ดำเนินความในตำนานรัตนพิมพวงษ์นั้นว่า...

ดำเนินความในตำนานรัตนพิมพวงษ์นั้นว่า นมามิ นมิต๎วา รตนัต์ตยํ อริยวํโสนามหํ สุพุท์ธอมรกฏัส์ส วัต์ถุนิทานํ ยถาการํ ตํ สุณาถ สาธโว ดูราสัปบุริสสัตวทั้งหลาย อหํ อันว่าข้า อริยวํโส ตนชื่ออริย นมิต๎วา น้อมไหว้แล้ว รตนัต์ตยํ ยังแก้วทั้งสาม ด้วยกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร กริส์สํ ก็จักกระทำ วัต์ถุนิทานํ ยังวัตถุอันสำแดง ยังตำนานนิทาน อมรกฏัส์ส แห่งพระแก้วมรกฏ ยถาการํ ด้วยกำลังปัญญาแห่งตน ตุเม๎ห อันว่าสัปบุริสเจ้าทั้งหลาย สุณาถ จึงจะฟัง ตํ นิทานํ ยังนิทานอันนี้เถิด หิ ด้วยมีแท้ อันว่าสัพพัญญูพระพุทธเจ้าตนตรัสรู้ยังสัจจธรรมทั้ง ๔ อันมีอายุได้ ๘๐ ปี พระก็ปรินิพพานเหนือช่องในรหว่างไม้รัง ๒ ต้น อันเปนคู่กันในสวนอุทยาน แห่งพระยามัลละที่เมืองกุสินาราย ก็นิพพานด้วยอนุปาทิเสส อันกัมมัชรูป หากดับไม่เศษหลอแล

เอโกเถโร ยังมีมหาเถรเจ้าตน ๑ อันเปนพระอรหันต์ ชื่อมหาธรรมรักขิตเถร ประกอบด้วยศีลาจารวัตร อันอยู่ในอโสการามวิหารในเมืองปาตลีบุตร ในกาลเมื่อสาสนาพระพุทธเจ้าได้ ๕๐๐ ปีก็มีแล มหาเถโร อันว่ามหาเถรเจ้าตนนั้น ทรงยังปิฎกทั้ง ๓ มีสติแลปัญญาอันฉลาด อาจตัดคำสงไสยแก่ท่านผู้อื่น กุลบุตรเจ้าทั้งหลายก็มาเรียนเอายังธรรมวินัย ปฏิบัติในสาสนารุ่งเรืองมากนัก

ตทา ในกาลครั้งนั้น ยังมีเทวบุตรคนหนึ่ง ชื่อนาคเสน ก็จุติแต่ชั้นดาวดึงษ์ ลงมาปฏิสนธิในมนุษโลกย์ เกิดมาเปนกุมารคนหนึ่งแล ฯ โส กุมาโร วยัป์ปัต์โต กุมารผู้นั้นถึงไวยวันคืนใหญ่มา ก็บวชในพระสาสนา เรียนเอายังธรรมวินัย ในสำนักนิ์มหาธรรมรักขิตเถรเจ้าก็มีนั้นแล

เมื่อภายรุ่นเอาอุปสมบทกรรมเปนภิกขุภาวก็ได้ถึงพระอรหัต ปรากฎว่าพระมหานาคเสน ก็ทรงปิฎกทั้ง ๓ มีสติแลปัญญาอันฉลาดอาจแก้ปฤษณาปัณหาอันท่านหากโจทย์ถามทุกประการนั้นแล มหาเถรเจ้าคนนั้นจะทำลายเสียซึ่งมิจฉาทิฐิ แห่งพระยามิลินทราชด้วยอำนาจแห่งตนนั้นแล ฯ ปน ด้วยมีแท้พระยามิลินทราชตนนั้น มีมานะอันพระเถรเจ้าหากหักเสียแล้ว ก็มีใจเลื่อมใสบรรพชาในสำนักนิ์มหาเถรเจ้า ก็จำเริญวิปัสสนาก็ได้ถึงพระอรหัตนั้นแล

ตโต ตั้งแรกแต่นั้นไปข้างน่า มหานาคเสนเถรเจ้าอันมีภิกษุสงฆ์เปนอันมากหากแวดล้อมเปนบริวาร ในสาสนาสัพพัญญูเจ้ารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีปทั้งปวงแล

ในกาลเมื่อมหาธรรมรักขิตเถรเปนครูหากนิพพานไปแล้วดังนั้น มหานาคเสนเถรเจ้าก็คิดในใจว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระก็ตั้งไว้แล้วซึ่งสาสนา ๕๐๐๐ พระพรรษา พระบาทแลพระธาตุแลพระธรรม ๘๐๐๐๐ สี่พันพระธรรมขันธ์ เพื่อโปรดสัตวโลกย์ตราบเท่า ๕๐๐๐ พระพรรษา อหํ อันว่าข้าจักกระทำให้สาสนาพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองด้วยอุบายอันใด ดูก็ควรให้สาสนาพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองด้วยพุทธรูปแล

ประการหนึ่งครั้นเรากระทำพระพุทธรูปด้วยเงินแลทองดังนั้น คนบาปทั้งหลายก็จักกระทำให้เปนอันตรายเสียแล ฯ หิ ด้วยมีแท้ รตนิต์ตยํ อันว่าแก้วทั้ง ๓ คือพระพุทธเจ้าเปนแก้วดวงหนึ่ง พระธรรมเจ้าเปนแก้วดวงหนึ่ง พระสงฆเจ้าเปนแก้วดวงหนึ่ง เราควรสร้างพระพุทธรูปเจ้าอันแล้วด้วยแก้วอันมีเดชานุภาพมากนักควรแท้จริงแล เมื่อดังนั้นแก้วอันมีเดชานุภาพนั้น พอจักได้แต่ที่ไหนหนอ มหานาคเสนเจ้าก็คิดดังนั้น

