พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๕
เพ็ชร์บุรี
วันที่ ๑๕ กันยายน ร. ๔๒ศก ๑๒๘
มกุฎราชกุมาร
อนุสนธิต่อฉบับที่ ๔
วันที่ ๑๑ แต่เช้ามามีลมจัดน้ำยังไม่ขึ้น จน ๔ โมงลมก็ยังไม่สงบ น้ำสังเกตก็ยังน้อยอยู่ จึงได้รอต่อ ๕ โมงออกเรือ ได้ลงเรือสุพรรณหงส์มาแต่กระบวรเรือยนต์ พบเรือทั้งปวงที่ล่วงน่าลงมา หมายจะออกก่อนก็ไม่มีใครกล้าออกเลย แต่เรือสุพรรณหงส์ เรือภุชงค์จำแลงใช้ออกทเลราโทดีมาก เรือกระบี่เรือครุฑ ถ้าคลื่นตีข้างยังกลิ้งไปกลิ้งมา เพราะไม่มีกระดูกงู เรือ ๒ ลำนี้มีกระดูกงูสู้คลื่นแขงมาก ข้กมทเลชั่วโมงครึ่งถึงบ้านแหลม น้ำอยู่ข้างจะน้อย เข้ามาได้ในปากอ่าวบ้านแหลมหน่อยหนึ่งท้องเรือครือ จึงต้องหยุดกินเข้าที่ถัดหมู่บ้านขึ้นมา ที่ปากอ่าวทั้ง ๒ แห่ง มีเรือปลาแต่งธงเทียวทอดสมอราย ๒ ข้างทางตลอด ครั้นกินเข้าแล้ว จะรอจนน้ำขึ้นช้าอยู่ จึงได้ถ่ายลงเรือกระบี่เรือครุฑ ขึ้นมาถึงเพ็ชร์บุรีบ่าย ๓ โมง เรือกระบวรมาถึงต่อเวลาเย็น ได้พักอยู่ที่ตึกพักริมน้ำในแพซึ่งเขาทำครอบเรือ ไม่ได้ขึ้นอยู่บนบก เมื่อเวลาก่อนมาถึงน้ำมาก ด้วยฝนตกเสมอทุกวัน แต่วันนี้เปนวันฝนหยุดน้ำแห้งลงไปมาก เขาตั้งร้านที่หลังหมู่ตึกให้คนมาขายของเครื่องเล่นแลอาหารต่าง ๆ เปนการสนุกสนานอยู่ ผู้คนแน่นหนามากตามเคยผิดกันกับเมืองอื่น ๆ เพราะเมืองเพ็ชร์บุรีเปนเมืองที่นิยมเจ้าแผ่นดินมาเสียแต่รัชกาลที่ ๔ ด้วยทรงพระกรุณาไว้มาก ติดต่อกันมาจนรัชกาลปัจจุบันนี้
วันที่ ๑๒ กันยายน ได้ขึ้นรถไปตามถนนหลังจวน ข้ามสพานไปแล้วไปตามถนนตลาดแวะดูตามร้านบางแห่ง แลตลาดของสด ดูถนนกว้างขวาง เหตุด้วยของสดเข้าไปขายเสียในตลาด แต่ตลาดของสดเล็กไปไม่พอ ด้วยที่เมืองเพ็ชร์บุรีนี้มีตลาดแห่งเดียว แลเปนเวลาของเต็มที่ในเวลาบ่าย ๒ โมง ผิดกับตลาดอื่นๆ ถนนี้ตึกรามไม่ได้ดีอะไรขึ้น แต่ดูติดแน่นหนา ต่อกันตลอดเปนร้านยาวไปมาก จนเกือบจะถึงที่สุดถนน ผู้คนแน่นหนาผิดกว่าแต่ก่อน แล้วได้เลี้ยไปถนนสายหลัง ซึ่งเจ้าพระยาสุรพันธ์๑ตัดขึ้นใหม่ ไปตามแนวกำแพงเมือง ทางนี้เลยไปจนถึงนาตำบลปากช่องแต่ไม่ได้ไปตลอด เลี้ยวลงทางถนนขวาง ผ่านหน้าวัดกำแพงแลง มาหยุดที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งเปนที่ฉันชอบใจฝีมือช่างในวัดนั้น บรรดาฝีมือที่ทำทุกอย่างปรากฏว่าเปนช่างหลวงได้ทำอย่างวิเศษ ตั้งแต่เสาเม็ดทรงมันมุมกำแพงเปนต้น