พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔

เมืองสมุทสงคราม

วันที่ ๑๐ กันยายน ร. ๔๒ศก ๑๒๘

ถึงมกุฎราชกุมาร

ด้วยได้รับหนังสือฉบับที่ ๒ ส่งรายวันราชการ ๕ รายวันมานั้นได้ทราบแล้ว

อนุสนธิรายงารบอกระยะทางต่อจากหนังสือฉบับที่ ๓ ครั้งก่อน เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ได้ให้กระบวรข้างในลงเรือยนต์ ๒ ลำล่วงน่าไปก่อน เพื่อจะไปขึ้นที่บ้านโป่ง ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วแลไปเมืองราชบุรีโดยรถไฟ ตัวฉันเองได้ล่องโดยเรือกระบวร เพราะได้รับคำเชิญให้เปิดสพานที่ตำบลโพธาราม เรือล่องเร็วกว่าที่คาดหมายมาก ได้มาถึงโพธารามในเวลาเที่ยง ขึ้นสพานอันจะเปิดนั้น เดิรตรงขึ้นไปตามหนทางที่จะไปสเตชั่นรถไฟ แล้วเลี้ยวซ้ายไปวัดโพธาราม ออกจากวัดโพธารามลงตามทางซึ่งตรงลงไปสพานวัด แต่เปนร้านขายของทั้ง ๒ ฟาก แล้วจึงเลี้ยวไปตามในตลาดริมน้ำ ไปจนสุดตลาดซึ่งเกือบจะถึงที่ว่าการอำเภอ รายฎรได้ดาดปรำปูผ้าตลอดทาง ตำบลโพธารามนี้เปนที่ตลาดอย่างสำเพ็งยืดยาวมาก ผู้คนแน่นหนา จำนวนคนในอำเภอโพธารามถึง ๔๐,๐๐๐ มากกว่าอำเภอเมืองราชบุรี เมื่อเสร็จการเดิรตามตลาดตลอดแล้ว กลับลงเรือล่องมาถึงที่พักเมืองราชบุรีเวลาบ่าย ๔ โมง แต่พวกที่ไปพระปฐมเจดีย์ได้กลับมาถึงต่อเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ

วันที่ ๙ กันยายน ระยะทางวันนี้สั้น ออกเรือสายล่องลงมาถึงหน้าที่ว่าการเมืองสมุทสงคราม พักที่แพตามเคย แล้วได้ลงเรือยนต์ออกไปดูที่ปากอ่าว แล้วแล่นกลับขึ้นมาเข้าไปดูคลองสุนัขหอนหน่อยหนึ่ง แล้วกลับแล่นขึ้นไปอำพวา แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการนายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน แล้วล่องกลับไปเข้าคลองอำพวา ประสงค์จะไปให้จนถึงวัดดาวโด่ง แต่เห็นคลองดาวโด่งแคบลงทุกทีกลัวจะกลับเรือไม่ได้ จึงได้ล่องกลับออกมาตามทางเดิม แวะกินน้ำชาที่บ้านชายบริพัตร ซึ่งตั้งอยู่ในคลองอำพวาไม่ลึกเท่าใด แล้วจึงได้กลับมาเรือ วันนี้มียุงแต่ยังน้อยกว่ากรุงเทพฯ

