บัดนี้จะได้ชี้แจงพระนาม ซึ่งจารึกในฐานพระ...

บัดนี้จะได้ชี้แจงพระนาม ซึ่งจารึกในฐานพระ สอบกับพระนาม ซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร แลตามคำคนเรียก กับทั้งอย่างอื่น ๆ ดังนี้

พระนามที่ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดี นั้น เปนพระนามตรง ได้จารึกในพระสุพรรณบัตรแท้ แลพระนามอันนี้ ความประสงค์เดิม ว่ากรุงศรีอยุทธยา ที่ตั้งในตำบลหนองโสนนี้ มีบริมณฑลคล้ายคลึง กับทวาราวดีศรีอยุทธยา ซึ่งเปนเมืองของพระนารายน์เปนเจ้า อวตารลงมา ในปางที่ ๑๐ เรียกว่ารามาวตาร จึงได้ขนานนามพระนครนั้น ให้ต้องว่าทวาราวดีศรีอยุทธยา เมื่อพระนครเปนทวาราวดีศรีอยุทธยาแล้ว พระนามพระเจ้าแผ่นดินจึงได้ใช้รามาธิบดี ให้ตรงกันกับนารายน์รามาวตาร ก็แต่สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นี้ ในพระราชพงษาวดาร เรียกว่าสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง คำราษฎรเรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทองบ้าง ท้าวอู่ทองบ้าง ซึ่งเรียกว่าอู่ทองดังนี้ มีคำปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินครองสมบัติอยู่ในเมืองไตรตรึงษ์ เดิมชื่อเมืองแปบ เปนเมืองร้างอยู่ในสยามประเทศอันนี้ พระเจ้าแผ่นดินได้สืบบรมราชวงษ์กันมาสี่ชั่วแผ่นดิน ครั้งนั้นมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง เปนปมเปาทั่วทั้งตัว คนทั้งปวงเรียกว่านายแสนปม นายแสนปมนั้นทำไร่ปลูกพริกมะเขือ แลมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ใกล้ห้างที่อาไศรย นายแสนปมถ่ายปัสสาวะรดต้นมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ไม่ได้ขาด ในขณะนั้นพระราชธิดาพระเจ้าไตรตรึงษ์อยากเสวยผลมะเขือ จึงได้ผลมะเขือต้นนั้นไปเสวยก็ทรงครรภ์ ครั้นประสูตรแล้วพระไอยกาให้เสี่ยงทายหาบิดา พระราชกุมารรับเอาก้อนเข้าเย็นของนายแสนปม พระเจ้าไตรตรึงษ์ทรงลอาย จึงให้ขับเสียทั้งพระราชธิดาแลพระราชนัดดา ไปอยู่ที่ไร่กับนายแสนปม พระอินทรจึงนำเอากลองทิพย์มาให้กับนายแสนปม นายแสนปมจึงตีกลองทิพย์ นฤมิตรขึ้นเปนบ้านเมือง แลจึงให้ช่างทองตีอู่ทองให้โอรสนอน จึงได้นามปรากฎว่าอู่ทองราชกุมาร ในศักราช ๖๘๑ ปีมแมเอกศกนั้น ครั้นพระราชบิดาสวรรคตแล้ว อู่ทองราชกุมาร ได้ครองราชสมบัติ ในจุลศักราช ๗๐๖ แล้วจึงยกลงมาสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา ตำบลหนองโสน ในจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก เปนสมเด็จพระรามาธิบดี แต่นามอู่ทองเดิมนั้น ก็ยังมีผู้เรียกคงอยู่ รามาธิบดีองค์นี้ ควรนับเปนที่ ๑

พระนามที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราชนี้ พระนามต้องกันกับในพระราชพงษาวดาร แต่ซึ่งเรียกว่าพระเจ้ามหาเดช พระเจ้าพฤฒิเดชนี้ จะเปนคำเดิมเรียกกันมาอย่างนั้นบ้าง ฤๅจะมีในพงษาวดารมอญ คือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ ก็ไม่ทราบ ด้วยฉบับเดิมนั้นหายสูญไป ยังหาไม่ได้ ฤๅจะเปนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชดำริห์ ฤๅทรงแปลจากอันใดไม่ได้ทราบชัด แต่ในพระราชพงษาวดาร เรียกว่าขุนหลวงพงัวพระองค์นี้ ควรนับเปนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑

ในที่ ๓ เจ้าทองจันทร์ ฤๅเจ้าท้องลั่น นั้น ไม่ได้ตั้งนาม เพราะไม่ได้ทำการราชาภิเศก พระนามก็เรียกตรงกัน

