงใจ สนองพระคุณราชา. | |
เมื่อเห็นทรงพระเมตตา แด่มะทะนา ก็พลอยมีจิตยินดี, | ||
เพราะรักเหมือนเปนบุตรี, และบุตร์ได้ดี บิดาก็ต้องพอใจ. |
(โสมะทัตกับพวกศิษย์ออกมาเตรียมการพิธี, คือบางคนเอาหญ้าคามาโรยบนแท่นศิลาแล้วเอาหนังกวางปูทับอีกที ๑; บางคนยกแท่นกูณฑ์ออกมาตั้งตรงหน้าแท่นศิลา, เอาโถน้ำมันและช้อนมาวางบนแท่นศิลา, และขนเชื้อเพลิงมากองไว้พร้อมฃ้างแท่นกูณฑ์ ; บางคนยกเครื่องสังเวยเทวดา, ศังข์สำหรับรดน้ำ, และแป้งเจิมมาตั้ง. ระหว่างที่เตรียมการนี้, พระกาละทรรศินเรียกท้าวชัยเสนกับมัทนาขึ้นไปสนทนากันเบาๆ ที่บนระเบียงอาศรม, เพื่อให้โอกาสให้พวกที่จัดเตรียมพิธีได้พูดกันตามควร. เมื่อจัดของต่าง ๆ ตั้งตามที่แล้ว, พวกศิษย์ยกตั่ง ๒ อันมาตั้งตรงหน้าแท่นกูณฑ์, แล้วโสมะทัตเรียกนักสวด ๔ คน กับคนเป่าศังข์ ๒ คนมาคอยไว้. ฝ่ายศุภางค์บัดนี้ก็นำนายทหารและบริวารของท้าวชัยเสนออกทางหลืบซ้าย, และนั่งเรียงรายทางด้านซ้ายแห่งเวที. พอพร้อมหมดแล้ว, พระกาละทรรศินชวนท้าวชัยเสนและมัทนาลงมาจากระเบียงอาศรม, พาคู่บ่าวสาวไปนั่งตามที่, คือหันหน้าไปทางแท่นกูณฑ์ทั้ง ๒ คน ให้ท้าวชัยเสนนั่งตั่งขวา, มัทนานั่งตั่งซ้าย, แล้วพระกาละทรรศินไปนั่งบนแท่นศิลา. โสมะทัตนำใต้จุดไฟออกมาจากในอาศรมไปส่งให้พระกาละทรรศิน. พระกาละทรรศินรับไปจบแล้วก่อไฟในกูณฑ์พลาง, เสกมนตร์เบาๆ พลาง. บัดนี้นักสวดจึ่งยืนขึ้นและสวดดังต่อไปนี้.)
บทสวด
(สรภัญญะ.)
[อินทะวิเชียร, ๑๑.]
๏ อ้าองค์พระอัคนี | วรศรีประภาใส. |
เปนเอกอุดมใน | หุตะกิจพะลีการ |
๏ ฃ้าขอประณตองค์ | สุระทั้งณตรีสฺถาน |
ทุกภาคพิเศษมาน | มนะมุ่งณการยัญ |
๏ หนึ่งคือสุรีย์แจ่ม | สุจรัสณภูมสฺวรรค์ |
ส่องโลกมนุษย์นัน- | ทะนะอุ่นระอุกาย |
๏ ที่สองประภาปรา- | กะฏะในนะภาพราย |
คือวิชฺชุโชติ์ฉาย | รุจิแลบณเมฆา |
๏ ที่สามก็คือไฟ | นระก่อณเคหา |
เพื่อกอบสุภักษา | และประกอบพะลีพูน |
๏ องค์นี้และได้เชอญ | พระเสด็จณแท่นกูณฑ์ |
ด้วยพร้อมมะโนมูล | จะกระทำหุตาการ |
๏ อ้าองค์พระทรงเมษ | สุรเดชตระการฉาน |
โปรดเอื้อและเอาภาร | ธุระด้วยสุไมตรี |
๏ ยามเริ่มพะลีกรร- | มะสุยัญญะการนี้ |
จงสิทธิด้วยดี | ดุจะฃ้าทำนูลวอน |
๏ ช่วยนำพะจีถึง | สุระเทพณอัมพร |
มารับพะลีกร | ดนุได้ผจงสรรพ์ ฯ |
[กุสุมิตลดา, ๑๘.]