พระครูมหาวิหาราภิรักษ์๒ได้ปลูกโรงขึ้นรับในระหว่างพระอุโบสถแลการเปรียญ มีงารที่ได้ทำขึ้นใหม่ คือได้สร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ แต่เปนความคิดทีแปลกใหม่ดีมาก จะถือว่าเปนศาลารายก็ได้ เปนพระระเบียงก็ได้ เพราะเขาตัดขาดเปนหลัง ๆ มีช่อฟ้าใบระกาหลังคาซ้อนสองชั้นทุกหลัง ลักษณทำนองกุฏิล้อมวัดราชสิทธิ์ แต่แยบคายงดงามดีกว่าวัดราชสิทธิเปนอันมาก เปนเหตุให้ต้องเสาะสืบหาผู้ซึ่งเปนเจ้าความคิด ได้ตัวขุนศรีวังยศ๓ ซึ่งเปนคนเจ้าพระยาสุรพันธ์ใช้ในการช่าง เปนผู้ที่ได้บวชอยู่ในวัดนี้ก่อน คิดตัวอย่างแลจัดการก่อสร้างทั้งสิ้น ได้สร้างขึ้นด้วยเงินเรี่ยราย พระในวัดนี้ตั้งแต่พระครูเปนต้นไปเปนช่างด้วยกันโดยมาก รู้จักรักษาของเก่าดีเปนอย่างยิ่ง เช่นการเปรียญซึ่งเปนสิ่งสำคัญ ไม้ท่อนไหนผุเปลี่ยนแต่ท่อนนั้น ส่วนที่เปนลวดลายสลักหรือเขียนอันยังจะใช้ได้เก็บของเก่าประกอบอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ แต่ในการที่จะซ่อมขึ้นให้บริบูรณ์ดีอย่างเก่านั้น ไม่แต่ฝีมือพระ ถึงฝีมือช่างหลวงทุกวันนี้ก็ยากที่จะทำให้เข้ากันกับของเดิมได้ รูปภาพเทพชุมนุมที่นั่งเปนชั้น ๆ ในผนังพระอุโบสถดูได้ทุกตัว แลเห็นได้ว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพ ฯ เหมือนเลย เช่นหน้ายักษ์ไม่ได้เขียนเปนหัวโขน เขียนเปนหน้าคนที่อ้วนๆ ย่นๆ ที่ซึ่งเปนกนกก็เขียนเปนหนวดเครา แต่อย่าเข้าใจว่าเขียนเปนภาพกาก เขียนแบบแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เขียนนั้นรู้ความคิดเดิม ว่ายักษ์หมายความว่าเปนคนชนิดใด เทวดาเปนคนชนิดใด การนุ่งห่มเครื่องแต่งตัวรู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร ไม่ได้เขียนพุ่ง ๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ รูปนั้นอยู่ข้างจะลบเลือนมาก เพราะเหตุว่าคงจะได้เขียนก่อน ๓๐๐ ปีขึ้นไป เว้นแต่ด้านหน้ามารผงญ ทีจะชำรุดมาก จึงได้เขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ก็แลเห็นได้ถนัดว่า ความคิดไม่ตลอดลงร่องรอย เสาปูนแต่ทาสีน้ำมันเขียนลายรดน้ำ เปลี่ยนแม่ลายต่างกันทุก ๆ คู่ แต่กรอบเชิงอย่างเดียวกัน กรอบเชิงงามนัก พระพุทธรูปในอุโบสถไม่สู้สำคัญอันใด แต่มีพระคันธารราฐหล่อ เห็นจะเปนฝีมือจีนโบราณ หน้าไม่เปนเจ๊ก ที่เห็นว่าเปนฝีมือจีนอยู่ก็โดยเรื่องผ้าห่ม ห่มดองคาดราตคดข้างในแล้วคลุมสังฆาฏิ แหวกที่พระอุระ มีฐานงาม พระพุทธรูปองค์นี้ว่าทูลกระหม่อมได้เชิญเข้าไปแต่เมื่อเวลาทรงผนวช ครั้นเมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ถวายเศวตฉัตร์ผ้าขาว ซึ่งยังปักประจำอยู่เดี๋ยวนี้ ครั้นเมื่อสร้างพระนครคีรี จึงได้เชิญกลับออกมาไว้ที่วัดใหญ่ตามเดิม มีรูปเจ้าอาวาสเดิม ซึ่งว่าเปนผู้ปฏิสังขรณ์ นั่งพนมมือถือดอกบัวตูมอยู่รูปหนึ่ง ทำด้วยความตั้งใจจะให้เหมือน ฝีมือดีพอใช้ ท่านองค์นี้ว่าเปนสามเณรอยู่ในเมืองเพ็ชร์บุรี ลงอาบน้ำพบเปลือกแตงโมลอยมาเก็บเปลือกแตงโมนั้นกิน พวกเพื่อนศิษย์วัดด้วยกันล้อเลียนอับอายจึงได้หนีเข้าไปยังกรุง ตั้งหน้าเรียนพระปริยัติธรรมจนได้เปนพระราชาคณะ แล้วจึงได้กลับออกมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ บางปากกล่าวว่า ภายหลังได้เปนสมเด็จพระสังฆราช เปนที่น่าสงสัยอยู่บ้าง ว่ากลัวจะหลงที่สังฆราชา๔ ด้วยตำแหน่งพระครูเมืองเพ็ชร์บุรีมี ๕ อย่างเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง แต่ตามหนังสือเก่า ๆ เขานับว่าเปนพระราชาคณะทั้งนั้น ชรอยพระครู ๕ องค์นี้จะเปนพระสังฆราชาองค์หนึ่ง เช่นพระพากุลเถรเปนพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี เพ็ชร์บุรีนี้ในเวลานั้นน่าที่พระครูสุวรรณมุนีจะเปนสังฆราชา ท่านสมเด็จเจ้าแตงโมนี้จะเปนพระสุวรรณมุนีเสียดอกกระมัง จึงได้ชื่อวัดเพิ่มขึ้นว่าวัดใหญ่สุวรรณาราม๕ ทุกวันนี้พระครูสุวรรณมุนีก็ยังเปนเจ้าคณะอยู่
หลังพระอุโบสถตรงกันแนวเดียว มีการเปรียญยาว เสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำ ลายไม่ซ้ำกันทุกคู่ ฝากระดานปกนข้างนอกเขียนลายทอง ข้างในเขียนลายน้ำกาว บานประตูสลักซับซ้อน ซุ้มเปนคูหางามเสียจริง ข้อซึ่งคิดจะเอาอย่างสร้างการเปรียญวัดราชาธิวาส ก็เพราะรักการเปรียญวัดใหญ่นี้๖ มีธรรมาสน์เทศน์แล/**/สังเคตพระสวดของเก่างามเหลือที่จะพรรณา๗ แต่คนไม่ใคร่มีใครชอบ เขาเห็นบุษบกที่รูปเหมือนพุ่มเข้าพรรษางามกว่าจึงได้สร้างขึ้นใหม่ พึ่งจะแล้ว ราคาจะหลายสิบชั่ง ที่เพ้อพรรณาถึงเรื่องวัดใหญ่ลงไว้นี้เพราะเหตุที่เห็นไม่มีผู้ใดชอบฝีมืออย่างละเอียดชนิดนี้แล้ว เห็นเปนอย่างเก่าเร่อร่าไป คงไม่มีผู้ใดสามารถที่จะคิดปฏิสังขรณ์ จึงได้ว่าไว้เสีย พอให้มึจดหมายลงไว้ว่าของดีมีอยู่ในวัดนั้น ได้ถวายเงินไว้สำหรับปฎิสังขรณ์ ๒ ชั่ง ครั้งก่อนก็ได้เคยออกช่วยมาก ๆ เช่นนี้ พระวัดนั้นอยู่ข้างจะถือเอาเปนผู้อุปการของวัด แต่จะกล่าวได้ว่าถ้าผู้ใดออกมาเมืองเพ็ชร์บุรีมีน้ำใจที่จะดูการช่าง ไม่ใช่แต่เพียงมาเที่ยวถ้ำเที่ยวเขา จะหาที่อื่นดูให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าวัดใหญ่เปนไม่มี