ที่ ๔ สมเด็จพระราเมศวร นี้ เรียกยืนที่อยู่ ต้องกันกับในพระราชพงษาวดาร แต่ถ้าจะคิดดูก็น่าสงไสยอยู่ จะเปลี่ยนเปนสมเด็จพระรามาธิบดีเมื่อภายหลัง เพราะในขณะนั้นสมเด็จพระราเมศวร ตั้งเปนเจ้าครองเมืองลพบุรี พระบรมราชาธิราชครองเมืองสุพรรณบุรี ไม่ได้เปนวังน่าเหมือนธรรมเนียมทุกวันนี้ ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ เปนเจ้าแผ่นดินใหญ่แล้ว จะเปลี่ยนรับพระนามของพระราชบิดา ฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะเห็นแบบอยู่ เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก ภายหลังลงไป พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระนามเดิมพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเสด็จไปครองเมืองพิศณุโลกย์ ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระนามราเมศวรนี้ จะเปนตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายเหนือฤๅกะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าจะคิดเสียอิกอย่างหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งครองเมืองสุพรรณบุรี ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ท่านก็คงใช้พระนามเดิมอยู่ ในครั้งนี้สมเด็จพระราเมศวร ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็จะใช้พระนามเดิม ซึ่งเปนของพระราชบิดาพระราชทาน แล้วนามนั้นก็เปนรามต้องกับนามพระนครอยู่แล้ว คำซึ่งเรียกสมเด็จพระราเมศวรนี้ ก็ปรากฎเหมือนกันทั่วทุกแห่ง ควรนับว่าเปนสมเด็จพระราเมศวรได้

ที่ ๕ นั้น สมเด็จพระรามราชาธิราช ต้องกันกับพระราชพงษาวดารย่อ แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารนั้น เดิมเรียกว่าพระยาราม คำที่เรียกว่าพระยารามราชโอรสนี้ ดูคล้าย ๆ กับข้างเรื่องราชพงษาวดารรามัญ ชั้นพระเจ้าราชาธิราช มีพระราชโอรสเรียกว่าพระยาเกียรติ พระยาราม แต่พระยารามนี้เปนเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว จะเปลี่ยนนามตามสมเด็จพระไอยกาเปนรามาธิบดี ฤๅจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ทราบ แต่เปนคำได้ใช้กันถูกต้องมาช้านานแล้ว ควรรับเอาว่าเปนสมเด็จพระรามราชาธิราช ตามซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงไว้นั้น

ที่ ๖ สมเด็จพระมหานครินทราชาธิราช ซึ่งเรียกว่านครินทร์นั้น ออกจากนครอินทร์ พระนามเดิมที่เรียกว่าพระนครอินทร์นั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ท่านจะเรียกให้เพราะชดช้อยขึ้น ท่านจึงเรียกเสียว่านครินทร์ เนื้อความก็เปนอันเดียวกัน แต่ถึงท่านเรียกดังนั้นแล้วก็ไม่ตลอด ในพระราชพงษาวดาร บางแห่งท่านก็เรียกเปนสมเด็จพระอินทราชา ถ้าหากว่าจะเรียกเปนอินทราชาดังนั้น ก็ควรนับเปนอินทราชาที่ ๑

ที่ ๗ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

ที่ ๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทั้งสองพระนามนี้ เปนพระนามถูกต้องกันทุกสถาน ไม่ต้องมีที่สงไสย

ที่ ๙ สมเด็จพระอินทราชาธิราช นี้ ท่านก็เปนพระราชนัดดาของสมเด็จพระนครินทราธิราช แต่พระนามนั้น ถ้าใช้ตามอย่างนครินทราชาธิราชอย่างเดิม ก็ควรจะนับว่าเปนที่ ๒ ฤๅท่านพระองค์เดิมเปนอินทราชาด้วย ก็ควรนับว่าเปนที่ ๒ เหมือนกัน

ที่ ๑๐ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

ที่ ๑๑ สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร นี้ ถูกต้องทุกสถาน

ที่ ๑๒ สมเด็จพระรัษฎาธิราช นี้ ทรงพระเยาว์ จะได้ตั้งพระนามฤๅไม่ได้ตั้ง ไม่มีปรากฎในที่แห่งใด ในพระราชพงษาวดารเรียกว่า พระรัษฎาธิราชกุมาร เปนพระนามเดิม แต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจารึกนี้ ว่าพระราษฎาธิราช แปลคนละความ คงสันนิฐานว่า พระนามนี้เปนพระนามเดิม ไม่ใช่พระนามที่ตั้งใหม่ แต่เปนคำสมควรกับพระนามเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ควรรับเอาว่าเปนพระนามได้

ที่ ๑๓ สมเด็จพระไชยราชาธิราช เดิมเป็นพระไชยราชาเชื้อพระวงษ์ มาเติมธิราชข้างท้าย เมื่อเรียกพระนามเปนพระเจ้าแผ่นดินดังนี้ ก็เปนอันใช้ได้

ที่ ๑๔ พระยอดฟ้า นี้ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดิน ยังทรงพระเยาว์นัก ไม่ได้ตั้งพระนาม จึงเรียกคงอยู่ตามเดิม แต่มีอยู่แห่งหนึ่ง ในพระราชพงษาวดารย่อ ที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่ง ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าพระแก้วฟ้า แต่เปนของแก้ใหม่ เมื่อตั้งพระนามพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เปนพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์พ้องกันไป จึงได้แก้หลีกเสีย แต่ในที่อื่น ๆ คงเรียกพระยอดฟ้าอยู่ตามเดิม

ที่ ๑๕ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช นี้ ถูกต้องแล้ว

ที่ ๑๖ พระมหินทราธิราช แต่ในพงษาวดารมอญ คือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ เรียกว่าพระมหิงษราชา คำนี้เห็นจะผิดเปนแน่ แต่จะผิดชั้นที่มอญเขียนมา ฤๅจะผิดชั้นแปลเปนไทยก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่า พระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จะเปนกระบือไปนั้นเห็นจะไม่เปน คำที่ว่ามหินทนี้ คนพอใจจะเรียกว่ามหิงษ์บ่อย ๆ เหมือนเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ทุกวันนี้คนก็เรียกกันว่าเจ้าพระยามหิงษ์ชุม