กาละทรรศิน. | ฃ้าขอไหว้อัคคีอธิปะติสุพรร- | |
ณาทิทูตสวรร- คะเรืองเดช, | ||
จงโปรดนำคำทูลปะระมะสุรเศรษฐ์ | ||
วิศฺวะเทเวศร์ มหาศาล: | ||
โอมอัญเชอญนารายะณะพระหริชาญ | ||
ชัยบำราบมาร ปะราชัย, | ||
พร้อมด้วยเทวีศรีภะคะวะติวิไลย | ||
วรรณะผ่องใส วิมลเนตร์; | ||
โอมอัญเชอญองค์ตรีศุลิศิวะมเหศร์ | ||
นั่งณะยอดเขต- ตะจอมผา, | ||
อีกแม่เจ้าสฺวรรค์บรรพะติวะระอุมา | ||
ผู้พระชายา อุดมศักดิ์; | ||
โอมอัญเชอญธาดาปะติจะตุระพักตร์ | ||
เพ่งพินิศรัก- ษะสี่ทิศ, | ||
ทั้งโฉมชายายอดสุธิระศุภะวิทย์ | ||
ศิลปะสอนจิต จรุงใจ; | ||
อีกขอเชอญท้าวศักฺระอมะระวิชัย | ||
จอมสุราลัย มหิทธี, | ||
พร้อมองค์เทวินปิ่นอมะระยุวะดี | ||
อินทฺระศักดิ์ศรี ศะจีอร; | ||
อีกขอเชอญองค์เทพระวิและศะศิธร | ||
สองอะมรยอด พยานกรรม; | ||
อีกขอเชอญเทวานิกะระฐิติธรรม | ||
สิงสถิตอัม- พะรากาศ, | ||
ทั้งทวยเทพที่สิงณปะฐะวิอาจ | ||
รักษะทวยราษฎร์ ณแดนคน; | ||
เชอญทุกเทพเจ้าผู้สิริวรวิมล | ||
มาณมณฑล พิธีเทอญ. |
บทพากย์ของนักสวด.
[ฉบงง, ๑๖.]
๏ อ้าทวยเทพฟังคำเชอญ | แล้วโปรดอย่าเมิน |
มะโนจงน้อมพร้อมกัน | |
๏ ฟังคำฃ้าทูลเทวัน | ผู้ทรงมหันต์ |
มหิทธิเดชเกรียงไกร | |
๏ ด้วยองค์สมเด็จจอมไอ- | ศฺวรรยาธิปตัย |
ดำรงซึ่งรัฐหัสดิน | |
๏ ทรงนามชัยเสนนริน- | ทะราชเรืองศิล- |
ปะศาสฺตฺระเชี่ยวชำนาญ | |
๏ แจ้งเจนไตรเพทพิศาล | อีกทั้งปุราณ |
คัมภีร์ก็รู้ตามควร | |
๏ อีกว่องไวในกระบวน | อาวุธถี่ถ้วน |
ทุกอย่างในทางยุทธกล | |
๏ สันทัดอัศวะโกศล | พระรูปวิมล |
สิริโสภาคย์สรรพางค์ | |
๏ พระคุณสมบัติ์สำอาง | รูปสมบัติสล้าง |
และโภคะสมบัติบูรณ์ | |
๏ เทวานุเคราะห์เกื้อกูล | แก่นะเรนทร์สูร |
จึ่งทรงสวัสดิ์แสนดี | |
๏ สิ่งทรามใดๆไป่มี | มากลั้วณที่ |
พระองค์สมเด็จภูบาล | |
๏ บัดนี้พระหฤทัยท่าน | เมตตานงคราญ |
วิสุทธิศักดิ์โสภา | |
๏ อันมีนามะไธยยา | ว่ามะทะนา |
วิเศษสุลักษะณานวล | |
๏ ทั่วทั้งสรรพางค์นางยวล | เนตร์ชมอีกชวน |
ให้เพ่งและเพลินเจริญใจ | |
๏ มรรยาทเรียบร้อยและใคร | ยลชมอรไทย |
ว่าแสนประเสริฐเลิดดี | |
๏ สมควรเปนองค์เทวี | คู่บาระมี |
สมมติเทพรังสรรค์ | |
๏ พระงามนางงามสมกัน | ทั้งคุณอนันต์ |
อเนกะเท่าทั้งสอง | |
๏ ฃ้าขอทวยเทพทั้งผอง | พร้อมกันปรองดอง |
ประทานพระพรเพิ่มศรี | |
๏ แด่ราชาธิบดี | อีกองค์เทวี |
วิสุทธิคู่สมรส | |
๏ บัดนี้องค์พระดาบส | จะถวายรด |
อุทกประกอบคาถา | |
๏ อีกเฉลิมพระพักตรา | เพิ่มมังคะลา |
ธิการณกิจพิธี | |
๏ ขอจงสององค์ทรงศรี | ศุภะสฺวัสดี |
ครองคู่กันอยู่จีระกาล ฯ |
(ในระหว่างที่สวดบทฃ้างบนนี้ พระกาละทรรศินนั่งบริกรรม, ตักน้ำมันเนยหยอดในไฟเปนครั้งคราว; พอถึงบทที่เริ่มด้วยคำว่า “แด่ราชาธิบดี ฯลฯ”, พระกาละทรรศินรินน้ำจากหม้อกลดลงในศังข์และเปิดตลับแป้งเจิม, ส่งศังข์ให้โสมะทัตและตลับแป้งเจิมให้ศิษย์อีกคน ๑ ถือตาม, แล้วเดิรไปยังที่คู่บ่าวสาวนั่ง. พอเฃาสวดว่า “จะถวายรด ฯลฯ” พระกาละทรรศินก็รดน้ำให้คู่บ่าวสาว, และพราหมณ์เป่าศังข์เมื่อรับตะโพน; ในระหว่างเฃาสวดว่า “อีกเฉลิมพระพักตรา ฯลฯ” พระฤษีเจิมคู่บ่าวสาว, และพราหมณ์เป่าศังข์เช่นครั้งก่อน; ในระหว่างเวลาที่เฃาสวดบทสุดท้ายนั้น, พระฤษีกลับไปนั่งแท่นตามเดิม. แล้วคู่บ่าวสาวจึ่งยืนขึ้นและกล่าวคำปฏิญญาดังนี้.)
