ในคำประกาศนั้นมีความว่า...

ในคำประกาศนั้นมีความว่า

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ขอประกาศแก่เทพนิกรทั้งหลายเปนอาทิ คือโลกบาลมหาเทวราช แลเทพยเจ้าผู้มีฤทธิอำนาจ มีทิพยโสตทิพยจักษุเปนอันประเสริฐ ซึ่งบังเกิดประดิษฐานอยู่ในทิพยพิมานมาศ อันมีนิไสยในภูมพฤกษบรรพตากาศกาญจนรัตนมณเฑียร เปนอาทิ ทั้งปวงทุกสถาน แลท้าวเทวราชซึ่งเปนประธานาธิบดีในพระราชวราณาเขตร เปนท้าวเทเวศร์ยิ่งใหญ่ แลท้าวเทวราชที่ได้มีทิพยเทวานุภาพเปนชั้นสองรองลงมา แลเทพยดาซึ่งมีทิพยศักดิพิเศษในประเทศนานา คือพระภูมเทพยดาอันสถิตย์ในจังหวัดพระนครแลเคหวัดถุสถาน คือพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง แลพระกาฬไชยศรีอันเรืองฤทธิสิทธิศักดิ์ แลเทพยเจ้าอันรักษานพปดลเสวตรฉัตราติฉัตรศิริรัตนราไชสวริยาธิปัติ แลเทพยเจ้าซึ่งรักษาในจังหวัดพระราชนิเวศน์บรมมหาสถาน เทพยเจ้าอันอภิบาลเกษตรารามตามทิศานุทิศ เทพยนิกรทั้งปวง ขอจงเงี่ยทิพยโสตรลงสดับรับคำประกาศนี้

อนึ่งขอประกาศให้ทราบด้วยดีแก่พระบรมราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย บรรดาซึ่งมาสโมสรสันนิบาตประชุมพร้อมกันในการเริ่มมงคลราชพิธีสัจจปานการอันนี้ จะขอเริ่มคำประกาศพระมหามณีรัตนปฏิมากรนี้ มีเรื่องในหนังสือตำนานโบราณแต่งเปนภาษามคธไว้ เรียกชื่อว่ารัตนพิมพวงษ์ เล่าเรื่องเดิมของพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้สืบมา มีใจความในตำนานพระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น ข้างต้นว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์พระองค์หนึ่งมีนามว่า พระนาคเสนเถร ในเมืองปาตลีบุตร จึงพระนาคเสนเถรเจ้าผู้เปนพระอรหันต์ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญา ได้อธิษฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรถึงเจ็ดพระองค์ คือในพระโมฬีพระองค์ ๑ ในพระนลาตพระองค์ ๑ ในพระอุระพระองค์ ๑ ในพระอังษาทั้งสองข้างสองพระองค์ ในพระชาณุทั้งสองข้างสองพระองค์ เปนเจ็ด เนื้อแก้วก็ปิดมิดชิดสนิทติดเปนเนื้อเดียวดังเดิม ไม่มีแผลมีช่องแลเห็นตลอดเข้าไปเลย พระมหามณีรัตนปฏิมากรอยู่เมืองนั้นแล้ว ตกไปลังกาทวีป แล้วตกมาเมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุทธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพ็ชร แล้วภายหลังตกไปอยู่เมืองเชียงราย เจ้าเชียงรายหวังจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองประจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองนั้น เรื่องตั้งต้นมาจนถึงที่นี้ มีเรื่องราวเล่ายืดยาวไปดุจมีคนได้รู้เห็นเปนแน่ แลความนั้นใครมักเชื่อง่าย ๆ ก็จะย่อมเห็นว่าเปนจริงตามตำนานที่กล่าวมานั้น ที่ไม่เชื่อก็จะคิดวิตกสงไสยไปต่าง ๆ ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ฤๅฝีมือเทวดาสร้าง พระพุทธเจ้ารูปร่างเหมือนอย่างนี้เปนฝีมือเทวดาแน่แล้วฤๅ จะเปนที่สงไสยไม่ตกลงกัน ก็ปรกติคนโบราณแรกมีหนังสือขึ้นใช้ยังไม่มีหนังสือเก่า ๆ มาก เมื่อแต่งหนังสือใด ๆ นึกจะเขียนไว้อย่างไรก็เขียนไป มิคิดว่านานไปจะมีคนภายน่าที่มีปัญญาแลสติตริตรองเทียบเคียงมาก จะเชื่อคำของตัวฤๅไม่เชื่อนั้นไม่ใคร่จะคิด การเรื่องข้างต้นนั้นไม่มีพยานมากยกไว้ก่อน จะขอกล่าวข้อความเรื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ แต่ที่ควรจะเชื่อได้ แลแต่โดยอนุมานตามสลักสำคัญ ที่มีในองค์พระพุทธปฏิมากรนั้น ว่าเนื้อน้ำแก้วศิลาซึ่งเปนพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้อย่างนี้ เห็นจะมีบ่อที่เกิดข้างเมืองฝ่ายเหนือ ที่ต่อกับแดนจีน เพราะตัวอย่างเคยเห็นมีมาแต่ข้างเมืองจีนบ้าง ดูคล้ายแก้วอย่างนี้ แต่ที่จะดีใหญ่ถึงเท่าแก้วที่เปนองค์พระนี้ก็ไม่เคยได้เห็นแลได้ยินเปนแน่ว่ามีที่ใดอิกเลย อนึ่งจะว่าด้วยฝีมือช่างที่ทำพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นเล่า เมื่อพิจารณาเทียบเคียงดูก็เห็นเปนฝีมือช่างที่เอกทีเดียวในครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง จะเปนฝีมือช่างข้างอินเดียคือเมืองเบงคอลราฐสุรัฐ แลเมืองแขกพราหมณ์ข้างมัชฌิมประเทศ ที่ไทยเรียกเมืองเทศนั้นก็มิใช่เลย อนึ่งจะเปนฝีมือสิงหฬมอญพม่าเขมร แลไทยเหนือแลจีนก็มิใช่ ดูฝีมือไม่ใกล้เคียงคล้ายคลึงกันกับพระพุทธรูป ซึ่งเปนฝีมือช่างในเมืองทั้งปวงที่ออกชื่อมานั้นเลย ถ้าจะว่าเปนฝีมือเทวดาดังตำนานว่า ก็เห็นว่าฝีมือเทวดาคงจะผิดกว่าฝีมือช่างมนุษย์ทั้งปวงไปทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบไปโดยเลอียดดูเหมือนว่าจะเปนฝีมือช่างลาวเหนือโบราณข้างเมืองเชียงแสน เห็นคล้ายคลึงมากกว่าฝีมือช่างเมืองอื่น แลถึงจะเปนช่างที่เมืองลาวก็จะเปนช่างดี ช่างเอกทีเดียว มิใช่เลวทราม ด้วยเปนของงามดีเกลี้ยงเกลามากอยู่ไม่หยาบคาย เพราะฉนั้นควรจะคาดการแน่ว่าตามเหตุที่เห็นอยู่รอบคอบว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ คงจะเปนของท่านผู้มีบุญเปนเจ้าแผ่นดินเมืองของชนที่นับถือพระพุทธสาสนา