ที่ ๑๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระนามซึ่งเรียกดังนี้ เรียกตามพระนามเดิม ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระราชทานนาม ให้ขึ้นไปครองเมืองพระพิศณุโลกย์ พระนามนั้น ในหนังสือต่าง ๆ ก็เรียกผิดอยู่ ว่าพระมหาธรรมราชาบ้าง มหาธรรมราชาธิราชบ้าง ในพงษาวดารมอญเรียกว่าพระสุธรรมราชา แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารมีความว่า จุลศักราช ๙๙๘ ปีมโรงอัฐศก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ผ่านพิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์วงษ์กุรสุรโยดมเปนต้น มีพระนามต่อไปอิกเปนอันมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามนี้ ก็จะเห็นว่าเปนที่ให้จำยากฤๅกะไร จึงได้เรียกพระนามเดิม แต่ถ้าโดยว่าจะเรียกตามนามเดิมก็ใช้ได้ ถ้าจะเรียกอย่างพระนามใหม่ต้องเรียกว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ จึงจะรู้จักว่าสรรเพชญ์องค์ไหน

ที่ ๑๘ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ก็เปนพระนามเดิมแต่ยังเสด็จครองเมืองพระพิศณุโลกย์ เวลาได้ราชาภิเศกนั้นจะใช้พระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดา ต่อไปทีเดียวฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ในเวลานั้นมีการศึกรบพุ่งกันมาก ในพระราชพงษาวดารก็หาได้กล่าวถึงการบรมราชาภิเศกไม่ เพราะดังนั้น ถ้าจะว่าก็เหมือนหนึ่งคิดเดาเกินไป ด้วยว่าพระนามสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้านี้ ปรากฎโด่งดังมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามเดิม ก็เปนการสมควรอยู่ แต่ถ้าจะเทียบเคียงตามท่านไปน่าแลผู้ไปหลังให้รอบคอบ แลเทียบแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าด้วย ก็จะเห็นลงได้บ้างว่าท่านเห็นจะใช้พระนามสมเด็จพระราชบิดา เปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ ควรนับว่าเปนที่ ๒

ที่ ๑๙ สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราชนั้น มีความปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า ในศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ทรงพระนามสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เปนต้น ถ้าจะนับเอาต้นพระนามใหม่ ก็เห็นเปนแน่ว่า เปนพระนามคล้ายกับพระราชบิดา ควรนับว่าเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ ก็นี่แล สมเด็จพระเอกาทศรฐนี้พระนามก็ปรากฎโด่งดังเหมือนสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ท่านยังเปลี่ยนตามสมเด็จพระราชบิดา จึงได้คาดคเนต่อไปว่า สมเด็จพระนเรศวร ผู้เปนพระเชษฐานั้น ท่านคงจะใช้พระนามนี้มาก่อนแล้ว พระอนุชาท่านจึงใช้ตามกันต่อมา

ที่ ๒๐ พระศรีเสาวภาคย์นั้น พระนามเดิม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เมื่อเปนเจ้าแผ่นดินนั้น มีปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า ได้ทำการราชาภิเศก แล้วดำรงราชสมบัติอยู่ถึงปีหนึ่งกับสองเดือน ให้ผู้อ่านคเนลองดูบ้าง ว่าเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์นี้มิใช่ทรงพระเยาว์อยู่ ฤๅบ้านเมืองเปนจลาจลประการใด ก็เรียบร้อยเปนปรกติ จนได้ทำการราชาภิเศกดังนี้ จะตั้งพระนามฤๅไม่ตั้ง ฤๅจะใช้เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์อยู่ตามเติม ถ้าเห็นว่าจะตั้งพระนาม ก็คงเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ ถ้าเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์แล้วต้องนับเปนที่ ๔

ที่ ๒๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม พระนามนี้ในพระราชพงษาวดารไม่ปรากฎ มีแต่ว่าทรงพระนามสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ ก็เห็นว่าจะไม่ใช่พระนามจารึกพระสุพรรณบัตร มีในพงษาวดารมอญเรียกว่าพระไตรโลกนารถ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงทรงตามนั้น จะเปนพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตรแน่ เพราะท่านทรงผนวชมานาน แลทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธสาสนามาก คล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ ๑ จึงได้โปรดรับพระนามนั้น มาตั้งเปนพระนามพระองค์ ถ้าเปนดังนั้นก็เปนสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ ๒

ที่ ๒๒ พระเชษฐาธิราชนั้น ก็ไม่ทราบว่าพระนามว่ากระไร ในพงษาวดารมอญก็ตัดเสียไม่กล่าวถึง แต่ได้ครองราชสมบัติอยู่นานถึงปี ๑ กับ ๗ เดือน คงจะตั้งพระนามแล้ว แต่ไม่มีปรากฎ ถ้าจะเทียบเอาพระนามสมเด็จพระราชบิดามาให้เปนพระนามนี้ด้วย ก็เห็นว่าเกินคุณวุฒิในพระองค์อยู่ จะเทียบเอาพระนามใดมา ก็เปนการคาดคเนมากไป ต้องคงว่าเปนสมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่ตามเดิม

ที่ ๒๓ พระอาทิตยวงษ์นั้น ไม่มีพระนามแน่ เพราะได้ครองราชสมบัติยังทรงพระเยาว์นัก แล้วก็อยู่เพียง ๖ เดือน

