บัดนี้จะว่าด้วยราชประเพณี ซึ่งมีอยู่ในราชการทั้งปวง...

บัดนี้จะว่าด้วยราชประเพณี ซึ่งมีอยู่ในราชการทั้งปวง เปนพระราชพิธีมาแต่โบราณบ้าง เปนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับบ้าง แลเปนการพระราชกุศล ทั้งธรรมเนียมราชการต่าง ๆ บ้าง จะเก็บรวบรวมไว้ตามที่ได้ทราบมาบ้าง ได้เห็นด้วยตาบ้าง พอให้รวบรวมลงในเรื่องเดียวกันได้ ดังนี้ จะว่าด้วยธรรมเนียมซึ่งเปนการประจำเดือนมีเสมอทั่วไปทุกปีไม่เว้นว่าง เมื่อถึงกำหนดการดังนั้นเข้าแล้ว เจ้าพนักงานกรมวัง ก็บาดหมายไปทุกหมู่ทุกกรมเอง พระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งไปทุกครั้งทุกคราวเหมือนหนึ่งการจร ชื่อในหมายนั้น ถ้าเปนการใหญ่ใช้ชื่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี รับพระบรมราชโองการ ถ้าเปนการเล็กน้อย ใช้ชื่อพระยาบำเรอภักดิ ฤๅพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเปนต้นหมาย ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจ ตามการที่สมควรนั้นเทอญ ฯ

ตั้งแต่นี้ไป จะว่าด้วยราชการประจำเดือน คือตั้งแต่เดือนห้าเปนต้น แต่การที่เกี่ยวอยู่ในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งนั้น ไม่เปนการพระราชพิธีมีมาแต่โบราณ เพราะพึ่งเกิดขึ้น ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลแผ่นดินประจุบันนี้ การก็ขาด ๆ เหลือ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ใคร่จะเหมือนกันทุกปี จะว่าเปนการจรก็ได้ อนึ่งการนั้นก็ติดเนื่องกับท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ จึงขอยกการปีใหม่อันนี้ ไปกล่าวไว้ต่อภายหลัง ฯ