วันที่ ๑๐ กันยายน ลงเรือไปขึ้นที่วัดอำพวันเจดียาราม พวกราชนิกูลมาคอยเฝ้าในที่นี้ วัดนี้ได้ลงมือปฏิสังขรณ์บ้างตั้งแต่มาคราวก่อนไม่ใคร่กระเตื้องขึ้นได้ เหตุด้วยใหญ่โตมาก ไม่มีสมภารดีๆ เหลือแต่พระอนุจรอยู่ ๖ รูป เสนาสนะทรุดโทรมทั่วไปทุกแห่ง การปฏิสังขรณ์ ได้ทำแต่เฉพาะพระอุโบสถ แต่คราวนี้เขาได้ถางที่ทั่วถึง แลเห็นขอบเขตวัด ซึ่งน่าจะมีราษฎรรุกเหลื่อมเข้ามาเสียมากแล้ว จนที่คอด ๆ กิ่ว ๆ ไม่เปนเหลี่ยม แต่กระนั้นยังใหญ่โตมาก เห็นว่าการซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้ คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด จะไม่ใช่แต่เจ้าของเดียว จะพลอยศรัทธาตามเสด็จสมเด็จพระอมรินทรไปด้วยอีกมากเจ้าของด้วยกัน สิ่งซึ่งลูกสร้างจึงเที่ยวรายอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วไป น่าจะเปนว่าที่เดิมที่สำคัญตั้งพระอุโบสถขึ้นแล้ว ที่ใครมีอยู่ใกล้เคียงถวายเพิ่มเข้าอยู่ในวัด สร้างเปนกุฎีบ้างศาลาบ้าง วิหารการเปรียญบ้าง รายกันไปไม่ได้คิดวางแผนที่ในครั้งเดียว มีจนกระทั่งถึงเมรุยอดหลังคามุงกระเบื้องขนาดใหญ่ แต่อายุของงารที่ทำหรือปฏิสังขรณ์ย่อมต่าง ๆกัน ทรวดทรงพระอุโบสถเปนอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เทือกวัดสุวรรณดาราราม แต่พระประธานเปนอย่างวัดอรุณ แต่เดี๋ยวนิ้ผิดพระเศียร น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไร ซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า พระพักตรเลวกว่าพระองค์ แลซ้ำเลวกว่าพระสาวกไปด้วย ซุ้มเสมาเปนของรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง พระวิหารแลกุฎีใหญ่เปนฝีมือรัชกาลที่ ๓ พระปรางค์มีระเบียงล้อม รูปบานบนซึ่งแปลกไม่มีที่ไหนโตเท่านี้ ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฏิสังขรณ์อีก ๔,๐๐๐ บาท แลเรี่ยรายได้บ้าง เห็นว่าวัดอำพวันนี้คงจะได้คิดจะให้เปนคู่กันกับวัดสุวรวรณดาราราม จึงได้ทรงสร้างบางอย่างทุก ๆ รัชกาลมา จะทิ้งให้สาบสูญเสียเห็นจะไม่ควร ข้อขัดข้องสำคัญนั้น คือหาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อนมาเปนวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้นเห็นจะเปนด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมแลวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่าง ๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนี้ จนราษฎรในคลองอำพวา ก็พากันเข้าไปทำบุญเสียวัดปากน้ำลึกเข้าไปข้างใน การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่นนอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้

กลับจากวัดไปทำครัวเลี้ยงกลางวันกันที่บ้านชายบริพัตร บ้านนี้ทำเปนเรือนอย่างไทย สองหลังแฝด แลหอนั่งใหญ่มีชานแล่นตลอด เปนที่สบายอย่างไทย ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอนิเชอไทยๆ งามดี เลี้ยงกันแล้วได้ลงเรือพายไปตามคลองอำพวา แวะวัดดาวดึงส์ที่เคยหยุดพักกินเข้าแต่ก่อน แล้วเข้าคลองดาวโด่ง ไปจนถึงวัดดาวโด่ง แวะที่วัดซึ่งได้โดยดูบวชนาคแต่ก่อน คิดจะไปบางใหญ่แต่เห็นจะไม่ทันด้วยเย็นเสียแล้ว จึงได้เลี้ยวลงทางคลองขวาง ไปออกคลองสุนัขหอน แล้วกลับเข้าคลองลัดจวนขึ้นมาออกปากคลองเหนือที่ว่าการ

เมืองสมุทสงครามนี้ ท่วงทีภูมิฐานเหมือนอย่างกรุงเทพฯ ฝั่งตวันตก แถบคลองบางใหญ่บางคูเวียง มีทางที่จะเที่ยวซอกแซกได้มาก ถ้าจะลงเรือเล็กไปเที่ยวจะไปได้หลายวัน คนในพื้นเมืองมีความนิยมนับถือเจ้านาย แลไว้ตัวเปนที่สนิธสนมทั่วไป

ตั้งแต่กลับลงมาจากกาญจนบุรีแล้ว ไม่มีฝนตกมาก มีแต่ฝนประปรายเล็กน้อย น้ำเวลาเช้าแห้งขอด การที่จะไปเพ็ชรบุรีเรือจะออกได้ต่อเวลา ๔ โมงเช้าล่วงไป การทั้งปวงเปนที่เรียบร้อยดีอยู่หมด

สยามินทร์

  1. ๑. เรื่องเสด็จปลอมไปประพาสบ้านขุนวิชิตสมรรถการ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗ ความพิสดารแจ้งอยู่ในหนังสือ “จดมายเหตุประพาสต้น” ซึ่งพิมพ์แล้วหลายครั้ง

  2. ๒. เมื่อเสด็จกลับได้โปรดฯตั้งพระครูวัดบ้านแหลมขึ้นเปนพระมหาสิทธิการที่พระราชาคณะ ไปอยู่วัดอัมพวันเจติยาราม,.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