ที่ ๒๔ สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททองนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเรียกตามพงษาวดารมอญแต่ในพระราชพงษาวดาร ว่าทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง เพราะท่านทรงสร้างจักรวัติไพชยนต์มหาปราสาทอย่าง ๑ อิกเรื่องหนึ่งนั้นมีในพงษาวดารมอญ ว่าเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ท่านทรงพระสุบิน ว่าจอมปลวกที่เล่นเมื่อทรงพระเยาว์อยู่นั้น มีปราสาททองอยู่ใต้นั้น จึงเสด็จไปขุด ได้ยินเสียงดังครื้นเครงไปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไปจึงได้ปราสาททองเปนจตุรมุข ทองนั้นสุกลายงามยิ่งนัก สูงประมาณศอกเศษ จึงเอาปราสาททองนั้นบรรจุพระบรมธาตุแล้วตั้งไว้ในสรรเพชญ์ปราสาท อยู่มาจนครั้งหลังจึงสมมติพระนามเรียกว่าพระเจ้าปราสาททอง พระนามที่เรียกว่าปราสาททองนั้น ก็เปนคำสามัญ มิใช่จารึกในพระสุพรรณบัตร ถ้าจะคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนี้ ท่านเปนต้นบรมวงษ์อันหนึ่ง แลเทียบกับสมเด็จพระนารายน์ซึ่งเปนพระราชโอรส ก็จะเห็นไปได้อิกทางหนึ่งว่า ท่านจะทรงพระนามรามาธิบดี ให้เหมือนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเปนปฐมบรมวงษ์ในกรุงทวาราวดี ถ้าเห็นดังนี้ ควรนับว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ฤๅจะเทียบได้อิกอย่างหนึ่ง แต่เปนเรื่องเกร็ดไป มีคำเล่าว่าท่านเปนพระราชโอรส ของสมเด็จพระเอกาทศรฐ ถ้าเปนดังนั้นจริง ท่านจะใช้พระนามตามสมเด็จพระเอกาทศรฐ ว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์บ้างดอกกระมัง ถ้าเป็นดังนั้น ก็ต้องว่าเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ ถ้าคำที่พงษาวดารมอญ ๆ เรียกว่ารามาธิเบศร์ ไม่เปนแต่คำยักเรียกให้แปลกแล้ว ก็เปนรามาธิเบศร์ที่ ๑

ที่ ๒๕ เจ้าฟ้าไชย ไม่มีพระนามปรากฎว่ากระไรเลย ได้ครองราชสมบัติอยู่ก็น้อย จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศกในพระราชพงษาวดารก็ไม่ว่าชัด พงษาวดารมอญตอนนี้ก็หาย ยกเสียเถิด อย่าคิดเลย ว่าเปนพระนามอย่างไร คงเปนเจ้าฟ้าไชยไปตามเดิม

ที่ ๒๖ พระศรีสุธรรมราชา ได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่ ๒ เดือนเศษ จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศกก็ไม่ทราบ แต่ได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลวง ถ้าราชาภิเศก ก็เห็นจะใช้พระนามเหมือนสมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่อย่านับเลย ด้วยมามีเหตุปลายมือไม่ดี ให้คงเปนพระศรีสุธรรมราชาตามเดิม เพราะไม่มีปรากฎในพระราชพงษาวดาร

ที่ ๒๗ สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราชนั้น พระนามมีปรากฎชัดเจนในพระราชพงษาวดาร ว่าสมเด็จพระรามาธิบดี เปนต้น แต่พระนามพระนารายน์นั้น คนทั้งปวงเรียกติดปากเปนที่นิยมมาก พระนามรามาธิบดีจึงไม่หักล้างไปได้ เพราะติดเนื่องเปนพระนามเดียวกันอยู่ คือพระนารายน์อวตารลงมาเปนรามาธิบดี ครองกรุงศรีอยุทธยา ถึงพระราชบิดาจะทรงนามอื่น ๆ ก็ดี ท่านก็เห็นจะไม่รับพระนามนั้นตาม คงจะเปนพระนามรามาธิบดีให้จงได้ เพราะถูกเรื่องถูกราวกัน ก็ถ้าพระเจ้าปราสาททองทรงพระนามเปนรามาธิบดีที่ ๓ พระนารายน์ก็ต้องเปนรามาธิบดีที่ ๔ ถ้าพระเจ้าปราสาททองเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ ฤๅรามาธิเบศร์ พระนารายน์ก็คงเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓

ที่ ๒๘ พระธาดาธิเบศร์นี้ มีในพงษาวดารมอญ แต่ขุนหลวงหาวัดท่านจะคิดเห็นเพทราชา พระพรหมเปนใหญ่ในเวท จึงได้ใช้พระนามธาดาธิเบศร์ พอให้พ้นพระนามที่เรียกในพระราชพงษาวดาร ว่าแผ่นดินพระเพทราชา เปนชื่อของจางวางกรมช้างไป ดูก็ไม่สมควร แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น มีปรากฎในพระราชพงษาวดาร ว่าสมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดมเปนต้น