แต่นี้จะว่าด้วยการพระราชพิธีศรีสัจจปานการ ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในเดือนห้าสืบไป ฯ ราชประเพณีถือน้ำนี้ ได้ทราบว่ามีมาแต่โบราณ ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาโบราณ ว่าถือน้ำที่วัดมงคลบพิตรใกล้พระราชวัง ซึ่งยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ มีพระอุโบสถพระวิหารใหญ่กว้าง พระประธานองค์ใหญ่ แต่พระเศียรนั้นพังชำรุดเสียแล้ว ใครอยากดูก็ให้ขึ้นไปดูเถิด อนึ่งคำแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่าน มีแบบเปนโคลง แต่หารู้ว่าแบบโคลงอย่างไรไม่ เรียกแต่ว่าโคลงแช่งน้ำ ถ้อยคำนั้นเปนคำบุราณ มีออกนามพระเปนเจ้าทั้งสามข้างต้น คือโอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเปนแท่น เปนต้น ออกนามพระนารายน์ โอมปรเมศวรายน์ ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เปนต้น ออกนามพระอิศวร โอมไชยไชยไขโสฬศพรหมญาณ บานศิรเกล้าเจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน เปนต้น ออกนามพระพรหม เมื่อออกนามพระเปนเจ้าทั้งสามนี้แล้ว จึงว่าถึงเรื่องสร้างโลกย์ มีว่านานาอเนกนับเนื่องกัลป จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้ เปนต้น ต่อไปเปนคำแช่งน้ำ ผู้ซึ่งไม่มีความสัตย์ซื่อ ต่อสมเด็จพระรามาธีบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช ก็แลพระนามรามาธิบดีอันนี้ คนทั้งปวงได้ทราบเปนแน่นอน ว่าเปนพระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง ซึ่งเปนประถมกระษัตริย์ สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา พระนามอันนี้ ได้มาปรากฎใช้ในภายหลังอิกสองครั้ง คือเมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขานโทศก พระบรมราชาซึ่งเปนพระราชโอรส สมเด็จพระอินทราชาที่สอง ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี นับเปนที่สอง ครั้นภายหลังมา สมเด็จพระนารายน์ ซึ่งเปนพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในจุลศักราช ๑๐๑๘ ปี ก็ทรงพระนามปรากฎว่า สมเด็จพระรามาธิบดี นับเปนที่สาม พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา มีพระนามปรากฎว่า สมเด็จพระรามาธิบดีอยู่สามพระองค์เท่านี้ แต่โคลงแช่งน้ำนี้ จะเกิดขึ้นแต่สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ใด ก็หาทราบชัดมีสิ่งไรเปนหลักฐานไม่ แต่ได้ยินคำมีผู้กล่าวว่า เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ซึ่งเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่สาม แต่คำนั้นจะเชื่อเอาเปนแน่ได้ฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ ถ้าจะคิดไปอย่างหนึ่งว่า ถ้อยคำที่ว่านั้นเปนคำโบราณ จะเทียบเคียงกับพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายน์ ซึ่งเราได้พบเห็นอยู่ เหมือนหนึ่งสมุทโฆษคำฉันท์ เปนต้น ก็จะแลเห็นว่าคำแช่งน้ำนั้น เปนคำฦกซึ้งโบราณมากกว่าถ้อยคำในสมุทโฆษ อิกอย่างหนึ่ง ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้านั้น มีนักปราชญ์คิดบทกลอนดี ๆ มาก พระองค์ท่านเองก็ทรงทราบจริง ๆ แลโปรดบทกลอนมาก โคลงก็ดี ฉันท์ก็ดี ซึ่งเราได้อ่านว่าเปนของโบราณอยู่ทุกวันนี้ ก็มักจะเปนหนังสือในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์โดยมาก ท่านผู้ใหญ่ ๆ จะเห็นความดังนั้น แล้วแลคาดเอา ว่าเปนของทำในแผ่นดินพระนารายน์นั้นฤๅกะไรก็ไม่ทราบ แต่ให้พึงเข้าใจเถิดว่าโคลงแช่งน้ำนี้ คงจะไม่มีมาต่ำกว่าสองร้อยปี ถึงปีฉลูนพ๑๐ศกนี้เลย แลกระบวนจัดการพระราชพิธีถือน้ำในกรุงเก่านั้น จะมีธรรมเนียมอย่างไรบ้าง เราก็ไม่มีสิ่งสำคัญที่จะอ้าง เพราะในหนังสือของเก่า ซึ่งว่าด้วยพระราชพิธีสิบสองเดือนนั้นมีอยู่ ๒ เรื่อง คือเรื่องนพมาศแผ่นดินพระร่วง เมืองศุโขไทยเปนเมืองหลวง แต่งไว้แต่จุลศักราชได้ ๖ ปี เรื่องหนึ่งคำให้การเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดี ฯ รัชกาลที่ ๓๒ ตามที่เรียกกันว่าพงษาวดารมอญ ฤๅคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ ทั้งสองเรื่องนี้ก็ไม่มีความชัด เปนแต่ว่าเสด็จออกพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการถวายบังคมพร้อมกัน ไม่มีความที่ว่าถือน้ำชัด เพราะจะไม่ได้เสด็จออกที่ถือน้ำที่วัด เปนแต่ข้าราชการถือน้ำแล้ว ก็มาถวายบังคม เหมือนหนึ่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เปนต้น เพราะในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งแต่งไว้แต่ศักราช ๗๒๐ ปีชวดสัมฤทธิศก มีความว่าลูกขุนผู้ใดขาดถือน้ำโทษถึงตายเปนต้น ให้ดูในกฎมณเฑียรบาล ฉบับที่พิมพ์คราวที่ ๓ เล่ม ๒ น่า ๑๑๑ บรรทัดที่ ๓ เปนหลักให้เห็นว่าการนี้มีมาแต่เดิม จึงเห็นว่าจะไม่ผิดกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นัก เพราะพระเจ้าแผ่นดินแลข้าราชการทั้งปวง ก็ล้วนแต่เปนข้าราชการแต่ครั้งกรุงเก่าโดยมาก คงจะไม่จัดการให้ผิดราชประเพณีเดิม ซึ่งได้เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็แลการถือน้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นความมหัศจรรย์ ในพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎพระองค์นี้ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก จึงได้ทรงสถาปนาพระอารามในพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนสาศดาราม เชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ บนบุษบกทองคำ ในพระอุโบสถ แล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎพระองค์นี้ เปนศิริสำหรับพระนคร ว่ากรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิตย์ สักทัติยวิศณุกรรมประสิทธิ นามซึ่งว่ารัตนโกสินทร์นั้น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า เพราะท่านประสงค์ความว่า เปนที่เก็บที่รักษาไว้ ขององค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ ก็นี่แลควรเห็นว่า ท่านเลื่อมใสในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เปนหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย เพราะฉนั้น เมื่อถึงการพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒสัจจาอันใหญ่นี้ จึงได้โปรดให้ข้าราชการ มากระทำสัตย์สาบาล แล้วรับน้ำพระพิพัฒสัตยา เฉภาะพระภักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร ทั้งข้าราชการฝ่ายน่าในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวร พระราชวังหลัง ข้าเจ้าต่างกรมยังไม่ไต้ตั้งกรม ฝ่ายน่าฝ่ายใน แลภรรยาข้าราชการ ซึ่งมีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไป แต่หาได้เสด็จพระราชดำเนินออกไปวัดพระศรีรัตนสาศดาราม เหมือนอย่างทุกวันนี้ไม่ เปนแต่เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ให้ข้าราชการซึ่งถือน้ำแล้วเข้ามาถวายบังคม กับทั้งพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายน่า ก็มิได้เสด็จไปเสวยน้ำที่วัดพระศรีรัตนสาศดาราม ถือน้ำในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในเวลานั้นด้วย พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวังนั้น ถือน้ำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณแลท้องพระโรง แต่ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการฝ่ายในไปถือน้ำที่โรงลครในสวน ซึ่งเปนพระที่นั่งทรงธรรมทุกวันนี้ก็มีบ้าง แต่โขลนแลช่างเย็บช่างย้อมเลว ๆ นั้น ถือน้ำที่ศาลาท้าวศรีสัจจา สืบมาจนทุกวันนี้ แลเจ้าพนักงานฝ่ายน่าเลว ๆ ที่ประจำคลังประจำทิมดาบประจำห้องเครื่องนั้น ไม่ได้ไปถือน้ำณวัดพระศรีรัตนสาศดาราม รับน้ำมารับพระราชทานที่ห้อง อันเปนตำแหน่งของตัว ธรรมเนียมที่นุ่งขาวนั้น ถ้าผู้ใดไปถือน้ำที่วัดจึงต้องนุ่ง ถ้าไม่ได้ถือน้ำที่วัดแล้ว แต่งตัวตามธรรมเนียม ถึงข้าราชการที่นุ่งขาวไปถือน้ำที่วัดแล้ว กลับเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง ก็ต้องนุ่งสมปักตามธรรมเนียม พระแสงซึ่งใช้สำหรับชุบน้ำนั้น ก็ใช้พระแสงสำหรับแผ่นดิน มีพระขรรค์ไชยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน เปนต้น ธรรมเนียมซึ่งถือน้ำดังกล่าวมานี้ ใช้ตลอดมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้านั้น ทรงสร้างพระเท่าพระชนมพรรษา แลมีการสมโภชเนื่องเข้าในเดือน ๕ นี้ด้วย คือเมื่อครั้งนั้นทรงพระราชดำริห์ปรารภด้วยพระปางต่าง ๆ โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อันทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อยังเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เก็บรวบรวมแบบอย่างไว้ได้ถึง ๓๗ ปาง แล้วให้ช่างหล่อหล่อด้วยทองแดง น่าตักกว้าง ๔ นิ้ว ปางละพระองค์ รวมเปนพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์ แล้วตั้งไว้ที่หอพระปริต ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตวันออก ครั้นภายหลังมา พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ๓๔ พระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกถวายพระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา แลกรุงธนบุรี ตามพระนามต่าง ๆ แลปางต่าง ๆ ดังนี้