สัก์โก อันว่าพระอินทร์รู้แล้วยังคำคิดแห่งนาคเสนเจ้า ก็ลงมาจากสวรรค์เทวโลกย์ ก็เข้าไปสู่มหาเถรเจ้าตนนั้น กับด้วยวิศสุกรรมเทวบุตร แล้วก็นมัสการถามมหาเถรเจ้าว่า ภัน์เต ข้าแต่เจ้ากู ดังได้ยินว่าเจ้ากูจักทำพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วอันมีเดชอันมากจริงฤๅ มหาเถรเจ้าก็กล่าวว่าเรารักใคร่จักทำแท้จริงแล ครั้งนั้นพระอินทร์ก็กล่าวว่า ภัน์เต ข้าแต่เจ้ากู อันว่าแก้วมณีโชติก็มีในดอยเวฬุบรรพตโน้นแล ฯ ข้า ฯ กับวิศสุกรรมเทวบุตร ก็จะไปเอาแก้วลูกนั้นมาถวายแก่พระเปนเจ้านั้นแลฯ พระอินทร์ก็สั่งวิศสุกรรมเทวบุตร ว่าท่านจงไปเอาแก้วมณีโชติมาเถิด วิศสุกรรมเทวบุตรก็กล่าวกับพระอินทร์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า แก้วมณีโชติลูกนั้น กุมภัณฑ์ทั้งหลายนั้นได้พันหนึ่งหากรักษาไว้ ก็ไม่อาจให้แก่ข้าได้แล ฯ เชิญมหาราชเจ้าไปเอามาควรแท้จริงแล ฯ พระอินทร์จึงกล่าวเราทั้งสองก็จะไปจริงแล ฯ แล้วก็ไปสู่ดอยวิบุลบรรพตกับด้วยวิศสุกรรมนั้นแล ฯ กุมภัณฑ์ทั้งหลายเห็นพระอินทร์จึงถามว่า ข้าแต่มหาราชาเจ้ามาด้วยประโยชน์อันใด พระอินทร์จึงกล่าวว่าดูกรกุมภัณฑ์ทั้งหลาย มหานาคเสนเจ้าจะให้พระสาสนารุ่งเรือง จะสร้างพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วรูปมีเดชไว้ เปนที่ไหว้แลบูชาแก่เทพยดาทั้งหลาย เหตุดังนั้นเราจึงมาเอาแก้วมณีโชติไปให้แก่เถรเจ้าแล ฯ ครั้งนั้นกุมภัณฑ์ทั้งหลาย มีพระยากุมภัณฑ์เปนประธานไหว้พระอินทร์ว่า ข้าแต่มหาราชาเจ้า แก้วมณีโชติลูกนี้ อันมีแก้วทั้งหลายได้พันหนึ่งเปนบริวาร หากเปนของสำหรับโลกย์ เปนของบริโภคแห่งพระยาจักรแล ครั้นว่า ฯ ข้า ฯ ทั้งหลายให้แก้วลูกนี้แก่มหาราชาเจ้าไปดังนั้น ในเมื่อจะควรถวายแก่พระยาจักรแล ฯ ข้า ฯ ทั้งหลายหาแก้วมณีโชติไม่ได้ดังนั้น ก้อนเหล็กก็จะทุ่มศีศะ ฯ ข้า ฯ ทั้งหลายแตกไป ๗ เสี่ยงแท้จริงแล เหตุดังนั้น ฯ ข้า ฯ ทั้งหลายไม่อาจให้แก่มหาราชาเจ้าได้จริงแล แต่ถ้าว่ายังมีแก้วลูก ๑ ชื่อมรกฏใหญ่ ๔ กำเศษสามนิ้วมีอยู่หว่างกลางศอก ๑ เศษกำมือ ๑ กว้างยาวเท่ากับแก้วลูกนั้น มีบริวารได้ ๖๕๕ ลูกเปนบริวาร อยู่ละแวกระหว่างกำแพงแก้วมณีโชตินั้นแล ยักษ์ทั้งหลายพันหนึ่งหากรักษาไว้ มหาราชาเจ้าจงเอาแก้วลูกนั้นไปให้แก่เถรเจ้าเถิด พระอินทร์ก็ไปเอาแก้วลูกนั้นมาถวายแก่เถรเจ้าแล้ว ก็คืนสู่ที่อยู่แห่งตนนั้นแล

ครั้งนั้นมหานาคเสนเจ้าได้แก้วแล้ว ก็มาพิจารณาว่าเราจักให้คนใดทำพุทธรูปให้แก่เราได้หนอ ครั้งนั้นพระอินทร์รู้คำแห่งพระนาคเสนแล้ว จึงใช้วิศสุกรรมเทวบุตรลงมาสู่สำนักนิ์แห่งมหาเถรเจ้าแล้วว่า ภัน์เต ข้าแห่งเจ้ากู อหํ อันว่าข้าเปนช่างกระทำพุทธรูปแท้จริงแล ฯ ข้า ฯ ก็หากจักเอาไปทำพุทธเจ้าให้พระเปนเจ้าแท้จริงแล ครั้งนั้นเถรเจ้าก็กล่าวว่าสาธุ ๆ ดีแล้ว แล้วก็เอาแก้วมรกฏให้แก่วิศสุกรรมเทวบุตรแล้ว วิศสุกรรมเทวบุตรก็ไปสู่เทวโลกย์กับด้วยพระอินทร์ ก็ทำยังพุทธรูปเจ้านานประมาณ ๗ วันในเมืองคน ก็สำเร็จบริบูรณ์ ครั้งนั้นพระอินทร์ก็ใช้วิศสุกรรมเทวบุตร เชิญพระพุทธรูปแก้วมรกฏลงมาถวายแก่เถรเจ้าแล มหาเถรเจ้าเห็นพระพุทธรูปเจ้างามรุ่งเรืองสุกใสมีใจยินดียิ่งนัก ก็ทำมงคลพุทธาภิเศกฉลองพระพุทธเจ้าองค์ประเสริฐแล สัพ์เพเทวา อันว่าเทพยดาทั้งหลายมีพระอินทร์เปนประธาน สัพ์เพมนุส์สา คนทั้งหลายมีพระยาปาตลีบุตรเปนต้น ทั้งอรหันตาแลปุถุชนแลภิกษุในชมพูทวีปทั้งปวง มีมหานาคเสนเถรเจ้าเปนต้น ก็พร้อมกันตกแต่งเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ นา ๆ ก็มาพร้อมกันในอโสกวิหารแล ครั้งนั้นพระอินทร์ก็นฤมิตรปราสาททองหลัง ๑ เปนที่พระแก้วมรกฏเจ้าสถิตย์สำราญแล ครั้งนั้นพระแก้วมรกฏก็สำแดงปาฏิหารเปนผ่องใสงามยิ่งนัก ครั้งนั้นฝูงชนแลเทพยดาทั้งหลาย ก็ตีฆ้องกลองดุริยดนตรีบูชาได้ ๗ วัน ๗ คืน ก็มีเสียงพิฦกเปนโกลาหล ส่งขึ้นไปถึงพรหมโลกย์นั้นแล ปน ด้วยมีแท้ในวันอันกระทำพุทธาภิเศก พระแก้วมรกฏเจ้านั้น มหานาคเสนเถรเจ้าก็เอาพระสารีริกธาตุพระสัพพัญญูเจ้า ๗ องค์ใส่ในโกษฐแก้ว ตั้งไว้เหนือโกษฐทอง ตั้งไว้เหนือพานทอง แล้วก็ตั้งไว้เหนืออาศนอันวิเศษ ตรงหน้าพระแก้วมรกฏเจ้าแล้ว ก็อธิฐานด้วยคำว่าดังนี้ พระแก้วมรกฏเจ้าองค์นี้ ยังจะตั้งอยู่ในพระพุทธสาสนา เปนบุญเปนคุณเปนประโยชน์แก่หมู่ชนแลเทพยดาทั้งหลาย ตราบเท่า ๕๐๐๐ พระพรรษาแท้จริง สารีริกธาตุพระสัพพัญญูเจ้านี้ จงเสด็จเข้าอยู่ในเนื้อพระพุทธรูปเจ้าองค์นี้เถิด ด้วยคำอธิฐานของมหาเถรเจ้านั้น พระธาตุองค์หนึ่งก็เสด็จเข้ายังพระโมฬี องค์หนึ่งก็เสด็จเข้าหน้าผาก องค์หนึ่งก็เสด็จเข้ามือขวา องค์หนึ่งก็เสด็จเข้ามือซ้าย องค์หนึ่งเสด็จเข้าหัวเข่าข้างขวา องค์หนึ่งเสด็จเข้าหัวเข่าข้างซ้าย องค์หนึ่งเสด็จเข้าอกแห่งพระแก้วมรกฏเจ้าแล ฯ