กลับมาแวะซื้อของที่ร้านหลังจวน แล้วไปทำครัว ซึ่งพระยาสุรินทรฦๅไชยได้จัดไว้พร้อมเพรียงดีอย่างยิ่ง
เวลาบ่ายได้ขึ้นรถไปที่บ้านปืน ซึ่งได้ซึ้อไว้หมายจะทำเปนที่พัก๘ ด้วยเหตุว่าที่หน้าตึกซึ่งเรียกว่าจวนเดี๋ยวนี้ เปนที่พักข้าราชการ แลอยู่ใกล้ทางรถไฟยิ่งกว่าเมืองราชบุรี ได้ตัดถนนไปถึงบ้านปืนแต่เมื่อมาคราวก่อน ถ้าจะไปจากแถวที่เรียกว่าจวนนี้ทาง ๕๐ เส้นเศษ อยู่เยื้องวัดเกาะวัดจันท์ ปากคลองไปบางทลุหน่อยหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ทำอะไรให้ราษฎรอาศรัยทำไร่อยู่ตามเดิม ถนนฝั่งตวันตกที่เปนตลาดขึ้นไปถึงวัดเกาะแล้ว ถ้าทำสพานข้ามที่นั้น ก็ไม่ไกลจากตลาดเท่าใด ขากลับล่องทางเรือ แวะเยี่ยมวัดเกาะซึ่งเปนที่คุ้นเคยกัน
วันที่ ๑๓ กันยายน ออกจะเปนหวัดมาตั้งแต่วันแรกมา เวลาเช้าจึงไม่ได้ไปไหน แต่ก็พอดีกับที่ฝนตกมาก จนเวลาเย็นจึงได้หาย ได้ขึ้นไปวัดมหาสมณาราม ถวายเงินปฏิสังขรณ์แลเลี้ยงพระในวัดรวมกัน ๘๐๐ บาท เหตุด้วยวัดนี้กันดารน้ำ เงินที่ให้ไว้ครั้งก่อนเธอได้ขุดบ่อ แต่ยังไม่สู้พอจึงได้เติมไว้ให้อีก อยู่ข้างจะกันดาร โดยเหตุที่ขึ้นไปอยู่บนเขาไม่มีน้ำ แลถ้าน่าฝนเช่นนี้ก็มักจะจับไข้ ข้อที่ฉันรังเกียจไม่ยอมขึ้นไปอยู่บนเขาในระดูฝน ก็ด้วยเรื่องกลัวไข้ เพราะได้โดยถูกมาเมื่อครั้งลูกหญิงพาหุรัด๙ครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยเขานั้นเปนศิลาปูน เวลาถูกแดดเผาร้อน ฝนตกลงมาก็เกิดเปนไออบขึ้น เพราะฉนั้นน่าฝนจึงไม่ค่อยสบาย การที่เสด็จแต่ก่อนท่านเสด็จเดือนสี่เดือนห้าหรือเดือนสิบสองเดือนอ้าย ซึ่งเปนเวลาแล้งจึงไม่มีไข้เจ็บ แต่ในที่พื้นราบเพ็ชร์บุรีไม่เปนที่มีไข้เจ็บเลย ถามพระมหาสมณวงศ์๑๐ก็บอกว่าไข้มีเสมอทุกปี แลเปนในระดูฝน วัดนี้ฉันได้เคยค้างอยู่ ๕ คืนที่ศาลาการเปรียญจตุรมุขเมื่อครั้งบวชเณร จึงเปนที่คุ้นเคยกันกับวัดนั้น