ที่ ๒๙ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระนามนี้ในพงษาวดารมอญว่ามีนิมิตร เมื่อราชาภิเศก แสงสว่างไปทั้งปราสาท จึงถวายพระนามว่าพระสุริเยนทราธิบดี แต่ที่จริงนั้น เห็นท่านจะยกย่องปู่ท่านให้มาก น่ากลัวจะออกจากสุรศักดินั้นเอง เพราะถ้าจะคอยนิมิตรเวลาราชาภิเศกแล้วจึงจารึกพระสุพรรณบัตร เห็นจะไม่ทัน ไม่มาแต่อื่น เปนคำเรียกให้เพราะขึ้น สมควรกับที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะในพระราชพงษาวดารนั้น ไม่ปรากฎว่าพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นอย่างไร คนทั้งปวงก็เรียกเสียว่าพระพุทธเจ้าเสือ เพราะพระองค์ท่านดุร้ายหยาบช้านัก ราษฎรก็เรียกเอาตามที่กลัวฤๅที่ชังตามชอบใจ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น เห็นจะใช้นามอย่างเช่นพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง จะว่าด้วยเรื่องพระนามนี้ต่อไปข้างหลัง

ที่ ๓๐ สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา พระนามนี้มาจากพงษาวดารมอญอิก ว่าเรียกพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก แต่พระภูมินทราชานั้น เห็นจะถวายเอาเอง ในพระราชพงษาวดารเรียกว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อธิบายว่าท่านเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ข้างท้ายสระ ก็ตรงความกันกับที่เรียกว่าพระบรรยงก์รัตนาศน์ ไนยหนึ่งเรียกว่าขุนหลวงทรงปลา จะเปนด้วยท่านทรงโปรดตกเบ็ด แลโปรดปลาตะเพียนฤๅกระไร แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นไม่ปรากฎ ยังได้พบเห็นเปนพยานอยู่แห่งเดียวแต่วัดปากโมกข์ มีอักษรจารึกในแผ่นศิลา ว่าลุศักราช ๑๐๘๗ ฤๅ ๘๘ จำไม่ใคร่ถนัด สมเด็จพระสรรเพชญ์ มีสร้อยพระนามออกไปอิกมาก ได้ทรงสถาปนาก่อกู้วัดปากโมกข์นี้ไว้มิให้เปนอันตรายด้วยอุทกไภยดังนี้เปนต้น ควรเห็นว่า พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น เปนสมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ไม่ต้องสงไสย ก็พระพุทธเจ้าเสือนั้น ท่านจะทรงพระนามสรรเพชญ์ด้วยดอกกระมัง พระราชโอรสจึงได้ทรงพระนามดังนี้ เพราะไม่มีปรากฎในพระราชพงษาวดารเลย จะจารึกกันต่อ ๆ มาไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ถ้าเปนดังนั้น จะคิดต่อขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง ว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น ท่านก็เปนพระไอยกาของพระพุทธเจ้าเสือ ท่านจะมิใช้พระนามสรรเพชญ์ดังนี้ก่อนฤๅ จึงได้ใช้กันมา แต่พระนารายน์นั้นท่านไม่ยอมตาม เพราะพระนามเดิมของท่านเปนพระนารายน์อยู่แล้ว เปนรามาธิบดีถูกต้องกว่า ก็ถ้าจะเถียงอิกคำหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสือท่านจะเปนรามาธิบดี ตามพระราชบิดาบ้างไม่ได้ฤๅ ต้องตอบว่าจะเปนก็ได้อยู่ เพราะท่านที่เปนรามาธิบดีมาแต่ก่อน ไม่ได้เปนนารายน์ก็มี แต่เห็นว่าถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าเสือเปนรามาธิบดีแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระคงเปนรามาธิบดีด้วยเปนแน่ นี่ท่านกลับเปนสรรเพชญ์ไปอย่างหนึ่ง ชรอยพระนามรามาธิบดีนั้น จะยกไว้เฉภาะพระนารายน์ดังเช่นว่ามาแล้ว ถ้าเห็นว่าดังนี้ พระเจ้าปราสาททองต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าเสือ เปนสรรเพชญ์ที่ ๖ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้ เปนสรรเพชญ์ที่ ๗

ที่ ๓๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระนามนี้ถูกต้องดีอยู่แล้ว เพราะท่านเปนพระอนุชา ใช้พระนามให้ผิดกับพระเชษฐา แลพระเชษฐาที่ไม่ชอบกันอยู่ ฤๅประสงค์ว่าเมื่อเกิดศึกกลางพระนครแล้ว จึ่งได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน คล้ายกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แต่พงษาวดารมอญ ถวายพระนามว่าพระมหาบรมราชาก็เรียก พระบรมโกษฐก็เรียก คำราษฎรเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ ก็คำที่เรียกว่าในพระบรมโกษฐนั้น เปนไฉนจึ่งได้เรียกกันดังนั้น ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระราชบิดาพระเจ้าแผ่นดินในประจุบันนั้น เรียกว่าพระบรมโกษฐดังเช่นว่ามาแล้วในข้างต้น เพราะพระบรมโกษฐนี้สวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้เปนพระเจ้าแผ่นดินถึงสองพระองค์ก็จริงอยู่ แต่องค์หนึ่งได้เปน ๑๐วัน องค์หนึ่งได้เปน ๙ปี ก็เสียกรุงแก่พม่า บ้านเมืองยับเยินไปแล้ว ข้าราชการเก่า ๆ จึ่งได้ประชุมกันตั้งบ้านเมืองขึ้น ก็คนทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนแต่เปนข้าราชการอยู่ในพระบรมโกษฐแลพระราชโอรสในพระบรมโกษฐทั้งนั้น เมื่อเวลาบ้านเมืองยังตั้งอยู่แต่ก่อนเคยเรียกว่าในพระบรมโกษฐ คำที่เรียกนั้นก็ติดปากเจนใจ จนถึงมามีเจ้าใหม่ ก็ยังเรียกพระบรมโกษฐตามเดิม ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า คำที่เรียกว่าพระบรมโกษฐนี้ ใช่จะได้เปนแต่ท่านพระองค์นี้ก็หาไม่ บรรดาเจ้าแผ่นดิน คงได้เปนคราวหนึ่งทุกองค์เหมือนอย่างลูกเจ้านาย เขาเคยเรียกพ่อเขาว่าในพระโกษฐก็มี ลูกขุนนางที่มียศได้พระราชทานโกษฐ เขาเรียกปู่เรียกพ่อว่าเจ้าคุณในโกษฐก็มี นี่ท่านเปนเจ้าแผ่นดิน ก็เปนบรมโกษฐเท่านั้นเอง แต่พระนามในพระสุพรรณบัตรนั้น คงเปนบรมราชาธิราชที่ ๓