สยามราชกาลที่ ๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๘๙๓ จนถึงพุทธศักราช ๑๙๑๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งกวักพระหัดถ์เรียกเอหิภิกขุพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครเฉลียงได้ ๖ ปีแล้ว ย้ายมาทรงสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๓๑ ปีรกาเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๑๓ จนพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดพระเจ้าพฤฒิเดช ไนยหนึ่งว่ามหาเดช เนื่องพระวงษ์ได้ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปีจอโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๒ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓ แต่เพียง ๗ วัน ในพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งมีนาคปรกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อเจ้าทองจันทร์ ไนยหนึ่งว่าเจ้าท้องลั่น เปนพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ได้รับครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร แต่เพียง ๗ วัน เมื่อพระชนกนารถสวรรคตแล้ว ในจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๒๕ จนพุทธศักราช ๑๙๓๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาเสยพระเกษพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระราเมศวรที่ ๑ ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เพราะพระองค์เปนพระอรรคราโชรส แห่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๓๐ จนพุทธศักราช ๑๙๔๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งโบกพระหัดถ์ขับพระวักกลีพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระเจ้าราม ซึ่งได้ราชาภิเศกสืบพระวงษ์ เพราะพระองค์เปนพระราชโอรส แห่งพระราเมศวรที่ ๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี ออกจากราชสมบัติไปครองเมืองปทาคูจาม เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๔๕ จนพุทธศักราช ๑๙๖๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วงพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระมหานครินทราธิราช เปนพระราชนัดดา ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เปลี่ยนแทนสมเด็จพระเจ้ารามเนื่องพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๖๑ จนพุทธศักราช ๑๙๗๗ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งทำภัตรกิจพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระเจ้าสามพระยา พระราชโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเปนที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก

สยามราชกาลที่ ๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๗๗ จนพุทธศักราช ๑๙๙๒ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งชี้พระหัดถ์เดียว แสดงเอตทัคฐานพระอัคสาวกาพระอัคสาวิกาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแดสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช๘๑๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๙๒ จนพุทธศักราช ๒๐๑๓ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาอธิฐานบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระอินทราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๑๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๑ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขานโทศก

สยามราชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๑๓ จนพุทธศักราช ๒๐๕๒ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาห้ามมารพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขานโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๓๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๑๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๒ จนพุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๒ แต่เพียง ๕ เดือน พุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระราษฎาธิราชกุมาร พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้รับครองราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธามหานคร เมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก อยู่ในราชสมบัติ ๕ เดือน

สยามราชกาลที่ ๑๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๗ จนพุทธศักราช ๒๐๗๐ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันผลสมอพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๖ ปีจอฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๐ จนพุทธศักราช ๒๐๗๒ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาปลงพระชนม์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อพระยอดฟ้า พระราชโอรสสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติแต่ปีกึ่ง เพียงจุลศักราช ๘๙๐ ปีชวดสมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๑๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๒ จนพุทธศักราช ๒๐๙๘ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ซ้าย สำแดงโอฬาริกนิมิตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๘๙๑ ปีฉลูเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๑๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๙๘ จนพุทธศักราช ๒๐๙๙ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งสนเข็มพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระมหินทราธิราช ซึ่งได้รับครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๗ ปีเถาะสัปตศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๑๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๙๙ จนพุทธศักราช ๒๑๒๑ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนผันพระองค์ ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๔๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๑๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๒๑ จนพุทธศักราช ๒๑๓๖ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองห้ามสมุทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๔๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๓๖ จนพุทธศักราช ๒๑๔๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานพระหัดถ์ทั้งสองถวายพระเนตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติเรียงพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก

สยามราชกาลที่ ๒๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๔ จนพุทธศักราช ๒๑๔๕ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ซ้ายห้ามพระแก่นจันทน์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๕ จนพุทธศักราช ๒๑๗๐ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทณเรือขนานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๗๐ จนพุทธศักราช ๒๑๗๒ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ขวารับช้างปาเลไลยพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้รับครองราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ กับ ๗ เดือน เพียงจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒๓ แต่เพียง ๖ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๗๓ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ทั้งสองรับมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระอาทิตยวงษ์อนุชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ครอบครองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก อยู่ในราชสมบัติเพียง ๖ เดือน

สยามราชกาลที่ ๒๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๗๓ จนพุทธศักราช ๒๑๙๘ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งลอยถาดพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๙๒ ปีมเมียโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๑๗ ปีมแมสัปตศก

สยามราชกาลที่ ๒๕ แต่เพียง ๙ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยื่นพระหัดถ์ขวารับกำหญ้าคาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อเจ้าฟ้าไชยพระราชโอรสสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่ง ได้รับครองราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครได้ ๙ เดือน เพียงจุลศักราช ๑๐๑๔ ปีวอกจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๖ แต่เพียงเดือนหนึ่งกับ ๒๐ วัน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระรำพึงธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระศรีสุธรรมราชา พระราชอนุชาสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ครองราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ได้เพียงเดือน ๑ กับ ๒๐ วัน ในจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๒๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๙๙ จนพุทธศักราช ๒๒๒๕ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัดถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง เมื่อจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๒๕ จนพุทธศักราช ๒๒๔๐ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนห้อยพระหัดถ์ขวาทับพระหัดถ์ซ้าย ถือธารพระกรปลงพระกรรมฐานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระธาดาธิเบศร์ ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร แทรกพระวงษ์เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๐ จนพุทธศักราช ๒๒๔๙ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์สมเด็จพระนารายย์มหาเอกาทศรฐราช เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๙ ปีสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก

สยามราชกาลที่ ๓๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๙ จนพุทธศักราช ๒๒๗๕ พระพุทธปฏิมากร มีพระอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัดถ์ทั้งสองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระภูมินทรมหาราชา ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๗๖ จนพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระมหาบรมราชาธิราชที่ ๓ ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เรียงพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลูเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๒ แต่เพียง ๑๐ วัน ในพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนกางพระหัดถ์ทั้งสองเปิดโลกย์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแดสมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ ๑๐ วันแล้วละสมบัติออกทรงพระผนวชในจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๐๑ จนพุทธศักราช ๒๓๑๐ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนลีลาห้อยพระหัดถ์ซ้ายยกพระบาทซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อพระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๙ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๓๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๑๐ จนพุทธศักราช ๒๓๒๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระทำทุกรกิริยาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล เฉภาะต่อเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติ ตั้งกรุงที่แขวงเมืองธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๔ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก

แลพระพุทธรูปอิกสามปาง ซึ่งเหมือนกับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงอมรรัตนโกสินทร์ ทั้งสามพระองค์นั้น มีขนาดเท่ากันกับพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดี แปลกแต่มีฉัตรกั้นทั้งสามพระองค์ จารึกถวายเฉภาะพระองค์ ว่า

สยามราชกาลที่ ๓๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๒๕ จนพุทธศักราช ๒๓๕๒ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งขัดสมาธิเพชรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรกรีบรมนารถ นเรศรราชวิวัฒนวงษ์ ปฐมพงษาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดมบรมบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา เปนปฐม เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปีกับ ๕ เดือน เสด็จสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๓๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๕๒ จนพุทธศักราช ๒๓๖๗ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งมารวิไชยพระหัดถ์ขวาปกพระเพลาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๑๑ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก

สยามราชกาลที่ ๓๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๖๗ จนพุทธศักราช ๒๓๙๓ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งขัดสมาธิ์พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปีกับ ๘ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๒ ปีกุนยังเปนโทศก

แลพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจารึกในฐานพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์นี้ บางทีจะเปนที่สงไสย ว่าพระนามเรียกไม่ต้องกับพระราชพงษาวดาร ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงไว้บ้าง ไม่เหมือนกับคำที่คนเรียกบ้าง ถ้าสงไสยดังนี้แล้ว ให้พึงเข้าใจว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินในกรุงสยามนี้ แต่เดิมมาเปนที่ห้ามหวงเกียจกันไม่ให้คนทั้งปวงเรียก ถ้าขืนเรียกก็เปนความหมิ่นประมาทต่อพระเจ้าแผ่นดิน คนทั้งปวงที่เปนข้าราชการเปนราษฎรบางคน จะเรียกพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้ดำรงศิริราชสมบัติอยู่ในขณะนั้น ก็ต้องเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แลล้นเกล้าล้นกระหม่อม ฤๅพระเจ้าอยู่หัวเปล่า ๆ ขุนหลวงบ้างก็มี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระศพยังประดิษฐานอยู่ในพระบรมโกษฐ ก็เรียกกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ ฤๅเรียกว่าพระบรมโกษฐเปล่า ๆ ที่เรียกในพระบรมโกษฐเฉย ๆ ก็มี เจ้าแผ่นดินซึ่งได้ดำรงศิริราชสมบัติใหม่ ก็ได้รับพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แลอะไร ๆ เหมือนดังเช่นว่ามาข้างบนแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตลงอิก มีพระเจ้าแผ่นดินเปนพระเจ้าอยู่หัวแทนขึ้นใหม่ องค์ซึ่งสวรรคตเปลี่ยนเปนบรมโกษฐ บรมโกษฐองค์เก่าเปลี่ยนเปนพระพุทธเจ้าหลวง ฤๅพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐบ้าง ครั้นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓ นี้สวรรคตลงอิก ก็เปลี่ยนพระนามเลื่อนขึ้นไปเปนชั้นๆ จนถึงพระพุทธเจ้าหลวงเก่า ต้องเปนพระพุทธเจ้าอยู่หัวอะไร ๆ ฤๅขุนหลวงอะไร ๆ ตามใจใครจะเรียก มีที่นึกหมายสิ่งใดก็เรียกเอาตามที่นึกหมาย ที่เปนไพร่ก็เรียกตามลัทธิไพร่ เหมือนหนึ่งขุนหลวงขี้เรื้อน ท้าวอู่ทอง เปนต้น ฤๅเปนชั้นกลาง ๆ ก็เรียกตามอย่างกลาง ๆ ขุนหลวงทรงปลา ขุนหลวงท้ายสระเปนต้น ถ้าผู้ที่เปนนักปราชญ์แลเปนผู้มีตระกูลแลความรู้สมควรจะยักเรียกอย่างไรไป ก็เรียกตามชอบใจ เหมือนอย่างกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ท่านเรียกพระนครอินทร์ เปนพระนครินทราชาธิราช พระเจ้ารามเปนสมเด็จพระรามราชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกขุนหลวงหาวัด ว่าสมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิต เพราะพระนามเดิมท่านอุทุมพร แล้วเปนกรมขุนพรพินิต พระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยามรินทร์ เปนพระบรมเอกทัศอนุรักษ์มนตรีราช เพราะพระนามเดิมท่านเจ้าฟ้าเอกทัศ เปนกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ดังเช่นจารึกไว้ในฐานพระพุทธรูปนี้เปนต้น แต่พระนามอื่นซึ่งแปลกอยู่กับพระราชพงษาวดาร เหมือนขุนหลวงเสือเปนสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ขุนหลวงท้ายสระ เปนสมเด็จพระภูมินทราชา เปนต้นนี้ มีมาในคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ก็คงจะเปนอันยักเรียกตามชอบใจ เหมือนอย่างเช่นกล่าวมานี้ ให้คนทั้งปวงพึงเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเรียกตามชั้นเลว ชั้นกลาง ชั้นสูง ดังนี้นั้น ใช่ว่าท่านจะไม่มีพระนามทุกพระองค์นั้นก็หามิได้ ธรรมเนียมการพระบรมราชาภิเศกที่จะทำนั้น ต้องมีพระฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัตรก่อน ครั้นเวลาเสด็จขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์จึงได้ถวายพระสุพรรณบัตร เหมือนกันดังนี้ทุกพระองค์ ยกเสียแต่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งยังทรงพระเยาว์ ไม่มีผู้ทำนุบำรุงบัญชาการแทน แลพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนที่รังเกียจ ฤๅเกิดการรบพุ่งในบ้านเมืองเปนอันตราย ไม่ทันทำการราชาภิเศกได้ เพราะการไม่เรียบร้อยดังนี้ จึงไม่มีพระนาม ก็แลพระนามซึ่งได้จารึกไว้แล้วนั้น ใช่ว่าจะเปนแต่ทิ้งไว้เปล่า ๆ พระสุพรรณบัตรนั้น ต้องเชิญเข้าพระราชพิธีต่าง ๆ อยู่เสมอไม่ขาด ฤๅพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ซึ่งทรงตั้งพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดิน ก็ออกพระนามใหญ่ ดังเช่นจารึกในพระสุพรรณบัตรในเบื้องต้นของกฎหมายนั้นทุกฉบับ แต่พระนามพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะทำให้คนทั้งปวงสันนิฐานไม่ได้แน่ว่า