- เจ้าจอมมารดามรกฏ รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๕๘
- คำนำ
- คาถาแลโคลงนมัสการ
- บัดนี้จะว่าด้วยราชประเพณี ซึ่งมีอยู่ในราชการทั้งปวง...
- บัดนี้จะได้ชี้แจงพระนาม ซึ่งจารึกในฐานพระ...
- แต่นี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อไป...
- ดำเนินความในตำนานรัตนพิมพวงษ์นั้นว่า...
- ในคำประกาศนั้นมีความว่า...
- ในวันขึ้นสามคํ่าเวลาเช้า เสด็จออกที่วัดแล้ว...
คำนำ
พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ทรงพระศรัทธาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดามรกฎ เจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน มีรับสั่งมายังกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ให้เลือกเรื่องหนังสือแลช่วยจัดการพิมพ์ถวายตามพระประสงค์ ข้าพเจ้าทราบว่าหนังสือสำหรับจะแจกในงานศพเจ้าจอมมารดามรกฎมีอยู่แล้ว ด้วยเมื่อท่านถึงอสัญกรรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ยังเสด็จดำรงตำแหน่งสภานายกอยู่ในกรรมการหอพระสมุด ฯ ได้ทรงพระปรารภว่า เมื่อถึงงานศพเจ้าจอมมารดามรกฎ พระเจ้าพี่นางเธอ ฯ คงจะทรงพิมพ์หนังสือสักเรื่อง ๑ ทรงพระดำริห์เห็นว่าควรจะพิมพ์หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสร ด้วยเปนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อนจึงโปรดให้คัดต้นฉบับ แล้วทรงพระอุสาหะตรวจตราจนตลอด ดังปรากฎอยู่ในสมุดเล่มนี้ เมื่อเตรียมหนังสือนี้พร้อมเสร็จแล้ว กรมพระสมมต ฯ จึงประชวรสิ้นพระชนม์ ข้าพเจ้าได้ทูลความทั้งนี้ให้พระเจ้าพี่นางเธอ ฯ ทรงทราบ ก็ทรงยินดีอนุโมทนาในการที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ทรงจัดไว้ แล้วโปรดให้พิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชกรัณยานุสรมาจนสำเร็จ
หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาล โดยพระราชประสงค์จะให้มีตำราราชประเพณีไว้สำหรับพระนคร ตั้งพระราชหฤไทยว่าจะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ในเวลาว่างราชการไปทุก ๆ วันจนกว่าจะสำเร็จตลอดเรื่อง ด้วยในสมัยนั้นพระราชธุระในราชการต่าง ๆ อันมีประจำวันยังไม่สู้หนาแน่นทีเดียว ก็มีเวลาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้มาตามพระราชประสงค์ตลอดรยะเวลากาลอันหนึ่ง ครั้นต่อมาเมื่อทรงพระราชดำริห์จัดการบ้านเมืองมากขึ้น พระราชกิจต่างๆ ซึ่งจำจะต้องทรงตรวจตราแลกระทำด้วยพระองค์เองก็มากขึ้น เวลาว่างสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้ก็มีน้อยลงทุกที จนที่สุดต้องหยุดทรงพระราชนิพนธ์ด้วยความจำเปน หนังสือเรื่องนี้จึงไม่จบตลอดเรื่อง
ผู้ใดอ่านพระราชนิพนธ์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คงจะมีความเห็นพ้องกันหมดว่า ถ้าหนังสือเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จตลอดเรื่องได้ดังพระราชประสงค์เดิม จะเปนหนังสืออย่างสำคัญที่สุดเรื่อง ๑ น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะทรงให้สำเร็จได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูโดยรูปเรื่องหนังสือก็จะแลเห็นว่า หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้กว่าจะจบจะเปนหนังสือมากตั้งร้อยเล่มสมุดไทย ดูพ้นวิไสยจริง ๆ ที่จะทรงพระราชนิพนธ์ให้สำเร็จตลอดได้ในเวลาที่ต้องทรงเปนกังวลด้วพระราชกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ได้เคยอ่านมาแต่ก่อนก็ไม่วายเสียดาย ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงบัญชาการหอพระสมุดวชิรญาณแทนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้ขอแรงพวกสมาชิกผู้ที่มีความสามารถช่วยกันแต่งหนังสือส่งให้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แลทรงรับว่าในส่วนพระองค์ก็จะแต่งประทานด้วยเหมือนกัน มีรับสั่งถามความประสงค์ของสมาชิกว่าจะให้ทรงเรื่องอย่างไร พวกสมาชิกซึ่งได้เคยอ่านหนังสือพระราชกรัณยานุสรจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน คือ ขอให้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้อย่างย่อ ๆ พอเปนประโยชน์ทางความรู้แก่สมาชิกทั้งปวง เพราะฉนั้นหนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ คือต้นเค้าของพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนนั้นเอง แต่มีความที่แปลกแลความพิศดารกว่าเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ควรอ่านเปนเรื่องหนึ่งต่างหากได้ แลโดยทางวรรณคดีก็น่าอ่าน เพราะพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไม่ว่าทรงบรรยายเรื่องใด ๆ อ่านจับใจไม่รู้จักเบื่อทุกเรื่อง
การที่พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ทรงพิมพ์หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ นอกจากส่วนพระกุศลทักษิณานุปทานอันเนื่องในมาตาปิตุอุปฐานธรรม ยังเปนธรรมทานที่ให้สาธุชนได้อ่านทราบหนังสือเรื่องนี้แพร่หลาย แลรักษาพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ให้มั่นคงอยู่เปนสมบัติของบ้านเมืองต่อไป เพราะฉนั้นคงจะมีแต่ผู้อนุโมทนาสาธุการในพระกุศลที่ทรงบำเพ็ญครั้งนี้ทั่วกัน.
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๒