แต่นี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อไป...

แต่นี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อไป ความซึ่งกล่าวมาบัดนี้ ถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเพิ่มเติมการใกล้เคียงกับการถือน้ำแต่เพียงนี้ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีแรกซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริห์ปฤกษาพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี ว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้ทรงเคารพนับถือเปนอันมาก ดังเช่นกล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว ครั้นมาถึงบัดนี้เล่า ถ้าจะคิดคุณพระมหามณีรัตนปฏิมากร ก็มีเห็นประจักษ์อยู่หลายประการ เหมือนหนึ่งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระเดชานุภาพ ปราบปรามข้าศึกศัตรู แผ่ราชอาณาเขตรได้กว้างขวาง แต่ถึงดังนั้นก็ยังเกิดการรบร้าฆ่าฟันกัน มืข้าศึกมาเหยียบถึงชานพระนครก็หลายครั้ง ทั้งมีการหยุกหยิกในบ้านเมืองจนถึงรบพุ่งเปนศึกกลางพระนครก็มีหลายครั้ง จนภายหลังต้องเสียพระนครแก่พม่า ครั้นต่อมาตั้งกรุงธนบุรี เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเกิดการวิวาทกันกับอุปราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จยกทัพขึ้นไปมีไชยชนะ จึงได้อัญเชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ลงมากรุงเทพฯ เจ้าตากสินให้ทำโรงรับกรุงธนบุรี ไม่อาจทรงศิริของพระมหามณีรัตนปฏิมากรได้ จึ่งพเอิญให้ดำริห์วิปริตถึงสัญญาวิปลาศ จนขุนนางหัวเมืองจับให้ออกเสียจากราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศก จึงได้เชิญพระพุทธรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานไว้ณวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ภายหลังพม่ายกทัพมาหลายทัพหลายทาง เปนคนถึงแสนหนึ่งกับสามพัน ก็พ่ายแพ้พระเดชานุภาพ มิได้ทำอันตรายแก่กรุงรัตนโกสินทรได้ ครั้นอยู่มาภายหลังพม่าข้าศึกซึ่งจำไว้ณคุกคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดินก็ทำการไม่สำเร็จ ตลอดถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จีนตั้วเหี่ยกำเริบขึ้นก็พินาศอันตรายไปเอง มิได้ทำเหตุสิ่งใดให้เปนอันตรายกับแผ่นดินได้ แลการใด ๆ เหตุใด ๆ ซึ่งมีขึ้นก็พเอิญให้ปรากฎ ระงับได้ทุกครั้งทุกคราว เห็นว่าจะเปนด้วยพระมหามณีรัตนปฏิมากรคุ้มกัน มิได้เกิดอันตรายอันใดลุกลามไปได้

อนึ่งพระพุทธปฏิมากรทั้งสองพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แลสมเด็จพระบรมชนกนารถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทั้งสองพระองค์ เปนที่รฦกถึงพระเดชพระคุณ ซึ่งพระองค์เปนผู้ก่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร แลเปนเจ้าของพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเล่า ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินติดพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์สืบมาก่อนกว่าเจ้านายทุกพระองค์ เพราะฉนั้นจึงควรเปนที่นับถืออย่างยิ่งทั่วไป ในพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท การพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัจจานี้ ก็เปนการมหามงคลยิ่งใหญ่ ควรจะให้เปนไปพร้อมเฉภาะพระภักตร์ พระมหามณีรัตนปฏิมากร แลพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ทั้งสองพระองค์นี้ด้วย ก็จะเปนสวัสดิมงคลอันยิ่งใหญ่ พระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี ก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำริห์ฉนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็เสด็จพระราชดำเนินออกไปให้ข้าราชการถวายบังคม รับน้ำพระพิพัฒสัตยาณวัดพระศรีรัตนสาศดาราม เสมอทุกคราวมิได้ขาด ตลอดจนถึงแผ่นดินประจุบันนี้ ก็ยังประพฤติตามพระราชประเพณีนั้นสืบมา ธรรมเนียมที่ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ณวัดพระศรีรัตนสาศดารามซึ่งเปนธรรมเนียมมา แลเปลี่ยนแปลงบ้างโดยลำดับนั้น ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจในที่จะว่าต่อไปข้างหลัง

