พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓
เมืองกาญจนบุรี
วันที่ ๗ กันยายน รัตนโกสินทร๔๒ศก ๑๒๘
ถึงมกุฎราชกุมาร
ได้รับหนังสือฉบับที่ ๑ กับรายวันราชการ วันที่ ๓๐ ที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทราบความแล้ว
อนุสนธิใบบอกรายงารต่อฉบับที่ ๒
วันที่ ๓ เมื่อเวลาเช้าฝนตกหนัก ได้จัดการไว้ว่าจะไปปฐมเจดีย์จนต้องคิดเลิก ด้วยเหตุว่าจะหาพาหนะอันใดไปให้ถึงสถานีซึ่งอยู่กลางทุ่งไม่ให้เปียกฝนเปนว่าหามิได้ รถม้าก็มีพวกรถเช่าพอใช้ได้ รถเจ๊กก็มีแต่ไม่พอที่จะร่มฝนได้เลยสักสักอย่างเดียว กำหนดรถไฟเวลา ๒ โมงครึ่ง จน ๓ โมงแล้วฝนก็ยังตกสักครู่หนึ่งจึงหยุด ถ้าหากว่าจะย้อนไปขึ้นรถไฟถึงสถานีต้องเกินเวลา แต่รถไฟเขายอมมารับที่สพานจึงเปนอันสำเร็จได้ ขึ้นรถไฟพิเศษไปปฐมเจดีย์ ส่วนข้างในขึ้นไปด้วยกระบวร
เมื่อถึงปฐมเจดีย์ ได้แวะไปตูตลาดทั้ง ๒ ข้าง เห็นติดแน่นหนาบริบูรณดี เกือบจะว่าตลาดไหนสู้ไม่ใด้ แต่พื้นยังเปนโคลนลุ่มดอนต้องโรยแกลบ จะต้องคิดจัดการใหม่ให้สอาดขึ้น ส่วนถนนที่เปนของสุขาภิบาลก็ยังไม่ได้ถมหิน เห็นว่าเปนการสมควรแท้ที่จะต้องถมหินอย่างราชบุรี แล้วแต่การที่จะทำนั้น ถ้าทำให้มั่นคง คือมีหินเปนอับเฉาหินก้อนย่อมแล้วจึงโรยละเอียด ซึ่งต้องลงทุนมากแต่ทนนานนั้น จะดีกว่าที่จะรีบโรยให้ทั่วไปทุกถนน เพราะที่ปฐมเจดีย์ถึงถนนไม่ได้โรยหินก็แห้งเร็ว รถไม่มีกี่คัน ถ้าทำเสียให้ดีถึงจะได้แต่ทีละน้อยคงจะทนไปได้ตั้ง ๑ ปี ถนนซ้ายพระจากสถานีไปดูเรียบร้อยดี ต้นมะขามงามตลอดจนถึงบันไดใหญ่ดูเปิดเผย แต่ตึก ๒ ข้างถนนออกจะไม่ใคร่ติดเพราะเข้าไปรุมกันอยูในตลาดเสียหมด พระปฐมเจดีย์แปลกกับที่อื่น ถ้าไม่เข้าไปในตลาดแล้วดูคนละไม่มีเท่าไร ได้ขึ้นรถไปดูถนนเทศาจนตลอด ต้นมะขามงามดีเหมือนกัน แล้วคิดจะไปทักษิณพระปฐม แต่ด้วยเหตุที่ฝนตกตั้งแต่ ๗ ทุ่มจนถึง ๒ โมงเช้า ปลายถนนหน้าพระแลถนนขวาพระจมอยู่ในน้ำ ต้องขับรถไปในน้ำเช่นนั้น เลี้ยวถนนหลังพระ เปนน้ำเปนโคลน จะไปแห่งใดอีกด้วยรถไม่ได้ แต่เวลายังวันอยู่ จึงได้ขึ้นรันแทะสปริง กลับไปทางถนนหลังพระ แล้วไปตามถนนไปสนามจันทร ซึ่งปลูกต้นขี้เหล็กงามอยู่มากแล้ว จนถึงบ้านสนามจันทร๑ ได้พบฝรั่งที่ใช้ให้เพาะปลูกอะไรอยู่ในที่นั้น มีน้ำฝนขังเปนแห่ง ๆ ได้ขึ้นดูเรือนมีลมพัดเย็น แต่ดูการตกแต่งพื้นแผ่นดินจะยังมากอยู่ กลับมาทางเดิมเลยไปถนนขวาพระ วัดนับว่าเปนอันแล้วสำเร็จดูใหญ่โตมาก แต่น้ำฝนขังท่วมไปทั้งนั้น ได้ขึ้นลานพระปฐมทางถนนหน้าพระ พระนิกรม๒ ไปคอยอยู่ที่วิหารตวันออก ไต่ถามได้ความว่าเปนที่เรียบร้อย การประดับกระเบื้ององค์ปฐมเจดีย์ยังมากอยู่ แต่การข้างล่างดูเรียบร้อยบริบูรณ์ดีขึ้น ต้นมฮอกานีลองปลูกไว้บนลานพระ ไม่โตตามที่ควรจะโต เห็นจะเปนด้วยรากติดอิฐข้างล่าง แต่ถ้าจะตัดดูลายไม้ น่าจะดีกว่าไม้ที่ปลูกพื้นแผ่นดิน คิดจะปลูกต้นมฮอกานีถนนหลังพระให้ตลอด เปนการทดลองดูว่าพื้นที่เปนทรายเช่นนั้นจะงามห่รือไม่