ออกจากพระนครคิรี ไปตามถนนน่าวิหารวัดพระนอน เห็นหลังคาที่ได้อนุญาตให้ทำสังกะสีคลุมขึ้นไว้นั้น แล้วสำเร็จแต่เปนการที่ป้องกันได้ชั่วคราว เพราะตัวผนังชำรุดน่ากลัวจะพัง เลี้ยวลงทางถนนเขาบันไดอิฐ หยุดพูดกับพระพิศาลสมณกิจ๑๑ที่หน้าวัดคงคา แต่ไม่ได้เข้าไปเพราะเหตุที่ไม่มีอะไรจะดู กลับลงทางถนนบ้านหม้อแล้วไปเลี้ยวข้ามสพาน แวะดูบ้านพระยาสุรินทรฦๅไชย แล้วไปดูพระพุทธรูป ซึ่งเป่นพระประธานวัดโพธาราม เปนพระเก่างามเลื่องลืออยู่ วัดนี้เปนวัดที่มารดาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ปฏิสังขรณ์ อยู่ใกล้กันกับวัดใหญ่ ทางรถไฟผ่านไปในระหว่างวัดใหญ่แลวัดโพธาราม อยู่ในตัดผ่านเข้าไปในเมือง แต่เปนคนละท่ากับเมืองราชบุรี
มิศเตอกิงทูตอเมริกันกับภรรยาออกมาอยู่ที่นี่ ได้เห็นแต่วันแรกมาถึง แต่ครั้นเมื่อวานนี้ให้ไปบอกให้มาหา เย่าเรือนปิดหมดทุกแห่ง เหตุด้วยเปนวันอาทิตย์ ต่อวันนี้จึงได้พบ คิดจะอยู่ที่นี่นาน เพื่อจะรักษาตัวในการที่มิศเตอกิงได้ป่วย แต่จะกลับเข้าไปในการเฉลิมพระชนม์พรรษาคราวหนึ่งแล้วจึงจะกลับมา
วันที่ ๑๔ กันยายน เวลาสายแล้วได้ลงเรือยนต์เล็ก ๒ ลำ มีแต่ของแห้งไป ขึ้นไปเที่ยวเหนือน้ำ แวะที่ท่าเสน แล้วขึ้นไปจอดทำกับเข้ากลางวันกินที่วัดท่าหมูสี เมื่อก่อน ๕ ปีมาแล้วได้เคยขึ้นไปถึงวัดป่าแป้น ครั้นเมื่อกินเข้ากลางวันแล้ว ได้แล่นต่อขึ้นไปจนถึงท่าศาลา ครั้นจะไปต่ออีกเห็นว่าเวลาบ่าย ๔ โมงแล้ว จึงได้ล่อง แต่ขาล่องเร็วเหลือเกินไม่ทันบ่าย ๕ โมงก็ถึง ระยะทางตามลำน้ำมีบ้านเรือนตลอด ชื่อตำบลที่เรียกว่าท่า ๆ นั้น คือเปนท่าสำหรับผักของไร่ เปนฟักเหลือง ฟักเขียวเปนต้นลงเรือลำโต ๆ เพราะที่สองข้างแม่น้ำนั้นเปนไร่ตลอดไป ทางที่ขึ้นไปมีเกินท่าไชย ซึ่งเปนที่ตักน้ำเสวยขึ้นไปเปนอันมาก มีข้อหนึ่งซึ่งลี้ลับอยู่ คือน้ำราชาภิเษกนั้น ไม่ใช่ใช้แต่น้ำสี่สระ ใช้น้ำแม่น้ำทั้ง ๕ ในกรุงสยาม คือแม่น้ำบางปกง แม่น้ำศักดิ์ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แลแม่น้ำเพ็ชร์บุรี มีชื่อตำบลที่ตักทุกเมือง แต่เพ็ชร์บุรีนี้ที่ท่าไชย มีข้อที่น่าสงสัยอยู่ว่า เหตุไฉนจึงไม่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยา ข้อนี้ควรจะสันนิฐานได้ ว่าแม่น้ำหัวรอที่กรุงเก่านี้เปนน้ำใหม่ ลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเปนสายน้ำที่มาจากน้ำศักดิ์ ลำน้ำไชยนาทตอนบนลงลำน้ำมะขามเถ้าไปลำน้ำท่าจีน การที่น้ำเปลี่ยนสายมาลงเจ้าพระยามาก ก็เพราะเหตุที่ขุดคลอง น้ำพัดมาเสีย แม่น้ำท่าจีนจึงได้เสีย ตำราตักน้ำนี้คงจะได้ตั้งมาก่อนเวลาขุดคลองในระหว่าง ๒ แม่น้ำ จึงยังยืนอยู่ตามเดิม เรื่องนี้ก็เปนนอกเรื่องที่มาเที่ยว จดลงไว้ให้เปนหลักฐาน