บัดนี้ควรที่จะว่าถึงการที่สร้างพระแสงศรทั้งสามพระองค์ แต่ยังไม่เข้าใจถนัด เพราะไม่เปนธรรมเนียมเก่ามา เปนแต่ทำครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ได้ทราบว่าสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ท่านเปนผู้จัดการเรื่องนี้ขึ้น จึงได้จดหมายทูลถามท่านต่อไป ท่านทรงจดหมายตอบมาว่าดังนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ด้วยเรื่องพระแสงศร ๓ องค์นั้น เดิมณปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พระยาจุฬาราชมนตรีถวายหวายเทศ ๓ งามดี จึงทรงพระราชดำริห์ว่าจะทำเปนธารพระกรก็มากนัก ของเดิมก็มีอยู่องค์หนึ่งแล้ว ครั้นจะทำไม้ท้าวถวายพระสงฆ์ก็เสียดาย ทรงพระราชดำริห์อยู่หลายวัน จึงโปรดเกล้า ฯ ว่ากรุงเทพ ฯ นี้ อ้างชื่อศรีอยุทธยานารายน์อวตารแต่ก่อน แลคำแช่งน้ำพระพิพัฒนั้นก็อ้างนารายน์อวตารออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีอยู่แล้ว ควรจะให้มีศร ๓ เล่มไว้สำหรับแผ่นดิน แลจะได้ใช้แทงน้ำพระพิพัฒปีละ ๒ ครั้ง ให้สมกับพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี แลพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีนี้ เมื่อแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตั้งพระราชพิธีน้ำพระพิพัฒแต่ณวัน ๓ ๑๓ ๑๐ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า คำแช่งน้ำพระพิพัฒที่พราหมณ์อ่านนั้น ออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีอยู่ แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า อย่าให้เปลี่ยนเลย ให้คงไว้ตามเดิม ถ้อยคำแช่งนี้ เปนคำของเก่าสำหรับกรุงเทพ ฯ ให้ยืนอยู่ตามชื่อศรีอยุทธยา ที่อาลักษณอ่านนั้นเปนของใหม่ ควรจะเปลี่ยนพระนามตามแผ่นดินปัจจุบันได้ การพระแสงศรนั้น พระราชทานหวายเทศพระยาจุฬาราชมนตรีถวายให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เหลาอย่างพระแสงศร ใช้หวายเทศนั้นเปนด้าม เหลารูปให้สมกัน เสร็จแล้วทูลเกล้า ฯ ถวายโปรดแล้วจึงโปรดเกล้า ฯ ให้หาฤกษ์วันที่ดี เปนมหามงคลตามพิไชยสงคราม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ตั้งพระราชพิธีณโรงแสงใน มีบายศรีศีศะสุกร ๒ สำรับ รวมเหล็กตรอนตรีสินตีพระแสงศร เมื่อเวลาตีนั้นประโคมปี่พาทย์กลองแขกแตรสังข์ฆ้องไชย แต่งรูปหมดจดงามดีแล้วทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้า ปั้นพระเทวรูปพรหมทรงหงษ์ นารายน์ทรงครุธ พระอิศวรทรงโค แล้วให้พราหมณ์ตั้งพระราชพิธีอวิสุทธเบญจครรภ หล่อพระเทวรูปที่บ้านข้าพระพุทธเจ้า เปนพระฤกษ์อิกครั้งหนึ่ง แล้วแต่งจำหลักงามดีทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ติดตรึงที่ด้ามพระแสงศรทั้งสามองค์ ทรงเขียนอักษรพราหมณ์ พระราชทานชื่อพระแสงพรหมาศองค์ ๑ ประไลยวาตองค์ ๑ อัคนิวาตองค์ ๑ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเขียนขุดเหล็กฝังทองเปนตัวอักษร ชื่อพระแสงที่บ้องทั้ง ๓ องค์ ปลายด้ามพระแสงนั้นถักผนึกด้วยลวดทองคำผูกขนนกหว้า เปนปีกทั้ง ๓ องค์เสร็จแล้ว ถึงเมื่อเดือน ๑๐ ข้างขึ้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าขึ้นไปทำพระราชพิธีชุบพระแสงศร ที่สระชุบศรเดิมเมืองลพบุรี ให้ทำให้ทันพระราชพิธีถือน้ำสารท การพระราชพิธีนั้นเปนพระราชพิธีใหญ่ ให้เทียบพิธีฝังหลักพระนคร มีเทียนไชย พระสงฆ์สวดภาณวารอยู่ ๓ วัน มีพระราชาคณะ ๕ รูป พระพิธีธรรม ๒๐ รูป กรมสมเด็จพระปรมานุชิตจัดให้ขึ้นไปทำ ปลูกโรงพระราชพิธีที่ทำเลชุบศร มีโรงพิธีพระสงฆ์สวดหลังหนึ่ง ๕ ห้องเฉลียงรอบ โรงชุบพระแสงศร ๓ ห้องหลังหนึ่ง ที่ชุบพระแสงศรนั้นเปนสระในโรงกว้างศอก ๑ ยาวศอก ๑ ฦก ๑๒ นิ้ว ไปตักน้ำที่สระชุบศรเดิมมาเทลงให้เต็ม แล้วตั้งเตาสูบเผาเหล็กที่ในโรงนั้นน่าโรงพระสงฆ์สวด โรงพิธีพราหมณ์หลังหนึ่ง ดาษเพดานผ้าขาว ตกแต่งพร้อมแล้ว จึงให้ตั้งพระราชพิธีจุดเทียนไชย สวดมนต์สวด ๓ วัน ถึงวันชุบพระแสงศรเวลาเช้าโมงเศษ เปนพระฤกษ์สูบพระแสงศร ได้ที่ชุบในสระสมมุตินั้น เมื่อชุบประโคมปี่พาทย์ กลองแขก ฆ้องไชย แตรสังข์ ยิงปืนใหญ่ ๔ ทิศโรงพระราชพิธี ๒๐ นัด ยิงปืนเล็กรอบโรงพระราชพิธีเสมอไป กว่าจะชุบพระแสงศรนั้นแล้วจึงหยุด ที่โรงพระราชพิธีมีศาล ๕ ศาล มีบายศรีศีศะสุกร บูชาทั้ง ๕ ศาล ครั้นว่าชุบเสร็จแล้ว พระแสง ๓ องค์ทอดเหนือพานทองสองชั้นตั้งท่ามกลางโรงพระราชพิธี แล้วตั้งบายศรีทองบายศรีเงิน เวียนเทียนสมโภชจุณเจิมเสร็จแล้ว จึงเชิญแห่มาบรรจุที่ศาลวัดปืน ตีต่อยเอาศิลาศรพระรามที่วัดปืนนั้น บรรจุในบ้องพระแสงทั้ง ๓ องค์ มียันต์พรหม ยันต์อิศวร ยันต์นารายน์ โองการลงด้วยแผ่นเงินห่อด้ามพระแสงศรบรรจุทั้ง ๓ องค์ เมื่อเวลาบรรจุเข้าด้ามนั้นมีบายศรี ศีศะสุกรซ้ายขวา ประโคมปี่พาทย์ กลองแขก ฆ้องไชย แตรสังข์ เสร็จแล้วจุณเจิม แห่กลับมาที่ที่อยู่ พระแสงศรนี้ขึ้นไปแต่กรุงเทพฯ มีเรือกราบม่านทองแย่งรับพระแสงศรขึ้นไป เมื่อจะไปทำพระราชพิธี เชิญขึ้นพานทองสองชั้น แห่เปนกระบวนศึก มีธงมังกรปืนเล็ก ปืนใหญ่ อาวุธ ๔ อย่าง แห่ไปถึงแล้วนั่งรายรักษาโรงพระราชพิธี พระแสงศรนั่นขึ้นช้าง มีช้างดั้ง ช้างนำ แห่เปนกระบวนไป เลี้ยงพระสงฆ์นั้น ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองลพบุรีเลี้ยงเช้าเพน จนเสร็จการในเรื่องพระราชพิธีทำพระแสงศรแต่เท่านี้ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ”