พระยาศิริไชย๓ เลี้ยงกับเข้าอย่างจีน แลพักอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมง จึงได้ขึ้นรถไฟกลับมาลงที่บ้านโป่ง พักพลับพลาแรม
วันที่ ๔ ได้ขึ้นมาด้วยกระบวรเรือไฟ เพราะท้องไม่สู้ปรกติ แต่ก็พอดีที่ถูกฝนกลางทาง พักที่พลับพลาตรงท่าเรือพระแท่นข้าม พลับพลา ๒ แห่งนี้เขาทำบนบกแขวนสูงเต็มที ด้วยเวลาเมื่อแรกทำกำลังน้ำมากถูกเวลาน้ำลดเข้าต้องปักปรำเติมประดักประเดิดมาก พระยาประสิทธิ์สงคราม๔ลงมาแจ้งว่าน้ำกำลังขึ้น เห็นจะไม่สู้ขัดข้องอย่างเช่นที่คาดไว้แต่ก่อน ร้องเดชะพระบารมี ฝนก็ไม่ใคร่จะมี แต่ที่น้ำขึ้นมาเห็นจะเปนด้วยฝนข้างเหนือ
วันที่ ๕ มาโดยเรือกระบวรอีก ถึงพลับพลาเมืองกาญจนบุรีเวลาบ่าย ๕ โมง ระยะทางที่มา ๒ วันก่อนจืดเต็มที่ จะว่าน้ำมากพอแลเห็นบนตลิ่งก็ไม่ใช่ จะว่าน้ำน้อยสนุกในเชิงหาดก็ไม่ใช่ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เบื่อตา แต่ระยะทางวันนี้มีภูเขาสนุกงดงามดี
สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า คนคงจะมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ฝั่งน้ำที่เปนป่าเปลี่ยวมีน้อย พระยาประสิทธิ์สงครามว่าไร่ยาตลอดไปทั้งนั้น ราษฎรที่ได้พบปะ บอกว่าราคายากำลังดีทุกปาก
พลับพลาครั้งนี้ไม่ได้ตั้งที่เดิม เขาย้ายลงมาตั้งตรงวัดใต้ข้ามฝั่งตวันตก แรกมาถึงแทบจะจำไม่ได้ เหตุด้วยเคยเห็นกาญจนบุรีมา ๓ เที่ยวแต่ก่อนเปนน่าแล้งทุกครั้ง คราวนี้น่าน้ำดูเปนอื่นไป ต้องลงเรือเล็กพายไปเที่ยวดูหลักฐานที่เคยจำจึงนึกได้ พลัยพลาที่นี่ทำบนบวบเปนแพ ปักแต่ปรำเรือจอดสบาย ขึ้นลงง่าย
วันที่ ๖ ลงเรือยนต์เล็ก ๒ ลำ ข้างในไปเรือใหญ่ ๒ ลำขึ้นไปลำแม่น้ำน้อย แวะที่เตาปูน ซึ่งภรรยาข้าราชการแลพ่อค้ามาตั้งร้านของเลี้ยงเปนที่ร่มมีต้นไม้ ใหญ่มาก ต้นทางที่จะขึ้นไปถ้ำใหม่ หยุดพักเลี้ยงดูกันแล้ว ได้ลงเรือแล่นต่อขึ้นไป ข้ามแก่งหลวงแก่งน้อยซึ่งไม่มีอะไรสังเกตได้นอกจากกรุย ช่างไม่ขบขันเสียจริง ๆ ขึ้นไปหยุดพักจอกเรือกินกลางวันที่วังหมึก แล้วจึงแล่นต่อไปจนถึงลำพาชี เปนระยะทางเท่าที่เคยขึ้นไปด้วยเรือแจวน่าแล้ง ๓ วันจึงได้กลับ ถูกฝนเมื่อจวนจะออกจากแม่น้ำน้อย