พระองค์ใดทรงพระนามอย่างไรนั้นมีอยู่หลายอย่าง คือ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามอย่างหนึ่งแล้ว พระองค์หลัง ๆ ลงมา ท่านไม่เปลี่ยนแปลงพระนามเดิมนั้นเสีย คงจารึกพระสุพรรณบัตรไปตามพระนามเดิม แล้วไม่นับเปนที่หนึ่งที่สองไว้ด้วย เหมือนดังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ตามสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทอง เมื่อเวลาตั้งพระนามนั้น ได้ประชุมพระราชาคณะแลข้าราชการปฤกษาเลือกพระนามพระเจ้าแผ่นดินเก่า ๆ แล้วตกลงใช้พระนามใดก็เปนการปรากฎแก่คนทั้งปวง ทั้งมีอยู่ในต้นกฎหมายซึ่งใช้กันอยู่ในประจุบันนี้ คนทั้งปวงก็ปรากฎทราบชัดว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดี ต่อนั้นมา แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ก็เงียบหายไป ไม่ได้ยินว่าพระนามอย่างไร ไม่มีใครปริปากพูดถึงเลย แต่เมื่อสืบเอาแน่นอน ก็ได้ความว่าพระสุพรรณบัตรจารึกสมเด็จพระรามาธิบดี เหมือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ดังนี้ ควรจะนับว่าเปนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แต่ก็ไม่ได้นับกันเลย เมื่อจะคิดขึ้นไปถึงแผ่นดินก่อน ๆ ซึ่งไม่ได้อ้างออกพระนามไว้นั้น ถ้านอกจากเปลี่ยนวงษ์กันแล้ว ก็เห็นจะใช้ซํ้ากันดังนี้โดยมาก เปนแต่ความอนุมาน อิกประการหนึ่งพระนามซึ่งเรียกนั้น บางทีพระองค์เดียว ดูในจดหมายแห่งหนึ่ง มีต้นแลสร้อยเปนอย่างหนึ่ง ดูอิกแห่งหนึ่ง เพิ่มเติมถ้อยคำลงบ้าง ตัดทอนเสียบ้างก็มี เปนแต่ใครอยากจะเรียกอย่างไรก็เรียกเพิ่มเล็กขาดน้อยก็ไม่ว่าไรกัน จึงพาให้เลอะไป อิกประการหนึ่งนั้น เพราะเหตุที่ไม่เรียกกันดังเช่นว่ามาแล้ว พระนามจึงได้สูญ เพราะเหตุที่เปนเหล่านี้ มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น ข้าราชการ เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ว่าพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คนทั้งปวงก็เปลี่ยนเรียกไปใหม่ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ไม่ทรงพระกรุณาโปรด ดำรัสว่า มีแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางแล้ว แผ่นดินประจุบันนี้ก็ต้องเปนแผ่นดินปลาย เปนคำอัปรมงคลอยู่ ในขณะนั้นพอทรงพระราชศรัทธา สร้างพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทหุ้มทองคำทรงเครื่องต้นด้วยเนาวรัตน์ สองพระองค์ ตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ทรงพระราชอุทิศถวายเปนพระฉลองพระองค์ ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมชนกนารถองค์หนึ่ง จารึกพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์องค์หนึ่ง จารึกพระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาไลยองค์หนึ่ง เพื่อเปนการเฉลิมพระเกียรติยศฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงโปรดให้ออกพระนามเปลี่ยนคำคนที่เรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางนั้นเสีย ให้เรียกพระนามตามพระนามพระพุทธรูป ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ดังนี้ ก็เปนการดีสมควรยิ่งนัก แลในครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต คนทั้งปวงพากันเรียกว่าในพระบรมโกษฐ ต่อไปก็จะวนลงหาถ้อยคำอันไม่ไพเราะต่าง ๆ ตามน้ำใจนิไสยคนจะเรียก จึงทรงพระราชดำริห์ถวายพระนามเพิ่มท้าย ซึ่งเปนที่หมายของคนทั้งปวงจะเรียกเปนนามแผ่นดินเรียกแทนพระนาม ว่าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแผ่นดินประจุบัน คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้านั้น ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะให้คนเคยปาก อย่าให้ยักย้ายเรียกอะไร ๆ ไปตามชอบใจไปได้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ป้องกันถึงชั้นนั้นแล้ว ครั้นเวลาเสด็จสวรรคตลงคราวนี้ คนทั้งปวงก็ยังไม่ฟัง ขืนเรียกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าในพระบรมโกษฐ ในพระโกษฐ พระบาทสมเด็จในพระบรมโกษฐ สมเด็จพระบรมโกษฐ เพ้อเจ้อไปไม่ใคร่จะรู้แล้ว ส่วนพระนามพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะตั้งใหม่นั้นเล่า ท่านผู้บัญชาการก็ไม่เข้าใจพระราชดำริห์พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามเอานามเจ้าแผ่นดินลงเปนนามแผ่นดิน ว่าพระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนปิดปากไม่ให้คนเรียก