อนึ่งพระแสงศรซึ่งตั้งพระราชพิธีแต่เดิมนั้น เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินไป ก็คงพระแสงอยู่ตามเดิม เปนแต่เพิ่มขึ้นองค์หนึ่งบ้าง สององค์บ้าง แต่หาได้เรียบเรียงให้เปนลำดับกันไม่ พระแสงที่ใช้ในชั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้นคือ พระขรรค์ไชยศรี ๑ พระแสงคาบค่าย ๑ พระแสงเวียด ๑ พระแสงหอกเพชรรัตน ๑ พระแสงปืนนพรัตน ๑ รวม ๕ องค์ ส่วนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย คือพระแสงยี่ปุ่นฟันปลาฝักประดับพลอยองค์ ๑ ส่วนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระแสงขรรค์เนาวโลหองค์ ๑ ส่วนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระแสงทรงเดิมฝักประดับมุก ๑ พระแสงตรีเพ็ชร ๑ พระแสงกั้นหยั่น ๑ ธารพระกรเทวรูป ๑ ธารพระกรศักดิสิทธิ ๑ รวม ๕ องค์ ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ ก็เพิ่มพระแสงทรงเดิมฝักทองเกลี้ยงองค์ ๑ รวมเปนพระแสง ๑๓ องค์ พระแสงศรอิก ๓ รวมทั้งสิ้น ๑๖ องค์