ที่ ๓๒ สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตนี้ ในพระราชพงษาวดารเปนสองอย่าง ที่ย่อว่าเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๐ วัน แล้วก็ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารนั้น แยกปีกันคนละปี ด้วยเมื่อในวันเดือน ๖ ปีขานสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๒๐ นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ สวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งเปนกรมขุนพรพินิต เถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทำโทษเจ้าสามกรม แลทำพระราชพิธีปราบดาภิเศก ในเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ตั้งกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชมารดา เปนกรมพระเทพามาตย์ จนเดือน ๑๒ กรมพระเทพามาตย์สวรรคต จึ่งได้ทำการพระบรมศพพร้อมกัน แลสร้างวัดอุทุมพรอารามวัดหนึ่ง ปฏิสังขรณ์หลังคามณฑปพระพุทธบาท หุ้มทองสองชั้น ได้ทรงฉลอง ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ แลยาจกวณิพกเปนอันมาก แล้วจึ่งไปถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมเชษฐา กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ๆ ได้เปนเจ้าแผ่นดินต่อศักราช ๑๑๒๑ เรียงปีกัน ในพระราชพงษาวดารพิศดารมีความดังนี้ เถียงกันกับพงษาวดารย่อ ที่ว่าครองราชสมบัติอยู่ ๑๐ วันนั้น ใครจะถืออย่างไรจะเชื่ออย่างไรก็ตามใจ ถ้าอยู่ ๑๐ วันแล้ว คงไม่ได้ปราบดาภิเศก พระนามคงไม่ได้จารึกในพระสุพรรณบัตร ตกลงเปนเจ้าฟ้าดอกมเดื่ออุทุมพร กรมขุนพรพินิตอยู่ตามเดิม ถ้าจะเชื่อข้างพระราชพงษาวดารพิศดาร ว่าได้ทำการปราบดาภิเศก ก็คงจะมีพระนาม ถ้าท่านจะมีพระนาม จะทายว่าพระนามใด ก็เห็นว่าจะต้องทายว่า เหมือนสมเด็จพระราชบิดา เพราะไม่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร เพราะแต่ก่อนมา ถ้าจะมีพระนามแปลกประหลาดออกไป คงจะต้องกล่าวนามนั้นในราชพงษาวดารทุกที ถ้าเห็นว่าเหมือนสมเด็จพระราชบิดาแล้ว คงเปนบรมราชาธิราชที่ ๔ ภายหลังออกทรงผนวช ราษฎรจึ่งเรียกว่าขุนหลวงหาวัด

ที่ ๓๓ พระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช องค์นี้ พระนามเดิมเอกทัศ ภายหลังเปนกรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ท่านจึ่งทรงเรียกว่า พระบรมเอกทัศอนุรักษ์มนตรี แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น มีปรากฎว่า สมเด็จพระบรมราชา มหากระษัตริย์บวรสุจริต เปนต้น ควรจะนับว่าเปนสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑

ที่ ๓๔ เจ้ากรุงธนบุรี ได้ตั้งตัวเปนเจ้าณเมืองธนบุรี ในจุลศักราช ๑๑๓๐ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า แต่เดิมนั้นไม่ได้รับพระราชโองการ เพราะไม่มีพราหมณ์ที่จะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกรับพระราชโองการเปนปฐม อิกประการหนึ่งก็หวาดหวั่นอยู่ กลัวจะเปนเหมือนหนึ่งเจ้าพระพิศณุโลกย์เรือง ตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินพร้อม ๆ กัน รับพระราชโองการได้ ๗ วัน ก็เปนฝีขึ้นมาในฅอถึงแก่ความตาย ขุนอินทรอากรผู้น้อง ซึ่งได้เปนเจ้าเมืองพระพิศณุโลกย์แทน ก็ไม่อาจตั้งตัวรับพระราชโองการดังพี่ชาย เจ้ากรุงธนบุรีก็พลอยคร้ามไปด้วย แต่ภายหลังจะได้ทำการบรมราชาภิเศก รับพระราชโองการฤๅอย่างไรก็ไม่ปรากฎ แต่เรื่องพระนามนั้น ที่ยกย่องขึ้นเปนเจ้าแผ่นดินคราวแรก ก็ไม่ปรากฎว่าตั้งพระนามอย่างไร ในภายหลัง เมื่อคลั่งอยู่แล้ว มีจดหมายในพระราชพงษาวดารว่าดำรัสสั่งให้พระรัตนมุนี ขนานพระนามถวายใหม่ พระรัตนมุนีจึ่งขนานพระนามถวายให้ต้องพระไทย ว่าสมเด็จพระสยามยอดโยคาวจรเปนต้น จึ่งควรเห็นว่าพระนามเดิมคงมีอยู่ แต่จะใช้พระนามไร ก็ไม่รู้ที่จะสันนิฐาน ต้องยกไว้