มากกว่าถือผีสางเทวดาแลลัทธิอื่น ๆ แลมีบุญญานุภาพแขงแรงมากกว่าเมืองใกล้เคียงโดยรอบขอบ แลแผ่อาณาจักรได้โตใหญ่ สมควรแก่เวลาเมื่อมนุษย์ยังไม่มีปืนใหญ่ปืนน้อยใช้ มีแต่ธนูน่าไม้หอกดาบแหลนหลาวรบพุ่งข่มขี่กันด้วยกำลังกายแลพวกพ้องมากเท่านั้น ท่านที่เปนเจ้าของเดิมที่ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้คงจะมีอานุภาพมาก จึงได้แก้วก้อนใหญ่ถึงเพียงนี้มา ไม่มีผู้อื่นที่จะคิดฤษยาช่วงชิงไปได้ แลมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนามากกว่าอยากได้เงินทอง แลเกียรติยศตามวิไสยโลกย์ จึงไม่ได้ขายแก้วนั้นเสียแก่เมืองอื่นเอาเงินทองก็ดี ฤๅจะเก็บแก้วก้อนนั้นไว้ทั้งใหญ่ ๆ ไว้อวดผู้อื่นให้เปนเกียรติยศก็ดี เห็นท่านผู้นั้นจะมีศรัทธาปลงเห็นว่าสิ่งอื่นจะยิ่งกว่าพระพุทธรัตนไม่มี ถ้าว่าแก้วก้อนนั้นทำเปนพระพุทธรูปเห็นจะประเสริฐยิ่งกว่าเก็บไว้แลจะใช้อย่างอื่น จะเปนเกียรติยศในชาตินี้แก่บ้านเมืองนั้น แลจะเปนกุศลให้ผลเปนประโยชน์ในชาติน่าแก่ผู้ที่ได้สร้างเปนพระพุทธรูปนั้น จึงสู้เสียแก้วก้อนใหญ่ ให้มาเลื่อยตัดผ่าเจียรไน ให้ได้สัณฐานแลประมาณที่ควรเปนองค์พระพุทธรูป แลเพราะเสียดายเนื้อแก้วก้อนใหญ่ จึงให้เหลือเศษไว้ภายใต้พระพุทธปฏิมานั้น หาได้ตัดเสียให้ราบเสมอไม่ แลก็เพราะมีเดชานุภาพมาก ของแขงนักจะตัดแต่งแก้ไขได้โดยยาก ก็ยังอุสาหให้ทำจนสำเร็จได้ด้วยฝีมือช่างคนเดียวฤๅหลายคนที่เปนฝีมือดีรู้ท่วงทีสัณฐาน ประมาณทำการโดยพินิจหมดจดสนิทชิดชม ไม่มีที่ติได้นัก จนถึงขัดผิวชักเงาเกลี้ยงเกลาสิ้นขนแมว แก้วจะขัดผิวชักเงาให้ขึ้นได้ดีที่สุดเพียงใด ก็ทำได้ถึงที่เพียงนั้น ความอนุมานเห็นดังว่ามานี้ แต่จะยืนยันความเปนแน่ชัดว่า พระมหามณีรัตนพุทธปฏิมากรพระองค์นี้เปนของท่านผู้ใดสร้างขึ้นไว้ แลสร้างในประเทศใดตำบลใด แลสร้างในกาลครั้งใดคราวใดนั้น จะชี้กำหนดแน่ชัดให้ควรเชื่อได้ พ้นจากคำที่ไม่เชื่อนั้นก็ไม่ได้ จะเล่ายืนยันความเรื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ได้แต่ความใกล้ ๆ แต่ใน ๔๐๐ ปีเศษลงมา เพราะมีจดหมายเหตุในเมืองต่าง ๆ ซึ่งพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ได้เคยประดิษฐานอยู่ในระยะกำหนดกาลนั้น ๆ ยืนยันกันแม่นยำ ทั้งถ้อยคำเล่าขานของคนโบราณชาวเมืองเหล่านั้น เล่าการที่ประจักษ์ทักแท้ก็ต้องกันสมกัน จึงควรเชื่อว่าเปนจริงได้นั้นคือดังนี้ ให้พึงรู้เปนแน่เถิดว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ มีผู้สร้างแล้วแต่เมื่อใดที่ใดก็ดี แลด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องทาด้วยปูนผสมน้ำผึ้งฤๅน้ำอ้อยแล้วทาด้วยรักปิดทองคำเปลวดังพระพุทธรูปสามัญ ที่ทำด้วยศิลา แล้วมีผู้เชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ในพระอารามหนึ่งในเมืองเชียงรายก็ดี การอันนี้เปนก่อนแต่ปีมโรงอัฐศกศักราช ๗๙๘ พระพุทธสาสนกาล ๑๙๗๙ พรรษา ได้ความเก่าลึกขึ้นไปอิกน้อยหนึ่ง ว่าเมืองเชียงรายแต่ก่อนนั้น ครั้งหนึ่งมีเจ้าเมืองชื่อเจ้ามหาพรหม เปนน้องชายพระเจ้าเชียงใหม่ทรงนามว่าพิลกมหาราช เมื่อเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ขึ้นเมืองใดนั้น เจ้าพิลกมหาราช ให้เจ้ามหาพรหมเปนเจ้าเมืองเชียงราย เปนเมืองที่สองรองเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น แลว่าพระเจดีย์ที่พระมหามณีรัตนปฏิมากรที่ทำซ่อนเร้นบรรจุไว้นั้น เปนของเจ้าเชียงรายมหาพรหมได้สร้างไว้ แลได้ความว่าเจ้ามหาพรหมนั้น เปนผู้แขงกล้าในการทัพศึกสงครามมากในเวลานั้น แต่หาได้แผ่นดินลาวเชียงใหม่ไม่ เพราะตายไปเสียก่อนพระเจ้าพิลกมหาราชพี่ชาย จึงคาดคำนึงคเนการว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ชรอยเจ้ามหาพรหมจะไปได้มาแต่เมืองเชียงแสนฤๅเมืองอื่น ๆ ซึ่งเปนเมืองร้างฤๅเมืองชเลยที่เจ้ามหาพรหมยกทัพไปตีได้ แต่เพราะไม่อยากจะให้เจ้าเชียงใหม่พี่ชายทราบ จะคิดอุบายซ่อนเสียให้ลับ ด้วยคิดว่าเจ้าเชียงใหม่พี่ชายจะตายก่อนตัว ๆ จะได้เปนเจ้าเชียงใหม่ เมื่อสมคิดเมื่อใดจึงจะเปิดเผยออกเมื่อนั้น จึงได้ทำอุบายดังว่าแล้วบรรจุซ่อนไว้เงียบ ๆ มิให้ผู้ใดรู้ ครั้นเมื่อตัวเจ้ามหาพรหมตายแล้ว เมืองนั้นใครจะไปครองต่อไปก็ไม่ทราบถนัดเลย แต่คเนเห็นว่าผู้ที่ไปครองเมืองนั้นต่อไป จะเปนที่ขัดใจขัดตาของพวกพ้องเจ้ามหาพรหม ซึ่งได้รู้เห็นช่วยกันทำความซ่อนเร้น พวกนั้นก็จะหลายคน แต่คนหนึ่งก็ไม่มีใครออกความให้ผู้ใดเลย ฤๅจะพากันปิดความเสีย กลัวเจ้าเชียงใหม่พี่ชายเจ้ามหาพรหมจะทำโทษ ด้วยคิดกันซ่อนนั้นฤๅอย่างไรนั้น ครั้นนานมาจนถึงคนที่ช่วยการลับนั้นก็ตายไปหมด ความสาบสูญไปจนเมื่อปีมโรงอัฐศกศักราช ๗๙๘ นั้น เมืองเชียงรายเปนเมืองร้างเสียก่อนมาหลายปี มีคนตั้งอยู่เล็กน้อย เจ้าเชียงใหม่เวลานั้นถึงยังไม่ขึ้นเมืองใด ก็หาให้ตั้งเมืองเชียงรายไม่ ให้แต่ท้าวเพี้ยเล็กน้อยไปรักษาอยู่ เมื่อปีมโรงอัฐศกศักราช ๗๙๘ นั้น พระเจดีย์สถูปพระองค์นั้น ต้องอสนีบาตหักพังลง