พระพุทธรูปตั้งพิธีถือน้ำนั้น พระไชยเงินองค์ใหญ่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์องค์ ๑ กับพระไชยในแผ่นดินปัตยุบันนั้นองค์ ๑ คือเหมือนหนึ่งเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ควรจะเชิญพระไชยทองคำซึ่งเปนของสำหรับแผ่นดินไปตั้ง แต่ได้ทราบว่าพระไชยนั้นยังหาแล้วสำเร็จไม่ พอเสด็จสวรรคตเสีย ก็คงใช้พระไชยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระไชยผ้าห่มลงยา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระไชยเนาวโลหสำหรับแผ่นดิน ภายหลังเติมพระไชยเนาวโลหองค์น้อยในครอบแก้วขึ้นอิกองค์หนึ่ง เปนสามองค์ขึ้น ครั้นมาถึงแผ่นดินปัตยุบันนี้ ก็เปลี่ยนเปนพระไชยเนาวโลหองค์ใหม่ แต่พระไชยเนาวโลหน้อยในครอบแก้วนั้น ก็ยังคงที่อยู่ตามเดิม แลมีพระธรรมทองสามคัมภีร์ซึ่งสำหรับตั้งพระราชพิธีทั้งปวงด้วย

จะว่าด้วยเตียงพระมณฑลในการพระราชพิธีถือน้ำนั้น ตั้งบนธรรมาศน์ศิลาตรงกลางพระอุโบสถ บนธรรมาศน์นั้นมีโต๊ะหมู่สี่โต๊ะ ๆ กลางสูงหน่อยหนึ่ง ตั้งพระไชยเงิน, พระไชยเนาวโลห, กึ่งกลาง พระไชยเงินอยู่ข้างเหนือ พระไชยเนาวโลหอยู่ข้างใต้ ข้างน่าพระไชยสององค์ ในระหว่างกึ่งกลางนั้นตั้งพระไชยเนาวโลหน้อยในครอบแก้ว ข้างหลังตั้งพระธรรม ทั้งสี่นี้รวมตั้งอยู่โต๊ะสองตัวติดก้น โต๊ะสองข้างตั้งหีบพระธำมรงค์แลเครื่องพิไชยสงคราม ข้างหลังโต๊ะหมู่นี้มีบันไดแก้วพาดพระแสงศร ๓ องค์ กับพระแสงเพชรรัตนอิกองค์ ๑ น่าโต๊ะหมู่มีหีบมุกไว้พระแสง บนหลังหีบตั้งขันหยก, เชิงเทียนแก้ว มีเทียนทองติดสำหรับพระราชพิธี มีเทวรูปสี่องค์ คือพระอิศวร พระนารายน์ พระพรหม ที่มุมธรรมาศน์ศิลา มีเทวดาเชิญเครื่องเชิญพระแสงซ้ายขวา ข้างขวาเชิญพระสุพรรณบัตร ข้างซ้ายเชิญพระแสงกั้นหยั่น แลธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิสิทธิ ข้างเหนือพระแท่นมณฑลนี้ มีม้าตั้งหม้อน้ำเงิน ๑๒ หม้อ แลมีขันสำริดอยู่ข้างล่างขันหนึ่ง โยงล่ามสายสิญจน์ถึงกัน น่าเตียงศิลาตั้งเครื่องนมัสการเครื่องห้าตามธรรมเนียม พระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์ในการพระราชพิธีนี้เท่ากับพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ดำรงศิริราชสมบัติ ตั้งแต่กรุงทวาราวดีถึงกรุงรัตนโกสินทร ฤๅจะว่าตามจำนวนพระปางต่าง ๆ ซึ่งว่ามาข้างต้นแล้วนั้นก็ได้ คือแผ่นดินประจุบันนี้ พระสงฆ์เท่าพระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาแลกรุงธนบุรี ยกเสียแต่ขุนวรวงษาธิราช คงเปน ๓๔ รูป เท่าพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทรที่ล่วงแล้ว ๔ รูป รวมเปนพระสงฆ์ ๓๘ รูป ซึ่งเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่เปนผู้น้อยก็ล้วนแต่ฝ่ายคันถธุระทั้งสิ้น ที่เปนราชาคณะนิจภัตรสามตำลึงนั้นน้อยรูป แลในวันสวดมนต์ แลวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทั้งสองวันนั้น มีเทียนเล่มละหกสลึง ธูป ดอกไม้ เท่ากันกับพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน สำหรับทรงนมัสการที่หอราชกรมานุสร แลหอราชพงษานุสรด้วยทั้งสองเวลา ที่ศาลาน่าพระอุโบสถ มีขันน้ำตั้งสำหรับขุนหมื่นพันทนายกรมต่าง ๆ ได้รับพระราชทาน ๒ ขัน ล่ามสายสิญจน์ลงไปแต่พระอุโบสถด้วย อนึ่งในการพระราชพิธีถือน้ำนี้ไม่มีมโหรีฝ่ายใน มีแต่พิณพาทย์ผู้ชายน่าพระอุโบสถ พิณพาทย์ผู้หญิงหลังพระอุโบสถสองสำรับ การแต่งตัวนั้น เดิมในชั้นต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลพระบรมวงษานุวงษ์ ซึ่งเปนพระองค์เจ้าต่างกรมแลยังไม่ได้ตั้งกรม ทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ยกทองพรรณพื้นขาวบ้าง คาดฉลองพระองค์ครุยทรงฉลองพระองค์แพรขาวบ้างผ้าขาวบ้าง หม่อมเจ้าทรงผ้าขาวลาย คาดแพรขาวบ้างเสื้อครุยบ้าง แต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อย ๆ ซึ่งยังมิได้โสกันต์ แต่งพระองค์ทรงยกทองพรรณบ้าง ยกไหมบ้าง สีต่าง ๆ ฉลองพระองค์แพรสี ทรงคาดแพรสีมีเครื่องประดับสร้อยกองบ้าง มีแต่พระสังวาลพระจี้ ทรงมาไลยเพ็ชรมาไลยดอกไม้บ้างต่าง ๆ กัน ครั้นตกมาปลาย