ครั้งนั้นมหานาคเสนเถรส่องไปด้วยอรหัตปัญญาญาณแห่งตนไปข้างน่า ก็ทำนายไว้ว่าพระพุทธรูปเจ้าองค์นี้ ก็จะยกย่องสาสนา ปัญ์จนคเรสุ ในเมืองทั้งหลาย ๕ เมือง คือลังกาทวีป ๑ เมืองรามัญ ๑ เมืองทวาราวดี ๑ เมืองเชียงใหม่ ๑ เมืองล้านช้าง ๑ อปิจ ประการ ๑ พระแก่นจันทน์แดงอันพระยาปัสเวนสร้างก็ดี พระบางเจ้าก็ดี พระแก้วมรกฏก็ดี พระแซกคำ คือพระสิหิงค์เจ้าก็ดี ปติฏ์ฐหัน์ติ ตั้งอยู่ในเมืองอันใด เมืองนั้นก็รุ่งเรืองเปนเมืองอันประเสริฐกว่าเมืองทั้งหลายทั้งปวง เจ้าเมืองอันนั้นก็จักยิ่งกว่าเจ้าเมืองทั้งปวง ก็ประเสริฐนักแล ปน ด้วยมีแท้ บุคคลผู้ใดได้บูชาพระแก้วมรกฏเจ้า ด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ ครั้นจะปราถนาประการใดก็หากจักได้ด้วยความปราถนาแท้จริงแล มหานาคเสนเถรเจ้าก็ทำดังนี้แล้ว มหานาคเสนเถรเจ้าก็อยู่ปฏิบัติปริยัติในพระพุทธสาสนา ตราบเท่าสิ้นอายุก็ปรินิพพานไปวันนั้นแล

ครั้งนั้นพระยาปาตลีบุตรก็ดี ครั้นสิ้นอายุก็จุติไปตามบุญสมภารแห่งตนนั้นแล ท้าวพระยาอันเปนลูกเปนหลาน เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองปาตลีบุตรสืบๆ มา ก็ย่อมอุปัฏฐากรักษาพระแก้วมรกฏเจ้านั้นแล แลพระแก้วมรกฏเจ้านั้น ปติฏ์ฐติ ตั้งอยู่ในเมืองปาตลีบุตร ช้านานประมาณได้ ๓๐๐ ปีนั้นแล พระพุทธสาสนาล่วงไปได้ ๘๐๐ ปี นับแต่ปรินิพพานแห่งพระพุทธเจ้ามาแล

ตโตปรํ ข้างน่าแต่นั้นราชกุมารคนหนึ่ง ชื่อตุนนะอุตถะ ได้เสวยราชสมบัติเปนพระยาในเมืองปาตลีบุตรนครแล ในกาลครั้งนั้นยุทธอันเปนศึกยุทธกันก็มีแล ตุนนะอุตถะอันเปนพระยาปรากฎได้ชื่อว่าศิริธรรมกิตติราชนั้น ก็คิดในใจว่าดังนี้ ในรบยุทธกรรมกันนี้ฉันนี้ เราก็ไม่รู้จักว่าบ้านเมืองจะเปนฉันใด เราควรจะต้องเชิญพระแก้วมรกฏเจ้าไปไว้กับด้วยพระยาสหายเราในเมืองลังกาทวีปก่อนเถิด ครั้นแล้วการศึกสงครามแล้ว เราจึงไปเชิญพระแก้วมรกฏนั้นมาเถิด พระยาศิริธรรมกิตติราชก็เชิญพระแก้วมรกฏลงในสำเภาแล้ว แต่งให้อำมาตย์ไปถึงเมืองลังกานั้นแล ในกาลครั้งนั้นชาวเมืองลังกาทวีปก็รู้ข่าวว่า พระแก้วมรกฏมาแล้วก็ไปรับ มีเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ เชิญพระแก้วมรกฏเจ้าไปสถิตย์สำราญ ในเมฆศิริวิหารแล้ว ก็บูชาอุปัฏฐากรักษาไม่ขาดนั้นแล อมรกฏพุท์โธ อันว่าพระแก้วมรกฏเจ้าก็ไปตั้งอยู่ในลังกาทวีป ให้รุ่งเรืองแก่สาสนาในลังกาทวีปนานได้ ๒๐๐ ปีแล ปัญ์ญาสราชาโน อันว่าท้าวพระยาทั้งหลายเสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ๕๐ กระษัตริย์ แรกแต่เชิญไปสู่ลังกาทวีปแห่งพระแก้วมรกฏเจ้าแล ครั้งนั้นพระพุทธสาสนาล่วงไปแล้วได้ ๑๐๐๐ พระพรรษานั้นแล

ในกาลครั้งนั้นยังมีพระยาตนหนึ่งชื่ออนุรุทธ เสวยราชสมบัติในเมืองรามัญ ชื่อเมืองภูกาม ในชมพูทวีปเรานี้ พระยาอนุรุทธนั้นก็มีอิทธิฤทธิ์มากนัก ไปในอากาศได้ เปนธรรมิกราชาอุปัฏฐากซึ่งพระสงฆ์ คำนับพระไตรรัตนทั้งสามมากนักแล

ในกาลครั้งนั้นยังมีภิกขุองค์หนึ่ง ชื่อศีลขันธ มีวัสสาอายุได้ ๕ พรรษา ได้เรียนธรรมมากเปนพหูสูตร มีสติแลปัญญาฉลาดนัก ก็พิจารณาดูซึ่งแก้วทั้งสาม นิรุตติปิฎก คือคัมภีร์สาตราก็ดี ก็รู้ว่าเปนอันผิด ภิกขุทั้งหลายผู้เฒ่าก็ดีทำบรรพชายังบรรพชาแลอุปสมบทกรรมทั้งหลาย วิรุท์ธานํ อันผิดจากอักขรแลพยัญชนะเหตุใด ศีลขันธภิกษุเข้าไปถามมหาเถรเจ้าอันเปนใหญ่ในอาราม แลสังฆนายกทั้งปวง ภิกษุผู้เฒ่าทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส ดูกรเจ้าศีลขันธ เราทั้งหลายก็ไม่ได้พิจารณาซึ่งอักขรแลพยัญชนะอันผิดแลชอบ มีแต่กระทำตามเถรานุเถรเจ้าทั้งหลาย สืบปรัมปรามาแล แม้ปิฎกทั้งสามผิดก็ดี นิรุตติปิฎก คือคัมภีร์สาตราผิดก็ดี สิ่งประการใดจักไม่ผิดจึงกระทำด้วยประการดังนั้นเถิด ศีลขันธภิกษุก็รำพึงว่าบรรพชาแลอุปสมบทกรรมแห่งเรานี้ ยังจะขึ้นฤๅ ๆ ว่าไม่ขึ้นหนอ เราจะควรไปบรรพชาแลอุปสมบทในลังกาทวีปโน้นควรแท้จริงแล คิดดังนั้นแล้ว ก็ไปบอกแก่พระยาอนุรุทธ ตามความคิดแลสงไสยแห่งปิฎกทั้งสาม แลนิรุตติคือคัมภีร์สาตราผิดนั้น แก่พระยาทุกประการนั้นแล พระยาอนุรุทธก็ถามว่าปิฎกทั้งสามแลนิรุตติปิฎกคือคัมภีร์สัทธาในลังกาทวีปบริบูรณแท้จริงแล ครั้งนั้นพระยาก็กล่าวว่า ภัน์เต ข้าแต่พระเปนเจ้า ถ้าแลมีฉันนั้น สาธุก็เปนอันดีนักแล แลบังคับบัญชาให้อำมาตย์จัดแจงสำเภา ๒ ลำ แล้วก็ให้ภิกษุ ๘ องค์ มีศีลขันธภิกษุเปนต้น กับทั้งอำมาตย์ ๒ คนกับด้วยบริวาร ขึ้นสู่สำเภา ๒ ลำนั้น แล้วก็ส่งไปกับทั้งเครื่องบรรณาการไปก่อนน่านั้นแล โสราชา ส่วนว่าพระยาอนุรุทธธรรมราชาก็มาพิจารณาดูว่าครั้งนี้สำเภาทั้ง ๒ คงจะถึงลังกาทวีปแล้ว ครั้งนั้นพระยาก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปบนอากาศ ก็ถึงเมืองลังกาทวีปพร้อมกันกับสำเภาพอยามเดียวกันก็มีแล พระยาอนุรุทธก็ใช้ให้อำมาตย์ เอาบรรณาการไปถวายแก่เจ้าเมืองลังกาแล้ว จึงบอกข่าวสาส์นอาการอันมาแห่งตน ส่งไปยังพระยาลังกานั้นแล ครั้งนั้นพระยาลังกาทราบแล้ว จึงจัดแจงเข้าน้ำโภชนาหาร บรรณาการสิ่งของทั้งหลายต่าง ๆ ให้อำมาตย์เอาลงไปถวายพระยาอนุรุทธในที่ท่าสำเภาแล้ว ก็จัดแจงที่สำนักนิ์ให้แก่พระยาอนุรุทธนั้นแล