แต่พิเคราะห์เห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ มีมเหศรศักดานุภาพเปนอันมาก พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่มีบุญญาภินิหารแก่กล้า จึงจะรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมาพระองค์นี้ไว้ได้ เมื่อจะสืบสาวความโบราณในสยามราชพงษาวดารเก่าขึ้นไป ถึงสมเด็จพระร่วงทรงพระนามว่า พระเจ้าอรุณมหาราช เจ้ากรุงศุโขโทยแลสัชนาไลย ที่มีพระเกียรติยศกิติคุณรบือฦๅชามากกว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์ แลมีเรื่องว่าได้พระพุทธสิหิงคปฏิมาแต่มหาสมุทแล้วก็ดี ก็ไม่ได้ความว่าได้พระพุทธรัตนปฏิมาองค์นี้มาไว้ ถึงพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ครอบครองกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองอันทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีลงมา นับพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ถวัลยราชสมบัติในพระมหานครศรีอยุทธยาถึง ๓๓ พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ เปนปฐม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง เจ้าทองจันทร์ สมเด็จพระราเมศวรที่หนึ่ง สมเด็จพระเจ้ารามราชบุตร สมเด็จพระมหานครินทราธิราช สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมเด็จพระอินทราชาธิราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร พระราษฎาธิราชกุมาร สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระยอดฟ้าราชบุตร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช สมเด็จพระมหินทราธิราชราชโอรส สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิบดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ราชโอรส สมเด็จพระไตรโลกนารถทรงธรรม พระเชษฐาธิราชราชโอรส พระอาทิตยวงษ์ สมเด็จพระรามาธิเบศร์ พระเจ้าปราสาททอง เจ้าฟ้าไชยราชโอรส พระศรีสุธรรมราชาธิบดินทร สมเด็จพระนารายน์มหาราช พระธาดาธิเบศร์ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี สมเด็จพระภูมินทรมหาราชาธิราช สมเด็จพระมหาบรมราชาธิราชที่สาม พระอุทุมพรมหาพรพินิตราช แลพระบรมเอกทัศอนุรักษ์มนตรีราชเปนที่สุด แลในพระเจ้าแผ่นดินกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานั้น พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมืองเวียงจันท์ก็หลายครั้ง ก็หาได้พระพุทธรัตนปฏิมากรอันวิเศษพระองค์นี้ลงมาไว้ในพระนครไม่ แต่ข่าวคราวว่าพระแก้วมีอยู่ ก็ไม่ได้ความว่าทราบมาเลย พระนครศรีอยุทธยาก็เปนพระมหานครอันใหญ่ เห็นจะเปนด้วยไม่ได้พระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาไว้ในพระนคร จึงมีข้าศึกต่างประเทศมาประชิดถึงชานพระนครเปนหลายครั้ง แลมีเหตุเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินต่างพระวงษ์ แลชิงราชสมบัติต้องรบพุ่งกันในกลางพระนครก็มี จนถึงศักราช ๑๑๒๙ ปี เสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่า เจ้าตากสินซึ่งเปนพระยากำแพงเพ็ชรได้เปนเจ้าแผ่นดินครอบครองในสยามประเทศ อาไศรยกำลังสมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึก พระเจ้าสุรสีห์พิศณวาธิราช ได้ช่วยกันปราบปรามยุคเข็ญเสี้ยนศัตรูเปนปรกติแล้ว มาตั้งพระนครกรุงธนบุรี ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๑ ปี สมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึก แลพระเจ้าสุรสีห์พิศณวาธิราช ได้ยกพยุหโยธาทัพขึ้นไปปราบเมืองศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์ ด้วยอำนาจพระบารมีสมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึก ซึ่งควรเปนผู้ครองปฏิบัติบูชาพระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ พระเจ้าร่มขาวเมืองหลวงพระบางก็มาสวามิภักดิช่วยงานสงคราม พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต ราชวงษานุวงษ์แสนท้าวพระยาลาว ครั้งนั้นถึงได้พระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ไว้ ก็เพราะนับถือวิปริตคิดเส้นวักบูชาเปนเจ้าผี ล้มโคกระบือฆ่าสัตวบูชา เชิญให้เข้าคนทรงแม่มดนางท้าวเจรจาฬ่อลวงคนไปต่าง ๆ หานับถือโดยศรัทธาต่อพระพุทธคุณตรง ๆ ไม่ จึงทนทานกำลังทหารแลพระปัญญาบารมีสมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึกมิได้ ก็พาบุตรนัดดาหนีไป สมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึกได้เมืองเวียงจันท์แล้ว ก็เชิญพระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แลพระบางมาด้วยแล้ว เลิกทัพกลับลงมาพระนครกรุงธนบุรี เจ้าตากสินซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในครั้งนั้น ก็ให้สร้างโรงพระแก้วที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ในพระราชวังเสร็จแล้ว ให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ แลพระบาง ขึ้นประดิษฐานในโรง ให้มีการสมโภชต่าง ๆ ครั้นลุศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศนั้นแผ่นดินเปนจลาจล สมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึกกับพระเจ้าสุรสีห์พิศณวาธิราช ต้องยกกองทัพรีบออกไปถึงกรุงกัมพุชประเทศ เพื่อจะปราบปรามแผ่นดินเมืองเขมรให้เรียบราบ ฝ่ายการแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้นก็ผันแปรไปต่าง ๆ เพราะพระเจ้าแผ่นดินพเอิญบันดาลเสียสติไป ประพฤติวิปริตต่าง ๆ ทำให้สมณพราหมณาจารย์แลขุนนางข้าราชการแลประชาราษฎรทั้งปวง ได้ความเดือดร้อนด้วยราชทัณฑ์อันมิควรต่าง ๆ เปนเหตุให้ราษฎรละทิ้งเย่าเรือนละภูมิลำเนาหนีเข้าป่าไปเปนหลายตำบล แผ่นดินกรุงธนบุรีได้ความเดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระเจ้าแผ่นดินเสียสติอารมณ์ไปนั้น ก็ชรอยจะเปนวิบัติเหตุเพราะที่มิได้ควรเปนเจ้าของผู้ได้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ บารมีเจ้าตากสินทรงกำลังศิริของพระพุทธรัตนปฏิมากรมิได้ จึงพเอิญให้คลั่งไคล้เสียสติสัญญาผิดวิปลาศไปดังนี้ เมื่อแผ่นดินเปนทรยุคจนถึงขุนนางหัวเมืองยกไพร่พลเข้าล้อมกรุงธนบุรีไว้ แล้วจับพระเจ้าแผ่นดินให้ออกเสียนอกอำนาจ ในจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศกปลายปี จึงบอกหนังสือออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึกกลับเข้าเมืองธนบุรี เชิญเสด็จให้ทรงชำระเสี้ยนศัตรู แผ่นดินราบคาบเปนปรกติแล้ว มุขมนตรีปฤกษาพร้อมกัน อัญเชิญวิงวอนสมเด็จพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึกขึ้นเสวยศิริราชสมบัติ ชีพ่อพราหมณ์ตั้งพระราชพิธีปราบดาภิเศกเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหากระษัตริย์ศึก ทรงพระราชดำริห์ว่า พระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้เป็นแก้วอย่างดีวิเศษ ไม่สมควรที่จะประดิษฐานอยู่ที่เมืองธนบุรีซึ่งเปนเมืองน้อย เพราะเมืองธนบุรีนี้ แต่ก่อนนั้นขึ้นแก่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร จึงทรงพระราชดำริห์ว่าฝั่งฟากตวันออกเมืองธนบุรี เปนที่ไชยภูมิมงคลอันประเสริฐ สมควรจะตั้งเปนพระนครอันใหญ่ได้ จึงให้ฐาปนาเปนพระบรมมหาราชวัง ตรงฝั่งปลายแหลมในคุ้งน้ำนี้ แลก่อกำแพงป้อมประตูหอรบขุดคูรอบพระนครเสร็จแล้ว จึงทรงสถาปนาสร้างพระอุโบสถในพระบรมมหาราชวังอันนี้ประดับงามวิจิตรยิ่งนัก แล้วทำระเบียงรอบบริเวณจังหวัดพระอาราม ลุศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงฉศก ณวัน ๒ ๑๔ ๔ ค่ำ จึงได้ให้เชิญพระพุทธรัตนมหาปฏิมากร จากโรงพระแก้วในวังเก่าพระนครธนบุรีฟากตวันตก ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง พร้อมด้วยเรือขบวนแห่ข้ามฟากมาเข้าพระบรมมหาราชวัง อัญเชิญประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ ครั้นการพระอารามสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานพระนามว่าวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ไว้เปนที่ประชุมข้าทูลลอองธุลีพระบาทถือน้ำพระพิพัฒสัตยาธิษฐาน ทำมงคลการพระราชพิธีปีละสองครั้ง คือเดือน ๕ ขึ้น ๓ คํ่าครั้งหนึ่ง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ คํ่าครั้งหนึ่ง ทุกปีมิได้ขาด แล้วจึงประชุมพระราชาคณะ แลนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเปนกำหนด จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนมหาปฏิมากรว่า กรุงเทพพระมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา บรมราชธานี เพราะเปนที่เก็บไว้ที่รักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรเปนเครื่องศิริสำหรับพระบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้ ก็ตั้งแต่ตั้งกรุงอมรรัตนโกสินทรนี้มา พระราชวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน แลสมณพราหมณประชาราษฎรก็อยู่เย็นเปนศุขทั่วไปในสยามประเทศทั้งปวง ศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศก ฝ่ายข้างประเทศพม่านั้น เจ้ากรุงอังวะทราบว่า พระนครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่ เห็นว่าได้ช่องเพื่อจะทำสงคราม จึงเกณฑ์กองทัพจะมาตีพระนครศรีอยุทธยา แลกองทัพพม่ายกมาครั้งนั้นมากกว่าทุกครั้งก่อน ๆ พลถึงแสนหนึ่งกับสามพันยกมาเปนหลายตำบลหลายทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เสด็จกรีธาพลากรพยุหบาตรยาตราทัพเสด็จทางกาญจนบุรีถึงตำบลลาดหญ้า ให้นายทัพนายกองออกก้าวสกัดโจมตีค่ายพม่า เดชะพระบารมี พม่าเสียทีก็แตกหนีไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปปราบปัจจามิตรพ่ายแพ้พระเดชานุภาพแล้ว เสด็จกลับเข้าพระนคร แลกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางเหนือทั้งปวงนั้นก็แตกหนีไปด้วย ฝ่ายทัพพม่าซึ่งมาติดอยู่ณเมืองปากใต้ทั้งปวงนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรเสด็จทางทเลออกไปปราบทัพพม่าก็แตกหนีไป ลุศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก พม่ายกมาอิกครั้งหนึ่งพลห้าหมื่น ตั้งค่ายหลวงตำบลแม่กระษัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เมื่อได้ทราบก็ให้เกณฑ์กองทัพเปนพลสกรรจ์หกหมื่น เสด็จยกพยุหโยธาทัพออกไปปราบอรินราชสงคราม ครั้นฝ่ายกองทัพพม่าแตกพ่ายแพ้พระเดชานุภาพฤทธาภินิหารแล้ว ก็เสด็จกลับเข้าพระนคร