ๆ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลเจ้านายต่างกรมใหญ่ ๆ ทรงผ้าสังเวียนพื้นขาวมีขึ้นบ้าง ภายหลังเมื่อปลายลงนี้ มีพระบรมราชโองการให้เจ้านายต่างกรม ทรงฉลองพระองค์ผ้าปักทองแล่ง แต่ที่มีบ้างไม่มีบ้าง ไม่ทันพร้อมกันหมด ก็พอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ตกมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ เจ้านายต่างกรมก็ได้ทรงอยู่สี่ห้าปี ภายหลังเปลี่ยนเปนฉลองพระองค์เยียรบับขาว คาดฉลองพระองค์ครุยนั้นก็คาดบ้างไม่คาดบ้าง มีสายรัดพระองค์เพ็ชรคาดโดยมาก ข้าราชการที่เปนผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดี นุ่งผ้ายกท้องขาว ข้าราชการผู้น้อยนุ่งท้องขาวเชิงกรวยคาดเสื้อครุย สวมเสื้อผ้าขาวบ้างแพรขาวบ้าง ครั้นภายหลังมาข้าราชการที่เปนกรมพระตำรวจแลทหารมีเครื่องแต่งยุนิฟอมแล้วไม่ได้นุ่งขาว ใช้ยุนิฟอมตามเคย ครั้นภายหลังต่อมามีตราเครื่องราชอิศริยยศต่าง ๆ พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ บรรดาที่ได้รับพระราชทานก็สวมแลติดพร้อมกันมาในเวลานั้นด้วย ท้าวนางซึ่งออกไปกำกับถือน้ำณวัดพระศรีรัตนสาศดาราม แลท่านผู้หญิงบางคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศ คือในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้หญิงพันภรรยาเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ที่สมุหพระกระลาโหม ท่านผู้หญิงหนูภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี มาในแผ่นดินประจุบันนี้ เพิ่มท่านผู้หญิงอิ่มภรรยาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์อิกคนหนึ่ง ท่านทั้งปวงเหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้ายกไหมขาวจีบ ห่มผ้าปักทองแล่ง มีเครื่องยศ ท้าวนาง หีบทองใหญ่, กา, กระโถน ของพระราชทาน ขันผ้าชุบน้ำของตัวเอง ท่านผู้หญิงภรรยาข้าราชการนอกนั้นนุ่งขาวห่มขาวตามธรรมเนียม พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งมิได้มาถือน้ำที่วัดพระศรีรัตนสาศดาราม นุ่งห่มตามธรรมเนียม ไม่ต้องแต่งเครื่องขาว กระบวนเสด็จพระราชดำเนินวัดพระศรีรัตนสาศดารามในการถือน้ำนี้ ถ้าเสด็จอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จออกทางพระทวารเทเวศร์รักษา มาออกประตูพิมานไชยศรี เสด็จพระราชดำเนินทางประตูวัดพระศรีรัตนสาศดารามด้านตวันตก ถ้าประทับอยู่พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ เสด็จพระราชดำเนินทางพระทวารเทวราชดำรงศร เข้าทางประตูวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ด้านตวันออกน่าพระอุโบสถ กระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น เปนกระบวนราบตามธรรมเนียม แต่ตำรวจสวมเสื้อครุยตะพายกระบี่ ทรงพระราชยานถม ถ้าปีใดมีแขกเมืองประเทศราชมามากจึ่งได้แห่สี่สาย ทรงพระที่นั่งพุดตาล มีเครื่องสูงกลองชนะ เปนกระบวนพยุหยาตรา ให้ดูที่กระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งจะมีว่าต่อไปข้างน่านั้นเถิด ในการถือน้ำนี้ เจ้านายต่างกรมทรงพระวอ พระองค์เจ้าทรงพระเสลี่ยง ข้าราชการที่ได้พานทองก็มาแคร่ มีพระแสงแลเครื่องยศมาด้วยตามที่ได้พระราชทาน ตำแหน่งที่นั่งในพระอุโบสถ ริมผนังด้านเหนือเปนที่อาศน์พระสงฆ์สวดมนต์แลฉัน น่าลับแลเปนที่สนมกรมวังสังฆการี แลผู้กำกับถือน้ำริมผนังด้านเหนือด้านใต้ ตรงพระพุทธเลิศหล้านภาไลยออกมาเปนที่ทอดราชอาศน์ ต่อนั้นออกไปเปนที่ราชอาศน์วังน่า ใต้ลงไปจึงทอดที่พระบรมวงษานุวงษ์ ข้างลับแลริมผนังชิด ๆ เปนที่พระเจ้าลูกเธอแลมหาดเล็กเฝ้า ที่ตรงกลางนั้นว่างไว้สำหรับข้าราชการขึ้นมาถวายสัตย์ แลถือน้ำพระพิพัฒสัตยา เมื่อยังไม่ได้ขึ้นมานั้นข้าราชการอยู่มุขน่าพระอุโบสถ ที่ในฉากด้านข้างใต้ริมผนัง ท้าวนางในพระบรมมหาราชวังซึ่งออกไปกำกับถือน้ำ นั่งรายตลอดไปจนถึงปลายนั้นเปนท่านผู้หญิงมีเครื่องยศ ท้าวนางวังน่าเมื่อยังมีมากอยู่ นั่งรายริมฐานพระเปนแถวตลอดตรงกันข้าม ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ไม่ได้ตั้งท้าวนาง เหลืออยู่แต่คนเดียวสองคน ท้าววังหลวงก็ข้ามไปนั่งบ้าง