ในกาลครั้งนั้น มหาศีลขันธภิกษุก็เข้าไปนมัสการพระสงฆราชาอันเปนใหญ่ในเมืองลังกาทวีป แล้วก็กล่าวว่า ภัน์เต ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ อันว่าปิฎกทั้ง ๓ ก็ดี นิรุตติปิฎกคือคัมภีร์สัทธาก็ดี ในชมพูทวีปก็เปนอันผิด บรรพชาอุปสมบทกรรมก็ดี อัก์ขรวิรุท์ธานิ ก็ผิดตัวอักขระแท้จริงแล เหตุดังนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจึงมาขอเขียนเอาปิฎกทั้ง ๓ แลคัมภีร์สัทธาอันบริบูรณ์นั้นแล ข้อประการหนึ่งเล่าข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็จักขอบวชอุปสมบทกรรมนั้นแล ครั้งนั้นมหาสังฆราชาก็กล่าวว่า อาวุโส ดูราเจ้าภิกษุศีลขันธ เราทั้งหลายก็จะถามอธิกรณ์อันหนึ่ง กับด้วยเจ้ากูก่อนแลเราทั้งหลาย ก็ได้ให้ของสงฆ์อันเศษเหลือแก่โจรอันมาทุบตีวิหารที่อยู่ที่กิน ก็เพื่อมิให้โจรมาชิงเอาของสงฆ์นั้นแล ยังมีภิกษุคนหนึ่งเปนมาร มากล่าวว่าภิกษุเหล่านี้ได้ให้ของสงฆ์แก่โจรได้ถึงปาราชิก ว่าดังนี้แล เราทั้งหลายก็มีความสงไสย เหตุดังนั้น เจ้าภิกษุศีลขันธได้ร่ำเรียนมาก จงพิจารณายังอธิกรณ์อันนี้ดูเถิด ครั้นว่าทั้งหลายบริสุทธิ์ดีหาความสงไสยมิได้แล้ว เราทั้งหลายก็จะบวชให้แก่ท่านทั้งหลายเปนเณร แลอุปสมบทกรรมเปนภิกษุแล ภิกษุผู้มีชื่อว่าศีลขันธนั้น ก็ยังภิกษุทั้งหลายในเมืองลังกาทวีปให้มาประชุมพร้อมกันแล้ว ภิกษุศีลขันธก็มาพิจารณาตามวินัยธรรมว่า โยปนภิก์ขุ อันว่าภิกษุใด เทติ ก็ให้ เสสสัน์ตกํ ยังของสงฆ์อันเศษเหลือ โจรานํ แก่โจรทั้งหลาย อวิลุม์ปัต์ถาย เพื่อมิให้ชิงเอา มหัน์ตสัน์ตกํ ยังของสงฆ์อันมาก โสภิก์ขุ อันว่าภิกขุนั้น นอาปัช์ชติ ก็บมิได้ถึง อาปัตตึปาราชิกํ ซึ่งอาบัติปาราชิกนั้นแล ภิก์ขุ อันว่าภิกษุ สเจนเทติ ถ้าแลไม่ให้ เสสสัน์ตกํ ยังของอันเศษเหลือ โจรานํ แก่โจรทั้งหลาย โจรา อันว่าโจรทั้งหลาย วิลุม์ปิส์สัน์ติ จักชิงเอายังของสงฆ์อันมากกว่านั้นแท้จริง ตัส๎มา เหตุดังนั้น โสภิก์ขุ อันว่าภิกษุผู้ให้นั้น นปาราชิโก ก็มิเปนปาราชิก โหติ มีแล ภิกษุผู้ชื่อว่าศีลขันธนั้นพิจารณาดังนี้แล้ว ก็ซํ้าชักเอาอรรถกถาเสนาสนขันธมาว่า ทุพ์ภิก์เขสุ ปัก์กัน์เตสุ ดังนี้เปนต้นแล ภิก์ขูสุ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย ปัก์กัน์เตสุ หลีกไป ทุพ์ภิก์เข ในกาลเมื่อเข้าแพง สติ แลมี สัพ์เพอาวาสา อันว่าอาวาศกุฎีวิหารทั้งหลาย นัส์สัน์ติ ก็อันตรายฉิบหาย ตัส๎มา เหตุดังนั้น เสสาอาวาสา อันว่าอาวาศอันเศษ ภิก์ขูหิ อันภิกษุทั้งหลาย วิสัช์เชต๎วา ขายไปแล้ว เอกํอาวาสํ ซึ่งอาวาศอันหนึ่งก็ดี เท๎ววาตโยวา ยังอาวาศทั้งหลาย ๒-๓ ก็ดี ภุญ์ชัน์เตหิ อันบริโภค ยาคุภัต์ตจีวราทีนิ ซึ่งสิ่งทั้งหลายมีเข้ายาคู แลเข้าแข้นแลจีวรเปนต้น ตโต มักว่า เตหิอาวาเสหิ แต่ค่าแห่งอาวาศเหล่านั้น ชัค์คิตัพ์พา พึงรักษานั้นสิ่งเดียวแล อรรถกถาเสนาสนขันธมีดังนี้แล ตัส๎มึอธิกรเณ ในเมื่ออธิกรณ์อันนั้น ภิกษุผู้ชื่อว่าศีลขันธ ก็ได้วิสัชนาชอบนัก เทวา อันว่าเทพยดาทั้งหลายก็บูชาด้วยเข้าตอกดอกไม้ ลงมาบูชาซึ่งถ้อยคำธรรมเทศนาแห่งมหาศีลขันธนั้นแท้จริงแล