อนึ่งข้าศึกทั้งปวงยกมาเปนหลายครั้ง ก็มิอาจยํ่ายีเข้ามาถึงชานพระนครได้ ลุศักราช ๑๑๗๘ ปี เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น พม่าที่เปนข้าศึกจับมาได้ จำไว้ณคุกคิดกระบถต่อแผ่นดิน ก็มิอาจต่อสู้ได้ พเอิญให้พ่ายแพ้พระบารมี ลุศักราช ๑๑๘๙ ปี เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น อนุเจ้าเมืองเวียงจันท์คิดเปนกระบถ ก็มิอาจต้านทานต่อสู้บุญบารมีได้ ก็พ่ายแพ้ถึงแก่พินาศ ลุศักราช ๑๒๑๑ ปี พวกจีนที่อาไศรยอยู่ในพระราชอาณาเขตรคิดกระทำตั้วเหี่ยแขวงเมืองนครไชยศรี แลเมืองฉเชิงเทรา ก็พเอิญพ่ายแพ้แก่พระเดชานุภาพ มิอาจประทุษร้ายได้ มีผู้ประทุษร้ายต่อแผ่นดินครั้งไรก็มิทันจะสำเร็จ พเอิญจับตัวได้ทุกครั้ง มิได้ทำลุกลามไปได้มากแต่ครั้งหนึ่ง อนึ่งพระบรมราชประสงค์แลพระราชดำริห์ใด ๆ ซึ่งจะเปนไปโดยชอบที่จะให้เปนคุณอุดหนุนให้ความศุขแก่พระบรมราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการ แลสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎร แลจะงามดีมีเกียรติยศกิติคุณแก่พระมหานคร แลเฉลิมยกยออุปถัมภ์แก่พระบรมราชประเวณีวงษ์ ให้ดำรงไม่เสื่อมทรามเสียเทือกพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินในต้นพระวงษ์สืบลงมาทั้งปวงนั้นก็ย่อมสำเร็จทุกประการ ถึงจะมีคนมีกำลังบางพวกที่มีความชอบใจแลความปราถนาอันวิปลาศวิปริตผิดจากลักษณนั้นจะทำพยํ่าเผยอเงือดเงื้อง่า ตั้งท่าหาอุบายจะมาขัดขวางทางผลที่ควรนั้น ก็พเอิญหลีกเลี่ยงล้มซวนกระจัดกระจายระงับหายไปเอง ไม่ต้องกำจัดด้วยพยายามให้เปนความครหาของนักปราชญ์ได้ การอันนี้เมื่อคิดไปถึงการต่าง ๆ ที่ใด มิได้เปนมาแต่หลัง ๆ มาเปรียบเทียบเปนอุทาหรณ์ ก็เห็นเปนมหัศจรรย์นักหนา ก็เห็นจะเปนเพราะพระพุทธรัตนปฏิมากรเปนคู่พระบารมี ของกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานีนี้ แลเทพยดาเจ้าที่มีมเหศวรศักดานุภาพ ซึ่งมีความยินดีช่วยอุปถัมภ์พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้มีพระบรมราชานุภาพมาก แลสำเร็จสมพระราชประสงค์ทุกประการได้ แลมีเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งจะเปนช่องอันตรายแก่บ้านเมืองขึ้นอย่างไร ก็พเอิญให้กลับเปนดีเรียบร้อยไปได้ ก็แลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในต้นพระบรมราชวงษ์จนสืบลงมา ก็ทรงพระเดชานุภาพปราบปัจจามิตร ในทิศตวันตกตวันออกปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง แล้วก็ทรงทนุบำรุงฝ่ายข้างพุทธจักรให้พระพุทธสาสนารุ่งเรืองบริบูรณ์ แลฝ่ายข้างพระราชอาณาจักรนั้น ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน อาณาประชาราษฎรทั่วไป ในพระราชอาณาเขตรทั้งปวง ได้ร่มเย็นเพราะพระบารมี มีราชประเพณีคล้ายคลึงกัน ควรที่คนทั้งปวงจะรฦกดำริห์คิดถึงพระเดชพระคุณด้วยความกตัญญูโดยพิเศษ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมไปยกาธิราช ซึ่งมีพระราชอุสาหพิริยภาพทรมานพระองค์ ช่วยคิดราชการฝ่าทนอาวุธข้าศึก เพื่อจะทนุบำรุงพระพุทธสาสนา แลอาณาประชาราษฎร แต่พระชนมายุ ๓๒ ยังเปนมัชฌิมไวยมาจนพระชนมายุ ๔๗ ล่วงเข้าปัจฉิมวัย จึงได้สำเร็จปราบดาภิเศกถวัลยราชสมบัติ ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานีนี้ แผ่พระราชอาณาเขตรฝ่ายเหนือตลอดถึงเมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงพระบาง ฝ่ายตวันออกสิ้นเขตรแดนเมืองเขมรกระทั่งเขตรแดนเมืองญวน ฝ่ายตวันตกต่อเขตรแดนกับเมืองมอญ ฝ่ายใต้สิ้นเขตรแดนเมืองไทรซึ่งเปนมลายูประเทศ การสิ่งใดแลของสิ่งใดซึ่งเปนประโยชน์แก่พระพุทธสาสนาแลพระนคร ก็ได้สะสมสร้างขึ้นสำหรับพระพุทธสาสนาแลสำหรับพระนคร แลทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อสร้างปืนใหญ่ปืนน้อยนานาสาตราวุธไว้ จะได้ป้องกันอริราชไพรี มีพระเดชพระคุณแก่พระบรมวงษานุวงษ์ แลเสนาพฤฒามาตย์ราชบริษัท อาณาประชาราษฎรเปนอันมากถึงเพียงนี้ เมื่อจะเสด็จสู่สวรรคาไลย จึงทรงมอบศิริราชมไหสวริยสมบัติไว้ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ด้วยเปนพระราชโอรสร่วมพระราชหฤไทยช่วยทนุบำรุงแผ่นดินมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ก็ได้ทรงทนุบำรุงชุบเลี้ยงพระราชวงษานุวงษ์ แลบุตรหลานท่านเสนาบดีที่ได้โดยเสด็จช่วยงานพระราชสงครามในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โดยคุณานุรูป มีตระกูลเจ้าพระยามหาเสนา แลเจ้าพระยารัตนาพิพิธเปนต้น ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงพระประชวรเปนปัจฉิมที่สุดจะเสด็จสวรรคตนั้น ประชวรได้สามเวลาก็เสด็จสวรรคต หาทันได้ทรงดำเนินพระราชโองการโปรดพระราชทานมอบมไหสวริยสมบัติแก่พระราชวงษานุวงษ์พระองค์ใดไม่ เสนาบดีทั้งหลายปฤกษาพร้อมกัน