อนึ่งยังหาได้ว่าถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเปนที่ถือน้ำฝ่ายในไม่ ถ้าถือน้ำเดือนห้า ตั้งแต่ลับแลกลางไปจนถึงผนังด้านหุ้มกลอง พระที่นั่งไพศาลทักษิณตอนข้างตวันออก ตั้งบุษบกพระพุทธรูปพระชนมพรรษาทั้ง ๕ แผ่นดิน รายกันเปนระยะไปจนตลอดน่าบุษบกนั้น มีเครื่องนมัสการตั้งน่าบุษบกละสำรับ แต่เครื่องนมัสการพระพุทธรูปพระชนมพรรษาพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสวรรคตแล้วทั้ง ๔ บุษบกนั้นใช้เครื่องทองทิศ พระพุทธรูปพระชนมพรรษาในแผ่นดินประจุบันนี้ใช้เครื่องนมัสการถม อนึ่งบนบุษบกนั้นตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาสำหรับแผ่นดิน ตามอย่างเช่นกล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว แต่กลางบุษบกนั้น ตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวัน ก็แลพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวันที่ออกชื่อนี้ เปนธรรมเนียมมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปลาย ๆ ลงมาแล้ว ท่านทรงสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำยืนอุ้มบาตรสององค์ หนักองค์ละ + ฐานเงินก้าไหล่ทอง บาตรนั้นใช้ศิลาทองเมืองจีน มีฝาทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี ทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์องค์ ๑ จารึกว่าพระพุทธปฏิมากรมีอาการเสด็จยืนทรงอุ้มบาตรหล่อด้วยทองคำหนัก + ฐานเงินก้าไหล่ทองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระไอยกาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งประสูตรณวัน ๔ ๔ ค่ำปีมโรงอัฐศก ศักราช ๑๐๙๘ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกวัน ๕ ค่ำปีขานจัตวาศกศักราช ๑๑๔๔ เปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหญ่ เปนปฐมในพระบรมมหาราชวงษ์นี้ เสด็จสวรรคตณวัน ๕ ๑๓ ๙ ค่ำปีมเสงเอกศกศักราช ๑๑๗๑ ขอให้ทรงพระเจริญศุขสมบัติในปรโลกย์เทอญ ฯ