ในกาลครั้งนั้น คนทั้งหลายอันอยู่ในเมืองลังกาทวีปทั้งปวง มีพระยาลังกาเปนต้น มีเหตุเปนอัศจรรย์ยังเสียงสาธุการเปนอันมาก ชาวลังกาทวีปทั้งปวงมีพระยาเปนต้น ก็นำมาซึ่งอัฐบริขาร ๘ ประการมากกว่า ๑๐๐ ปัพ์พัช์ชาอุปสัม์ปทัต์ถาย เพื่อกระทำบรรพชาแลอุปสมบทกรรม แก่ภิกษุผู้ชื่อว่าศีลขันธนั้นแล ภิกษุทั้งหลายอันอยู่ในเมืองลังกาทวีปทั้งปวงนั้น มีพระสงฆราชาเปนต้น ก็พร้อมกันบวชภิกษุ ๘ ตน อันมาแต่ชมพูทวีป มีมหาศีลขันธภิกษุเปนต้น ให้เปนสามเณร แล้วให้บรรพชาเปนภิกษุนั้นแล เทวตาโย อันว่าเทพยดาทั้งหลายก็บูชาด้วยเข้าตอกดอกไม้ ภิกษุผู้ชื่อว่าศีลขันธนั้นแล

ครั้งนั้นพระยาอันเปนใหญ่ชื่อว่าอนุรุทธราชา ยังภิกษุทั้งหลายให้เขียนเอายังปิฎกทั้ง ๓ แลนิรุตติปิฎกคือคัมภีร์สัทธานั้นแล โสราชา อันว่าพระยานั้นก็เขียนเอาด้วยตนเองแล ราชา ครั้นว่าพระยาเขียนเสร็จแล้ว ซึ่งปิฎกทั้ง ๓ แลคัมภีร์สัทธาสิ้นแล ก็เอาปิฎกทั้ง ๓ แลคัมภีร์สัทธา กับทั้งพระแก้วมรกฏใส่ในสำเภาลำหนึ่ง เอาปิฎกทั้งสามแลคัมภีร์สัทธาทั้งหลาย ลงใส่สำเภาลำหนึ่ง กับทั้งภิกษุ ๘ องค์ มีมหาศีลขันธเปนต้น ก็ส่งให้มานั้นแล ส่วนอันว่าพระยาก็ขึ้นม้าอาชาไนยมาโดยอากาศ มาถึงเมืองภูกามแห่งตนก่อนนั้นแล ส่วนอันว่าสำเภา ๒ ลำนั้น มาถึงท่ามกลางมหาสมุทก็พลัดพรากจากกันไป สำเภาพระแก้วมรกฏนั้น ก็ตกไปถึงเมืองอินทปัตนครแล พระยาอนุรุทธนั้นก็คอยหาสำเภาพระแก้วมรกฏเจ้าเปนช้านานนักไม่มาถึง ครั้นอยู่มาจึงรู้ข่าวว่า สำเภาพระแก้วตกลงไปถึงเมืองอินทปัตนครแล พระยาอนุรุทธราชจึงขึ้นขี่ม้าไปโดยอากาศ ก็ไปถึงสังฆารามที่ใกล้เมืองอินทปัตนคร พระยาอนุรุทธก็ลงจากหลังม้าแล้วก็ไปทำปัศสาวะเหนือหลังหินก้อน ๑ หินก้อนนั้นก็ตลอดลงไปข้างใต้แล

ครั้งนั้นยังมีภิกษุตนหนึ่ง เห็นกิริยาอันพระยาปัศสาวะบนก้อนหิน เปนรูทะลุลงไปเปนอัศจรรย์มากนัก จึงถามว่าดูกรอุบาสก ท่านมีอิทธิฤทธิเปนอันยิ่งนัก ท่านมีนามกรฉันใด พระยาอนุรุทธก็กล่าวว่า ภัน์เต ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า ข้านี้ชื่อว่าพระยาอนุรุทธ หากใช้มาเอาสำเภาปิฎกทั้ง ๓ อันหลงเข้าในเมืองนี้แล ครั้งนั้นภิกษุองค์นั้นก็ไปบอกกล่าวแก่มหาสงฆราชาแล มหาสงฆราชาก็ไปบอกแก่พระยาอินทปัตนครว่า มหาราช ดูกรมหาราช อันว่าพระยาอนุรุทธราชาเสวยสมบัติเปนกระษัตริย์ในเมืองภูกาม ปราถนาจะใคร่ได้ปิฎกทั้ง ๓ แล ต๎วํ อันว่ามหาราชจงให้สำเภาปิฎกทั้ง ๓ แก่พระยาอันชื่อว่าอนุรุทธราชานั้นเถิด ครั้งนั้นพระยาอินทปัตได้ยินคำอันนั้น จึงกล่าวว่า ภัน์เต ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า สำเภาปิฎกท่านมาสู่เมืองแห่งเรา ก็เพื่อบุญสมภารแห่งเราแล อหํ อันว่าข้า นทัส์สามิ จักไม่ให้แล ครั้งนั้นพระยาอนุรุทธราชาได้ยินคำอันนั้นก็พิโรธนัก ก็คิดในใจว่า เราจะฆ่าเสียซึ่งอำมาตย์ทั้งหลายมีพระยาอินทปัตเปนต้น ก็หากได้แท้จริงแล อหํ อันว่าเรา ธัม์มิกราชา ก็เปนอันประกอบชอบธรรม เราจะฆ่าเสียซึ่งคนทั้งหลาย บาปกรรมนั้นก็จะมาถึงตัวเราแท้จริงแล ตูควรกระทำไภยให้เขาเกรงกลัวแก่ความตายแล้ว ก็จักส่งยังสำเภาปิฎกทั้ง ๓ ให้แก่เรานั้นแล พระยาอนุรุทธราชาคิดดังนี้แล้ว ก็ทำยังรูปดาบอัน ๑ แล้วด้วยไม้ ก็บดหินดานด้วยน้ำจึงทาคมดาบ แล้วก็ขึ้นขี่ม้าไปในกลางคืน ประทักษิณแวดกำแพงเมือง ๓ รอบ ก็เอาดาบเชือดฅอแห่งอำมาตย์ทั้งหลาย มีพระยาเปนต้นด้วยดาบไม้ อันทาด้วยฝุ่นหินนั้นแล ก็กำหราบว่าดูราท่านทั้งหลาย ถ้าแลท่านทั้งหลายไม่ให้ยังปิฎกทั้ง ๓ แก่เรา ก็จะตัดฅอแห่งท่านทั้งหลายในวันรุ่งนี้แท้จริงแล ถ้าแลมิดังนั้นก็จงคลำฅอแห่งท่านทั้งหลายดูเถิด แล้วคนทั้งหลายเขาก็คลำดูฅอแห่งตนทุก ๆ คน ก็ติดด้วยฝุ่นหินเข้าก็สดุ้งตกใจกลัวมากนัก ก็จึงรีบเอาพระแก้วมรกฏไปซ่อนไว้ในที่กำบังแล้ว จึงเอาสำเภาปิฎกทั้ง ๓ ให้แก่พระยาใหญ่อนุรุทธราชานั้นแล พระยาอนุรุทธก็ลืมพระแก้วมรกฏเจ้าเสีย ก็ได้แต่สำเภาปิฎกทั้งสามสิ่งเดียวนั้น ก็ไปสู่เมืองตนนั้นแล มหาอนุรุท์ธราชา อันว่าพระยาใหญ่ตนชื่ออนุรุทธ ตนประกอบชอบธรรม ก็ได้ยกยอสาสนาพระพุทธเจ้าให้รุ่งเรืองงามยิ่งนักก็มีแล