น้ำที่เพ็ชร์บุรีวันนี้ขึ้นสูงอีกมาก แต่ถ้าฝนไม่ตกก็น่าจะยุบลงได้อีก อากาศวันนี้แห้งสนิธ มีฝนประปรายบ้างในเวลาจวนพลบ แต่ก็ไม่ชื้น มีความเสียใจที่จะบอกว่าปลาทูปีนี้ใช้ไม่ได้ ผอมเล็กเนื้อเหลว แลมีน้อย ไม่ได้ทุกวันด้วย
สยามินทร์
-
๑. เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) แต่ก่อนเปนผู้ว่าราชการเมืองเพ็ชร์บุรี แล้วเลื่อนขึ้นเปนข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลราชบุรี แต่เวลานี้ชรารับพระราชทานเบี้ยบำนาญ ↩
-
๒. พระครูมหาวิหาราภิรักษชื่อพุก เดิมเปนแต่เจ้าอธิการ โปรดการรักษาวัดจึงทรงตั้งเปนพระครู ↩
-
๓. ขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) ↩
-
๔. ภายหลังมาพบหลักฐาน กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าเสือ ว่าเมื่อปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท โปรดให้ “สมเด็จพระสังฆราชแตงโม” เปนนายงารดังนี้ สันนิฐานต่อไปว่าตัวเห็นจะชื่อแตงโมมิใช่เพราะกินเปลือกแตงโมอย่างชาวเพ็ชร์บุรีว่า ↩
-
๕. สันนิฐานว่า เมื่อลงมือสร้างวัดเห็นจะยังเปนที่พระสุวรรณมุนี ดังทรงพระราชดำริห์ ↩
-
๖. การเปรียญวัดใหญ่ เดิมเปนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะรื้อเอาออกไปสร้างเปนการเปรียญเมื่อสมเด็จพระสังฆราชแตงโมสิ้นพระชนม์แล้ว ↩
-
๗. ังเคตพระสวดที่โปรดนี้ เดี๋ยวนี้เอามารักษาไว้ที่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ↩
-
๘. กระแสพระราชดำริห์ซึ่งจะสร้างที่ประทับที่บ้านปืนนี้ เกิดแต่เมื่อเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง แพทย์ได้กราบทูล ฯ กำชับให้ระวังพระองค์ ว่าถ้ามีอาการประชวรแม้โดยพระโรคจรเปนไข้จับ พระโรคประจำพระองค์อาจจะกำเริบ เมื่อเสด็จกลับทรงปรารภว่าในเดือนกันยายนจวนงารเฉลิมพระชันษาเปนเวลาฝนชุก มักจะประชวรไข้เนือง ๆ เคยเสด็จประพาสโปรดอากาศที่เมืองเพ็ชร์บุรี ว่าในเดือนกันยายนมิใคร่ชื้น จึงโปรด ฯ ให้สร้างพระราชฐานที่สำหรับจะเสด็จออกไปประทับในเวลาฝนชุกชื้นจัดในกรุงเทพ ฯ ↩
-
๙. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ ใหญ่ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิ เปนกรมพระเทพนารีรัตน์ ↩
-
๑๐. พระมหาสมณวงศ์ชื่อ แท่น ↩
-
๑๑. พระพิศาลสมณกิจ ชื่อ ริด เดิมเปนเปรียญอยู่ วัดอรุณ ↩