อิกพระองค์หนึ่งนั้นจารึกว่า พระพุทธปฏิมากรมีอาการเสด็จยืนทรงอุ้มบาตรหล่อด้วยทองคำหนัก + ฐานเงินก้าไหล่ทองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระบรมชนกนารถ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ซึ่งประสูตรณวัน ๔ ๔ คํ่าปีกุนนพศก ศักราช ๑๑๒๙ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกวัน ๑ ๑๐ ค่ำปีมเสงเอกศก ศักราช ๑๑๗๑ เปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหญ่ เปนที่ ๒ ในพระบรมราชวงษ์นี้ เสด็จสวรรคตณวัน ๔ ๑๑ ๘ ค่ำปีวอกฉศก ศักราช ๑๑๘๖ ขอให้ทรงพระเจริญศุขสมบัติในปรโลกย์เทอญ ฯ

แลทรงสร้างพระพุทธรูปถวายเนตรอิก ๒ องค์ หล่อด้วยทองคำฐานเงินก้าไหล่ทองหนัก ๑๕+ ทรงพระราชอุทิศถวายในกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์องค์ ๑ ถวายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์องค์ ๑ จารึกว่าพระพุทธปฏิมากร มีอาการเสด็จยืนเสวยวิมุติศุข หล่อด้วยทองคำหนัก ๑๕+ ฐานเงินก้าไหล่ทองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณแด่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์บรมราชมไหยิกา ซึ่งประสูตรณวัน ๑ ๔ ค่ำ ปีมเสงนพศก ศักราช ๑๐๙๙ สิ้นพระชนม์วัน ๕ ๖ ค่ำปีจออัฐศก ศักราช ๑๑๘๘ ขอให้ทรงพระเจริญศุขสมบัติในปรโลกย์เทอญ ฯ

อิกองค์หนึ่งจารึกว่า พระพุทธปฏิมากรมีอาการเสด็จยืนเสวยวิมุติศุข หล่อด้วยทองคำหนัก ๑๕+ ฐานเงินก้าไหล่ทองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณแด่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชชนนี ซึ่งประสูตรณวัน ๑ ๑๒ ๑๐ ค่ำปีกุนนพศก ศักราช ๑๑๒๙ สิ้นพระชนม์ณวัน ๓ ๑๑ ค่ำปีวอกอัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ ขอให้ทรงพระเจริญศุขสมบัติในปรโลกย์เทอญ ฯ

พระพุทธรูปทั้งนี้ทรงสร้างไว้สำหรับตั้งในเวลาทำบุญพระบรมอัฐิพระองค์ใด ก็ได้เชิญพระพุทธรูปพระองค์นั้นไปตั้งด้วย แต่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านทรงเห็นว่าพระพุทธรูปเดิมของท่านทรงสร้างเอง ต้องกับพระชนมพรรษาอันมีอยู่แล้ว จึ่งได้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นมาตั้งในเวลาทำบุญพระบรมอัฐิ แต่ส่วนพระชนมพรรษาวัน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปอย่างแบบพระสิหิงค์ไว้ด้วยทองคำ เปนน้ำหนักทองฐานเนาวโลหก้าไหล่ทอง จึ่งโปรดให้ยกพระพุทธสิหิงค์นั้นเปนพระชนมพรรษาวันสำหรับพระองค์ ได้ทรงจารึกที่ฐานพระไว้แต่เดิมว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม มีพระบรมราชโองการให้จำลองพระพุทธสิหิงค์ใหญ่ ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา หล่อวัน ๖ ๑๑ ๑๒ ค่ำปีวอกนักษัตรโท๑๐ศก พุทธสาสนกาล ๒๔๐๓ พรรษา

ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ เห็นว่าพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวันในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอยู่เก่านั้นง่อนแง่นไม่มั่นคง เจ้าพนักงานเชิญไปมาก็ยับเยินไป จึ่งได้สร้างถวายอิกองค์หนึ่ง เปนพระพุทธรูปห้ามสมุทน้ำหนักทอง + แลสัณฐานเท่ากันกับพระพุทธรูป ซึ่งเปนของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ จารึกว่าพระพุทธปฏิมากรมีอาการเสด็จยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองห้ามสมุทพระองค์นี้ หล่อด้วยทองคำหนัก + ฐานเงินก้าไหล่ทองหนัก ๑๖+ พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จมายังโลกย์นี้ณวัน ๒ ๑๐ ๔ ค่ำ ปีมแมนพศก ศักราช ๑๑๔๙ เสด็จสวรรคตวัน ๔ ๕ ค่ำปีกุนยังเปนโทศก ศักราช ๑๒๑๒ ขอให้ได้เสวยศุขทิพยสมบัติดังประสงค์ในปรโลกย์ เทอญ ฯ