เห็นว่าในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนพระราชโอรสทรงพระเจริญยิ่งกว่าพระราชโอรสทั้งปวง ทรงพระสติปัญญาเมตตากรุณาแก่พระราชวงษานุวงษ์ แลเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์ สมณพราหมณอาณาประชาราษฎรเปนอันมาก จึงอัญเชิญเสด็จขึ้นเสวยศิริราชสมบัติราชาภิเศกสืบพระวงษ์ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรฦกถึงพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช แลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถเปนอันมาก ก็ทรงทนุบำรุงพระราชวงษานุวงษ์ แลวงษ์ท่านเสนาบดีที่เปนข้าหลวงเดิมมาให้ใหญ่ยิ่งขึ้นไปแล้ว ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปด้วยทองสำริดสองพระองค์ สูงหกศอกช่างไม้เท่ากันทั้งสองพระองค์ แล้วหุ้มทองคำทั้งพระองค์ ทรงเครื่องต้นอย่างจักรพัตราธิราช ล้วนลงยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตนอันมีราคาเปนอันมาก คิดแต่ทองคำเนื้อ ๘ เศษ ๒ หุ้มพระองค์ แลเครื่องประดับเปนน้ำหนักทองคำองค์ละหกสิบสามชั่งสิบสี่ตำลึงเศษ แล้วจารึกพระนามลงไว้ที่ฐานพระว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชจักรพรรดินารถบพิตรองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ทิศเหนือ อิกพระองค์หนึ่ง จารึกพระนามลงไว้ที่ฐานพระว่าพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนารถธรรมิกราชบพิตร ประดิษฐานไว้ทิศใต้ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พร้อมพระราชหฤไทยกัน ได้ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้มาแต่ลังกาทวีป มารวมไว้ในพระโกษฐทองประดับเพ็ชร บรรจุไว้ในพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตนั้น ทรงพระประชวรพระโรคเรื้อรังอยู่ถึงห้าเดือน ก็ควรจะทรงมอบศิริราชสมบัติโปรดพระราชทานแก่พระราชวงษานุวงษ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าศิริราชสมบัติอันนี้ แต่เดิมท่านเสนาบดี ได้เชิญเสด็จขึ้นครอบครองมไหสวริยาธิปัติถวัลยราชสมบัติราชาภิเศก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้หาท่านเสนาบดีเข้าไปสั่งว่า ถ้าเสด็จสวรรคตแล้ว ท่านเสนาบดีเห็นว่าพระราชวงษานุวงษ์พระองค์ใด จะเปนที่ร่มเย็นแก่พระราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงได้ ก็ให้มอบศิริรัตนราไชสวริยสมบัติแก่พระองค์นั้นเถิด ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ท่านเสนาบดีทั้งปวงปฤกษาพร้อมกัน เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมอรรคราโชรสอันประเสริฐ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เปนที่นับถืออันยิ่งของคนทั้งปวงโดยมาก จึงพากันไปกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกเสร็จแล้ว จึงให้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นไปบวรราชาภิเศกในพระบวรราชวัง ยังพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน ก็โปรดพระราชทานยศศักดิเปนอันมากโดยลำดับถานานุศักดิ พระราชทานเครื่องยศแลเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควรดังนี้ แก่พระบรมราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ก่อน ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เคยเสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบรมราชวงษานุวงษ์ รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัตยา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ที่ทรงพระนามพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เปนพระในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นไว้ฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช แลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถทั้งสองพระองค์ ประดิษฐานเปนประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม เหมือนพระเชษฐบิดรซึ่งเปนพระฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี อันเปนปฐมบรมราชาธิราช ในพระนครทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร แต่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ก็เปนปฐมบรมราชาธิราชในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานี้ แลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเล่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จมาปราบดาภิเศกนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินตามเสด็จมาพร้อมกันแต่เดิมพระองค์เดียว ไม่มีเจ้านายพระองค์อื่นเหมือนเลย ควรจะมีพระเกียรติยศอยู่พร้อมกับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ด้วยกัน เพราะเหตุที่ทรงเคารพนับถือแต่พระพุทธปฏิมากร ที่ทรงพระราชอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้นดังนี้ จึงทรงพระราชอุสาหเสด็จพระราชดำเนินออกมาให้พระบรมราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในถวายบังคมรับพระราชทานน้ำพระพัฒสัตยาพร้อมกัน