[จิตรปทา, ๘.]
ชัยเสน. | ฃ้าชัยเสน อธิเบนทร์พงศ์ จันทะประสงค์ พิธิสมรส | |
กับมะทะนา วธุปรากฎ กอบวระยศ สิริเท่ากัน; | ||
ฃ้าจะถนอม ทนุพร้อมพรั่ง สมดุจะดัง มหิษีอัน | ||
เปนภริยา สหะชาติ์กัน เปนอรขวัญ ณนิเวศน์ใน! | ||
มัทนา. | ฃ้ามะทะนา วนิดายอม มอบฤดิน้อม ณพระทรงชัย | |
เปนวระราช มหิษีใฝ่ ภักดิณไท้ บมิลดลา. |
(พราหมณ์เป่าศังข์. คู่บ่าวสาวจูงมือกันเดิรประทักษิณเวียนรอบไฟและพระฤษี ๓ รอบช้าๆ. ในระหว่างที่คู่บ่าวสาวเดิรประทักษิณดังนี้ นักสวดสี่คนสวดฉันท์สดุดีดังต่อไปนี้.)
บทสวด
(ทำนองสดุดีสังเวย.)
[วสันตดิลก, ๑๔.]
๏ อ้าหญิงและชายฤดิสมัค | มะนะร่วมสิเนหา |
พร้อมจิตผสมสะมะระมา | อภิเษกะสมรส |
๏ เหมือนหนึ่งประมวญสะริระอีก | มะนะรวมก็ยงยศ |
ยงศักดิเกียรติคุณะหมด | เพราะผสมกำลังกัน |
๏ ผู้ใดสมัคสะมะระสม- | ระสะร่วมมโนฉันท์ |
ปวงไทสุเทวะมรุสรร- | พะอำนวยพระพรพูน |
๏ หญิงชายกระทำวิธิวิวา- | หะสิมุ่งผดุงกูล |
วงศาคณาคณะประยูร | บมิเสื่อมมิทรามหาย |
๏ เทวาประสิทธิวรบุตร์ | และธิดาประดุจหมาย |
ให้ทรงและสืบสะกุลละสาย | สุวพันธุพืชงาม |
๏ ขอทวยสุเทวะสุระฤท- | ธิมะหิทธิเรืองราม |
โปรดช่วยบำรุงวรวิศาม- | ปะติอีกพระชายา |
๏ ให้ทรงเจริญสิริสุวัต- | ถิพิพัฑฒะนาอา- |
ยูวรรณะสุขพะละและสา- | ระวิสุทธิศฺฤงคาร |
๏ ขอพรประสิทธิบมิขาด | ณ พระราชะสมภาร |
อีกเทวิองค์อระวิศาล | สิริสิทธิภีย์โย ฯ |
(คู่บ่าวสาวประทักษิณไฟเสร็จแล้ว, ไปยืนประนมมืออยู่ที่ตรงหน้าพระกาละทรรศิน, และพระกาละทรรศินอำนวยพรเปนภาษามคธดังต่อไปนี้.)
[สามัญคาถา.]
กาละทรรศิน. | สาธุ เทวานุภาเวน | สทา โสตฺถี วิวฑฺฒโน |
ทีฆายุโก จ นิทฺทุกฺโข | นิพฺภโย จ นิรามโย ฯ | |
สิทฺธิ กิจฺจญฺจ กมฺมญฺจ | สิทฺธิ ลาโภ ชโย ชโย | |
ชยเสน มหาราช | วรสฺส ภวตุ สพฺพทา. ฯ[๑] |
ปิดม่าน.
[๑] คำแปลคาถาข้างบนนี้
ดังฃ้าวิงวอน ขอ (พระเจ้าชัยเสนมหาราช) จงทรงพระสวัสดี, ทรงพระเจริญพิเศษ, ทรงพระชนมายุยืนนาน ปราศจากทุกข์, ปราศจากภัย, ไร้ความไม่สำราญ, ด้วยอานุภาพเทวดา ทุกเมื่อฯ ขอกิจที่สำเร็จ, การงานที่สำเร็จ, ลาภที่สำเร็จ, ชัยชนะชัยชนะที่สำเร็จ, จงมีแด่พระเจ้าชัยเสนมหาราชผู้ประเสริฐ ในกาละทั้งปวง ฯ