ในกาลครั้งนั้นสาสนาพระพุทธเจ้าอันล่วงไปแล้ว ท๎วาสีติ เอกสตาธิกสหัส์สา ได้ ๑๑๘๒ พรรษา พระยาใหญ่ตนชื่ออนุรุทธธรรมิกราช ก็ตัดศักราชเสียในปีจอแล้ว จึงตั้งศักราชใหม่ในปีกุนเปนจุลศักราชลำดับมาถึงกาลบัดนี้แล อันว่าปิฎกทั้ง ๓ ก็ดี นิรุตติปิฎกคือคัมภีร์สัทธานั้นก็ดี ก็ไม่ผิดตัวอักขระพยัญชนะก็บริสุทธิดีนัก แล้วแพร่ไปทั่วชมพูทวีปทั้งปวง แต่นั้นมาถึงกาลบัดนี้ ในกาลครั้งนั้นพระยาอินทปัตนคร ก็ได้พระแก้วมรกฏเจ้า ก็อุปัฏฐากรักษาไหว้นบสักการบูชาทุกค่ำเช้าเปนนิจกาลมิได้ขาดก็มีแล มนุส์สา คนทั้งหลายอันอยู่ในเมืองอินทปัตนครมีพระยาเปนต้น ก็ย่อมบูชาพระแก้วเจ้าด้วยเครื่องสักการบูชาทั้งหลายต่าง ๆ สาสนาพระพุทธเจ้าก็เปนอันรุ่งเรืองงามมากนักอันมีแล

ตโตอปเร ภายน่าแต่นั้นมา ยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อเสนะราช ได้เสวยราชสมบัติในเมืองอินทปัตนครนั้นแล ลูกชายแห่งพระยาตนนั้นมีคนหนึ่ง ก็ได้เอาแมลงวันเขียวมาเลี้ยงใส่กลักทองไว้นั้นแล ยังมีลูกปโรหิตคนหนึ่งก็ได้เอาแมลงมุมมาเลี้ยงตัวหนึ่งนั้นแล อันว่ากุมารทั้ง ๒ นั้น ต่างคนต่างเอาของเลี้ยงแห่งตนมาเล่นด้วยกัน ส่วนอันว่าแมลงมุมของเลี้ยงแห่งลูกปโรหิตนั้น ก็กินแมลงวันเขียวของเลี้ยงแห่งลูกพระยาเสียแล ลูกพระยาก็เสียใจเปนอันมากนัก แล้วจึงร้องไห้ไปบอกแก่พระยาตนเปนพ่อนั้นแล พระยาก็โกรธมากนัก ก็ได้เอาลูกปโรหิตผูกจมน้ำสระอันชื่อว่าถะระฉาปะที่นั้นแล

ยังมีพระยานาคตัวหนึ่งอยู่ในสระที่นั้น ก็เดือดให้แก่พระยาว่า พระยาคนนี้ก็ไม่ประกอบชอบธรรม แล้วจึงให้น้ำท่วมเมืองเสีย คนทั้งหลายมีพระยาเปนต้น ก็ถึงซึ่งความฉิบหายตายไปมากนัก ยังเษศเหลือแต่คนที่มีเรือ ก็ยังได้มีชีวิตรอยู่นั้นแล

ยังมีมหาเถระเจ้าตนหนึ่ง ก็ได้เอาพระแก้วมรกฏเจ้าใส่สำเภาแล้วก็เอาไปไว้ยังบ้านอันหนึ่ง มีทิศสระหนเหนือก็มีแล เอโก ราชา ยังมีพระยาองค์หนึ่งชื่ออาทิตย์ ได้เสวยสมบัติเปนกระษัตริย์ในเมืองศรีอยุทธยา ก็ไปสู่เมืองอินทปกานคร ได้เชิญพระแก้วมรกฏมาตั้งไว้ในเมืองศรีอยุทธยานั้นแล มนุส์สา อันว่าคนทั้งหลาย อันอยู่ในเมืองศรีอยุทธยา ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาด้วยพระแก้วมรกฏยิ่งนัก จึงจัดแจงเครื่องสักการบูชาทั้งหลายต่าง ๆ เข้ามาทั้งแปดทิศ บูชาพระแก้วมรกฏเปนนิจนิรันต์มิได้ขาดแท้จริงแล พระแก้วมรกฏก็ได้ตั้งอยู่ในเมืองศรีอยุทธยานานนักแล ตโตอปเร ภายน่าแต่นั้นมา พระยากำแพงเพ็ชร ก็ไปสู่เมืองศรีอยุทธยา ได้เชิญพระแก้วมรกฏไปประดิษฐานไว้ในเมืองกำแพงเพ็ชรนั้นแล สัพ์เพมนุส์สา อันว่ามนุษย์ทั้งหลายอันอยู่ในเมืองกำแพงเพ็ชรนั้น มีใจเลื่อมใสศรัทธาในพระแก้วมรกฏ ก็กระทำสักการบูชาอยู่เปนนิจนิรันต์มิได้ขาดแล พระแก้วมรกฏก็ได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองกำแพงเพ็ชรนั้นแล ปัจ์ฉา กาลภายหลังแต่นั้นมา ยังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อว่าพรหมทัต ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงราย ก็ได้ไปสู่เมืองกำแพงเพ็ชรแล้ว ก็ได้เชิญพระแก้วมรกฏไปประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงรายนั้นแล สัพ์เพมนุส์สา อันว่ามนุษย์ทั้งหลายอันอยู่ในเมืองเชียงราย มีพระยาพรหมทัตเปนต้น มีใจเลื่อมใสศรัทธามากนักในพระแก้วมรกฏ ก็สักการบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลายไม่ขาดแล สาสนาพระพุทธเจ้าในเมืองเชียงราย ก็รุ่งเรืองมากนักแล

ครั้งนั้นยังมีพระยาองค์ ๑ ชื่อว่าคิมานนทไชยนักขระสโร เปนเจ้าเปนใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ก็ใช้ให้เสนาอำมาตย์ไปอาราธนาพระแก้วมรกฏในเมืองเชียงราย มาประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ ได้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในราชวังแห่งตน ให้เปนที่สถิตย์สำราญแห่งพระแก้ว จึงได้ปรากฎนามชื่อว่าหอปราสาทพระแก้วมรกฏนั้นแล นพเชย์ยราชา พระยาเชียงใหม่ก็อุปัฏฐากรักษาพระแก้วมรกฏทุกค่ำเช้ามิได้ขาดแล มนุส์สา อันว่าคนทั้งหลายในเมืองเชียงใหม่นั้น ก็กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลายต่าง ๆ แล้วก็เล่นการมโหรศพบูชาทุกปีทุกเดือนมิได้ขาดแล สาสนาแห่งพระพุทธเจ้าก็รุ่งเรืองอยู่ในเมืองเชียงใหม่มากนัก ด้วยเดชานุภาพแห่งพระแก้วมรกฏก็มีแล ปน ด้วยมีแท้ ปุต์ตนัต์ตา อันว่าลูกหลานแห่งพระยาเมืองเชียงใหม่ชื่อว่าคินานั้น ก็ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองเชียงใหม่ สืบปรัมปรามาตราบเท่าถึงจุลศักราชได้ ๘๑๘ ปี สาสนาพระพุทธเจ้าอันล่วงไปได้ ๒๐๐๐ พรรษาก็มีแล ตโตอปเร ภายน่าแต่นั้น อมรกฏพุท์โธ อันว่าพระแก้วมรกฏ ก็ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ตราบเท่าจุลศักราชล่วงได้ ๘๖๘ ปีก็มีแล