แล้วได้สร้างถวายกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์เปนพระพุทธรูปสมาธิ มีน้ำหนักเท่ากันกับพระพุทธรูป ในกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์อิกองค์ ๑ จารึกว่าพระพุทธปฏิมากรมีอาการเสด็จนั่งสมาธิ หล่อด้วยทองคำ ฐานเงินก้าไหล่ทองพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาการไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายฉลองพระเดชพระคุณแด่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์บรมราชชนนี ซึ่งประสูตรวัน ๕ ๑๒ ค่ำปีมเมียฉศก ศักราช ๑๑๙๖ สิ้นพระชนม์วัน ๒ ๑๐ ค่ำปีรกาตรีศกศักราช ๑๒๒๓ ขอให้ทรงพระเจริญศุขสมบัติในปรโลกย์เทอญ ฯ

แลพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวัน ในแผ่นดินประจุบันนี้นั้น ได้สร้างขึ้นพร้อมกันกับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาคราวแรก มีน้ำหนักเท่ากันกับที่สร้าง ๆ มาแต่ก่อน เพราะฉนั้นเมื่อเวลาถือน้ำนี้ จึงได้เชิญพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวันนี้ มาตั้งในกลางบุษบก พระพุทธรูปพระชนมพรรษาทั้งปวงนั้น ตั้งล้อมโดยรอบทั้งห้าบุษบก ที่น่าตู้ลับแลซึ่งตั้งพระสยามเทวาธิราชนั้น มีโต๊ะจีนตั้งสามโต๊ะ โต๊ะกลางนั้นสูงหน่อยหนึ่ง เปนที่ตั้งพระแสงรองพานทองสองชั้น พระแสงนั้นใช้พระแสงที่ถือน้ำ ยกเสียแต่พระแสงปืน ๑ พระแสงหอก ๑ พระแสงศร ๓ องค์ โต๊ะข้างซ้ายตั้งพระไชยเนาวโลหแผ่นดินประจุบันนี้ข้างใน หีบพระสุพรรณบัตรตั้งข้างน่า โต๊ะข้างขวาตั้งพระสยามเทวาธิราช เชิญลงมาจากปราสาทบนหลังตู้นั้น แต่เวลากลางคืนวันขึ้นสองคํ่า ตรงกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ค่อนข้างตวันตก ในเวลาเช้าวันขึ้นสามคํ่านั้น มีที่พนักงานอ่านประกาศคำสาบาล ตั้งเครื่องบูชาแก้วสำรับ ๑ กับม้าสมุด หม้อน้ำเงิน ๕ หม้อ พระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายใน นั่งในพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตวันออก รอบบุษบกพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเรียงไปตามริมผนัง ไม่ได้ซ้อนกัน ข้างตวันตกนั้น ผนังข้างใต้ต้นแถวเปนที่สำหรับพระเจ้าลูกเธอ พระนางเธอ แลหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิทักษมนตรี กรมขุนอิศรานุรักษ์ มาในแผ่นดินประจุบันนี้พระเจ้าน้องนางเธอน้อย ๆ แลพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามไหยิกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เติมขึ้นอิก ผนังข้างเหนือนั้นเปนที่เจ้าคุณท้าวนางซึ่งเปนผู้แจกน้ำนั่งในที่นั้น ชานพักสองข้างเปนที่หม่อมเจ้านั่ง ตามเฉลียงท้องพระโรงข้างด้านตวันออก เปนที่นั่งเจ้าจอมมารดาเก่าเฒ่าแก่ พนักงานมโหรีลคร เฉลียงด้านตวันตกเปนที่นั่งเจ้าจอม เจ้าคุณราชนิกูล ที่เก๋งแลชลาข้างหอพระบรมอัฐิ เปนที่พักของหม่อมเจ้าบ้าง ข้างในต่างวังบ้าง

ในวันขึ้นสองค่ำเวลากลางคืน เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดเทียนนมัสการแลทรงศีล ครั้นทรงศีลแล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเทวดา ด้วยเรื่องรัตนพิมพวงษ์เปนต้น จนถึงคำอธิฐานในภายหลัง แต่รัตนพิมพวงษ์ที่ยกมาไว้ในคำประกาศนั้นเล็กน้อย มีความพิศดารอยู่ในรัตนพิมพวงษ์ที่แปลจากภาษามคธ ได้ยกมาลงไว้ในที่นี้ เพื่อว่าผู้ใดอยากจะทราบเรื่องราวให้ตลอด ฤๅลางทีฉบับของรัตนพิมพวงษ์นั้นจะสูญไปเสีย จึงได้ลงไว้ในนี้พอให้ติดอยู่ ถ้าผู้อ่านขี้เกียจอ่านก็ให้พลิกข้ามไปอ่านเอาที่ประกาศทีเดียวเถิด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