คำนำ
ละคอนเรื่องนี้ไม่ใช่ได้เนื้อเรื่องหรือตัดตอนมาจากแห่งใด ๆ เลย, จึ่งขอบอกไว้ให้ผู้อ่านทราบเพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวค้นหาเรื่องนี้ในหนังสือโบราณใด ๆ แก่นแห่งเรื่องนี้, ได้เคยมีติดอยู่ในใจของฃ้าพเจ้ามาช้านานแล้ว, แต่เพราะเหตุต่าง ๆ ซึ่งไม่จำจะต้องแถลงในที่นี้ ฃ้าพเจ้ามิได้ลงมือแต่งเรื่องนี้, จนมาเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๖, เมื่อได้บังเกิดมีเหตุบังคับให้ฃ้าพเจ้าต้องอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ, ฃ้าพเจ้าจึงได้หวลนึกขึ้นถึงเรื่องนี้. เมื่อนึกตั้งโครงเรื่องขึ้นได้แล้ว, ได้เกิดมีปัญหาขึ้นว่าจะให้นางในเรื่องนี้ถูกสาปเปนดอกไม้อย่างใด, มีผู้เห็นกันโดยมากว่าควรให้เปนดอกกุหลาบ, เพราะเปนดอกไม้ที่คนทั้งโลกทุกชาติทุกภาษานิยมว่างามและหอมชื่นใจยิ่งกว่าดอกไม้อย่างอื่นๆ. ข้อนี้ก็จริงอยู่, แต่ก็ได้ทำให้ฃ้าพเจ้าออกอึดอัดอยู่ไม่น้อย, เพราะฃ้าพเจ้าตรองและตรวจดูเท่าใดก็นึกไม่ออกและไม่พบณที่ใดๆ ว่าดอกกุหลาบนั้นมีนามว่ากระไรในภาษามคธหรือสันสกฤต, และเมื่อเปนเช่นนี้ก็รู้สึกว่าฃาดศัพท์สำหรับใช้ในกวีนิพนธ์ไปนั้นอย่าง ๑; กับอีกอย่าง ๑, ซึ่งฃ้าพเจ้ารู้สึกว่าสำคัญกว่า, คือถ้าชื่อดอกกุหลาบไม่มีในภาษามคธหรือสันสกฤตดังนั้น จะมิต้องเข้าใจละหรือว่าในภารตะวรรษ (อินเดีย), อันกำหนดจะเปนภูมิลำเนาแห่งเรื่องนี้, มิได้เคยมีดอกกุหลาบในโบราณสมัย? ถ้าในภารตะวรรษไม่เคยมีดอกกุหลาบ จะแต่งลงไปว่ามีดูเปนการฝ่าฝืนธรรมดาไป, อาจทำให้ถูกติว่าเปนคนตื้นก็ได้.
แต่ฃ้าพเจ้ายังไม่ยอมปลงใจเชื่อว่าดอกกุหลาบไม่มีชื่อในภาษามคธหรือสันสกฤต, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้ใช้ให้รองอำมาตย์โท หลวงธุระกิจภิธาน (ตรี นาคะประทีป) เปรียญ, ค้นดู. หลวงธุระกิจภิธาน ได้ไปปรึกษาพราหมณ์ กุปปุสวามิ อารย ที่หอพระสมุดวชิรญาณแล้ว, แล้วและได้รายงานมา ดังต่อไปนี้:
ชั้นแรก เจตสิกของนักเรียนบาลี ผู้ได้ยินคำว่า “กุหลาบ” ย่อมนึกปราดไปถึงศัพท์ “ชปา”; ตัวหลวงธุระกิจภิธาน, ครั้นมีพราหมณ์กุปปุสวามิ อารย เปนที่ปรึกษา, ได้ความว่า “ชปา” หาใช่ “กุหลาบ” ไม่. ที่ประติเษธเด็ดฃาดเช่นนี้เพราะ “ชปา” มิใช่ไม้มีหนาม, และกุหลาบไม่มีหนามไม่มี. ผลแห่งการค้นต่อไปเปนได้ศัพท์ “กุพฺชก”, ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส๎ แปลไว้, ในปทานุกรมสันสกฤตอังกฤษ, ว่า “Rosa moschata” และซึ่งมีกล่าวในคัมภีร์ธันวันตรีย นิฆัณฏุ ดังนี้ -
กุพฺชโก ภทฺรตรุณี | พฺฤหตฺปุษฺปาติเกสรา | |
มหาสหา กณฺฏกาฒฺยา | นีลาลิกุลสํกุลา. ||๑|| |
กุพฺชก: สุรภิ: สฺวาทุ: | กษฺายสฺ ตุ รสายน: | |
ตฺริโทษศมโน วฺฤษย: | ศีต: สํคฺรหโณปร: ||๒|| |
โศลกที่ ๑ กล่าวถึงลักษณะแห่งดอก “กุพฺชก”, มีคำแปลว่า: “กุพฺชกงามดังสาวรุ่น, มีดอกใหญ่, มีเกสรยิ่ง, ทนมาก, สะพรั่งด้วยหนาม, มีฝูงผึ้งเขียวเปนกลุ่ม.”