วันที่ ๗ วันนี้ได้ขึ้นไปดูเมือง ขึ้นตรงประตูเหนือ แล้วเลี้ยวมาหน้าเมืองดูป้อมกำแพง ชำรุดมากกว่าราชบุรี ไปจนถึงวัดท้ายเมืองแวะที่วัดเรียกว่าชุมพลชะนะสงคราม แล้วกลับเข้าประตูข้างใต้ ซึ่งแบ่งเขตเปนฝ่ายทหาร ดูที่ว่าการแลโรงทหารแล้วไปแวะที่หลักเมืองซึ่งมิศิลาจาฤก กำหนดเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ขึ้นมาสร้าง ดูศาลแลศาลากลาง ผ่านออกทางประตูเหนือไปตามตลาดเหนือเมือง จนถึงวัดเหนือเรียกว่าวัดเทวะสังฆาราม วัดแรกเปนพระครูเจ้าคณะเมือง วัดหลังนี้เปนพระครูเจ้าคณะรอง คล่องแคล่วทั้ง ๒ คน สวดมนต์แขง สมทบกันมาสวดที่แพตรงเรือข้ามทุกคืน สวดเหมือนพระบางกอกในวัดที่ไม่ขี้เกียจด้วย๕ แต่วัดหลังเห็นจะมีสับปุรุษติดมาก บริบูรณกว่าวัดแรก ราชฎรมาคอยหาเปนอันมาก จนถึงพวกบ้านหนองขาวก็พากันมา พวกราชฎรหนองขาวนั้นอยู่ข้างจะเก่งในการพูดจากล้าหาญ เคยเฝ้ามาแต่รัชกาลที่ ๔ กราบทูลให้ถอดพระยากาญจนบุรีครั้งนั้นเสียคนหนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้ถอดเจ้าเมืองเสียคนหนึ่งเหมือนกัน มีราษฎรมาสานเสื่อไม้รวกให้ดู การที่สานวันนี้เปนพิเศษ ทำพร้อมกันถึง ๑๐ คน เปนเสื่อขนาดใหญ่ แต่ถ้าปรกติเขาทำกว้าง ๔ ศอก ยาว ๔ ศอก ๒ คนถือไม้ ซึ่งเรียกว่าและคนละอัน หันหัวออกข้างนอกคนละข้าง ใช้เปลือกแสลงพรรณตีขัดเปนลายทำรวดเร็วดี ทำ ๒ คนนั้นได้วันละผืน ราคาผืนละ ๕ สลึง ถ้าผืนขนาดใหญ่ราคาก็มากขึ้นไป ของในตลาดไม่เห็นมีอะไรนอกจากของกรุงเทพ ฯ แลผลไม้ ในพื้นเมือง
มีวัดญวนมาตั้งประชิดติดอยู่กับวัดเหนือนี้วัดหนึ่ง ได้ตั้งมาช้านานแล้ว มีพระพุทธรูปใหญ่ ๓ องค์ ว่าเปนพระศิลาไปทำมาแต่เมืองกาญจนบุรีเก่า อาการกิริยาของวัดแลของพระหันเข้ามาข้างไทย พระพุทธรูปไม่มีพระจีนเลย เวลาสวดก็นั่งสวดอย่างไทย ๆ ดูเปนอย่างเจ๊กอยู่ก็ยังมีที่จุดประทัดแลทอดติ้ว เห็นจะคิดเห็นว่าไม่ผิดอะไรกันกับวัดพนัญเชิงแลวัดกัลยาณมิตร๖
ที่จริงภูมิฐานเมืองปากแพรกดีกว่าเมืองที่เขาชนไก่ เพราะตั้งอยู่ในที่ร่วมแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๒ แม่น้ำ พื้นแผ่นดินที่ตั้งเมืองก็สูง แลเห็นแม่น้ำน้อยได้ไกล ป้อมกลางย่านตั้งอยู่ตรงลำน้ำทีเดียว แต่การก่อสร้างช่างไม่แน่นหนาเสียจริง ๆ ชำรุดแหว่งเว้าหรอไปได้เอง เมืองนี้ใช้ใบเสมาที่เรียกว่าเสมาป้อม ไม่ใช้ใบเสมาที่เปนหลักอย่างเมืองราชบุรี ลักษณะรูปเสมาย่อมเกิดมาจากค่ายทำด้วยไม้ เสมาอย่างกรุงเทพฯ นั้น เดิมคงจะใช้ไม้ทั้งต้น หยักปลายเปนรูปเม็ด ฝ่ายใบเสมาป้อมนั้นคงจะเกิดขึ้นด้วยตั้งกระดานระเนียด แล้วแหวะปลายระเนียดลงไว้เปนช่องปืน ครั้นเมื่อทำป้อมก่ออิฐถือปูนก็ยังใช้ตามแบบเดิมนั้นติดมา เมืองกาญจนบุรีนี้เล็กกว่าเมืองราชบุรีมาก