ตทา ในกาลครั้งนั้น ยังมีโพธิสัตวกุมารอันเปนบุตรพระยาวิชุนนะราช ได้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุต คือว่าเมืองล้านช้างนั้นแล ราชกุมารผู้นั้นก็เกิดปีมโรงจุลศักราช ๘๖๘ ปีนั้นแล กุมารผู้นั้นครั้นมีไวยเจริญได้ ๑๕ ปี ก็ได้เสวยราชสมบัติเปนพระยาแทนพระบิดานั้นแล เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ก็ได้อภิเศกซึ่งโพธิสัตวองค์นั้น ให้เปนพระยาปรากฎด้วยนามกร ว่าโพธิสาลราชมหาธรรมิกทศลักขกุญชรมหานคราธิบดีแล พระยาองค์นั้นก็มีบุญสมภารเดชานุภาพมากนัก อโหสิ ก็มีแล ในกาลครั้งนั้นพระยาเชียงใหม่ก็ทราบข่าวสารว่า พระยาโพธิสาลราชมีบุญญาธิสมภารมากนั้น จึงให้ธิดาแห่งตนผู้ชื่อว่านางยอดคำ ไปเปนอรรคมเหษีแห่งพระยาโพธิสาลราชองค์นั้นแล พระยาโพธิสาลราชก็ให้นามกรนางเทวีนั้นว่านางหอสูงนั้นแล พระยาโพธิสาลราชก็อยู่กินด้วยนางเทวีนั้น ได้บุตรชายคนหนึ่งเกิดในปีมเมียจุลศักราชได้ ๘๙๖ ปี พระบิดาก็ให้ชื่อว่าเชษฐวงษาราชกุมารนั้นแล แต่นั้นมาพระยาโพธิสาลราชก็สังวาศกับด้วยนางนักสนมคนหนึ่ง ได้บุตรชายอิกคนหนึ่ง ให้ชื่อว่าติดถนาวกุมารแล พระยาโพธิสาลราชนั้นก็ไปสังวาศกับด้วยนางนักสนมอิกคนหนึ่งชื่อว่านางหอขวด ได้บุตรชายอิกคนหนึ่งชื่อว่าวรวงษากุมารแล ราชา อันว่าพระยาเมืองเชียงใหม่อยู่มิช้าเท่าใด ก็ถึงซึ่งพิราไลยไปก็มีแล นพเชย์ยนครํ ครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ไม่มีผู้ที่จะสืบวงษามิได้ นครวาสิโน อันว่าคนในเมืองเชียงใหม่ มีเสนาแลอำมาตย์เปนต้น ก็เข้าไปพร้อมกันกับด้วยราชครูพระสิงหลวง มีสงฆนายกเปนประธาน ก็ให้ราชทูตไปเชิญเจ้าเชษฐวงษาราชกุมาร อันเปนบุตรพระยาโพธิสาลมาเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่นั้นแล พระยาโพธิสาลราชก็ตั้งจตุสดมภ์เสนา ๔ จำพวก ตั้งเจ้าเชษฐวงษาราชกุมารอันมีอายุได้ ๑๒ ปี ไปอภิเศกตั้งไว้เปนพระยาในเมืองเชียงใหม่ ปรากฎนามชื่อว่าพระยาไชยเชษฐาธิราช ในปีมเสงจุลศักราชได้ ๙๐๗ ปีนั้นแล พระยาโพธิสาลราชก็กลับคืนมายังบ้านเมืองของตนแล้ว เสวยสมบัติอยู่ได้ ๓ ปี มีชนมายุได้ ๕๒ ปี พระยาโพธิสาลราชก็ชอบด้วยคล้องช้างมากนัก ก็ไปคล้องช้างในป่า เชือกหนังหลุด พระยาโพธิสาลราชก็ตกลงมา สิ้นชีพในที่นั้นแล ในกาลครั้งนั้น เสนาอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมกันยกวรวงษากุมารอันเปนบุตรนางหอขวดไว้ในเมืองเวียงจันทบุรี แล้วก็ได้ตั้งซึ่งติดถนาวกุมารไว้ในเมืองสะวาคือว่าเมืองหลวงพระบางนั้นแล แล้วเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ก็ส่งข่าวสาส์นไปถึงพระยาไชยเชษฐาธิราชในเมืองเชียงใหม่ ให้รู้ข่าวสาส์นอาการนั้นแล พระยาไชยเชษฐาธิราชนั้น ครั้นทราบว่าบิดาถึงแก่พิราไลยแล้วดังนั้นก็รีบเสด็จไปสู่เมืองศรีสัตนาคนหุตคือเมืองล้านช้าง ก็ดำริห์แต่ในใจว่าจะไปเมืองล้านช้างก็ไม่รู้จะช้าฤๅเร็วฤๅอย่างไร เราควรจะเชิญพระแก้วมรกฏไปเสียด้วยเถิด ครั้นอยู่มาเราก็ไม่รู้จักว่าพระแก้วมรกฏองค์ใด เหตุว่าพระแก้วมรกฏมีมากหลายองค์นักแล พระยาก็เรียกมาซึ่งผู้รักษาปราสาทพระแก้วมาแล้วก็ประทานทองร้อยหนึ่งแล้วจึงกล่าวว่า ท่านจงบอกซึ่งพระแก้วมรกฏองค์นี้แก่เราเถิด คนรักษาปราสาทพระแก้วก็กล่าวว่า เทว ข้าแต่มหาราชาเจ้า ข้าพเจ้าก็หากจักตั้งไว้ ชยสุมนปุป์ผํ ตั้งไว้ซึ่งดอกไม้แดงในพระหัดถ์แห่งพระแก้วมรกฏแท้จริงแล มหาราชาเจ้าก็จงรู้เถิด ถึงเวลากลางคืนคนอันรักษาปราสาทหอพระแก้ว ก็เอาดอกไม้แดงวางไว้ในพระหัดถ์พระแก้วมรกฏนั้นแล พระยาไชยเชษฐาธิราชนั้น ก็อำลาราชครูแลสงฆราชาเสนาแลอำมาตยปโรหิตทั้งหลายแล้ว ก็ไปในปราสาทหอพระแก้ว ก็ให้หามพระแก้วมรกฏด้วยสีวิกากาญจน์ แล้วให้จตุสดมภ์เสนา ๔ จำพวก ไปสู่เมืองล้านช้าง ยังพระแก้วมรกฏให้ประดิษฐานอยู่ สุวัณ์ณสุจิพุท์ธฆรปาสาเท ในหอปราสาทพระแซกคำเจ้า ก็อุปัฏฐากรักษาอยู่ทุกค่ำเช้ามิได้ขาดสักวันนั้นแล พระยาไชยเชษฐาธิราช ก็ไปอยู่เมืองสะวาคือเมืองล้านช้างนานได้ ๓ ปี ก็ไม่ได้กลับมาเมืองเชียงใหม่เลย ครั้นอยู่มาคนเมืองเชียงใหม่ มีเสนาแลอำมาตย์เปนต้น ก็มาพิจารณาหาวงษาท้าวพระยา ก็เห็นบรรพชิตองค์หนึ่งชื่อพระแฮมกุวัน เปนวงษาแห่งท้าวพระยา ก็นิมนต์สึกออกมาเสวยราชสมบัติ เปนพระยาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ปรากฎนามชื่อว่าพระยาแฮมคุติราชาแล ในกาลครั้งนั้น ครั้นอยู่มาพระยาไชยเชษฐาธิราชก็โกรธหนัก ก็ยกจตุรงคเสนาขึ้นไปรบเอาซึ่งเมืองเชียงแสนให้เข้าอยู่ในอำนาจแห่งตนแล้ว ก็ยกหมู่รี้พลโยธาจักเข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระยาแฮมคุติราชาก็ยกรี้พลโยธาออกไปจัดแจงคอยรบ ในกาลครั้งนั้นพระยาไชยเชษฐาธิราช ก็ไม่อาจเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วก็ถอยหนีคืนไปอยู่เมืองเชียงแสนได้ ๙ ปีแล้ว ก็ยกรี้พลโยธาลงมาสู่เมืองสะวาล้านช้าง ก็ไม่อยู่ จึงตั้งเสนาแลอำมาตย์ให้รักษาสะวาล้านช้าง แล้วพระยาก็เชิญพระแก้วมรกฏแลพระแซกคำเจ้า กับทั้งหมู่รี้พลโยธาก็ยกลงมา เสวยราชสมบัติในเมืองจันทบุรีในปีฉลูจุลศักราชได้ ๙๒๖ ปีนั้นแล พระยาไชยเชษฐาธิราชก็สร้างแปลงหอปราสาทยังพระแก้วมรกฏแลพระแซกคำเจ้าให้ประดิษฐานในปราสาท ก็อุปัฏฐากรักษาอยู่ทุกคํ่าเช้ามิได้ขาด พระยาไชยเชษฐาธิราชก็สร้างแปลงซึ่งเครื่องบูชา เปนต้นว่าบริขารบาตรแลภาชนอันแล้วด้วยเงินแลทองบูชาพระพุทธรูปเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ ในจุลศักราชได้ ๙๒๖ ปี พระพุทธสาสนาล่วงแล้วได้ ๒๑๐๘ พระพรรษาแล มนุส์สา อันว่าคนทั้งหลายอันอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุต มีใจเลื่อมใสศรัทธามากนัก ก็ได้บูชาซึ่งพระพุทธรูปเจ้าทั้ง ๒ องค์ คือพระแก้วมรกฏแลพระแซกคำเจ้า ด้วยเครื่องสักการบูชาทั้งหลายต่าง ๆ มิได้ขาด ครั้งนั้นสาสนาพระพุทธเจ้าก็รุ่งเรืองยิ่งนักแล พระยาไชยเชษฐาธิราชก็สร้างพระมหาเจดีย์องค์ ๑ ในทิศตวันออกแห่งอโสกราชเจดีย์นั้น แล้วก็สร้างสัมดึงษบารมี เจดีย์สามสิบหลัง รอบเจดีย์หลังนั้น ถึงทุกคำไรชื่อว่าพระไชยธาตุวารมหาเจดีย์ จุฬามณีเจดีย์ศรีเชียงใหม่แล พระยาไชยเชษฐาธิราช ก็ให้โอกาศมอบเวนทั้งข้าหญิงข้าชาย แลเขตรแดนที่ไร่นาทั้งหลาย ให้เปนทาน พร้อมกับด้วยเครื่องบูชามีประการต่าง ๆ ตราบเท่าถึง ๕๐๐๐ พรรษาก็มีแล พระยาไชยเชษฐาธิราชได้เสวยราชสมบัติประมาณได้ ๒๔ ปี ชนมายุได้ ๓๘ ปีแต่เดิมมาพระยาก็ไปสู่เมืองมันราสักคือเมืองน่าน ก็สิ้นชีพในเมืองนั้นแล ในกาลครั้งนั้น พระพุทธสาสนาล่วงไปแล้วได้ ๒๑๐๘ พระพรรษาแล ปัจ์ฉา เมื่อภายหลังแต่นั้นมาบุตรแลนัดดาพระยาไชยเชษฐาธิราช ก็ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองจันทบุรีสืบ ๆ ต่อมา ก็ได้อุปัฏฐากรักษาพระพุทธรูปเจ้า ๓ องค์ คือพระแก้วมรกฏ แลพระแซกคำ แลพระบางเจ้าสืบ ๆ ต่อมา พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ องค์ ติฏ์ฐัน์ติ ก็ประดิษฐานอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตสิ้นกาลนานแล