การที่ทรงพระราชดำริห์ดังนั้น พระบรมราชวงษานุวงษ์ แลท่านเสนาบดีซึ่งเปนประธานในราชการแผ่นดิน ก็อำนวยตามโดยความเห็นชอบ แล้วได้ประพฤติเปนมหามงคลกรรมธรรมเนียมยั่งยืนมา ตลอดเวลารัชกาลที่ ๔ แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรเสด็จอยู่ในที่ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้หาท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ แลกรมหลวงวงษาธิราชสนิท เจ้าพระยาภูธราภัย เข้าไปเฝ้าในที่ มีพระบรมราชดำรัสมอบราชการแผ่นดินให้ท่าน ตามแต่จะคิดจัดสรรพระบรมราชวงษานุวงษ์พระองค์ใดจะควรเปนที่พึ่ง ร่มเย็นเปนศุขแก่พระราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้ ก็ให้มอบถวายศิริรัตนราไชสวริยาธิปัติแด่ท่านพระองค์นั้น เชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครอบครองแลทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรสืบลำดับราชตระกูลโดยโบราณราชประเพณีสืบไป ครั้นล่วงมาได้ ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวัน ๕ ๑๕ ๑๑ ค่ำปีมโรงสัมฤทธิศกศักราช ๑๒๓๐ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สมันตพงษ์พิสุทธ มหาบุรุษยรัตโนดม จึงได้เชิญเสด็จพระบรมราชวงษานุวงษ์ แลชุมนุมข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย อิกพระสงฆราชาคณะ ประชุมพร้อมกันณพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงปฤกษาพร้อมยอมถวายศิริรัตนราไชยมไหสวริยาธิปัติ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครอบครองทำนุบำรุงสกลราชอาณาจักรสืบต่อไป จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ซึ่งในสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์นั้นเป็นการชอบยิ่งนัก สมควรที่พระบรมวงษานุวงษ์ แลท่านเสนาบดีมนตรีมุขมาตยาผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายน่าฝ่ายในทั้งปวง มีความเคารพนับถือ โดยเปนราชธรรมดำรงยั่งยืนไปสิ้นกาลนาน แล้วตั้งใจสมัคสโมสรช่วยกันทำนุบำรุงราชกิจการพระนครให้ถาวรวัฒนาตามตำแหน่งของตน โดยความกระตัญญูต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้มีพระเดชพระคุณสืบ ๆ มา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วยตรวจตราทำนุบำรุงป้องกันรักษาพระนครขอบขัณฑเสมาอาณาประชาราษฎรให้ถาวรไปด้วยความศุข จะได้เปนสวัสดิมงคลแก่ตน จำเริญผลประโยชน์สืบตระกูลวงษ์ต่อๆ ไปภายน่า

ความที่ประกาศมา ขอเทพยดาเจ้าผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่มีทิพยานุภาพต่าง ๆ ดังได้ออกนามกำหนดในข้างต้น จงสดับฟังแล้วรำพึงด้วยเมตตากรุณาแก่มนุษชาติชาวสยามนี้ แล้วจงอุสาหทำนุบำรุงแผ่นดินกรุงสยามนี้ ให้ดำรงอยู่ด้วยดีในพระบารมีบรมเดชานุภาพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยศุขสวัสดิ แลให้พระบรมราชวงษานุวงษ์ แลเสนาบดีมนตรีอำมาตย์ข้าราชการกรมทหารพลเรือนฝ่ายน่าฝ่ายในบรรดาที่อยู่ใกล้อยู่ไกลทั้งปวง มีความสโมสรสามัคคียินดีซื่อตรงคงเคารพนับถือ พระเดชพระคุณพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสุจริตดังคำปฏิญญา ในการรับน้ำพระพิพัฒสัตยาทุกประการ แลสมัคสมานพร้อมกันทำราชการ ด้วยเห็นแก่พระบรมพุทธสาสนา แลการยุติธรรม รักษาแผ่นดินโดยสุจริตมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ตน แลขอให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลท่านทั้งปวงบรรดามีความซื่อสัตย์สวามิภักดิดำรงอยู่ในปฏิญญา ในน้ำพระพิพัฒสัตยานั้น แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสมณพราหมณาจารย์ทั้งปวงในแผ่นดินกรุงสยามอยู่เย็นเปนศุขปราศจากโรคาทิอุปัทวันตราย แลขอให้วัสสวลาหกตกต้องตามฤดูกาล ให้ธัญญาหารผลาหารในพระราชอาณาเขตรนี้บริบูรณ์ดีทุกปีไป ข้าศึกศัตรูในประเทศนอกประเทศ ซึ่งจะคิดร้ายเปนอุบายประการใด ๆ ขอจงอย่าได้ช่องโอกาศทำให้วิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ให้วิบัตินั้นกลับเปนคุณแก่กรุงพระมหานครไป ขอให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีไชยชำนะแก่อริราชศัตรูทุกเมื่อ อนึ่งเพราะได้มีพระพุทธปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย สองพระองค์ดำรงประดิษฐานเชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองแผ่นดิน ในเบื้องต้นพระบรมราชวงษ์นี้ ปรากฎเปนที่คำนับนมัสการในเวลาถือน้ำพระพิพัฒสัตยา เปนมหาอุดมมงคลนิมิตรนั้น ขอคุณพระพุทธาทิรัตนไตรย แลทฤฐธรรมเพทในผลของพระราชกุศลต่างๆ ที่เปนกรรมโสภณงาม แลความอนุเคราะห์บันดาลตนของรัชชาภิรักษเทพยดาจงมาประสิทธิสัมฤทธิเปนการทนุบำรุงรักษา ในเวลาที่จะสืบไปภายน่าฉันใด ขอให้พระเกียรติยศในพระราชประเพณีวงษ์ ที่สืบลงมาแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองแผ่นดิน ในต้นพระบรมราชวงษ์ดำรงคงดีเสมออยู่ดังนี้ ไม่มีความเสื่อมทรามจากการที่งามดีไปได้ แลจงเกียจกันการสรรพพิปลาศพิปริตทุกประการ ให้พระบรมราชประเพณีวงษ์นี้ จงเปนอนัญสาธารณ์ทุกเมื่อเทอญ