สอบถามดูระยะทาง ตั้งแต่ปากแพรกขึ้นไปถึงลาดหญ้า ซึ่งอยู่ในลำน้ำใหญ่ ๓ ชั่วโมง ตั้งแต่ลาดหญ้าขึ้นไปเขาชนไก่อีกชั่วโมงหนึ่ง เปน ๔ ชั่วโมง ถ้าจะขึ้นไปเมืองศรีสวัสดิ์ ทางเรือแจว ๑๕ คืน เพราะน้ำแรงมาก เรือยังเดิรต่อไปจากศรีสวัสดิ์ได้อีก ๕ คืน น้ำแควใหญ่เวลานี้เรือยนต์เดิรไม่สดวก รพี๗ได้ขึ้นไปลองดูเพื่อจะตรวจทาง ใบจักรบิ่น เพราะฉนั้นจึงได้เลิกไม่ขึ้นทางแควใหญ่จนถึงเมืองเก่าดังที่ได้กะไว้ ซึ่งเปนดังนี้เพราะน้ำมีน้อยเท่านั้น ถ้าหากว่าได้มาตามกำหนดเดิมจะขึ้นไปถึงไหนก็ขึ้นไปได้
ผู้ที่มาไม่มีผู้ใดเจ็บไข้เพราะดินฟ้าอากาศของเมืองนี้ เปนแต่เจ็บไข้มาแต่เดิม หรือเปนด้วยเหตุอื่น ๆ
สยามินทร์
-
๑. ได้สร้างเปนวังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในสมัยนั้น ↩
-
๒. พระนิกรมมุนี (ช้อน) ภายหลังได้เลื่อนเปนพระราชโมลีมาอยู่วัดราชบุรณะ ↩
-
๓. พระยาศิริไชยบุรินทร (สุข โชติกเสถียร) ผู้ว่าราชการเมืองนครชัยศรี ต่อมาเปนเลื่อนเปนพระยารณไชยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ ↩
-
๔. พระยาประสิทธิสงคราม (นุช มหานีรานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ต่อมาเปนพระยาสัตยานุกูล ↩
-
๕. สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์ เวลาเสด็จประพาสตามหัวเมือง ถ้าพลับพลาอยู่ใกล้วัด เวลาเย็นโปรดให้บอกพระสงฆ์ว่าเคยสวดมนต์ทุกวันอย่างใดให้สวดตามเคย อย่าหยุดเสียเพราะเหตุที่เสด็จประทับอยู่ใกล้วัด พระสงฆ์วัดไหนสวดมนต์ดี บางทีก็พระราชทานรางวัล พระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ถวายทรงฟังที่เมืองกาญจนบุรีครั้งนี้ เสด็จประทับอยู่ ๓ คืน สวดถวายทรงฟังจบทั้ง ๔ ภาณ ได้พระราชทานรางวัลชั่ง ๑ ↩
-
๖. วัดญวนเกิดมีขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อรัชกาลที่ ๓ ครั้งทำสงครามกับญวน มีพวกญวนสมัคตามกองทัพเข้ามาอยู่เมืองไทย พวกที่เข้ารีดถือสาสนาคริสตังโปรด ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามเสนด้วยกันกับพวกเชื้อสายโปรตุเกศถือสาสนาคริสตัง ซึ่งเข้ามาจากเมืองเขมรก่อนนั้น ส่วนพวกญวนที่ถือพระพุทธสาสนาโปรดให้ออกไปรักษาป้อมซึ่งสร้างขึ้นใหม่ที่เมืองกาญจนบุรี จึงเกิดมีบ้านและวัดญวนขึ้นในที่นั้น ครั้นถึงรัชถาลที่ ๔ พระราชทานอนุญาตพวกญวนเมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีใจสมัคจะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม จึงได้สร้างวัดญวนนั้น พระราชทานนามว่า “วัดสมณานัมบริหาร” ยังปรากฎอยู่ในท้องที่อำเภอดุสิต ↩
-
๗. พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ ↩