แลพระนามที่ ๓๕ ที่ ๓๖ ที่ ๓๗ นี้ เปนพระนามมีขึ้นใหม่ ในครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกบรมราชาภิเศก ทรงพระราชดำริห์นามแผ่นดิน ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้น พอทรงพระราชดำริห์พระนามต่าง ๆ ต่อไปหมายว่าพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตร ข้างต้นนั้นจะให้นำน่าว่าบรมทุก ๆ พระองค์ ข้างหลังจึ่งผันแปรตามกาลในแผ่นดินนั้น แต่พระนามนี้ก็ไม่ได้ใช้ไปในที่อื่น ๆ เห็นมีแต่ที่พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ กับจารึกในกล่องศิลา ซึ่งทรงพระบรมอัฐิทั้ง ๓ พระองค์ ต่อมาภายหลังก็เงียบไป ไม่เห็นมีที่ใช้ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นเปนสมเด็จพระรามาธิบดีแน่ ดังเช่นว่ามาแล้วทั้งสามพระองค์ ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจตามเช่นว่ามาแล้วนั้นเถิด คำอธิบายว่าด้วยหนังสือที่จารึกในพระพุทธรูป สิ้นเพียงเท่านี้

แต่นี้จะว่าด้วยการเรื่องพระทั้ง ๓๗ พระองค์นี้ต่อไป ครั้นเมื่อจารึกแล้ว ให้ตั้งไว้ที่โต๊ะจีนน่าลับแลฉากข้างเหนือ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ครั้นภายหลังมา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างหอสำหรับไว้พระพุทธรูปทั้งสองหมู่นี้ ที่กำแพงแก้วหลังพระอุโบสถ ด้านข้างเหนือ ผนังเขียนเรื่องราชพงษาวดารครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา ครั้งนั้นขรัวอินช่างเขียนวัดราชบุรณะ เขียนรูปพระพิมลธรรมยิ้มขึ้นแคร่ที่พระบาท ทำหน้าตาเหมือนดีมาก ได้พระราชทานรางวัล ที่หลังบานน่าต่างเขียนเรื่องราชพงษาวดาร ความย่อ ๆ ไว้ทุกบาน พระราชทานชื่อว่า หอพระราชกรมานุสร เชิญพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเก่าไปประดิษฐานไว้ในที่นั้น อิกหอหนึ่งข้างใต้ ให้เขียนเรื่องจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร แลจดหมายย่อเนื้อความไว้ที่หลังบานน่าต่าง เหมือนหอข้างเหนือ พระราชทานนามว่าหอพระราชพงษานุสร เชิญพระพุทธรูปสำหรับในพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทรสามพระองค์ ไปประดิษฐานไว้ในที่นั้น ก็แลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งปวงนี้ขึ้นไว้แล้วนั้น ภายหลังจึ่งทรงพระปรารภสร้างพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา แห่งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช แลสมเด็จพระบรมชนกนารถ กับทั้งส่วนพระองค์ จึ่งโปรดให้ช่างหล่อ ๆ พระพุทธรูปด้วยทองแดงแล้วก้าไหล่ทองคำแบ่งเปนสามอย่าง อย่างหนึ่งนั้นพระพุทธรูปทรงนั่งขัดสมาธิเพ็ชร พระหัดถ์ขวาปกพระเพลา ๗๔ พระองค์ มีฉัตรก้าไหล่ทองกั้น ๒๘ องค์เท่าปีในราชสมบัติ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ อิกส่วนหนึ่งนั้นเปนพระพุทธรูปทรงนั่งมารวิไชย พระหัดถ์ขวาปกพระเพลา ๕๘ พระองค์ มีฉัตรก้าไหล่ทองกั้น ๑๖ องค์เท่าปีในราชสมบัติ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ยังอิกส่วนหนึ่งนั้นเปนพระพุทธรูปทรงนั่งสมาธิ พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้าย ทรงสร้างมีจำนวนเท่าพระชนมพรรษาในขณะนั้น พระพุทธรูปส่วนซึ่งสำหรับปีอันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น ก็มีฉัตรเหมือนกับพระพุทธรูปสำหรับสองแผ่นดินก่อนนั้น แล้วโปรดให้ทำมณฑปเปนม้าแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น มีเสาแปดเสา ดาษเพดานรบายข่ายดอกมลิ มีฉัตรดอกมลิเบื้องบน ๕ ชั้นทุก ๆ มณฑป ฐานที่เปนม้าแปดเหลี่ยมนั้นมีขวดแก้วปักดอกไม้ตั้งสลับกันไปกับตะเกียงเปนชั้นล่าง ชั้นที่สองมีถ้วยแก้วปักพุ่มดอกไม้รายโดยรอบ ชั้นบนเปนที่ตั้งพระพุทธรูป เมื่อหล่อพระพุทธรูปอันนี้แล้ว ถึงวันขึ้นสองคํ่าเดือนห้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งมณฑปดอกไม้นั้น บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณฝ่ายข้างตวันออก ตั้งเครื่องนมัสการทุกมณฑป แล้วให้มีบายศรีสมโภช เวลาบ่ายท้าวนางจุดแว่น พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการฝ่ายในเวียนเทียนสมโภช แล้วตั้งอยู่จนเวลาเช้าวันขึ้นสามคํ่า