แต่ในกาลครั้งนั้นมาถึงจุลศักราชได้ ๑๑๔๐ ปีจอ พระมหากระษัตริย์เจ้ากรุงศรีอยุทธยาสองพระองค์พี่น้อง อันมีบุญสมภารเดชฤทธิเปนอันมาก ก็ยกจตุรงคโยธาขึ้นไปตีเมืองหล่มภูหนองบัว ถึงจุลศักราช ๑๑๔๑ ปี จึงยกจากหล่มภูหนองบัว ก็ขึ้นไปตีเวียงจันท์ปีนั้นแล พระมหากระษัตราธิราชเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ จึงได้พระแก้วมรกฏลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ในจุลศักราชได้ ๑๑๔๒ ปีฉลู แล้วก็ได้สร้างซึ่งหอพระแก้ว อันวิจิตรด้วยแก้วแลทอง ควรที่ชื่นชมยินดี เปนที่สถิตย์สำราญแห่งพระแก้วมรกฏ แล้วก็กระทำซึ่งเครื่องสักการบูชา อันแล้วด้วยแก้วแลเงินแลทอง มิอาจพรรณานับได้เลย สัพ์เพนครวาสิโน อันว่าชาวเมืองทั้งหลาย ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาเปนอันมาก ปูเชน์ติ ก็บูชา นานาปกาเรน ด้วยประการต่าง ๆ พุท์ธสาสเน อันสาสนาพระพุทธสัพพัญญูเจ้า โชเตน์ติ ก็รุ่งเรืองมากนัก พุท์ธธรมาวิย ประดุจดังครั้งพระพุทธเจ้ายังธรมานอยู่ก็มีแล อมรกฏพุท์โธ อันว่าพระแก้วมรกฏ ปติฏ์ฐติ ก็ได้ตั้งอยู่ สิริอโยท๎ยานครํ ในเมืองกรุงเทพ ฯ ยาวอิมัส๎มึปัจ์จุป์ปัน์เน ตราบเท่าถึงกาลบัดนี้แล อมรกฏพุท์ธนิทานกถาสมตานิฏ์ฐิตา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