ในขณะเมื่ออ่านคำประกาศนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดเทียนนมัสการที่อัฒจันท์ น่าที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีด้วยเทียนพานมหาดเล็ก ทรงจุดเทียนคู่ ๑ บูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากร คู่ ๑ บูชาพระสัมพุทธพรรณี ก็แลพระสัมพุทธพรรณีนี้ ซึ่งเปนที่ทรงนมัสการสำคัญนั้น เพราะมีเหตุเดิมมาดังเช่นเสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านทรงจดหมายไว้ในราชประวัติว่า

เมื่อศักราชล่วงไปได้ ๑๑๙๒ ปีขานโทศกอิกครั้งหนึ่ง คือปีขานโทศกศักราช ๑๑๙๒ ในปีขานนั้นรับสั่งให้ขุนอินทรพินิจเจ้ากรมช่างหล่อ หุ่นพระพุทธรูปน่าตักศอกเศษหล่อขึ้นองค์หนึ่ง จำหลักพระนามว่าพระสัมพุทธพรรณี ครั้นเมื่อปีเถาะน้ำมากศักราช ๑๑๙๓ ได้ไปรับพระเจดีย์หล่อด้วยทองเหลืองมาจากวัดศาลาปูนองค์หนึ่ง แล้วรับสั่งให้ขุนอินทรเอาเงินหล่อสวมลงสูงประมาณศอกเศษ ที่ตำหนักเก่าวัดมหาธาตุ ครั้นฤดูแล้งเสด็จไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ พระสงฆ์ได้ตามเสด็จไปด้วยหลายรูป ครั้นเวลาค่ำเสด็จขึ้นไปสวดมนต์บนลานพระ ครั้นสวดจบแล้วจึ่งทรงอธิฐานด้วยภาษามคธความว่า ที่เจดียสถานนี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่อความเลื่อมใสว่าคงเปนของเก่าโดยแท้ ในเขตรแดนสยามนี้ไม่มีที่ไหนจะเปนของบุราณยิ่งขึ้นไปกว่าองค์นี้ไม่มีแล้ว เพราะลวดลายนั้นก็ประหลาดผิดกันกับของทุกวันนี้ จนคนเห็นเข้าไม่รู้จักว่าพระเจดีย์ อิกประการหนึ่งผู้ที่เขาได้ก่อสร้างลงไว้ เห็นจะได้บูชนียวัดถุของประณีตอุดมดีที่ควรจะเชื่อจะเลื่อมใส เขาจึงบริจาคทรัพย์เปนอันมากก่อสร้างลงไว้ให้เปนของถาวรโตใหญ่มั่นคงตั้งอยู่สิ้นกาลนาน ถ้าพระธาตุของพระผู้มีพระภาคย์หากจะยังประดิษฐานเหลืออยู่ในโลกย์ก็คงจะมีอยู่ในที่เช่นนี้เปนแน่ไม่สงไสย ถ้าในเจดียสถานนี้มีพระธาตุบรรจุไว้ภายใน ขออารักษเทพยดาผู้รักษาจงได้แบ่งให้สัก ๒ องค์ จะเอาไปบรรจุในพระพุทธรูปที่หล่อใหม่นั้นองค์หนึ่ง ในพระเจดีย์เงินองค์หนึ่ง ไว้เปนที่ไหว้ที่บูชาในกรุงเทพ ฯ ให้สมควร เพราะว่าในที่นี้เดี๋ยวนี้ก็เปนป่าไปเสียแล้ว ไม่ควรจะเปนที่ไปมาบูชาแห่งมหาชนเปนอันมาก ขอเทพยเจ้าจงได้แบ่งพระสารีริกธาตุให้สององค์เถิด แล้วรับสั่งให้มหาศุขบาเรียนเอกเอาผะอบใส่พาน ขึ้นไปตั้งไว้ในโพรงพระเจดีย์ด้านตวันออก ครั้นเวลาบ่ายจะเสด็จกลับลงมา ไปเชิญเอาผะอบลงมาก็หาได้อะไรไม่ ครั้นกลับมาถึงวัดแล้วล่วงไปได้ประมาณสักเดือนหนึ่งฤๅเดือนเศษ พระเนาวรัตนองค์หนึ่งซึ่งทรงสร้างไว้เก่า ยังตกอยู่ในหอพระวัดมหาธาตุ วันหนึ่งเวลาประมาณห้าทุ่มเศษ พระสงฆ์เข้าไปสวดมนต์อยู่ในนั้น สวดไปได้ครึ่งหนึ่งเห็นเปนควันกลุ้มขึ้นสีแดง ๆ กลิ่นหอมเหมือนควันธูปที่ห้องพระพุทธรูปอยู่ ควันนั้นก็มากขึ้น ๆ จนพระพุทธรูปนั้นแลดูแดงเหมือนสีนากไป พระสงฆ์ทั้งปวงก็ตกใจลุกเข้าไปดู สำคัญว่าไฟไหม้ขึ้นในที่นั้น ก็หาเห็นอะไรไม่ กลับมานั่งสวดมนต์ไปจนจบ ควันนั้นก็จางไปหายไป ครั้นสวดมนต์แล้วออกมาค้นดูว่าใครกองไฟไว้ที่ไหนก็หามีไม่ ครั้นเวลารุ่งขึ้นไปกราบบังคมทูลให้ทราบ เสด็จลงมาทอดพระเนตรพระพุทธรูป จึงเห็นพระธาตุในนั้นมากขึ้นกว่าเก่าสององค์ จึงรับสั่งถามพระสงฆ์ก็ไม่มีผู้ใดทราบ แล้วรับสั่งถามนายช้างผู้รักษากุญแจว่า ใครเอาพระธาตุมาใส่ไว้ในนี้บ้าง นายช้างกราบทูลว่าไม่ทราบ จึงลงเห็นพร้อมกันว่าของนั้นไม่มีเจ้าของ เห็นจะมาเอง แล้วแปลกกันกับของที่เขามีอยู่ในกาลทุกวันนี้ องค์นั้นเล็กเท่าพรรณผักกาด สีขาวเหมือนกับดอกพิกุลสด แล้วมีสีขาวดังสีสังข์จุดอยู่สองแห่งตรงกัน เลือกคนเห็นว่าตรงมั่นด่ำเข้าไปเหมือนกระดูกปลา เลือกคนเห็นเปนแต่จุดอยู่อย่างเดียว พระธาตุสององค์นั้นเก็บไว้ในพระเจดีย์สุพรรณผลึก บรรจุไว้ในพระสัมพุทธพรรณี

เพราะเหตุดังนั้นจึ่งเปนที่ทรงบูชาตลอดมาจนทุกวันนี้ แล้วจึงเสด็จไปทรงจุดเทียนนมัสการคู่หนึ่งที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ คู่หนึ่งที่พระพุทธเลิศหล้านภาไลย ยังอิกคู่หนึ่งนั้น จุดที่เชิงเทียนถมข้างพระแท่นมณฑลบ้าง ที่พระคันธารราษฎ์ในฉากข้างในบ้าง แล้วทรงจุดเทียนพิธีในกลางขันหยก ครั้นอาลักษณอ่านประกาศจบลงแล้ว พระสงฆ์สวดมนต์ ๑๒ ตำนาน ในเมื่อพระสงฆ์อติเรกกลับไปวัดแล้ว จึงพราหมณ์สองคนเข้ามาอ่านฉันท์สรรเสริญพระมหามณีรัตนปฏิมากร ตามที่กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ได้แต่งทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความในคำฉันท์นั้นว่า

(ฉันท์สรรเสริญพระมหามณีรัตนปฏิมากรนี้ ได้ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย ซึ่งแจกในงานศพพระยาศรีธรรมศุกราช (เจริญ จารุจินดา) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้นแล้ว)

เมื่อจบฉันท์ลาหนึ่ง พราหมณ์เป่าสังข์ แลประโคมมหรทึกที่หลังลับแลทั้งสอง พร้อมกันทั้งสี่ลา เปนเสร็จการในเวลาคํ่า ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