บรรดาผู้ซึ่งมาถือน้ำพระพิพัฒสัจจาได้นมัสการ ก็แลธรรมเนียมหล่อพระชนมพรรษาแล้วแลตั้งสมโภชดังนี้ เปนธรรมเนียมเนื่องมาแต่เดิมดังเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้ว จนถึงประจุบันนี้ก็ยังเปนไปตามธรรมเนียมนี้อยู่ แต่ฤกษ์กำหนดหล่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษานี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อถึงขึ้นค่ำหนึ่งเดือนห้า ก็เปนกำหนดเททองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเสมอไม่เลื่อนขึ้นเลื่อนลง ไม่มีกำหนดฤกษ์ดีฤกษ์ชั่ว เพราะฉนั้น จนถึงวันขึ้นคํ่าหนึ่งเดือนห้าปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ เปนวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ยังได้หล่อพระชนมพรรษาในวันนั้นพระองค์หนึ่ง จึ่งรวมพระพุทธรูปพระชนมพรรษาได้ถึง ๖๕ พระองค์ ที่มีฉัตร ๒๘ พระองค์ ถ้าจะนับเรียงปีมากกว่าพระชนมายุเดิมเกือบ ๒ ปีฤๅ ๒ ปีถ้วน เพราะท่านประสูตรวัน ๒ ๑๐ ๔ ค่ำ นับเปนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สวรรคตวัน ๔ ๕ คํ่านับเปนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึ่งรวมเปน ๖๕ ดังนี้ ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นชอบด้วยพระราชดำริห์เดิมอันนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้หล่อพระพุทธรูปสมาธิเพ็ชร พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้าย เท่าพระชนมพรรษา แต่เปลี่ยนเสียไม่ใช้หล่อด้วยทองแดง ใช้หล่อด้วยเงินแล้วก้าไหล่ทอง น้ำหนักองค์หนึ่งชั่งห้าตำลึง พระพุทธรูปนั้นก็เปลี่ยนแปลงฝีมือผิดกับพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แลพระชนมพรรษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ เปนฝีมือใหม่ ฐานพระพุทธรูปเดิมนั้นเกลี้ยง ๆ คล้ายฐานพระพิมพ์ แต่พระพุทธรูปใหม่นี้ โปรดให้ทำลวดลายมีบัวคว่ำบัวหงายงามกว่าแต่ก่อน แต่กำหนดวันหล่อนั้น ไม่ทรงพระกรุณาโปรดอย่างเดิม เห็นว่าเปนฉ้อปีอยู่ จึ่งเลื่อนมาหล่อเสียในเดือน ๑๐ ก่อนน่าเฉลิมพระชนมพรรษา มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า ๑๐ รูป มีฤกษ์เสด็จพระราชดำเนินออกไปทรงหล่อ ที่โรงหล่อบ้าง ที่น่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้าง ที่หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์บ้าง แลการสมโภชนั้นก็เพิ่มมณฑปขึ้นอิก แลเปลี่ยนเปนสี่เหลี่ยมเหมือนหนึ่งสัณฐานบุษบก มีกระจังปฏิยานพนักรอบ แลมียอดแลรบายดอกไม้เหมือนกับของเก่า ตามฐานตั้งเครื่องแก้วดังสามบุษบกที่ว่ามาแล้ว รวมพระพุทธรูปซึ่งได้สร้าง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๖๕ พระองค์ มีฉัตร ๑๘ พระองค์ ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ พระซึ่งเหลือจากปางต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างครั้งก่อนนั้น มีอยู่น้อยปาง ท่าทางก็เกะกะไปต่าง ๆ เห็นว่าพระคันธารราษฎ์ยังไม่มี จึ่งได้สร้างพระคันธารราษฎ์ขึ้นเท่าอายุในเวลานั้น แบบอย่างคล้ายคลึงกันกับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วให้ทำมณฑปเติมขึ้นอิกยอดหนึ่ง กับทำมณฑปเปลี่ยนมณฑปเก่าทั้งสามให้เหมือนอย่างมณฑปในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕ มณฑป แล้วตั้งสมโภชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตามพระราชประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน พระพุทธรูปพระชนมพรรษานั้น ก็ได้หล่อเพิ่มเติมขึ้นทุกปีเสมอมิได้ขาด แต่กำหนดวันหล่อนั้นเลื่อนขึ้นไปหล่อเดือน ๙ เพราะการเฉลิมพระชนมพรรษาตกในเดือน ๑๐ พระพุทธรูปเก่าซึ่งเปนของพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตแล้วนั้น ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สามพระองค์นี้เชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนช่องกระจกในหอพระธาตุมณเฑียร แต่พระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญไปไว้ในตู้หลังพระบรมอัฐิ ในพระที่นั่งบรมพิมาน แต่พระพุทธรูปพระชนมพรรษาในแผ่นดินประจุบันนี้ ไว้ณหอสุราไลยพิมาน คือหอพระเจ้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