คนทั้งปวงก็เรียกแต่ในหลวง ๆ ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรเกล้า ที่เปนเกษเกล้า ผ่านเกล้า เพ้อเจ้อไปบ้างก็มี หนังสือราชการซึ่งเคยออกพระนาม ว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ต้องเรียกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นทีหลังจะเปนใครเบื่อออกชื่อซํ้าสองหนสามหนขึ้นก่อนก็ไม่ทราบ แต่เห็นจะเปนพระยาศรีสุนทรโวหารฟัก เพราะตาแกถูกว่ากล่าวด้วยเรื่องนี้อยู่ไม่ขาด ไปตัดข้างท้ายออกเสียเรียกแต่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปรมินทรถึงอลงกรณ์นั้นดีแล้ว แปลได้ตลอด แต่เกล้าขึ้นมานั้นไม่รู้จะแปลว่ากะไร การเรื่องที่วุ่นด้วยชื่อ เพราะผู้บัญชาการไม่ทราบเรื่องนี้ ต่อมาผู้ซึ่งแต่งหนังสือเรื่องนี้ ได้โต้ทานถุ้มเถียงการอันนี้ กับพระยาศรีสุนทรฟัก แกก็เถียงว่าแกทราบการชัดหมดตลอด แต่พูดไม่ขึ้น แล้วยังแจ้งความต่อไปว่า ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้จักเสด็จสวรรคต ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแกไว้ ว่าพระนามเจ้าแผ่นดินต่อไปนั้น รวังอย่าให้เปนปรเมศได้ ให้จดหมายลงไว้ว่าปรมินทร กับคำที่ว่าอุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีนั้น ใช้ได้เหมือนกับพระองค์ท่าน ให้คงอยู่ตามเดิม แต่ถ้าพระมารดาไม่ได้เปนเจ้าอย่าให้ใช้ กับคำที่ว่าสยามาทิโลกยดิลกนั้น ดูเพ้อเจ้อมากไป ให้แก้แต่เพียงว่าสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก นอกนั้นก็ให้คงอยู่ตามเดิม เปลี่ยนแต่คุณวิเศษของเจ้าแผ่นดินตามควร แลข้อแก้ไขที่ว่ามานี้ ไม่เกี่ยวข้องกับที่ว่าด้วยเรื่องชื่อแผ่นดินนี้ดอก จะว่ากล่าวแปลให้ชัดเจนในการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะว่าเมื่อสิ้นพิธีสิบสองเดือนแล้ว แต่ที่ยกมาว่าในครั้งนี้ เพราะจะให้เปนพยานอ้างอิง ของคำที่จะกล่าวต่อไป ข้างท้ายนี้อิกหน่อยหนึ่งดังนี้ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร ด้วยเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินดังนั้นแล้ว ได้ทรงพระปรารภต่อไปว่า พระนามจอมเกล้านี้ เปนคำสูงแลไพเราะ สมควรกับที่เปนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าคนวันอังคารได้เปนจอมเกล้า พระองค์ท่านเองวันพฤหัศบดี เปนผ่านเกล้าจะดีกว่าเปนจอมเกล้า แต่การล่วงเลยมาเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ คิดว่าจะเปลี่ยนมานานแล้ว แต่ยังไม่มีช่อง ถ้าคิดเปลี่ยนให้เสียได้เมื่อตายแล้วก็ดี ฤๅจะไม่เปลี่ยน ให้เปนจอมเกล้าซํ้าสองคนก็จะเปนไรนักหนา ได้ทรงรับสั่งบ่นว่าเสียดาย ขอให้เปนดังนั้นได้จะดีอยู่หลายองค์ พระยาศรีสุนทรไม่อาจพูดขึ้นได้ ก็นิ่งเลยไป ครั้นมาภายหลัง ผู้แต่งหนังสือนี้ ได้ร้องปฤกษาโต้ทานกับท่านผู้ใหญ่ ที่เปนเจ้าของธรรมเนียม คือกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แลเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ท่านทั้งสองเห็นชอบด้วยควรจะตั้งนามแผ่นดินใหม่ จึงได้ทูลปฤกษากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านจึงขนานนามแผ่นดินมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สมพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าพระจอมเกล้าองค์ไหน จึงได้เติมจุลลงข้างน่า ให้รู้ว่าเปนพระจอมเกล้าน้อยพระจอมเกล้าใหญ่ แลนามอันนี้ได้ปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ก็เห็นชอบพร้อมกัน จึงได้ตั้งกำหนดเปลี่ยนนามแผ่นดิน ว่าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ในวัน ๑ ๑๒ ๑๒ ค่ำปีรกาเบญจศก จึงได้ใช้สืบมาจนบัดนี้ ความซึ่งเพ้อเจ้อแล้วมานี้ เปนข้อสาธกยกมาให้เห็นว่าแต่ในเร็ว ๆ นี้ ยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกันมาก พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนครั้งกรุงทวาราวดี ฤๅจะไม่เลอะเทอะยิ่งกว่านี้ ผู้ใดจะทรงจำไว้ได้ยืดยาวต่อมาหลายชั่วอายุ ด้วยนิไสยชาวเราเปนดังนั้นอยู่เองแล้ว ก็แต่ถ้าจะคิดสืบเสาะค้นคว้าเอาพระนามที่แท้ที่จริง อันได้จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น ก็เห็นจะพอได้รูปอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้ยืนยันแล้ว ก็ยืนยันไม่ได้ จะยกแต่เหตุอ้างอิงขึ้น ตามแต่ผู้อ่านจะคิดเห็นเอาเอง ว่าจะถูกฤๅผิด ขออย่าให้ว่าอวดรู้เกินผู้ใหญ่ เปนการคาดคเนทั้งสิ้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