โศลกที่ ๒ กล่าวถึงสรรพคุณ, มีคำแปลว่า: “กุพฺชกมีกลิ่นหอม, กินอร่อย, หวาน, มีรสเลิด; (เมื่อกินแล้ว) ระงับตรีโทษ (คือกำเริบแห่งลม, ดี, เสมหะ) เจริญราค, เย็นสบาย, แก้โรคเช่นท้องร่วง.”
ตามที่หลวงธุระกิจภิธาน ค้นได้ความมาเช่นนี้ ฃ้าพเจ้าคเณว่าผู้ที่เปนนักเลงหนังสือและนักเรียนคงจะพอใจที่จะได้ทราบด้วย, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้นำมาลงไว้ในที่นี้, และฃ้าพเจ้าถือเอาโอกาสนี้เพื่อขอบใจหลวงธุระกิจภิธาน ในการที่ได้เอาใจใส่ค้นศัพท์นี้ได้สมปราถนาของฃ้าพเจ้า.
ก่อนที่ได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น, ฃ้าพเจ้าได้นึกไว้ว่าจะให้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้; แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่าดอกกุหลาบคือ “กุพฺชก” เลยต้องเปลี่ยนความคิด, เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า“กุพฺชกา” ก็จะกลายเปนนางค่อมไป. ฃ้าพเจ้าจึ่งค้นหาดูศัพท์ต่างๆ ที่ พอจะใช้ได้เปนนามสตรี, ตกลงเลือกเอา “มัทนา”, จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก. พะเอินในขณที่ค้นนั้นเองได้พบศัพท์ “มทนพาธา”, ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส๎ แปลไว้ว่า “the pain or disquietude of love (“ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก”) ซึ่งฃ้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที, เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องทีเดียว. เรื่องนี้จึ่งได้นามว่า “มัทนะพาธา, หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ” ด้วยประการฉะนี้.
เรื่องละคอนนี้ ความตั้งใจเดิมของฃ้าพเจ้าจะแต่งขึ้นเปนแต่หนังสือสำหรับอ่านอย่างกวีนิพนธ์เท่านั้น; แต่ได้มีญาติมิตร์ขอให้จัดเล่นออกโรง, ฃ้าพเจ้าจึ่งตกลงตาม. ส่วนนักประพันธ์อื่นๆ จะรู้สึกอย่างไรก็ตาม, แต่ส่วนตัวฃ้าพเจ้าต้องสารภาพว่า เมื่อฃ้าพเจ้าได้แต่งหนังสือตั้งรูปขึ้นเปนละคอนแล้ว ก็ย่อมจะรู้สึกพอใจเมื่อมีผู้ขอให้เล่นเรื่องละคอนนั้น; และถ้าแม้ว่ามิได้พอใจหรือปราถนาที่จะให้ผู้ใดเอาเรื่องของเราไปเล่นออกโรงเปนละคอน, เราจะประดิษฐรูปเรื่องของเราขึ้นไว้เปนอย่างละคอนทำไม?
ส่วนวิธีเล่นเรื่อง “มัทนะพาธา” นี้, ฃ้าพเจ้ากำหนดไว้ให้ตัวละคอนพูดบทของตนเอง, ไม่ใช่ร้องบทนั้น ๆ อย่างแบบที่เรียกกันว่า “ละคอนดึกดำบรรพ์”, ต่อเมื่อบทใดเปนบทขับร้องจึ่งให้ร้อง; กับให้มีดนตรีเล่นคลอเสียงเบา ๆ ในเวลาที่เจรจา, และมีน่าพาทย์กำหนดลงไว้บางแห่งเพื่อช่วยการดำเนิรแห่งเรื่อง.
อนึ่งเพื่อประดับหนังสือเรื่องนี้ ฃ้าพเจ้าได้ให้จางวางตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เขียนภาพขึ้นเพื่อสอดไว้ในที่อันควร, และฃ้าพเจ้าขอขอบใจพระยาอนุศาสน์จิตรกรในที่นี้ด้วย
พระที่นั่งไวกูณฐ์เทพสถาน, พญาไท.
วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